logotype
หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา

เกี่ยวกับเรา

PDF Print E-mail
  
วันที่เผยแพร่: วันศุกร์ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๘:๓๔ น.
วันที่แก้ไข: วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๐:๓๖ น.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

“การศึกษาวิชามานุษยวิทยา มีจุดประสงค์ให้มนุษย์เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับมนุษยชาติทั้งมวล
มนุษย์จะได้เข้าใจตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจอันดี
และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข”

พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร 
วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๒

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานราชการในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และได้รับการจัดตั้งขั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑ พันธกิจหลักของหน่วยงาน ได้แก่ การส่งเสริมความเข้าใจระหว่างผู้คน โดยอาศัยการศึกษาสังคมมนุษย์ อนึ่ง กิจกรรมของศูนย์มานุษยวิทยาฯ ครอบคลุมการทำงานใน ๓ ลักษณะ ไดแก่ งานฐานข้อมูล งานวิจัย และงานกิจกรรมเพื่อการศึกษา กิจกรรมและโครงการต่างๆ มีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับสังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทยและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อก่อให้เกิดการยอมรับในความแตกต่างและความตระหนักในความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมภายในภูมิภาค ทั้งนี้ งานวิจัยและกิจกรรมเพื่อการศึกษาเป็นแนวทางสำคัญในการทำงาน

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ตั้งแต่การประกาศอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ขององค์การยูเนสโก ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๒ ซึ่งกำหนดนิยามของมรดกโลกทางวัฒนธรรมว่าเป็นอนุสรณ์สถานและสถานที่ที่มี “คุณค่าที่เป็นสากล” ขอบเขตของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมจึงเน้นการปกป้องวัฒนธรรมที่จับต้องได้ โดยเฉพาะมรดกทางสถาปัตยกรรม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความหมายของมรดกได้เริ่มขยายขอบเขต โดยรวมภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและวัฒนธรรมที่ยังคงปฏิบัติกัน และส่งผลให้เกิดการประกาศอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๓ อนุสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญในการกระตุ้นให้รัฐบาลและชุมชนท้องถิ่น ร่วมกันปกป้องประวัติศาสตร์คำบอกเล่า การแสดง ประเพณี และความรู้และทักษะของท้องถิ่น ซึ่งเป็นแหล่งมรดกของโลกที่สำคัญอย่างยิ่ง การเพิ่มขอบวงของการจัดการมรดกที่รวมมรดกวัฒนธรรมที่จะต้องไม่ได้ ส่งผลให้การประยุกต์ความเชี่ยวชาญและแนวทางการศึกษาจากมานุษยวิทยาวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่โครงการทางวัฒนธรรมหลายโครงการปรารถนาจะใช้ความเชี่ยวชาญดังกล่าวในการจัดการมรดกวัฒนธรรม

เพื่อตอบสนองกับความต้องการดังกล่าว และในส่วนหนึ่งของพันธกิจในการขยายงานวิจัยและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและภูมิภาค เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๙ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้จัดโครงการอบรมโรงเรียนภาคสนาม มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในระยะเวลาสองสัปดาห์ ให้กับผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาในระดับปริญญา ผู้ปฏิบัติงานทางวัฒนธรรม นักการศึกษา และผู้ที่สนใจในงานมรดกวัฒนธรรม ในการทำงานดังกล่าว ศูนย์มานุษยวิทยาฯ พัฒนาโครงการอบรมร่วมกับยูเนสโก กรุงเทพ (UNESCO Bangkok) และสถาบันการจัดการมรดกเอเชีย หรือ Asian Academy of Heritage Management (AAHM) และจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ โรงเรียนภาคสนาม มรดกที่จับต้องไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ที่เข้าร่วมอบรมเรียนรู้เครื่องมือ ทั้งในเชิงแนวคิดและปฏิบัติการสำหรับการจัดการกับมรดกที่จับต้องไม่ได้

อนึ่ง จากความเชี่ยวชาญของสถาบันในด้านการวิจัยทางมานุษยวิทยา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้พัฒนาโรงเรียนภาคสนาม มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจกรอบการทำงานทางมานุษยวิทยาและเครื่องมือที่จะเป็นประโยชน์สำหรับการจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย และด้วยโรงเรียนภาคสนามนี่เอง ศูนย์มานุษยวิทยาฯ ปรารถนาให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันในระดับนานาชาติ และส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับมรดกของภูมิภาคที่ร่วมแบ่งปันซึ่งกัน

แหล่งเรียนรู้เฉพาะทาง มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เก็บรวมรวมและจัดแสดงมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ รวมถึงศิลปะและวัตถุสิ่งของ อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีนี้ พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกขยายขอบเขตของนิทรรศการและปฏิบัติการงานภัณฑารักษ์ให้ครอบคลุมมรดกวัฒนธรรมที่มีชีวิต เช่น ประวัติศาสตร์คำบอกเล่าและความทรงจำ, ภูมิปัญญางานช่าง, เทศกาล, พิธีกรรม และการแสดง และด้วยเนื้อหาการทำงานดังนี้ พิพิธภัณฑ์จึงตระหนักถึงความสำคัญของพันธมิตรในการปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ดังที่ ริชารด์ คูริน ผู้อำนวยการศูนย์วิถีชีวิตชาวบ้านและมรดกวัฒนธรรมแห่งสถาบันสมิธโซเนียน การขยายงานพิพิธภัณฑ์ให้ครอบคลุมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนำไปสู่ข้อท้าทายจำนวนไม่ร้อย นั่นคือ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ได้รับการฝึกฝนในการจัดการกับกลุ่มวัตถุ แต่สำหรับการทำงานกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจะต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานร่วมกับเจ้าของวัฒนธรรม ฉะนั้น การเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผู้ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์จะต้องลงมือร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความหมายของการแสดงออกทางวัฒนธรรม อนึ่ง หากพิจารณาถึงการจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผู้ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ต้องเรียนรู้วิถีทางในการสร้างสัมพันธภาพกับเจ้าของวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียม และพัฒนากลไกสำหรับการถือครองอำนาจชอบธรรมและการตัดสินใจร่วมกันในกิจกรรมพิพิธภัณฑ์และสิ่งต่างๆ ที่บอกเล่าถึงชุมชนท้องถิ่นนั้น

แหล่งเรียนรู้นี้เน้นบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในการปกป้องมรดกวัฒนธรรม โดยแนะนำแนวคิดและวิธีการในการเชื่อมโยงพิพิธภัณฑ์วิทยากับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ให้กับผู้ปฏิบัติงานด้านมรดกวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์ จากการบรรยายและประสบการณ์ภาคสนามจากโรงเรียนภาคสนาม มรดกที่จับต้องไม่ได้และพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดลำพูน ประเทศไทย เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๙ แหล่งเรียนรู้ประกอบด้วยเนื้อหาการบรรยาย บทความทางวิชาการและหนังสือที่จะเป็นประโยชน์ในการทำงานด้านมรดกวัฒนธรรม รวมทั้งกรณีศึกษาต่างๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่า ผู้ปฏิบัติงานทางวัฒนธรรมจะนำเอาการวิจัย การบันทึก การสืบทอด และการฟื้นฟูมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมได้อย่างไร

ศูนย์มานุษยวิทยาฯ ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างเวทีสำหรับสนทนาและแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบันที่ทำงานด้านการปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว เว็บไซต์แหล่งเรียนรู้ออนไลน์จะทำหน้าที่เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ความรู้ และกรณีศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องับการปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม คุณสามารถเยี่ยมชมนิทรรศการออนไลน์และแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ได้ที่บล็อคของเรา

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงเรียนภาคสนาม มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์ คุณสามารถเยี่ยมชมได้ที่:

   
 share