2023-06-15 20:03:31
ผู้เข้าชม : 25797

ม้ง ประวัติศาสตร์ต้นกำเนิดของคนม้ง สันนิษฐานจากการตีความตำนาน เรื่องเล่า บันทึก ประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรม และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม สามารถแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1) มีต้นกำเนิดมาจากดินแดนขั้วโลกเหนือ อพยพผ่านไซบีเรียและมองโกเลียเข้ามายังตอนเหนือของจีน 2) มีต้นกำเนิดอยู่ในมองโกเลียในปัจจุบัน 3) เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในบริเวณทะเลเหลืองของประเทศจีน  ได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยช่วงศตวรรษที่ 19 เดิมชาวม้งมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติด้วยการปลูกพืชพื้นบ้านและเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีพในการปลูกพืชเชิงพานิชย์เพื่อตอบสนองระบบตลาด นอกจากนี้ ชาวม้งบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงอาชีพหันไปค้าขายและเป็นผู้ประกอบการในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ม้ง
ชื่อเรียกตนเอง : ม้ง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : เหมียว, แม้ว
ตระกูลภาษา : ม้ง-เมี่ยน
ตระกูลภาษาย่อย : ม้ง (แม้ว)
ภาษาพูด : ม้ง
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน

ม้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ข้ามชาติ พวกเขามักเรียกตนเองว่า “ม้ง” ซึ่งความหมายนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ทั้งในหมู่คนม้งด้วยกันเองหรือแม้กระทั่งนักวิชาการ ส่วนชื่อที่คนอื่นใช้เรียกม้งนั้นมีสองชื่อด้วยกันคือ “เหมียว” และ “แม้ว” ซึ่งในมุมของคนม้งแล้ว คำทั้งสองนี้มีความหมายที่แตกต่างกันและแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แตกต่างกัน โดยคำหลังนั้นเป็นคำที่คนอื่นในเอเชียอาคเนย์และชาวตะวันตกใช้เรียกคนม้งและมีนัยของความเป็นอื่นที่เชื่อมโยงกับเสียงของแมวแฝงอยู่ ทำให้คนม้งไม่ชอบ ในขณะที่คำแรกนั้นเป็นคำที่ใช้เรียกม้งในจีนซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาจีนและมีความหมายสัมพันธ์กับการเป็นคนพื้นเพดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับชาวจีนมายาวนาน และพวกเขาไม่ได้ปฎิเสธแต่อย่างใด

ในอดีตม้งอาศัยอยู่เฉพาะในดินแดนปัจจุบันที่เป็นประเทศจีนในปัจจุบัน แต่ภายหลังส่วนหนึ่งซึ่งถือเป็นส่วนน้อยของประชากรได้อพยพเคลื่อนย้ายถิ่นมายังภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ในห้วงคริสต์วรรษที่ 19 ด้วย มากไปกว่านั้น ในช่วงหลังสงครามเย็นก็มีชาวม้งจากประเทศลาวหลายหมื่นคนที่อพยพลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ตามประเทศในแถบตะวันตกด้วย และปัจจุบันคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งก็เดินทางไปศึกษาต่อและแต่งงานข้ามชาติกับพลเมืองประเทศต่างๆ ด้วย ทำให้คนม้งปัจจุบันนั้นอยู่กระจัดกระจายอยู่บนโลกใบนี้เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น กระนั้นก็ตามจำนวนประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดก็ยังคงถือว่าอยู่ในประเทศจีนเป็นหลัก ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยนั้น ม้ง ตั้งชุมชนกระจายอยู่ตามพื้นที่รอบนอกเมืองใน 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย กำแพงเพชร ตาก และกาญจนบุรี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าม้งจะตั้งชุมชนมายาวนานไม่ต่ำกว่าสองทศวรรษ แต่ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับวัฒนธรรมกระแสหลัก คนม้งถูกจดจำเฉพาะในแง่ความเป็นอื่นในสังคมไทยเสมอ นักวิชาการวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ยังมีภาพจำที่เป็นอื่นต่อคนม้งในสังคมไทยนั้นมาจากวาทกรรมสี่ประเด็น คือ ประเด็นแรกเรื่อง ม้งกับยาเสพติดโดยเฉพาะภาพจำเกี่ยวกับการปลูกผฝิ่น ประเด็นที่สองเรื่อง การทำเกษตรบนพื้นที่สูงที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่สามเรื่องความมั่นคง และประเด็นสุดท้ายเรื่อง ชาวเขาทำมาหากินในเขตป่าและยากจนวาทกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความเข้าใจคนม้งแต่ในภาพเชิงลบและเป็นที่มาของความพยายามในการหลบหลีกความเป็นม้งหรือปิดบังตัวตนทางชาติพันธุ์ของคนม้งในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

ด้วยวาทกรรมข้างต้น ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจอัตลักษณ์ของคนม้งในเชิงลบไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม หากจะต้องอธิบายว่า แล้ว “คนม้งมีตัวตนเป็นอย่างไร” อาจต้องพูดถึงบริบทเป็นสำคัญ เพราะความเป็นจริงคือ ไม่อาจจะเหมารวม (generalize) ตัวตนคนม้งได้เป็นเพียงแค่แบบเดียวได้ เพราะม้งในแต่ละพื้นที่ชุมชนเผชิญกับสภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในรูปแบบที่มีความเข้มข้นแตกต่างกัน สภาพแวดล้อมเหล่านี้จะเป็นตัวกำกับหรือกำหนดการแสดงตัวตนทางชาติพันธุ์ของคนม้งเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวถึงอัตลักษณ์แบบผิวเผินเมื่อพูดถึงคนม้งในไทยทั่วไปจากทัศนะและความเข้าใจของคนนอกแล้ว คนม้งมักจะถูกเข้าใจและถูกจัดความสัมพันธ์ให้เป็น “ชนเผ่า” และ “ชาวเขา” ซึ่งมีนัยของความเป็นคนป่าเถื่อนและด้อยการพัฒนา ซึ่งตรงข้ามกับความรู้สึกของม้งที่พวกเขากลับรู้สึกว่าตนเป็น “ชนชาติ” หนึ่งที่เคยมีดินแดนและกษัตริย์ของตนเองมาก่อน มีระบบความเชื่อ ภาษา เครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี และเทศกาลหรือประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำรงชีพของพวกเขาที่โดดเด่นและแตกต่างจากกลุ่มอื่น (ดังรายละเอียดที่กล่าวไว้ในแต่ละส่วน) ประเด็นต่างๆ ที่ปรากฏในงานชิ้นนี้จึงน่าจะพออธิบายลักษณะตัวตนของคนม้งได้ระดับหนึ่ง

ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแหล่งต้นกำเนิดของคนม้ง จากการสันนิษฐานที่ได้มาจากการตีความตำนาน เรื่องเล่า บันทึก ความเชื่อกับพิธีกรรม และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับตัวพื้นที่กายภาพและผู้คน เผยให้เห็นถึงสามแนวคิดหลักเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ดังนี้

แนวคิดแรก สันนิษฐานว่า ม้งน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากดินแดนขั้วโลกเหนือ โดยอพยพผ่านไซบีเรียและมองโกเลียเข้ามายังดินแดนทางตอนเหนือของจีน จากนั้นลงมายังทางใต้ของจีน และต่อมาภายหลังส่วนหนึ่งเดินทางออกไปตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือที่ปัจจุบันเป็นประเทศเวียดนาม ลาว พม่า และไทย ดังสะท้อนอยู่ในงานของมิชชันนารีตะวันตกชื่อ Savina ซึ่งแนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อการศึกษาของนักวิชาการรุ่นหลังอย่าง Quincy และคนอื่นๆ อย่างมากที่พยายามอธิบายว่าตัวตนม้งผ่านลักษณะกรรมพันธุ์ที่คล้ายกับคนผิวขาวในยุโรปที่มีผมสีบรอนและนัยน์ตาสีฟ้า

แนวคิดที่สอง สันนิฐานว่าต้นกำเนิดของม้งอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศมองโกเลียปัจจุบัน โดยอ้างอิงจากตำนานที่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงม้งคนหนึ่งชื่อ “เม่าเก้าเลีย” หรือ “มองโกเลีย” ที่ไม่กลัวสิ่งอันตรายใดๆ จนเป็นที่น่ายกย่องและนำมาสู่การเรียกชื่อพื้นที่ที่เด็กหญิงม้งคนนั้นอยู่ว่า “มองโกเลีย” เหตุนี้จึงมีการสันนิฐานว่าม้งมีถิ่นกำเนิดในประเทศมองโกเลียปัจจุบัน

และแนวคิดสุดท้าย สันนิษฐานว่า ม้งเป็นชนดั้งเดิมในจีน (aboriginal Chinese) โดยแรกเริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ทางด้านตะวันออกของทะเลเหลือง จากนั้นได้เคลื่อนย้ายทำมาหากินตามแม่น้ำฮวงโหเข้ามาสู่บริเวณที่เป็นภาคกลางของจีน ต่อมาถูกรุกรานจากชาวมองโกลจึงได้อพยพลงมายังทางตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งปัจจุบันเป็นมณฑลเสฉวน กวางสี และยูนนาน ทั้งนี้ ภายหลังช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เกิดสงครามการต่อต้านรัฐบาลส่วนกลางปักกิ่งที่ทำการขูดรีดและการเก็บภาษีสูงจากกลุ่มผู้มีอำนาจในจีน ส่งผลให้ม้งส่วนหนึ่งได้อพยพออกจากดินแดนในจีนเข้ามายังพื้นที่บริเวณแถบอินโดจีนเพื่อการตั้งถิ่นฐานและการทำมาหากินใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศเวียดนาม ลาว พม่า และไทย (ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2549)

ม้งเป็นชนดั้งเดิมในจีน (aboriginal Chinese) โดยแรกเริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ทางด้านตะวันออกของทะเลเหลือง จากนั้นได้เคลื่อนย้ายทำมาหากินตามแม่น้ำฮวงโหเข้ามาสู่บริเวณที่เป็นภาคกลางของจีน ต่อมาถูกรุกรานจากชาวมองโกลจึงได้อพยพลงมายังทางตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งปัจจุบันเป็นมณฑลเสฉวน กวางสี และยูนนาน ทั้งนี้ ภายหลังช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 เกิดสงครามการต่อต้านรัฐบาลส่วนกลางปักกิ่งที่ทำการขูดรีดและการเก็บภาษีสูงจากกลุ่มผู้มีอำนาจในจีน ส่งผลให้ม้งส่วนหนึ่งได้อพยพออกจากดินแดนในจีนเข้ามายังพื้นที่บริเวณแถบอินโดจีนเพื่อการตั้งถิ่นฐานและการทำมาหากินใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศเวียดนาม ลาว พม่า และไทย (ประสิทธิ์ ลีปรีชา 2549)

ปัจจุบันมีหมู่บ้านม้งอยู่กระจายตามพื้นที่รอบนอกเมืองของจังหวัดต่างๆ ถึง 15 จังหวัดทางภาคเหนือด้วยกัน คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย กำแพงเพชร ตาก และจังหวัดกาญจนบุรี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนม้งจะอยู่แต่เฉพาะในชุมชนของตนเท่านั้น ปัจจุบันประชากรม้งนั้นได้เคลื่อนเข้ามาตั้งถิ่นฐานร่วมกับชุมชนเมืองต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเชียงใหม่ เป็นต้น รวมถึงบางส่วนที่เดินทางไปเป็นแรงงานและศึกษาต่อในต่างประเทศ ทั้งนี้ แม้ม้งจะเข้าอยู่ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานกว่าสองศตวรรษแล้วก็ตาม แต่ด้วยความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมกับวัฒนธรรมกระแสหลัก ทำให้ม้งถูกบันทึกและจดจำกันเฉพาะในแง่ของความเป็นคนอื่นในสังคมไทย (the other within) มาโดยตลอด และยิ่งไปกว่านั้นสำนึกของคนม้งเองส่วนใหญ่ก็ยอมรับและเข้าใจว่าตนเองเป็นคนอื่นจริงๆ ในสังคมไทย นักวิชาการเห็นว่าสาเหตุที่สังคมไทยมองคนม้งเป็นคนอื่นนั้นเกิดขึ้นจากวาทกรรมที่มีต่อม้งสี่ประการคือ ประการแรก ม้งกับยาเสพติดที่รัฐมักจะเหมารวมให้คนม้งเกี่ยวข้องกับฝิ่นนับแต่อดีตมาจนปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าและเสพยาเสพติด ประการที่สอง ม้งกับระบบการเกษตรที่เป็นการทำลายป่าและสิ่งแวดล้อม ประการที่สาม ม้งกับการการทำลายความมั่นคงของชาติ (Mark 1973 และ Tapp 1986) และประการสุดท้าย ม้งกับความเป็น “ชาวเขา” และ “ชนเผ่า” ที่อาศัยอยู่ตามป่าเขาเร่รอนทำมาหากินและมีความยากจน วาทกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความเข้าใจคนม้งแต่ในภาพเชิงลบและเป็นที่มาของความพยายามในการหลบหลีกความเป็นม้งหรือปิดบังตัวตนทางชาติพันธุ์ของคนม้งเองในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่

จากการรวบรวมของกองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในหนังสือชื่อ “ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัดของประเทศไทย ประจำปี 2559” ระบุว่า ชุมชนชาติพันธุ์ม้งจํานวนทั้งหมด 269 ชุมชน 29,515 หลังคาเรือน 40,863 ครอบครัว ประชากรรวมทั้งสิ้น จํานวน 207,151 คน โดยจังหวัดที่มีประชากรม้งอาศัยอยู่มากที่สุดอยู่ที่ตาก จํานวน 54,617 คน คิดเป็นร้อยละ 26.36 รองลงมาคือ จังหวัดเชียงราย จํานวน 31,963 คน คิดเป็นร้อยละ 15.42 และจังหวัดน่าน จํานวน 31,037 คน คิดเป็นร้อยละ 14.98 และจังหวัดที่มีม้งอาศัยอยู่น้อยที่สุดคือที่จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 149 คน (กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวขา, 2559: 13) ซึ่งตัวเลขต่างๆ ข้างต้นผู้เขียนเห็นว่าอาจมีความคาดเคลื่อนได้ เพราะปัจจุบันคนม้งมิได้อาศัยอยู่เฉพาะในชุมชนดังกล่าวอย่างเดียว บางส่วนได้เข้ามาซื้อที่ดินและสร้างบ้านหรือสร้างชุมชนเล็กๆ อยู่ในเมืองด้วย รวมถึงส่วนหนึ่งก็มีการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น และเคลื่อนย้ายไปพื้นที่อื่นๆ ด้วย ตัวเลขข้างต้นจึงอาจเป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น

การดำรงชีพ

ในอดีตชาวม้งส่วนใหญ่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเพาะปลูกพืชพื้นบ้านและเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก โดยนอกเหนือจากการปลูกข้าว พืชผัก และข้าวโพดเลี้ยงการยังชีพแล้ว การปลูกฝิ่นถือเป็นพืชที่นำมาซึ่งรายได้หลักของคนม้ง และแม้รัฐจะมีการประกาศให้ฝิ่นเป็นพืชผิดกฎหมายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 แล้วก็ตาม แต่คนม้งส่วนใหญ่ก็ยังคงปลูกมาเรื่อยๆ จนกระทั่งราว พ.ศ. 2520 ที่ทางราชการเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น ประกอบกับมีโครงการพัฒนาพันธุ์พืชทดแทนฝิ่น เริ่มเข้าไปนำเสนอให้กับชุมชนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงด้วย ทำให้ชาวม้งเริ่มหันมาปลูกพืชผักและไม้ผลอย่างอื่นเข้ามาแทนที่ฝิ่นตามการส่งเสริมขององค์กรต่างๆ และตามกลไกลของตลาดนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาชีพเกษตรนั้นถือเป็นอาชีพหลักของคนม้งส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในห้วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ม้งในไทยหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการทำการเกษตร เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจ ข้าราชการ นักกิจกรรม นักวิชาการ และรับจ้างทั่วไป รายละเอียดแต่ละส่วนงานมีดังนี้

การทำการเกษตรของคนม้งในไทยปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือนอีกต่อไป มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงทำการผลิตข้าวไว้บริโภค แต่ส่วนใหญ่นั้นได้หันมาปลูกพืชเชิงพาณิชย์กันอย่างแพร่หลาย แล้วนำเงินที่ได้มานั้นไปซื้อข้าวและ พืชผักต่างๆ ที่ตนเองเคยปลูกไว้ตามไร่นาเพื่อบริโภคในครัวเรือนเมื่อครั้งอดีต ในปัจจุบันก็ไม่มีเวลาที่จะทำสิ่งเหล่านี้แล้ว และหันไปพึ่งพาอาหารจากตลาดเป็นหลัก เพราะพวกเขาได้ผันตนเองเข้ามาเป็นเกษตรกอย่างเต็มตัวที่มุ่งทำการผลิตเพื่อป้อนให้กับตลาดอย่างเดียว และเมื่อแรงงานในครอบครัวและชุมชนไม่เพียงพอ พวกเขาส่วนใหญ่จึงมีการว่าจ้างแรงงานข้ามชาติไม่ว่าจากประเทศเมียนมาหรือลาวเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตพืชผลทางการเกษตรด้วย ชุมชนม้งที่มีชื่อเสียงและทำการผลิตพืชผักเป็นจำนวนมากป้อนให้กับตลาดใหญ่ๆ ในประเทศไทย คือ ชุมชนม้งในเขตอำเภอพบพระและอำเภอแม่สอดในจังหวัดตาก ทำการผลิตผักกาดขาวเป็นจำนวนมากให้กับสถานประกอบการ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ชุมชนม้งในเขตอำเภอฮอดและแม่สะเรียงที่ทำการผลิตกะหล่ำปลีและผักกาดขาวให้กับบริษัทเทสโก้โลตัสที่ ชุมชนม้งในเขตอำเภอแม่ริมที่ทำการผลิตพืชผักตามความต้องการของโครงการหลวงและตลาดขายส่งในจังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนม้งในเขตอำเภอสะเมิง แม่แจ่ม และกัลยาณิวัฒนาที่ทำการผลิตกะหล่ำปลี ผักกาดขาว และผลไม้ตามฤดูกาล ป้อนให้กับพ่อค้าคนกลางตามตลาดขายส่งขนาดในจังหวัดต่างๆ ซึ่งในส่วนของการจัดจำหน่ายดังกล่าวนั้น ได้มีคนม้งรุ่นใหม่จำนวนมากที่หันเข้ามาเป็นทั้งผู้รับซื้อผลผลิตต่อจากเกษตรกรและมีแผงขายของตนเองตามตลาดขายส่งที่พร้อมกระจายสินค้าให้กับลูกค้ารายย่อยต่อไปด้วย

นอกจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรแล้ว ยังมีม้งส่วนหนึ่งที่ผันตนเองมาทำการค้าขายกับสินค้าหัตถกรรม เช่น ผ้าปัก เสื้อผ้าม้งประยุกต์ และเครื่องประดับต่างๆ ให้ทั้งกับคนม้งด้วยกันเองและคนนอกวัฒนธรรมด้วย ซึ่งขนาดของกิจกรรมเริ่มตั้งแต่การมีสถานประกอบการไปจนถึงการเป็นกิจการอุตสาหกรรมครัวเรือนขนาดเล็ก สถานประกอบการที่มีชื่อเสียงในการผลิตชุดม้งเครื่องแต่งกายสำหรับผู้บริโภคที่เป็นม้งได้แก่ บริษัทเยี่ยมจื้อวัฒนกิจ บริษัทปั้นดาววาณิช บริษัทเหมาฝัวแฟชั่นเทค และกิจการออนไลน์ของม้งซิสเตอร์ช้อป โดยสินค้าต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อจำหน่ายให้กับม้งไทยเท่านั้น แต่ยังมีการส่งออกไปยังเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่อยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และนอกเหนือจากการเป็นผู้ผลิตและจัดหน่ายสินค้าหัตถกรรมที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์แล้ว ก็มีคนม้งหลายคนที่ได้ก้าวเข้าไปสู่การทำการค้าที่มิได้เชื่อมโยงกับความเป็นชาติพันธุ์อีกด้วย ดังเช่น ธุรกิจการการทำตุ๊กตาเลซิ่น การผลิตปุ๋ย-ยา (บริษัทดีม้ง) การการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การผลิตและจำหน่ายชาและกาแฟ และการขาย “ไก่ทอดหาดใหญ่” ตามเมืองใหญ่ต่างๆ รวมถึงงานบริการด้านวิศวกรรมโยธา และการหันมา "เล่นหุ้น" เป็นอาชีพของกลุ่มคนม้งรุ่นใหม่

อาชีพข้าราชการที่คนม้งส่วนหนึ่งที่ได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป เช่น ครู อาจารย์ แพทย์ พยาบาล ตำรวจ ทหาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวม้งบางส่วนจะได้รับการศึกษาในระดับสูงก็ตาม แต่อาจไม่เลือกเข้าสู่อาชีพรับราชการ และหันมาประกอบอาชีพที่มีความเป็นอิสระแทนเช่น นักวิชาการ ทนายความ และนักธุรกิจข้ามชาติ เป็นต้น

สำหรับชุมชนที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทำให้ม้งบางส่วนหันมาประกอบอาชีพเป็นผู้ประกอบการที่พักตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น บ้านหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่ ม้งที่ภูทับเบิก เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และม้งที่บริเวณภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงราย เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งก็กลายไปเป็นแรงงานรับจ้างตามสถานประกอบการในเมืองใหญ่ และส่วนหนึ่งได้เดินทางไปเป็นแรงงานในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น อิสราเอล เป็นต้น

ดังที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันคนม้งในประเทศไทยหันมาประกอบอาชีพที่หลากหลายเช่นเดียวกับคนทั่วไปในสังคม ฉะนั้นการจะนำเสนอแต่ว่า “ม้งยาบ้า” หรือ “ม้งทำลายป่า”ยิ่งเท่ากับเป็นการบดบังการประกอบอาชีพในมิติอื่นๆ ของคนม้งดังที่ได้กล่าวมา

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวม้งนับถือประกอบด้วยสองส่วน คือ ผีบ้าน (dab hauv tsev หรือ dab nyeg) และผีป่า (dab qus) ในส่วนของผีบ้านประกอบด้วยผีบรรพบุรุษ กับผีเรือน โดยผีเรือนเป็นสิ่งศักดิ์ตามจุดต่างๆ ภายในบ้าน นับตั้งแต่สื่อก๊า (xwmkab) ประตู เตาไฟใหญ่ เตาไฟเล็ก ห้องนอน เซี่ยเม่ง ฯลฯ ผีบ้านเป็นผีที่คอยปกป้องคุ้มครองสมาชิกในครัวเรือน กระนั้นก็ตาม หากขาดการดูแลหรือสักการะตามประเพณี ผีบ้านก็อาจไม่คุ้มครองหรือส่งผลต่ออาการเจ็บป่วยของสมาชิกในบ้านก็ได้ ส่วนผีป่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่นหรือเมือง ขุนเขา ลำห้วย จอมปลวก แอ่งน้ำ ป่าเขา รวมถึงผีฟ้าด้วย ความเชื่อต่อผีเหล่านี้ก็คือหากคนไปล่วงละเมิดก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยและตายได้ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้แฝงอยู่ในโลกทัศน์หรือวิธีคิดของคนม้ง นั่นคือโลกที่มนุษย์และธรรมชาติอาศัยอยู่ในนี้เป็นโลกแห่งความสว่าง (yaj ceeb) หรือหยาง (yang) ส่วนโลกในอีกมิติหนึ่งที่เป็นโลกแห่งความมืด (yeb ceej) หรือหยิน (yin) เป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณต่างๆ โดยคนม้งเชื่อว่าแต่เดิมนั้นมนุษย์และวิญญาณเหล่านี้สามารถพูดคุยสื่อสารกันได้ แต่ภายหลังไม่สามารถสื่อสารกันได้ จึงต้องอาศัยสื่อกลางคือ พ่อหมอ (shaman) ในการเชื่อมต่อกับโลกอีกมิติหนึ่งผ่านการทำพิธีกรรม ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ได้รับการสืบทอดโดยพ่อหมอเป็นหลัก และมีการสืบทอดความเชื่อและพิธีกรรมดังกล่าวรุ่นสู่รุ่นดังที่ได้กล่าวไปแล้วในส่วนของการสืบทอดความเชื่อ พิธีกรรม และมรดก

ม้งในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังคงนับถือความเชื่อแบบเดิมอยู่ แม้จะในช่วงประมาณสี่ถึงห้าทศวรรษที่ผ่านมาจะมีกลุ่มที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์และพุทธอยู่บ้าง โดยกลุ่มมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 ชาวม้งในประเทศไทยบางพื้นที่จึงหันมานับถือศาสนาคริสต์ตามแบบชาวตะวันตก โดยเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของบุคคล ครอบครัว และในบางพื้นที่ก็มีการเปลี่ยนศาสนากันทั้งชุมชน โดยสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาทำการเปลี่ยนศาสนานั้นเกิดจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังที่ Cooper (1984 อ้างใน Tap, 1989: 99) ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนศาสนาของม้งในยุคสงครามเย็นนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางเงื่อนไขทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจของครอบครัวคนม้งบางคนไม่ดี ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเริ่มสูงขึ้น พวกเขาจึงหันมานับถือคริสต์ศาสนา ประกอบกับแนวความเชื่อของศาสนาคริสต์เกี่ยวกับการที่พระเยซูคริสต์จะกลับมาใหม่นั้นสอดคล้องกับความเชื่อเดิมของม้งในเรื่องเกี่ยวกับขบวนการพระศรีอาริย์ที่กษัตริย์ม้งจะฟื้นคืนชีพด้วย จึงส่งผลให้ม้งที่ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจได้เปลี่ยนศาสนาโดยง่าย

เพื่อการปรับเปลี่ยนให้ม้งและกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงมีความเป็นไทยด้วยการเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธแบบคนไทย ในทศวรรษที่ 2500 รัฐได้ก่อตั้งโครงการพระธรรมจารริกขึ้นเพื่อทำหน้าที่เผยแพร่พระพุทธศาสนาเข้าไปยังชุมชนม้งและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ บนพื้นที่สูง เริ่มดำเนินโครงการทดลองครั้งแรกในปี 2508 และต่อมาได้ผลเป็นที่น่าพอใจทำให้กลายเป็นโครงการถาวรมาจนถึงปัจจุบัน ตามรายงาน 30 ปี ของโครงการพระธรรมจาริก (มูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ชนถิ่นกันดาร 2538: 71) ชี้ให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จสามารถทำให้ “ชาวเขารู้จักกราบไหว้พระสงฆ์ รู้ว่าพระสงฆ์เป็นบุคคลที่มีสถานภาพทางสังคมแตกต่างจากบุคคลธรรมดาทั่วๆ ไป รู้จักทำบุญตักบาตร มีคนม้งเป็นส่วนหนึ่งในผู้เข้าร่วมปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะประมาณ 800 คน มีการส่งบุตรหลานเข้าบรรพชาเป็นสามเณร และบางหมู่บ้านมีความประสงค์ต้องการให้มีพระสงฆ์อยู่ในหมู่บ้านตลอดไป”

นอกเหนือจากความเชื่อเกี่ยวกับคริสต์และพุทธแล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ตามชุมชนม้งที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษากับกลุ่มคนไทยวนหรือคนเมืองในชุมชนพื้นราบ พวกเขาเองก็ได้รับอิทธิพลทางด้านความเชื่อของท้องถิ่นล้านนาที่เป็นการทรงเจ้าเข้าผีมาหลอมรวมกับความเชื่อเดิมของม้งด้วย และความเชื่อดังกล่าวก็เป็นที่นิยมและตอบสนองกับความทุกข์แบบสมัยใหม่ของคนม้งที่ไม่ใช่มีแต่เพียงการเจ็บป่วยทางร่างกายเท่านั้น หากแต่เป็นความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ ตลอดจนการรับเอาความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลังมาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

การขึ้นปีใหม่

ในสังคมเกษตรแบบพึ่งพาตนเองในอดีต เทศกาลปีใหม่ม้งจัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองภายหลังฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวโพดและข้าวไร่ และกิจกรรมการละเล่น ก่อนที่จะเริ่มฤดูการเพาะปลูกในปีต่อไป ดังนั้น ขึ้นปีใหม่ของม้งจึงเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ในทางจันทรคติ ซึ่งปกติแล้วมักจะตรงกับช่วงต้นถึงกลางเดือนธันวาคม ทั้งนี้ บางปียังไม่เสร็จการเกี่ยวเกี่ยวข้าวในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้น ผู้นำม้งในประเทศไทยจึงตกลงกันให้จัดงานขึ้นปีใหม่กันในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 2 ซึ่งอยู่ระหว่างปลายเดือนธันวาคมหรือต้นมกราคมของทุกปี กระนั้นก็ตาม หลายหมู่บ้านที่เคยจัดวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ก็ยังคงยึดตามแบบเดิมอยู่ นอกจากนั้นแล้วหลายหมู่บ้านยังได้เปลี่ยนมาจัดช่วงวันหยุดยาวในช่วงปีใหม่สากล เพราะเป็นโอกาสที่ลูกหลานซึ่งส่วนใหญ่ออกไปเรียนหนังสือและทำงานในเมืองได้หยุดยาวและกลับมาเยี่ยมบ้าน ดังนั้น ความหลายหลายในการจัดงานปีใหม่ที่ไม่ตรงกัน ยังคงพบเห็นในชุมชนม้งต่างๆ ในประเทศไทยในยุคปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงประมาณสองทศวรรษที่ผ่านมาคือ การเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่มีหลากหลายระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านที่สมาชิกในหมู่บ้านร่วมเล่นสนุกสนานกัน ระดับเขตพื้นที่ที่เป็นการรวมเอาหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันมาเป็นเครือข่าย แล้วชาวบ้านจากหมู่บ้านในกลุ่มเครือข่ายมาร่วมงานเฉลิมฉลองด้วยกันหนึ่งวัน ด้วยการเวียนกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี และระดับจังหวัด ในกรณีจังหวัดเชียงใหม่ที่มีการจัดให้เครือข่ายหมู่บ้านม้งต่างๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมกัน เพื่อเฉลิมฉลองในสามวันสุดท้ายของเทศกาลปีใหม่

ในด้านของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลปีใหม่ ส่วนใหญ่เป็นพิธีกรรมในระดับของครัวเรือนและระดับชุมชน กล่าวคือ ในระดับครัวเรือน ในวันส่งท้ายปีเก่า คือวันแรม 15 ค่ำเดือน 12 (หรือบางหมู่บ้านเป็นเดือน 1) ในกลุ่มของม้งเด๊อมีพิธีหลื่อไก๊ หรือหลื่อซู้เพื่อปัดเป่ารังควานให้หมดสิ้นไปกับปีเก่า ขณะที่ม้งทั้งสองกลุ่มมีการฮูปลี่ หรือเรียกขวัญสมาชิกในครัวเรือน ขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร ขวัญเงินขวันทองให้กลับเข้ามาบ้านเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ กรณีของครัวเรือนที่มีหมอเน้งหรือหมอทรง ก็จะทำพิธีปล่อยทหารเน้งไปฉลองปีใหม่ในวันดังกล่าวด้วย นอกนั้นทุกครัวเรือนจะทำพิธีจีสื่อก๊า หรือสักการะผีเรือนซึ่งแทนด้วยแผ่นกระดาษที่ติดไว้ที่ฝาบ้าน การสักการะบรรพบุรุษและผีเรือน กับทั้งการเช้อเซี่ยเม่ง หรือการสักการะผีธรณีประตู การสักการะบรรพบุรุษด้วยจั๋วหรือข้าวปุกที่ตำใหม่ เป็นต้น ส่วนวันขึ้นหนึ่งค่ำ เป็นการสักการะผีตงเซ้ง หรือผีเจ้าที่ซึ่งได้เชิญให้มาประจำที่ต้นไม้ใหญ่เหนือหมู่บ้าน โดยตัวแทนของแต่ละครัวเรือนจะนำอาหารและธูปเทียนกับกระดาษเงินกระดาษทองไปร่วมทำกับผู้นำพิธีกรรมของหมู่บ้าน นอกนั้นเป็นการเปเจี๊ย หรือการดำหัวผู้อาวุโส กับการไปเคารพบรรพบุรุษที่หลุมฝังศพ และในเช้าวันขึ้น 3 ค่ำจะมีพิธีสักการะผีบรรพบุรุษกับผีเรือนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดเทศกาลปีใหม่อย่างเป็นทางการ แต่ในส่วนของงานเฉลิมฉลองที่เป็นงานละเล่นร่วมกันของหมู่บ้านนั้นยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะกี่วันนั้นขึ้นกับว่าเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่และข้อตกลงร่วมกันของผู้นำกับชาวบ้าน

การละเล่นกลางลานหรือสนามของหมู่บ้านเป็นวัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งของการจัดงานเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ม้ง มุ่งที่จะให้วัยหนุ่มสาวได้มีพื้นที่ในการพบปะหาคู่กันผ่านกิจกรรมการโยนลูกช่วงเป็นสำคัญ ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่เย็บและเตรียมลูกช่วงมา จะเป็นฝ่ายที่เริ่มชวนชายต่างแซ่ที่ตนพึงพอใจจะโยนลูกช่วงด้วย (ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของฝ่ายชายด้วย ถ้าฝ่ายชายไม่ชอบฝ่ายหญิง เขาก็สามารถปฏิเสธที่จะไม่โยนก็ได้) ระหว่างการโยนลูกช่วงก็จะเป็นโอกาสที่ทั้งคู่ได้สนทนากันและกัน หากมีความพึงพอใจกันก็จะโยนลูกช่วงกันยาวนานหรือตลอดวัน แต่หากไม่ชอบพอกันก็โยนพอเป็นมารยาทสักครู่ก็แยกย้ายกันไป ทั้งนี้ การเล่นโยนลูกช่วงไม่ได้หมายความว่าจะต้องแต่งงานหรือเป็นคู่รักกันเสมอไป แต่เป็นการร่วมสนุกสนานและได้รู้จักกันมากกว่า ในอดีตนั้นยังมีการร้องเพลงโต้ตอบกันระหว่างการโยนลูกช่วงด้วย ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นชายหนุ่มหรือหญิงสาวก็ตาม ต่างก็ต้องสวมใส่เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่ดูดีและมีราคาเพื่อดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้าม ขณะที่พ่อแม่และญาติพี่น้องของทั้งฝ่ายชายและหญิงเองต่างก็มีความตื่นเต้นในวันดังกล่าว เพราะพวกเขาเองก็จะได้ภาคภูมิใจที่ได้เห็นลูกหลานแต่งชุดสวยงาม รวมทั้งอาจช่วยลูกๆ ของพวกเขาหาคู่ชีวิตด้วย ในกรณีที่ลูกพร้อมที่จะแต่งงานแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป หนุ่มสาวชาวม้งรุ่นใหม่มิได้ใช้การโยนลูกช่วงดังกล่าวเป็นสื่อกลางในการพูดคุยอีกต่อไป มีเพียงส่วนน้อยที่ยังคงทำการโยนลูกช่วงอยู่บ้าง แต่ความหมายของการโยนนั้นไม่ได้เป็นเหมือนกับในอดีตแล้ว หนุ่มสาวเพียงแค่ต้องการโยนในเวลาสั้นกับคนที่รู้จักกันแล้วเพื่อเป็นความสนุกสนานเท่านั้น

การละเล่นอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากการโยนลูกช่วงในเทศกาลปีใหม่ม้ง เดิมนั้นมีการการตีลูกขนไก่กับการตีลูกข่าง แต่ในยุคสองทศวรรษที่ผ่านมาที่มีการรวมกันเป็นเครือข่ายหมู่บ้านม้งเพื่อจัดงานปีใหม่ร่วมกันวันหนึ่งนั้นเกิดขึ้นในยุคการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เข้ามายังชุมชนม้งด้วย จึงมีการจัดกิจกรรมแสดงและการละเล่น รวมทั้งเกมส์กีฬาพื้นบ้านหลายอย่างด้วยกัน เช่น ขบวนพาเหรดย้อนยุค การแข่งขันตีลูกข่าง การแข่งขันยิงหน้าไม้ การแข่งขันล้อเลื่อนไม้ หรือม้งฟอร์มูล่า การแข่งหาบน้ำ ฝัดข้าว เย็บผ้า ฯลฯ ที่ทำให้กลุ่มผู้ชายและผู้หญิงต่างวัยล้วนแล้วแต่มีส่วนร่วมกันถ้วนหน้า

ความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งของงานเฉลิมฉลองปีใหม่ของคนม้งทั่วไปในปัจจุบันคือการมีงานมหกรรมเหมือนงานเทศกาลและตลาดนัดทั่วไปที่มีการซื้อ-ขายอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ ชมการแสดงเพื่อความบันเทิงบนเวที การแข่งขันกีฬาพื้นบ้านและกีฬาสากล และการพบปะสังสรรค์กับญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงเป็นหลัก

นอกเหนือจากเทศกาลต่างๆ เกี่ยวข้องกับความเชื่อและระบบจารีตประเพณีเดิมที่กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว ยังมีเทศกาลอื่นๆ ที่คนม้งจัดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของตนเองและชุมชน เช่นงานแสดงสินค้าต่างๆ ของบริษัทห้างร้านที่จัดขึ้นเพื่อให้ลูกค้า (ม้ง) สามารถจับจ่ายซื้อชุดม้งและเครื่องแต่งกายม้งก่อนที่จะถึงเทศกาลเฉลิมฉลองวันปีใหม่ม้งที่ทุกคนต้องสวมใส่ งานลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีตามชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เช่น อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก เป็นต้น นอกจากนี้ม้งในบางพื้นที่ยังมีความพยายามในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ม้งและงานคอนเสริต์ม้งนานาชาติเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงของพวกเขาให้กับผู้บริโภคชาวม้งทั่วโลกด้วย เทศกาลต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากกระแสของทุนนิยม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร

ในอดีตม้งมีความเชื่อว่าเด็กที่เกิดใหม่นั้นเป็นบรรพบุรุษกลับชาติมาเกิดในครอบครัวหรือตระกูล ก่อนที่จะมีสถานีอนามัยในชุมชนและการเดินทางไปคลอดที่โรงพยาบาลยังเป็นเรื่องที่ยากลำบากนั้น การคลอดบุตรเป็นไปตามธรรมชาติ โดยอาศัยหมอตำแยในหมู่บ้านช่วยทำการคลอดที่บ้าน เมื่อคลอดและทำความสะอาดทารกแล้ว ตัดรกด้วยไม้ไผ่หรือกรรไกร ถ้าเป็นเด็กชายจะนำรกไปฝังไว้ที่เสากลางบ้าน โดยมีความหมายว่าเด็กชายจะเป็นผู้ที่สืบทอดสายเลือดและพิธีกรรมของตระกูลต่อไป ถ้าบุตรเป็นหญิงจะฝังรกไว้ใต้แคร่นอนของมารดา เพราะต้องการให้ลูกสาวรู้จักรักนวลสงวนตัว และรู้จักการบ้านการเรือน เด็กที่เกิดได้ 3 วัน บิดาจะทำพิธีตั้งชื่อ โดยต้องนำไก่ 2 ตัวมาทำพิธีเรียกขวัญและขอบคุณผีบรรพบุรุษที่ส่งเด็กมาเกิด พร้อมทั้งบอกผีบ้านผีเรือนให้คุ้มครองเด็ก และรับไว้เป็นสมาชิกของครอบครัวและวงศ์ตระกูล

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหญิงม้งได้หันมาใช้บริการการแพทย์สมัยใหม่ของรัฐตั้งแต่การฝากท้องมาจนถึงระยะหลังการคลอด ทำให้พวกเขาไม่สามารถเก็บรกของลูกมาฝั่งไว้ตามจุดได้อีกต่อไป ความเชื่อเกี่ยวกับการฝั่งรกนี้จึงค่อยๆ หายไป และพิธีการตั้งชื่อของทารกนั้นกลับได้รับความสำคัญมากขึ้นตามลำดับด้วย กล่าวคือ จากเดิมที่ใช้แต่ไก่ในการตั้งชื่อและรับประทานอาหารร่วมกันธรรมดาในครัวเรือน ปัจจุบันบางคนถึงกับทำการฆ่าหมูเลี้ยงเฉลิมฉลองกับญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะกรณีทารกที่คลอดเกิดมาเป็นลูกชาย เป็นที่สังเกตว่ากิจกรรมที่เกี่ยวกับการเกิดของม้งในอดีตได้รับการตอกย้ำเพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิต แต่ปัจจุบันสังคมม้งได้รับอิทธิพลจากสังคมไทยและตะวันตกมากขึ้น คนม้งรุ่นใหม่ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับวันเกิดของพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ และเพื่อนฝูงเป็นประจำทุกปี

การแต่งงานและการหย่าร้าง

ข้อห้ามสำคัญสำหรับการแต่งงานของหนุ่มสาวม้งคือ ห้ามการแต่งงานระหว่างหญิงกับชายที่เป็นคนในแซ่ตระกูลเดียวกัน ดังนั้น การจีบกันของหนุ่มสาว โดยเฉพาะระหว่างการโยนลูกช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นโอกาสที่มีการพบปะระหว่างหนุ่มสาวมากที่สุด สิ่งสำคัญคือต้องหลีกเลี่ยงที่จะจับคู่โยนลูกช่วงและทำความรู้จักกับหนุ่มหรือสาวที่เป็นคนแซ่เดียวกันกับตน ปัจจุบันรูปแบบการหาคู่ในกรณีที่อยู่กันคนละหมู่บ้าน คือการพบกันในอินเตอร์เน็ต แม้จะเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็นไทยกันไปมาก แต่การสอบถามข้อมูลว่าแต่ละคนเป็นคนแซ่อะไรนั้นยังคงสำคัญ เพราะหากแต่งงานกันแล้วต้องเป็นผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม

ในสังคมเกษตรกรรมแบบชุมชนม้งในอดีต การแต่งงานของหนุ่มสาววัยประมาณ 15 ปี ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะมีความจำเป็นเรื่องแรงงานในครัวเรือน การแต่งงานและมีลูกหลานตั้งเต่อายุยังน้อยเป็นหลักประกันสำคัญสำหรับชีวิตในวัยชราของพ่อแม่ด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสังคมได้ปรับเปลี่ยนไป คนวัยหนุ่มสาวเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียนและทำงานในเมือง อายุการแต่งงานจึงขยายออกไป ประมาณ 20 ปีโดยเฉลี่ย หรือบางรายแต่งงานกันวัย 30 ปี ขึ้นกับการได้รู้จักเพศตรงข้ามและความพร้อมของแต่ละคน

รูปแบบการแต่งงานดั้งเดิมของม้ง มีทั้งการที่ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชายส่งคนไปสู่ขอในบ้านของพ่อแม่ฝ่ายหญิง การพากันไปยังบ้านฝ่ายชายแล้วค่อยส่งคนไปแจ้งพ่อแม่ฝ่ายหญิง หรือแม้กระทั่งการฉุดฝ่ายหญิงไปยังบ้านของฝ่ายชายแล้วค่อยส่งคนไปแจ้งข่าวแก่พ่อแม่ฝ่ายหญิง แต่รูปแบบการฉุดนี้ได้รับการประณามและต่อต้านจากสังคม จึงแทบไม่พบเห็นการกระทำดังกล่าวในสังคมม้งในประเทศไทย เมื่อฝ่ายชายพาหญิงสาวเข้าบ้านนั้นต้องใช้ไก่ตัวผู้มาทำพิธีวนเหนือหัวขอทั้งคู่ เพื่อปัดเป่ารังควานกับแจ้งต่อผีบรรพบุรุษและผีเรือนของพ่อแม่ฝ่ายชายว่าได้รับสมาชิกใหม่เข้ามายังบ้านหลังนี้แล้ว เมื่อครบสามวันตองทำพิธีเรียกขวัญลูกสะใภ้ใหม่ หากผลการเจรจาลงเอยว่าพ่อแม่ฝ่ายหญิงต้องการจัดพิธีแต่งงานภายในสามวัน ฝ่ายชายก็ต้องเตรียมยกขบวนไปภายในวันที่สาม แต่หากพ่อแม่ฝ่ายหญิงยังไม่พร้อม ก็เพียงมีญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชายพาทั้งคู่กลับไปเยี่ยมพ่อแม่พี่น้องของฝ่ายหญิงในวันที่สาม

งานแต่งงานหลักจะจัดขึ้นที่บ้านพ่อแม่ของฝ่ายหญิง โดยญาติฝ่ายชายต้องจัดคณะผู้ทำหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ ในงานแต่งงาน เดินทางพร้อมกับเจ้าบ่าวและเจ้าสาวไปยังบ้านของพ่อแม่ฝ่ายหญิงตามวันที่นัดหมาย เริ่มต้นด้วยการเจรจาค่าน้ำนมหรือสินสอดที่ฝ่ายชายต้องจ่ายให้กับพ่อแม่ฝ่ายหญิง จากนั้นจึงเป็นงานเลี้ยง ซึ่งปกติแล้วทุกขั้นตอนจะใช้เวลาประมาณสองวันหนึ่งคืน จึงยกขบวนกลับมาบ้านของพ่อแม่ฝ่ายชายเพื่อรายงานผลการจัดงานแต่งงานและขอบคุณคณะผู้ร่วมเดินทาง เป็นอันเสร็จพิธี ทั้งนี้ ในกลุ่มคนม้งรุ่นใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมไทยและตะวันตก รูปแบบของพิธีกรรมแต่งงานจะมีการประยุกต์เป็นแบบสากลมากขึ้น เช่น การแต่งงานจัดงานเลี้ยงในโรงแรมหรือรีสอร์ท การจัดแบบคริสเตียนในโบสถ์ในกรณีของม้งคริสเตียน หรือหากเป็นการแต่งงานระหว่างม้งกับคู่แต่งงานที่ไม่ใช่ม้ง ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างญาติของทั้งสองฝ่ายว่าจะจัดแบบไหน

ความตายและการทำศพ

การตายถือเป็นการเดินทางข้ามภพภูมิของวิญญาณของผู้ตาย จากโลกของมนุษย์ไปยังโลกของจิตวิญญาณ ซึ่งโลกทัศน์ของชาวม้งนั้นไม่มีสวรรค์กับนรก มีเพียงดินแดนที่บรรพบุรุษอยู่ ซึ่งตามเนื้อหาในพิธีกรรมนั้นเป็นบนท้องฟ้า ดังนั้น ภายหลังเสียชีวิตจึงต้องมีการท่องบทสวดนำทาง (taw kev) ให้วิญญาณของผู้ตายเดินทางไปพบบรรพบุรุษ แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีชุดคนตายและรองเท้าที่ทำด้วยเส้นใยกัญชง และต้องใช้แคน (qeej) ซึ่งใช้เป่าคู่กับการตีกลอง เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับวิญญาณของคนตายในระหว่างจัดพิธีศพ

พิธีกรรมศพชาวม้งถือว่าเป็นพิธีกรรมหนึ่ง ที่จะแสดงถึงความกตัญญู กตเวที ของลูกหลานเมื่อญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวเสียชีวิตไป เนื่องจากพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่กับลูกชายคนเล็ก ฉะนั้นลูกชายคนสุดท้องในฐานะที่อยู่อาศัยกับพ่อแม่และรับมรดกบ้านเรือนต่อจากท่านทั้งสอง จึงต้องเป็นเจ้าภาพหลักในงานศพของพ่อแม่ โดยยังคงมีพี่น้องช่วยหนุนเสริมตามกำลังและความร่วมผิดชอบร่วมด้วย สำหรับจำนวนวันที่จัดพิธีศพนั้น ขึ้นอยู่กับฤกษ์ยามและกำลังทรัพย์ของเจ้าภาพเป็นสำคัญ แต่ส่วนใหญ่มักจะตั้งศพไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน เพื่อทำการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อและรอให้ญาติพี่น้องใกล้ชิดมาพร้อมหน้ากันและร่วมในขั้นตอนสำคัญ โดยเฉพาะในวันก่อนและวันที่นำศพไปฝัง

หลังจากนำศพไปฝังครบสามวันแล้วเจ้าบ้านจะทำการส่งข้าวส่งน้ำให้วิญญาณผู้ตาย เริ่มจากที่หลุมฝังศพ เมื่อครบสามวันแล้วจึงเรียกให้มาร่วมรับประทานอาหารกับสมาชิกในบ้านตามปกติ บางแซ่ตระกูลที่ทำหลุมฝังศพแบบจีน คือก่อเหนือหลุมฝังศพด้วยหินและปูน ก็จะทำหลังจากครบสามวันแล้ว นับถัดจากวันฝังศพ เมื่อครบ 13 วันแล้ว บางแซ่ตระกูลจะทำพิธี “ซี” แล้วค่อย “จอ ปลี” หรือปล่อยวิญญาณผู้ตายให้ไปเกิดใหม่ แต่บางตระกูลจะเลือกทำพิธี “จอ ปลี” เมื่อครบ 13 วัน สำหรับพิธีกรรมสุดท้าย คือ "อัว ญู้ ด้า" หรือการเลี้ยงผีวัว ซึ่งลูกชายทุกคนต้องทำให้กับพ่อแม่ของตนที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยเชื่อว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ด้วยการให้วัวและกระดาษเงินกระดาษทอง ดังนั้น พิธีศพและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องภายหลังจากงานศพจึงเป็นกิจกรรมหลักที่เชื่อมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันและกันในบรรดาญาติพี่น้องกับลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่

การเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

ในโอกาสสำคัญของรอบปีจึงต้องมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เช่น การกินข้าวใหม่ ข้าวโพดใหม่ แตงกวาใหม่ การตำจั๋วหรือข้าวปุกตอนปีใหม่ เทศกาลปีใหม่ รวมทั้งการที่จะออกเดินทางไกลซึ่งต้องการกำลังใจหรือการคุ้มครองจากบรรพบุรุษ ชาวม้งจะทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ด้วยการเตรียมอาหารใหม่ที่มีข้าวสุกและเนื้อไก่ต้ม หรือข้าวโพดใหม่ แตงกวาใหม่ กับจั๋ว เป็นต้น แล้วเชิญวิญญาณบรรพบุรุษให้มาร่วมกินดื่ม โดยอาจมีเหล้าเป็นส่วนประกอบในการเซ่นไหว้ด้วย นอกจากนั้นยังมีการเผาธูปและกระดาษเงินกระดาษทองไปให้บรรพบุรุษด้วย

เช่นเดียวกับคนจีน คนม้งก็มีพิธีกรรมในการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่เรียกว่า “เช่งเม้ง” คนม้งมักจะทำพิธีดังกล่าวในช่วงเวลาประมาณเดือนมีนาคมของทุกปี ลูกหลานแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นชายในครอบครัวหรือหญิงที่แต่งงานออกจากครอบครัวเดิมขอตนแล้วก็ตาม เป็นช่วงเวลาที่ลูกหลานนำอาหารและผลไม้ กับทำการเผากระดาษเงินกระดาษทองและธูปให้บรรพบุรุษ ณ สุสาน พร้อมกับการขอพรจากพบบรรพบุรุษเพื่อให้อยู่ดีมีสุขและประสบผลสำเร็จในการทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกในฤดูการผลิตต่อไป หรือการเรียนและการค้าขาย เป็นต้น

กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา. (2559). ทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัดของประเทศไทย ประจำปี 2559. กรุงเทพฯ: กองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.

เครือข่ายเรียนรู้ฟื้นฟูประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรมดอยยาว-ดอยผาหม่น. (มปป). เราก็เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดิน...ประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรมดอยยาว-ผาหม่น. ร่างรายงานฉบับแรกที่ใช้ในการแสดงความคิดเห็นในงาน 3 ปีแห่งการเรียนรู้ ฟื้นฟูนิเวศวัฒนธรรมชุมชนดอยยาว-ผาหม่น: ขบวนการฟื้นฟูท้องถิ่นสู่การปฏิรูปประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2554 หมู่บ้านร่มฟ้าผาหม่น จังหวัดเชียงราย.

จิตร ภูมิศักดิ์. (2554). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม. กรุงเทพฯ : ศยาม.

ชนัญญา พวงทอง และกฤตานนท์ ท้าววัฒนากุล. (2562). การศึกษาเปรียบเทียบการออกเสียงคำศัพท์ในภาษาจีนกลางและภาษาม้ง. วารสารมังรายสาร, 7(1) ม.ค. – มิ.ย. 2562. สืบค้นจาก https://so04.tci-thaijo.org/index.php/mrsj/article/view/177393/130026.

ประสิทธิ์ ลีปรีชา. (2549). ม้งดอยปุย การค้า อัตลักษณ์กับความเป็นชุมชนชาติพันธุ์. เชียงใหม่: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

ประสิทธิ์ ลีปรีชา. (2554). กลุ่มชาติพันธุ์ม้งในบริบทของรัฐชาติสมัยใหม่. ใน ม้งลาวในประเทศไทย: นโยบายและการดำเนินการของรับไทย (2518-2552). สุภางค์ จันทวานิช และถวิล เปลี่ยนศรี (บก.). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 1-38.

ประสิทธิ์ ลีปรีชา. (2560). นามสกุลกับกระบวนการทำให้เป็นไทยในกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง. สังคมศาสตร์. วารสารทางวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 29(1), 85-124.

ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ. (2560). ม้งช่วยรบ : ความเป็นมาและปัญหาสถานะบุคคล. เชียงใหม่ : ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

มูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ชนถิ่นกันดาร. (2538). 30 ปี พระธรรมจาริก. กรุงเทพฯ: กรมประชาสงเคราะห์.

ยุทธพงษ์ สืบศักดิ์วงศ์. (2546). ความคิดทางปรัชญาในภาษิตม้ง. วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Chan, Sucheng. (1994). Hmong Means Free: Life in Laos and America. Philadelphia: Temple University Press.

Culas, Christian. (2000). Migrants, Runaways and Opium Growers: Origin of the Hmong in Laos and Siam in the Ninetieth and Early Twentieth Centuries. Turbulent Times and Enduring Peoples Mountain Minorities in South East Asia Massif. Michaud Jean (ed.). London:Curzon,28-47.

Gua, Bo. (1975). Opium, Bombs and Trees: The Future of the Hmong Tribesmen in Northern Thailand, Journal of Contemporary Asia 5(1): 70-81.

Lamont H. Thao. (2002). “Hmong Means Free?. Retrieved September 15, 2018, from https://sites.google.com/site/wwwhmonghomepage/home/hmong-means-free/hmong-means-free.

Tapp, Nicholas. (1986). The Hmong of Thailand: Opium People of the Triangle. London: Anti-Slavery Society.

Tapp, Nicholas. (1989). The Sovereignty and Rebellion: The White Hmong of the Northern Thailand. Malaysia: Peterchong Printers.

Tapp, Nicholas. (1989). Hmong Religion. Asian Folklore Studies 48(1), 5-9. Retrieved December 20, 2018 from, https://nirc.nanzan-u.ac.jp/nfile/1512.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว