แห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง

41935 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : ขึ้นโขนชิงธง,แห่พระแข่งเรือ
เดือนที่จัดงาน : ตุลาคม
เวลาทางจันทรคติ : แรม 1 ค่ำ เดือน 11
สถานที่ : อ.หลังสวน จ.ชุมพร
ภาค / จังหวัด
ประเภท : ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง : ชักพระ
คำสำคัญ : แข่งเรือ,เรือยาว,แม่น้ำหลังสวน,ชักพระ
ผู้เขียน : ปณิตา สระวาสี
วันที่เผยแพร่ : 11 ม.ค. 2559
วันที่อัพเดท : 1 ก.ค. 2559

ขึ้นโขนชิงธง

               งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ มีในหลายจังหวัดของภาคใต้ เป็นประเพณีเนื่องในพุทธศาสนา มีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังวันออกพรรษา 1 วัน  (ราวเดือนตุลาคม) สำหรับประเพณีแห่พระแข่งเรือของอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรถือเป็นงานใหญ่ประจำจังหวัดชุมพร   สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ว่ากันว่าในยุคนั้นเศรษฐกิจสยามรุ่งเรือง มีการสร้างวัดวาอารามมากมายหลายวัด จึงน่าเป็นที่มาของการเกิดประเพณีแห่พระหรือชักพระ หรือลากพระ  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฤดูน้ำหลาก ผู้คนว่างเว้นจากช่วงเวลาเพาะปลูก

                ประเพณีนี้เกิดขึ้นตามความเชื่อที่ว่าหลังจากพระพุทธเจ้าทรงทำยมกปาฏิหาริย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถีแล้ว ได้เสด็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์ เพื่อโปรดพุทธมารดาจนสิ้นสมัยพรรษา แล้วเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ พระอินทร์จึงมีนิมิตบันไดทอดจากสวรรค์ลงสู่มนุษยโลก ณ ประตูนครสังกัสสะเป็นบันไดทองเบื้องขวา บันไดแก้วอยู่กลาง และบันไดเงินอยู่เบื้องซ้าย พุทธศาสนิกชนทราบกำหนดนี้จากพระโมคคัลลานะว่า พระพุทธองค์จะเสด็จถึงประตูนครสังกัสสะในเช้าครู่ของวันแรกม 1 ค่ำ เดือน 11 ต่างปลาบปลื้มยินดี และพากันไปรอรับเสด็จพร้อมด้วยภัตตาหารไปถวายอย่างล้นหลาม ต่อมาเมื่อมีการประดิษฐ์พระพุทธรูปขึ้น พุทธศาสนิกชนจึงนำพระพุทธรูปมาแห่สมมติแทนพระพุทธองค์ และปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประเพณี ซึ่งมีวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่องกับประเพณีหลายอย่าง เช่น การแข่งเรือพาย การชันโพนหรือแข่งโพน กีฬาซัดต้ม การทำต้มย่าง และการเล่นเพลงเรือ เป็นต้น

                ในอดีตการชักพระหรือลากพระนั้น พุทธศาสนิกชนในอำเภอหลังสวน จะจัดขบวนเรือกฐินไปทำบุญที่ “วัดด่านประชากร” วัดสำคัญของอำเภอ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหลังสวน  โดยเรือที่ใช้ในการตั้งองค์กฐินซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์นั่งมาด้วยเรียกว่า “เรือพระ” มีขนาดใหญ่พอควร เรือที่ใช้ลากจูงจะต้องมีขนาดยาวกกว่าเรือของชาวบ้านบรรจุฝีพายได้มากกว่า เพราะต้องใช้กำลังในการลากจูง ชาวบ้านเรียกว่า “เรือยาว” ระหว่างทางมายังวัดด่านประชากรของบวนเรือกฐิน มีการตีฆ้อง ตีกลองแห่กันมาเต็มไปทั่วคุ้งน้ำ เมื่อเสร็จจากการทำบุญทอดกฐิน ชาวบานจะนำเรือย่าวมาจับคู่ประลองกำลังกัน เพื่อความสนุกสนาน

                 ปัจจุบันประเพณีแห่พระ ประกอบไปด้วยเรือพระจากวัดต่างๆ ที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม จะนำพระพุทธรูปสำคัญของวัดประดิษฐานในเรือ หรือล้อเลื่อน มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ทำการชักลากหรือแห่ตามถนน และชุมชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสักการะและร่วมทำบุญ  มีการจัดขบวนฟ้อนรำและการแสดงการละเล่นพื้นเมือง ในขบวนแห่งจะมีโล่พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถด้วย ตามด้วยการแห่รูปถ่ายของพระเทพวงศาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดขันเงิน และอดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นพระภิกษุที่การสนับสนุนและมีบทบาทเข้าร่วมเป็นผู้อุปถัมภ์ในการแข่งเรือทุกครั้งในคราวที่ท่านยังมีชีวิตอยู่  เมื่อเสร็จพิธีการ จะมีการละเล่นต่างๆ รวมถึงการแข่งขันเรือยาวที่เป็นเอกลักษณ์ของหลังสวนคือ “ขึ้นโขนชิงธง”
การแข่งเรือยาวของหลังสวน ปรากฏในจดหมายเหตุประพาสต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2432 กล่าวถึง “เรือมะเขือยำ” สังกัดวัดดอนชัย ซึ่งเป็นเรือยาวที่ใช้ในการแข่งขัน ความบางตอนว่า
 
                  “...วันที่ 9 เวลาเช้า 2 โมง ทอดสมอที่น่าเมืองหลังสวน แลเห็นแหลมประจำเหียงข้างเหนือ แหลมบังมันเขาพะสงข้างใต้ เป็นปลายขอบเหมือนหนึ่งอ่าวกว้างๆ ที่ตรงกลางที่เป็นเมืองหลังสวนมีเขาซับซ้อนกันมาก…เวลาเที่ยง 25 มินิต ขึ้นบก เรือทอนิครอฟต์ลากตามร่องขึ้นข้างเหนือสิบแปดมินิตถึงปากช่องลำน้ำ เขาปลูกพลับพลาไว้สองหลัง หลังนอกมีช่อฟ้าใบรกา แต่ไม่ได้แวะขึ้น เรือที่มารับบรรทุกเข้าของและนำร่อง มีเรือโขอย่างบ้านนอกสองลำ โขนทาสีเขียนลายมีผ้าน่าและภู้ด้ายดิบผูกธงแดงเล็กๆ ตรงกับภู่ขึ้นมาข้างน่าท้ายข้างละสองคัน ลำหนึ่งอยู่ใน 25-26 พาย เห็นจะเป็นเรือแข่ง...”

                   ก่อนการแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง จะมี “พิธีทำขวัญเรือ” เป็นพิธีกรรมทีทำกันก่อนการแข่งเรือ 1 วัน ในคืนของวันขึ้น 15 ค่ำ โดยเรือที่จะเข้าร่วมแข่งขันแต่ละลำจะพากันกลับวัดของตนหรือสถานที่ที่เหมาะสม จากนั้นนำเรือไปตั้งไว้ในโรงพิธี  มีการนำผ้าแพรหลากสีผูกมัดที่หัวโขนเรือ เทียนที่จัดแล้วจะปักอยู่ตามที่นั่งของฝีพายทั้งหมด บริเวณตอนกลางเรือจัดเป็นที่วางเครื่อเซ่นไหว้ ประกอบด้วย บายศรี ของคาว ขนมหวาน น้ำ ส้ม กล้วยเล็บมือนาง ส่วนหน้ามีหมอนและธูป โดยหมอครูผู้ทำพิธีจะนั่งขัดสมาธิหน้าเครื่องเซ่น ท่องบทสวดอัญเชิญเทวนา ขอพรให้เรือที่เข้าทำพิธี โดยการเอ่ยชื่อให้มีฤทธิ์ศักดาหาญและชนะเรือลำอื่นๆ พิธีนี้จะทำเป็นช่วงๆ สลับกับการตีกลอง ฆ้อง และจุดประทัด ในตอนท้ายของพิธีจะนำเทียนมาจุดแล้วติดกับพัดโบกโลหะ ให้ผู้เกี่ยวข้องมายืนเรียงรายต่อแถวกันโดยรอบลำเรือแล้วส่งพัดโบกต่อๆ กันไป ขณะเดียวกันก็ใช้มือพัดควันเปลวเทียนเข้าหาลำเรือ จากนั้นหมอครูก็เจิมที่โขนเรือเป็นอันเสร็จพิธี


การแข่งเรือยาวขึ้นโขนชิงธง

                   การแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธง เป็นประเพณีแข่งเรือที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกับจังหวัดอื่น คือ มิได้ตัดสิ้นแพ้ชนะด้วยความเร็ว แต่ตัดสินจากการ “ขึ้นโขนชิงธง” ของนายหัวเรือ ซึ่งขึ้นอยู่กับทั้งความหมาสามารถของนายหัวเรือและนายท้ายเรือ คือ นายท้ายเรือจะต้องถือท้ายเรือให้ตรง เพื่อที่นายหัวเรือสามารถขึ้นโขนชิงธงที่หุ่นเส้นชัยมาครอบครองได้ จึงถือว่าชนะ หากนายหัวเรือคว้าธงได้แล้วทำตกน้ำหรือทำเรือล่มเสียก่อน ถือว่าแพ้  ความสนุกของการแข่งขันนึงอยู่ที่การแย่งชิงธงของนายหัวเรือนี้เอง เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่หาชมได้เฉพาะที่อำเภอหลังสวนเท่านั้น  โดยงานประเพณีแห่พระแข่งเรือหลังสวน ทำกันทั้งสิ้น 4 วัน เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ จนถึงแรม 4 ค่ำ เดือน 11ก่อนการแข่งขันจะมีการแห่งขบวนพาเหรดเรือ ในแม่น้ำหลังสวนเริ่มตั้งแต่หน้าวัดโตนด เรือยาวทุกประเภท เรือประเภทสวยงาม ประเภทความคิด ประเภทตลก จัดเป็นรูปขบวน เคลื่อนผ่านวัดโตนด ผ่านกองอำนวยการหน้าวัดด่านประชากร ไปถึงสะพานรถไฟ

                   สนามแข่งขันใช้แม่น้ำหลังสวน เริ่มจากบริเวณสะพานรถไฟถึงหน้าวัดด่านประชากร ระยะทางประมาณ 500 เมตร โดยมีประเภทเรือที่เข้าแข่งขัน 3 ประเภทคือ เรือประเภทที่ 1 ฝีพายไม่เกิน 32 คน เรือประเภทที่สองฝีพายไม่เกิน 24 คน และเรือกองเชียร์ แบ่งเป็นประเภทความคิดและประเภทตลกขบขัน

                   การแข่งเรือยาวในอดีต จะไม่มีการมอบรางวัลใดๆ แต่เป็นการแข่งเพื่อความสนุกสนาน หลังจากทำบุญในตอนเช้าแล้ว หากพายชนะ 1 เที่ยว จะได้ผ้าแถบ 1 ผืน นายหัวเรือก็จะนำมาผูกไว้ที่บริเวณโขนเรือ ชนะหลายเที่ยวก็จะได้ผ้าแถบหลายผืน เมื่อเลิกแข่งส่วนใหญ่จะนำผ้าแถบเหล่านั้นมาเย็บติดกันเป็นผ้าม่านถวายวัดต่อไป ต่อมาราวปี พ.ศ. 2482 จึงมีการให้รางวัลขันน้ำพานรอง จนกระทั่งปี พ .ศ. 2507 จึงได้ขอพระราชทานโล่ และถ้วยรางวัล

                   ขณะที่เรือยาวภาคอื่นจะมีฝีพายจำนวน 50  40 หรือ 30 ฝีพาย แต่หลังสวนมี 32 ฝีพาย เนื่องมาจากความเชื่อว่าคนเราต้องครบ 32   ในอดีตชาวหลังสวนจะขุดเรือเอง โดยเข้าไปในป่าเพื่อเลือกไม้ที่เหมาะและชักลากออกมาเพื่อขุดเป็นเรือ  ไม้ที่นิยมและเหมาะในการทำเรือคือ ไม้ตะเคียน การสร้างเรือย่าวแต่ละลำต้องมีพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เริ่มต้นด้วยการบวงสรวงเจ้าป่าเจ้าเขา เพื่อขอไม้อันเป็นมงคลมาทำเรือ ลักษณะไม้ที่ดีคือ มีลำต้นตรงไม่มีรอยตำหนิ เมื่อพบไม้ตามต้องการแล้ว จึงตั้งศาลบวงสรวงเจ้าป่าและนางไม้ หรือวิญญาณอื่นใดที่สิงสถิตอยู่ในต้นไม้นั้นให้ไปสถิตที่อื่น แล้วจึงโค่นไม้ต้นนั้นทิ้งไว้ประมาณ 1 ปี เพื่อให้ไม้แห้งคงสภาพ เพื่อเวลาขุดเรือจะได้ไม่เสียรูปทรง เมื่อไม้แห้งดีแล้ว ผู้สร้างจะกลับมาขุดเรือในลักษณะหยาบๆ เพื่อลดน้ำหนักของเนื้อไม้ แล้วจึงนำออกจากป่า และรอฤกษ์งามยามดีจึงทำพิธีเชิญแม่ย่านางเรือเข้าประทับต่อไป

                  เครื่องเซ่นไหว้การทำพิธีเชิญแม่ย่านางเรือเข้าประทับ ประกอบด้วย หัวหมู่ บายศรี และเครื่องสังเวยต่างๆ โดยฝีพายเรือมีความเชื่อว่า หากมีแม่ย่านางเรือดีจะเป็นสิริมงคลและนำชัยชนะให้ แพรพรรณต่างๆ จะถูกนำมาประดับไว้ที่ “โขนเรือ”  หลังจากเชิญแม่ย่านางเรือเรียบร้อยแล้ว จะดูฤกษ์ยามที่เหมาะสมเชิญเรือลงน้ำเพื่อตรวจดูความเรียบร้อยและนำเรือไปเก็บไว้ที่วัดเพื่อรอให้ถึงวันแข่งขันจริง แล้วจึงทำพิธีอัญเชิญเรือลงน้ำอีกครั้งหนึ่ง

                  คำว่า “โขน” หมายถึง ส่วนของหัวเรือ สามารถถอดเก็บได้ เกาะยึดกับตัวเรือด้วยสายยูขนาดใหญ่ และสามารถรองรับน้ำหนักของนายหัวเรือได้ ในงานประเพณี ส่วนโขนเรือจะประดับประดาตามขนบ คือมีผ้าแพร  หน้าร่า และบายศรี    ทั้งนี้การผูกผ้าที่หัวเรือ ทำเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ  การประดับด้วย “หน้าร่า”  ซึ่งเป็นผืนผ้าขนาดยาว ที่ห้อยลงมาจากโขนเรือ  บนผ้าจะประดับด้วยกระจก  เพื่อเวลากระจกกระทบกับผิวน้ำ จะเกิดแสงแวววาวที่สวยงาม  นอกจากนี้ยังมีบายศรี ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านผู้บรมคาถาติดไว้ตรงโขนเรือด้วย  การผูกผ้าสีที่โขนเรือ  เมื่อเวลาจะแข่งจะมีการแกะผ้าออกแล้วผูกใหม่โดยนายหัวเรือ เพื่อให้เข้าจังหวะการปืนและป้องกันการลื่นได้อีกทาง   ส่วนบายศรีมุมมองหนึ่งคือเรื่องความเชื่อ แต่หากจะมองเป็นภูมิปัญญาจะเห็นว่าการนำบายศรีไปวางไว้ตรงโขนเรือจะช่วยกัน การเสียดสีผิวหนังบริเวณหน้าท้องของนายหัวเรือ เวลาขึ้นโหนเพื่อชิงธง เพราะนายหัวเรือเมื่อขึ้นโขนสุดตัวจะเจ็บหน้าท้อง  

                  ส่วนธงที่ชิง มีรูปแบบเฉพาะตัว  เป็นการตัดสินที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความยุติธรรม โดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพถ่ายเข้ามาช่วย ใครที่มาดูแม้ไม่รู้กติกาก็สามารถบอกได้ว่าผู้ที่ชนะคือผู้ที่ได้ธง  โดยธงทำจากผ้าสีแดงผูกติดกับปลายหวายทั้งสองด้าน  โดยหวายต้องเป็นหวายเล็กหรือที่เขาเรียกกันว่าหวายชุมพร  หวายจะถูกสอดไว้ในกระบอกไม้ไผ่ โผล่ปลายธงทั้งสองด้าน  ติดตั้งไว้บนแพผู้ตัดสิน  หากนายหัวเรือฝ่ายใดชิงธงได้ก่อน ผู้นั้นเป็นฝ่ายชนะ

 


บรรณานุกรม

กฤษฎา บุษบรรณ.(18 พฤศจิกายน 2556). สัมภาษณ์. อาจารย์ โรงเรียนสวนศรีวิทยา อ.หลังสวน จ.ชุมพร.

ขจิต ศิกษมัต และคนอื่นๆ.(2542).เมืองหลังสวน: อนุสรณ์ 100 ปี สวนศรี 2442-2542.  กรุงเทพฯ : บริษัทธนาเพรส.

จารุวัสตร์  วงษ์วิเศษ.(2549). แลหลังสวน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อรุณวิทยา.

ปณิตา  สระวาสี.(2557). "ขึ้นโขนชิงธง ที่พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน วัฒนธรรมลุ่มน้ำหลังสวน"จดหมายข่าวศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 16(83) (พฤษภาคม-ธันวาคม),4-7.

วิมล ไทรนิ่มนวล.(2543). ชุมพร. กรุงเทพฯ: บริษัทเอิร์นเอ็ดดูเคชั่น จำกัด.