logotype
หน้าหลัก โรงเรียนภาคสนาม

การแพทย์พื้นบ้าน

PDF Print E-mail
  
วันที่เผยแพร่: วันศุกร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๕:๑๐ น.
วันที่แก้ไข: วันศุกร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๖:๒๖ น.

ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านในจังหวัดสุรินทร์มีรากฐานมาจากระบบความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ เช่น ความเชื่อและพิธีกรรมเขมร พุทธศาสนา และพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งจะมีแบบแผนปฏิบัติอันหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยและการมีสุขภาพดี สุขภาพที่ดีมาจากความสมดุลของระบบต่างๆ ในร่างกาย และยังสัมพันธ์กับระบบความเชื่อที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติและจักรวาลอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทางจิตวิญญาณนั้นเป็นจุดรวมระหว่างการสวดคาถา พิธีกรรมและการทำสมาธิเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี

การอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาความรู้ด้านการแพทย์พื้นบ้านในเขตจังหวัดสุรินทร์ปัจจุบันนี้แพร่หลายในหลายพื้นที่ โดยในระดับชุมชนท้องถิ่นมีการปลูกพืชสมุนไพรและผักชนิดต่างๆในครัวเรือน ชาวบ้านมีความสบายใจและอุ่นใจว่าพืชผักที่ปลูกไว้เพื่อการบริโภคเหล่านี้มีความปลอดภัย ไร้สารเคมีหรือสารพิษเจือปน ในขณะที่ชุมชนบางแห่งมีกระบวนการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม ภายในชุมชนต่างๆ มีหมอพื้นบ้านที่ทำหน้าที่บำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยตามทักษะความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ของแต่ละคน ซึ่งประกอบด้วยหมอยาพื้นบ้าน (มอทะนำ) หมอตำแย (จม็อบ) หมอทำนาย (โบล) ร่างทรง (มะม๊วด) และหมอนวดคลายเส้น (มอจับตะไซ)

นอกจากนั้นยังมีองค์กรอื่นๆ ได้แก่ ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพรและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีเครือข่ายและพันธมิตรด้านการแพทย์พื้นบ้านที่กว้างขวางและทำหน้าที่ให้การส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการบำบัดรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยด้านต่างๆ สำหรับอนาคตของภูมิปัญญาความรู้ด้านการแพทย์พื้นบ้านในจังหวัดสุรินทร์นั้นมีแนวโน้มไปในทางที่ดี เพราะมีองค์ประกอบและภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาชนเองต่างก็ตระหนักและให้ความสำคัญกับการบำบัดโรคด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่ไปกับการแพทย์พื้นบ้าน

บ้านโคกสวาย: ป่าชุมชนอันเป็นแหล่งอาหารและยารักษาโรค

หมู่บ้านโคกสวายเป็นหมู่บ้านที่มีการจัดการ “ป่าชุมชน” เพื่อดูแล ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมที่ถูกบุกรุก การจัดการป่าชุมชนเริ่มมาตั้งแต่ พ..๒๕๔๕ นอกจากป่าจะทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารแล้ว ป่าชุมชนยังเป็นแหล่งพืชสมุนไพร เป็นแหล่งทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ให้ทั้งผู้คนในหมู่บ้านและผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียง โดยให้เข้ามาใช้ทรัพยากรภายในป่าได้ในระดับที่เหมาะสม

ชาวบ้านโคกสวายมีความคุ้นเคยและความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพร เพื่อการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ และมีความกระตือรือร้นที่จะถ่ายทอดความรู้ด้านสมุนไพรให้กับชาวบ้านจากต่างถิ่น ชาวบ้านมีความภาคภูมิใจที่ในการรักษาสุขภาพแบบพื้นบ้าน และช่วยกันปกป้องป่าชุมชนด้วย “การบวชป่า” เพื่อให้ป่าดำรงความอุดมสมบูรณ์

บ้านนาตัง - อาหารคือยาและยาคืออาหาร

ป่าครอบครัวของชุมชนบ้านนาตังมีพืชพันธุ์ที่หลากหลายสำหรับใช้เป็นทั้งอาหารและยา ในแต่ละครัวเรือน มีป่าครอบครัวของตน โดยปลูกทั้งสมุนไพรและพืชผัก สมุนไพรหลายชนิดสามารถใช้รักษาอาการเจ็บป่วยและประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ เช่น ขี้เหล็ก สามารถใช้เป็นอาหาร ยาสมนุไพร และใช้เป็นไม้ใช้สอย นอกจากนี้ โรงเรียนบ้านนาตังตระแบกจัดหลักสูตรท้องถิ่น ให้นักเรียนเรียนรู้การปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพร

หมอพื้นบ้าน” ในบ้านนาตังมีความเชี่ยวชาญในการรักษาหลายด้าน เช่น หมอยา หมอตำแย หมอนวด และหมอพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการรักษาโรค รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์สมุนไพรตะบัลไพรและระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ

ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพรกับการอนุรักษ์การรักษาสุขภาพแบบพื้นบ้าน

ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพรเกิดจากกิจกรรมของคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนาสุรินทร์และมูลนิธิพิพิธประชานาถ ที่เริ่มมาตั้งแต่ พ..๒๕๒๒ ด้วยการรวบรวมความรู้และพัฒนาศักยภาพหมอพื้นบ้านให้เกิดการยอมรับในชุมชน ต่อมาจัดตั้งเป็นศูนย์ส่งเสริมการรักษาด้วยการแพทย์พื้นบ้าน

การดำเนินงานของศูนย์สมุนไพรตะบัลไพรอาศัยความร่วมของหน่วยงานต่างๆ และการสร้างเครือข่ายหมอพื้นบ้านทั่วทั้งจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มหมอพื้นบ้านยังถ่ายทอดความรู้ในการรักษาพื้นบ้านให้กับบุคคลที่สนใจ แต่ผู้ศึกษามักเน้นวิธีการรักษามากกว่าความศรัทธาเชิงจิตวิญญาณและพิธีกรรม บนพื้นฐานของพุทธศาสนาและความเชื่อ

สำนักสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์: การผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน

นอกเหนือจากการเป็นหน่วยงานในระบบสาธารณสุขของรัฐ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์สนใจรวบรวมและอนุรักษ์ความรู้ด้านการแพทย์พื้นบ้าน โครงการดังกล่าวเริ่มต้นในราว พ.. ๒๕๒๗ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลเผชิญกับปัญหาการใช้ยาชุดและยาซองที่ผิดกฎหมาย ต่อมาประมาณ พ.. ๒๕๔๓ เริ่มพัฒนานโยบาย “หนึ่งโรงพยาบาล สองระบบ” นั่นคือการนำการแพทย์พื้นบ้านมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล

โรงพยาบาลกาบเชิงเป็นตัวอย่างหนึ่งของ “โรงพยาบาล สองระบบ” เช่น การผลิตยาจากพืชสมุนไพรเพื่อทดแทนยาแผนใหม่บางตัว การใช้สมุนไพรรักษาพิษงู การนำองค์ความรู้ของหมอตำแยพื้นบ้าน (จะม๊อบ) มาปรับใช้ดูแลสตรีหลังคลอดบุตรในโรงพยาบาล


อัลบั้มรูปภาพ

{phocagallery view=category|categoryid=3|
imageid=0|limitstart=0|limitcount=2|
fontcolor=#B88A00|bgcolor=#FFBF00|bgcolorhover=#BFFF00|imagebgcolor=#FFD24D|
bordercolor=#B88A00|bordercolorhover=#86B300|
detail=1|displayname=1|displaydetail=1|displaydownload=1|float=right}

   
 share