2023-06-17 11:31:13
ผู้เข้าชม : 6517

อิ้วเมี่ยน มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณภูเขาสูงของประเทศจีน อพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 200 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ฯลฯ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจีนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการสร้างตัวอักษรที่มาจากตัวอักษรฮั่น การรับเอาลัทธิเต๋ามาผสมผสานกับความเชื่อต่อผีบรรพบุรุษ การอพยพย้ายถิ่นทำให้ชาวอิ้วเมี่ยนมีการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมควบคู่กับการรักษาวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยเฉพาะการแต่งกายด้วยการตกแต่งเครื่องประดับเงิน ด้านวิถีชีวิตดั้งเดิมมีการทำไร่หมุนเวียน มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อทำพิธีกรรม รวมทั้งการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำเครื่องเงินและปักผ้าที่มีลวดลายอัตลักษณ์สวยงาม

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : อิ้วเมี่ยน
ชื่อเรียกตนเอง : เมี่ยน, อิ้วเมี่ยน
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : เย้า, เมี้ยน
ตระกูลภาษา : ม้ง-เมี่ยน
ตระกูลภาษาย่อย : เมี่ยน (เย้า)
ภาษาพูด : เมี่ยน
ภาษาเขียน : อักษรจีน

กลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่า “เมี่ยน” หรือ “อิ้วเมี่ยน” หมายถึง “ชนชาติมนุษย์” หรือ “คน” คำว่า “อิ้ว”ในภาษาอิ้วเมี่ยนแปลว่า “ชนชาติ” ส่วนคำว่า “เมี่ยน” แปลว่า “มนุษย์หรือคน” ฉะนั้นเมื่อรวมสองคำนี้แล้วจึงหมายถึง “ชนชาติมนุษย์หรือคน” ในประเทศไทยนั้นมักเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “เย้า” ซึ่งเป็นชื่อที่คนจีนใช้เรียกชาวอิ้วเมี่ยน เมื่อหน่วยงานราชการเข้ามาจัดทำข้อมูล จึงได้บันทึกตามที่ชาวจีนใช้ ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของชาวอิ้วเมี่ยนจึงถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนมาเนิ่นนาน จนกระแสวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิทธิชุมชนเริ่มเข้มข้นขึ้น ชาวอิ้วเมี่ยนจึงเริ่มรณรงค์การเรียนชื่อให้ถูกต้องมากขึ้น คือ “อิ้วเมี่ยน”

ชาวอิ้วเมี่ยนถูกจัดอยู่ในเชื้อชาติมองโกลอยด์ มีอายุเก่าแก่ใกล้เคียงกับชาวฮั่น มีถิ่นฐานกำเนิดบริเวณเขตภูเขาสูงทางตอนกลางของประเทศจีน การดำรงชีพส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผา (Swidden Agriculture) ทำให้ต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องเพื่อหาพื้นที่ทำกินที่มีความอุดมสมบูรณ์จาก ความรุนแรงทางการเมืองและความจำเป็นทางเศรษฐกิจได้ผลักดันให้ชาวอิ้วเมี่ยนต้องอพยพย้ายถิ่นจากดินแดนมาตุภูมิ ในประเทศไทยชาวอิ้วเมี่ยนตั้งถิ่นฐานอย่างกระจัดกระจาย อิ้วเมี่ยนเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงที่ตั้งชุมชนกระจายอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบคนกลุ่มดังกล่าวในบริเวณรอยต่อของประเทศจีน เวียดนาม ลาว และไทย กับบางส่วนที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศตะวันตก ภายหลังจากสงครามอินโดจีนชาวอิ้วเมี่ยนที่อยู่ในประเทศไทยได้อพยพเข้ามาสู่ดินแดนล้านนาเมื่อ 200 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่อำนาจของระบบจักรวรรดินิยมตะวันตกและรัฐไทยได้แผ่ขยายเข้ามาบริเวณนี้ชาวอิ้วเมี่ยนเลือกตั้งถิ่นฐานบริเวณไหล่เขาห่างไกลจากชุมชน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกฝิ่นมีการตั้งถิ่นฐานอย่างกระจัดกระจายในบริเวณภาคเหนือตอนบนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ จเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง น่าน กำแพงเพชร สุโขทัย และ ตากอีกทั้งยังมีกลุ่มขนาดเล็กที่กระจายตัวไปภาคอีสาน ในจังหวัดร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ อุบลราชธานี และภาคใต้ ในจังหวัดระนอง

จากประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในประเทศจีนมายาวนานนับพันปีทำให้วัฒนธรรมจีนมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและสังคมอิ้วเมี่ยนอย่างเข้มข้น เห็นได้จากการมีระบบกลุ่มเครือญาติเดียวกัน โครงสร้างของระบบครอบครัว และระบบสังคมชายเป็นใหญ่ การสร้างตัวอักษรของตนเองโดยดัดแปลงจากตัวอักษรฮั่นของชาวจีนการรับอิทธิพลจากลัทธิเต๋ามาผสมสานกับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติกับผีบรรพบุรุษค่านิยมในเรื่องการขยันทำงานและแสวงหาความร่ำรวยเนื่องด้วยชะตากรรมของชนเผ่าที่ต้องอพยพย้ายถิ่นและอาศัยปะปนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นชาวอิ้วเมี่ยนจึงพยายามปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมใหม่แต่ยังคงรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมไว้โดยเฉพาะการสวมใส่เสื้อผ้าและเครื่องประดับเงินที่มีลวดลายประณีตงดงามตามจารีตประเพณี


ชาวอิ้วเมี่ยนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาจมีอายุเก่าแก่เท่ากับกลุ่มชาวฮั่นหรือชาวจีน (พูเรต์, 2545: 5 อ้างถึงในประสิทธิ์ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 4 ) โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณหุบเขาลุ่มแม่น้ำเหลือง (หวงเหอ) ทางตอนเหนือของประเทศจีน เมื่อลงมาทางตอนใต้ของจีน ได้ถูกรุกรานจากภัยทางการเมืองจำนวนหลายครั้ง โดยเฉพาะในรอบหนึ่งร้อยปีของราชวงศ์หมิง เมื่อถูกกดดันและถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ชาวอิ้วเมี่ยนส่วนหนึ่งจึงอพยพไปยังมณฑลกุ้วโจวและยูนนาน อีกส่วนหนึ่งได้อพยพไปยังประเทศเวียดนาม ลาว และอพยพมายังประเทศไทยหลังการสิ้นสุดของสงครามปลดแอกในประเทศลาวเมื่อ พ.ศ. 2518ชาวอิ้วเมี่ยนนับหมื่นได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส และบางประเทศในทวีปยุโรป (จันทรบูรณ์ สุทธิ และคณะ, 2539, หน้า 2-3)

บริบทการเคลื่อนสู่ดินแดนในล้านนา ชาวอิ้วเมี่ยนได้เริ่มอพยพสู่ภาคเหนือของประเทศไทยในระยะเวลาเดียวกันกับชาวม้ง เมื่อประมาณหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยการเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านนาโดยเฉพาะเจ้าผู้ครองนครน่านที่ในระยะต่อมาได้แต่งตั้งนายจั่นควน แซ่เติ๋น ที่อยู่ดอยผาช้างน้อย (อำเภอปง จังหวัดพะเยา) เป็นพญาคีรีศรีสมบัติ ทำหน้าที่ปกครองชาวอิ้วเมี่ยนและกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงอื่น ๆ ในพื้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดน่านกับจังหวัดพะเยา (ประสิทธิ์ลีปรีชาและคณะ, 2547 หน้า 5 )

การแบ่งกลุ่มชาวอิ้วเมี่ยนในประเทศไทย สามารถพิจารณาจากเส้นทางการอพยพและช่วงเวลาที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวซึ่งทุกกลุ่มมีเส้นทางการอพยพมาจากประเทศลาวและตั้งถิ่นฐานในจังหวัดต่างๆ (มงคล จันทร์บำรุง, 2533;เครือข่ายวัฒนธรรมเมี่ยน, 2545) แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1) กลุ่มเชียงราย – น่าน เป็นกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณ 150 ปีที่ผ่านมา ชนกลุ่มนี้เป็นชาวอิ้วเมี่ยนที่อพยพมาจากหลวงพระบาง เคลื่อนย้ายตามแนวชายแดนไทย – ลาว ตั้งแต่ทิศตะวันออกของจังหวัดน่านจนถึงเขตอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาและได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บนภูเขาสูงในบริเวณดังกล่าว จากนั้นจึงกระจายตัวไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ ในยุคที่การปกครองของล้านนายังเป็นระบบเจ้าเมืองนั้น ศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ดอยผาช้างน้อยและดอยภูลังกา

2) กลุ่มดอยอ่างขาง เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากลาว เข้าสู่ประเทศไทยทางเขตอำเภอเชียงของ
จังหวัดเชียงราย-น่าน มีการตั้งถิ่นฐานบริเวณดอยอ่างขางและบริเวณใกล้เคียงกัน ทั้งในเขตประเทศไทยและประเทศพม่า รวมทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และจังหวัดเชียงรายในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอแม่จัน

3) กลุ่มเชียงรายตอนบน เป็นกลุ่มที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแขวงห้วยทราย ประเทศลาว อพยพเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณอำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เมื่อประมาณ 90 ปีที่ผ่านมา อิ้วเมี่ยนกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตอำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อำเภอวังเหนือและอำเภองาว (บางหมู่บ้าน) จังหวัดลำปาง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก

4) กลุ่มผู้อพยพ เป็นกลุ่มที่ลี้ภัยทางการเมืองจากเมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว โดยอพยพมาอยู่ที่บ้านห้วยขุนบง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เมื่อเกือบสามสิบปีที่ผ่านมา นอกจากที่บ้านห้วยขุนบงแล้วยังมีอิ้วเมี่ยนที่อพยพลี้ภัยทางการเมืองจากพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศลาวเข้ามาอยู่กับญาติในหมู่บ้านต่าง ๆ ของประเทศไทย และมีบางส่วนที่ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่น

ในกรณีของชาวอิ้วเมี่ยนที่จังหวัดพะเยานั้น เป็นกลุ่มคนที่มีบรรพบุรุษอพยพมาจากประเทศจีนตอนใต้จากนั้นได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา บรรพบุรุษชาวอิ้วเมี่ยนกับชาวม้ง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ผู้บุกเบิกมาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ ซึ่งแต่ก่อนเป็นป่าทึบ จนกระทั่งมีกลุ่มชาวอิ้วเมี่ยนจากประเทศลาวจำนวนมากที่หนีภัยสงครามอินโดจีนมาอาศัยอยู่กับญาติที่หมู่บ้านในอำเภอปง จังหวัดพะเยา บรรพบุรุษรุ่นแรกที่อพยพมาประเทศไทยได้นำหนังสือเดินทางข้ามภูเขา “เจี่ยเซียนป๊อง” ฉบับจริงติดตัวมาหนังสือเล่มดังกล่าวจึงกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาของชาวอิ้วเมี่ยนที่สืบเชื้อสายมาจากเปี้ยนฮู่ง เทพสุนัขมังกร ผู้อาสากษัตริย์ผิงหวางไปสังหารกษัตริย์เกาหวาง จนประสบชัยชนะ กษัตริย์ผิงหวางจึงทรงแบ่งเมืองให้ปกครองและให้อภิเษกกับพระธิดาองค์ที่สามของพระองค์นับตั้งแต่นั้นมา เปี้ยนฮู่งจึงมีสถานะเป็นปฐมกษัตริย์องค์แรกของอาณาจักรอิ้วเมี่ยนและเป็นบรรพบุรุษผู้ให้กำเนิดชาวอิ้วเมี่ยนจักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ซ่งจึงมีพระบรมราชโองการให้สิทธิพิเศษแก่ชาวอิ้วเมี่ยน ในการละเว้นการถูกเรียกเก็บส่วยภาษี การเกณฑ์แรงงานและเกณฑ์ทหาร รวมถึงให้อิสระและสิทธิแก่ชาวอิ้วเมี่ยนในการเคลื่อนย้ายเพื่อเลือกหาที่ทำกินบนภูเขาทั่วราชอาณาจักรโดยชาวอิวเมี่ยนใช้หนังสือเดินทางข้ามภูเขา “เจี่ยเซียนป๊อง” เป็นใบเบิกทางในช่วงการเดินทางข้ามเขตแดน รวมถึงการใช้ในการขอสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ชาวอิ้วเมี่ยนพึงได้รับตามที่ระบุไว้ในหนังสือเดินทางกับเจ้าเมือง (ว๊วน เซ็ง แซ่พ่าน, 2562 สัมภาษณ์)

นอกจากนี้ หนังสือเดินทาง “เจี่ยเซียนป๊อง” ยังได้จารึกถึงตำนานของเทพสุนัขมังกรที่อาสาเดินทางข้ามทะเลสาบไปสังหารกษัตริย์เกาหวาง และบอกเล่าถึงเรื่องราวการอพยพของชาวอิ้วเมี่ยนที่เดินทางจากมณฑลกวางตุ้งจนมาถึงลุ่มแม่น้ำโขงโดยจารึกด้วยอักษรจีนโบราณและอ่านเป็นภาษาอิ้วเมี่ยน (ปัจจุบันยากที่จะหาผู้รู้ภาษาจีนโบราณนี้ในกลุ่มชาวอิ้วเมี่ยนในประเทศไทย) โดยนายว๊วน เซ็ง แซ่พ่าน ได้ถอดความเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือเดินทาง “เจี่ยเซียนป๊อง” ฉบับคัดลอก ดังต่อไปนี้

“คนอิ้วเมี่ยนมีกระดูกและสายเลือดมาจากเทพสุนัขมังกร ...วันที่ประชุมนั้น กษัตริย์ผิงหวางตรัสถามว่า ผู้ใดจะอาสาข้ามทะเลสาบไปรบกับกษัตริย์เกาหวังบ้าง ขอให้ยกมือ แต่เมื่อประชุมเสร็จก็ไม่มีผู้ใดกล้าอาสาไป ในขณะนั้น เทพสุนัขมังกรหายตัวไปและมุ่งหน้าข้ามทะเลสาบ เพื่อไปสังหารกษัตริย์เกาหวาง”

อย่างไรก็ตาม ชาวอิ้วเมี่ยน เชื่อว่า หนังสือเดินทางฉบับจริง “เจี่ยเซียนป๊อง” มีเพียงฉบับเดียวตามประวัติศาสตร์เป็นที่เข้าใจว่า ปัจจุบันหนังสือเดินทางฉบับนี้ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่กำนันรุ่นแรกของชุมชนอิ้วเมี่ยนที่หมู่บ้านปางค่า ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา ซึ่งปัจจุบันกำนันมีอายุ 90 ส่วนหนังสือเดินทางฉบับจริงนี้ที่ถูกเก็บรักษาไว้ โดยห้ามเปิดอย่างเด็ดขาด เพราะชาวอิ้วเมี่ยนมีความเชื่อว่า หากเปิดหนังสือเดินทางฉบับจริงจะทำให้เกิดเพศภัย ฝนตก ฟ้าร้อง อย่างไรก็ตาม ชาวอิ้วเมี่ยนบางส่วนได้จัดทำหนังสือเดินทางฉบับคัดลอกขึ้นหลายฉบับ ปัจจุบันผู้ที่ต้องการจะคัดลอกหนังสือเดินทางต้องเสียเงินค่าดำเนินการ 10,000 บาท ปัจจุบันหนังสือเดินทางฉบับคัดลอกได้ถูกเก็บรักษาโดยกำนันคนปัจจุบัน ทว่าไม่ปรากฏข้อมูลที่แน่ชัดว่า หนังสือเดินทางฉบับนี้ถูกคัดลอกมาตั้งแต่สมัยใดหนังสือเดินทางฉบับนี้มักจะถูกนำมาจัดแสดงต่อสาธารณชนเพื่อบอกเล่าถึงตำนานประวัติความเป็นมาของชาวอิ้วเมี่ยนตามงานประเพณีสำคัญเช่น งานปีใหม่ ที่มักจะจัดแสดงหนังสือเดินทางให้แก่นักท่องเที่ยว การนำไปจัดแสดงเมื่อมีรายการโทรทัศน์เดินทางมาถ่ายทำในชุมชน ทั้งนี้ หากชาวอิ้วเมี่ยนต้องการนำหนังสือเดินทางฉบับนี้ไปจัดแสดงในโอกาสพิเศษต่าง ๆ สามารถกระทำได้ โดยการทำเรื่องขออนุญาตจากกำนัน (ว๊วน เซ็ง แซ่พ่าน,2562: สัมภาษณ์)

ชาวอิ้วเมี่ยนส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายบริเวณภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง น่าน กำแพงเพชร สุโขทัย และตาก (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, หน้า 15 - 16) นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนย้ายกระจายตัวเป็นกลุ่มขนาดเล็กในพื้นที่ภาคอีสาน ได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี และภาคใต้ ได้แก่ บ้านในกรัง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547; พรชัย เอี่ยมโสภณ, 2558)

บริบทด้านประชากร จากการสำรวจข้อมูลเอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับจำนวนประชากรอิ้วเมี่ยนในประเทศไทย พบว่า ทางการจีนนับรวมชาวอิ้วเมี่ยนรวมกับชนชาติเย้าและเป็นเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย เช่นเดียวกันกันหน่วยงานภาครัฐของไทยที่ได้เรียกชาวอิ้วเมี่ยนว่า “เย้า” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2427 โดยเจมส์ แม็คคาที หรือพระยาวิภาคภูวดล เจ้ากรมแผนที่ทหารคนแรกของประเทศไทย
เป็นบุคคลแรกที่ริเริ่มใช้คำเรียกนี้ (พิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน, 2550) ชาวอิ้วเมี่ยนได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากแต่ไม่ได้ระบุจำนวนประชากรไว้ ในเวลาต่อมาได้มีการสำรวจประชากรชาวอิ้วเมี่ยน จำนวน 7 ครั้ง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ครั้งที่ 1 พ.ศ.2504 ระบุว่ามีชาวอิ้วเมี่ยนจำนวน 10,200 คน 74 หมู่บ้าน

ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2510 จากการสำรวจของสหประชาชาติ พบว่า มีประชากรอิ้วเมี่ยนทั้งหมด 16,119 คน ครั้งที่ พ.ศ. 2526 กองประชาสงเคราะห์ชาวเขาได้สำรวจอีกครั้งพบประชากรจำนวน 31,420 คน อาศัยอยู่ 160 หมู่บ้าน

ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2527 จากรายงานของกรมประชาสงเคราะห์ (2527) ระบุว่า ชาวอิ้วเมี่ยนได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2343 เป็นเวลาประมาณ 208 ปี (กรมประชาสงเคราะห์, 2527)
แต่จำนวนประชากรไม่ได้มีการขยายตัวมากนัก

ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2533 ชอบ คชาอนันท์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญชาวอิ้วเมี่ยน ระบุว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 35,652 คน จำนวน 4,823 ครอบครัว อาศัยอยู่ใน 181 หมู่บ้าน

ครั้งที่ 5 พ.ศ.2540 กองสงเคราะห์ชาวเขา กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ระบุว่า มีจำนวนประชากร 48,357 คน จำนวน 9,501 หลังคาเรือน อาศัยใน 98 หมู่บ้าน

ครั้งที่ 6 พ.ศ.2545 ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจของ Jess G. Pourret นักวิชาการ ระบุว่า ชาวอิ้วเมี่ยนมีจำนวนประมาณ 40,000 คน แต่ไม่ได้ระบุจำนวนของหมู่บ้านไว้

ครั้งที่ 7 พ.ศ.2546 Emmanuel Perve (2006) กล่าวว่า ประชากรอิ้วเมี่ยนมีจำนวนทั้งสิ้น 45,571 คน อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจาย 178 หมู่บ้าน

จากข้อมูลสำรวจประชากรอิ้วเมี่ยนในแต่ละครั้งแสดงให้เห็นว่า ชาวอิ้วเมี่ยนมีการขยายตัวของประชากรน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรโลก หรือเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ส่วนการสำรวจข้อมูลจำนวนประชากรอิ้วเมี่ยนในปัจจุบันต้องเผชิญกับข้อจำกัด
4 ประการ ได้แก่ 1) การนิยามความเป็นชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน เนื่องจากชาวอิ้วเมี่ยนมีการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานตั้งแต่การอพยพจากหมู่บ้านเดิมสู่เขตเมืองภายในประเทศ 2) การอพยพเคลื่อนย้ายไปเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศ 3) ชาวอิ้วเมี่ยนมีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ให้มีความลื่นไหลเพื่อให้สามารถดำรงอยู่อย่างผสมกลมกลืนกับคนเมืองในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนชื่อแซ่นามสกุลให้กลายเป็นชื่อภาษาไทย และ 4) การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม เช่น การแต่งงานกับชาวไทยพื้นราบภาคเหนือ ชาวไทยภาคกลาง หรือชาวม้ง ฯลฯ ทำให้เกิดปัญหาในการนิยามชาติพันธุ์ของเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดจากการสมรสข้ามวัฒนธรรม จากเงื่อนไขดังกล่าวที่ดำเนินมาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี จึงเป็นการยากที่จะจำแนกแยกแยะประชากรชาวอิ้วเมี่ยนได้อย่างชัดเจน

การดำรงชีพ

จากเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับความไม่สงบทางการเมืองในประเทศจีน ส่งผลให้ชาวอิ้วเมี่ยนเริ่มเคลื่อนย้ายจากบริเวณภาคกลางสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน โดยการอาศัยปะปนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่อาศัยอยู่ก่อน หลายกลุ่มชาติพันธุ์มีการทำเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาส่งผลทำให้ปริมาณที่ทำกินไม่เพียงพอชาวอิ้วเมี่ยนจึงการกระจายตัวออกเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม และอพยพเข้าสู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ลาว และไทยต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวอิ้วเมี่ยนได้รับเอาวัฒนธรรมการปลูกฝิ่นเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในมณฑลกวางสี มณฑลยูนนาน ในภาคเหนือของประเทศเวียดนาม

ประเทศลาว รัฐฉานในประเทศพม่า รวมถึงประเทศไทย จนกลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ชำนาญการปลูกฝิ่น ในช่วงเวลานั้นฝิ่นจึงเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวของชาวอิ้วเมี่ยนที่ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขามีความสะดวกสบายมากขึ้น (พูเรต์, 2545, หน้า 14)

นับตั้งแต่นั้นมา เหตุผลหลักในการเลือกที่ตั้งถิ่นฐานของชาวอิ้วเมี่ยนจึงเป็นการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกฝิ่น เป็นอันดับแรก รองลงมาจึงจะเป็นการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวไร่และข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชอาหารหลักดั้งเดิม เนื่องจากการปลูกฝิ่นจะต้องปลูกบนพื้นที่สูง มีทิศทาง ทำเลที่ถูกต้อง และใช้ดินที่มีลักษณะเฉพาะ ชาวอิ้วเมี่ยนจึงนิยมตั้งหมู่บ้านอยู่บนไหล่เขา เนื่องจากมีความเชื่อว่า บนยอดเขาหรือสันเขาเป็นบริเวณที่ง่ายต่อการปะทะทั้งลมและฝน อีกทั้ง การมีแหล่งน้ำที่ต้องอยู่สูงกว่าตำแหน่งที่ตั้งหมู่บ้าน เพื่อใช้สำหรับรางรินต่อน้ำเข้ามาใช้ในหมู่บ้านและมีภูเขาล้อมรอบ นอกจากนี้ พื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสมกับการปลูกฝิ่นจะต้องอยู่ห่างไกลจากบริเวณที่มีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่น ที่ดินแปลงหนึ่งสามารถปลูกฝิ่นได้เป็นเวลา 8 -10 ปี บางแห่งสามารถปลูกได้นานถึง 20 ปี เมื่อที่ดินบริเวณหมู่บ้านหมดความอุดมสมบูรณ์ชาวอิ้วเมี่ยนต้องอพยพไปหาที่ทำกินใหม่ (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, 7, 16, 48; พูเรต์, 2545, หน้า 14)

อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวอิ้วเมี่ยนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยกระจัดกระจายบริเวณภาคเหนือตอนบน ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา วิถีการดำรงชีพแบบเคลื่อนย้ายของชาวอิ้วเมี่ยนจึงต้องยุติลง เมื่อพื้นที่ชายแดนบริเวณนั้นถูกควบคุมกำกับภายใต้รัฐชาติ รวมทั้งการเผชิญกับการแผ่ขยายของระบบรัฐชาติของไทย จักรวรรดินิยมตะวันตก สงครามเย็นเงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ชาวอิ้วเมี่ยนต้องปรับตัวตั้งถิ่นฐานแบบถาวรหรือมีการเคลื่อนย้ายเฉพาะอยู่ในขอบเขตประเทศที่ตนอยู่ ภายใต้พื้นที่ที่จำกัดทำให้ไม่สามารถดำรงชีพแบบเคลื่อนย้ายได้ดังเช่นอดีต(พูเรต์, 2545, หน้า 15)

จากนั้น ได้เกิดการผลักดันให้ชาวอิ้วเมี่ยนมีการตั้งถิ่นฐานถาวรในพื้นราบนับแต่ต้นทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ ดังนี้

ประการแรก การดำเนินนโยบายปราบปรามลัทธิคอมมิวนิสต์ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวพื้นที่ป่าภาคเหนือหลายแห่งได้กลายเป็นฐานปฏิบัติการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ได้แทรกซึมเข้าไปในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รัฐบาลไทยจึงเกรงว่าชาวบ้านจะหันไปฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จึงสั่งให้อพยพลงมายังพื้นราบ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถควบคุมสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือได้ง่าย ในขณะเดียวดันมีต่ชาวบ้านบางส่วนที่สมัครใจอพยพมาตั้งถิ่นฐานในพื้นราบเพื่อหนีภัยจากการสู้รบระหว่างทหารไทยกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดนไทย-ลาว (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 7, 25)ชาวอิ้วเมี่ยนหลายหมู่บ้านจากบริเวณภาคเหนือตอนบนได้ถูกทางการอพยพให้ไปอยู่ที่คลองลาน จังหวัดกำแพงเพชรซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวอิ้วเมี่ยนกลุ่มแรกจึงชักชวนให้คนอื่นอพยพตามมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อทหารได้สร้างเส้นทางยุทธศาสตร์จาก อำเภอคลองลาน ไปยัง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก หน่วยงานของรัฐจึงชักชวนให้ชาวบ้านไปถางป่าทำไร่ข้าวโพด ในรัศมีหนึ่งกิโลเมตรตามสองข้างทางเพื่อเป็นการยึดพื้นที่จากคอมมิวนิสต์และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับทหารและเจ้าหน้าที่จากบริษัทรับเหมาก่อสร้างเส้นทางชาวอิ้วเมี่ยนจากทั่วประเทศจึงอพยพไปทำไร่ข้าวโพดที่อุ้มผาง จนกระทั่งภายหลังจากการประกาศนโยบาย 66/23 ให้คอมมิวนิสต์มอบตัวกับทางการทางราชการจึงบังคับให้ชาวอิ้วเมี่ยนที่เข้าไปทำไร่ข้าวโพดอพยพออกจากพื้นที่ทั้งหมดในปี พ.ศ.2527 (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 91)

ประการที่สอง การดำเนินมาตรการเด็ดขาดในการห้ามปลูกฝิ่น และส่งเสริมการปลูกพืชพาณิชย์เชิงเดี่ยว รวมทั้งการดำเนินนโยบายขจัดคนออกจากป่าของรัฐบาล ส่งผลทำให้ชาวอิ้วเมี่ยนไม่สามารถเคลื่อนย้ายเพื่อทำการเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาและปลูกฝิ่นได้อีกต่อไปและจำเป็นต้องตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีพเป็นการเพาะปลูกพืชพาณิชย์เชิงเดี่ยว

อย่างไรก็ตาม เมื่อประสบความล้มเหลวในการทำเกษตรแบบทันสมัยบนพื้นที่สูงในชุมชน ประกอบกับชุมชนอิ้วเมี่ยนบางส่วนถูกรัฐบาลผลักดันให้ย้ายออกจากพื้นที่เขตป่าสงวนชาวอิ้วเมี่ยนจำนวนมากจึงเคลื่อนย้ายเข้ามาหาอาชีพทางเลือกในเมือง โดยเคลื่อนย้ายทั้งในระดับครอบครัวและระดับปัจเจกบุคคลกระจายตัวไปยังเขตเมืองในภาคเหนือและภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีกลุ่มเล็ก ๆ ที่กระจายตัวไปภาคอีสาน (จ.ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ อุบลราชธานี) และภาคใต้ (บ้านในกรัง อ.กระบุรี จ.ระนอง) (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 48; พรชัย เอี่ยมโสภณ, 2015) เมื่อสามารถปรับตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดและวิถีชีวิตในเมืองได้อย่างดีชาวอิ้วเมี่ยนจำนวนมากจึงเลือกตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในเมืองโดยกลุ่มที่ทำธุรกิจการค้ามักเลือกตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเป็นทำเลการค้าแต่ไม่ไกลจากหมู่บ้านเดิมของตนมากนัก เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย ในขณะที่บางส่วนอพยพไปเป็นแรงงานในต่างประเทศ อาทิเช่น ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า วิถีการดำรงชีพดั้งเดิมของชาวอิ้วเมี่ยนที่เป็นการทำเกษตรแบบยังชีพ (Subsistence Agriculture) มีการปลูกพืชเพื่อสนองความต้องการของสมาชิกภายในชุมชนเท่านั้น เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่กระจัดกระจายห่างจากเส้นทางคมนาคมผลผลิตที่เกิดขึ้นภายในชุมชนมีการใช้หรือแลกเปลี่ยนกันภายในชุมชนเท่านั้น (จันทรบูรณ์ สุทธิ, 2539, หน้า 229)ชาวอิ้วเมี่ยนในแต่ละครอบครัวจะมีไร่เป็นของตนเอง โดยทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน (rotation cultivation) จะเน้นการตัดฟันโค่นเผาเพื่อปลูกพืชเพื่อไว้บริโภค โดยเฉพาะข้าวไร่ซึ่งปลูกไว้สำหรับบริโภคภายในครอบครัวเท่านั้น หากเหลือจึงนำไปขายส่วนพืชอื่นจะปลูกไว้รับประทานภายในครัวเรือน เช่น ผักขม ผักกาด มัน กล้วย ส่วนพืชบางชนิดปลูกไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น ข้าวโพด

อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวอิ้วเมี่ยนได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้รับวัฒนธรรมการปลูกฝิ่นเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในตอนใต้ของประเทศจีนนับตั้งแต่นั้นมา ฝิ่นจึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักชนิดเดียวที่ทำรายได้ให้กับครอบครัว โดยชาวอิ้วเมี่ยนนิยมปลูกฝิ่นในไร่ข้าว ฝิ่นสามารถเจริญเติบโตได้ดีและเป็นพืชที่ไม่ทำให้ดินเสื่อมเร็ว จึงสามารถปลูกได้หลายปีติดต่อกันนับตั้งแต่นั้นมา ระบบการผลิตของชาวอิ้วเมี่ยนจึงเปลี่ยนไปเป็นระบบการเกษตรแบบกึ่งยังชีพ (Semi -Subsistence Agriculture)นอกจากการเพาะปลูกแล้ว ชาวอิ้วเมี่ยนยังมีการเลี้ยงสัตว์ เพื่อทำพิธีกรรม ภายหลังจากการใช้สัตว์เพื่อประกอบพิธีกรรมจึงจะสามารถนำมารับประทานได้สัตว์ที่ชาวอิ้วเมี่ยนนิยมเลี้ยง เช่น หมู ไก่ และม้าสำหรับขนสัมภาระในการเดินทางด้วยวิถีการผลิตแบบเกษตรเพื่อยังชีพของชาวอิ้วเมี่ยนที่ต้องพึ่งพิงแรงงานในครอบครัวแบบขยายเป็นหลัก จึงก่อให้เกิดความจำเป็นที่ต้องจัดวางโครงสร้างสังคมและบทบาททางเพศสภาพที่เชื่อมโยงกับการจัดการแรงงานผู้ชายเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (ที่ดิน) และมีอำนาจตัดสินใจในเรื่องการผลิตและการจำหน่ายงานของผู้ชายจึงเกี่ยวข้องกับการฟันต้นไม้เล็กจำพวกหญ้า ไผ่ อ้อย ขุดดิน เก็บผลผลิต ซึ่งสังคมอิ้วเมี่ยนยกย่องว่า งานของผู้ชายได้รับการยกย่องว่าเป็นงานที่มีคุณค่า ศักดิ์ศรีส่วนผู้หญิงถูกควบคุมในฐานะแรงงานผู้ผลิต และทำงานที่ไม่ต้องใช้แรงงานมากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชาย เช่น ฟันต้นไม้เล็ก จำพวกหญ้า ไผ่ อ้อย ขุดดิน เก็บผลผลิต (วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์, 2545, หน้า 130)

สำหรับสมาชิกในครัวเรือน ก่อนวัยแรงงานหรือหลังวัยแรงงานยังสามารถเป็นหน่วยในการผลิตของครัวเรือน โดยเด็กมักจะช่วยงานผู้หญิง ส่วนผู้สูงอายุสามารถช่วยงานในกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้แรงงานมาก หรือต้องใช้ความชำนาญมากนัก เช่น การกรีดฝิ่น หรือการปราบศัตรูพืช(สถาบันวิจัยชาวเขา, 2539, หน้า 217) นอกจากนี้ ชาวอิ้วเมี่ยนยังพึ่งพิงแรงงานหลักตามจารีตประเพณี ทั้งแรงงานแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นแรงงานจากกลุ่มเครือญาติย่อย หรือกลุ่มผู้คุ้นเคยที่มีพื้นที่ทำกินใกล้เคียง เพื่อขอให้มาช่วยงานในช่วงตัดฟันโค่นต้นไม้ การปลูกพืช การบำรุงรักษา และการเก็บเกี่ยวส่วนแรงงานลงแขกมักจะเกิดขึ้นกับครัวเรือนที่มีวัยแรงงานจำนวนน้อย ในการลงแขกเจ้าของไร่จะต้องเตรียมอาหารให้แก่ผู้มาช่วยงาน ซึ่งแตกต่างจากแรงงานแลกเปลี่ยนที่ผู้มาช่วยงานต้องเตรียมอาหารมาเองสำหรับแรงงานรับจ้างมักจะจ้างเฉพาะการปลูกฝิ่นเท่านั้น ผู้รับจ้างมีทั้งคนในชุมชนและคนนอกชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ติดฝิ่น การจ่ายค่าจ้างมีทั้งเงินสด ผลผลิตการเกษตร เช่น ข้าวเปลือก ฝิ่นดิบ ตามแต่จะตกลงกัน (สถาบันวิจัยชาวเขา, 2539, หน้า 217 - 220)

นอกจากนี้ชาวอิ้วเมี่ยนยังมีการตีเครื่องเงิน ซึ่งถือเป็นเครื่องประดับยอดนิยมของชาวอิ้วเมี่ยนที่จะใส่เฉพาะในงานรื่นเริง และสามารถใช้เงินแท่งสำหรับเป็นสินสอดให้เจ้าสาวได้อีกด้วยอาชีพการทำเครื่องเงินเป็นอาชีพพิเศษที่สามารถทำได้เฉพาะเฉพาะบุคคลเท่านั้นเนื่องจากเครื่องเงินของอิ้วเมี่ยนจะมีลวดลายพิเศษเฉพาะตัวที่บอกเล่าความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นไม่สามารถทำเลียนแบบได้ส่วนใหญ่ผู้ชายจะทำเครื่องเงินไปขายทั้งคนในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้านอย่างไรก็ตาม หากผู้หญิงต้องการมีรายได้เสริมก็สามารถทำได้โดยการรับจ้างปักผ้า หรือตัดเย็บเสื้อผ้า บางส่วนมีรายได้เสริมจากการทำกระดาษที่ใช้ในพิธีทำบุญเซ่นไหว้ผี ซึ่งเป็นกระดาษที่ทำมาจากเปลือกไม้อ่อนต้มกับปูนขาว จนเปลือกไม้อ่อนตัวก็นำไปทุบ และตากบนผ้าจนกลายเป็นแผ่นกระดาษ

ในด้านกิจกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนในอดีต ผู้ชายอิ้วเมี่ยนจะแบกข้าวสารและฝิ่นดิบ เดินทางเท้าเปล่าหรือใช้ม้าลงจากดอยไปยังตลาดในเมือง เพื่อขายผลผลิตเหล่านี้และนำเงินที่ได้มาซื้อเกลือ กระดาษเพื่อทำพิธีกรรม ผ้า เทียนไข เงินแท่ง สำหรับทำเป็นเครื่องประดับหรือเก็บไว้เป็นทุนทรัพย์และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ที่ชาวอิ้วเมี่ยนไม่สามารถผลิตเองได้อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งชาวอิ้วเมี่ยนก็สามารถหาซื้อสินค้าเหล่านี้จากพ่อค้าชาวจีนฮ่อที่ขี่ม้านำสินค้าไปขายในหมู่บ้าน หรืออาจซื้อจากชนกลุ่มอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน (เหยนเกี๋ยว แซ่เติ๋น,2561: สัมภาษณ์)

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของอำนาจรัฐไทยและกระแสโลกาภิวัตน์ ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ได้ผลักดันให้ชาวอิ้วเมี่ยนต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของตนเอง จากระบบการเกษตรแบบกึ่งยังชีพที่มีฝิ่นนเป็นพืชเศรษฐกิจ ได้เลิกปลูกฝิ่นและหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้นในระยะแรก ชาวอิ้วเมี่ยนบ้านห้วยเฟือง จังหวัดพะเยา นิยมปลูกฝ้าย แต่ทว่า การปลูกฝ้ายเป็นงานที่หนักและต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก อีกทั้งไม่ใช่พืชเศรษฐกิจที่ให้ราคาดีเมื่อเปรียบเทียบกับพืชเศรษฐกิจอื่น ๆต่อมาเมื่อมีการผลิตใยสังเคราะห์ทดแทนฝ้าย ชาวบ้านจึงหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่ทำรายได้ดีกว่า โดยเฉพาะลิ้นจี่ ส้ม กาแฟส่วนใหญ่ชาวบ้านได้รับการถ่ายทอดวิธีการปลูกและดูแลกับการซื้อกิ่งพันธุ์จากคนพื้นราบและคนจีนที่อยู่ในเมืองบางส่วนได้เข้าอบรมอาชีพกับกรมประชาสังเคราะห์ เช่น การผลิตกาแฟหรือการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปในขณะเดียวกันมีชาวอิ้วเมี่ยนส่วนน้อยที่เริ่มผันเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรมาเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อพืชผลการเกษตรจากชาวอิ้วเมี่ยนด้วยกัน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในละแวกใกล้เคียงเพื่อไปขายให้กับตลาดในเมือง (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547; จุฑารัตน์ โชติชัยชุติมา, 2562: สัมภาษณ์)

ด้วยวิถีการเกษตรแบบสมัยใหม่ทำให้ชาวอิ้วเมี่ยนต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่และใช้การจ้างงานญาติหรือเพื่อนบ้านที่ไม่มีสวนของตนเอง แทนการใช้แรงงานตามจารีตประเพณีเนื่องด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น การถือครองพื้นที่มาก ในขณะที่ครัวเรือนมีขนาดเล็กลง ซึ่งเป็นผลมาจากการแยกตัวจากครัวเรือนใหญ่เร็วขึ้น ประกอบกับอัตราการเกิดของประชากรลดลง หรือพื้นที่มีความเหมาะสมกับการใช้เครื่องมือทุ่นแรงที่สะดวกและรวดเร็วกว่าการใช้แรงงานคน(สถาบันวิจัยชาวเขา, 2539, หน้า 224)นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้เริ่มกู้ยืมค่าอุปกรณ์เกษตร ปุ๋ย และสารเคมี ทั้งในรูปแบบการกู้ยืมนอกระบบจากพ่อค้าในเมือง และกู้ยืมในระบบจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 43)อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวบ้านเริ่มมีรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น ลูกหลานจึงแยกครอบครัวมาปลูกบ้านหลังใหม่ในละแวกใกล้เคียงกันทำให้หมู่บ้านมีการขยายตัวมากขึ้นในทางตรงกันข้ามการเปลี่ยนแปลงข้างต้นส่งผลให้แรงงานในครัวเรือนที่เป็นแรงงานหลักในภาคเกษตรลดลง ครอบครัวเดี่ยวส่วนใหญ่จึงหันมาปลูกเฉพาะพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เนื่องจากขาดแคลนแรงงานจากนั้นจะนำเงินจากการขายผลผลิตการเกษตรไปซื้อพืชเหล่านั้นจากชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกันในขณะที่ครอบครัวขยายยังคงปลูกพืชอาหารหลักเช่นเดิม (จุฑารัตน์ โชติชัยชุติมา, 2562: สัมภาษณ์)

เมื่อชาวบ้านเริ่มมีรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้นทำให้เศรษฐกิจของชุมชนเฟื่องฟูขึ้น กระแสวัฒนธรรมบริโภคนิยมจึงเริ่มแพร่หลายในชุมชนเห็นได้จากจำนวนร้านขายของชำในหมู่บ้าน รถยนต์ รถจักรยานยนตร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของจำนวนโทรทัศน์แม้จะช่วยให้ชาวบ้านได้รับข่าวสารจากโลกภายนอกมากขึ้น แต่ก็ส่งผลทำให้ชาวบ้านมีโอกาสพบปะพูดคุยกันน้อยลง (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547,43,45)นอกจากนี้ การพัฒนาด้านการคมนาคมที่มีการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้านกับตัวเมือง ยิ่งส่งผลทำให้ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างชาวอิ้วเมี่ยนบนดอยและคนเมืองพื้นราบเป็นไปอย่างคึกคักมากยิ่งขึ้นจากเดิมที่หมู่บ้านห้วยเฟืองจะมีพ่อค้าจีนฮ่อขี่ม้ามาขายสินค้า ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้างถนนตัดผ่านถึงหมู่บ้านก็มักจะมีรถเร่ขายสินค้าจากอำเภอเชียงคำและจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาในชุมชน ในขณะที่ชาวบ้านบางส่วนเริ่มมีรถยนต์เป็นของตนเอง จึงสามารถเดินทางลงจากดอยไปซื้ออาหารและของใช้ที่ตลาดในอำเภอเชียงคำได้ทั้งนี้ แม้ว่าชาวบ้านจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็มีค่าใช้จ่ายในการทำเกษตรแบบทันสมัยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ชาวบ้านที่ออมเงินไว้ที่ธนาคารหรือออมในรูปแบบการทำประกันชีวิตจึงไม่มากนักแต่ยังมีบางส่วนที่มีการออมเงินแบบวิถีจารีตดั้งเดิมโดยการนำเงินสดไปซื้อเครื่องเงิน ซึ่งสามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์สำหรับการจำนำได้เมื่อยามจำเป็น อีกทั้งยังสามารถนำไปเป็นสินสอดในการสู่ขอลูกสะใภ้ได้ด้วย (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า40)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำการเกษตรแบบสมัยใหม่จะทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอิ้วเมี่ยนดีขึ้น แต่นัยหนึ่งกลับทำให้ชาวอิ้วเมี่ยนจำนวนมากต้องประสบกับภาวะหนี้สินในครัวเรือนสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนในการผลิตที่สูงจากการลงทุนซื้อเครื่องจักรการเกษตร ปุ๋ย และสารเคมี อีกทั้ง การทำเกษตรเป็นงานที่ใช้แรงงานหนัก ในขณะที่ผลผลิตที่ได้กลับไม่ดีมากนักถือว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เมื่อประสบความล้มเหลวจากการทำเกษตรบนพื้นที่สูง ชาวอิ้วเมี่ยนจำนวนมากจึงเคลื่อนย้ายเข้าสู่เมืองเพื่อหาอาชีพทางเลือก ประกอบกับบางส่วนได้ถูกรัฐบาลขับออกจากพื้นที่เขตป่าสงวนจึงมีการเคลื่อนย้ายทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว และกลุ่มเครือญาติ ส่วนใหญ่กระจายไปทำงานในบริเวณภาคเหนือและภาคกลาง และมีส่วนน้อยที่ย้ายไปทำงานที่ภาคอีสานและภาคใต้ในระยะแรก ชาวอิ้วเมี่ยนบางส่วนเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูกในโรงงานอุตสาหกรรม ลูกจ้างเฝ้าร้านค้า บางส่วนเป็นเจ้าของกิจการร้านน้ำเต้าหู้ ร้านข้าวต้มหรือก๋วยเตี๋ยวปลา ซึ่งขายตามตลาดสดทั่วไปในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางของประเทศ(ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 49)อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ชาวอิ้วเมี่ยนส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายไปหาอาชีพนอกภาคเกษตรในเมืองนั้นยังมีชาวอิ้วเมี่ยนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร กลับเคลื่อนย้ายระดับกลุ่มเครือญาติจำนวน 19 ครัวเรือน (สมาชิกเกือบ 80 คน) ไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านในกรัง ม.9 จังหวัดระนองเป็นชาวอิ้วเมี่ยนกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวที่ตั้งถิ่นฐานในภาคใต้ เพื่อทำสวนกาแฟในรูปแบบการเกษตรแบบพันธะสัญญากับผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วมือ ภายใต้ตราสินค้าที่ชื่อว่า“ก้อง วัลเลย์” ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชน อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง (พรชัย เอี่ยมโสภณ, 2015)

เมื่อฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ชาวอิ้วเมี่ยนบางส่วนจึงเปลี่ยนมาเป็นเจ้าของกิจการร้านขายของชำซึ่งพบมากในพื้นที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน รวมทั้งจังหวัดเชียงรายหรือเป็นเจ้าของโรงงานและร้านขายเครื่องประดับเงินและทองในอำเภอปัวและเมืองน่าน หรือเป็นเจ้าของร้านอาหารและรีสอร์ทในชุมชนของตนเองที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 20) ในขณะที่ชาวอิ้วเมี่ยนบางส่วนให้ความสำคัญกับการศึกษาต่อในระดับสูง เพื่อมุ่งหวังที่จะได้ตำแหน่งงานประจำที่มีความมั่นคง ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนโดยงานศึกษาของประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ (2547, หน้า 74) ได้สำรวจกลุ่มอาชีพหลักของประชากรอิ้วเมี่ยนจำนวน 306 คน ที่อาศัยอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ชาวอิ้วเมี่ยนส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจส่วนตัว เช่น ขายน้ำเต้าหู้ ก๋วยเตี๋ยว ไก่ทอด ฯลฯ ร้อยละ 61.7 รองลงมาเป็นกลุ่มพนักงานบริษัทและองค์กรพัฒนาเอกชน ร้อยละ 36.9 ส่วนกลุ่มที่รับราชการมีเพียงร้อยละ 1.3

ทั้งนี้ การอพยพเข้าไปทำงานในเมืองและนิยมตั้งถิ่นฐานในเมืองที่มีทำเลเหมาะสมกับธุรกิจการค้าที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิมทำให้ชาวอิ้วเมี่ยนมีการแต่งงานกับคนพื้นราบมากขึ้น นอกจากนี้ ชาวอิ้วเมี่ยนบางส่วนยังได้เดินทางไปเป็นแรงงานในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เดินทางไปเป็นแรงงานแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมายในอดีตคนหนุ่มสาวอิ้วเมี่ยนจำนวนหนึ่งนิยมไปทำงานเป็นแม่บ้านที่ฮ่องกง หรือเป็นล่ามภาษาจีนที่ไต้หวัน ส่วนใหญ่เดินทางไปเป็นแรงงานแบบถูกกฎหมาย ซึ่งต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการประมาณหลักหมื่นผ่านบริษัทนายหน้าในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน หนุ่มสาวจากหมู่บ้านห้วยเฟืองส่วนใหญ่นิยมไปเป็นแรงงานที่ประเทศเกาหลีใต้มากขึ้น และมีบางส่วนไปเป็นแรงงานที่อิสราเอล ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ไปเป็นแรงงานแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

จากข้อมูลภาคสนามในพื้นที่บ้านห้วยเฟือง จังหวัดพะเยา พบว่า ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก ผู้สูงอายุในชุมชน มีการประกอบกิจการร้านขายของชำในหมู่บ้านหมอผีทำการเกษตรแทนลูกหลานที่ย้ายไปทำงานในเมืองรับจ้างย้อมผ้าและปักผ้าแบบดั้งเดิมในขณะที่กลุ่มคนวัยกลางคน มีการเกษตรแบบเชิงพาณิชย์ ข้าราชการท้องถิ่น ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวชุมชน เนื่องจากหมู่บ้านห้วยเฟืองอยู่ใกล้กับวนอุทยานภูลังกา ซึ่งมีรีสอร์ท ร้านอาหาร ร้านกาแฟที่ชาวอิ้วเมี่ยนเป็นเจ้าของกิจการประมาณ 20 กว่าแห่ง นอกจากนี้ บางส่วนมีรายรับจากเงินส่งกลับบ้าน (remittance) ที่ได้รับจากญาติที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศในขณะเดียวกันก็เริ่มมีคนรุ่นใหม่กลับมาประกอบอาชีพดั้งเดิมในชุมชน โดยบ้านห้วยเฟืองมีคนหนุ่มสาวเคยทำงานในเมืองแล้วกลับมาเปิดกิจการรับทำเฟอร์นิเจอร์จากหวายธุรกิจได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชาวอิ้วเมี่ยนและคนเมืองในพื้นราบที่นิยมใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากหวาย (จุฑารัตน์ โชติชัยชุติมา, 2562: สัมภาษณ์)

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าชาวอิ้วเมี่ยนสามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจได้ดีและรวดเร็ว รวมทั้ง สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตในเมืองได้อย่างกลมกลืน จนกลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 176)

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ความเชื่อของชาวอิ้วเมี่ยนเป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติกับบรรพบุรุษ และความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเต๋า เมื่อครั้งมีการอพยพทางเรือในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13ชาวอิ้วเมี่ยนมีความเชื่อว่า ความมั่นคงและความปลอดภัยของมนุษย์ ทั้งขณะที่มีชีวิตอยู่และเมื่อตายไปแล้วล้วนขึ้นอยู่กับเทพเจ้า มนุษย์อยู่ในความคุ้มครองของเทพเจ้า และต้องไม่กระทำการใด ๆ ที่ขัดแย้งกับอำนาจของเทพเจ้าหากกระทำการใดที่ขัดแย้งสามารถประกอบพิธีกรรมเพื่อแก้ไขได้ การติดต่อกับเทพเจ้าผ่านการประกอบพิธีกรรม เป็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเต๋านอกจากนี้ ชาวอิ้วเมี่ยนยังมีความเชื่อว่า ทุกสรรพสิ่งรอบตัวมีวิญญาณสิงสถิตอารักขาอยู่ เช่น ต้นไม้ แม่น้ำลำธาร วิญญาณเหล่านี้มีทั้งวิญญาณที่ดีและไม่ดี สามารถบันดาลทั้งคุณและโทษต่อชีวิตของมนุษย์ได้จึงต้องทำพิธีกรรมบูชาหรือขอขมาต่อวิญญาณเหล่านี้เช่นเดียวกัน (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, หน้า 52; พอล และอีแลน ลวิส, 2528, หน้า 155; เลาเถา คิริพานกุล, 2561, สัมภาษณ์) วิญญาณที่ชาวอิ้วเมี่ยนนับถือสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1) วิญญาณบรรพบุรุษ และวิญญาณพระเจ้าผินหวาง (เปี้ยนฮู่ง) ชาวอิ้วเมี่ยนนับถือวิญญาณของบรรพบุรุษที่ตายไปแล้วเพียง 4 รุ่นเท่านั้น โดยเชื่อว่า วิญญาณบรรพบุรุษจะสิงสถิตบนสวรรค์และคอยปกป้องลูกหลานของตน รวมทั้งเป็นตัวแทนผู้ติดต่อระหว่างคนที่มีชีวิตอยู่กับเทพเจ้านอกจากนี้ยังนับถือเปี้ยนฮู่งซึ่งชาวอิ้วเมี่ยนถือว่า เป็นผู้ให้กำเนิดชนเผ่าของตนการเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษมีวัตถุประสงค์เพื่อขอให้ท่านช่วยคุ้มครองดูแลลูกหลาน และช่วยดูแลเรื่องการทำมาหากินหากพื้นที่ฝังศพหรือกระดูกของบรรพบุรุษถูกรบกวนหรือขาดการเซ่นไหว้จะทำให้ลูกหลานเจ็บป่วยด้วยเช่นกันดังนั้น บ้านของชาวอิ้วเมี่ยนทุกบ้านจึงมีการตั้งหิ้งบูชา (เมี้ยนป้าย) ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษ เมื่อปู่และพ่อตายไป ลูกหลานจะต้องทำบุญเพื่อให้วิญญาณบริสุทธิ์ ปีละครั้งเป็นเวลา 3 ปี จากนั้นจึงเชิญวิญญาณบรรพบุรุษมาสิงสถิตในแต่ละปีชาวอิ้วเมี่ยนจะต้องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ (ซิบ อง ไถ เมี้ยน) ตามเทศกาลต่าง ๆ อย่างน้อยปีละ 4 ครั้งและแต่ละครอบครัวจะเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษตนเองเพื่อเรียกขวัญ (โจ่ว เวิ่น) อย่างน้อยปีละครั้งเมื่อมีการประกอบพิธีกรรมที่สำคัญ เช่น งานศพและงานแต่งงาน จะเชิญวิญญาณบรรพบุรุษและเปี้ยนฮู่งมาสิงสถิตที่บ้าน จนกระทั่งเสร็จพิธีจึงจะเชิญกลับนอกจากนี้ เมื่อประสบกับความทุกข์ยากหรือเจ็บป่วย ชาวอิ้วเมี่ยนก็จะประกอบพิธีเซ่นไหว้ให้บรรพบุรุษมาช่วยเหลือ (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, หน้า 52 - 53)

2) เทพยดา ชาวอิ้วเมี่ยนเชื่อว่า เทพที่มีระดับสูงและมีอำนาจมาก มีจำนวนประมาณ 80 กว่าองค์เทพองค์ที่ชาวอิ้วเมี่ยนนับถือมากที่สุด คือ “หยุด ต๋าย ฮู่ง” เป็นประมุขของเทพเจ้าที่สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นสูงสุด และทำหน้าที่คอยดูแลมนุษย์โลกที่ทำพิธีร้องเรียนและขอความเป็นธรรมจากเทพดาในกรณีที่วิญญาณบรรพบุรุษไม่สามารถช่วยเหลือลูกหลานได้นอกจากนี้ยังนับถือเทพเจ้า (ต้ม ต้อง เมี้ยน) ซึ่งปรากฏอยู่ใน
เทวภาพทั้ง 18 เป็นเทพที่มีอิทธิฤทธิ์มาก เทพที่ชาวอิ้วเมี่ยนให้ความนับถือสูงสุด คือ “เล่งสี่ เล่งปู๊ โต้ต๊ะ” ซึ่งรวมเรียกว่า “ฟ่ามชิง”โดยชาวอิ้วเมี่ยนจะเชิญเทพเจ้ามาเลี้ยงเฉพาะในพิธีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบุญบารมีให้แก่ตนเองทั้งในชาตินี้และชาติหน้าเทพเจ้าที่อิ้วเมี่ยนจำลองมากราบไหว้นั้น มีทั้งแกะสลักจากไม้ หรือหิน และเป็นรูปภาพที่วาดโดยช่างจีนแต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่พบเพียงรูปเทวภาพ ประมาณ 24 รูป ใน 1 ชุด ที่ถูกจัดเก็บไว้อย่างดีในห่อผ้าหรือกรุ ซึ่งเรียกว่า เมี้ยนคับ (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, หน้า 53)

3) เทพทั่วไป ชาวอิ้วเมี่ยน เชื่อว่า ทุกหนทุกแห่งเป็นที่สิงสถิตของเทพหรือเจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าที่ ฯลฯ ทั้งดีและร้ายเทพที่ดีจะสิงสถิตอยู่บนสวรรค์ส่วนวิญญาณที่ชั่วร้ายมักจะอยู่ตามต้นไม้และมักจะทำอันตรายผู้อื่นจึงมีการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเทพและวิญญาณเหล่านี้โดยเฉพาะการทำพิธีเลี้ยงเทพเจ้าป่าเจ้าเขา เพื่อขอบคุณที่ได้ดูแลรักษาพืชไร่ สัตว์เลี้ยง ตลอดจนการดูแลผู้คนในชุมชน จึงมีการจัดพิธีเลี้ยงวิญญาณที่ทำพร้อมกันทั้งหมู่บ้านอีกทั้งยังมีการประกอบพิธีกรรมไล่วิญญาณชั่วร้าย (จุ้น ฮ๋าว) อีกด้วย (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, หน้า 53)

นอกจากชาวอิ้วเมี่ยนจะมีความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณที่สิงสถิตในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ป่า ภูเขา หนองน้ำ แม่น้ำ จอมปลวก นรก สวรรค์ ฯลฯพวกเขายังมีความเชื่อเรื่องโชคลางและการทำนาย ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม รวมทั้งความเชื่อเรื่องขวัญ (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, หน้า 61) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ขวัญ ชาวอิ้วเมี่ยนเชื่อว่าในร่างกายของมนุย์มีขวัญ (ว่น) อยู่ตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทั้งหมด 12 แห่ง ได้แก่ ตา หู ปาก คอ แขน หน้าอก ท้อง ขา ข้างหัวด้านซ้าย ข้างหัวด้านขวา เท้า และมือแต่ขวัญของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบ นั้นยังไม่แน่นอนว่าจะอยู่กับตัวเด็กตลอดไปหรือไม่ จึงเรียกว่า “เปี้ยง” เมื่อขวัญแห่งใดแห่งหนึ่งตกใจหรือออกจากร่างไป จะทำให้เจ้าของร่างกายเจ็บป่วยดังนั้น การเรียกขวัญของอิ้วเมี่ยนจึงเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้

ความเชื่อในเรื่องโชคลางและการทำนาย ชาวอิ้วเมี่ยนเชื่อว่า ถ้าเจอสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ตามที่ตนเชื่อและนับถือ จะเป็นลางไม่ดี หรือลางบอกเหตุล่วงหน้า หรือที่เรียกว่า “เป๋นไกว๋” ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำของวิญญาณที่ไม่ดี หากเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น มีงูเข้าบ้าน เก้งพลัดหลงเข้ามาในหมู่บ้าน กระรอกกระโดดผ่านหน้า และต้นไม้ล้มขวางทาง นกถ่ายอุจจาระใส่ ฯลฯ จะต้องมีการทำพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ผ่านพ้นไป และต้องอยู่กรรม หรือ “เก่” เป็นเวลา 3 วันนอกจากนี้ ชาวอิ้วเมี่ยนยังมีความเชื่อในเรื่องการทำนาย โดยใช้กระดูกไก่ในการทำนายเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ หากผลการทำนายออกมาไม่ดีจะงดการทำกิจกรรมนั้น ๆ

ความเชื่อในเรื่องของวันดี และการหาฤกษ์ยาม วิถีชีวิตของชาวอิ้วเมี่ยน การดำเนิน กิจกรรมทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับฤกษ์ยามดังนั้น จึงต้องมีการเลือกวันดีวันมงคลจึงจะสามารถทำกิจกรรมที่สำคัญต่าง ๆ ได้หากไม่เชื่อจะทำให้เกิดผลเสียตามมาภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวได้ลดน้อยลง เนื่องจากหลายชุมชนได้อพยพลงมาอยู่ในพื้นที่ราบหรือในเมือง ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2547, หน้า 10) นอกจากนี้ยังมีชาวอิ้วเมี่ยนที่หันไปนับถือศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ทั้งสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เลิกนับถือผี รวมทั้งยุติความเชื่อที่เกี่ยวข้องจากการสืบเชื้อสายมาจากเปี้ยนฮู่งส่วนกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธ ยังคงมีการผสมผสานความเชื่อเรื่องผีกับศาสนาพุทธได้อย่างลงตัวหากแต่ไม่ได้ยึดถือความเชื่อเรื่องผีหรือเปี้ยนฮู่งที่เข้มข้นเทียบเท่ากับกลุ่มที่นับถือผี (จุฑารัตน์ โชติชัยชุติมา, 2562: สัมภาษณ์)

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมที่สำคัญในรอบปี

ชาวอิ้วเมี่ยนมีประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี ได้แก่ 1) ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ (เจี๋ย เซียง เหฮียง) 2) ประเพณีเจี๋ยเจียบเฝย หรือ เชียดหาเจียบเฝย (วันสาร์ทจีน) 3) พิธีกรรมการเปลี่ยนสถานภาพ 4) ประเพณีการแต่งงาน 5) พิธีกรรมการหย่าร้าง 6) พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายและการทำศพ 7) พิธีกรรมเกี่ยวกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ 8) พิธีเรียกขวัญ และ 9) พิธีซิบตะปูงเมี่ยน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ (เจี๋ย เซียง เหฮียง) เนื่องจากชาวอิ้วเมี่ยนใช้วิธีนับวัน เดือน ปี แบบจีน ทำให้วันฉลองปีใหม่จึงเริ่มพร้อมกับชาวจีน วันตรุษจีน ในภาษาเมี่ยนเรียกว่า “เจี๋ยฮยั๋ง” พิธีฉลองปีใหม่ของเมี่ยนจะจัดเป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ทั้งนี้ ก่อนที่จะถึงพิธีเจี๋ยงฮยั๋ง ชาวบ้านแต่ละครัวเรือน จะต้องเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นทั้งของใช้ส่วนตัวและของใช้ในครัวเรือนให้เรียบร้อยเมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่จะมีกฎข้อห้ามหลายอย่างที่ชาวอิ้วเมี่ยนยึดถือและปฏิบัติกันสืบต่อกันมา โดยมีข้อพึงปฏิบัติและข้อห้ามปฏิบัติในช่วงวันขึ้นปีใหม่ (มูลนิธิกระจกเงา, 2552) ดังต่อไปนี้

สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนวันปีใหม่

1) อาหารสัตว์ เช่น หยวกกล้วย หญ้าสำหรับเลี้ยงหมูเลี้ยงวัวและอื่น ๆ เพราะอิ้วเมี่ยนเชื่อว่า หากหาอาหารสัตว์ในวันขึ้นปีใหม่นี้ เมื่อถึงช่วงเวลาทำไร่ จะมีวัชพืชขึ้นจำนวนมาก ทำให้ผลผลิตไม่ดีหรือไม่เพียงพอต่อการบริโภค

2) ฟืน สำหรับหุงต้ม ชาวอิ้วเมี่ยนเชื่อว่า หากตัดฟืนในวันขึ้นปีใหม่ จะทำให้ในตัวบ้านมีแมลงบุ้งจำนวนมาก

3) ขนม (ฌั้ว) ใช้สำหรับไหว้พรรพบุรุษ และใช้รับประทานกินในวันขึ้นปีใหม่ เช่น ข้าวปุก (ฌั้ว จซง) และข้าวต้มมัดดำ (ฌั้วเจี๊ยะ, ฌั้วจฉิว)

4) เนื้อสัตว์ ส่วนใหญ่จะฆ่าในวันที่ 30 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปีเก่า สัตว์ที่ถูกฆ่ามีทั้งหมู และไก่ เมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ ชาวอิ้วเมี่ยนจะไม่ฆ่าสัตว์ เพราะเชื่อว่า จะทำให้การเลี้ยงสัตว์ไม่ดีและทำให้เกิดโรคต่าง ๆ แก่สัตว์ได้

5) ไข่ เป็นวัตถุสำหรับนำมาย้อมเป็นสีแดงให้เด็ก และญาติพี่น้องที่มาเที่ยวในวันขึ้นปีใหม่ ถือว่าเป็นสิริมงคล และเป็นสิ่งที่ดีงาม

6) ของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้าเครื่องประดับ ฯลฯ จะต้องเตรียมให้พร้อมก่อนวันขึ้นปีใหม่ ในวันขึ้นปีใหม่จะห้ามใช้เงิน หากใช้เงินในวันนี้เชื่อว่า เมื่อมีเงินจะไม่สามารถเก็บออมได้ ต้องจับจ่ายออกไป จะมีความยากจน

7) ประทัด ใช้จุดเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว เป็นการแสดงความยินดีที่ปีเก่าได้ผ่านไปด้วยดี และต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ในวันขึ้นปีใหม่นี้ญาติพี่น้องของแต่ละครอบครัว ซึ่งแต่งงานแยกครอบครัวออกไปอยู่พื้นที่อื่น จะกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ และญาติพี่น้องเป็นการพบปะสังสรรค์ และทำพิธีบวงสรวงบรรพบุรุษร่วมกัน (เสียงเมี้ยน) พิธีนี้จะเริ่มวันที่ 30 ซึ่งถือว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ อีกทั้งเป็นการแสดงความขอบคุณแก่วิญญาณบรรพบุรุษที่ได้คุ้มครองดูแล ในรอบปีที่ผ่านมาด้วยดี หรือบางครอบครัวที่มีการบนบานเอาไว้จะมาทำพิธีแก้บนและเซ่นไหว้กันในวันนี้วันที่ 1 (แซ่ง เอี๊ยด ดอม) เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ละครอบครัวจะตื่นแต่เช้ามืด แล้วเดินไปหลังบ้านเพื่อเก็บก้อนหินเข้าบ้าน เสมือนเป็นการเรียกขวัญเงินขวัญทองเข้าบ้าน เชื่อว่า เงินจะไหลมาเทมาให้กับครอบครัว ให้ครอบครัวมีความสุข หลังจากเก็บก้อนหินเข้ามาในบ้านแล้ว ผู้ใหญ่จะต้มไข่เพื่อย้อมไข่แดง ส่วนเด็กจะตื่นขึ้นมาจุดประทัด หรือยิงปืนเพื่อเป็นสิริมงคล และเฉลิมฉลองปีใหม่ และทำพิธี "ป๋าย ฮหยัง" เป็นพิธีไหว้บรรพบุรุษ หรือศาลเจ้า เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวการประกอบพิธีนี้ขึ้นอยุ๋กับความสะดวกของแต่ละครอบครัว จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ได้ บางครั้งจะมีการประกอบพิธีอย่างพร้อมเพรียงกันทั้งหมู่บ้าน มีการเวียนไหว้จนครบทุกบ้าน หรือบางครั้งอาจมีการไหว้เป็นสายตระกูลหรือเครือญาติเท่านั้นโดยจะไปไหว้หรือทำพิธีที่บ้านเดียว ที่บ้านของเครือญาติอาวุโสที่เป็นเครือญาติเดียวกัน หรือบ้านของบุคคลที่เป็นผู้นำด้านพิธีกรรมของแต่ละตระกูล ซึ่งจะมีหิ้งผีบูชาบรรพบุรุษแตกต่างออกไปจากบุคคลอื่น หิ้งบูชาจะมีลักษณะเป็นศาลเจ้า ภาษาเมี่ยนเรียกว่า “เมี้ยน เตี้ย หลง” ส่วนบุคคลทั่วไปจะมีหิ้งบูชาธรรมดาที่เรียกกันว่า "เมี้ยน ป้าย” เมื่อทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ "ป๋าย ฮหยัง" แล้วเสร็จ พ่อแม่จะนำไข่แดงมาแจกจ่ายให้กับเด็ก และญาติพี่น้องที่มาร่วมงานแล้วผูกเชือกให้สวยงาม หลังจากนั้นจะทำอาหารรับประทาน มีการสังสรรค์กันภายในเครือญาติและเพื่อนร่วมงาน ในวันขึ้นปีใหม่นี้ ผู้ใหญ่อิ้วเมี่ยนมักจะบอกกับเด็กว่า ถ้าเป็นผู้หญิงให้ตั้งใจปักผ้าแล้วจะเก่งในฝีไม้ลายมือ ส่วนผู้ชายจะให้ไปเรียนหนังสือจะได้เก่ง และฉลาดในการเล่าเรียน งานปีใหม่เมี่ยนจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 วัน โดยวันที่สำคัญที่สุด คือ วันแรก ซึ่งเป็นวันไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ ส่วนวันที่ 2 และ 3 จะเป็นการสังสรรค์กับเครือญาติและเพื่อนฝูงและอยู่อย่างสงบตามวิถีชีวิตของชาวอิ้วเมี่ยน

ชาวอิ้วเมี่ยนจะมีข้อห้ามปฏิบัติในช่วงวันขึ้นปีใหม่ 5 ประการ คือ 1) ห้ามไม่ใช้เงิน เพราะเชื่อว่า ถ้าใช้เงินจะไม่สามารถเก็บเงินอยู่ได้ 2) ห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ เพราะเชื่อว่า จะทำให้เลี้ยงสัตว์ไม่เจริญ 3) ห้ามไม่ทำไร่ เพราะเชื่อว่า จะทำให้ปลูกพืชไม่งอกงาม 4) ห้ามไม่เก็บฟืนและหาอาหารสัตว์ เพราะเชื่อว่า เป็นวันพักผ่อนหากทำงาน จะทำให้สิ่งนั้นไม่เจริญงอกงาม เมื่อเลือกใช้ฟืนจะเลือกที่มีลักษณะสวยงาม เพราะเชื่อว่า ลูกหลานจะได้สวยงามตามไปด้วย 5) ห้ามกินอาหารประเภทผัก เพราะเชื่อว่า ถ้าทำไร่ หญ้าจะขึ้นรก

ประเพณีเจี๋ยเจียบเฝย หรือ เชียดหาเจียบเฝย (วันสาร์ทจีน) ตรงกับวันที่ 14 -15 เดือน 7 ของจีน วัน “เชียดหาเจียบเฝย” ของอิ้วเมี่ยนจะกำหนดระยะเวลา 2 วัน คือ วันที่ 14 หรือเรียกว่า "เจียบเฝย" และวันที่ 15 เรียกว่า "เจียบหือ" ก่อนถึงเชียดหาเจียบเฝย 1 วัน ซึ่งเป็นวันที่ 13 หรือที่เรียกกันว่า "เจียบฟาม" ชาวบ้านจะเตรียมของใช้สำหรับทำพิธี เช่น กระดาษเงิน กระดาษทอง และหาฟืนมาเก็บไว้จำนวนมากเนื่องจากในวันทำพิธีนี้จะห้ามทำไร่และเก็บฟืน ส่วนคนที่ไปนอนค้างคืนไนไร่จะทยอยเดินทางกลับบ้านในวันนี้ นอกจากนี้ยังทำขนมที่เรียกกันว่า "เจียบเฝยยั้ว"

ในวันที่ 14 หรือ เจียบเฝย เป็นวันของคน ชาวบ้านจะไม่ไปไร่ เข้าป่าล่าสัตว์ และไม่ทำงานแต่จะมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ เพื่อเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ มีการทำบุญกันทุกหลังคาเรือน มีการขออภัยโทษแก่ดวงวิญญาณต่างๆ ให้เป็นอิสระ ลูกหลานจะต้องมีการทำพิธีบวงสรวง เผากระดาษเงิน กระดาษทองส่งไปให้วิญญาณบรรพบุรุษได้ใช้จ่าย (มูลนิธิกระจกเงา, 2552)

วันที่ 15 หรือ "เชียดหาเจียบหือ" หรือเรียกอีกอย่างว่า "เมี้ยน ป้าย เหย" เชื่อกันว่าเป็นที่ผีทุกตนจะได้รับการปลดปล่อย เพื่อให้สามารถรับประทานอาหารที่ผู้คนทำพิธีให้ ในวันดังกล่าวชาวบ้านจะอยู่กับบ้านไม่ให้ออกไปนอกบ้านห้ามคนเข้าออกหมู่บ้าน ห้ามเด็ดใบไม้ใบตอง เพราะเชื่อว่า วิญญาณจะใช้ใบไม้ใบตองเหล่านี้ห่อของกลับไปเมืองวิญญาณ จะมีการพูดว่าใบไม้ 1 ใบ เป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณ 1 ตัว เมี่ยนจึงไม่เก็บใบไม้ต่างๆ ในวันนี้ รวมทั้งไม่ไปทำไร่นา เพราะเชื่อว่าดวงวิญญาณต่างๆ จะออกเดินทางกลับบ้านเมืองของตน หากออกไปข้างนอกอาจจะชนและเหยียบถูกดวงวิญญาณที่อาจนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยหลังจากนั้นในวันที่ 16 จึงจะเริ่มปฏิบัติงานตามปกติ เพราะเชื่อว่า วิญญาณที่ถูกปล่อยมานั้นถูกเรียกกลับไปทั้งหมดไม่สามารถมารบกวนผู้คนได้ ชาวอิ้วเมี่ยนจะทำพิธีนี้เป็นประจำทุกปี เพื่อให้ดวงวิญญาณได้มารับอาหารไปกินใช้ในแต่ละปี และให้ดวงวิญญาณมาช่วยคุ้มครองครอบครัวและผู้คนในชุมชน (มูลนิธิกระจกเงา, 2552)

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมที่สำคัญในชีวิต

การเปลี่ยนสถานภาพ

การบวช

ชาวอิ้วเมี่ยนจะมีพิธีกรรมการเปลี่ยนสถานภาพ ด้วยการบวช (กว๋าตัง) คำว่า "กว๋า ตัง" ในภาษาเมี่ยน มีความหมายว่า แขวนตะเกียง ซึ่งเป็นการทำบุญเพื่อให้เกิดความสว่างขึ้นพิธีดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะถือว่าเป็นการสืบทอดตระกูล และเป็นการทำบุญให้บรรพบุรุษด้วย ชาวอิ้วเมี่ยนถือว่าผู้ที่ผ่านพิธีนี้แล้ว จะมีตะเกียง 3 ดวง พิธีนี้ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเต๋า เป็นพิธีที่ทำเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ถือเป็นการสร้างบุญบารมีให้กับตนเอง ทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษ และเป็นผู้สืบสกุล ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพิธีกรรมนี้ มีเพียงแต่คำบอกเล่าจากการสันนิษฐานของผู้อาวุโสว่า พิธีกว๋าตัง มีมาอย่างยาวนานเมื่อประมาณ 2361 ปีมาแล้ว โดยมี "ฟ่ามชิงฮู่ง" เป็นผู้สร้างโลกวิญญาณและโลกของคน ได้เป็นผู้บัญญัติให้ชาวเมี่ยนทำพิธีนี้ เพื่อช่วยเหลือคนดีที่ตายไปให้ได้ขึ้นสวรรค์ หรือไปอยู่กับบรรพบุรุษของตนเอง ไม่ตกลงไปในนรกที่ยากลำบาก พิธีนี้เป็นพิธีบวชพิธีแรกซึ่งจะทำให้กับผู้ชายอิ้วเมี่ยน โดยไม่จำกัดอายุ ในประเพณีของอิ้วเมี่ยน หากจะเป็นผู้ชายที่สมบูรณ์จะต้องผ่านพิธีบวชนี้ (มูลนิธิกระจกเงา, 2552)

ในการประกอบพิธีกว๋าตังนี้ จะต้องนำภาพเทพพระเจ้าทั้งหมดมาแขวน เพื่อเป็นสักขีพยานว่าบุคคลเหล่านี้ว่าได้ทำบุญและจะได้ขึ้นสวรรค์เมื่อเสียชีวิตไป จุดสำคัญของพิธีนี้คือ การถ่ายทอดอำนาจบุญบารมีของอาจารย์ผู้ประกอบพิธีกรรม ในขณะทำพิธีนี้จะมีฐานะเป็นอาจารย์ (ไซเตี๋ย) ของผู้เข้าร่วมพิธีอีกฐานะหนึ่ง และผู้ผ่านพิธีนี้จะต้องเรียกผู้ที่ถ่ายทอดบุญบารมีนี้ว่า อาจารย์ตลอดไป ผู้เป็นอาจารย์ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเสมอไป แต่ต้องผ่านการทำพิธีกว๋าตัง หรือพิธีบวชขั้นสูงสุด"โต่ว ไซ" ก่อน (มูลนิธิกระจกเงา, 2552)

เมื่อผ่านพิธีนี้แล้ว จะทำให้ชายชาวอิ้วเมี่ยนกลายเป็นผู้ชายที่สมบูรณ์ และได้รับชื่อใหม่ ที่ปรากฏรวมอยู่รวมกับทำเนียบวิญาณของบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการสืบต่อตระกูลมิให้หมดไป เมื่อเสียชีวิตจะสามารถไปอยู่กับบรรพบุรุษที่ (ย่าง เจียว ต่ง) อาจจะหลงไปอยู่ในที่ต่ำซึ่งเป็นที่ที่ไม่ดีหรือนรกก็ได้ สำหรับชายที่แต่งงานแล้ว ในการทำพิธีบวช ภรรยาจะเข้าร่วมพิธีด้วย โดยจะอยู่ด้านหลังของสามี การทำพิธีนี้สามารถทำได้พร้อม กันหลายคน แต่คนที่ทำนั้นจะต้องเป็นญาติพี่น้องกัน หรือนับถือบรรพบุรุษเดียวกัน ชาวอิ้วเมี่ยนจะเรียกว่า จ่วง เมี้ยน หลังจากผ่านพิธีนี้แล้ว ผู้ทำพิธีจะได้รับชื่อผู้ใหญ่ และชื่อที่ใช้เวลาทำพิธีด้วยเรียกว่า ฝะ บั๋วในการเข้าพิธีบวชนี้ในหมู่บ้านเครือญาติ จะมีการตรวจสอบหลักฐานของแต่ละคนจาก "นิ่นแซงเป้น" ซึ่งเป็นบันทึกวันเดือนปีเกิดหรือสูติบัตร (เอ้โต้ว) ซึ่งเป็นการปฏิบัติสืบต่อกันมา และ "จาฟินตาน" ซึ่งเป็นการบันทึกรายชื่อของบรรพบุรุษที่แต่ละคนถือครองอยู่ (มูลนิธิกระจกเงา, 2552)

การแต่งงาน และการหย่าร้าง

ประเพณีการเต่งงานของชาวอิ้วเมี่ยน เกี่ยวข้องกับการเลือกคู่ครอง (หล่อเอ๊าโกว่) การสู่ขอ (โท้นิ่นแซง) พิธีแต่งงานใหญ่ (ต่ม ชิ่ง จา) และพิธีแต่งงานเล็ก (ชิ่งจาตอน) ดังนี้

การเลือกคู่ครอง (หล่อเอ๊าโกว่) ชาวอิ้วเมี่ยนนิยมที่จะแต่งงานกับคนในกลุ่ม (Endogamy) ที่ใช้แซ่เดียวกัน แต่อยู่คนละกลุ่มเครือญาติย่อย (เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน, 2545, หน้า 26)ทั้งนี้ เหตุผลที่ไม่อนุญาตให้แต่งงานในเครือญาติตระกูลย่อยเดียวกัน เพราะเป็นกลุ่มที่นับถือผีบรรพบุรุษเดียวกัน แต่สามารถแต่งงานภายในกลุ่มแซ่ตระกูลเดียวกันได้เนื่องจากชาวอิ้วเมี่ยนในแซ่ตระกูลต่าง ๆ ได้อพยพแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศต่าง ๆ เป็นระยะเวลานานจนทำให้ความสัมพันธ์ทางสายเลือดเจือจางลง และไม่ได้นับถือผีบรรพบุรุษเดียวกัน (เลาเถา คิริพานกุล, 2561: สัมภาษณ์)ส่วนใหญ่ประเพณีดั้งเดิมจะให้เสรีภาพกับหนุ่มสาวในการเลือกคู่ครองแต่ก็มีส่วนน้อยที่แต่งงานด้วยวิธีการคลุมถุงชน นอกจากนี้ประเพณีของชาวอิ้วเมี่ยนยังให้อิสระหนุ่มสาวได้ทดลงใช้ชีวิตคู่ก่อนแต่งงานสังคมอิ้วเมี่ยนไม่ได้ยึดถือค่านิยมพรหมจรรย์ กรณีของผู้หญิงที่เสียพรหมจรรย์ก่อนแต่งงาน ถ้าเป็นผู้หญิงที่ดีหรือดีปานกลาง และผู้ใหญ่เห็นว่า ผู้ชายและผู้หญิงรักกันจริงจะไม่ถือโทษ แต่จะให้มาขอแต่งงานให้ถูกต้อง หากเกิดการตั้งครรภ์ก่อนแต่งงานเป็นเรื่องที่จารีตประเพณีอิ้วเมี่ยนยอมรับได้หลักเกณฑ์ในการเลือกคู่ชีวิตของชาวอิ้วเมี่ยน ผู้ชายจะคัดเลือกภรรยาที่มีความขยัน มีจิตใจโอบอ้อมอารี สามารถบริการและดูแลครอบครัวฝ่ายชายได้ผู้ใหญ่ในครอบครัวฝ่ายชายจะดูความประพฤติ
ของว่าที่ลูกสะใภ้เป็นหลัก รวมถึงพิจารราความประพฤติของแม่ฝ่ายหญิงด้วย โดยไม่ได้ยึดติดกับฐานะทางสังคมมากนัก ส่วนผู้หญิงอิ้วเมี่ยนมักจะเลือกผู้ชายที่โอบอ้อมอารีเป็นหลัก เพื่อเป็นหลักประกันว่าชีวิตหลังแต่งงานจะไม่ถูกใช้ความรุนแรงจากฝ่ายชาย เนื่องจากตามจารีตประเพณีอิ้วเมี่ยนแล้ว ภรรยาจะไม่สามารถตอบโต้หรือต่อสู้กับสามีได้ (วิสุทธ์ เหล็กสมบูรณ์, 2545 หน้า 166) เมื่อชาวอิ้วเมี่ยนเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มสาว อายุประมาณ 15 ปีขึ้นไป ในการเลือกคู่ครองฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายเข้าหาฝ่ายหญิง หนุ่มสาวอิ้วเมี่ยนมีอิสระในการเลือกคู่ครองและมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานโดยชายหนุ่มอาจจะเข้าถึงห้องนอนหญิงสาวเพียงคืนเดียว หรือไปมาหาสู่อย่างสม่ำเสมอหากฝ่ายหญิงสาวไม่ขัดข้องก็ย่อมกระทำได้อย่างเสรี (มูลนิธิกระจกเงา, 2552)

การสู่ขอ (โท้นิ่นแซง) เมื่อชายหนุ่มตกลงปลงใจจะแต่งงานกับหญิงสาวใดแล้ว ฝ่ายชายจะต้องหาบุคคลเพื่อไปสืบถามเพื่อขอทราบวัน เดือน ปีเกิดของฝ่ายหญิง ถ้าพ่อแม่ฝ่ายหญิงยินยอมแสดงว่า พวกเขายอมยกลูกสาวให้หลังจากนั้นผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะนำเอาวัน เดือน ปี เกิด ของหนุ่มสาวคู่นั้นไปให้หมอผีผู้อาวุโสตรวจดูความสมพงศ์ของดวง ถ้าดวงไม่สมพงศ์กัน ฝ่ายชายจะไม่มาสู่ขอ พร้อมแจ้งหมายเหตุให้ฝ่ายหญิงทราบ แต่ถ้าทั้งคู่ยืนยันที่จะอยู่ร่วมกันก็อาจทำการสู่ขอและหมั้นหมายได้ แต่ไม่ให้ผู้หญิงเข้ามานับถือผีเดียวกับฝ่ายชาย ในพิธีแต่งงานจะต้องบอกผีบรรพบุรุษว่า ฝ่ายชายจะรับฝ่ายหญิงเป็นน้องสาว และไม่อาจทำพิธีดื่มเหล้าร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม มีหนุ่มสาวอิ้วเมี่ยนจำนวนมากที่ไม่สนใจเรื่องดวงสมพงศ์และคำแนะนำของพ่อแม่ในเรื่องการเลือกคู่ครอง (มงคล จันทร์บำรุง, 2529, หน้า 6)แต่ถ้าหากหนุ่มสาวมีดวงสมพงศ์กัน พ่อแม่จึงจัดการให้ลูกได้สมปรารถนา เริ่มด้วยการส่งสื่อไปนัดพ่อแม่ฝ่ายสาวว่า ค่ำพรุ่งนี้จะส่งเถ้าแก่มาสู่ขอลูกสาวแล้วพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะต้องจัดข้าวปลาอาหารไว้รับรอง ระหว่างที่ดื่มกินกันนั้น เถ้าแก่จะนำกำไลเงินหนึ่งคู่มาวางไว้บนสำรับ เมื่อดื่มกินกันเสร็จ สาวเจ้าเข้ามาเก็บถ้วยชาม หากสาวเจ้าตกลงปลงใจกับหนุ่มก็จะเก็บกำไลไว้ หากไม่ชอบก็จะคืนกำไลให้เถ้าแก่ ภายใน 2 วัน เถ้าแก่จะรออยู่ดูให้แน่ใจแล้วว่าสาวเจ้าไม่คืนกำไลแล้วเถ้าแก่จึงนัดวันเจรจาเมื่อถึงวันเดินทางไปสู่ขอ ถือเป็นวันที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะมีข้อห้าม และความเชื่อในการเดินทางหลายประการ ทั้งความเชื่อระหว่างการเดินทาง หากพบคนกำลังปลดฟืนลงพื้น สัตว์วิ่งตัดหน้า ไม้กำลังล้ม คนล้ม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีนัยยะไปในทางที่ไม่ดี จะไม่มีโชคตามความเชื่อ แต่ถ้าไม่พบสิ่งเหล่านี้ระหว่างทาง สามารถเดินทางไปบ้านฝ่ายหญิงได้ เมื่อเดินทางไปถึงบ้านฝ่ายหญิง แล้วพบสาวเจ้ากำลังกวาดบ้าน หรือพบคนกำลังเจาะรางไม้ หรือเตรียมตัวอาบน้ำ พ่อแม่ของฝ่ายชายก็จะเลิกความคิดที่จะไปสู่ขอ เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งไม่ดีจะทำให้คู่บ่าวสาวต้องลำบาก เมื่อพ่อแม่ฝ่ายชายเดินทางไปถึงบ้านฝ่ายหญิง โดยไม่ได้พบอุปสรรคใดๆ แล้วครอบครัวของฝ่ายชายจะต้องนำไก่ 3 ตัว ประกอบด้วย ไก่ตัวผู้ 2 ตัว และไก่ตัวเมีย 1 ตัว แล้วนำไก่ตัวผู้ 1 ตัวมาปรุงอาหาร เพื่อเป็นการสู่ขอ แล้วร่วมกันรับประทาน พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเชิญญาติอย่างน้อย 2-3 คน มาร่วมเป็นพยาน ระหว่างที่รับประทานอาหารจะเริ่มเจรจาค่าสินสอดตามประเพณี ส่วนใหญ่ค่าสินสอดจะกำหนดเป็นเงินแท่งมากกว่า หรือบางครั้งอาจจะใช้เงินก็ได้ตามฐานะ สำหรับไก่อีก 2 ตัว หลังจากฆ่าแล้วจะนำมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษของตระกูลทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นการแจ้งให้บรรพบุรุษทั้งสองฝ่ายให้รับรู้ในการหมั้น พร้อมทั้งฝ่ายชายจะมอบด้ายและผ้าทอหรืออุปกรณ์ในการปักชุดแต่งานไว้ใช้สำหรับงานพิธีแต่งให้กับฝ่ายหญิง เพื่อใช้ปักชุดแต่งงาน เจ้าสาวจะต้องปักชุดแต่งงานให้เสร็จจากอุปกรณ์ที่ฝ่ายชายเตรียมไว้ในตอนหมั้นและเจ้าสาวจะไม่ทำงานไร่ จะอยู่บ้านทำงานบ้านและปักผ้าประมาณ 1 ปี ส่วนเจ้าบ่าวต้องเตรียมอาหารที่จะใช้เลี้ยงแขกและทำพิธีกรรมเช่น หมู ไก่ และจัดเตรียมเครื่องดนตรี จัดบุคคลที่จะเข้าทำพิธีกรรมทางศาสนา และอุปกรณ์การจัดงานทั่วไป หลังจากหมั้นแล้วบ่าวสาวจะอยู่ด้วยกันที่บ้านฝ่ายใดก็ได้แล้วแต่จะตกลงกัน (มูลนิธิกระจกเงา, 2552)

ในการแต่งงานของชาวอิ้วเมี่ยน จะมีพิธีการแต่งงาน 2 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่หนึ่ง พิธีแต่งงานใหญ่ (ต่ม ชิ่ง จา) พิธีนี้เป็นพิธีใหญ่ซึ่งจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง คนที่จัดพิธีใหญ่นี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะดี จะใช้เวลาในการทำพิธี 3 คืน 3 วัน ซึ่งจะต้องใช้เวลาเตรียมงานกันเป็นปี ที่ต้องเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไว้ให้เพียงพอกับการเลี้ยงแขก (มูลนิธิกระจกเงา, 2552)

รูปแบบที่สอง พิธีแต่งงานเล็ก (ชิ่งจาตอน) พิธีนี้เป็นการเลี้ยงฉลอง โดยไม่มีพิธีกรรม จะใช้เวลาทำพิธีเพียงวันเดียว เจ้าสาวไม่ต้องสวมผ้าคลุมศรีษะที่มีน้ำหนักมาก พิธีแต่งงานเล็กนี้ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ความสำคัญของการแต่งงานของเมี่ยน จะขึ้นอยู่กับการที่เจ้าบ่าวตกลงสัญญาจ่ายค่าตัวเจ้าสาวกับพ่อแม่ของเจ้าสาวไว้ เพื่อเป็นการทดแทนที่ได้เลี้ยงดูเจ้าสาวมา และฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องบอกวิญญาณบรรพบุรุษของตนเองยอมรับ และช่วยคุ้มครองเจ้าสาว ประการสุดท้ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องดื่มเหล้าที่ทำพิธีและร่วมแก้วเดียวกัน การแต่งงานของเมี่ยนจะต้องทำตามประเพณีทุกขั้นตอนอย่างพิถีพิถัน และเป็นไปในลักษณะที่ให้เกียรติซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่าย (มูลนิธิกระจกเงา, 2552)

ในอดีตชาวอิ้วเมี่ยนจะนิยมแต่งงานภายในกลุ่ม ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 2500 เมื่อหนุ่มสาวชาวอิ้วเมี่ยนอพยพเข้าทำงานในเมือง ทำให้เกิดการแต่งงานกับคนเมืองพื้นราบมากขึ้นโดยที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวไม่สามารถห้ามการแต่งงานในลักษณะนี้ได้ทั้งนี้ พิธีกรรมการแต่งงานกับคนนอกกลุ่มจะปฏิบัติเช่นเดียวกันกับพิธีกรรมปกติส่วนการแต่งงานกับชาวอิ้วเมี่ยนที่นับถือผี คู่แต่งงานทั้งหญิงและชายจะต้องเปลี่ยนมานับถือผีเหมือนกันหากแต่งงานกับชาวอิ้วเมี่ยนที่ไม่ได้นับถือผีไม่ต้องเปลี่ยนมานับถือผี และไม่ต้องจัดพิธีกรรมไหว้ผีในงานแต่งงาน (เลาเถา คิริพานกุล, 2561: สัมภาษณ์) ปัจจุบัน ชาวอิ้วเมี่ยนที่นับถือผียังคงยึดถือประเพณีการแต่งงานแบบดั้งเดิม ส่วนชาวอิ้วเมี่ยนกลุ่มที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น บางส่วนยังมีการจัดพิธีการแต่งงานตามศาสนาตน ในขณะที่บางส่วนจัดทั้งพิธีการแต่งงานตามศาสนาของตนและแบบอิ้วเมี่ยน แต่จะไม่มีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการไหว้ผี (สิริวรรณ โชติชัยชุติมา, 2562: สัมภาษณ์)

การหย่าร้าง

การหย่าร้างแบบดั้งเดิมของกลุ่มชาวอิ้วเมี่ยนที่นับถือผี ในกรณีเป็นผู้หญิงอิ้วเมี่ยนที่มีลูกและต้องการจะหย่ากับสามีนั้น ตามจารีตประเพณีจะอนุญาตให้แยกกันอยู่กับสามีได้ แต่ไม่สามารถหย่ากับผีทางฝ่ายสามีได้เมื่อผู้หญิงเสียชีวิต ญาติฝ่ายสามีเดิมต้องนำศพกลับไปทำพิธี เมื่อเสียชีวิตไปแล้วก็ต้องกลายไปเป็นผีฝ่ายสามีส่วนลูกก็ต้องนับถือผีฝั่งสามี แม้ว่าพ่อกับแม่จะแยกกันอยู่หรือไม่ก็ตามทั้งนี้ หากสามีเป็นฝ่ายไม่พอใจภรรยาก็สามารถขอแยกกันอยู่ได้ แต่หย่าร้างกันไม่ได้ สำหรับกรณีที่ไม่มีลูกด้วยกัน ผู้หญิงสามารถหย่ากับผีฝ่ายสามี แต่ไม่สามารถกลับไปอยู่ในบ้านเดิมกับพ่อแม่ของตนเอง โดยพ่อกับแม่สามารถทำได้เพียงปลูกบ้านให้ลูกสาวอยู่ข้างบ้านเดิมเท่านั้น เพราะชาวอิ้วเมี่ยนเชื่อว่า หากผู้หญิงที่หย่าร้างกลับไปอยู่กับพ่อแม่ก็จะนำพาโชคร้ายมาให้ และจะมีสถานะเป็นคนที่ไม่ได้นับถือผีซึ่งจะดำรงชีวิตได้อย่างยากลำบากมากในสังคมจารีตแบบดั้งเดิม แต่ในกรณีที่ผู้หญิงอิ้วเมี่ยนไม่ได้แต่งงานกับคนเผ่าเดียวกัน เมื่อหย่าแล้วก็สามารถกลับมาอยู่กับพ่อแม่ได้ (เลาเถา คิริพานกุล, 2561: สัมภาษณ์) ทั้งนี้ นอกจากภรรยาอิ้วเมี่ยนที่หย่าขาดกับสามีจะไม่สามารถกลับมานับถือผีของครอบครัวเดิมได้แล้ว หญิงสาวจะต้องคืนเงินค่าสินสอดและค่าจัดแต่งงานให้ฝ่ายสามี อีกทั้งจะไม่ได้รับทรัพย์สินใดติดตัว แม้ว่าจะหย่าขาดด้วยสาเหตุใดก็ตาม จารีตประเพณีดังกล่าวทำให้ชาวอิ้วเมี่ยนในอดีตไม่นิยมหย่าร้าง (สิริวรรณ โชติชัยชุติมา, 2562: สัมภาษณ์)

ปัจจุบัน อัตราการหย่าร้างของชาวอิ้วเมี่ยนมีมากขึ้น หากทั้งสองฝ่ายพึงพอใจที่จะหย่าร้างกันฝ่ายหญิงก็อาจได้ลูกชายเป็นส่วนแบ่งแต่หากฝ่ายหญิงมีชู้ สามีอาจขอหย่าและเรียกค่าปรับจากชู้ และฝ่ายหญิงจะไม่ได้รับส่วนแบ่ง (มงคล จันทร์บำรุง, 2529, หน้า 33)

ความตาย และการทำศพ

พิธีศพของชาวอิ้วเมี่ยนจะใช้ทั้งวิธีการฝังหรือเผา ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของญาติผู้ตายและสภาพพื้นที่ของแต่ละหมู่บ้านในพิธีศพจะต้องคำนึงถึงทั้งความสะดวกในการฝังหรือเผาศพรวมทั้งการคำนึงถึงพื้นที่สำหรับฝังกระดูกของผู้อาวุโสจะต้องไม่ถูกรบกวนจากผู้อื่นปัจจุบัน ชาวอิวเมี่ยนนิยมใช้การเผาศพเป็นหลักหลังจากนั้นจึงจะนำกระดูกไปฝังไว้ในที่ที่ปลอดภัยซึ่งปราศจากการรบกวน ศพที่ตายดีจะต้องนำศพหรือกระดูกไปฝัง ส่วนศพเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี และศพที่ตายจากเหตุไม่ปกติ รวมถึงศพของผู้ชายที่ไม่เคยผ่านพิธีกว่าตั้งมาก่อน จะไม่นิยมเลือกที่ฝังมากนักอาจฝังที่หนึ่งที่ใดหรือสามารถเผาได้สำหรับศพของผู้ที่เคยผ่านพิธีโตไซ ภรรยา จะทำพิธีส่งวิญญาณให้ขึ้นสวรรค์และต้องมีการเลี้ยงผีใหญ่นอกจากนี้ ในพิธีศพจะต้องนำภาพผีใหญ่มาแขวนไว้ (อภิชาต ภัทรธรรม, 2552, หน้า 144)

การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

พิธีส่งผีป่าหรือ พิธีฝูงเยี่ยนฟิวเมี้ยน หมายถึง การส่งผีป่า เป็นพิธีกรรมของชาวอิ้วเมี่ยนที่มีมาแต่ดั้งเดิมและได้รับการสืบทอดจนถึงปัจจุบันชาวอิ้วเมี่ยน เชื่อว่า พิธีกรรมนี้เป็นพิธีเพื่อขอขมาของบุคคลที่ทำผิดต่อผีป่าหรือลบหลู่โดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วเมื่อผีป่าเกิดความโกรธจึงทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้นมา และจะไม่สามารถรักษาได้ (มูลนิธิกระจกเงา, 2552)

การทำพิธีนี้จะเริ่มมาตั้งแต่การทำพิธีกรรมย่อย เมื่อมีผู้คนเกิดอาการเจ็บป่วยและ ไม่สามารถรักษาให้หายได้โดยการกินยา คนในครอบครัวต้องไปทำพิธีถามหมอผี โดยการไปทำพิธีโบ้วจุ๋ยซากว๋าซึ่งเป็นพิธีถามวิญญาณบรรพบุรุษเกี่ยวกับสาเหตุของอาการเจ็บป่วยเมื่อทำการถามเสร็จแล้ว หมอผีจะบอกคนป่วยว่าคนป่วยนั้นได้ทำผิดต่อผีป่า คนป่วยจะได้รับรู้ว่าตนได้ทำผิดอย่างไรต่อผีป่า จากนั้นหมอผีก็จะบอกให้กับคนป่วยและครอบครัวให้ไปทำพิธีส่งผีป่า โดยหมอผีจะแจ้งให้นำของเซ่นไหว้เพื่อขอขมา หลังจากนั้นคนในครอบครัวก็จะกำหนดวันเพื่อทำพิธีส่งผีป่าต่อไป (มูลนิธิกระจกเงา, 2552)

การส่งผีป่าจะต้องเตรียมอุปกรณ์ตั้งแต่อยู่บ้าน อุปกรณ์เซ่นไหว้ประกอบด้วย สัตว์ที่ใช้เช่นไหว้ กระดาษเงินกระดาษทอง (เจ่ยก๋อง) เอาไปเพื่อเป็นเงินทองที่จะเอาไปเผาส่งให้กับผีป่า และยังมี (จ๋าว) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ถามผีป่าเกี่ยวกับจำนวนกระดาษเงินกระดาษทองที่เพียงพอต่อความต้องการ จ๋าวเป็นอุปกรณ์ที่ทำมาจากไม้ไผ่ ถ้าไม้ไผ่หงายทั้ง 2 อัน แสดงว่าผีป่าพึงพอใจกับเงินทองที่คนป่วยส่งไปให้หากไม้ไผ่ไม่หงายอย่างที่ต้องการทั้ง 2 อัน จะต้องทำการถามต่อไปจนกว่าผีป่าพอใจ การส่งวิญญาณผีป่าจะเริ่มทำตั้งแต่อยู่บ้านจนกระทั่งก่อนออกไปในป่าเพื่อที่จะทำพิธีส่งผีป่าหมอผีจะสวดยันต์ป้องกันผีร้ายไว้ให้คนละอัน คนที่จะไปนั้นจะต้องได้รับยันต์ป้องกันผีป่าจากหมอผีคนละอัน หมอผีจะทำการสวดคาถาก่อน เพื่อให้คุ้มครองคนที่จะไปด้วยในขณะเดินทาง ต้องเอาติดไว้กับเสื้อที่สวมใส่ เพื่อเป็นการป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่างๆ เมื่อไปถึงป่าซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับทำพิธีผู้ช่วยหมอผีจะทำการเตรียมพื้นที่เพื่อจัดเครื่องเซ่นไหว้ และฆ่าไก่ทั้งหมด 3 ตัว เพื่อที่ทำพิธีต่อไป ไก่ที่ฆ่าจะนำไปเซ่นไหว้ให้กับ (ใส เตี๋ย) ซึ่งเป็นวิญญาณบรรพบุรุษของคนป่วย เพื่อให้วิญญาณบรรพบุรุษช่วยคุ้มครองคนป่วยและครอบครัวของคนป่วย ส่วนไก่อีก 2 ตัว เป็นไก่ที่ฆ่าเพื่อเซ่นไหว้ให้กับผีป่า เพื่อขอขมาผีป่าที่ทำให้โกรธและไปลบหลู่ผีป่าโดยไม่รู้ตัว จึงเป็นเหตุทำให้ไม่สบายและเจ็บป่วยเกิดขึ้น จึงต้องทำการขอขมาให้ผีป่าไม่มาทำร้ายและให้คนป่วยกลับมาเป็นอิสระเหมือนเดิม

ในระหว่างการทำพิธีกรรมอยู่นั้นจะมีด้ายเส้นหนึ่งที่ใช้ผูกไว้กับ (สิเจียน) และผีป่าที่ทำเป็นรูปจำลองขึ้นมา แล้วทำการสวดขอขมาผีป่าเพื่อให้คนป่วยนั้นเป็นอิสระ เมื่อทำการสวดเสร็จจะตัดด้ายเส้นนั้นให้ขาด เพื่อไม่ให้ผีป่ามารบกวนคนป่วย เมื่อตัดเสร็จแล้วจะทำการเผากระดาษเงิน กระดาษทองให้กับผีป่าที่ต้องการจนหมด จากนั้นจะนำร่างจำลองของผีป่าไปทิ้งในป่า ผู้ช่วยหมอผีจะนำไก่มาต้มยำทำแกง แล้วร่วมรับประทานกันกับทุกคนที่มาร่วมพอธี การส่งผีป่านี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าจึงเป็นอันเสร็จพิธี หลังรับประทานอาหารเสร็จเมื่อต้องเดินทางกลับบ้านจะห้ามนำอาหารที่เหลือกลับบ้าน และจะไม่แวะเข้าบ้านของชาวบ้าน เพราะถือว่าไม่เป็นมงคล เมื่อกลับถึงบ้านจะต้องล้างมือก่อนเข้าบ้าน คนที่ไปร่วมงานต้องทำตามพิธีอย่างพิถีพิถัน (มูลนิธิกระจกเงา, 2552)

พิธีเรียกขวัญ

การเรียกขวัญเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมที่ชาวอิ้วเมี่ยนให้ความเคารพนับถือมาโดยตลอด ในระยะ 1 ปีของเมี่ยนแต่ละคนต้องทำการเรียกขวัญอย่างน้อย 1 ครั้ง บางคนนั้นอาจจะเรียกขวัญปีละ 2-3 ครั้ง เนื่องจากบุคคลนั้นเกิดอาการป่วย หรือบุคคลนั้นมีอาการตกใจจากการพบเห็นสิ่งที่ไม่ดี จะต้องเดินทางไกล หรือเดินทางจากบ้านไปเป็นระยะเวลานาน ชาวอิ้วเมี่ยนจึงทำการเรียกขวัญ เพื่อให้ขวัญกลับบมาอยู่กับตัว ชาวอิ้วเมี่ยน เชื่อว่า การเรียกขวัญจะช่วยขจัดความทุกข์ทรมานได้ เมื่อทำแล้ววิญญาณบรรพบุรุษจะมาคุ้มครองและดูแลผู้เรียกขวัญ เมื่อเรียกขวัญเสร็จจะทำให้คนที่สู่ขวัญนั้นสบายใจขึ้น (มูลนิธิกระจกเงา, 2552)

การเรียกขวัญจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ของชาวอิ้วเมี่ยน เนื่องจากเป้นช่วงเวลาที่เครือญาติเดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน พ่อแม่จึงจะหาหมอผีมาช่วยเรียกขวัญ การเรียกขวัญจะใช้เวลาไม่มากนัก และไม่ใช้เครื่องเซ่นไหว้จำนวนมาก

ในการเรียกขวัญเด็กอายุ 1 - 12 ขวบ จะใช้ไก่ตัวและไข่ไก่ฟอง กระดาษเงินและเหล้า เป็นเครื่องเซ่นไหว้ โดยจัดไว้บนโต๊ะหน้าหิ้งบูชา (ซิบเมี้ยนเมี่ยน) จะทำพิธีท่องคาถา เผากระดาษเงินให้วิญญาณบรรพบุรุษคุ้มครองขวัญให้อยู่กับตัวตลอดอีกทั้งขอให้ช่วยดูแลรักษา ทั้งยามเจ็บป่วยหรือเดินทางไกล ส่วนการเรียกขวัญของผู้ใหญ่จะทำคล้ายกันกับเด็ก แต่จะเตกต่างกันในเรื่องเครื่องเซ่นไหว้ที่ใช้หมูแทนไก่กับไข่ การเรียกขวัญจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เมื่อทำพิธีเสร็จจะทำอาหารร่วมรับประทานกับอาจารย์ผู้ประกอบพิธี ซึ่งจะเป็นผู้แจ้งว่าขวัญกลับมาหรือยัง หากขวัญยังไม่กลับมาอาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะบอกกล่าวคนในครอบครัวเพื่อหาหมอผีมาช่วยเรียกขวัญให้กับบุคคลนั้น (มูลนิธิกระจกเงา, 2552)

ในการเรียกขวัญ จะต้องมีการสร้างสะพานให้วิญญาณข้ามกลับมาหาร่าง เป็นพ

เครือข่ายวัฒนธรรมเมี่ยน. (2545). สาระองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นอิ้วเมี่ยน (เย้า). เชียงใหม่ : เครือข่ายวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยน องค์กรชุมชนบ้านปางค่า – บ้านปางพริกสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย สำนักงานประถมศึกษาอำเภอปง และสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพะเยา

จันทรบูรณ์ สุทธิ. (2539). การเกษตรแบบตัดฟันโค่นเผาของเย้า – แรงงาน ใน วิถีเย้า, จันทรบูรณ์ สุทธิ และ

คณะ (บก.) เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยชาวเขา. หน้า 169 - 240

จันทรบูรณ์ สุทธิ, สมเกียรติ จำลอง และ ทวิช จตุวรพฤกษ์ (2539).วิถีเย้า.เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยชาวเขา

กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

จิตร ภูมิศักดิ์. (2540). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติมข้อเท็จจริง ว่าด้วยชนชาติขอม. พิมพ์ครั้งที่ 4 : เคล็ดไทย

ประสิทธิ์ ลีปรีชา, ยรรยง ตระการธำรง และวิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์. (2547). เมี่ยน หลากหลายชีวิตจากขุนเขาสูเมือง .เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พิชญ์พิเชฐ พันธุ์พิสุทธิชน. (2550). การปรับตัวของระบบจารีตประเพณีเพื่อการจัดการปัญหาและไกล่เกลี่ยข้อ

พิพาทในชุมชนอิ้วเมี่ยน.รายงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม. สืบค้นข้อมูลได้ที่

http://research.culture.go.th/index.php/research/item/652-2012-09-18-01-52-22.html

พูเรต์ม เจมส์ จี. (2545). ชนชาติเย้า : เย้าเมี่ยนและเย้ามุนในจีน เวียดนาม ลาว และไทย. มงคล จันทร์บำรุงและสมเกียรติ จำลอง (แปล). กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์

มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิทธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ (2550) ชนเผ่าเมี่ยน (เย้า) กีฬาอิ้วเมี่ยน.สืบค้นจาก

http://www.openbase.in.th/node/1039?fbclid=IwAR0OAI6Vv62HMNpMpBykzxSCD9_8xf6aAwddtmnl7G2x4fQu6Naf28wevvs

มูลนิธิกระจกเงา. (2552). พิพิธภัณฑ์ชนเผ่า : เมี่ยน.มูลนิธิกระจกเงา, เชียงราย.แหล่งที่มา : http://lahu.hilltribe.org/thai/mien/.5กันยายน 2552.

มูลนิธิพัฒนาอิ้วเมี่ยนไทย. (2014). สรุปการประชุมสัมมนาวิชาการ เรื่อง “องค์กรอิ้วเมี่ยนเพื่อวัฒนธรรมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” วันที่ 28 มีนาคม 2552 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ วัดพระนอน บ้านหนองบัว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย. สืบค้นจาก

https://www.facebook.com/%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-Thai-Iu-mien-Development-Foundation-1052698758083454/?tn-str=k*F

มงคล จันทร์บำรุง. (2529). ประเพณีการแต่งงานของชาวเขาเผ่าเย้า. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยชาวเขา

มงคล จันทร์บำรุง. (2535). “ชาวเขาเผ่าเย้า” ใน เอกสารทางวิชาการประกอบการประเมินเพื่อแต่งตั้งให้ดำรง

ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการพิเศษด้านวิจัยชาวเขา (เผ่าเย้า) “ตำแหน่ง นักวิจัยสังคมศาสตร์ 7” ของนายมงคล จันทร์บำรุง นักวิจัยสังคมศาสตร์ 6 สถาบันวิจัยชาวเขา จังหวัดเชียงใหม่ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย

รฐษร ศรีสมบัติ. (2559. บทบาทของผู้หญิงเมี่ยนกับการสร้างอัตลักษณ์ในบริบทความเชื่อแบบประเพณีและเศรษฐกิจสมัยใหม. วิทยานิพนธ์ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์. (2545). พลวัตรของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชีวิตครอบครัวและบทบาททางเพศสภาพ

ของผู้หญิงอิ้วเมี่ยน (เย้า) ภายใต้ผลกระทบของการพัฒนา.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สมเกียรติ จำลอง. (2545). ปราชญ์แห่งการรักษาพยาบาลตามจารีตของอิ้วเมี่ยน. ข่าวสารสถาบันวิจัยชาวเขา ,20 (1) : 61 - 80

สถาบันวิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม. (2539). วิถีเย้า.สถาบันวิจัยชาวเขา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อภิชาต ภัทรธรรม. (2552). เย้า (ข้อมูลทางวัฒนธรรม) ใน วารสารการจัดการป่าไม้ 3(6) : 134-146 (2552) ภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพฯ

ภาษาอังกฤษ

Chob Kacha – Ananda. (1997). Thailand Yao : past, present, and future. Tokyo : Institute forthe study of language and cultures of Asia and Africa

Kandre, Peter. (1967). Autonomy and Integration of Social Systems : The Iu Mien (“Yao” orMian”) Moutain Population and their Neighbors. In Southeast Asian Tribes, Minorities and Nationes and Nations, edited by Kunstadler, Piter, Ed.2 Princeton University Press

Lemoine, Jacques. (1983).Yao Religion and Society, in Highlander of Thailand edited byJohn Mckinnon and Wanat Bhruksasri, Oxford University Press, Kuala Lumper

Perve, Emmanuel. (2006). The Hill Tribes Living in Thailand. Prachakorn, Publised by Alligator Service Co Ltd.Chiang Mai

ข่าว

MGR Online. (2560). “ดอยซิลเวอร์” เพิ่มค่าภูมิปัญญาเครื่องเงินชาวเขาผงาดเวทีโลก.(21 มีนาคม 2560) สืบค้นจากhttps://mgronline.com/smes/detail/9600000027428

ท้องถิ่นนิวส์. (2562). งานมหกรรมวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยนสัมพันธ์ ครั้งที่ 2 เล็งยกระดับเป็นงานอิ้วเมี่ยนโลกในปีหน้า. (10 กุมภาพันธ์ 2562). สืบค้นจากhttp://www.localnews2010.com/archives/1018


จุฑารัตน์ โชติชัยชุติมา (แซ่ตั้ง). อดีตประธานชมรมสตรีแม่บ้านอิ้วเมี่ยนและสมาชิกองค์กรบริหารส่วนตำบล บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยาปัจจุบันเป็นแม่บ้านที่อาศัยอยู่กับครอบครัวที่ อำเภอมหาชัย จ.สมุทรสงคราม อายุ 63 ปี. สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2563. สัมภาษณ์โดย สกุลกร ยาไทย

เจี้ยว แซ่จาว. เกษตรกร บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา อายุ 82 ปี. สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2563. สัมภาษณ์โดย สกุลกร ยาไทย

เลาเถา คิริพานกุล. หมอผีของชุมชน บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปงจังหวัดพะเยา อายุ 82 ปี. สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2563. สัมภาษณ์โดย สกุลกร ยาไทย

ว๊วน เซ็ง แซ่พ่าน. เจ้าของกิจการร้านขายของชำ/ผู้รู้ทางด้านประวัติศาสตร์และภาษาอิ้วเมี่ยนของบ้านปางพริก ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา อายุ 78 ปี. สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2563. สัมภาษณ์โดย สกุลกร ยาไทย

สิริวรรณ โชติชัยชุติมา. พนักงานบริษัท มีภูมิลำเนาเกิดที่บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยาปัจจุบันเป็นพนักงานบริษัทที่ อ.มหาชัย จ.สมุทรสงคราม อายุ 33 ปี. สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2563. สัมภาษณ์โดย สกุลกร ยาไทย

เหมยย่าน วารีวิโรจน์. เจ้าของร้านเหมยย่าน ชุดเมี่ยนปังค่า บ้านปางค่า ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา อายุ 55 ปี. สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2563. สัมภาษณ์โดย สกุลกร ยาไทย

เหยนเกี๋ยว แซ่เติ๋น. เกษตรกรและช่างย้อมผ้า บ้านห้วยเฟือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยาอายุ 68 ปี. สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2563. สัมภาษณ์โดย สกุลกร ยาไทย



close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว