บวชนาคมอญ บ้านแพ้ว

3177 ครั้ง |

ชื่อเรียกอื่น :
เดือนที่จัดงาน : เมษายน,พฤษภาคม,มิถุนายน,กรกฎาคม
เวลาทางจันทรคติ :
สถานที่ : ชุมขนทุ่งกะโหลก คลองตาขำ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
ภาค / จังหวัด : ภาคกลาง
: สมุทรสาคร
ประเภท : ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต
ประเพณีที่เกี่ยวข้อง : บวชนาคขี่ช้าง จ.สุรินทร์,แห่ช้างบวชนาค จ.สุโขทัย,บวชนาค ชาวมอญวัดคงคาราม
คำสำคัญ : บวชนาค,มอญ
ผู้เขียน : สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ และจักรี โพธิมณี
วันที่เผยแพร่ : 26 ธ.ค. 2560
วันที่อัพเดท : 15 ธ.ค. 2564

บวชนาคมอญที่บ้านแพ้ว

จากการเก็บข้อมูลบริเวณย่านชุมชนทุ่งกะโหลก คลองตาขำ ผู้ที่จะเข้าอุปสมบทเป็นบุตรชายของคุณศักดิ์ชัย และนางพัชรี ชาวบ้านเกาะ ชื่อนายอนิรุจน์ ชาวบ้านเกาะ อายุ 21 ปี  งานนี้แบ่งเป็นสองวัน คือ วันที่ 8 เมษายน ช่วงเย็นไปจนถึงกลาง ขั้นตอนหลักคือ การทำขวัญนาค และงานเลี้ยง ส่วนในวันที่ 9 ช่วงเช้าไปถึงเที่ยง คือ การอุปสมบท ที่วัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม (วัดมอญ) ซึ่งเป็นวัดฝ่ายธรรมยุติ การติดตามงานบวชครั้งนี้มาจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ หมอแซม หมู่ 1 ตำบลเจ็ดริ้ว คนรุ่นใหม่ที่ร่ำเรียนภาษาและตำรามอญ และทำกิจกรรมวัฒนธรรมไทยรามัญ จนเริ่มเป็นที่ยอมรับในหมู่คนรามัญในย่านเจ็ดริ้วและคลองตาขำ

งานทำขวัญนาคแบบมอญเริ่มขึ้นในวันสุกดิบ เริ่มต้นประมาณ 18.30 น. หลังจากที่หมอทำขวัญรับประทานอาหารเย็นเสร็จ ภายในงานมีการจ้างแตรวงเพื่อใช้ในระหว่างทำขวัญ เมื่อแตรวงบรรเลงเริ่มต้นเป็นการบอกล่าวว่ากำลังจะเริ่มพิธีทำขวัญ พิธีกรจึงเรียกคนนำฆ้องใหญ่ที่ยืมมาจากวัดราษฎร์มอญนำมาผูกกับคานหลังคาทางเข้าไปในตัวบ้าน ซึ่งใช้เป็นที่ทำพิธี พร้อมทั้งเชิญกลุ่มต้นเสียงในการโห่ร้องท้าเพลงมาเตรียมตัว ขณะเดียวกัน หมอขวัญซึ่งนั่งอยู่บนอาสนะ จรดสไบปัก พาดไหล่ซ้าย แล้วนาคนำดอกไม้กล้วยไม้ ธูป เทียน บุหรี่ [คาดว่ามีเงินจำนวนหนึ่ง] มาใส่พานเงินยกจรดหัวจึงส่งต่อให้หมอขวัญ เพื่อท่องคถาไหว้ครู โดยมีนาคนั่งอยู่เบื้องซ้าย นาคอนิรุจน์ สวมชุดนาคแบบมอญ แต่งหน้า ห่มสไบสีแดง นุ่งผ้าสีเขียว คาดเข็มขัด หูข้างขวาติดต่างหู ข้างซ้ายทัดมาลัย คล้องมาลัยประดับธนบัตร ผ้าเช็ดหน้า สวมสร้อยและกำไลทองคำ

เมื่อไหว้ครูเสร็จแล้ว นาคจึงย้ายไปนั่งบนอาสนะตรงข้ามกับหมอท้าขวัญ มีถาดใส่เครื่องบูชา 3 ถาด ประกอบด้วยแตงโม ลำไย สับปะรด กล้วย  มะม่วง ฝรั่ง มะพร้าว ขนมมันทอด/ขนมมอญ  สำรับคาวและหวานกั้นอยู่ระหว่างกลาง ด้านซ้ายมือของหมอขวัญมีขันเงินใส่น้ำมนต์ และเบ็ดตกขวัญ พ่อและแม่ของนาคนั่งอยู่ด้านขวามือของนาคบนเก้าอี้ด้านล่างอาสนะ ส่วนญาติอาวุโสและแขกผู้หญิงนั่งอยู่กับพื้นเบื้องล่าง ต้นเสียงโห่ร้องรำทำเพลงและคนตีฆ้อง และแขกส่วนใหญ่อยู่นอกตัวบ้าน

จากนั้นแตรวงเล่นเพลงมหาฤกษ์ พร้อมต้นเสียงโห่ร้อง หมอขวัญผูกปลายเชือกเข้ากับแหวนทอง แล้วจึงจุ่มในขันเงิน นำธูปสามดอก เทียนหนึ่งเล่มปักในถาดเครื่องบูชาทั้งสาม เพลงบรรเลงจบลงหมอเชิญนาคพนมมือตาม ตนเองกล่าวคาถาเริ่มสั้น ๆ ก่อนเริ่มท่องบทขวัญนาคเป็นภาษามอญ โดยใช้ไมโครโฟนเพื่อขยายเสียงให้แขกด้านนอกได้ยินด้วย พ่อและแม่ของนาคพนมมือตาม เมื่อจบรอบแรก ต้นเสียงขึ้นโห่ แตรวงบรรเลง ลั่นฆ้องไปพร้อม ๆ กัน กลุ่มต้นเสียงด้านนอกต่างโห่ร้องตลอดเพลงพร้อมเต้นรำ ในระหว่างนี้ ด้านบนอาสนะ หมอขวัญนำเบ็ดตกขวัญจุ่มน้ำมนต์ ตกไปยังถาดเครื่องบูชาทั้งสาม เริ่มจากซ้ายมือ จากนั้นตกสำรับ และตกที่ตัวนาค นำเบ็ดจุ่มที่ขันเงินอีกสามครั้ง เสร็จแล้วนาคจึงรับประทานอาหาร เมื่อจบแตรวงยกนี้

การสวดขวัญบทที่ 2 นาคไม่ได้พนมมืออย่างรอบแรก แต่รับประทานอาหารต่อเนื่อง เมื่อจบแตรวงจึงบรรเลงเพลง พร้อมเต้นโห่ร้องอีกหนึ่งยก จนถึง บทที่ 13 นาคอนิรุจน์ได้รับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว จบรอบแตรวง หมอขวัญกล่าวสั้น ๆ เป็นภาษามอญ 3 ครั้ง ญาติและแขกขานรับ สาธุ ทั้ง 3 ครั้ง จากนั้นแตรวงบรรเลงต่ออีกหนึ่งครั้ง หมอขวัญกล่าว เป็นภาษามอญ 3 ครั้ง ญาติและแขกขานรับ สาธุ ทั้ง 3 ครั้ง แตรวงจึงบรรเลงอีกยกหนึ่งแต่ระหว่างนี้หมอขวัญเรียก พ่อและแม่ของนาคขึ้นมานั่งข้างนาคบน อาสนะ โดยผู้เป็นแม่นั่งถัดจากนาค เมื่อแตรวงบรรเลงจบยกนี้ หมอขวัญพนมว่าต่อ นาค พ่อและแม่พนมมือรับ เมื่อจบบทนี้ หมอขวัญกล่าว เป็นภาษามอญ 3 ครั้ง ญาติและแขกขานรับ สาธุ ทั้ง 3 ครั้ง แตรวงเริ่มบรรเลงสนุกสนานอีกครั้งเช่นเคย ขณะที่หมอขวัญจัดแจงให้ นาคนั้นพนมมือไว้ แล้วแม่ของนาคจึงตักน้ำมะพร้าวจากลูกมะพร้าวที่พ่อของนาคช่วยถืออยู่ ป้อนเข้าปากนาค จนครบทั้ง 3 ถาดเครื่องบูชา หมอขวัญยกจรดพานไหว้ครูที่มีตำราสวดขวัญวางอยู่เพื่อลาครูพิธี เป็นอันเสร็จพิธี เมื่อเวลาประมาณ 20.20 น.

พิธีกรเข้ามารับช่วงต่อ โดยเชิญนาคอนิรุจน์ขึ้นไปบนชั้นสองของบ้าน และกล่าวเรียนเชิญญาติผู้ใหญ่ พร้อมทั้งเพื่อน ๆ ของเจ้านาค ขึ้นไปถ่ายรูปร่วมกัน ส่วนแม่ของนาคนำน้ำมนต์ขันเงินที่ใช้ในการตกขวัญไปเททิ้ง ในช่วงนี้จึงเป็นการพักผ่อนและพูดคุยกันของญาติและแขกที่มารวมงาน รวมทั้งคณะผู้วิจัยได้ทักทายกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญก่อนหน้าหลายคน ทำให้ทราบว่า คนที่มาร่วมงานนี้หลายคนเป็นญาติกัน มีทั้งที่เป็นญาติฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ (แม่ของนาคนั้นเป็นคนไทยที่เข้ามาเป็นสะใภ้) หรือคนที่แต่งงานออกไปแล้วก็ยังคงมาร่วมงานบวช ที่ถือว่าเป็นงานบุญ และญาติก็มีความสำคัญในการอนุโมทนาบุญกับผู้ที่กำลังจะเข้าพิธีอุปสมบท

ในขั้นตอนถัดไปคือการปลงผมนาค มีนาคนุ่งผ้าขาวม้า แขวนสร้อยพระและทองสองถึงสามเส้น นั่งอยู่บนเก้าอี้ตรงลานหน้าบ้าน เมื่อเริ่มแตรวงขึ้นเพลงค่าน้ำนม ผู้ที่เริ่มปลงผมโดยใช้กรรไกรคือ พ่อและแม่ ตามมาด้วยญาติอาวุโส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เรียงลำดับกันไปจนถึงญาติคนอื่น ๆ มีพานวางใบบัวทับผ้าขาวคอยรองรับผมที่ถูกปลงไม่ให้หล่นร่วงสู่พื้น เมื่อจบเพลงค่าน้ำนมและญาติอื่นๆ ทยอยปลงผม แตรวงบรรเลงเพลงสนุกสนานอย่างต่อเนื่อง มีการโห่ร้องและเต้นรำ จากการสังเกตการณ์ เมื่อผ่านไปได้ระยะหนึ่ง มีผู้หญิงที่เต้นรำอยู่สองคนมีอาการขึงขัง และเริ่มเป็นที่สังเกตของคนใกล้ ๆ หนึ่งในสองคนเรียกขอบุหรี่เพื่อสูบลักษณะคล้ายกับการลงของประหนกในงานรำผี ที่คณะวิจัยเคยร่วมสังเกตการณ์ ผ่านไปสักครู่หนึ่ง ประหนกทั้งสองขยับเข้าไปเต้นใกล้นาคยิ่งขึ้น แล้วจึงขอกรรไกรจากทางมาปลงผมนาคด้วย สันนิษฐาน คือ มีการลงของ ประหนก ของตระกูลเพื่อมาร่วมปลงผมนาคด้วย จากนั้นประหนกที่เข้าญาติผู้หญิงทั้งสองก็ออกจากร่าง การโกนผมยังคงดำเนินต่อไป เมื่อเสร็จสิ้นแล้วครอบครัวจึงร่วมถ่ายรูปกับนาค

ทางเวทีลูกทุ่ง เริ่มส่งสัญญาณมาทางเจ้าภาพ เพื่อบอกให้รู้ว่ากำลังเริ่มการแสดง เมื่อเวทีลูกทุ่งเริ่มแสดง เด็กเล็กต่างพากันลากเก้าอี้ไปจับจองพื้นที่หน้าเวที ส่วนญาติผู้ชายและคนอื่น ๆ นั่งอยู่บนโต๊ะตีนที่จัดเสิร์ฟอาหารอยู่ไม่ขาด วงดนตรีเริ่มต้นบรรเลงด้วยการกล่าวสดุดีในหลวงรัชกาลที่ 9 และร้องเพลงที่ประพันธ์โดยครูสลา คุณวุฒิที่มีเนื้อหาเทอดพระเกียรติ ก่อนจะบรรเลงเพลงอื่น ๆ ตามมา

วันอุปสมบท เริ่มต้นก่อนเวลา 7.00 น. มีการตั้งขบวนจากบ้านของนาคอนิรุจน์มุ่งหน้าไปยังวัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม (วัดมอญ) ตำบลหลักสาม เป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ขบวนนำโดยรถแตรวงสองคัน ตามด้วยรถของนาคที่แต่งการด้วยชุดครุยผ้ามุ้งสีขาว นั่งอยู่บนกระบะป้ายแดงของที่บ้าน (คันเดียวกับที่ใช้รับหมอขวัญจากเจ็ดริ้ว) พร้อมด้วยฉัตรและใบตาลปัตร (หรือพัดใบลาน) มีผู้ดูแลติดตามที่เป็นผู้ชายอีก 5 คน (รวมน้องชายของนาค ต่อด้วยรถต้นเทียน และรถอื่น ๆร่วมสิบคัน เมื่อขบวนถึงบริเวณหน้าวัดแล้ว นาคและญาติ ตามด้วยแตรวงมุ่งหน้าไปศาลประจ้าวัด มีแม่ของนาคแต่งกายแบบหญิงมอญถือต้นเทียน และผู้ติดตามถือฉัตร พัดใบลาน และผู้เสื่อมอญคอยปูรองรับเมื่อเวลานาคต้องนั่งหรือลงเข่ากับพื้น

ศาลมอญที่วัดนี้ก็คือ ศาลพ่อปู่เทพา โดยถือว่าเป็นธรรมเนียมมอญก่อนที่นาคจะเข้าอุปสมบท จากนั้นนาคกลับไปยังอุโบสถเพื่อตั้งขบวนแห่ นำด้วยแตรวง เด็กชายถือป้าย ธงชาติและธงธรรมจักรคณะสงฆ์ไทย หญิงและเด็กหญิงผู้เป็นญาติแต่งกายชุดไทยร่วมสมัยถือเครื่องอัฐบริขาร เครื่องสังฆภัณฑ์ และพานพุ่ม ตามด้วยนาคพนมมือถือดอกบัว ธูปเทียน แม่ผู้ถือต้นเทียน และญาติอื่น ๆ เมื่อผ่านหลักเสมาแต่ละต้น นาคจึงน้าดอกบัวบูชา ธูป เทียน วางในซุ้มเสมา จนครบรอบสุดท้าย หน้าโบสถ์ ผู้ติดตามนำเสื่อมอญปูรองต้นเทียน ถือเครื่องอัฐบริขาร เครื่องสังฆภัณฑ์ และพานพุ่มในการอุปสมบทวางหน้าซุ้มเสมา นาคนั่งคุกเข่าประนมมือสวดมนต์ จากนั้นเมื่อนาคกำลังเดินเข้าไปภายในอุโบสถได้มีการโยนทาน ซึ่งแตกต่างจากที่อื่น ๆ ก็ยืน นาคจะโยนกลับหลังแทนที่จะหันหน้าออกไปยังผู้ที่มารับทาน จากนั้นผู้ติดตามจึงยกนาคขึ้นแต่คานประตูอุโบสถด้านซ้าย ก่อนจะเข้าไปทำพิธีภายในอุโบสถ เป็นอันเสร็จสิ้นการแห่นาค ผู้ร่วมขบวนแห่ต่างแยกย้าย บ้างคาดว่าน่าจะกลับไปเตรียมการเลี้ยงพระใหม่มื้อเพลที่บ้าน ส่วนที่วัดเหลือเพียงญาติอาวุโส ญาติสนิทบางส่วน และเพื่อของผู้ที่กำลังจะอุปสมบทที่จับกลุ่มรออยู่นอกเขตอุโบสถ

นาคเข้าพิธีอุปสมบทตามธรรมเนียมพระพุทธศาสนา เมื่อนาคนั่งลงหันหน้าเข้าพระประธาน มีคณะสงฆ์จำนวน 18 รูป นั่งอยู่บนอาสนะ มีพระครูเจ้าอาวาสวัดราษฎร์มอญซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายเป็นพระอุปัชฌาย์บผิดชอบการบวชและรับรองการบวชของนาคในครั้งนี้ มีพระกรรมวาจาจารย์หรือพระคู่สวดสองรูป พระคู่สวดเบื้องซ้ายของนาคว่าญัตติจตุตถกรรมวาจา(ภาษามอญ) ส่วนเบื้องขวาของนาคเป็นพระคู่สวดว่าบาลีอย่างไทย การอุปสมบทโดยมีการว่าสองภาษานี้ท่าเจ้าอาวาสกล่าวว่าเป็นธรรมเนียมของวัดที่จะปฏิบัติควบคู่ทั้งสองภาษา

เมื่อเสร็จสิ้นการบวช เวลาประมาณ 10.00 คณะสงฆ์ให้พรเป็นบาลีอย่างไทย แล้วจึงลงจากอุโบสถ พระใหม่ถ่ายรูปร่วมกับพ่อแม่ ญาติถวายปัจจัย (เงิน) ลงในย่ามของใหม่โดยมีช่างภาพเป็นผู้ถือรับให้ จากนั้นพระใหม่จึงเดินทางกลับไปยังบ้านโยมพ่อและโยมแม่ของตนเพื่อฉลองพระใหม่

ข้อสังเกตจากงานพิธีทำขวัญคือ ในพิธีงานบุญเช่นนี้ จะพบญาติทั้งสองฝ่ายมาร่วมงาน ต่างจากงานพิธีกรรม เช่น การรำผีหรือทำบุญเลี้ยงผีในเดือน 6 ที่จะนับแต่ญาติฝ่ายพ่อเท่านั้น (ผีเดียวกัน) ซึ่งรวมสะใภ้ที่แต่งเข้ามาในฐานะลูกหลวงตาและหลานหลวงตาด้วย ระหว่างพิธีทำขวัญ หมอขวัญจะต้องมีสมาธิเป็นอย่างมาก ในพิธีมีการยึกยือในลักษณะของงานการรื่นเริง (แตรวง การเต้น โห่ร้อง) กับเสียงฆ้องของวัด สลับไปมากับการว่าบททำขวัญ ขณะที่นาคนั้นสงบนิ่งและฟังคำแนะนำจากหมอทำขวัญ ส่วนญาติโห่ร้องยินดีให้นาคได้ทราบว่างานบุญนี้มีคุณูปการต่อครอบครัวอย่างมหาศาล เป็นขั้นตอนเปลี่ยนผ่าน (liminality/ a threshold) ที่สำคัญในพิธีทำขวัญแบบมอญ ซึ่งเป็นพิธีกรรม/ความเชื่อที่ซ้อนอยู่ในพิธีอุปสมบทตามธรรมพระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ ในพิธีการทำขวัญ (รวมการแต่งกายของนาค) และการเข้าทรงประหนก ในวันสุกดิบ และการลาศาลในวัดและว่าญัตติอย่างมอญเป็นองค์ประกอบทางวัฒนธรรม (cultural elements) สำคัญที่แสดงออกถึงความเป็นมอญและแสดงถึงวัฒนธรรมชุมชนมอญในบ้านแพ้ว แม้ว่างานบวชนั้นจะมีการประยุกต์เช่นเดียวกับที่อื่นๆ นั่นคือ มีการเลี้ยงโต๊ะจีน จ้างเวทีลูกทุ่ง ขบวนนำแห่แต่งกายชุดไทยนิยม เป็นต้น อย่างไรก็ดี การบวชในวัดธรรมยุติกนิกายและมหานิกายบางวัดที่เป็นวัดมอญยังคงเคร่งครัดในการที่พระสงฆ์จะรับปัจจัย โดยถือว่าอย่างน้อยไม่ควรถวายปัจจัยพระใหม่ หรือถวายในวันแรก เพื่อให้พระใหม่นั้นยังคงบริสุทธิ์อยู่ หรือบางครั้ง หากมีการถวายเงิน พระก็จะแนะนำให้นำไปใส่ตู้บริจาคแทน

 


บรรณานุกรม

สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ และจักรี โพธิมณี. รายงานวิจัย การปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ในอำเภอกระทุ่มแบนและอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2560.

ชุมขนทุ่งกะโหลก คลองตาขำ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
ละติจูด = 13.59698 ลองติจูด= 100.16200