มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

NON NOK THA: THE HUMAN SKELETAL REMAINS FROM THE 1966 EXCAVATIONS AT NON NOK THA, NORTHEASTERN THAILAND

ชื่อเรื่อง
NON NOK THA: THE HUMAN SKELETAL REMAINS FROM THE 1966 EXCAVATIONS AT NON NOK THA, NORTHEASTERN THAILAND
ผู้แต่ง
ไมเคิล ปีทรูซิวสกี
ประเภทเอกสารวิชาการ
รายงานวิจัย
ภาษา
อังกฤษ
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
1974
วันที่
เผยแพร่
Department of Anthropology University of Otago
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

ที่ตั้งแหล่งโบราณคดี แหล่งโบราณคดีโนนนกทา หมู่ 16 บ้านโนนนกทา ตำบลกุดธาตุ อำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น

พิกัดภูมิศาสตร์ UTM–WGS 84: 48 213454E, 1859535N (ละติจูด 16° 48’ 05.2” เหนือ ลองจิจูด 102° 18’ 41.9” ตะวันออก)

สภาพทั่วไป
แหล่งโบราณคดีโนนนกทา ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของเนินบ้านโนนนกทา หมู่ที่ 16 ประมาณ 500 เมตร ลัีกษณะเป็นเนินดินทรงกลมขนาดเล็ก มีระดับความสูงราว 193 เมตรเหนือระดับน้ำทะลปานกลาง เป็นที่ราบระดับกลางห่างจากภูเวียงมาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร มีห้วยใหญ่เป็นแหล่งน้ำสำคัญไหลขนานด้านทิศเหนือของตัวเนิน ปัจจุบันบริเวณโดยรอบเนินถูกใช้เป็นเขตพื้นที่นา ส่วนบนเนินใช้สำหรับการเกษตรกรรมปลูกกล้วยเป็นหลัก มีวัชพืช ไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นขึ้นแซมค่อนข้างหนาแน่น

ประวัติการขุดค้น
การขุดค้นปี พ.ศ. 2509 ได้พบหลักฐานประเภทหลุมฝังศพราว 115 หลุมฝังศพ สามารถจำแนกตามลำดับชั้นทับถมทางธรรมชาติและชั้นดินทางวัฒนธรรมเป็น 2 สมัย คือ (ก) สมัยต้น หรือสมัยก่อนมีการใช้โลหะ (ปลายสมัยหินใหม่) มีค่ากำหนดอายุราว 4,000 – 3,500 ปีที่ผ่านมา และ (ข) สมัยกลาง หรือสมัยสำริด กำหนดอายุได้ราว 3,500 – 3,000 ปีที่ผ่านมา (ชาร์ลส ไฮแอมและรัศนี ทศรัตน์ 2542)



สภาพปัจจุบัน เนินดินแหล่งโบราณคดีโนนนกทา ด้านทิศใต้ของบ้านโนนนกทา หมู่ 16 ต.กุดธาตุ อ.หนองนาคำ ขอนแก่น

จำนวนตัวอย่างโครงกระดูก
ทั้งนี้ จากจำนวนหลุมฝังศพทั้งหมด 115 หลุมฝังศพ มีตัวอย่างโครงกระดูกสามารถศึกษาได้เพียง 87 โครง คิดเป็นร้อยละ 72.174 เนื่องด้วยสภาพกระดูกส่วนใหญ่ชำรุด แตกหัก และมีการปะปนกันของกระดูกด้วยสภาพการถูกรบกวนของพื้นที่ การวิเคราะห์โครงกระดูกทั้งหมดศึกษาที่ห้องปฏิบัติการภาคกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2513 – 2517

ลักษณะทางประชากรศาสตร์สมัยโบราณ
การศึกษาข้อมูลประชากรศาสตร์ ภาพรวมตัวอย่างโนนนกทามีอัตราการตายสูงเมื่อถึงวัยหนุ่มและวัยกลางคน (อายุราว 25-48 ปี) มีค่าอายุขัยคาดคะเนสูงในวัยเด็กและวัยรุ่น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มตัวอย่างโครงกระดูกทั้งสองชั้นวัฒนธรรม พบความแตกต่าง คือ สมัยต้นนั้นมีสัดส่วนอัตราการตายระหว่างวัยเด็กต่อวัยกลางคนสูงกว่าตัวอย่างโครงกระดูกสมัยกลาง

ตารางจำแนกตัวอย่างโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีโนนนกทา จำแนกตามอายุประเมินเมื่อตายและเพศ

อายุ/ เพศเพศชายเพศหญิงจำแนกไม่ได้รวม
ทารก
เด็ก (0-6 ปี)1111
เด็ก (7-23 ปี)44
วัยรุ่น (13-24 ปี)44
วัยหนุ่ม (25-36 ปี)88
วัยกลางคน (37-48 ปี)914124
วัยสูงอายุ (มากกว่า 49 ปี)11
ผู้ใหญ่ (จำแนกอายุไม่ได้)1610531
รวม25332583


ที่มา: Pietreusewsky, M., Non Nok Tha The human skeletal remains from the 1966 excavations at Non Nok Tha, Northeastern Thailand. (Dunedin : Otago University, 1966), 47.

ลักษณะทางกายภาพที่สามารถวัดได้ของกะโหลกศีรษะ
การศึกษาลักษณะที่วัดได้ของกะโหลกศีรษะ ตัวอย่างโครงกระดูกผู้ใหญ่ จำนวน 21 โครง เปรียบเทียบระหว่างเพศชายและเพศหญิง (ดูรายละเอียดในตาราง) พบว่าโดยเฉลี่ยเพศชายมีปริมาตรสมองมากกว่าเพศหญิง (1515, 1305) เพศชายจะมีสัดส่วนกะโหลกศีรษะยาวกว่า แต่ท้วมน้อยกว่าเพศหญิงเมื่อเปรียบเทียบดรรชนี cranial ทั้งเพศชายและหญิงมีลักษณะกะโหลกศีรษะสูง ตามค่าดรรชนี Height เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างความกว้างและความสูงของกะโหลกศีรษะ (breadth-height index) เพศชายมีรูปทรงกะโหลกศีรษะโค้งกว่าเพศหญิง ทั้งสองเพศมีลักษณะเบ้าตากว้างและใหญ่ มีโพรงจมูกใหญ่ และเพดานปากกว้าง

ตารางค่าเฉลี่ยดรรชนีและประเภทกะโหลกศีรษะ ตัวอย่างโครงกระดูกแหล่งโบราณคดีโนนนกทา

เพศชายเพศหญิง
ค่าเฉลี่ยประเภทค่าเฉลี่ยประเภท
ปริมาตรสมอง (Cranial capacity)1515 ลบ.ซม.megacranic1305 ลบ.ซม.microcranic
ดรรชนี Cranial77mesocranic83brachialcranic
ดรรชนี Height75hypsiccranic77hypsiccranic
ดรรชนี Breadth-height98acrocrany93metricrany
ดรรชนี Upper facial55hyperleptenic
ดรรชนี Facial94hyperleptoprosopic
ดรรชนี Orbital129hypsiconchic93hypsiconchic
ดรรชนี Nasal52chamaerhinic55chamaerhinic
ดรรชนี Maxilla-alveolar121brachyuranic128brachyuranic

ที่มา: Pietreusewsky, M., Non Nok Tha The human skeletal remains from the 1966 excavations at Non Nok Tha, Northeastern Thailand, 9-10.

ลักษณะทางกายภาพที่ไม่สามารถวัดได้ของกะโหลกศีรษะ
การศึกษาลักษณะที่วัดไม่ได้ของกะโหลกศีรษะ เมื่อมองจากทางด้านหน้าพบว่าตัวอย่างประชากรโนนนกทามีใบหน้ากว้างและหนา มีเบ้าตารูปค่อนข้างรี เพศชายมีสันคิ้วนูนแตกต่างอย่างชัดเจนกับเพศหญิง มีโพรงจมูกกว้าง รูปทรงคล้ายลูกแพร์ ไม่พบลักษณะของรอยประสานกะโหลกศีรษะบริเวณหน้าผาก หรือ metopic suture อย่างเด่นชัด แต่พบลักษณะที่ยังคงปรากฏอยู่บ้างเล็กน้อย ลักษณะของ nasal frontal suture เป็นแบบ omega ลักษณะของ supraorbital ส่วนใหญ่เป็นแบบ single notch หรือแบบรอยหยักรอยเดียว มากกว่าแบบ single foramen หรือ notch combination ส่วนลักษณะ infraorbital เป็นแบบ single หรือแบบรูเดียว เช่นเดียวกับลักษณะของ zygofacial

ด้านหลังกะโหลกศีรษะส่วนใหญ่มีลักษณะแบบ house form เพศหญิงมีลักษณะปุ่มบริเวณท้ายทอยเรียบ ขณะที่ของเพศชายมีลักษณะขรุขระกว่า และพบการเกิดขึ้นของส่วนกระดูก wormion หรือกระดูกพิเศษบริเวณรอยประสานกะโหลกศีรษะในราวร้อยละ 18 กระดูกขากรรไกรล่าง บริเวณคางมีรูปทรงค่อนข้างแหลม พบลักษณะ rocker jaw การงอนของกระดูกขากรรไกรล่าง อันเป็นลักษณะจำเพาะของกลุ่มโพลีนีเซียนในทุกตัวอย่างแต่พบอย่างเด่นชัดเพียง 1 ตัวอย่างเท่านั้น การสังเกตลักษณะทางกายภาพของฟัน ส่วนขากรรไกรบน ได้พบลักษณะฟันตัดรูปพลั่ว (shovel-shaped) ในอัตราร้อยละ 17 และพบลักษณะ Carabelli’s cusp ของฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ในอัตราร้อยละ 5 สำหรับกระดูกขากรรไกรล่าง ส่วนของเบ้าฟันกรามแท้ซี่ที่ 3 พบลักษณะแบบ peg-shaped ในอัตราร้อยละ 10


ลักษณะทางกายภาพที่สามารถวัดได้ของกระดูกโครงสร้างร่างกายส่วนแขนขา
การศึกษาลักษณะที่วัดได้กระดูกใต้กะโหลกศีรษะหรือกระดูกส่วนลำตัวและแขนขา ในการประเมินความสูงตัวอย่างประชากรโนนกทาตามสมการอเมริกันผิวขาว (Trotter and Gleser 1952, 1958) พบว่าเพศชายมีความสูงราว 163 – 183 เซนติเมตร สูงกว่าเพศหญิงที่สูงประมาณ 144 – 170 เซนติเมตร เปรียบเทียบระหว่างเพศชายและเพศหญิงตามค่าดรรชนีต่างๆ พบว่า ค่าเฉลี่ยดรรชนี Platymeric หรือสัดส่วนกระดูกด้านหน้า - หลังและด้านใกล้กลาง – ไกลกลาง บริเวณ subtrochanteric ของทั้งตัวอย่างกระดูกต้นขาชายและหญิง มีลักษณะแบน แต่ดรรชนี Pilasteric หรือสัดส่วนกระดูกบริเวณกลางก้านกระดูกนั้น เพศชายมีลักษณะที่แบนกว่าเพศหญิงเล็กน้อย ตรงข้ามกับดรรชนี Platycnemic หรือสัดส่วนกระดูกหน้าแข้ง บริเวณ nutrient foramen เพศหญิงมีลักษณะแบนกว่าเพศชายเพียงเล็กน้อย ทั้งเพศหญิงและชายมีช่วงกระดูกต้นแขนยาวกว่าช่วงปลายแขน มีช่วงกระดูกต้นขายาวกว่ากระดูกหน้าแข้ง และมีช่วงแขนสั้นกว่าช่วงขา คล้ายคลึงกับลักษณะของกลุ่มฮาวายและอเมริกันอินเดีย

ร่องรอยของโรคในสมัยโบราณ
การศึกษาทางพยาธิสภาพและโรคในช่องปากและฟัน ส่วนใหญ่พบลักษณะอาการของโรคเหงือกอักเสบ ร่องรอยของฟันผุ (ราวร้อยละ 40) และการสึกของฟันตัดด้านบน ซึ่งพบในกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงมากกว่าชาย การศึกษาสภาพพยาธิวิทยา หรือร่องรอยผิดปกติที่พบบนกระดูก พบลักษณะการเสื่อมสภาพของข้อต่อ (osteoarthritis) กระดูกสันหลังช่วงลำตัว คอ และเอว โดยเฉพาะกระดูกสันหลังช่วงเอวซึ่งพบการเสื่อมสภาพในระดับความถี่มากสุด ราวร้อยละ 80

ร่องรอยของโรคติดเชื้อ บริเวณกระดูกสันหลังช่วงลำตัวชิ้นที่ 3-9 ตัวอย่างโครงกระดูกหมายเลข 60 ซึ่งมีการเชื่อมต่อกันในส่วน spine เป็นลักษณะอาการกระดูกพรุนอักเสบ (osteomyelitis) ส่วนหนึ่งของวัณโรคกระดูก (tuberculosis) และอาการกระดูกมีความหนาผิดปกติ พบบริเวณกระดูกหน้าผากและกระดูกข้างกะโหลกศีรษะของตัวอย่าง ในปริมาณความถี่มากกว่าร้อยละ 50 ลักษณะดังกล่าวเป็นอาการหนึ่งของโรคโลหิตจาง ประเภทธาลัสซีเมียและซิคคลีเมีย เกิดได้จากสาเหตุทั้งความพร่องธาตุเหล็ก ความพร่องเอนไซม์ G-6 PD และภาวะ Hemoglobin E trait ที่มีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์เป็นหลัก

การศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพ

การวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ ด้วยวิธีการทางสถิติปริมาณ การจัดกลุ่มข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กัน (Distance Cluster Analysis) จากข้อมูลลักษณะที่วัดได้ของกะโหลกศีรษะใน 8 จุดกำหนด (nasal height, nasal breadth, alveolar length, alveolar breadth, bigonial width, symphysis height, ramus height และ ramus breadth) ร่วมกับข้อมูลกลุ่มประชากรอื่นๆ ในอดีตและปัจจุบัน กรณีตัวอย่างโครงกระดูกเพศหญิงสามารถจำแนกได้เป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ (1) กลุ่มตัวอย่างประชากรไมโครนีเซีย เช่น กวม, มาร์กีซ่า และนิวซีแลนด์ ฯลฯ (2) กลุ่มตัวอย่างประชากรเมลานีเซียและโพลีนีเซียในกลุ่มแปซิฟิคกลาง อย่างตองกา ซามัว ฯลฯ (3) กลุ่มตัวอย่างประชากรไทยปัจจุบัน ตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีโนนนกทา และตัวอย่างประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในเขตหมู่เกาฮาวาย และ (4) กลุ่มตัวอย่างประชากรสมัยก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนกลุ่มตัวอย่างประชากรเพศชาย เนื่องจากปัญหาด้านข้อมูลจึงไม่สามารถศึกษาได้

เมื่อจัดกลุ่มจากข้อมูลลักษณะที่วัดไม่ได้ของกะโหลกศีรษะ เฉพาะกรณีตัวอย่างโครงกระดูกเพศหญิง สามารถจำแนกได้ 2 กลุ่มคือ (1) กลุ่มตัวอย่างประชากรไมโครนีเซีย เช่น กวม มาร์กีซ่า นิวซีแลนด์ และตัวอย่างประชากรไทยปัจจุบัน กับ (2) กลุ่มตัวอย่างประชากรเมลานีเซียและโพลีนีเซียอย่าง ตองกา ซามัว กับกลุ่มตัวอย่างจากโนนนกทา

เอกสารอ้างอิง

1) ชาร์ลส์ ไฮแอมและรัชนี ทศรัตน์, สยามดึกดำบรรพ์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ จำกัด, 2542.
2) Trotter, M. and G.C. Glesser, "Estimation of stature from long bones of American White and Negroes." American Journal of Physical Anthropology 10, 4 (1952): 463-514.
3) __________, "A re-evaluation of estimation of stature based on measurements of stature taken during life and long bone after death." American Journal of Physical Anthropology 16 (1958): 79-124.