มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

ผลการวิเคราะห์โครงกระดูกที่แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี จ.ชลบุรี

ชื่อเรื่อง
ผลการวิเคราะห์โครงกระดูกที่แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี จ.ชลบุรี
ผู้แต่ง
ประพิศ พงศ์มาศ (ชูศิริ)
ประเภทเอกสารวิชาการ
หนังสือ
ภาษา
ไทย
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
1991
วันที่
เผยแพร่
กรมศิลปากร
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

ที่ตั้งแหล่งโบราณคดี แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าข้าม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

พิกัดภูมิศาสตร์ UTM – WGS 84: 48 331847E, 1674292N (ละติจูด 15° 08’ 20.1” เหนือ ลองจิจูด 103° 26’ 06.2” ตะวันออก)

สภาพทั่วไป
แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี ลักษณะเป็นเนินดินใหญ่ทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 230 เมตร จุดสูงสุดของเนินอยู่ทางด้านทิศเหนือ สูงประมาณ 12 เมตรจากพื้นนาโดยรอบ ตั้งห่างจากแม่น้ำบางปะกง 8 กิโลเมตรและห่างจากแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยประมาณ 22 กิโลเมตร บนเนินดินปกคลุมด้วยไม้ยืนต้นและไม้พุ่มค่อนข้างหนาแน่น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎรหมู่ที่ 3 บ้านโคกพนมดี พื้นที่โดยรอบเป็นที่ราบลุ่มใช้ปประโยชน์ในการทำนาข้าว ทางด้านทิศใต้ห่างออกไป 7 กิโลเมตรเป็นเนินเขาฟิลไลด์ ชื่อเขาคีรีรมย์ แหล่งน้ำในบริเวณนี้นอกจากแม่น้ำบางปะกงแล้ว ยังมีลำน้ำเก่าไหลจากเขตอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทราลงสู่แม่น้ำบางปะกงในเขตอำเภอบ้านโพธิ์ (กรมศิลปากร 2531, 296)

ทางเข้าแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี (ภายในวัดโคกพนมดี)

ทางเข้าแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี ภายในวัดโคกพนมดี อ.พนัสนิคม ชลบุรี

ประวัติการขุดค้น

แหล่งโบราณคดีโคกพนมดีได้รับการอ้างถึงเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2483 ในหนังสือเรื่อง “เมืองพนัสนิคม” ต่อมาได้มีการสำรวจโดยคณะทำงานด้านโบราณคดีในปี พ.ศ. 2516, 2521, และ 2521-2522 ก่อนดำเนินขุดค้นในปี พ.ศ. 2522, 2525 และ 2527-2528 โดยการขุดค้นครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2527-2528 เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ และกรมศิลปากร ดำเนินงานระหว่างเดือนธันวาคม 2527 – เดือนกันยายน 2528 ภายใต้ความควบคุมของ ดร.รัชนี ทศรัตน์ (บรรณานุรักษ์) ผู้อำนวยการโครงการฝ่ายไทยและ ศ.ดร.ชารล์ ไฮแอม ผู้อำนวยการโครงการฝ่ายนิวซีแลนด์ ภายใต้ “โครงการศึกษาเรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกง” จุดประสงค์เพื่อ “(1) หาอายุที่แน่นอนของแหล่งโบราณคดี ตั้งแต่แรกเริ่มจนสิ้นสุดของการตั้งถิ่นฐาน (2) หาหลักฐานและอายุของการเพาะปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ (3) หาหลักฐานของการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมฃชนอื่นที่อยู่ใกล้เคียง (4) ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ (5) ศึกษาถึงระดับเทคโนโลยี และ (6) ศึกษาโครงสร้างของสังคม” (ประพิศ พงษ์มาศ ชูศิริ 2534, 14)

สภาพปัจจุบัน เนินดินแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี อ.พนัสนิคม ชลบุรี


การขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี ระหว่างปี พ.ศ. 2527-2528


จำนวนตัวอย่างโครงกระดูก

การขุดค้นระหว่างปี พ.ศ. 2527-2528 พบตัวอย่างโครงกระดูกมนุษย์รวมทั้งสิ้น 154 โครง จำแนกออกตามลำดับชั้นการฝังศพ (Mortuary Phrase - MP) เป็น 7 ลำดับด้วยกัน คือ MP1 พบหลักฐานรวม 6 โครง, MP2 พบรวม 56 โครง, MP3 พบรวม 42 โครง, MP4 พบรวม 29 โครง, MP5 พบรวม 4 โครง, MP6 พบรวม 12 โครง และ MP7 พบรวม 5 โครง วิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยโอทาโก โดยประพิศ พงษ์มาศ ชูศิริ และมี ศ.ฟิลิป เฮาจ์ตัน เป็นที่ปรึกษา


ลักษณะทางประชากรศาสตร์สมัยโบราณ
ตัวอย่างโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี ในการวิเคราะห์ (ครั้งแรก) สามารถจำแนกเป็นโครงกระดูกผู้ใหญ่จำนวน 68 โครง (จำแนกเพศได้เป็นเพศชาย 32 โครง และเพศหญิง 36 โครง) เด็กโตจำนวน 14 โครง และเด็กแรกเกิดจำนวน 72 โครง


โครงกระดูกเพศหญิงพบร่องรอยการมีบุตรมาแล้วทั้งหมด พบโครงกระดูกที่มีบุตรมีอายุน้อยที่สุดราว 20 ปี ซึ่งปรากฏลักษณะหรือร่องรอยของการมีบุตรมาแล้วอย่างน้อย 2 คน โครงกระดูกจากโคกพนมดีมีค่าประเมินอายุเมื่อตายมากที่สุดราว 45-49 ปี ส่วนค่าอายุน้อยที่สุดคือแรกเกิด พบอัตราการตายของเด็กเล็กอายุตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 2 ขวบในความถี่สูง โดยเฉลี่ยทั้งสองเพศมีค่าอายุเมื่อตายราว 28.2 ปี เพศชายอายุสั้นกว่าเพศหญิง โดยเฉลี่ยเพศชายมีอายุประเมินเมื่อตายประมาณ 27.2 ปี ส่วนเพศหญิงมีอายุราว 29 ปี

ตารางจำแนกตัวอย่างโครงกระดูกจากแหล่งโบราณโคกพนมดี ตามเพศและค่าประเมินอายุเมื่อตาย
อายุ/ เพศเพศชายเพศหญิงจำแนกเพศไม่ได้รวม
ทารก (0-2 ปี) 7272
เด็ก (2-12 ปี) 1414
วัยรุ่น (12-20 ปี)53 8
วัยหนุ่ม (20-35 ปี)2220 42
วัยกลางคน (35-50 ปี)512 17
วัยสูงอายุ (มากกว่า 50 ปี) 1 1
รวม323686154

ที่มา: ประพิศ พงษ์มาศ ชูศิริ, ผลการวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี. (กรุงเทพฯ: โครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี, 2534), 40-48.

ลักษณะทางกายภาพที่สามารถวัดได้และวัดไม่ได้ของกะโหลกศีรษะ

การศึกษาลักษณะทางกายภาพที่สามารถวัดได้ในส่วนกะโหลกศีรษะ ทำการวัดตามจุดกำหนดรวม 33 จุด ส่วนการศึกษาลักษณะที่วัดไม่ได้ สังเกตเบื้องต้นจากร่องรอยที่แสดงถึงลักษณะความเกี่ยวเนื่องทางพันธุกรรม เช่น metopism, frontal foramen or notch, supraorbital foramen, dupraorbital notch และ Zygomatic-facial foramen เป็นต้น จากตัวอย่างโครงกระดูกผู้ใหญ่ 35 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 22.7 จำแนกเป็นเพศชาย 15 ตัวอย่าง และหญิง 20 ตัวอย่าง พบว่าคนก่อนประวัติศาสตร์ที่โคกพนมดีมีลักษณะกะโหลกกว้างและกลม มีรูปใบหน้า จมูก และเพดานปากกว้าง เมื่อมองจากด้านข้างเห็นลักษณะการยื่นของใบหน้าช่วงล่าง (alveolar prognathism) โดยทั่วไปกะโหลกศีรษะเพศชายใหญ่และแข็งแรงกว่าเพศหญิง ทั้งยังพบ rocker jaw ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่พบในกลุ่มโพลีนีเซียน แต่โดยภาพรวม โครงกระดูกโคกพนมดีนั้นมีลักษณะทางกายภาพเหมือนหรือคล้ายคลึงกับกลุ่มคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ทั่วไปในไทยและกลุ่มคนไทยปัจจุบัน



การศึกษาเรื่องฟัน ผู้วิเคราะห์ได้วัดขนาดฟันด้าน bucco-lingual และ mesio-distal crown ของทั้งสองเพศ พบว่าขนาดฟันเพศหญิงเล็กกว่าเพศชายเพียงเล็กน้อย เพศชายมีร่องรอยการสึกของฟันมากกว่าเพศหญิง และพบลักษณะ v-shaped ที่ฟันตัดซี่หน้าบนและล่างในทั้งสองเพศ



การหาค่าสถิติการขึ้นของฟันกรามซี่ที่ 3 (third molar) ใน 66 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 42.86 พบเพศชายมีการขึ้นของฟันกรามซี่ที่ 3 ร้อยละ 92.50 และเพศหญิงมีการขึ้นของฟันร้อยละ 74.31 การศึกษาหาร่องรอยการถอนฟันหน้าพบว่าโครงกระดูกโคกพนมดีส่วนมากนิยมถอนฟันตัดด้านหน้า (ซี่ที่ 1) มากกว่าฟันซี่อื่นๆ และไม่ปรากฏร่องรอยของการถอนฟันกรามน้อยและฟันกรามแต่อย่างใด และการศึกษาลักษณะที่วัดไม่ได้ อย่างลักษณะฟันตัดรูปพลั่ว (shovel-shaped) ของฟันตัดซี่ที่ 1 และ 2 ชุดฟันข้างบนและล่างซึ่งพบในราวร้อยละ 50 ขัดแย้งกับลักษณะทั่วไปของชาวเอเชีย (มองโกลอยด์) ที่โดยทั่วไปพบลักษณะดังกล่าวเกือบร้อยละ 100 ลักษณะ Carabelli’s cusp ของฟันกรามซี่ที่ 1 ในขากรรไกรบน พบราวร้อยละ 23-43 มากกว่าลักษณะของชาวเอเชียที่พบเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น และลักษณะ protostylid ของฟันกรามในขากรรไกรล่าง เป็นต้น เพื่อใช้สำหรับจัดกลุ่มโครงกระดูก เช่นเดียวกับการสังเกตลักษณะที่วัดไม่ได้บนกะโหลกศีรษะ


ผลการจัดกลุ่มโครงกระดูก (cluster of skeleton) โดยจำแนกเบื้องต้นตามพื้นที่ การฝังศพ และร่องรอยลักษณะที่วัดไม่ได้ของกะโหลกศีรษะ พบว่าในพื้นที่โคกพนมดีนั้น มีกลุ่มชนเล็กๆ อาศัยอยู่รวมกันประมาณ 8 กลุ่มย่อยในสองกลุ่มใหญ่ หรือสองกลุ่มหลักคือ cluster C และ cluster F โดยใน cluster C พบลักษณะความต่อเนื่องทางพันธุกรรมชัดเจน ส่วน cluster F พบการขาดช่วงของพันธุกรรมในบางช่วงเท่านั้น


โครงกระดูกทั้งสองกลุ่มมีลักษณะพันธุกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะ metopism ที่ปรากฏทั้ง 2 กลุ่มและพบหนาแน่นราวร้อยละ 25-39 การปรากฎของ bregmatic bone ซึ่งพบ 2 โครงเฉพาะใน cluster F อันน่าจะเป็นลักษณะการสืบพันธุกรรมระหว่างพ่อกับลูก หรือการพบลักษณะ precondylar tubercle เฉพาะใน cluster C แสดงว่าภายในกลุ่ม (cluster) มีการสืบลักษณะทางพันธุกรรมภายในกลุ่ม (gene pool) ด้วยเช่นกัน แต่ไม่สามารถกำหนดได้แน่ชัดเพราะปัญหาข้อจำกัดด้านจำนวนและสภาพความสมบูรณ์ของตัวอย่างเป็นหลัก

ลักษณะทางกายภาพที่สามารถวัดได้และวัดไม่ได้ของกระดูกโครงสร้างร่างกายส่วนแขนขา

การวัดกระดูกท่อนยาวอย่างกระดูกต้นแขน กระดูกปลายแขนด้านนอก กระดูกปลายแขนด้านใน กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกน่องเพื่อประเมินสัดส่วนความสูงของโครงกระดูก ศึกษาจากตัวอย่างโครงกระดูกผู้ใหญ่รวม 66 โครง หรือราวร้อยละ 42.9 จำแนกเป็นเพศชาย 30 โครงและหญิง 36 โครง ตามค่าสมการไทยจีน (สรรใจ แสงวิเชียรและคณะ 2528) พบเพศชายมีความสูงราว 162.31 – 166.95 เซนติเมตรและมีค่าเฉลี่ยความสูงราว 164.30 เซนติเมตร ขณะที่เพศหญิงมีค่าความสูงราว 152.65 – 154.42 เซนติเมตรและมีค่าเฉลี่ยความสูงราว 153.78 เซนติเมตร

นอกจากนี้ การสังเกตลักษณะที่วัดไม่ได้ที่ปรากฎบนกระดูกอย่างร่องรอยของ atlas bridging ในส่วนกระดูกสันหลังช่วงคอชิ้นที่ 1 ซึ่งพบสมบูรณ์ (complete bridge) ใน “โครงกระดูกเพศชาย อายุระหว่าง 25 -29 ปีใน cluster C ในขณะที่ retroarticular bridge พบในโครงกระดูกเพศชาย อายุ 25 – 29 ปี และมาจาก cluster C เช่นกัน จากหลักฐานที่พบนี้ Saunders and Popovich (1978) ได้กล่าวไว้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ พ่อลูก พี่น้อง จะเห็นเด่นชัดในการสืบทอดเชื้อสายที่ atlas bridging” (ประพิศ พงษ์มาศ ชูศิริ 2534, 117)


การศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพ

การเปรียบเทียบร่วมกับข้อมูลโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในไทยจำนวน 6 กลุ่มตัวอย่าง คือ (1) แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี (Sangvichien et al 1969) (2) แหล่งโบราณคดีโนนนกทา จ.ขอนแก่น ปีการขุดค้น พ.ศ. 2509 (Pietrusewsky 1974) (3) แหล่งโบราณคดีโนนนกทา จ.ขอนแก่น ปีการขุดค้น พ.ศ. 2511 (Brooks and Brooks 1987) (4) แหล่งโบราณคดีบ้านนาดี จ.อุดรธานี (Wiriyaromp 1984) (5) แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ปีการขุดค้น พ.ศ. 2517 – 2518 (Pietrusewsky 1982) และ (6) แหล่งโบราณคดีโนนป่ากล้วย หรือแหล่งโบราณคดีโนนดอนกลางในปัจจุบัน จ.หนองบัวลำภู (Pietrusewsky 1988)


ผลการเปรียบเทียบค่าอายุเมื่อตายโดยเฉลี่ยพบไม่มีความแตกต่างมากนัก เพราะทั้งหมดมีค่าอายุประเมินเมื่อตายโดยเฉลี่ยของประชากรอยู่ระหว่าง 24.6 – 32 ปี โดยตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีโนนป่ากล้วยมีค่าอายุเฉลี่ยน้อยสุด ส่วนค่าเฉลี่ยอายุมากที่สุดเป็นของตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านนาดี การเปรียบเทียบสัดส่วนความสูงตามค่าสมการอเมริกันผิวขาว (Trotter and Glesser 1958) พบว่าค่าความสูงอยู่ในระดับใกล้เคียงกันประมาณ 160 - 170 เซนติเมตรในเพศชาย และราว 150 – 160 เซนติเมตรในเพศหญิง เมื่อเทียบกับประชากรปัจจุบันตามค่าสมการไทยจีน เพศชายจากโคกพนมดีมีสัดส่วนค่าเฉลี่ยความสูงใกล้เคียงกับคนไทยปัจจุบัน ส่วนเพศหญิงมีค่าเฉลี่ยความสูง (154.54 เซนติเมตร) มากกว่าหญิงไทยปัจจุบัน (151.69 เซนติเมตร) เล็กน้อยเท่านั้น

เอกสารอ้างอิง
1) กรมศิลปากร, แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี, 2531.
2) สรรใจ แสงวิเชียร, วสันต์ ศรีสุรินทร์ และวิรัตน์ วัฒนายิ่งสกุล. “การคำนวณความสูงจากความยาวของกระดูกคนไทยและจีน.” สารศิริราช 37 (2528): 215-218.

3) Brooks, S.T. and Brooks, R.H. “An analysis of the 1968 Non Nok Tha The Skeletal Series Thailand.” Master’s thesis, Department of Anthropology, University of Colorado, 1987.

4) Choosiri, Praphid. “Human remains from Khok Phanom Di.” Master’s thesis, Department of Anthropology, Dunedin: University of Otago, 1988.

5) Pietrusewsky, M. Non Nok Tha: The Human Skeletal Remains from the 1966 Excavations at Non Nok Tha, Northeastern Thailand. Dunedin: University of Otago, 1974.

6) ____________, “The ancient inhabitants of Ban Chiang: the evidence from human skeletal and dental Remains.” Expedition 24 (1982): 42-50.

7) ____________, Prehistoric Human Remains from Non Pa Kluay, Northeast Thailand. Dunedin: University of Otago, 1988.

8) Sangvichien, Sood, Sirigaroon, P., Jorgensen, J. and T. Jacob. Archaeological Excavations in Thailand Vol.3: Ban Kao. Part 2. Copenhagen: Munksgard, 1969.

9) Saunders, S.R. and Frank Popovich. “A family study of two skeletal variants: Atlas bridging and clinoid Bridging.” American Journal of Physical Anthropology 49,2 (1978): 193-203.
10) Trotter, M. and G. C. Gleser, “A re-evaluation of estimation of stature based on measurements of stature taken during Life and of long bones after death.” American Journal of Physical Anthropology 16 (1958): 79-124.

11) Wiriyaromp, Warrachai. The Human Skeletal Remains from Ban Na Di, Patterns of Birth, health and death in prehistoric northeast Thailand . Master’s thesis, Department of Anthropology, Dunedin: University of Otago, 1984.