มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมบ้านเชียง จากแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน จังหวัดสกลนคร

ชื่อเรื่อง
การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมบ้านเชียง จากแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน จังหวัดสกลนคร
ผู้แต่ง
กรกฎ บุญลพ
ประเภทเอกสารวิชาการ
วิทยานิพนธ์
ภาษา
ไทย
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
2003
วันที่
เผยแพร่
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

ที่ตั้ง แหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน หมู่ที่ 2 ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

พิกัดภูมิศาสตร์ UTM - WGS 84 : 48 333700E, 1951080N (ละติจูด 17° 38’ 26” เหนือ ลองจิจูด 103° 27’ 48.6” ตะวันออก)
สภาพทั่วไป
แหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน ลักษณะเป็นเนินดินทรงกลม - รี ขนาดประมาณ 200 x 300 เมตร มีระดับความสูงประมาณ 155 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลักษณะเป็นที่ราบขั้นบันไดต่ำ พื้นที่บนเนินเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎรบ้านโคกคอน หมู่ที่ 2 ส่วนพื้นที่โดยรอบเนินใช้สำหรับการเกษตรกรรม แหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ใกล้เคียงได้แก่ ห้วยพานซึ่งไหลผ่านทางด้านทิศใต้ห่างจากหมู่บ้านราว 50 เมตรจากนั้นจะไหลอ้อมไปทางทิศตะวันตกบรรจบกับห้วยชงซึ่งห่างจากชุมชนประมาณ 250 เมตร นอกจากลำห้วยดังกล่าวแล้วยังมี "บึงโคกสี" ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้บริเวณพื้นที่ราบระหว่างบ้านโคกคอนกับบ้านโคกสี โดยอยู่ห่างจากบ้านโคกคอนประมาณ 500 เมตร (กรกฎ บุญลพ 2546, 117)



สภาพทั่วไปของพื้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน

ประวัติการขุดค้น
การขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอนปี พ.ศ. 2541-2542 โดยกรกฎ บุญลพ และ พิมพ์นารา (กัลญาณี) กิจโชติประเสริฐ จากสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถาณแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น (ปัจจุบันคือสำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น) พบหลักฐานชันวัฒนธรรมในยุคประวัติศาสตร์ สมัยวัฒนธรรมล้านช้าง ราวพุทธศตวรรษที่ 21-23 และยุคก่อนประวัติศาสตร์ จำแนกเป็น (1) สมัยก่อนพัฒนาการด้านโลหกรรม กำหนดอายุราว 4,000-3,500 ปีที่ผ่านมา และ (2) สมัยโลหะ ทั้งสมัยสำริด อายุราว 3,500-3,000 ปีที่ผ่านมา และสมัยเหล็ก กำหนดอายุราว 2,900-1,800 ปีมาแล้ว (พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านพระธาตุมีชัย บ้านโคกคอน )


ตัวอย่างภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ จากแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน

จำนวนตัวอย่างโครงกระดูก
ตัวอย่าง โครงกระดูกมนุษย์ที่นำมาศึกษาพบเฉพาะจากชั้นวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ เท่านั้น รวม 39 ตัวอย่าง จำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พบในบริบทหลุมฝังศพ 22 ตัวอย่าง (Burial#) และกลุ่มที่พบนอกบริบทหลุมฝังศพ 17 ตัวอย่าง (MNI#) จำแนกตามสมัย คือ (1) สมัยก่อนพัฒนาการโลหกรรม รวม 6 ตัวอย่าง ประกอบด้วยตัวอย่างโครงกระดูกเด็ก 3 ตัวอย่าง ตัวอย่างโครงกระดูกผู้ใหญ่เพศชาย 1 ตัวอย่าง และเพศหญิง 2 ตัวอย่าง (2) สมัยสำริด รวม 8 ตัวอย่าง กอปรด้วยตัวอย่างโครงกระดูกเด็ก 2 ตัวอย่าง ตัวอย่างโครงกระดูกผู้ใหญ่เพศชาย 4 ตัวอย่างและไม่สามารถประเมินเพศได้ 2 ตัวอย่าง และ (3) สมัยเหล็ก รวม 25 ตัวอย่าง จำแนกเป็นตัวอย่างโครงกระดูกเด็ก 7 ตัวอย่าง ตัวอย่างโครงกระดูกเพศชาย 6 ตัวอย่าง และเพศหญิง 12 ตัวอย่าง

ลักษณะทางประชากรศาสตร์สมัยโบราณ
ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์สมัยโบราณจากตัวอย่างโครงกระดูกที่สามารถประเมินอายุเมื่อตายได้ จำนวน 31 ตัวอย่างหรือราวร้อยละ 79 พบว่า อายุเมื่อตายโดยเฉลี่ยของกลุ่มประชากรโบราณที่นี่อยู่ที่ 22 ปี โดยกลุ่มตัวอย่างวัยเด็กมีอายุเมื่อตายโดยเฉลี่ยประมาณ 5 ปี ส่วนกลุ่มตัวอย่างโครงกระดูกในวัยผู้ใหญ่มีอายุเมื่อตายโดยเฉลี่ยราว 31 ปี ส่วนอายุขัยคาดคะเน หรือ "ค่าความน่าจะเป็นที่คาดว่าอายุขัยเฉลี่ยของกลุ่มประชากรในแต่ละกลุ่มช่วงอายุจะสามารถมีชีวิตรอดยืนยาวได้" (กรกฎ บุญลพ 2546 : 251) ในกลุ่มช่วงอายุวัยแรกเกิดอยู่ที่ราว 22.6 ปี

ตารางจำแนกตัวอย่างโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน ตามค่าประเมินอายุเมื่อตายและเพศ

อายุ / เพศเพศชายเพศหญิงจำแนกไม่ได้รวม
ทารก (0-2 ปี) 5 5
เด็ก (2-12 ปี) 6 6
วัยรุ่น (12-20 ปี) 1 3 4
วัยหนุ่ม (20-35 ปี)5 4 9
วัยกลางคน (35-50 ปี)33 6
วัยสูงอายุ (มากกว่า 50 ปี) 1 1
ผู้ใหญ่ (จำแนกเพศและอายุไม่ได้) 8 8
รวม 8 9 22 39

ที่มา : กรกฎ บุญลพ, การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมบ้านเชียงจากแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอนจังหวัดสกลนคร. (กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546), 233-235.

ลักษณะทางกายภาพที่สามารถวัดได้ของกะโหลกศีรษะ
การศึกษาลักษณะที่สามารถวัดได้ของกะโหลกศีรษะเพศชาย จำนวน 1 ตัวอย่าง และเพศหญิง จำนวน 2 ตัวอย่าง เปรียบเทียบระหว่างเพศ (ดูรายละเอียดในตาราง) เมื่อเทียบตามค่าดรรชนี cranial พบว่าตัวอย่างเพศชายมีลักษณะกะโหลกศีรษะแคบแต่ยาว เพศหญิงมีสัดส่วนระหว่างความกว้างและความยาวของกะโหลกศีรษะในระดับกลาง ทั้งสองเพศจัดเป็นกะโหลกศีรษะที่มีรูปทรงค่อนข้างสูงเมื่อพิจารณาจากค่าดรรชนีสัดส่วนความยาวกับความสูง (Length-height index) โหนกแก้มค่อนข้างกว้าง เบ้าตาเล้กแคบและเพดานปากกว้าง เพศชายมีลักษณะหน้าผากแคบ ช่วงใบหน้าสั้น มีโพรงจมูกค่อนข้างเล็ก แต่เพศหญิงมีขนาดหน้าผากและโพรงจมูกกว้างกว่า

ตารางแสดงค่าเฉลี่ยดรรชนีและประเภทของกะโหลกศีรษะ ตัวอย่างโครงกระดูกแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน

เพศชายเพศหญิง
ค่าเฉลี่ยประเภทค่าเฉลี่ยประเภท
ดรรชนี cranial74.5dolichocrane77.6mesocrane
ดรรชนี height84hypsicrane74.7orthocrane
ดรรชนี breadth-height112.9acrocrane--
ดรรชนี facial82.1euryprosopic--
ดรรชนี orbital77.8mesoconchy75.6chamaeconchy
ดรรชนี nasal44.6leptorhine--
ดรรชนี palatal95.7brachystaphyline92.3brachystaphyline

ที่มา : กรกฎ บุญลพ, การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมบ้านเชียงจากแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอนจังหวัดสกลนคร. (กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546), 233-235.

ลักษณะทางกายภาพที่ไม่สามารถวัดได้ของกะโหลกศีรษะ
ตัวอย่างกะโหลกศีรษะเพศชาย เมื่อมองจากด้านบน (Norma verticalis) จะมีลักษณะเป็นรูปไข่ ส่วนตัวอย่างเพศหญิงมีลักษณะเป็นรูปลิ่ม เมื่อมองจากด้านท้ายทอย (Norma occipitalis) ทั้งสองเพศมีลักษณะแบบ arch form พบลักษณะพิเศษอย่างรอยประสานบริเวณหน้าผากกะโหลกศีรษะ (Metopic suture) จากโครงกระดูกหมายเลข 17 พบลักษณะของ wormion bone บริเวณ lambdoid suture จากโครงกระดูกหมายเลข 17 และตัวอย่างหมายเลข 39 ลักษณะของขอบล่างโพรงจมูกเพศชายมีลักษณะแบบ anthropine หรือปรากฏแนวขอบชัดเจน ส่วนเพศหญิงมีทั้งแบบปรากฏแนวขอบชัดเจนและแบบไม่มีแนวขอบชัดเจน (paranasal sulcus)

ลักษณะทางกายภาพของฟัน ทั้งขากรรไกรบนและขากรรไกรล่างมีลักษณะการโค้งฟันแบบพาราโบลา และแบบ U shape ส่วนขากรรไกรบนพบลักษณะฟันตัดแบบรูปพลั่วในตัวอย่างโครงกระดูกหมายเลข 8/1 และโครงกระดูกหมายเลข 11 ลักษณะฟันแบบ groove cingulum จากตัวอย่างโครงกระดูกหมายเลข 17 ส่วนลักษณะปุ่มฟัน (Cusp number) ของฟันกรามแท้พบทั้งแบบ 3, 3+, 4-, 4, 4+ และ wrinkle และปรากฏลักษณะ Carabelli’s cusp ในตัวอย่างโครงกระดูกหมายเลข 8/1 และตัวอย่างกระดูกหมายเลข 9 และ 39

ขากรรไกรล่าง พบลักษณะการเรียงตัวของฟันที่ไม่เป็นระเบียบหรือ tooth winging อันเป็นลักษณะผิดปกติที่มีมาตั้งแต่กำเนิดในตัวอย่างโครงกระดูกหมายเลข 14 และ 29 ลักษณะปุ่มฟันของฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 พบทั้งแบบ 5, +5 และ Y5 ฟันกรามแท้ซี่ที่ 2 ทั้งหมดเป็นแบบ +4 ส่วนในฟันกรามแท้ซี่ที่ 3 พบทั้งแบบ 4, 4+ และ wrinkle

ลักษณะทางกายภาพที่สามารถวัดได้ของกระดูกโครงสร้างร่างกายส่วนแขนขา
การศึกษาลักษณะที่วัดได้ของกระดูกท่อนยาว (long bones) ส่วนแขนและขา จำนวน 6 ส่วน คือ กระดูกต้นแขน กระดูกปลายแขนด้านนอก กระดูกปลายแขนด้านใน กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกน่อง จากจำนวนตัวอย่างโครงกระดูกเพศชาย 5 ตัวอย่าง และตัวอย่างโครงกระดูกเพศหญิงจำนวน 3 ตัวอย่าง พบว่าโดยภาพรวม ค่าเฉลี่ยการวัดที่ได้จากตัวอย่างกระดูกเพศชายมีความยาวมากกว่าเพศหญิง ทั้งเพศชายและหญิงมีสัดส่วนความยาวของกระดูกหน้าแข้งสั้นกว่ากระดูกต้นขา มีสัดส่วนความยาวของกระดูกปลายแขนด้านนอกสั้นกว่ากระดูกต้นแขน แต่มีสัดส่วนความยาวของช่วงขาใกล้เคียงกันกับช่วงแขน

การประเมินสัดส่วนความสูงของกลุ่มตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน ตามสมการไทยจีน (สรรใจ แสงวิเชียรและคณะ 2528) เพศชายมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 161.59 เซนติเมตร ส่วนเพศหญิงสูงเฉลี่ยประมาณ 158.99 เซนติเมตร สมการอเมริกันผิวขาว เพศชายมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 165.55 เซนติเมตร (Trotter and Gleser 1952) และ 166.56 เซนติเมตร (Trotter and Gleser 1958) สูงกว่าเพศหญิงที่มีค่าเฉลี่ยความสูงเพียง 163.08 เซนติเมตร

ลักษณะทางกายภาพที่ไม่สามารถวัดได้ของกระดูกโครงสร้างร่างกายส่วนอื่นๆ
ลักษณะที่วัดไม่ได้ของกระดูกโครงสร้างร่างกาย พบว่าส่วน acromion ของกระดูกสะบ้ามีทั้งรูปทรงแบบสี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยม กระดูกต้นแขนพบลักษณะ deltoid tuberosity ค่อนข้างเด่นชัด กระดูกปลายแขนด้านใน บริเวณ trochlear notch shape เป็นรูปทรงคล้ายนาฬิกาทราย กระดูกสะบ้าพบลักษณะ patella spur และ vastus notch ในทั้งสองตัวอย่าง (โครงกระดูกหมายเลข 12 และ 16) แต่พบลักษณะ vastus medialis เฉพาะเพียงหนึ่งตัวอย่างจากโครงกระดูกหมายเลข 14 เท่านั้น

บริเวณ fovea capilis หรือหัวกระดูกต้นขา ตัวอย่างสมัยก่อนพัฒนาการโลหกรรมและสมัยสำริดมีลักษณะรูปทรงแบบสามเหลี่ยม แต่ตัวอย่างสมัยเหล็กพบลักษณะรูปทรงแบบกลมกับรูปไข่ บริเวณปลายกระดูกหน้าแข้ง พบลักษณะของ squatting facet กระดูกข้อเท้า calcaneus พบลักษณะ poroneal tubercle จากโครงกระดูกหมายเลข 16 ส่วนบริเวณ anterior calcaneal facet พบทั้งแบบเชื่อมต่อกัน (single/ continuous) และแยกออกจากกัน (double) กระดูกข้อเท้า talus พบลักษณะส่วนสัมผัสระหว่าง talus กับ calcaneus หรือบริเวณ subtalar articular surface ทั้งแบบเชื่อมต่อกันและแยกจากกัน เช่นเดียวกัน

ลักษณะที่วัดไม่ได้ที่ปรากฏพบนั้น สามารถอนุมานแปลความเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือการประกอบกิจกรรมประจำวันของกลุ่มชนในอดีตได้ คือ ลักษณะของ deltoid tuberosity หรือรอยเกาะกล้ามเนื้อ deltoideus ของกระดูกต้นแขนแสดงถึงการประกอบกิจกรรมที่จำเป็นต้องยกแขนขึ้นลง และใช้แรงส่งจากต้นแขนไปยังปลายแขนอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น ‘การนวดข้าว การตีโลหะ การตัดต้นไม้ หรือการยกและแบกหามสัมภาระหนัก’ (ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล 2545: 49, อ้างถึงในกรกฎ บุญลพ 2546: 274) ลักษณะของ vastus notch, vastus medialis ของกระดูกสะบ้า ลักษณะ tibial squat ของกระดูกหน้าแข้งและลักษณะ talus squat ของกระดูกข้อเท้า talus แสดงถึงกิจกรรมที่ประกอบด้วยท่าทางซึ่งส่งผลให้เกิดแรงดึงของกล้ามเนื้อช่วงขาตั้งแต่ต้นขา หัวเข่า ปลายเท้า และข้อเท้า เช่น การนังยองหรือท่ากึ่งนั่งกึ่งยืนของช่างโลหะ ท่านั่งขัดสมาธิของช่างจักสาน และการเดินย่ำดินของช่างผลิตภาชนะดินเผา หรือการเดินย่ำซ้ำฯ ดังปรากฏลักษณะของร่องรอยการใช้กล้ามเนื้อ peroneal tubercle ของกระดูกข้อเท้า calcaneus ร่วมด้วยเช่นเดียวกัน

การศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพ
การเปรียบเทียบ ศึกษาร่วมภายในกลุ่มตัวอย่างโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมร่วมแบบบ้านเชียง จำนวน 5 แหล่ง คือ (1) แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี การขุดค้นปี พ.ศ. 2517-2518 (Pietrusewsky and Douglas 2002) (2) แหล่งโบราณคดีบ้านอ้อมแก้ว จังหวัดอุดรธานี การขุดค้นปี พ.ศ. 2515-2516 (สุกิจ เที่ยงมณีกุล 2518) (3) แหล่งโบราณคดีบ้านธาตุ จังหวัดอุดรธานี การขุดค้นปี พ.ศ. 2516 (สุกิจ เที่ยงมณีกุล 2518, สุด แสงวิเชียรและวัฒนา สุภวัน 2520) (4) แหล่งโบราณคดีบ้านนาดี จังหวัดอุดรธานี การขุดค้นปี พ.ศ. 2523 (Wiriyaromp 1984, Houghton and Wiriyaromp 1984) และ (5) แหล่งโบราณคดีบ้านดอนธงชัย จังหวัดสกลนคร การขุดค้นปี พ.ศ. 2537 และ 2540 (ตรงใจ หุตางกูร 2540) และการเปรียบเทียบร่วมกับตัวอย่างโครงกระดูกมนุษย์ปัจจุบันของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


การเปรียบเทียบข้อมูลประชากรศาสตร์ เบื้องต้นพบว่ากลุ่มตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง บ้านนาดี และบ้านโคกคอน มีอายุขัยเมื่อตายโดยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน คือ ระหว่าง 31-32 ปี มากกว่าตัวอย่างจากบ้านดอนธงชัยซึ่งมีค่าอายุขัยเมื่อตายเพียง 27.6 ปี ส่วนค่าอายุขัยคาดคะเนเมื่ออายุแรกเกิด ตัวอย่างจากบ้านโคกคอนและบ้านนาดีมีค่าอายุใกล้เคียงกันคือราว 22-22.66 ปี น้อยกว่าตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (29.52 ปี) และตัวอย่างปัจจุบัน (68.43 ปี)

ลักษณะทางกายภาพของกะโหลกศีรษะ ส่วนลักษณะที่วัดได้เปรียบเทียบร่วมกับตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง บ้านนาดี และตัวอย่างปัจจุบัน พบลักษณะค่าสัดส่วนดรรชนีกะโหลกศีรษะในลักษณะใกล้เคียงกัน แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย คือ ค่าดรรชนี cranial ตัวอย่างกะโหลกศีรษะเพศชายจากแหล่งโบราณคดีจะมีลักษณะกะโหลกแคบแต่ยาว แต่ตัวอย่างปัจจุบันมีลักษณะกะโหลกสั้นกว่า หรือค่าดรรชนี facial เพศชายจากกลุ่มวัฒนธรรมร่วมแบบบ้านเชียงจะมีใบหน้าค่อนข้างสั้น แต่ตัวอย่างปัจจุบันมีขนาดใบหน้าที่ยาวกว่า เป็นต้น

ขนาดโดยรวมของฟัน ภาพรวมตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน ทั้งตัวอย่างเพศชายและหญิงจะมีขนาดพื้นที่รวมของฟันส่วนขากรรไกรบนและขากรรไกรล่างเล็กที่สุด คือ ราว 1,047.82 ตร.มม. สำหรับตัวอย่างเพศชายและประมาณ 1,054.83 ตร.มม. สำหรับเพศหญิง รองจากตัวอย่างประชากรปัจจุบัน (เพศชาย =1,232.7 ตร.มม. และเพศหญิง =1,145.31 ตร.มม.) ตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านนาดี (เพศชาย =1,245.34 ตร.มม. และเพศหญิง =1,129.47 ตร.มม.) และตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (เพศชาย =1,187.5 ตร.มม. และเพศหญิง =1,124.5 ตร.มม.) ไล่เรียงตามลำดับ

ลักษณะที่วัดไม่ได้ของกะโหลกศีรษะและฟัน เปรียบเทียบระหว่างตัวอย่างจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง บ้านโคกคอน บ้านนาดี และบ้านดอนธงชัย พบที่น่าสนใจคือลักษณะของฟันตัดแบบรูปพลั่วซึ่งเป็น ‘ลักษณะเฉพาะที่พบได้บ่อยในกลุ่มมนุษย์สายพันธุ์มองโกลอยด์’ (Brothwell 1983: 115-116) ทั้งกลุ่ม ‘อเมริกันอินเดียน เอสกิโม มองโกเลียน จีน และญี่ปุ่น’ (Hillson 1990: 259, อ้างถึงในกรกฎ บุญลพ 2546: 305)

การเปรียบเทียบสัดส่วนความสูงระหว่างประชากรตามค่าสมการไทย-จีน (สรรใจ แสงวิเชียร และคณะ 2528) เบื้องต้นพบว่าตัวอย่างประชากรปัจจุบัน เพศชายมีค่าสัดส่วนเฉลี่ยสูงราว 166-171 เซนติเมตร เพศหญิงสูงราว 154-159 เซนติเมตร ขณะที่ตัวอย่างเพศชายจากแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอนสูงราว 157.3-167 เซนติเมตร เพศหญิงสูงราว 156.3-161.3 เซนติเมตร ต่างจากตัวอย่างแหล่งโบราณบ้านดอนธงชัย (เพศชาย 163.5-179 เซนติเมตร และเพศหญิง 157-158 เซนติเมตร) และบ้านเชียง (เพศชาย 165.4-166 เซนติเมตรและเพศหญิง 153.9-154.4 เซนติเมตร) ตามลำดับ ส่วนการเปรียบเทียบขนาดของกระดูกเชิงกรานระหว่างตัวอย่างบ้านโคกคอน กับประชากรปัจจุบันพบว่าไม่แตกต่างมากนัก เพศชายปัจจุบันจะมีขนาดใหญ่กว่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เอกสารอ้างอิง
1) สรรใจ แสงวิเชียร, วสันต ศรีสุรินทร์ และสมุทร จงวิศาล “การคำนวณความสูงจากความยาวของกระดูกขาในคนไทยและจีน.” สารศิริราช 37 (2528): 215-218.
2) ตรงใจ หุตางกูร ผลการวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์แหล่งโบราณคดีวัดชัยมงคล บ้านดอนธงชัย ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร. เสนอสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น, 2540. (อัดสำเนา)
3) ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล “การศึกษาความผิดปกติของกระดูกมนุษย์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี.”รายงานการศึกษาเฉพาะบุคคลปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.
4) สุกิจ เที่ยงมณีกุล “พยาธิสภาพของโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2518.
5) สุด แสงวิเชียรและวัฒนา สุภวัน “กะโหลกมีรูคล้าย Trephining” ใน รายงานการศึกษาและขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงและบริเวณใกล้เคียง จังหวัดอุดรธานี (บ้านธาตุ-บ้านอ้อมแก้ว), 39-45. สุมิตร ปิติพัฒน์และปรีชา กาญจนคม, บรรณาธิการ. ม.ป.ท., 2519.
6) Brothwell, D. R. Digging up Bones: The excavation, treatment and study of human skeletal remains. New York: CornellUniversity Press, 1981.
7) Hillson, Simon. Teeth-Cambridge Manuals in Archaeology. Edited by Don Brothwell et al. Cambridge:CambridgeUniversity Press.
8) Houghton, Philip and Warrachai Wiriyaromp. “The people of Ban Na Di”. In Prehistoric investigation in Northeast Thailand Part II. Edited by A. R. Hands and D. R. Walker. Oxford: B.A.R., 1984.
9) Pietrusewsky, Michael and Michelle T. Douglas. Ban Chiang, A Prehistoric village site in northeast Thailand I: The Human Skeletal Remains. Philadelphia: University of Pennsylvania, 2002.
10) Trotter, M. and G. C. Gleser. “Estimation of stature from long bones of American White and Negroes.” American Journal of Physical Anthropology 10, 4 (1952): 463-514.
11) ____________, “A re-evaluation of estimation of stature based on measurements of stature taken during Life and of long bones after death.” American Journal of Physical Anthropology 16 (1958): 79-124.
12) Wiriyaromp, Warrachai. The Human Skeletal Remains from Ban Na Di, Patterns of Birth, health and death in prehistoric northeast Thailand . Master's thesis, Department of Anthropology, Dundin: University of Otago, 1984.

เอกสารฉบับเต็ม