มานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย

รวบรวมข้อมูลด้านมานุษยวิทยากายภาพของคนในอดีต ที่นักมานุษยวิทยากายภาพ แพทย์ นักโบราณคดี รวมถึงนักวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้ศึกษาวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ

ORIGINS AND BIOLOGICAL AFFINITIES OF THE MODERN THAI POPULATION: AN OSTEOLOGICAL PERSPECTIVE

ชื่อเรื่อง
ORIGINS AND BIOLOGICAL AFFINITIES OF THE MODERN THAI POPULATION: AN OSTEOLOGICAL PERSPECTIVE
ผู้แต่ง
สุภาพร นาคบัลลังก์
ประเภทเอกสารวิชาการ
วิทยานิพนธ์
ภาษา
อังกฤษ
ตำแหน่งของเอกสาร
ปี
1994
วันที่
เผยแพร่
University of Illinois at Urbana-Champaign
หัวเรื่อง
บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ของการศึกษา คือการเปรียบเทียบลักษณะที่สามารถวัดได้และลักษณะที่ไม่สามารถวัดได้จากกะโหลกศีรษะบนส่วนเค้าโครงใบหน้า (craniofacial) โครงกระดูกผู้ใหญ่จาก 4 กลุ่มตัวอย่าง คือ (1) คนไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์ (2) คนไทยปัจจุบัน (3) คนจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ และ (4) คนจีนปัจจุบัน โดยวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติเพื่อหาค่าความสัมพันธ์ของประชากรทั้ง 4 กลุ่ม ตอบคำถามในปัญหาสำคัญเรื่องต้นกำเนิดของคนไทย (ปัจจุบัน) เพราะการศึกษาที่ผ่านมาทั้งด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ พันธุกรรมศาสตร์ และภาษาศาสตร์ได้เสนอ 2 สมมติฐานหลักที่ขัดแย้งกัน คือ (ก) คนไทยปัจจุบันอพยพมาจากประเทศจีน (immigrant hypothesis) หรือ (ข) คนไทยปัจจุบันมีพัฒนาการต่อเนื่องจากชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ (endogenous hypothesis) โดยการศึกษานี้เป็นการทดสอบสมมติฐานว่า “คนไทยปัจจุบันมีความสัมพันธ์โดยตรงกับคนไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์” (Nakbunlung 1994, 46) อ้างจากหลักฐานและผลวิเคราะห์ทางมานุษยวิทยากายภาพหรือวิทยาการกระดูกมนุษย์ (Human osteology)

จำนวนตัวอย่าง

จำนวนตัวอย่างกะโหลกศีรษะบนที่ใช้ศึกษารวมทั้งหมด 307 ตัวอย่าง จำแนกเป็น (1) คนไทยปัจจุบัน 125 ตัวอย่าง แบ่งเป็นชาย 72 ตัวอย่าง หญิง 37 ตัวอย่าง และไม่สามารถจำแนกเพศได้ 16 ตัวอย่างจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกา (AmericanMuseum of Natural History – AMNH) นิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา, ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ และโรงพยาบาลสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ (2) คนจีนปัจจุบัน 70 ตัวอย่าง แบ่งเป็นเพศชาย 50 ตัวอย่างและหญิง 20 ตัวอย่างจากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, AMNH และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาฟิลด์ (Field Museum of Natural History) ชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

(3) คนไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์ จำนวน 46 ตัวอย่าง แบ่งเป็นเพศชาย 28 ตัวอย่าง หญิง 17 ตัวอย่าง และจำแนกเพศไม่ได้ 1 ตัวอย่างจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านนาดี จ.อุดรธานี แหล่งโบราณคดีบ้านเก่าและถ้ำองบะ จ.กาญจนบุรี แหล่งโบราณคดีโนนนกทา จ.ขอนแก่น และแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี จ.ชลบุรี ตัวอย่างจัดเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์สุด แสงวิเชียร ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และภายวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเนวาด้า (University of Nevada) ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา และ (4) คนจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์จำนวน 66 ตัวอย่าง แบ่งเป็นชาย 41 ตัวอย่างและหญิง 25 ตัวอย่างได้จากการทบทวนเอกสารรายงานการวิเคราะห์จากแหล่งโบราณคดีสมัยหินใหม่ในประเทศจีน ที่แหล่งโบราณคดี Banpo (Yan et al. 1960a, 1960b) แหล่งโบราณคดี Huaxin (Yan 1962) แหล่งโบราณคดี Dawenkou (Yan 1972) แหล่งโบราณคดี Xixiahou (Yan 1973) และแหล่งโบราณคดี Zhenpiyan (Zhang et al. 1977)

การศึกษาลักษณะทางกายภาพที่สามารถวัดได้ของกะโหลกศีรษะ

ลักษณะที่สามารถวัดได้ของกะโหลกศีรษะบนส่วนเค้าโครงใบหน้า ศึกษาจากใน 14 จุดกำหนดอ้างอิงจาก Black (1928), Martin (1928) และ Morant (1923) คือ Alare – Alare (al – al) หรือความกว้างของ Nasal, Euryon – Euryon (eu – eu) หรือความกว้างสูงสุดของกะโหลกศีรษะบน, Frontomalare Orbitale – Frontomalare Orbitale (fmo –fmo) ระยะห่างระหว่างปลายขอบเบ้าตาด้านไกลกลางทั้งสองข้าง, ระยะห่างระหว่าง fmo – Inferior Zygomaxillare (izm), ระยะห่างระหว่าง fmo – Superior Zygomaxillare (fmo - szm), Glabella – Opisthocranion (g - op) หรือความยาวสูงสุดของกะโหลกศีรษะบน, Interorbital breadth (int - or) หรือระยะห่างระหว่างขอบเบ้าตาด้านใกล้กลางทางซ้ายและขวา, Maximum Width of Maxilla Bone (max - max) หรือความกว้างของช่วงใบหน้าโดยการประเมินจากการวัดระยะความกว้างของกระดูกขากรรไกรบน


Nasion – Nasospinale (na - ns) หรือความสูงของกระดูก nasal, Nasion – Prosthion (na - pr) หรือความสูงของใบหน้า, Orbital Breadth (orb - b) ระยะห่างระหว่าง maxillofrontale (mf) ถึง ectoconchion (ec), Orbital Height (orb – h) ระยะห่างระหว่างขอบบนและขอบล่างของเบ้าตา, ระยะห่างระหว่าง szm – izm และความกว้างของ Bizygomatic Breadth หรือ Zygion – Zygion (zy - zy)


จุดกำหนด ลักษณะที่วัดได้ของกะโหลกศีรษะบน ส่วนเค้าโครงใบหน้า

ที่มา: สุภาพร นาคบัลลังก์, Origins and Biological Affinities of the Modern Thai Population: An Osteological Perspective. (Urbana-Champaign: University of Illinois, 1994), 158.

เบื้องต้นในการเปรียบเทียบค่าการวัดที่ได้ (จากด้านซ้ายเป็นหลัก) ด้วยค่าเฉลี่ยทางสถิติหรือการหาค่า t - test ที่ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ทั้ง 4 กลุ่ม พบว่าขนาดกะโหลกศีรษะบนส่วนเค้าโครงหน้าของเพศชายมีขนาด (ใหญ่) แตกต่างจากหญิงอย่างมีนัยสำคัญในราวร้อยละ 15 – 86 โดยตัวอย่างคนก่อนประวัติศาสตร์พบค่าความแตกต่างของจุดกำหนดน้อยสุด คือ 2 จาก 13 จุดกำหนด ส่วนตัวอย่างคนไทยปัจจุบันมีค่าความแตกต่างชัดเจนมากสุด คือ 12 จาก 14 จุดกำหนด เมื่อนำประชากรเพศเดียวกันจับคู่เปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มทั้ง 4 กลุ่ม พบว่าเพศชายมีขนาดแตกต่างกันถึง 13 จาก 14 จุดกำหนด ยกเว้นขนาดความสูงของเบ้าตา และประมาณร้อยละ 34.7 หรือ 26 จาก 75 คู่พบว่าแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนเพศหญิงพบค่าความแตกต่าง 13 จาก 14 จุดกำหนดเช่นเดียวกันยกเว้นขนาดความกว้างของใบหน้าช่วงบน หรือ biorbital breadth ทั้งนี้ราวร้อยละ 38.9 หรือ 28 จาก 72 คู่มีค่าความแตกต่างทางสถิติ

เพศชายและหญิงยุคก่อนประวัติศาสตร์ในจีนมีขนาดความสูงของใบหน้า ความสูงของจมูก (nasal) และขนาดความกว้างของ bizygomatic มากกว่าตัวอย่างคนไทยปัจจุบัน คนจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์มีขนาดความกว้างสูงสุดของกะโหลกศีรษะบนและความกว้างของเบ้าตามากกว่าคนจีนปัจจุบัน และคนไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์มีความยาวสูงสุดของกะโหลกศีรษะบนและความกว้างของ interorbital มากกว่าคนไทยปัจจุบัน โดยเฉลี่ยคนยุคก่อนประวัติศาสตร์มีขนาดกะโหลกศีรษะบนกว้างและใหญ่กว่าคนปัจจุบัน เพศชายโดยเฉลี่ยมีขนาดความสูงของใบหน้า ความสูงและความกว้างของจมูกแตกต่างกันในทุกกลุ่ม เพศหญิงโดยเฉลี่ยมีขนาดความกว้างสูงสุดของกะโหลกศีรษะบนและความกว้างของเบ้าตาแตกต่างกันในทุกกลุ่ม ในทุกกลุ่มทั้งสองเพศมีขนาดความกว้างระหว่างเบ้าตา (interorbital breadth) ต่างกันมากที่สุด

เมื่อนำข้อมูล 10 จุดกำหนด (ตัวแปร) ทุกกลุ่มมาวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก (Principle Components Analysis - PCA) ทางสถิติ ในเพศชายพบว่าเค้าโครงหน้าโดยรวม (overall facial features) (องค์ประกอบที่ 1) มีความ (แปรผัน) แตกต่างกันทั้งขนาดความกว้างของ bizygomatic หรือโหนกแก้ม (0.82) ระยะห่างระหว่างขอบเบ้าตาด้านไกลกลางซ้ายและขวาหรือ biorbital (0.80) ความสูงของจมูก (0.74) ความกว้างของเบ้าตา (0.73) ความสูงของใบหน้า (0.69) ความกว้างของจมูก (0.51) และความสูงของเบ้าตา (0.49)

ส่วนองค์ประกอบที่ 2 หรือเค้าโครงใบหน้าส่วนกลาง (mid – facial features) มีเพียงระยะห่างระหว่างขอบเบ้าตาด้านใกล้กลางซ้ายและขวา (0.72) เท่านั้นที่มีความผันแปร ทั้งสององค์ประกอบมีความผันแปรร้อยละ 50.85 โดยองค์ประกอบที่ 1 (ค่าการผสมเชิงเส้นครั้งที่ 1) มีค่าความเชื่อมั่น Cronbach’s alpa เท่ากับ 0.94 และ 0.72 สำหรับองค์ประกอบที่ 2 (โดยปกติหากได้ค่าดังกล่าวมากกว่า 0.7 ถือว่าค่าที่มีความเชื่อมั่น)

เพศหญิง ในองค์ประกอบที่ 1 พบว่าระยะห่างระหว่างขอบเบ้าตาด้านไกลกลางซ้ายและขวา (0.83) ความสูงของใบหน้า (0.82) ความกว้างของโหนกแก้ม (0.78) ความสูงของจมูก (0.68) ความกว้างของเบ้าตา (0.59) ความสูงของเบ้าตา (0.55) และขนาดความกว้างสูงสุดของกะโหลกศีรษะบน (0.53) มีความผันแปรไล่เรียงตามลำดับ ส่วนองค์ประกอบที่ 2 มีตัวแปรที่มีความผันแปร คือ ความยาวสูงสุดของกะโหลกศีรษะบน (- 0.57) ระยะห่างระหว่างขอบด้านใกล้กลางของเบ้าตาซ้ายและขวา (- 0.56) และความกว้างของกระดูกจมูก (- 0.46) ทั้งสององค์ประกอบมีค่าความผันแปรราวร้อยละ 53.33 โดยองค์ประกอบที่ 1 มีค่าความเชื่อมั่น Cronbach’s alpa เท่ากับ 0.94 และ 0.77 ในองค์ประกอบที่ 2

เมื่อวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (one way ANOVA) ตามแบบจำลองของ Tukey HSD พบความแตกต่างของเค้าโครงหน้าโดยรวม (องค์ประกอบที่ 1) ระหว่างคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในจีนและคนไทยปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญทั้งในเพศชายและหญิง ขณะเดียวกันที่คนไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์มีความแตกต่างในส่วนเค้าโครงใบหน้าส่วนกลางกับคนไทยปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญทั้งเพศชายและหญิงเช่นกัน โดยสรุปคือ คนไทยปัจจุบันมีความแตกต่างในทุกส่วนทั้งใบหน้า ตา และจมูกกับคนจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในส่วนของความกว้างของสันจมูกหรือดั้งกับคนไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์โดยเฉพาะในกลุ่มตัวอย่างเพศชาย

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประชากรทั้ง 4 กลุ่ม ด้วยวิธีวิเคราะห์เส้นทาง (Path analysis) แบบ Q – mode ที่เหมาะสมกับการศึกษาความสัมพันธ์ของหลายกลุ่มตัวอย่างและหลายตัวแปร เป็นการทดสอบสมมติฐานทางสถิติที่เกี่ยวข้อง พบว่า (1) ‘สมมติฐานที่ว่าคนไทยปัจจุบันสัมพันธ์กับคนจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ (0.315) มากกว่าคนไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์ (- 0.029)’ มีค่าความสอดคล้องของสมมติฐานหรือค่าความน่าจะเป็นเพียงร้อยละ 11 (2) ‘ชายไทยปัจจุบันสัมพันธ์กับชายไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์ (0.051) มากกว่าชายจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ (0.022)’ มีความน่าจะเป็นเพียงร้อยละ 0.002 และ (3) ‘หญิงไทยปัจจุบันสัมพันธ์กับหญิงจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ (- 0.012) มากกว่าหญิงไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์ (- 0.366)’ มีความน่าจะเป็นร้อยละ 0.129 ข้อมูลทั้งหมดจากการศึกษาลักษณะที่วัดได้ของกะโหลกศีรษะบ่งชี้ถึงความน่าจะเป็นในระดับมากกว่าร้อยละ 90 ว่าน่าจะมีกลุ่มชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ใช่ทั้งกลุ่มคนไทยและคนจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ (ตัวอย่างศึกษา) เป็นบรรพบุรุษของคนไทยปัจจุบัน

ลักษณะทางกายภาพที่ไม่สามารถวัดได้ของกะโหลกศีรษะ

ลักษณะทางกายภาพที่ไม่สามารถวัดได้ที่ปรากฎบนกะโหลกศีรษะ (discrete trait) ที่ใช้ประกอบด้วย 10 ลักษณะคือ รอยประสาน metopic บริเวณกลางหน้าผาก, รอยประสานใต้เบ้าตา (infraorbital suture), รอยประสานสันจมูก (nasofrontal suture), Os japonica, รูกระดูกใต้เบ้าตา (infraorbital suture), subnasal, incisura malaris หรือรอยบุ๋ม (notch) ใต้เบ้าตา, ฟันตัดบนซี่ที่ 1 รูปพลั่ว, ลักษณะฟันกรามล่างซี่ที่ 2 แบบ cusp 4 กับลักษณะการกระดกของปลายกระดูกขากรรไกรล่าง (rocker jaw) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ทางกายภาพระหว่างกลุ่มประชากรใน 3 กลุ่มตัวอย่างยกเว้นกลุ่มคนจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเป็นการสังเกตเพื่อบันทึกเปรียบเทียบข้อมูลและวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิตปริมาณและคุณภาพ



ลักษณะที่วัดไม่ได้ (discrete traits) กะโหลกศีรษะบนส่วนเค้าโครงใบหน้า


ที่มา: สุภาพร นาคบัลลังก์, Origins and Biological Affinities of the Modern Thai Population: An Osteological Perspective. (Urbana-Champaign: University of Illinois, 1994), 160.

การทดสอบด้วยค่า chi - square ที่ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 เพื่อเปรียบเทียบลักษณะบางประการที่สังเกตได้ทั้งจากกะโหลกซีกซ้ายและขวาจำนวน 6 ลักษณะ คือรอยประสานใต้เบ้าตา, Os japonica, รูกระดูกใต้เบ้าตา, incisura malaris, ฟันตัดรูปพลั่ว และฟันกรามแบบ four cusp เบื้องต้นไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอย่างใด สามารถใช้ค่าการสังเกตที่ได้จากด้านซ้ายเป็นหลักเพื่อศึกษาเปรียบเทียบได้

การเปรียบเทียบความแตกต่างของความถี่ของลักษณะที่ปรากฎระหว่างกลุ่มประชากรในแต่ละเพศ บนสมมติฐานทางสถิติที่ว่า ‘ตัวอย่างประชากรทั้ง 3 กลุ่มประชากรมีความแตกต่างของความถี่ของลักษณะที่ปรากฎระหว่างกันและกัน’ ด้วยการทดสอบ chi – square ที่ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 พบว่า ในกลุ่มตัวอย่างเพศชาย คนไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์มีความถี่ของลักษณะรูกระดูกใต้เบ้าตา, subnasal และ rocker jaw แตกต่างกับคนไทยและคนจีนปัจจุบัน หญิงไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์มีความถี่ของลักษณะรอยประสานและรูกระดูกใต้เบ้าตาแตกต่างกับคนไทยและจีนปัจจุบัน หญิงไทยปัจจุบันพบความถี่ของลักษณะรอยประสาน metopic และ incisura malaris แตกต่างกับหญิงจีนปัจจุบัน ส่วนชายไทยและชายจีนปัจจุบันไม่ปรากฎความแตกต่างกันอย่างใดทางสถิติ

ผลการศึกษาทั้งหมด สามารถสรุปความได้ 3 ประเด็น คือ (1) ตัวอย่างคนไทยปัจจุบันมีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับคนไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์มากกว่าคนจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันที่คนไทยปัจจุบันและคนจีนปัจจุบันถือว่ามีความสัมพันธ์อย่างมากเมื่อเทียบความแตกต่างจากลักษณะที่วัดไม่ได้ที่ปรากฎ (2) คนไทยปัจจุบันมีความแตกต่างกับคนจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์น้อยกว่าคนไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์ และ (3) ขนาดกะโหลกศีรษะบนส่วนเค้าโครงหน้าประชากรมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีขนาดกว้างและใหญ่กลับมีลักษณะที่เล็กลงดังที่ปรากฎในกลุ่มประชากรปัจจุบัน

เมื่อเทียบกับสมมติฐานของวิทยานิพนธ์ที่ตั้งไว้เบื้องต้น ในคำถามเกี่ยวกับต้นกำเนิดของประชากรไทยปัจจุบัน ยังพบคำตอบไม่แน่ชัดด้วยผลการศึกษาโดยเฉพาะทางสถิติไม่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ชัดเจนอย่างใดระหว่างคนไทยกับคนจีนยุคก่อนประวัติศาสตร์ (ทฤษฎีการอพยพจากจีน) หรือกับคนไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์ (ทฤษฎีการสืบเนื่องภายในภูมิภาค) อีกทั้งด้วยปริมาณของกลุ่มตัวอย่างเชื้อชาติที่นำมาศึกษามีน้อยเกินไป ทำให้ผลที่ได้รับเกิดข้อจำกัด อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากหลักฐานทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และพันธุกรรมศาสตร์ ฯลฯ โครงกระดูกมนุษย์ก็ถือเป็นหลักฐานสำคัญประเภทหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ในการศึกษาเรื่องการเคลื่อนย้าย อพยพ และบรรพบุรุษของคนไทยปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

1) Black, D., “A Study of Kansu and Hunan Neolithic Skulls and Specimens from Later Kansu Prehistoric Sites in Comparison with North China and Other Recent Crania.” Palaeontologia Sinica 6, 1 (1928): 1-83.

2) Martin, R., Lehrbuch der Anthropologie. Jena: Gustav Fisher, 1928.

3) Morant, G.M., “A First study of the Tibetan Skull.” Biometrika 14 (1923): 193-260.

4) Yan, Y, “A Study of the Neolithic Human Skeletons from Huaxian, Shaanxi.” Acta Archaeologica Sinica 2 (1962): 85-104.

5) ____________, “The Neolithic Human Skeletons from the Dawenkou Site, Shangdong.” Acta Archaeologica Sinica 1 (1972): 91-122.

6) ____________, “The Neolithic Human Skeletal Remains from Xixiahou .” Kao Ku Hsuen Pao 2 (1973): 91-126

7) Yan, Y., C. Liu and Y.M. Gu, “Study of the Neolithic Human Skeletons from the Baoji Site, Shaanxi.” Palaeo-vertebrae et Palaeoanthropologia 2 (1960a): 33-43.

8) Yan, Y., X.Z. Wu, C.Z. Liu and Y.M. Gu, “A Study of Human Skeletons from Banpo, Xi’an, Shaanxi.” Kaogu 9 (1960b): 36-47.

9) Zhang, Y.Y., L.H. Wang and X. Dong, “The Human Skulls from the Zhenpiyan Neolithic Site at Guilin, Guangxi.” Vertebrata PalAsiatica 15 (1977): 4-13.