มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

เขาพระวิหารและย่านพนมดงรัก : ภาพลักษณ์เชิงมานุษยวิทยากายภาพ จากหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์และชาติพันธ์ุวรรณา

ชื่อเรื่อง
เขาพระวิหารและย่านพนมดงรัก : ภาพลักษณ์เชิงมานุษยวิทยากายภาพ จากหลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์และชาติพันธ์ุวรรณา
ผู้แต่ง
กรกฎ บุญลพ
เขียนเมื่อ
หัวเรื่อง

เขียนโดย กรกฎ บุญลพ (1 มิถุนายน 2553)

ตลอดระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก อันเป็นแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชานั้น เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณและศาสนสถานอันเป็นศูนย์กลางของชุมชนใหญ่น้อยจำนวน มากมาย รวมถึงปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นเทวสถานโบราณแบบศิลปะขอมในลัทธิศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 1 พันปี ล่วงมาแล้ว

การ ที่จะมีศาสนสถานประจำชุมชนแต่ละแห่งเกิดขึ้นได้นั้น อาณาบริเวณอันเป็นที่ตั้งศาสนสถานย่อมจะต้องมีประวัติพัฒนาการในการตั้งถิ่น ฐานของผู้คน มาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน กระทั่งเกิดพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมไปสู่การเป็นสังคมที่มีความซับซ้อน (Complex society) ตั้งแต่ ระดับแรกเริ่มไปจนถึงระดับแว่นแคว้นหรือรัฐ โดยมีองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่ง คือการขยายตัวของชุมชนและจำนวนประชากร ซึ่งอาจจะมาจากชุมชนขนาดใหญ่ชุมชนใดชุมชนหนึ่งเพียงแห่งเดียว หรืออาจจะประกอบด้วยเครือข่ายของชุมชนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่หลายๆแห่งรวม ตัวกัน
กระนั้นก็ดี แม้บริเวณที่ตั้งศาสนสถานขนาดใหญ่อย่างปราสาทพระวิหาร จะบ่งชี้ถึงขนาดและความสำคัญของชุมชนในย่านดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แต่ดูเหมือนว่าประวัติพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนในละแวกดังกล่าวจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก นักวิชาการด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา เช่น ศรีศักร วัลลิโภดม(2538 ก : 374-395; 2538 ข : 483-492, 496-497) และ ธิดา สาระยา (2536 : 37-39) ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประวัติพัฒนาการของผู้คนและสังคมในย่านนั้น มักจะใช้ข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์จากจารึก และเนื้อหาเชิงศิลปะตามแนวทางการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ จากรูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมที่ปรากฎพบในเขตปราสาทพระวิหาร เพื่อระบุถึงชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวภายใต้เพดานเวลาย้อนหลังไปไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 16 เท่านั้น ทว่า ในความเป็นจริงนั้นการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในบริเวณเทือกเขาพนมดงรักและเขต ที่ตั้งปราสาทพระวิหาร มีรากฐานมาตั้งแต่ก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นเวลานานมากทีเดียว

จากที่ผู้เขียนเคยนำเสนอข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงบางประการ เกี่ยวกับบริบทเชิงสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่ปราสาทพระวิหารและย่านเทือกเขาพนม ดงรักไปแล้ว (กรกฎ บุญลพ 2551) โดยเน้นการพิจารณาจากหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดีและจารึก ในบทความนี้ ผู้ เขียนจึงขอนำเสนอข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงอีกมิติหนึ่งเกี่ยวกับผู้คนที่เคย ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในละแวกดังกล่าวได้แก่ข้อเท็จจริงที่ว่าด้วยมิติทาง กายภาพและนัยเชิงรูปพรรณสัณฐาน อันเป็นลักษณะเฉพาะ ทางกายภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่เทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขาพระวิหาร ด้วยการพิจารณาจากหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์และข้อมูลจากเอกสารเชิงประวัติศาสตร์ ผ่านมุมมองทางด้านมานุษยวิทยาโบราณคดีเชิงกายภาพชีวภาพ

เอกสารฉบับเต็ม
ไฟล์ขนาดไฟล์จำนวนครั้งที่ดาวน์โหลด
20100601-KhaoPravihar-korakot445.23 KB2