กลุ่มชาติพันธุ์: ญัฮกุร
ชื่อเรียกตนเอง: ญัฮกุร เนียะกุล
ชื่อที่คนอื่นเรียก: ชาวบน คนดง ชาวละวา
ชื่อที่ปรากฏในภาษาอังกฤษ: Nyah Kur, Nyah-Kur, Nyahkur, Manih Nyakur
ญัฮกุรเรียกตนเองว่า "ญัฮกุร" หรือ "เนียะกุร" คำว่า "ญัฮ" และ "เนียะ" แปลว่า "คน" ส่วนคำว่า "กุร" แปลว่า "ภูเขา" รวมความจึงแปลว่า "คนภูเขา" ทว่าคนภายนอกจะเรียกแตกต่างกันไป ถ้าเป็นที่จังหวัดเพชรบูรณ์จะเรียกญัฮกุรว่า "ละว้า" หรือ "ชาวบน" ถ้าเป็นจังหวัดชัยภูมิและนครราชสีมาจะเรียกว่า "คนดง" "ชาวดง" หรือเรียกตามที่ทางการเรียกว่า "ชาวบน"
ในบทความของ อีริค ไซเดนฟาเดน (Erik Seidenfaden) ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 2461 ได้สำรวจเขตนครราชสีมา คนภายนอกเรียกญัฮกุรว่า "ชาวบน" แต่ชาวญัฮกุรเรียกตนเองว่า "Nia-kuol" (เนียะกุล) โดย "เนียะ" แปลว่าคน "กุล" แปลว่าภูเขา อีกทั้งอธิบายว่า ญัฮกุรมีวิถีชีวิตเป็นนายพรานเร่ร่อนในเขตป่าดงใกล้กับเชิงเขาพนมดงรัก ซึ่งอยู่ใกล้กับรอยต่อของโคราชและจังหวัดปราจีนบุรี (Seidenfaden, 1918)
ต่อมาในปี พ.ศ.2462 อีริค ไซเดนฟาเดน ได้ไปสำรวจที่จังหวัดชัยภูมิพบว่า "ชาวบน" ที่ทางการเรียกว่า "ละว้า" (Lava) เมื่อศึกษาทางด้านภาษาแล้วพบว่าชาวบนกลุ่มนี้คือ "ญัฮกุร" และในคำบอกเล่าของญัฮกุรเอง ยังบอกด้วยว่าพวกตนอพยพมาจากเพชรบูรณ์ (Seidenfaden, 1919)
ในปี พ.ศ.2464 พระเพ็ชร์บูรณ์บุรี ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดได้อธิบายว่า คนท้องถิ่นเรียกชาวบนว่า "ละวา" (คำว่า "วา" ไม่มีไม้โท) ดังความว่า "คนจำพวกนี้เรียกชาติของเขาเองว่าชาติละวา คนทั่วไปที่ใกล้เคียงกับที่เขาอยู่เรียกว่าชาวบน" (พระเพ็ชร์บูรณ์บุรี, 1921) ในหนังสือของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ เรื่องชาวเขาในไทย (2545) เรียกชาวบนว่า "ละว้า"
ในปี พ.ศ.2541 มีการทำ "สารานุกรมญัฮกุ้ร" โดยอภิญญา บัวสรวง นับเป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ที่เรียกชื่อ ญัฮกุร อย่างเป็นทางการ (อภิญญา บัวสรวง 2541) คำว่า "กุ้ร" ในหนังสือเล่มนี้ได้ใส่ไม้โทเพื่อกำกับเสียงให้เป็นเสียงสูง
ความภูมิใจในการเรียกชื่อตนเองว่า "ญัฮกุร" เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2549 เป็นเพราะมีการส่งเสริมให้ญัฮกุรทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันคำว่า "มอญโบราณ" ได้เริ่มแพร่หลายเช่นกัน ดังเห็นได้จาก สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ "ญัฮกุร มอญโบราณแห่งเทพสถิต" (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ 2549) หนังสือเล่มนี้พิมพ์แจกญัฮกุรเป็นจำนวนมาก สาเหตุที่เรียกว่ามอญโบราณนั้น เป็นเพราะภาษาของญัฮกุรมีความใกล้เคียงกันมากกับภาษามอญโบราณในสมัยทวารวดี ซึ่งก่อนหน้านั้น นักภาษาศาสตร์ชื่อ เจอราร์ด ดิฟโฟลธ (Gérard Diffloth) ได้ศึกษาไว้แล้วอย่างละเอียดในหนังสือเรื่อง "The Dvaravati Old Mon Language and Nyah Kur" ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1984
จากประสบการณ์ของผู้เก็บข้อมูล ปัจจุบันถ้าเข้าไปในหมู่บ้านของญัฮกุร กรณีถ้าไม่สนิทชาวบ้านมักจะเรียกตัวเองว่า "ชาวบน" หรือคนแก่บางคนในหมู่บ้านก็จะติดการเรียกแทนตนเองว่า "คนดง" หรือ "ชาวดง" แต่เมื่อสนิทกันหรือถ้าชาวบ้านรู้ว่าเรารู้จักชื่อญัฮกุร ก็จะเรียกแทนกลุ่มชาติพันธุ์ตนเองว่าญัฮกุร ส่วนในพื้นที่ท่องเที่ยวหรือการแสดงบางครั้งก็มีการใช้คำว่า "ชาวมอญโบราณ" ปัญหาอย่างหนึ่งของการใช้คำนี้ก็คือ ญัฮกุรไม่เคยนิยามตนเองว่าเป็นมอญ และเป็นการเรียกตามผ่านการเปรียบเทียบข้อมูลจากภาษาของคนกลุ่มหนึ่งในสมัยโบราณกับภาษาของญัฮกุรในปัจจุบัน ที่ยังไม่อาจมองเห็นความต่อเนื่องกันทางประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจน
การถูกเรียกชื่อและการปรับตัวของชาวญัฮกุร
เดิมทีเมื่อย้อนไปสมัยอดีตชาวญัฮกุรเป็นชาวมอญโบราญที่มักจะรู้จักหรือถูกเรียกโดยผู้คนอื่น ๆ ที่มิใช้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเรียกว่า "ชาวบน" "คนดง" หรือแม้แต่ "ชาวละว้า" โดยทั้งหมดนี้มีความหมายที่เป็นไปในทางเดียวกันว่าชาวเขา คนที่อาศัยอยู่บนภูเขา คนที่อาศัยอยู่บนที่สูง หรือคนป่า (บุญยงค์ เกศเทศ, 2539) สาเหตุหลักก็เนื่องมาจากวิถีการดำรงชีวิตของชาวญัฮกุรมักจะมีการพึ่งพิงหรือยึดโยงกับธรรมชาติเป็นหลัก รวมไปถึงแหล่งที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ อาหาร ความรู้เรื่องพืชพันธุ์สมุนไพร ยารักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ระบบความเชื่อ สังคมและวัฒนธรรมของชาวญัฮกุรมักจะเกี่ยวข้องกับธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำ และสัตว์ป่า ภาพดังกล่าวได้สร้างภาพจำและความเข้าใจของผู้คนภายนอกที่ตีความหรือเรียกชาวญัฮกุรว่าเป็นชาวบน ในภาษาชาวบ้าน (ปรีชา อุยตระกูล และกระหนก โตสุรัตน์, 2519)
ไม่เพียงแต่ชาวบ้านที่เรียกชาวญัฮกรุว่า "ชาวบน" หรือ "ชาวดง" แม้แต่ตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุรเองในอดีตก็ยังไม่มีการเรียกตนเองว่าชาวญัฮกุรอย่างแพร่หลายมากนัก เพราะชาวญัฮกกุรส่วนใหญ่มักจะมีการใช้ชีวิตในลักษณะของการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เร่ร่อน และสันโดษ กอปรกับการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัฒน์ จากสังคมภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบทุนนิยมที่เข้ามาในช่วง พ.ศ. 2510 ส่งผลให้ชาวญัฮกุร จำนวนไม่น้อย เริ่มสูญเสีย อัตลักษน์ของชาติพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของคนรุ่นใหม่ทำให้มีเพียงผู้สูงอายุที่ยังคงรู้ว่าตัวเองนั้นเป็นชาวญัฮกุรและยังคงใช้ภาษานี้ได้อยู่
ในปัจจุบันชุมชนที่มีการอาศัยอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุร ยากที่จะจำแนกได้ด้วยลักษณะภายนอกว่าใครเป็นชาวญัฮกุรได้อย่างชัดเจน แม้แต่คนรุ่นใหม่บางคนที่พูดหรือเข้าใจภาษาญัฮกุรได้ ก็มักจะไม่แสดงตน ว่าตนเป็นชาวญัฮกุรเพราะมักจะให้เหตุผลว่าปัจจุบันใช้ภาษาไทยกลาง หรืออีสานเป็นหลักมากกว่าไม่ว่าจะเป็นใช้ในการติดต่องานหรือสื่อสารอื่น ๆ จึงทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนมองว่าไม่จำเป็น กอปรกับไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้หรือฝึกษาญัฮกุรด้วยจึงทำให้การใช้ภาษากำลังเข้าสูญหายไปเรื่อย ๆ ปัจจุบันภาษาญัฮกุรจัดอยู่ในหนึ่งในสิบสี่ภาษาท้องถิ่นที่เข้าสู้ขั้นวิกฤตที่จะสูญหายอย่างรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้นคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะวัยรุ่นบางคนกลับมองว่าเป็นภาษาที่ล้าหลังด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 จนปัจจุบันในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นของประเทศไทยเริ่มมีการส่งเสริมให้มีการใช้ภาษาและอนุรักษ์ เชิดชูความเป็นท้องถิ่นและเพื่อใช้เป็นการสร้างธุรกิจเชิงท่องเที่ยวหนึ่งในนั้นคือ การอนุรักษ์ภาษาและโบราณคดี (กฤษฎา พิณศรีและคณะ, 2550) ทำให้ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุรหลายชุมชน โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่อำเภอเทพสถิตได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้มีการอนุรักษ์ภาษาถิ่นจากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดลและ สกว. โดยดำเนินการจัดทำโครงการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของชาวยัฮกุร ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์ภาษา สร้างจิตสำนึกในการธำรงชาติพันธุ์ และส่งเสริมให้องค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ อาทิ การผลักดันให้มีการสอนภาษาญัฮกุรในโรงเรียน การกำหนดให้มีภาษาเขียนโดยใช้ตัวอักษรภาษาไทยเพื่อใช้สื่อสารภาษาญัฮกุร หรือแม้แต่การรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อสร้างเป็นสารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุรเพื่อใช้เป็นประโยชน์ด้านการศึกษาอื่น ๆ ต่อไป (นารีสนทนา, 2561)
ภาษาญัฮกุรจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic language family) ในสาขาโมนิก (Monic) หรือมอญ จัดอยู่ในกลุ่มภาษามอญโบราณ (Old Mon) ซึ่งแตกต่างจากภาษามอญในปัจจุบันที่เป็นภาษามอญใหม่ (Modern Mon) ในหมู่บ้านไร่มีมอญจากพม่าคนหนึ่งชื่อนายสุเคน (ไม่มีนามสกุล) ได้ทดลองเทียบเสียงคำพื้นฐานหลายคำ พบว่าใกล้เคียงกันเฉพาะคำหลัก เช่น คำว่า "ปลา" ออกเสียงว่า "ก้า" คำว่า "กินข้าว" ออกเสียงว่า (ญัฮกุร) "จาโป้ง" (มอญ) "เจี่ยปึ่ง" หรือ "เชื่อโป้ง" เป็นต้น
นักภาษาศาสตร์คนสำคัญคือ เจอราร์ด ดิฟโฟลธ (Gérand Diffloth) ได้เปรียบเทียบภาษาญัฮกุรกับภาษามอญในจารึกสมัยทวารวดี พบว่ามีความใกล้เคียงกัน จึงเป็นที่มาให้นักวิชาการบางคนเรียกญัฮกุรว่า "ชาวมอญโบราณ"
เนื้อหาโดย อาจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เอกสารอ้างอิง
สัมภาษณ์
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ | 6000 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
การกระจายตัวของญัฮกุร
เมื่อราว 100 ปีก่อน อีริค ไซเดนฟาเดน (Erik Seidenfaden) ชาวต่างชาติที่รับราชการในราชสำนักสยามสมัยรัชกาลที่ 6 ในตำแหน่ง Provincial gendarmerie ได้สำรวจชาวบน (Chaubun) หรือญัฮกุร พบว่ามีการกระจายตัวอยู่ใน 3 จังหวัดคือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งตรงกับข้อมูลในปัจจุบัน และในบทความของไซเดนฟาเดนยังได้ระบุด้วยว่า ที่จังหวัดชัยภูมิได้พบญัฮกุรที่เขตบ้านชวน และจัตุรัสด้วย (Seidenfaden, 1918; 1919) แต่ในปัจจุบันไม่พบญัฮกุรในพื้นที่ดังกล่าวอีก
ในปี ค.ศ. 1980 ที่เจอราร์ด ดิฟโฟลธ (Gérand Diffloth) ได้สำรวจภาษาของญัฮกุรเพื่อจัดทำเป็นพจนานุกรมพบว่ายังมีญัฮกุรในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และนครราชสีมา แต่การใช้ภาษาญัฮกุรในเขตจังหวัดนครราชสีมาและเพชรบูรณ์ ถดถอยลงไปมากจนเหลือคนที่พูดได้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น ส่วนในเขตจังหวัดชัยภูมิก็ไม่พบชาวญัฮกุรในเขตบ้านชวน อำเภอบำเหน็จณรงค์ และอำเภอจัตุรัสอีก อย่างไรก็ตามชาวญัฮกุรในเขตอำเภอเทพสถิตยังคงมีเครือญาติอยู่ในเขตอำเภอบำเหน็จณรงค์ (สัมภาษณ์ นายพนม จิตร์จำนงค์, 2557)
ในหนังสือ “ญัฮกุร มอญโบราณแห่งเทพสถิต” ตีพิมพ์ปี 2549 รายงานว่า พบญัฮกุรในสามจังหวัด โดยจังหวัดชัยภูมิ พบญัฮกุรหนาแน่นที่สุดที่อำเภอเทพสถิต ได้แก่ บ้านไร่ บ้านวังอ้ายโพธิ์ บ้านวังอ้ายคง บ้านน้ำลาด บ้านเสลี่ยงทอง บ้านวังตาเทพ บ้านท่าโป่ง บ้านโคกสะอาด บ้านสะพานหิน บ้านสะพานยาง ในอำเภอบ้านเขว้า พบที่บ้านวังกำแพง ในอำเภอหนองบัวระเหวพบที่บ้านท่าโป่ง บ้านห้วยแย้ ส่วนที่นครราชสีมาพบในเขตอำเภอปักธงชัยที่บ้านกลาง บ้านพระบึง บ้านวังตะเคียน บ้านมาบกราด ที่อำเภอครบุรีพบที่บ้านตลิ่งชัน และพบที่อำเภอหนองบุนนากที่บ้านไทรน้อยพัฒนา ส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์พบที่บ้านน้ำเลา บ้านห้วยไคร้ บ้านท่าด้วง และในเขตอำเภอเมือง (สุวิไล เปรมศรีรัตน์, 2549)
ข้อมูลจากสารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ญัฮกุ้ร และการสัมภาษณ์นายพนม จิตร์จำนงค์ ชาวญัฮกุรที่บ้านไร่ พบว่าญัฮกุรมักกระจายตัวตามเขตภูเขา สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มเทือกเขาพังเหย: จังหวัดชัยภูมิ อำเภอเทพสถิต ในเขตตำบลบ้านไร่ พบที่บ้านไร่ บ้านวังอ้ายคง บ้านวังอ้ายโพธิ์ บ้านโคกกระเบื้องไห บ้านเทพอวยชัย บ้านวังตาเทพ ในเขตตำบลนายางกลัก พบที่บ้านน้ำลาด บ้านเสลี่ยงทอง บ้านสะพานหิน บ้านสะพานยาว และบ้านโคกสะอาด ในเขตอำเภอหนองบัวระเหว พบที่บ้านท่าโป่ง และบ้านห้วยแย้ ในเขต อำเภอบ้านเขว้า ตำบลซีบน พบที่บ้านวังกำแพง และในเขตอำเภอซับใหญ่ พบที่บ้านหนองบัว บ้านหนองใหญ่ และบ้านบุฉนวน
กลุ่มเทือกเขาสันกำแพง: จังหวัดนครราชสีมา ในเขตอำเภอปักธงชัย พบที่บ้านกลาง บ้านพระบึง บ้านวังตะเคียน บ้านคลองสาลิกา และบ้านตะขบ และในเขตอำเภอครบุรี ตำบลโคกกระชายพบที่บ้านมาบกราด ตำบลจระเข้หินพบที่บ้านตลิ่งชัน
กลุ่มเทือกเขาเพชรบูรณ์ตะวันออก: จังหวัดเพชรบูรณ์ ในเขตอำเภอเมือง พบที่บ้านน้ำเลา และบ้านห้วยไคร้ และในเขตอำเภอหนองไผ่ พบที่บ้านท่าด้วง
แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งและการกระจายตัวของหมู่บ้านชาวญัฮกุรในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าหมู่บ้านกระจายตัวอยู่ตามแนวเทือกเขาวงโค้งของเทือกเขาเพชรบูรณ์ตะวันออก-เทือกเขาพังเหย-เทือกเขาสันกำแพง แทบทั้งหมดของชาวญัฮกุรตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาพังเหย อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ
จากแผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งและการกระจายตัวของหมู่บ้านญัฮกุรในประเทศไทย จะเห็นได้ว่า หมู่บ้านญัฮกุร กระจายตัวอยู่ตามแนวเทือกเขาวงโค้งของเทือกเขาเพชรบูรณ์ตะวันออก-เทือกเขาพังเหย-เทือกเขาสันกำแพง โดยญัฮกุรเกือบทั้งหมดตั้งถิ่นฐานอยู่บนแนวเทือกเขาพังเหย อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ
ประวัติความเป็นมาของญัฮกุร
การจัดแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ในความคิดของญัฮกุร เป็นที่รับรู้กันพอควรในหมู่ญัฮกุรที่มีอายุมากหน่อย เช่น นายทองอยู่ บัวจัตุรัส อายุ 63 ปี นางผอม แยกจัตุรัส อายุ 65 ปี นายเติม โย้จัตุรัส อายุ 73 ปี มีระบบการจัดแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ในแบบตำนานของตนเอง โดยแบ่งยุคสมัยออกเป็น 4 ยุค ดังนี้
ยุคที่ 1 ยุคสมัยนิทานหรือยุคยักษ์ (ภาษาญัฮกุรเรียกว่า "มารยักษ์") สมัยก่อนคนกับสัตว์คุยกันรู้เรื่อง และมีเรื่องเล่าว่าสมัยก่อนยักษ์จะกินเนื้อกินตับและกินเลือดคน
ยุคที่ 2 ยุคทำมาหากิน (ภาษาญัฮกุรเรียกว่า "ชีร เพื่อ ปาจา?" ) มีคำทำนายไว้แบบปู่สอนหลานว่า “ดูคอยดูนะ พวกเจ้าจะได้พลิกแผ่นดินทำกิน” คือ เป็นยุคที่มนุษย์เริ่มทำการเพาะปลูกหากิน (ภาษาญัฮกุรคือ "นอมทำนาย เอ็ล ญัง เปญ ปะโตว เจา คอย กะคัฮ เนอ มึง นะ โค่ะ กะลับ แผนตี ปาคูจา")
ยุคที่ 3 ยุคทำมาหาใช้ (ภาษาญัฮกุรเรียกว่า "ชีร จา? อวร") เป็นยุคที่มีแต่ใช้เงิน ไม่มีเก็บ (ตรงกับสมัยปัจจุบัน)
ยุคที่ 4 ยุคอนาคต มีคำทำนายในภาษาไทยว่า "บอกกับลูกหลานไว้ว่าให้ระวัง จะไม่มีไม้กว้างไล่กา หินจะลอย น้ำเต้าจะจม ทางถนนจะกลายเป็นขนมเส้น ผู้หญิงจะหูเบา" (ในภาษาญัฮกุรว่า "ปะโตว เจาจัฮ ระวัง นะ กุนอม ชูงนะ กะวาง กัลป์อาก ฮมอง นะ ลอย ลุ่ล นะ จ็อม โตรว นะ คือ คะนมเซ่น เพราะ เพราะ กะตวร นะ คะยาล")
ประวัติหมู่บ้าน
ในเขตจังหวัดชัยภูมิ ผู้วิจัยได้ศึกษาประวัติศาสตร์อย่างละเอียด 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านไร่ บ้านวังอ้ายโพธิ์ และบ้านวังอ้ายคง เพราะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ไม่ห่างกันมาก มีเรื่องเล่าและตำนานต่าง ๆ พอควร และมีแหล่งโบราณคดีไม่ห่างจากหมู่บ้าน ผู้วิจัยพยายามลำดับอายุสมัยของหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งถือเป็นอำเภอที่มีญัฮกุรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด โดยการสัมภาษณ์ นางวุ้น เศรษฐจัตุรัส นางหนอน สีจัตุรัส ชาวบ้านวังอ้ายคง นายพนม จิตร์จำนง นายประยูร มองทองหลาง และนายสุวิทย์ วงษ์ศรี ชาวบ้านบ้านไร่ ดังนี้
หมู่บ้านรุ่นเก่า มีอายุเกิน 200 ปีหรือมากกว่านั้น ได้แก่ บ้านวังอ้ายโพธิ์ บ้านวังตาเทพ บ้านวังแร่ (ร้างไปแล้ว) บ้านปรกใหญ่ และบ้านไร่
หมู่บ้านอายุระดับกลาง มีอายุประมาณ 100 ปีหรือมากกว่านั้น ได้แก่ บ้านโคกกระเบื้องไห บ้านถ้ำคาว บ้านไร่ บ้านวังอ้ายคง บ้านเสลี่ยงทอง บ้านวังอ้ายโพธิ์ บ้านน้ำลาด บ้านสะพานหิน บ้านสะพานยาว และบ้านหนองบัวลาน
หมู่บ้านรุ่นใหม่หรือเพิ่งก่อตั้งมีอายุประมาณ 50 ปี หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย ได้แก่ บ้านเทพอวยชัย บ้านซับมงคล บ้านนา และบ้านวังแร่
อย่างไรก็ตาม ค่าอายุข้างต้นยังขาดความแน่นอน เพราะมาจากความทรงจำ นอกจากนี้ สมัยก่อนญัฮกุรมีรูปแบบการตั้งถิ่นฐานแบบกึ่งถาวร หากมีคนเจ็บป่วยหรือตายจะย้ายหมู่บ้าน หรือหากมีการทำไร่เลื่อนลอยที่อยู่ห่างหมู่บ้านมากขึ้นก็จะย้ายหมู่บ้าน ดังนั้น จึงมีการตั้งหมู่บ้านซ้ำในพื้นที่เดิม ยากที่จะกำหนดอายุให้ชัดเจนได้โดยง่าย ประวัติของหมู่บ้านที่ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลอย่างละเอียดมี 3 หมู่บ้าน ดังนี้
1) ประวัติบ้านไร่
ก่อนหน้าปี พ.ศ.2491 ญัฮกุรที่บ้านไร่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านตรงช่องตับเต่า (ไม่มีชื่อหมู่บ้าน) โดยอยู่ใกล้กับป่าหินงาม ลักษณะพื้นที่ของช่องตับเต่าเป็นที่ราบบนเนินเขา และอยู่ใกล้กับลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดปี เหมาะกับการเพาะปลูกและตั้งบ้านเรือน แต่ญัฮกุรไม่ได้ใช้น้ำจากลำห้วยเพื่อมาเพาะปลูกข้าว เพราะระบบการเพาะปลูกและการทำนาของญัฮกุรเป็นการเกษตรแบบ "ไร่เลื่อนลอย" (ชาวบ้านใช้คำว่าไร่เลื่อยลอย ไม่ใช่คำว่าไร่หมุนเวียน) ทำให้ใช้น้ำจากฝน (น้ำฟ้า) เป็นหลัก
นางอยู่ คูเกษตร วัย 70 ปี (พ.ศ. 2556) เล่าให้ฟังว่า ตนเคยอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านที่ช่องตับเต่า แต่ต้องย้ายมาเมื่อตอนเด็ก ๆ ในวัยประมาณ 5 ขวบ เพราะโรคฝีดาษระบาด ชาวบ้านหลายคนรวมถึงนางอยู่ด้วย เชื่อว่าต้นเหตุที่ทำให้ชาวบ้านเป็นโรคฝีดาษนั้น เนื่องจากเมื่อ 70 กว่าปีมาแล้ว หรือราว ๆ ทศวรรษ 2480 มีเครื่องบินลำหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องบินลำแรกที่บินมาแถบนั้น บินผ่านใกล้หมู่บ้าน หลังจากนั้นคนในหมู่บ้านก็เริ่มล้มป่วยด้วยโรคฝีดาษ ขึ้นตุ่มพุพองเต็มตัวไปหมด ในหมู่บ้านมีคนตายทุกวัน ทำให้ต้องย้ายหมู่บ้านหนีมาอยู่ที่บ้านไร่ ชาวบ้านเชื่อกันว่าเครื่องบินลำนั้นคงปล่อยสารเคมีบางอย่างลงมา จึงมักอธิบายว่าฝีดาษเกิดจากอาวุธเคมี (สัมภาษณ์ นางอยู่ คูเกษตร, 2556; นายเติม โย้จัตุรัส, 2556; นายยัง ยี่จัตุรัส, 2556)
เมื่อแรกตั้งหมู่บ้านไร่นั้น มีบ้านอยู่ราว 10-20 กว่าหลังคาเรือน และมีบางคนที่ไปตั้งบ้านอยู่ในพื้นที่รอบนอกของหมู่บ้าน ในสมัยนั้นชาวบ้านทำไร่ข้าว ปลูกเดือย และข้าวฟ่างหางกระรอก ชาวบ้านจากบ้านต่าง ๆ มารวมตัวกันที่บ้านไร่มากขึ้น เพราะพื้นที่บ้านไร่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยบริเวณหมู่บ้านอยู่ใกล้กับห้วยซับหวาย บ่อน้ำพระ และน้ำซับ และยังตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคม คือทางเกวียนและช่องเขาที่สามารถติดต่อไปยังเขตลพบุรีได้ง่ายอีกด้วย (สัมภาษณ์ นายเติม โย้จัตุรัส, 2556)
ต่อมา ผลจากนโยบายส่งเสริมการบุกเบิกที่ดินเพื่อทำการเกษตรตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายหลัง พ.ศ.2500 ตรงกับรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้เริ่มมีชาวไทยโคราชและชาวไทยอีสานอพยพเข้ามาในเขตอำเภอเทพสถิตมากขึ้น ด้วยความรู้สึกกลัวคนไทย ทำให้ญัฮกุรเข้ามารวมตัวอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันมากขึ้น จากเดิมที่อยู่กระจายกันเป็นหย่อมบ้านเล็ก ๆ (สัมภาษณ์ นายเติม โย้จัตุรัส, 2556)
จนเมื่อราว พ.ศ. 2510 เศษ ๆ มีชาวไทยอีสานและชาวไทยโคราชอพยพเข้ามามากขึ้นอีก ญัฮกุรบางคนขายที่ดินให้คนไทยอีสานและไทยโคราชในราคาถูก และบางรายเอาที่ดินแลกกับวิทยุทรานซิสเตอร์ก็มี ชาวอีสานที่เข้ามาอยู่แรก ๆ นั้น จะอยู่ในพื้นที่รอบนอกของหมู่บ้านญัฮกุร แต่ไม่นาน เมื่อมีการแต่งงานกับญัฮกุร ก็เริ่มขยับขยาย ในช่วง พ.ศ. 2510 นั้นเองได้มีการตั้งศาลเจ้าพ่อขุนหมื่นขุนพลเป็นศูนย์รวมจิตใจขึ้น ซึ่งคนไทยอีสาน คนไทยโคราช และญัฮกุร ทั้งหมดให้การนับถือ นอกจากนี้ การเข้ามาของคนไทยทำให้ระบบเศรษฐกิจของญัฮกุรเปลี่ยนไปเป็นการปลูกพืชไร่พืชสวน และเข้าสู่เศรษฐกิจแบบเงินตรา
สภาพบ้านไร่ในปัจจุบัน (ถ่ายภาพจากโรงพยาบาลบ้านไร่)
2) ประวัติบ้านวังอ้ายคง และบ้านเทพอวยชัย
บ้านวังอ้ายคง เป็นหมู่บ้านเก่าแก่หมู่บ้านหนึ่ง มีทั้งญัฮกุรที่อยู่หมู่บ้านนี้มาตั้งแต่แรกตั้งหมู่บ้าน และที่อพยพเข้ามาใหม่ บ้านวังอ้ายคงดั้งเดิมเรียกว่า "ดงกะอาง" ต่อมามีคนจากบ้านวังตาเทพอพยพเข้ามาบุกเบิกที่ทำกิน นางอิ้ง ชัยขุนทด อายุ 56 ปีเล่าว่า บ้านวังอ้ายคงตั้งมานานแล้วตั้งแต่นางอิ้งยังไม่เกิด ประมาณไม่เกิน 100 ปี เดิมนางอิ้งอยู่วังตาเทพ ปลูกข้าว ฝ้าย พริก ระหุง พืชทุกอย่างปลูกปนกัน ย้ายมาบ้านวังอ้ายคง เพราะไม่มีที่มีทาง อพยพมากันเป็นซุ้ม 30 กว่าคน พ่อแม่ของนางอิ้งเป็นคนบ้านวังอ้ายคง นามสกุลเดิมคือยืนจัตุรัส จนกระทั่งเมื่อประมาณปี พ.ศ.2530 คนในหมู่บ้านเริ่มปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ปลูกปอ ข้าวโพด เดือย ข้าวฟ่าง จากนั้นก็เป็นมันสำปะหลัง และอ้อย แรกๆ มีรายได้ดีมาก บ้านหลังปัจจุบันที่เป็นบ้านไม้หลังใหญ่หลังแรก นางอิ้งเล่าให้ฟังว่าได้มาจากการปลูกปอ แต่ถึงจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่ก็เหนื่อยขึ้น เนื่องจากทุกอย่างแพงขึ้น สมัยก่อนหาอาหารเองได้ เดี๋ยวนี้จำเป็นต้องซื้อทั้งหมด นอกจากนี้ ยังเจ็บป่วยมากขึ้น แต่ก่อนไม่ค่อยป่วยไข้กัน (สัมภาษณ์ นางอิ้ง ชัยขุนทด, 2557)
ผู้วิจัยได้สอบถามนางวุ้น เศรษฐจัตุรัส อายุ 84 ปี ว่าบ้านวังอ้ายคงมีอายุเท่าไร นางวุ้นเล่าว่า พ่อแม่เป็นคนวังอ้ายคงตั้งแต่ต้น แสดงว่าหมู่บ้านต้องตั้งมานานเกิน 100 ปี แต่อาจย้ายมาจากบ้านวังตาเทพนานมากแล้ว เดิมบ้านวังอ้ายคงมีบ้านประมาณ 5-6 หลัง บ้านเดิมของนางวุ้นอยู่ตรงทางไปวังตาเทพ ย้ายมาจากวังตาเทพเพราะเรื่องทำมาหากิน คนวังตาเทพอยู่ที่นั่นมาดั้งเดิม ไม่ได้ย้ายมาจากไหน (สัมภาษณ์ นางวุ้น เศรษฐจัตุรัส, 2557)
ภายในหมู่บ้านวังอ้ายคง อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ
3) ประวัติบ้านวังอ้ายโพธิ์
บ้านวังอ้ายโพธิ์ถือเป็นหมู่บ้านเก่าแก่หมู่บ้านหนึ่ง นายอ๊าด ยุมจัตุรัส อายุ 74 ปี (พ.ศ. 2558) เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เกิดมาก็อยู่หมู่บ้านนี้มาตลอด บอกว่า ตาโพธิ์มาอยู่เป็นคนแรก ย้ายมาหลังเดียว ประมาณ 100 ปีมาแล้ว ตาโพธิ์ย้ายมาจากบ้านลวก แรกย้ายมา มาอยู่ใกล้หนองน้ำ (สัมภาษณ์ นายอ๊าด ยุมจัตุรัส, 2557) นางต่ำ วัดตะขบ ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า "ตาโพธิ์ผู้ตั้งหมู่บ้าน เมียชื่อยายถุน ตาโพธิ์ย้ายมาเพราะห่าลงดำลงแดง ท้องร่วง สมัยก่อนคนหนุ่มคนสาวหรือเด็กตาย คนในหมู่บ้านก็จะย้ายบ้านกันเลย" นางต่ำเล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้วมีบ้านอยู่ 30 หลังคาเรือน ทั้งหมดเป็นบ้าน "คนดง" ต่อมาราว พ.ศ.2490-2500 หมู่บ้านวังอ้ายโพธิ์เริ่มมีคนไทยโคราชและอื่น ๆ เข้ามาอยู่มากขึ้น เพราะถนนหนทางสะดวกขึ้น คนที่อพยพเข้ามาทั้งหมดมาจากบ้านเพชรและบ้านชวน เป็นคนไทยที่พูดสำเนียงโคราช "กลุ่มยายจันทร์ บ้านตะโก มาอยู่เป็นบ้านหลังแรก เป็นคนไทยจากบำเหน็จณรงค์มาอยู่แรกสุด ตอนนั้นอายุยาย 22 ปี พ.ศ. 2491 มีคนไทยกลุ่มแรกมาอยู่ เข้ามาอยู่ปลูกถั่วดิน หลังจากยายจันทร์มาอยู่ก็ย้ายมาเรื่อย ๆ" (สัมภาษณ์ นางต่ำ วัดตะขบ, 2558) ด้วยเหตุนี้ คนบ้านวังอ้ายโพธิ์จึงมีเครือญาติอยู่ทางบ้านเพชรและบ้านชวน
คนบ้านวังอ้ายโพธิ์ที่เป็นญัฮกุร บางส่วนอพยพมาจากหมู่บ้านอื่นมารวมตัวกัน นางนง ชัยเพชร อายุ 77 ปี เล่าให้ฟังว่า "ยายเกิดที่ช่องตับเต่า (เป็นหมู่บ้าน) ย้ายมาบ้านวังอ้ายโพธิ์สัก 50 ปี ย้ายเพราะฝีดาษ ตอนนั้นยังจำความไม่ได้มาก ตอนที่เป็นฝีดาษนั้นออกร้อน ตาแดง ใช้เปลือกสงวนแช่เอาน้ำ เอาใบตองกล้วยปูนอน ใช้น้ำมนต์ดื่ม เป็นอยู่เป็นเดือนกว่าจะดีขึ้น ตอนนั้นคนตายกันเยอะมาก" (สัมภาษณ์ นางนง ชัยเพชร, 2558) สาเหตุที่ย้ายมาที่บ้านวังอ้ายโพธิ์ เพราะเป็นหมู่บ้านที่ไม่เป็นโรคฝีดาษ เหตุที่คนที่ช่องตับเต่าเป็นโรค เพราะพ่อของนางนง ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้านได้เดินทางไปขายขี้ไต้ที่บ้านหนองบัวระเหว (นางนงเรียกบ้านหนองบัวระเหวว่า "เขตลาว") นางนงเล่าว่า ไปพักที่วังแร่ เจ้าของบ้านที่ไปพักเป็นฝีดาษ จึงติดมา แต่ไม่ตาย เพราะดูแลตัวเองและร่างกายโดยกินต้นสงวนที่ถือว่าเป็นยาเย็น (สัมภาษณ์ นางนง ชัยเพชร, 2558)
นางต่ำ วัดตะขบ ได้เล่าประวัติของหมู่บ้านต่าง ๆ ว่า (แปลผ่านล่าม) "วังอ้ายโพธิ์ถือเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุด เก่ากว่าบ้านไร่ บ้านไร่แตกออกมาจากช่องตับเต่า ช่องตับเต่าเคยเจอสตางค์แดงและเศษหม้อเศษไห บ้านปรกใหญ่เก่ากว่าวังอ้ายโพธิ์แต่กลุ่มญัฮกุรแตกแยกออกมาเพราะฝีดาษและไฟไหม้ แล้วกระจายไปทั่ว มีเรื่องเล่าว่ากระรอกขึ้นมาบนวัด พระตาย ไฟไหม้หมู่บ้าน บ้านจำลุ (โด่งจำลุ) คือบ้านเสลี่ยงทองมีคนญัฮกุรเอาต้นกุ้มไปปลูกที่ปรกใหญ่ บ้านน้ำลาดย้ายไปเรื่อยเดิมอยู่ข้างล่างย้ายหนีคนไทย เลยไปอยู่ใกล้ภูเขาไปเรื่อย ๆ วังคลองคือบ้านสะพานหิน ปัจจุบันคือบ้านเดิมของคนน้ำลาด ดั้งเดิมเลยตำบลที่มีญัฮกุรได้แก่บ้านไร่ โป่งนก นายางกลัก บึงเวียน แล้วไปถึงอำเภอบ้านเขว้าอยู่ที่ตำบลชีบน" (สัมภาษณ์ นางต่ำ วัดตะขบ, 2558)
สภาพบ้านเรือนในหมู่บ้านวังอ้ายโพธิ์
สรุป
จากข้อมูลประวัติหมู่บ้านทั้งสามแห่งคือบ้านไร่ บ้านวังอ้ายคง และบ้านวังอ้ายโพธิ์ ทำให้เห็นได้ว่า ญัฮกุรมีการเคลื่อนย้ายบ่อยครั้ง โดยก่อนหน้าปี พ.ศ. 2480-90 เป็นการย้ายหมู่บ้านด้วยสาเหตุจากการที่มีคนตายและระบบการทำไร่ แต่ช่วงปี พ.ศ. 2480-2490 สาเหตุการย้ายเป็นผลมาจากโรคระบาดโดยเฉพาะโรคฝีดาษ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อมาจากคนที่บ้านหนองบัวระเหว อย่างไรก็ตาม ราว พ.ศ.2500 เป็นต้นมา หมู่บ้านต่างๆ ของญัฮกุรไม่มีการเคลื่อนย้ายอีก สาเหตุเป็นเพราะที่ดินมีราคา และมีระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเกิดขึ้น
อัตลักษณ์
สามารถใช้ภาษาไทยได้ โดยเมื่อ 50-70 ปีที่แล้ว เมื่อมีชาวไทยโคราชเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น ที่บ้านไร่ เป็นต้น ทำให้ผู้ชายเริ่มสามารถพูดภาษาไทยโคราชได้ ต่อมาเมื่อมีการตั้งโรงเรียนขึ้น ทำให้เริ่มสามารถใช้ภาษาไทยกลางได้
สำหรับเครื่องแต่งกาย ในอดีตญัฮกุรทุกคนจะสวมชุดประจำเผ่าในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบันผู้หญิงทุกคนในหมู่บ้านจะมีชุดประจำเผ่าเก็บเอาไว้ จะใช้ใส่ในโอกาสสำคัญ เช่น งานบุญ ประเพณีแห่หอดอกผึ้ง เป็นต้น เสื้อของผู้หญิงจะเรียกว่า "เสื้อพ็อก" ตัดเย็บอย่างง่ายนิยมใช้สีดำ มีบ้างที่เป็นสีคราม ส่วนผู้ชายไม่ค่อยใส่เสื้อประจำเผ่าเคร่งครัดนัก ถ้ามีเครื่องแต่งกายสมัยใหม่ก็จะปรับเปลี่ยนโดยตลอด ดังเห็นได้จากเมื่อ 50 ปีที่แล้วผู้ชายจะนุ่งโจงกระเบน แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมานุ่งกางเกงสมัยใหม่แทน
ในด้านกายภาพ โดยมากแล้วญัฮกุรมีสีผิวเข้ม รูปร่างสันทัด ร่างกายดูมีเหลี่ยมคม รูปหน้าค่อนข้างเหลี่ยม ผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง ผู้ชายสูงราว 155-170 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงราว 150-160 เซนติเมตร
เป็นเรื่องยากที่คนภายนอกเมื่อแรกเห็นญัฮกุรแล้วจะรู้ว่าเป็นญัฮกุร ญัฮกุรบางคนมีผิวไม่คล้ำมาก รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกับคนไทยโดยทั่วไป บางคนผิวค่อนข้างคล้ำและรูปร่างล่ำสัน ค่อนข้างเหมือนชาวเขมร และแม้แต่คนญัฮกุรด้วยกันเองก็ไม่แน่ใจ ถ้าเห็นญัฮกุรคนอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในหมู่บ้านของตนเอง จะรู้ได้ว่าเป็นคนญัฮกุรก็ต่อเมื่อมีการแสดงออกด้วยการพูดภาษาญัฮกุร แต่งกายแบบญัฮกุร หรือการบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าตนเองเป็นญัฮกุร เป็นต้น
ปัจจุบัน ญัฮกุรบางหมู่บ้าน เช่น บ้านไร่ บ้านวังอ้ายโพธิ์ กำลังมีการฟื้นฟูอัตลักษณ์ของตนเอง โดยเฉพาะทางด้านภาษา ทั้งนี้ เพราะเมื่อราวปี พ.ศ. 2548 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าไปส่งเสริมเรื่องการศึกษาภาษาญัฮกุรโดยชุมชน และพัฒนาระบบตัวเขียนในภาษาญัฮกุร ซึ่งทำมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้สถานการณ์ด้านอัตลักษณ์และภูมิปัญญาต่าง ๆ ได้รับการอนุรักษ์และเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
อาชีพ
1) อาชีพดั้งเดิม
สมัยก่อนด้วยวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับป่า ทำให้ญัฮกุรเป็นนายพรานผู้ชำนาญการล่าสัตว์อย่างมาก การล่าสัตว์ถือเป็นหน้าที่ของผู้ชายญัฮกุร มักล่ากันในช่วงหน้าแล้งที่ว่างเว้นจากการทำงาน สาเหตุที่ล่าสัตว์กันในช่วงหน้าแล้ง เพราะสามารถตามรอยสัตว์ได้ง่าย และยุงไม่ค่อยชุม นอนในป่าได้สบาย
ญัฮกุรไม่นิยมล่าสัตว์ในหน้าฝน เพราะเดินป่าลำบาก มีพิษต่าง ๆ ญัฮกุรมักไปล่าสัตว์และหาปลาในเขตป่าซับลังกา อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี เพราะเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์มีสัตว์ชุกชุม สัตว์มักไปกินลูกไทรและผลไม้ เหมาะกับการซุ่มยิง โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งจะสามารถล่าสัตว์ได้ง่าย เพราะสัตว์จะมีแหล่งน้ำเหลือเพียงไม่กี่จุดทำให้ไปดักได้ง่ายขึ้น เวลาล่าสัตว์มาได้ นายพรานจะชำแหละเนื้อและชุมนุมกันบริเวณผาสุดแผ่นดินที่เขตป่าหินงาม ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน (สัมภาษณ์ นายประยูร มองทองหลาง, 2555) เครื่องมือล่าสัตว์แบบดั้งเดิมที่ญัฮกุรใช้คือหน้าไม้ ปัจจุบันยังพอมีเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ชาวบ้านเล่าว่า เครื่องมือในการล่าสัตว์เปลี่ยนมาใช้ "ปืนเพลิง" เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ทำให้สามารถล่าสัตว์ใหญ่ได้ง่ายขึ้น
นายประยูร มองทองหลาง และอีกหลายคนสรุปว่า "ในช่วงเดือน 3 (เดือนเมษายน) ชาวบ้านจะลงไปที่ลำสนธิ ไปหาปลา หาแย้ หาสะเดามากิน เพราะทางนี้ไม่มี แต่ตรงนั้นเป็นป่าดงดิบ ชาวบ้านจะไปเช้ากลับเย็น... และจะมีการขุดหัวเผือกมัน กล้วย" (สัมภาษณ์ นายประยูร มองทองหลาง, นางดำ จันทิม, นางหนิ่ม แยกจัตุรัส, 2556) หลังจากนั้น จะเป็นช่วงฤดูการทำไร่ (ข้าว)
ปัจจุบันชาวบ้านแทบไม่ได้ล่าสัตว์หรือไม่มีการล่าสัตว์กันอีก เพราะสัตว์ป่ามีจำนวนลดลง เนื่องจากเมื่อ 40-50 ปีทีแล้วมีการทำสัมปทานป่าไม้ การบุกเบิกพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และมีการประกาศพื้นที่ป่าสงวน ทำให้ไม่สามารถล่าสัตว์ได้เหมือนแต่ก่อน ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ชาวบ้านต้องหันไปซื้อเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ มากินแทน โดยชาวบ้านมักซื้อเนื้อสัตว์จากร้านค้าในหมู่บ้าน ซึ่งร้านแรกที่เปิดคือร้านค้าของแม่ยายผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน (สัมภาษณ์ นายสิทธิศักดิ์ ทองสะอาด, 2556) นอกจากนี้ ชาวบ้านบางคนที่เดินทางเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ เมื่อได้รับค่านิยมจากในเมืองมา ทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากกินเนื้อสัตว์บางชนิด เช่น แย้ "เพราะรู้สึกขยะแขยง" แม้ในใจจะรู้สึกว่ายังอยากล่าสัตว์อยู่ก็ตาม (สัมภาษณ์ นายประยูร มองทองหลาง, 2555)
2) การเพาะปลูกแบบดั้งเดิม
เนื่องจากบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานเป็นพื้นที่สูงทำให้การปลูกข้าวเป็นการปลูกข้าวไร่ (Dry rice) ญัฮกุรปลูกข้าวไร่ ด้วยวิธีการใช้ไม้แหลมสักลงดินเป็นหลุม แล้วหยอดเมล็ดข้าวลงไป และรอให้น้ำฝนตกลงมา ปลูกทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า นายเปลี่ยน เย็นจัตุรัส เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนครอบครัวหนึ่งจะปลูกประมาณ 3-5 ไร่ บางครอบครัวขยันจะปลูกข้าวมากกว่านี้ ไร่หนึ่งได้ข้าวประมาณ 2 เกวียน ถ้าครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกประมาณ 4-7 คน ข้าวจะเกือบพอกินตลอดทั้งปี ส่วนในแง่ของการปลูกข้าวนั้น หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ถ้าไม่มีการย้ายที่ ชาวบ้านจะเตรียมแปลงไร่ สับฟางข้าว จุดไฟ หอบกองฟางเป็นจุด ๆ เพื่อเตรียมไร่ไว้สำหรับปลูกข้าว
แต่ถ้าต้องมีการทำแปลงไร่ใหม่ ชาวบ้านเล่าว่า เดือน 4 (มีนาคม) จะถางป่าดงดิบใหม่ เพื่อเตรียมไว้ทำไร่ โดยมีการจองป่าด้วยการทำไม้เป็นรูปกากบาทไว้ที่ต้นไม้ และไปนอน ต้องนอนฝันดี ถ้าฝันดีจึงจะถางไร่ เวลาถางจะถางป่าเป็นรูปวงกลม ไม่ทำแปลงเป็นสี่เหลี่ยม แต่ละคนทำห่าง ๆ กัน จากนั้นจะย้ายไร่ประมาณ 3 ปีครั้ง ต้นไม้จะขึ้นป่าจะกลับมาอีกครั้ง จะกลายเป็นป่าดงดิบอีก ซึ่งแตกต่างจากรถไถ ต้องรอให้ต้นไม้ใหญ่ขึ้นก่อนจึงจะถาง สัตว์ป่าจะไม่สูญ
พอเดือน 5 จะเผาป่า คนเผาป่าต้องเป็นคนเดือนแข็งปีแข็ง หลักการโค่นต้นไม้คือ ให้ไม้ล้อมเข้ามาหาตรงกลางแล้วจุดตรงกลางทำให้ไฟไหม้เฉพาะตรงกลาง จะมีการกล่าวบอกให้สัตว์ มด แมลง งู ให้ออกจากไร่ คนจุดจะต้องบอกกล่าว ถ้าไร่ติดกันจะเผาพร้อมกัน ถ้าเผาคนเดียวกลัวจะลาม
เดือน 6 เริ่มต้นเพาะปลูกข้าว ใช้ไม้สักลงดิน แล้วหยอดเมล็ดข้าว เอาแรงกัน เริ่มไปนอนไร่ ช่วงนี้หาอึ่งและเก็บผลไม้ป่า ฝนเริ่มตก เด็ดหน่วย ผลของต้นลำดวน พวกหนุ่มสาวจะไปเด็ดกัน
เดือน 7 ดายหญ้าข้าวโดยใช้เสียมสับออกและเก็บออกไป ไม่ให้เมล็ดงอกได้อีก ทิ้งไว้ริมไร่ ส่วนริมไร่ปลูกพริก ถั่ว ฟักทอง มะเขือ แตงไทย แตงโม แตงกวา ข้าวฟ่าง และปลูกแซมไปกับข้าวมี ใบแมงลัก โหระพา ข่า ตะไคร้ ผักชีโบราณ แตงโมประมาณปลายเดือน 7 เก็บได้ ข้าวเริ่มออกเมล็ดและรวงหลังสุด
เดือน 8-9 ไปหาเห็ด ดูแลต้นข้าว พอเดือน 9-10 เริ่มกินข้าวโพดไร่ เผือกมันเทศเริ่มกินได้ เดือน 10-11 ข้าวไม่พอกิน เริ่มต้องหากลอย เดือน 12 เริ่มเก็บเกี่ยว ไปรูดข้าว (เฉพาะข้าวเหนียว) โดยการลงแขกเอาแรงกัน (สัมภาษณ์ นายประยูร มองทองหลาง, นางดำ จันทิม, นางหนิ่ม แยกจัตุรัส, 2556)
ถ้าพิจารณาจากรอบวัฏจักรการเพาะปลูกแล้ว จะเห็นได้ว่า โดยปกติข้าวมักปลูกไม่พอกิน โดยเฉพาะในช่วงปลายหน้าฝน ประมาณเดือนกันยายน ชาวบ้านไร่ต้องไปขุดหากลอยมากินผสมกับข้าว และไปเอาข้าวที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ ซึ่งใช้เวลาในการเดินเท้าประมาณ 1 วัน ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร บางครั้งชาวบ้านจะไปเอาข้าวที่อำเภอศรีเทพก็มีแต่น้อยมาก เพราะอยู่ไม่ห่างกัน (สัมภาษณ์ นายยัง ยี่จัตุรัส, 2555) นอกจากนี้ อีกสาเหตุที่ทำให้ข้าวไม่ค่อยพอกิน เพราะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวมักมีสัตว์ โดยเฉพาะลิง มาขโมยข้าวไปกินอยู่เสมอ (สัมภาษณ์ นางแถ่ว น้อยเสลา, 2555) เนื่องจากในสมัยก่อน ช่วงเวลาในการทำไร่ข้าวกินเวลาเกือบจะตลอดทั้งปี ในช่วงหน้าแล้งจึงเป็นช่วงเวลาของกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเตรียมไว้สำหรับฤดูกาลเพาะปลูก เช่น การล่าสัตว์ การหีบน้ำอ้อย งานหัตถกรรม เช่น เครื่องจักสาน เป็นต้น
3) การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเพื่อการค้า (สมัยใหม่)
ผลจากนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สืบเนื่องมาจากในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้ภาคอีสานมีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ พื้นที่เพาะปลูก และการเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกรจากการปลูกพืชหลายชนิดในไร่เดียวกันไปสู่การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตปริมาณมากออกสู่ตลาด (สุวิทย์ ธีรศาศวัต, 2546)
เมื่อชาวไทยอีสานและชาวไทยโคราชอพยพเข้ามาในเขตของหมู่บ้านญัฮกุร เพื่อแสวงหาที่ทำกินและทำการเพาะปลูก ในเวลานั้น ญัฮกุรยังไม่รู้จักการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว พืชอาหารหลัก ๆ ที่ปลูกกันจึงมีข้าวไร่และเดือย พืชอื่นเช่นอ้อยก็ปลูกแค่พอกินเท่านั้น นายวรรณชัย มูลมณี ชาวร้อยเอ็ดรุ่นแรก ๆ ที่อพยพเข้ามาอยู่ในเขตบ้านไร่ เล่าให้ฟังว่า "มาอยู่ครั้งแรกเมื่อ 2511 เป็นคนร้อยเอ็ด เพราะญาติมาอยู่ที่นี่ จึงมา ตอนนั้นอยู่ ป.4 แล้วมาเรียน กศน.ต่อ คนต่างถิ่นตอนนั้นเป็นไข้มาเลเรียกันมาก คนดงไม่เป็น เขาปลูกไร่เดือย ข้าวโพด ข้าว มัน เผือก ยกกระต็อบอยู่... พอชาวไทยอีสานเข้ามาอยู่ก็เริ่มเข้ามาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เป็นพืชเชิงเดี่ยว โดยปลูกข้าว ต่อมาปลูกข้าวโพด" (สัมภาษณ์ นายวรรณชัย มูลมณี, 2556)
ผลคือทำให้ญัฮกุรเริ่มอยากมีเงินเหมือนกับชาวไทยอีสาน ญัฮกุรจึงเริ่มปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น การปลูกแบบไร่ผสมที่เคยทำกันตั้งแต่ดั้งเดิมก็ค่อย ๆ หายไป ต่อมาตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2510 ชาวบ้านเริ่มบุกเบิกที่ดินกันมากขึ้น เพื่อเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย พริก มะเขือ ปอ ยาสูบ และมันสำปะหลัง สำหรับมันสำปะหลังเริ่มปลูกกันอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ.2518 และเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2530-32 เพราะเป็นช่วงที่มันสำปะหลังราคาดีมาก ความจริงแล้วแรงผลักดันส่วนหนึ่งด้วยก็คือ ญัฮกุรมีความต้องการเงินมากขึ้นด้วยเหตุผลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการส่งลูกเรียนหนังสือ ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์เพื่อขนพืชไร่ และยังมีแรงกระตุ้นจากการที่ในปี พ.ศ.2541 มีการตั้งโรงแป้งมันสำปะหลังขึ้นที่จังหวัดชัยภูมิ ทำให้สามารถป้อนผลผลิตเข้าโรงงานได้ง่ายขึ้น ส่งผลทำให้มีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกมากขึ้นไปอีก (สัมภาษณ์ นายวรรณชัย มูลมณี, 2556)
ระบบเครือญาติ
ญัฮกุรนับถือญาติข้างแม่เป็นหลัก การสืบทอดของหมอทำนายที่เรียกว่า "จะป๊อก" จึงอยู่กับเพศหญิง มีการนับถือปู่กับยาย ในภาษาญัฮกุรปู่เรียกว่า "เปญ" และยายเรียกว่า "ยอง"
ญัฮกุรมีธรรมเนียมอย่างหนึ่ง คือเมื่อมีลูกหลาน จะพาไปเยี่ยมญาติตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อให้ลูกหลานได้รู้จักกับเครือญาติ โดยเฉพาะลูกหลานที่เป็นผู้ชายจะมีการพาเดินไปเยี่ยมยังหมู่บ้านไกลๆ ตัวอย่างเช่น นายพนม จิตร์จำนงค์ เมื่อยังเป็นเด็ก พ่อได้พาเดินไปเยี่ยมญาติที่บ้านชวน และหมู่บ้านต่าง ๆ รอบบ้านไร่ เป็นต้น
ผู้หญิงญัฮกุรมีการแต่งกายที่สวยสะดุดตา ญัฮกุรไม่รู้จักการทอผ้า แต่สามารถตัดเย็บได้ สมัยก่อนจะซื้อผ้าย้อมครามสีน้ำเงินมาจากตลาด แล้วเอามาตัดเองเรียกว่าเสื้อคราม ปัจจุบันนิยมสีเสื้อเป็นสีดำ ชาวบ้านบางคนให้ข้อมูลว่า สมัยก่อนก็มีการใช้สีดำด้วยเช่นกัน เมื่อตัดเสื้อเสร็จแล้วก็ใช้ด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาว มาเดินเส้นรอบแขนและคอ โดยด้านหลังปักเป็นลายสี่เหลี่ยมจัตุรัส แล้วปล่อยเส้นด้ายเป็นเส้นยาวๆ 3-4 เส้น ลายด้านหลังนี้เรียกว่า "ลายลูกยาง" เมื่อปักลายเสร็จจึงเย็บด้านข้างให้ติดกันเป็นตัวเสื้อ เรียกว่า "เสื้อพ็อก" หรือในภาษาไทยเรียกว่า "เสื้อเก๊าะ" ผู้หญิงบางคนจะห่มสไบผืนเล็ก ๆ ทับด้วย ลายปักสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านหลัง หรือ "ลายลูกยาง" นี้ เป็นลายที่มีความหมายต้องการสื่อถึงดอกของต้นยางที่ลอยไปตามลม เปรียบได้กับญัฮกุรที่ต้องกระจัดกระจายพลัดพรากจากกันไปยังที่ต่างๆ ส่วนลายดอกไม้เล็ก ๆ ที่ปักตามชายเสื้อเป็นลายดอกมะเขือ
ส่วนผ้านุ่ง ซื้อมาเป็นผืนจากตลาด นิยมสีสดๆ เช่น สีแดง สีเขียว มีบ้างที่นุ่งสีม่วง วิธีการนุ่งก็จะนุ่งแบบมีชายพกด้านข้าง ถ้าเวลาจะไปวัดหรืองานพิธีต่าง ๆ ก็จะมีผ้าคล้องคออีกผืนหนึ่ง ทรงผมจะเกล้ามวย
เครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์ก็จะมีกำไลเงิน สร้อยคอเงิน และต่างหูที่ทำด้วยไม้ติดกระจกด้านหน้า หรือทำด้วยโลหะเช่นเงิน ปกติถ้าอยู่บ้านจะไม่ใส่ต่างหู ปล่อยให้เห็นเป็นรูกว้าง ๆ
ในสมัยก่อน ผู้ชายญัฮกุรจะนุ่งโจงกระเบน วิธีนุ่งมี 3 แบบ แบ่งตามวัย ถ้าเป็นคนหนุ่มจะนุ่งโจงกระเบน หางกระเบนจะต้องเรียวกริบ เรียกว่า "โจงกระเบนหางแย้" ถ้าแต่งงานมีลูกแล้ว หางกระเบนจะยาน ๆ เรียกว่า "โจงกระเบนหางช้าง" ส่วนคนแก่จะนุ่งโจงกระเบนลอยชาย สวมกับเสื้อคอป่านหรือม่อฮ่อม
อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ และความนิยมในเครื่องแต่งกายสมัยใหม่ ทำให้ชาวบ้านไม่เย็บเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมอีก จนกระทั่งเมื่อราว พ.ศ. 2548 ด้วยแรงกระตุ้นจากมหาวิทยาลัยมหิดลและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ จึงได้เริ่มมีกระบวนการรื้อฟื้นวัฒนธรรมการแต่งกายแบบดั้งเดิมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ลายปักรูปสี่เหลี่ยมเป็นสัญลักษณ์แทนดอกต้นยาง อยู่ด้านหลังเสื้อพ็อก
การแต่งกายแบบดั้งเดิมของชาวญัฮกุร ที่บ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ
รูปแบบบ้านเรือนในอดีต-ปัจจุบัน
ในอดีต ญัฮกุรอยู่กันกระจัดกระจาย หย่อมบ้านหนึ่งมีบ้านประมาณ 4-6 หลังหรือบางที่มากกว่านั้น และมีการเคลื่อนย้ายบ่อยครั้ง แต่ก็จะวนกลับมาตั้งหมู่บ้านซ้ำพื้นที่เดิม จนกระทั่งทางการเริ่มเข้ามาจัดระเบียบเมื่อประมาณ พ.ศ.2500 ทำให้ญัฮกุรมาปลูกหมู่บ้านรวมกลุ่มกันและไม่เคลื่อนย้ายไปไหนอีก
รูปแบบบ้านของญัฮกุร ในยุคก่อนหน้า พ.ศ.2500 เป็นบ้านที่สร้างด้วยวัสดุธรรมชาติอย่างง่าย ๆ โดยโครงสร้างหลักของบ้านสร้างด้วยไม้ไผ่ขนาดต่าง ๆ ยกพื้นเรือนสูง ความสูงของพื้นเรือนขึ้นอยู่กับหมู่บ้าน โดยมากความสูงเท่ากับคนเดินลอด มีบันไดขึ้นบ้าน เมื่อขึ้นไปจะเป็นชานบ้านเล็ก ๆ มีห้องสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นห้องนอน อีกห้องเป็นห้องครัว มีเตาไฟอยู่ที่มุมของบ้าน พื้นบ้านปูด้วยไม้ฟาก ฝาบ้านทำจากไม้ไผ่ (ไม้ฟาก) หลังคามุงหญ้าคา ที่ยอดจั่วของหลังคามีการขมวดหญ้ารวมกันเรียกว่า "กะด็อบเมียว" หรือแปลเป็นไทยว่า "จั่วหัวแมว" หญ้าคาจะต้องมีการเปลี่ยนทุก 1-2 ปี ในช่วงฤดูหนาวจะมีการสุมฟืนใต้บ้านเพื่อให้ความอบอุ่น และฟืนนี้จะช่วยในการรักษาไม้ที่ใช้สร้างบ้านให้คงทน นอกจากนี้ ด้านข้างของบ้านจะมีการทำยุ้งข้าวอีกด้วย
ต่อมาในช่วงหลัง พ.ศ.2500 บางหมู่บ้านเช่นบ้านไร่ ได้เริ่มมีกลุ่มนายทุนจากภายนอกเข้ามาดำเนินกิจการโรงเลื่อยจากการได้รับสัมปทานป่าไม้ และมาก่อตั้งโรงเลื่อยที่ห้วยยายจิ๋วเมื่อปี พ.ศ.2517 ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มมีถนนลูกรังผ่านเข้าหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นเส้นทางชักลากไม้ ญัฮกุรจำนวนมากไปเป็นลูกจ้างให้กับบริษัท รับจ้างตัดไม้ท่อนและตีตราไม้ ในเวลานั้นได้ค่าจ้างวันละ 10 บาท มีช้างลากไม้กว่า 10 เชือก ญัฮกุรบางบ้านก็มีการเลี้ยงช้างไว้รับจ้าง ในช่วงนั้นเองที่ทำให้มีเครื่องมือในการตัดไม้และเลื่อยไม้ ทำให้บ้านของญัฮกุรค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนจากบ้านที่ใช้ไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยหญ้าคา มาเป็นการใช้ไม้จริง ประกอบกับในช่วงเวลานั้นเริ่มต้องการบ้านที่มั่นคงขึ้น ดีขึ้น และไม่ต้องดูแลเปลี่ยนหลังคาบ่อย ๆ จึงได้สร้างบ้านหลังคามุงกระเบื้องกัน (สัมภาษณ์ นายเติม โย้จัตุรัส, 2555)
บ้านแบบดั้งเดิมของชาวญัฮกุร บ้านหลังนี้เป็นบ้านจำลอง ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่
บ้านแบบดั้งเดิมของชาวญัฮกุร บ้านหลังนี้เป็นบ้านจำลอง ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่
กระด็อบเมี่ยว หรือจั่วรูปหัวแมวที่จั่วบ้านแบบดั้งเดิมของชาวญัฮกุร ในภาพเป็นบ้านจำลองที่สร้างขึ้นมาใหม่ ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่
ประเพณีสำคัญในชุมชน
ประเพณีสำคัญในระดับชุมชนมีเพียงประเพณีสงกรานต์และแห่หอดอกผึ้ง ญัฮกุรมีสงกรานต์ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือสงกรานต์น้อย และครั้งที่สองคือสงกรานต์ใหญ่
สงกรานต์น้อย ตรงกับเดือน 4 แรม 15 ค่ำ ทำพิธีเหมือนกับสงกรานต์ของคนไทย วันนี้ถือกันว่าห้ามไปทำงานในไร่ในสวน จะเล่นสงกรานต์กัน 7 วัน สาดน้ำกันตั้งแต่ตี 5 บางคนเล่นกันแรงๆ หน่อยจะเอาเขม่าหม้อดินทาหน้า เอาน้ำปลาร้าไปสาดก็มี ใครหาบน้ำกลับมาบ้านเพื่อมาดื่มมากินก็จะแกล้ง จนหาบน้ำมาไม่ถึง และยังมีการเล่นสะบ้า ร้องเพลงปาเรเร ใครมีลูกก็รดน้ำให้ลูกตัวเอง กลางวันเล่นกันอยู่ในบ้าน ทำขนมข้าวโป่ง (คล้ายข้าวเกรียบว่าว) ขนมนางเล็ด คือข้าวเหนียวตากโรยน้ำตาล กินได้ทุกบ้าน ตอนกลางคืนก่อกองไฟพูดคุยและร้องเพลงกัน ปัจจุบันการเล่นสงกรานต์น้อยหายไปจากบ้านไร่และหมู่บ้านต่างๆ ประมาณ 40-50 ปีมาแล้ว เพราะคนในหมู่บ้านต้องทำงานมากขึ้นและไม่มีเวลาในการเล่นสงกรานต์
สงกรานต์ใหญ่ ตรงกับเดือน 5 แรม 15 ค่ำ วันแรก จะมีการแห่หอดอกผึ้ง โดยจะมีการเตรียมหอดอกผึ้ง และมีการทำขนมเลี้ยง วันที่สอง จะละลายขี้ผึ้งและช่วยกันติดดอกผึ้ง วันที่สาม เริ่มแห่หอดอกผึ้ง มีการทำพิธีทางสงฆ์ สรงน้ำพระ และมีการเล่นสงกรานต์ มีการเล่นชักกะเย่อ ในพิธีจะมีพระมาเล่นด้วย ในเดือนนี้จะเล่นสงกรานต์สาดน้ำกันทั้งเดือน
ปัจจุบันการเล่นสงกรานต์ใหญ่ เหลือเพียง 3 วันเท่านั้น เหมือนกับสงกรานต์ของคนไทย สาเหตุที่ลดเวลาลง เพราะความเร่งรัดทางด้านเศรษฐกิจ และไม่มีวันหยุดเหมือนแต่ก่อน (สัมภาษณ์ นายประยูร มองทองหลาง, นางดำ จันทิม, นางหนิ่ม แยกจัตุรัส, 2556)
หอดอกผึ้งที่ชาวญัฮกุรแบกแห่กันในเทศกาลสงกรานต์
ในภาพเป็นหอดอกผึ้งที่บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ทำเตรียมไว้สำหรับการแห่หอดอกผึ้งในปีหน้า
การเกิด มีประเพณีการคลอดโดยหมอตำแย จะใช้ผิวไม้ไผ่ลนไฟตัดสายรก แล้วนำรกไปฝังไว้ที่ข้างบันไดบ้าน และมีการก่อไฟบนหลุมที่ฝังรกอีกที จากนั้นหมอตำแยจะทำการเซ่นผี และรับขวัญเด็ก
เมื่อมีคนตาย ญัฮกุรจะห่อศพด้วยฟากไม้ไผ่ ใช้เถาวัลย์มัดด้านหัว กลางลำตัว และด้านเท้า จากนั้นจะรื้อฝาบ้านเพื่อนำศพออกจากบ้าน ญัฮกุรจะไม่หามศพลงทางบันไดโดยเด็ดขาดเนื่องจากมีความเชื่อว่าผีจะแรง ศพจะถูกนำไปที่ป่าช้า
เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เมื่อมีคนตาย ญัฮกุรจะใช้วิธีการฝังศพ ไม่เผา เพราะไม่มีพระและไม่มีวัด ปัจจุบันป่าช้าของหมู่บ้านอยู่ด้านหลังหมู่บ้านไม่ห่างจากวัดบ้านไร่มากนัก แบ่งแยกพื้นที่ป่าช้าเด็กกับป่าช้าของผู้ใหญ่ออกจากกัน
เวลาจะเอาศพไปฝัง ชาวบ้านจะมากันประมาณ 3-4 คน ศพจะถูกวางบนหินก้อนใหญ่ ถ้ามีพระก็จะให้สวด เมื่อพระสวดจบ ชาวบ้านจะช่วยกันขุดหลุมฝัง บางครั้งก็เอามีดมาช่วยขุดดินก็มีบ้าง หลุมที่ขุดจะลึกประมาณ 1-1.5 เมตร ศพจะถูกวางในเสื่อหวาย คว่ำหน้าลง หันหัวของศพไปทางทิศตะวันตก จากนั้นเอาดินกลบ เอาไม้ปูทับ สะกดวิญญาณ สาดข้าวสาร เอาดินกลบอีกชั้นหนึ่ง และเอาหนามวางด้านบนสุด เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์มาคุ้ย
เมื่อฝังไว้ประมาณ 3-5 ปี ถ้ามีพระธุดงค์ผ่านมาจะนิมนต์ขุดกระดูกขึ้นมา นำไปไว้ที่บ้านเพื่อทำบุญ แม้ไม่มีพระธุดงค์ผ่านมาก็จะขุดขึ้นมาเช่นกัน จากนั้นจะเอากระดูกเก็บใส่หม้อธาตุไปไว้ที่ถ้ำ แต่ในกรณีญัฮกุรที่บ้านไร่จะนำไปวางไว้ที่ซับหวาย ซึ่งถือกันว่าเป็นป่าช้าของญัฮกุร มีการนำสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ตายมาใส่หรือวางไว้ข้างๆ เช่น ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะนำสร้อย ต่างหู กำไล เครื่องประดับพวกนี้ลูกหลานสามารถขอยืมกลับนำไปใช้ได้ในวันเทศกาลต่างๆ เช่น วันสงกรานต์ เมื่อพ้นเทศกาลก็นำกลับมาคืน
ในอดีตถ้ามีคนตายจะต้องย้ายบ้านหนี โดยจะขนฝาบ้าน โครงหลังคา และพื้นบ้านไปด้วย ส่วนเสาเรือนจะทิ้งเอาไว้ ไม่นำไปด้วย เพราะเชื่อว่าจะนำความหายนะมาสู่ครอบครัว การฝังศพและการย้ายบ้านได้เลิกไปเมื่อประมาณ พ.ศ.2510 เพราะเริ่มมีการสร้างวัด และมาเลิกฝังอย่างจริงจังเมื่อมีการสร้างเมรุขึ้นเมื่อ พ.ศ.2540 (สัมภาษณ์ นายเปลี่ยน เย็นจัตุรัส, 2556)
ป่าช
ความเชื่อและศาสนา
ญัฮกุรมีความเชื่อในเรื่องภูตผีวิญญาณเวทย์มนต์คาถา เครื่องรางของขลัง ฤกษ์ยาม ความฝัน และมีพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตและการประกอบอาชีพอยู่หลายอย่าง เมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ความเชื่อพวกนี้ผ่อนคลายลงไปมาก เพราะการสาธารณสุขสมัยใหม่ และความเร่งรัดในเรื่องของเวลาที่ทำให้ไม่อาจรอคอยฤกษ์ยามได้อีก
ญัฮกุรมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีอยู่มาก แต่ผีที่ญัฮกุรทุกคนกลัวคือผีตีนเดียว โดยเฉพาะพวกนายพรานจะกลัวกันมาก เพราะเวลาออกล่าสัตว์ผีตีนเดียวมักมาหลอก ถ้าปีนต้นไม้ก็มักจะมาเขย่าต้นไม้ ถ้านอนอยู่ใต้ต้นไทร ผีตีนเดียวจะแกล้งจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะผีตีนเดียวถือว่าตนเป็นเจ้าบ้าน ญัชกุรมีความเชื่อว่าต้นไทรกับต้นตะเคียนเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีผีตีนเดียวสิงสถิตอยู่ มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งนายพรานนอนอยู่ใต้ต้นไทร ถูกผีรบกวนแกล้งจนไม่ได้หลับได้นอน นายพรานบอกว่าไม่กลัว ผีจึงเอาตีนถีบนายพราน นายพรานใช้มีดลงอาคมตัดขาผีจนขาดเหลือเพียงข้างเดียว และด้วยความสงสาร นายพรานจึงตัดกระบอกไม้ไผ่มาต่อให้แทน ทำให้ชาวบ้านได้ยินเสียงดังก๊อกๆๆ เวลาผีตีนเดียวมา (สัมภาษณ์ นายทองอยู่ บัวจัตุรัส และนางผอม แยกจัตุรัส, 2556)
ผีตีนเดียวเป็นผีแกล้งไม่ทำร้ายโดยตรง เช่น แกล้งให้ตกต้นไม้ แกล้งปลอมเป็นเสือ แกล้งปลอมเป็นสัตว์ หรือมารบกวนเวลานอนกลางป่า ทางที่จะป้องกันผีตีนเดียวคือ การนำถั่วพกไปด้วย หรือนำหมาที่มีสี่ตาคือหมาที่คิ้วมีขนสีแตกต่างจากสีพื้นไปด้วย มีเรื่องเล่าว่า มีนายพรานกับลูกชายพาหมาสี่ตา (หมาดำ) ไปนอนในป่าตอนกลางคืน ขังหมาไว้ ผีตีนเดียวจะมากินลูกนายพราน ลูกนายพรานปล่อยหมาดำไปกัด ผีตีนเดียวจึงหนี และกลัวหมาจนถึงทุกวันนี้ (สัมภาษณ์ นางดำ จันทิม และนางหนิ่ม แยกจัตุรัส, 2556)
พิธีเสี่ยงทายของชาวญัฮกุรเพื่อถามเรื่องของหาย ในภาพนางเลียบ สมจัตุรัส บ้านวังอ้ายโพธิ์ กำลังทำพิธี
เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วย หากไปรักษาที่โรงพยาบาลไม่หาย ญัฮกุรก็จะให้คนเฒ่าคนแก่ที่เป็นหมอดู ตรวจดวงชะตา และสะเดาะเคราะห์ แม่หมอจะทำนายทายทักด้วยการนำด้ายผูกหมากแห้ง จากนั้นจะถามผีปู่ย่าตายายถึงอาการเจ็บป่วย โดยถามว่าผีอยากกินอะไร เช่น อยากกินไก่ กินเหล้า บุหรี่ ข้าว ถ้าหมากแห้งแกว่งแรงก็แสดงว่าผีอยากกิน แล้วเอาคำทำนายนั้นไปแก้ หากของหายก็สามารถถามได้ด้วยวิธีเดียวกันนี้ โดยจะถามถึงสถานที่ที่ของหาย ถามไปเรื่อยๆ ถ้าหมากแกว่งแรงที่คำถามไหน แสดงว่าของที่หายอยู่ที่ตรงนั้น
สมัยก่อน ในชุมชนบ้านไร่มักได้ยินเสียงร้องเพลง "ปะเรเร" หรือ "กระแจ๊ะ" คล้ายกับการแสดงลำตัดในภาคกลาง มีการเอื้อนทำนองไพเราะฟังแล้วค่อนข้างเศร้า เนื้อเพลงจะเกี่ยวกับการพูดคุย สอบถามสารทุกข์ การเกี้ยวพาราสี มีบ้างที่นำเอาเรื่องเล่าที่เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของชาวอีสานเช่นพระเวสสันดร มาดัดแปลงร้องเข้าไปด้วย ปกติการเล่นปะเรเรจะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ชาย หญิง ร้องโต้ตอบกันไปมา โดยจะมีผู้บอกบทให้กับผู้เล่นทั้งสองฝ่าย เครื่องดนตรีที่ใช้มีเพียง 2 ชิ้น ผู้หญิงจะทำหน้าที่ตีกลองโทน ส่วนผู้ชายจะเป่าใบไม้
การละเล่นปะเรเรขาดหายไปนานเกือบ 30 ปีแล้ว เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม คนรุ่นใหม่ไม่สามารถตีกลองโทนด้วยทำนองเก่าได้อีก มีเพียงรุ่นคนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่สามารถเล่นได้ แต่ก็เหลือน้อยคนเต็มทีเพราะความชราภาพ
เมื่อนึกถึงบทบาทของผู้หญิงที่เล่นเครื่องดนตรีแล้ว ในภาพปูนปั้นสมัยทวารวดีพบภาพของผู้หญิงเล่นเครื่องดนตรีเป็นวงประกอบด้วยพิณ พิณเปี๊ยะ ฉิ่ง และมีคนขับร้อง
ชาวบ้านกำลังรำวงประกอบดนตรี แสดงที่บ้านวังอ้ายโพธิ์ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ
ชาวบ้านวังอ้ายโพธิ์กำลังแสดงการเต้นรำในสมัยก่อนให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชม
ประวัติศาสตร์บอกเล่า
ญัฮกุรเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในเขตประเทศไทย ถ้าพิจารณาจากภาษาซึ่งเป็นภาษามอญโบราณ อาจจะสัมพันธ์กับคนในรัฐทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) แต่หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ญัฮกุรมีเรื่องเล่า นิทาน และตำนานอยู่ค่อนข้างมาก ในที่นี้จะขอแบ่งหมวดหมู่ของเรื่องเล่าต่างๆ พร้อมวิเคราะห์บางส่วน
นิทาน:
นิทานที่เกี่ยวกับพืชอาหาร
ญัฮกุรมีนิทานที่เล่าเรื่องพืชอาหารที่สำคัญอยู่ 3 ชนิดคือ กลอย ลูกเดือย และข้าว
กลอยเป็นพืชสำคัญ เพราะสมัยก่อนในช่วงก่อนหน้าฤดูเก็บเกี่ยว ญัฮกุรจะบริโภคกลอยเป็นอาหาร เพราะข้าวไม่พอกิน ญัฮกุรจึงถือว่า "กลอยเป็นแม่ตัว แต่ข้าวเป็นแม่เลี้ยง ถ้ากินกลอยแล้วทำไม่ดี จะโดนแม่ตีกลับหนัก ส่วนข้าวที่เป็นแม่เลี้ยงเป็นคนที่ชอบเจ็บป่วยบ่อย" (สัมภาษณ์ นางดำ จันทิม, 2556)
นอกจากเรื่องข้างต้นแล้ว มีนิทานเรื่องหนึ่งที่แพร่หลายในหมู่ญัฮกุรในเขตจังหวัดชัยภูมิ คือเรื่อง "ยองคะมาย" (ยายคะมาย) หรือชื่อภาษาไทยที่ชาวบ้านตั้งคือ "ผัวเมียกับกลอย" เล่ากันว่า "สมัยก่อนกลอยกินแล้วไม่เมา อยู่มาวันหนึ่งมีผัวเมียคู่หนึ่ง ผัวไปเที่ยวป่า ส่วนเมียคอยที่บ้าน เมียนี้มีชื่อว่ายองขมาย (ยองแปลว่ายาย) ปรากฏว่านายพรานไม่ยอมกลับบ้าน มัวแต่หาหัวเผือกและกลอยในป่า เมียโมโหเลยเยี่ยวลดกลอย แล้วสาปให้เมา ผัวเลยอยู่ในป่าไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรกิน ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านเลยต้องเอากลอยมาหมักให้หายเมาเสียก่อนจึงจะกินได้" (สัมภาษณ์ นายเติม โย้จัตุรัส, 2556)
อนึ่ง กลอยเป็นพืชตระกูลหัวที่ไม่สามารถกินได้ด้วยวิธีการต้มแบบปกติ เพราะในกลอยมีสารพิษที่เรียกว่า "ไดโอสคอไรน์" (Dioscorine) จึงต้องผ่านกรรมวิธีล้างพิษเสียก่อน การล้างพิษมีอยู่ 2 วิธีคือเอากลอยไปตีแผ่นหรือตัดเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วล้างด้วยน้ำที่ไหลผ่าน และอีกวิธีคือการเอากลอยไปล้างน้ำเกลือ จึงจะทำให้พิษหาย ดังนั้น นิทานเรื่องยองคะมายคงแต่งขึ้นเพื่อให้ญัฮกุรรู้ว่าในกลอยมีสารพิษอยู่ ในปัจจุบันพบว่า ญัฮกุรจะทำกลอยด้วยการใช้เกลือล้างพิษออกมา
ญัฮกุรยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพืชอาหารอื่น ๆ อีก พืชที่สำคัญอีกชนิดคือลูกเดือย ดังปรากฏในคำพูดว่า "ลูกเดือยอกแตก เพราะไม่สามารถเลี้ยงลูกได้เหมือนกับข้าว" (สัมภาษณ์ นายพนม จิตร์จำนงค์, 2555) เรื่องเล่าสั้น ๆ ข้างต้นเป็นคำพูดที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า "สมัยก่อนญัฮกุรไม่กินข้าว กินแต่เดือย ตาเลยผ่ากระเพาะนกเขา ในนั้นมีทุกอย่างมีเม็ดงา ฟักทอง ข้าว มะเขือ ทุกอย่างที่กินได้ ก็เลยเอาไปปลูก จึงมีอยู่มีกินกัน ข้าวสมัยก่อนเมล็ดเท่ากับหม้อ ตอนหลังเลยสับเมล็ดข้าวให้พอดี" (สัมภาษณ์, นางผอม แยกจัตุรัส, 2555) นิทานเรื่องนี้มีอีกสำนวนหนึ่ง นางหอม ญาติรัก อายุราว 70 ปี ได้เล่าให้ฟังว่า "นกเขาบินเกาะต้นไม้แล้วร้องให้นายพรานเอาปืน (หน้าไม้) มายิงให้มันตาย เมื่อนกเขาตกลงมาแล้วร้องบอกนายพรานว่าให้ถอนขน รนไฟ และบอกให้ผ่าท้อง เมื่อนายพรานผ่าท้องเจอเมล็ดข้าว เดือย และเมล็ดพืชทุกอย่างที่กินทุกวันนี้ ..." (สัมภาษณ์ นางหอม ญาติรัก, 2555)
นิทานเรื่องข้าวมาจากนกเขานั้นมีการเล่าอยู่ในนิทานของ "ชาวลัวะเผ่ากะตู" (เรียกตามคนลาว) ในแขวงเซกอง ประเทศลาว และในนิทานของชาวจ้วง มณฑลกวางสี ประเทศจีน เรื่อง "ปู่โถโล" เป็นไปได้ว่านิทานข้างต้นสะท้อนว่าวัฒนธรรมการปลูกข้าว ลูกเดือย และเมล็ดพืชต่าง ๆ อาจเป็นความรู้จากสังคมภายนอก
ญัฮกุรมีนิทานเรื่อง "ข้าวกระโดดขึ้นยุ้ง" ความว่า ข้าวสมัยก่อนไหลขึ้นยุ้งฉางเอง แต่ปรากฏว่ามีแม่ลูกอ่อนเลี้ยงลูก ลูกไม่ได้หลับนอน เพราะข้าวกระโดดขึ้นยุ้งทุกวัน แม่เลยเอ็ด ข้าวเลยบอกว่าให้ไปทุบไปตีเอาเอง นับตั้งแต่นั้นมาเลยต้องไปเกี่ยวข้าวเอง (สัมภาษณ์ นายทองอยู่ บัวจัตุรัส, 2556)
นิทานข้างต้นมีส่วนคล้ายกับเนื้อความช่วงท้ายของตำนานพญาคันคากของชาวไทยอีสานและชาวลาวในประเทศลาว
ตำนานกำเนิดมนุษย์
ตำนานคนเกิดในรอยเท้าสัตว์
มีรอยเท้าวัวและรอยเท้าช้าง มีอยู่วันหนึ่งผู้หญิง 2 คนไปตัดหวายและได้ดื่มน้ำจากรอยเท้า จึงเกิดลูกมา มีลูกช้างและลูกวัว เพื่อตามหาพ่อของตน ลูกเลยวัดรอยเท้าช้างและรอยเท้าวัว ทั้งคู่ออกตามหาพ่อ เจอนกก็ถามนก นกบอกว่าอยู่บนเขาลูกเขียว ๆ ลูกวัวเจอก่อนเลยหยุดหาพ่อ ส่วนลูกช้างมีชื่อว่านางผมหอม ใครก็อยากคุยด้วย พ่อหวงลูก จึงปลูกข้าวงอกไปถึงเดือน นางผมหอมจึงตำข้าวอยู่ข้างบน มีต้นโพธิ์อยู่ข้างบนด้วย นางผมหอมจึงอยู่บนสวรรค์ (สัมภาษณ์ นายเติม โย้จัตุรัส, 2556)
ในตำนานข้างต้นมีเค้าโครงคล้ายกับตำนานทางล้านนา เช่น ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ มูลศาสนา และเชียงใหม่ปางเดิม ซึ่งเล่าเรื่องของฤษีวาสุเทพที่เก็บเด็กทารก 6 คนได้จากรอยเท้าสัตว์ 3 ชนิดได้แก่ ช้าง วัว และแรด นอกจากนี้ ยังคล้ายกับตำนานปราสาทเกาะแกร์ที่เล่าเรื่องคนเกิดจากรอยเท้าช้างอีกด้วย
ตำนานไฟไหม้แผ่นดิน
นานมาแล้วไฟเคยไหม้แผ่นดิน มีคนเหลือรอด 2 คนเป็นพี่น้องกันเป็นชายคนหนึ่ง เป็นหญิงคนหนึ่ง ทั้งสองคนเป็นคนที่สืบเชื้อสายของกลุ่มคนบนโลกใบนี้ โดยคนญัฮกุรเป็นลูกคนที่หนึ่ง ไทยเป็นคนที่สอง ลาวเป็นคนที่สาม เขมรเป็นคนที่สี่ ฝรั่งเป็นคนที่ห้า และพม่าเป็นคนที่หก (สัมภาษณ์ นางเคลน ญาติตะขบ, 2558)
ผู้วิจัยยังไม่เคยพบการอธิบายการกำเนิดมนุษย์ด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับไฟไหม้แผ่นดิน อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุดตำนานเรื่องนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า ญัฮกุรคงถือว่าตนเป็นคนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนคนกลุ่มอื่น
ตำนานที่เกี่ยวข้องกับสัตว์
สมัยก่อนผู้ชายญัฮกุรจะมีอาชีพล่าสัตว์ ทำให้มีตำนานและนิทานเกี่ยวข้องกับสัตว์หลายเรื่อง ดังนี้
นิทานเรื่องทำไมเสือถึงมีลาย
นานมาแล้ว คนกับสัตว์เคยสื่อสารกันรู้เรื่อง เสือสมัยนั้นยังเป็นตัวสีส้ม ๆ เสือเกิดความสงสัยว่า ทำไมหมูต้องทำคันนา และทำไมควายต้องไถนาให้ จึงถามทั้งหมู ไก่ และสัตว์ทุกชนิดว่า "ทำไมหมูและควายต้องทำ" สุดท้ายไปถามควาย ควายตอบว่า "คนเป็นตัวฉลาด เลยต้องทำตาม" เสือสงสัยว่า "ตัวฉลาดมันเป็นยังไง" ควายแนะนำให้ไปถามคน เมื่อเสือไปพบกับคน คนบอกว่า ถ้าเสืออยากรู้คำตอบให้เสือไปทาน้ำมันยางตามตัว แล้วเสือก็มาถามใหม่ว่า "ตัวฉลาดมันเป็นยังไง" คนเลยบอกเสือว่า "ให้ไปนอนคลุกกับนุ่นอีก" เมื่อเสือกลับมา คนก็เอาไฟจุดที่หางเสือ ไฟไหม้เสือตรงที่ทาน้ำมันยาง ควายเลยหัวเราะจนฟันบนกระเด็นหายไป ตั้งแต่นั้นมาควายก็เลยไม่มีฟันบน ส่วนเสือก็เลยมีลายตามตัวมาจนถึงทุกวันนี้ (สัมภาษณ์ นายพนม จิตร์จำนง, 2557)
นิทานข้างต้นเป็นการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างญัฮกุรกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่สำคัญคือสาเหตุที่ควายต้องไถนาให้กับคน แสดงว่านิทานเรื่องนี้คงเกิดขึ้นในสังคมเกษตรกรรมแล้ว
ตำนานเชิงประวัติศาสตร์
ญัฮกุรมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับชาวเขมร และชาวไทย-ลาวอยู่พอสมควร มีตำนานว่าด้วยความสัมพันธ์ดังกล่าว เมื่อก่อนตอนที่ทำพิธีอะไรสักอย่าง เขาให้ดึงเชือกเส้นด้าย คนไทย ญัฮกุร และเขมร เคยเป็นพี่น้องกันมาก่อน ปรากฏว่าทั้งหมดจับได้เส้นด้ายที่เป็นเส้นแห่งการพลัดพราก ทางคนอีสานได้เครื่องปั่นด้ายไป (พรืม) คนอีสานจึงทำด้ายและเสื้อผ้าเป็น คนญัฮกุรได้ของสานเสื้อหวาย (บุ่นเตาว) จากนั้นมาทำให้คนญัฮกุรต้องขึ้นมาอยู่บนป่าบนเขาเพื่อหาหวายมาสานเสื้อ เพื่อเอาไปแลกกับด้าย ส่วนคนเขมรไม่ทราบว่าได้อะไรไป แต่ผู้เล่าบอกว่าเลยเก่งในการทำเครื่องเงิน (สัมภาษณ์ นายพนม จิตร์จำนงค์, 2557) อย่างไรก็ตาม ตำนานของญัฮกุรว่าด้วยคนกลุ่มต่าง ๆ มักเป็นตำนานที่ว่าด้วยความขัดแย้ง ดังนี้
เรื่องแรกเล่าว่า ญัฮกุรเคยไปช่วยทำสงครามกับลพบุรี และทำสงครามกับชาวเขมร ซึ่งการรบกับเขมรรบกันมานานมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าเก่า ๆ นานมากจนไม่รู้ว่าเริ่มต้นเมื่อใด (สัมภาษณ์ นายเติม โย้จัตุรัส, 2555)
เรื่องที่สอง นายสวิทย์ วงษ์ศรี เล่าว่า ในสมัยก่อน ญัฮกุรเคยทำสงครามแย่งปราสาทกับชาวเขมร ญัฮกุรแพ้จึงต้องอพยพหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา (สัมภาษณ์ นายสวิทย์ วงษ์ศรี, 2556) เป็นเรื่องที่เล่าสืบกันมาตั้งแต่สมัยก่อน โดยได้ยินมาจากคนรุ่นปู่ย่าอีกทอดหนึ่ง
เรื่องที่สาม นายพนม จิตร์จำนงค์ เล่าว่า นานมาแล้ว เมื่อปราสาทสร้างเสร็จ มีการแข่งกันว่าใครจะเป็นเจ้าของ จึงคิดแข่งกันเขียนชื่อลงบนปราสาท ญัฮกุรเขียนตัวหนังสือช้ากว่าชาวเขมร จึงแพ้ ต้องยกปราสาทให้กับชาวเขมร (สัมภาษณ์ นายพนม จิตร์จำนงค์, 2557) เรื่องนี้นายพนมได้ยินมาจากยายแก่คนหนึ่งที่บ้านวังอ้ายโพธิ์
ญัฮกุรเรียกชาวเขมรว่า "คเมร" ออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า "ขแมร์" (Khmer) คำนี้คงเป็นคำตกค้างมานาน เพราะในปัจจุบันญัฮกุรอาศัยอยู่ห่างจากชาวเขมร ในพื้นที่ข้างเคียงมีเพียงคนไทยอีสาน และคนกูย (ส่วย) เท่านั้น และไม่ได้ติดต่อกับชาวเขมรมานานแล้ว อนึ่ง ตำนานเรื่องนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเสื่อมอำนาจลงของรัฐทวารวดี ซึ่งเคยมีการตีความกันว่ารัฐทวารวดีสลายตัวไปจากการทำสงครามกับอาณาจักรเขมรโบราณ
นอกจากตำนานที่เกี่ยวข้องกับชาวเขมรแล้ว ยังมีเรื่องของคนไทยด้วย แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนัก ดังเช่นเรื่องที่นายเติม โย้จัตุรัส เล่าความว่า "ญัฮกุรสมัยก่อนเล่าว่าเมื่อเจอคนไทยให้รีบหนี เพราะคนไทยจะจับตัวเอาไป แล้วเอาเล็บไปทำหลังคาปราสาท" (สัมภาษณ์ นายเติม โย้จัตุรัส, 2556) นายพนม จิตร์จำนงค์ เล่าว่า สมัยก่อนใช้เรื่องเล่านี้เพื่อให้ระมัดระวังคนไทย และให้หนีเมื่อเจอกับคนไทย ดังนั้น สมัยก่อน ญัฮกุรเมื่อพบเจอกับคนไทยจะวิ่งหนีเข้าป่า และถ้าเป็นพวกข้าราชการเข้ามาในหมู่บ้านก็จะหนีทันที เหลือไว้แต่ผู้นำหมู่บ้านเท่านั้น
ย่าโมหรือท้าวสุรนารีเป็นวีรสตรีที่คนอีสานนับถือกันมาก เพราะเป็นบุคคลที่กล้าหาญต่อสู้กับกองทัพลาวของเจ้าอนุวงศ์ เมื่อ พ.ศ.2369 ตรงกับรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สายพิน แก้วงามประเสริฐ, 2536)
ญัฮกุรมีตำนานเกี่ยวกับย่าโมหรือท้าวสุรนารี และเล่าด้วยความภาคภูมิใจด้วย เพราะได้เป็นส่วนหนึ่งของสงคราม นายพนม จิตร์จำนงค์ เล่าให้ฟังว่า "ในตอนนั้นที่ย่าโมถูกจับเป็นเชลย ญัฮกุรได้เดินทางไปช่วยออกหัวคิดให้แอบเอาน้ำกลอยผสมลงไปกับเหล้าสาโทเพื่อให้ทหารลาวดื่ม ทหารลาวจึงเมา ทำให้ย่าโมสามารถเอาชนะทหารลาวได้ ประกอบกับทหารจากทางลพบุรีได้ถูกส่งเข้ามาช่วยสมทบ ทำให้ชนะทหารลาวได้อย่างง่ายดายขึ้น" (สัมภาษณ์ นายพนม จิตร์จำนงค์, 2556; นายเติม โย้จัตุรัส, 2556) ญัฮกุรให้เหตุผลว่า "ปกติการดื่มเหล้าไม่มีทางเมากันง่าย ๆ ถึงขนาดลุกไม่ได้ ต้องผสมน้ำกลอยลงไปแน่ ๆ จึงทำให้เมาจนสลบจนไม่สามารถฟื้นได้" (สัมภาษณ์ นายพนม จิตร์จำนงค์, 2556)
ญัฮกุรมีนิทานและตำนานอีกหลายเรื่อง ควรมีการเก็บข้อมูลในอนาคตก่อนที่ตำนานจะค่อย ๆ หายไป เพราะการเข้าแทนที่ของเทคโนโลยีการเล่าเรื่องแบบใหม่ เช่น โทรทัศน์และภาพยนตร์ เป็นต้น และคนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจเรื่องเล่าต่าง ๆ อีก
สถานการณ์สำคัญและการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
1) การเปลี่ยนศาสนา เชื่อว่าศาสนาดั้งเดิมของญัฮกุรคือการนับถือผี ต่อมาเมื่อได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธจึงได้เริ่มมีการผสมผสานความเชื่อระหว่างพุทธกับผีเข้าด้วยกัน ปัจจุบันญัฮกุรถือว่าพวกตนนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก อนึ่ง เคยมีบาทหลวงเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่บ้านญัฮกุรบางแห่ง แต่ชาวบ้านไม่นับถือ
2) ภาษาเดิมที่กำลังสูญหาย ในคนอายุประมาณ 30-40 ปีขึ้นไป โดยมากแล้วสามารถพูดภาษาญัฮกุรได้ แต่มีสำเนียงเปลี่ยนไปเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับคนแก่ ส่วนเด็กในหมู่บ้านที่มีอายุไม่เกิน 20 ปีมักพูดภาษาญัฮกุรไม่ได้ บางคนฟังได้แต่พูดไม่ได้ บางคนพูดได้บางประโยคหรือบางคำเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะ ประการแรก ในครอบครัว พ่อแม่ไม่ใช้ภาษาญัฮกุรในการสื่อสาร เพราะกลัวว่าลูกจะไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ประการที่สอง เมื่อราว 50 ปีมาแล้ว มีการตั้งโรงเรียนขึ้นในหมู่บ้านต่าง ๆ ภาษาไทยได้กลายเป็นภาษากลางและภาษาที่ดูทันสมัย ทำให้เด็กเริ่มไม่พูดภาษาญัฮกุร ประการที่สาม เมื่อราว 50 ปีที่แล้วชาวบ้านเริ่มมีวิทยุทรานซิสเตอร์ และเมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านมีโทรทัศน์กันมากขึ้น ทำให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านเริ่มไม่พูดภาษาญัฮกุร เพราะเรียนรู้ภาษาญัฮกุรจากโทรทัศน์
3) การอพยพเข้ามาทำงานในเมือง ในระยะแรกราว 40 ปีที่แล้ว เมื่อระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจแบบเงินตรา ทำให้ผู้ชายญัฮกุรเป็นกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองโดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ และตามเมืองอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยทำงานรับจ้างทั่วไป บางคนเช่น นายประยูร มองทองหลาง เคยไปทำงานในต่างประเทศที่เกาหลี เป็นต้น ต่อมาเมื่อราว 30 ปี พวกผู้หญิงจึงเริ่มไปทำงานในเมือง เพราะการเดินทางสะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ญัฮกุรในเขตอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ เมื่อเริ่มมีการปลูกมันสำปะหลังกันอย่างจริงจังราว พ.ศ.2530-40 ทำให้ชาวบ้านบางส่วนเริ่มอพยพกลับเข้ามาทำงานในหมู่บ้าน บางคนที่อพยพไปทำงานในเมืองเป็นเวลานาน ทำให้ไม่กินอาหารพื้นถิ่นอีก เช่น แย้ เป็นต้น และเริ่มนิยมการใช้ชีวิตสมัยใหม่
ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายชาติพันธุ์
ก่อนหน้าปลายทศวรรษ 2540 ญัฮกุรไม่มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย จนกระทั่งในปี พ.ศ.2548 สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าไปทำวิจัยทางด้านภาษาในหมู่บ้าน ทำให้ต่อมาในปี พ.ศ.2549 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชัยภูมิ ได้จัดงานรวมกลุ่มของญัฮกุรที่อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โดยเชิญญัฮกุรจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และนครราชสีมา มารวมตัวกันในงาน ทำให้ญัฮกุรบางครอบครัวพบเครือญาติที่ไม่ได้เจอกันมานาน แต่ที่สำคัญคือรับรู้ว่ามีญัฮกุรอยู่ที่ไหนบ้าง และมองเห็นความเหมือนและความแตกต่างกันของญัฮกุรในที่ต่างๆ เช่นการรู้ว่าญัฮกุรที่จังหวัดเพชรบูรณ์ถูกเรียกว่าละว้า เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2548-49 ญัฮกุรบางคนได้เริ่มทำวิจัยทางด้านภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง ที่สำคัญคืองานวิจัยของนายทองพิทักษ์ ยันจัตุรัส และคณะ ชื่อ “โครงการพัฒนาเครือข่ายฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมท้องถิ่นญัฮกุร ต.นายางกลัก ต.บ้านไร่ และ ต.โป่งนก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2549 หลังจากนั้นมีการทำงานวิจัยอีก เช่น นายทองพิทักษ์ ยันจัตุรัส และคณะ วิจัยเรื่อง “กระบวนการรวบรวมองค์ความรู้จากป่าชุมชนโคกคาวเปรียงด้วยภาษาญัฮกุร เพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์และสืบทอดสู่ลูกหลานญัฮกุร บ้านวังอ้ายโพธิ์ ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เสร็จเมื่อปี พ.ศ.2553 เป็นต้น ปัจจุบันชาวบ้านที่บ้านวังอ้ายโพธิ์ไม่มีความเคลื่อนไหวในการทำวิจัยแล้ว
แต่ในช่วง พ.ศ. 2556 มีความเคลื่อนไหวในการทำงานวิจัยที่บ้านไร่แทน โดยมีการจัด 2 โครงการวิจัย คือ โครงการศึกษาและฟื้นฟูประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์เลอเวือะและมอญ โดยนายพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกโครงการดำเนินการโดย นายกิตติพงษ์ เกิดสว่าง ทำเรื่องเกี่ยวกับความรู้ทางด้านพฤกษศาสตร์ของญัฮกุร
ปัจจุบัน ญัฮกุรที่บ้านไร่มีความพยายามในการรื้อฟื้นและอนุรักษ์วัฒนธรรมของญัฮกุรอย่างเข้มแข็ง ดังเห็นได้จากการสร้างบ้านจำลองในอดีตของญัฮกุร บริเวณ อบต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ
Access Point |
---|
No results found. |
ชาวญัฮกุรกระจายตัวอยู่ในแนวเทือกเขาพังเหย อ.เทพสถิตย์ จ.ชัยภูมิ วิถีชีวิตปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรแผนใหม่ บ้านเรือนมีความมั่นคงขึ้น บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่มีการสร้างบ้านจำลองเป็นบ้านแบบดั้งเดิมของชาวญัฮกุรในพื้นที่ ด้านการแต่งกายในชีวิตประจำวันจะใส่เสื้อผ้าตามสมัยนิยม แต่เมื่อมีกิจกรรมทางสังคมหรือพิธีกรรมจะสวมใส่เสื้อผ้าตามอัตลักษณ์ชาติพันธุ์