logotype
หน้าหลัก โรงเรียนภาคสนาม

กันตรึม

PDF Print E-mail
  
วันที่เผยแพร่: วันศุกร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๕:๑๙ น.

กันตรึมคือชีวิต คือภาษาที่ถ่ายทอดจิตวิญญาณ ที่ผู้แสดงและผู้ฟังรู้สึกภูมิใจ กันตรึมทำหน้าที่สืบทอดพิธีกรรม

สร้างความแข็งแรงของชุมชน ลดความบาดหมาง ข้อขัดแย้ง สร้างบรรยากาศให้น่าอยู่ และเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างโลกบรรพบุรุษกับโลกปัจจุบัน

กันตรึมโบราณของแขมร์สุรินทร์ มีที่มาจากพื้นที่ในเขตจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ดนตรีที่บรรเลง เพื่อเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อมารักษาปกป้องดูแล ในขณะที่เพลงที่มีจังหวะเร็ว จะสร้างความสนุกสนาน ครื้นเครง และมักใช้งานมงคล เช่น งานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ เครื่องดนตรีในวงกันตรึมประกอบด้วยกลองโทน ซอหรือตรัว ปี่อ้อ ฉิ่ง และกรับ

จากการศึกษาในโรงเรียนภาคสนามฯ ครูกันตรึมดั้งเดิม เช่น ตามณี และตาลน ต่างเป็นครูผู้สืบทอดความรู้ความเชื่อผ่านดนตรีเพื่อประกอบพิธีกรรม เช่น มะม๊วดที่ออกมาร่ายรำประกอบดนตรีกันตรึมในทำนองอันหลากหลายที่ใช้ตลอดพิธีกรรม

ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา กันตรึมโบราณปรับเปลี่ยนรูปแบบ เพื่อแข่งขันกับแนวดนตรีร่วมสมัยอื่นๆ “ดาร์กา” ราชากันตรึมประยุกต์คือศิลปินที่ทำให้กันตรึมเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น และเป็นที่นิยมขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

กันตรึมประยุกต์มีจังหวะที่เร็ว โดยใช้เครื่องดนตรีสากลอิเล็คโทรนิสค์ และเนื้อเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ในบางครั้ง นักดนตรีอาจใช้ภาษาไทยหรือลาวอีสานแทนภาษาแขมร์ นอกจากนี้ นักร้องหญิงมีบทบาทมากขึ้น และกลายเป็นนักร้องนำ ซึ่งแต่เดิมอาจเป็นเพียงนักร้องที่เข้าคู่กับนักร้องชายเพื่อเกี้ยวพาราสีในเจรียงเบริญ

กันตรึมถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือแสดงอัตลักษณ์และมรดกของชาวขแมร์สุรินทร์ ในรูปแบบการแสดงบนเวที แต่การแสดงของกันตรึมดั้งเดิมและประยุกต์ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมไว้อย่างเหนียวแน่น เช่นพิธีไหว้ครูก่อนการแสดง นอกจากนี้ โรงเรียนต่างๆ นำกันตรึมมาเป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยจัดตั้งชุมนุมกันตรึม เช่น โรงเรียนนาตังตระแบก ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีเรียนรู้กับครูกันตรึมดั้งเดิม

อุปสรรคในการสืบทอดกันตรึมโบราณ ประการแรกคือเรื่องผู้สืบทอดซึ่งมีอายุมากและมีจำนวนน้อยลง ความรู้ทางด้านวัฒนธรรมประเพณี โดยเฉพาะเทคนิควิธีการเล่นความหมายและความเชื่อหรือศรัทธาที่เริ่มสูญหาย ประการที่สอง ภาษาแขมร์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของกันตรึมไม่เป็นที่นิยม และไม่มีการสนับสนุนให้เด็กรุ่นใหม่เรียนภาษาท้องถิ่นในโรงเรียน เช่นเดียวกับศิลปินกันตรึม ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมเท่าที่ควร จึงเป็นเหตุผลให้ศิลปินมืออาชีพและคนรุ่นใหม่ขาดเครื่องมือและกำลังใจที่จะสืบทอด

บ้านโชค แหล่งรวมนักดนตรีกันตรึมโบราณ

นักดนตรีกันตรึมโบราณในบ้านโชค ยังคงรวมตัวกันเพื่อแสดงดนตรีทั้งสำหรับความสนุกสนาน และสำหรับประกอบพิธีกรรมตัวอย่างรายชื่อนักดนตรีเหล่านี้ ได้แก่ ตาลน งามระหงส์ ลุงไมล์ ชิงชัย ตาปิง ชิงชัย ตามวด ขาวเครือ ลุงเวียน สมัครเดียว นักดนตรีบ้านโชคยังรวมวงกับนักดนตรีบ้านนาตังในหลายโอกาส เพื่อแสดงดนตรีเชื่อม

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งประสานงานจัดการโดย ชัยมงคล ผู้เน้นย้ำความสำคัญของภาษาท้องถิ่นแขมร์ในกันตรึม และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการเรียกความสนใจด้านภาษาท้องถิ่นแขมร์ให้เป็นที่ยอมรับรู้จักและปฏิบัติในชุมชน

โรงเรียนบ้านนาตังตระแบก สืบทอดเพลงกันตรึมสู่เยาวชนรุ่นใหม่

โรงเรียนบ้านนาตังตระแบกเป็นโรงเรียน ขยายโอกาสสอนระดับประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยอดีตผอ.สาโรช จารุเสฏฐิโน ผู้พัฒนาชุดการร่ายรำต่างๆเป็นสื่อการเรียนการสอนในชุมนุมดนตรี ซึ่งล้วนใช้ดนตรีกันตรึมเป็นเครื่องดนตรีประกอบหลัก นอกจากนี้โรงเรียนยังเรียนเชิญครูภูมิปัญญาของชุมชนตามณี เอกภาพ ผาดโผน มาเป็นครูพิเศษฝึกสอนซออีกด้วย ปัจจุบันผอ. ไพรัช มีพร้อมมอบหมายให้คุณครูจันทนา เอนูนารี เป็นผู้ฝึกสอนควบคุม ชุมนุมดนตรีของโรงเรียน บ้านนาตังตระแบกจึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญในการสืบทอดมรดกให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ ได้นำไปใช้ทั้งงานพิธีกรรมต่างของชุมชนและแสดงอัตลักษณ์ชุมชนในเวทีประกวดเขตภูมิภาคและเขตท้องถิ่น

โรงเรียนสินรินทร์วิทยา วิชาเลือกเสรีชุมนุมดนตรีพื้นบ้าน

โรงเรียนสินรินทร์วิทยา เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายในเขตอำเภอเขวาสินรินทร์คาบวิชาเลือกเสรีชุมนุมดนตรีพื้นบ้านสุรินทร์ โดยเน้นกันตรึม ตลอดจน คาบเรียนบังคับเสรีซึ่งสอนศิลปะการแสดงพื้นบ้านท้องถิ่นเป็นสื่อการเรียนการสอนที่เปิด โอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่มีโอกาสเรียนรู้ฝึกฝนมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน โดยเยาวชนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้แสดงในงานพิธีกรรมต่าง ๆและการแสดงบนเวทีวัฒนธรรม นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้เรียนเชิญครูดนตรีกันตรึมโบราณมาสอนนักเรียนบ้างตามโอกาส เช่น ตามวน ห้องขวาง มือซอผู้อาศัยในเขตโรงเรียนมาสอนเรื่องความสัมพันธ์ของความเชื่อกับดนตรีกันตรึม และตาเนือง ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว

ยายสุพจน์ มีสติ ครูภูมิปัญญาเจรียงเบริญ

อายุ ๘๖ ปี (๒๕๕๖) ยายสุพจน์เป็นนักร้องเจรียงเบริญซึ่งได้รับถ่ายทอดมาจากแม่และลุงของยาย ยายพจน์เรียนรู้และแตกฉานเรื่องคัมภีร์โบราณซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับมรดกเพลงของชาวแขมร์ท้องถิ่น เบริญคือการร้องโต้ตอบเพื่อเกี้ยวพาราสีระหว่างหญิง – ชาย ปัจจุบันนักร้องหญิงเบริญซึ่งแต่เดิมมีบทบาทเพื่อเข้าคู่กับนักร้องชายได้พัฒนาบทบาทเป็นนักร้องเดี่ยวนำในวงกันตรึมประยุกต์ เช่นกรณีของพี่เนตรนาง ลูกสาวของยายพจน์ พี่เนตรนางเป็นนักร้องที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง โดยผลิตผลงานเพลง ๕ อัลบั้ม ซึ่งในอัลบั้มแรก “มะม้วตเกร์ตา” ตามณีเป็นผู้แต่งเพลงให้กับพี่เนตรนางด้วย

   
 share