กลุ่มชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ)

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ)
  • ชื่อเรียกตนเอง : กะเหรี่ยง, ปกาเกอะญอ, จกอ, คานยอ
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ยางขาว, ยางเผือก, ญาง, สกอ, ยางเบียง, ยางกะเลอ, จกอ, ส่องปากี, กะหร่าง, ยางป่า, บาม่ากะวิน, สกอกะเรน, กะหยิ่น, เกรี่ยง, กะเรง
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ตระกูลภาษา ทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman) ภาษาพูดภาษากะเหรี่ยง, ภาษาเขียนอักษรลิวา
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              "กะเหรี่ยง" เป็นชาวเขากลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอาศัยอยู่หนาแน่นในบริเวณพื้นที่ป่าเขาทางทิศตะวันตกของประเทศไทยบริเวณชายแดนไทย-พม่า และค่อย ๆ เคลื่อนย้ายมาทางทิศตะวันออกในระยะแรกประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา แต่มีเอกสารที่ถูกบันทึกโดยมิชชันนารีที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับอาณาจักรสยามบางท่านพบว่ากะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศสยามมาก่อน แต่เมื่อคนไทยถอยร่นลงมาจากทางเหนือมาสร้างบ้านแปลงเมืองอยุธยา ชาวกะเหรี่ยงจึงต้องยอมเสียพื้นที่ให้และร่นไปอาศัยอยู่ตามภูเขาทางด้านทิศตะวันออกกับทิศตะวันตกมาจนกระทั่งทุกวันนี้ (มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ 2506, หน้า 36)

              ชาวกะเหรี่ยงที่เรียกตัวเองว่าปกาเกอะญอ ซึ่งได้ให้ความหมายตรงกับคำว่าคนหรือมนุษย์ เป็นกลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์หนึ่งที่ได้ตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นชุมชน หมู่บ้านในเขตแดนการปกครองของประเทศไทย กะเหรี่ยงหลักที่อยู่อาศัยในเขตแดนการปกครองของประเทศไทย ประกอบด้วย ปกาเกอะญอ 4 กลุ่มหลักคือ 1.จกอร์/สะกอร์  2.โพล่ง/โปว์  3.กแบ/คะยา  4.ปะโอ/ตองสู กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่ 16 จังหวัดในประเทศไทย คือ ภาคตะวันตก 7 จังหวัดประกอบด้วยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี และภาคเหนือ 9 จังหวัดประกอบด้วย จังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย ตาก แพร่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และเชียงราย รวมประชากรทั้งหมดในปี พ.ศ.2560 จำนวน 1,930 กลุ่มบ้าน 125,673 หลังคาเรือน 549,395 คน (รายงานโครงการสำรวจข้อมูลชุมชนกะเหรี่ยงโดยเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ “คกน. 2560” )

    ชื่อเรียกตนเอง

              ปกาเกอะ เป็นคำเรียกตนเอง หมายถึง "คน" (ขวัญชีวัน บัวแดง, 2549: 9-10; ดู กัลยา ยอดระบำ และ วีระศักดิ์ ยอดระบำ, 2531) คำนี้เกิดขึ้นในบริบทที่ต้องการตอบโต้ต่อวาทกรรม "ปัญหาชาวเขา" (ดังกล่าวข้างต้น) ของคนกะเหรี่ยงตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 โดยคนกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากทั้งภาครัฐและองค์กรศาสนา นำไปสู่ความต้องการพัฒนาท้องถิ่นตนเองอย่างยั่งยืน รวมทั้งเชื่อมโยงกับแนวคิดนานาชาติในประเด็น "ชนพื้นเมือง" จึงเกิดการนิยามอัตลักษณ์ตัวเองในเชิงบวก คำว่า "ปกาเกอะยอ" หรือ "ปกาเกอะญอ" ซึ่งแปลว่า "คน" ในภาษากะเหรี่ยงสกอจึงเกิดขึ้นในบริบทที่ต้องการลบภาพลักษณ์ของวาทกรรม "ปัญหาชาวเขา" หรือกะเหรี่ยงผู้เป็นปัญหาต่อประเทศ หากแต่ เป็น "คน" ที่มีศักดิ์ศรี ศักยภาพและวัฒนธรรมที่ดีงาม (ขวัญชีวัน บัวแดง, 2549: 9-11)  

              จกอ หรือ จกอว์ คำที่ชาวปกาเกอะญอใช้เรียกตนเอง (สุริยา รัตนกุล และสมชาย บุรุษพัฒน์, 2538 : 4) "จกอว์" เป็นคำที่บ่งบอกถึงสายบรรพบุรุษของกะเหรี่ยงสกอหรือปกาเกอะญอ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่สายตระกูลคือ 1) ปกาโปว่ (Pwo) 2) ปกา จกอ (Skaw) 3) แบว (Kya) และ 4) ต่องสู่ (Pa-O/Thaungthu) โดยตามตำนานที่เล่าสืบต่อมาผ่าน "ธา" (ขับลำนำเพลง) ทั้งสี่กลุ่มนับเป็นพี่น้องท้องเดียวกันที่เกิดมาจากสตรีที่ใส่เสื้อซึ่งปักลวดลายด้วยลูกเดือย (วินัย บุญลือ, 2545 : 36) ในบทขับลำนำธาได้กล่าวว่า กลุ่มปกาเกอะญอ (Skaw) สืบเชื้อสายมาจากฝั่งพ่อ ในขณะที่กลุ่มปกาโป่วหรือโป (Pwo) สืบเชื้อสายมาจากฝั่งแม่ (Saw Ni Thew Htoo, 2020: 37) 

              กะเหรี่ยง คำเรียกตนเองที่รับรู้กันโดยทั่วไปที่น่าจะมีความหมายถึง "เรียบเฉย" (ฟ้อน เปรมพันธุ์, 2560) หรือเป็นคำที่เชื่อมโยงกับคำว่า Karita ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่า กลุ่มคนป่า (barbarian tribes) (ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562) อย่างไรก็ตามคำว่า "กะเหรี่ยง" หรือ Karen ในภาษาอังกฤษ ไม่เคยมีนัยยะที่นิยามในหมู่กลุ่มคนปกาเกอะญอหรือโป จนกระทั่งในศตวรรษที่ 19 มิชชันนารีและเจ้าอาณานิคมชาวอังกฤษได้ใช้คำนี้นิยามกลุ่มคนปกาเกอะญอและโป (รวมทั้งกลุ่มย่อยของกะเหรี่ยง) คำนี้จึงมีความหมายทางสังคมขึ้น (วินัย บุญลือ, 2545 : 36) โดยคำว่า Karen มาจากคำเรียกที่ชาวพม่าเรียกกลุ่มคนกะเหรี่ยงว่า "Kayin" (กะหยิ่น) (ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562) ในขณะที่คำเรียก "Kayin" ชาวพม่าใช้เรียกกลุ่มคนกะเหรี่ยงตามชาวมอญที่ใช้ว่า "Kariang" (กะเรียง) โดยที่มาความหมายของคำนี้ มาจากคำว่า "Kha" ผนวกกับคำว่า "riang" ในภาษามอญ โดยคำว่า "kha" แปลว่า กลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท และคำว่า "riang" แปลว่า กลุ่มคนผู้อยู่ป่า อย่างไรก็ตาม คำเรียกกลุ่มคนกระเหรี่ยงทั้งคำว่า "Kayin" และ "Kariang" ไม่เคยปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในภาษาพม่า มอญ และไทย ก่อนศตวรรษที่ 19 เลย (Saw Ni Thew Htoo, 2020: 37) จนกระทั้งมิชชันนารีและเจ้าอาณานิคมชาวอังกฤษได้เข้ามาในดินแดนพม่าดังกล่าวข้างต้น       

              ส่อง เป็นคำที่คนกลุ่มเดียวกับกะเหรี่ยงสกอที่อยู่บริเวณภาคกลางและตะวันตกของไทย (ประชากรกะเหรี่ยงส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงโพร่ว/โปว์) ใช้เรียกตนเอง (ขวัญชีวัน  บัวแดง, 2549 : 11) โดยคำเรียกนี้สามารถเชื่อมโยงกับตำนานของคนกะเหรี่ยง ผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรีเล่าสืบกันมาว่า พวกเขาเรียกตนเองว่า "ซู-ส่อง" หรือปรัมปราของชาวกะเหรี่ยงกล่าวว่าพวกเขาสืบเชื้อสายมาจาก Swa ผู้เป็นทั้งเทพเจ้าและมนุษย์คนแรกของโลก โดยกะเหรี่ยงเป็นบุตรคนแรกของ Swa (ฟ้อน เปรมพันธุ์, 2560) ซึ่งการออกเสียง "ซู่-ส่อง" จึงน่าจะพ้องกับคำว่า Swa  

    ชื่อที่คนอื่นเรียก 

              เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสกอและกะเหรี่ยงโปเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิมาเนิ่นนาน ประมาณ 600-700 ปีมาแล้ว (ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และพรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562 : 13) ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกหลากหลาย โดยเฉพาะคนอื่นที่ใกล้ชิดอย่างชาวไทใหญ่และไทยวน (คนเมืองในล้านนา) มักจะเรียกกะเหรี่ยงสกอว่า "ยาง" โดยความหมายของคำไม่ปรากฏแน่ชัด นักวิชาการและบาทหลวงชาวปกาเกอะญอ วินัย บุญลือ ให้ข้อสันนิษฐานว่า คำนี้น่าจะมาจากในอดีตที่ชาวมอญยังเป็นใหญ่ในย่านนี้ใช้เรียกกลุ่มคนกะเหรี่ยงว่า "ยางกะยิน" หรือ "ยางกะยา" และชาวพม่าก็เรียกเพี้ยนเสียงเป็น "กะหยิ่น" (Kayin) ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ กลุ่มชาติพันธุ์อย่างลัวะก็เรียกว่า "เปอยาง" หรืออาข่าเรียกว่า "ยางกะเลอ" รวมถึงไทใหญ่ ไทยวน ก็เรียกชาวกะเหรี่ยงตามคนมอญว่า "ยาง" และตามด้วยชื่อถิ่นฐาน ลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งหรือลักษณะการแต่งกาย เช่น ยางขาว ยางเผือก ญาง ยางเปียง ยางกะเลอ ยางป่า เป็นต้น (ดรุณี สิงห์พงไพร, 2563 : สัมภาษณ์) โดยแต่ละชื่อมีที่มาดังนี้ 

              ญาง เป็นคำเรียกปกาเกอะญอ/กะเหรี่ยงในหมู่ของชาวล้านนาและชาวไตใหญ่ (ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562) 

              ยางขาว เป็นคำที่ชาวเหนือใช้เรียกทั้งกะเหรี่ยงสกอและกะเหรี่ยงโปว์ (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2545 [2506] : 51-52; บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2551 [2493] : 184 ; ฟ้อน เปรมพันธุ์, 2560) 

              ยางเผือก ไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้ 

              ยางเปียง เป็นคำเรียกปกาเกอะญอในหมู่คนชาวเหนือ โดยคำว่า "เปียง" ในภาษาล้านนาแปลว่า “ที่ราบ” ดังนั้น “ยางเปียง” จึงหมายถึงกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบ (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2545 [2506] : 53) 

              ยางกะเลอ เป็นคำเรียกชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่บริเวณป่า เนินเขา หรือชายเขา (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2545 [2506] : 51-52) เช่น คนอื่นอย่างคนอาข่าจะใช้คำนี้เรียกปกาเกอะญอ (ดรุณี สิงห์พงไพร, 2563 : สัมภาษณ์)    

              ยางป่า เป็นคำเรียกปกาเกอะญอ/กะเหรี่ยงในหมู่ชาวไทย (ฟ้อน เปรมพันธุ์, 2560) 

              ส่องปากี ไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้ 

              กะหร่าง เป็นคำที่คนไทยในประจวบคีรีขันธ์เรียกกลุ่มคนกะเหรี่ยงสกอ (ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562; บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2545 [2506] : 51-52; วิชญดา ทองแดง, 2541)  และเป็นคำที่กะเหรี่ยงโปใช้กะเหรี่ยงสกอที่อยู่บริเวณภาคกลางและภาควันตกของไทย (ขวัญชีวัน  บัวแดง, 2549 : 11) เช่นเดียวกับในเอกสารทางราชการบันทึกว่า ชาวเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ บางครั้งจะใช้คำนี้เรียกคนกะเหรี่ยงที่อยู่บริเวณนั้น (สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ, 2518) โดยที่มาของคำว่า "กะหร่าง" สามารถสืบค้นย้อนไปถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ในหนังสือ "สมุดราชบุรี พ.ศ. 2468" กล่าวว่า นอกจากลาวโซ่งกับมอญแล้ว มณฑลราชบุรี ในเขตราชบุรีและเพชรบุรี "ยังมีพลเมืองชาติพิเศษอยู่อีก คือ พวกเกรี่ยง กร่าง" ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาพรมแดนสยามกับพม่า และไม่ใกล้ชิดกับคนกลุ่มอื่น "ทั้งไม่ใคร่จะตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นปรกติมั่งคง มักอพยพโยกย้ายบ่อย ๆ เมื่อมีเหตุการณ์ป่วยตายหรือโรคภัยอย่างใดขึ้น"  ในเขตราชบุรีจะมีกร่างอยู่ประมาณ 1,200 คน ในกาญจนบุรีประมาณ 1,400 คน และเพชรบุรีประมาณ 400 คน (สมุดราชบุรี, 2468 : 15-16) 

              กะหยิ่น (Kayin) เป็นคำที่ชาวพม่าใช้เรียกต่อท้ายคำเรียกชาวกะเหรี่ยงในประเทศเมียนมาสองกลุ่มใหญ่ คือ บาม่ากะวิน หรือ เบอมาคะยิน (Bama Kayin) หมายถึง กะเหรี่ยงพม่า และ ตาเลงคะยิน (Taliang Kayin) หมายถึงกะเหรี่ยงมอญ โดยคำว่า กะหยิ่น (Kayin) ในภาษาบาลีแปลว่า คนเลี้ยงสัตว์ที่สกปรก (dirty feeders) (ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562)    

              บาม่ากะวิน หรือ เบอมาคะยิน เป็นคำที่ชาวพม่าใช้เรียกกะเหรี่ยงทั้งสองกลุ่มหลัก คือ ปกาเกอะญอ ซึ่งหมายถึงกะเหรี่ยงพม่า ในขณะที่กะเหรี่ยงโปจะถูกชาวพม่าเรียกว่า "ตเลงคะยิน" หรือกะเหรี่ยงมอญ (ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ และ พรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์, 2562; ฟ้อน เปรมพันธุ์, 2560) 

              สกอกะเรน เป็นคำที่พบในเอกสารอังกฤษที่ใช้เรียกกลุ่มคนกะเหรี่ยงด้วยการทับศัพท์ภาษาท้องถิ่น จึงเกิดคำนี้ "Sgaw Karen" ขึ้นเพื่อใช้เรียกปกาเกอะญอ เช่นเดียวกับคำว่า "Pow Karen" ใช้เรียกโป (วินัย บุญลือ, 2545 : 36)   

              เกรี่ยง เป็นคำเรียกจากคนอื่น โดยปรากฏในหนังสือ "สมุดราชบุรี พ.ศ. 2468" ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เนื้อหาบางตอนกล่าวว่า นอกจากลาวโซ่งกับมอญแล้ว มณฑลราชบุรี ในเขตราชบุรีและเพชรบุรี "ยังมีพลเมืองชาติพิเศษอยู่อีก คือ พวกเกรี่ยง กร่าง”  ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาพรมแดนสยามกับพม่าและไม่ใกล้ชิดกับคนกลุ่มอื่น "ทั้งไม่ใคร่จะตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นปรกติมั่งคง มักอพยพโยกย้ายบ่อย ๆ เมื่อมีเหตุการณ์ป่วยตายหรือโรคภัยอย่างใดขึ้น" (สมุดราชบุรี, 2468 : 15-16) 

              กะเรง เป็นคำเรียกกะเหรี่ยงสะกอในหมู่ชาวมอญ (สุริยา รัตนกุล และ สมชาย บุรุษพัฒน์, 2538 : 1) 

          

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย สรศักดิ์ เสนาะพรไพร  เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ  และ กนกวรรณ มีพรม  นักวิจัยอิสระ

    ปีงบประมาณ 2561 , วันที่อัพโหลด ;  29 กันยายน 2562 

    เอกสารอ้างอิง

              กนกวรรณ มีพรหม. (2560). ทวนกระแสการพัฒนา:ชุมชนปกาเกอะญอกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่แม่แจ่ม. เชียงใหม่.บัณฑิตวิทยาลัย.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

              กรรณิการ์ พรมเสาร์ และเบญจา ศิลารักษ์. (2542). ป่าเจ็ดชั้นปัญญาปราชญ์: จากคำบอกเล่าของพ่อหลวงจอนิโอโดเชา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิภูมิปัญญา.

              กุศล พยัคฆ์สัก. (2555). “การเมืองวัฒนาธรรมของคนกนุ่มสาวในการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่: กรณีหารศึกษากลุ่มผู้นำหนุ่มสาวของเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ”. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

              โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ. (2554). วิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น ที่ทำให้งานชุมชนง่าย ได้ผล และสนุก. (พิมพ์ครั้งที่9). นนทบุรี : สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)

              ขจัดภัย บุรุษพันฒ์. (2528). ชาวเขา. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา.

              ขวัญชีวัน บัวแดง. (2549). กะเหรี่ยง หลากหลายชีวิตขากขุนเขาสู่เมือง. เชียงใหม่: ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา สถาบันวิจัยชาวเขา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

              ขวัญชีวัน บัวแดง และคณะฯ. (2547). วาทกรรมอัตลักษณ์. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

              ข้อมูลพื้นฐานชุมชนและการจัดการที่ดินลุ่มน้พแม่เตียะ-แม่แตะโดยองค์กรชุมชน. 2548

              ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศน์ในเขตป่าชุมชน ภาคเหนือ 2541

              ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (2543). “แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน".  ใน ฉัตรทิย์ นาถสกภา (บรรณธิการ). วัฒนธรรมไทยหับขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม. 191-193. กรุงเทพฯ จุลาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

              ชัยประเสริฐ โพคะ. (2554). วิถีการผลิตในระบบวนเกษตรและการจัดการป่าชุมชนกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนในภาคเหนือของกะเหรี่ยงในภาคเหนือของประเทศไทย. เชียงใหม่: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) และชุมชนห้วยกินลาด.

              ชิ สุวิชาน และพร้อมพล สัมพันธโน. (2555). วิถีน้ำ วิถีคนปกาเกอะญอมือแจะคี (ป่าสนวัดจันทร์): เรื่องราวภูมิปัญญาในการใช้และรักษาน้ำของคนปกาเกอะญอ. สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม.

              ชูสิทธิ์ ชูชาติ. (2538). การใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศไทย. สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ.

              ถาวร กัมพลกูล. (2547). ไร่หมุนเวียนในวงจรชีวิตชนเผ่าปกาเกอะญอ สัมพันธภาพแห่งการเกื้อกูลและสมดุลกันระหว่าง คน-คน/-รรมชาติ/ คน-สิ่งสูงสุด. เครือข่ายกองบุญข้าว เชียงใหม่. พิมพ์ที่ บริษัท บี.เอส.ดี การพิมพ์จำกัด.

              ปชาบดี พุ่มพวง ชุติกาญน์ เฉลอมฤทธิ์มนตรี จุไรพร จิตพิทัศน์. (2546). รายงานฝึกภาคปฏิบัติการสนามภาคฤดูร้อน 2546 ณ บ้านห้อยหอย หมู่ที่ 19 ต.แม่วิน อ.แม่วาง เชียงใหม่. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิมยาลัย ธรรมศาสตร์ ประจำภาคฤดูร้อน

              ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และคณะ. (2548). การเมืองเรื่องป่าไม้ ยุคหลังสัมปทาน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ.

              พระญาณพล กิตติปญโญ.(ไพรอมรรัตน์). (2559). ศึกษาวิเคราะห์พิธีกรรมการผูกข้อมือกะเหรี่ยงสะกอร์ตามแนวพุทธจริยศาสตร์. บัญฑิตวิทยาลัย.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย

              มานพ ศรีวรกุล. (2547). “การเปลี่ยนแปลงในระดับครอบครัวและชุมชนจากการนับถือศาสนาคริสต์ของชาวปกาเกอะญอ. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบันฑิต สาขาการศึกษานอกระบบบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

               ยศ สันตสมบัติ. (2547). นิเวศวิทยาชาติพันธุ์ ทรัพยากรชีวภาพ และสิทธิชุมชน. ศูนย์ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

              วินัย บุญลือ. (2545). “ทุนทางวัฒนะรรมและการช่วงชิงอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของชุมชนชาวปกาเกอะญอ”. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

              ศยามล ไกยูรวงค์, กฤษฎา บุญชัย และอัจฉรา รักยุติธรรม. (2545). “ขบวนการเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือเพื่อพิทักษ์สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและธำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์”. ใน ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ. วิถีชีวิตวิถีสู้ ขบวนการประชาชนร่วมสมัย. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์ตรัสวิน (ซิลเวอร์มบุคส์).

              ศริณทิพย์ หมั้นทรัพย์. (2543). “กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์และการปรับเปลี่ยนบทบาทหญิงชายในชุมชนปกาเกอะญอ”. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคมบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

              สมคิด ปัญญาดี. (2556). “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการอนุรักษ์ป่าไม้และการมีส่วนร่วมของเขาเผ่าปกาเกอะญอ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่”. วิทยานิพนธืศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

              สมบัติ คำบุญเยือง. (2547). จอนิโอ่โดเชา: ผู้เฒ่าภูเขา : ชาวบ้านที่ไม่ธรรมดา. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์สำนักงานกองทุนสนับสนุนกองทุนการวิจัย.

              สรศักดิ์ เสนาะพรไพร. (2552). ภูมิปัญญากับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า กรณีศึกษาความเชื่อภูมิปัญญาขวัญ 37 ประการ. เชียงใหม่ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิยาลัยแม่โจ้.

              สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์. (2550). การดำรงความเป็นชุมชนปกาเกอะญอท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในด้านทรัพยากร เศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางสังคม. เชียงใหม่: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

     

ชุดข้อมูล : รายงานโครงการสำรวจข้อมูลชุมชนกะเหรี่ยงโดยเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ

จากรายงานโครงการสำรวจข้อมูลชุมชนกะเหรี่ยงโดยเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ ได้กล่าวถึงภาพรวมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหลักที่อยู่อาศัยในเขตแดนการปกครองของประเทศไทย ประกอบด้วย ปกาเกอะญอ 4 กลุ่มหลัก คือ 1. จกอร์/สะกอร์  2. โพล่ง/โปว์  3. กแบ/คะยา  4.ปะโอ/ตองสู 

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี กำแพงเพชร สุโขทัย ตาก แพร่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย 125673549395
ที่มา:

รายงานโครงการสำรวจข้อมูลชุมชนกะเหรี่ยงโดยเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ “คกน. 2560” 


ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี กำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก แพร่ แม่ฮ่องสอน350000
ที่มา:

หมายเหตุ จำนวนประชากร ดังกล่าวเป็นภาพรวมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่ชื่อนี้มักใช้หมายถึง กะเหรี่ยงสะกอและโปว

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              กะเหรี่ยง เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมของภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ (หรือสุวรรณภูมิ) มีหลักแหล่งอยู่บริเวณหุบเขา ลุ่มน้ำสาละวิน มีแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำสาละวินมีต้นน้ำอยู่ทิเบต เช่นเดียวกับแม่น้ำโขง แล้วไหลคู่กันลงทางทิศใต้ตั้งแต่ต้นจนปลาย ถือเป็นแม่น้ำสายหลักร่วมกันของสุวรรณภูมิ (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2506) "กะเหรี่ยง" เป็นคำที่หมายรวมถึง กลุ่มที่เรียกตนเองว่า ปกาเกอะญอ (จกอว์) โพล่ง (โผล่ว) กะยาห์ กะยัน บแว และปะโอ ที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือประเทศไทย การตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยประชากรกะเหรี่ยง หรือชุมชนปกาเกอะญอ ตั้งถิ่นฐานชุมชนถิ่นที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่าง ๆ อาณาบริเวณจังหวัดรอยต่อระหว่างตะเข็บชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เริ่มตั้งแต่จังหวัดภาคตะวันตกถึงจนถึงภาคเหนือประเทศไทย ก่อนการแบ่งแนวเขตแดนประเทศไทยระหว่างประเทศพม่าหรือสาธารณรัฐเมียนมากับประเทศไทย

              "กะเหรี่ยง" เป็นชื่อที่คนไทยในภาคกลางใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอยต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า พม่าเรียกว่า "กะยิ่น" คนไทยในรัฐฉานแห่งสหภาพพม่าและคนไทยในภาคเหนือเรียก "ยาง" กลุ่มที่อาศัยอยู่ในภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เรียกว่า "กะหร่าง" (สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ 2518: 1) กะเหรี่ยงยังเป็นคำที่คนมอญใช้เรียกกลุ่มที่อาศัยบริเวณพื้นที่ป่าที่อยู่โดยรอบบริเวณเมืองของคนมอญปัจจุบันเป็นบริเวณพื้นที่พรมแดนไทย-พม่า อาจมีการใช้อีกคำหนึ่งคือ กะหร่าง ซึ่งหมายถึงกลุ่มเดียวกันแต่มีลักษณะแตกต่างออกไป เช่น ภาษา การแต่งกาย เป็นต้น คำว่ากะเหรี่ยงใช้กับกลุ่มโปว์ซึ่งมีที่อยู่อาศัยใกล้ชิดกับคนมอญ ในขณะที่กะหร่างใช้เรียกกลุ่มสะกอที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่สูงทางเหนือ คนไทยใช้คำว่ากะเหรี่ยงตามคนมอญแต่เมื่อพม่านำไปใช้กลายเป็นคำว่า "คะหยิ่น" ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Karen คนที่พูดภาษาไตทางตอนเหนือจะเรียกคนที่อยู่บริเวณพื้นที่ป่าเขาใกล้เมืองของเขา ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่บริเวณพรมแดนไทย-พม่า ว่า "ยาง" ซึ่งจะมีคำขยายเพื่อบ่งบอกถึงลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ยางขาว ยางแดง ซึ่งคนไทยภาคเหนือ (คนเมือง) ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับคนไตก็จะเรียกยางเหมือนกัน การเรียกชื่อว่า "คะหยิ่น" มีนัยของความป่าเถื่อนเช่นเดียวกับคำว่า "กะเหรี่ยงหรือยาง" มีนัยของความเป็นคนล้าหลัง

     

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

    ประวัติศาสตร์จากการบันทึกของผู้ปกครองรัฐสยาม นักเดินทางและมิชชันนารี

              คนกะเหรี่ยงหรือคนกะยิ่นที่อยู่รอยต่อพม่าและไทยนั้น จากหนังสือ The Thousand Miles (Hallett 1988: 9-30) มีนักสำรวจมิชชันนารีได้สำรวจเส้นทางรถไฟตั้งแต่มันดาเลย์จนถึงจังหวัดเชียงราย ได้เดินตามเส้นทางลุ่มน้ำสาละวินขึ้นมาข้ามแม่น้ำเมย ตามแม่น้ำแม่ปิงและขึ้นไปจนถึงเชียงราย เป็นการสำรวจเส้นทางของมิชชันนารีและนักสำรวจเส้นทางที่จะทำทางรถไฟผ่านจากพม่าไปยังทางใต้ประเทศจีนโดยผ่านสามเหลี่ยมทองคำ ได้เห็นว่าชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณตะเข็บชายแดนระหว่างสยามกับอาณาจักรของพม่านั้นมีอยู่มากมายและมีความหลากหลาย เป็นกลุ่มชนที่มีการทำมาหากินที่อาศัยอยู่ทั้งพื้นราบและพื้นที่ที่เป็นภูเขา ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ก็จะมีภาษาพูดที่แตกต่างกันออกไป

              ดังนั้นในช่วงแรกของประวัติศาสตร์ล้านนาจะเห็นว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้กับเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากเจ้านายฝ่ายเหนือและอังกฤษที่เข้ามาปกครองบริเวณประเทศพม่ามีความสัมพันธ์ที่ดีผ่านการทำป่าไม้ร่วมกัน โดยผ่านทางบริษัทบอร์เนียว เป็นการเชื่อมโยงคนกะเหรี่ยงที่ข้ามไปมาระลอกที่สองนี้มากขึ้น เป็นกลุ่มที่ใช้ภาษาและมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของแม่น้ำสาละวิน แต่เมื่ออังกฤษได้เข้ามาและให้กำหนดเขตแดนการกำหนดให้แม่น้ำสาละวินเป็นเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยาม จึงทำให้ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ทั้งสองฟากฝั่งของแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำเมยกลายเป็นพลเมืองของสองรัฐชาติที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ นับตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนลงไปถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงทั้งสิ้น การที่เป็นคนสองฝั่งในสมัยอาณานิคมนี้จึงเป็นการเริ่มสร้างความแตกต่างของคนกะเหรี่ยงของทั้งสองกลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่าและกลุ่มที่อยู่ฝั่งสยาม เป็นต้น ในหนังสือของนักสำรวจที่ดินทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนรัฐกะยาหรือรัฐกะเหรี่ยงแดงเคยทำสัมพันธไมตรีกับเจ้านายฝ่ายเหนือกับผู้นำกะเหรี่ยงแดงในบริเวณแถบแม่น้ำสาละวินว่าจะเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ ไม่สามารถที่จะทำการสู้รบกัน โดยการฆ่าควายและแบ่งเขาควายออกเป็นสองชิ้นให้เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธภาพของสยามกับยางแดง

              นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าแต่เดิมกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในดินแดนด้านตะวันออกของทิเบต แล้วมาตั้งอาณาจักรอยู่ในประเทศจีนเมื่อ 733 ปีก่อนพุทธกาล หรือประมาณ 3238 ปีล่วงมาแล้ว ชาวจีนเรียกชนชาติโจว ภายหลังถูกกษัตริย์ในราชวงศ์จิ๋นรุกรานเมื่อ พ.ศ. 207 จึงหนีลงมาอยู่ตามลำน้ำแยงซี เกิดปะทะกับชนชาติไทยจึงถอยร่นลงมาอยู่ตามลำแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาละวินในเขตประเทศพม่า และเนื่องจากการอยู่พื้นราบมักถูกรบกวนเสมอจึงพากันอพยพไปอยู่ตามป่าลึกและภูเขาเพราะเมื่อเกิดสงครามทำให้หลบหนีได้สะดวก กะเหรี่ยงเคลื่อนย้ายลงมาอยู่ตอนใต้ก่อนชนชาติไทย อาศัยอยู่ในไทยก่อนที่ไทยจะเคลื่อนย้ายลงมาสู่แหลมสุวรรณภูมิ แต่มีจำนวนน้อยและเข้ามาอยู่ภายหลังละว้าหรือลัวะ ดังปรากฏข้อความอยู่ในตำนานพระธาตุและพงศาวดารเมืองเหนือหลายฉบับว่านอกจากพวกละว้าหรือลัวะแล้วยังมีพวกยางหรือกะเหรี่ยงอยู่ตามป่ารอบ ๆ เมือง กะเหรี่ยงอพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นจำนวนมากในสมัยเมื่อพระเจ้าอลองพญา (อ่องเจยะ) ทำสงครามกับพวกมอญ เมื่อมอญพ่ายแพ้จึงถูกตามล่าฆ่าฟันหมายจะให้มอญสูญสิ้นไป ซึ่งเวลานั้นกะเหรี่ยงเป็นมิตรกับมอญจึงได้ให้ที่พักอาศัยและที่หลบภัยแก่มอญแต่เมื่อพม่ายกทัพติดตามมา กะเหรี่ยงเกรงภัยจึงพากันอพยพเข้าสู่เขตไทย ส่วนการอพยพเข้ามาอีกครั้งหนึ่งคือเมื่อครั้งอังกฤษยึดพม่าได้ใน พ.ศ. 2428 จ่อละผ่อ หัวหน้ากะเหรี่ยงไม่ยอมอ่อนข้อให้อังกฤษ เมื่ออังกฤษส่งกองทัพใหญ่มาปราบปรามกะเหรี่ยงจึงพากันเข้ามาอยู่ในไทย (สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ 2518: 2)

              บางกลุ่มเชื่อว่าชาวกะเหรี่ยงอพยพมาจากดินแดนทิบิกอบิ[1] ซึ่งเป็นทะเลทรายโกบีในประวัติศาสตร์ของโลกนั้น จึงถูกรวมให้เป็นชนชาติหนึ่งในแถบมองโกเลีย แถบประเทศจีน ประวัติศาสตร์ของชาวกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาสู่ดินแดนแถบลุ่มน้ำสาละวินและอาศัยอยู่สองฟากฝั่งสาละวินเป็นการตั้งชุมชนของตน ชาวกะเหรี่ยงจึงมีหลากหลายภาษา หากย้อนกลับไปศึกษาบริเวณพม่าและไทยนั้นมีกะเหรี่ยงที่รวมกันอยู่ทั้งที่เรียกว่า "กะยา" "คะเรนนี" ซึ่งอาศัยตั้งแต่บนภูเขาจนถึงทะเล ในประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มนี้ได้อาศัยอยู่บริเวณภาคตะวันออกของไทยหรือภาคตะวันตกของพม่าทำให้กลายเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ระหว่างตะเข็บชายแดนตลอดมา แต่การสร้างอารยธรรมของชนกลุ่มนี้เป็นการกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม่สามารถรวมตัวกันได้ และเนื่องจากความหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรม จึงได้แยกตัวกระจายกันออกไป (Renard 1980)

              จากข้อมูลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (2555) กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย อาศัยอยู่หนาแน่นในพื้นที่ป่าเขาทางทิศตะวันตกของประเทศไทยบริเวณชายแดนไทย-พม่า ปัจจุบันอาศัยอยู่ใน 16 จังหวัดได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ กะเหรี่ยงมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ตอนเหนือของประเทศพม่าและไทยเมื่อ 600-700 ปีมาแล้ว ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณรอบเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 8 สาเหตุสำคัญของการอพยพเนื่องจากความกดดันทางด้านการเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งกับชาวพม่าที่ต้องการให้อยู่ภายใต้การปกครองของตนเอง แต่ชาวกะเหรี่ยงไม่ยอมต้องการที่จะมีอิสระหรือรัฐอิสระ ดังนั้นจึงเกิดการสู้รบฆ่าฟันกับพม่ามาโดยตลอด ชาวกะเหรี่ยงถูกกดขี่อย่างหนักปราศจากความคุ้มครอง ถูกพม่าจับไปเป็นทาส ถูกร้อยเอ็นหวายที่ข้อเท้ากันหลบหนี และยังถูกบังคับให้เสียภาษีรายตัวโดยจ่ายด้วยของป่าแทนการรับใช้พม่า จากการถูกข่มเหง ถูกรังแกจากพม่าจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานบ่อย ๆ

              นอกจากกลุ่มกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินมายาวนานแล้ว การอพยพครั้งใหญ่ของกะเหรี่ยงเข้าสู่ดินแดนที่ปัจจุบันเป็นประเทศไทยจึงเกิดขึ้นราว 200 กว่าปีมาแล้ว ตามที่มีบันทึกไว้ประมาณปี พ.ศ. 2317-2318 ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าอลองพญา (อ่องเจยะ) ทำสงครามกับพวกมอญ เพื่อทำการยึดอำนาจและดินแดนของมอญ เมื่อมอญแพ้กะเหรี่ยงซึ่งเป็นมิตรกับมอญจึงพากันอพยพหลบหนีข้ามเขามายังฝั่งไทย ในการอพยพนั้นทำให้เกิดความยากลำบากและการพลัดพรากของกะเหรี่ยงจำนวนมากจากการไล่ล่าของพม่า ซึ่งตามตำนานกะเหรี่ยงได้แตกออกเป็น 3 กลุ่ม  กลุ่มแรกได้ถูกพม่าต้อนไปเป็นจำนวนเรียงแถวได้ 7 คดแม่น้ำ กลุ่มที่สองได้ถูกกวาดต้อนไปกับเรืออังกฤษ 7 ลำ และกลุ่มที่สามได้เดินทางข้ามมาอยู่ฝั่งไทยเป็นจำนวนถึง 7 จะคอง (ตำบล) กลุ่มที่ข้ามมาฝั่งไทยได้เดินทางไปกับมอญถึงเมืองสุพรรณบุรี ราชบุรีและอุทัยธานี และอีกกลุ่มหนึ่งตั้งหลักปักฐานอยู่บริเวณป่าแถบกาญจนบุรีและตาก (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี 2534: 29-32) ชุมชนกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรีและตากนั้น ภายหลังได้กลายเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญทางภาคตะวันตกของไทยมาตั้งแต่อดีต และยังมีเจ้าเมืองที่เป็นกะเหรี่ยงอีกด้วย และอพยพอีกครั้งประมาณปี พ.ศ. 2428 เมื่ออังกฤษยึดครองประเทศพม่าซึ่งกะเหรี่ยงอาศัยอยู่หนาแน่นบริเวณต้นน้ำสาละวินทางทิศตะวันออกและบริเวณต้นน้ำแม่ปิง กระจายทางเทือกเขาตะนาวศรี ตั้งแต่ภาคเหนือของไทยถึงบริเวณคอคอดกระ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 2555)

     ความสัมพันธ์ระหว่างกะเหรี่ยงกับอาณาจักรเพื่อนบ้านใกล้เคียง

              งานศึกษาของ Keyes (1979) ที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับล้านนาและความสัมพันธ์กับยวน ซึ่งจากประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทั้งสองกลุ่มได้ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารในศตวรรษที่ 13 และในศตวรรษที่ 17 โดยบันทึกของพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจระหว่างการค้าขาย ไม้สัก ของป่า เนื่องจากบริเวณชายแดนที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอาศัยอยู่มีไม้สักจำนวนมาก และยังได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์ของสยามกับกะเหรี่ยงที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและได้มอบหมายตำแหน่งสำคัญ ๆ ในการเป็นเจ้าเมืองต่าง ๆ ให้คนกะเหรี่ยงอีกด้วย

              ความสัมพันธ์ระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับอาณาจักรล้านนาได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือพงศาวดารโยนก ในปริเฉทที่ 24 ได้พูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง (ยาง) ในสมัยที่พระเจ้ากาวิละ ในขณะที่อาณาจักรล้านนาถูกทิ้งร้างให้เป็นป่า จากการพ่ายแพ้ต่อสงครามกับพม่า พระยาวชิรปราการกาวิละกับพวกพ้องจึงต้องการกำลังพลเพื่อมาตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่ จึงได้เอาถ้วยชามดี 40 ใบ ไปเป็นของกำนัลให้กะเหรี่ยง (ยาง) ก๊างหัวตาด นายด่านกะเหรี่ยง (ยางแดง) เกลี้ยกล่อมให้มาสวามิภักดิ์ด้วยและได้เกลี้ยกล่อมกะเหรี่ยงในที่อื่น ๆ เช่น ก๊างแสนหลวงยางหัวด่านกะเหรี่ยงฟากตะวันตกแม่น้ำคง ยางก๊างแสนหลวง ฟ้าน้อยหมวดเมือง ทลาง (ผาปูน) ให้มาเป็นพลเมือง เพื่อจะได้สร้างเมืองเชียงใหม่ที่ถูกทิ้งร้างขึ้นมาใหม่ เป็นต้น (แช่ม บุญนาค 2507: 452-453)

              เช่นเดียวกับงานศึกษาของ สงวน โชติสุขรัตน์ (2515: 545-546) ได้ศึกษาจากบันทึกการทำสัญญาไมตรีเชียงใหม่กับเมืองยางแดง (ผู้เขียนไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้บันทึกต้นฉบับเป็นใครแต่ได้นำมาจากสมุดบันทึกประวัติเมืองเชียงใหม่ของพระยามหาหมื่น วุฑฒิญาโณ วัดหอธรรม (เจดีย์หลวง) เชียงใหม่ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2496) ว่าเมื่อพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละเป็นพระยามังราวชิรปราการกำแพงแก้ว ได้ให้เจ้าธรรมลังกาออกไปสำรวจอาณาเขตด้านตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ถึงริมแม่น้ำคง (สาละวินฟากตะวันออก) ซึ่งเห็นว่ามีเมืองยางแดงอยู่และไม่ได้ขึ้นกับอังวะ จึงได้เจรจาเกลี้ยกล่อมให้เป็นมิตรเพื่อที่จะได้สอดแนม ฟังข่าวและแจ้งให้เชียงใหม่ทราบว่า พม่าจะยกกองทัพมาเมื่อไหร่ จากแผนการป้องกันชาติบ้านเมืองดังกล่าวจึงตกลงที่จะเจริญสัมพันธไมตรีผูกมิตรต่อชนชาติกะเหรี่ยง ทั้งนี้จะได้พึ่งพาอาศัยกัน ทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินซึ่งเป็นดินแดนผืนเดียวกันกับอาณาจักรล้านนาให้เป็นเมืองด่านของเชียงใหม่ด้วย จึงได้มอบให้พญาสามล้านผู้เป็นทั้งนักการทูตและนักการทหาร โดยนำถ้วยชาม 30 ชิ้น ผ้าแพรและหนังสือเป็นทูตสันถวะไมตรีออกเดินทางจากเมืองเชียงใหม่พร้อมคณะไปเจริญสัมพันธไมตรี และได้ตั้งพิธีสัตย์สาบานตามจารีตเมืองยางแดง โดยการล้มควายเพื่อทำพิธีและนำเขาควายนั้นมาผ่าเป็นสองซีก โดยซีกหนึ่งให้เป็นของยางแดงอีกซีกหนึ่งเป็นของเมืองเชียงใหม่ปฏิญาณต่อกันไว้ว่า "ตราบใดที่แม่น้ำคงไม่หาย เขาควายไม่ตรง ถ้ำช้างเผือกไม่ยุบ เมืองเชียงใหม่กับเมืองยางแดงจะเป็นมิตรที่ดีต่อกันตราบนั้น" ทั้งสองฝ่ายจึงได้กล่าวคำสัตย์สาบานเป็นภาษาของตนและต่างเก็บเขากระบือรักษาไว้ ถือเป็นสัตย์วาจาที่มีต่อกันสืบต่อไปในภายภาคหน้า

              ด้านชายแดนฝั่งตะวันตก เดิมทีกะเหรี่ยงได้ตั้งหลักปักฐานในพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดตาก ซึ่งชุมชนในสองจังหวัดนี้ได้กลายเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญทางภาคตะวันตกของไทย ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในสยามหรือประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กะเหรี่ยงที่อยู่ใต้อาณัติของอาณาจักรสยามและอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ใต้อาณัติของอาณาจักรล้านนา ตามประวัติศาสตร์ของการรวมสยามตั้งแต่สมัยอยุธยาจนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ชาวกะเหรี่ยงนั้นก็มีการแบ่งออกเป็นสองกลุ่มอยู่แล้ว ระหว่างกะเหรี่ยงที่อยู่ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรสยาม เมื่อมีการปกครองที่พยายามรวมกันปกครองที่ส่วนกลาง ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดตากไปจนถึงจังหวัดกาญจนบุรีนั้น อาณาจักรสยามได้รวมคนกลุ่มนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยามโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กาญจนบุรีจะมีเจ้าเมืองกะเหรี่ยงที่อยู่ตามชายแดนและในเวลาต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยา เช่น พระยาศรีสุวรรณคีรี เจ้าเมืองสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งตำแหน่งนี้ได้รับการแต่งตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ในสมัยนั้นมีกะเหรี่ยงโพล่งอาศัยอยู่ตามหัวเมืองชายแดนตลอดแนวตะวันตก ชุมชนที่เก่าแก่ คือ เมืองศรีสวัสดิ์ตั้งมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตั้งอยู่ตอนบนของแม่น้ำแควใหญ่ ซึ่งกลายเป็นเมืองหน้าด่านของไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

              นายด่านชาวกะเหรี่ยงได้ทำคุณประโยชน์มากมายในการปกป้องรักษาบ้านเมือง มีการตั้งกองด่านรักษาปลายพระราชอาณาเขตและสืบข่าวปลายแดน ได้สู้รบข้าศึกที่มารุกรานด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินสยาม เช่นเดียวกับเมืองสังขละบุรีที่ตั้งอยู่บริเวณแควน้อยตอนบนซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านในสมัยรัตนโกสินทร์ ในทางประวัติศาสตร์รัฐไทยได้ยอมรับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนกะเหรี่ยงในบริเวณลุ่มน้ำแควใหญ่ แควน้อยตอนบนและแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งถือว่าเจ้าเมืองกะเหรี่ยงเป็นข้าของแผ่นดินโดยได้รับเบี้ยหวัดรายปีจากพระมหากษัตริย์ไทย และถือน้ำพิพัฒน์สัตยาพร้อมถวายเครื่องราชบรรณาการ ได้แก่ ผ้าฝ้าย ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองและผลผลิตจากป่า แก่พระมหากษัตริย์ทุก 3 ปี (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี 2534: 31) สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษ ของพระยาศรีสุวรรณคีรี ซึ่งเป็นกะเหรี่ยงโพล่งนั้นอพยพหนีภัยสงครามมาและเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ในสมัยที่พระเจ้าอลองพญาเป็นกษัตริย์ของพม่าและได้ปราบมอญที่ก่อการกบฏ กะเหรี่ยงซึ่งเป็นมิตรกับมอญได้รับผลกระทบในการปราบปรามครั้งนี้ด้วย จึงพากันหนีมาจากบ้านเมกะวะ เมืองเมาะละเหม่ง เข้ามาประเทศไทยทางด้านด่านเจดีย์สามองค์ และมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ห้วยซองกาเลีย หรือบ้านพุถ่อง และทุ่งใหญ่เซซาโว่ (ทุ่งใหญ่นเรศวร) และต่อมาภายหลังได้มีชาวกะเหรี่ยงทยอยอพยพตามกันมามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป (บุหลัน รันตี 2552: 30-35)

              การศึกษาของ Ronald D. Renard (1980) ที่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ได้รับหน้าที่สำคัญจากผู้ครองนครสยามในขณะนั้น เช่น ที่กาญจนบุรี ได้รับตำแหน่งให้เป็นเจ้าเมือง มีชื่อว่า พระยาศรีสวัสดิ์ แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เน้นการปกครองจากส่วนกลาง และในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เน้นความเป็นรัฐชาติทำให้บทบาทเจ้าเมืองในภาคเหนือลดลงบทบาทของคนกะเหรี่ยงจึงหมดไปด้วย เนื่องจากก่อนหน้านั้นขึ้นตรงต่อเจ้านายฝ่ายเหนือ โดยการส่งส่วยหรือบรรณาการ ได้แก่ งาช้าง ไม้ ผ้า เป็นต้น แทนการเสียภาษีซึ่งมีความแตกต่างจากคนชนบทในรัฐสยามที่ต้องเสียภาษี

              นอกจากนั้นยังมีงานเขียนซึ่งเป็นการบันทึกของมิชชันนารีจากการเดินทางมายังอาณาจักรสยามได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรสยามขึ้นใน พ.ศ. 2397 และในหนังสือนี้เองได้เขียนถึงกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงไว้ว่า เป็นชนชาติที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศสยามมาแต่ก่อน เมื่อคนไทยถอยร่นลงมาจากทางเหนือและมาสร้างบ้านแปลงเมืองอยุธยาขึ้นนั้น ชาวกะเหรี่ยงต้องยอมเสียพื้นที่ให้และร่นไปอาศัยอยู่ตามภูเขาทางด้านทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก แล้วตั้งถิ่นฐานมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นอกนั้นยังได้บันทึกไว้ว่าอาณาจักรสยามมีประชากรทั้งหมดหกล้านคนเท่านั้นซึ่งไม่ได้ส่วนสัมพันธ์กับพื้นที่ที่กว้างใหญ่ไพศาล และประชากรที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรสยามแบ่งออกเป็นชนชาติต่าง ๆ ดังนี้ สยามหรือไทย 1,900,000 คน จีน 1,500,000 คน มลายา 1,000,000 คน ลาว 1,000,000 คน เขมร 500,000 คน มอญ 50,000 คน กะเหรี่ยง ชอง (ชนชาวป่าพวกหนึ่งในตระกูลมอญ-เขมร มีมากทางตอนเหนือของจังหวัดจันทบุรี เขมรเรียก ปอร ตัวเองเรียกว่า สำเร หรือ ตำเหรด) และละว้า 50,000 คน รวมเป็น 6,000,000 คน และประเทศราชหรือที่เรียกว่าเมืองขึ้นของสยามมี ตรังกานู กลันตัน ปัตตานี เกดาห์ นคร (ศรีธรรมราช) กัมพูชา โคราช เชียงใหม่ ลำพูน ลคร (ลำปาง) แพร่ น่าน หลวงพระบางเมืองหล่ม (สัก) หัวเมืองเขมรและลาว รวมทั้งชนเผ่า ชอง (ชนชาวป่าพวกหนึ่งในตระกูลมอญ-เขมร มีมากทางตอนเหนือของจังหวัดจันทบุรี เขมรเรียก ปอร เรียกว่าตัวเองสำเร หรือ ตำเหรด) กะเหรี่ยงและละว้า (มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ 2549: 36, 55-57)

              นอกจากการจากการบันทึกทางประวัติศาสตร์แล้ว วรรณคดีและวรรณกรรมไทยยังได้ปรากฏชื่อของคนกะเหรี่ยงในวรรณคดีไทยขุนช้างขุนแผน เมื่อครั้งสุนทรภู่ได้เดินทางไปสุพรรณบุรีในปี พ.ศ. 2384 และได้พักที่หมู่บ้านของคนกะเหรี่ยงและละว้า (Renard 1980) ซึ่งในตอนที่ 24 “ตอนกำเนิดพลายงาม” บรรยายการเดินทางของพลายงามลูกของขุนแผนกับนางวันทองที่ได้เดินทางจากสุพรรณบุรีเพื่อจะมาหาคุณย่าคือนางทองประศรีที่จังหวัดกาญจนบุรี สุนทรภู่บรรยายการเดินทางของพลายงามที่ผ่านไร่ของชาวกะเหรี่ยงว่า

                   “ต้นแคคางกร่างกระทุ่มชอุ่มออก                   ทั้งช่อดอกดูไสวเหมือนไม้เขียน

              เจ้าพลายเพลินเดินพลางตามทางเกวียน                 ตลอดเลี่ยนลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยมา

              ถึงโคกฆ้องหนองสะพานบ้านกะเหรี่ยง                   เห็นโรงเรียงไร่ฝ้ายทั้งซ้ายขวา

              พริกมะเขือเหลืองามอร่ามตา                            สาลิกาแก้วกินแล้วบินฮือ

              เห็นไก่เตี้ยเขี่ยคุ้ยที่ขุยไผ่                                 กระโชกไล่ลดเลี้ยวมันเปรียวปรื๋อ

              พบนกยูงฝูงใหญ่ไล่กระพือ                              มันบินหวือโห่ร้องคะนองใจ”

                                                                          (ข้อมูลจาก http://vajirayana.org ค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559)

    การเผยแผ่ศาสนาของชาวตะวันตกกับชาวกะเหรี่ยง

              ศาสนาคริสต์เข้ามามีบทบาทที่สำคัญนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2375 มิชชันนารีชาวอเมริกันได้เดินทางเข้าไปเผยแผ่ศาสนาที่ประเทศพม่า และยังได้ประดิษฐ์คิดค้นภาษาเขียนโดยนำพยัญชนะพม่ามาใช้ตัวอักษรนี้เผยแพร่เข้ามาสู่กะเหรี่ยงในประเทศไทยเช่นกัน ชาวกะเหรี่ยงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวตะวันตกเนื่องจากการรับเอาความเชื่อในศาสนาคริสต์นั้น ช่วยให้กะเหรี่ยงมีความสามารถที่จะรวมเป็นชาติเดียวกันและต้องสู้กับกลุ่มอื่น ๆ ได้ (Po 1928: 62) การเข้ามาเผยแผ่ศาสนาของชาวตะวันตกในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 มีกะเหรี่ยงจำนวนหนึ่งที่อาศัยบริเวณที่ราบและบริเวณสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำเปลี่ยนมารับเอาความเชื่อในคริสต์ศาสนา ได้รับการศึกษา มีพัฒนาการทางสังคมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้กลายเป็นผู้นำชนชาติกะเหรี่ยงในเวลาต่อมาเป็นผู้ปลุกสำนึกของความเป็นเชื้อชาติกะเหรี่ยง ดังนั้นการเข้ามาของหมอสอนศาสนาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่ในอดีตเป็นเพียงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมปกครองที่มีเพียงแค่ระดับหมู่บ้าน สามารถพัฒนาให้มีความเจริญเทียบเคียงพม่าและพัฒนาชุมชนของตนจนกลายเป็นคู่ต่อสู้ของพม่าในที่สุด

              กะเหรี่ยงภายใต้การปกครองของอังกฤษมีวิวัฒนาการที่สูงมากจากอิทธิพลทางการศึกษาแบบตะวันตกของหมอสอนศาสนา ทำให้ชาวกะเหรี่ยงได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ชาวกะเหรี่ยงแผ่ขยายชุมชนออกไปตามลุ่มแม่น้ำทำการเพาะปลูกข้าว ทำให้พื้นฐานทางเศรษฐกิจดีขึ้นแต่ละชุมชนจะมีโรงเรียนของหมอสอนศาสนาหรือชุมชนที่ชาวกะเหรี่ยงตั้งขึ้นเองให้ได้รับการศึกษาทั่วหน้า ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับการศึกษาสูงเข้ารับราชการกับรัฐบาลอังกฤษเป็นจำนวนมากนอกเหนือจากการเป็นทหารและตำรวจในกองทัพอังกฤษ ปัญญาชนเหล่านี้จึงเป็นผู้จุดประกายการรวมตัวกันเป็นรัฐอิสระของชาวกะเหรี่ยงโดยให้มีอิสระในการปกครองตนเอง แต่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลอังกฤษ ความคิดนี้เกิดขึ้นพร้อมกระแสการกู้ชาติของพม่าซึ่งต้องการเป็นอิสระจากอังกฤษในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกนั้นปัญญาชนกะเหรี่ยงเหล่านี้ยังได้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อให้เกิดความรักในชาติพันธุ์ของตนเอง ได้แก่ องค์กรแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Association = KNA) กลุ่มสมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยงชาวพุทธ (Buddhist Karen Nation Association = BKNA) และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Union = KNU) ชาวอังกฤษตอบสนองกระแสรักชาติของชาวกะเหรี่ยงโดยรับชาวกะเหรี่ยงที่มีการศึกษาเข้ารับราชการในหน่วยงานต่าง ๆ มากขึ้น กระแสความต้องการตั้งตนเป็นอิสระของชาวกะเหรี่ยง เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ควบคู่ไปกับขบวนการรณรงค์เพื่ออิสรภาพของชาวพม่าและสันนิบาตเสรีชนฟาสซิสต์ (AFPFL)

              จากความก้าวหน้าทางการศึกษาทางด้านสังคมและจิตใจ ชาวกะเหรี่ยงจึงไม่อายและไม่กลัวที่จะเรียกมิชชันนารีว่า “แม่” เรียกรัฐบาลอังกฤษว่า “พ่อ” เมื่อมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาจึงได้รับการต้อนรับอย่างดี (Po 1928: xiii) อีกทั้งยังมีหมอสอนศาสนาชาวตะวันตกที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในพม่าช่วงของอาณานิคม ทำให้ชาวกะเหรี่ยงได้รับอิทธิพลด้านศาสนาจากหมอสอนศาสนาอย่างมาก จึงมีวิวัฒนาการทางการศึกษาและด้านสังคมสูงกว่าชนกลุ่มอื่น ๆ ชาวกะเหรี่ยงหลายคนได้รับการศึกษาตามแผนการศึกษาใหม่ของอังกฤษ ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยในและต่างประเทศ ในระบบข้าราชการมีชาวกะเหรี่ยงไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จทางการงานและทางด้านอาชีพ โดยเฉพาะในกองทัพอังกฤษในพม่า ความผูกพันระหว่างกะเหรี่ยงกับผู้ปกครองเดิมทำให้เกิดความภักดีต่ออังกฤษ

     

    [1] Thibi Kawbi (ตีบีกอบี) เป็นภาษาปกาเกอะญอ แปลว่าน้ำนิ่ง แผ่นดินสงบ

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

             วิถีชีวิต วัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงมีภูมิหลัง อยู่พึ่งพากับป่าธรรมชาติแบบถ้อยอาศัย มีการทำการเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเรียนซึ่งชาวกะเหรี่ยงเรียกระบบการเกษตรแบบนี้ว่า ฆคึ๊ เป็นสำเนียงกะเหรี่ยง จกอร์/หรือ สำเนียงของกะเหรี่ยงโพล่งเรียกว่า เฆคอะ แม้จะไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแต่ถูกบันทึกไว้เป็นเรื่องเล่าบทธา นิทาน ตำนานเรื่องเล่าในรูปแบบที่หลากหลาย จะเห็นได้จากการศึกษาของนักวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่มีการศึกษาทางวิชาการทั่วโลก ข้อมูลที่ออกมาจะเป็นไปในลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างมาก

             ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จำแนกออกตามลักษณะเอกลักษณ์ ภาษา และวัฒนธรรมการแต่งกายได้เป็น 2 กลุ่มหลักคือ จกอร์ กับโพล่ง หรือกะเหรี่ยงสะกอร์กับกะเหรี่ยงโพล่ง ความแตกต่างของสองกลุ่มนี้จะอยู่ที่เสื้อผ้าการแต่งตัวของหญิงแม่บ้าน และสำเนียงภาษา

              ชาวกะเหรี่ยงมีวิถีชีวิตวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อต่าง ๆ พาตีจอนิ โอ่โดเชา เล่าไว้โดยย่อ ๆ โดยอ้างถึงนิทานและบทธาของชาวปกาเกอะญอ มาดังนี้ พวกชาติพันธุ์กะเหรี่ยงนี้อาศัยอยู่ตามป่าริมสันเขา ริมน้ำ และขุนห้วยแม่น้ำลำธารและตามสองฝั่งลุ่มน้ำสาละวินเนินเขาแถบเทือกเขาถนนธงชัย ทิศตะวันออกและใต้ อำเภอขุนยวม อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน, อำเภออมก๋อย อำเภอแม่แจ่ม ทางทิศตะวันตกของ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่, อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และทางทิศตะวันตกของจังหวัดตากริมสองฝั่งแม่น้ำเมยยาวไปจนถึงแม่กลอง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

    โครงสร้างสังคม ระบบความเชื่อ และระบบการปกครองเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

              เดิมชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อและเคารพนับถือสิ่งที่เรียกว่า หมื่อ ฆคา เคล่อ (เทพบรรพบุรุษผู้ให้มากำเนิด) โดยมีความเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาจากการมาจุติของจิตวิญญาณที่มีต้นโพธิ์เป็นสื่อกลางหรือสะพานเชื่อมโยงให้วิญญาณอันไร้ตัวตนมากำเนิดในร่างคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ หลังจากเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วจะต้องมีองค์ประกอบสี่ประการเป็นโครงสร้างให้มนุษย์ที่มีตัวตนและจิตวิญญาณคือธาตุทั้งสี่อันประกอบด้วยดิน น้ำ ลม และไฟ ฉะนั้นจะเห็นว่าวิถีชีวิตเดิมชาวกะเหรี่ยงจะมีวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการบูชาเจ้าแห่งไฟ เจ้าที่ดิน เจ้าน้ำ เจ้าป่า เจ้าเขาทั่วไปจากอดีตถึงปัจจุบัน  การเคารพนับถือธรรมชาตินี้ถูกตีความและให้นิยามว่านับถือผี ซึ่งผีในที่ถูกนิยามนี้ชาวปกาเกอะญอเรียกว่า เก่อลาหรือขวัญ อันหมายถึงองค์ประกอบสรรพสิ่งธรรมชาติสิ่งทำให้ก่อเกิดและมีชีวิตดำเนินอยู่ได้บนโลกนี้

              โดยความรู้ผ่านความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ "กะเหรี่ยง" เล่าสรุปโดยจอนิ โอ่โดเชา ,มุเสาะ เสนาะพรไพร, น้อย นุแฮ ปราชญ์อาวุโสชาวปกาเกอะญอ : 18 เม.ย. 2561 ว่าที่มาของการเป็นชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงมาจากสิ่งที่เราเรียกว่า โหม่/หมื่อ (แม่) และป่า/ควา (พ่อ) เป็นต้นตอก่อเกิดสายตระกูลขยายเผ่าพันธุ์จากอดีตถึงปัจจุบัน

     

    เดิมทีโหม่/แม่หรือเผ๊าะหมื่อจะอยู่อาศัยริมน้ำห้วย แม่น้ำและทะเล การทำพิธีกรรมเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ พิธีกรรมที่เรียกว่า เอาะบก๊ะ หมายถึงการกินสืบสานต้นกำเนิดสายตระกูลนั้นจะให้ปลาเป็นส่วนองค์ประกอบในการทำพิธี นี่คือการบ่งบอกและสื่อความว่าคนกะเหรี่ยงเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่มาของตนเองอย่างไร ฉะนั้นกะเหรี่ยงเขาถือว่าสายตระกูลผู้ให้กำเนิดเขาคือ โพล่ง คือสายเลือดผู้เป็นแม่ /โหม่  สรุปว่ากะเหรี่ยงเชื่อว่าแม่มีความสำคัญมาก จะเห็นได้ว่าจากจารีตประเพณีการอยู่อาศัยบ้านเรือนนั้นเชื่อว่าบ้านนั้นเป็นของผู้หญิง พิธีการแต่งงานครองเรือนผู้หญิงจะเป็นไปขอผู้ชาย ผู้ชายจะแต่งเข้าบ้านฝ่ายหญิง จากหลักคิดปรัชญาความเชื่อนี้เชื่อมโยงกับแม่น้ำและปลาว่า พระผู้เป็นเจ้าก่อกำเนิด สร้างธรรมชาติสรรพสิ่งทั้งปวงแล้วจึงถามว่าจะสร้างมนุษย์หรือคนคิดเป็นสิ่งใด และผู้ใดจะเลี้ยงมนุษย์ได้หลังสร้างขึ้นมาแล้วนั้น  ทุกสรรพสิ่งบอกว่าได้ แต่ต้องให้ปลาคือผู้อาสาดูแลทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่ามนุษย์ส่วนมากจะกินปลา และทุกหนแห่งจะมีปลา สำหรับสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ มีบ้าง ไม่มีบ้างเป็นต้น

    สำหรับป่า/เผ๊าะควา เดิมทีจะเป็นผู้อยู่อาศัยทางบกหรือในป่าเขา การทำพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันในการเซ่นไหว้จะใช้ไก่ หรือกะเหรี่ยงเรียกว่าชอ เพื่อประกอบพีธีกรรมในงานต่าง ๆ กะเหรี่ยงจะให้ความสำคัญกับชอหรือไก่เป็นอย่างยิ่ง  ชอหรือไก่นั้นสำคัญยิ่งถือว่าเป็นสัตว์สรรพสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าถือเป็นสัตว์ที่เที่ยงตรง ซื่อสัตย์ ต่อพระผู้เป็นเจ้า (เก๊อะจ่า ญวา) ผู้ให้การก่อกำเนิดธรรมชาติทั้งปวง อันมีบทธาและนิทานเป็นตำนานเล่ากล่าวขันกันมาในอดีตถึงปัจจุบัน

     

              ความสำคัญของไก่ที่มีต่อชาวกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงมีความเชื่อว่าส่วนประกอบของไก่ทั้งตัวมีประโยชน์ทั้งสิ้น และมีการกำหนดไว้เป็นภูมิปัญญา ความรู้ ปัญญาญาณเพื่อการจัดการตนเอง จัดการชุมชน สังคมในมิติต่าง ๆ ปัจจุบันแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนาทางวัตถุ เทคโนโลยีมากมาย แต่ชาวกะเหรี่ยงยังดำรงชีวิตที่ต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับไก่ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะบัญญัติ ข้อห้ามสิบประการที่ลูกหลานกะเหรี่ยงต้องถือปฏิบัติอันทำให้เชื่อว่าหากถือปฏิบัติได้ครบถ้วนจะเป็นคนที่สมดุลสามารถดำรงอยู่ได้ปกติสุข อย่างยั่งยืนเช่น เด็กห้ามกินหงอนไก่/ ห้ามกินคอไก่/ ห้ามกินปลายปีกไก่/ ห้ามกินกระเพาะไก่/ ห้ามกินลำไส้ไก่/ ห้ามกินตับไก่ /หัวใจสำรองไก่/ ห้ามกินตูดไก่/ ห้ามกินกระดูกท่อนขาบนไก่และห้ามกินแข้งไก่ เป็นต้น

              สรุปว่าไก่เป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความสำคัญต่อชาวกะเหรี่ยงที่มีเรื่องราวมาอย่างยาวนานและชาวกะเหรี่ยงได้ถือปฏิบัติมา ตัวอย่างเช่นการใช้ไก่เพื่อการเลือกพื้นที่ตั้งที่อยู่อาศัยที่ทำกินและสร้างบ้านเมืองว่าหากคนที่จะเป็นผู้นำสร้างบ้านเมืองหรือตั้งชุมชน หมู่บ้านที่อยู่อาศัยนั้นต้องเอาไก่ไปด้วย 1 คู่ เพื่อเสี่ยงทาย โดยมีบทธา ได้บันทึกกล่าวไว้ว่า

                        แล กช่า ก่อ เช๊าะ เดอะ ชอ โหม่ บอ  ก่อ เหม่ มึ ชอ โหม่ ดิ ลอ

                        (ไปหาแผ่นดินอยู่ตั้งบ้านเมืองอยู่อาศัยเอาไก่แม่สีเหลืองไปด้วย หากแผ่นดินดี สงบสุข แม่ไก่จะออกไข่ )

                        แล กช่า ก่อ เช๊าะ เดอะ ชอ เก๊ะ  ก่อ เหม่ มึ ชอ เก่อ เกาะ แฆค๊ะ

                        (ไปหาเลือกแผ่นดินตั้งบ้านเมืองเราเอาไก่แจ้ไปด้วย  หากแผ่นดินดี สงบสุขน่าอยู่ ไก่แจ้จะเรียกขันเอง)

              ปัจจุบันโครงสร้างทางสังคม ระบบความเชื่อ ระบบการปกครองชุมชนกะเหรี่ยงได้มีการปรับตัวผสมผสานการอยู่ร่วมกันในสังคมหลากหลาย ทั้งตามแบบดั้งเดิม คือ วิญญาณบรรพบุรุษที่สังคมเข้าใจและเรียกว่า นับถือผี (ศาสนาผี) ศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ มุสลิมโดยความเชื่อตามประเพณีนั้นชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าทุกสรรพสิ่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเจ้าของและดูแลรักษาอยู่ ซึ่งจะเรียกรวม ๆ ว่า “เกอะ จ่า ต่าที ต่าเตาะ” (เจ้าแห่งธรรมหรือธรรมชาติคือสิ่งสูงสุด ซึ่งจะสถิตทุกหนทุกแห่ง) ชาวกะเหรี่ยงมีความเคารพธรรมชาติมาก เพราะเป็นแหล่งบันดาลความอุดมสมบูรณ์มาให้ สิ่งที่กะเหรี่ยงถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทวาอารักษ์ ถือเป็นวิญญาณที่ดี ควรยำเกรงและไม่ไปรบกวนระบบการปกครองสังคมชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอทั้งโพล่งและกจอร์) ประกอบด้วยผู้นำหมู่บ้านที่มีบารมี คนในหมู่บ้านให้การยอมรับนับถือที่เรียกว่า ฮีโข่ (ผู้นำหมู่บ้านตามประเพณี) ซึ่งโดยธรรมเนียมจะเป็นผู้ที่ริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านทำหน้าที่ปกครองหมู่บ้านดูแลทุกข์สุข ตัดสินคดีความข้อพิพาท เช่น การพิพาทระหว่างหญิงชายก่อนแต่งงาน ฮีโข่ ร่วมกับผู้อาวุโสในหมู่บ้านจะพิพากษาตัดสิน นอกจากนี้แล้ว ฮีโข่ เป็นผู้นำทำพิธีกรรมต่าง ๆ ของชุมชน ต่อมาภายหลังมีผู้นำที่เป็นทางการเกิดขึ้น ปัจจุบันผู้นำของชุมชนกะเหรี่ยงมีลักษณะ 2 อย่าง คือ

              (1) ลักษณะผู้นำดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า ฮีโข่/หัวบ้าน (บุคคลสืบสายตระกูลผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน) ซึ่งสามารถสืบทอดตำแหน่งจากพ่อไปสู่ลูกโดยสายโลหิต ผู้นำประเภทนี้เป็นผู้ชาย มีบทบาทหน้าที่ปกครองดูแลลูกบ้านการประกอบพิธีกรรมและอบรมด้านจริยธรรม ปัจจุบันมีบทบาทน้อยลงในแต่ละหมู่บ้านจะมีผู้ช่วยของฮีโข่อยู่ด้วยเรียกว่า ฮีข่อ

              (2) ผู้นำจากทางการแต่งตั้งขึ้นมาเรียกว่าผู้ใหญ่บ้าน  มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในหมู่บ้าน มีคำสั่งใช้อำนาจทางกฎหมายการปกครองจากกระทรวงมหาดไทยโดยมีบทบาทหน้าที่ปกครองดูแลเกี่ยวกับงานพัฒนา และการติดต่อประสานกับภายนอก หรือทางราชการเป็นหลักกำกับอำนาจหน้าที่โดยกฎหมายการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

    วิถีชุมชนวิถีการเกษตรนาข้าว ไร่หมุนเวียน สวนและการเลี้ยงสัตว์

              กะเหรี่ยงมีวิถีชีวิตแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ใหญ่ คือ กลุ่มแรก  กลุ่มที่อยู่พื้นราบ พบมากในอำเภอฮอด ดอยเต่าและอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ทำนาข้าว สวนผัก ผลไม้ เช่น บวบ หอม กระเทียม และไม้ผล เช่น สวนลำไย ไร่มะเขือเทศ กลุ่มที่สอง กลุ่มกะเหรี่ยงที่อยู่บนพื้นที่สูง บนดอย ปัจจุบันมีการทำการเกษตรกรรมแบบผสมผสานมีระบบไร่หมุนเวียน ปลูกข้าว พืชผัก อาหารหลากหลาย นาข้าว ทำนาตามฤดูกาล ทำปีละ 1 ครั้ง นอกจากนี้มีการทำไร่ข้าวโพด สวนผลไม้เมืองหนาว ปลูกดอกไม้ขาย บางพื้นที่ชุมชนปลูกพืชสดเชิงพาณิชย์เช่น สตรอว์เบอร์รี กะหล่ำปลี หอมแดง กระเทียม ในบางชุมชนมีการประกอบอาชีพบริการท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านพัก ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป

              1.นาข้าว ชุมชนบ้านห้วยขนุนสามารถเบิกพื้นที่นาได้น้อยมาก เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นภูเขาสูง มีที่ราบน้อยและไม่สามารถจัดการน้ำให้มีเพียงพอต่อการทำนา ลักษณะเป็นการทำนาแบบขั้นบันได ใช้น้ำจากระบบเหมืองฝายแบบดั้งเดิม ศักยภาพการผลิตโดยเฉลี่ย 30-40 กระสอบ/ไร่ พันธุ์ข้าวนาพื้นเมืองที่พบ ได้แก่ ข้าวเม็ดยาว (บือพะทอ) และ ข้าวเม็ดสั้น (บือปะโหละ) ได้แก่ บือปะโหละซิ และบือปะโหละพะโด

              2.การทำไร่หมุนเวียน เกือบทุกครัวเรือนมีการคงระบบไร่หมุนเวียนไว้ ในระบบไร่หมุนเวียนจะมีการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ พร้อมกับข้าวกว่า 60 ชนิด อันเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญในการยังชีพและพึ่งตนเองของชุมชนได้อย่างดี ตลอดรวมไปถึงการคงพันธุกรรมพืชดั้งเดิมของชุมชนไว้ การทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้านในชุมชนห้วยขนุน เดิมมีรอบหมุนเวียนประมาณ 7-10 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีการลดรอบหมุนเวียนลดเหลือ 5-6 ปี แต่บางครอบครัวเหลือรอบหมุนเพียง 3 ปี พันธุ์ข้าวท้องถิ่นในไร่หมุนเวียนได้แก่ ปิอิ๊ซู, บืออิ๊บอ, บือซู, บือกวา, บือป๊ะแม, บือเกอะซอแม, ข้าวป่าซาง (ข้าวพันธุ์เกษตร), ข้าวเม็ดขาว, ข้าวเม็ดแดง, ศักยภาพการผลิต ประมาณ 10-20 กระสอบ/ไร่

              3.การทำสวน  แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ วนเกษตร/ เกษตรผสมผสาน เช่น กาแฟ พลับ ขนุน กล้วย ข้าวโพด มะนาว มะม่วง ลิ้นจี่ พืชผักสวนครัวต่าง ๆ และพืชเศรษฐกิจ เช่น กะหล่ำปลี เผือก หอมแดง พืชสวนที่ชาวบ้านปลูกจะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของครัวเรือนนอกเหนือจากผลผลิตจากป่า นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือน อย่างไรก็ตามเนื่องจากราคาผลผลิตและตลาดที่ไม่แน่นอน ต

  • การสืบผีและมรดกของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

              ปกาเกอะญอ สืบผีทางฝ่ายแม่ 

     

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

              การแต่งกายและที่มาของการแต่งกายมีเรื่องเล่าและประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและชวนคิดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงปัจจุบันอย่างยิ่ง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมโลกที่ไร้พรมแดนการแต่งกายซึ่งเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชาวกะเหรี่ยง

              การแต่งกายหญิง  การแต่งกายของสตรีปกาเกอะญอจะแบ่งออกเป็น 2 อย่าง

              (1) การแต่งกายใส่ชุดสีขาวทรงกระบอก เด็กหญิงและหญิงสาวพรหมจรรย์จะแต่งกายเป็นชุดทรงกระบอกสีขาว เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์สาวโสดยังไม่ได้แต่งงาน ตามจารีตของปกาเกอะญอผู้ที่ยังมิได้แต่งงานจะสวมชุดขาวและไม่สามารถที่จะไปแต่งชุดสตรีที่แต่งงานแล้วได้เด็ดขาด หากมีหนุ่ม-สาวประพฤติผิดประเวณีก่อนแต่งงาน ผู้อาวุโสจะรีบจัดการให้มีการทำพิธีขอขมาเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์หรือเรียกกันว่า "ต่าทีต่าเต๊าะ" แล้วจัดการให้แต่งงานโดยเร็วที่สุดมิเช่นนั้นคนในชุมชนจะเกิดล้มป่วยไม่สบาย หรือทำมาหากินไม่ขึ้น ไม่ได้ผล สัตว์เลี้ยงจะล้มตาย เป็นต้น

              (2) การแต่งกายหญิงที่แต่งงานใส่เชซู หรือเสื้อสีดำ สถานะหญิงหลังแต่งงานเรียกว่าเผ๊าะหมื่อปก่า หมายถึง หญิงที่ต้องรับผิดชอบตามวันเวลาการมีครอบครัวของตนเอง การแต่งกายด้วยชุดขาวจะสิ้นสุดลงเมื่อแต่งงาน หญิงอยู่ในสถานภาพแต่งงานแล้ว จะแต่งตัวแบ่งออกเป็น 2 ท่อน ท่อนบนจะเป็นเชซู/เสื้อดำประดับด้วยลูกเดือย นุ่งซิ่นสีแดงมีลวดลายที่ทำมาจากสีธรรมชาติเรียกว่า "หนี่คิ" ผู้ที่มีสถานภาพเป็นแม่บ้านแล้ว ห้ามมิให้กลับไปแต่งชุดสีขาวเป็นอันขาด แม้ว่าสามีจะเสียชีวิตหรือหย่าร้างกันไปแล้วก็ตาม แม้แต่จะลองแต่งชุดสาวโสดก็ไม่ได้เพราะชุดขาวจะใส่ได้เฉพาะผู้ที่เป็นสาวโสดเท่านั้น

              (3) ผ้าโพกหัวของผู้หญิงปกาเกอะญอในสมัยก่อนทอด้วยผ้าฝ้ายพื้นสีขาวเดินด้วยลายสีแดง มีปล่อยชายผ้าทั้งสองข้างยาวประมาณ 1 คืบ หรือจะเป็นผ้าฝ้าย ทั้งสาวโสดและหญิงที่แต่งงานแล้วจะโพกหัวเหมือนกัน แต่ปัจจุบันมักใช้ผ้าโพกหัวกันหลากหลาย ทั้งผ้าทอและหาซื้อจากตลาด บางครั้งเป็นผ้าขนหนูก็มี ความสำคัญของการโกกหัวมีเหตุผล 3 ประการคือ

                   1.การโพกหัวเพื่อการประดับตกแต่งให้ร่างกายผู้แต่งนั้นมีสีสัน สดใส เกิดความเด่น งดงาม

                   2.การโพกหัวเพื่อปกปิดร่างกายส่วนหัวให้อบอุ่นเนื่องจากอากาศเย็นเชื่อว่าหากมีการรักษาส่วนหัวให้อบอุ่นของร่างกายเพื่อป้องกันมิให้เจ็บป่วยได้ง่ายเนื่องด้วยผู้หญิงต้องเสียเลือดจากการมีประจำเดือนหรือสูญเสียเลือดมากจากการคลอดลูก

                   3.การโพกหัวเพื่อการรักษาเป็นที่สถิตเทพเทวดาอารักษ์ประจำตัวอยู่ซึ่งมีความเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ควรอยู่ส่วนสูงสุดของร่างกายเราทั้งปวง ฉะนั้นการโพกหัวของทั้งหญิงและชายชาวกะเหรี่ยงจะถือว่าการให้สิ่งดีงาม เทพ เทวดา ลงมาสถิตเกาะอยู่อาศัยปกป้องดูแล คุ้มครองตัวเรานั้นเอง นอกจากการแต่งกายเสื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์แล้วหญิงกะเหรี่ยงในอดีตจะใส่ตุ้มหูที่เรียกว่า "หน่าดิ" และมีการใส่สร้อยคอลูกปัดสีต่าง ๆ ที่คอ มีการคลุมแขนและขาด้วยที่เรียกว่า "จึ๊พล่อ ข่อพล่อจึ๊กี่ ข่อกี่"

    การแต่งกายของชาย

              การแต่งกายของชายสมัยก่อนจะสวมเสื้อทรงกระบอกยาวเหมือนหญิงสาว แต่จะเป็นสีขาวปนแดงหรือสีน้ำตาลซึ่งทำมาจากสีธรรมชาติ ภายหลังการแต่งกายของชายจะมีอยู่ 2 ท่อน ท่อนบนจะเป็นเสื้อทอสีแดง ท่อนล่างจะเป็นกางเกงสีดำหรือกางเกงสะดอ คาดศีรษะด้วยผ้าสีแดงหรือสีขาว

              ปัจจุบันคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่น้อยคนนักที่จะเข้าใจที่มาความสำคัญ ความเฉพาะของการแต่งกายตามที่กล่าวมาเบื้องต้น ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่นำโดยธุรกิจด้านการค้าและการตลาด

              สรุปการแต่งกายอัตลักษณ์ผ้าทอปกาเกอะญอ "กะเหรี่ยง" ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์กะเหรี่ยงที่บ่งชี้ความแตกต่างการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเรื่องราวเฉพาะของตนเองที่มีวัฒนธรรมธรรมมาอย่างยาวนาน  ซึ่งมีมีสี ลวดลายผ้าทอที่แฝงคติความเชื่อ ตามเรื่องเล่าและคำสอน พิธีกรรม วิถีชีวิต พัฒนาการทางวัฒนธรรมสื่อสัญลักษณ์สร้างสรรค์ภูมิปัญญาที่มีคุณค่า ทั้งเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือกะเหรี่ยง/ปกาเกอะญอสู่เศรษฐกิจ คุณภาพชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์กะเหรี่ยง

     

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

    บ้านเรือนกะเหรี่ยงเชียงใหม่

              การเลือกตั้งบ้านที่อยู่อาศัยได้ผ่านการเลือกพื้นที่ โดยมีพิธีกรรมมาทั้งสิ้นจากผู้ก่อตั้งหมู่บ้านที่เรียกว่า หญี่โข่/ฮี่โข่  ปัจจุบันชุมชนกะเหรี่ยงอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยเริ่มตั้งแต่ 10-200 หลังคาเรือน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของปกาเกอะญอ/กะเหรี่ยง นั้นมองจากสายตาคนข้างนอกดูเหมือนจะเรียบง่าย มีชีวิตสงบ รักธรรมชาติ อาจจะด้วยการอยู่อาศัยพึ่งพากันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่ในความเหมือนเรียบง่ายนั้นมีรายละเอียดแฝงอยู่มากมาย ซ่อนด้วยหลักการคิด ปรัชญา ความเชื่อ จารีตประเพณีข้อห้ามต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่การเลือกพื้นที่สร้างบ้าน การเลือกวัสดุส่วนประกอบบ้าน วัน เดือน มีในการส่วนบ้าน ตลอดจนการออกแบบรูปทรงบ้านล้วนแต่มีที่มาทั้งสิ้น ทั้งการก่อเกิดมีชีวิต การสร้างบ้านครองเรือน ตลอดจนการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะที่แตกต่างหลากหลาย

              ลักษณะบ้านกะเหรี่ยงทั้งปกาเกอะญอ จกอร์ (สกอร์) และโผล่ง/โปว์ ที่บนดอยส่วนมากจะยกพื้นสูง หรือแม้แต่พื้นที่ราบก็ตามจะมีการยกพื้นสูงเป็นพื้นฐาน ปัจจุบันกะเหรี่ยงจะนิยมสร้างบ้าน 2 หลัง หลังหนึ่งจะเป็นบ้านไม้ไผ่เพื่อเป็นบ้านเรือนอาศัย ประกอบพิธีกรรม โดยมีส่วนประกอบสำคัญคือ ครัวไฟหรือเตาไฟ เนื่องด้วยบนดอยพื้นที่สูงมีอากาศหนาวเย็นกะเหรี่ยงจึงดำรงชีวิตที่มีการใช้ไฟเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวัน สำหรับบ้านหลังที่สองเป็นบ้านไม้ส่วนประกอบเป็นไม้มุงหลังคาสังกะสี กระเบื้อง อื่น ๆ บ้านหลังที่สองนี้ส่วนมากเอาไว้ให้ลูกหลานหรือแขกบ้านแขกเมืองมาเยือน ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้เป็นพ่อ แม่จะไม่ค่อยชอบอยู่อาศัย เหตุผลสำคัญของการสร้างบ้านหลังที่สองนั้นเพราะว่าทางราชการจะยอมรับและให้ทะเบียนราษฎร์ ถ้ากะเหรี่ยงทำบ้านด้วยไม้ไผ่นั้นทางการให้เหตุผลไม่อนุญาตให้สิทธิการเป็นพลเมืองหรือทะเบียนราษฎร์อ้างว่าการสร้างบ้านไม้ไผ่เป็นการปลูกสร้างไม่ถาวร (แนวคิดนี้เริ่มเกิดและกระจายทั่วไป ประมาณ ปี 2512)

     

  • อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

              อาหารปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยงทั้งโผล่งและจกอร์ มีความคล้ายกันทั้งเรื่องเล่าที่มาของอาหาร รูปแบบ วิธีการประกอบอาหาร ที่มาของวัตถุดิบ ที่นำมาประกอบอาหารส่วนมากจะเป็นวัตถุดิบจากพื้นถิ่น พืชผักจากป่าธรรมชาติ

              ประเพณีอาหารหลักจะเป็นพวกแกง ต้มผัก หน่อไม้ตามฤดูกาล น้ำพริกซึ่งเป็นอาหารนิยมมากชนิดหนึ่ง โดยการให้เหตุผลว่าพริกเป็นพืชอาหารให้พลังงาน หากทำกับข้าวโดยไม่มีน้ำพริกเสมือนชีวิต ชาย-หญิง ขาดคู่ชีวิต ชีวิตที่ยังขาดความสมดุลนั้นเอง

              อาหารหลักอีกอย่างหนึ่งที่คนกะเหรี่ยงทุกคนรู้จักนั้นคือ ต่าพอเผ๊าะ หรือข้าวเบ๊อะที่คนทั่วไปรู้จักกัน ปัจจุบันแม้จะมีเมนูการทำอาหารที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ จากการเลียนแบบหรือการรับเอาวัฒนธรรมทั้งของไทยและต่างชาติเป็นฝรั่ง เกาหลี จีน แต่ต่าพอเผ๊าะ (ข้าวเบ๊อะ) และน้ำพริกคือเมนูอาหารที่คงที่และสื่อความหมายเป็นเอกลักษณ์เสมือน

     

  • ประเพณีและเทศกาลสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

              ปัจจุบันวัฒนธรรมประเพณีสำคัญของชาวกะเหรี่ยงอาจแบ่งจำแนกแยกออกได้เป็น 3 กลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวทางวัฒนธรรม เกิดจากโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงทางกระแสวัฒนธรรมโลก

              กลุ่มที่ 1  ประเพณีวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติอิงกับการนับถือบรรพบุรุษ การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ จะคงรูปแบบเดิม ผสมผสานกับหลักพุทธศาสนา

              ด้วยวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงจะมีการผูกพันธรรมชาตินับพันปี วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ยังคงวิธีคิด ปรัชญาว่าด้วยเรื่องมนุษย์หรือคนคือส่วนประกอบหนึ่งของธรรมชาติ การกระทำการใด ๆ ต้องเคารพ ยังเคร่งต่อธรรมชาติ เชื่อว่าทุกสรรพสิ่งมีชีวิตจะมีเจ้าของหรือเทพคุ้มครอง ฉะนั้นวิถีการทำมาหากินต้องมีการขอ ดังนั้นจะเห็นกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ประกอบพิธีกรรมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่เกิด เติบใหญ่ แก่ จนตาย

              พิธีกรรมกิจกรรมในรอบปีการผลิต ทำไร่หมุนเวียน ทำนา ทำสวน จะมีการทำพิธีเซ่นไหว้ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งสิ้น กิจกรรมพิธีกรรมหลักกี่จึ๊หนี่ซอโข่ กับกี่จึ๊ลาคุ เป็นการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่และกลางปีการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ปกาเกอะญอต้องเรียนรู้เข้าใจธรรมชาติจะทำให้สามารถปรับตัวได้อย่างสมดุลยั่งยืน

              กลุ่มที่ 2 ประเพณี วัฒนธรรมที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว ส่วนมากกลุ่มนี้จะพบเห็นได้จากกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์ ชุมชนกลุ่มนี้จะมีการตัดเปลี่ยนพิธีกรรมแบบดั้งเดิมเกือบทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามจะมีวัฒนธรรมและพิธีกรรมใหม่เข้ามาแทนที่เดิม เช่น การนมัสการ การอธิฐานขอพระจากพระเยซูคริสต์เจ้า ด้วยการเชื่อว่าในโลกนี้มีพระเจ้าอาศัยด้วยคือพระเยซูคริสต์เจ้าจะมีการประชุมเฉลิมฉลองสูปของสมัชชาใหญ่ประจำปีเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาถ่ายทอดพระวจนะพระองค์กะเหรี่ยงจะมีความเคร่งครัดในการนับถือและประกอบศาสนาพิธีของตน

              กลุ่มที่ 3 ประเพณี วัฒนธรรม แบบกะเหรี่ยงนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิค ความแตกต่างของวัฒนธรรมกะเหรี่ยงการนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิคคือ การเคารพนับถือพระแม่มารีย์ซึ่งเป็นแม่ของพระเยซูเจ้า กะเหรี่ยงกลุ่มนี้ค่อนข้างจะมีความยืดหยุ่นในการเข้าสังคม เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่มีความแตกต่างทางจารีต ประเพณี ความเชื่อ ศาสนา อย่างไรก็ตามจะมีกิจกรรมพิธีกรรมหลักของตนเอง

              ความเหมือนและความต่างของกลุ่มกะเหรี่ยงทั้ง 3 กลุ่มนี้คือ ทุกกลุ่มจะยังคงรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมการแต่งกายและรักษาภาษาพูดในการสื่อสารเป็นภาษาร่วม การแต่งกายของชาย หญิง หนุ่ม สาว หญิงครองเรือนแล้วยังคงไว้ซึ่งข้อห้ามหรือกฎระเบียบถือปฏิบัติเช่นเดียวกัน

              ประเพณี วัฒนธรรมและจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงหรือกะเหรี่ยงโพล่ง และจกอร์ แม้จะนับถือศาสนาต่างกันแต่พื้นฐานความคิดและปรัชญาว่าด้วย คนกับธรรมชาติด้องอยู่ร่วมกนพึ่งพาก่อกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยและยังต้องเคารพยำเกรงต่อธรรมชาตินับว่ายังฝังรากลึกอยู่ในสายเลือด

              พิธีกรรมมัดมือขึ้นปีใหม่ (แซะลอหนี่ซอโข่) พิธีมัดมือปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ประมาณปลายเดือนมกราคมของทุกปี ครั้งที่ 2 หลังจากการดำนาปลูกข้าวแล้วเสร็จ การมัดมือขึ้นปีใหม่เป็นการแสดงความสำเร็จของชีวิตหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต

              พิธีกรรมสงกรานต์ (หลู่ทีปรีโข่) จัดขึ้นช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงความกตัญญูและความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ของเด็กและลูกหลาน

              พิธีกรรมเลี้ยงผีฝาย (หลื่อทีโบโข่) จัดขึ้นเพื่อการขอบคุณพระแม่ธรณี ที่ให้มีน้ำใช้และให้ความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก เป็นการสร้างความสัมพันธ์และเห็นคุณค่าของผู้ที่ใช้เหมืองฝายร่วมกัน พิธีกรรมนี้จะจัดประมาณเดือนกรกฎาคมของทุกปี

              พิธีกรรมกินหัวข้าว (เอาะบือโข่) เป็นพิธีกรรมที่จะทำก่อนมีการเริ่มต้นเกี่ยวข้าว โดยนำเอาข้าวใหม่มาหุงเป็นหม้อแรก และจะหากับข้าวที่เป็นสัตว์น้ำ เช่น ปู ปลา เป็นต้น และยอดผัก 2 ชนิด แต่ก่อนลงมือกินข้าวต้องให้วัสดุอุปกรณ์ในครัวได้กินก่อน เช่น ก้อนเส้า ครก หม้อ ช้อน ฯลฯ เพื่อการขอบคุณวัสดุต่าง ๆ ในครัวเหล่านี้ ในขณะกำลังกินอยู่นั้นหากมีแขกเข้าบ้านจะไม่เรียกหรือพูดด้วย เพราะเชื่อว่าถ้าทำผิดเชื่อว่าขวัญข้าวใหม่จะหนีไป แต่แขกเข้ามากินด้วยได้ พิธีกรรมนี้จะทำประมาณเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน

              พิธีกรรมแซะลอบือส่า เป็นพิธีกรรมที่จัดทำขึ้นเพื่อขอพรให้เม็ดข้าวที่ยังไม่ได้นวดร่วงหล่นง่ายขึ้นเวลานวด โดยใช้ เหล้า 1 ขวด แก้วน้ำ แป้งข้าวหมาก รวงข้าง 7 กอง ที่ปลูกครั้งแรกพร้อมไก่ 1 ตัวแขวนติดกับเสาต่าแซะ พร้อมกับอธิษฐานให้ได้ข้าวมาก ๆ

              พิธีกรรมข้าวก้นสาด (สะละคีดะ) เป็นพิธีกรรมที่ข้าวเหลือจากการนวดข้าว 1 ถัง นำมาต้มเหล้า เป็นการจัดทำขึ้นเพื่ออธิษฐานขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองดูแลครอบครัวและสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ จะจัดทำขึ้นช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนของทุกปี

              พิธีกรรมเรียกนก (โถ่บีข่า) พิธีกรรมนี้จัดทำขึ้นหลังเก็บข้าวเข้ายุ้งในไร่หรือนาเสร็จ สิ่งที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ไก่ 1 คู่ เผือก มัน และเหล้า ซึ่งชาวปกาเกอะญอมีความเชื่อว่า นกชนิดนี้เป็นขวัญข้าว เมื่อประกอบพิธีเสร็จแล้วจึงนำข้าวกลับบ้าน

              พิธีกรรมในยุ้งข้าวในบ้าน (แซะพอโข่) พิธีกรรมจะทำต่อเมื่อได้เอาข้าวในยุ้งออกมาเป็นหม้อแรกหรือข้าวใหม่ทำขึ้น เพื่อขอพรให้ข้าวยุ้งหมดช้าและและมีข้าวพอกินตลอดปี

              พิธีกรรมกินข้าวก้นยุ้ง (พอคีดะ) เป็นพิธีกรรมที่จัดทำขึ้นช่วงข้าวใกล้จะหมดยุ้ง จะเหลือไว้ประมาณ 1 ถังนำมาต้มเป็นเหล้าเพื่อจัดพิธีกรรมขอพร ที่กำลังจะเริ่มต้นการผลิตใหม่ ขอให้มีข้าวพอกิน มีน้ำอุดมสมบูรณ์

              พิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพบุรุษ มีการจัดทำขึ้นปีละครั้ง หลังเสร็จจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต ก่อนทำพิธีกรรมลูกหลานในบ้านต้องอยู่กันพร้อมหน้าครบกันทุกคน หากมีใครคนใดคนหนึ่งขาด ถือว่าเลี้ยงผีไม่สำเร็จ ขณะทำพิธีกรรมทุกคนจะต้องสวมชุดประจำเผ่า

     

  • การเกิดของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

              เมื่อทารกเกิด สายรกที่ตัดออกไปแล้วจะบรรจุลงกระบอกไม้ไผ่ปิดฝาด้วยเศษผ้า แล้วนำไปผูกไว้ตามต้นไม้ในป่ารอบหมู่บ้าน ต้นไม้ต้นนั้นเรียกชื่อว่า "เดปอทู่" แปลว่าต้นสายรก และต้นไม้ต้นนี้จะห้ามตัดโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าขวัญของทารกจะอาศัยอยู่ที่นั่น หากตัดทิ้งจะให้ขวัญของทารกหนีไปและทำให้ทารกล้มป่วยลง หากว่าผู้ใดผู้หนึ่งตัดต้นไม้ต้นนี้โดยเจตนาหรือไม่เจตนา จะต้องถูกปรับด้วยไก่หนึ่งตัว พ่อแม่ก็นำไก่ตัวนี้ไปทำพิธีเรียกขวัญทารกกลับคืนมา

              วันที่ไปผูกสายทารกติดกับต้นไม้นั้นเพื่อนบ้านทุกคนจะไม่ออกไปทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นข้อห้าม เรียกข้อห้ามนี้ว่า "ดึต่าเบล" เป็นกฎหมายประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต เมื่อถึงเวลาขั้วสายรกหลุดออกไป ผู้เป็นพ่อก็จะไปทำพิธีผูกมือเรียกขวัญทารก โดยไปทำพิธีที่ใต้ต้นไม้ที่ผูกติดสายทารกต้นนั้น เพื่อให้ขวัญกลับมาอยู่ที่บ้าน เรียกพิธีผูกขวัญนี้ว่า "กี่เบลจือ" คือพิธีผูกขวัญครั้งแรกของบุคคลผู้นี้ที่เกิดมาลืมตาอยู่บนโลก คนกะเหรี่ยงเชื่อว่าขวัญของคนมีอยู่ 37 ขวัญ ที่อยู่ในรูปของสัตว์ชนิดต่างๆ การผูกขวัญครั้งแรกของทารกนี้ก็จะทำให้ทารกได้รับขวัญที่ 37 ขวัญ 37 ประการนี้ปกาเกอะญอ "กะเหรี่ยง" จึงเชื่อว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมกับหน้าที่และคุณสมบัติเฉพาะบางอย่าง เช่น เป็นคนฉลาด กล้าหาญ ช่างพูด อันมีขวัญเป็นตัวกำกับพฤติกรรมและความสามารถของมนุษย์แต่ละคน โดยหลังจากการเกิด ดวงวิญญาณหรือขวัญดังกล่าวข้างต้นจะถูกจำแนกอย่างมีรายละเอียดว่าเป็นขวัญ 37 ขวัญ ที่มนุษย์ทุกคนจะต้องมี

     

  • ประเพณีเลี้ยงผีของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

              ต่าก่อแกร๊ะ  พิธีกรรมนี้มิได้มีการทำกันเป็นประจำทุกปี แต่จะมีเฉพาะบางปี ที่มีคนเจ็บป่วยมาก ๆ เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมนี้ หมู่บ้านอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงกันก็ทำเช่นกัน เพราะเชื่อว่าเกิดสิ่งไม่ดีแก่ชุมชนคล้ายโรคระบาด แต่ละชุมชนจะทำกันคนละวัน โดยชาวบ้านจะประกอบพิธีกรรมนี้บริเวณป่า "ต่าเดโดะ" หรือกิ่วหลวง ทั้งเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่จะนำขนมข้าวต้มไปเซ่นไหว้ต่อเจ้าป่าบริเวณนั้น มีการทำสัญลักษณ์ห้ามเข้าโดยใช้ "ตะแหล๋ว" ปักไว้บริเวณนั้น โดยทั้งคนภายในและนอกชุมชนห้ามเข้าเป็นเวลา 1 วัน 1 คืน ระหว่างที่ประกอบพิธีกรรมนี้ คนนอกชุมชนห้ามเข้าหมู่บ้าน ถ้าหากบังเอิญเข้ามาก็จะต้องบอกกันตรง ๆ ให้ออกจากชุมชน

              บวอชิ เลี้ยงผีในนา ก่อนที่จะเริ่มต้นทำนาต้องมีการเลี้ยงผีในนา เชื่อว่าจะทำให้ผลผลิตสมบูรณ์

              หลื่อเส่ปก่า เลี้ยงผีในป่า เวลาที่คนในบ้านเจ็บไข้ไม่สบายต้องมีพิธีเลี้ยงผี

              ต่าคะแก๊ะ เลี้ยงในไร่ เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับไร่หมุนเวียน จะทำพิธีเวลาที่ต้นข้าวโตได้หนึ่งคืบ เวลาประกอบพิธีกรรมนี้ห้ามคนเดินผ่านไร่เป็นเวลาหนึ่งวัน

              หลื่อนาธี การเลี้ยงผีน้ำ ถ้าหากคนในบ้านเจ็บไข้ไม่สบาย เชื่อว่าไปล่วงล้ำผีน้ำต้องมีการเลี้ยงผีหลื่อนาธี เพื่อเป็นการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงล้ำหรือล่วงเกินโดยไม่ได้ตั้งใจ

     

  • ประเพณีอื่น ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

    พิธีมัดมือทำขวัญ

              เริ่มด้วยพ่อแม่เอาตะกร้าใส่สิ่งของต่าง ๆ เช่น เสื้อ ผ้าถุง ผ้าโพกหัวของแม่บ้าน ซึ่งเป็นของใหม่ ไก่ เหล้า ข้าวเหนียวต้ม เป็นต้น ไปวางไว้ที่หัวบันไดข้างหนึ่ง มือหนึ่งจับไก่ 2 ตัว เป็นไก่ตัวผู้กับตัวเมียไว้ให้อยู่นิ่ง ๆ อีกมือข้างหนึ่งใช้ไม้คนหม้อข้าวเคาะหัวบันได พร้อมทั้งสวดมนต์ เมื่อเสร็จแล้วก็ไปอีกหัวหนึ่งบันได จากนั้นยกตะกร้าเข้ามาไปในบ้าน เคาะและสวดมนต์ตรงด้านหัวนอนของพ่อบ้านและแม่บ้าน สวดเสร็จก็ฆ่าไก่เอามาลวก ถอนขนออกแล้วเอาไปย่างไฟให้หอมเพื่อนำไปทำกับข้าว เมื่อทำกับข้าวเสร็จก็จัดอาหารลงบนขันโตก อาหารมีข้าว กับข้าว ข้าวปุ๊ก ข้าวเหนียวต้มที่แกะออกแล้วและเหล้า 1 ถ้วย จากนั้นเอาเส้นฝ้ายที่มีความยาวประมาณ 14-15 นิ้ว มาวางพาดบนขันโตกให้ถูกข้าวแกงและขนม เส้นฝ้ายนี้มีจำนวนเท่าสมาชิกของครอบครัว จากนั้นพ่อบ้านทำพิธีด้วยการเอาไม้คนหม้อข้าวเคาะขันโตก แล้วสวดมนต์เรียกขวัญมากินอาหาร พอสวดเสร็จ พ่อบ้านหรือแม่บ้านเอาด้ายขวัญผูกข้อมือลูกทุกคน จากลูกคนเล็กไปยังลูกคนโต พร้อมทั้งสวดมนต์เรียกขวัญให้อยู่กับตัว เมื่อผูกเสร็จพ่อบ้านกับแม่บ้านจะผลัดกันผูกมือแก่กันและกัน พร้อมทั้งสวดมนต์ให้แก่กัน จากนั้นพ่อบ้านจะยกถ้วยเหล้าขึ้นจบเทลงไปพอเป็นพิธี แล้วสวดมนต์ให้ผีลงมาดื่มสุราถ้วยนั้น และขอให้ปกป้องดูแลรักษาโรคภัยให้แก่สมาชิกในครอบครัว ทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลการทำมาหากินสะดวก ปลูกพืชได้ผลดี พอสวดเสร็จทุกคนก็ดื่มเหล้าด้วยกัน และกินข้าวในโตกร่วมกันเป็นอันเสร็จพิธี    

              พอตกกลางคืน จะมีการดื่มเหล้าและร้องเพลงกัน การร้องและการดื่มนี้จะต้องวนเวียนไปจนครบทุกบ้าน กล่าวแต่คำอันเป็นมงคลแก่ชีวิต พิธีมัดมือขึ้นปีใหม่นี้ มีเรื่องความเชื่อและกฎเกณฑ์ที่ควรปฏิบัติเกี่ยวข้องอีกมาก แตกต่างในรายละเอียดระหว่างหมู่บ้านของแต่ละหมู่บ้าน และแตกต่างตามความเชื่อของหมอผีแต่ละคน แต่มีความเชื่อที่สำคัญคือ หากเดือนที่กำหนดจะมีงานมัดมือขึ้นปีใหม่นี้ เกิดเหตุการณ์ไม่ดีไม่งามในหมู่บ้าน เช่น มีคนตาย มีเสือเข้ามากินสัตว์เลี้ยงในบ้าน มีหนุ่มสาวได้เสียกัน เป็นต้น ก็ต้องยกเลิกหมดถือว่าการเตรียมการครั้งนี้ไม่ดี ทำต่อไปไม่เกิดผลดีต่อคนในหมู่บ้าน ต้องเลื่อนไปจัดในเดือนต่อไป หรือหากจัดพิธีไปแล้วเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นทีหลัง จะถือว่างานที่จัดไปแล้วนั้นใช้ไม่ได้เช่นกัน ต้องจัดพิธีกันใหม่อีก (สุริยา รัตนกุล และลักขณา ดาวรัตนหงษ์ 2531)

    กี่ปิ๊หน่าจึ๊ (ปกาเกอะญอ) หรือพิธีทำขวัญให้ควาย

              พิธีกรรมนี้ทำเฉพาะครอบครัวที่มีควายเท่านั้น และทำกันปีละครั้งเมื่อเสร็จจากฤดูไถหว่านของแต่ละปี ส่วนใหญ่วันที่ประกอบพิธีกรรมจะทำในวันพฤหัสบดี แต่ต้องทำก่อนที่จะหมดฤดูฝนในปีนั้น ๆ ครอบครัวที่มีควายจะนัดหมายให้ลูกของตัวเองกลับมา แม้ว่าจะไปทำงานหรือเรียนก็ต้องกลับมาทำพิธีนี้ แต่ถ้าหากว่าคนอื่นที่ไม่ได้รับคัดเลือกไปทำพิธี เชื่อว่าจะทำให้ควายสุขภาพไม่ดี ตาบอด ไม่มีลูก เป็นโรค ล้มตายไป สำหรับคนที่จะทำพิธีนั้นจะต้องผ่านการคัดเลือก โดยคนที่มีความรู้ในการทำนาย ซึ่งการทำนายนี้มักจะใช้ข้าวสาร ใบไม้ ไข่ กระดูกไก่ หรือบางทีก็ดูลายมือ หลังจากที่ได้ทราบผลการทำนายซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกนั้น อาจเป็นเพศชายหรือหญิงก็ได้ โดยความเชื่อในเรื่องการทำขวัญให้ควายนั้น ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่า เพราะควายเป็นสัตว์ที่มีพระคุณและผูกพันธ์กันมานาน การทำขวัญให้ควายเป็นการแสดงความเคารพ ขอบคุณ ขออโหสิกรรม ตลอดจนถึงการอวยพรให้ควายมีสุขภาพแข็งแรง มีลูกดก ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเยือน

              การทำพิธีกรรม เริ่มจากเตรียมเครื่องเซ่นให้พร้อม สำหรับไก่ 1 คู่ (ต้องฆ่าและต้มมาเรียบร้อยแล้ว) หลังจากนั้นผู้ประกอบพิธีกรรมก็จะถือเครื่องเซ่น ไปยังคอกที่มัดควายไว้ จากนั้นก็เอาวงฝ้ายที่เตรียมไว้เท่าจำนวนควายของตัวเองที่มีอยู่ไปคล้องที่เขาควายทั้งสองข้างของแต่ละตัว จนครบทุกตัว ถัดจากนั้นมาก็เอาเทียนไปสอดติดกับเขาควายที่เอาฝ้ายคล้องไว้ก่อนแล้ว หลังจากนั้นก็โปรยข้าวสาร และประพรมน้ำขมิ้นส้มป่อย ระหว่างที่พรมน้ำขมิ้นส้มป่อย ผู้เป็นพ่อจะสวดตามให้ด้วย ขั้นตอนสุดท้ายคือรินเหล้าให้ควาย อาจเทราดบนหัวควายก็ได้เป็นอันเสร็จพิธี สำหรับไก่ที่นำมาประกอบพิธีกรรมนั้น นำไปทานอาหารกินในครอบครัว และเชิญญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านที่สนิทกันมาร่วมรับประทานอาหารร่วมกัน

    ถางซีไกงย หรือ พิธีไล่สิ่งชั่วโรคภัยไข้ออกจากหมู่บ้าน

              พิธีกรรมและความเชื่อของกะเหรี่ยงมีอยู่หลายพิธี แต่พิธีกรรมที่ทำสำหรับชาวบ้านทั้งหมู่บ้านก็เห็นจะมีอยู่พิธีเดียวคือพิธี "ถางซีไกงย" ซึ่งมีที่มาจากความเชื่อว่า หากชาวบ้านเจ็บป่วยพร้อมกันหลาย ๆ คน โดยไม่รู้สาเหตุของอาการป่วยนั้น และหรือความเชื่อที่ว่ามีสิ่งอัปมงคลเข้ามาในหมู่บ้าน ยกตัวอย่างเช่น หากไก่ป่าบินเข้ามาในหมู่บ้านก็จะเชื่อว่าเป็นลางไม่ดี ผู้นำและผู้อาวุโสของหมู่บ้านก็จักปรึกษากันเพื่อหาวิธีรักษาและป้องกัน เมื่อหารือจนได้ข้อสรุปแล้วจึงกำหนดวันเพื่อทำพิธี ซึ่งกำหนดให้เป็นวันอังคารของเดือนไหนก็ได้ในปีที่เห็นว่ามีคนในหมู่บ้านเจ็บป่วยพร้อมกันมากจนผิดสังเกต การทำพิธีกรรมนี้ ต้องทำวันอังคารเท่านั้นเพราะเชื่อว่าเป็นวันแรง

              การทำพิธีกรรม เริ่มจากชาวบ้านจะช่วยกันสานตะแกรงขึ้นมา 4 ใบ ที่บ้านของผู้นำประกอบพิธีกรรม เมื่อสานตะแกรงเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะนำไปแขวนไว้กลางลานบ้านผู้นำในลักษณะเรียงต่อกัน หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำเครื่องประกอบพิธีกรรมห่อไว้ในใบสัก แล้วนำไปวางบนตะแกรงทั้งสี่ใบนั้น ซึ่งตามประเพณีแล้วจะกำหนดเวลาให้เป็นช่วงเย็นของวัน เมื่อถึงเวลาผู้นำและผู้อาวุโสของหมู่บ้านจะเริ่มสวดขับไล่สิ่งชั่วร้าย โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งอัปมงคลต่าง ๆ ให้ออกไปจากหมู่บ้าน เมื่อสวดเสร็จแล้วผู้นำและผู้อาวุโสที่สวดจะถ่มน้ำลายลงในตะแกรงทั้งสี่ใบ หลังจากนั้นลูกบ้านคนอื่น ๆ ทั้งหมู่บ้านก็จะทยอยกันมาถ่มน้ำลายลงบนตะแกรงทั้งสี่จนครบทุกคน ส่วนผู้ที่ไม่ได้มาร่วมพิธีกรรม ก็จะบ้วนน้ำลายลงบนสำลี แล้วฝากให้คนในครอบครัวที่สามารถไปร่วมพิธีได้นำไปทิ้งบนตะแกรงทั้งสี่ เมื่อลูกบ้านร่วมพิธีเสร็จทุกคนแล้ว ก็จะมีตัวแทนของคนในหมู่บ้านช่วยกันหามตะแกรงทั้งสี่ใบนั้นไปทิ้งไว้ที่ทิศทั้งสี่ของหมู่บ้าน ระหว่างที่นำตะแกรงออกไป ผู้นำและผู้อาวุโสจะใช้ขี้เถ้าโปรยตามหลังตัวแทนก่อนที่จะออกจากบริเวณพิธี ด้วยเชื่อว่าขี้เถ้านั้นจะบังสิ่งชั่วร้าย อัปมงคลต่าง ๆ ไม่ให้ย่างกรายเข้าในหมู่บ้านอีกต่อไป

     

  • การขึ้นปีใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

    นี ซอ โข่ หรือพิธีขึ้นใหม่

              วันขึ้นปีใหม่ ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า หนี่ซอโข่ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งจะตรงกับช่วงหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันขึ้นปีใหม่จะจัดปีละครั้งเท่านั้น เป็นวันที่สำคัญวันหนึ่งของชาวกะเหรี่ยงเพราะเหล่าญาติพี่น้องที่ได้แต่งงานหรือจากบ้านไปทำงานที่อื่นจะกลับมาร่วมงานปีใหม่กันอย่างถ้วนหน้า

              การทำพิธีกรรม เริ่มจากจัดเตรียมขนมหลายชนิด เช่น ข้าวเหนียวต้ม ข้าวปุ๊ก ข้าวหลาม เพื่อวันรุ่งขึ้นจะถวายแด่เทพเจ้า เตรียมเหล้า สำหรับประกอบพิธีและดื่มร่วมกัน ตกกลางคืนของก่อนวันขึ้นปีใหม่ ผู้นำศาสนาที่ชาวกะเหรี่ยง เรียกว่า "ฮี่โข่" จะทำการเรียกเหล่าชาวบ้านมาชุมนุม ในแต่ละบ้านจะส่งตัวแทนบ้านละหนึ่งคน คือ หัวหน้าครอบครัว (ต้องเป็นผู้ชาย) ตอนไปชุมนุมจะต้องเตรียมเหล้า บ้านละหนึ่งขวดไปยังบ้านของผู้นำศาสนา (ฮี่โข่) ด้วย เมื่อมาพร้อมกันทั้งคนและเหล้าแล้วฮี่โข่จะเริ่มทำพิธีกรรม พิธีกรรมนี้ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า พิธีกินหัวเหล้า (เอาะซิโข่) โดยตอนแรกจะนำขวดเหล้ามารวมกัน โดยฮี่โข่จะทำการอธิษฐาน จากนั้นจะรินเหล้าลงในแก้วแล้วให้คนที่มาร่วมพิธีดื่ม วิธีการดื่มคือ เอาขวดแรกของคนที่มาถึงก่อน ฮีโข่จะเอามาเทลงแก้ว แล้วฮี่โข่จะจิบเป็นคนแรก จากนั้นก็ให้คนต่อไปจิบต่อ จิบเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบทุกคนที่มาร่วมงาน แล้ววนกลับมาถึงคิวฮี่โข่ ฮี่โข่จะทำการเททิ้งพร้อมอธิษฐานให้พร แด่เจ้าบ้านและครอบครัวของเจ้าของเหล้าขวดที่ได้เทไปแล้วจะทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบทุกขวดของทุกบ้านที่มาร่วมงาน บางครั้งบางทีหมู่บ้านไหนที่มีหลังคาเรือนเยอะอาจทำถึงเช้าเลยก็ว่าได้ เช้าวันขึ้นปีใหม่ ชาวกะเหรี่ยงจะตื่นแต่เช้าแล้วมาฆ่าหมู ฆ่าไก่ เพื่อจะนำมาประกอบพิธีในวันรุ่งเช้า โดยเริ่มจากการนำไก่ที่ฆ่าแล้วพร้อมเหล้าหนึ่งขวดมาตั้งที่ขันโตกเพื่อจะประกอบพิธีมัดข้อมือหรือเรียกขวัญของลูกหลานในแต่ละบ้าน โดยผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวจะเป็นผู้ประกอบพิธีนี้ เวลานี้สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะอยู่กันครบหน้า (คล้าย ๆ กับการรดน้ำดำหัว) ผู้เฒ่าผู้แก่เริ่มมัดข้อมือลูกหลาน โดยจะนำไม้มาเคาะที่ขันโตกเพราะเชื่อว่าเป็นการเรียกขวัญของลูกหลานให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว จากนั้นก็มัดข้อมือพร้อมอธิษฐานให้พร ในคำอธิษฐานนั้นจะกล่าวให้ทุกคนในครอบครัวอยู่ดีมีสุข หลุดพ้นจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง หลังจากมัดข้อมือเสร็จแล้วจะรับประทานอาหารร่วมกัน พอรับประทานอาหารเสร็จ ก็จะออกตระเวนไปตามบ้านของแต่ละบ้านแต่ละครอบครัวเพื่อกินสังสรรค์กัน พร้อมรินเหล้าเพื่ออธิษฐานและอวยพรให้ซึ่งกันและกัน จากนั้นจะเดินทางไปกินเหล้าทุก ๆ บ้านในหมู่บ้านและอวยพรให้ทุกบ้านมีแต่ความสุขไปด้วย พิธีขึ้นปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยงนั้นจะมีวันที่สำคัญที่สุด คือ วันแรก ส่วนวันอื่น ๆ แล้วแต่ว่าอยากกินถึงวันไหน ซึ่งแล้วแต่แต่ละหมู่บ้านที่ได้จัดขึ้น หลังจากพิธีขึ้นปีใหม่ "นี่ซอโข่" เรียบร้อยแล้วก็เป็นช่วงเวลาที่จะต้องเริ่มต้นวิถีการทำมาหากินของปีถัดไป ที่กล่าวมาทั้งหมดคือกะเหรี่ยงพุทธ หรือ "เอาะ คแฆ" นอกจากนี้ยังมีกะเหรี่ยงอีกกลุ่ม คือ กะเหรี่ยงคริสต์ กะเหรี่ยงคริสต์จะมีพิธีกรรมที่คล้าย ๆ กัน แต่จะทำในแบบศาสนาของตนเอง คือเข้าโบสถ์ อธิษฐานเสร็จจะทานข้าวร่วมกัน จากนั้นจะมีการประมูลราคาข้าวของแต่ละบ้านที่นำมาประมูลร่วมกัน หลังจากประมูลราคาสิ่งของเสร็จก็จะมีการจัดกลุ่มแข่งกีฬาพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ ตกเย็นมีการแสดงละครสร้างความบันเทิง จะไม่มีการกินเหล้าหรือเมามายในวันนี้ จากนั้นก็จะแยกย้ายกันกลับบ้านของตนเอง ในช่วงนี้จะมีการอธิษฐานทุกคืนจนครบ 7 คืน จึงจะถือว่าสิ้นสุดพิธีขึ้นปีใหม่

     

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

              เดิมชาวกะเหรี่ยงนับถือผี มีการบวงสรวงและเซ่นสังเวยอย่างเคร่งครัด ภายหลังหันมานับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์มากขึ้นแต่ก็ยังคงความเชื่อเดิมอยู่ไม่น้อย เช่น ความเชื่อเรื่องขวัญหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ จะต้องมีการเซ่นเจ้าที่เจ้าทาง และบอกกล่าวบรรพชนให้อุดหนุนค้ำจุน ช่วยให้กิจการงานนั้น ๆ เจริญก้าวหน้า ทำเกษตรกรรมได้ผลผลิตดี ให้อยู่เย็นเป็นสุข ปกป้องคุ้มครองดูแล และยังเป็นการขอขมาอีกด้วย การนับถือผีต่าง ๆ ที่มีในชุมชน เช่น ผีบ้าน ผีป่า ผีน้ำ ผีไฟ เป็นต้น ความเชื่อเหล่านี้ได้แทรกซึมและมีอิทธิพลมาก ต่อการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน โดยเฉพาะศาสนาพุทธผี ที่ยังคงรักษาพิธีกรรมต่าง ๆ เอาไว้อยู่ เช่น การมัดมือเรียกขวัญในยามเจ็บไข้ได้ป่วย การเรียกขวัญผูกข้อมือหรือพิธีมัดมือเลี้ยงด้วยหมูหรือไก่

              นอกจากนี้ยังมีการนับถือศาสนาสากล นับถือศาสนาพุทธ  ศาสนาคริสต์  และเกิดการผสมผสานระหว่างศาสนากับความเชื่อดั้งเดิม 

    ความเชื่อเรื่องขวัญ

              ขวัญที่สถิตย์อยู่ในตัวมนุษย์มีจำนวน 5 ขวัญ ได้แก่ ขวัญแขนซ้าย ขวัญแขนขวา ขวัญเท้าซ้ายและเท้าขวานับรวมกันเป็นหนึ่งขวัญ ขวัญดวงจิตและขวัญกระหม่อม (หรือเรียกตามชื่อดั้งเดิมว่า ขวัญหัวน้ำ)

              ขวัญที่เป็นสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ จำนวน 31 ขวัญ ได้แก่

    1.สัตว์น้ำ 5 ขวัญ : กุ้ง หอย ปู ปลา และเขียด

    2.สัตว์เลื้อยคลาน 6 ขวัญ : งู เต่า ตะกวด ตุ๊กแก แย้ และไส้เดือน

    3.สัตว์ใหญ่ 9 ขวัญ : หมูป่า เก้ง เสือ สิงห์ หมี กระทิง ช้าง ชะนี และลิง

    4.สัตว์เล็ก 5 ขวัญ : นกเงือก ไก่ฟ้า ไก่ป่า เหยี่ยว และหนู

    5.แมลง 5 ขวัญ : จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมงมุม ต่อ และผีเสื้อ

              ขวัญที่เป็นธัญพืชจำนวน 1 ขวัญ ได้แก่ ขวัญข้าว

     

  • ข้อห้าม ข้อปฏิบัติของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

              การอยู่ร่วมกันในสังคมจะต้องยึดถือระเบียบข้อบังคับ กฎจารีตประเพณีและเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อให้ชุมชนดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ข้อห้ามระหว่างคนกับธรรมชาติ

              -ป่าช้า : ป่าช้าจะเป็นป่าหวงห้ามสำหรับหมู่บ้าน ห้ามเข้าไปตัดต้นไม้และทำประโยชน์ใด ทุกคนต้องเคารพเพราะถือกันว่าเป็นแหล่งพักพิงของวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งพวกท่านก็ต้องการความสงบร่มเย็นเช่นเดียวกัน

              -สัตว์ป่า : เช่น ชะนี ชะนีตายหนึ่งตัว ป่าเจ็ดป่าต้องเงียบเหงา นกกก นกกกตายหนึ่งตัว ต้นโพธิ์เจ็ดต้นต้องวังเวง เพราะเป็นนกที่ซื่อสัตย์ต่อคู่ หากคู่มันตายมันก็จะฆ่าตัวตายตาม สัตว์ป่าขนาดใหญ่หลายชนิดจะห้ามการล่าและเมื่อถึงฤดูวางไข่ผสมพันธุ์และเลี้ยงลูกอ่อนจะห้ามล่าสัตว์ป่าทุกชนิดเพราะเป็นช่วงที่สัตว์ป่าขยายพันธุ์ หากมีการล่าในช่วงนี้จะทำให้สัตว์สูญพันธุ์ได้ แม่น้ำลำธารบริเวณต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะตาน้ำผุดจะห้ามการตัดไม้ทำลายป่า ปลาที่อยู่ในตาน้ำผุดหรืออยู่ในถ้ำห้ามจับ เพราะเชื่อกันว่าปลาเหล่านี้มีเจ้าของเลี้ยงไว้ หากผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามผู้นั้นเจ้าของธรรมชาติเหล่านี้จะลงโทษโดยการทำให้เจ็บป่วยได้

              -ผักและผลไม้ : ห้ามโค่นต้นโพธิ์ต้นไทรเดี๋ยวนางพญาแมกไม้จะลงโทษ ผลไม้จะต้องรอให้มันสุกก่อนถึงจะเก็บมากินได้ ห้ามเก็บกินขณะยังเป็นลูกอ่อน พืชผักและต้นไม้ทุกชนิดห้ามตัดทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ห้ามกาต้นไม้เพราะเชื่อว่าต้นไม้ก็มีชีวิต รู้จักเจ็บรู้จักร้องไห้เช่นเดียวกับมนุษย์ ต้นไม้ที่ให้ผลเป็นอาหารแก่มนุษย์ห้ามนำมาสร้างบ้าน

    ข้อห้ามระหว่างคนกับชุมชน ในสังคมกะเหรี่ยงจะมีกฎของชุมชนเพื่อให้คนในหมู่บ้านยึดถือปฏิบัติในทิศทางเดียวกันเพื่อให้สังคมอยู่ได้อย่างปกติสุข ดังนั้นจึงมีกฎข้อห้ามหลายประการ เช่น

              ข้อห้ามที่เกี่ยวกับกาลเวลา

              -ข้อห้ามที่เกี่ยวกับการย้ายเข้า ย้ายออกของคนในชุมชน

              -ห้ามตั้งหมู่บ้านบนเนินน้ำล้อม (เกาะ)

              -ห้ามเก็บหน่อไม้เกินกอละสามหน่อ

              -ห้ามตัดไม้ไผ่เกินกอละสามลำ

              -ห้ามเก็บชะอมกินในฤดูฝน

              -ห้ามเก็บสมุนไพรเกินขนาด หากเก็บเกินจะไม่เป็นยา

              ข้อห้ามระหว่างคนกับคน

              -ห้ามเกี่ยวกับคนที่มีครรภ์ ห้ามกินเนื้อหมูป่าและสัตว์ที่ถูกเสือกัดตาย

              -ห้ามเกี่ยวกับการเลือกคู่ครองและการแต่งงาน

              -ห้ามทะเลาะกันบนขันโตก

              -ห้ามข้ามหัวเหยียบเท้าผู้อาวุโส

              เรื่องราวของข้อห้ามในชีวิตคนกะเหรี่ยงมีมากมาย ที่บรรพบุรุษยึดถือปฏิบัติกันมายาวนาน เช่น ข้อห้ามเกี่ยวกับการกินอาหารเป็นกุศโลบายสอนเด็กให้เชื่อฟังพ่อแม่ผู้เฒ่าผู้แก่ด้วยการบัญญัติ 10 ประการ ดังต่อไปนี้

              1.หัวไก่ ห้ามเด็กกิน หากเด็กกินจะมีสมองช้า ความคิดไม่ใส

              2.คอไก่ ห้ามเด็กกิน หากเด็กกินจะชอบเถียงพ่อแม่ ล่วงล้ำ กระทำการละเมิดคำสั่งสอนบรรพบุรุษ

              3.ปลายปีกไก่ ห้ามเด็กกิน หากเด็กกินเด็กจะไม่ค่อยเที่ยงตรง ซื่อสัตย์ ทำอะไรไม่เป็นอย่างที่คิดว่าแต่ต้น ทำอะไรไม่บรรลุเป้าหมายชีวิต หรือไม่เกิดผลอย่างที่คาดคิดไว้แต่เริ่มต้น

              4.แข้งไก่ ห้ามเด็กกิน หากเด็กกินเด็กจะชอบเที่ยวเตร่ ไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง

              5.กึ๋นไก่ ห้ามเด็กกิน หากเด็กกินจะดื้อ ไม่ค่อยเชื่อฟังการสั่งสอนของพ่อแม่

              6.ตับไก่ ห้ามเด็กกิน หากเด็กกินเด็กจะขี้เกียจ ไม่สดชื่น ทำอะไรจะเชื่องช้า 

              7.ตูดไก่/ก้นไก่ ห้ามเด็กกิน หากเด็กกินเชื่อว่าจะพูดมาก เป็นคนที่ชอบพูดนินทา กล่าวร้ายผู้อื่น เก็บความลับไม่ได้

              8.หัวใจไก่ ห้ามหญิงกิน หากหญิงกินจะทำให้เกิดความอ่อนไหว ไม่มีความหนักแน่ในความรักและการครองเรือน

              9.หัวใจสำรองไก่ ห้ามกินชายกิน ถ้าหากกินจะทำให้ตัดสินใจไม่เด็ดขาด เกิดความไม่มั่นใจ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง

              10.ไส้ไก่ ห้ามเด็กกิน เด็กผู้ชายกินแล้วจะจัดตอกไม่เป็น เด็กผู้หญิงกินจะปั่นฝ้ายไม่สำเร็จ เป็นต้น เชื่อว่าถ้าเด็กผู้หญิงหรือผู้ชายกินจะทำการใด ๆ ขาดความอดทน 

              สำหรับกะเหรี่ยงนับถือศาสนาพุทธได้มีศีล 5 และศีล 8 เป็นการถือปฏิบัติเบื้องต้น ส่วนกะเหรี่ยงที่นับถือคริสต์ศาสนาจะมีบัญญัติ 10 ข้อ เป็นหลักเกณฑ์ในการกำกับควบคุมจิตใจในการครองชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมหมู่คณะ

              ความเชื่อและการถือปฏิบัติมายาวนาน เล่าสรุปโดยนางหน่อมะพอ เสนาะพรไพร, นางเปอะเลอะ ชิติพัทธ์, นางชิแนะ โย่ทู, นายโยชู ระราย์ เมื่อ 25 พฤษาคม 2561 .บ้านแม่ขะปูหลวง ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

     

    การแต่งกาย

              เครื่องแต่งกายกะเหรี่ยง แยกออกเป็นการแต่งกายของผู้ชาย การแต่งกายของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และการแต่งกายของผู้หญิงโสด การปักและลวดลายประดิษฐ์มีทั้งลวดลายในการถักทอมีความหมายของลวดลายที่ถักทอลงไป ส่วนเครื่องประดับนั้นมี ต่างหู, เคาะกลอ, โข่กลอ, กิ๊บ, ลูกปัด, กำไลข้อมือ เป็นต้น ชาวกะเหรี่ยงในแต่กลุ่มจะมีเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์และลักษณะเฉพาะตัวในด้านสีสัน แต่รูปแบบลักษณะการแต่งกายจะเหมือนกัน คือ ผู้ชายจะนิยมใส่ชุดเสื้อคอสีแดง ใส่กางเกงทรงกระบอก ส่วนผู้หญิงที่เป็นโสดจะใส่ชุดเสื้อทรงกระบอกผ้านี้ทอเองด้วยมือ มีทั้งสีขาวและสีแดง ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะใส่ชุดเป็น 2 ส่วน คือผ้าซิ่นสีแดงและใส่เสื้อคอสีดำ เพื่อบ่งบอกถึงสถานภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิม บนเสื้อจะมีการประดับด้วยลูกเดือยหรือปักด้วยด้ายหลากสีในลวดลายชนิดต่าง ๆ ซึ่งแต่ละชนิดจะเลียนแบบจากธรรมชาติ มีการเรียกชื่อเฉพาะโดยจะให้ความรู้สึกและอารมณ์ที่แตกต่างกันไป เนื่องด้วยในปัจจุบันผู้ชายกะเหรี่ยงจกอร์ นิยมแต่งกายเหมือนคนไทยในท้องถิ่นทั่วไป แต่ส่วนใหญ่ยังคงมีเสื้อสีแดงสำหรับไว้ใส่ในโอกาสสำคัญ เสื้อแดงตัวนี้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาย นั่นคือความอดทนแข็งแรง ส่วนเด็กผู้ชายกะเหรี่ยงจะใส่เสื้อแดงตัวเดียวยาวถึงหัวเข่า

              เสื้อสีแดงของชายกะเหรี่ยงเป็นเสื้อทรงกระบอกคอเสื้อรูปตัววี ตรงชายคาเสื้อจะติดพู่ห้อยลงมา สมัยก่อนเสื้อแดงของชายโสดจะมีพู่ห้อยยาวลงมาเลยชายเสื้อ ส่วนเสื้อแดงของชายที่แต่งงานแล้วจะติดพู่ห้อยลงมาเสมอชายเสื้อ เพราะชายที่แต่งงานแล้วต้องทำงานมากขึ้น การที่ใส่เสื้อที่มีพู่ยาวจะทำให้รุงรัง ไม่สะดวกในการทำงาน ผู้ชายกะเหรี่ยงจะสวมกางเกงแบบคนไทยภาคเหนือหรือบางที่สวมใส่แบบโสร่งพม่า แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะสวมกางเกงขายาวตามสมัยนิยมและอาจจะสวมเสื้อแดงทับเสื้อสีขาวข้างในอีกทีหนึ่ง (ชุดสูท) นอกจากนี้แล้ว เสื้อแดงของผู้ชายกะเหรี่ยงจะใช้ผ้าโพกศีรษะซึ่งมีลวดลายปักสีแดงและมีถุงย่ามซึ่งจะออกสีแดงเช่นเดียวกัน เนื่องจากกะเหรี่ยงสะกอนับถือบรรพบุรุษฝ่ายแม่ แม่จะเป็นเจ้าของบ้านและเป็นใหญ่ในบ้าน วันแต่งงานผู้หญิงที่เป็นเจ้าสาวจะต้องเตรียมเสื้อผ้า ผ้าโพกศีรษะ และถุงย่ามไว้ให้เจ้าบ่าว ย่ามนี้จะต้องมีลายที่ปากถุง เพราะเชื่อกันว่าสามารถป้องกันผีไม่ให้ทำร้ายเจ้าบ่าวได้

              กะเหรี่ยงจกอร์มีความเคร่งครัด ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง มีข้อห้ามการไปไหนด้วยกันตามลำพังและการถูกเนื้อต้องตัวกัน การได้เสียกันก่อนแต่งงานถือว่าเป็นความผิดอย่างแรง ต้องมีการถูกลงโทษปรับสินไหมและต้องทำพิธีขอขมาหัวหน้าหมู่บ้าน รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้าน มีการฆ่าหมู ไก่ วัว ควาย เป็นต้น (แล้วแต่หัวหน้าแต่ละหมู่บ้านกำหนดโทษมากน้อยเพียงใด) เป็นการป้องกันหนุ่มสาวเล่นไม่ซื่อและเป็นการสอนหนุ่มสาวไปในตัวว่าทำไปต้องมีการทำโทษเหมือนการย้ำเตือนให้คู่หนุ่มสาวรับผิดชอบ เคารพต่อกติกาสังคมชุมชนนั้น ๆ กะเหรี่ยงมีการอยู่อย่างผัวเดียวเมียเดียวตราบจนตายไปข้างหนึ่ง ไม่ประพฤติผิดลูกเมียใคร กะเหรี่ยงจกอร์ที่เป็นแม่หม้ายน้อยมากที่จะแต่งงานใหม่

              ด้วยความเชื่อดังกล่าวข้างต้น จึงมีการแยกความแตกต่างของการแต่งกายระหว่างสาวโสดและหญิงที่แต่งงานแล้ว ผู้หญิงกะเหรี่ยงที่ยังไม่แต่งงานจะใส่ชุดทอด้วยมือทรงกระสอบสีขาว (หมายถึงสาวพรหมจรรย์) ยาวกรอมถึงเท้า (ณ ปัจจุบันแปลกตาขึ้นมีทั้งสีเขียวและสีแดงวิวัฒนาการ) ชุดขาวนี้เรียกว่า เช กวา ผู้หญิงจะใส่ตั้งแต่เด็กจนถึงวันแต่งงานถึงจะเปลี่ยนการใส่ชุดขาวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ 

              ผู้หญิงกะเหรี่ยงจกอร์ที่แต่งานแล้ว จะสวมเสื้อสีดำเรียกว่าเชซู ประดับด้วยลูกเดือยและฝ้ายสี ให้มีลวดลายสีสันต่าง ๆ การประดับสร้างลวดลายมักจะมีเรื่องเล่าและที่มาตามประสบการณ์ชีวิตของคนนั้น ๆ เช่น นำเม็ดลูกเดือยมาเรียงกัน 2 เม็ด หมายถึง รอยเท้าสุนัข หรือการปักไขว้ด้วยด้ายสีแดงเป็นรัศมี หมายถึงพระอาทิตย์ เป็นต้น

     

  • พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

              ป่าเดปอ  เป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ป่า เป็นการเคารพต่อกันระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อม (ต้นไม้) โดยการนำเอารกเด็กที่เกิดใหม่ไปผูกไว้กับต้นไม้ เมื่อทารกเกิดสายรก (เด) ที่ตัดออกไปแล้วก็จะบรรจุลงกระบอกไม้ไผ่ ปิดฝาด้วยเศษผ้าแล้วนำไปผูกไว้ตามต้นไม้ใหญ่ในป่ารอบหมู่บ้าน เพื่อให้ต้นไม้เป็นผู้ดูแลขวัญของเด็ก โดยจะเลือกต้นไม้ที่สมบูรณ์ที่สุด ต้นไม้ต้นนั้นเรียกชื่อว่า "เดปอทู่" แปลว่า ต้นสายรก ต้นไม้ต้นนี้จะห้ามตัดโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าขวัญของทารกจะอาศัยอยู่ที่นั้น หากตัดทิ้งจะทำให้ขวัญของทารกหนีไปและทำให้ทารกล้มป่วย หากว่าผู้ใดผู้หนึ่งตัดต้นไม้ต้นนี้โดยเจตนาหรือไม่เจตนาจะต้องถูกปรับด้วยไก่หนึ่งตัว พ่อแม่ก็จะนำไก่ตัวนี้ไปทำพิธีเรียกขวัญของทารกกลับคืนมา ต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้นสามารถนำสายรกไปผูกเดปอกี่คนก็ได้ เป็นองค์ความรู้ภูมิปัญญาของบรรพชนในการจัดการป่า คือคุณค่าทางวัฒนธรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการเคารพต่อกันระหว่างคนกันคน คนกับจิตวิญญาณ และคนกับสิ่งแวดล้อม (ต้นไม้) จะเห็นว่า “เดปอทู่” คือจุดเริ่มต้นระหว่างคนกับป่า

              ป่าดูตะเอ่อ  บริเวณที่เป็นป่าทึบบนดอยสูง เป็นป่าต้นน้ำของชุมชนที่เชื่อว่า ต้นไม้ทุกต้นมีผีคุ้มครอง ห้ามให้ใครเข้าไปทำประโยชน์ในผืนป่าแห่งนี้

              ป่าต่าซัวโข่ (ป่าช้า)  เป็นป่าที่ใช้สำหรับนำคนตายไปฝังและเผาศพ ห้ามให้ใครเข้าไปใช้ประโยชน์หรือหาของป่า เชื่อว่า เป็นสถานที่สำหรับคนตายอาศัยอยู่

              ป่าเดหมื่อเบอ  เป็นป่าที่มีลักษณะที่มีลักษณะกิ่วดอยอยู่ข้างห้วย ห้ามให้ใครเข้าไปใช้ประโยชน์ในการถางไร่หรือตัดต้นไม้

              ป่าต่าเดะโดะ  เป็นป่ากิ่วดอยเชื่อว่าเป็นทางผ่านของภูตผี ห้ามให้ทำไร่ สร้างบ้านหรือตัดฟืน หากใครฝ่าฝืนจะเจ็บไข้ได้ป่วยหรืออาจถึงแก่ความตายได้

              ทีเปอถ่อ  เชื่อว่ามีผีน้ำอยู่ที่นั่น มีกระจัดกระจายทั่วไปในผืนป่า เมื่อเข้าป่าห้ามล่วงล้ำโดยเฉพาะการอุจจาระและปัสสาวะ

              ต่าคอทู  เป็นบริเวณที่มีรอยกวางหรือรอยสัตว์อยู่ในก้อนหินบริเวณเหล่านี้จะไม่มีการทำไร่

              ต่าวีโดะ  บริเวณป่าทึบตามลำห้วย เวลาคนเจ็บไข้ไม่สบายมีการเลี้ยงส่งผีที่นี่ ถ้าเป็นคนท้องประมาณ 2-3 เดือน หรือวันศีลห้ามดินผ่าน

              ชิควะคี  เป็นป่าขุนห้วยนา มีทั้งที่ดูแลโดยส่วนบุคคลและส่วนรวม รวมทั้งหมดมีประมาณ 8 จุด

              มอเบอระ หรือโป่งจอมปลวก ห้ามล่วงล้ำทำลาย

              ผืนป่าตามความเชื่อเหล่านี้ โดยส่วนใหญ่ยังคงสืบทอดมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน มีเพียงไม่กี่แห่งที่ไม่มีแล้ว ซึ่งเป็นเพราะชาวบ้านมีวัฒนธรรมความเชื่อที่เปลี่ยนจากเดิม เช่น การนับถือศาสนาพุทธและนับถือศาสนาคริสต์ ทำให้วัฒนธรรมประเพณีความเชื่อดั้งเดิมถูกลดคุณค่า

     

  • เครื่องดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

              เตหน่า เป็นเครื่องดนตรีของชนเผ่ากะเหรี่ยง ทำด้วยไม้อ่อน เหลาและกลึงให้เป็นรูปเหมือนกล่องรูปทรงรี มีก้านยาวโก่งและโค้งสูงขึ้นไป ที่ตัวจะเจาะรูเป็นโพรงปิดด้วยโลหะบาง ๆ สายทำด้วยเส้นลวดมีสายตั้งแต่ 6-9 สาย เตหน่าใช้สำหรับดีดและร้องเพลงประกอบ ใช้ในโอกาสมีเวลาว่างและเพื่อความสนุกสนานโดยเฉพาะหนุ่ม ๆ จะใช้เตหน่าในการเกี้ยวพาราสีหญิงสาวในยามค่ำคืน

  • ตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) :

              สังคมกะเหรี่ยงเป็นสังคมที่รุ่มรวยด้วยมุขปาฐะหรือคำบอกเล่าด้วยปากเปล่า ชาวกะเหรี่ยงจึงเป็นนักเล่านิทานและมักจะบอกเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ของตนผ่านเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นตำนานการกำเนิดกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหรือตำนานในกลุ่มย่อย เช่น กลุ่มสะกอมักจะมีคำบอกเล่าว่าตนเองมีแหล่งที่อยู่อาศัยดั้งเดิมว่ามาจากไหน มีความเป็นมาอย่างไร จึงทำให้มีเรื่องเล่าและมีตำนานมากมาย ซึ่งอาจเปลี่ยนไปหรือปรับเปลี่ยนไปตามระยะเวลาที่ต้องการบอกเล่าเกี่ยวกับชนชาติของตนเองให้ลูกหลานและผู้อื่นได้รับฟังและรับรู้ ซึ่งหากสืบเสาะหาต้นกำเนิดของตำนานนั้นเป็นสิ่งที่ยากที่จะทราบแหล่งที่มา เนื่องจากเป็นสิ่งที่เล่าต่อ ๆ กันมาและอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท (กรรณิการ์ พรมเสาร์ 2542: 18)

              ตำนานแรก ที่จะกล่าวถึงเป็นตำนานของครอบครัวหนึ่งประกอบด้วยบิดาและบุตรชายสองคน มารดาได้ตายจากไปเมื่อบุตรทั้งสองยังเล็กอยู่ เมื่อถึงเวลาบิดาที่ต้องลาจากโลกนี้ ได้เรียกบุตรทั้งสองคนมาสั่งเสียให้รักกันและกัน มีมรดกที่จะมอบให้เพียงเขี้ยวหมูทองและเขี้ยวหมูเงินอย่างละหนึ่งเล่ม กลองทองและกลองเงินอย่างละหนึ่งตัว ให้ทั้งสองแบ่งกัน ถ้าคนใดเอากลองทองให้เอาเขี้ยวหมูเงิน ถ้าเอากลองเงินให้เอาเขี้ยวหมูทอง จะเอากลองทั้งสองตัวเพียงผู้เดียวไม่ได้ เมื่อสั่งเสียเสร็จแล้วไม่นานบิดาก็ตายจากไป แต่น้องชายเจ้าจอมโลภเมื่อบิดาตายไปได้แย่งกลองเงินและกลองทองแต่เพียงผู้เดียว พี่ชายพยายามเกลี้ยกล่อมก็ไม่ยอมฟัง สุดท้ายพี่ชายได้ยื่นคำขาดว่าหากไม่ยอมทำตามคำสั่งเสียของพ่อ เราจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ในชาตินี้และในแผ่นดินนี้ หากน้องชายอยู่ที่นี่พี่ก็จะจากไป หากพี่ชายอยู่ที่นี่น้องชายก็จะต้องจากไป จึงให้น้องชายเลือกเอง เมื่อได้ยินดังนั้นน้องชายจึงบอกกับพี่ชายว่าจะขอเลือกอยู่ที่นี่ เมื่อเป็นเช่นนั้นพี่ชายก็หยิบเขี้ยวหมูทั้งสองเล่มใส่ย่ามแล้วออกเดินทางจากน้องไป

              เนื่องจากน้องจอมโลภเอากลองแต่เพียงผู้เดียวจึงมีชื่อว่า "หน่าก่าโกละ" แปลว่า "จอมโลภกลอง" ส่วนพี่ชายได้เขี้ยวหมูไปทั้งสองเล่ม จึงมีชื่อว่า "เทาะแมป่า" แปลว่า "ราชาเขี้ยวหมู" เทาะแมป่าเดินทางไปกระทั่งถึง "ทีแซะแมะยวา" แปลว่า น้ำเซาะทรายไหล (ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นดินแดนทะเลทรายแถบไซบีเรีย) ไม่สามารถข้ามฟากไปได้ บังเอิญเหลือบไปเห็นน้ำเต้า 2 ลูก จึงสวมเท้าแล้วข้ามฟากได้ เมื่อข้ามไปอีกฟากก็พบแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ เต็มเปี่ยมด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ชีวิตผู้คนเพียบพร้อมด้วยความรักความเอื้ออาทรแก่กันและกัน เทาะแมป่าจึงลงหลักปักฐานอยู่ที่นั่น และอาศัยอยู่อย่างมีความสงบสุข ฝ่ายหน่าก่าโกละเมื่อพี่ชายเทาะแมป่าจากไปแล้วก็เกิดความทุกข์ยิ่งนักขึ้นทำมาหากินด้วยความยากลำบาก และเวลาออกจากบ้านก็ต้องแบกกลองทั้งสองตัวไปด้วยเพราะกลัวว่าจะมีคนมาขโมย ยามนอนก็หลับตาไม่ลงเพราะกลัวจะถูกปล้นความคิดกังวลเวียนวนอยู่แต่กลองทั้งสองนี้

              ที่สุดก็สำนึกผิดจึงออกเดินทางตามหาพี่ชายเพื่อคืนกลองให้ หน่าก่าโกละตามหาเทาะแมป่าโดยแบกกลองทั้งสองตัวด้วยความเหน็ดเหนื่อย ที่สุดเมื่อถึงเวลาพลบค่ำก็พบร่องรอยเทาะแมป่าที่ก่อไฟ ยังลุกโชนอยู่และใบตองกล้วยป่าที่มุงเพิงยังเขียวสดอยู่ก็นึกดีใจว่าอีกไม่นานตนเองก็จะตามเทาะแมป่าทัน หน่าก่าโกละจึงออกเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้นจนพลบค่ำวันที่สามเขาได้พบร่องรอยพี่ชายอีก แต่คราวนี้เหลือแต่เถ้าถ่านเย็นสนิทและใบตองกล้วยป่าเน่าเปื่อยผุพังเหลือแต่ก้าน แต่เขายังไม่หมดความหวังรุ่งขึ้นจึงออกเดินทางต่อไปจนกระทั่งถึง "แซะแมะยวา" หน่าก่าโกละสังเกตเห็นร่องรอยการข้ามของเทาะแมป่าโดยมีน้ำเต้าสวมไว้ที่เท้า ส่วนเขาไม่มีน้ำเต้าจึงไม่สามารถติดตามเทาะแมป่าได้อีก จึงตัดสินใจทิ้งกลองไว้ที่นั่นแล้วเดินทางกลับไป ตำนานนี้ได้ถูกบันทึกด้วยบทธา (ลำนำ) ไว้ว่า

                        หน่าก่าโกละ ลอก่า ลอกือ             โจ่ เก เทาะแมป่า เตาะ คลึ

                        หน่าก่าโกละโลภกลองดีนัก            สมน้ำหน้าที่ตามเทาะแมป่าไม่ทัน

                        เทาะแมป่า เก เลอ หมื่อ เคลอ        เก เหน่ ต่า โปก ต่า ปก่อ เหลอะ

                        เทาะแมป่าจากไปแล้วแต่ไกลโพ้น      จากไปพร้อมกับความสงบสุขทั้งมวล

              หน่าก่าโกละและเทาะแมป่าสองพี่น้องอาศัยคนละโลก โลกของหน่าก่าโกละ เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากต้องทำงานหนักตากแดดตากฝนทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความเหน็ดเหนื่อย หนึ่งวันต้องทานอาหารสามมื้อทำงานสามปีเพียงพอสำหรับหนึ่งปี ซึ่งตรงกันข้ามกับโลกของเทาะแมป่าที่เต็มไปด้วยความสงบสุขปราศจากการทะเลาะวิวาท ผู้คนมีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สามวันกินอาหารหนึ่งมื้อ ทำงานหนึ่งปีเพียงพอสำหรับสามปี ต้นข้าวใหญ่เท่าต้นกล้วย เมล็ดข้าวใหญ่เท่าฟักเขียว คนกะเหรี่ยงจะทิ้งด้วยความหวังว่าโลกที่อาศัยในเวลานี้ คือ โลกของหน่าก่าโกละและลูกหลานให้พ้นจากสภาพของความทุกข์ยากลำบาก เมื่อถึงวันนั้นแผ่นดินโลกที่หน่าก่าโกละอาศัยอยู่นี้ก็จะกลับคืนสู่สภาพแห่งความสุขสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง

              ตำนานที่สอง เล่าว่าคนกะเหรี่ยงนั้นมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ภูเขา ทอทีปล่อก่อ ผู้เฒ่าเทาะแมป่าเป็นหัวหน้าบ้าน สืบเชื้อสายกันมานานจนมีลูกหลานเต็มเมืองจนทำให้ที่ทำกินไม่เพียงพอต่อจำนวนชาวกะเหรี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเมื่อคนเพิ่มมากขึ้นที่ทำกินไม่เพียงพอ เทาะแมป่าจึงได้ทำการอพยพลูกหลานไปหาที่ทำกินใหม่ที่ซึ่งมีดินดี ที่ที่ถือว่าเป็นดินดีนั้นเทาะแมป่าได้บอกกับลูกหลานว่า ให้เอาไม้จิ้มลงดินแล้วดึงไม้เท้าออก หลุมนั้นจะเต็มขึ้นมาเอง จิ้มไม้เท้าเจ็ดครั้งหลุมก็จะเต็มเจ็ดครั้ง ที่ดินเช่นนี้จึงจะเหมาะแก่การตั้งบ้านเรือน ระหว่างเดินนั้นเทาะแมป่าเดินเร็วจนลูกหลานเดินตามไม่ทัน จนกระทั่งทุกวันนี้ลูกหลานกะเหรี่ยงยังเดินตามเทาะแมป่าไม่ทัน เดินเร็วบ้าง ช้าบ้าง จึงได้มาหยุดตามที่ต่าง ๆ แถวลุ่มน้ำอิระวดีบ้าง แถวลุ่มน้ำสาละวินบ้าง ต่างก็แตกหน่อแยกเผ่าพันธุ์กันไปจนกระทั่งทุกวันนี้มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วไปทั้งในเขตพม่า ตลอดจนในเขตภาคเหนือและตะวันตกของประเทศไทย (กรรณิการ์ พรมเสาร์และเบญจา ศิลารักษ์ 2542: 17-18)

              ตำนานที่สาม ที่ได้พูดถึงเทาะแมป่าที่มีความคล้ายคลึงกันของประวัติศาสตร์การกำเนิดของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงของ Marshall (1922: 5) ว่าเทาะแมป่าอาศัยอยู่ที่ไหนสักแห่งทางภาคเหนือ ซึ่งไร่นามักถูกรบกวนด้วยหมูป่า เทาะแมป่าและลูกชายจึงได้ฆ่าหมูตัวนั้น และเมื่อลูกชายไปนำหมูป่าที่ฆ่านั้นได้แต่เขี้ยวหมูกลับมาให้พ่อ เทาะแมป่าจึงนำเขี้ยวนั้นมาทำเป็นหวี และหวีที่ทำขึ้นมาจากเขี้ยวหมูป่านี้มีความพิเศษ คือ เมื่อหวีผมแล้วจะมีความเป็นหนุ่มตลอดนิรันดร์ และทุกคนก็ใช้หวีนั้นเพื่อความเป็นนิรันดร์ไม่แก่ไม่ตาย ในไม่ช้าประชากรจึงเยอะมากขึ้นที่ทำกินมีไม่เพียงพอ พวกเขาจึงต้องการที่จะไปหาที่อยู่ใหม่ที่ดีกว่าเดิม พวกเขาจึงเดินทางไปด้วยกันจนกระทั่งมาถึงแม่น้ำที่ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า "Hti She Meh Ywa" (ทีเส่แหมะยวา) ขณะเดินทางลูกหลานปรุงอาหารโดยใช้หอยเป็นวัตถุดิบ ซึ่งต้องใช้เวลานานมากเพื่อให้หอยกลายเป็นสีเหลือง เทาะแมป่าจึงเดินทางนำหน้าไปก่อนและถางทางเดินเพื่อให้ลูกหลานเหล่านี้ตามมาภายหลังตามเส้นทางนี้ เมื่อคนจีนผ่านมาจึงบอกวิธีการแกะหอยเพื่อกินเป็นอาหารให้ เมื่อกินเสร็จแล้วพวกเขาจึงตามเทาะแมป่าไป เส้นทางที่ได้ถางไว้ในแต่แรกนั้นถูกปกคลุมด้วยหญ้าที่สูงจนมองไม่เห็นทางจึงทำให้ไม่สามารถตามเทาะแมป่าไปได้ เทาะแมป่าจึงไปพร้อมกับหวีวิเศษและไม่สามารถหาเทาะแมป่าพบอีกเลยจนถึงทุกวันนี้

              นอกจากตำนานเทาะแมป่าทั้งสามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีตำนานต้นกำเนิดของกะเหรี่ยงบางตำนานซึ่งมีความสอดคล้องหรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชาวตะวันตกและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับศาสนาคริสต์ (กรรณิการ์ พรมเสาร์และเบญจา ศิลารักษ์ 2542) ที่ชาวตะวันตกได้นำมาเผยแผ่ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และโดยเฉพาะปกาเกอะญอในเขตภาคเหนือของประเทศไทยอีกด้วยดังตัวอย่างต่อไปนี้

              ตำนานการกำเนิดมาจากตระกูลอิสราเอล เนื่องจากตำนานกำเนิดปกาเกอะญอนั้นมีอยู่หลายแนวคิดมีนักประวัติศาสตร์ได้เข้ามาอธิบายเกี่ยวกับกะเหรี่ยงศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพม่าเป็นการศึกษาของชาวอังกฤษนั้นมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาและอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำเนิดชาวกะเหรี่ยงหรือกะยิ่น ที่มาจากแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาและชาตินิยมของชาวอังกฤษนั้น San C. Po (1928) ได้กล่าวไว้ว่าเป็นกลุ่มหนึ่งที่มาจากตระกูลอิสราเอล เป็นกลุ่มที่หลงจาก 12 ชนเผ่าของอิสราเอล (the lord tribes of Israel) ตั้งแต่สมัยเริ่มแรกของอดีตกาลในประวัติศาสตร์ของชาวยิวนั้นผู้ที่เป็นต้นตระกูลของมนุษย์มี 12 เผ่า ได้แก่ รูเบน สิเมโอนกับเลวี ยูดาห์ เศบูลุน อิสสาคาร์ ดาน กาด อาเชอร์ นัฟทาลี เบนยามิน มนัสเสห์ เอฟราอิม แต่มีกลุ่มหนึ่งที่หายไปจากประวัติศาสตร์ชาวยิว

              ชาวกะเหรี่ยงจึงคิดว่าเป็นกลุ่มหนึ่งของอิสราเอล ดังนั้นการพูดถึงประวัติศาสตร์ของความเป็นมาซึ่งเป็นตำนานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและอาณานิคมนิยมนั้นได้บอกว่าชาวกะเหรี่ยงได้อพยพมาจากบาบิโลนตั้งแต่สมัยโบราณและเข้ามาเดินทางอพยพเข้ามาเรื่อย ๆ จนมาถึงสถานที่เรียกว่า ทีบิกอบิ ซึ่งอยู่แถวมองโกเลีย ดังนั้นเมื่อเข้ามาอยู่บริเวณมองโกเลียชาวกะเหรี่ยงได้พัฒนาตัวเขียนที่เรียกว่า "ลิชอแวะ" เป็นอักษรไก่เขี่ยมีลักษณะคล้ายกับอักษรจีน มีกลุ่มกะเหรี่ยง DKBA หรือกะเหรี่ยงพุทธได้นำประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่แถวมองโกเลียนั้นมารื้อฟื้นเป็นอักษรตัวเขียนที่เรียกว่าอักษร "ลิชอแวะ" และได้ส่งเสริมการศึกษาของชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในเขตปกครองตนเอง ที่อยู่บริเวณตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด อำเภอแม่ละมาด ดังนั้นชาวกะเหรี่ยงจึงกลายเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดที่อพยพมาจากดินแดนดั้งเดิมของถิ่นกำเนิดในอิสราเอลเข้ามาทางบาบิโลน ผ่านทางประเทศจีนและลงมาทางแม่น้ำสาละวิน ตลอดสองฝั่งของแม่น้ำสาละวินมีคนอ้างว่า ชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มคนที่มาจากกลุ่มดั้งเดิมที่อาศัยอยู่แถบลุ่มน้ำสาละวินและอิระวดีที่มีอารยะธรรมเก่าแก่กว่าชาวพม่าและมีแนวคิดเกี่ยวกับภาษาศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของชาวกะเหรี่ยงของ Ronald D. Renard (1980) ได้พูดถึงความหลากหลายทางภาษาของชาวกะเหรี่ยงที่มีมากซึ่งแสดงถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่อาศัยบริเวณแถบแม่น้ำสาละวิน ดังนั้นชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ได้ย้อนความเป็นประวัติศาสตร์ของความเป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์แห่งความรอดของคริสต์ศาสนา

              ตำนานลูกพระเจ้าและลูกคนโต ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของปกาเกอะญอตั้งแต่ดั้งเดิมที่คนอื่นเรียกว่า ชาวกะเหรี่ยง แต่ชาวกะเหรี่ยงเรียกตัวเองว่าเป็นปกาเกอะญอนั้น มีนิทานปรัมปราที่พูดถึงการกำเนิดของมนุษย์มาตั้งแต่ดั้งเดิมว่า ในสมัยที่ปกาเกอะญอยังไม่เกิดบนโลกนี้ ยวา ได้ท้องที่น่องและสับน่องให้ละเอียดและโปรยออกไปในโลกมนุษย์ โปรยครั้งแรกเกิดเป็นชนชาติปกาเกอะญอ โปรยเพียงครั้งเดียว เมื่อปกาเกอะญอเริ่มพูด หลังจากนั้นยวาจึงได้โปรยให้ชนชาติอื่น ๆ ทั้งไทย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และสุดท้ายคือฝรั่ง ซึ่งยวาโปรยออกไปถึงสามครั้งกลุ่มชนชาติเหล่านี้จึงเริ่มพูด จึงทำให้มีจำนวนที่มากกว่าปกาเกอะญอ และปกาเกอะญอเป็นลูกคนโต ไทย จีน อินเดีย ญี่ปุ่นเป็นลูกคนกลาง ส่วนน้องสุดท้องเป็นชนชาติฝรั่ง เมื่อถึงเวลาที่ยวาจะกลับจึงได้เรียกลูกทุกคนให้มารับมรดก ทุกคนมาพร้อมหน้าพร้อมตากัน ยกเว้นปกาเกอะญอที่กำลังถางหญ้าในข้าวไร่ไม่มีเวลา ซึ่งยวาได้เตรียมหนังสือเงินและหนังสือทองให้ปกาเกอะญอและเตรียมหนังสือใบตาลไว้ให้เป็นมรดกแก่ฝรั่งซึ่งเป็นน้องคนสุดท้อง แต่เมื่อปกาเกอะญอไม่มารับมรดกน้องสุดท้องจึงอาสารับไว้แทน แต่เมื่อน้องสุดท้องรับไปก็ได้นำหนังสือเงินและหนังสือทองไปและเอาหนังสือใบตาลให้ปกาเกอะญอแทน ก่อนที่น้องสุดท้องจะกลับถิ่นฐานของตนได้เอาหนังสือใบตาลมาให้พี่คนโตซึ่งกำลังตั้งหน้าตั้งตาถางหญ้าอยู่ ให้น้องวางหนังสือไว้ที่ตอไม้และหลังจากเลิกงานแล้วจะไปเอา พอตกเย็นปกาเกอะญอได้ลืมเอาหนังสือใบตาลที่น้องเอามาให้นั้นที่ตอไม้ พอรุ่งเช้านึกขึ้นได้จึงไปเอา ปรากฏว่าหนังสือใบตาลนั้นถูกไก่เขี่ยเสียหายไม่สามารถอ่านได้อีกต่อไป ฝ่ายน้องสุดท้องเมื่อนำหนังสือเงินหนังสือทองกลับไปได้ศึกษาหาความรู้และพัฒนาบ้านเมืองของตนจนมีความเจริญรุ่งเรืองซึ่งตรงข้ามกับปกาเกอะญอที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ตกระกำลำบาก ไร้แผ่นดินที่อาศัยมาจนถึงทุกวันนี้เพราะหนังสือใบตาลนั้นไม่สามารถอ่านได้จึงไม่สามารถหาความรู้จากหนังสือนั้นได้ แต่น้องสุดท้องได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะนำหนังสือที่เอาไปนั้นมาคืนเพื่อช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองปกาเกอะญอให้มีความเจริญรุ่งเรืองเหมือนพวกตน (Marshall 1922 และ พรสุข เกิดสว่าง 2555 ) ดังมีบทธาที่ว่า

                        เปอะ เหม่ ดวะ เลอ ข่อ ดึ เดอ        ดอปือแหว่ แคเลอะ แคเลอะ

                        หากถือกำเนิดมาจากน่อง              ทุกคนเป็นพี่น้องกัน

                        หลิ แกว่ก่อ ชอโพ แวะ เบอ            โป่ เตอะ เซ พะ เตอ บะ เลอ

                        หนังสือใบตาลถูกไก่คุ้ยเขี่ยทับถม       อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อีกเลย

                        หลิ ทู หลิ เจ๊ะ หลิ ป่ายวา             หลิ ลอหม่า เพลาะ เลอ กอลา

                        หนังสือเงินหนังสือทองหนังสือยวา     หนังสือหายจากไป ณ. แดนฝรั่ง

                                                                  (ถาวร กัมพลกูล 2540: 169-170)

              ตำนานหนังสือ Lihtro Lixce เนื่องจากการที่ชาวกะเหรี่ยงเป็นบุตรคนโตนั้นจะต้องมีความรับผิดชอบต่อน้อง ๆ ในครอบครัวจึงต้องอาศัยการทำไร่ทำนาเพื่อให้มีข้าวกินเพื่อเลี้ยงน้อง ๆ เหล่านั้น มาวันหนึ่งพระเจ้าจะต้องกลับไปสู่สรวงสวรรค์ จึงเรียกลูกทุกคนเพื่อมอบมรดก แต่เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงซึ่งมีหน้าที่ดูแลน้อง ๆ และกำลังทำไร่ยังไม่เสร็จจึงให้น้องไปรับมรดกนั้นแทน เมื่อน้องคนอื่นได้ไปรับมรดกนั้นแทนแล้ว พระเจ้าได้ฝากหนังสือให้กับลูกคนโต ซึ่งน้องคนสุดท้องที่เป็นฝรั่งได้ถือหนังสือทองคำศักดิ์สิทธิ์เพื่อจะมอบให้กับพี่คนโตและได้วางไว้ที่ตอไม้ปลายไร่ ซึ่งในขณะที่พี่คนโตชาวกะเหรี่ยงได้ดายหญ้าอยู่ที่หัวไร่ เมื่อชาวกะเหรี่ยงกลับมาก็ดึกแล้วจึงลืมหนังสือทองคำไว้ที่ไร่ เมื่อกลับไปดูอีกครั้งก็พบแต่รอยไก่เขี่ยเพราะหนังสือนั้นถูกไฟไหม้ไปแล้ว จึงกลายเป็นต้นกำเนิดของงานต่าง ๆ ของชาวกะเหรี่ยงทั้งงานถักทอ งานจักสานที่เป็นเหมือนรอยเท้าของไก่ที่มาสาน ๆ ต่อกัน แต่หนังสือเล่มนั้นชาวกะเหรี่ยงยังเชื่อว่าน้องคนสุดท้องไม่ได้ฝากไว้แต่ได้นำติดตัวกลับไปด้วยจึงเป็นหนังสือที่หายไป ดังนั้นเมื่อมิชชันนารีได้เข้ามาทำงานในเขตหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงทำให้มิชชันนารีได้ใช้ตำนานนี้บอกเล่ากับชาวกะเหรี่ยงว่าพวกเขาได้นำหนังสือทองคำมาคืนให้ เมื่อได้หนังสือทองคำคืนจะทำให้กลายเป็นผู้ที่มีความรู้มีปัญญา มิชชันนารีชาวฝรั่งหรือที่ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าเป็นน้องคนสุดท้องของพวกตนนั้น ได้นำคัมภีร์ไบเบิ้ลและอธิบายว่าเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ที่หายไปเลยทำให้ชาวกะเหรี่ยงหลาย ๆ พื้นที่ได้เข้ามารับเอาความเชื่อและนับถือคริสต์ศาสนาและเห็นว่าเป็นหนังสือที่หายไปนั่นเอง (Marshall, 1922)

              ตำนานเป็นสิ่งที่เล่าต่อกันมาเพื่อเป็นการบ่งบอกว่าเป็นใคร ชาวปกาเกอะญอมีตำนานที่เล่าต่อกันมาที่มีความคล้ายคลึงกันเช่นเรื่องของเทาะแมป่าที่เป็นเสมือนต้นกำเนิดของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งมีความแตกต่างกันในเนื้อหาเล็กน้อยซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปกาลเวลาและบริบทแต่สิ่งที่ตำนานต้องการเน้นให้เห็นคือการมีต้นกำเนิดเดียวกันแต่อาจจะกระจัดกระจายไปตามเงื่อนไขของแต่ละกลุ่มนั่นเองและยังมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาซึ่งก็เน้นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นพี่น้องกันมีต้นกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน นอกจากตำนานที่เล่าสืบทอดต่อกันมาแล้วยังมีบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของคนกะเหรี่ยงที่แสดงให้เห็นว่ามีแหล่งที่มาหรือมีตัวตนอยู่จริงจากการบันทึกของผู้ปกครองสยาม นักเดินทางหรือมิชชันนารีนั่นเองซึ่งเคยมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันและได้ทำการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

     

Access Point
No results found.

ฤดูกาลอาหารจากไร่หมุนเวียน

"ส่องสว่างลงมาเถิดดาวบนฟ้า ส่องให้เห็นยอดดอกไม้อ่อนที่งอกใหม่พร้อมดอกไม้ป่าบานสะพรั่งไปทั่วในไร่นั้น"

ไร่หมุนเวียนเป็นแหล่งอาหารสำคัญของปกาเกอะญอ ที่ใช้กินและใช้ประโยชน์ได้อย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง

ในไร่หมุนเวียนไม่ได้มีข้าวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีพืชผักอีกหลายชนิด อาทิ ต้นอ่อนกระเพราแดง (ห่อวอ) ตะไคร้เมล็ด พริก เป็นต้น

ภาพชาวบ้านเก็บวัตถุดิบและเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ จากไร่หมุนเวียน บ้านแม่ลายเหนือ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน, บ้านแม่เหยาะคี อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย