logotype
หน้าหลัก

ภาพรวมการจัดทำแผนที่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์

PDF Print E-mail
  
วันที่เผยแพร่: วันศุกร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๕:๒๑ น.
วันที่แก้ไข: วันศุกร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๕:๓๔ น.

สำหรับโรงเรียนภาคสนามฯ พ.. ๒๕๕๖ กำหนดให้ผู้เข้าร่วมอบรมศึกษามรดกวัฒนธรรม ๔ ประเภท คือ เครื่องเงิน ผ้าไหม ดนตรีกันตรึม และการแพทย์พื้นบ้าน เพื่อให้ผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่มมีโอกาสศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ความทรงจำร่วม สถานที่ต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการถ่ายทอดความรู้ เข้ากับภูมิศาสตร์ในพื้นที่ ผลลัพธ์ของการทำงานได้แก่ แผนที่ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาและการสร้างความตระหนักให้กับคนรุ่นใหม่ ภาครัฐ และสาธารณชน เกี่ยวกับความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมในอำเภอเขวาสินรินทร์

คำถามสำคัญในกระบวนการทำงานของผู้เข้าอบรม ประกอบด้วย

  1. ชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมปรารถนาสื่อสารสิ่งใดให้กับคนรุ่นใหม่ และสาธารณชนในวงกว้าง (เช่น ประวัติของมรดกภูมิปัญญา, ความเปลี่ยนแปลง, อุปสรรคในการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมดังกล่าว)

  2. แผนที่มีส่วนอย่างไรในการส่งต่อความรู้ให้กับคนรุ่นต่อไป (เช่น หลักสูตรท้องถิ่น) และช่วยในการเสริมสร้างความเข้าใจในมรดกวัฒนธรรมในจังหวัดสุรินทร์ให้กับผู้คนจากภายนอกอย่างไร

  3. ข้อจำกัดของแผนที่ทางวัฒนธรรมในการนำเสนอและการปกป้องมรดกภูมิปัญญา

แผนที่ทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงผู้คนกับสถานที่ต่างๆ ที่ผู้คนสืบทอดมรดกภูมิปัญญาดังกล่าว อย่างไรก็ดี แผนที่ทางวัฒนธรรมเป็นภาคหนึ่งในกระบวนการทำงานในการจัดการมรดกวัฒนธรรม คณะทำงานโรงเรียนภาคสนามฯ หวังเป็นอย่างยิ่งให้การทำงานระหว่างภาครัฐและชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม สามารถพัฒนากระบวนการสร้างแผนที่ร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ความหลากหลาย และช่วยกำหนดมาตรการสำหรับการสืบทอดมรดกภูมิปัญญา ที่เชื่อมโยงกับความซับซ้อนและความแตกต่างของวัฒนธรรมในพื้นที่อย่างแท้จริง

อำเภอเขวาสินรินทร์และบ้านนาตัง

ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้การทำงานของคนในท้องถิ่นในการรักษา สืบทอด และปรับตัวมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งสี่ประเภท (ผ้าไหม, เครื่องเงิน, ดนตรีกันตรึม และการแพทย์พื้นบ้าน) ตัวอย่างของการทำงานของโรงเรียนสินรินทร์วิทยาและโรงเรียนบ้านนาตังตระแบก ที่ส่งเสริมให้เด็กในชุมชนมีโอกาสเรียนรู้และปฏิบัติดนตรีพื้นบ้าน “กันตรึม” หรือการจัดงานเทศกาล “นุ่งผ้าไหม ใส่ปะเกือม เรือมกันตรึม” กลายเป็นงานประจำปีที่รวบรวมภาคส่วนต่างๆ ในการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์วัฒนธรรมเขมรถิ่นไทย หรือการทำงานของสำนักงานพัฒนาชุมชน ในการส่งเสริมสินค้าโอทอปและสรรค์สร้างกิจกรรมให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้จากช่างเงินรุ่นอาวุโส เพื่อมิให้งานช่างปะเกือมโบราณห่างหายไปจากสังคม

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้อย่างสำคัญ ได้แก่ ข้อจำกัดหรือขอบเขตของการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาเหล่านั้น อาทิ การส่งเสริมของหน่วยงานพัฒนาชุมชนมุ่งเน้นการผลิตสินค้า โดยไม่เชื่อมโยงมิติทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเครื่องเงินหรือผ้าไหม หรือการสนับสนุนดนตรีและการแสดงท้องถิ่นในบริบทของโรงเรียน ให้ความสำคัญกับการเล่น ร้อง และรำ แต่เชื่อมโยงกับการทำความเข้าใจในความหมายของเนื้อหาของดนตรี เพลง หรือบริบททางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่แวดล้อม เช่น พิธีกรรม

ผู้เข้าร่วมอบรมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การจัดทำแผนที่ทางวัฒนธรรมระหว่างชาวบ้านและผู้เข้าร่วมอบรม ช่วยสะท้อนให้ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เล็งเห็นมิติทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อนในการรักษามรดกวัฒนธรรม เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานและการปกป้องมรดกภูมิปัญญาในอนาคต


EX FINAL MAP

   
 share