มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

การศึกษาโครงกระดูกที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีทัพหลวง คุ้งขี้เหล็ก อู่ทอง ซับจำปา และโคกพนมดี

ชื่อเรื่อง
การศึกษาโครงกระดูกที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีทัพหลวง คุ้งขี้เหล็ก อู่ทอง ซับจำปา และโคกพนมดี
ผู้แต่ง
วัฒนา สุภวัน
ประเภทเอกสารวิชาการ
วิทยานิพนธ์
ภาษา
ไทย
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
1986
วันที่
เผยแพร่
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

Dr.H.G. Quaritch Wales (1969) ผู้ที่ขุดค้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และจากจดหมายเหตุจีน เชื่อว่ามีอาณาจักรทวารวดีจริงในดินแดนที่เป็นประเทศไทย ปัจจุบัน คนที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีคนเชื้อชาติมอญเป็นชนชั้นปกครอง หลักฐานส่วนใหญ่ได้จากสิ่งก่อสร้างบนพื้นดินและสิ่งของเครื่องใช้ที่ฝังไว้กับศพและอักษรมอญที่จารึกอยู่ การศึกษาโครงกระดูกเพื่อบอกเชื้อชาติได้กระทำกันน้อยมาก การใช้โครงกระดูกสำหรับแสดงเชื้อชาติได้ทำการศึกษาโดยศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร และคณะสำหรับโครงกระดูกสมัยหินใหม่ขุดพบที่หมู่บ้านเก่า ตำบลจรเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี (1969) โครงกระดูกสมัยทวารวดีที่พบที่ตำบลทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม (2513) และโครงกระดูกหลายสมัยที่ทำการขุดค้นได้จากโคกพนมดี ตำบลท่าข้าม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยนายดำรงค์เกียรติ นกสกุล (2524) ผู้เสนอวิทยานิพนธ์จึงศึกษาเพิ่มเติมจากโครงกระดูกที่ขุดได้ใหม่ของสมัยทวารวดีและที่ส่งมารวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑสถานก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วนำผลที่ได้จากลักษณะของโครงกระดูกทั้งที่วัดไม่ได้และที่วัดได้ไปเปรียบเทียบกับ โครงกระดูกคนไทยที่รวบรวมไว้ที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และได้ทำการศึกษาแล้วโดยอาจารย์ในภาควิชากายวิภาคศาสตร์ (สรรใจ แสงวิเชียร 2514)

ผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากโครงกระดูกที่รวบรวมได้แตกหักเสียหายเป็นส่วนมากจนไม่สามารถจะประกอบให้ทรงรูปเดิมได้ แต่ก็นับได้ว่าเป็นการศึกษาโครงกระดูกของสมัยทวารวดีที่มากกว่าที่ได้เคยทำการศึกษามาแล้วและพอสรุปได้บางประการ

การพิจารณาว่าแหล่งขุดค้นใดเป็นแหล่งของสมัยทวารวดีนั้น ก็โดยอาศัยหลักฐานโบราณวัตถุที่ขุดค้นขึ้นมาได้เป็นสิ่งยืนยันและพิจารณาร่วมกับหลักฐานทางภูมิศาสตร์ ฉะนั้นในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมี ภาพภูมิประเทศ แผนที่ และสิ่งของที่ขุดได้ประกอบอยู่ในแต่ละบทด้วย

การศึกษาโครงกระดูกของสมัยทวารวดีได้ทำการศึกษาจากแหล่งต่างๆ จำนวน 5 แหล่งด้วยกันคือ

1.แหล่งโบราณคดีทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ผลการขุดค้นและศึกษาโครงกระดูกได้พิมพ์เป็นหนังสือ (สุด แสงวิเชียร 2513) ผู้เสนอวิทยานิพนธ์ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมและดัดแปลง ผลสรุปว่าไม่มีลักษณะทางโครงกระดูกใดที่แตกต่างไปจากโครงกระดูกของคนไทยปัจจุบัน การใช้เครื่องประดับและประเพณีการตกแต่งฟันก็ยังคงสืบเนื่องต่อกันมาตั้งแต่สมัยหินใหม่

2.แหล่งโบราณคดีคุ้งขี้เหล็ก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โครงกระดูกที่ได้จากแหล่งโบราณคดีนี้ขุดค้นโดยอาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เมื่อ พ.ศ. 2518 เป็นผู้มอบให้ โครงกระดูกค่อนข้างชำรุด ได้ทำการศึกษาทั้งหมด 7 โครง โดย 6 โครงมีหมายเลขกำกับอีก โครงหนึ่งใช้ชื่อว่าโครงที่ซ้อนกันทางทิศเหนือ ได้รายงานผลการศึกษาแต่ละโครงถึงลักษณะที่อาจวัดได้และที่ไม่อาจวัดได้ หลังจากนั้นก็จะนำไปเปรียบเทียบกับที่รายงานไว้แล้วของรองศาสตราจารย์นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร (2514) คงเปรียบเทียบได้แต่เพียงโครงหมายเลข 1 เท่านั้น นอกนั้นแตกหักไม่สามารถจะเปรียบเทียบได้ ขนาดต่างๆอยู่ในระหว่างค่าเฉลี่ยสูงสุดถึงค่าเฉลี่ยต่ำสุด (range) ของคนไทยทั้งสองเพศ

3.แหล่งโบราณคดีอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดนครปฐมส่งมาให้เมื่อประมาณ พ.ศ. 2520 เนื่องด้วยกระดูกที่ใส่กล่องมามีสภาพแตกหักเสียหายหมด กะโหลกบางกะโหลกมีส่วนหน้าแตกหายไป และภายในกะโหลกมีทรายบรรจุอยู่เต็ม คงแยกได้แต่ส่วนคางล่างชิ้นเดียวว่าเป็นของคนอายุน้อย เพราะฟันกรามซี่ที่ 3 ยังไม่ขึ้น มีเศษของคางบนอีก 1 ชิ้น คงอาศัยลักษณะวัตถุที่ขุดพบบ่งชี้ว่าเป็นของในสมัยทวารวดี

4.แหล่งโบราณคดีซับจำปา อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้มอบให้เมื่อ พ.ศ. 2514 จากการขุดค้นโดยอาจารย์และนักศึกษาของคณะโบราณคดี พบว่าซับจำปาเป็นแหล่งที่มีร่องรอยบนผิวดินว่าเป็นสมัยทวารวดี จากภาพถ่ายทางอากาศแสดงรูปเมืองที่มีคูและเนินดินล้อมรอบ สิ่งของที่พบอาจเก่าถึงสมัยหินใหม่และต่อลงมาจนถึงสมัยทวารวดี การขุดค้นได้พบโครงกระดูกเป็นจำนวนมาก แต่สภาพของโครงกระดูกไม่สมบูรณ์

5.แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี ตำบลท่าข้าม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี นายดำรงค์เกียรติ นกสกุล เป็นผู้ขุดค้นเมื่อ พ.ศ. 2522 เขียนเป็นวิทยานิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2524 โดยขุดหลุมขนาด 5 X 3 เมตร ลึก 8.80 เมตร พบโครงกระดูกเป็นจำนวนมากซ้อนกันเป็นชั้นๆ (หลายสมัย) และโดยการหาอายุโดยวิธีเรดิโอคาร์บอน ทำให้ทราบอายุของโครงแน่นอนขึ้น การศึกษาจาก 2 โครง (โครงที่ 2 และ โครงที่ 4 ของรายงานการขุดค้น) ได้อายุอยู่ในสมัยทวารวดี คือ ประมาณ 1,900 ปี โครงที่ 2 หรือ โครงที่ 4 ในรายงานการขุดค้นมีส่วนกะโหลกและส่วนอื่นๆของโครงเกือบครบถ้วน การทำความสะอาดค่อนข้างยาก เพราะศพถูกโรยด้วย ดินแดง วัตถุที่โรยติดกับเนื้อกระดูกแน่นจนไม่อาจทำให้การวัดได้แน่นอน เฉพาะลักษะที่วัดได้ ซึ่งเป็นโครงของชายและมีขนาดที่วัดอยู่ในค่าเฉลี่ยสูงสุดถึงค่าเฉลี่ยต่ำสุดของที่วัดได้ในโครงกระดูกของคนไทยปัจจุบัน (สรรใจ แสงวิเชียร 2514)

ผลของการศึกษาจากแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีทั้ง 5 แหล่ง ทำให้สันนิษฐานได้ว่า โครงกระดูกของคนสมัยทวารวดีที่พบนั้นมีลักษณะทางกายภาพไม่แตกต่างไปจากโครงกระดูกของคนไทยปัจจุบัน
เอกสารฉบับเต็ม