ไหลเรือไฟ

26908 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : ลอยเรือไฟ,ล่องเรือไฟ
เดือนที่จัดงาน : ตุลาคม
เวลาทางจันทรคติ : ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
สถานที่ : เมืองนครพนม
ภาค / จังหวัด : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
: นครพนม
ประเภท : ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : แม่น้ำโขง,นครพนม,ฮีตสิบสอง
ผู้เขียน : จิระพร เนียมแดง,ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ
วันที่เผยแพร่ : 15 มี.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 15 มิ.ย. 2559

ไหลเรือไฟนครพนม

ไหลเรือไฟ เป็นประเพณีที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับเป็นอีกหนึ่งฮีตที่ถือปฏิบัติกันในฮีตสิบสองหรือประเพณีสิบสองเดือน และเป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกันมาช้านาน นอกจากนั้นประเพณีไหลเรือไฟยังเป็นวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันหลายจังหวัด แตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ที่มีความโดดเด่นคือประเพณีไหลเรือไฟของชาวจังหวัดนครพนม

ความเชื่อสู่วิถีชีวิต

ไหลเรือไฟของชาวจังหวัดนครพนมเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนา และเป็นพิธีกรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมาจนเกิดเป็นประเพณีเฉพาะท้องถิ่นขึ้น บางครั้งเรียกว่า ลอยเรือไฟ หรือล่องเรือไฟ แต่ในปัจจุบันเรียกว่า “ไหลเรือไฟ”  ประเพณีไหลเรือไฟเป็นพิธีกรรมหนึ่งในงานบุญออกพรรษา เป็นประเพณีฮีต สิบสองของชาวอีสาน จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เชื่อกันว่า การไหลเรือไฟในแม่น้ำโขงคือการขอขมาและรำลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา พร้อมกับบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนั้นยังมีความเชื่อที่ชี้ให้เห็นถึงภูมิปัญญาในเชิงสร้างสรรค์ทางด้านการเกษตรกรรม เชื่อว่าการไหลเรือไฟจะทำให้ฝนในปีต่อไปดี เพราะการไหลเรือไฟเป็นการปล่อยไฟลงน้ำ ทำให้พญานาคที่อยู่ในน้ำได้รับความเดือดร้อนแล้วหอบน้ำหนีขึ้นไปอยู่บนฟ้า พอถึงเดือนหกน้ำในโลกมนุษย์จะแห้ง ผู้คนเดือดร้อน จึงพากันจุดบั้งไฟขอฝน พอมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นไป พญาแถนจะสั่งให้พญานาคนำน้ำที่หอบขึ้นมาไปคืนในโลกมนุษย์ จึงตกลงมาเป็นน้ำฝน (ชีวิตไทย ชุด บูชาพญาแถน, 2551 : 67 )

ประเพณีไหลเรือไฟจึงมีการเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันหลายความเชื่อ ทั้งความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาในการบูชารอยพระพุทธบาท ความเชื่อเกี่ยวกับวันพระเจ้าเปิดโลก ความเชื่อเกี่ยวกับการขอขมาและรำลึกถึงพระแม่คงคา รวมไปถึงความเชื่อเกี่ยวกับการขอฝน ถือได้ว่าชาวนครพนมได้ผสมผสานความเชื่อของการไหลเรือไฟไว้เป็นที่ยึดถือปฏิบัติต่อกันมาได้อย่างเหนียวแน่น นอกจากนั้นการไหลเรือไฟยังสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์เฉพาะตนและวิถีชีวิตของชาวลุ่มแม่น้ำโขงที่อาศัยน้ำในการหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภค การทำการเกษตร การประมง รวมถึงการคมนาคมน้ำ และยังแสดงถึงการมีวัฒนธรรมร่วมกันของชาวไทย-ลาว ที่ให้ความสำคัญกับแม่น้ำ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติร่วมกันของคนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง เป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมร่วมกันทำให้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ จึงทำให้ประเพณียังคงสืบต่อไป แม้ความเชื่อความศรัทธาอาจจะน้อยลงไปหรือเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เพราะการเข้ามาของค่านิยมสมัยใหม่ ที่ทำให้คนส่วนใหญ่หันไปมองความสวยงามตระการตา และการแข่งขันเพื่อชิงรางวัลมากกว่าความศรัทธาที่มีมาตั้งแต่อดีต

พิธีกรรมและรูปแบบจากอดีตถึงปัจจุบัน

งานประเพณีไหลเรือไฟของชาวนครพนมเป็นเทศกาลงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของผู้คนแถบลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งชาวไทยและชาวลาวจะมาร่วมงานกันอย่างเนืองแน่น ความโดดเด่นของงานอยู่ที่เรือไฟซึ่งส่องแสงสว่างสวยงามยามค่ำคืนกลางลำน้ำโขง ในงานเต็มไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศ ในอดีตมีการทำเรือไฟด้วยไม้ไผ่และต้นกล้วย ยาวเพียง 5-6 วาเท่านั้น ความสูง ไม่เกิน 1 เมตร และเป็นรูปเรือธรรมดา ทำราวไว้สองข้าง เพื่อวางขี้กะไต้ ตะเกียง หรือโคมไฟ มีการจัด ข้าวปลาอาหารขนมนมเนย ฝ้ายไน ไหมหลอด เสื่อผืน บรรจุไว้ข้างใน พอเวลาประมาณ 5 โมงเย็นจะเริ่มทำพิธี โดยนิมนต์พระมาสวดและหลังการรับศีล ฟังเทศน์ ไหว้พระเรียบร้อยแล้ว จึงให้ญาติโยมตกแต่งเรือด้วยดอกไม้ธูปเทียนที่ถือไปบำเพ็ญกุศลนั้นเอง พอย่ำค่ำก็นำเรือไฟออกไปกลางแม่น้ำโขงแล้วจุดไฟปล่อย ให้เรือไหลไปตามลำน้ำส่งแสงระยิบระยับทอดยาวไปไกลจนสุดสายตา(นครพนม สกลนคร : 114)

ปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบของเรือไฟที่แตกต่างกันออกไปตามยุคสมัยหรือตามกระแสนิยมที่เข้ามามีบทบาทในช่วงเวลานั้นๆ เทคโนโลยีจึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาอยู่ในกรอบแนวคิดของเจ้าของวัฒนธรรม ซึ่งได้กลายมาเป็นแนวคิดใหม่ที่ทำให้ประเพณีพิธีกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ประเพณีไหลเรือไฟของชาวจังหวัดนครพนมจึงมีการฟื้นฟูเพื่อจัดทำเป็นประเพณีในอีกรูปลักษณะหนึ่งตามกระแสของการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้ถือเป็นประเพณีที่ใหญ่ระดับประเทศ เป็นการพัฒนางานประเพณีให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน เน้นรูปแบบเรือไฟที่นำเสนอความสวยงาม แต่อย่างไรก็ตามชาวนครพนมยังสืบทอดวิธีการดั้งเดิมเอาไว้โดยจัดทำเรือไฟแบบเก่าให้เป็นต้นแบบหลักให้ไหลไปก่อนที่จะตามมาด้วยเรือไฟที่เน้นความสวยงาม

               ปัจจุบันชาวจังหวัดนครพนมได้จัดทำเรือไฟขึ้น โดยการหันมาเน้นในเรื่องของดวงไฟที่จะให้ปรากฏเป็นภาพเรือไฟที่งดงาม ส่วนประกอบยังเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ เช่นเดิมคือ ส่วนที่เป็นทุ่นสำหรับลอยน้ำทำด้วยลำไม้ไผ่รวมเป็นกลุ่มมัดเข้าด้วยกัน วางไว้ในน้ำเป็น 2-3 แถวเพื่อรับน้ำหนัก ส่วนที่ 2 คือโครงร่างที่ใช้เหล็กเส้นดัด- ตัดเชื่อมต่อกันเป็นรูปร่างตามที่ต้องการ อาจเป็นรูปสัตว์ ปราสาท เจดีย์ ฯลฯ ในบางหน่วยงานหรือบางอำเภอที่จัดทำเรือไฟส่วนที่เป็นทุ่นจะทำด้วยการใช้ถังน้ำมันที่ไม่ใช้แล้วขนาด 200 ลิตรเป็นถังเปล่า วางลอยทำเป็นลักษณะคล้ายแพ ด้านบนถังวางเป็นแผ่นเรียงติดกัน 3 ระยะ คือ ต้นแพกลางแพและท้ายแพ ทั้งนี้ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการให้แพนี้รับน้ำหนักของโครงร่างที่เป็นเหล็กได้และยังสามารถนำถังน้ำมันเปล่านี้มาใช้ได้ในการจัดสร้างเรือไฟในปีต่อไป (ไหลเรือไฟนครพนม : 52)

               จะเห็นได้ว่าการไหลเรือไฟในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างทั้งด้านรูปแบบ จุดมุ่งหมายและพิธีการ ความแตกต่างของยุคสมัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ประเพณีไหลเรือไฟที่นับถือและปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านานโดยตั้งอยู่บนความศรัทธาและความเชื่อ ได้ถูกสอดแทรกด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่กับกระแสนิยมบนการส่งเสริมวัฒนธรรมการท่องเที่ยว สมัยก่อนเราจะเห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ยึดมั่นต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และความเคารพบูชาต่อแม่น้ำแหล่งชีวิตที่อยู่อาศัย รวมถึงการทำเรือไฟเราจะเห็นว่าในอดีตจะใช้ไม้ที่สามารถลอยน้ำได้ เช่น ไม้งิ้ว ไม้ไผ่ เป็นต้น ต่อมาพัฒนาใช้ถังน้ำมันเป็นทุ่นลอยและปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการใช้เรือจริงๆ

               ส่วนการตกแต่งเมื่อก่อนนั้นไม่เน้นเรื่องความสวยงาม แต่จะใช้ดอกไม้ธูปเทียน ขนม ข้าวต้ม และเครื่องใช้ ฯลฯ ใส่ลงไปในเรือเพื่อเป็นการทำบุญ ปัจจุบันเรือไฟมีการเน้นเรื่องความสวยงามมากขึ้นเพื่อการประกวด และไม่นิยมใส่ของลงไปในเรือ เมื่อปล่อยเรือเสร็จก็จะนำมาเก็บไว้เพื่อใช้ประกวดในคราวต่อไป ส่วนในด้านของประชาชนที่มาร่วมงาน ก่อนนั้นมาร่วมพิธีกรรมด้วยพื้นฐานของความศรัทธาในพุทธศาสนา เป็นการบูชาสิ่งต่างๆที่เชื่อถือกันมานาน เช่นการบูชารอยพระพุทธบาท ฯลฯ  ปัจจุบันมีประชาชนเพียงส่วนน้อยที่ยังคงมีความเชื่อถือและศรัทธาในพิธีกรรมแบบเดิม เพราะประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้เกี่ยวกับที่มาและความสำคัญของประเพณีนี้ ขาดศรัทธาที่จะทำ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะปัจจุบันจุดประสงค์ในการทำจะออกมาในรูปแบบของการประกวดเพื่อชิงรางวัลและตอบสนองค่านิยมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นหลัก

               จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของการจัดสร้างเรือไฟที่ได้หันมาเน้นด้านความใหญ่โตเป็นสำคัญ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างสูงขึ้นในบางปีเพื่อเน้นเรื่องชื่อเสียงของหน่วยงานอำเภอที่ส่งเข้าประกวดในงาน ทำให้งบประมาณค่าจัดสร้างสูงกว่าที่จังหวัดตั้งไว้เป็นรางวัลสูงสุด อย่างไรก็ดียังหากมองความเปลี่ยนแปลงในด้านบวก ทำให้เรามองเห็นความแตกต่างที่มีการพัฒนาขึ้น ประเพณีที่สืบทอดมาเป็นเวลานานสะท้อนให้เห็นถึงความรักในวัฒนธรรมของชาวจังหวัดนครพนม และที่สำคัญคือ เห็นถึงความเสียสละ ความร่วมมือร่วมแรงของกลุ่มคนในหน่วยงาน อำเภอ การแข่งขันทำเรือไฟแม้ว่าจะอยู่ภายใต้กติกากำหนด แต่ความคิดสร้างสรรค์ไม่อาจหยุดได้ การคิดค้นเทคนิคเพื่อนำเสนอผู้ชมจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ช่างทำเรือไฟต้องหาสิ่งแปลกใหม่มาเพิ่มให้เรือของตนมีความโดดเด่นเหนือเรือลำอื่นๆ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชม  ศิลปะในการจัดสร้างเรือไฟของชาวนครพนมได้ผ่านการเรียนรู้สะสม สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดออกมาอย่างน่าทึ่ง และศิลปะเหล่านี้ยังคงจะต้องวิวัฒนาการต่อไป

 


บรรณานุกรม

กนกวรรณ โสภณวัฒนวิจิตร. (2543). นครพนม. กรุงเทพมหานคร : เลิฟแอนด์ลิพเพรส.

ชีวิตไทย ชุด บูชาพญาแถน. (2551) : พิมพ์ครั้งที่ 4 . กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.

เที่ยวทั่วไทย ไปกับนายรอบรู้ นครพนม สกลนคร.กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สารคดี, มปป.

พระกฐินพระราชทาน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม 24 ตุลาคม 2541 /คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก มหาวิทยาลัยรามคำแหง. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ไหลเรือไฟนครพนม. มปท : มปพ, มปป.

ไหลเรือไฟ

มีการทำกันอยู่หลายแบบในเดือนต่อกัน ในวันเพ็ญ เดือน 11 เรียกพิธีลอยไฟ ส่วนวันเพ็ญ เดือน 12 เรียกว่า ไหลเรือ พิธีลอยไฟที่ทำในเดือน 11 นั้น เป็นพิธีดั้งเดิมที่มีความสำคัญ และจัดกันอย่างสนุกสนาน โดยการทำแพหยวกกล้วย ยาวประมาณ 2 – 3 ศอก เอาไม้ปักเป็นเสาบนหยวกกล้วยเป็นระยะ ๆ บนปลายเสาทำเป็นรูปเรือหรือรูปพญานาค แล้วเอาผ้าชุบน้ำมันยางจุดบนปลายไม้ข้าง ๆ เป็นระยะ ๆ จนถึงเวลาค่ำจึงพากันมายกกระทงไปลอยในแม่น้ำ ของที่บรรจุในกระทงมีทั้งอาหาร เสื้อผ้า ของใช้ และอาจมีรวงข้าวอ่อนผูกไว้ด้วย แล้วอาจจะเอากระทงไปวางไว้เฉย ๆ ที่ใดที่หนึ่งก็ได้ เพื่อเป็นการบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้าที่ริมฝั่งน้ำนัมนที อีกตำนานหนึ่งคือบูชาพระพุทธเจ้าหลังจากเสด็จไปจำพรรษาเพื่อแสดงเทศนาอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์โปรดพุทธมารดาแล้วลงมาในเมืองมนุษย์

ปัจจุบันมีการแข่งเรือยาวในแม่น้ำโขงจากท้องถิ่นต่าง ๆ  ทำเรือไฟด้วยไม้ไผ่และต้นกล้วย ใช้ขี้ไต้ผสมกับไม้ผุ ห่อด้วยใบตองหรือใบเตยจุดเป็นคบไฟ ในเรือบรรจุข้าวปลาอาหาร เสื่อ แพรวา หลังจากเสร็จพิธีทางศาสนาตอนค่ำ ก็จะนำไปลอยกลางแม่น้ำโขง ในปัจจุบัน พิธีไหลเรือไฟมักจะออกเป็นเวลาราวหนึ่งทุ่ม และตกแต่งเรือไฟโดยใช้ตะเกียง แต่ละลำหลายหมื่นดวง บนถังน้ำมัน 200 ลิตร เพื่อให้รับน้ำหนักได้มาก ชาวคุ้มและหน่วยงานต่าง ๆ ลงทุนเงินกันหลายแสนบาท ตกแต่งเป็นรูปพญานาค เจดีย์ ปราสาท และแสดงถึงความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีคำถวายพระพรทรงพระเจริญ และมักจะมีการแสดงแสงเสียงที่เกี่ยวกันกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ด้วย พอรุ่งเข้า มีการตักบาตรเทโวและรำบูชาองค์พระธาตุพนมของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดนครพนมทั้งเจ็ดกลุ่ม มีการประกวดเทพี ประกวดหมอลำ มีการจัดข้าวพาแลงไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วย


บรรณานุกรม

ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ.(2544). โครงการวิจัยเรื่องประเพณีสิบสองเดือน : พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป. (2544). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร.