2023-09-06 09:43:06
ผู้เข้าชม : 16425

ปกาเกอะญอ เดิมตั้งถิ่นฐานในลุ่มน้ำสาละวิน หลังจากเกิดการสู่รบระหว่างไทยกับเมียนมาในศตวรรษที่ 17 ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกกวาดต้อนมายังประเทศไทย เป็นกลุ่มคนที่มีองค์ความรู้ในการทำไร่หมุนเวียนและทำนา หลังจากการพัฒนาสู่ระบบทุนนิยม ได้ส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงจากการผลิตเพื่อยังชีพเป็นการผลิตเพื่อขาย บางชุมชนเริ่มหันไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว ในขณะที่ชาวปกาเกอะญอมีความพยายามยืนหยัดในการดำรงชีพด้วยระบบไร่หมุนเวียนซึ่งสะท้อนความมั่นคงทางอาหารของชุมชน

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ปกาเกอะญอ
ชื่อเรียกตนเอง : ปกาเกอะญอ
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : กะเหรี่ยง, กะหร่าง, ยาง, กะเหรี่ยงสะกอ
ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต
ตระกูลภาษาย่อย : ทิเบต-พม่า
ภาษาพูด : ปกาเกอะญอ
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน, อักษรขาว

ปกาเกอะญอ เป็นคำเรียกชื่อตนเองของกลุ่มกะเหรี่ยงสะกอ ซึ่งเห็นหนึ่งในกลุ่มย่อยของกะเหรี่ยงในประเทศไทยที่มีการจำแนกไว้ว่ามีจำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) จกอร์/สะกอร์ 2)โพล่ง/โปว์ 3)กแบ/คะยา 4)ปะโอ/ตองสู ปกาเกอะญอ ในภาษาของกะเหรี่ยงสะกอร์ แปลว่า คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มากกว่าคำ ที่ถูกเรียกโดยที่พวกเขาไม่รู้ความหมาย เช่นคำว่า “กะเหรี่ยง” หรือ “ยาง” ชื่อเรียก“กะเหรี่ยง” ถูกเชื่อมโยงกับวาทกรรมชาวเขาที่มีนัยยะด้อยพัฒนาและล้าหลัง ส่งผลให้ถูกเบียดขับและมองเป็นอื่นในสังคม การคงไว้ซึ่งพื้นที่ทางสังคมด้วยการเรียกชื่อที่สะท้อนอัตลักษณ์ของพวกเขาจึงเป็นการสร้างพื้นที่ทางสังคมที่สามารถสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ดี คำว่า ปกาเกอะญอ ไม่ครอบคลุมกะเหรี่ยงโปและกลุ่มย่อยอื่น กะเหรี่ยง จึงยังคงเป็นคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์โดยรวม ในขณะที่ ชื่อเรียก “ปกาเกอะญอ” หมายถึง กลุ่มกะเหรี่ยงสะกอเท่านั้น

ประวัติศาสตร์ชาวกะเหรี่ยงอพยพมาจากบาบิโลน เคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในหลายพื้นที่ เช่น มองโกเลีย เตอร์กิสถานตะวันออก ธิเบต ยูนนาน และพม่า จากข้อมูลการค้นพบเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยง ระบุว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีอยู่มาตั้งแต่ก่อนคริสตกาลจวบจนถึงปัจจุบัน ราว 2,739 ปีผู้คนกลุ่มนี้เข้ามาอาศัยอยู่ในแถบพม่าราว 739 ปี และเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ประเทศไทยเขตพื้นที่ภาคเหนือและตะวันตกในหลายระลอกในช่วง 200-300 ปีที่ผ่านมา ชนชาติกะเหรี่ยงเดินทางเข้ามาสร้างประเทศของตนเองก่อนชนชาติพม่า โดยมีชื่อประเทศว่า “กอทูแล” เมื่อชนชาติพม่าเดินทางมาถึงและกดขี่ข่มเหงเบียดขับชนชาติกะเหรี่ยงแตกกระจัดกระจายเคลื่อนย้ายออกไปยังพื้นที่อื่น โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ประเทศไทย ทั้งนี้ พบว่า ชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยบางส่วนถูกกวาดต้อนมาในฐานะเชลย ในยุคพระเจ้ากาวิลละปกครองเมืองเชียงใหม่ขณะเดียวกันกะเหรี่ยงบางกลุ่มก็เคลื่อนย้ายออกจากพม่าเข้าสู่ดินแดนล้านนาและส่งส่วยและช้างให้เจ้าเมืองเชียงใหม่เพื่อแลกเปลี่ยนกับดินแดนอยู่อาศัย บางชุมชนส่งส่วยให้ชาวลัวะเจ้าของที่ดินอนุมานได้ว่ากลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือนั้นอยู่มานานกว่า 1,500 ปีและน่าจะตั้งถิ่นฐานเดิมในรัฐคะยาแล้วเคลื่อนย้ายเข้าสู่ลุ่มน้ำปิง ขณะที่ทางด้านตะวันตกเมื่อพระเจ้าอลองพญาได้รับชัยชนะในการทำสงครามกับกษัตริย์มอญ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงในอาณัติมอญต้องอพยพเข้ามาในอาณาจักรไทย อย่างไรก็ตามหลังยุคอาณานิคม ได้เกิดความไม่สงบทางการเมืองในพม่า ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าระลอกใหญ่ ซึ่งมีชาวกะเหรี่ยงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทย สำหรับชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทย มีการตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายตัวอยู่ใน 15 จังหวัด ได้แก่เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

ปกาเกอะญอเป็นกลุ่มชนที่ดำรงชีพเคารพธรรมชาติผูกโยงชีวิตบนฐานทรัพยากรและการทำไร่หมุนเวียน อันสะท้อนถึงภูมิปัญญาในการจัดการพื้นที่ อาหาร ทรัพยากรและการอนุรักษ์ผืนป่าผืนดิน นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มชนผู้รักสงบ สมถะ เรียบง่าย เห็นได้จากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ถักทอเรียบง่ายไม่มีการประดับตกแต่งมากมายนัก

จากการศึกษาของคาซูโตะ อิเคดะ(Kazuto Ikeda (2012) พบว่ามี เอกสารที่ระบุเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยงที่มีความสำคัญและถูกนำไปคัดลอก ปรับและพิมพ์ทั้งเล่มและบางส่วนอีกหลายฉบับมีจำนวน 3 เล่ม เล่มแรกมีชื่อว่า พงศาวดารกะเหรี่ยง (U Pyinnya, 1929) สันนิษฐานว่าผู้เขียนเป็นชาวปะโอ เล่มที่สอง มีชื่อว่าพงศาวดารหลวงกะเหรี่ยง (U Saw, 1931) โดยสองเล่มแรก เขียนโดย ปัญญาชนที่นับถือพระพุทธศาสนาส่วนเล่มที่สามเขียนโดย ซออ่องหละ (Saw Aung Hla, 1939) ซึ่งเป็นกะเหรี่ยงสะกอที่นับถือคริสต์ศาสนา

พงศาวดารกะเหรี่ยงที่เขียนโดยปัญญาชนพุทธทั้งสองเล่ม มีเค้าโครงการดำเนินเรื่องคล้ายกับพงศาวดารที่เป็นการบันทึกเรื่องราวโดยกษัตริย์ เน้นเรื่องราวการสร้างเมือง การปกครองโดยกษัตริย์ และการนับถือพุทธศาสนา สำหรับเล่มแรกเริ่มกล่าวถึงการกำเนิดโลก โดยมีชนเผ่าทั้งหมด 101 เผ่า และแยกกะเหรี่ยงออกเป็นสามกลุ่มย่อย ได้แก่ กะเหรี่ยงฉาน กะเหรี่ยงมอญ และกะเหรี่ยงพม่าสำหรับเล่มที่ 2 เริ่มจากการสร้างโลก การเกิดขึ้นและล่มสลายของคนในอินเดีย แล้วย้ายมาพม่า นำโดยกษัตริย์กะเหรี่ยงองค์หนึ่ง หนังสือเน้นว่า การที่บรรพบุรุษของคนกะเหรี่ยงที่อยู่ในอินเดียโบราณมีเชื้อสายเชื่อมโยงกับเผ่าศากยของพระพุทธเจ้า ทำให้คนกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มคนที่ศรัทธาต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า และเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี (Ikeda, 2012: 449)

ส่วนประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงเล่มที่ 3 ที่เขียนโดยกะเหรี่ยงคริสต์นั้น เน้นว่ากะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สูญหายไปของอิสราเอล และเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานกลุ่มแรกในแผ่นดินที่ปัจจุบันเป็นประเทศพม่า หลังจากการเดินทางอย่างยาวนานจากดินแดนที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิ้ล เป็นกลุ่มคนที่มีภาษา อักษรเขียน วัฒนธรรมและกษัตริย์ของตน ยึดมั่นในศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว และมีอาณาจักรของตนเองที่ต่อสู้กับอาณาจักรมอญและพม่า และต่อต้านความพยายามกลืนกลายชาติของพระพุทธศาสนา

การระบุว่ากะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สูญหายไปของอิสราเอล อาจเป็นความเชื่อของมิชชันนารี ดังที่ Rajah (1992) อธิบายไว้ว่า เมื่อมิชชันนารีเช่น Mason เห็นความคล้ายคลึงของตำนานการกำเนิดของกะเหรี่ยงกับตำนานในคัมภีร์ไบเบิ้ล อาจสรุปว่ากะเหรี่ยงเป็นชนกลุ่มหนึ่งใน 10 กลุ่มของอิสราเอลที่หายไป รวมทั้งการที่ยวาซึ่งเป็นชื่อพระเจ้าดั้งเดิมของกะเหรี่ยงมีความคล้ายคลึงกับยะโฮวาซึ่งเป็นพระเจ้าในคริสต์ศาสนา การที่ประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงเล่มนี้เขียนด้วยอักษรลิวา ที่ต่อมาใช้อย่างเป็นทางการโดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู-Karen National Union) ในการพิมพ์เอกสารและการจัดการศึกษาในเขตรัฐกะเหรี่ยงที่เคเอ็นยูปกครอง ทำให้ประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงเล่มนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายและใช้อย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยงฉบับนี้ยังใช้ตำนานดั้งเดิม มาช่วยหนุนเสริมให้ประวัติศาสตร์ถิ่นกำเนิดของชาวกะเหรี่ยงมีความชัดเจนมากขึ้น การอพยพโยกย้ายและการตั้งถิ่นฐาน มีตำนานที่สำคัญที่ใช้ในการตีความประวัติศาสตร์กะเหรี่ยง เรื่องหนึ่งคือ ตำนานเรื่อง เทาะแมป่า แปลว่า พ่อเขี้ยวหมู ได้กล่าวถึง เทาะแมป่า ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของคนกะเหรี่ยง ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ภูเขาที่ชื่อ ทอทีปฬ่อก่อ แปลว่า “ภูเขาสูงน้ำจับแผ่นดิน” หลังจากที่ฆ่าหมูป่าซึ่งมารังควานหมู่บ้านแล้ว ก็ไม่สามารถเอาซากหมูป่ากลับไปได้เพราะมีขนาดตัวใหญ่ จึงกลับไปบอกลูกหลานที่หมู่บ้านให้ไปช่วยกันชำแหละเนื้อเอากลับมา ปรากฏว่าเมื่อไปถึง ซากหมูป่าหายไปเหลือแต่เขี้ยวตันข้างหนึ่ง เทาะแมป่า จึงเอาเขี้ยวนั้นมาแกะทำเป็นหวี เมื่อเขาและภรรยาใช้หวีผมแล้วทำให้กลับเป็นหนุ่มสาว และมีลูกหลานเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ ผืนดินในบริเวณภูเขาที่เป็นที่อยู่อาศัย ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของคนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจึงต้องออกเดินทางย้ายถิ่นเพื่อตั้งถิ่นฐานและที่ทำกินใหม่ และได้พลัดหลงแยกทางกับลูกหลังจากข้าม "แม่น้ำทรายไหล" ซึ่งสถานที่นี้ได้ถูกตีความว่าเป็น "ทะเลทรายโกบี" ตามบันทึกของคนจีนเรียกว่า “แม่น้ำทราย” เมื่อข้ามทะเลทรายมาถึงดินแดนประเทศพม่าในปัจจุบัน ลูกหลานของเทาะแมป่า ซึ่งก็คือคนกะเหรี่ยงในปัจจุบันได้ตั้งถิ่นฐาน และยังคงรอคอบการกลับมาของเทาะแมป่า (สุริยา, 2529) ประวัติศาสตร์ของการโยกย้ายถิ่นฐานบนพื้นฐานตำนานได้ถูกแบ่งระยะเวลาออกเป็นดังนี้

ชนกะเหรี่ยงอพยพจากบาบีโลนในปี 2234 ก่อนคริสตศักราชเดินทางไปถึงอาณาจักรมองโกเลียปี 2197 ก่อนคริสตศักราช... เมื่อปี 2017 ก่อนคริสตศักราชเดินทางไปเตอร์กิสถานตะวันออกและถึงเมื่อปี 2013.....เมื่อปี 1866 ก่อนคริสตศักราช... โยกย้ายไปยังธิเบต... ถึงธิเบตเมื่อปี 1864 ก่อนคริสตศักราช ออกเดินทางจากธิเบตปี 1388 ก่อนคริสตศักราช... ไปถึงราชอาณาจักรยูนนาน ปี 1385...ในปี 1128 ก่อนคริสตศักราช รุ่นแรกเดินทางไปถึงพม่า 1125 ก่อนคริสตศักราช...รุ่นที่สอง จากยูนนานปี 741 ก่อนคริสตศักราช ไปถึงพม่าปี 739 ก่อนคริสตศักราช...นี่หมายความว่าระยะเวลาที่กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในพม่าทั้งหมดคือ739 ปี รวม 2000 ปีเป็น 2739 ปี

(News January, 2000: 2)

ประวัติศาสตร์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ชนชาติกะเหรี่ยงได้เคลื่อนย้านมาถึงดินแดนพม่าก่อนชนชาติพม่า และได้สร้างประเทศของตนที่เรียกว่า “กอทูเล” หมายถึง ดินแดนแห่งดอกไม้ หรือดินแดนสีเขียว ซึ่งเป็นถิ่นฐานที่สุขสบาย อุดมสมบูรณ์ และมีสันติภาพ ต่อมาชนชาติพม่าผู้มาทีหลังก็ได้มายึดครองประเทศของกะเหรี่ยง ทำให้กะเหรี่ยงได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัสจากการกดขี่ ข่มเหงและขูดรีดของคนพม่า

สำหรับกะเหรี่ยงในเขตประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ปรากฏมีหนังสือหรือเอกสารที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของคนกะเหรี่ยงที่ถูกเขียนโดยปัญญาชนกะเหรี่ยง ประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงไทยจึงถูกเขียนโดยนักวิชาการทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทย ในลักษณะที่เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่รวบรวมจากเอกสาร วิเคราะห์จากชื่อหมู่บ้าน และตำนานเพื่อทำความเข้าใจพลวัตการเคลื่อนย้ายของชาวกะเหรี่ยง เช่น งานศึกษาของเรนาร์ด (Renard, 1980: 132) ที่ระบุว่า กะเหรี่ยงโปบางส่วนเป็นเชลยสงครามที่ถูกกวาดต้อนให้มาอยู่เชียงใหม่โดยพระเจ้ากาวิละ ในปี ค.ศ. 1802 (พ.ศ. 2355) ส่วนงานศึกษาของกุนสตัดเตอร์(Kunstadter, 1967: 69) ระบุว่า กลุ่มกะเหรี่ยงหลายกลุ่มได้โยกย้ายจากพม่ามาในระยะเวลาที่แตกต่างกันตั้งแต่ 100 - 400 ปี ส่วนงานศึกษาของมิสชุง (Mischung, 1980: 20) ระบุว่า ชุมชนกะเหรี่ยงบางชุมชนส่งส่วยและช้างให้เจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นประจำทุกปีเพื่อแลกเปลี่ยนกับดินแดนที่อยู่อาศัย ในขณะที่บางชุมชนต้องส่งส่วยให้ลัวะที่เป็นเจ้าของที่ดินในอัตราร้อยละ 10 ของผลผลิตข้าว

สำหรับกะเหรี่ยงในภาคตะวันตกของประเทศไทยได้เคลื่อนย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในความปกครองของกษัตริย์สยามและเคยเข้าร่วมในกองทัพของสยามเพื่อต่อสู้กับพม่าเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว ทำให้บางคนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงในกองทัพ (สยามอารยะ, 2543: 30) นอกจากนี้ การที่พระเจ้าอลองพญาได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดจากการทำสงครามกับกษัตริย์มอญ ในปี พ.ศ. 2298 (สุจริตลักษณ์ และสรินยา, 2540) ทำให้กะเหรี่ยงซึ่งอยู่ใต้อาณัติของมอญ ต้องอพยพโยกย้ายเข้ามาในเขตปกครองของอาณาจักรไทย ในพื้นที่ป่าของจังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ต่อมากษัตริย์สยามจึงได้แต่งตั้งเจ้าเมืองคนกะเหรี่ยง ให้ดำรงตำแหน่งพระศรีสุวรรณคีรี ทำหน้าที่ดูแลหัวเมืองหน้าด่าน มีผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองต่อเนื่องกันมาห้าคน ก่อนที่จะมีการปรับปรุงระบบบริหารราชการใหม่และยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง เจ้าเมืองคนสุดท้ายได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้านสะเนพ่อง อำเภอสังขละบุรี และได้รับพระราชทานนามสกุล “เสตะพันธุ์” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ. 2459

พลวัตการอพยพเคลื่อนย้ายของชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทย

ชาวกะเหรี่ยงประกอบด้วยกลุ่มย่อยหลากหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่กันมากในลุ่มแม่น้ำสาละวิน และลุ่มน้ำย่อยๆ เช่น แม่น้ำยูนซาลิน แม่น้ำจาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ตอนใต้ของรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญซึ่งอยู่ติดกับเขตประเทศไทย บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และกาญจนบุรี ก่อนการแบ่งเส้นเขตเดนประเทศไทยและประเทศพม่า ผู้คนได้เดินทางข้ามแดนไปมาในบริเวณลุ่มแม่น้ำเหล่านี้ และตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่เหมาะสมได้อย่างสะดวก จนกระทั่งยุคที่เริ่มมีแบ่งเส้นพรมแดนรัฐชาติ ทำให้พื้นที่ชายแดนกลายเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มงวดในการควบคุมตรวจตราการข้ามแดน ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ประเทศพม่าในปัจจุบัน จึงมีความคิดว่าบรรพบุรุษอยู่ในประเทศไทยกระทั่งมีตำนานที่ระบุว่า เชียงใหม่เคยเป็นเมืองหลวงของคนกะเหรี่ยง ในขณะเดียวกัน ชาวกะเหรี่ยงในเขตประเทศไทยจะมีความทรงจำเรื่องบรรพบุรุษที่ย้ายมาจากลุ่มแม่น้ำสาละวินซึ่งอยู่ในเขตประเทศพม่า หรือถูกกวาดต้อนมาในระหว่างที่เกิดศึกสงครามระหว่างอาณาจักรต่างๆ ในยุคก่อนสมัยใหม่Lehman (1979: 231) ที่กล่าวว่า การสู้รบระหว่างอาณาจักรไทยกับพม่าในช่วงศตวรรษที่ 17 ทำให้คนกะเหรี่ยงถูกกวาดต้อนมาอยู่ในไทย ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากการตั้งถิ่นฐานของคนกะเหรี่ยงในเขตลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ทางตะวันตกของประเทศไทย

นอกจากการเคลื่อนย้ายข้ามเขตอาณาจักรแล้ว ยังมีการโยกย้ายภายในอาณาจักร โดยเฉพาะ ที่กล่าวถึง กลุ่มกะเหรี่ยงในจังหวัดเชียงราย โดยกล่าวถึงประวัติการตั้งถิ่นฐานของยางกะเลอ ยางขาว และยางแดงว่ายางกะเลอที่อยู่ที่อำเภอแม่จัน ได้อพยพโยกย้ายมาจากอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในปี 2430 โดยมากันจำนวน 50 ครอบครัวนำโดยหมื่นพรหม มาอยู่ที่บ้านดอย หมู่ที่ 5 ตำบลปงน้อย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ภายหลังได้ขยายเป็นหมู่ที่ 7 บ้านห้วยสัก คนในหมู่บ้านนี้ได้รับนามสกุล “ก้างยาง” ที่ตั้งให้โดย พระแสนสิทธิเขตร นายอำเภอแม่จันเมื่อปี 2490 โดยคำว่า ก้าง เป็นชื่อพ่อของหมื่นพรหม ที่เป็นผู้นำ ในส่วนของ ยางขาว เคยอยู่แถวเมืองตองอู ในเขตประเทศพม่า ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ ห้วยมะขม ตำบลแม่ยาม จังหวัดเชียงราย ส่วนยางแดง ที่เรียกตัวเองว่า ฉั่ว อยู่อาศัยที่บ้านโป่งพระบาท ตำบลบ้านดู่ ย้ายมาจากเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง(บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2493:311-382)

สภาพแวดล้อมของการตั้งถิ่นฐาน

คนกะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานในประเทศพม่ามาหลายศตวรรษจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พบคำว่า karyan ในศิลาจารึกที่พระเจดีย์ชเวกวินชา ที่เมืองพะโค ศิลาจารึกนี้น่าจะมีอายุราว ค.ศ. 1240 (พ.ศ. 1783) กล่าวถึง ชาวเขาเผ่า Karyan ซึ่งใส่เสื้อทรงกระสอบมีแขนในตัว วิธีการใส่จะสวมหัวลงมา และมีจารึกอีกหลายหลักที่กล่าวถึงกะเหรี่ยง เช่น จารึก ค.ศ. 1276 (พ.ศ. 1819) ที่ได้ระบุรายชื่อข้าพระที่ผู้ใจบุญกัลปนาถวายวัดว่า มีข้าพระที่เป็นเผ่า กะตู เผ่าสะกอ และเผ่าตองตูเช่นเดียวกับจารึก ค.ศ. 1242 (พ.ศ. 1785) ที่ได้กล่าวถึงข้าพระที่เป็นเผ่าสะกอที่เมืองสกู ซึ่งอาจเป็นบริเวณเมือง Minbu บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดี เช่นเดียวกับจารึกที่ Minnanthu ที่ระบุถึง กลุ่มสะกอที่ตั้งถิ่นฐานเป็นปึกแผ่นอยู่ทางด้านตะวันตกของเมืองแปรใน ค.ศ. 1342 (พ.ศ. 1885) (สุริยา รัตนกุล, 2529)

ชาวกะเหรี่ยง ส่วนใหญ่ตั้งหมู่บ้านกระจายในหุบเขาและภูเขาบริเวณชายแดนไทย-พม่า โดยในเขตประเทศพม่า กะเหรี่ยงอยู่กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่พะโค แถบภูเขาตะนาวศรี และเขตภูเขาทางตะวันออกที่ทอดยาวตั้งแต่รัฐฉานทางเหนือลงมาถึงทวายและมะริดในทางตอนใต้

สำหรับการตั้งถิ่นฐานของคนกะเหรี่ยงในภาคเหนือของประเทศไทยนั้นRenard (2002) ระบุว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มคนที่เก่าแก่ โดยพิจารณาจากภาษา คาดว่าจะมีอายุมากกว่า 1,500 ปี และน่าจะมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่แถบรัฐคะยาห์ในปัจจุบัน อาจเป็นไปได้ว่า ในช่วงก่อนปลายคริสตวรรษที่ 17 บางส่วนจะเดินทางเข้ามาอยู่ในลุ่มน้ำปิง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากรัฐคะยาห์ แม้จะเป็นการตั้งถิ่นฐานชั่วคราว หลักฐานที่เป็นการเขียนที่เก่าแก่ที่สุด ปรากฎผ่านตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญไชย ซึ่งเขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1566 (พ.ศ. 2109) กล่าวถึง เหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1351 (พ.ศ. 1894) หรือ 1352 (พ.ศ. 1895) ว่า พระเจ้ากือนาส่งช้างให้เดินไปยังสถานที่ที่กษัตริย์องค์ก่อนสร้างสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนาไว้ ในตำนานระบุว่าช้างเดินทางผ่านไปตามสถานที่และป่าเขาในบริเวณลุ่มน้ำปิง และผ่านบ้าน “ยางเปียง” ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นพื้นที่ที่มีคนกะเหรี่ยงอยู่อาศัย

หลักฐานชิ้นต่อมาคือ จารึกที่พระนางวิสุทธิเทวีสั่งให้ทำขึ้นเพื่อยืนยันให้ข้าวัดยังอยู่กับวัดต่อไป ไม่ให้ผู้ปกครองใหม่ซึ่งเป็นพม่ากวาดต้อนข้าวัดกลับ ในจารึกกล่าวว่า “หนังสือ…มอบให้แก่ยาง วิสุทธอาราม อันคนทั้งมวลเหล่านี้ เป็นข้าทาส ที่ได้พระราชทานไว้กับวัด..อีกทั้งข้าท้าวบ่าวพระยา….ก็รู้ว่าเขาทั้งหลายเหล่านี้ เป็นข้าทาสที่ได้พระราชทานไว้กับวัดวิสุทธิ รวมทั้งป่าทั้งยาง…” นอกจากนี้มีคำว่า ยางปรากฏอยู่ในที่อื่น ๆ ซึ่ง Renard ก็ตั้งเป็นคำถามว่า ยางในที่นี้ หมายถึง ผู้ที่พูดภาษาตระกูลกะเหรี่ยงใช่หรือไม่

จากประวัติศาสตร์การบอกเล่า การเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตภาคเหนือของประเทศไทยในระยะ 200-300 ปีมานี้ ปรากฎชัดในชุมชนกะเหรี่ยงที่อยู่หมู่บ้านในเขตอำเภอสันป่าตอง ที่เล่าว่า บรรพบุรุษมาจากบริเวณ Zwei Kabin ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะถูกกวาดต้อนโดยพระเจ้ากาวิละ ในช่วงปี ค.ศ. 1806 (พ.ศ. 2349) ในขณะเดียวกันมีหมู่บ้านกะเหรี่ยงหลายแห่งอาจจะย้ายเข้ามาโดยสมัครใจ บางกลุ่มเคลื่อนย้ายเข้ามาจากทิศตะวันตกซึ่งเป็นเขตประเทศพม่าในปัจจุบัน บางกลุ่มตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ต้นน้ำแม่กลาง ได้ขออนุญาตเจ้าเมืองเชียงใหม่ อาจจะเป็นเจ้ากาวิโลรส หรือเจ้าอินทวิชยานนท์ ในปลายคริสตทศวรรษที่ 1870 ซึ่งเป็นเจ้าเมืองได้ขอช้างเป็นค่าตอบแทน โดยที่กะเหรี่ยงให้เงิน 500 รูปี แทนการให้ช้างแลกกับเอกสารใบลานที่บันทึกสัญญาการให้ใช้ที่ดินไว้เป็นหลักฐาน(Mischung, 1980:20) บางแห่งระบุว่ากะเหรี่ยงต้องส่งส่วยให้เจ้าที่ดินลัวะเป็นจำนวนร้อยละ 10 ของผลผลิตข้าวที่ได้ (Kunstadter, 1967: 69)

ส่วนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย มีประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่แตกต่างจากกะเหรี่ยงในพื้นที่ภาคเหนือ ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้มีการอพยพครั้งสำคัญจากพม่าเข้ามาในเขตไทยในสมัยพระเจ้าอลองพญา ทำสงครามกับชาวมอญ เมื่อชาวมอญมอญพ่ายแพ้ ทำให้กะเหรี่ยงซึ่งเป็นมิตรกับมอญได้รับผลกระทบและอพยพหลบหนีตามชาวมอญเข้ามาในประเทศไทย 2 เส้นทาง ดังนี้

เส้นทางที่ 1 การอพยพเคลื่อนย้ายทางทิศใต้บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี

เส้นทางที่ 2 การอพยพเคลื่อนย้ายในทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอนลงมาตามบริเวณชายแดนไทยในเขตจังหวัดตาก(สุจริตลักษณ์ และ สรินยา 2540) เมื่อ 200 ปีก่อน ได้เข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ไทยและช่วยไทยรบกับพม่า และมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองคนกะเหรี่ยงให้ปกครองหัวเมืองชายแดนเขตจังหวัดกาญจนบุรี โดยให้ตำแหน่งเป็นพระศรีสุวรรณคีรี สืบทอดตำแหน่งมาหลายสมัย จนกระทั่งเปลี่ยนระบบเป็นนายอำเภอจึงยุติไป (สยามอารยะ, 2000: 30) ในขณะที่กะเหรี่ยงทางภาคเหนือไม่ได้มีประสบการณ์ของการรวมตัวกันในระดับที่สูงกว่าหมู่บ้านภายใต้การปกครองของคนกะเหรี่ยงด้วยกัน

การสำรวจจำนวนประชากรกะเหรี่ยงในประเทศไทย ของกองสงเคราะห์ชาวเขา ร่วมกับสถาบันวิจัยชาวเขา และหน่วยงานอื่นๆได้สำรวจชุมชนบนพื้นที่สูงทุกจังหวัดในประเทศไทยในปี 2545 พบว่า มีประชากรชาวกะเหรี่ยงรวม 438,450 คน อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน 1,925 แห่ง ในเขตพื้นที่สูง 9 จังหวัดภาคเหนือ และ 6 จังหวัดภาคกลางที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนตะวันตก จังหวัดที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มากที่สุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่น้อยที่สุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธุ์ กำแพงเพชร สุพรรณบุรี จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่สูง เช่น สุโขทัย ติดกับลำปาง ส่วนกำแพงเพชร ติดกับจังหวัดตาก เป็นต้น

ภายหลังจากปี 2545 เป็นต้นมา ไม่ได้มีการสำรวจอย่างครอบคลุม จึงไม่สามารถระบุจำนวนประชากรที่เป็นทางการได้ แต่คาดว่าจนถึงปี 2565 จำนวนคนกะเหรี่ยงในประเทศไทยจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคน โดยไม่รวมคนกะเหรี่ยงที่เป็นผู้ลี้ภัย อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงผู้หนีภัย (ค่ายอพยพ) และแรงงานข้ามชาติเชื้อสายกะเหรี่ยงที่มีจำนวนหลายแสนคน

การดำรงชีพ

วิถีการดำรงชีพดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ ในการทำไร่หมุนเวียนและทำนาปลูกข้าว การปลูกพืชผัก ไม้ยืนต้น การหาของป่าล่าสัตว์ รวมทั้งการจับปลา และการเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นประเภทหมูและไก่เพื่อการทำพิธีกรรมและการบริโภค นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงวัว ควาย ที่เลี้ยงไว้ขาย และบางแห่งเลี้ยงช้างไว้ชักลากไม้ และม้าสำหรับการขนส่ง ทั้งนี้ ระบบการผลิตแต่ดั้งเดิมเน้นเพื่อการผลิตเพื่อบริโภคหรือการผลิตเพื่อยังชีพภายในครัวเรือนและแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันภายในชุมชนเป็นหลัก รูปแบบของการทำไร่ข้าวเป็นลักษณะที่เรียกว่า “ไร่หมุนเวียน” ซึ่งเป็นระบบการเกษตรที่เป็นวิถีชีวิตทั่วไปในพื้นที่เขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะใช้พื้นที่ทำไร่ข้าว 1 ปี จากนั้นก็พักฟื้นพื้นที่ทำกิน โดยพื้นที่จะกลายเป็นป่า การพักทิ้งไว้มากกว่า3 ปี ก่อนที่จะกลับมาทำในที่เดิมอีกครั้งเมื่อครบรอบการหมุนเวียน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าครัวเรือนมีไร่เป็นจำนวนกี่แปลง ส่วนใหญ่พบว่าอยู่ระหว่าง 3-8 แปลง ระยะของวงจรการหมุนเวียนแต่ละรอบขึ้นอยู่กับคุณภาพของดินและฝนฟ้าอากาศของแต่ละปีประกอบด้วย (ประเสริฐ ตระกานศุภกร, 2540)

การที่ชุมชนกะเหรี่ยงมีความหลากหลายในด้านพื้นที่การตั้งถิ่นฐาน ทำให้สัดส่วนของการทำไร่ ทำนา มีลักษณะแตกต่างกัน บางพื้นที่ไม่สามารถทำนาได้ ในขณะที่บางพื้นที่มีอัตราส่วนการทำนามากกว่าทำไร่ การทำนาจะต้องใช้แรงงานมากในตอนเริ่มต้น เนื่องจากต้องมีการบุกเบิกผืนนาตามไหล่เขาหรือที่ราบเชิงเขา และการขุดร่องน้ำเพื่อให้น้ำจากลำธารสามารถหล่อเลี้ยงข้าวในนา การทำนาจะต้องเบิกนาเป็นขั้นลดลั่นกันไปตามไหล่ดอยลงสู่ที่ต่ำ เรียกว่า “นาขั้นบันได” เพื่อให้สามารถผันน้ำจากลำห้วยมาใช้ได้ และจะมีการปล่อยน้ำจากนาไหลกลับลงสู่ลำห้วยอีกทอด

ในด้านการผลิตอาหารของชาวกะเหรี่ยง จากเดิมเป็นการผลิตเพื่อยังชีพแต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเป็นการผลิตเพื่อขายซึ่งเป็นการรับอิทธิพลจากระบบทุนนิยม โดยมีการปลูกพืชเศรษฐกิจ ที่นิยมอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ข้าวโพด กะหล่ำปลี มันสำปะหลัง มันฝรั่ง มะเขือเทศ พืชเศรษฐกิจเหล่านี้มักมาในรูปแบบของเกษตรพันธสัญญาทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่มีลายลักษณ์อักษร (สุรพจน์ มงคลเจริญสกุล, 2558)

สำหรับชุมชนกะเหรี่ยงในดอยอินทนนท์ เป็นหมู่บ้านที่มีโครงการหลวงตั้งอยู่ มีน้ำใช้สำหรับทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่อุณหภูมิต่ำ อากาศเย็นตลอดทั้งปี ประกอบกับการคมนาคมที่สะดวก ทำให้การปลูกผัก ผลไม้ ดอกไม้เมืองหนาว กลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชน สำหรับการผลิตในที่นานั้น ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการปลูกข้าวเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงให้ความสำคัญอย่างมากในการมีข้าวไว้บริโภคเป็นของตนเอง ส่วนผลผลิตส่วนเกินที่ได้จากข้าวจึงจะนำมาขาย

นอกจากวิถีการดำรงที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจแล้ว ชาวกะเหรี่ยงยังมีการประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรมากขึ้นอาชีพของชาวกะเหรี่ยงในประเทศพม่า มีการส่งเสริมของเจ้าอาณานิคมและมิชชันนารีตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้คนกะเหรี่ยงจำนวนหนึ่งได้รับการศึกษาสูง และมีการประกอบอาชีพที่เป็นทักษะชั้นสูง เช่น หมอ ครู วิศวกร นักธุรกิจและนักการเมือง ซึ่งเป็นอาชีพนอกภาคเกษตรที่เกิดขึ้นก่อนชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยนับศตวรรษ

สำหรับคนกะเหรี่ยงในประเทศไทย การเข้าสู่ระบบการศึกษาและการได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น เกิดขึ้นเมื่อประมาณช่วงหลังปี 2530 เป็นต้นมาชุมชนที่มีผู้คนทำงานนอกภาคเกษตรมีกจะย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานทั้งในรูปแบบถาวรและตามฤดูกาล อาชีพของชาวกะเหรี่ยงมีความหลากหลาย ได้แก่ ข้าราชการ นักพัฒนาเอกชน ทนายความ นักธุรกิจ รับจ้างหน่วยงานรัฐและเอกชน และรับจ้างทั่วไป อย่างไรก็ดี มีชาวกะเหรี่ยงจำนวนไม่น้อยที่มีการทำเกษตรสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อขายและอาศัยวัสดุการเกษตรจากภายนอกชุมชน ควบคู่กับระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมในการทำไร่หมุนเวียนและการทำนาที่เน้นการผลิตเพื่อยังชีพและมีการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก

ดังกรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินลาดใน (ประเสริฐ ตระการศุภกรและคณะ,2555) ที่พยายามดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมควบคู่กับการทำเกษตรสมัยใหม่ โดยการทำไร่หมุนเวียน และการทำนาในขณะที่หมู่บ้านพยายามหารายได้เงินสดเพิ่มเติมจากการเลี้ยงผึ้ง และเก็บใบชา ชุมชนบ้านห้วยหินลาดในจึงมีรูปแบบการใช้และการจัดการที่ดินในการทำการเกษตรที่สำคัญ 3 รูปแบบ ได้แก่

รูปแบบที่ 1 การทำไร่หมุนเวียน ชุมชนได้มีการผลิตแบบระบบไร่หมุนเวียนสืบทอดกันมายาวนาน โดยระบบนี้ จะใช้พื้นที่หนึ่งปีแล้วทิ้งให้เป็นไร่เหล่าเพื่อการพักฟื้นให้ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ และหมุนเวียนกลับมาทำไร่เดิมอีกในปีที่ 7หมู่บ้านนี้ยังมีพื้นที่ทำไร่เพียงพอจึงสามารถหมุนรอบได้ 5-7 ปีโดยไร่เหล่าที่พักฟื้นในระยะเวลาที่แตกต่างกันจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันเนื่องจากองค์ประกอบและลักษณะของไร่ที่แตกต่างกันไป ได้แก่

“ไร่เหล่ากินข้าว” (ฉกื่-เอาะ-เม)เป็นไร่เหล่าพักฟื้น 1 ปี เป็นไร่ที่ได้ผลผลิตที่ได้กินข้าวในปีนั้น ซึ่งในพื้นที่จะมีร่องรอยของการทำไร่อย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น ตอไม้ ตอไผ่ ต้นหญ้าแตกหน่อแตกกอใหม่ ในพื้นที่ยังมีพืชที่สามารถนำมาเป็นอาหารได้ เช่น มัน เผือก ถั่ว เป็นต้น รวมทั้งเป็นที่เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย และเป็นที่หากินของสัตว์ขนาดเล็ก เช่น หนู ตุ่น อ้น เป็นต้น มีมูลไส้เดือนเต็มไปหมด แสดงถึงความสมบูรณ์ของดิน

“ไร่เหล่าขาว”(ฉกี่-วา)เป็นไร่เหล่าพักฟื้น 2 ปี บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ไร่ซากที่สามารถนำมาเป็นอาหารได้ เช่น พริก มะเขือ มัน กระเจี๊ยบ ต้นสาบเสือและต้นหนาดงอกขึ้นมาเต็มผืนไร่ ต้นไม้ ต้นไผ่งอกขึ้นมาใหม่ขนาดข้อมือต้นไม้ที่เคยถูกริดกิ่งจะแตกกิ่งใหม่เกือบเป็นเหมือนต้นเดิม เป็นที่อยู่และหลบภัยของสัตว์ขนาดเล็ก เช่น หนู ตุ่น เป็นต้น

“ไร่เหล่าอ่อน” (ฉกี่-เบาะ) เป็นไร่เหล่าพักฟื้น 3 ปี พื้นที่ดังกล่าวมีไม้แตกกอและมีลูกไม้งอกเจริญเติบโตสามารถนำมาเป็นอาหารได้เช่น มะละกอ กล้วย มันแกว รวมถึงมีต้นไผ่ที่งอกขึ้นมาใหม่ ขนาดท่อนแขน เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยสัตว์ป่าใหญ่ เช่น เก้ง หมูป่า แม่น หมี ต้นไม้ที่เคยถูกริดกิ่งกลับมาเป็นต้นเดิม ต้นหญ้าเริ่มเหี่ยวแห้ง เพราะถูกบดบังจากต้นไม้

“ไร่เหล่ากระทง” (ดู-ลุ-ถ่อ) เป็นไร่เหล่าพักฟื้น 4 ปี สังเกตจากต้นไม้ ต้นไผ่ขนาดเท่าโคนขา บางชนิดเริ่มออกดอกออกผล เช่น มะขามป้อม เป็นต้นเป็นที่อาศัยของนกชนิดต่างๆ เช่น นกเขา นกอีมู นกเปล้า เป็นต้น และเป็น+แหล่งอาหารของสัตว์ป่า เช่น เก้ง กวาง ซึ่งเข้ามาหากินลูกมะขามป้อม เป็นที่หลบภัย แหล่งอาหาร และที่ขยายพันธุ์ของนก หนูหลายชนิด หญ้าชนิดต่างๆ เริ่มตายไป มียาสมุนไพรสำหรับรักษาหลายชนิด

“ไร่เหล่าหนุ่ม” (ดู-เยาะ-โปล่) เป็นไร่เหล่าพักฟื้น 5 ปี จะมีต้นไม้และต้นไผ่ขนาดสองฝ่ามือโอบไม่ถึง มีสัตว์ป่าหลายชนิดมาอาศัยและหากิน เป็นที่อาศัยและหากินของแมลงหลายชนิด มีไม้ใช้สอยหลายชนิด เช่น ไม้ทำรั้ว ไม้สร้างบ้าน

“ไร่เหล่าแก่” (ดู-หละ) เป็นไร่เหล่าพักฟื้น 6 ปี มีต้นไม้ต้นไผ่ขนาดทำเสาเรือนได้ เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของไก่ป่า ไก่ฟ้า เก้ง อีเห็น และนก

“ไร่เหล่าที่เป็นป่า” (ดู-ปก่า) เป็นไร่เหล่าพักฟื้น 7 ปี ซึ่งมีต้นไม้ขนาดทำเสาเรือนได้ ต้นไม้ที่ถูกริดกิ่งอยู่กลมกลืนกับต้นไม้งอกใหม่ หญ้าชนิดต่างๆ เน่าเปื่อยและถูกย่อยสลายเป็นสารอาหารในดิน เป็นแหล่งอาหารของเก้ง กวาง หมูป่า

วิถีการทำไร่หมุนเวียนเป็นระบบเกษตรผสมผสานที่สามารถผลิตข้าวเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายของพืชพรรณ ประมาณ 70 ชนิด 137 สายพันธุ์ สะท้อนให้เห็นว่าไร่หมุนเวียนเป็นแหล่งอาหารสมุนไพร ไม้ใช้สอยที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความปลอดภัย ให้กับคนและสัตว์เลี้ยงประเภทวัวควาย ซึ่งเป็นแรงงานและอาหาร ในขณะเดียวกันยังเป็นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ที่อาศัยและหากินในไร่เหล่า

การทำไร่หมุนเวียนจึงเป็นกลไกสำคัญในการสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติภายใต้ข้อห้ามและระเบียบกฎเกณฑ์เชิงอนุรักษ์ เช่น ห้ามทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ที่มีน้ำล้อมรอบ การห้ามทำไร่ในพื้นที่ที่มีน้ำสามสายมาบรรจบกัน เพราะเสี่ยงต่อการพังทลายของดิน การสร้างความมั่นคงทางอาหารของคนและสัตว์ป่า การป้องกันไฟป่าจากการจัดทำแนวกันไฟก่อนเผาไร่ นอกจากนี้การทำไร่หมุนเวียนยังเป็นระบบการแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างเครือญาติและคนในชุมชนให้มีความใกล้ชิดกัน เนื่องจากการทำไร่หมุนเวียนได้สร้างความสนุกสนานรื่นเริงและเป็นโอกาสของการพบปะของคนหนุ่มสาว

กรณีศึกษาการทำไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน เจ้าของไร่จะเป็นเจ้าของข้าวในเฉพาะปีแรก ส่วนผลผลิตประเภทอื่น เช่น แตง มะเขือ ฯลฯ ผู้คนในชุมชนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนรวมที่ผู้คนในชุมชนเปรียบเสมือนเครือญาติที่มีความใกล้ชิด ผูกพันและสามัคคีกัน ในส่วนของรอบในการหมุนของชุมชน จะมีระยะรอบไร่หมุนเวียน 6 ปี ภายใต้แนวทางการจัดการที่ดินแบบมีส่วนร่วม มีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน โดยเริ่มต้นจากพิธีการปลูกประเดิม ที่ต้องใช้หญิงสาว จำนวน 2 คน และชายหนุ่มจำนวน 1 คน ที่ไม่ใช่เจ้าของไร่ทำการปลูก ภายหลังจากการปลูกข้าว เจ้าของไร่จะทำการต้มข้าวและเรียกบุคคลที่เริ่มปลูกข้าวมาดื่มเหล้าร่วมกัน การทำไร่หมุนเวียน จึงเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าที่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่กายภาพและพื้นที่วัฒนธรรม

1) พื้นที่กายภาพ การทำไร่หมุนเวียนสะท้อนให้เห็นการใช้ทรัพยากร ที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเนื่องจากเป็นระบบการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี ไม่มีการพลิกหน้าดิน ทำให้การชะล้างพังทลายของหน้าดินเกิดขึ้นน้อย การทำไร่หมุนเวียนจึงเป็นพื้นที่สร้างวงจรความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งความหลากหลายเมล็ดพันธุ์ การเป็นแหล่งอาหารของสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า รวมทั้งเป็นพื้นที่ขยายพันธุ์ของสัตว์ป่า

2) พื้นที่วัฒนธรรม เป็นพื้นที่ที่สะท้อนวิถีชีวิต ภูมิปัญญาของกลุ่มชาตพันธุ์ ผ่านการสร้างกระบวนการสืบทอดทางวัฒนธรรมหลายมิติ ได้แก่ 1) การสร้างความสามัคคีในชุมชน ผ่านการลงแขกช่วยเหลือแรงงาน2) การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์ซึ่งกันและกัน การร้องเพลง เล่านิทาน ควบคู่กับการถ่ายทอดฐานคิดในการพึ่งตนเองซึ่งเป็นหลัก 2) การถ่ายทอดจักรวาลวิทยาของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการป้องความขัดแย้งภายในชุมชนจากการแย่งชิงทรัพยากร การป้องกันความโลภ เพราะการทำไร่หมุนเวียนเป็นกระบวนการทำงานที่มีความยากลำบากและมีความละเอียดทำได้ในพื้นที่จำกัด ครอบครัวขนาดเล็กใช้พื้นที่ประมาณ 2 ไร่จึงเป็นสาเหตุที่ไม่เอื้อต่อการสร้างแรงจูงใจในการแย่งชิงพื้นที่ทำกิน ในทางตรงกันข้ามระบบดังกล่าวกลับเอื้อต่อการแบ่งปันในการใช้พื้นที่ทำกินและหลักการแบ่งปันแรงงานและการแบ่งปันผลผลิต ดังคำพังเพยที่ว่า “ได้กินก็ได้กินด้วยกันทั้งหมู่บ้าน หากอดอยากก็ต้องอดอยากกันทั้งหมู่บ้าน” ไร่หมุนเวียนเป็นแหล่งผลิตและเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่หลากหลาย เมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ในไร่หมุนเวียนเพราะจะเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านกระบวนการปลูกในพื้นที่ไร่หมุนเวียนภายใต้การใช้หลักการของ In situ

รูปแบบที่ 2 การทำสวนผสมผสานในรูปแบบของวนเกษตร ในบางชุมชนมีการรักษาต้นชาที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติในพื้นที่ป่า ปลูกเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีการปลูกกาแฟ และไม้ผลชนิดต่างๆ ที่ผสมผสานในพื้นที่ป่ากลายเป็นพื้นที่ที่สามารุใช้ประโยชน์ทั้งแหล่งอาหาร สมุนไพร ไม้ใช้สอย และแหล่งรายได้ให้กับผู้คนในชุมชน

รูปแบบที่ 3การทำนาข้าว โดยปรับพื้นที่ที่เหมาะสมและทำระบบทดน้ำหรือขุดลำเหมืองให้น้ำเข้าในที่นาได้ พื้นที่ทำนาข้าว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ไม่ลาดชัน

เครื่องมือเครื่องใช้สำคัญในชีวิต

เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวปกาเกอะญอที่ผลิตขึ้นเอง ส่วนใหญ่เป็นหัตถกรรม เช่น การจักสาน การทอผ้า การตีเหล็ก การแกะสลัก การปั้นดินเผา ดังนี้

    • กระด้ง ทำจากไม่ไผ่ด้วยวิธีการผ่าไม้ไผ่ เหลาให้เป็นเส้นบางๆ ลักษณะเช่นเดียวกับตอก สานเป็นรูปวงกลม ทำขอบด้วยไม้ไผ่ ใช้สำหรับฝัดข้าว
    • ครกกระเดื่อง ทำจากไม้เนื้อแข็ง ด้วยวิธีการเจาะท่อนไม้ให้เป็นรูวงกลมกว้างสำหรับทำเป็นตัวครก เจาะรูขนาดเล็กสำหรับทำเป็นตัวครอ อีกส่วนหนึ่งให้ตัดปลายสองข้างโค้งมนเป็นสาก ครกกระเดื่องใช้สำหรับตำข้าวเปลือก
    • กระบุง ทำจากไม่ไผ่ด้วยวิธีการผ่าไม้ไผ่ เหลาให้เป็นเส้นบางๆ ลักษณะเช่นเดียวกับตอก สานขึ้นรูปเป็นสี่เหลี่ยมของโค้งมน ความสูงประมาณ 80 เซนติเมตร ใช้สำหรับเก็บข้าวสาร เมล็ดพันธุ์ หรือใช้สำหรับใส่เสื้อผ้าก็ได้
    • ไห ทำจากไม้เนื้อแข็งด้วยวิธีการเจาะให้เป็นรูวงกลมกว้าง ใช้สำหรับนึ่งข้าวเหนียวหรือการทำขนม นึ่งถั่วเน่า นึ่งผลไม้
    • ไม้พันผ้า ไม้กระทบ ไม้แยกด้าย ทำจากไม้เนื้อแข็ง ใช้สำหรับการทอผ้า
    • แผ่นคาดหลัง ทำจากหนังสัตว์ ตัดความกว้างประมาณหนึ่งฝ่ามือ ความยาวประมาณครึ่งหนึ่งของรอบเอวผู้ที่จะใช้ เจาะรูสองข้างสำหรับคล้องเชือก ใช้สำหรับทอผ้า
    • หม้อดิน ทำจากดินเหนียว โดยเฉพาะดินที่เป็นรังจอมปลวกจะมีความเหนียวและแข็งแรง ปั้นขึ้นรูปและน้ำไปเผา ใช้สำหรับใส่น้ำดื่ม
    • กระบวย ทำมาจากกะลามะพร้าวแก่ ด้ามทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ใช้สำหรับตักน้ำดื่ม
    • มีด จอบ เสียม นิยมทำมาจากคันไถเก่าของรถไถนา และแหนบเก่าในรถยนต์ ด้วยวิธีการเผาให้ร้อน และตีขึ้นรูป ใช้งานได้หลากหลาย เช่น ขุด ตัด

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

จักรวาลวิทยาหรือระบบความเชื่อดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง เชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์แบ่งออกเป็นสามประเภท ประเภทแรก สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในตำนานการสร้างโลก การกำหนดชะตากรรมของคน รวมทั้งเป็นผู้ที่ทำให้เกิดสังคมและวัฒนธรรมกะเหรี่ยง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประเภทนี้ไม่ได้มีพิธีกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องมากนัก แต่จะปรากฏในเพลงธา ที่ใช้อ้างอิงเพื่ออธิบายความเป็นมาของชีวิตและวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง ประเภทที่สอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในธรรมชาติ เป็นผู้ปกปักษ์รักษา แผ่นดิน แม่น้ำ ป่าไม้ ลำธาร ฯลฯ จะมีพิธีกรรมการบูชาทั้งในระดับหมู่บ้าน เขตพื้นที่ต้นน้ำ ในไร่ นา สวน เหมืองฝาย ฯลฯ ประเภทที่สามผีหรือวิญญาณของบรรพบุรุษ จะมีพิธีกรรมการบูชา เพื่อขอพรให้ปกปักษ์รักษาลูกหลานและประเภทที่สี่ ภูติ ผี วิญญาณที่มักจะกระทำต่อผู้คน

สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประเภทแรกที่มีความสำคัญต่อชาวปกาเกอะญอ คือ “ยวา” ถือเป็นพระเจ้าสูงสุดที่สร้างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในตำนานที่สำคัญของกะเหรี่ยงที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างยวากับชาวกะเหรี่ยง อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างตัวตนของกะเหรี่ยง

สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกตนหนึ่งที่กล่าวถึงในตำนานและปรากฏในพิธีกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีงานศพ คือ โคเส่ หรือเจ้าแห่งความตายในงานของมาร์แชลที่บรรยายชีวิตและวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงในพม่า (1997;1922, 227) ว่า โคเส่และภรรยาวางแผนฆ่าลูกเขยแต่เขาและภรรยากลับถูกฆ่า และเกิดเป็นสายรุ้งทางตะวันตกและตะวันออก ซึ่งเป็นสิ่งที่คนกะเหรี่ยงเกรงกลัว สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกตนหนึ่งที่ถูกเล่าขานกันในชีวิตประจำวันคือ มือคาเขล่อ หมายถึง เทวดาที่อยู่กับต้นโพธิ์หรือต้นไทร เปรียบเสมือนผู้ให้กำเนิดมนุษย์ เชื่อกันว่าเมื่อมนุษย์คนหนึ่งจะเกิดมา ต้องไปแจ้งที่มือคาเขล่อว่าต้องการจะเกิดเป็นคนแบบไหน รวยหรือจน สวยหรือน่าเกลียด จะนำเอาสิ่งใดติดตัวไปบ้างและต้องการจะมีชีวิตอยู่กี่ปีในโลก โดยมือคาเขล่อจะจดบันทึกสิ่งที่ผู้ที่จะมาเกิดต้องการลงบนหัว มือคาเขล่อยังเป็นผู้กำหนดว่าใครจะเป็นสามีหรือภรรยา โดยนำเอาเลือดของทั้งสองฝ่ายมาผสมกัน ถ้าผสมเข้ากันดีทั้งคู่ก็จะได้แต่งงานกัน ถ้าไม่เข้ากับใครแสดงว่าจะเป็นโสดตลอดไป

ศาสนา

การนับถือศาสนาดั้งเดิมดำเนินมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปชุมชนกะเหรี่ยงในประเทศไทยได้รับการเผยแพร่ศาสนาในระยะแรกเริ่มโดยกลุ่มกะเหรี่ยงคริสต์จากประเทศพม่าที่เดินทางมาเผยแพร่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาเมื่อเกิดสงครามซึ่งเป็นอุปสรรคในการเดินทางมาเผยแพร่ศาสนา ทำให้กิจการของคริสตจักรหยุดชะงัก ไม่ขยายตัว จนกระทั่งช่วงหลังปี พ.ศ. 2500 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมในชุมชนและครัวเรือนมีการปรับเปลี่ยน การดำรงรักษาศาสนาแบบดั้งเดิมเริ่มมีความลำบาก ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน ประกอบกับการเข้ามาช่วยเหลือของมิชชันนารี ชาวบ้านจึงเริ่มทยอยตัดสินใจยกเลิกประเพณีเลี้ยงผีบรรพบุรุษหันไปรับเอาคริสต์ศาสนา ที่เข้ามาพร้อมกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ

ตัวอย่างหมู่บ้านกะเหรี่ยงสะกอที่อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 20 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยห้าหย่อมบ้านเล็ก ซึ่งอยู่ห่างกันในระยะ 5-10 กิโลเมตร (Kwanchewan Buadaeng, 2003) ตั้งอยู่ในระดับความสูง 800-1000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล หมู่บ้านกะเหรี่ยงในบริเวณนี้ตั้งมาไม่น้อยกว่า 200 ปี โดยอาจจะเปลี่ยนบริเวณที่ตั้งบ้างแต่ไม่ห่างไกลจากที่เดิมมากนัก แต่ละหย่อมบ้านจะมีสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสายตระกูลทางมารดาเดียวกัน (Matrilineage) ทำให้มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่สอดคล้องกับการนับถือผีบรรพบุรุษซึ่งเน้นความสำคัญของผีบรรพบุรุษฝ่ายมารดา ในการเข้าร่วมพิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพบุรุษ แต่ละครัวเรือนจะ ต้องเชิญลูกหลานที่สืบเชื้อสายมารดาเดียวกันมาเข้าร่วมเพื่อทำให้สมาชิกของครัวเรือนที่เจ็บป่วยหายจากการเจ็บป่วย หรือเพื่อให้เกิดความอยู่ดีมีสุขของสมาชิกที่อยู่ในเชื้อสายมารดาเดียวกัน ในระดับหมู่บ้านมีผู้นำของหมู่บ้านที่เรียกว่า ฮีโข่ ซึ่งแปลตรงตัวว่า “หัวบ้าน” ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชาวบ้านในการทำพิธีเลี้ยงผีใหญ่ ได้แก่ เจ้าดิน (ก่อกะจ่า) และเจ้าน้ำ (ทีกะจ่า) และเจ้าที่เป็น “เจ้าของ” สถานที่และวัตถุตามธรรมชาติ เช่น เจ้าแห่งต้นน้ำ เจ้าแห่งภูเขา ฯลฯ ที่มีหน้าที่ปกปักรักษาชีวิตและทรัพย์สิน และดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในด้านการผลิตของครัวเรือนในหมู่บ้าน

ฮีโข่ ยังเป็นผู้นำหลักที่ต้องรับผิดชอบดูแลให้การปฏิบัติของคนในหมู่บ้านเป็นไปตามจารีตประเพณีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งถ้ามีคนทำผิด เชื่อว่ามีผลทำให้เกิดภัยวิบัติต่าง ๆ เกิดขึ้นในชุมชน เช่น ภัยธรรมชาติที่รุนแรง โรคภัยไข้เจ็บ ทำให้มีชีวิตอยู่อย่างไม่ปกติสุข ฮีโข่ ต้องเป็นผู้นำในการทำพิธีกรรมที่แก้ไขการทำผิดตามจารีตประเพณี เพื่อขอขมาลาโทษสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และแก้ไขสิ่งที่เลวร้ายให้กลายเป็นดี การที่หมู่บ้านมีขนาดเล็กประกอบไปด้วยญาติพี่น้องที่ใกล้ชิด และมีวิถีการผลิตไปในรูปแบบเดียวกัน ทำให้ระบบฮีโข่ ดำเนินต่อกันมาได้หลายร้อยปีอย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านในระยะครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้ฮีโข่เริ่มหายไปจากหมู่บ้านกะเหรี่ยง ฮีโข่ คนสุดท้ายเสียชีวิตไปเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา โดยไม่มีใครสืบทอด

ครึ่งศตวรรษต่อมาได้มีการปลูกและค้าฝิ่นในพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะการเข้ามาของคนเมืองที่ใช้ที่ดินและที่อยู่อาศัย ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของคนกะเหรี่ยงในหมู่บ้าน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ ทำให้ฮีโข่เริ่มสูญเสียพื้นฐานสำคัญของการดำรงอยู่แบบเดิมซึ่งมีขอบเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบที่ชัดเจน มีสมาชิกหมู่บ้านที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยความสัมพันธ์ทางเครือญาติและการผลิตในระบบแบบแผนเดียวกันที่เน้นข้าวเป็นหลัก เมื่อมีการเข้ามาร่วมใช้ที่ดินและอยู่อาศัยของคนเมืองเพื่อปลูกฝิ่น และละทิ้งการทำไร่ข้าว ประกอบกับมีปัญหาด้านศีลธรรมซึ่งรวมถึงเรื่องการประพฤติผิดประเพณีนิยมด้านความสัมพันธ์ทางเพศ อันเนื่องมาจากปลูกและเสพฝิ่น และการเคลื่อนย้ายไปอยู่ในบริเวณที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้พิธีกรรมที่ฮีโข่รับผิดชอบไม่อาจประกันความศักดิ์สิทธิ์ในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้ตำแหน่งฮีโข่ขาดความชอบธรรม และไม่สามารถหาผู้ที่ยินยอมสืบทอดตำแหน่งต่อรวมทั้งการที่ผู้ที่มีเชื้อสายที่สามารถสืบทอดได้ ติดฝิ่น และเร่ร่อนออกจากหมู่บ้านไปทำงานนอกชุมชน

การนับถือผีบรรพบุรุษ หรือ “ผีเรือน” หรืออ่อแค ในภาษาปกาเกอะญอ ต้องทำตามระเบียบที่เข้มงวด ทั้งในเรื่องของรูปแบบการสร้างบ้านเรือน ที่ต้องมีเตาไฟที่สร้างตามแบบที่กำหนดอยู่ในตัวบ้าน เป็นที่อยู่ของผีเรือนฝ่ายมารดา เมื่อมีพิธี ออแฆ ต้องทำในห้องบริเวณใกล้เตาไฟ เมื่อภรรยาเสียชีวิต ต้องรื้อบ้าน เพราะถือว่าบ้านเป็นที่อยู่ของผีเรือนฝ่ายมารดา สามีและลูกต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น การทำพิธี ลูกหลานที่สืบเชื้อสายฝ่ายมารดาเดียวกัน ต้องมาร่วมทุกคน รวมทั้งพ่อแม่ของภรรยา ที่จะต้องเข้าร่วมในสองวันแรกของพิธี และพ่อแม่ของสามีหากยังมีชีวิตอยู่จะต้องเข้าร่วมในสองวันหลัง) ในพิธีทุกคนต้องประพฤติตัวตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น การแต่งชุดกะเหรี่ยง การไม่ทำถ้วยชามแตก การไม่นอนบริเวณนอกหมู่บ้าน ไม่ให้กินหมู ไก่ ของบ้านอื่น เป็นต้น การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่ง นำไปสู่ความล้มเหลวของพิธีกรรม ส่วนความพร้อมเพรียงของการปฏิบัติขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ที่หมู่บ้านเป็นที่รวมของบ้านที่สืบเชื้อสายฝ่ายมารดาเดียวกัน ทำการผลิตอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน ทำให้สามารถเข้าร่วมในพิธีกรรมได้อย่างพร้อมเพรียง

ในช่วงเวลาต่อมา การประกอบพิธีกรรมผีบรรพบุรุษ เริ่มมีความลำบากมากขึ้น เนื่องจากเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความสัมพันธ์ทั้งในระดับครอบครัวและชุมชนเปลี่ยนแปลงไป จากการเคลื่อนย้ายออกนอกชุมชนของปัจเจกบุคคลและครอบครัว รวมทั้งการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมระหว่างคนกะเหรี่ยงกับคนเมือง การส่งเสริมการปลูกและค้าฝิ่นที่ทำกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่ และการเข้ามาของหน่วยงานรัฐและคนภายนอกที่มีการปฏิบัติที่ต่างกัน จากเงื่อนไขข้างต้นเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ชาวบ้านมองว่าพิธีอ่อแค เป็นภาระที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะการกำหนดให้สมาชิกที่สืบเชื้อสายฝ่ายมารดาเดียวกันมาร่วมปฏิบัติตามพิธีกรรมอย่างพร้อมเพรียงกัน เมื่อไม่สามารถประกอบพิธีกรรมได้อย่างสมบูรณ์ตามข้อกำหนด และสมาชิกในครอบครัวไม่หายจากการเจ็บป่วย จักต้องทำพิธีกรรมซ้ำอีกครั้ง โดยต้องฆ่าหมูและไก่ จนกระทั่งการทำพิธีกรรมมีความสมบูรณ์หรือสมาชิกในครอบครัวจะหายจากอาการเจ็บป่วย

อย่างไรก็ดี การล้มเลิกการประกอบพิธีอ่อแค ในแต่ละหมู่บ้านไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน เนื่องจากแต่ละครัวเรือนมีความแตกต่างกันในความรับรู้ถึงวิกฤตของความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับความผูกพัน ความศรัทธากับผีเรือนซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบเดิม

ในกรณีของพระพุทธศาสนา กะเหรี่ยงทางภาคเหนือของประเทศไทยแม้จะเริ่มให้การนับถือครูบาศรีวิชัยมาตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นปีที่ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ การเข้ามาบวชในศาสนาพุทธและปฏิบัติตัวในฐานะพุทธมามกะ ก็เพิ่งมีขึ้นในช่วงพ.ศ. 2500 โดยประมาณการเป็นต้นมา โดยชาวกะเหรี่ยงที่ต้องการจะยุติการนับถือและการประกอบพิธีกรรมผีบรรพบุรุษ มีทางเลือกสองทาง คือเลือกระหว่างการเป็นคริสตชน กับการเป็นพุทธศาสนิกชนในปัจจุบันองค์ประกอบด้านศาสนาในแต่ละชุมชนจึงมีความแตกต่างหลากหลายมากมีทั้งหมู่บ้านที่ครัวเรือนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธหรือคริสต์ หมู่บ้านที่มีทั้งครัวเรือนที่นับถือศาสนาคริสต์และพุทธในสัดส่วนที่เกือบเท่ากัน และแม้จะเป็นหมู่บ้านที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ แต่ก็เป็นคริสต์นิกายที่หลากหลายทั้งคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ และอาจจะมีโบสถ์ของทั้งสองนิกายในหมู่บ้านเดียวกัน

ปัจจุบัน วิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาวกะเหรี่ยงได้เปลี่ยนแปลงไป จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การได้รับอิทธิพลจากการติดต่อสื่อสาร และการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนภายนอก เงื่อนไขเหล่านี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางประเพณี ความเชื่อและวิถีปฏิบัติของชุมชนกะเหรี่ยงโผล่งและปกาเกอะญอ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อ ปัจจุบันคนกะเหรี่ยงหันมานับถือศาสนา พุทธ คริสต์ หรือศาสนาอื่นๆ แทนศาสนาดั้งเดิม ความเชื่อในเรื่องผี ถูกแทนที่ด้วยความเชื่อเรื่องศาสนา คนที่ยังคงนับถือผีบรรพบุรุษและทำพิธีเกี่ยวกับการเลี้ยงผีบรรพบุรุษลดน้อยลงแทบไม่ปรากฎ เพราะการทำพิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษนั้นไม่สามารถทำได้ในบริบทที่ลูกหลานมีการเคลื่อนย้ายออกไปเรียนและเป็นแรงงานนอกชุมชน การรวมกันอย่างพร้อมเพรียงเพื่อทำพิธีกรรมบางอย่างจึงไม่สะดวก (จารุวรรณ อุปาทา, 2563:สัมภาษณ์)

ความเชื่ออื่นๆ

ชุมชนกะเหรี่ยงนอกจากที่นับถือศาสนาคริสต์ พระพุทธศาสนาและยังดำรงศาสนาแบบดั้งเดิมแล้ว ยังมีศาสนาทางเลือกอื่นๆ ที่มีลักษณะของชุมชนพระศรีอาริย์ที่เชื่อเรื่องยุคสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ที่จะมาโปรดโลกในอนาคต โดยเป็นชุมชนที่ถือศีล 5 อย่างเข้มงวด เป็นมังสะวิรัติ และรักษาวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะที่อธิบายว่าเป็นของคนกะเหรี่ยงอย่างแท้จริง เช่น การแต่งกาย การไว้ทรงผม ฯลฯ ชุมชนแบบพระศรีอาริย์มีอยู่อย่างหลากหลายในเขตประเทศพม่าซึ่งมีชาวกะเหรี่ยงอยู่กระจายจำนวนมาก ในขณะที่ในประเทศไทย จะมีชุมชนที่นับถือลัทธิฤาษีในบริเวณชายแดนอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งหนึ่งในชุมชนนี้คือหมู่บ้านเลตองคุ ซึ่งในมติ ครม.ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกะเหรี่ยง 3 สิงหาคม 2553 ก็ประกาศให้เป็นหมู่บ้านนำร่องเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ เนื่องจากมีการปฏิบัติทางศาสนาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ดังข้อมูลสรุปดังนี้

ลัทธิฤาษีหรือที่เรียกในภาษากะเหรี่ยงสะกอว่าตะละกู่นั้น ถือว่าเป็นศาสนาที่นับถือกันในกลุ่มกะเหรี่ยงที่อยู่ในบริเวณรัฐกะเหรี่ยงทางตอนใต้ของประเทศพม่า ครอบคลุมบางส่วนทางตอนเหนือของรัฐมอญ และบริเวณทางตะวันตกของประเทศไทย ในปัจจุบันเป็นเขตผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งครอบคลุม ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และบางอำเภอของจังหวัดอุทัยธานี โดยจากประวัติบอกเล่า คนกะเหรี่ยงกลุ่มนี้อพยพย้ายถิ่นหนีภัยสงครามระหว่างพม่ากับมอญมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 หรือกว่าสองร้อยปี จากพื้นที่เดิมในเขตประเทศพม่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม เข้ามาในเขตป่าเขาชายขอบของรัฐไทย คนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ส่วนใหญ่คือกลุ่มกะเหรี่ยงโป หรือที่เรียกตัวเองว่า โผล่ง ซึ่งส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่อยู่ที่ราบในหุบเขาติดกับแม่น้ำหรือลำธารขนาดใหญ่ ทำนา ทำสวน หาของป่า ล่าสัตว์รวมทั้งจับสัตว์น้ำเป็นอาหาร อย่างไรก็ดี ภายหลังพบว่ามีกะเหรี่ยงสะกอเข้ามาเป็นสมาชิกลัทธิฤาษีเช่นกัน เห็นได้ชัดจากบ้านเลตองคุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงโป แต่มีสมาชิกจำนวนหนึ่งที่เป็นกะเหรี่ยงสะกอ ซึ่งจะอยู่บริเวณทางเหนือของหมู่บ้านและย้ายเข้ามาในหมู่บ้านภายหลัง

ความเชื่อ กฎเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติของตะละกู่ มีส่วนสำคัญในการกำหนดแบบแผน วิธีปฏิบัติ และกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัว และสังคมซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่แตกต่างจากผู้ที่นับถือศาสนาอื่น อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นใหม่ มีส่วนที่บูรณาการหรือปรับจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของกะเหรี่ยง เมื่อรวมกันแล้ว ทำให้วัฒนธรรมของชุมชนตะละกู่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแต่งกายและการจัดพิธีกรรมต่างๆ ที่ไม่เหมือนกับหมู่บ้านกะเหรี่ยงในศาสนาพุทธหรือศาสนาอื่นๆ

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

มีสำนักฤาษีเป็นสถาบันทางศาสนาที่สำคัญ โดยเป็นที่อยู่อาศัยของฤาษีหรือชาวตะละกู่เรียกว่า พือไจ้ย หรือพืออิสิ และลูกศิษย์วัดที่เรียกว่า ตะวอบุ พื้นที่สำนักฤาษีมีขอบเขตที่ชัดเจน ไม่ปะปนกับพื้นที่ของหมู่บ้าน สำนักฤาษี ประกอบไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ที่เป็นที่พักอาศัยของฤาษีและตะวอบุ มีศาลาทำงานและรับแขก โรงเลี้ยงช้าง โรงครัว ฯลฯ และมีบริเวณที่นาและที่ไร่ของสำนักฤาษีที่แยกจากที่นาที่ไร่ของชาวบ้าน สำนักฤาษีถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่คนเมื่อเข้าไปต้องให้ความเคารพโดยการถอดรองเท้า ทั้งนี้แบ่งเขตสำนักออกได้อีกเป็นสองเขตคือภายนอกและภายใน บริเวณเขตภายนอกชาวบ้านที่ทั้งหญิงและชายเข้าไปได้ทุกวัน แต่เขตภายในเป็นเขตประกอบพิธีกรรม ซึ่งในเขตนี้คนที่ไม่ใช่ตะละกู่ห้ามเข้า ส่วนชาวตะละกู่เข้าได้เฉพาะผู้ชาย และเฉพาะในวันพระและวันสำคัญทางศาสนาเพื่อไปทำพิธีไหว้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ดแห่งที่อยู่ข้างใน (ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา กฎระเบียบเริ่มเปลี่ยน เนื่องจากฤาษีประกาศให้ตะละกู่ต้องกินเจ ทำให้ตะละกู่ที่จะเข้าไปในสำนักฤาษีได้ในวันพระและวันสำคัญทางศาสนา ต้องเป็นผู้ที่กินเจเท่านั้น)

สถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์เจ็ดจุดในบริเวณสำนักฤาษี จะเป็นสถานที่ที่มีการทำ พิธีสักการะทุกวันพระและวันสำคัญทางศาสนา จุดทั้งเจ็ดถูกจัดวางให้อยู่ในระยะที่ไม่ห่างกันมากนัก(ระยะห่างแต่ละจุดประมาณ 50 เมตร) โดยมีการจัดวางโครงสร้างและอุปกรณ์ประกอบพิธีกรรมที่ประดิษฐ์จากไม้ไผ่และวัสดุพื้นบ้านอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายฉัตรที่ใช้กับราชพิธีและพิธีทางศาสนาพุทธ ที่เรียกว่า ตะเดอ จุดต่าง ๆ มีการอธิบายความหมายต่างกันออกไปและสัมพันธ์กับหลายศาสนา เช่น เกี่ยวพันกับคริสต์ศาสนาดังจุดที่ 1 ที่เรียกว่า เตอะหล่าเอะหมุ (การเกิด)อธิบายว่าเหมือนการเอาก้อนหินปิดหลุมฝังศพพระเยซู จุดที่ 3 ตะแล(หลักธรรม) มีเครื่องประกอบไม้ที่คล้ายไม้กางเขนในขณะที่จุดอื่นจะเกี่ยวพันกับพุทธศาสนา ได้แก่ จุดที่ 5 ยวาหล่อ(พระพุทธรูป) คือที่อยู่ของพระเจ้า และจุดที่เรียกว่า จุดที่ 6 หลิปิตกะ ซึ่งหมายถึงพระไตรปิฏก ซึ่งทั้งสองจุดอยู่หน้าศาลาที่เก็บงาช้างแกะสลักรูปพระพุทธเจ้า พระพุทธรูป และหีบไม้เก่า

จุดที่ 2 เรียกว่าบุ๊ หรือ บ้านบริสุทธิ์ เป็นเรือนนอนของพือไจ้ยและตะวอบุที่อาวุโส 4-5 คน โดยสร้างเป็นลักษณะของบ้านหลังเล็ก มีเตาไฟอยู่ตรงกลาง พือไจ้ย จะนอนด้านหนึ่งของเตาไฟ และตะวอบุ จะนอนอีกด้านหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าไปในบ้านบริสุทธิ์ พือไจ้ย จะหวีผมให้เรียบร้อย ล้างขาล้างเท้า และก่อนจะเข้าประตูบ้านต้องล้างหน้าเตาไฟจะต้องไม่ให้ดับตลอดทั้งคืน ดังนั้นสถานที่นี้ถือว่ามีความสว่างไสวและมีพลังและเป็นที่ที่บริสุทธ์ที่ต้องกราบไหว้ การที่พือไจ้ย ได้เข้าไปอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่บริสุทธิ์และใกล้ชิดกับความมีพลังดังกล่าวทุกคืน ย่อมทำให้พือไจ้ย มีความบริสุทธิ์และอำนาจศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการดำรงตนเป็นพือไจ้ย

ชาวตะละกู่เชื่อในการมาเกิดของพระศรีอาริย์ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ในอนาคต โดยอธิบายว่าเป็น พระเจ้าของชนชาติกะเหรี่ยงโดยเฉพาะ ในขณะที่พระเจ้าสี่องค์ก่อนหน้านี้เป็นของชนชาติ มอญ พม่า ไทย และอินเดีย และพระศรีอาริย์จะมาโปรดเฉพาะคนกะเหรี่ยงที่ดำรงความเป็นกะเหรี่ยงเท่านั้น เพราะถือว่าคนกลุ่มอื่นได้รับการช่วยเหลือจากพระพุทธเจ้าสี่องค์ก่อนไปแล้ว

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมของชาวกะเหรี่ยงแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ที่สำคัญ กลุ่มแรกเป็น พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการสักการะบรรพบุรุษ ซึ่งในอดีตเมื่อครั้งที่ชาวกะเหรี่ยงยังไม่ได้เปลี่ยนไปรับคริสตศาสนาและพระพุทธศาสนาจะมีการจัดกันทุกครัวเรือน ปัจจุบันเมื่อสัดส่วนของผู้ที่ถือผีบรรพบุรุษมีน้อยลง พิธีกรรมก็จัดน้อยลงหรือปรับรูปแบบให้ง่ายขึ้น กลุ่มที่สองเป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นในระดับชุมชนเพื่อการปกปักษ์รักษาสมาชิกในชุมชน กลุ่มที่สามเป็นพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติที่ถือว่าเป็นเจ้าของแผ่นน้ำ แผ่นดิน ภูเขา ต้นไม้กลุ่มที่สี่เป็นพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่านสถานภาพได้แก่ การเกิด การแต่งงาน และการตาย ส่วนกลุ่มที่ห้าเป็น พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการรักษาอาการเจ็บป่วยที่เชื่อว่าเป็นผลจากกระทำของผี ทั้งนี้ผู้ที่เป็นผู้นำในพิธีกรรมในระดับชุมชนจะมีฮีโข่ ที่เป็นผู้นำตามประเพณีในกรณีที่ชุมชนยังนับถือศาสนาดั้งเดิมหรือนับถือพุทธศาสนาที่ยังผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม หรือผู้อาวุโสที่เป็นผู้นำทางศาสนาในกรณีที่ตำแหน่งฮีโข่ไม่ได้รับการสืบทอด ในระดับครัวเรือน หัวหน้าครัวเรือนจะรับผิดชอบในการทำพิธี ซึ่งรวมทั้งผีบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในไร่นาซึ่งครัวเรือนเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ทุกพิธีกรรมแบบดั้งเดิมจะมีการเซ่นสังเวยตั้งแต่ไก่ หมู วัวหรือควาย หรือบางชุมชนอาจจะไปจับสัตว์ป่าเช่น อ้น ปลามาทำพิธี และที่ขาดไม่ได้ก็คือการต้มเหล้าเอง โดยใช้แป้งเหล้าที่ทำเอง มาคลุกกับข้าวสุก หมักแล้วกลั่นเป็นเหล้า ใช้ในทุกพิธี

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ในส่วนของการทำพิธีกรรมที่สำนักฤาษีเป็นผู้จัด จะมีพิธีในวันพระช่วงข้างขึ้นและข้างแรม 7 ค่ำและ 15 ค่ำ เป็นจำนวน 4 ครั้งใน 1 เดือน และพิธีกรรมใหญ่ปีละ 4 พิธีกรรม ได้แก่

1) พิธีอัตตารอ ซึ่งจัดขึ้นในราวเดือนมีนาคม เป็นวันที่สำคัญมากที่สุด เนื่องจากมีพิธีแสดงความเคารพพือไจ้ย โดยการอาบน้ำ

2) พิธีตะกึนึ จัดราวเดือนมิถุนายนใกล้เคียงกับช่วงเข้าพรรษาของศาสนาพุทธ

3) พิธีตะกึเปาะ จัดราวเดือนกันยายนใกล้เคียงกับช่วงออกพรรษา และ

4) พิธีอุจ๊ะ จัดใกล้เคียงกับช่วงลอยกระทง โดยในปี 2547 ตรงกับวันที่ 24 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันคริสตมาสและเป็นวันที่เกิดสึนามิทางภาคใต้และหลายประเทศในเอเซีย ในปี 2548 ตรงกับวันที่ 20 ธันวาคม

โดยพิธีกรรมที่สำคัญที่คล้ายกันในทุกพิธีคือการนำของซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชผลทางการเกษตรมาถวายฤาษีที่ศาลา เมื่อฤาษีรับและให้พรแล้ว ก็จะไปทำพิธีไหว้สถานที่สำคัญ 7 แห่ง ในการประกอบพิธี พือไจ้ยจะเป็นคนแรกที่ทำพิธี เริ่มจากสถานที่สำคัญแห่งที่ 1 และต่อไปยังแห่งอื่น ๆ โดยตะวอบุ จะทำต่อหลังจากที่พือไจ้ยทำเสร็จแล้ว และสุดท้ายเป็นชายชาวตะละกู่ ในขณะเดียวกันแต่ละพิธีกรรมก็จะมีขั้นตอนพิเศษ เช่น พิธีบุอัตตามีพิธีอาบน้ำฤาษี พิธีบุอุจ๊ะมีการทำข้าวหลามตอนเช้าตรู่ เตรียมไม้เพื่อก่อกองไฟ และจุดไฟในเวลากลางคืน

สำหรับการปฏิบัติในระดับครัวเรือนและปัจเจกชน จะมีส่วนคล้ายคลึงกับคนกะเหรี่ยงที่หมู่บ้านที่ไม่ใช่ตะละกู่ ดังเช่น การเป็นชุมชนศีลธรรม โดยยึดหลักคล้ายศีล 5 ของพุทธศาสนา เช่น การไม่ดื่มสุราความเข้มงวดไม่ให้มีความสัมพันธ์ทางเพศที่อยู่นอกขอบเขตที่สังคมกำหนด เช่น ห้ามมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงาน หรือห้ามมีชู้ ซึ่งพบว่าเป็นระเบียบที่ยึดถือในหมู่บ้านกะเหรี่ยงทั่วไป ที่เมื่อทำผิดในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ ต้องจัดพิธีเลี้ยงผี เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดภัยพิบัติแต่สำหรับชาวตะละกู่แล้ว มีบทลงโทษที่เข้มงวดกว่า โดยขับออกจากหมู่บ้าน3 ปี จึงจะขอกลับเข้าหมู่บ้านได้

พิธีกรรมในระดับครัวเรือนที่ยังดำรงอยู่เช่นเดียวกับหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่อื่นคือ การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ (ออแค) โดยเลี้ยงด้วยตัวอ้น พิธีมัดมือในเดือนสิงหาคม พิธีที่เกี่ยวข้องกับวงจรชีวิตได้แก่ พิธีแต่งงาน พิธีงานศพ และพิธีที่เกี่ยวกับการทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีตีข้าวและขนข้าวเข้าสู่ยุ้ง ซึ่งเกี่ยวพันกับการบูชาแม่โพสพ โดยมีการตกแต่งลานตีข้าวด้วยดอกเบญจมาศ และมีพิธีกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมที่ทางชุมชนจัดร่วมกัน ภายใต้การนำของผู้นำทางศาสนาของชุมชนหรือเรียกว่าบูโข่ คือพิธีพะชอหล่องซึ่งจัดขึ้นราวเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการทำบุญข้าว โดยแต่ละครัวเรือนจะร่วมกันนำข้าวมาใส่ยุ้งที่สร้างขึ้นชั่วคราว และร่วมกันทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

ในส่วนของการเกิดจะเป็นพิธีที่เกี่ยวกับการจัดการกับสายสะดือ เมื่อทารกเกิดที่บ้าน จะมีการนำสายสะดือใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วปิดฝาด้วยเศษผ้า จากนั้นนำไปแขวนไว้บนต้นไม้ในป่าใกล้หมู่บ้าน โดยต้นไม้ต้นนั้นเรียกชื่อว่า “เดปอทู่” แปลว่าต้นสะดือ งานของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์(2493) อธิบายว่าการทำแบบนี้จะทำให้เด็กปีนต้นไม้เก่ง และเมื่อครบ 3 วันจะมีการเอาก้อนหินหรือเหรียญเงินไปปาให้กระบอกไม้ตกลงมาอย่างไรก็ดี มีการอธิบายว่าต้นไม้ต้นนี้จะต้องห้ามตัดโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าขวัญของทารกจะอาศัยอยู่ที่ต้นไม้ต้นนั้น หากตัดทิ้งจะทำให้ขวัญของทารกหนีไปและทำให้ทารกล้มป่วยลง หากว่าผู้ใดผู้หนึ่งตัดต้นไม้ต้นนี้โดยเจตนาหรือไม่เจตนา จะต้องถูกปรับด้วยไก่หนึ่งตัว พ่อแม่ก็จะนำไก่ตัวนี้ไปทำพิธีเรียกขวัญทารกกลับคืนมา

หลังจากนำสายสะดือไปผูกติดกับต้นไม้ วันต่อมาจะมีพิธีผูกข้อมือเรียกขวัญทารกที่เกิดใหม่ เรียกว่า กี่เบลจึเป็นพิธีผูกข้อมือเรียกขวัญทารกที่เกิดใหม่ครั้งแรก โดยผู้เป็นพ่อจะไปทำพิธีเรียกขวัญทารกใต้ต้นไม้ที่ผูกสายสะดือทารกคนนั้นไว้ เพื่อเรียกขวัญทารกให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว และวันเดียวกันนี้ในหมู่บ้านจะมีข้อห้ามให้ทุกคนหยุดทำกิจกรรมใดๆ ไม่ให้ไปทำไร่ ทำนา โดยเรียกพิธีนี้ว่า ดึต่าเบล ทั้งนี้เพราะคนกะเหรี่ยงจะให้ความสำคัญกับชีวิตที่เกิดใหม่ การหยุดกิจกรรมใดๆ เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงการต้อนรับสมาชิกใหม่การให้ความสำคัญกับทารกคนนั้น คนกะเหรี่ยงเชื่อกันว่าขวัญของคนเรามีอยู่ 37 ขวัญ อยู่ในตัวเรา 5 ขวัญและอยู่ในรูปของสัตว์ชนิดต่างๆ อีก 32 ขวัญ การผูกข้อมือเรียกขวัญทารกครั้งแรกจะทำให้ทารกได้รับขวัญครบทั้ง 37 ขวัญ ซึ่งได้แก่ (ข้อมูลโดยพระภูวเดช นถกโร, 2563) 1.ขวัญกระหม่อม 2. ขวัญหัวใจ 3. ขวัญมือซ้าย 4.ขวัญมือขวา 5.ขวัญขา 6.ขวัญสิงโต 7.ขวัญหมี 8.ขวัญเสือ 9.ขวัญชะนี 10.ขวัญจิ้งเหลน 11.ขวัญกระแต 12.ขวัญกระรอก 13.ขวัญหมาป่า 14.ขวัญลิง 15.ขวัญหนู 16.ขวัญช้าง 17.ขวัญงู 18.ขวัญกวาง 19.ขวัญเก้ง 20.ขวัญปลาช่อน 21.ขวัญแมงดา 22.ขวัญหอย 23.ขวัญเต่า 24.ขวัญปู 25.ขวัญกุ้ง 26.ขวัญกบ 27.ขวัญปลา 28.ขวัญนก 29.ขวัญจักจั่น 30.ขวัญแมงปอ 31.ขวัญผีเสื้อ 32.ขวัญนกแซงแซว 33.ขวัญจิ้งหรีด 34.ขวัญนกฮูก 35.ขวัญหมูป่า 36.ขวัญแรด 37.ขวัญกิ้งก่า

วิธีการฝังสายสะดืออีกวิธีหนึ่งที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงหลายหมู่บ้านก็ทำคล้ายกับคนไทย คือการฝังที่ตรงบันไดบ้าน แต่ในปัจจุบันแนวคิดและการปฏิบัติในเรื่องของการนำสายสะดือเด็กไปผูกติดกับต้นไม้ในชุมชนคนกะเหรี่ยงหายไป ไม่มีให้เห็นแล้วในปัจจุบันเพราะทุกวันนี้เมื่อคลอดลูกทุกคนต้องใช้บริการของโรงพยาบาล การจะนำสายสะดือกลับไปทำพิธีในหมู่บ้าน หรือผูกติดกับต้นไม้จึงไม่สะดวก และมักจะไม่มีใครทำ กระบวนการของการทำคลอดก็มักเสร็จสิ้นที่โรงพยาบาล

การแต่งงาน การหย่าร้าง

สำหรับพิธีแต่งงานเป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจากชีวิตของคนโสดเป็นคนที่แต่งงานแล้ว สำหรับผู้หญิงจะเห็นได้ชัดจากการแต่งกายที่ใส่ชุดขาวล้วนเปลี่ยนเป็นชุดคนที่แต่งงานแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วยเสื้อและผ้าถุง รายละเอียดพิธีแต่งงานที่บรรยายต่อไปนี้ สรุปจากงานของ Kwanchewan Buadaeng (2003) โดยก่อนที่จะมีพิธีแต่งงานหรือที่เรียกว่าอ่อมุ จะมีขั้นตอนการเจรจาสู่ขอ โดยทางฝ่ายพ่อแม่หญิงสาวจะส่งผู้แทนหรือที่เรียกว่าจอเต่อโร่ป่าและภรรยาเรียกว่าจ่อเต่อโหล่โหม่ เป็นผู้ไปเจรจากับฝ่ายเจ้าบ่าว บางครั้งแม่หญิงสาวกับญาติอาจจะไปกันเองพร้อมกับเหล้า 1 ขวด ซึ่งในการพบปะเจรจากันครั้งแรกนี้ เป็นเพียงการสอบถามเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทางฝ่ายชายหนุ่มมีความตั้งใจที่จะแต่งงานกับหญิงสาว เมื่อทางฝ่ายชายหนุ่มส่งข่าวถึงความตั้งใจที่จะแต่งงาน ในครั้งที่สองทางฝ่ายหญิงสาวเดินทางไปที่บ้านชายหนุ่มอีกครั้ง เพื่อกำหนดวันและรายละเอียดของการจัดพิธีแต่งงาน จากนั้นฝ่ายชายหนุ่มและหญิงสาวก็เริ่มเตรียมที่จะจัดงาน โดยสิ่งที่จะต้องเตรียมที่สำคัญ สิ่งแรกคือ เก่อเนอ ซึ่งทางฝ่ายเจ้าบ่าวจะเป็นผู้เตรียม เก่อเนอเป็นเหมือนสินสอดที่ไม่ได้มีราคาสูง แต่เป็นเชิงสัญญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งของที่สำคัญในการใช้ชีวิตของคนกะเหรี่ยง สิ่งที่ขาดไม่ได้ในเกอเนอคือ ลูกปัดเงินอย่างน้อย 1 เม็ด เสื้อของผู้ชายและผู้หญิงที่ต่างงานแล้ว (สำหรับมอบให้จอเต่อโร่โม่ และจอเต่อโร่ป่า) เสียม กำไลเงินและทองเหลือง ถุงย่าม พริก เกลือ และสร้อยคอลูกปัดโดยนับรวมกันแล้วให้เป็นเลขคี่ อย่างไรก็ดี การแต่งงานบางครั้งก็ไม่มีการจัดหาเก่อเนอ โดยชาวบ้านให้เหตุผลว่าเพราะสมัยแม่แต่งงานก็ไม่มี

สิ่งที่สำคัญที่จะต้องเตรียมสำหรับการจัดงานได้แก่ เหล้า หมู และศาลาพิธีกรรมที่เรียกว่าเบลาะ เนื่องจากต้องใช้เหล้าในพิธีกรรมและการเลี้ยงแขกจำนวนมาก ทางเจ้าภาพจะไปแจกแป้งเหล้าให้กับญาติและเพื่อนบ้านเพื่อให้ช่วยต้มเหล้ามาร่วมงานแต่งงาน การแจกแป้งเหล้าเป็นคล้ายๆ กับการแจกบัตรเชิญไปในตัว โดยในวันแต่งงานแต่ละครัวเรือนที่ได้รับแป้งเหล้าไปก็จะนำเอาเหล้า 2-3 ขวดมาให้ในงาน สำหรับผู้ที่มาร่วมงานที่ไม่ได้รับการแจกแป้งเหล้าและไม่ได้นำเหล้ามาให้ ปัจจุบันก็จะเอาเงินร่วมทำบุญ การจัดงานแต่งงานแบบดั้งเดิมไม่นิยมซื้อเหล้าจากตลาด อธิบายว่า “ผีไม่ชอบกิน” สำหรับหมูที่จะใช้ในพิธีและเลี้ยงแขกนั้น จะเป็นหมูที่ทางฝ่ายเจ้าสาวเลี้ยงไว้ตั้งแต่ยังอายุน้อย ในกรณีที่หมูตัวไม่ใหญ่มากและแขกมีจำนวนมาก ก็อาจจะซื้อเพิ่ม หรือแม้กระทั่งบางงานแต่งงานที่เป็นงานใหญ่และเจ้าภาพมีฐานะ มีการฆ่าวัวเพื่อใช้เนื้อทำอาหารเลี้ยงแขกด้วย

สำหรับเบลาะเป็นสิ่งที่ต้องสร้างโดยฝ่ายเจ้าสาว สร้างโดยผู้ชาย 3 คน สองคนต้องเป็นคนที่แต่งงานแล้ว และอีกหนึ่งคนที่ยังไม่ได้แต่งงาน และทุกคนยังมีพ่อแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ เบลาะเป็นศาลาขนาดเล็กราว 3x4 เมตร สูงประมาณ 1.5 เมตร มีเสาไม้ไผ่ 4 เสาและหลังคารูปร่างแบนที่ใช้ฟางข้าวหรือพลาสติกปูคลุม คำว่าเบลาะ เป็นคำที่หมายถึงศาลาพิธีกรรมที่คนมาชุมนุมทำกิจกรรมร่วมกันและมีขนาดใหญ่ที่มีอยู่จริงในหลายหมู่บ้านแต่เบลาะในพิธีแต่งงานนี้ทำจำลองขนาดเล็ก เมื่อสร้างเสร็จ พ่อแม่ของเจ้าสาวและผู้อาวุโสอีกหนึ่งคนจะรินเหล้าลงบนหัวเสาแต่ละเสา เพื่อสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะมาปกปักษ์รักษา บนเบลาะจะแขวนหัวหมูที่ทางฝ่ายเจ้าสาวได้จัดการฆ่าตอนเช้า(ผู้ที่ฆ่าต้องเป็นผู้ที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่) หัวหมูนี้จะได้มอบให้ทางฝ่ายเจ้าบ่าว นอกจากนั้นในเบลาะจะมีตระกร้าวางกับพื้นใกล้เสา ในตระกร้าจะมีกระบอกไม้ไผ่ที่บรรจุน้ำหลายกระบอกและขวดเหล้า

ในกรณีที่ทั้งเจ้าสาวและเจ้าบ่าวนับถือศาสนาดั้งเดิมหรือพุทธ จะมีการจัดพิธีแต่งงานเป็นเวลา 2 วัน วันแรกจัดที่บ้านเจ้าสาว ส่วนวันที่สองจัดที่บ้านเจ้าบ่าวรายละเอียดของขั้นตอนอาจจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ขั้นตอนหลักจะมีเหมือนกัน นั่นคือ ในวันแรกตอนเช้า จะมีการทำพิธีที่บ้านเจ้าบ่าวก่อนออกเดินทางไปบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะทำหน้าที่รินเหล้า และส่งให้ผู้อาวุโสรินเหล้าบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยการเทเหล้าลงบนพื้นดินขณะที่กล่าวคำไหว้และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักษ์รักษาเจ้าบ่าวดื่มเหล้าที่เหลือในจอกและรินเหล้าแจกจ่ายผู้ที่มาร่วมในพิธีจนเหล้าหมดประมาณ 3 ขวด ขบวนเจ้าบ่าวและญาติเจ้าบ่าวที่นำโดยจอเต่อโร่ป่าก็จะเริ่มออกเดินทางไปยังบ้านของเจ้าสาว โดยการเดินในกรณีที่บ้านของทั้งสองอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันหรือกรณีที่หมู่บ้านของทั้งสองฝ่ายอยู่ไม่ห่างกันมากนักถ้าหมู่บ้านอยู่ห่างไกลมากในปัจจุบันก็จะใช้รถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ เมื่อจะเข้าเขตหมู่บ้านของเจ้าสาว จอเต่อโร่ป่าจะเป็นผู้นำในการทำพิธีไล่สิ่งที่ชั่วร้ายก่อนที่จะเข้าไปในหมู่บ้าน

ที่ปากทางเข้าหมู่บ้านเจ้าสาว ทางผู้เฒ่าผู้แก่และญาติของฝ่ายเจ้าสาวจะพากันมาต้อนรับขบวนของฝ่ายเจ้าบ่าว โดยนำเหล้าเอามารินแจกแขกที่มา และพากันนั่งล้อมวงเพื่อดื่มเหล้าในขณะที่ทักทายและพูดคุยกันเป็นเพลงธา พอเหล้าหมดไปประมาณ 1 ขวด ขบวนเจ้าบ่าวที่เดินทางมาก็จะพากันไปที่บ้านเจ้าสาว โดยให้เจ้าบ่าวไปพักที่บ้านอีกหนึ่งหลัง ในขณะที่ผู้อาวุโสของทั้งสองฝ่ายจะไปนั่งที่เบลาะซึ่งสร้างไว้ริมบ้านเจ้าสาว ทางฝ่ายเจ้าสาวจะนำถาดอาหารและเหล้ามาให้ ซึ่งผู้อาวุโสจะทำพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยเหล้าและข้าว ก่อนที่จะดื่มเหล้า กินข้าวและร้องธา

เมื่อพิธีในเบลาะเสร็จลงทางฝ่ายญาติผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าวก็ขึ้นไปบนบ้านเจ้าสาว นำเกอะเนอ ไปมอบให้ฝ่ายเจ้าสาว ขั้นตอนนี้เรียกว่า การพิจารณาเก่อเนอ โดยทางจอเต่อโร่ป่าฝ่ายเจ้าสาวจะร้องธา พรรณนาและวิจารณ์เกอะเนอแต่ละชิ้น นอกจากนี้ในช่วงนี้ ทางจอเต่อโร่ป่าฝ่ายเจ้าสาวยังมีการพิจารณาตับของหมูตัวเล็กที่ทางฝายเจ้าบ่าวนำมา ว่ามีคุณลักษณะที่ดีหรือไม่

เมื่อถึงเวลาใกล้ค่ำ เจ้าบ่าวก็จะมายังบ้านเจ้าสาว นั่งล้อมวงกับผู้อาวุโสและญาติ มีหน้าที่รินเหล้าแจกผู้ที่อยู่ในวง โดยรอบแรกเป็นการรินเหล้าให้ผู้อาวุโสเพื่อที่จะรินเลี้ยงผีก่อน เหล้าที่เหลือทางเจ้าบ่าวจะดื่มให้หมด จากนั้นก็จะรินแจกผู้ที่อยู่ในวง ในขณะที่ผู้อาวุโสร้องธา ตอบโต้กัน จนกระทั่งเวลาดึก จะมีพิธีเปลี่ยนเสื้อผ้าจากชุดคนโสดเป็นชุดคนที่แต่งงานแล้ว การรินเหล้าและร้องธายังดำเนินต่อไป และขั้นตอนสุดท้ายก็คือการส่งเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้องนอน

ตอนเช้าทางฝ่ายเจ้าสาวจัดให้มีพิธีมัดมือ โดยเช่นทุกครั้งต้องเริ่มจากการรินเหล้าเลี้ยงผี ทางเจ้าบ่าวเจ้าสาวดื่มเหล้าที่เหลือ ผู้อาวุโสของทั้งฝ่ายเจ้าสาวและเจ้าบ่าวยังมีการล้อมวงดื่มและร้องธา ก่อนจะถึงเวลาที่เจ้าบ่าว ญาติเจ้าบ่าว เจ้าสาวและญาติเจ้าสาว จะเดินทางกลับยังบ้านเจ้าบ่าว ในวันนี้ที่บ้านเจ้าบ่าวก็มีการทำพิธีที่เบลาะและการล้อมวงร้องธาและดื่ม จนได้เวลาอันสมควรฝ่ายเจ้าสาวก็เดินทางกลับ ทิ้งเจ้าสาวให้อยู่ที่หมู่บ้านของเจ้าบ่าว ก็ถือเป็นการเสร็จพิธี

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

ในกลุ่มกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงสะกอเรียกลัทธิบูชาผีบรรพบุรุษว่า อ่อแค หรือ อ่อบก่า ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า กินผี ซึ่งเป็นพิธีกรรมในระดับครอบครัว เมื่อผู้หญิงแต่งงาน ผีบรรพบุรุษหรือบก่านี้ จะติดตามไปอยู่กับผู้หญิงที่บ้านของเธอ โดยจะอยู่ในบริเวณเตาไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพิธีกรรม ผีบรรพบุรุษก็จะมาอยู่และรับเอาเครื่องเซ่นไหว้ การสร้างบ้านใหม่ของครอบครัว นอกจากเตาไฟที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของบ้านแล้ว แม่บ้านต้องเริ่มเลี้ยงหมู และไก่ ซึ่งจะเรียกว่า “ทอโข่ทิ”สำหรับหมูตัวแรก หรือชาวบ้านจะใช้ภาษาคำเมืองเรียกว่า “หมูเก๊า” หรือหมูต้นตระกูล และ”ชอโข่ทิ” หรือไก่ตัวแรก หรือ”ไก่เก๊า” หรือไก่ต้นตระกูล หมูและไก่เหล่านี้เลี้ยงไว้เพื่อทำพิธีอ่อแคโดยเฉพาะ โดยจะเลี้ยงผีเมื่อมีสมาชิกในบ้านไม่สบาย การทำพิธีจะมีผู้เชี่ยวชาญทำนายให้ว่าควรจะเลี้ยงผีบรรพบุรุษเฉพาะฝ่ายหญิง(แม่บ้าน) หรือควรจะเลี้ยงฝ่ายชาย(พ่อบ้าน) ด้วย และควรเลี้ยงเป็นเวลากี่วัน ในกรณีที่ป่วยมาก ซึ่งเป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่าผีบรรพบุรุษทั้งฝ่ายแม่และพ่อต้องการ”กิน” หรืออาจจะมีผีที่ไม่มีลูกหลานที่จะมาขอกินด้วย ก็จะเลี้ยงอย่างครบถ้วน 4 วัน โดยในสองวันแรกจะเป็นพิธีเลี้ยงผีฝ่ายแม่ก่อน โดยเริ่มเลี้ยงโดยไก่ ต่อด้วยหมูสำหรับผีฝ่ายพ่อซึ่งถ้าต้องเลี้ยงอีกสองวันนั้น จะต้องใช้หมูและไก่อื่นที่ไม่ใช่หมูและไก่ที่เลี้ยงเอง

ในพิธีกรรมมีรายละเอียดวิธีการฆ่าหมูฆ่าไก่ ซึ่งทำต่างจากการเลี้ยงผีอื่น ๆ ขั้นตอนที่ละเอียดและข้อห้ามต่าง ๆ ที่ซับซ้อน ที่สำคัญคือสมาชิกของครอบครัวที่สืบเชื้อสายฝ่ายมารดาเดียวกันต้องมาร่วมในพิธีทุกคนขาดไม่ได้ เนื่องจากความครบถ้วนของลูกหลานและความพร้อมเพรียงเป็นเงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จของพิธีกรรม และการเลี้ยงผีต้องทำในห้องที่มีเตาไฟ และมีพื้นกระดานที่ทำด้วยฟากไม้ไผ่(ไม้ไผ่ทุบและแผ่วางเป็นพื้นห้อง) เนื่องจากมีขั้นตอนที่จะต้องเอาอาหารหย่อนลงไปทิ้งใต้ถุน

พิธีกรรมอ่อแค จึงเป็นการตอกย้ำการนับถือผีบรรพบุรุษฝ่ายมารดา เพราะผู้ที่เข้าร่วมจะเป็นเฉพาะลูก ไม่รวมลูกสะใภ้ซึ่งถือว่ามีผีบรรพบุรุษของตนเอง เช่นเดียวกับหลานที่เข้าร่วม จะต้องเป็นหลานที่เกิดจากลูกของลูกสาวเท่านั้น เพราะถ้าหากเป็นลูกของลูกชาย ก็ต้องไปอยู่สายผีของลูกสะใภ้ด้วยเหตุนี้ก็ส่งผลถึงการเลือกที่อยู่อาศัยหลังแต่งงาน ที่ผู้ชายจะย้ายเข้ามาอยู่กับบ้านของฝ่ายหญิง ซึ่งนิยมอยู่ใกล้ ๆ บ้านแม่ของตน เนื่องจากสะดวกต่อการเข้าร่วมพิธีอ่อแค เมื่อแต่งงานใหม่ ทั้งคู่อาจจะอยู่บ้านของแม่ฝ่ายหญิงก่อน แต่เมื่อพร้อมหรือเริ่มมีลูกต้องสร้างบ้านใหม่ และย้ายไปอยู่บ้านใหม่ เริ่มเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ โดยถือว่าพร้อมที่จะทำพิธีด้วยตนเอง เมื่อลูกหรือสมาชิกในบ้านเจ็บป่วย

พิธีอ่อแค จึงเป็นพิธีที่ส่งเสริมการจัดการพื้นที่และความสัมพันธ์ทางสังคมใน 4 ลักษณะ 1) การอยู่อาศัยฝ่ายมารดา (matri-locality) โดยผู้ชายย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านของผู้หญิง ตั้งบ้านเรือนในบริเวณที่เป็นเชื้อสายฝ่ายผู้หญิงหรือฝ่ายแม่อยู่อาศัยร่วมกัน 2) การสร้างบ้านมีลักษณะเฉพาะที่คล้ายกัน ได้แก่ มีเตาไฟในบริเวณบ้าน ที่ทำด้วยไม้ไผ่ 3) บ้านถือว่าเป็นของผู้หญิง ดังนั้นเมื่อแม่บ้านเสียชีวิตลง จะมีการรื้อบ้าน โดยพ่อบ้านจะอาศัยอยู่ต่อไม่ได้ โดยทั่วไปพ่อบ้านต้องย้ายไปอยู่กับลูกสาวที่แต่งงานแล้วมีบ้านใหม่ หรือสร้างบ้านของตนเอง 4) เนื่องจากบ้านเป็นของผู้หญิงที่สืบทอดผีบรรพบรุษสายหนึ่ง ดังนั้นการที่ลูกสะใภ้จะย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังเดียวกับแม่สามี ทำไม่ได้ เนื่องจากลูกสะใภ้มาจากผีบรรพบุรุษอีกสาย ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน 5) ชายและหญิงที่อยู่ในสายผีฝ่ายแม่เดียวกันห้ามแต่งงานกัน

การทำมาหากิน

นอกเหนือจากลัทธิบูชาผีบรรพบุรุษแล้ว กลุ่มกะเหรี่ยงที่ยังนับถือพุทธและผี ยังเชื่อและให้ความเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติ ซึ่งคอยปกป้องสมาชิกในชุมชน ผลผลิต และสัตว์เลี้ยง ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ถือว่าเป็น “เจ้าของ” ของทรัพยากรในอาณาบริเวณที่แน่นอน ในระดับสูงสุดมี ทีกะจ่าก่อกะจ่า ซึ่งหมายถึงเจ้าหรือเจ้าของผืนน้ำและแผ่นดิน ซึ่งรวมทั้งสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่อยู่ในน้ำและบนพื้นดิน การยอมรับถึงการที่สรรพสิ่งมีเจ้าของ และการอยู่ร่วมกันของคนและธรรมชาติ แสดงออกในพิธีกรรมที่สื่อสาร บูชา ขอขมา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยพิธีกรรมจัดขึ้นโดยผู้ที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกัน เช่น การเลี้ยงผีต้นน้ำ (หลื่อต่า) ที่หลายหมู่บ้านที่ใช้ลำธารเดียวกันมาร่วมกันจัดพิธี ซึ่งมักจะใช้สัตว์ใหญ่ในการเซ่นสังเวยเช่น ควาย ที่สมาชิกของชุมชนช่วยกันบริจาคเงินซื้อ มีการเลี้ยงผีฝาย(หลื่อผีฝาย) ซึ่งเจ้าของนาที่ร่วมกันทำฝายเพื่อกั้นน้ำจากลำธารเข้าที่นาของตน จัดพิธีร่วมกัน โดยมักจะใช้หมูและไก่ในการเซ่นสังเวย หรือการเลี้ยงผีที่ต้นน้ำที่ใช้สำหรับบริโภคในหมู่บ้านที่เรียกว่า หลื่อทีบอ เป็นต้น

แต่ละครัวเรือนที่นับถือศาสนาดั้งเดิมหรือพุทธก็จะจัดพิธีกรรมเลี้ยงผีในไร่ข้าว(บออะคึ)และนาข้าว(บออะชิ)ของตนเอง เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิต บางพื้นที่จัดปีละหนึ่งครั้ง บางพื้นที่จัดปีละสองครั้ง ยกตัวอย่างขั้นตอนพิธีบออะคึที่ทำที่หมู่บ้านแม่หลุ ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ (Kwanchewan Buadaeng, 2003)

แต่ละครัวเรือนจะจัดพิธีบออะคึในไร่ข้าวของตนเองราวเดือนสิงหาคมของทุกปี ซึ่งอยู่ในช่วงกลางฤดูฝน ขณะที่ข้าวและข้าวโพดที่ปลูกแซมเริ่มจะเป็นเมล็ดหรือออกฝัก ในพิธีบออะคึ จะมีพิธีย่อยๆ หลายพิธี เริ่มต้นตั้งแต่เช้าตรู่ที่หัวหน้าครัวเรือนและสมาชิกจะไปช่วยกันทำหิ้งไม้ไผ่(ตาหลื่อข่อ) 4 หิ้ง สำหรับการเลี้ยงผีเจ้าที่(ต่าเจ้าที่) การเลี้ยงผีไฟ (ต่าหลื่อเหม่) การทำให้ดีขึ้น(ต่าตะเมาะ)และการขับไล่สิ่งชั่วร้าย(ตาแซะ) และยังมีโครงสร้างไม้ไผ่อย่างอื่นที่นำมาจัดวางในบริเวณเดียวกันที่เรียกว่า ต่าออคิ ต่าแกวะและบอ โดยต่าออคิทำด้วยลำไม้ไผ่ที่นำไปปักในดินและตัดให้อีกปลายแยกออกเป็นสี่แฉกแล้วโค้งลงปักดินเช่นกัน พร้อมทั้งเอาไม้ที่ถูกเผาขนาดเล็กใส่ไว้ตรงกลาง ส่วนต่าแกวะหมายถึงรุ้ง ซึ่งแสดงให้เห็นจากการนำเอาไม้ไผ่ด้านหนึ่งปักในดินและทำให้โค้งลงให้ปลายอีกข้างปักดินเช่นกัน โดยใช้ไม้ไผ่สองเล่มทำเป็นรุ้งสองอัน เรียกว่ารุ้งแดง(แกวะควอ) และรุ้งดำ (แกวะซู) หรือเรียกว่าเป็นรุ้งพ่อ (ต่าแกวะป่า) และรุ้งแม่ (ต่าแกวะโหม่) ส่วนบอ ทำโดยใช้ไม้ไผ่สามต้นมาวางรวมกันเป็นลักษณะกรวย โดยบอแปลว่าหอก ซึ่งน่าจะหมายถึงการปกป้องไร่จากสิ่งชั่วร้าย

พิธีบูชาจะจัดขึ้นแต่ละหิ้ง โดยการเลี้ยงผีเจ้าที่ หมายถึงเลี้ยงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นผู้ปกปักษ์รักษาบริเวณนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในภาคเหนือหรือเรียกรวมว่า “คนเมือง” ให้ความสำคัญและทำพิธีกันเป็นประจำ คนกะเหรี่ยงจึงใช้คำเรียกพิธีแบบเดียวกับคนเมือง การเลี้ยงผีไฟสำคัญมาก เพราะผีไฟถือเป็นผีที่ค่อนข้างดุ และถ้าเลี้ยงไม่ดีอาจก่อให้เกิดความเจ็บป่วยอย่างรุนแรง เจ้าของไร่นำเอาไม้ที่ถูกเผาไปบางส่วนวางบนหิ้งเลี้ยงผีไฟ สำหรับผีไฟไก่ที่ใช้เซ่นไหว้ จะต้องเป็นไก่ตัวผู้ที่มีสีแดงสำหรับหิ้งต่าตะเมาะเป็นหิ้งที่จะทำให้พืชผลเจริญงอกงาม หิ้งนี้จะประดับด้วยใบข้าวจากข้าวทุกพันธุ์และดอกข้าวโพด หิ้งนี้ใช้ไก่สองตัวเซ่นบูชา ส่วนต่าแซะนั้น เป็นการเลี้ยงเพื่อไล่โรคแมลงและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ หิ้งนี้จะทำต่างจากหิ้งอื่น เพราะใช้กรวยที่สานด้วยไม้ไผ่มัดไว้บนปลายไม้ที่ปักลงบนดิน มีการนำเอาไม้ไผ่สานจำลองเป็นรูปเหยี่ยวกับงูมัดไว้กับไม้นั้นด้วย นอกจากนี้จะมีตระกร้าใส่ไก่แขวนไว้ที่ไม้ รวมแล้วการทำพิธีบออะคึที่เขียนไว้ในงานของขวัญชีวัน บัวแดง (Kwanchewan Buadaeng, 2003) ใช้ไก่ในการเซ่นสังเวย 6 ตัว และเหล้าอีกหลายขวด ครัวเรือนที่เล็กหรือไม่มีเงินอาจใช้ไก่ตัวเล็กและเลี้ยงเฉพาะผีไฟและต่าตะเมาะที่ละ 2 ตัว และไม่มีเหล้า ต่าแซะจะถูกแยกจัดตอนปลายปีขณะที่เก็บเกี่ยวข้าว

การทำพิธีเริ่มจากการฆ่าไก่ตรงหิ้ง และนำเอาเลือดไก่ทาตรงหิ้งและใบข้าวหรือข้าวโพดที่ประดับอยู่ จากนั้นก็นำไก่ไปทำอาหาร แล้วนำมาจัดสำรับวางบนหิ้ง โดยผู้นำครัวเรือนจะเป็นผู้กล่าวให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มารับเอาอาหารและขอให้ดลบันดาลให้ผลผลิตมีความเจริญงอกงามและมีผลผลิตสูง หลังจากกล่าวเสร็จ ทุกคนในครอบครัวก็จะกินข้าวด้วยกัน กินเสร็จแล้ว นำเอากระดูกไก่ พริก เกลือ ใบเมี่ยง บุหรี่และอาวุธจำลองขนาดเล็กที่ทำจากไม้ไผ่เป็นรูปหน้าไม้ มีด ฯลฯ มาใส่ไว้ในตระกร้าทรงสามเหลี่ยม แล้วนำไปวางไว้ตรงทางเข้าไร่ พิธีนี้เรียกว่า ต่าข่าแกละ เพื่อทำให้พื้นที่ไร่ปลอดภัยจากการเข้ามาบุกรุกของผู้คน หลังจากพิธีต่าข่าแกละนี้แล้ว คนจะเข้าไปในไร่ไม่ได้ ต่อเมื่อเจ้าของเข้าไปอีกครั้ง คนอื่นจึงจะเข้าไปได้

การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

ชาวกะเหรี่ยงมีพิธีกรรมการเลี้ยงผีเรือนและผีบรรพบุรุษ เพราะเชื่อว่าบิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว วิญญาณยังคงวนเวียนไปมาภายในบ้านเรือนและหมู่บ้านด้วยความเป็นห่วงบุตรหลาน และจะคอยปกปักรักษาให้อยู่ด้วยความสงบสุข ในพิธีจะมีการต้มสุรา ฆ่าไก่หรือหมูเพื่อนำมาประกอบอาหารและใช้ในพิธี มีการสวดมนต์ขอเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษทั้งหลายและขอให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นช่วยปกป้องคุ้มกันภัยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้นให้มีความสุขไม่เจ็บป่วยทำมาหากินอุดมสมบูรณ์ (ตรีทิพย์และคณะ, 2551) ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาจิตใจของคนในชุมชนโดยเฉพาะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิต เนื่องจากวิถีชีวิตที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ต้องอดทนต่อสู้กับสิ่งต่างๆ รอบตัวมากนอกจากนี้ขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรมที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชนยังถือเป็นการรักษาความสมัครสมานสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชน ส่งผลให้เกิดสุขภาพจิตที่ดีในยุคที่สังคมเกิดภาวะตึงเครียดขึ้นทุกวัน

นอกเหนือจากพิธีกรรมหรือประเพณีส่วนรวมในการสร้างขวัญกำลังใจดังกล่าวแล้ว เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วยที่ไม่ทราบสาเหตุยังมีการใช้ไสยศาสตร์ น้ำมนต์และคาถาในการรักษาโรคบางโรค โดยจะมีการจ่ายเงินค่าครูในการรักษาเล็กๆ น้อยๆโดยน้ำมนต์ หรือน้ำเปล่าที่ผ่านการเป่ามนต์คาถาจากผู้มีคาถาอาคมซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้อาวุโส มักจะใช้กับคนที่ป่วยมากๆ เช่น ไข้ไทฟอยด์ ท้องเสีย ตัวร้อนมากๆ โดยให้ผู้มีคาถาเป่าคาถาใส่ในน้ำแล้วให้ผู้ป่วยดื่มกินจนกว่าจะหายจากโรคภัยเจ็บ (แม่บ้านบางคนบอกว่าให้เอาปูนขาวไปให้หมอเมืองใช้ทำน้ำมนต์ด้วย) อีกทั้งบางพื้นที่ยังมีการใช้ไข่ต้ม หรือไข่ที่ผ่านการต้มจนสุกแล้วโดยใช้ร่วมกับเหรียญโบราณสีขาวที่มีรูอยู่ตรงกลางนำมาใช้ดูอาการป่วย รักษาหรือบรรเทาอาการป่วยโดยการนำเอาเหรียญรูโบราณที่มีสีขาวใส่ในไข่ต้มด้านในแทนไข่แดงโดยผ่าครึ่งเอาไข่แดงออกแล้วเอาเหรียญใส่เข้าไปแทน จากนั้นเอาผ้ามัดไข่ทั้งสองซีกติดกัน (ไข่ทั้งใบจะถูกพันด้วยผ้า) แล้วเอาถูตัวผู้ป่วย ถ้ามีอาการป่วยหรือไข้ เมื่อถูไปได้ระยะแล้วแกะผ้าที่พันไข่ออกดูเหรียญจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเขียว (ถ้าไม่ป่วยเหรียญจะไม่เปลี่ยนสี) จากนั้นให้นำเหรียญไปล้างน้ำจนเป็นสีขาวแล้วทำแบบเดิมใหม่เรื่อยๆ จนเหรียญไม่เปลี่ยนเป็นสีเขียว อาการป่วยไข้จะบรรเทาลง (รานี, 2547)

ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม

ในอดีตเมื่อครั้งที่ชาวกะเหรี่ยงยังนับถือศาสนาดั้งเดิม หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านจะมีผู้นำตามประเพณี ซึ่งกะเหรี่ยงสะกอในเขตประเทศไทยเรียกว่า ฮีโข่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหัวหน้าครัวเรือนผู้ชายที่ก่อตั้งหมู่บ้านหรือเป็นลูกชายคนโตที่สืบเชื้อสายมาจากฮีโข่ เมื่อฮีโข่คนเดิมเสียชีวิตไป ฮีโข่จะมีหน้าที่ที่สำคัญคือการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกในหมู่บ้าน โดยการเป็นผู้นำในพิธีเลี้ยงผีหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นการสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อปกปักษ์รักษาให้สมาชิกในชุมชนมีสุขภาพที่ดีและได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ พิธีกรรมนี้มีชื่อเรียกต่างกันไปในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม เรียกว่าทอกะจ่า Kwanchewan Buadaeng (2003) ซึ่งมีความหมายว่าการขึ้นนั่งในศาลาเพื่อเลี้ยงผี ทั้งนี้ในการจัดปีละ 1-2 ครั้งนั้นจะมีการทำศาลาขนาดเล็กแบบชั่วคราวเพื่อทำพิธีร่วมกัน ศาลาขนาดเล็กจะอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมักจะเป็นพื้นที่ที่จัดพิธีทุกปี ผู้เข้าร่วมจะเป็นผู้ชายที่เป็นตัวแทนแต่ละครัวเรือนซึ่งนำไก่มาครัวเรือนละหนึ่งตัว มาเชือดคอและทำอาหารกันรอบๆ ศาลา เมื่อทำอาหารเสร็จก็นำมารวมกันจัดสำรับเพื่อถวายให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผ่านการทำพิธีนำโดยฮีโข่ ซึ่งจะเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มารับเครื่องเซ่นไหว้ โดยองค์ที่สำคัญที่สุดคือ ทีกะจ่าก่อกะจ่า หรือเจ้าแห่งแผ่นน้ำซึ่งรวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำ และเจ้าแห่งแผ่นดินซึ่งรวมผืนป่าและสัตว์ที่อยู่ในป่า นอกจากนั้นก็เป็นการเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติอื่นๆ

หนังสือ

ขวัญชีวัน บัวแดง. (2546). “ศาสนาและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์: กรณีศึกษาชนกะเหรี่ยงในประเทศไทยและประเทศพม่า,” รายงานการวิจัยเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

ขวัญชีวัน บัวแดง. (2551). พื้นที่พรมแดนแม่น้ำเมยกับความสัมพันธ์ชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง-คนเมือง. เชียงใหม่:วนิดาการพิมพ์.

ตรีทิพย์ สุขโข. (2551). “การสำรวจพืชสมุนไพรที่ชาวกะเหรี่ยงใช้ ณ ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่”, วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ทัศนัย วงค์จักร และคณะ. (2539). “โครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยและรักษาการเจ็บป่วยของชาวไทยภูเขาเขตอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่,” รายงานผลการวิจัย. องค์การแคร์นานาชาติประเทศไทยร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ทัศนีย์ ฉิมสุด. (2542). “แบบแผนการดูแลสุขภาพตนเองด้วยวิธีการแพทย์พื้นบ้านของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง บ้านมอเกอร์ยาง อำเภอพบพระ จังหวัดตาก,” การค้นคว้าแบบอิสระหลักสูตรปริญญาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

นันทวัน อินทร์จันทร์. (2545). การศึกษารูปแบบเครื่องแต่งกายหญิงกะเหรี่ยงโปและกะเหรี่ยงสะกอในเขตอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. เชียงใหม่: คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2493). 30 ชาติในเชียงราย. ม.ป.พ.หน้า 311-382

ประวิตร โพธิอาศน์ (2527). คู่มือการทำงานกับชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง. เชียงใหม่: ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ กรมการศึกษานอกโรงเรียน

ประวิตร โพธิอาศน์. (2538). “กะเหรี่ยงสะกอ”. ใน ชาวเขา: ความเข้าใจกับชนเผ่าต่างวัฒนธรรมประเพณี. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยชาวเขา.

ประเสริฐ ตระการศุภกร. (2540). “การสืบทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนเผ่ากะเหรี่ยง,” เชียงใหม่ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ประเสริฐ ตระการศุภกรและคณะ. (2554). “โครงการศึกษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเฉพาะและกลไกการสืบทอดวัฒนธรรมในพื้นที่นำร่องเขตวัฒนธรรมพิเศษ ปี 2554,” รายงานวิจัยนำเสนอกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

พรพิมล สงค์ศาสตร์ และสุจิตรา จินะวงศ์. (2547). รายงาน เรื่อง ผ้าทอกะเหรี่ยงอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. เชียงใหม่: คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ราชบัณฑิตยสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 6). (2539). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2526. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์

รานี อุปรา. (2547). “ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้สมุนไพรพื้นบ้านของชุมชนปกาเกอะญอ บ้านแม่แฮน้อย อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่,” วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วินัยบุญลือ. (2545). “ทุนทางวัฒนธรรมและการช่วงชิงอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของชุมชนชาวปกาเกอะญอ.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วิมลพรรณ ลิขิตเอกราช. (2535). ตำรับอาหารกระเหรี่ยงกับคุณค่าทางโภชนาการ, ฝ่ายวิจัยโภชนาการ. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วีระศักดิ์ยอดระบำ. (2538). ผู้แปล. ใน ประสิทธิ์ ลีปรีชา ลีซะ ชูชื่นจิตสกุล (บ.ก.), เพลงชีวิตปกากะญอ.เชียงใหม่: ศูนย์ชาติพันธุ์และการพัฒนาสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ศูนย์วิจัยชาวเขา. (2526). บรรณนิทัศน์ 5 สภาพของชาวเขาในประเทศไทย. จังหวัดเชียงใหม่: กรมประชาสงเคราะห์ Imprintเชียงใหม่ : กรม, 2526

สถาบันวิจัยชาวเขา. (2541). ชาวเขา :ความเข้าใจกับชนเผ่าต่างวัฒนธรรม. เชียงใหม่: นันทกานต์ กราฟฟิค การพิมพ์

สน และคณะ. (2554). ป่าสนวัดจันทร์ เรื่องราว ผืนดิน ป่าสนของปกาเกอะญอเมือเจะคี.เชียงใหม่: สำนักพิมพ์สันติภาพเพื่อสังคม.

สมภพ ลาชโรจน์. (2538). “กะเหรี่ยงโป”. ใน ชาวเขา: ความเข้าใจกับชนเผ่าต่างวัฒนธรรมประเพณี.เชียงใหม่: สถาบันวิจัยชาวเขา.

สาวิตรี พูลสุขโข และคณะ. (2557). เก่อญอโพ: การเรียนรู้วิถีชีวิตชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ.โครงการพัฒนารูปแบบสถาบันการจัดการเรียนรู้ด้านเด็กและเยาวชนบนฐานชุมชน

สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ. (2518). ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร

สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และ สรินยา คำเมือง. (2540). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโป.กรุงเทพ: โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิกจำกัด.

สุดา สังขดำเนินการและคณะ. (2560). “แนวทางการส่งเสริมอาหารพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาของชาวไทย- กะเหรี่ยง (โผล่ว) บ้านสะเนพ่อง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี,” รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.

สุนทรสุขสราญจิต. (2551). “มายาคติและความรุนแรงของภาพแสดงแทน “ชาวเขา” ในแบบเรียน บทเพลงและภาพยนตร์.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สุนทร เกตุอินทร์. (2545). “โครงสร้างลวดลายผ้าทอกะเหรี่ยง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี,” การค้นคว้าอิสระเสนอต่อหลักสูตรปริญญาศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สุรพจน์ มงคลเจริญสกุล. (2558). “การปรับเปลี่ยนเข้าสู่การเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ประเภท “ข้าวโพด” : กรณีศึกษาชุมชนปกาเกอญอบนพื้นที่สูงอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่,” เชียงใหม่: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สุริยา รัตนกุล. (2547). รวมบทความวิชาการเล่ม 1 กะเหรี่ยง. กรุงเทพฯ: สหธรรมิก

สุริยา รัตนกุล ผู้รวบรวม. (2529). พจนานุกรมภาษาไทย-กะเหรี่ยงสะกอ ผลงานวิจัยของบัณฑิตวิทยาลัยและสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล

สุริยา รัตนกุล. (2531). “รายงานวิจัยเรื่องอาหารแสลงโรคและบริโภคนิสัยของชาวกะเหรี่ยงสะกอ,” สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา. จังหวัดนครปฐม.

อรรถวุฒิ ยาวุฑฒิ. (2544). “พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง เพื่อศึกษาพืชอาหารและเครื่องใช้ในหมู่บ้านอ่างกาน้อย และหมู่บ้านแม่กลางหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่”, ปัญหาพิเศษ.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อัจจิมา หิรัณยพิชญ์. (2549). ความเป็นพลวัตของการใช้ประโยชน์พืชอาหารป่าในป่าชุมชนของชาวปกาเอกะญอ: กรณีศึกษาบ้านห้วยส้มป่อย ลุ่มน้ำแม่เตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อัจฉรา รักยุติธรรมและคณะ. (2541). “ก่อนเริ่มบันทึก” ใน อัจฉรา รักยุติธรรม และคณะ (บ.ก.), สมุดบันทึกคำ “ทา” จอนิ โอ่โดเชา.เชียงใหม่: บีเอสการพิมพ์.

Dawkins, Erin and Phillips, Audra. (2009). A Sociolinguistic Survey of Pwo Karen in Northern Thailand. A research report submitted to Linguistics Institute, Linguistics Department, Payap University. Chiang Mai, Thailand.

Dawkins, Erin and Phillips, Audra. (2009). An Investigation of Intelligibility between West-Central Thailand Pwo Karen and Northern Pwo Karen. A research report submitted to Linguistics Institute, Linguistics Department, Payap University. Chiang Mai, Thailand.

Enriquez, C.M. (1933). Second Edition. Races of Burma. Delhi: Manager of Publications.

Lehman, F.K. (1979). “Who Are the Karen, and If So, Why? Karen Ethnohistory and a Formal Theory of Ethnicity” in Keyes ed. Ethnic Adaptation and Identity: The Karen on the Thai Frontier with Burma. Philadelphia: Institute for the Study of Human Issues, Inc.pp. 215-253.

Sequinotte, Joseph. (2002). (พิมพ์ครั้งที่3). PGAZ K’NYAU AV LIX HKAFU HIIV. กรุงเทพฯ: บริษัท ที.เอส.เพรส. (เซนต์เทเรซ่า การพิมพ์)

Sequinotte, Joseph. (2007). Pgaz K’Nyau dictionary: พจนานุกรม ปกาเกอะญอ-ไทย-ฝรั่งเศส-อังกฤษ. กรุงเทพฯ: หน้าต่างสู่โลกกว้าง

Womack, William Burgess. (2005). “Literate Networks and the Production of Sgaw and Pwo Karen Writing in Burma, c. 1830-1930,” Ph.D. thesis submitted to School of Oriental and African Studies, University of London.

แผ่นพับ

กัลยา จุฬารัฐกร.2559. เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย (คสช.) (แผ่นพับ)

สื่อออนไลน์

กลุ่มเก่อญอโพ. 2561. “ขวัญปกาเกอะญอ 37 ประการ”.สืบค้น 4 มีนาค 2563, จาก http://www.deksammork.com/main/ขวัญปกาเกอะญอ-37-ประการ/

กะเหรี่ยง ตำนานชนเผ่า. สืบค้น 4 มีนาคม 2563, จาก https://www.baanjomyut.com/library/karen/14.html.

กะเหรี่ยง ประเพณีและข้อห้าม. (ม.ป.ป.) สืบค้น 25 กุมภาพันธ์ 2563, จากhttps://www.baanjomyut.com/library/karen/10.html.

เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง. (ม.ป.ป.) เกี่ยวกับเรา. สืบค้น 10 เมษายน 2563, จาก https://imnvoices.com/

เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง. (ม.ป.ป.) กิจกรรม. สืบค้น 10 เมษายน 2563, จาก https://imnvoices.com/category/activity/

เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง.2562. “มารู้จัก” เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Media Network-IMN). สืบค้น 10 เมษายน 2563, จาก https://web.facebook.com/pg/imnvoices/about/?ref=page_internal

ณัฐกานต์ บุญศิริ. (2548). “การแสดงพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง: กรณีศึกษารำตงบ้านใหม่พัฒนา อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานาฎศิลป์ไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” . สืบค้น 1 เมษายน 2563, จาก http://cuir.car.chula.ac.th/bitstream/123456789/7130/1/natthakan.pdf

ทิวา คงนานดี และคณะ. (2554). วิจัยโครงการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมกะเหรี่ยงภาคตะวันตก The Restoration of Karen Language and Culture in Western Thailand. สืบค้น 30 มีนาคม 2563, จากhttp://research1.culture.go.th/research_attachfile/research_attachfile_20161003123222.pdf

พาตี่ตือลือ. (2562). “นิทานกะเหรี่ยง เรื่องนายขี้เกียจ ตอนขี้ไคลพบรัก Karen tale episode 1 a lazy man ” .สืบค้น 23 มีนาคม 2563, จาก ช่องยูทูป Karen Harp https://www.youtube.com/watch?v=Onqw61ZXSBU

ภริษฐา เศรษฐบุตร. (2555). “การใช้ภูมิปัญญากะเหรี่ยงโปว์เพื่อสร้างสื่อการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาล.วิทยานิพันธ์ปริญยาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยแม่โจ้”. สืบค้น 30 มีนาคม 2563, จาก http://webpac.library.mju.ac.th:8080/mm/fulltext/thesis/2556/Bharistha_Sreshthaputra/fulltext.pdf

ศิริธร สาวเสม. (2555). “ดนตรีกะเหรี่ยง กรณีศึกษาหมู่บ้านโป่งกระทิงบน ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี”.ปริญญานิพนธ์ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. สืบค้น 30 มกราคม 2563, จาก http://thesis.swu.ac.th/swuthesis/Ethno/Sirithon_S.pdf

สถาบันจัดการความรู้ชนเผ่าพื้นเมือง. (2559). ข้อมูลพื้นฐานกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม. สืบค้น 10 เมษายน 2563, จาก Ikmi.info/wp-content/uploads/2018/09/ข้อมูลพื้นฐานกะเหรี่ยง.pdf

สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.).ม.ป.ป. เกี่ยวกับเรา. สืบค้น วันที่ 8 เมษายน 2563, จาก https://impect.or.th/?page_id=835

ซันด่า (ไม่มีนามสกุล), วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548

มะเหม่จี สังข์สุวรรณ, วันที่ 19 มิถุนายน 2547

อาภา ทรัพย์ธรรมชาติ, วันที่ 19 มิถุนายน 2547

นุ สาเล็ก, วันที่ 29 พฤษภาคม 2548

ภูวเดช นถกโร, พระ,วันที่ 2563 สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15, 20, 21กุมภาพันธ์ 2563, 25 มีนาคม 2563

สุขศรี ชิติพัทธ์,วันที่ 25 มีนาคม 2563

อำพร ไพรพนาสัมพันธ์, วันที่ 12 เมษายน 2563


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว