กลุ่มชาติพันธุ์ : ดาราอาง

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ดาราอาง
  • ชื่อเรียกตนเอง : ดาระอั้ง, ดาระอาง, ดาละอั้ง
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ปะหล่อง, ว้าปะหล่อง
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ภาษาพูดของชาวดาราอางอยู่ในกลุ่มภาษาปะหล่องอิค (Palaungic) ซึ่งเป็นภาษาย่อยในตระกูลมอญ-เขมร (Mon-Khmer) โดยเป็นภาษาสายออสโตร-เอเชียติค (Austro-Asiatic) ไม่มีภาษาเขียนของตนเอง ใช้ภาษาไทใหญ่ ไทย หรือพม่า
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              ดาราอาง (Dara-ang) หรือที่เรียกตนเองสั้น ๆ ว่า ดาอาง (Ta-ang) คำว่าดาราอาง มีความหมายว่า คนที่อาศัยอยู่บนหุบผาสูงชันบนภูเขาที่สูงหนาว และแปลแต่ละคำได้ดังนี้ ดา มีความหมายว่า บรรพบุรุษ / ปู่ ตา / ผู้ชาย ส่วนคำว่า รา นั้น มีความหมายว่า กิ่ง / ก้าน / สาขา และคำว่า อาง มีความหมายว่า ภูเขาสูง / ผาสูง / พื้นที่ราด ชัน / เหวลึก ส่วนคำว่า ดาอาง นั้นหมายถึง เจ้าแห่งภูผา หรือ เจ้าแห่งเวทย์   โดยที่ประชุมเครือข่ายดาราอางแห่งประเทศไทยมีตัวแทนจากชุมชนดาราอางทั้งหมด 11 ชุมชน มีมติร่วมกันในปี พ.ศ.2547 ว่าจะใช้คำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเองว่า “ดาราอาง”

              ดาราอางเป็นที่รู้จักหรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ปะหล่อง” (Palaung) หรือ (ปอ หล่อง มาจากคนฉาน และ ปู่หลง มาจากคนจีน หมายถึง บรรพบุรุษล่องมาตามสายน้ำบนภูเขาที่สูงหนาว) หรือ “ดาระอั้ง”, “ดาราอาง”, “ตะอาง” (Ta - ang) ชาวพม่าเรียกว่า "ปะลวง" และไทยใหญ่บางกลุ่มก็ใช้คำว่ากนลอย (Kunloi) หรือ คุนลอย ซึ่งมีความหมายว่า คนดอย คนภูเขา เป็นคำที่ชาวรัฐฉานใช้เรียกแทนคำว่าดาราอาง ส่วนชาวจีนนั้นเรียกดาราอางว่า หลง คนมังกรหรือ ลูกหลานของกษัตริย์แห่งพระอาทิตย์ (King of the Sun) เลือกที่จะอาศัยอยู่บนที่สูงอากาศหนาวเย็น เป็นชนเผ่าที่รักความสงบ และปลูกชา จนเป็นที่เลื่องลือ

    ชื่อเรียกตนเอง  

              ดาระอั้ง เป็นคำผสม คือมาจากคำว่า “ดา” หมายถึง คน และ “ระอั้ง” หรือ ดืออั้ง หมายถึง “ภูเขา” โดยความหมายคือ คนที่อยู่บนดอย (สกุณี ณัฐพูลวัฒนณ์, 2545: 22)   สกุณี (2545) อธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่า “ปะหล่อง” (Palaung) ซึ่งเป็นชื่อชาวพม่าเรียกกลุ่มดาระอาง มีนัยถึง “กลุ่มคนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ” และเป็นชื่อที่ไม่มีความหมายสำหรับดาระอาง  

              ดาละอั้ง หรือ “ตะอ้าง (Ta-ang) ซึ่งเรียกตนเองเพี้ยนตามท้องถิ่นว่า “ลาอาง” หรือ “ราอาง”  

              เต๋ออาง (De’ang nationality) เป็นชื่อเรียกตนเองที่เป็นทางการในประเทศจีน  

              รูไม (Rumai) ปะเลหรือรูจิง (Pale or Rujing) และตะอาง (Ta-ang) เป็นชื่อเรียกในกลุ่มตนเอง โดยแยกความแตกต่างทางภาษา ระหว่างชาวปะหล่อง 3 กลุ่มในประเทศพม่า  สุกณี (2545) อธิบายว่า ส่วนชื่ออื่น ๆ ที่มีการเรียกในชื่อ รูไม (Rumai) ดะอาง (Ta-ang) เบิงลอง (Benglong) กุนลอย (Kunloi) ดิอาง (Di-ang) ตะอาง (Ta-ang) หรือ ปะเล (Pale) และอื่น ๆ นั้น เป็นการแยกเพื่อใช้ในการศึกษาทางภาษาศาสตร์ 

              “ดาระอางแดง” เป็นชื่อเรียกตนเองของชาวดาระอาง ที่บ้านนอแล ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 

    ชื่อที่เรียกโดยคนอื่น  

              ดาระอาง หรือ ดาระอางแดง (Dara-ang or Red Dara-ang) เป็นชื่อเรียกของนักวิชาการและเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในประเทศไทย (สุจริตลักษณ์ ดีผดุง, 2560: 9) 

              ปะหล่องหรือว้าปะหล่อง เป็นชื่อที่ชาวไทใหญ่ และชาวพม่าใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ปะหล่องและเรียกภาษาที่พูดโดยชาวปะหล่อง (สุจริตลักษณ์ ดีผดุง, 2560: 23) 

              ชื่อ “ดาราอาง เป็นที่ใช้ในเอกสารสารานุกรมชาติพันธุ์ในประเทศไทย ดาระอาง (ปะหล่อง) เป็นชื่อตามที่ผู้เขียนคือ สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และปิยนันท์ ทองคำชุม (2560)ใช้ในงานศึกษา ส่วนคำว่า ดาระอั้ง เป็นชื่อของนักวิชาการใช้ในการเรียกและศึกษากลุ่มนี้ และคำว่า “ปะหล่อง” เป็นคำนิยามเรียกโดยเจ้าหน้าที่และหน่วยงานฝ่ายปกครองของรัฐไทย  ในงานสุจริตลักษณ์และปิยนันท์ (2560) ได้อธิบายอย่างละเอียดในชื่อ “ดาระอาง” หรือ ดาระอั้ง เป็นชื่อที่มักจะรู้จักโดยทั่วไปในชื่อ “ปะหล่อง หรือ ว้าปะหล่อง” ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกโดยชาวไทใหญ่และคนพม่า ส่วนคนไทยก็จะเรียกปะหล่องตามชาวไทใหญ่ แต่ชาวจีนจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ปลัง” “ปุลัง” หรือ “ตะอัง” ส่วนนักวิชาการตะวันตกจะเรียกกลุ่มนี้ในชื่อเทียบอังกฤษว่า “Palaung” 

              ปะลวง หรือ “ผาหลวง” (Palaungs) เป็นชื่อที่ชาวพม่าเรียก  

              “คุณลอย” (Kumloi-คนดอย) เป็นชื่อที่ชาวไทใหญ่เรียก  

              ดาละอั้ง เป็นคำที่พบจากหนังสือพิมพ์และงานวิชาการบางส่วน (เนชั่น 4(20-26 ตุลาคม 2538): 44) (ไพฑูร พรหมวิจิตร 2539: 70)  

              ดาระอั้งทอง (Golden Palaung) เป็นกลุ่มที่ Jame Scott (1932) เรียกว่า “ปะหล่อง”

              ในงานของ Scott (1932) ได้กล่าวถึงกลุ่มคนที่ใช้ภาษาปะหล่องอิคในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฉานว่า มี 2 กลุ่ม คือ ปะหล่อง (Palaung) และ Pale สังเกตจากการแต่งกายและภาษาที่ใช้ และสังเกตว่าปะหล่องนั้นมักอาศัยอยู่บนที่สูง ปลูกชาเป็นหลัก ส่วน Pale อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่ำกว่า ปลูกข้าวเป็นหลัก ในเอกสารเรื่องปะหล่อง ในวารสาร Bethany  World Prayer Center (1997) ระบุดาระอั้งที่พบในพื้นที่ตะวันออกฉียงเหนือของรัฐฉาน คือ ดาระอั้งรูไม (Rumai) และดาระอั้งทอง (Golden Palaung) และกลุ่มดาระอั้งทองนี้คือกลุ่มที่ Scott เรียกว่า ปะหล่อง (Palaung) (วาสนา ละอองปลิว, 2546: 23) 

              ในตำนานกำเนิดชนเผ่าดาราอาง จาก Gazzetteer of Upper Burma and the Shan States (1900) ที่ศึกษาสรุปโดย สกุณี ณัฐพูลวัฒน์ (2544: 23) สรุปว่า ดาราอางหรือดาระอั้ง “เป็นลูกหลานของกษัตริย์แห่งพระอาทิตย์อุทัย (King of the Sun) เลือกที่จะอยู่บนที่สูง อากาศหนาวเย็นในแถบเมืองน้ำซัน บริเวณตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศพม่า ต่อมาลูกหลานได้เติบโตแยกย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานที่อื่นในบริเวณทางใต้ของรัฐฉานในเมืองเฉียงตุง” (สุจริตลักษณ์ ดีผดุง, 2560: 5) 

              ปะหล่อง (Palaung) เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ปะหล่อง อาศัยอยู่ในเขตที่ติดต่อกับ 3 ประเทศ คือ ไทย พม่า และจีน เป็นกลุ่มภาษาสาขาปะหล่องอิค (Palaungic branch) ของกลุ่มมอญ-เขมร ซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (สกุณี ณัฐพลวัฒน์, 2544 อ้างใน วาสนา ละอองปลิว 2546: 20) 

           ปะหล่อง จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค มีจำนวนประชากรประมาณ 1 ล้านคน ตั้งถิ่นฐานอยู่หนาแน่นบริเวณเทือกเขาทางทิศตะวันตกฉียงเหนือของรัฐฉาน ประเทศพม่า บริเวณเมืองตองแปง (น้ำซัน) เมืองสีป้อ เมืองมีตและเมืองเชียงตุง นอกจากนี้ยังกระจายอยู่รัฐคะฉิ่น ปะหล่องได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและภาษาจากไทใหญ่ อพยพเข้าสู่ประเทศไทยราว พ.ศ. 2526 เข้ามาตั้งบ้านเรือนบริเวณดอยอ่างขาง หมู่บ้านนอแล อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ (ถาวร ฟูเฟื่อง, 2543: 111) 

  • อื่น ๆ :

              

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย ผศ. ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ

    บรรณานุกรม

              เพ็ญพิศ ชงักรัมย์. 2560. จินตนาการชุมชนของชาวดาราอางภายใต้บริบทรัฐชาติไทย.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

              สกุณี ณัฐพูลวัฒน์. 2544. “กลยุทธ์ในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนตั้งถิ่นฐานใหม่: ท่ามกลางบริบทของการปิดล้อมพื้นที่ป่า.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

              สุจริตลักษณ์ ดีผดุง. 2551. ปะหล่อง. วารสารภาษาและวัฒนธรรม. ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน).  หน้า 99-112.

              Howard, Micheal and Wattana Wattanapun. 2001. The Paluang in Northern Thailand. Chiang Mai: Silkwoem Book.

              ศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชาวไทยภูเขา. 2547. ชนเผ่าในประเทศไทย ดาราอั้ง (ปะหล่อง). http://www.openbase.in.th/node/3451 (สืบค้นวันที่ 13 มิถุนายน 2561). 

    เอกสารอ้างอิงอื่น ๆ 

              กมลวรรณ ชื่นชูใจ. 2551. “การจับกุม “ชาวเขา” บ้านปางแดง.” รวมบทความที่ได้รับรางวัล วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ สำหรับวิทยานิพนธ์เพื่อคนจน.สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย. (หน้า133-160).

              เกศินี ศรีรัตน์. 2554. “ผ้ากับวิถีชีวิตปะหล่องกับศรัทธาในศาสนาพุทธของชาวปะหล่องบ้านนอแล อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่” มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่.

              นนทวรรณ แสนไพร. 2554. “การเคลื่อนย้าย การตั้งถิ่นฐาน และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจของชาวดาระอั้งในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่.” วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา ภูมิศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

              บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. 2493. ๓๐ ชาติในเชียงราย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม.

              วาสนา ละอองปลิว. 2546. “ความเป็นชายขอบและการสร้างพื้นที่ทางสังคมของคนพลัดถิ่น: กรณีศึกษาชาวดาระอั้งในอำเภอเชียงดาว.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

              สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของขาวไทยภูเขาในประเทศไทย  (ศ.ว.ท.) 2561. ชนเผ่าดาราอาง(Dara-ang/Ta’ang) http://impect.or.th (สืบค้นวันที่ 13 มิถุนายน 2561).

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              ดาราอางแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือปะหล่องทอง (Golden Palaung) ปะหล่องรูไม (Rumai) และปะหล่องเงิน (Silver Palaug) ซึ่งปะหล่องเงินเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ ในประเทศไทยในปัจจุบัน (Howard and Wattana, 2001) ชุมชนดาราอางที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่มักนิยามว่าตัวเองว่า “ดาราอางแดง” หรือ “ดาราอางซิ่นแดง” โดยจำแนกตัวเองตามสีของผ้าถุง ซึ่งมีความแตกต่างจากดาราอางอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่บ้านทุ่งกวางทอง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะนิยามตัวเองว่า“ดาราอางดำ” เนื่องจากใส่ผ้านุ่งสีดำ

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอาง :

              หลังจากที่ประเทศพม่าเกิดสงครามภายในประเทศ มีการสู้รบระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอางตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารพม่า ในขณะเดียวกันก็อยู่ภายใต้อำนาจของทหารไทใหญ่ด้วย ดาราอางอยู่อย่างหวาดระแวง เพราะตกเป็นที่จับจ้องของทหารทั้งสองฝ่าย ดาราอางหลายคนถูกฆ่าตาย เพราะถูกมองว่าเป็นไส้ศึก นอกจากนั้นลูกผู้ชายมักถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบของทหารไทใหญ่ หากลูกชายหนี ทหารไทใหญ่ก็จะตามมาฆ่าพ่อแม่แทน ส่วนผู้หญิงบางคนถูกทหารพม่าเข้ามาข่มขืนจนบางรายต้องเสียชีวิต บางครั้งทหารของทั้งสองฝ่ายเข้ามาเพื่อเอาเสบียงในชุมชน บางคนต้องหนีความตายเข้าไปนอนในป่า หลบซ่อนตัว ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เพราะเหตุนี้เองที่ทำ ให้ชาวดาราอางตัดสินใจทอดทิ้งชุมชนของตน กลายเป็นชุมชนที่แตกสลาย ต่างคนต่างหนีเพื่อเอาชีวิตรอด ส่วนใหญ่จะหนีมาจากดอยลาย ในตำบลเมืองนาย รัฐฉาน (เพ็ญพิศ ชงักรัมย์, 2560)

              การอพยพเข้ามาในประเทศไทย นอกจากชาวดาราอางจะอพยพเข้ามาเส้นทางชายแดนบ้านนอแล อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วยังพบว่า บางส่วนอพยพเข้ามาฝั่งชายแดนอำเภอเวียงแหง ชายแดนบ้านอรุโณทัย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว และชายแดนท่าขี้เหล็ก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

              ส่วนมากที่อพยพเข้ามาจะใช้เส้นทางบ้านนอแล อำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหลัก เมื่อมาถึงเขตดอยอ่างขาง อำเภอฝางก็จะมาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนประเทศไทยบริเวณทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านนอแลในปัจจุบัน  ในช่วงนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จทรงมาเยี่ยมเยียนราษฎรบริเวณสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เมื่อทรงทราบถึงความยากลำบากจึงได้ทรงอนุญาตให้อาศัยในพื้นที่ใกล้กับหมู่บ้านนอแลในปัจจุบัน เพราะเป็นพื้นที่ถนนตัดผ่านและมีแหล่งน้ำ เพื่อให้ทางหน่วยราชการเข้ามาช่วยเหลือได้สะดวก จากนั้น ทหารไทยได้เข้ามาดูแลชาวบ้าน และสร้างบ้านพัก ตลอดจนสอนหนังสือให้กับเด็กและเยาวชน ถึงแม้จะสามารถอยู่ในพื้นที่บ้านนอแลได้ แต่ในเรื่องสิทธิพลเมือง สถานะบุคคลปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาการเดินทางออกนอกพื้นที่ที่ก็ยังเป็นปัญหาที่ชาวดาราอางต้องเผชิญอยู่จนถึงปัจจุบัน 

     

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอาง :

    อัตลักษณ์

              จุดสังเกตที่เป็นตัวบ่งบอกว่าเป็นดาราอางกลุ่มใด ดูจากเครื่องแต่งกายของผู้หญิง ซึ่งประกอบด้วยเสื้อผ่าหน้า แขนกระบอก เอวลอย สีพื้นสดใส ส่วนใหญ่มักเป็นสีฟ้า สีน้ำเงิน สีเขียวใบไม้ ตกแต่งสาบเสื้อด้านหน้าด้วยแถบผ้าสีแดง สวมผ้าซิ่นที่ทอขึ้นเอง สีแดงสลับลายริ้วขาวเล็ก ๆ ขวางลำตัวความยาวจรดเท้า โพกศรีษะด้วยผ้าผืนยาว ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ผ้าขนหนูซึ่งซื้อจากตลาดพื้นราบ ผ้าโพกศีรษะของผู้หญิงจะโพกโดยใช้ผ้าพาดไว้ใต้มวยผมด้านหลังแล้วทบมาซ้อนกันด้านหน้า ลักษณะที่โดดเด่นคือ การสวมที่เอวด้วยวงหวายลงรักแกะลายหรือใช้เส้นหวายเล็ก ๆ ย้อมสีถักเป็นลาย บางคนก็ใช้โลหะสีเงินลักษณะเหมือนแผ่นสังกะสี นำมาตัดเป็นแถบยาว ตอกลายและขดเป็นวง สวมใส่ปนกัน วงสวมเอวเหล่านี้ ดาราอางเรียกว่า “หน่องว่อง” ทั้งเด็ก สาว คนชราจะสวมหน่องว่องตลอดเวลาตามความเชื่อว่า คือ สัญลักษณ์ของการเป็นลูกหลานนางฟ้า

    ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอาง :

              แต่เดิมเมื่อครั้งอยู่ในเมียนมาร์ จะตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านบนสันเขา การอยู่ร่วมกันในบ้านแต่ละหลัง ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแบบครอบครัวขยาย ซึ่งจะเห็นได้จากขนาดบ้านแต่ละหลังมักมีขนาดใหญ่เท่าที่พบจะมีจำนวนเพียง 2-3 ครอบครัวเท่านั้น ที่อยู่รวมในบ้านหลังเดียวกัน พบการอยู่รวมกันของครอบครัวเดี่ยวหลาย ๆ ครอบครัวในบ้านหลังเดียวอีกด้วย บางหลังคาเรือนอยู่รวมกันถึง 20 ครอบครัว แต่ละครอบครัวอาจจะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติหรือไม่ก็ได้ หากสมัครใจรักใคร่สนิทสนม และปรารถนาจะอยู่รวมบ้านเดียวกันก็จะตกลงกัน และช่วยกันสร้างบ้านหลังยาวจำนวนห้องเท่ากับจำนวนครอบครัวที่จะอยู่ร่วมกัน เมื่อเสร็จแล้ว แต่ละครอบครัวจะสร้างเตาไฟขึ้นภายในห้องของตน เพื่อประกอบอาหารและให้ความอบอุ่น กฎของการอยู่ร่วมกันใน “บ้านรวม” เช่นนี้คือ ทุกครอบครัวต้องปรองดองและเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโสของบ้าน ลักษณะครอบครัวของชาวดาราอางมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย หากในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปเป็น ครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น 

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอาง :

              การแต่งกายของชนเผ่าพื้นเมืองดาราอางนั้น มีความโดดเด่นไม่แพ้ชนเผ่าพื้นเมืองอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่บนภูเขาที่หนาว และสูงชัน สีสันและลวดลายการแต่งจะเน้นอยู่ 3 สีเป็นหลัก ประกอบไปด้วย 

              1) สีแดง หมายถึงหรือแทนสัญลักษณ์ ซี-แง (พระอาทิตย์) และ มา-อา-ฆราย (มังกร) เป็นบิดา

              2) สีขาว หมายถึงหรือแทนสัญญาลักษณ์ คูน-นา-ฆา (นางพญานาค) นา-บอห (ความบริสุทธิ์) และหนาง ลอย งึอน เป็นมารดา

              3) สีดำ หมายถึงหรือแทนสัญญาลักษณ์ อาว-บอห (มีมลทิน) การตัดขาดจาก เมิง-ฆาง-ราว (สรวงสวรรค์)

              ลักษณะการแต่งกายที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดถึงเอกลักษณ์ของเผ่า คือ กางเกงของชาวดาราอางเรียกว่า "กางเกงเซียม" ทำจากผ้าฝ้ายสีดำหรือน้ำเงิน ลักษณะคล้ายกับกางเกงเล หรือ กางเกงไทยใหญ่ โดยเวลาสวมใส่จะทบให้กระชับกับลำตัว แล้วใช้เชือกหรือเข็มขัดรัดให้แน่น ผู้ชายจะสวมกางเกงเซียม ทั้งในชีวิตประจำวันและเมื่อมีงานฉลองต่าง ๆ ถ้าเป็นเด็กวัยรุ่นชายจะชอบรัดเข็มขัดโดยปล่อยชายเข็มขัดให้ห้อยลงมาเป็นแฟชั่นฮิตมากในชุมชน

              การตกแต่งร่างกายซึ่งเป็นที่นิยมกันทั้งในกลุ่มหญิงและชาย ทั้งยังเป็นเครื่องแสดงฐานะอีกอย่างหนึ่งคือ การเลี่ยมฟันด้วยโลหะคล้ายทองทั้งปาก และประดับด้วยพลอยหลากสีซึ่งเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่ครั้งอยู่ในเมียนมาร์

              ปัจจุบันลักษณะการแต่งกายเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถหาลักษณะที่บ่งบอกเอกลักษณ์ได้ ทั้งเด็ก หนุ่มและชายชรา ล้วนแต่งกายแบบคนพื้นราบมีเพียงผู้เฒ่าบางคนเท่านั้น ที่ยังคงสูบยาด้อยกล้องยาสูบ ขนาดประมาณ 1 ฟุต ทำจากไม้แกะสลักเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นดาราอางแตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ ในประเทศไทย

              เครื่องแต่งกายของผู้หญิง ซึ่งประกอบด้วยเสื้อผ่าหน้า แขนกระบอก เอวลอย สีพื้นสดใส ส่วนใหญ่มักเป็นสีฟ้า สีน้ำเงิน สีเขียวใบไม้ ตกแต่งสาบเสื้อด้านหน้าด้วยแถบผ้าสีแดง สวมผ้าซิ่นที่ทอขึ้นเอง สีแดงสลับลายริ้วขาวเล็ก ๆ ขวางลำตัวความยาวจรดเท้า โพกศรีษะด้วยผ้าผืนยาว ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ผ้าขนหนูซึ่งซื้อจากตลาดพื้นราบ ผ้าโพกศีรษะของผู้หญิงจะโพกโดยใช้ผ้าพาดไว้ใต้มวยผมด้านหลังแล้วทบมาซ้อนกันด้านหน้า ลักษณะที่โดดเด่นคือ การสวมที่เอวด้วยวงหวายลงรักแกะลายหรือใช้เส้นหวายเล็ก ๆ ย้อมสีถักเป็นลาย บางคนก็ใช้โลหะสีเงินลักษณะเหมือนแผ่นสังกะสี นำมาตัดเป็นแถบยาว ตอกลายและขดเป็นวง สวมใส่ปนกัน วงสวมเอวเหล่านี้ ดาราอางเรียกว่า “หน่องว่อง” ทั้งเด็ก สาว คนชราจะสวมหน่องว่องตลอดเวลาตามความเชื่อว่า คือ สัญลักษณ์ของการเป็นลูกหลานนางฟ้า

              แม้ในประเทศไทยปัจจุบันก็ยังคงมีความนิยมเช่นนี้ปรากฏให้เห็น มีผู้สันนิษฐานว่า แต่เดิมหน่องว่องของดาราอางทำด้วยเงินแท้ ๆ และเป็นเครื่องแสดงฐานะของผู้สวมใส่ด้วย ต่อมาเมื่อต้องเผชิญกับสงครามและการอพยพโยกย้าย ทำให้ถูกปล้นและแย่งชิงอยู่เนื่อง ๆ จนในที่สุดจึงไม่เหลือหน่องว่องที่เป็นเงินแท้ ๆ ให้เห็นในชุมชนดาราอางในไทย

              อย่างไรก็ตาม ในชีวิตประจำวัน การทำไร่ทำนา หรือออกไปทำงานรับจ้างนั้น ชาวดาราอางส่วนใหญ่สวมใส่เสื้อผ้าตามสมัยนิยม หรือตามความคล่องตัวในการทำงาน หรือสวมใส่ไม่เต็มรูปแบบ  เช่น การสวมใส่ซิ่นดาราอางกับเสื้อยืดแบบสมัยนิยม หรือสวมซิ่นดาราอางกับเสื้อแขายาว โดยส่วนใหญ่จะสวมใส่เสื้อผ้าตามอัตลักษณ์ชาติพันธุ์เมื่อต้องการแสดงออกถึงอัตลักษ์ งานพิธีสำคัญ งานบุญประเพณีต่าง ๆ หรือเื่อการท่องเที่ยว  หากแต่พบว่า  ในกลุ่มผู้สูงอายุบางหมู่บ้าน ยังคงสวมใส่เสื้อผ้าตามอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในทุกช่วงของชีวิตประจำวัน