ทำขวัญข้าว

52169 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น : สู่ขวัญข้าว,สู่ขวัญแม่โพสพ
เดือนที่จัดงาน : มกราคม,สิงหาคม,กันยายน,ธันวาคม
เวลาทางจันทรคติ : เดือน 9-10(ทำขวัญข้าวตอนข้าวตั้งท้อง), เดือนยี่(ทำขวัญตอนเก็บเกี่ยว)
สถานที่ : ศาลแม่โพสพคลองบางซื่อ หมู่ 10 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม
ภาค / จังหวัด : ภาคกลาง
: ภาคใต้
: นครปฐม
: พัทลุง
ประเภท : ประเพณีเกี่ยวกับการทำมาหากิน
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง :
คำสำคัญ : ข้าว,แม่โพสพ,ทำนา
ผู้เขียน : ปณิตา สระวาสี,ศรีศักร วัลลิโภดมและคณะ
วันที่เผยแพร่ : 4 ก.พ. 2559
วันที่อัพเดท : 3 มิ.ย. 2559

ทำขวัญข้าวในบริบทปัจจุบัน

ประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวมีหลากหลาย หรืออาจจะกล่าวได้ว่ามีเกือบทุกขั้นตอนของการทำนาตั้งแต่ก่อนการเพาะปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว ด้วยความเชื่อเรื่องการให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์  ประเพณีทำขวัญข้าวหรืออาจจะเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญแม่โพสพ เป็นประเพณีที่ทำกันในเกือบทุกภาคของประเทศ  อาจมีพิธีกรรมทั้งที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันไปตามพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่เป็นแสดงถึงการผสมผสานของความเชื่อเรื่องผีและขวัญ

คนไทยมีความเชื่อเรื่องขวัญ เชื่อว่าทั้งคน สัตว์ และสิ่งต่างๆ มี “ขวัญ” ประจำอยู่ ขวัญจะหนีไปเมื่อมีเหตุให้ตกใจ และยังเชื่อว่าต้นข้าวและควายก็มีขวัญ โดยทั่วไปนิยมทำขวัญข้าวเมื่อข้าวตั้งท้องและเมื่อขนข้าวขึ้นยุ้งฉาง ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในชีวิตของข้าว จึงจัดพิธีทำขวัญข้าวขึ้น อย่างไรก็ดีการทำขวัญข้าวตอนขนข้าวขึ้นยุ้งในปัจจุบันหลายแห่งเลิกทำไปเพราะมีการซื้อขายข้าวตั้งแต่อยู่ในลาน 

ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับแม่โพสพเชื่อกันว่ามีเทพธิดาเป็นผู้รักษาข้าวที่เรียกว่า “แม่โพสพ” ชาวนาจะทำพิธีบวงสรวงเพื่อแสดงความเคารพ ระลึกถึงบุญคุณของแม่โพสพตลอดช่วงเวลาเพาะปลูก เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชที่ปลูกตามฤดูกาล เชื่อกันอีกว่าเทวดาประจำพืชดังกล่าวมักเป็นเทวดาผู้หญิงเพราะข้าวเป็นอาหารหลัก ใช้เลี้ยงชีพให้เจริญมีสุขภาพดี เปรียบเสมือนมารดาเลี้ยงลูกให้เติบโต  โดยรูปเคารพแม่โพสพจะทำเป็นหญิงสาวไว้ผมประบ่า มีครอบหน้าและจอนหูห่มผ้าสไบเฉียงจากขวาไปซ้าย อยู่ในท่านั่งพับเพียบ

ในเขตชุมชนคลองบางซื่อ ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม พื้นที่ๆ ผู้เขียนไปเก็บข้อมูล พบว่ายังมีการทำขวัญข้าวกันอยู่ แต่เป็นการทำขวัญข้าวหลังเก็บเกี่ยว  ชาวบ้านจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพและมีลักษณะเป็นทางการ มีการจัดงานพิธีนิมนต์พระสงฆ์ พิมพ์การ์ดเชิญแขก หรือบางครั้งมีมหรสพด้วย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  จากการสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ของชุมชน ทราบว่าแต่ดั้งเดิมการทำขวัญข้าวในแถบนี้จะนิยมทำตอนข้าวตั้งท้อง และทำกันเฉพาะในครอบครัว ส่วนการทำขวัญข้าวแบบรวมหมู่ของชุมชนคลองบางซื่อเพิ่งทำกันช่วงหลังไม่เกินสามสิบปีมานี้

 

“ศรีศรีวันนี้วันดีจะทำขวัญแม่โพสพ มีดินกับฟ้ามีเขาข้างหน้า หงอกขะหงอนส้มสุกลูกกลอน จัดให้เป็นแผนก

เมื่อแรกจะทรงครรภ์ ตัดใบสั้นทั้งข้าวเหนียวข้าวเจ้า ออกอยู่เรียงรายลมพะพายพัดต้อง อ่อนน้อมค้อมไปตามคมเคียว

เมื่อแรกจะเกี่ยวเมื่อแรกจะขน ขออย่าให้ร่วงหล่นบนพื้นแผ่นแม่ธรณี นกอีรุ้งอย่าทำรัง นกอีคังจะเก็บเกล็ด

นกอีเป็ดจะไซ้  กิ่งอกพกคว่ำเรือล่มจมน้ำ เชิญฟังนะเอย ขวัญเอย

แม่จันเทวี แม่สีโสดา เมื่อท้องยังอ่อนคอนหัวปลีรี อยากเปรี้ยวอยากหวาน อยากน้ำตาลโตนด

ทั้งเครื่องวิโสด กระแจะหอมจัน น้ำมูกน้ำมันลูบไล้ลาทา

แม่ศรีแม่โพสพแม่นพดารา เชิญแม่มานุ่งม่วงผ้าใย ห่มไหมผ้าปูม นกกระจิบนกกระจาบคาบแม่มาหล่น

รอยช้าง รอยม้า รอยข้า รอยคน ที่ร่วงที่หล่น เชิญแม่มา ขวัญเอย ขวัญเอย”

 

คำร้องทำขวัญข้าวที่สืบต่อมาจากพ่อแม่ยังแจ่มชัดในความทรงจำของยายกลุ่ม จันทร์บำรุง อายุ 83 ปี  อดีตชาวนาชุมชนวัดท่าพูด อ.สามพราน จ.นครปฐม  บทสนทนาของยายกลุ่มเกี่ยวกับการทำนาและประเพณีทำขวัญข้าวเริ่มตั้งแต่เมื่อสมัยที่เธอยังเป็นเด็กครอบครัวเธอเช่าที่ดินเพื่อทำนาในแถบชุมชนท่าพูด บ้านเธอเลี้ยงควายหลายตัวเพื่อใช้ไถนา  การทำนาในตอนนั้นทำปีละครั้งเริ่มตั้งแต่เดือนหก(พฤษภาคม)คือตกกล้า หลังจากนั้นหนึ่งเดือนจึงถอนกล้าและเริ่มดำนาในเดือนเจ็ดถึงเดือนแปด  ในตอนนั้นใช้ระหัดวิดน้ำจากคลองเพื่อส่งน้ำเข้านา ไม่ได้รอน้ำฝน เมื่อถึงเดือนสิบ(กันยายน) ข้าวตั้งท้อง ในช่วงเวลานี้จึงมีการทำขวัญข้าว โดยทำกันในครอบครัว นิยมทำกันในช่วงข้างขึ้นเดือนสิบ ไม่ทำข้างแรม  เรียกว่าทำขวัญข้าวตอนข้าวตั้งท้อง  ซึ่งยายกลุ่มบอกว่าที่ชุมชนของเธอการทำขวัญข้าวตอนตั้งท้องถือเป็นวาระสำคัญที่สุด  อย่างไรก็ดีบางคนอาจทำพิธีเรียกขวัญข้าวเข้าบ้านตอนเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วก็มี

ผู้ทำขวัญข้าวมักเป็นผู้หญิง  โดยจะจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้เพื่อนำไปบวงสรวงในหัวคันนา เลือกทำกันในวันข้างขึ้นเดือนสิบ  นำสายสิญจน์มามัดข้าวสามกอ ปักธงสามสี(หรือบางคนใช้สีขาวสีเดียว) อ้อยปักตรงกลาง นำผ้าม่วงมานุ่งและนำผ้าไหมห่มทับต้นข้าวอีกชั้นหนึ่ง ใส่แหวน สร้อย คล้องไว้ด้านบน  ค่อยๆ นำน้ำมันลูบที่ใบข้าวสามกอทีละรวง นำน้ำหอม แป้ง ปะพรมต้นข้าว พร้อมเครื่องสังเวยอื่นๆ ได้แก่ กระจก หวี แป้ง น้ำมันใส่ผม หมาก พลู มันเทศ เผือก ผลไม้รสเปรี้ยวจำพวกส้ม พุทธา นัยว่าข้าวตั้งท้องเช่นเดียวกับคนคืออยากกินของเปรี้ยว อ้อยควั่นใส่กะทง มะพร้าวอ่อน ขนมจันอับ รวมถึงข้าวปากหม้อ  ไข่ 1 ลูก บายศรีที่ภายในใส่ขนมต้มแดงขาว ดอกไม้ ธูปเทียน  เมื่อแต่งตัวแม่โพสพเสร็จจึงกล่าวรับขวัญ  เมื่อรับขวัญแม่โพสพเสร็จมักจะเก็บข้าวของมีค่ากลับไป ส่วนขนมผลไม้กลายเป็นอาหารของเด็กๆ ในละแวก

ในอดีตชุมชนแถบนี้จะทำขวัญข้าวกันทุกบ้าน เป็นการทำขวัญข้าวตอนข้าวตั้งท้อง ต่างคนต่างทำในนาของตนเอง ปัจจุบันเนื่องการพื้นที่ทำนาภายในชุมชนค่อยๆ ลดลง กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรและโรงงานอุตสาหกรรมไปเกือบหมด  ชาวนาหลายครอบครัวขายที่ดิน  คนรุ่นใหม่ไม่มีใครอยากจะทำนาเหมือนกับคนรุ่นพ่อแม่หรือรุ่นปู่ย่า แม้ประเพณีการทำขวัญข้าวของแต่ละครัวเรือนก็ค่อยๆ หายไป แต่การทำขวัญข้าวหลังเก็บเกี่ยวของชุมชนคลองบางซื่อยังทำกันอยู่อย่างต่อเนื่อง

ประเพณีทำขวัญข้าวหลังเก็บเกี่ยวของชุมชนคลองบางซื่อ วัดท่าพูด อ.สามพราน จ.นครปฐม ยังคงจัดอย่างต่อเนื่องมากว่าสามสิบกว่าปีแล้ว ชาวบ้านจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดอาหารคาวหวานถวายพระสงฆ์ในบริเวณปะรำพิธี ซึ่งคือพื้นที่ริมคลองบางซื่อของนายแฉล้ม กันทวี  การทำขวัญของชุมชนคลองบางซื่อเป็นการทำขวัญข้าวแบบรวมหมู่ไม่ใช่ทำกันเฉพาะครัวเรือน  โดยจัดพิธีกรรมสองวัน กำหนดจัดงานในวันศุกร์แรกของเดือนยี่โดยอดีตเจ้าอาวาสวัดท่าพูด  เริ่มวันแรกด้วยที่ชาวบ้านเตรียมเครื่องคาวหวานถวายพระสงฆ์ที่จะเดินทางมาทำพิธีสวดมนต์เย็น และชาวบ้านจะนำภาชานะใส่ข้าวเปลือก มีต้นข้าวดอกไม้ปักไว้ด้านบน มาวางรวมกันในบริเวณปะรำพิธี ซึ่งประกอบไปด้วยไปด้วยถาดเครื่องเซ่นคาวหวาน ได้แก่ ขนมจันอับ ถั่วตัด ขนมต้มขาว กล้วย ฝรั่ง ส้ม อ้อยควั่น  มะม่วง เผือก  และบายศรีปากชาม  หลังจากนั้นหมอทำขวัญจะทำพิธีเรียกขวัญข้าว  และพิธีเวียนเทียน จบพิธีการประมาณสามทุ่ม  และเช้ารุ่งขึ้นนิมนต์พระมาสวดมนต์เช้าเป็นอันจบพิธี

องค์ประกอบของการจัดงานเริ่มแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น  คนทำขวัญในชุมชนเองอายุมากกันแล้ว บางท่านเสียชีวิตไปแล้ว จำเป็นต้องจ้างหมอทำขวัญจากชุมชนคลองจินดา ซึ่งเป็นหมอทำขวัญนาค คำร้องในการเรียกขวัญก็จะแตกต่างออกไป โดยหมอทำขวัญที่ได้รับการจ้างมาจะใช้อ่านจากตำราที่พิมพ์กันโดยทั่วไป  ปัจจุบันการจัดงานเริ่มเป็นทางการมากขึ้น เนื่องจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนสนับสนุนประเพณีทำขวัญ ในแต่ละปีจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการจัดงานเป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องเสียง ค่าโสหุ้ยต่างๆ  และในปี พ.ศ. 2555 ยังให้งบประมาณจากโครงการ SML สร้างเป็นโรงเรือนถาวรเพื่อเก็บอุปกรณ์การเกษตรชุมชน และยังใช้ทำพิธีขวัญข้าวปีละครั้ง รวมถึงที่ประชุมคณะกรรมการชุมชนในวาระต่างๆ ซึ่งแต่ดั้งเดิมบริเวณปะรำพิธีเป็นการสร้างปะรำชั่วคราวตกแต่งด้วยทางมะพร้าวและวัสดุในท้องถิ่น

นายสำรวย กันทวี อายุ 57 ปี ประธานคณะกรรมการชุมชนคลองบางซื่อ บุตรชายของนายแฉล้ม กันทวี เจ้าของที่ดินที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่จัดพิธีทำขวัญข้าว  ย้อนอดีตการทำขวัญข้าวหลังเก็บเกี่ยวริมคลองบางซื่อว่า ย้ายพื้นที่จัดพิธีมาหลายครั้งจนมาถึงพื้นที่ปัจจุบันที่เป็นที่ดินของพ่อ แต่ก่อนยังไม่มีเต็นท์ ใช้ทางมะพร้าวมาทำเป็นปะรำเพื่อใช้บังแดด  เหตุที่เลือกบริเวณนี้เพราะใกล้สะพานข้ามคลอง ผู้คนใช้สัญจรอยู่แล้ว แต่ก่อนไม่มีรถ ใช้การเดินเท้าและทางเรือเป็นหลัก บริเวณนี้จึงเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก  และเริ่มมีการตั้งศาลแม่โพสพถาวรในที่ปัจจุบันเมื่อราวปี พ.ศ. 2525 นอกจากนี้นายสำรวย เล่าให้ฟังถึงการทำขวัญข้าวในสมัยที่เขายังเป็นเด็กว่า

“สมัยที่ผมเป็นเด็ก เห็นแม่ทำขวัญข้าว ผมพายเรือไปกับแม่ เตรียมของมีมันเผือกอ้อย เอาทำไปทำที่หัวคันนา และแม่บอกผมนั่งเฝ้าเครื่องเซ่นไว้ เพราะแม่เอาเข็มขัดนากพันต้นข้าวและเอาสายสร้อยคล้องบนต้นข้าวไว้  เวลาบ้านไหนทำขวัญข้าวพวกเด็กๆ จะเห็นธงปัก ก็จะเดินไปเอาของกินเวลาเขาลาแล้ว เช่น อ้อย ถั่วตัด การทำขวัญข้าวเป็นความเชื่อคนโบราณว่าเพื่อทดแทนบุญคุณข้าวที่เราเหยียบย่ำ”

สำหรับบทร้องทำขวัญข้าวมีหลายสำนวน แต่ละครอบครัวอาจร้องไม่เหมือนกัน แต่เนื้อหาจะคล้ายคลึงกันคือเป็นการบำรุงขวัญแม่โพสพไม่ให้หนีไปไหน พร้อมของบำรุงที่เป็นผลไม้รสเปรี้ยว หรือของดีๆ สำหรับคนตั้งครรภ์ และเริ่มขึ้นต้นคำว่า “ศรีศรี”  ดังตัวอย่างอีกสำนวนของยายทองหยิบ ภิรมย์ แห่งชุมชนคลองบางซื่อ ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม

 

“ศรีศรีตั้งฟ้า ทำนาเป็นข้าว พระอิศวรผู้เป็นเจ้า เมื่อแบกแอกแบกไถ เมื่อตูมเมื่อตามท้องอ่อนๆ คอนหัวปลี

อยากเปรี้ยวอยากหวาน อยากน้ำตาลโตนด อยากของวิโสค มีรสโอชา กระแจะน้ำมันลูบไล้กายา

แม่จันทร์กินรี แม่ศรีสุดา แม่นกปากเกล้า แม่ดาวดารา เชิญขวัญแม่มา เวียงหักคุกคว่ำ เรือล่มจมน้ำ

ขวัญเอยขวัญเอยมา เชิญขวัญแม่มา ขวัญตกน้ำลูกจะลงงม ขวัญตกตรมลูกจะลงร่อน

ขวัญหนีขวัญหาย ขวัญไปอยูป่า ขวัญอยู่หย่อมหญ้าท่าน้ำพรมนที

เชิญขวัญกลับมาเรือน ขวัญจะได้เชือนแช จนมาสู่บ้างช่องห้องหอเรือนแพ ริมน้ำริมฝั่ง

อยู่ ณ ที่ใดกลับมารวงรังให้สมบูรณ์ ขวัญเอย ขวัญเอย มา”

 

คติพื้นที่บ้านที่แฝงในการทำขวัญข้าว แสดงให้เห็นว่าคนไทยในอดีตไม่ได้มองข้าวอย่างฉาบฉวยว่าเป็นเพียงอาหารหรือวัตถุดิบ แต่มองข้าวที่สัมพันธ์กับคน ลงลึกถึงจิตวิญญาณ พิธีกรรมที่ประกอบในการทำนาในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การหว่านกล้า ปักดำ เกี่ยวเกี่ยว ต้องทำด้วยความเคารพและสำนึกในบุญคุณแม่โพสพ และผู้ทำก็ได้ทั้งความอิ่มกายและอิ่มใจ


บรรณานุกรม

งามพิศ  สัตวย์สงวน.(2536). “ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม และคติชาวบ้านเกี่ยวกับข้าว” ใน ข้าวกับวิถีไทย. เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง วัฒนธรรมข้าวในสังคมไทย เนื่องในพิธีเปิดหอไทยนิทัศน์ วันที่ 30 มีนาคม.

มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์.(2547). ข้าว ขวัญของแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์.

กลุ่ม จันทร์บำรุง.(15 มกราคม 2559).สัมภาษณ์.ชาวนา ชุมชนวัดท่าพูด ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม.

ทองหยิบ ภิรมย์.(15 มกราคม 2559).สัมภาษณ์.ชาวนา ชุมชนวัดท่าพูด ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม.

สำรวย กันทวี.(15 มกราคม 2559).สัมภาษณ์.ชาวนา ชุมชนวัดท่าพูด ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม.

ทำขวัญข้าว

เป็นการบวงสรวงแม่โพสพ โดยเชื่อว่าถ้าข้าวมีขวัญสิงอยู่ประจำ ต้นข้าวก็จะงอกงามสมบูรณ์ให้ผลสูง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนหรือเฉาตาย ในจังหวัดพัทลุงบางตำบล จะมีการรวมกันทำขวัญข้าวที่วัด เรียกว่า ทำขวัญข้าวใหญ่ โดยวัดจัดให้มีการกองข้าวเลียงขึ้น เมื่อชาวบ้านนำข้าวเลียงมาบริจาควัด ทางวัดจะเก็บรวบรวมไว้ แล้วกำหนดวันทำขวัญข้าวใหญ่ขึ้น เมื่อถึงวันนั้น ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนจะนำข้าวไปวัดอีกคนละหนึ่งเลียง และเขียนชื่อกำกับไว้ ผู้จัดพิธีนำข้าวเลียงของทุกคนรวมไว้ด้วยกัน และทำพิธีเหมือนกับการทำขวัญข้าวของครัวเรือน คือการนำอุปกรณ์ไปเซ่นไหว้ สวดบูชาพระรัตนตรัยและแหล่บททำขวัญขอบคุณแม่โพสพและเชิญขวัญข้าว เสร็จแล้วแต่ละครัวเรือนจะนำข้าวเลียงของตนกลับไปเก็บไว้บนยุ้งเป็นข้าวขวัญ

เชื่อกันว่าเมื่อได้ทำพิธีนี้แล้ว ปีหน้าการทำไร่ทำหน้าก็จะอุดมสมบูรณ์ ประเพณีทำเพื่อเชิญแม่โพสพขึ้นเพิง ไม่ให้ตกอยู่ตามทุ่งนา เพื่อให้ข้าวที่ตกอยู่นั้นขึ้นฉางขึ้นเพิงให้หมด


บรรณานุกรม

ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ.(2544). โครงการวิจัยเรื่องประเพณีสิบสองเดือน : พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป. (2544). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร.

ศาลแม่โพสพคลองบางซื่อ หมู่ 10 ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม
ละติจูด = 13.7313802 ลองติจูด= 100.294018