2023-06-13 18:00:27
ผู้เข้าชม : 3720

ดาราอาง เดิมตั้งถิ่นฐานในตอนเหนือของรัฐฉาน ภายใต้อาณาจักรไตมาว จากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองทำให้ชาวดาราอางได้หลบหนีภัยสงครามมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ เดิมถูกจัดให้มีสถานะบุคคลที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งที่ดินได้ การดำรงชีพจึงเป็นไปด้วยความยากลำบากแม้จะเป็นกลุ่มคนที่มีความชำนาญในการปลูกชาพันธุ์ดีตั้งแต่ครั้งอยู่อาศัยในเมียนมา  ปัจจุบัน คนกลุ่มนี้มีการดำรงชีพที่หลากหลาย ทั้งการปลูกพืชเชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีที่ดินเป็นของตนเองแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และมีบางกลุ่มที่มีการเคลื่อนย้ายไปเป็นแรงงานรับจ้างนอกชุมชน อย่างไรก็ตาม ชาวดาราอาง ถือเป็นกลุ่มคนที่มีความโดดเด่นด้านการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสดใส มีการรำดาบและมีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมทางสังคม

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ดาราอาง
ชื่อเรียกตนเอง : ดาราอาง, ดาระอางแดง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ปะหล่อง, ว้าปะหล่อง
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : ปะหล่องทอง, ปะหล่องรูไม, ปะหล่องเงิน
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

“ดาราอาง” เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง หมายถึง คนที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูง หรือเรียก ว่า “ดาอาง” ขณะที่ชาวไตในรัฐฉานส่วนใหญ่เรียกพวกเขาว่า คุนลอย หมายถึง คนดอย หรือคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูง คนส่วนใหญ่ในเมียนมามักเรียกว่า “ปะหล่อง” ชาวดาราอางในสาธารณรัฐประชาชนจีน เรียกตนเองว่า เต๋ออาง ขณะที่กลุ่มอื่น ๆ ในประเทศจีนนั้นเรียกพวกเขาว่า ปลัง หรือปุหลัง ในประเทศไทย เริ่มแรกนั้นรู้จักดาราอางในชื่อเรียก ปะหล่อง ต่อมาเมื่อเริ่มทำการศึกษาวิจัยจึงได้ปรับมาเรียกพวกเขาว่า ดาราอาง ตามชื่อที่พวกเขาใช้เรียกตัวเอง

ดาราอาง เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน ที่อยู่ภายใต้อาณาจักรไตมาว ในช่วงพุทธศักราช 1200 ปรากฏหลักฐานว่า บรรพบุรุษชาวดาราอางอพยพมาจากเชียงรุ่ง สิบสองปันนา หรือบรรพบุรุษเคยอาศัยอยู่แถบท่าตอน รวมถึงพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฉาน เมืองมิด เมืองน้ำซันเมืองน้ำคำ ซึ่งติดต่อกับรัฐคะฉิ่น รวมถึงอาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงในเขตเมืองสี่ป้อ นอกจากนี้ ชาวดาราอางในมณฑลยูนนานของจีน อ้างว่า บรรพบุรุษมาจากเมืองน้ำซัน จึงสรุปได้ว่า ชาวดาราอางอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเมียนมา ในพื้นที่หุบเขาสูง บริเวณชายแดนจีนเชื่อมต่อรัฐคะฉิ่น การอพยพมาจากประเทศเมียนมาเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่ผ่านมา เกิดจากสาเหตุความไม่สงบภายในประเทศ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากเมียนมาได้รับอิสระจากอาณานิคมอังกฤษ รัฐชาติพันธุ์ต่างๆได้ตั้งกองกำลังของตนเองเพื่อดูแลปกป้องพื้นที่และประชาชน อีกทั้งการทำสัญญาสงบศึกของกองกำลังรัฐอิสระกับรัฐบาลทหารพม่า ในขณะนั้นทางตอนเหนือมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับสัญญาสงบศึกจึงได้ก่อตั้งกลุ่มแนวร่วมเพื่อปลดปล่อยรัฐปะหล่อง ส่งผลให้การต่อสู้เริ่มทวีความรุนเรงขึ้นอีกครั้ง ความไม่สงบภายในพื้นที่อยู่อาศัยของพวกเขาส่งผลต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากถูกบังคับใช้แรงงาน ข่มขู่ บังคับเอาเสบียงอาหาร สัตว์เลี้ยง รวมทั้งการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวดาราอาง รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ทางตอนเหนือหลายกลุ่มได้หลบหนีภัยสงครามมาทางใต้ โดยการเดินเท้าเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณชายแดนในเขตบ้านนอแล ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมชนกลุ่มนี้ถูกจัดให้เป็นอยู่ในสถานะของบุคคลที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ดาราอางจะอพยพเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2521 แต่ไม่มีสถานะบุคคล ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ รวมทั้งที่ดินได้ การดำรงชีวิตจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก ต่อมาใน พ.ศ. 2525พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จเยือนราษฎรชาวลาหู่ที่หมู่บ้านขอบด้งในพื้นที่โครงการหลวงอ่างขาง ชาวดาราอางผู้หนึ่งได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลขออนุญาตอาศัยอยู่ในประเทศไทย เป็นผลให้โปรดเกล้าฯ จัดที่อยู่ในฐานะผู้อพยพที่บ้านนอแลจนถึงปัจจุบัน

การแต่งกายของผู้หญิงชาวดาราอางนับว่ามีความโดดเด่น เนื่องจากเสื้อผ้ามีสีสดใส ทั้งการสวมใส่หน่องหว่องบริเวณสะโพกสอดคล้องกับตำนานนางหรอยเงิน นางฟ้าตามตำนาน ที่ติดกับดักนายพรานไม่สามารถบินกลับไปยังเมืองสวรรค์ได้ เนื่องจากดาราอางเป็นผู้มาอยู่อาศัยใหม่ จึงได้นำเสนออัตลักษณ์ที่โดดเด่นของตนเองอยู่เสมอ ทั้งผ่านการแต่งกาย วัฒนธรรมการแสดง การร่ายรำ การรำดาบ หรือการเข้าร่วมกับกลุ่มกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมต่าง ๆ เพื่อนำปัญหาของพวกเขาออกมานำเสนอให้คนภายนอกเข้าใจสิ่งที่ชาวดาราอางกำลังเผชิญ

จากข้อมูลเอกสาร ปรากฏข้อมูลประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวดาราอาง ออกเป็นหลายแนวทาง

โดยแนวทางแรก ระบุว่า ดาราอางเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน เอกสารบางชิ้นระบุว่า เป็นกลุ่มชนที่เคยอาศัยอยู่ภายใต้อาณาจักรไตมาว ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของไทใหญ่ในช่วงพุทธศักราช 1200 ในขณะที่เอกสารบันทึกถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวดาราอาง ระบุว่า ชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองตองเป็ง (Tawngpeng) และกระจายตัวอยู่แถบเมืองมิท เมืองน้ำซัน เมืองน้ำคำ ซึ่งอยู่ติดกับรัฐคะฉิ่น และยังมีหมู่บ้านดาราอางที่อยู่บนภูเขาสูงทางตอนเหนือของเขตปกครองเมืองสีป้อ ซึ่งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมืองตองเป็นเป็นศูนย์กลางอำนาจของชาวดาราอางที่เข้มแข็งที่สุด แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉาน แต่การปกครองภายในเมืองก็อยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าฟ้าดาราอาง

แนวทางที่สอง ในเอกสารของ Scott และ Scott and Hardiman ระบุว่า มีปรากฏในตำนวนของชาวดาราอาง ระบุว่า บรรพบุรุษเคยอาศัยอยู่ในบริเวณท่าตอนของประเทศไทยปัจจุบัน

แนวทางที่สาม ชาวดาราอางบางส่วน อ้างว่า บรรพบุรุษของชาวดาราอางอพยพมาจากเมืองเชียงรุ่งในสิบสองปันนา

นอกจากชาวดาราอางที่อาศัยอยู่พื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฉานแล้ว ยังมีชาวดาราอางอาศัยอยู่พื้นที่ของมณฑลยูนานของประเทศจีน แบ่งเป็นกลุ่มดาราอางประมาณ 2,000 คน ดาราอางเงินประมาณ 5,000 คน และดาราอางรูไมประมาณ 2,000 คน ซึ่งชาวดาราอางเชื่อว่า บรรพบุรุษได้อพยพมาจากเมืองน้ำซันประมาณ 200 ปีก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี เนื่องจากความเข้าใจว่าผู้ปกครองเรียกเก็บภาษีเท่ากับจำนวนเงินที่ถมร่องน้ำเต็ม

การเคลื่อนย้ายของชาวดาราอางที่เข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชาวดาราอางที่ยากจนหรือเพิ่งแยกครัวเรือนเพื่อตั้งครอบครัวใหม่ โดยย้ายมาจากประเทศพม่าเป็นส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองระหว่างทหารพม่า ทหารไทใหญ่ และกองกำลังว้าแดง ที่บังคับให้เด็กหนุ่มในหมู่บ้านแบกสิ่งของ หาและหาบเสบียงและอาวุธ หรือขู่บังคับเอาเสบียงของชาวดาราอาง ส่วนผู้หญิงยังถูกข่มขู่ บังคับ กระทำความรุนแรง ทำให้ชาวดาราอางต้องตกอยุ๋ในสภาวะที่ขาดความไม่มั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลให้เกิดการอพยพโยกย้ายมายังประเทศไทย

ในช่วงพ.ศ. 2521 ชาวดาราอางได้เริ่มอพยพเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก โดยการเดินเท้าเคลื่อนย้ายตามพื้นที่ชายแดนไทย ในขณะนั้นพื้นที่ชายแดนไม่มีความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่มากนัก ทำให้สามารถเดินทางข้ามพรมแดนไปมาระหว่างกันได้ จนกระทั่ง พ.ศ. 2527 ได้ปรากฏชาวดาราอางจำนวนประมาณ 2,000 คน อพยพมารวมกันที่พื้นที่ชายแดนไทย- เมียนมา บริเวณดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่บ้านนอแล ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้กับพื้นที่รับผิดชอบของโครงการหลวงดอยอ่างขางสถานะของชาวดาราอางจึงถือเป็นบุคคลอพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สาเหตุของการอพยพสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ในประเทศพม่า เมื่อประเทศอังกฤษคืนอิสรภาพ มีผลทำให้เกิดความระส่ำระสายทางการเมืองภายในประเทศเกิดการขัดแย้งและสู้รบกัน ระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติกับทหารรัฐบาลพม่าที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องความขัดแย้งทางการเมืองได้ส่งผลต่อชาวดาราอางทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในประเทศเมียนมา ชาวดาราอางมีการรวมตัวกันเป็นองค์กร ชื่อองค์กรปลดปล่อยรัฐปะหล่อง (Palaung state liberation Organization : PSLO) มีกองกำลังติดอาวุธประมาณ 500 คน องค์กรดังกล่าวเป็นพันธมิตรอยู่ในแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรหลักที่รวมเอาองค์กรต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยทั้งหมดไว้ในแต่ละครั้งที่เกิดการสู้รบ หรือปะทะกันระหว่างองค์กรปลดปล่อยรัฐปะหล่องกับทหารรัฐบาลการสู้รบส่งผลให้ชาวบ้านประสบความเดือดร้อน ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนั้นพื้นที่ที่ชาวดาราอางอาศัยอยู่ยังเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวปฏิบัติงานมวลชนพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ทหารฝ่ายรัฐบาลจะเข้ามาปฏิบัติการโจมตีเพื่อสะกัดกั้นความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติการเหล่านี้มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวดาราอางดอยลายเป็นอย่างมาก

นายคำ เหียง (จองตาล) ผู้นำการอพยพ เล่าว่า เมื่อทหารของขบวนการกู้ชาติไทใหญ่มาตั้งกองทัพใกล้หมู่บ้าน ประกอบกับทหารคอมมิวนิสต์ ก็มาบังคับให้ส่งเสบียงอาหาร เป็นเหตุให้ฝ่ายรัฐบาลพม่าส่งกำลังเข้าปราบปราม ชาวบ้านถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก โดยถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนทหารกู้ชาติและคอมมิวนิสต์ นอกจากนั้นยังเอาสัตว์เลี้ยงไปฆ่ากิน ยึดของมีค่า เผายุ้งข้าว กระทำความรุนเรงต่อผู้หญิง และบังคับผู้ชายให้ไปเป็นลูกหาบขนอาวุธ เสบียงอาหาร บางคนถูกสอบสวน ทุบตีอย่างทารุณ เพื่อบังคับให้บอกฐานที่ตั้งของทหารกู้ชาติไทยใหญ่และทหารคอมมิวนิสต์ เมื่อชาวบ้านต้องเผชิญกับความลำบากนานัปการจึงพากันอพยพหลบหนีมาอยู่รวมกันในพื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมาบริเวณดอยอ่างขางเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จเยือนราษฎรชาวลาหู่ที่หมู่บ้านขอบด้งในพื้นที่โครงการหลวงอ่างขางช่วง พ.ศ. 2525 ชาวดาราอางผู้หนึ่งเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลขออนุญาตอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลให้โปรดเกล้าฯ จัดที่อยู่อาศัยในฐานะผู้อพยพที่บ้านนอแลตั้งแต่ พ.ศ. 2526 จนกระทั่งปัจจุบัน

ดาราอาง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ปะหล่องทอง (Golden Palaung) 2) ปะหล่องรูไม (Rumai) และ 3) ปะหล่องเงิน (Silver Palaug) ซึ่งปะหล่องเงินเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน (Howard and Wattana, 2001) ชุมชนดาราอางที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่มักนิยามว่าตัวเองว่า “ดาราอางแดง” หรือ “ดาราอางซิ่นแดง” โดยจำแนกตัวเองตามสีของผ้าถุง ซึ่งมีความแตกต่างจากดาราอางอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่บ้านทุ่งกวางทอง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ที่นิยามตัวเองว่า “ดาราอางดำ” เนื่องจากใส่ผ้านุ่งสีดำ

หลังจากที่ประเทศพม่าเกิดสงครามภายในประเทศ มีการสู้รบระหว่างกลุ่มต่างๆ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอางตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารพม่า ในขณะเดียวกันก็อยู่ภายใต้อำนาจของทหารไทใหญ่ ดาราอางจึงอยู่อย่างหวาดระแวง เพราะตกเป็นที่จับจ้องของทหารทั้งสองฝ่าย หลายคนถูกฆ่าตาย เพราะถูกมองว่าเป็นไส้ศึก นอกจากนี้ลูกผู้ชายมักถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบของทหารไทใหญ่ หากลูกชายหลบหนี ทหารไทใหญ่จะตามมาฆ่าพ่อแม่แทน ส่วนผู้หญิงบางคนถูกทหารพม่าเข้ามาข่มขืนจนบางรายต้องเสียชีวิต บางครั้งทหารของทั้งสองฝ่ายเข้ามาเพื่อเอาเสบียงในชุมชน บางคนต้องหนีความตายเข้าไปนอนในป่า หลบซ่อนตัว ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ด้วยเงื่อนไขข้างต้นทำให้ชาวดาราอางตัดสินใจทอดทิ้งชุมชนของตน กลายเป็นชุมชนที่แตกสลาย หลบหนีเพื่อเอาชีวิตรอด จากดอยลาย ในตำบลเมืองนาย รัฐฉาน (เพ็ญพิศ ชงักรัมย์, 2560)

เส้นทางการอพยพเข้ามาในประเทศไทยของชาวดาราอาง แบ่งออกเป็น 3 เส้นทาง เส้นทางแรกอพยพเข้ามาเส้นทางชายแดนบ้านนอแล อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และเส้นทางที่สอง อพยพเข้ามาฝั่งชายแดนอำเภอเวียงแหง ชายแดนบ้านอรุโณทัย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว และ เส้นทางที่สาม อพยพเข้ามาฝั่งชายแดนท่าขี้เหล็ก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ส่วนมากที่อพยพเข้ามาจะใช้เส้นทางบ้านนอแล อำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก เมื่อมาถึงดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จะมาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนประเทศไทยบริเวณทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านนอแลในปัจจุบัน ในช่วงนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรบริเวณสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เมื่อทรงทราบถึงความยากลำบากจึงได้ทรงอนุญาตให้อาศัยในพื้นที่ใกล้กับหมู่บ้านนอแลในปัจจุบัน เพราะเป็นพื้นที่ถนนตัดผ่านและมีแหล่งน้ำ เพื่อให้ทางหน่วยราชการเข้ามาช่วยเหลือได้สะดวก จากนั้นทหารไทยได้เข้ามาดูแลชาวบ้าน และสร้างบ้านพัก ตลอดจนสอนหนังสือให้กับเด็กและเยาวชน แม้ว่าจะสามารถอยู่ในพื้นที่บ้านนอแลได้ แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานะบุคคล ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาการเดินทางออกนอกพื้นที่ ยังเป็นปัญหาที่ชาวดาราอางต้องเผชิญอยู่จนถึงปัจจุบัน

การดำรงชีพ

ในอดีต ชาวดาราอางมีความชำนาญในการปลูกชาพันธุ์ดี ตั้งแต่ครั้งอยู่ในเมียนมา โดยเฉพาะชาวดาราอางที่อาศัยอยู่ในเมืองตองแปง และเมืองน้ำซัน ชาที่ปลูกโดยชาวดาราอางมีคุณภาพดีจนสามารถพัฒนากลายเป็นสินค้าส่งออก นอกจากนี้พวกเขายังมีการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นเพื่อการบริโภค โดยปลูกข้าวเป็นพืชหลัก นอกจากนี้ มีถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วแปะยี งา ข้าวโพด ยาสูบ มันเทศ อ้อย ฯลฯ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ ทุกหลังคาเรือนจะเลี้ยงหมูและไก่เพื่อใช้ในพิธีกรรมเท่านั้น แม้จะมีความสามารถในการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ ซึ่งเป็นความรู้ความชำนาญที่มีมาตั้งแต่ครั้งอยู่ในประเทศเมียนมา แต่ไม่สามารถใช้ความรู้เหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ เมื่ออพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ชาวดาราอางได้ประสบปัญหาการความมั่นคงในพื้นที่ทำกิน ปัญหาการบุกรุกป่าสงวนเพื่อใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สภาพปัญหาข้างต้นนับว่ามีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และสภาพเศรษฐกิจของพวกเขา ชาวดาราอางจำนวนหนึ่งจึงยึดอาชีพรับจ้างทำไร่ชาเลี้ยงตัวเอง ในขณะที่บางกลุ่มต้องอาศัยที่ดินของชาวพื้นราบปลูกพืชผักเพื่อตเลี้ยงชีพ

อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวดาราอาง ได้มีหน่วยงานของรัฐ และองค์กรเอกชนได้ให้ความสนใจเข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวดาราอางเช่น การส่งเสริมการทอผ้า และงานหัตถกรรม แต่ทว่า การพัฒนาต่างๆ ยังเห็นผลไม่ชัดเจนมากนัก เนื่องมาจากการขาดแคลนบุคลากรที่เข้าไปส่งเสริมอาชีพอย่างต่อเนื่องประกอบกับการประสบปัญหาความไม่แน่นอนของความต้องการสินค้าในระบบตลาดตลาด ทำให้บางหมู่บ้านเริ่มหันไปให้ความสนใจในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่นบ้านปางแดง อำเภอเชียงดาวจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มมีรายได้เสริมจากการรับนักท่องเที่ยวค้างคืนในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการดำเนินการของบริษัทท่องเที่ยวร่วมกับบางครอบครัวในหมู่บ้านเท่านั้น ยังมีการจัดระบบให้รายได้กระจายอย่างทั่วถึง

ปัจจุบันชาวดาราอางมีแบบแผนในการดำเนินชีวิต 3 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบแรก ชาวดาราอางที่มีที่ดินเป็นของตนเอง แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์รับรองตามกฎหมาย เป็นกลุ่มที่สามารถจับจองหรือซื้อที่ดินทำกินได้ อีกทั้งเป็นกลุ่มที่มีกระบวนการผลิตเข้าสู่การผลิตพืชเชิง
พาณิชย์มากขึ้น

รูปแบบที่สอง ชาวดาราอางที่เป็นแรงรับจ้างในชุมชนใกล้เคียง โดยมีรถมารับไปทำงานช่วงเช้าและช่วงเย็นก็ส่งกลับ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคเกษตรที่มีความพยายามดิ้นรนในการหาที่ดินทำกินและหานายจ้างที่จะมาจ้างงาน

รูปแบบที่สาม ชาวดาราอางที่เป็นแรงงานและมีการศึกษานอกชุมชน ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กและเยาวชนที่ออกไปเป็นแรงงานรับจ้างข้างนอกหรือบางส่วนออกไปเรียนหนังสือ กลุ่มนี้เกิดจากการที่พ่อแม่ มีค่านิยมว่า ที่ดินในการเพาะปลูกมีความไม่มั่นคง การเป็นแรงงานรับจ้างก็ไม่มีความแน่นอน ผู้ปกครองจึงมีความต้องการให้ลูกหลานออกมาเรียนหนังสือหรือทำงานรับจ้างข้างนอก เพื่อหาหนทางของชีวิตที่ดีกว่าการอยู่ในชุมชน

อย่างไรก็ตาม การจำแนกรูปแบบในการดำเนินชีวิตดังกล่าวไม่ได้เป็นการจำแนกที่ชัดเจน เนื่งอจากในหนึ่งครอบครัวอาจมีการดำรงชีที่หลากลหายครอบคลุมทั้งสามรูปแบบ

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวดาราอางมีความเชื่อตามหลักศาสนาพุทธอย่างเคร่งครัด มีการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสุขธรรม ปราศจากอบายมุข ยึดถือคติธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ทุกหมู่บ้านจะมีวัดเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา หากหมู่บ้านใดไม่มีวัด สามารถไปทำบุญที่วัดใกล้หมู่บ้านได้ นอกจากนี้ทุกหลังคาเรือนจะมีหิ้งพระเพื่อเคารพบูชา เมื่อถึงวันพระหรือเทศกาลวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ เช่น วันเข้าพรรษา

วันออกพรรษา วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วันปีใหม่ และวันสงกรานต์ ชาวดาราอางจะพากันไปใส่บาตรและทำบุญที่วัด นอกจากมีการทำบุญด้วยข้าว อาหาร ดอกไม้ใส่ขันดอกแล้ว ชาวดาราอางยังมีการฟ้อนรำ ร้องเพลงบรรเลงฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ ทั้งที่วัดและลานหมู่บ้าน มีการสนับสนุนให้ลูกชายบวชเณรเพื่อเล่าเรียนธรรมะ และบวชพระ เพื่อแผ่อานิสงฆ์ให้แก่บิดามารดาอีกด้วย

นอกจากความเชื่อตามหลักศาสนาพุทธเล้ว ชาวดาราอางยังมีความเชื่อในเรื่องวิญญาณควบคู่ไปกับการนับถือพระพุทธศาสนา โดยเชื่อว่าวิญญาณ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

1) กา-เปรา คือ เป็นวิญญาณของสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์

2) กา-นำ คือ เป็นวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ ลม ฯลฯ

3) กา-ฌา คือ เป็นวิญญาณ เช่น สวน ไร่ ข้าว ฯลฯ

การเซ่นสรวงบูชาผีหรือวิญญาณ จะทำควบคู่กับพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ ในการประกอบพิธีกรรมจะมีหัวหน้าพิธีกรรม เรียกว่า “ด่าย่าน” เป็นผู้ประกอบพิธี ในหมู่บ้านของชาวดาราอางจะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่สุดของหมู่บ้าน คือ “ศาลผีเจ้าที่” หรือ “คะมูเมิ้ง” ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของผีหรือวิญญาณ ที่คอยคุ้มครองหมู่บ้าน บริเวณศาลจะอยู่เหนือหมู่บ้าน ก่อสร้างอย่างประณีต มีรั้วล้อมรอบ มีความสะอาดและเรียบร้อย

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

การแต่งงาน และการหย่าร้าง

หนุ่มสาวจะไม่นิยมแต่งงานกับคนนอกกลุ่ม เมื่อถึงเทศกาลหรือพิธีทำบุญต่างๆ หากชายหนุ่มถูกใจหญิงสาวคนใด ก็จะหาโอกาสไปเที่ยวบ้านฝ่ายหญิงในตอนกลางคืน โดยจะเป่าปี่ (เว่อ) หรือดีดซึง (ดิ้ง) เพื่อบอกกล่าวให้ฝ่ายหญิงตื่นขึ้นมาเปิดประตูรับ หากฝ่ายหญิงไม่รังเกียจจะลุกขึ้นมาเปิดประตูให้ และพากันเข้าไปในบ้าน เพื่อนั่งคุยกันที่เตาไฟ จนหนุ่มสาวเข้าใจกันและตกลงจะแต่งงานกัน จึงบอกพ่อแม่ของฝ่ายชายไปสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง ส่วนใหญ่สินสอดที่เรียกร้องจะเป็นเงินจำนวน 3-4 พันบาท ค่าใช้จ่ายในพิธีแต่งงานเป็นของฝ่ายชายทั้งหมด เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงต้องไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย

แค่ทว่า ในกรณีที่ฝ่ายชายไม่มีเงินค่าสินสอด พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายในการแต่งงานให้ทั้งหมด ในพิธีแต่งงานจะมีการเลี้ยงผีเรือน ผีปู่ย่าตายาย ในวันมัดมือ หลังจากนั้นคู่แต่งงานจะพากันไปทำบุญที่วัดเป็นการทำพิธีทางศาสนา หลังพิธีแต่งงานฝ่ายชายจะต้องไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง เป็นเวลา 3 ปี เพื่อทำงานชดใช้ค่าสินสอด จากนั้นจึงจะสามารถแยกครอบครัว หรือพาฝ่ายหญิงไปอยู่กับครอบครัว

ของตนก็ได้

ความตายและการทำศพ

หากมีผู้เสียชีวิตในหมู่บ้าน ญาติพี่น้องจะตั้งศพไว้เป็นเวลา 2 วัน ระหว่างนั้นจะมีการเลี้ยงอาหารชาวบ้านทั้งหมู่บ้านตลอดงานพิธี และมีการเลี้ยงผีเพื่อบอกกล่าวโดยด่าย่านเท่านั้น เมื่อครบกำหนด จะนำศพไปเผาที่ป่าช้า จะนิมนต์พระมาชักศพนำและทำการสวดส่งวิญญาณ

ทั้งนี้ พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกะบการตายและการทำศพของดาราอางในเมียนมาจะแตกต่างจากในประเทศไทย กล่าวคือ ในเมียนมา มีหลักปฏิบัติในการเผาศพเฉพาะผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้สูงอายุเท่านั้น หากผู้เสียชีวิตเป็นวัยรุ่นและวัยกลางคนจะทำการฝัง ในขณะที่ชาวดาราอางในประเทศไทยจะให้วิธีการเผาเพียงอย่างเดียว

การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

พิธีสำคัญที่สุดที่ชาวดาราอางต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกปี คือ การบูชาผีเจ้าที่ โดยจะกระทำปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเข้าพรรษา 1 ครั้ง และช่วงก่อนออกพรรษา 1 ครั้ง พิธีบูชาผีเจ้าที่ก่อนเข้าพรรษาเรียกว่า "เฮี้ยงกะน่ำ" มีจุดมุ่งหมายเพื่อบอกกล่าวแก่ผีเจ้าที่ หรือการย้ำแก่ผีเจ้าที่ว่าในช่วงเข้าพรรษา จำไม่มีพิธีแต่งงานเกิดขึ้น จากนั้นจึงทำพิธี "กะปี๊ สะเมิง" หรือ ปิดประตูศาลเจ้าที่ เมื่อใกล้ออกพรรษา ชาวบ้านจะทำพิธี "แฮวะ ออกวา" คือ บูชาผีเจ้าที่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการเปิดประตูศาลผีเจ้าที่ หรือ "วะ สะเมิง" เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าช่วงเวลาที่ชาวบ้านจะมีการแต่งงานกันมาถึงแล้วและในพิธีแต่งงานนี้จะมีการเชื้อเชิญผีเจ้าที่ออกไปรับเครื่องเซ่นบูชาด้วย ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนจะต้องมาในพิธีนี้ โดยนำไก่ต้มสับเป็นชิ้นนำไปรวมกันที่ศาลเจ้าที่ จากนั้นผู้นำในการทำพิธีกรรมจะเป็นผู้บอกกล่าวแก่ผีเจ้าที่ต่อไป

Howard, Micheal and Wattana Wattanapun. (2001). The Paluang in Northern Thailand. Chiang Mai: Silkwoem Book.

Scott, Jame George. (1932). Burma and Beyond. London: Grayson & Girason.

กมลวรรณ ชื่นชูใจ. (2551). “การจับกุม “ชาวเขา” บ้านปางแดง.” รวมบทความที่ได้รับรางวัล วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ สำหรับวิทยานิพนธ์เพื่อคนจน.สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย. (หน้า133-160).

เกศินี ศรีรัตน์. (2554). “ผ้ากับวิถีชีวิตปะหล่องกับศรัทธาในศาสนาพุทธของชาวปะหล่องบ้านนอแล อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่”. มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่.

ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะและคณะ. (2555). ปริศนาวงศาคณาญาติ “ลัวะ”. กรุงเทพ: ศูนย์มานุยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ถาวร ฟูเฟื่อง. (2543). ชาวเขา ตำนานชนเผ่าต่างวัฒนธรรม. (ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์)

นนทวรรณ แสนไพร. (2554). “การเคลื่อนย้าย การตั้งถิ่นฐาน และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจของชาวดาระอั้งในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่.” วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา ภูมิศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2493). ๓๐ ชาติในเชียงราย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม.

เพ็ญพิศ ชงักรัมย์. (2560). “จินตนาการชุมชนของชาวดาราอางภายใต้บริบทรัฐชาติไทย.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร. (2539). เสียงเพรียกจากชาติพันธุ์. เอกสารศูนย์ชาติพันธุ์และการพัฒนา ชุด กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ลำดับที่ 2 . สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

วาสนา ละอองปลิว. (2546). “ความเป็นชายขอบและการสร้างพื้นที่ทางสังคมของคนพลัดถิ่น: กรณีศึกษาชาวดาระอั้งในอำเภอเชียงดาว.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชาวไทยภูเขา. (2547). ชนเผ่าในประเทศไทย ดาราอั้ง (ปะหล่อง). http://www.openbase.in.th/node/3451 (สืบค้นวันที่ 13 มิถุนายน 2561).

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์. (2544). “กลยุทธ์ในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนตั้งถิ่นฐานใหม่: ท่ามกลางบริบทของการปิดล้อมพื้นที่ป่า.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของขาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.) (2561). ชนเผ่าดาราอาง(Dara-ang/Ta’ang). http://impect.or.th (สืบค้นวันที่ 13 มิถุนายน 2561).

สุกุณี ณัฐพูลวัฒน์. (2545). ดาระอั้ง: คนชายขอบสองแผ่นดิน. วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา, 21(1), 97-123.

สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และปิยนันท์ ทองคำสุข. (2560). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย: ดาระอาง (ปะหล่อง). กรุงเทพฯ: เอกพิมพ์ไทย

สุจริตลักษณ์ ดีผดุง. (2551). ปะหล่อง. วารสารภาษาและวัฒนธรรม. ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน).หน้า 99-112.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว