ตักบาตรน้ำผึ้ง

21175 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น :
เดือนที่จัดงาน : กันยายน
เวลาทางจันทรคติ : ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
สถานที่ : วัดคลองครุ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
: วัดเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
ภาค / จังหวัด : ภาคกลาง
: สมุทรสาคร
ประเภท : ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์,ประเพณีตามเทศกาล หรือประเพณี 12 เดือน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง : ตักบาตรล้างเท้าพระ
คำสำคัญ : มอญ, รามัญ, น้ำผึ้ง, ตักบาตร
ผู้เขียน : ธันวดี สุขประเสริฐ,นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และปัณวัตน์ ผ่องจิต
วันที่เผยแพร่ : 25 ก.พ. 2559
วันที่อัพเดท : 19 ธ.ค. 2560

ตักบาตรน้ำผึ้ง

             ตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีถวายเภสัชแก่พระภิกษุสงฆ์ นิยมปฏิบัติในภาคกลาง กระทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวมอญ ซึ่งแต่เดิมนั้น ชาวมอญอาศัยอยู่ทางตอนล่างของประเทศพม่า กระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 16 ชนชาติพม่าได้ขยายอิทธิพลลงมา ทำให้ชาวมอญต้องอพยพมาสู่ดินแดนภาคกลางของไทยเป็นระยะ พร้อมกันนี้ ได้นำศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ จารีตประเพณี และวิถีชีวิตของตนเองตามมาด้วย          

 

ศรัทธาแรงกล้า 
การถวายทานด้วยน้ำผึ้ง ปรากฏในชีวประวัติของ “พระสีวลี” พุทธสาวกที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องให้เป็น “ภิกษุที่เลิศทางมีลาภ” โดยในอดีตชาติหนึ่งนั้น พระสีวลีเกิดเป็นชาวบ้านธรรมดา ในตำบลใกล้เมืองพันธุมวตี แต่เป็นผู้ขยันขันแข็งด้านการถวายทาน อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวเมืองสมัยนั้นนิยมถวายทานแข่งกับพระราชา โดยชาวเมืองเห็นว่าน้ำผึ้งกับเนยแข็งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในทานของพวกเขา จึงจำเป็นต้องจัดหามาถวายทานให้ได้เพื่อจะได้ไม่น้อยหน้าพระราชา ดังนั้น จึงแต่งตั้งคนดูต้นทาง ให้สอดส่องสังเกตหน้าประตูเมืองว่ามีใครมีของสองสิ่งนี้ติดตัวมาบ้าง
             

ขณะเดียวกัน สีวลีหนุ่ม ก็กำลังเดินทางเข้าเมืองพร้อมด้วยเนยแข็งเพื่อนำไปแลกกับสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งระหว่างทาง เขาได้พบรวงผึ้งขนาดเท่างอนไถที่ไม่มีผึ้งอาศัยอยู่ จึงนำติดตัวไปด้วย เมื่อผ่านประตูเมือง คนดูต้นทางไม่รอช้า เข้าเจรจาขอซื้อเนยแข็งกับรวงผึ้งทันทีในราคา 1 กหาปณะ (4 บาท) แต่สีวลีหนุ่มคิดว่านี่เป็นราคาที่สูงเกินไป จึงต้องการจะสืบต้นสายปลายเหตุให้รู้แน่ เขาจึงโก่งราคาไปเรื่อย ๆ จนสูงถึง 1,000 กหาปณะ จึงได้สอบถามจนได้ความตามต้น สีวลีหนุ่มจึงตัดสินใจไม่ขาย แต่จะขอใช้น้ำผึ้งกับเนยแข็งนี้ร่วมทำบุญกับชาวเมืองด้วย ทั้งยังตั้งจิตอธิษฐานให้ผลบุญนี้ทำให้ตนเป็นเลิศในลาภยศในอนาคตด้วย
             

การถวายน้ำผึ้งของชาวมอญจึงเป็นความเชื่อที่มีผลพวงมาจากการที่ชาวมอญนั้นมีความเคารพ ศรัทธาในพระสีวลี จึงมีประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งสืบทอดต่อกันมา การที่ชาวมอญได้ถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุสงฆ์ตามแบบอย่างที่พระสีวลีเคยทำในชาติก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ในปัจฉิมชาติ ที่ได้เป็นเอตทัคคะทางด้านการมีลาภมากนั้น ชาวมอญเชื่อว่าการถวายน้ำผึ้งจะเป็นทางที่จะทำให้ผู้ที่ถวายจะมีโชคมีลาภ เหมือนกับพระสีวลี หากไม่สมหวังในชาตินี้ ในชาติหน้านั้นก็คงจะได้อย่างแน่นอน

 

โอสถรสหวาน 

ในสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกิริยาแล้ว พระพลานามัยยังไม่ฟื้นคืนดังเดิม วันหนึ่ง นางสุชาดานำข้าวมธุปายาส (ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมเจือน้ำผึ้ง) มาถวาย ก็ปรากฏว่าพระวรกายฟื้นฟูกลับมาอย่างรวดเร็ว มีพระปรีชาญาณจนตรัสรู้ได้ในที่สุด ทั้งยังมีคราวหนึ่ง ในช่วงเดือน 10 พระภิกษุร่างกายชุ่มด้วยน้ำฝน ต้องเหยียบย่ำโคลนตม เกิดอาพาธอาเจียนหลายรูป กายซูบเศร้าหมอง พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุฉันน้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยข้น เนยใส และน้ำมันพืชได้ในยามวิกาล โดยถือเป็นยารักษาโรคและบำรุงร่างกาย การตักบาตรน้ำผึ้งจึงเป็นการถวายเภสัชทาน บำรุงสุขภาพภิกษุสงฆ์ เป็นการสืบต่อพุทธศาสนาได้ทางหนึ่ง จึงยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีเรื่อยมา

 

ตักบาตรน้ำผึ้งในเมืองไทย              

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10  โดยก่อนวันพิธีตักบาตรน้ำผึ้ง ชาวบ้านจะเตรียมทำข้าวต้มเพื่อไปทำบุญ แต่ละบ้านจะทำข้าวต้มไม่เหมือนกัน เช่น ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มคลุก ข้าวต้มมัด ข้าวต้มลูกโยนมีลักษณะลูกกลมห่อด้วยยอดจาก จะทิ้งหางยาว ข้าวต้มคลุกมีลักษณะลูกใหญ่และยาวห่อด้วยยอดจากเวลาทานต้องหั่นเป็นชิ้นคลุกด้วยน้ำตาลทราย เกลือ และมะพร้าวขูด ข้าวต้มมัด หรือข้าวต้มผัดมีลักษณะเป็นยาวข้างในใส่ถั่วดำและกล้วยห่อด้วยใบตองหรือใบจากก็ได้ประกบคู่แล้วมัดด้วยยอดจากฉีกครึ่ง เมื่อถึงช่วงเย็นของวันที่ทำข้าวต้มมัดหรือข้าวต้ม ชาวบ้านจะให้ลูกหลานนำข้าวต้มนั้นไปส่งตามบ้านผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือ  
               

นอกจากพุทธศาสนิกชน จะนำอาหารและข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มลูกโยนไปทำบุญที่วัดกันตามปกติแล้ว จะนำน้ำผึ้งบริสุทธิ์ พร้อมด้วยน้ำตาลทรายกับผ้าแดงผืนเล็กติดตัวไปด้วย โดยจะตักหรือรินน้ำผึ้งใส่ในบาตรจำนวน 32 ใบ ที่เป็นสัญลักษณ์แทนอาการของมนุษย์ปกติ โดยต้องเป็นน้ำผึ้ง เดือนห้าแท้ ไม่ควรเป็นน้ำผึ้งผสม เพราะจะทำให้น้ำผึ้งบริสุทธิ์เสื่อมคุณภาพ ขณะที่น้ำตาลจะใส่ในฝาบาตร และผ้าแดงจะวางไว้หลังบาตร โดยผ้าแดงในการตักบาตรน้ำผึ้งมีที่มาจากหญิงทอผ้าผู้หนึ่ง ได้พบพ่อค้าหนุ่มกำลังตักบาตรน้ำผึ้ง แต่น้ำผึ้งเพียงน้อยนิดกลับทวีปริมาณจนล้นบาตร นางจึงนำสไบแพรของนางซับน้ำผึ้งนั้นไว้ พร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอให้ผลบุญนี้ช่วยให้ชาติหน้านางได้เกิดเป็นพระมเหสีของพระราชา ขณะที่พ่อค้าหนุ่มขอให้ตนเองได้เป็นกษัตริย์ ในที่สุด พ่อค้าหนุ่มก็ได้เกิดเป็นพระเจ้าอโศกมหาราชและหญิงทอผ้าก็ได้เป็นพระอัครมเหสีของพระองค์
              

การตักบาตรน้ำผึ้งเป็นกิจกรรมที่น้อมนำให้ระลึกถึงองค์ผู้มีพระภาคเจ้าที่มีความเกี่ยวข้องกับสัตว์เดียรัจฉาน สัตว์ยังรู้คุณค่าของศาสนาด้วยการเสาะแสวงหาภิกษาหารนำมาถวายพุทธองค์เพื่อได้สดับตรับฟังธรรม พุทธศาสนิกชนจึงนำรูปแบบของการนำปัจจัยมาถวายเพื่อจุดหมายการได้ฟังธรรมเทศนาเช่นกัน
 


บรรณานุกรม

เจริญ ตันมหาพราน. ประเพณีท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงแดด, 2538

http://www.stou.ac.th/Offices/rdec/nakornnayok/Main/OnlineExhibitions/Phatum/N.html

https://www.youtube.com/watch?v=cc4Ju94YxqI

https://www.youtube.com/watch?v=EbJAR_HmIoY

http://www.prapayneethai.com/ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง-ฉะเชิงเทรา

http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9540000111871

ตักบาตรน้ำผึ้ง ชาวมอญบ้านแพ้ว

จากการศึกษาของประเชิญ คนเทศ (2528) อธิบายว่าชาวมอญในตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว แต่เดิมอยู่บริเวณบ้านเกาะ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ต่อมาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ได้อพยพไปแสวงหาที่ดินทำกิน จึงเดินทางมาบริเวณเจ็ดริ้ว บริเวณนี้มีลำคลองและพื้นที่กว้างเหมาะสำหรับการทำนา ชาวมอญจึงตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองเจ็ดริ้ว และมีวัดรามัญวงศ์หรือวัดเจ็ดริ้วเป็นศูนย์รวมของชาวมอญ วัดรามัญวงศ์หรือวัดเจ็ดริ้ว มีการสร้างเจดีย์ขาวในปี พ.ศ.2548-2549 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์สร้างบนฐานลดหลั่นกันสามชั้น มีซุ้มประตู 4 ด้าน หมายถึงอริยสัจ 4 รอบเจดีย์ใหญ่จะมีเจดีย์เล็กล้อมรอบ 6 เจดีย์ หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภายในเจดีย์มีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรและรูปปั้นเกจิอาจารย์

นอกจากนั้น ชาวมอญยังอาศัยอยู่บริเวณวัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม ริมคลองดำเนินสะดวก ตาบลหลักสาม วัดธรรมเจดีย์ศรีพิพัฒน์ ริมคลองตาปลั่ง คลองเขื่อนขันธ์ วัดอุทยาราม ริมคลองพากหมอน วัดธัญญารามราษฎร์บำรุง ริมคลองตาขา

เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม ต.หลักสาม อ.บ้านแพ้วเล่าว่า แต่เดิมชาวมอญที่บ้านแพ้ว อพยพมาจากบ้านเกาะในเขตอำเภอเมือง สมุทรสาคร เข้ามาหักร้างถางพงริมคลองดำเนินสะดวกเพื่อทำนา และตอนเย็นก็กลับไปที่บ้านเกาะ ต่อมาก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ถาวร แต่ก็ยังคงมีญาติพี่น้องอยู่ที่บ้านเกาะ สำหรับชาวมอญที่มาอาศัยบริเวณตำบลหลักสาม อำเภอบ้านแพ้ว ก็แต่งงานกับคนจีนบ้าง กับคนไทยบ้าง ทาให้ความเป็นมอญไม่ค่อยเข้มข้น

อาชีพดั้งเดิมของมอญเจ็ดริ้วคือการทำนา ซึ่งอาศัยแรงงานควายเป็นหลัก ต่อมาราวปี พ.ศ.2516 เริ่มมีการปลูกสวนองุ่นที่สร้างรายได้ดีกว่าการทำนา ทาให้ชาวมอญเปลี่ยนมาเป็นชาวสวน ที่นาจึงค่อยๆหายไป (ประเชิญ คนเทศ, 2528: 19 อ้างใน นฤพนธ์, 2560: 16) ปัจจุบันชาวมอญเจ็ดริ้วยึดอาชีพทำสวนเป็นหลัก พืชที่ปลูก ได้แก่ มะพร้าว ฝรั่ง พุทรา มะม่วง กล้วย ส้ม เป็นต้น ยามว่างจากการทำสวน ชาวมอญจะทำหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น ทอเสื่อ สานตะกร้า เป็นต้น

ชาวมอญเจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว มีการสืบทอดประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ซึ่งจะจัดงานในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ในปี พ.ศ.2546 ครูและนักเรียนโรงเรียนวัดเจ็ดริ้วได้ฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้นมาใหม่ ชาวมอญเชื่อว่าการถวายน้ำผื้ง เป็นการถวายคิลานเภสัช (ยารักษาโรค) หนึ่งใน 5 อย่าง คือ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาลสด เนยใส และน้ำมันงา เพื่อให้พระภิกษุใช้เป็นยารักษาโรค

นอกจากนั้น ในช่วงออกพรรษา ชาวมอญมีการสืบทอดประเพณีตักบาตรดอกไม้ล้างเท้าพระที่วัดเจ็ดริ้ว ตรงกับแรม 15 ค่า เดือน 11 ในตอนเช้า ชาวมอญจะเข้าวัดทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์มหาชาติ ช่วงบ่ายจะเตรียมดอกไม้และถังน้ำเพื่อล้างเท้าพระ เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์จะเดินลงมาจากกุฎิ เรียงเป็นแถวยาวผ่านชาวบ้านที่นั่งรอสองข้างทาง เมื่อพระเดินผ่าน ก็จะนำดอกไม้ใส่ยามพระ และตัดน้ำใส่ขันและเทราดไปที่เท้าพระ พร้อมกับพนมมือไหว้ จากนั้นพระจะเดินเข้าโบสถ์เพื่อทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษา

รองเจ้าอาวาส วัดเจ็ดริ้ว อธิบายความสำคัญของประเพณีออกพรรษาและการล้างเท้าพระของชาวมอญว่า

“วันออกพรรษาเป็นวันอริยวินัย ก็คือ เจ้าอาวาส ลูกวัด อันนี้เขาเรียกว่าอริยวินัย ผู้น้อยสามารถแนะนำผู้ใหญ่ได้ ล้างเท้าเขาถือว่าต่ำ ให้ประชาชนลดทิฐิ ลดความรู้ความสามารถตัวเอง ลดอัตตาของตัวเอง ที่จะล้างเท้า ก็เอาเป็นพระ เป็นบุคลาธิษฐานได้ดีที่สุด คือวันนั้นคุณถอดหัวโขน คุณจะเป็นนายกอบต. เป็นใครอะไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยคุณต้องรู้รากเหง้าของพระพุทธศาสนามาจากอะไร ความอ่อนน้อมถ่อมตน จะได้คลายทิฐิ พิธีของคนโบราณเขาที่เขาทำมา ก็คือการสรงน้ำล้างเท้าพระ ส่วนตักบาตรดอกไม้เพื่ออะไร พระพุทธศาสนาถือว่าดอกไม้เป็นตัวแทนของพระสงฆ์ที่มีชีวิต สมมติสงฆ์ไม่ใช่อริยสงฆ์ ก็เอาตรงนี้เป็นเกณฑ์ว่าดอกไม้มันแสดงถึงอะไร ความอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็คือความเป็นพระที่ยังเอาธรรมพระพุทธเจ้ามาน้อมนำมาปฏิบัติ ก็ถวายเป็นธูปสามดอก ธูปก็ยังมีตัวแทน ดอกไม้ก็ตัวแทนของพระสงฆ์ ในการที่จะตักบาตร ในวันปวารณาออกพรรษา” (สัมภาษณ์ วันที่ 12 ตุลาคม 2559)


บรรณานุกรม

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และปัณวัตน์ ผ่องจิต. รายงานวิจัยเรื่อง ชุมชนกับความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอำเภอบ้านแพ้ว และอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2560.

วัดคลองครุ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
ละติจูด = 13.5724181 ลองติจูด= 100.271132