มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

THE HUMAN SKELETAL REMAINS FROM BAN NA DI: PATTERNS OF BIRTH, HEALTH AND DEATH IN PREHISTORIC NORTHEAST THAILAND

ชื่อเรื่อง
THE HUMAN SKELETAL REMAINS FROM BAN NA DI: PATTERNS OF BIRTH, HEALTH AND DEATH IN PREHISTORIC NORTHEAST THAILAND
ผู้แต่ง
วรชัย วิริยารมภ์
ประเภทเอกสารวิชาการ
วิทยานิพนธ์
ภาษา
อังกฤษ
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
1984
วันที่
เผยแพร่
University of Otago
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

ที่ตั้งแหล่งโบราณคดี แหล่งโบราณคดีบ้านนาดี หมู่ที่ 4 ตำบลพังงู อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ UTM – WGS 84: 48 301634E, 1908846N (ละติจูด 17° 15’ 22” เหนือ ลองจิจูด 103° 08’ 02.9” ตะวันออก)

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีบ้านนาดีหรือเนินบ้านนาดี หมู่ที่ 4 ต.พังงู ลักษณะเป็นเนินดินต่ำ สูงราว 172 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง รูปผังทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 300 เมตร มีพื้นที่โดยรวมราว 50,000 ตารางเมตรหรือ 31.25 ไร่ ล้อมรอบด้วยเขตที่นาและพื้นที่เพาะปลูกอื่นๆ มีแหล่งน้ำสำคัญคือห้วยหินขาวซึ่งแยกจากลำปาวไหลผ่านทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของตัวเนิน บ้านนาดีจัดเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์รูปแบบวัฒนธรรมร่วมแบบบ้านเชียงที่ตั้งโดยรอบหนองหานกุมภวาปี แหล่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ห่างลงไปทางทิศใต้จากแหล่งโบราณคดีราว 35 กิโลเมตร

ประวัติการขุดค้น
จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงในปี พ.ศ. 2517 - 2518 ทำให้ทราบถึงข้อมูลของชุมขนเกษตรกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นำไปสู่คำถามเรื่องความสัมพันธ์และการแพร่กระจายของชุมชนบ้านเชียงกับชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณโดยรอบ ทางโครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์จึงทำการสำรวจและขุดค้น (ขุดตรวจ) ที่แหล่งโบราณคดีโนนเก่าน้อย อ.ไชยวาน แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองพรึก อ.กุมภาวาปี และแหล่งโบราณคดีบ้านนาดี อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ในระหว่างวันที่ 16 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 (วรชัย วิริยารมภ์ 2523, 1-4)

การขุดทดสอบที่แหล่งโบราณบ้านนาดี (BND.T. – Ban Na Di test) ครั้งนั้น พบหลักฐานโบราณวัตถุ หลุมฝังศพ และโครงกระดูกมนุษย์รวม 22 โครง ส่วนการขุดค้นครั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2524 (BND – Ban Na Di) พบหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งสามารถกำหนดอายุการใช้งานของแหล่งโบราณคดีได้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยสำริด – สมัยเหล็ก อายุเบื้องต้นราว 3,450 -1,800 ปีที่ผ่านมา (สุวิทย์ ชัยมงคล 2534, 15)


สภาพปัจจุบันภายในเนินหมู่บ้านนาดี หมู่ที่ 4 ต.พังงู อ.หนองหาน จ.อุดรธานี

จำนวนตัวอย่าง
การขุดค้นทางโบราณคดีในปี พ.ศ. 2523 – 2524 พบหลักฐานหลุมฝังศพรวม 73 หลุมฝังศพ แต่พบโครงกระดูกสภาพสมบูรณ์ หรือเกือบสมบูรณ์ หรือสามารถใช้วิเคราะห์ได้ทั้งสิ้น 71 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 97.26 โครงกระดูกทั้งหมดวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการภาคกายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ในปี พ.ศ. 2524 และเสนอวิทยานิพนธ์การวิเคราะห์ในปี พ.ศ. 2527


สภาพปัจจุบัน บริเวณกลางเนินแหล่งโบราณคดีบ้านนาดี พื้นที่แหล่งขุดค้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 - 2528 (ร้านค้า)

ลักษณะทางประชากรศาสตร์สมัยโบราณ
ข้อมูลประชากรศาสตร์แหล่งโบราณคดีบ้านนาดี ศึกษาจากโครงกระดูกที่สามารถประเมินเพศและอายุเมื่อตายได้รวม 54 โครง หรือร้อยละ 76.06 มีค่าอายุประเมินเมื่อตายน้อยที่สุดราว 6 เดือนในครรภ์ ส่วนตัวอย่างที่มีค่าอายุประเมินเมื่อตายแก่ที่สุดน่าจะมีอายุมากกว่า 50 ปี ประชากรเด็กในช่วงอายุราว 0 - 4 ปี มีอัตราการตายสูงสุด พบรวม 14 โครง หรือร้อยละ 25.9 ของตัวอย่างที่นำมาศึกษาด้านประชากร เมื่ออายุมากกว่า 15 ปี (สามารถจำแนกเพศได้) ในตัวอย่างเพศหญิงมีอัตราการตายสูงสุดในช่วงอายุราว 15 - 19 ปี ส่วนเพศชายมีอัตราการตายสูงสุดในช่วงวัยระหว่าง 30 – 34 ปี ทั้งสองเพศเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วมีค่าอายุขัยหรือค่าอายุเมื่อตายโดยเฉลี่ยประมาณ 32 ปี ทั้งนี้ประชากรเพศชายมีอัตรามากกว่าประชากรเพศหญิงในอัตราเปรียบเทียบ 1.2 ต่อ 1

ตารางจำแนกตัวอย่างโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีบ้านนาดี จำแนกตามอายุประเมินเมื่อตายและเพศ

อายุ/ เพศ

เพศชายเพศหญิงจำแนกไม่ได้รวม

ทารก

5 5

เด็ก (0-9 ปี)

1818

วัยรุ่น (10-19 ปี)

1 2 14

วัยหนุ่ม (20-34 ปี)

13 518

วัยกลางคน (35-49 ปี)

25 7

วัยสูงอายุ (มากกว่า 50 ปี)

22

ผู้ใหญ่ (จำแนกอายุไม่ได้)

1717

รวม

16144171

ที่มา: Wiriyaromp, W., The Human Skeletal remains from Ban Na Di: Patterns of birth, health and death in prehistoric north east Thailand . (Dunedin : Otago University, 1984), 4 (1-3).


การศึกษาตารางชีพโดยย่อ จากตัวอย่างโครงกระดูกที่พบในสมัยหลุมฝังศพระยะที่ 1 รวม 51 ตัวอย่างหรือร้อยละ 71.8 พบอัตราการตายสูงสุดในช่วงวัยระหว่าง 0 - 4 ปี ร้อยละ 0.294 นั่นหมายความว่า 1 ใน 3 ของประชากรทารกจากบ้านนาดีมีโอกาสเสียชีวิตก่อนอายุถึง 5 ปี ประชากรในสมัยแรกหรือระยะที่ 1 มีค่าอายุขัยโดยเฉลี่ยราว 22.82 ปี เมื่ออายุถึง 10 ปี มีค่าอายุขัยคาดคะเนราว 33.42 ปี แต่มีเพียง 1 ใน 20 เท่านั้นที่มีโอกาสอยู่รอดและมีอายุมากกว่า 50 ปี


ลักษณะทางกายภาพที่สามารถวัดได้ของกระดูกโครงสร้างร่างกายส่วนแขนขา
การศึกษาลักษณะที่วัดได้ของกระดูกโครงสร้างร่างกายส่วนแขนขา ศึกษาวัดเฉพาะขนาดความยาวของกระดูกยาว (long bone) จำนวน 6 ส่วนด้วยกันคือ กระดูกต้นแขน กระดูกปลายแขนด้านนอก กระดูกปลายแขนด้านใน กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกน่องเพื่อคำนวณความสูงของประชากรตามค่าสมการอเมริกันผิวขาว และสมการมองโกลอยด์ (Trotter 1970) ใช้ตัวอย่างที่สามารถวัดและศึกษาได้รวมทั้งสิ้น 26 โครงหรือร้อยละ 36.6 แบ่งเป็นชาย 15 โครงและหญิง 11 โครง โดยตามค่าสมการมองโกลอยด์ เพศชายมีความสูงเฉลี่ย 172.2 เซนติเมตร และ 173.7 เซนติเมตรตามค่าสมการอเมริกันผิวขาว สูงกว่าเพศหญิงซึ่งมีค่าเฉลี่ยความสูง 161.3 เซนติเมตร เมื่อเปรียบเทียบเพศชายมีความสูงกว่าเพศหญิงประมาณ 12.4 เซนติเมตร หรือราวร้อยละ 7.6

ร่องรอยของโรคและความสมบูรณ์ของสุขภาพในสมัยโบราณ
การศึกษาความหนาของเปลือกกระดูก (cortical thickness) ด้วยวิธีรังสีวิทยา กระดูกฝ่าเท้าจำนวน 10 ตัวอย่างหรือร้อยละ 14.08 แบ่งเป็นเพศชาย 6 โครงและหญิง 4 โครง โดยเฉลี่ยตัวอย่างมีค่าความหนาของกระดูกราว 5.1 เพศชายมีค่าความหนาโดยเฉลี่ยราว 5.5 และ 4.5 ในเพศหญิง เมื่อคำนวณหาตามค่าดรรชนีของ Nordin (‘s score) หรือค่าความหนาต่อขนาดกระดูก พบโดยเฉลี่ยมีค่าราว 63.01 เพศชายมีค่า 62.4 และ เพศหญิงมีค่าดรรชนีราว 63.8

ลักษณะสภาวะทุพโภชนาการหรือการชะงักการเจริญเติบโตจากการปรากฎของเส้น Harris (line) ศึกษาจากเทคนิครังสีวิทยา กระดูกฝ่ามือ ในตัวอย่างโครงกระดูกผู้ใหญ่ที่มีค่าอายุเมื่อตายมากกว่า 15 ปีจำนวน 23 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 32.39 พบเพียง 5 ตัวอย่างหรือร้อยละ 21.7 ของตัวอย่างที่ศึกษาได้เท่านั้นที่พบลักษณะดังกล่าว โดยพบในเพศชาย 3 โครงและหญิง 1 โครงอันเป็นลักษณะที่ก่อต่วขึ้นตั้งแต่ในวัยเด็ก ในกลุ่มตัวอย่างทารก พบ 4 จาก 9 ตัวอย่างพบการปรากฎของเส้น Harris โดยในกลุ่มตัวอย่างทารกที่มีค่าอายุประเมินเมื่อตายระหว่าง 7 เดือนถึง 3 ปี พบ 3 ใน 4 ตัวอย่างที่มีการก่อตัวของเส้นดังกล่าวในช่วง 3 – 4 เดือนก่อนการเสียชีวิต

ความไม่สมบูรณ์ของเคลือบฟัน (enamel hypoplasia) ที่แสดงถึงความไม่สมบูรณ์ของสภาวะโภชนาการ สังเกตจากโครงกระดูกเด็กทารกมีค่าอายุเมื่อตาย 0 - 3 ปี จำนวน 6 ตัวอย่าง พบเพียงร้อยละ 50 หรือ 3 ตัวอย่างเท่านั้นที่ปรากฏและน่าจะเกิดหรือก่อรูปขึ้นช่วงปลายก่อนคลอด (อายุ 6-9 เดือนในครรภ์) ถึง 1 ปี มีตัวอย่างโครงกระดูกเด็กอายุ 9 ปี พบร่องรอยลักษณะดังกล่าในระดับเล็กน้อย กับมีโครงกระดูกผู้ใหญ่อีก 1 ตัวอย่างที่พบร่องรอยดังกล่าวอันเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก

สภาวะความสมบูรณ์หรือภาวะการเจริญพันธุ์ของเพศหญิง ศึกษาจากเพศหญิงที่มีกระดูกเชิงกรานสมบูรณ์ 7 จาก 15 ตัวอย่าง พบว่าทั้งหมด (7) ปรากฏร่องรอยการตั้งครรภ์หรือการมีบุตรธิดา พบในตัวอย่างอายุน้อยที่สุด 17 ปีและมากที่สุด มากกว่า 50 ปี

ร่องรอยของโรคสมัยโบราณที่ปรากฎ พบ 2 ตัวอย่างมีลักษณะร่องรอยการบาดเจ็บของกระดูก (trauma) เป็นส่วนเชื่อมต่อกระดูกฝ่าเท้าชิ้นที่ 1 ภายหลังการแตกหักและอาการโรคติดเชื้อในส่วนกระดูกหน้าแข้งซ้าย ด้านการเสื่อมสภาพของกระดูกข้อต่อหรือโรคข้อต่ออักเสบเรื้อรัง (osteoarthritis) ในตัวอย่างโครงกระดูกที่มีค่าอายุประเมินเมื่อตายมากกว่า 30 ปี 9 ตัวอย่างพบอาการระดับกลางส่วนกระดูกสันหลังช่วงลำตัวและช่วงเอว โครงกระดูกผู้ใหญ่ที่มีค่าอายุมากกว่า 50 ปี มีการเสื่อมสภาพระดับกลางตรงข้อต่อหัวเข่าและปลายเท้า (ส่วนเชื่อมต่อระหว่างกระดูกฝ่าเท้าและกระดูกนิ้วเท้าข้อแรก) และโครงกระดูกเพศชาย อายุประมาณ 20 – 24 ปี มีการเสื่อมสภาพระดับเล็กน้อยบริเวณกระดูกสันหลังช่วงเอว การเสื่อมสภาพดังกล่าวน่าจะเป็นผลสะท้อนโดยตรงจากช่วงอายุที่มากขึ้น ระดับการทำงาน และพันธุกรรม (Chapman 1972; อ้างถึงใน Wiriyaromp 1984, 4 (19)) อีกทั้งไม่พบลักษณะ squatting facet บริเวณปลายกระดูกหน้าแข้งของทั้ง 14 ตัวอย่างโครงกระดูกผู้ใหญ่ที่ศึกษาได้แต่อย่างใด

ร่องรอยของโรคในช่องปากและฟัน พบอาการคราบหินปูนและการกร่อนของเบ้าฟัน (alveolar erosion) ในโครงกระดูกผู้ใหญ่ (วัยหนุ่ม) ในระดับเบาบาง มีเพียง 3 ตัวอย่างเท่านั้นที่พบอาการฟันผุบริเวณฟันกราม และพบอาการของโรคปลายรากฟัน (periapical abscess) ในโครงกระดูกผู้ใหญ่อายุประเมินประมาณ 45 – 49 ปี จำนวน 2 ตัวอย่าง

บทวิเคราะห์

โดยเฉลี่ยค่าอายุเมื่อตายของประชากรยุคก่อนประวัติศาสตร์บ้านนาดีเพศหญิงมีอายุราว 35 ปี มากกว่าเพศชาย (29 ปี) ราว 6 ปี เพศหญิงมีค่าอายุขัยคาดคะเนมากกว่าเพศชายในอัตราร้อยละ 20 โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอายุเมื่อตายใกล้เคียงกับประชากรจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี (Pietrusewsky 1982) มากกว่าประชากรแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี (Sangvichien et al. 1969) และแหล่งโบราณคดีโนนนกทา จ.ขอนแก่น (Pietrusewsky 1974)


เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนความสูง เพศชายจากบ้านนาดีมีค่าความสูงระหว่าง 164 -183 เซนติเมตร ใกล้เคียงหรือสูงกว่าประชากรยุคก่อนประวัติศาสตร์ทั้งที่บ้านเก่า โนนนกทา และบ้านเชียง ส่วนเพศหญิงจากบ้านนาดีมีความสูงระหว่าง 152 – 172 เซนติเมตร สูงกว่าประชากรยุคก่อนประวัติศาสตร์ทั้ง 4 กลุ่ม และมีขนาดความยาวของกระดูกต้นขาโดยเฉลี่ยประมาณ 448.7 มิลลิเมตรในเพศชาย และ 421.2 มิลลิเมตรในเพศหญิง ยาวกว่าของตัวอย่างประชากรจากโนนนกทา ประชากรจีน และชาวพื้นเมืองในประเทศนิวซีแลนด์ (เมารี) กับประเทศออสเตรเลีย (อบอริจินส์) แต่สั้นกว่าชาวยุโรป แสดงถึงความกำยำแข็งแรงและความสูงของประชากรจากบ้านนาดีได้ในนัยหนึ่ง


ด้านความสมบูรณ์ของสุขภาพ การเปรียบเทียบขนาดความหนาของเปลือกกระดูกซึ่งแสดงถึงระดับความสมบูรณ์ทางโภชนาการตั้งแต่แรกเกิด พบว่าประชากรบ้านนาดีมีสภาวะโภชนาการระดับที่ดีและสูงมาก เพศชายมีค่าความหนา 5.5 ส่วนเพศหญิงมีความหนาประมาณ 4.5 สอดคล้องกับผลการศึกษาเส้น Harris อันเกิดได้จาก 2 ลักษณะคือ สภาวะความบกพร่องทางโภชนาการเป็นหลักและจากสาเหตุโรคต่างๆ เช่น โรคหัด ไข้หวัด อีสุกอีใส ไอกรน และปอดบวม ซึ่งพบเพียงเล็กน้อยในตัวอย่างโครงกระดูกผู้ใหญ่ แต่พบค่อนข้างถี่ในโครงกระดูกทารกซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากโรคต่างๆ เหล่านั้นและส่งผลให้ทารกมีอัตราการตายสูงก็เป็นได้ หรือไม่ก็อาจเกิดขึ้นด้วยการเปลี่ยนอาหารจากนมแม่เป็นการกินอาหารเองส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลย์และความบกพร่องทางโภชนาการ ส่วนสภาวะการเจริญพันธุ์ประชากรจากบ้านนาดี เพศหญิงน่าจะเริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 14 – 15 ปี เมื่อเทียบกับร่องรอยการตั้งครรภ์ของโครงกระดูกเพศหญิงที่มีค่าอายุประเมินเมื่อตายน้อยที่สุดราว 17 ปี

ขนาดโดยเฉลี่ยของฟันประชากรบ้านนาดีมีขนาดใกล้เคียงกับประชากรจากแหล่งโบราณคดีโนนนกทา แต่เล็กกว่าประชากรจีนปัจจุบัน สภาพสุขภาพในช่องปากและฟันประชากรบ้านนาดีค่อนข้างดี พบอาการของฟันผุ โรคปลายรากฟัน กับคราบหินปูนเล็กน้อย (ไม่พบคราบหินปูนที่เกิดจากการกินหมาก) มีรอยสึกในระดับเล็กน้อยสะท้อนถึงการบริโภคอาหารที่ต้องใช้การบดเคี้ยวน้อย ส่วนการศึกษาโรคโบราณไม่พบร่องรอยโรคที่อาการรุนแรงอย่างใด พบแต่เพียงการเสื่อมสภาพของข้อต่อที่สัมพันธ์กับการทำงานและเสื่อมตามกาลเวลา โดยภาพรวมประชากรบ้านนาดีมีสภาวะโภชนาการสมบูรณ์และมีสุขภาพที่ดี แตกต่างชัดเจนกับข้อมูลการวิเคราะห์ด้านพยาธิสภาพโบราณของชุมชนร่วมสมัยอย่างที่บ้านเก่า โนนนกทา และบ้านเชียง

เอกสารอ้างอิง

(1) วรชัย วิริยารมภ์. การสำรวจแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2523.
(2) สุวิทย์ ชัยมงคล. “ประวัติการศึกษาวัฒนธรรมบ้านเชียงและแนวความคิด.” ศิลปากร 34, 5 (2534): 7-16.

(3) Chapman, F.H., “Vertebral osteophytosis in prehistoric populations of central and southern Mexico.” American Journal of Physical Anthropology (1972): 31-37.

(4) Pietrusewsky, Michael. Non Nok Tha: The Human Skeletal Remains from the 1966 Excavations at No Nok Tha, Northeastern Thailand. Dunedin: University of Otago, 1974.

(5) ____________. “The ancient inhabitants of Ban Chiang: The evidence from the human skeletal and dental remains.” Expedition 24,4 (1982): 42-50.

(6) Sangvichien, Sood, P. Sirigaroon and J.B. Jorgensen. Archaeological Excavations in Thailand Volume III. Ban Kao: Neolithic Cemeteries in the Kanchanaburi Province Part two: The Prehistoric Thai Skeletons. Copenhagen: Munksgaard, 1969.

(7) Trotter, M., “Estimation of stature from intact long limb bones.” In Stewart, T.D. (ed.), Personal Identification in Mass Disaster. Washington: Smithsonian Institution, 1970.