logotype
หน้าหลัก สารคดี

วีดิทัศน์จากการทำงานของกลุ่มผู้เข้าร่วมโรงเรียนภาคสนาม พ.ศ. ๒๕๕๔

PDF Print E-mail
  
วันที่เผยแพร่: วันพุธที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๔:๑๑ น.
วันที่แก้ไข: วันอังคารที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๓:๑๘ น.

         ในระหว่างการอบรมโรงเรียนภาคสนาม : พิพิธภัณฑ์และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผู้เข้าร่วมการอบรมได้รับการจัดแบ่งเป็นกลุ่มทำงานย่อย กลุ่มละ ๕ – ๖ คน และมีวิทยากร กลุ่มละ ๒ – ๓ คนร่วมทำงาน แต่ละกลุ่มได้รับมอบหมายให้ศึกษาชุมชนหนึ่งแห่งในจังหวัดลำพูน อันประกอบด้วย วัดจามเทวี, วัดต้นแก้ว, วัดประตูป่า และบ้านหลุก

เป้าหมายสำคัญของการทำงานในแต่ละขั้นตอน ได้แก่ การสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาในแต่ละพื้นที่ คุณค่าของภูมิปัญญาดังกล่าวที่ชุมชนเป็นผู้กำหนด และความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้หรือข้อท้าทายในการปกป้องมรดกภูมิปัญญา ทั้งนี้ การทำงานภาคสนามอาศัยวิธีการทางมานุษยวิทยาและการวิจัยแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม เพื่อระบุวิธีการปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย การทำแผนที่วัฒนธรรมของชุมชน, การสัมภาษณ์, ปฏิทินสังคมและวัฒนธรรม, การประเมินกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในชุมชน, และการบันทึกการทำงานและเนื้อหาวัฒนธรรมด้วยสื่อโสตทัศน์ (วิดีโอและภาพถ่าย)

ลักษณะของผลลัพธ์การทำงาน

          การบันทึกเนื้อหาเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นวิธีการสำคัญในการปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประการแรก การบันทึกและการจัดเก็บเป็นจดหมายเหตุ เป็นวิธีการที่เอื้อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้มรดกวัฒนธรรมของตนเอง ประการที่สอง การบันทึกเนื้อหาทางวัฒนธรรมด้วยสื่อโสตทัศน์ สามารถสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ผู้คนต่างๆ สนใจมรดกภูมิปัญญา และประการที่สาม การบันทึกด้วยสื่อโสตทัศน์ เอื้อให้ชุมชนสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองกับผู้คนภายนอก

         อย่างไรก็ดี การบันทึกเรื่องราวทางวัฒนธรรมด้วยสื่อโสตทัศน์ คงประสบทั้งข้อท้าทายและข้อจำกัดในกระบวนการทำงาน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น กล้องดิจิทัล, กล้องบันทึกขนาดเล็ก, และเครื่องคอมพิวเตอร์ ย่อมมีต้นทุนในการทำงานสูงกว่าวิธีการอื่นๆ นอกจากนี้ การจัดการให้สื่อโสตทัศน์สามารถเผยแพร่ในวงกว้าง ต้องอาศัยการพัฒนาระบบจดหมายเหตุ รวมถึงการกำหนดการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์อย่างเป็นขั้นตอน ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ อาจส่งผลให้หลายชุมชนและสถาบันไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสื่อโสตทัศน์ดังกล่าว และที่สำคัญ การบันทึกเนื้อหามรดกภูมิปัญญาไม่สามารถรับรองได้ว่าคนรุ่นใหม่จะสืบทอดความรู้และทักษะได้เสมอไป ฉะนั้น สื่อโสตทัศน์จึงมิใช่เครื่องมือที่สามารถทดแทนรูปแบบอื่นๆ ในการปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ผลลัพธ์ของการทำงานคือการมองหาความเป็นไปได้และข้อจำกัดของการบันทึกเนื้อหามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้วยสื่อโสตทัศน์ โดยอาศัยการทำงานร่วมกับชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม ทั้งนี้ แต่ละกลุ่มจะต้องผลิตภาพยนตร์สั้น (ประมาณ ๕ นาที) เพื่อบอกเล่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประเภทใดประเภทหนึ่ง ที่กำหนดร่วมกับชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม คุณสามารถติดตามชมภาพยนตร์ทั้ง ๔ เรื่อง ดังต่อไปนี้

Ton Kaew Monastery Museum

Camadevi Monastery

Pratupa Monastery

Luk Village

   
 share