กลุ่มชาติพันธุ์ : ม้ง

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ม้ง
  • ชื่อเรียกตนเอง : ม้ง
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : แม้ว, ม้ง, เหมียว, แข่
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ภาษาม้ง จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

               ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ 

              “ม้ง (Hmong)” เป็นชื่อที่คนในกลุ่มวัฒนธรรมนี้ใช้เรียกตนเอง โดยมีคนม้งส่วนหนึ่งให้ความหมายกับคำดังกล่าวว่าหมายถึง “อิสระ” หรือ “อิสระชน” (Yang Dao, 1993 อ้างใน Chan, 1994) ในขณะที่อีกกลุ่มก็ตั้งคำถามต่อว่า ม้งมีความอิสระจริงหรือ? เพราะที่ผ่านมา ม้งหาได้ดำรงชีวิตอยู่อย่างอิสระโดยปราศจากการครอบงำ จากกลุ่มวัฒนธรรมหลักไม่  ขณะเดียวกัน เอาเข้าจริงแล้ว คำว่า “ม้ง” เป็นเพียงชื่อชาติพันธุ์ที่หมายถึงคนม้งเช่นเดียวกันกับคนในชาติอื่นๆ ที่ถูกเรียกว่าคนอินเดีย คนอังกฤษ และอเมริกันโดยที่ไม่มีความหมายอะไรเลย นอกจากสื่อให้รู้ถึงภูมิหลังและความเป็นชาติพันธุ์เท่านั้น (Thao, 2000) นอกจากคนม้งที่ใช้คำนี้นิยามตนเองแล้ว บรรดาเหล่าสหายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ใช้คำนี้เรียกทหารและมวลชนม้งมาโดยตลอด (จันทนา ฟองทะเล, 2539; วัฒน์ วรรลยางกูร, 2546; เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, 2554) ก่อนที่นักวิชาการคนในรุ่นแรกและนักวิชาการทั่วไป สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนได้เริ่มใช้คำดังกล่าวมากขึ้นนับจากทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา

               ชื่อที่คนอื่นเรียก

               “เหมียว (Miao)” และ “แม้ว (Meo)” เป็นสองชื่อที่คนอื่นใช้เรียกตัวตนคนม้ง โดย โดยคำแรกนั้นหากพิจารณาตามรากศัพท์ทางภาษาจีนแล้ว ความหมายนั้นมีความเชื่อมโยงกับต้นข้าวอ่อน หน่อ หรือวัชพืชกับที่นา ดังตัวอักษรในภาษาจีน (苗) ที่มีลักษณะเป็นรูปที่นา จึงมีการให้ความหมายว่า ลูกของแผ่นดินและชนพื้นเมืองที่แต่เดิมทำนาเป็นหลัก (ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2554: 9) ด้วยความหมายข้างต้นชาวเหมียวซึ่งรวมถึงคนม้งในประเทศจีนปัจจุบันจึงยอมรับและเชื่อมโยงตัวตนที่สัมพันธ์กับภาพลักษณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ชื่อดังกล่าวยังเป็นชื่อที่ได้รับการรับรองจากทางการรัฐชาติจีนสมัยใหม่หลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492  ด้วย โดยกลุ่มนี้ถือเป็นชื่อทางการของชนชาติ 4 กลุ่มตามการจัดของคณะสำรวจของรัฐบาลจีนวยคือ “ม้ง” (Hmong) กอซ่ง” (Qho Xiong) “ฮมู้” (Hmub) และ “ฮม้อ” (A-Hmao) (Lee, 2007: 3) ทั้งนี้ ภายใต้กลุ่มที่ชื่อม้งที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนปัจจุบันนั้น ประสิทธิ์ ลีปรีชา (2554) ยังแบ่งย่อยได้อีกเป็น 7 กลุ่ม คือ ม้งเด๊อ (Hmoob Dawb) ม้งจั๊วะ (Moob Ntsuab) ม้งชื้อ (Moob Swb) ม้งเป่ (Hmoob Peg) ม้งเซา (Hmoob Xauv) ม้งซัว (Hmoob Sua) ม้งปัว (Hmoob Pua) โดยม้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนั้น มีแค่กลุ่ม “ม้งเด๊อ” หรือ “ม้งขาว” และ “ม้งจั้ว”” หรือ “ม้งเขียว” เท่านั้น ซึ่งผู้รวบรวมข้อมูลฐานวิชาการชิ้นนี้เห็นว่า คำเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ภายใต้ชื่อเดียวคือ “เหมียว” ข้างต้นนั้น มิได้เป็นการจัดแบ่งตามทัศนะของคนใน แต่แบ่งตามทัศนะของคนข้างนอกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมองกลุ่มย่อยต่างๆ ข้างต้นว่ามีความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรมและมีจุดร่วมทางประวัติศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน

               ทั้งนี้ในมิติเชิงประวัติศาสตร์แล้ว คำว่า “เหมียว” ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนประมาณศตวรรษที่ 27 ก่อนคริสตศักราช หรือเมื่อประมาณสองพันสองร้อยปีก่อนคริสตศักราช (Savina, 1924 อ้างใน ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2546: 26) โดยในบางบริบทคำนี้เป็นคำที่คนจีนใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทางตอนใต้ของจีนโดยรวมซึ่งประกอบไปด้วย ม้ง เมี่ยน ลาว และจ้วง ซึ่งจีนถือว่าเป็นพวกป่าเถื่อนและไม่ใช่ชาวฮั่น ในขณะที่บางยุคนั้นหมายถึงคำดังกล่าวมีความหมายเฉพาะเจาะจงถึงม้งเท่านั้น (Cheung, 1996a; 1996b, Diamond 1995; Ruey, 1960, 1979 อ้างใน ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2546: 26) นอกจากนี้แล้ว Lombard Salmon (1972: 117 อ้างใน Michaud, 1997: 120) ยังชี้ให้เห็นว่า ตามบันทึกเอกสารของจีนแล้ว คำดังกล่าวมักจะปรากฏคู่กับคำ 2 คำคือ “shu Miao” ซึ่งแปลว่า “เหมียวที่ผ่านการทำให้สุกแล้ว” กับอีกคำคือ “sheng Maio” ซึ่งหมายถึง “เหมียวกลุ่มที่ยังดิบอยู่” ทั้งสองคำจึงสะท้อนถึงสถานภาพของเหมียวสองกลุ่มที่แตกต่างคือ เหมียวกลุ่มที่ถูกวัฒนธรรมชาวจีนครอบงำแล้ว กับเหมียวอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังมีอิสระไม่ขึ้นต่อการควบคุมของจีน

               ในขณะที่คำดังกล่าวเมื่อนำมาใช้ในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว แทบจะไม่มีความหมายใดๆ ในภาษาของคนแถบนี้ ยกเว้นแต่เสียงร้องของสัตว์อย่างแมวเท่านั้น จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ม้งส่วนใหญ่ไม่ชอบให้คนอื่นเรียกตนเองว่า “แม้ว” เลย (ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2546: 28; Lee, 2007: 4) โดยชื่อนี้เป็นที่นิยมของหน่วยงานของทางราชการต่างๆ ที่เข้าไปสัมพันธ์กับม้งมาโดยตลอด ดังเห็นได้จากงานที่งานของขุนประชาคดีกิจ (2428 อ้างใน ธงชัย วินิจจะกุล, 2560: 19) ใช้คำว่า “ข่าแม้ว” อธิบายภาพลักษณ์ของการเป็นคนป่าของคนม้งที่อยู่บริเวณชายแดนเหนือสุดสยาม ในขณะที่ McCarthy (1895: 71 อ้างใน Michaud, 1997: 124 ) นักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษ ก็ใช้คำว่า “Meo” ในการบันทึกการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของม้งในบริเวณทางภาคเหนือของประเทศไทย (น่าน) ปี ค.ศ. 1880  และงานของ Bernatzik (1970) นักมานุษยวิทยาและช่างภาพชาวออสเตรีย ใช้คำว่า “Miao” ในการอธิบายวิถีชีวิตของม้งที่อยู่ในภูมิภาคอินโดจีน ตลอดจนงานในยุคสงครามเย็น เริ่มจากงานของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2506, 2551)  ประภาส  จารุเสถียร (2509) ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ (2518, 2526) งานของสถาบันวิจัยชาวเขา (2541) ตลอดจนการข่าวและการละครในประเทศไทยยุคสงครามเย็นของสื่อมวลชนของรัฐและเอกชนก็ล้วนแล้วแต่ใช่คำว่า “แม้ว” “เผ่าแม้ว” “ชาวเขาเผ่าแม้ว”  แม้กระทั่งทุกวันนี้ชื่อนี้ก็ยังปรากฏในเอกสารสำคัญของหน่วยงานราชการด้วย โดยเฉพาะเอกสารของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (2555) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานโดยตรงกับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ยังคงผลิตซ้ำตัวตนของม้งโดยใช้คำว่า “แม้ว” ในชุดหนังสือรวบรวมองค์ความรู้ชาวเขา 9 เผ่า 

               นอกเหนือจากการหมายถึงกลุ่มประชากรม้งแล้ว คำดังกล่าวยังถูกผู้คนในสังคมมไทยใช้เรียกแบบเหมารวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงต่างๆ ทางภาคเหนือของประเทศไทย(ชาวเขา/ชาวดอย)ด้วย สืบเนื่องจากการขาดความเข้าใจและการไม่รู้จักชนชาติพันธุ์ต่างๆ ข้างต้น จึงทำให้บางครั้งคำว่า “แม้ว” นั้น ถูกใช้แบบเหมารวมถึงกลุ่ม “ชาวเขา” ทั้งหมดทางภาคเหนือด้วยจึงพอกล่าวเป็นข้อสรุปได้ว่า คำว่า “แม้ว” ที่ถูกใช้ในสังคมไทยปัจจุบัน มีการใช้ให้หมายถึงกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ม้ง” กับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงที่รัฐจัดให้เป็น “ชาวเขาในประเทศ” ด้วย เช่น กะเกรี่ยง อาข่า ลีซู อิ้วเมี่ยน ลัวะ เป็นต้น

               ชื่อเรียกในเชิงอคติทางชาติพันธุ์

               “แม้ว (Meo)”   ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นคือ เป็นคำที่ม้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่าเป็นชื่อเรียกในเชิงอคติทางชาติพันธุ์ โดยคนม้งมักรู้สึกว่าคำดังกล่าวสัมพันธ์กับเสียงร้องของแมว จนทำให้พวกเขาไม่ชอบที่จะถูกเรียกด้วยชื่อนี้เลย (ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2546: 28; Lee, 2007: 4)

     

               ภาษา

               ตระกูลภาษา 

               นักภาษาศาสตร์จัดภาษาม้งอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มย่อยหนึ่งของภาษาจีน-ธิเบต (Sino-Tibeton) (Matisoff, 1983) ภาษาตระกูลนี้เดิมใช้ในประเทศจีน แต่ภายหลังนับจากช่วงคริสต์วรรษที่ 19 เป็นต้นมาที่ผู้ใช้ตระกูลภาษานี้ได้เคลื่อนย้ายถิ่นฐานมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีการใช้ภาษาดังกล่าวในลาว เวียดนาม ไทย พม่า รวมถึงในช่วงสงครามเย็นที่ผู้คนในแถบนี้ได้อพยพลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ในประเทศตะวันตกแล้ว ภาษานี้ก็ถูกนำไปใช้ในดินแดนใหม่ดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามแม้ภาษาม้งจะจัดอยู่ในตระกูลดังกล่าว แต่ภาษาม้งก็มีคำศัพท์จำนวนมากที่พ้องเสียงและพ้องความหมายกับภาษาจีน   (ชนัญญา พวงทอง และกฤตานนท์ ท้าววัฒนากุล, )

               ภาษาพูด 

               แม้ม้งจะมีตำนานว่าตนเองเคยมีภาษาเขียนของตนเอง แต่ก็ไม่ม้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัดถึงระบบการเขียน ฉะนั้นภาษาม้งเดิมทีจึงมีแต่ภาษาพูด ม้งในไทยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลักตามสำเนียงภาษาและการแต่งกายคือ ม้งเด๊อ (Hmoob dawb) และม้งจั้ว (Hmoob ntsuab) โดยทั้งสองกลุ่มแม้จะมีสำเนียงและคำศัพท์บางส่วนที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาต่างก็สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ เช่นเดียวกันกับภาษาคำเมืองกับภาษาไทย หรือภาษาลื้อกับภาษาคำเมือง เป็นต้น

               ตัวอักษรที่ใช้เขียน 

               สำหรับภาษาเขียนนั้น แต่เดิมคนม้งไม่มีระบบการเขียนของตนเอง แม้จะมีการกล่าวอ้างว่าลวดลายผ้าปักของชาวม้งเป็นระบบการเขียนรูปแบบหนึ่งของม้งในอดีต แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าระบบลวดลายดังกล่าวเป็นระบบการอ่านและเขียนได้อย่างไร  ลวดลายผ้าปักม้งจึงมีความหมายต่อคนม้งในฐานะที่เป็นเพียงส่วนประกอบที่ใช้ตกแต่งเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของม้งมากกว่าที่จะเป็นระบบการเขียนที่บันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ  อย่างไรก็ตาม นับจากคริสต์ทศวรรษ 1950 คนม้งก็มีระบบของการเขียนของตนเองอันได้รับการพัฒนาขึ้นโดยมิชชันนารีชาวอเมริกันและฝรั่งเศส (George Barney, William Smaller และ Yves Bertrais) ที่เข้ามาสอนศาสนาคริสต์ให้กับม้งในประเทศลาว นอกนั้นในระยะที่ผ่านมายังมีระบบตัวเขียนอื่นๆ อีก แต่ไม่เป็นที่นิยมในหมู่คนม้งในประเทศไทยมากเท่าระบบนี้

               ระบบการเขียนภาษาม้งที่ถูกคิดค้นพัฒนาดังกล่าวนั้นมาจากการปรับใช้อักษรโรมัน (Romanized Popular Alphabet/RPA) มาแทนเสียงต่างๆ ในภาษาม้ง ซึ่งนับว่ามีความสอดคล้องกับเสียงภาษาม้งมากที่สุดเมื่อเทียบกับการใช้ตัวอักษรในภาษาไทย ระบบการเขียนดังกล่าวจึงเป็นที่ยอมรับและใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันแม้เป้าหมายของการสร้างระบบการเขียนดังกล่าวคือ เพื่อต้องการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในหมู่ของม้งก็ตาม  ฉะนั้นคุณูปการของการพัฒนาระบบการเขียนดังกล่าวจึงมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงแค่ของเรื่องศาสนาเท่านั้น ม้งในประเทศต่างๆ นอกจากจะใช้ภาษาประจำชาติที่ตนอาศัยอยู่แล้ว พวกเขาก็ได้ใช้ระบบภาษาเขียนดังกล่าวในการสื่อสารกับคนม้งข้ามชาติได้ด้วย  และที่สำคัญคือ การสร้างระบบการเขียนดังกล่าว ทำให้ภาษาม้งกลายเป็นภาษาที่สามารถเรียนรู้และถ่ายทอดกันได้โดยมิได้จำกัดอยู่กับคนม้งเท่านั้น

               เช่นเดียวกันกับภาษาไทย ภาษาม้งก็มีพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ด้วย กล่าวคือ มีพยัญชนะทั้งหมด 57 ตัว สระ 14 ตัว  และวรรณยุกต์ 7 รูป 8 เสียง ซึ่งต้องยอมรับว่าอักษรภาษาไทยนั้นไม่สามารถที่จะใช้แทนเสียงในภาษาม้งได้ตรงตามเสียงในภาษาม้งอย่างครบถ้วนและถูกต้อง จึงเป็นการยากพอควรที่ผู้เขียนจะนำเสนอภาษาม้งผ่านอักษรภาษาไทย  สำหรับลักษณะตัวอักษรโรมันที่ใช้เป็นพยัญชนะ สระ และเสียงวรรณยุกต์ มีดังนี้

     

    พยัญชนะ ในภาษาม้งมีทั้งหมด 57 ตัว สระ ดังตารางต่อไปนี้คือ

    พยัญชนะ อักษรภาษาม้ง เทียบอักษรภาษาไทย
    พยัญชนะตัวเดียว มีทั้งหมด 18 t k p s x l n h m g q v r z y c f d ต ก ป ซ ซ ล น ฮ ม _ ก ว จ ย ย จ ฟ ด
    พยัญชนะควบกล้ำ 2 ตัว มีทั้งหมด 22 ตัว kh qh ch ts ny hn th nt np ph tx xy hl nk nr dh rh nc pl hm hn ml nl ค ค ช จ ญ หน ท ด บ พ จ ซ หล ก จ ธ ช จ ปล หม หน มล นล
    พยัญชนะควบกล้ำ 3 ตัว มีทั้งหมด 14 ตัว tsh nth txh nts nph nrh hml hnl nkh nqh nch ntx npl plh hny ช ด ช จ จ ภ ฌ หมล หนล ฆ ฆ ฌ จ บล พล หญ
    พยัญชนะควบกล้ำ 4 ตัว มีทั้งหมด 3 ตัว  ntsh ntxh nplh ฌ ฌ ภล

     

    สระ 14 ตัว

    สระอา (a) สระอี (i) สระ เอ (e)
    สระอื (w) สระอู (u) สระออ (o)
    สระโอง (oo) สระอาง (aa) สระเอง (ee)
    สระเออ (aw) สระเอีย (ia) สระเอา (au)
    สระอัว (ua) สระ ไอ (ai)  

     

    วรรณยุกต์ มีทั้งหมด 7 รูป 8 เสียงดังต่อไปนี้คือ

    ชื่อวรรณยุกต์ ตัวอักษรแสดงเสียงสระ
    สั๊วบัว (suab npua) เสียงสามัญลงท้ายด้วยสระ
    สั๊วนือ (suab nws) ใช้ตัว s 
    สั๊วก้อ (suab koj) ใช้ตัว j 
    สั๊วเป๊ (suab peb) ใช้ตัว b 
    สั๊วกู๋ (suab kuv) ใช้ตัว v 
    สั๊วป่อ (suab pom) ใช้ตัว m 
    สั๊วยอห์ (suab yog) ใช้ตัว g 
    สั๊วเต๋อ (suab ntawd) ใช้ตัว d 

              

              ผู้เขียนได้พยายามรวบรวมคำกล่าวที่คนม้งมักจะใช้ในชีวิตประจำวันมานำเสนอเป็นตัวอย่างของภาษาม้งในที่นี้ด้วย เพื่อชี้ให้เห็นถึงวิธีคิดและความสัมพันธ์ของคนม้งที่แฝงอยู่กับการใช้ภาษาของคนม้ง โดยเฉพาะการกล่าวทักทายเป็นสำเนียงม้งเด๊อ

    ภาษาม้ง อ่านว่า ความหมาย
    Tuaj lov?              ตั้ว หลอ           มารึ? คำนี้ทำหน้าที่เหมือนกับคำว่าสวัสดี แต่ความหมายลึกซึ้งกว่านั้น กล่าวคือ สะท้อนถึงโลกทัศน์ของม้งในการจัดวางความสัมพันธ์ของพวกเขาด้วย (โปรดดูคำอธิบายในเชิงอรรถ)[1] 
    Tuaj os ตั้ว อ่อ “มา” คำนี้เป็นคำตอบกลับของผู้มาเยือนหลังจากที่ถูกทักทาย[2]
    Mus ho tuaj ov? มู ฮอ ตั้ว อ๋อ? มาอีกนะ (คำนี้ทำหน้าที่เหมือน Good bye แต่ไม่ได้แปลว่าจากลา แต่ต้องการชวนให้แขกกลับมาอีก)
    Koj lub npe hu li cas, xeem Hmoob dab tsi?                       ก้อ ลู้ เบ ฮู ลี จ่า, เส่ง ม้ง ด๊า จิ                คุณชื่ออะไรและแซ่อะไร
    Kuv lub npe hu ua Nthxais. กู๋ ลู้ เบ ฮู อัว  ไฉ่ย ฉันชื่อไฉ่ย
    Koj mus qhov twg lo?  ก้อ หมู่ ขอ ตื่อ หล่อ คุณไปไหนมา
    Kuv mus teb lo os. กู๋ มู เต๊ หล่อ อ่อ ฉันไปไร่มาน่ะ

              แม้ม้งจะมีภาษาเขียนแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าม้งทุกคนจะอ่านออกและเขียนภาษาม้งได้ เพราะภาษาม้งไม่ได้มีสอนตามโรงเรียนหรือตามชุมชนทั่วไป ยกเว้นชุมชนที่มีโบสถ์คริสต์ คนม้งที่เป็นคริสต์เตียนก็พลอยได้เรียนรู้ไปด้วยในขณะที่เรียนร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าหรือเรียนพระคัมภีร์  ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าม้งทุกคนจะพูดภาษาม้งอีกต่อไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ใช้ภาษาไทยมาตั้งแต่เด็ก พวกเขาก็จะใช้ภาษาไทยในการสื่อสารในชีวิตประจำวันเป็นหลัก และใช้ได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ ในขณะที่กลับไม่มีความมั่นใจและรู้สึกยุ่งยากมากที่จะสื่อสารกับคนม้งด้วยกันเป็นภาษาของตนเอง  ปรากฏการณ์เช่นนี้นำไปสู่ความกังวลของผู้อาวุโสม้งที่ภาษาม้งอาจเพี้ยนและไม่ได้รับการสืบทอดก็ได้ กระนั้นก็ตาม ผู้เขียนก็เห็นว่า ปัจจุบันก็มีกลุ่มคนในวัฒนธรรมอื่นก็สามารถใช้ภาษาม้งได้อย่างเจ้าของภาษาและดีกว่าเจ้าของภาษาด้วยซ้ำ โดยเฉพาะฝรั่งที่เป็นมิชชันนารีและนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องม้ง ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้อาวุโสม้งได้มากเลยทีเดียว และสามารถฉุดความคิดของคนรุ่นใหม่ให้กลับมาสนใจภาษาม้งของตนเองอีกครั้งได้เป็นอย่างดี

     

     

    [1] ตั้ว ลอ? เป็นคำกล่าวทักทายกันของม้งที่ฝ่ายเจ้าบ้านหรือเจ้าของชุมชนจะป็นคนทักแขกที่มาเยือนก่อน หากฝ่ายเจ้าบ้านไม่ได้มีการทักทาย ก็มักจะเป็นที่เข้าใจว่า เจ้าบ้านได้ละเลยที่จะให้ความสำคัญกับแขกที่มาเยือนแล้ว ซึ่งก็จะทำให้แขกรู้สึกไม่มีตัวตนและปฏิบัติตัวไม่ถูกในสถานการณ์ดังกล่าว ฉะนั้นการเริ่มต้นด้วยคำว่า  “มารึ?” ก่อนการสนทนาอื่นใดของเจ้าบ้าน ก็จะช่วยยืนยันให้แขกที่มาเยือนรับรู้ว่าเจ้าบ้านให้ความสำคัญกับแขกและไม่ได้เพิกเฉยต่อการปรากฏตัวของเขาในพื้นที่ของตนเองแต่อย่างใด และหากทั้งสองคนต้องมาพบเจอกันในพื้นที่กลางที่ไม่ใช้ของใครคนใดคนหนึ่ง เขาก็จะทักคำด้วยว่า “ตั้ว เที้ย ล้อ” แปลตรงคำคือ “มาด้วยรึ?” 

    [2] แม้จะเป็นเพียงคำสั้นๆ แต่หากเราไม่ตอบกลับนั้น ก็ถูกตีความหมายจากคนทักไปในทางอื่นทันที เช่น อาจถูกเข้าใจว่าเราไม่ชอบ หรือไม่พึงพอใจ หรือเราไม่อยากนับญาติกับคนที่ทักมาก็ได้

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย นางสาวอุไร ยังชีพสุจริต  นักศึกษาปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    ปีงบประมาณ 2560, วันที่อัพโหลด : 24 กันยายน 2561, แก้ไขข้อมูล : 6 สิงหาคม 2562 

    บรรณานุกรม

    • กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา. (2559). ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัดของประเทศไทย ประจำปี 2559. กรุงเทพฯ: กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.
    • เครือข่ายเรียนรู้ฟื้นฟูประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรมดอยยาว-ดอยผาหม่น. (มปป.). เราก็เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดิน...ประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรมดอยยาว-ผาหม่น. ร่างรายงานฉบับแรกที่ใช้ในการแสดงความคิดเห็นในงาน 3 ปีแห่งการเรียนรู้ ฟื้นฟูนิเวศวัฒนธรรมชุมชนดอยยาว-ผาหม่น: ขบวนการฟื้นฟูท้องถิ่นสู่การปฏิรูปประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2554 หมู่บ้านร่มฟ้าผาหม่น จังหวัดเชียงราย.
    • จิตร ภูมิศักดิ์. (2554). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม. กรุงเทพฯ: ศยาม.
    • ชนัญญา พวงทอง และกฤตานนท์ ท้าววัฒนากุล. 2562. “การศึกษาเปรียบเทียบการออกเสียงคำศัพท์ในภาษาจีนกลางและภาษาม้ง.” วารสารมังรายสาร 7(1) ม.ค. – มิ.ย. 2562. สืบค้นจาก https://so04.tci-thaijo.org/index.php/mrsj/article/view/177393/130026.
    • ประสิทธิ์ ลีปรีชา. (2549). ม้งดอยปุย การค้า อัตลักษณ์กับความเป็นชุมชนชาติพันธุ์. เชียงใหม่: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
    • ประสิทธิ์ ลีปรีชา. (2554). กลุ่มชาติพันธุ์ม้งในบริบทของรัฐชาติสมัยใหม่. ใน ม้งลาวในประเทศไทย: นโยบายและการดำเนินการของรับไทย (2518-2552). สุภางค์ จันทวานิช และถวิล เปลี่ยนศรี (บก.). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 1-38.
    • ประสิทธิ์ ลีปรีชา. (2560). นามสกุลกับกระบวนการทำให้เป็นไทยในกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง. สังคมศาสตร์. วารสารทางวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 29(1), 85-124.
    • ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ. (2560). ม้งช่วยรบ : ความเป็นมาและปัญหาสถานะบุคคล. เชียงใหม่ : ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
    • มูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ชนถิ่นกันดาร. (2538). 30 ปี พระธรรมจาริก. กรุงเทพฯ: กรมประชาสงเคราะห์.
    • ยุทธพงษ์   สืบศักดิ์วงศ์. (2546). ความคิดทางปรัชญาในภาษิตม้ง. วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
    • Chan, Sucheng. (1994). Hmong Means Free: Life in Laos and America. Philadelphia: Temple University Press.
    • Culas, Christian. (2000). Migrants, Runaways and Opium Growers: Origin of the Hmong in Laos and Siam in the Ninetieth and Early Twentieth Centuries. Turbulent Times and Enduring Peoples Mountain Minorities in South East Asia Massif. Michaud Jean (ed.). London:Curzon,28-47.
    • Gua, Bo. (1975). Opium, Bombs and Trees: The Future of the Hmong Tribesmen in Northern Thailand, Journal of Contemporary Asia 5(1): 70-81.
    • Lamont H. Thao. (2002). “Hmong Means Free?". Retrieved September 15, 2018, from https://sites.google.com/site/wwwhmonghomepage/home/hmong-means-free/hmong-means-free
    • Tapp, Nicholas. (1986). The Hmong of Thailand: Opium People of the Triangle. London: Anti-Slavery Society.
    • Tapp, Nicholas. (1989). The Sovereignty and Rebellion: The White Hmong of the Northern Thailand. Malaysia: Peterchong Printers.
    • Tapp, Nicholas. (1989). Hmong Religion. Asian Folklore Studies 48(1), 5-9. Retrieved December 20, 2018 from, https://nirc.nanzan-u.ac.jp/nfile/1512.

     

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
กำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา สุโขทัย ตาก น่าน แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เป็นต้น150000
ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


ชุดข้อมูล : ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง

แสดง 21-30 จากทั้งหมด 270 รายการ
จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร ละติจูด ลองติจูด
เชียงราย เทิง ตับเต่า หมู่ 18 ธาตุ4  
แม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง แม่เหาะ หมู่ 4 ป่าจี้บัวตอง92  
แม่ฮ่องสอน เมืองแม่ฮ่องสอน หมอกจำแป่ หมู่ 5 ห้วยมะเขือส้ม263  
ตาก ท่าสองยาง แม่อุสุ หมู่ 3 มอทะ11  
ตาก ท่าสองยาง แม่อุสุ หมู่ 4 พอบือละปู่ 11  
ตาก ท่าสองยาง ท่าสองยาง หมู่ 1 ท่าสองยาง11  
ตาก ท่าสองยาง ท่าสองยาง หมู่ 2 แม่ตื่น 11  
ตาก แม่ระมาด ขะเนจื้อ หมู่ 9 ห้วยแห้ง11  
น่าน บ่อเกลือ บ่อเกลือใต้ หมู่ 10 บ้านยอดดอย13  
น่าน บ่อเกลือ ภูฟ้า หมู่ 6 บ้านห้วยลอย12  
ที่มา:

กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา กลุ่มกิจการชาวเขา. (2559). ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด ของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2559. กรุงเทพฯ : กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


  • บทนำ :

              ม้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ข้ามชาติ พวกเขามักเรียกตนเองว่า “ม้ง” ซึ่งความหมายนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ทั้งในหมู่คนม้งด้วยกันเองหรือแม้กระทั่งนักวิชาการ ส่วนชื่อที่คนอื่นใช้เรียกม้งนั้นมีสองชื่อด้วยกันคือ “เหมียว” และ “แม้ว” ซึ่งในมุมของคนม้งแล้ว คำทั้งสองนี้มีความหมายที่แตกต่างกันและแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แตกต่างกัน โดยคำหลังนั้นเป็นคำที่คนอื่นในเอเชียอาคเนย์และชาวตะวันตกใช้เรียกคนม้งและมีนัยของความเป็นอื่นที่เชื่อมโยงกับเสียงของแมวแฝงอยู่ ทำให้คนม้งไม่ชอบ ในขณะที่คำแรกนั้นเป็นคำที่ใช้เรียกม้งในจีนซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาจีนและมีความหมายสัมพันธ์กับการเป็นคนพื้นเพดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับชาวจีนมายาวนาน และพวกเขาไม่ได้ปฎิเสธแต่อย่างใด

              ในอดีตม้งอาศัยอยู่เฉพาะในดินแดนปัจจุบันที่เป็นประเทศจีนในปัจจุบัน แต่ภายหลังส่วนหนึ่งซึ่งถือเป็นส่วนน้อยของประชากรได้อพยพเคลื่อนย้ายถิ่นมายังภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ในห้วงคริสต์วรรษที่ 19 ด้วย มากไปกว่านั้น ในช่วงหลังสงครามเย็นก็มีชาวม้งจากประเทศลาวหลายหมื่นคนที่อพยพลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ตามประเทศในแถบตะวันตกด้วย และยิ่งปัจจุบันคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งก็เดินทางไปศึกษาต่อและแต่งงานข้ามชาติกับพลเมืองประเทศต่างๆ ด้วย ทำให้คนม้งปัจจุบันนั้นอยู่กระจัดกระจายอยู่บนโลกใบนี้เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น กระนั้นก็ตามจำนวนประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดก็ยังคงถือว่าอยู่ในประเทศจีนเป็นหลัก  ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยนั้น ม้ง ตั้งชุมชนกระจายอยู่ตามพื้นที่รอบนอกเมืองใน 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก  เพชรบูรณ์ เลย กำแพงเพชร ตาก และกาญจนบุรี  ประเด้นสำคัญคือ ถึงแม้จะตั้งชุมชนมายาวนานไม่ต่ำกว่าสองทศวรรษ ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับวัฒนธณรมกระแสหลัก คนม้งถูกจดจำเฉพาะในแง่ความเป็นอื่นในสังคมไทยเสมอ นักวิชาการวิเคราะห์ว่า สาเหตุทียังมีภาพจำที่เป็นอื่นต่อคนม้งในสังคมไทยนั้นมาจากสี่ปัจจัยหลักคือ ประเด็นเรื่องม้งกับยาเสพติดโดยเฉพาะภาพจำเกี่ยวกับการปลูกผิ่น  ประเด็นเรื่องเกษตรบนพื้นที่สูงที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ประเด็นเรื่องความมั่นคง และประเด็นเรื่อง ชาวเขาทำมาหากินในเขตป่าและยากจน  วาทกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความเข้าใจคนม้งแต่ในภาพเชิงลบและเป็นที่มาของความพยายามในการหลบหลีกความเป็นม้งหรือปิดบังตัวตนทางชาติพันธุ์ของคนม้งเองในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่

              ด้วยวาทกรรมข้างต้น ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจอัตลักษณ์ของคนม้งในเชิงลบไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม หากจะต้องอธิบายว่า แล้ว “คนม้งมีตัวตนเป็นอย่างไร” เราอาจต้องพูดถึงบริบทเป็นสำคัญ เพราะความเป็นจริงคือ เราไม่อาจจะเหมารวม (generalize) ตัวตนคนม้งได้เป็นเพียงแค่แบบเดียวได้ เพราะม้งในแต่ละพื้นที่ชุมชนเผชิญกับสภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในรูปแบบที่มีความเข้มข้นแตกต่างกัน  สภาพแวดล้อมเหล่านี้จะเป็นตัวกำกับหรือกำหนดการแสดงตัวตนทางชาติพันธุ์ของคนม้งเป็นสำคัญ  อย่างไรก็ตามแต่ หากจะกล่าวถึงอัตลักษณ์แบบผิวเผินเมื่อพูดถึงคนม้งในไทยทั่วไปจากทัศนะและความเข้าใจของคนนอกแล้ว คนม้งมักจะถูกเข้าใจและถูกจัดความสัมพันธ์ให้เป็น “ชนเผ่า” และ “ชาวเขา” ซึ่งมีนัยของความเป็นคนป่าเถื่อนและด้อยการพัฒนา ซึ่งตรงข้ามกับความรู้สึกของม้งที่พวกเขากลับรู้สึกว่าตนเป็น “ชนชาติ” หนึ่งที่เคยมีดินแดนและกษัตริย์ของตนเองมาก่อน มีระบบความเชื่อ ภาษา  เครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี และเทศกาลหรือประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำรงชีพของพวกเขาที่โดดเด่นและแตกต่างจากกลุ่มอื่น (ดังรายละเอียดที่กล่าวไว้ในแต่ละส่วน) ประเด็นต่างๆ ที่ปรากฏในงานชิ้นนี้จึงน่าจะพออธิบายลักษณะตัวตนของคนม้งได้ระดับหนึ่ง

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง :

              ประวัติศาสตร์

              ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์

              ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแหล่งต้นกำเนิดของคนม้ง จากการสันนิษฐานที่ได้มาจากการตีความตำนาน เรื่องเล่า บันทึก ความเชื่อกับพิธีกรรม และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับตัวพื้นที่กายภาพและคน  เผยให้เห็นถึงสามแนวคิดหลัก กล่าวคือ แนวคิดแรกสันนิษฐานว่า ม้งน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากดินแดนขั้วโลกเหนือ โดยอพยพผ่านไซบีเรียและมองโกเลียเข้ามายังดินแดนทางตอนเหนือของจีน จากนั้นลงมายังทางใต้ของจีน และต่อมาภายหลังส่วนหนึ่งเดินทางออกไปตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือที่ปัจจุบันเป็นประเทศเวียดนาม ลาว พม่า และไทย ดังสะท้อนอยู่ในงานของมิชชันนารีตะวันตกชื่อ Savina ซึ่งแนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อการศึกษาของนักวิชาการรุ่นหลังอย่าง Quincy  และคนอื่นๆ อย่างมากที่พยายามอธิบายว่าตัวตนม้งผ่านลักษณะกรรมพันธุ์ที่คล้ายกับคนผิวขาวในยุโรปที่มีผมสีบรอนและนัยน์ตาสีฟ้า  แนวคิดที่สอง สันนิฐานว่าต้นกำเนิดของม้งอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศมองโกเลียปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากตำนานที่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงม้งคนหนึ่งชื่อ “เม่าเก้าเลีย” หรือ “มองโกเลีย” ที่ไม่กลัวสิ่งอันตรายใดๆ จนเป็นที่น่ายกย่องและนำมาสู่การเรียกชื่อพื้นที่ที่เด็กหญิงม้งคนนั้นอยู่ว่า “มองโกเลีย” เหตุนี้จึงมีการสันนิฐานว่าม้งมีถิ่นกำเนิดในประเทศมองโกเลียปัจจุบัน และแนวคิดสุดท้าย สันนิษฐานว่า ม้งเป็นชนดั้งเดิมในจีน (aboriginal Chinese) โดยแรกเริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ทางด้านตะวันออกของทะเลเหลือง จากนั้นได้เคลื่อนย้ายทำมาหากินตามแม่น้ำฮวงโหเข้ามาสู่บริเวณที่เป็นภาคกลางของจีน ต่อมาถูกรุกรานจากชาวมองโกลจึงได้อพยพลงมายังทางตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งปัจจุบันเป็นมณฑลเสฉวน กวางสี และยูนนาน  ทั้งนี้ ภายหลังช่วงกลางศตวรรษที่  18 เกิดสงครามการต่อต้านรัฐบาลส่วนกลางปักกิ่งที่ทำการขูดรีดและการเก็บภาษีสูงจากกลุ่มผู้มีอำนาจในจีน ส่งผลให้ม้งส่วนหนึ่งได้อพยพออกจากดินแดนในจีนเข้ามายังพื้นที่บริเวณแถบอินโดจีนเพื่อการตั้งถิ่นฐานและการทำมาหากินใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศเวียดนาม ลาว พม่า และไทย (ประสิทธิ์ ลีปรีชา 2549)

              รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน

              ประสิทธิ์ ลีปรีชา (2549: 11-12) บันทึกคำบอกเล่าจากผู้อาวุโสที่สืบทอดความทรงจำจากรุ่นต่อรุ่นมา ว่า เส้นทางที่ม้งเข้ามายังประเทศไทยมีอยู่สามเส้นทาง คือ เส้นทางแรก อยู่บริเวณชายแดนจังหวัดน่านและพะเยา ซึ่งมีภูแวและภูลังกาเป็นหลัก จากนั้นกลุ่มที่เข้ามาทางนี้ก็อพยพโยกย้ายไปยังขุนสถาน ดอยช้าง ดอยอ่างขาง ภูหินร่องกล้า เขาค้อ และดอยละแหง (Rooj looj heem)  เส้นทางที่สอง คือ เข้ามาทางบริเวณภูชี้ฟ้าและดอยผาหม่น และที่ราบระหว่างเมืองเชียงของกับเชียงแสน จากนั้นเดินทางต่อมายังดอยยาว ดอยช้าง ดอยอ่างขาง ดอยผ้าห่มปก  (Laim Phuas Puv) และดอยจักตอก (Laim Caaj Tuj) ในพม่าปัจจุบัน และเข้ามายังที่ดอยเชียงดาว ดอยสุเทพ ดอยอินทนนท์ ดอยปางอุ๋ง ดอยหมากพริก เป็นต้น และเส้นทางสุดท้ายคือ ข้ามแม่น้ำโขงบริเวณประเทศลาวและพม่าสู่บริเวณเหนือท่าขี้เหล็ก แล้วลงมากระจายตัวไปตั้งชุมชนต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย และการอพยพในช่วงที่สาม เป็นการอพยพของคนม้งในลาวหลังปี พ.ศ. 2518 ที่ฝ่ายประเทดลาวได้รับชัยชนะจากการต่อสู้ แล้วคนม้งที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยอันมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนหลัก ไม่สามารถอยู่ต่อในประเทศลาวได้ จนต้องลี้ภัยเข้ามาอยู่ตามศูนย์อพยพในไทยก่อนที่กลุ่มประเทศตะวันตกอุดมการณ์ประชาธิปไตยจะรับพวกเขาไปเป็นพลเมืองต่อไป  (ประสิทธิ์ ลีปรีชา 2554) ประการสำคัญคือ คนม้งกลุ่มนี้ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศหมด มีบางส่วนที่ปฏิเสธในการไปตั้งถิ่นฐานในกลุ่มประเทศดังกล่าว และยืนยันที่จะอยู่ในประเทศไทย พวกเขาก็ถูกรัฐบาลไทยจัดให้ไปอยู่ร่วมกับคนม้งไทยตามชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะตามชุมชนที่เคยเป็นฐานที่มั่นของ พคท. มาก่อนที่เพิ่งได้รับการจัดตั้งระหว่างปี พ.ศ. 2525-2532  ภายหลังชาวม้งลาวกลุ่มนี้จึงพลอยได้รับสัญชาติไทยตามชาวม้งกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ที่เคยร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสตืแห่งประเทศไทยด้วย  ฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงคนม้งไทยนั้น จึงมิได้ครอบคลุมถึงเฉพาะบุคคลที่อยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคนเท่านั้น แต่หมายถึงกลุ่มคนม้งลาวส่วนหนึ่งที่เข้ามาในระลอกหลังและปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติไทยด้วย

              สำหรับสภาพแวดล้อมของการตั้งถิ่นฐานแต่เดิมส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนพื้นที่สูง แต่ปัจจุบันก็มีชุมชนม้งที่เกิดขึ้นใหม่ตามชุมชนในเมืองด้วย

              

              การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของประชากร

              ม้งเป็นชนดั้งเดิมในจีน (aboriginal Chinese) โดยแรกเริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ทางด้านตะวันออกของทะเลเหลือง จากนั้นได้เคลื่อนย้ายทำมาหากินตามแม่น้ำฮวงโหเข้ามาสู่บริเวณที่เป็นภาคกลางของจีน ต่อมาถูกรุกรานจากชาวมองโกลจึงได้อพยพลงมายังทางตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งปัจจุบันเป็นมณฑลเสฉวน กวางสี และยูนนาน  ทั้งนี้ ภายหลังช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่  18 เกิดสงครามการต่อต้านรัฐบาลส่วนกลางปักกิ่งที่ทำการขูดรีดและการเก็บภาษีสูงจากกลุ่มผู้มีอำนาจในจีน ส่งผลให้ม้งส่วนหนึ่งได้อพยพออกจากดินแดนในจีนเข้ามายังพื้นที่บริเวณแถบอินโดจีนเพื่อการตั้งถิ่นฐานและการทำมาหากินใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศเวียดนาม ลาว พม่า และไทย (ประสิทธิ์ ลีปรีชา 2549)

              ปัจจุบันมีหมู่บ้านม้งอยู่กระจายตามพื้นที่รอบนอกเมืองของจังหวัดต่างๆ ถึง 15 จังหวัดทางภาคเหนือด้วยกัน คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย กำแพงเพชร ตาก และจังหวัดกาญจนบุรี  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนม้งจะอยู่แต่เฉพาะในชุมชนของตนเท่านั้น ปัจจุบันประชากรม้งนั้นได้เคลื่อนเข้ามาตั้งถิ่นฐานร่วมกับชุมชนเมืองต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพมาหานครและปริมณฑล และเชียงใหม่ เป็นต้น รวมถึงบางส่วนที่เดินทางไปเป็นแรงงานในต่างประเทศและศึกษาต่อต่างประเทศด้วย  ประการสำคัญคือ แม้ม้งจะเข้าอยู่ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานกว่าสองศตวรรษแล้วก็ตาม แต่ด้วยความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมกับวัฒนธรรมกระแสหลัก ทำให้ม้งถูกบันทึกและจดจำกันเฉพาะในแง่ของความเป็นคนอื่นในสังคมไทย (the other within) มาโดยตลอด และยิ่งไปกว่านั้นสำนึกของคนม้งเองส่วนใหญ่ก็ยอมรับและเข้าใจว่าตนเองเป็นคนอื่นจริงๆ ในสังคมไทย นักวิชาการเห็นว่าสาเหตุที่สังคมไทยมองคนม้งเป็นคนอื่นนั้นเกิดขึ้นจากวาทกรรมกักขังอัตลักษณ์ของรัฐที่มีต่อม้งสี่ประเด็นคือ ประเด็นแรก ม้งกับยาเสพติดที่รัฐมักจะเหมารวมให้คนม้งเกี่ยวข้องกับฝิ่นนับแต่อดีตมาจนปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าและเสพยาเสพติด ประเด็นที่สอง ม้งกับระบบการเกษตรที่เป็นการทำลายป่าและสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่สาม ม้งกับการการทำลายความมั่นคงของชาติ (Mark 1973 และ Tapp 1986) และประการสุดท้าย ม้งกับความเป็น “ชาวเขา” และ “ชนเผ่า” ที่อาศัยอยู่ตามป่าเขาเร่รอนทำมาหากินและมีความยากจน วาทกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความเข้าใจคนม้งแต่ในภาพเชิงลบและเป็นที่มาของความพยายามในการหลบหลีกความเป็นม้งหรือปิดบังตัวตนทางชาติพันธุ์ของคนม้งเองในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ 

              ชุมชนชาติพันธุ์

              จากการรวบรวมของกองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในหนังสือชื่อ “ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัดของประเทศไทย ประจำปี 2559” ระบุว่า ชุมชนชาติพันธุ์ม้งจํานวนทั้งหมด 269 ชุมชน 29,515 หลังคาเรือน 40,863 ครอบครัว ประชากรรวมทั้งสิ้น จํานวน 207,151 คน  โดยจังหวัดที่มีประชากรม้งอาศัยอยู่มากที่สุดอยู่ที่ตาก จํานวน 54,617 คน คิดเป็นร้อยละ 26.36 รองลงมาคือ จังหวัดเชียงราย จํานวน 31,963 คน คิดเป็นร้อยละ 15.42 และจังหวัดน่าน จํานวน 31,037 คน คิดเป็นร้อยละ 14.98 และจังหวัดที่มีม้งอาศัยอยู่น้อยที่สุดคือที่จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 149 คน (กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวขา, 2559: 13) ซึ่งตัวเลขต่างๆ ข้างต้นผู้เขียนเห็นว่าอาจมีความคาดเคลื่อนได้ เพราะปัจจุบันคนม้งมิได้อาศัยอยู่เฉพาะในชุมชนดังกล่าวอย่างเดียว บางส่วนได้เข้ามาซื้อที่ดินและสร้างบ้านหรือสร้างชุมชนเล็กๆ อยู่ในเมืองด้วย รวมถึงส่วนหนึ่งก็มีการแต่งงานข้ามไปมากับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น และเคลื่อนย้ายไปพื้นที่อื่นๆ ด้วย ตัวเลขข้างต้นจึงอาจเป็นเพียงแค่การประมาณการเท่านั้น

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง :

              วิถีชีวิต

              ในอดีตชาวม้งส่วนใหญ่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเพาะปลูกพืชพื้นบ้านและเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก โดยนอกเหนือจากการปลูกข้าว พืชผัก และข้าวโพดเลี้ยงการยังชีพแล้ว การปลูกฝิ่นถือเป็นพืชที่นำมาซึ่งรายได้หลักของคนม้ง และแม้รัฐจะมีการประกาศให้ฝิ่นเป็นพืชผิดกฎหมายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 แล้วก็ตาม แต่คนม้งส่วนใหญ่ก็ยังคงปลูกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งราว พ.ศ. 2520 ที่ทางราชการเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น ประกอบกับมีโครงการพัฒนาพันธุ์พืชทดแทนฝิ่นต่างๆ เริ่มเข้าไปนำเสนอให้กับชุมชนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงด้วย ทำให้ชาวม้งค่อยๆ เริ่มหันมาปลูกพืชผักและไม้ผลอย่างอื่นเข้ามาแทนที่ฝิ่นตามการส่งเสริมขององค์กรต่างๆ และตามกลไกลของตลาดนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาชีพเกษตรนั้นถือเป็นอาชีพหลักของคนม้งส่วนใหญ่  อย่างไรก็ตาม ในห้วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ม้งในไทยหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการทำการเกษตรด้วย ซึ่งจัดได้เป็น  คือ ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ข้าราชการ นักกิจกรรม นักวิชาการ และรับจ้างทั่วไป รายละเอียดแต่ละส่วนงานมีดังนี้

              การทำการเกษตรของคนม้งในไทยปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือนอีกต่อไป มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงทำการผลิตข้าวไว้บริโภคเอง แต่ส่วนใหญ่นั้นได้หันมาปลูกพืชเชิงพาณิชย์กันอย่างแพร่หลาย แล้วนำเงินที่ได้มานั้นไปซื้อข้าวและ พืชผักต่างๆ ที่ตนเองเคยปลูกไว้ตามไร่นาเพื่อบริโภคในครัวเรือนเมื่อครั้งอดีต ในปัจจุบันก็ไม่มีเวลาที่จะทำสิ่งเหล่านี้แล้ว และหันไปพึ่งพาอาหารจากตลาดเป็นหลัก เพราะพวกเขาได้ผันตนเองเข้ามาเป็นเกษตรกอย่างเต็มตัวที่มุ่งทำการผลิตเพื่อป้อนให้กับตลาดอย่างเดียว และเมื่อแรงงานในครอบครัวและชุมชนไม่เพียงพอ พวกเขาส่วนใหญ่จึงมีการว่าจ้างแรงงานข้ามชาติไม่ว่าจากประเทศเมียนมาหรือลาวเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตพืชผลทางการเกษตรด้วย  ชุมชนม้งที่มีชื่อเสียงและทำการผลิตพืชผักเป็นจำนวนมากป้อนให้กับตลาดใหญ่ๆ ในประเทศไทย คือ ชุมชนม้งในเขตอำเภอพบพระและอำเภอแม่สอดในจังหวัดตาก ทำการผลิตผักกาดขาวเป็นจำนวนมากให้กับบริษัทห้างร้านต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ชุมชนม้งในเขตอำเภอฮอดและแม่สะเรียงที่ทำการผลิตกะหล่ำปลีและผักกาดขาวให้กับบริษัทเทสโก้โลตัสที่ส่งทั่วประเทศ ชุมชนม้งในเขตอำเภอแม่ริมที่ทำการผลิตพืชผักตามความต้องการของโครงการหลวงและตลาดขายส่งในจังหวัดเชียงใหม่  ชุมชนม้งในเขตอำเภอสะเมิง แม่แจ่ม และกัลยาณิวัฒนาที่ทำการผลิตกะหล่ำปลี ผักกาดขาว และผลไม้ตามฤดูกาลต่างๆ ป้อนให้กับพ่อค้าคนกลางตามตลาดขายส่งใหญ่ๆ ของจังหวัดต่างๆ ซึ่งในส่วนของการจัดจำหน่ายดังกล่าวนั้น ได้มีคนม้งรุ่นใหม่จำนวนมากที่หันเข้ามาเป็นทั้งผู้รับซื้อผลผลิตต่อจากเกษตรกรและมีแผงขายของตนเองตามตลาดขายส่งที่พร้อมกระจายสินค้าให้กับลูกค้ารายย่อยต่อไปด้วย        

              นอกจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรแล้ว ยังมีม้งส่วนหนึ่งที่ผันตนเองมาทำการค้าขายกับสินค้าหัตถกรรม เช่น ผ้าปัก เสื้อผ้าม้งประยุกต์ และเครื่องประดับต่างๆ ให้ทั้งกับคนม้งด้วยกันเองและคนนอกวัฒนธรรมด้วย ซึ่งขนาดของกิจกรรมเริ่มตั้งแต่การมีบริษัทห้างร้านไปจนถึงการเป็นกิจการอุตสาหกรรมครัวเรือนขนาดเล็ก บริษัทห้างร้านที่มีชื่อเสียงในการผลิตชุดม้งเครื่องแต่งกายสำหรับผู้บริโภคที่เป็นม้งได้แก่ บริษัทเยี่ยมจื้อวัฒนกิจ บริษัทปั้นดาววาณิช บริษัทเหมาฝัวแฟชั่นเทค และกิจการออนไลน์ของม้งซิสเตอร์ช้อป โดยสินค้าต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อจำหน่ายให้กับม้งไทยเท่านั้น แต่ยังมีการส่งออกไปยังพี่น้องม้งที่อยู่ในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา  และนอกเหนือจากการเป็นผู้ผลิตและจัดหน่ายสินค้าหัตถกรรมที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์แล้ว ก็มีคนม้งหลายคนที่ได้ก้าวเข้าไปสู่การทำการค้าที่มิได้เชื่อมโยงกับความเป็นชาติพันธุ์อีกด้วย ดังเช่น ธุรกิจการการทำตุ๊กตาเลซิ่น การผลิตปุ๋ย-ยา (บริษัทดีม้ง) การการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การผลิตและจำหน่ายชาและกาแฟ และการขาย “ไก่ทอดหาดใหญ่” ตามเมืองใหญ่ต่างๆ  รวมถึงงานบริการด้านวิศวกรรมโยธา  และการหันมา "เล่นหุ้น" เป็นอาชีพของกลุ่มคนม้งรุ่นใหม่

              อาชีพข้าราชการที่คนม้งส่วนหนึ่งที่ได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตรีขึ้นไปก็เข้าไปสู่ระบบงานของทางราชการด้วย เช่น ครู อาจารย์ แพทย์ พยาบาล ตำรวจ ทหาร เป็นต้น รวมถึงอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับการศึกษาในระดับสูงก็ตาม ก็เลือกที่จะไม่เข้าไปสู่อาชีพรับราชการ และหันมาประกอบอาชีพที่มีความเป็นอิสระมากขึ้น อย่างเช่น การเป็นนักวิชาการ ทนายความ และนักธุรกิจข้ามชาติ เป็นต้น

              สำหรับชุมชนที่อยู่ใกล้ตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทำให้ม้งบางส่วนหันมาประกอบอาชีพเป็นผู้ประกอบการที่พักตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น บ้านหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่ ม้งที่ภูทับเบิก  เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และม้งที่บริเวณภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงราย เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งก็กลายไปเป็นแรงงานรับจ้างตามบริษัทห้างร้านต่างๆ ตามเมืองใหญ่ และส่วนหนึ่งได้เดินทางไปเป็นแรงงานในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะประเทศเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น อิสราเอล เป็นต้น 

              ดังที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันคนม้งในประเทศไทยหันมาประกอบอาชีพต่างๆ อย่างหลากหลายเช่นเดียวกับคนทั่วไปในสังคม ฉะนั้นการจะนำเสนอแต่ว่า “ม้งยาบ้า” หรือ “ม้งทำลายป่า”ยิ่งเท่ากับเป็นการบดบังการประกอบอาชีพในมิติอื่นๆ ของคนม้งดังที่ได้กล่าวมา

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง :

              โครงสร้างครอบครัวและระบบเครือญาติ

              ในยุคที่ยังทำการเกษตรเพื่อการยังชีพควบคู่กับการปลูกฝิ่นเพื่อขายนั้น ครอบครัวและเครือญาติมีความสำคัญในการผลิตมาก พวกเขามักจะตั้งชุมชนตามกลุ่มเครือญาติของตนเองเป็นหลักเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในระดับครัวเรือนก็เช่นกัน พวกเขาอยู่กันแบบครอบครัวขยาย ที่สมาชิกทุกคนประกอบด้วย ปู่ ย่า พ่อ แม่ พี่น้อง และลูกหลานอาศัยอยู่ในชายคาเดียวกัน และทำมาหากินร่วมกันโดยมีปู่หรือชายที่อาวุโสที่สุดในบ้านเป็นหัวหน้าครัวเรือน การมีความสัมพันธ์ที่ดีในเครือญาติและครอบครัวจึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงของชีวิตในยุคก่อนที่พวกเขาจะถูกนับรวมเป็นพลเมืองของรัฐใดรัฐหนึ่งยิ่ง

              อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณสามทศวรรษที่ผ่านมาที่คนม้งได้หันมาสู่ระบบการเกษตรเพื่อจำหน่ายเป็นหลักแล้ว ได้ทำให้ระบบความสัมพันธ์ในครอบครัวและเครือญาตินั้นเปลี่ยนแปลงไป เพราะระบบการผลิตดังกล่าวมีการแข่งขันและช่วงชิงทรัพยากร เกิดการช่วงชิงที่ดินทำกินทั้งในระดับครัวเรือนและเครือญาติ พี่น้องในสายเลือดเดียวกันหรือในตระกูลเดียวกันจึงกลายเป็นคู่แข่งของกันและกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เงินได้กลายมาเป็นของมีค่าที่ทุกคนต้องการมากกว่าความสัมพันธ์ทางเครือญาติ  เมื่อเป็นเช่นนี้คนม้งส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เมื่อแต่งงานและสามารถตั้งตัวได้แล้ว จึงมักจะไปสร้างบ้านอีกหลังหนึ่งเพื่อให้ตนเองมีอิสรภาพมากขึ้นในการจัดการตนเอง ในบางครัวเรือนถึงกับละทิ้งพ่อแม่ของตนเองที่แก่ชราให้ดิ้นรนทำมาหากินโดยลำพัง ฉะนั้นตราบใดที่เรื่องปากท้องหรือเงินทองมีความสำคัญเหนือความสัมพันธ์ของสมาชิกในครัวเรือน ยิ่งอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่หรือครอบครัวขยายก็ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาความไม่ลงรอยกันได้ง่าย จึงนำมาสู่การปรับเปลี่ยนลักษณะของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขนาดใหญ่มาสู่ครอบครัวขนาดย่อยในที่สุด เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัวตนเองมากที่สุดและลดบทบาทความรับผิดชอบของตนเองที่ควรต่อพ่อแม่หรือพี่น้องของตนเองให้น้อยลง  ความสัมพันธ์ในระดับเครือญาติก็เช่นกัน แม้บรรพบุรุษจะได้นำไปผูกโยงกับระบบความเชื่อก็ตาม แต่เมื่อกระแสของทุนนิยมเข้ามาปะทะประสานกับสังคมม้งแล้ว ระบบความสัมพันธ์ทางเครือญาติก็ถูกสั่นคลอนไปด้วยเช่นกัน

              สังคมม้งเป็นระบบสังคมที่สืบทอดผีเรือนและมรดกผ่านฝ่ายผู้ชายเป็นหลัก เป็นระบบแซ่ตระกูล ความสัมพันธ์ผ่านระบบแซ่ตระกูลดังกล่าว มีสามระดับด้วยกัน คือ ระดับพี่น้องที่ร่วมสายโลหิตหรือร่วมผีเรือนเดียวกัน (kwvtij koom pog koom yawg หรือ kwvtij thooj dab koom qhua) เป็นกลุ่มพี่น้องที่ยังสามารถสืบทอดกลับไปหาบรรพบุรุษคนเดียวกันได้ และมีรายละเอียดของพิธีกรรมสำคัญเป็นแบบเดียวกัน ระดับที่สองเป็นพี่น้องร่วมแซ่ตระกูล จากตำนานและนิทาน เชื่อกันว่าคนที่มีแซ่เดียวกันคือพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน (kwvtij ib lub xeem) แม้พวกเขาจะไม่รู้จักกันมาก่อนหรือไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกันใดๆ มาก่อน เพียงแต่เป็นคนในแซ่ที่เหมือนกัน และระดับที่สาม เป็นความสัมพันธ์ระหว่างแซ่ นั่นคือคนที่ไม่มีแซ่เดียวกันก็สามารถเป็นเครือญาติกันได้โดยผ่านการแต่งงาน ดังคำพูดของชาวม้งในพิธีแต่งงานที่ว่า “การแต่งงาน ไม่ใช่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับชายเพียงสองคน หรือระหว่างสมาชิกในสองครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสองตระกูล” ทั้งนี้ ข้อห้ามที่สำคัญคือไม่ให้หนุ่มสาวที่ร่วมแซ่เดียวกันแต่งงานกัน  อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะสืบเชื้อสายของแต่ละตระกูลต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ดังนั้น เมื่อแต่งงานกันแล้วฝ่ายหญิงจะย้ายเข้าไปอยู่บ้านของฝ่ายชายและนับถือผีเรือนกับเป็นสมาชิกของตระกูลฝ่ายชายระบบสายสัมพันธ์ทางเครือญาติดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดหรือตัวจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของคนม้งในสังคมเป็นสำคัญ ความสัมพันธ์ในสามระดับข้างต้นจะนำมาสู่ความรับผิดชอบและช่วยเหลือกันและกันทั้งในเรื่องพิธีกรรมและด้านอื่นๆ ในชีวิตประจำวันที่แตกต่างกันออกไปด้วย

              ปัจจุบันความผูกพันและความสำคัญของระบบแซ่ตระกูลในสังคมม้งในไทยเริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่มีวิถีชีวิตแบบคนในเมือง และคนที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นแล้ว ที่สำคัญคือชื่อแซ่ของม้งได้เปลี่ยนมาเป็นระบบนามสกุลม้งแบบไทยมากขึ้น คนแซ่เดียวกันกลายเป็นคนที่มีนามสกุลหลากหลายตามระบบกฎหมายและเอกสารการขึ้นทะเบียนของทางราชการ จึงอาจเป็นการยากที่ลูกหลานในรุ่นต่อๆ ไป จะรู้แซ่ตระกูลม้งที่แท้จริงของตนเอง  และนำไปสู่การแต่งงานของคนม้งรุ่นใหม่ที่อยู่ในแซ่เดียวกันโดยไม่รู้ตัวดังกรณีศึกษาสองวัยรุ่นม้งแซ่หลี่โดยประสิทธิ์ ลีปรีชา (2560) ที่ทั้งสองคบกันและมีลูกกันโดยมีไม่รู้ว่าตนเองกำลังฝ่าฝืนกับกฎระเบียบจารีต เพราะพ่อแม่แซ่เดียวกันทั้งสองฝ่ายต่างได้เปลี่ยนเป็นนามสกุลไทยที่แตกต่างกันออกไป นี่เป็นสถานการณ์หนึ่งที่คนม้งรุ่นใหม่ในปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่

              การสืบทอดความเชื่อ พิธีกรรม และมรดก

              ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สังคมม้งเป็นสังคมที่สืบทอดความเชื่อ พิธีกรรมและมรดกผ่านทางฝ่ายผู้ชายเป็นหลัก โดยเฉพาะการทำพิธีสึก๊า (teev xwmkab) หรือผีเรือน ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นแผ่นกระดาษติดที่ฝาบ้านซึ่งอยู่ตรงข้ามกับประตูพิธีกรรม กับการบูชาบรรพบุรุษ และการรับมรดกที่เป็นที่ดิน บ้านเรือนที่อยู่อาศัยและของมีค่าอื่นๆ กระนั้นก็ตาม ความเชื่อและพิธีกรรมอย่างอื่นก็สามารถสืบทอดผ่านทางผู้หญิงด้วย เช่น การเข้าทรง (ua neeb) ผียาสมุนไพร (dab tshuaj) และพิธีกรรมย่อยอื่นๆ  ส่วนการสืบทอดมรดกในปัจจุบันก็เปลี่ยนไปด้วย โดยเฉพาะทรัพย์สินที่เป็นเงินทอง หากพ่อแม่มีมากก็จะแบ่งให้ลูกสาวซึ่งแต่งงานและออกไปเป็นสมาชิกในแซ่ตระกูลของสามีแล้ว  สำหรับกรณีที่เป็นคริสเตียน การสืบทอดมรดกยังคงคล้ายกับครอบครัวที่นับถือผีบรรพบุรุษ แต่การสืบทอดความเชื่อและพิธีกรรมแบบม้งนั้นไม่มีแล้ว

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง :

              เสื้อผ้าและการแต่งกาย 

              หากจำแนกคนม้งในประเทศไทยตามลักษณะการแต่งงาย สามารถจำแนกได้ออกเป็นสองกลุ่มกล่าวคือ ม้งเด๊อ (ม้งขาว) และม้งจั้ว (ม้งเขียว) ย้อนหลังไปประมาณสองทศวรรษ การแต่งกายของสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของลายผ้าปักและสีของเสื้อผ้า

              ความแตกต่างในแง่ของลายผ้าปัก งานฝีมือในด้านนี้ของม้งเด๊อจะเน้นที่การตัดและต่อผ้าเป็นรูปทรงต่างๆ ควบคู่กับการใช้ด้ายสอยตกแต่งเป็นลวดลายต่างๆ ที่มีความละเอียดและประณีตมากกว่าม้งจั้ว รวมทั้งยังมีการปักแบบ cross stick เช่นเดียวกับม้งจั้ว ลวดลายต่างๆ  ที่ถูกสอยและปักลงบนผืนผ้าชิ้นส่วนต่างๆ นี้ จะนำไปประกอบกับชุดเสื้อผ้าที่เป็นหมวก เสื้อ กางเกง กระโปรง ผ้าคาดเอว ผ้าบังหน้าและหลัง ฯลฯ 

              หากเป็นม้งเด๊อ หญิงจะใส่กระโปรงสีขาว (ที่มาของ “ม้งเด๊อ” หรือม้งขาว) และนิยมใส่กางเกงขายาวสีน้ำเงินเช่นเดียวกันกับผู้ชาย มีผ้าคาดเอวที่ปล่อยชายห้อยลงมาต่ำกว่าหัวเข่า ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง  ในขณะที่ผู้ชายสวมกางเกงขาทรงกระบอก เป้าสั้น มีเพียงผ้าคาดเอวที่ห้อยชายลงมาสั้นเหนือหัวเข่า เฉพาะด้านหน้าเท่านั้น เช่นเดียวกันกับชายม้งจั้ว สีกางเกงและเสื้อของชายม้งจั้วส่วนใหญ่เป็นสีดำ เป้ายาว ขากางเกงทรงเรียวลงมาหุ้มถึงตาตุ่ม  ผ้าคาดเอวปล่อยชายลงด้านหน้าถึงเหนือหัวเข่าเช่นกัน ส่วนกระโปรงหญิงม้งจั้วส่วนใหญ่เป็นสีน้ำเงินที่ได้มาจากคราม บ้างจึงเรียกม้งจั้วว่า “ม้งน้ำเงิน”  หลังจากการย้อมครามแล้วก็เอาผ้าสีสันต่างๆ มาเย็บติดกับผ้าครามนี้จนเกิดเป็นกระโปรงที่มีลวดลายและสีสันหลากหลายตระการตา จนคนนอกกลุ่มชาติพันธุ์นิยมเรียกม้งเขียวว่าเป็น “ม้งลาย” ตามสีสันของกระโปรงผู้หญิง

              แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่โดยภาพรวมแล้วทั้งสองกลุ่มในอดีตต่างปลูกและผลิตเสื้อผ้าจากพืชที่เรียกว่ากัญชง (maj/ maaj) กัญชงสำหรับคนม้งแล้วไม่ใช้พืชเสพติด แต่เป็นพืชที่มีคุณค่าและความหมายต่อชีวิตทั้งในมิติทางวัฒนธรรมและการใช้ประโยชน์ เมื่อมีคนเสียชีวิตต้องมีชุดเสื้อผ้าและรองเท้าคนตายที่ทำด้วยเส้นใยกัญชง เพราะความเชื่อและบทสวดในพิธีศพนั้น การมีเส้นใยกันชงเท่านั้นจึงจะนำพาวิญญาณผู้ตายให้สามารถเดินทางไปอยู่ร่วมกับบรรพบุรุษได้  

              อย่างไรก็ตาม ช่วงประมาณสองทศวรรษที่ผ่านมานี้เครื่องแต่งกายของม้งสองกลุ่มย่อยข้างต้นได้เปลี่ยนไปมาก ทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้สวมใส่ได้อีกต่อไปว่าเขาคือม้งกลุ่มใด เนื่องจากทั้งสองกลุ่มต่างมาหยิบยืมชุดของกันและกันมาสวมใส่ และที่สำคัญคือชุดที่สวมใส่นั้นก็มีการดัดแปลงประยุกต์ไปตามแฟชั่นของยุคสมัยด้วย บางชุดนั้นยากที่จะบอกได้ว่าเป็นชุดม้งจริงๆ ดังภาพที่ผู้เขียนนำเสนอข้างล่างนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างสรรค์ต่อเติมงานหัตถกรรมเดิมของม้งให้มีความทันสมัยมากขึ้นและถูกกับรสนิยมของคนม้งรุ่นใหม่มากขึ้น และที่สำคัญชุดต่างๆ เหล่านี้เองก็ไม่ได้เกิดจากจากการตัดเย็บของหญิงม้งในแต่ละครอบครัวอีกต่อไป แต่กลายเป็นธุรกิจ เป็นอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าชุดม้งที่มีนักธุรกิจลงทุนใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกแบบแล้วปักเย็บด้วยเครื่องจักรไฟฟ้า ผลิตชุดแบบเดียวกันในปริมาณมาก  ดังตัวอย่างของภาพด้านล่างนี้ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนนำมาจากร้านค้าออนไลน์ของม้งซิสเตอร์ (Hmong Sister)

              สังคมม้งในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย คนรุ่นใหม่เดินทางระหว่างหมู่บ้านกับในเมืองมากขึ้น ประกอบกับอากาศที่ร้อนขึ้น การปรับตัวด้านการแต่งกายจึงเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมและสภาพแวดล้อม สามารถหาซื้อเสื้อผ้าทั่วไปจากตลาดในพื้นราบได้ง่ายขึ้นด้วย ดังนั้น หากไม่ใช่ในเทศกาลปีใหม่แล้ว แทบจะไม่เห็นคนม้งแต่งชุดม้งในชีวิตประจำวันในหมู่บ้านม้งอีกแล้ว ยกเว้นเพียงคนวัยสูงอายุบางคนในหมู่บ้านเท่านั้น ส่วนใหญ่สวมใส่ชุดปกติธรรมดาทั่วไปที่มีอยู่ตามท้องตลอดแทน แต่หากมีเทศกาลปีใหม่ ผู้คนก็ยังคงนิยมใส่ชุดประจำชาติพันธุ์ของตนเอง

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง :

              ที่อยู่อาศัย 

              ก่อนทศวรรษ 2510 ชุมชนม้งทั้งหมดตั้งอยู่บนภูเขาสูง อยู่กับธรรมชาติ และมักมีการโยกย้ายถิ่นฐานบ่อยๆ ภายหลังจากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการทำการเพาะปลูกลดน้อยลงไป บริบทดังกล่าวนำมาสู่การมีลักษณะบ้านเรือนม้งที่ปลูกคร่อมอยู่บนพื้นดิน บ้านม้งในอดีตใช้วัสดุที่ได้จากธรรมชาติในการสร้างบ้าน เช่น  ไม้ ไม้ไผ่ หญ้าคา ดังภาพเป็นต้น  นอกจากนั้นยังสะท้อนถึงลักษณะโลกทัศน์ทางความเชื่อของม้งได้เป็นอย่างดี หลังคาบ้านเปรียบเสมือนกับโลกของสวรรค์  พื้นดินลงไปเป็นพื้นที่อยู่ของโลกธรรมชาติ ส่วนระหว่างหลังคากับพื้นดินนั้นเป็นโลกของมนุษย์หรือโลกของชีวิตสังคม แทบจะทุกส่วนและทุกมุมบ้านเป็นที่สถิตของเทพเทวา (Tapp 1989) กล่าวคือ ภายในบ้านจะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อยู่ 4 แห่ง คือ ประตูทางเข้าหลัก เสากลางบ้าน ผนังบ้านที่ตรงข้ามกับประตูหลักซึ่งมีหิ้งบูชาติดผนังอยู่ และเตาไฟใหญ่

              ปัจจุบันลักษณะบ้านของม้งส่วนใหญ่ได้ปรับเปลี่ยนไปมาก ทั้งหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขาสูงและหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นราบ ด้วยเพราะการเป็นหมู่บ้านถาวร กับการเข้าถึงวัสดุก่อสร้างที่สามารถซื้อมาจากในเมือง ดังนั้น สำหรับครัวเรือนที่พอมีฐานะก็ได้สร้างบ้านใหม่ที่เปลี่ยนไปทั้งรูปทรง ขนาด และวัสดุที่ใช้สร้างก็เปลี่ยนไปแล้ว  บ้างครัวเรือนมีบ้านสองหลังกล่าวคือ หลังแรกเอาไว้เป็นที่หลับนอนและอีกหลังเป็นบ้านที่สร้างตามแบบม้ง เอาไว้สำหรับประกอบพิธีกรรมและหุงหาอาหาร ส่วนบางครัวเรือนก็มีบ้านหลังเดียวขนาดใหญ่ที่มีลักษณะตามแบบบ้านดั้งเดิมที่ใช้วัสดุเป็นเหล็ก กระเบื้อง สังกะสี อิฐ กระเบื้องปูพื้นและซีเมนต์  ประการสำคัญคือ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มุมต่างๆ ของบ้านจากเดิมที่เป็นส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์กับความจำเป็นในการใช้ประโยชน์ภายในบ้าน ปัจจุบันแม้จะกิจกรรมและพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านจะเปลี่ยนไป แต่คนม้งที่นับถือบรรพบุรุษและผีเรือนก็ยังคงไว้ซึ่งสัญลักษณ์บางอย่างเอาไว้ เช่น ปัจจุบันครัวเรือนม้งหันมาใช้แก๊สเพื่อหุงต้มโดยส่วนใหญ่แล้ว แต่ก็ยังต้องนำเตาไฟไปวางตั้งไว้เพื่อเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมด้วย

     

    ตัวอย่างบ้านม้งในอดีต

    ที่มา : http://www.ourweb.info/01/photos/laos/011/index10.shtml

     

  • อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง :

              อาหาร 

              สภาพแวดล้อมที่อยู่กับธรรมชาติและเป็นสังคมที่พึ่งพาตนเองในอดีต ทำให้อาหารที่คนม้งรับประทานในชีวิตประจำวันมีลักษณะเรียบง่าย รับประทานข้าวกับผัก น้ำพริก และเนื้อสัตว์บ้าง วัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารส่วนใหญ่ได้มาจากการผลิตเองส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งได้มาจากพืชทางธรรมชาติ  นิยมปรุงอาหารอาหารด้วยวิธีการต้ม  โดยทั่วไปแล้วชนิดของอาหารที่เตรียมไว้สำหรับแต่ละมื้อไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เน้นผักต้มกับน้ำมันหมูเป็นหลัก หรือไม่ก็ถ้าหากมีเนื้อสัตว์สามารถต้มใส่ผักได้ เนื้อสัตว์ที่ได้ส่วนใหญ่มาจากสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงไว้ทำพิธีกรรมต่างๆ ในรอบปี  นอกเหนือจากนี้ม้งมักจะปลูกข้าวสาลี อ้อย กล้วย แตงกวา และแตงไทยตามไร่ไว้รับประทานเป็นของว่างด้วย  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนม้งได้ติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนในพื้นราบมากขึ้น การขับรถเข้าไปซื้อหาอาหารยังตลาดในชุมชนพื้นราบสะดวกขึ้น รวมทั้งมีพ่อค้าแม้ค้านำอาหารสดและอาหารแห้งจากในเมืองเข้ามาขายในหมู่บ้านมากขึ้น นำมาสู่การปรับเปลี่ยนวัตถุดิบในการทำอาหาร วิธีการปรุงรสอาหาร และค่านิยมในการบริโภคอาหารให้เป็นไปตามกระแสการบริโภคหลักของสังคมไทย ทำให้แต่ละมื้ออาหารของพวกเขาในปัจจุบันส่วนหนึ่งก็เป็นอาหารของกลุ่มอื่นด้วย

              สำหรับมื้ออาหารที่ใช้ในการเลี้ยงแขกในงานสำคัญนั้น ย่อมมีความแตกต่างจากอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวันวัน งานสำคัญอย่างงานปีใหม่ งานแต่งงาน งานเปลี่ยนชื่อ งานศพ หรืองานเลี้ยงญาติที่อาจเป็นญาติของภรรยาที่มาเยี่ยมหรือฝ่ายญาติทางสามี เจ้าบ้านมักจะจัดเลี้ยงแขกด้วยเนื้อสัตว์ล้วน โดยไม่มีการผสมผักลงไป นอกจากนั้นแล้วในกลุ่มผู้ชายยังมีการนำเอาเหล้าชั้นดีมาเลี้ยงผู้มาเยือนด้วย การเลี้ยงแขกคนสำคัญด้วยเนื้อสัตว์และเหล้าซึ่งเป็นอาหารและเครื่องดื่มที่มีราคาแพงแสดงถึงการให้ความสำคัญกับแขกของเจ้าบ้าน โดยวิธีการรับประทานนั้น จะให้เกียรติแก่ฝ่ายชายและผู้ร่วมกินดื่มที่เป็นชายให้รับประทานอาหารบนโต๊ะหลักก่อน หลังจากนั้นฝ่ายถึงจะเชิญแขกฝ่ายหญิงนั่งรับประทานด้วยกันต่อจากฝ่ายชาย หรือหากมีสถานที่และถ้วยชามเพียงพอ พวกเธอก็สามารถที่แยกโต๊ะรับประทานอาหารเองในเวลาเดียวกับกลุ่มผู้ชายได้

              สำหรับเมนูอาหารที่นับได้ว่ามีความเป็นเอกลักษณ์และหาทานได้ยากในชีวิตประจำวันของม้งในปัจจุบันนั้น ผู้เขียนจะกล่าวถึงเป็นตัวอย่างเฉพาะสองเมนูเท่านั้นคือ ไก่ต้มสมุนไพร และจั๋วหรือข้าวปุก ซึ่งแต่ละเมนูนั้น มีขั้นตอนและวิธีการที่ทำอย่างเรียบง่าย ทว่าสิ่งที่ยากนั้นคือ พืชผักสมุนไพรที่ไม่ได้มีจำหน่ายตามท้องตลาด และอุปกรณ์ในการใช้ทำโดยเฉพาะเมนูขนมข้าวปุกนั้น ยากยิ่งที่จะหาอุปกรณ์มาทำไว้รับประทานในช่วงนอกเทศกาลปีใหม่

              ไก่ต้มสมุนไพร

    เมนูนี้ดัดแปลงมาจากยาหม้อสมุนไพรที่แม่หมอสมุนไพรในหมู่บ้านมักจะจัดให้กับคนที่ร่างกายขาดความสมดุลของธาตุต่างๆ ซึ่งผักที่นำมาต้มใส่ลงกับไก่นั้นล้วนแล้วแต่เป็นพืชสมุนไพรทั้งสิ้น  ฉะนั้นนอกจากเมนูนี้เป็นอาหารแล้ว ยังเป็นยาสมุนไพรไปภายในตัวด้วย  สำหรับชื่อสมุนไพรที่นำมาทำอาหารจานนี้ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด ตามชื่อที่ศูนย์พัฒนาการแพทย์แผนไทยอากาเป้จังหวัดเชียงใหม่ (Silavit Trakantrakul 2561) ได้ทำการสำรวจชื่อแล้วคือ 1.ว่านท้องใบม่วง พญาวัวแดง (tsog nyuj liab) 2.ว่านใบเขียว พญาวัวเขียว (tsog nyuj ntsuab) 3.โสมจีนโบราณ (tshab xyoob) 4.จิงจูฉ่าย (ko taw os) 5.สันพร้าหอม (ntsej nrhua ntuag) 6.ผักเป็ดแดง (nkaj qaib cheeb) 7.ผักแพวแดง (ib qaib liab) 8.ผักแพวลาย (ib qaib txaij) 9.พริกไทยดำบด (hwj txob)

     

    ไก่ต้มสมุนไพร

    ที่มา : สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.เชียงใหม่ 2554,

    http://www.ndoae.doae.go.th/article2010/2011009.html

     

              ข้าวปุก หรือจั๋ว    

    ขนมนี้นิยมทำและรับประทานกันในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ ซึ่งคนม้งมักจะมีการทำขนมนี้ก่อนที่จะขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนม้ง ขนมนี้นอกจากจะทำขึ้นมาเพื่อใช้รับประทานกันแล้ว ส่วนหนึ่งยังต้องนำมาปั้นเป็นรูปสัตว์เลี้ยงต่างๆ โดยเฉพาะแม่ไก่กับลูกไก่ หมูกับลูกหมู และวัวควายกับลูก แล้วนำไปเป็นส่วนหนึ่งที่วางไว้บริเวณด้านหน้าโต๊ะหรือหิ้งที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมวันขึ้นปีใหม่ด้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าผลผลิตของสัตว์เลี้ยงในปีต่อไปนั้นมีเพิ่มพูนมากขึ้น

    ขนมดังกล่าวทำมาจากข้าวเหนียวดำหรือขาวก็ได้ ซึ่งหากเป็นข้าวเหนียวดำก็จะอร่อยกว่า ข้าวเหนียที่ว่านี้จะถูกนำไปนึ่งให้มีความนิ่มมากกว่าข้าวเหนียวที่ใช้รับประทานปกติ จากนั้นก็จะนำข้าวเหนียวนี้ไปเทลงในภาชนะที่จะใช้ตำข้าวเหนียวหรืออาจเรียกได้ว่ารางไม้ขนาดใหญ่พร้อมไม้ตำสองด้ามที่ใช้กำลังคนอย่างน้อยสองคนช่วยกันตำข้าวเหนียวในรางไม้นี้จนละเอียด แล้วปั้นเป็นชิ้นแบนก่อนใช้ใบตองสดห่อและรีดให้แบน พร้อมที่จะนำไปปิ้งไฟเพื่อรับประทานต่อไป โดยปกติแล้วขนมนี้จะไม่มีส่วนประกอบอื่นใดนอกจากข้าวเหนียว ฉะนั้น เพื่อให้มีรสชาติในการรับประทาน จึงนำไปจิ้มน้ำอ้อย นมสด หรือน้ำผึ้ง