มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

BIOARCHAEOLOGY OF SOUTHEAST ASIA

ชื่อเรื่อง
BIOARCHAEOLOGY OF SOUTHEAST ASIA
ผู้แต่ง
มาร์ค ออกเซนแฮม และแนนซี่ เทย์เลส (บรรณาธิการ)
ประเภทเอกสารวิชาการ
หนังสือ
ภาษา
อังกฤษ
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
2006
วันที่
เผยแพร่
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

หนังสือรวมบทความผลการศึกษาด้านมานุษยวิทยากายภาพและโบราณคดีเชิงชีววิทยาจากตัวอย่างโครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่สมัยไพลสโตซีนตอนปลายถึงสมัยโฮโลซีน ด้วยวิธีการศึกษาที่หลากหลาย เช่น การศึกษาทางมหากายวิภาคศาสตร์ การศึกษาลักษณะที่วัดได้และไม่สามารถวัดได้ การวิเคราะห์ไอโซโทป ฯลฯ ภายในแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนประกอบด้วย 6 บทความ ได้แก่ 1) บทความเกี่ยวเนื่องกับวิวัฒนาการ มนุษย์แรกเริ่มของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การอพยพเคลื่อนย้าย และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประชากร และ 2) บทความเกี่ยวกับสุขภาพ โรคภัย คุณภาพชีวิต และความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำรงชีพ ยกตัวอย่างบทความที่น่าสนใจคือ

The population history of Southeast Asia viewed from morphometric analyses of human skeletal and dental remains โดยฮิโรฟูมิ มัตซูมูระ (Hirofumi Matsumura) ศึกษาลักษณะทางกายภาพโครงกระดูกและฟันของมนุษย์ก่อนสมัยหินใหม่ เพื่ออธิบายด้านวิวัฒนาการ การอพยพเคลื่อนย้าย และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประชากร ผลการศึกษาสันนิษฐานว่าโครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในช่วงสมัยไพลสโตซีนตอนปลายที่แหล่งโบราณคดีตาโบน ประเทศฟิลิปปินส์ ถ้ำนีอาห์ ประเทศมาเลเซีย ที่แหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว จังหวัดกระบี่ รวมถึงแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยในประเทศมาเลเซียและเวียดนาม มีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับกลุ่มออสตราลอยด์-เมลานีซอยด์ โดยอาจเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็นต้นบรรพบุรุษของประชากรพื้นเมืองในออสเตรเลียและเมลานีเซียปัจจุบัน

Subsistence change and dental health in the people of Non Nok Tha, northeast Thailand โดยมิเชล ทูเมย์ ดักลาส (Michele Toomay Douglas) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการดำรงชีพกับสุขภาพช่องปากของประชากรที่แหล่งโบราณคดีโนนนกทา จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่สมัยหินใหม่-สมัยเหล็ก กำหนดอายุประมาณ 1,800-4,000 ปีมาแล้ว จากตัวอย่างจำนวน 82 โครง แบ่งเป็นเพศชาย 40 โครง และเพศหญิง 42 โครง เน้นการศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเพศ ด้วยการสังเกตร่องรอยฟันผุ หินปูนบนฟัน ปริทันต์อักเสบ ฟันสึกในระดับรุนแรง การสูญเสียฟันก่อนเสียชีวิต และหนองในโพรงฟัน ผลการศึกษาพบว่าเพศหญิงมีสุขภาพช่องปากดีกว่าเพศชายในทุกสมัย แต่เพศหญิงเริ่มมีสุขภาพช่องปากเสื่อมลงในสมัยโลหะซึ่งอาจเป็นผลจากรูปแบบการแบ่งหน้าที่ทำงาน การเข้าถึงทรัพยากรอาหาร พฤติกรรมการบริโภค และการดูแลสุขภาพอนามัยช่องปาก