มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

ARCHAEOLOGICAL EXCAVATION IN THAILAND VOLUME II BAN KAO NEOLITHIC CEMETERIES IN THE KANCHANABURI PROVINCE PART TWO: THE PREHISTORIC THAI SKELETONS

ชื่อเรื่อง
ARCHAEOLOGICAL EXCAVATION IN THAILAND VOLUME II BAN KAO NEOLITHIC CEMETERIES IN THE KANCHANABURI PROVINCE PART TWO: THE PREHISTORIC THAI SKELETONS
ผู้แต่ง
สุด แสงวิเชียร
ประเภทเอกสารวิชาการ
รายงานวิจัย
ภาษา
อังกฤษ
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
1967
วันที่
เผยแพร่
Munksgaard
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

ที่ตั้งแหล่งโบราณคดี แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า (นายบาง-นายลือ เหลืองแดง) ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันคือไร่นายแฉ่ง ประสมทรัพย์ (สุภมาศ ดวงสกุล 2552, 96)

ประวัติการขุดค้น
การขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเก่าปี พ.ศ. 2504 เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานระยะที่ 2 โครงการสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยด้วยความร่วมระหว่างกรมศิลปากร ประเทศไทยกับมหาวิทยาลัยโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ค ถือเป็นการขุดค้นอย่างเป็นระบบครั้งแรกของงานโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทยภายใต้การควบคุมของ Per Sorensen ผู้อำนวยการชาวเดนมาร์คและ อ. ชิน อยู่ดี ผู้อำนวยการชาวไทย

การขุดค้นระยะที่ 2 ดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2505 ขุดค้นที่ (1) แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า เขตพื้นที่นายบางและนายลือ ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี (2) แหล่งโบราณคดีถ้ำจันเด ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ (3) แหล่งโบราณคดีถ้ำพระ ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค (4) แหล่งโบราณคดีถ้ำรูป ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค (5) แหล่งโบราณคดีโรงเลื่อยวังโพธิ์ ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค และ (6) แหล่งโบราณคดีถ้ำแก่งละว้า ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค (ดูรายละเอียดการดำเนินงานใน ชิน อยู่ดี 2506 และผลการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเก่าใน Sorensen and Hatting 1967) พบหลักฐานการใช้พื้นที่ตั้งแต่สมัยหินกลางจากแหล่งโบราณคดีถ้ำพระ กำหนดอายุราว 10,000-8,000 ปีที่ผ่านมา (van Heekeren and Knuth 1967: 5) และสมัยหินใหม่ถึงสมัยโลหะจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า กำหนดอายุได้ราว 3,720±140 ปี สำหรับตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีนายบาง และราว 4,370±100 ปี สำหรับตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีนายลือ (Sorensen and Hatting 1967: 6)

จำนวนตัวอย่างโครงกระดูก
ตัวอย่างโครงกระดูกที่ใช้ในการศึกษามีจำนวนรวม 38 โครง พบจากแหล่งโบราณคดีนายบาง 36 โครงและแหล่งโบราณคดีนายลือ 2 โครง แบ่งตามลำดับชั้นวัฒนธรรมออกเป็น (1) สมัยหินใหม่ตอนต้น รวม 16 โครงจำแนกเป็นโครงกระดูกทารกและเด็ก 4 โครง และโครงกระดูกผู้ใหญ่จำแนกเพศไม่ได้ 1 โครง (2) สมัยหินใหม่ตอนปลาย รวม 20 โครง แบ่งเป็นโครงกระดูกทารกและเด็กรวม 5 โครง โครงกระดูกผู้ใหญ่เพศชาย 9 โครง และหญิง 6 โครง และ (3) สมัยโลหะ พบเฉพาะโครงกระดูกเพศหญิงรวม 2 โครง

โครงกระดูกทั้งหมดวิเคราะห์โดย ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร พญ. เพทาย ศิริการุณ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ และ Dr. J. Balslev Jorgensen มหาวิทยาลัยโคเปนฮาเกน จัดเตรียมตัวอย่างและวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการประจำสถาบันมานุษยวิทยากายภาพ มหาวิทยาลัยโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ค


ตารางจำแนกตัวอย่างโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า ตามค่าประเมินอายุเมื่อตายและเพศ

อายุ/เพศเพศชายเพศหญิงจำแนกไม่ได้รวม
ทารก (infant) 33
เด็กและวัยรุ่น (juvenile)1146
ผู้ใหญ่ (adult)75214
วัยกลางคน (mature)54211
วัยสูงอายุ (senior)
จำแนกอายุไม่ได้ 55
รวม13101639

ที่มา: Sangvichien, S. et al, Archaeological Excavations in Thailand Vol.3. Ban Kao Neolithic Cemeteries in the Kanchanaburi Province, Part II: The Prehistoric Thai Skeletons. (Copenhagen: Munksgaard, 1969), 30.

ลักษณะทางกายภาพที่ไม่สามารถวัดได้ของกะโหลกศีรษะ
ลักษณะทางกายภาพที่ไม่สามารถวัดได้ของกะโหลกศีรษะจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า เมื่อมองจากด้านบน (Norma verticalis) พบลักษณะกะโหลกศีรษะรูปไข่ จำนวน 8 โครง และรูปปีกผีเสื้อ 2 โครง คือ โครงกระดูกเพศชายสมัยหินใหม่ตอนปลายและโครงกระดูกเพศหญิงสมัยเหล็ก เมื่อมองจากด้านท้ายทอย (Norma occipitalis) พบลักษณะกะโหลกทรงโค้งหรือ arch shape เป็นส่วนใหญ่ พบเพียงหนึ่งตัวอย่างเท่านั้นที่มีทรงกะโหลกด้านหลังแบบ house กับพบเพียงหนึ่งตัวอย่างที่มี metopic suture หรือรอยประสานกะโหลก บริเวณกลางหน้าผาก

เมื่อมองจากด้านหน้า (Norma facialis) พบว่าตัวอย่างแหล่งโบราณคดีบ้านเก่ามีขนาดใบหน้าและโหนกแก้มกว้าง หน้าผากสูง มีโพรงจมูกกว้างและแบน พบเพียงหนึ่งตัวอย่างมีลักษณะกระหม่อมเป็นสัน (Scaphocephalia) ลักษณะขอบล่างโพรงจมูกพบทั้งแบบ anthopine หรือปรากฏแนวขอบชัดเจน และแบบ prenasal sulcus หรือแบบที่ไม่ปรากฏขอบแนวชัดเจนเมื่อมองจากด้านข้าง (Norma lateralis) ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 พบลักษณะการยื่นของใบหน้า (prognathism) และเมื่อมองจากด้านล่างหรือด้านใต้กะโหลกศีรษะ (Norma basilaris) พบลักษณะเพดานปากกว้างและลึกเป็นส่วนใหญ่ ขากรรไกรล่างมีขนาดกว้างและหนา ชุดฟันหน้าของขากรรไกรล่างอย่างน้อย 4 ตัวอย่าง มีการเรียงอย่างเป็นระเบียบเท่ากัน อันเป็นลักษณะที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยการขัดฟัน

กะโหลกศีรษะ โครงกระดูกหมายเลข 6 (skeleton F) แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า


ที่มา: Sangvichien, S. et al, Archaeological Excavations in Thailand Vol.3. Ban Kao Neolithic Cemeteries in the Kanchanaburi Province, Part II, The Prehistoric Thai Skeletons. (Copenhagen: Munksgaard, 1969), p3.

กะโหลกศีรษะ โครงกระดูก M (skeleton M) แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า


ที่มา: เรื่องเดียวกัน, p13, 15, 17.

กะัโหลกศีรษะ โครงกระดูก P (skeleton P) แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า

ที่มา: เรื่องเดียวกัน, p19, 21, 23.

ลักษณะทางกายภาพที่สามารถวัดได้ของกระดูกโครงสร้างร่างกายส่วนแขนขา

การวัดกระดูกโครงสร้างร่างกายส่วนแขนขาตามจุดกำหนดของ Martin (1928) เป็นการวัดเฉพาะกระดูกไหปลาร้า และกระดูกท่อนยาว อย่างกระดูกต้นแขน กระดูกปลายแขนด้านนอก กระดูกปลายแขนด้านใน กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกน่อง เพื่อใช้เปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างประชากรอื่นและประเมินสัดส่วนความสูงตามค่าสมการอเมริกันผิวขาว (Trotter and Gleser 1958) โดยเฉลี่ยเพศชายมีความสูงประมาณ 169 เซนติเมตร เพศชายสมัยหินใหม่ตอนต้นสูงประมาณ 170 เซนติเมตร ส่วนเพศชายสมัยหินใหม่ตอนปลายสูงประมาณ 168.5 เซนติเมตร ขณะที่เพศหญิงโดยเฉลี่ยแล้วสูงประมาณ 161 เซนติเมตร เพศหญิงสมัยปลายหินใหม่มีความสูงราว 160 เซนติเมตร และมีความสูงขึ้นเป็นราว 165 เซนติเมตรในสมัยโลหะ

ร่องรอยของโรคในสมัยโบราณ

ด้านการศึกษาร่องรอยผิดปกติหรือร่องรอยพยาธิสภาพโบราณจากตัวอย่างโครงกระดูก พบอย่างน้อย 7 ลักษณะด้วยกัน คือ (1) ร่องรอยการถอนฟันตัดซี่ไกลกลางและฟันเขี้ยว กระดูกขากรรไกรบน พบ 5 ตัวอย่างในสมัยหินใหม่ตอนต้น คือ เพศชาย 2 โครง และไม่สามารถจำแนกเพศได้ 3 โครง ลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นการถอนฟันตามประเพณีความเชื่อบางประการ และมีความสัมพันธ์กับเพศสภาพของผู้ตายก็เป็นได้ (2) ร่องรอยการขูดขัดปลายฟันด้านไกลกลางให้เรียบเสมอกับฟันตัดด้านหน้า คล้ายคลึงกับลักษณะการตกแต่งฟันของพวกเอสกิโม พบเพียง 3 ตัวอย่างที่ปรากฏลักษณะดังกล่าวแน่ชัด ไม่สามารถสันนิษฐานถึงที่มาของการตกแต่งหรือการปรากฏลักษณะดังกล่าวได้อย่างใด (3) ร่องรอยการเจาะกะโหลกศีรษะ (trepanation) ตัวอย่างโครงกระดูกหมายเลข 6 จากแหล่งโบราณคดีนายบาง เป็นรูที่กะโหลกซึ่งน่าจะเกิดจากปัจจจัยต่างๆ ภายหลังการเสียชีวิต เช่นการรวบกวนของแมลง รากไม้ ฯลฯ มากกว่าการจงใจเจาะเพื่อการรักษา

(4) ลักษณะความหนาของกระดูกข้างกะโหลกศีรษะ (parietal) หนาผิดปกติ ประมาณ 7-11 มิลลิเมตร พบรวม 7 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างสมัยหินใหม่ตอนต้น 3 โครง สมัยหินใหม่ตอนปลาย 3 โครง และสมัยโลหะ 1 โครง เป็นลักษณะหนึ่งของโรคโลหิตจางอย่างธาลัสซีเมีย เกิดขึ้นได้ด้วยสภาวะความบกพร่องธาตุเหล็กหรือการถ่ายทอดลักษณะ Hemoglobin E ทางพันธุกรรม ซึ่งถ้าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นด้วยพันธุกรรม ก็แสดงถึงการมีอยู่ของยีนดังกล่าวตั้งแต่ราว 3,000 ปีที่ผ่านมา มีการปรับตัวจนมีการปรากฏลักษณะดังกล่าวอย่างหนาแน่นขึ้นในกลุ่มตัวอย่างประชากรปัจจุบัน (5) ลักษณะการเชื่อมต่อหรือการล็อกของกระดูกนิ้วเท้า (นิ้วก้อย) บริเวณข้อกลางและข้อปลาย พบใน 2 ตัวอย่างด้วยกันคือ โครงกระดูกหมายเลข 10 และ 17 จากแหล่งโบราณคดีนายบาง (6) การแตกหรือการร้าวของกระดูกสันหลังช่วงเอวชิ้นที่ 1 และโรคกระดูกสันหลังเสื่อมในตัวอย่างโครงกระดูกหมายเลข 1 แหล่งโบราณคดีนายบาง (7) การศึกษาฟัน พบร่องรอยฟันตัดรูปพลั่ว แบบ A และ B ตามการจัดของ Dahlberg ร่องรอยการสึกของฟันที่มีความสึกอย่างมากในส่วนด้านที่ใช้สำหรับบดเคี้ยวอาหาร และร่องรอยฟันผุซึ่งพบจำนวน 2 ซี่จากโครงกระดูกหมายเลข 9 แหล่งโบราณคดีนายบาง

การศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพ

การศึกษาลักษณะทางกายภาพ เปรียบเทียบเฉพาะลักษณะที่วัดได้ของกะโหลกศีรษะเพศชายกับกลุ่มตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีสมัยหินใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างที่ Bao Ji และ Ban Po เบื้องต้นพบว่าลักษณะกะโหลกศีรษะจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่ามีขนาดความยาวสูงสุดของกะโหลก, ความยาวของ basion-nasion และความยาวของ basion-prosthion ยาวกว่าแต่มีความสูงน้อยกว่ากลุ่มตัวอย่างอื่น


การวัดด้านกว้างตามจุดกำหนดต่างๆ ของกะโหลกศีรษะ ตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่ามีขนาดความกว้างของหน้าผาก โหนกแก้ม และขนาดโดยรวมของกะโหลกกว้างกว่า แต่มีขนาดความกว้างของเบ้าตาและโพรงจมูกใกล้เคียงกันกับกลุ่มตัวอย่างประชากรอื่น โดยภาพรวม ลักษณะทางกายภาพของกะโหลกศีรษะจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่าคล้ายคลึงกับตัวอย่างกะโหลกศีรษะของประชากรปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ตอนใต้ของทวีปเอเชีย แตกต่างกับกลุ่มตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยเดียวกัน คือ มีขนาดกะโหลกศีรษะและขนาดใบหน้ากว้างกว่า

ภาคผนวก: การวิเคราะห์โครงกระดูกสมัยหินกลาง แหล่งโบราณคดีถ้ำพระ ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค

การขุดค้นแหล่งโบราณคดีถ้ำพระ ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค เมื่อปี พ.ศ. 2503-2504 พบหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ 1 โครงในระดับชั้นดินบน กำหนดอายุราว 4,000 ปีที่ผ่านมา (van Heekeren การสื่อสารส่วนบุคคล,อ้างถึงใน Sangvichien et al 1969: 49) เบื้องต้นกำหนดอายุราวปลายสมัยหินกลาง โครงกระดูกวิเคราะห์โดย Dr.Teuku Jacob ภาควิชามานุษยวิทยากายภาพ มหาวิทยาลัยแพทย์กัดยา มาดา ยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย


ผลการวิเคราะห์พบว่า โครงกระดูกดังกล่าวน่าจะเป็นเพศหญิง? โดยศึกษาจากลักษณะทางกายภาพของขนาดกระดูกกกหู โหนกแก้ม รูปทรงขากรรไกรล่าง กับเส้นรอบวงกระดูกต้นขาและหน้าแข้ง มีค่าประเมินอายุเมื่อตายต่ำกว่า 20 ปีเมื่อศึกษาจากพัฒนาการขึ้นของฟันกรามแท้ซี่ที่ 3 การประเมินสัดส่วนความสูง คำนวนจากค่าสมการเชิงถดถอยของกลุ่มตัวอย่างโครงกระดูกมนุษย์ชวา พบว่าในกรณีเพศหญิงน่าจะมีความสูงราว 162.3 เซนติเมตร ส่วนกรณีที่เป็นเพศชาย น่าจะมีสัดส่วนความสูงราว 172.6 เซนติเมตร มีความสูงกว่าจากตัวอย่างประชากรสมัยหินกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อย (แหล่งโบราณคดีกัวเคปาห์ ประเทศมาเลเซีย มีค่าความสูงราว 153-166 เซนติเมตร, ตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีซัมปัง เกาชวาตะวันออก ประเทศอินโดนีเซีย ราว 169 เซนติเมตร และตัวอย่างจากเกาะฟลอเรส ประเทศอินโดนีเซีย ราว 159-169 เซนติเมตร)


การเปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพเพื่อศึกษาเชื้อชาติโครงกระดูก จากการวัดขนาดฟันพบว่าตัวอย่างแหล่งโบราณคดีถ้ำพระมีขนาดฟันใหญ่กว่ากลุ่มตัวอย่างแหล่งโบราณคดีสมัยหินกลาง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีขนาดใกล้เคียงกับกลุ่มออสตราลอยด์ ขณะเดียวกันก็ไม่ปรากฏลักษณะทางกายภาพเฉพาะของกลุ่มย่อยอย่างโปรโตมาเลย์ เพราะไม่ปรากฏลักษณะ paramastoid crest ลักษณะที่พบโดยทั่วไปในกลุ่มชาวอินโดนีเซียปัจจุบัน กับมีสัดส่วนความสูงมากกว่ากลุ่มนิกริโต ลักษณะดังกล่าวสามารถอนุมานได้ว่า ตัวอย่างโครงกระดูกแหล่งโบราณคดีถ้ำพระมีลักษณะทางกายภาพผสมระหว่างกลุ่มมองโกลอยด์และออสโตรเมลานีเซียน มีการอาศัยในเขตพื้นที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำ และใช้ถ้ำหรือเพิงผาเป็นที่ฝังศพ ตั้งแต่สมัยหินกลาง อายุราว 4,000 ปีที่ผ่านมา

เอกสารอ้างอิง
1) สุภมาศ ดวงสกุล. "แหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมบ้านเก่าและที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำืท่าจีน-แม่กลอง (แควใหญ่และแควน้อย): สรุปข้อมูลจากการสำรวจทางโบราณคดี ปี พ.ศ. 2552." เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องโบราณคดีของสังคมเกษตรกรรม...จากบ้านเก่าถึงหนองราชวัตร วันที่ 26-28 สิงหาคม 2552 โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 95-118 (เอกสารอัดสำเนา)

2) Martin, Rudolf. Lehrbuch der Anthropologie. Jena, 1928.

3) Sorensen, P. and T. Hatting. Archaeological Excavations in Thailand Vol 2: Ban Khao. Copenhagen: Munkgaard, 1967.

4) Trotter, M. and G. C. Gleser. “A re-evaluation of estimation of stature based on measurements of stature taken during Life and of long bones after death.” American Journal of Physical Anthropology 16 (1958): 79-124.

5) Van Heekeren, H.R. and K. Knuth. Archaeological Excavations in Thailand Vol 1: Sai Yok. Copenhagen: Munksgaard, 1967.