ลาวครั่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันว่า ลาวขี้คั่ง ลาวคั่ง หรือลาวครั่ง ที่มาของคำว่า “คั่งหรือครั่ง” มีข้อสันนิษฐาน 3 ประการ คือ ประการแรก สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ภูฆัง หรือ ภูครัง” ซึ่งเป็นชื่อภูเขาที่มีลักษณะคล้ายระฆังอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของหลวงพระบางในประเทศลาวซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมของ ลาวครั่ง ประการที่สอง “คั่งหรือขี้คั่ง” คือ ครั่งที่ใช้ผนึกตรา และมาออกเสียงว่า “คั่ง” ในภาษาลาวครั่งเพราะในภาษานี้ไม่มีเสียงพยัญชนะควบกล้ำ ข้อสันนิษฐานประการที่สาม คือ ลาวครั่งนิยมเลี้ยงครั่งและใช้ครั่งย้อมผ้า จึงใช้ครั่งเป็นของส่งส่วยให้กับรัฐบาลไทย จึงได้ชื่อว่าลาวขี้ครั่ง นอกจากชื่อที่กล่าวไปแล้วนั้น ลาวครั่งยังมีชื่ออื่นแตกต่างกันออกไปตามท้องที่ เช่น “ลาวเต่าเหลือง” เป็นชื่อเรียกลาวครั่งที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ ชื่อนี้มีที่มาว่าชาวลาวครั่งที่จังหวัดนี้อาศัยอยู่ตามป่าเขา เหมือนเต่าที่มีกระดองสีเหลือง ส่วน “ลาวด่าน” เป็นชื่อเรียกลาวครั่งที่อาศัยอยู่ในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเถอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และ “ลาวโนนปอแดง” เป็นชื่อเรียลาวครั่งที่อาศัยอยู่ในอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีการรียกชื่อลาวครั่งตามเสียงคำลงท้ายของภาษาลาวครั่ง คือ “ลาวก๊ะล่ะ หรือลาวล่อก๊อ” (สมทรง บุรุษพัฒน์และคณะ, 2554, หน้า 102)
เนื้อหาโดย สุธาสินี บุญเกิด เจ้าหน้าที่ฐานข้อมูล
เอกสารอ้างอิง
จากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ความขัดแย้งในอาณาจักรลาวและสงครามระหว่างไทยลาวเป็นสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัย บางกลุ่มก็โยกย้ายไปอยู่ในเขตญวน บางพวกก็ย้ายเข้ามาในเขตไทย และบางพวกก็ถูกกวาดต้อนมาอยู่ภาคกลางตามท้องถิ่นต่างๆ ถ้าดูจากประวัติศาสตร์แล้วนับว่าลาวที่อยู่ในแถบอีสานโดยมาอพยพมาตั้งบ้านเรือนใหม่ ส่วนลาวในภาคกลางนั้นถูกกวาดต้อนครอบครัวมาเป็นเชลย (สามารถดูภาพประกอบรายละเอียดช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ได้โดยบันทึกภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
เมื่อได้ศึกษาเอกสารจดหมายเหตุพบว่ามีหลักฐานที่เกี่ยวกับกลุ่มลาวอยู่บ้างในสมัยรัชกาลที่ 2 มีร่างศุภอักษรถึงเจ้าเวียงจันทน์ให้แต่งท้าวเพียคุมคนและช้างไปรับครัวลาวภูครังที่หลบหนีจากแขวงเมืองพิษณุโลกไปอยู่เวียงจันทน์ลงมาส่งกรุงเทพฯ (จดหมายเหตุรัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2360 (จ.ศ. 1179) เลขที่ 10) และในปี พ.ศ. 2363 มีหลักฐานว่ามีกองลาวอยู่ที่จังหวักาญจนบุรี (จดหมายเหตุรักาลที่ 2 พ.ศ. 2363 (จ.ศ. 1182) เลขที่ 10)
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงปี พ.ศ. 2381-2386 มีการเกณฑ์ ส่วยจากเมืองเพชรบูรณ์และเมืองเลย เป็นส่วยสิ่งของประเภทครั่ง ป่าน ทอง เครื่องหวาย (จดหมายเหจุรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2384 (จ.ศ. 1203) เลขที่ 100) และเมื่อ พ.ศ. 2384 มีหลักฐานการทำบัญชีจ่ายเบี้ยหวัด ลาว เขมร ในหัวเมืองต่างๆ ตามบันทึกเรียกลาวในสมัยนั้นว่า ลาวพุงดำ ลาวพุงขาว กล่าวว่า ได้จ่ายเบี้ยหวัดแก่เจ้าสารเมืองเชียงขวาง และบุตรหลาน 15 คนที่เข้ามาอยู่ในเขตไทย สถานที่กล่าวถึงซึ่งเป็นที่อยู่ของลาวที่ปะปนกับเขมรในสมัยนั้น ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี วัฒนานคร (ปราจีนบุรี) นครนายก สุพรรณบุรี นครชัยศรี (นครปฐม) พนัสนิคม (ชลบุรี) ราชบุรี ฉะเชิงเทรา (จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2388 (จ.ศ. 1207) เลขที่ 237)
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรทำให้ทราบว่าได้ปรากฎกลุ่มชนที่มีเชื้อสายลาวเข้ามาอยู่บริเวณในภาคกลางของประเทศไทยส่วนใหญ่ถูกกวาดต้อนครอบครัวมาเป็นเชลยในช่วงสงครามระหว่างไทยและลาวในสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ลาวครั่งที่อยู่ในประเทศไทยมาจากเมืองคลัง (ครั่ง) ในแขวงหลวงพระบาง ในปลายสมัยรัชกาลที่ 2 และต้นรัชกาลที่ 3 ตามเส้นทางสายแม่น้ำเหืองประเทศลาว เข้าสู่ประเทศไทยจากจังหวัดเลย ลงมายังสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร และนครปฐม บอกจากนี้ชาวลาวครั่งยังได้อพยพเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ชาวลาวครั่งที่อาศัยในเขตอำเภออู่ทอง อำเภอเดิมนางบวช และอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นกลุ่มลาวครั่งที่อพยพมาจากบ้านลำเหย ตำบลลำเหย อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม นอกจากจังหวัดสุพรรณบุรี ยังมีการการอพยพของชาวลาวครั่งไปอยู่ที่อำเภอเลาขวัญ อำเภอพนมทวน และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจบุรี อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท และอำเภอบ้านไร่ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี (สมทรง บุรุษพัฒน์และคณะ, 2554, หน้า 102)
หลักฐานทางประวัติศาตร์สอดคล้องกับการบอกเล่าของชาวลาวครั่งที่หมู่ 11 บ้านหนองหมา ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม คุณยายก่ำ มีสี อายุ 82 ปี เล่าว่า “ปู่ย่าตาทวด ยายของยายบอกว่าลาวครั่งที่นี่มาจากลาว เดินมาสามเดือน จากเวียงจันทน์ อมข้าวแห้ง ตากข้างแห้งใส่ถุง เอาน้ำใส่กระบอกใหญ่ๆ เอาข้าวตากแดด คั่วบ้างไม่คั่วบ้าง ดูดอม มาเมมืองไทยเพราะเกิดศึก” (สมทรง บุรุษพัฒน์และคณะ, 2554, หน้า 103)
ประวัติความเป็นมาของชุมชนที่ได้ลงพื้นที่สำรวจ
บริเวณตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ประกอบด้วย 17 หมู่บ้าน ซึ่งการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้สามารถรวบรวมได้ที่มาที่ไปของชื่อเรียกขานแต่ละหมู่บ้านได้เพียง 13 หมู่บ้าน สามารถสรุปได้ตามตาราง
ตำบล/หมู่ที่ | ชื่อหมู่บ้าน | ที่มาการเรียกชื่อ |
---|---|---|
ตำบลโพรงมะเดื่อ | - | เนื่องจากในอดีตประมาณ 20 ปี มีต้นมะเดื่อ ขนาดใหญ่ในตำบลนี้อยู่ต้นหนึ่ง อยู่ในหมู่ที่ 5 มะเดื่อต้นดังกล่าวลำต้นเป็นโพรงขนาดใหญ่มองทะลุลำต้น ด้วยเหตุนี้จึงได้ตั้งชื่อตำบลนี้ว่า ตำบลโพรงมะเดื่อ ในปัจจุบันต้นมะเดื่อต้นดังกล่าวไม่มีอยู่แล้ว |
หมู่ที่ 1 | บ้านนา | เนื่องจากชาวบ้านในหมู่บ้านนี้มีอาชีพส่วนใหญ่ในการทำนา มีทั้งนาลุ่ม คือนาที่มีน้ำจืดขังเพียงพอในการปลูกข้าว และนาดอนคือนาซึ่งอยู่ในดอน น้ำไม่ค่อยขัง นาดอนจะให้ผลผลิตสูงเฉพาะในปีที่น้ำฝนเพียงพอเท่านั้น จากลักษณะอาชีพจึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน สำหรับในปัจจุบันนี้ชาวบ้านได้หันมาปลูกผักอย่างอื่นแทนข้าว เพราะปลูกได้ดีและให้ผลผลิตที่สูงกว่าทำนา |
หมู่ที่ 2 | บ้านหัวทุ่ง | เนื่องจากหมู่บ้านนี้มีสภาพเป็นที่ดอน ตั้งอยู่บริเวณสุดของทุ่งนาซึ่งบริเวณนี้บางครั้งชาวบ้านจะเรียกว่า หัวทุ่ง |
หมู่ที่ 3 | บ้านหนองนางแช่ | หมู่บ้านนี้มีหนองน้ำธรรมชาติอยู่หนองหนึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของหมู่บ้าน เป็นหนองน้ำที่มีขนาดไม่ค่อยใหญ่โตนัก หนองน้ำแห่งนี้ในอดีตประมาณ 60-70 ปีมาแล้ว ได้มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น คือ ได้มีผู้หญิงคนหนึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้หญิงเดินทางมาจากกรุงเทพ จะมาธุระใดไม่มีใครบอกได้ผู้หญิงคนนี้ได้เดินทางมาถึงหนองน้ำในหมู่บ้านนี้ก็ได้ลงไปแช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน จนผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ผิดสังเกตกลัวว่าจะเป็นอันตราย เช่น ตะคริว จึงได้เรียกให้ขึ้นมาจากหนองน้ำ ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควรผู้หญิงคนนั้นจึงได้จากหนองน้ำ หลังจากนั้นมีราษฎรได้อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณใกล้หนองน้ำมากขึ้นจนมีสภาพเป็นหมู่บ้าน จึงให้ชื่อนี้ว่า บ้านหนองนางแช่ |
หมู่ที่ 4 | บ้านหุบรัก | หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นหุบคือสองข้าง มีสภาพเป็นป่า ส่วนบริเวณหุบเป็นที่โล่งค่อนข้างต่ำ ในบริเวณหุบดังกล่าวในอดีตมีต้นรักชุกชุมมีทั้งดอกสีขาวและดอกสีม่วง ต่อมาเมื่อบริเวณนี้เป็นหมู่บ้านก็ให้เชื่อว่า บ้านหุบรัก ในปัจจุบันซึ่งเคยมีต้นรักชุกชุมได้ถูกโค่นถางและไถพรวนเปลี่ยนสภาพเป็นที่นาและที่เพาะปลูกพืชอย่างอื่นหมดแล้ว |
หมู่ที่ 5 | บ้านโพรงมะเดื่อ | มีประวัติความเป็นมาเช่นเดียวกับตำบลโพรงมะเดื่อ |
หมู่ที่ 6 | บ้านหนองลาดหญ้า | เพราะในหมู่บ้านนี้มีหนองน้ำธรรมชาติอยู่หนองหนึ่งลักษณะเป็นหนองน้ำขนาดปานกลาง มีน้ำแช่ขังตลอดปี บริเวณขอบหนองมีสภาพเป็นที่ลาดจากก้นหนองไปสู่ริมหนอง ซึ่งบริเวณที่ลาดปากหนองน้ำดังกล่าวในอดีตจะปกคลุมไปด้วยหญ้าสั้นอย่างหนาแน่น ต่อมาเมื่อบริเวณนี้มีสภาพเป็นหมู่บ้านก็ให้ชื่อว่า บ้านหนองลาดหญ้า ในปัจจุบันสภาพของพื้นที่ริมหนองซึ่งเคยปกคลุมไปด้วยหญ้าสั้นได้เปลี่ยนสภาพเป็นแหล่งเพาะปลูก เป็นเหตุให้หญ้าดังกล่าวหมดไป |
หมู่ที่ 7 | บ้านอ้อมพยศ | เป็นเพราะในสมัยก่อนการ เดินทางติดต่อระหว่างตำบลต่างๆ โดยเฉพาะในฤดูแห้งแล้งส่วนใหญ่จะอาศัยม้าที่เป็นพาหนะ เล่ากันว่า ทางเดินซึ่งใช้เรือใช้ขี่ม้า เพื่อตำบลและหมู่บ้านอื่นเมื่อผ่านเข้ามาในหมู่บ้านนี้ทางเดินจะอ้อมโค้งมาก ทำให้การเดินทางไม่ค่อยสะดวกคนที่เดินทางด้วยม้าให้เดินทางอ้อมเป็นตามแนวทางนั้นด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้ม้าเหนื่อยและม้ามีอาการพยศบ่อยๆ ต่อมาเมื่อได้ตั้งเป็นหมู่บ้านก็เชื่อว่า หมู่บ้านม้าพยศจากนั้นก็ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า หมู่บ้านอ้อมพยศ จนถึงปัจจุบัน |
หมู่ที่ 8 | บ้านไร่เก่า |
สาเหตุที่ชื่อว่า บ้านไร่ เนื่องจากพื้นที่ของหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่เป็นที่ดอน น้ำไม่แช่ขังไม่เหมาะแก่การทำนาปลูกข้าวเหมือนกับหมู่บ้านข้างๆ ซึ่งเป็นที่ลุ่ม ราษฎรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านนี้มาสนใจการทำไร่ เช่น ไร่ข้าวโพด มันเทศ ถั่ว ถั่วเขียว เป็นต้น และเมื่อทำไร่นานเข้าก็มีชำนานเป็นพิเศษ คือ มีความชำนานในการทำไร่มากกว่าราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อมีเป็นหมู่บ้านก็เลยให้ชื่อว่า บ้านไร่เก่า |
หมู่ที่ 9 | บ้านหนองแขม | สาเหตุที่ชื่อว่าบ้านหนองแขมเป็นเพราะหมู่บ้านนี้มีหนองน้ำธรรมชาติอยู่หนองหนึ่ง ในอดีตหนองน้ำนี้มีต้นแขมขึ้นอย่างหนาแน่น จนมีสภาพดงแขมหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพงแขม ต่อมาเมื่อราษฎรเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณหนองน้ำมากขึ้นต้องการที่ทำกินเพิ่มมากขึ้น จึงได้ช่วยกันขุดรื้อต้นแขมออกจากหนองน้ำดังกล่าวจนหมดสิ้น แล้วได้ระบายน้ำบางส่วนออกจากหนอง หลังจากนั้นก็ได้ทำการปลูกข้าวแทน เมื่อบริเวณนี้มีสภาพเป็นหมู่บ้านก็ให้ชื่อว่า บ้านหนองแขม |
หมู่ที่ 10 | บ้านไร่ | ก็มีสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับบ้านไร่เก่า หมู่ที่ 8 ที่ได้กล่าวมาแล้วคือ ราษฎรส่วนหนึ่งบ้านไร่เก่าได้เสาะแสวงหาที่ทำกินใหม่ เพราะที่ทำกินในหมู่บ้านไร่เก่าคับแคบไม่เพียงพอ ต่อมาเมื่อมีสภาพเป็นหมู่บ้านก็ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านไร่ใหม่ แต่มีข้อน่าสังเกตว่าแม้จะชื่อบ้านไร่ใหม่ ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่น่าจะประกอบอาชีพในการทำไร่แต่กลายเป็นว่าราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพในการทำนา ทั้งนี้เป็นเพราะว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านไร่ใหม่เป็นที่ลุ่ม การระบายน้ำไม่ค่อยดี จึงเหมาะแก่การทำนามากกว่าทำไร่ |
หมู่ที่ 11 | บ้านหนองหมา | สาเหตุที่ชื่อบ้านหนองหมา เพราะว่าในหมู่บ้านนี้มีหนองน้ำธรรมชาติอยู่หนองน้ำธรรมชาติอยู่หนองหนึ่ง บริเวณริมหนองนั้นจะปกคลุมไปด้วยดงไผ่ เล่ากันว่าผู้ที่มาเจอหนองน้ำแห่งนี้นั้นได้สังเกตเห็นหมา ตายอยู่ในน้ำเมื่อราษฎรได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานและมีสภาพเป็นบ้านก็ชื่อว่าบ้านหนองหมา ในปัจจุบันนี้ราษฎรว่าคงไผ่ริมหนองได้ถูกโค่นถางไปหมดแล้วเพื่อใช้ในการเกษตรและการตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้น |
หมู่ที่ 12 | บ้านกาเลี้ยงลูก | สาเหตุที่ชื่อว่าบ้านกาเลี้ยงลูก เพราะว่าในอดีตสมัยที่ยังมีราษฎรเข้าไปตั้งถิ่นฐานน้อยบริเวณนี้มีสภาพเป็นป่า ประกอบด้วยไม้ไผ่และไม้อย่างหลายชนิดในป่าดังกล่าว จะมีอีกาหรือนกกาที่เข้ามาทำรังและมีลูกอ่อน ด้วยเหตุนี้เมื่อสภาพป่ากลายเป็นหมู่บ้านให้ชื่อว่า กาเลี้ยงลูก สำหรับสภาพปัจจุบัน ปรากฏว่าป่าในหมู่บ้านถูกโค่นถางเพื่อชื้นที่ในการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์และเป็นที่อาศัย กามีอยู่อย่างชุกชุมดก็หมดไปด้วย |
หมู่ที่ 13 | บ้านหนองหิน | สาเหตุที่ชื่อว่า บ้านหนองหิน เพราะว่าในหมู่บ้านนี้มีหนองน้ำอยู่หนองหนึ่ง เป็นหนองน้ำซึ่งชาวบ้านในละแวกนั้นได้อาศัยน้ำจืดในหนองบริโภคและอุปโภคบริเวณตอนกลางหนองจะมีก้อนหินขนาดใหญ่โผล่ขึ้นมา ด้วยเหตุนี้เองเมื่อมีราษฎรเข้าไปตั้งถิ่นฐานมากขึ้น จนมีสภาพเป็นหมู่บ้านเรียกชื่อว่า บ้านหนองหิน |
ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งที่อาศัยอยู่ในตำบลโพรงมะเดื่อนั้น กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่/หมู่บ้าน ซึ่งข้อมูลที่ได้รวมรวมมานั้นเป็นข้อมูลที่ได้ทั้งจากเอกสาร และการลงพื้นที่ ดังตาราง
อาชีพหลักของชาวลาวครั่งในถิ่นฐานเดิมนั้น เน้นการหาของป่าล่าสัตว์และทำไร่ หลังจากอพยพมาจึงเริ่มมีการลงหลักปักฐานถาวรมากขึ้น มีการทำเกษตรกรรม หาพื้นที่เพาะปลูกและและทำนาเป็นอาชีพหลักมาจนปัจจุบัน ไม่นิยมประกอบอาชีพค้าขาย ภายหลังมีโอกาสได้เล่าเรียนศึกษาทำหี้โอกาสได้ทำงานรับราชการ นอกจากนี้ยังมีการสืบสานงานหัตถกรรมพื้นบ้านดั้งเดิม ยามว่างจากทำนาก็ทำงานจักสานและทอผ้า
การทอผ้าเป็นอัตลักษณ์ที่แสดงตัวตนของลาวครั่ง ผ้าทอลาวครั่งมีชื่อเสียงอย่างมากด้านความงดงาม ของลวดลายอันละเอียดปราณีต และสีแดงโดดเด่นที่เกิดจากการย้อมด้วยครั่ง หญิงชาวลาวครั่งมีความชำนาญในการทอผ้ามาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ มีลักษณะการทอและการจกเกิดลวดลายเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์และยังสืบสานเทคนิคการย้อมด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งนิยมย้อมเส้นไหมด้วยครั่งทำให้ได้เส้นไหมสีแดงสด นอกจากครั่งแล้วยังมีการย้อมด้วยสีธรรมชาติอื่นๆ เช่น สีเหลืองจากขมิ้นและแก่นขนุน สีครามจากต้นครามและมะเกลือ สีดำจากถ่านกะลามะพร้าว การทอจะเดินเส้น “ทางยืน” ด้วยไหมสีแดงครั่ว และใช้เส้นไหม “ทางพุ่ง” ที่ผ่านการย้อมมัดหมี่สำหรับทำเป็นลวดลายต่างๆ
ความเป็นอยู่ของชาวลาวครั่งจะเป็นระบบเครือญาติ ตามประเพณีดั้งเดิมเมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะย้ายไปอยู่เรือนของฝ่ายหญิงในช่วงแรก และเมื่อฐานะดีขึ้นจะแยกครอบครัวออกมาอยู่เรือนหลังใหม่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
วัฒนธรรมที่โดดเด่นของชาวลาวครั่งที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองภูครัง ริมฝั่งแม่น้ำโขง เมืองหลวงพระบาง คือการเลี้ยงครั่งไว้ย้อมผ้า นำสีแดงที่ได้จากครั่งมาใช้ย้อมผ้าซึ่งเป็นสีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวครั่ง ดังนั้นวัฒนธรรมสิ่งทอพื้นถิ่นลาวครั่งจึงสืบทอดมาจากหลวงพระบาง มีการเลี้ยงไหมไว้ทอผ้า
ชาวลาวครั่งนิยมทอผ้าซิ่นและผ้าห่ม โดยใช้ฝ้ายและไหมเป็นวัสดุสำคัญ เทคนิคที่ใช้มีทั้งการจกและมัดหมี่ ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวครั่งคือผ้าซิ่น มัดหมี่ต่อตีนจก ตัวตีนซิ่นจกทอด้วยเส้นไหม ซึ่งผ่านการมัดให้เป็นลวดลายแล้วทอสลับกับการขิดซึ่งเป็นลายเส้นตั้ง จากนั้นต่อด้วยตีนจกซึ่งทอด้วยฝ้าย นิยมทำพื้นเป็นสีแดง และทำลวดลายทรงเรขาคณิตซึ่งไม่มีรูปแบบตายตัว ผ้านซิ่นตีนจกนี้อาจทอตัวซิ่นเป็นผ้าไหมมัดหมี่ล้วนไม่สลับกับขิดก็ได้ นอกจากผ้าซิ่นมัดหมี่ต่อตีนจก ชาวลาวครั่งยังมีซิ่นดอกดาว ซึ่งนิยมทอสีพื้นด้วยสีเข้าม แล้วจกลายสี่หลี่ยมเล็กๆ ด้วยโทนสีที่อ่อนเข้มสองสามสี
ปัจจุบันชาวลาวครั่งแต่งกายตามสมัยนิยม ในโอกาสพิเศษ เช่น วันเทศกาล หรือนงานประเพณีต่างๆ ผู้สูงอายุนุ่งซิ่นทอผ้าลาวครั่ง ใส่เสื้อคอกระเช้าหรือเสื้อตามสมัยนิยมและห่มผ่าสไบเฉียง (สมทรง บุรุษพัฒน์และคณะ, 2554, หน้า 103-104)
บ้านลาวครั่งดั้งเดิมนั้นเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง บนบ้านเป็นห้องโถงใหญ่ กั้นห้องนอนเพียงห้องเดียว ใต้ถุนบ้านเอาไว้เลี้ยงสัตว์ เก็บอุปกรณ์ทำนาและทอผ้า ทอเสื่อจักสานหรือทำกิจกรรมอื่น เช่น กวนกระยาสารทหรือข้าวเหนียวแดง บ้านของลาวครั่งเป็นบ้านเรือนหลังคาจั่วยอดไม่แหลมนัก บ้านลาวครั่งในปัจจุบันมีลักษณะเหมือนบ้านของคนไทยในชนบททั่วไป (สมทรง บุรุษพัฒน์และคณะ, 2554, หน้า 103)
ยุ้งข้าว ยังเป็นอัตลักษณ์ของเรือนลาวครั่ง ถึงแม้ว่าปัจจุบันบางพื้นที่ชาวบ้านที่ทำนาปรังไม่มีโอกาสเก็บข้าวเข้ายุ้งแล้ว แต่ยุ้งข่าวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวนาก็ยังคงอยู่ และเก็บรักษากันไว้อย่างดี ไม่มีการปรับเอามาใช้งานอื่น
ทานข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก ส่วนใหญ่นิยมกินปลาน้ำจืด เพราะสภาพแวดล้อมประกอบด้วยนา หนอง คลอง อาหารส่วนใหญ่ทำจากปลา เช่น ปลาปิ้ง (ปลาย่าง) ต้มปลา แกงป่าปลา (เรียกว่า แกงหมกหม้อ) เมื่อมีงานประเพณี เช่น แต่งงาน บวชนาค จึงจะมีการล้มหมูล้มวัวเพื่อกินเป็นอาหารในงานเลี้ยง ในอดีตลาวครั่งไม่ใคร่นิยมกินอาหารคาวหวานหรือของหวาน เมื่อมีงานเทศกาลจึงจะทำขนมหวานครั้งหนึ่ง เช่น ข้าวเหนียวแดง (เทศกาลสงกรานต์) ข้าวเหนียวไม่ใช่อาหารหลักของชาวครั่ง บางครั้งถือว่าเป็นของ “คะลำ” หรือของแสลงเมื่อเวลาเจ็บป่วย เช่นเป็นแผลหรือเป็นไข้ห้ามกินข้าวเหนียว
ปัจจุบันลาวครั่งรับประทานอาหารแบบคนไทยภาคกลาง อาหารบางอย่าง เช่น ลาบปลาและแกงผำ ไม่นิยมทำแล้วเนื่องจากปลาหายากเพราะไม่มีแหล่งน้ำ บริเวณที่เคยปลูกข้าวเปลี่ยนไปเป็นสวนเกษตรหรือบ้านจัดสรรและที่รกร้าง ส่วนผำนั้นเป็นพืชน้ำที่หายากอาศัยอยู่บริเวณที่น้ำสะอาดเท่านั้น ยังพอมีแม่ค้านำผำมาขายบ้างเป็นครั้งคราว
ประเพณีแห่ธงสงกรานต์ เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลสงกรานต์ เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ในตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร ตอนบ่ายจะสรงน้ำพระพุทธรูป มีการบังสุกุลอุทิศถึงญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และยังมีมหรสพการละเล่นพื้นเมือง (สมทรง บุรุษพัฒน์และคณะ, 2554, หน้า 104-107)
พิธีไต้น้ำมันวันออกพรรษา ประเพณีการไต้น้ำมันเป็นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่งของชาวลาวครั่งที่ได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานานแล้ว การไต้น้ำมันนั้นหมายถึงการจัดประทีปโคมไฟ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในโอกาสเทศกาลออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี การไต้น้ำมันในวันออกพรรษา 3 คืน มีกิจกรรมนำน้ำมันมะพร้าวมาหยอดในภาชนะที่ทำไว้ในบริเวณวัดเพื่อบูชาพระเจ้า 5 พระองค์ ที่เป็นบรรพบุรุษด้านพุทธศาสนาในประเพณีเดิมของชาวลาวครั่ง และยังเป็นการน้อมรำลึกถึงพ่อแม่ที่เอากาเผือกตีนกามาทำสัญลักษณ์ เตือนสติไม่ให้ลืมบุญคุณพ่อแม่ ที่สว่างไสวนั้นเปรียบเสมือนกับชีวิตของคนเราที่ได้ไต้น้ำมัน จะบังเกิดความเจริญรุ่งเรืองเหมือนความสว่างของไฟและมีอานุภาพเหมือนเปลวไฟ น้ำมันที่ใส่ลงไปเหมือนธัญญาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่หล่อเลี้ยงชีพมีอยู่อย่างต่อเนื่องไม่หมด ทำให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้ากัน (สมทรง บุรุษพัฒน์และคณะ, 2554, หน้า 107)
ทำบุญกลางบ้าน การทำบุญกลางบ้านของชาวลาวครั่งจะทำกันประมาณกลางเดือน 7 ของทุกปี (ขึ้น 15 ค่ำ) โดยมีความเชื่อกันว่า การทำบุญในวันพระนั้นจะได้บุญมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นวันล่อยผี การทำบุญกลางบ้านนี้จะนำเอาความเชื่อเรื่องผีแบบโบราณเข้มาผสมกับพิธีทางพระพุทธศาสนา เป็นการสะเดาะเคราะห์ ขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้าน แต่ละครัวเรือนจะทำกระทงจากกาบกล้วยรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือรูปสามเหลี่ยมเพื่อใส่ดินปั้นเป็นรูปคนเท่าจำนวนคนในเรือนของแต่ละครอบครัว และปั้นรูปสัตว์เลี้ยง เช่น วัว หมู ไก่ หมา ใส่ลงไปพร้อมหัวหอม หัวกระเทียม พริกแห้ง ข้าวขาว ข้าวดำ ข้าวแดง ขวดน้ำเล็กๆ นำไปให้ผีเพื่อใช้เป็นการแลกเปลี่ยนกับคนจริง โดยให้ผีเอารูปปั้นไปแทน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง (สมทรง บุรุษพัฒน์และคณะ, 2554, หน้า 107)
ทำบุญข้าวจี่ ประเพณีการทำบุญข้าวจี่ เป็นประเพณีการทำบุญชนิดหนึ่งของชาวบ้านวัดสระสี่เหลี่ยม ตำบลดอนรวก อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ซึ่งชาวบ้านในแถบนี้ส่วนใหญ่มีมีเชื้อสายลาวครั่ง จึงคาดว่าประเพณีนี้มีแบบอย่างมาจาก “บุญข้าวจี่” ของชาวไทยภาคอีสาน ซึ่งจะทำกันประมาณกลางเดือน 3 ของทุกปี โดยชาวบ้านจะนัดหมายเพื่อจัดงานทำบุญขึ้นบริเวณที่โล่งกว่างอย่างเช่น กลางหมู่บ้านหรือกลางลานวัด สถานที่จัดไว้ทำบุญนั้นเรียกว่า ผามบุญ โดยที่ชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์มาจากวัดหมู่บ้านอื่นด้วย (สมทรง บุรุษพัฒน์และคณะ, 2554, หน้า 107)
ในอดีตชาวลาวครั่งมีชีวิตแบบพึ่งตนเอง นับตั้งแต่การตั้งครรภ์ ในสมัยนั้นไม่เคยไปโรงพยาบาล ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จึงต้องดูแลตนเอง ผู้มีประสบการณ์จะเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ เมื่อใกล้กำหนดคลอดสามีจะต้องไปตัดหนามมาวางไว้ใต้ถุนบ้านตรงห้องที่ภรรยาจะอยู่ไฟ เพื่อป้องกันผีโพรงหรือผีอื่นๆ ที่จะมาทำอันตราย ญาติพี่น้องอาจจะไปบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในหมู่บ้าน เพื่อให้ผู้หญิงมีครรภ์คลอดลูกง่ายปลอดภัยและแข็งแรง เมื่อเวลาเจ็บท้องจะคลอดลูก หมอตำแยผู้ซึ่งเป็นทั้งหมอตำแยและหมอนวดเส้นเป็นคนทำคลอด เมื่อทารกคลอดออกจากครรภ์มารดาแล้ว หมอตำแยจะใช้ผิวไม้ไผ่ตัดสายสะดือ ถ้าเป็นเด็กชายรกจะถูกนำไปใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วนำไปแขวนไว้ที่ดงไผ่ เชื่อว่าเมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะปีนต้นไม้เก่ง ส่วนรกของเด็กหญิงจะนำไปฝังไว้ใต้บันไดเรือนจะได้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เด็กคนใดที่เลี้ยงยากขี้โรคก็นำไปขายฝากให้เป็นลูกของผู้หญิงที่มีลูกดก ผู้หญิงลูกดกคนนั้นจะต้องนำเงินจำนวนหนึ่งมาซื้ออตัวเด็ก เชื่อกันว่าเป็นวิธีป้องกันไม่ให้ผีเอาตัวเด็กไป หลังจากที่มีสมาชิกใหม่ถือกำเนิดขึ้นในหมู่บ้านแล้ว บิดามารดาของเด็กจะต้องนำเด็กไปบอกแก่กวน เพื่อให้กวนช่วยทำพิธีบอกกล่าวให้ผีเจ้านายรับทราบว่าเป็นลูกหลานของเจ้านายหรือเจ้าพ่อ ช่วยปกปักรักษาให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวง และขอให้เป็นด็กดี สำหรับหญิงมีครรภ์นิยมอยู่ไฟหลังคลอด ต้อง”คะลำของกิน” คือกินอาหารที่ไม่เป็นอันตรายตามความเชื่อของลาวครั่ง โดยมากอาหารที่ดีที่สุดเป็นข้าวกับเกลือหรือปลาแห้ง แต่ปัจจุบันลาวครั่งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น
การแต่งงานของชาวลาวครั่งมี 2 แบบ คือ แต่งงานแบบขนบประเพณีโบราณและแต่งงานแบบสมัยนิยม การแต่งงานแบบประเพณีโบราณ หรือเรียกกันว่า การกินดอง มักจะแต่งในกลุ่มลาวครั่งด้วยกัน การแต่งแบบนี้จะมีการแห่ขวัญ ซึ่งทำเป็นบายศรีของเจ้าบ่าวแห่มาบ้านเจ้าสาว ระหว่างเคลื่อนบวนแห่จะมีการร้องรำทำเพลง มีคนแบกหีบที่ใส่เสื้อผ้า เงินทอง ที่บิดามารดาใส่ให้มาไว้เป็นขวัญถุงหรือเงินทุนสำรอง เครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับการออกเรือนและที่บ้านเจ้าสาวก็จะจัดบายศรีไว้ทำขวัญเช่นกัน เมื่อคณะเจ้าบ่าวแห่มาถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว คนหามพาขวัญจะวางพาขวัญไว้คู่กับของเจ้าสาว สิ่งที่บรรจุในพาขวัญ เช่น ใบเงิน ใบทอง ใบดอกรัก อย่างละ 9ใบ กล้วยสุก เหล้าขาว หมาก พลู เทียนขี้ผึ้ง 1 คู่ ด้ายขวัญ เป็นต้น ต่อจากนั้นเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะนั่งเคียงคู่กัน มือซ้ายวางแตะที่พาขวัญมือขวาแบออกป้องที่หู หมอทำขวัญเป็นผู้นำทำพิธีต่างๆ กล่าวสอนผู้บ่าวผู้สาว แล้วปั้นข้าวร้อน ไข่ต้มส่งให้คู่บ่าวสาวรับประทาน ต่อจากนั้นผูกกด้ายขวัญให้คู่บ่าวสาว เมื่อเสร็จพิธีแล้วจะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน ปัจจุบันเป็นการแต่งงานแบบสมัยนิยม การแต่งงานแบบไทย มีพิธีสงฆ์และหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ ผูกแขน มีการทำบุญตักบาตรให้พร ยกขันหมาก สู่ขวัญ ฯลฯ (มยุรี ถาวรพัฒน์ และ เอมอร เชาว์สวน, 2548, หน้า 23)
เมื่อมีคนตายแบบธรรมชาติ เช่น ป่วย ชรา ญาติจะจัดงานที่บ้านมีการรดน้ำศพ สวดพระอภิธรรมในตอนเย็น ประมาณ 2-3 วัน จึงนำไปเผาที่วัด และเก็บกระดูกไว้ 100 วัน จึงมีพิธีทำบุญกระดูกหรือทำบุญให้คนตาย อาจทำพิธีเลี้ยงพระ คือนิมนต์พระมาสวดและถวายภัตตาหารเพล หรือจะเก็บกระดูกไว้รอจัดงานในช่วงเดือน 3 ถึงเดือน 5 ก็ได้ พิธีทำบุญกระดูกหรือทำบุญคนตายเป็นงานใหญ่ บางบ้านที่มีฐานะร่ำรวยก็จัดให้มีมรสพ เช่น ภาพยนตร์ หมอลำ เป็นต้น หากตายแบบผิดปกติตามความเชื่อของลาวครั่ง เช่น ถูกฆ่า หรือเกิดอุบัติเหต จะจัดงานที่วัด ไม่นำศพเข้าบ้าน ถ้าเป็นสมัยก่อนจะนำไปฝัง แต่ปัจจุบันนิยมเผาเหมือนศพที่ตายแบบธรรมชาติ นอกจากนี้จะต้องมีคนนำข่าวการตายของสมาชิกในหมู่บ้านไปบอกกวนให้ทราบ เพื่อทำพิธีบอกให้ผีเจ้านายทราบ และขออโหสิกรรม หากผู้ตายได้เคยทำอะไรล่วงเกินไป
เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นในเดือน 7ของทุกปี เพื่อเป็นการตอบแทนต่อรอง ร้องขอของชาวบ้านในเรื่องการให้ความคุ้มครองปกปักรักษาจากผีบรรพบุรุษ ที่มีต่อลูกหลานและเพื่อสร้างความเคารพยำเกรงและนับถือผีร่วมกัน การเลี้ยงผีบรรพบุรุษจึงเป็นแบบแผนการปฏิบัติทางพฤติกรรมที่ลูกหลานต้องกระทำทุกปีเชื่อว่าเจ้านายจะดูแลคุ้มครองหมู่บ้าน เป็นผีที่ใหญ่ที่สุด เชื่อว่ามีอิทธิพลสามารถบันดาลให้ดีหรือร้ายได้ พิธีเลี้ยงปีเป็นพิธีกรรม ที่มีความผูกพันกับการดำรงชีวิตของชาวลาวครั่งเป็นอย่างมาก เพราะสามารถรวมคนทั้งหมู่บ้านได้โดยไม่มีการเชิญ นอกเหนือจากการให้ความเคารพนับถือแล้วผีเจ้านายยังเป็นธรรมนูญชาวบ้านที่คอยควบคุมความประพฤติของลูกผึ้งลูกเทียน แม้ว่าปัจจุบันระบบการศึกษา การสื่อสาร ความทันสมัย เข้าถึงชุมชนอย่างทั่วถึง กลุ่มลาวครั่งก็มิได้ปฏิเสธ แต่รับเข้ามาผสมผสานปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ได้อย่างลงตัว
ส่วนประกอบสำคัญของหอผีเจ้านายนั่นก็คือ หลักเมืองบริเวณบันไดที่เรียกว่า “เขื่อนช้างเขื่อนม้า” หรือ “หลักเมือง” ตั้งอยู่ระหว่างหอใหญ่สองหลัง เป็นบันไดเล็กๆ มีจำนวน 1-2 ชิ้น บริเวณบันได มีเครื่องเซ่นไหว้ประเภทพวงมาลัย เทียน หมากพลู ไหเหล้าและไม้สำหรับไว้ตีหัวไก่ บริเวณหลักเมืองนี้ใช้สำหรับให้เพชฌฆาตนำหมูและไก่มาฆ่า โดยพาดส่วนคอของหมูที่ชั้นบันไดแล้วใช้มีดแทงที่ลำคอเพื่อให้เลือดหยดลงบนขั้นบันได สำหรับเครื่องเซ่นไหว้บวงสรวงที่เป็นไก่เพชรฆาตนำส่วนคอของไก่พาดที่หลักเมืองแล้วใช้ตีที่หัวใจเพื่อให้เลือดหยดบนบันไดหลักเมืองเช่นกัน ซึ่งเป้นการแสดงความเคารพนับถือให้เจ้านายเห็นว่าแม้กระทั่งหมู ไก่ ลูกหลานก็นำของมีชีวิตมาเซ่นไหว้สดๆ เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เจ้านายชื่นชอบ พึงพอใจ และให้การปกปักรักษาลูกหลานเป็นอย่างดี (สุรัตน์ เพชรนิล, ศักดา ทวิชศรี, 2557, หน้า 51)
การบวช คนลาวครั่งถือว่าการบวช เป็นประเพณีที่มีความสำคัญของชีวิตลูกผู้ชาย เพื่อเป็นการตอบแทนคุณบิดามารดา และเป็นการสร้างบุญคุณตามความเชื่อในพุทธศาสนา เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ถือว่าเป็นงานใหญ่ของครอบครัวที่มีลูกชาย เมื่อถึงวันอุปสมบท มีการทำขนมจีน อาบน้ำนาค ขอขมาคนเฒ่าคนแก่ ขอขมาเจ้าพ่อเจ้าแม่ โดยมีกวนช่วยทำพิธีบอกกล่าวและขอให้ช่วยให้งานบวชครั้งนี้ราบรื่น ไม่มีอุปสรรค ทำขวัญนาค ขบวนแห่รับนาคและนำนาคไปบวชที่วัด มีคนมาร่วมงานมาก ที่บ้านนานาคจะขี่ม้าที่ทำจากโครงไม้ ใช้หญ้าคาหรือฟางประกอบเป็นตัวม้าและขาม้า แล้วหุ้มด้วยกระดาษทาสีตกแต่งให้สวยงาม เมื่อเวลาแห่นาคจะให้หนุ่มๆ ช่วยกันหามไป หรือบาครั้งอาจขี่ม้าจริงๆ ก็ได้
ชาวลาวครั่งมีการนับถือผีตามบรรพบุรุษ 2 ฝ่ายคือ ผีเจ้านายและผีเทวดา ผีเจ้านายเป็นผีของกษัตริย์ที่เคยปกครองชาวลาวครั่งมาตครั้งที่อยู่เมืองหลวงพระบาง แต่ก็มีชาวบ้านบางคนบอกว่า ผีเจ้านายเป็นวิญญาณของผีบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย ส่วนผีเทวดาเป็นวิญญาณของเทวดาที่คอยคุ้มครองรักษาบ้านเมืองของชาวลาวครั่งมาตั้งแต่ครั้งที่อยู่เมืองหลวงพระบาง ในการติดต่อกับวิญญาณตลอดจนพิธีกรรมการเลี้ยงผีต่างๆ จะเป็นหน้าที่ของ “กวน” และ “คนต้น” เป็นอย่างมาก และจะมีประเพณีเลี้ยงผีประจำปีในราวอาทิตย์ที่ 2 วันที่ 8 ของเดือน 7 เป็นประจำทุกปี ฝ่ายผีเจ้านายจะทำพิธีเลี้ยงผีก่อน หลังจากนั้นจะเป็นการเลี้ยงผีเทวดา ศาลของผีแต่ละฝ่ายจะตั้งอยู่ในป่าละเมาะใกล้ๆ กับหมู่บ้าน “กวน” และ “คนต้น” จะเป็นผู้กำหนดเวลาในการจัดงานการเลี้ยงผีประจำปี การเซ่นไหว้ประจำปี นอกจากจะเป็นการเซ่นไหว้เพื่อเป็นการสำนึกและขอขมาลาโทษในสิ่งที่ได้ทำไว้ ครอบครัวที่เพิ่งจะแต่งงานไปนั้น ยังถือเอาโอกาสนี้เป็นการบอกกล่าวให้ผีได้รู้ว่าครอบครัวของตนมีสมาชิกเพิ่มขึ้น เพราะชาวลาวครั่งทุกคนจะมีแบบแผนการปฏิบัติต่อกันมาว่าชาวลาวครั่งจะต้องขึ้นผีบรรพบุรุษทุกคน ไม่ว่าจะทำการใดๆ ก็ต้องแจ้งให้ผีรู้ทุกครั้ง เมื่อทำพิธีเลี้ยงผีเสร็จก็จะนำอาหารที่เหลือมาเลี้ยงกันเองในหมู่คนที่มาร่วมงานพิธีเลี้ยงผีของชาวลาวครั่ง
ความเชื่อในผีบรรพบุรุษซึ่งมีทั้งฝ่ายเจ้านายและฝ่ายเทวดาเป็นความเชื่อที่อิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคลาวครั่ง ระบบโครงสร้างสังคลาวครั่ง การสืบสานตระกูลส่วนใหญ่จะสืบทางฝ่ายแม่ การแต่งงานผู้ชายส่วนใหญ่จะย้ายมาอาศัยอยู่บ้านฝ่ายหญิง
แม้ว่าชาวลาวครั่งจะอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานแล้วก็ตาม ชาวลาวครั่งยังคงรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมอันดีงามไว้ได้เป็นอย่างดี เช่นประเพณีแห่ธงสงกรานต์ พิธีไต้น้ำมันวันออกพรรษา ทำบุญกลางบ้าน และทำบุญข้าวจี่ (สมทรง บุรุษพัฒน์และคณะ, 2554, หน้า 104)
บุคคลที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับผีเจ้านายประกอบด้วย “คนทรง” คนทรงจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างวิญญาณผีเจ้านายกับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้พูดคุยสื่อสารโดยตรงกับผีเจ้านาย โดยเฉพาะในพิธีเลี้ยงปีผีเจ้านาย คนทรงจึงเปรียบเสมือนตัวแทนผีเจ้านาย
กวน คือผู้นำในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการแก้บน บอกกล่าวหรือเชิญให้มาประทับร่างทรง การได้มาซึ่งตำแหน่งกวน คือ สืบทอดมาจากสายตระกูลจากพ่อสู่ลูกชาย จากการจับ (เลือกป ของร่างทรง หรือจากการคัดเลือกผู้อาวุโสที่มีคุณงามความดีมีคุณธรรมและมีความรู้เกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมเป็นอย่างดี กวนเป็นตำแหน่งที่ยอมเสียสละเวลาของตนเพื่อประโยชน์ของชาวบ้าน ช่วยเหลือประกอบพิธีกรรมโดยเต็มใจ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซื่อสัตย์และซื่อตรง ไม่เห็นแก่ข้าวของเงินทองค่าจ้าง
บริวารหรือสมุน คือตำแหน่งที่ได้มาโดยการจับของร่างทรง เพื่อไว้เป็นคนรับใช้ทำงานต่างๆ ในวันประกอบพิธีกรรม ประกอบด้วยเพชฌฆาต ทหาร ม้าขี่ แม่เมือง เป็นต้น (สุรัตน์ เพชรนิล, ศักดา ทวิชศรี, 2557, หน้า 50-51)
เครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวครั่ง คือ แคน ชาวลาวครั่งจะมีการเล่นแคน เป่าแคนกันตลอดมา เดิมนั้นเป็นแคนวงใช้ประกอบการรำ แต่แคนวงประยุกต์นั้น สามารถร้องรำและเต้นให้เกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้น วงแคนจะแสดงในงานมงคลงานรื่นเริง เช่น ขบวนแห่นาค งานประเพณีแห่ธงสงกรานต์ งานแห่กฐินผ้าป่า และงานแห่อื่นๆ
นอกจากแคน ก็ยังมีเครื่องดนตรีประเภทกลองยาวและกลองรำมะนา ผู้ชายจะเป็นผู้เล่นและผู้ประดิษฐ์การเล่นกลองยาวกับกลองรำมะนา หากเล่นหลายคนจะเรียกว่า “วงกองญาว” (วงกลองยาว) ผู้ชายและผู้หญิงทุกวัยชอบฟ้อนรำ
การละเล่นพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวครั่ง คือ การเล่นผีนางด้ง และการเล่นผีนางกวัก ซึ่งนิยมเล่นช่วงกลางคืนของเทศกาลสงกรานต์ โดยใช้ลานกลางหมู่บ้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุกสนานและสร้างเสริมความมั่นใจให้กับชีวิต เป็นการเชิญผีที่เป็นหมอดูออกมาในวันสงกรานต์มาเข้านางด้งและนางกวักเพื่อตอบคำถาม การเรียกผีนางด้งและนางกวักเรียกตามอุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่น ผีนางด้งเรียกตามกระด้ง ฝัดข้าวที่ทำจากไม้ไผ่สาน ผีนางด้งจะมาสิงอยู่ในกระด้งเพื่อทายเนื้อคู่ การเรียก ของหายการเจ็บไข้ ส้วนผีนางกวักเรียกตามกวัก คือ เครื่องสานด้วยไม้ไผ่ ใช้สำหรับกรอด้ายแทนหลอดด้าย การถามผีนางกวักจะถามเรื่องโชคลาภ การเล่นผีนางกวักจะเป็นที่นิยมมากกว่าการเล่นผีนางด้ง (สมทรง บุรุษพัฒน์และคณะ, 2554, หน้า 107-108)
Access Point |
---|
No results found. |
ลาวครั่งตำบลโพรงมะเดื่อ ให้ความสำคัญกับงานประเพณีแห่ธงสงกรานต์เป็นอย่างมาก มีการจัดริ้วขบวนแห่อย่างสวยงาม แต่งกายตามอัตลักษณ์ด้วยซิ่นแบบฉบับของลาวครั่ง รวมถึงงานบวงสรวงศาลเจ้าพ่อ ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมใจของคนในชุมชน