กลุ่มเครื่องเงิน

Print
  
วันที่เผยแพร่: วันศุกร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๕:๑๓ น.

ปัจจุบันงานเครื่องเงินเป็นงานหัตถศิลป์ที่มีชื่อเสียงของอำเภอเขวาสินรินทร์อาจเนื่องมาจากที่นี่ยังมีช่างฝีมือดีอยู่หลายท่าน และงานเครื่องเงินยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ด้วยการประชาสัมพันธ์ และโครงการสืบสานภูมิปัญญา ด้วยการถ่ายทอดทักษะการทำเครื่องเงินให้แก่คนรุ่นใหม่

กลุ่มหัตถกรรมเครื่องประดับเงินและทองเหลืองก่อตั้งโดยกลุ่มชาวบ้านบ้านนาตัง อำเภอเขวาสินรินทร์ และดำเนินงานมากว่าสิบปีแล้ว ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มประมาณ ๔๐ คน และเน้นผลิตเครื่องประดับทองเหลืองคราวละมากๆ ตามคำสั่งของลูกค้า ทั้งจากกรุงเทพฯ นครราชสีมา และกาญจนบุรี หรือแม้แต่ลูกค้าจากฝั่งลาวและกัมพูชา แม้การผลิตเครื่องประดับเน้นการผลิตเครื่องทองเหลืองเป็นหลัก แต่ช่างบางคนทำเครื่องประดับเงินด้วยกรรมวิธีเดิมๆอยู่ เช่นเดียวกับลุงปัญญา บุตรชาติ และคุณสมศักดิ์ มุตะโสภา

ในบ้านเขวาสินรินทร์ บ้านโชค และบ้านสดอ ช่างเครื่องเงินผลิตงานที่หลากหลาย บางท่านเลือกที่จะผลิตงานทีละมากๆ หรือรูปแบบใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด แต่ก็ยังมีบางท่าน อย่างเช่น ลุงป่วน เจียวทอง ที่ยังคงทำเครื่องเงินแบบโบราณ เช่น ปะเกือม และตะเกา

การสืบสานกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมต้องใช้ความมานะอดทน และใช้ทักษะอย่างสูง การถ่ายทอดความรู้ระหว่างครูช่างและลูกศิษย์ด้วยวิธีขอมาพักอาศัยกับครูช่างที่บ้าน อาจจะเป็นไปได้ยาก ปัจจัย เหล่านี้อาจทำให้ช่างเครื่องเงินรุ่นใหม่เลือกไปประกอบอาชีพอื่น หรือหันไปทำเครื่องเงิน หรือทำทองเหลืองด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่มากขึ้น

ในอดีต ช่างเครื่องเงินไม่ได้สนใจเพียงการทำชิ้นงานให้สวยงาม แต่เน้นความหมายความสำคัญทางพิธีกรรมความเชื่อและความสำคัญทางจิตใจของเครื่องเงินอีกด้วย ในขณะที่ในปัจจุบัน การทำเครื่องเงินและเครื่องทองเหลืองเน้นผลิตให้รวดเร็วและจำนวนมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้คุณค่าทางด้านจิตใจของเครื่องประดับเงินหายไป

บ้านลุงปัญญา บุตรชาติ

ลุงปัญญา บุตรชาติเป็นช่างเครื่องเงินที่สำคัญท่านหนึ่งในบ้านนาตัง อำเภอเขวาสินรินทร์ ท่านเริ่มทำเครื่องเงินมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ โดยสามารถทำได้ทั้งปะเกือมและตะเกาโบราณ ลุงปัญญามีลูกศิษย์มากมาย รวมทั้งคุณพิรุณ แก้วยศและคุณสุเพียบ พร้อมศรี ช่างเครื่องเงินที่สำคัญอีกสองท่าน และเปิดโอกาสให้ลูกศิษย์มาเรียนวิชาทำเครื่องเงินที่บ้าน สำหรับลุงปัญญาแล้ว การเป็นช่างเครื่องเงินที่ดีไม่เพียงแต่สามารถผลิตชิ้นงานได้สวยงามเท่านั้น แต่ต้องมีคุณธรรมและความซื่อสัตย์ในการประกอบอาชีพ จึงจะเป็นช่างที่ดี

ศูนย์แสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน (ร้านโอท็อป)

ศูนย์แสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน (ร้านโอท็อป) อำเภอเขวาสินรินทร์ เปิดใช้งานเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๙ โดยเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้ช่างเครื่องเงินในชุมชนนำผลงานที่ผลิตเองมาจำหน่าย ร้านโอท็อปยังเป็นสถานที่ที่ลูกค้าและผู้มาเยี่ยมเยียน สามารถเรียนรู้กรรมวิธีการทำเครื่องเงิน ศูนย์โอท็อปจึงเป็นสถานที่ที่มีการผลิตเครื่องเงิน และฝึกฝนลูกศิษย์ นอกจากนี้บริเวณร้านโอท็อปยังเป็นที่ตั้งศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีโครงการอบรมคนชุมชนให้ฝึกหัดทำเครื่องเงินอีกด้วย

บ้านลุงป่วน เจียวทอง

ลุงป่วน เจียวทอง เป็นพ่อครูช่างเครื่องเงินแห่งบ้านโชค อำเภอเขวาสินรินทร์ ซึ่งมีประสบการณ์การทำเครื่องเงินมายาวนานถึง ๖๒ ปีแล้ว ลุงป่วนเรียนทำปะเกือมและตะเกราซึ่งเป็นเทคนิคโบราณมาจากพี่เขยชื่อ "ตาโฮม" ด้วยความที่เห็นคุณค่าของลวดลายเก่าๆ และลายใหม่ที่ลุงดัดแปลงขึ้นเองภายหลัง ลุงป่วนจึงทำแบบตะเกาขนาดใหญ่ที่แสดงให้เห็นด้วยลวดลายตะเกาถึง ๑๖ ลาย ไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน และเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาสำหรับผู้ที่สนใจ ในขณะเดียวกันลุงป่วนก็สนับสนุนช่างเครื่องเงินรุ่นใหม่ให้มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำลวดลายใหม่ๆ ไปด้วย

ทักษะ ความสามารถ และความเอื้ออารีของลุงป่วน ทำให้ลุงเป็นที่เคารพรักและมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย บ้านของคุณลุงจึงเป็นทั้งบ้าน เป็นทั้งที่ทำงาน เป็นทั้งที่ถ่ายทอดกรรมวิธีและทักษะในการทำเครื่องเงินแก่ทุกคนที่สนใจ และถ่ายทอดคุณค่าทางจิตวิญญาณ บรรดาลูกศิษย์จะกลับมารวมตัวกันในวันไหว้ครูหรือแซนสนอบเพื่อแสดงความกตัญญูต่อลุงป่วนเป็นประจำทุกปี

กลุ่มหัตกรรมเครื่องประดับเงินและทองเหลือง

กลุ่มหัตกรรมเครื่องประดับเงินและทองเหลืองก่อตั้งโดยกลุ่มชาวบ้านบ้านนาตัง อำเภอเขวาสินรินทร์ และดำเนินงานมากว่าสิบปีแล้ว ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มประมาณ ๔๐ คน และเน้นผลิตเครื่องประดับทองเหลืองคราวละมากๆตามที่ลูกค้าสั่ง โดยมีลูกค้าจากในประเทศคือกรุงเทพฯ นครราชสีมา และกาญจนบุรี และลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและกัมพูชา ถึงแม้จะเน้นผลิตเครื่องประดับทองเหลืองเป็นหลัก แต่ช่างบางท่านก็ทำเครื่องประดับเงินบ้าง หากมีเวลาว่างจากการทำเครื่องทองเหลือง หัวหน้ากลุ่มที่ดูแลการจัดการและบริหารงานคือนายเฉลิมชัย พิศโสระ

   
 share