การเล่นนางกวัก ไทยพวนบ้านทราย

3294 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น :
เดือนที่จัดงาน : กุมภาพันธ์,เมษายน,กันยายน
เวลาทางจันทรคติ : สงกรานต์,งานบุญสารท(สารทพวน),งานกำฟ้า(ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3)
สถานที่ : ต.บ้านทราย อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
ภาค / จังหวัด : ภาคกลาง
: ลพบุรี
ประเภท : ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง : การเล่นผีบ่ากวัก
คำสำคัญ : สงกรานต์,ไทยพวน,การละเล่น,กำฟ้า
ผู้เขียน : สมคิด จูมทอง
วันที่เผยแพร่ : 26 ก.ย. 2561
วันที่อัพเดท : 26 ก.ย. 2561

นางกวัก สื่อวิญญาณของชาวไทยพวนบ้านทราย

เมื่อได้ยินคำว่า “นางกวัก” คนส่วนใหญ่จะนึกถึงตุ๊กตานางกวักนำโชคที่ตั้งอยู่บนหิ้งตามร้านค้าต่างๆ แต่สำหรับชาวไทยพวน ตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี นางกวักหมายถึงการละเล่นพื้นบ้าน เป็นการเข้าทรง สอดคล้องกับความเชื่อเรื่องผีที่มีมาแต่โบราณ เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า สมัยโบราณ หญิงสาวที่ต้องเป็นหม้ายเพราะสามีด่วนเสียชีวิตไปก่อน มีความเศร้าโศกเสียใจ ระลึกถึง เป็นห่วงเพราะไม่ทราบว่าวิญญาณของสามีจะเป็นสุขหรือทุกข์อย่างไร ต้องการความช่วยเหลืออะไรหรือไม่ จึงได้มีผู้คิดหาวิธีเชิญวิญญาณของสามีหญิงหม้ายให้มาเข้าสิง "นางกวัก" เพื่อให้หญิงหม้ายมีโอกาสสอบถามข่าวคราวสามีและสบายใจขึ้นบ้าง แม้จะเป็นวิญญาณของผู้ชายก็ยังเรียกว่านางกวัก เพราะผู้เล่นที่ทำหน้าที่เชิญวิญญาณมาเป็นผู้หญิง

“นางกวัก” เป็นหุ่นจำลองรูปคนที่จะเชิญวิญญาณมาเข้าสิง ลำตัวทำจาก "กวัก" ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทอผ้าที่มีอยู่ทุกบ้าน ใช้ "ไม้คาน" ทำเป็นแขน กะลามะพร้าวทำเป็นหัวนางกวัก แต่งตัวสวมเสื้อผ้าให้ ก่อนเล่นจะต้องเตรียมขันธ์ 5 ซึ่งประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน หวี ลิปสติก กระจก แป้ง น้ำหอมของแม่หม้าย  เพื่อเชิญวิญญาณมาลงนางกวัก  

การละเล่นนางกวักมักจะเล่นกันตอนกลางคืนที่ทางสามแพร่ง เพราะเชื่อว่าจะเชิญวิญญาณมาได้สะดวกกว่าเวลากลางวัน มีผู้เล่น 7-8 คน ประกอบด้วยคนถือนางกวัก คนถือขันธ์ห้า และคนร้อง

เมื่อเริ่มเล่นจะต้องมีพิธีเชิญวิญญาณ โดยร้องเป็นทำนองคำเซิ้งนางกวักหลายๆ ครั้ง จนกว่าวิญญาณจะเข้ามาลงในกวัก จากนั้นให้ผู้หญิง 2 คนที่เป็นคนใจอ่อนเป็นคนถือกวัก มีคนถือขันธ์ 5 คนหนึ่ง เหลือช่วยกันร้องเพลงเชิญดวงวิญญาณ  สองคนที่ถือนางกวักใช้มือจับส่วนล่างหรือที่เรียกว่า "ตีนกวัก" เมื่อวิญญาณเข้า กวักจะโยกไปทางซ้ายขวา เมื่อมีผู้ถามคำถาม กวักจะเอียง และใช้ปลายไม้คานที่เป็นแขนลากเส้นเขียนข้อความบนทรายในกระด้ง

เดิมการเล่นนางกวักจะเชิญวิญญาณของสามีแม่หม้ายหรือดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ลูกหลานต้องการสอบถามทุกข์สุขมาสอบถาม  แต่บางครั้งก็มีวิญญาณที่นิสัยไม่ดี ดุร้าย มาลง ปัจจุบัน ชาวบ้านจึงเชิญเจ้าพ่อสนั่น (ศาลพระภูมิหมู่บ้าน) ซึ่งเป็นที่นับถือของคนในชุมชนมาลงกวักแทน สามารถซักถามได้ทั้งเรื่องการงาน การเรียน ความรัก ดินฟ้าอากาศ ฯลฯ และทำนายทายทักเหตุการณ์ที่จะเกิดภายในชุมชน เช่น การนำสิ่งไม่ดีเข้ามาในหมู่บ้าน การทำผิดธรรมเนียมประเพณี เป็นต้น ซึ่งเมื่อทักแล้วชาวบ้านก็จะต้องรีบแก้ไขและปฏิบัติตาม

ในอดีต การละเล่นนางกวักจะเล่นเมื่อต้องการถามข่าวคราวญาติที่ตายไปแล้ว จะเล่นเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ปัจจุบันมีการเล่นนางกวักในงานเทศกาลสำคัญ เช่น งานสงกรานต์ งานประเพณีกำฟ้า (เดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ) งานบุญสารท (สารทพวน)  และมีการแสดงสาธิตในงานของจังหวัด เช่น งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างจังหวัดต่างๆ

 

คำเซิ้งนางกวัก ของชาวไทยพวนวัดบ้านทราย

 

...นางกวักเอย     ทะลักทะแท่       แหญ่เจ้าแหญ่    อีแม่แญ่ญอง

หาคนยกคนญอง     เห้อสูงเพียงสาก        เจ้าอย่าอ้าง        ต่ำหุเดือนหงาย

สานลิงสานลาย    เดือนหยายเดือนแจ้ง     เจ้าอย่าอ้าง  อีแม่นางกวัก

นางกวักเอย        ทะลักทะแล่..... (ร้องซ้ำหลายๆครั้ง)

 

 


บรรณานุกรม

สัมภาษณ์

สมคิด  จูมทอง. ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย อ.บ้านหมี่  จ.ลพบุรี. วันที่  17 ก.พ. 2558

สุรพล ขุมทรัพย์. ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชบ้านทราย อ.บ้านหมี่  จ.ลพบุรี. วันที่ 17 ก.พ. 2558.

สมบุญ  บุญนำมา.ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชบ้านทราย อ.บ้านหมี่  จ.ลพบุรี. วันที่ 17 ก.พ. 2558