2023-06-17 11:46:43
ผู้เข้าชม : 1911

เยอ มีถิ่นฐานดั้งเดิมบริเวณตอนเหนือของประเทศอินเดียก่อนจะอพยพย้ายถิ่นฐานมายังทิศใต้ของประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานในจังหวัดศรีษะเกษ ส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการทำไร่ ทำนา มีเพียงส่วนน้อยที่มีการค้าขาย รับราชการ หรือช่างฝีมือ ส่วนภูมิปัญญาความรู้ยังคงมีการรักษาโรคด้วยการเป่า และใช้หมอสมุนไพรเป็นหลัก ชาวเยอมีความเชื่อเรื่องผี ผ่านพิธีกรรมไหว้ศาลปู่ตาควบคู่กับการนับถือพระพุทธศาสนา  นอกจากนี้วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์เยอยังผูกโยงกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งเป็นความเชื่อที่มุ่งสร้างขวัญกำลังใจในพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีมงคลสมรส พิธีบวช เป็นต้น 

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : เยอ
ชื่อเรียกตนเอง : เยอ
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : กวยเยอ
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : เยอ
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

ชาติพันธุ์เยอเป็นชนกลุ่มน้อยสาขาหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์กวย กุย หรือส่วย นิยมเรียกชื่อตนเองว่า “กูยเยอ (Kui Nyeu)” คนอื่นเรียกชาติพันธุ์กลุ่มนี้ว่า “เยอ” หรือ “กูยเยอ” เช่นกัน

กลุ่มชาติพันธุ์กูยเป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลมอญ-เขมร ที่ปัจจุบันทางการลาวเรียกว่าลาวเทิง ซึ่งแบ่งสาขาแยกย่อยไปหลายกลุ่ม ในไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์บรู กลุ่มชาติพันธุ์โส้ กลุ่มชาติพันธุ์ซุย (กูย) สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์เยอถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์กูย กลุ่มชาติพันธุ์เยอเป็นกลุ่มชนที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน มีการเดินทางและย้ายถิ่นฐานหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากประสบปัญหาด้านต่างๆ ทั้งด้านการเมือง ภัยธรรมชาติ โรคระบาด และการแสวงหาที่ทำกิน จากประวัติศาสตร์ช่วง 3,000 ปีก่อนหน้า กลุ่มชาติพันธุ์เยอเคยอาศัยอยู่บริเวณทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ต่อมาอพยพมายังทิศใต้ของประเทศพม่า ภาคใต้ของของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 กลุ่มชาติพันธุ์กูยเคยมีสถานะเป็นรัฐอิสระ มีอาณาจักรเป็นของตนเองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครอง อาญาจักรอยู่บริเวณจังหวัดกำปงธมของประเทศกัมพูชา ต่อมาเมื่อเขมรเข้ายึดอาณาจักรกลุ่มชาติพันธุ์กูย ชาวกูยจึงอพยพมายังภาคใต้ของของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชาวกูยอาศัยอยู่ในประเทศลาวอย่าสงบ สำหรับการย้ายถิ่นฐานครั้งสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์เยอเกิดขึ้นเมื่อรัชสมัยของเจ้าศรีสมุทรพุทธางกูร พระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองนครจำปาศักดิ์ ชาวเยอถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานอย่างกดขี่ ตลอดจนเกิดภัยพิบัติและโรคระบาดในประเทศลาว ชาวกูยจึงต้องอพยพข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งตะวันตกในแถบเทือกเขาดงรัก และในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ และมาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษส่วนชาวเยออีกกลุ่มที่มาจากจากเมืองคงซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของหลวงพระบาง ชาวเยอกลุ่มนี้ล่องเรือลงมาตามแม่น้ำโขงเข้าสู่ปากแม่น้ำมูล เขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน เรื่อยมาจนถึงปากห้วยสำราญ เขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ชาวเยอได้ตั้งถิ่นฐานปะปนอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์เขมรและลาว ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์เยอเกือบทั้งหมดตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม

ชาติพันธุ์เยอนั้นมีเอกลักษณ์ทางด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่เฉพาะของตนเอง อาทิ การมีความรักสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีการทำศพ เป็นต้น แต่เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์เยอได้เข้ามาอยู่อาศัยในจังหวัดศรีสะเกษ ก่อให้เกิดการผสมผสานทางด้านชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เยอเข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์พื้นถิ่นอื่นๆ อาทิ ลาว เขมร ส่วย เป็นต้น ส่งผลให้ปัจจุบันวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์เยอเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยรอบ เช่น ภาษาเยอที่ใช้สนทนาในชุมชมชาวเยอแต่เดิมมีความจำกัดด้านคำศัพท์จึงได้ถูกผสมด้วยภาษาลาว ภาษาเขมร และภาษาไทยกลาง

ชาติพันธุ์เยอเป็นชนกลุ่มน้อยสาขาหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่ากวยหรือกุยหรือส่วย ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์เยอเกือบทั้งหมดตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม กลุ่มชาติพันธ์ที่เรียกตนเองว่ากูย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในแถบบริเวณเทือกเขาพนมดงเร็ก ตั้งแต่เขตจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ไปจนถึงแขวงอัตปือ จำปาสัก และสารวันในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่เดิมในสมัยโบราณกลุ่มชาติพันธุ์กูยมีอาณาจักรเป็นของตนเองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครอง ในด้านภาษา กลุ่มชาติพันธุ์กูยเป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลมอญ-เขมรที่ปัจจุบันทางการลาวเรียกว่าลาวเทิง ซึ่งแบ่งสาขาแยกย่อยไปหลายกลุ่ม ในไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์บรู กลุ่มชาติพันธุ์โส้ กลุ่มชาติพันธุ์ซุย (กูย) กลุ่มชาติพันธุ์เยอถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์กูย สาเหตุที่กลุ่มชาติพันธุ์เยออพยพเข้ามาในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษนั้นเป็นไปเพื่อแสวงหาความเป็นอิสระเนื่องจากการขยายอาณาจักรของลาวลงมาทางตอนใต้จนตั้งเป็นอาณาจักรจำปาสัก เพื่อการแสวงหาที่ตั้งถิ่นฐาน ที่ทำกิน โดยกลุ่มชาติพันธุ์เยอนั้นมีเอกลักษณ์ทางด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่เฉพาะของตนเอง อาทิ การมีความรักสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีการทำศพ เป็นต้น แต่เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์เยอได้เข้ามาอยู่อาศัยในจังหวัดศรีสะเกษ ก่อให้เกิดการผสมผสานทางด้านชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เยอเข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์พื้นถิ่นอื่นๆ อาทิ ลาว เขมร ส่วย เป็นต้น จนทำให้ในปัจจุบันวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์เยอเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยรอบ ในจังหวัดศรีสะเกษชาวเยอมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับชาวกูยที่เรียกกันว่าส่วยที่มีจำนวนมากกว่า

กลุ่มชาติพันธุ์เยอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน มีตำนานและเรื่องเล่าว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีการเดินทางและย้ายถิ่นฐานหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากประสบปัญหาด้านต่างๆ ทั้งด้านการเมือง ภัยธรรมชาติ โรคระบาด และการแสวงหาที่ทำกิน ปัจจุบันพบกลุ่มชาติพันธุ์เยอจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ มีเพียงส่วนน้อยอาศัยอยู่บริเวณจังหวัดมหาสารคามกลุ่มชาติพันธ์เยอมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ทั้งภาษาที่ใช้การสื่อสาร ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนวัฒนธรรมในการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ แต่ภายหลังจากอพยพเข้ามาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้วัฒนธรรมประเพณีถูกผสมผสานด้วยวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่ตั้งถิ่นฐานใกล้เคียง ภาษาเยอที่ใช้สนทนาในชุมชมชาวเยอแต่เดิมมีความจำกัดด้านคำศัพท์จึงได้ถูกผสมด้วยภาษาลาว ภาษาเขมร และภาษาไทยกลาง

ในขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์เยอสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของตนเองตามสภาพแวดล้อมได้ง่าย แต่ยังพบเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์เยอที่ยังคงอยู่ เช่น การเล่าเรื่องเพื่อถ่ายทอดเหตุการณ์ในอดีตจากรุ่นสู่รุ่นในรูปแบบของตำนานหรือนิทาน นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเหตุการณ์นั้นๆ ยังแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวเยอที่สอดแทรกในตำนานหรือนิทานอีกด้วย ตลอดจนความรักสามัคคีกลมเกลียวกันในกลุ่มชาวเยอที่มักจะทำอะไรตามกันเป็นกลุ่ม เช่น การค้าขายกับคนต่างถิ่น ก็มักจะรับฟังความเห็นของชาวเยอด้วยกัน ถ้าขายของก็ขายราคาเดียวกัน ต่อรองไม่ได้ เมื่อซื้อสินค้าอะไรก็มักซื้อตามกัน หรือการไปประกอบกิจกรรมตามสถานที่ต่างๆ ก็มักไปเป็นกลุ่มก้อน ตัวอย่างเช่น การไปฟังหมอลำในงานบุญ เมื่อชาวเยอเห็นว่าสมควรกลับก็จะเรียกกันว่า เป๊าะ จีเจา (ไป กลับบ้าน) ชาวเยอก็ลุกกลับบ้านไปพร้อมกัน เป็นต้น

แต่เดิมกลุ่มชาติพันธุ์เยอเคยอาศัยอยู่บริเวณทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ก่อนที่จะอพยพย้ายถิ่นฐานมายังบริเวณทิศใต้เข้าสู่ประเทศพม่า (เทอดชาย เอี่ยมลำนำ, 2542, น. 58) และกระจายตัวตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณดินแดนทางภาคใต้ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบันเมื่อประมาณ 3,000 กว่าปีมาแล้ว (ไพฑูรย์ มีกุศล, 2531, น. 66)

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 กลุ่มชาติพันธุ์กูยเคยมีสถานะเป็นรัฐอิสระ มีอาณาจักรตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของจังหวัดกำปงธมของประเทศกัมพูชา ต่อมาทางการเขมรได้เข้ายึดครองอาณาจักรกลุ่มชาติพันธุ์กูย จึงทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กูยต้องอพยพย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่บริเวณทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน (ภูมิจิต เรืองเดช, 2552, น. 18)

กลุ่มชาติพันธุ์กูยจึงอาศัยอยู่อย่างสงบในดินแดนของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเรื่อยมา จนเมื่อในรัชสมัยของเจ้าศรีสมุทรพุทธางกูรขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอาณาจักรจำปาสัก มีอำนาจในพื้นที่ลาวภาคใต้ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวกูย ซึ่งรวมชาวเยอด้วย ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาและแม่น้ำ ไม่มีที่ทำกินเพียงพอ กลุ่มชาติพันธุ์เยอที่เดิมเคยอยู่ภายใต้การปกครองของราชสำนักลาวต้องอพยพย้ายถิ่นฐานในที่สุด (สุพรรษา อติประเสริฐกุล, 2552, น.28 )

สาเหตุสำคัญ คือ ราชสำนักลาวจำปาสักมีการขยายอาณาเขตมายังลาวฝั่งขวาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทำให้ชาวเยอที่อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของราชสำนักลาวต้องอพยพมาตามการขยายอาณาเขตด้วย สาเหตุที่สองเกิดจากทุพภิกขภัย แร้นแค้น อดอยาก เกิดโรคระบาด จึงชวนกันลงเรือมาตามลำน้ำโขง สาเหตุข้างต้นทำให้ชาวเยอต้องอพยพข้ามแม่น้ำโขงมายัง (สมหมาย ชินนาค, 2561) ฝั่งตะวันตกในแถบเทือกเขาดงรัก ซึ่งเป็นดินแดนของชาวกูย เขมร และในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ และมาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ

ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์เยออีกกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากเมืองคงซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของหลวงพระบาง โดยมีผู้สันนิษฐานว่า ปู่เยอ ย่าเยอ ที่เป็นเทพารักษ์รักษาหลวงพระบางคือบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์เยอเหล่านี้ ชาวเยอกลุ่มนี้ล่องเรือลงมาตามแม่น้ำโขงเข้าสู่ปากแม่น้ำมูล (เขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน) และได้ต่อลงเรือหางยาวที่เรียกว่า “เฮือส่วง” ทั้งหมด 5 ลำ ได้แก่ เรือท้าวผ่านพระวงศ์ เรือท้าวพงศ์คำไฮ เรือท้าวคำแก้ว เรือนางคำไหม และเรือนางคำฝ้าย โดยสารมาลำละ 40 – 50 คน เรื่อยมาจนถึงปากห้วยสำราญ (เขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ)

มีการแบ่งชาวเยอที่อพยพออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกมีผู้นำคือ “พญาไกร” ได้พาชาวเยอขึ้นสู่ปากห้วยสำราญ ต่อมาถึงปากห้วยแฮด จนไปตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ตำบลโพนค้อและตำบลทุ่ม และเขตอำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ตามสายน้ำห้วยแฮด จนตั้งบ้านขมิ้น บ้านโนนแกด บ้านโพนค้อ บ้านสำโรงโคเฒ่า บ้านโพนปลัด และบ้านปราสาทเยอ กลุ่มที่สองมีผู้นำคือ “พญากตะศิลา” ได้ล่องเรือมาตามแม่น้ำมูลก่อนจะขึ้นฝั่งที่วัดเก่าแห่งหนึ่ง (วัดใต้ ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน) ได้นำชาวเยอมาตั้งเมืองที่บริเวณที่ว่าการอำเภอราษีไศลในปัจจุบัน ตั้งชื่อว่า “บ้านเมืองคง” อยู่ได้ช่วงเวลาหนึ่งบ้านเมืองคงได้เกิดโรคระบาด (สันนิษฐานว่าเป็นอหิวาตกโรค) ทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก ชาวเยอส่วนหนึ่งจึงอพยพตามลำน้ำมูลเลี้ยวขวาไปยังลำน้ำเสียว จนถึงโนนหินกอง ตั้งเป็นเมืองศรีไศล บางส่วนได้แยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม จึงทำให้ชุมชนชาวเยอกระจัดกระจายทั่วไปตามลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำเสียว ได้แก่ ตำบลเมืองคง มี บ้านโนน, บ้านใหญ่, บ้านป่าม่วง, บ้านกลาง, บ้านหนองหว้า, บ้านหลุบโมก, บ้านบากเรือ และบ้านร่องโสก ตำบลจิกสังข์ทอง มีบ้านจิก, บ้านเชือกกลาง รวมไปถึงบริเวณตำบลกุง อำเภอศิลาลาดบางส่วน ประกอบไปด้วยบ้านกุง, บ้านโพไฮ, บ้านขาม

ปัจจุบันชาวเยอได้มีการรวมตัวกันทุกปีเรียกว่า วันรำลึกพญากตะศิลาที่เป็นบรรพบุรุษของชาวเยอ ณ อนุสาวรีย์พญากตะศิลา วัดเมืองคง บึงคงโคก จัดขึ้นในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสาม หรือวันมาฆบูชา แต่เนื่องจากวันนั้นทุกคนมีภารกิจทางศาสนาจึงเลื่อนวันจัดงานรวมตัวของชาวเยอ ในวันใกล้เคียงที่เป็นวันหยุดราชการที่ไปมาสะดวกแทนวันเพ็ญเดือนสาม บริเวณขุขันธ์และศรีสะเกษ ถูกผนวกเข้ากับรัฐไทยตั้งแต่การตั้งเมืองขุขันธ์ พ.ศ.2306 เป็นต้นมา กลุ่มชาติพันธุ์เยอจึงเป็นพลเมืองไทยตามกฎหมาย มีเชื้อชาติและสัญชาติไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปการปกครอง แบ่งเป็นอำเภอ จังหวัด ชาวเยอจึงขึ้นกับจังหวัดขุขันธ์ และเปลี่ยนชื่อมาเป็นจังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบันชาวเยอได้ตั้งถิ่นฐานปะปนอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์เขมรและลาว (บัญญัติ สาลี, มปป.)

กลุ่มชาติพันธุ์เยอได้มีการอพยพย้ายถิ่นฐานอยู่แถบบริเวณภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากปัญหาภัยสงครามและภัยธรรมชาติ จนกระทั่งกลุ่มชาติพันธุ์เยอได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จึงมีการลงหลักปักฐานตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างถาวร ปรากฏเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อการย้ายถิ่นฐานครั้งสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์เยอ คือ ในรัชสมัยของเจ้าศรีสมุทรพุทธางกูร พระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองนครจำปาศักดิ์ กลุ่มชาติพันธุ์เยอถูกเกณฑ์แรงงานอย่างกดขี่ ตลอดจนเกิดอุทกภัยและปัญหาทางการเมืองในลาว จึงทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เยอจำเป็นต้องอพยพออกจากพื้นที่ โดยทำการอพยพเข้ามาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ และศรีสะเกษ ทำให้วัฒนธรรมประเพณีของชาวเยอที่เคยมีอยู่เดิม ถูกผสมกลมกลืนโดยกลุ่มชาติพันธุ์ลาวและเขมรในพื้นที่ จากที่เคยใช้ภาษาเยอในการสนทนาเป็นหลัก ภายหลังที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ทำให้ภาษาเยอถูกผสมผสานเข้ากับภาษาลาว ภาษาเขมร และภาษาไทยภาคกลาง ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและประเพณี ทำให้ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนภาษาเยอมีความเสี่ยงที่จะสูญหายในอนาคต

เดิมกลุ่มชาติพันธุ์เยอเคยอาศัยอยู่บริเวณทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ก่อนที่จะอพยพย้ายถิ่นฐานมายังบริเวณทิศใต้เข้าสู่ประเทศพม่า (เทอดชาย เอี่ยมลำนำ, 2542, น. 58) และกระจายตัวตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณดินแดนทางภาคใต้ของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบันเมื่อประมาณ 3,000 กว่าปีมาแล้ว (ไพฑูรย์ มีกุศล, 2531, น. 66)

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 กลุ่มชาติพันธุ์กูยเคยมีสถานะเป็นรัฐอิสระ มีอาณาจักรตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของจังหวัดกำปงธมของประเทศกัมพูชา ต่อมาทางการเขมรได้เข้ายึดครองอาณาจักรกลุ่มชาติพันธุ์กูย จึงทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กูยต้องอพยพย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่บริเวณทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน (ภูมิจิต เรืองเดช, 2552, น. 18)

กลุ่มชาติพันธุ์กูยจึงอาศัยอยู่อย่างสงบในดินแดนของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเรื่อยมา จนเมื่อในรัชสมัยของเจ้าศรีสมุทรพุทธางกูรขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอาณาจักรจำปาสัก มีอำนาจในพื้นที่ลาวภาคใต้ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวกูย ซึ่งรวมชาวเยอด้วย ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาและแม่น้ำ ไม่มีที่ทำกินเพียงพอ กลุ่มชาติพันธุ์เยอที่เดิมเคยอยู่ภายใต้การปกครองของราชสำนักลาวต้องอพยพย้ายถิ่นฐานในที่สุด (สุพรรษา อติประเสริฐกุล, 2552, น.28 )

สาเหตุสำคัญ คือ ราชสำนักลาวจำปาสักมีการขยายอาณาเขตมายังลาวฝั่งขวาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทำให้ชาวเยอที่อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองของราชสำนักลาวต้องอพยพมาตามการขยายอาณาเขตด้วย สาเหตุที่สองเกิดจากทุพภิกขภัย แร้นแค้น อดอยาก เกิดโรคระบาด จึงชวนกันลงเรือมาตามลำน้ำโขง สาเหตุข้างต้นทำให้ชาวเยอต้องอพยพข้ามแม่น้ำโขงมายัง (สมหมาย ชินนาค, 2561) ฝั่งตะวันตกในแถบเทือกเขาดงรัก ซึ่งเป็นดินแดนของชาวกูย เขมร และในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ และมาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ

ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์เยออีกกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากเมืองคงซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของหลวงพระบาง โดยมีผู้สันนิษฐานว่า ปู่เยอ ย่าเยอ ที่เป็นเทพารักษ์รักษาหลวงพระบางคือบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์เยอเหล่านี้ ชาวเยอกลุ่มนี้ล่องเรือลงมาตามแม่น้ำโขงเข้าสู่ปากแม่น้ำมูล (เขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน) และได้ต่อลงเรือหางยาวที่เรียกว่า “เฮือส่วง” ทั้งหมด 5 ลำ ได้แก่ เรือท้าวผ่านพระวงศ์ เรือท้าวพงศ์คำไฮ เรือท้าวคำแก้ว เรือนางคำไหม และเรือนางคำฝ้าย โดยสารมาลำละ 40 – 50 คน เรื่อยมาจนถึงปากห้วยสำราญ (เขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ)

มีการแบ่งชาวเยอที่อพยพออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกมีผู้นำคือ “พญาไกร” ได้พาชาวเยอขึ้นสู่ปากห้วยสำราญ ต่อมาถึงปากห้วยแฮด จนไปตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ตำบลโพนค้อและตำบลทุ่ม และเขตอำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ตามสายน้ำห้วยแฮด จนตั้งบ้านขมิ้น บ้านโนนแกด บ้านโพนค้อ บ้านสำโรงโคเฒ่า บ้านโพนปลัด และบ้านปราสาทเยอ กลุ่มที่สองมีผู้นำคือ “พญากตะศิลา” ได้ล่องเรือมาตามแม่น้ำมูลก่อนจะขึ้นฝั่งที่วัดเก่าแห่งหนึ่ง (วัดใต้ ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน) ได้นำชาวเยอมาตั้งเมืองที่บริเวณที่ว่าการอำเภอราษีไศลในปัจจุบัน ตั้งชื่อว่า “บ้านเมืองคง” อยู่ได้ช่วงเวลาหนึ่งบ้านเมืองคงได้เกิดโรคระบาด (สันนิษฐานว่าเป็นอหิวาตกโรค) ทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก ชาวเยอส่วนหนึ่งจึงอพยพตามลำน้ำมูลเลี้ยวขวาไปยังลำน้ำเสียว จนถึงโนนหินกอง ตั้งเป็นเมืองศรีไศล บางส่วนได้แยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม จึงทำให้ชุมชนชาวเยอกระจัดกระจายทั่วไปตามลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำเสียว ได้แก่ ตำบลเมืองคง มี บ้านโนน, บ้านใหญ่, บ้านป่าม่วง, บ้านกลาง, บ้านหนองหว้า, บ้านหลุบโมก, บ้านบากเรือ และบ้านร่องโสก ตำบลจิกสังข์ทอง มีบ้านจิก, บ้านเชือกกลาง รวมไปถึงบริเวณตำบลกุง อำเภอศิลาลาดบางส่วน ประกอบไปด้วยบ้านกุง, บ้านโพไฮ, บ้านขาม

ปัจจุบันชาวเยอได้มีการรวมตัวกันทุกปีเรียกว่า วันรำลึกพญากตะศิลาที่เป็นบรรพบุรุษของชาวเยอ ณ อนุสาวรีย์พญากตะศิลา วัดเมืองคง บึงคงโคก จัดขึ้นในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสาม หรือวันมาฆบูชา แต่เนื่องจากวันนั้นทุกคนมีภารกิจทางศาสนาจึงเลื่อนวันจัดงานรวมตัวของชาวเยอ ในวันใกล้เคียงที่เป็นวันหยุดราชการที่ไปมาสะดวกแทนวันเพ็ญเดือนสาม บริเวณขุขันธ์และศรีสะเกษ ถูกผนวกเข้ากับรัฐไทยตั้งแต่การตั้งเมืองขุขันธ์ พ.ศ.2306 เป็นต้นมา กลุ่มชาติพันธุ์เยอจึงเป็นพลเมืองไทยตามกฎหมาย มีเชื้อชาติและสัญชาติไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปการปกครอง แบ่งเป็นอำเภอ จังหวัด ชาวเยอจึงขึ้นกับจังหวัดขุขันธ์ และเปลี่ยนชื่อมาเป็นจังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบันชาวเยอได้ตั้งถิ่นฐานปะปนอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์เขมรและลาว (บัญญัติ สาลี, มปป.)

การดำรงชีพ

การประกอบอาชีพของชาวเยอส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องการทำไร่ทำนา มีเพียงส่วนน้อยที่ประกอบอาชีพค้าขาย รับราชการ หรือช่างฝีมือ ปัจจัยที่ทำให้มีการประกอบอาชีพที่หลากหลายเป็นผลมาจากความจำเป็นที่ต้องหารายได้เพื่อใช้จ่ายในครอบครัวที่เริ่มมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น และความสะดวกในการคมนาคม (ปราโมทย์ นิลกำแหง, 2536, น.78)

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

กลุ่มชาติพันธุ์เยอมีความเชื่อและนับถือผีควบคู่กับการนับถือพระพุทธศาสนาคล้ายกับผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยทั่วไป ในอดีตเคยมีความเชื่อต่อพญาแถนในฐานะผีที่มีความสำคัญที่สุด แต่ต่อมาเปลี่ยนมานับถือผีแม่ธรณีควบคู่กับความเชื่อเรื่องผีเชื้อและผีปู่ตาตามพิธีกรรมเซ่นไหว้สำคัญที่พบในชุมชน อาทิ พิธีกรรมไหว้ศาลปู่ตา วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์เยอยังผูกโยงกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูซึ่งเป็นความเชื่อที่มุ่งสร้างขวัญกำลังใจในพิธีกรรมต่างๆ อาทิ พิธีสู่ขวัญในวันแต่งงาน พิธีบวช และพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นหลักคำสอน จารีตของชีวิต (สุพรรษา อติประเสริฐกุล, 2552, น. 19)

ความเชื่อหลักของกลุ่มชาติพันธุ์เยอผูกโยงกับเครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนมาตั้งแต่อดีต คือ สะไน (ชาวเยอบางกลุ่มเรียกสะไนว่า “สังข์ไน”) กลุ่มชาติพันธุ์เยอเคารพบูชาสะไนเหมือนกับเคารพบูชาสังข์ (หอยสังข์) ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในอดีตกลุ่มชาติพันธุ์เยอเชื่อว่าการเป่าสะไนเป็นการเป่าบูชาสังข์ เมื่อเป่าแล้ว เงือก นาค ภูตผีปีศาจจะไม่สามารถมาทำร้ายได้และทำให้ผีเจ้าป่าเจ้าเขาดูแลคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่ดีกินดี มีความปลอดภัย นอกจากนี้เวลาเดินทางไกลจะมีการเป่าสะไนก่อนออกเดินทางเพื่อให้เกิดโชค เดินทางปลอดภัย และการเดินทางกลางป่าต้องนำสะไนติดตัวเสมอ เพราะเชื่อว่าเสียงสะไนสามารถไล่สัตว์ป่าที่จะเข้ามาทำอันตรายได้และในเวลาที่ทำศึกสงครามต้องมีการเป่าสะไนก่อนทุกครั้ง เนื่องจากเชื่อว่าเสียงของสะไนจะทำให้ได้รับชัยชนะกลับมา (ภัคพล บุญเหลือง และ บุญชู ภูศร, 2560, น.380)

นอกจากนั้นยังนำสะไนมาเป่าเพื่อบูชาพระแม่ธรณีและพระแม่คงคาในประเพณีการแข่งเรือ(ส่วงเฮือ) นอกจากนี้ยังมีคำสอนเกี่ยวกับการเป่าสะไนและมีฤดูสำหรับการเป่าสะไนไว้ว่า ต้องเป่าสะไนตั้งแต่เดือนแปด (เดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม) จนถึงเดือนอ้าย (เดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม) ถ้าเกินกำหนดระยะเวลาที่กล่าวมาจะไม่เป่าสะไน เนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้ฝนตกฟ้าผ่าในเวลากลางวันหรือเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นในหมู่บ้าน แสดงให้เห็นว่าสะไนคือเครื่องเป่าที่มีความศักดิ์สิทธิ์ (ภัคพล บุญเหลือง และ บุญชู ภูศร, 2560, น.379)

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งห้ามมิให้มีผู้ใดบุกรุกล่วงล้ำโดยปราศจากความเคารพคือไม่บอกกล่าวก่อนหรือตัดต้นไม้ของกลุ่มชาติพันธุ์เยอเรียกว่า “ดงปู่ตา” ซึ่งดงปู่ตามักเลือกพื้นที่เป็นเนินสูง โนน โคกหรือดอน น้ำท่วมไม่ถึง มีสภาพป่าหนาทึบ มีสัตว์ป่าชุกชุมหลากหลายสายพันธุ์ ทำให้พื้นที่ของดงปู่ตาดูขลังและมีความศักดิ์สิทธิ์ (เบญจวรรณ นาราสัจจ์, 2551, น. 54) ชาวเยอเชื่อว่าผู้ที่บุกรุกล่วงล้ำพื้นที่แห่งนี้โดยปราศจากความเคารพจะได้รับการลงโทษจากปู่ตาให้มีอันเป็นไป เช่น ปวดหัว ปวดท้อง หรือเสียชีวิตไปในที่สุด ดงปู่ตาจะมีการตั้งศาลและตั้งคนไว้ดูแลศาล เรียกว่า “เฒ่าจ้ำ” หากมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยจากปู่ตาจะต้องเชิญเฒ่าจ้ำไปบวงสรวงปู่ตาจะทำให้หายจากอาการป่วย (สุพรรษา อติประเสริฐกุล, 2552, น.40) ซึ่งเฒ่าจ้ำนี้อาจเป็นหญิงหรือชายก็ได้

นอกจากนั้นกลุ่มชาติพันธุ์เยอที่อพยพมาตามลำห้วยแฮดและหยุดตั้งถิ่นฐานบริเวณที่มีปราสาทขอมโบราณที่เรียกว่าปราสาท จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านปราสาทเยอ โดยมีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่ชาวบ้านนับถือคือ ปราสาทเยอหรือพระธาตุเยอและหลวงปู่มุม (พระครูประศาสขันธคุณ – มุม อินทปัญโญ) ที่วัดปราสาทเยอเหนือ ซึ่งชาวบ้านจะต้องบูชาก่อนการออกเดินทางและก่อนกลับเข้าสู่หมู่บ้านอยู่เสมอๆ ซึ่งวัดปราสาทเยอเหนือนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน เมื่อ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2514

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

การเกิด

ความเชื่อเกี่ยวกับการเกิดของกลุ่มชาติพันธุ์เยอมีความคล้ายคลึงกับชาวอีสาน ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ มารดาจะไม่นิยมรับประทานอาหารที่เชื่อว่าเป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์ เช่น ยาแก้ปวด ยาขับเลือด และไม่นิยมรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเพราะเชื่อว่าจะทำให้คลอดลูกได้ยาก ตลอดจนมีความเชื่อเกี่ยวกับข้อห้ามต่างๆ ของหญิงตั้งครรภ์ อาทิ การห้ามเดินผ่านบริเวณที่มีการย้อมผ้าเพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้สีย้อมผ้าไม่ติด (ขัน พรมชาติ: สัมภาษณ์) เวลาที่ตั้งครรภ์จะห้ามให้สามีของตนเองไปสัมผัสหรือยุ่งเกี่ยวกับศพเป็นอันขาด (สมยง รักชาติ: สัมภาษณ์) ซึ่งปัจจุบันความเชื่อนี้ได้เริ่มลดลงจากความเจริญทางด้านความรู้ตามหลักวิทยาศาสตร์ นอกจากข้อห้ามแล้วยังพบว่าชาวเยอนิยมให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ทำงานทุกอย่างได้ตามปกติระหว่างตั้งครรภ์ โดยมีความเชื่อว่าหากยิ่งขยันจะทำให้คลอดง่ายขึ้น (สงวน กตะศิลา: สัมภาษณ์) ส่วนการทำคลอดในสมัยก่อน ช่วงที่ยังไม่มีสถานีอนามัยประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านจะทำคลอดที่บ้านโดยเชิญหมอมาทำคลอดเรียกว่า “หมอเป่า” มาทำพิธีท่องคาถาเป่าไล่ผีบริเวณที่จะทำคลอด พร้อมทั้งหว่านข้าวสารเสกและพันสายสิญจน์ไว้รอบบ้าน เพื่อป้องกันผีปอบที่มาตามกลิ่นคาวเลือด เมื่อคลอดออกมาจะมีการตัดสายรกโดยให้หมอทำคลอดหรือผู้อาวุโสเป็นผู้กระทำ เมื่อตัดรกแล้วจะนำไปฝังไว้ใต้บันไดและก่อกองไฟไว้ข้างบน เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะทำให้เด็กที่เกิดมารักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ต่อมาจะนำทารกวางคว่ำที่กระด้ง เด็กผู้ชายจะใส่หนังสือ กระดาษ ดินสอ ไว้ที่ขอบกระด้ง เพื่อให้เรียนหนังสือเก่ง มีสติปัญญาเฉียบแหลม ส่วนเด็กผู้หญิงจะใส่เข็มและด้ายไว้ที่ขอบกระด้ง เพราะเชื่อว่าเด็กจะเก่งงานบ้านงานเรือน ต่อมาผู้ที่เป็นย่าหรือยายของเด็กจะร่อนกระด้ง 3 รอบพร้อมกับพูดขึ้นว่า “กุ๊ก กุ๊ก กู ถ้าลูกสูก็เอาไปมื้อนี้ นอกจากนี้มื้อหน้าแม่นลูกกู” คำกล่าวข้างต้นเป็นการหลอกผีไม่ให้เอาเด็กไป ต่อจากนั้นจะให้ผู้เฒ่าผู้แก่ผูกข้อมือเด็กเพื่อรับขวัญ (เทอดชาย เอี่ยมลำเนา, 2542, น.150-152) โดยจะทำการให้เหรียญกับเด็กไว้เพื่อเป็นการรับขวัญ (แยง เสนะ: สัมภาษณ์) ส่วนมารดา ภายหลังจากคลอดลูกจะต้องอยู่ไฟเพื่อรักษาร่างกาย 7 – 20 วัน ระหว่างอยู่ไฟจะลุกไปที่อื่นไม่ได้และรับประทานอาหารได้บางอย่างเท่านั้น อาทิ ข้าว เกลือ ปลาย่าง ต้มหัวปลีน้ำร้อน หรือ น้ำต้มหัวไพรเพื่อเป็นการบำรุงน้ำนม เพราะเชื่อว่าหากกินอย่างอื่นจะทำให้แสลงและไม่สบาย เมื่อเด็กอายุครบ 1 เดือน จึงจะมีการตัดผมไฟ ซึ่งนิยมทำกันเฉพาะวันอังคารเพราะถือว่าเป็นวันแข็ง (เทอดชาย เอี่ยมลำเนา, 2542, น.150-152) (แยง เสนะ: สัมภาษณ์)

การแต่งงาน

ผลจากการอยู่อาศัยในพื้นที่ร่วมกับชาวไทยอีสานทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมการแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์เยอ การแต่งงานของชาวเยอส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกับชาวไทยอีสาน กล่าวคือ ชาวเยอให้อิสระกับบุตรหลานในการเลือกคู่ครอง จะเป็นคนเยอด้วยกันหรือเป็นคนไทยก็ได้ มีเพียงส่วนน้อยที่นิยมให้บุตรหลานเลือกคู่ครองที่เป็นชาวเยอด้วยกันเอง (ปราโมทย์ นิลกำแหง, 2536, น. 160)

ในอดีตชาวเยอนิยมแต่งงานกับชาวเยอด้วยกันในละแวกใกล้เคียง โดยพ่อแม่จะคอยจัดหาคู่ให้เมื่อเห็นว่าลูกสมควรออกเรือน แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะให้ลูกหลานแต่งงานกันเองกับคนภายในหมู่บ้าน เพราะมีความคิดว่าทรัพย์สมบัติที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจะได้ไม่ตกอยู่ในการครอบครองของคนภายนอก (สุพรรษา อติประเสริฐกุล, 2552, น. 83-84) หากเลือกคู่ครองได้แล้วแต่ยังไม่แต่งงาน ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนสองต่อสองได้ หากมีความจำเป็นจะต้องมีผู้อื่นเดินทางไปด้วย (แยง เสนะ: สัมภาษณ์) จากนั้นผู้ใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่ายจึงจะจัดพิธีแต่งงานให้โดยไม่นิยมจัดงานในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา (สมยง รักชาติ: สัมภาษณ์)

ประเพณีการแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์เยอเริ่มขึ้นจากการสู่ขอซึ่งฝ่ายชายจะเป็นผู้นำผู้เฒ่าผู้แก่เป็นคู่มาสู่ขอพร้อมขันหมาก ประกอบไปด้วยดอกไม้ หมากพลู ธูปเทียน และยาเส้น (ขัน พรมชาติ: สัมภาษณ์) ในวันแต่งงานจะทำพิธีสู่ขวัญร่วมกัน โดยฝ่ายเจ้าบ่าวจะแห่ขันหมากมายังบ้านเจ้าสาวตามฤกษ์ยามที่ดูไว้ ส่วนมากจะเป็นวันศุกร์และวันเสาร์ เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบันไดบ้านเจ้าสาว ญาติฝ่ายเจ้าสาวจะยืนทักท้วงกั้นทางไม่ให้เจ้าบ่าวขึ้นบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะต้องเตรียมเงินสำหรับไว้จ่ายเป็นค่าผ่านทาง จากนั้นจึงจะขึ้นบ้านไปทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ เมื่อเสร็จพิธีเจ้าบ่าวจะกลับบ้านเพื่อรอส่งตัวในเวลาค่ำต่อไป ในช่วงเวลาประมาณ 19.00 – 20.00 น. ขบวนเจ้าบ่าวจะกลับมาที่บ้านเจ้าสาวอีกครั้ง เพื่อทำพิธีมอบเขย โดยมีผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้หญิงที่ชีวิตครอบครัวไม่ทะเลาะเบาะแว้งและไม่เป็นหม้ายปูเสื่อและที่นอนให้กับบ่าวสาว เป็นประเพณีให้คู่บ่าวสาวอยู่กันอย่างเป็นสุข (เทอดชาย เอี่ยมลำนำ, 2542, น. 155) หลังจากนั้นเจ้าบ่าวจะอาศัยอยู่บ้านเจ้าสาวต่อไป เมื่อเก็บเงินได้เพียงพอจึงจะสามารถแยกเรือนออกไปได้ (ขัน พรมชาติ: สัมภาษณ์) ในพิธีแต่งงานมักมีข้อห้ามสำคัญ คือ ห้ามมิให้ผู้ที่เป็นหม้ายมายุ่งเกี่ยวกับงานแต่งเนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้คู่บ่าวสาวอยู่กันอย่างไม่เป็นสุข (แดง กลับสุข: สัมภาษณ์)

การตาย

ในอดีตเมื่อมีผู้เสียชีวิตจะมีการจุดพลุเป็นสัญญาณแจ้งข่าวบอกคนในหมู่บ้านให้ทราบโดยทั่วกันและยังเป็นสัญญาณที่บอกไม่ให้คนในหมู่บ้านเก็บฟืนเข้าบ้าน เนื่องจากมีความเชื่อว่าการขนฟืนเข้าบ้านเวลามีคนเสียชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่เป็นมงคลเพราะเป็นการนำความตายเข้าสู่หมู่บ้าน แต่ถ้าหากขนฟืนเข้ามาในหมู่บ้านจะต้องทิ้งฟืนไว้นอกหมู่บ้าน 1 ท่อนเพื่อแก้เคล็ดว่าได้ช่วยเผาคนที่เสียชีวิตในวันนั้น ส่วนการทำศพเริ่มจากการอาบน้ำให้ศพชำระร่างกายให้บริสุทธิ์แล้วจึงพรมด้วยน้ำหอมหรือน้ำขมิ้นเพื่อกำจัดกลิ่นและแต่งตัวให้ศพโดยจะให้ผู้อาวุโสในหมู่บ้านเป็นผู้กระทำก่อนจะทำการเผาตามหลักทางพระพุทธศาสนาเป็นขั้นตอนสุดท้าย กรณีศพที่ตายโหง ชาวเยอจะไม่เผาในทันทีแต่จะทำพิธีการฝังแทน ก่อนจะนำกระดูกขึ้นมาฝังหลังจากเวลาผ่านไป 3 ปี เพราะเชื่อว่าวิญญาณของผู้ตายยังคงวนเวียนอยู่จึงไม่สามารถเผาได้ในทันที (เทอดชาย เอี่ยมลำนำ, 2542, น.156-157) แต่หากตายจากเหตุปกติจะขึ้นอยู่กับญาติว่าต้องการทำศพกี่วัน ในอดีตนิยมทำศพเพียง 1 วัน เพราะไม่มีการฉีดยาให้กับศพ ต่อมาจึงเริ่มมีการเพิ่มวันงานมากขึ้น (เลิศ ท่าโพธิ์: สัมภาษณ์)

เมื่อญาติตกลงกันได้แล้วจึงนำศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่บริเวณชั้นบนของบ้านของผู้เสียชีวิต แต่ในปัจจุบันย้ายมาตั้งศพบริเวณใต้ถุนบ้านเพื่อรองรับผู้มาร่วมฟังสวดอภิธรรมศพที่มากขึ้น โดยจะทำพิธีบำเพ็ญกุศล 1-3 วันตามตกลง (สมส่วน โยที: สัมภาษณ์) หากผู้เสียชีวิตเป็นผู้มีฐานะและมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป อาจมีการสวดยอดมุกในการสวดอภิธรรมศพ คำสวดยอดมุกแตกต่างจากบทสวดโดยทั่วไป เมื่อสวดเสร็จแต่ละบท เจ้าภาพจะต้องดำเนินการถวายปัจจัยทีละบท ในปัจจุบันมีพระน้อยรูปที่จะสามารถสวดได้ (เลิศ ท่าโพธิ์: สัมภาษณ์) เมื่อเสร็จสิ้นพิธีบำเพ็ญกุศลแล้วจึงนำออกป่าหรือการนำไปฌาปนกิจที่วัด ในขณะที่จัดงานศพมีข้อห้ามปฏิบัติ เช่น ห้ามทอผ้า ห้ามตำข้าวในยุ้ง ห้ามตัดเล็บและตัดผม เป็นต้น หลังจากนั้นจึงทำการเก็บกระดูกและอัฐิไว้เพื่อทำบุญให้แก่ผู้เสียชีวิตในภายหลังจากนั้น 1 ปี (สมส่วน โยที: สัมภาษณ์)

การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

กลุ่มชาติพันธุ์เยอมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษในพิธีแซนปู่ตาซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากกลุ่มชาติพันธุ์เขมรในช่วงวัน 15 ค่ำ เดือน 6 โดยทำเครื่องเซ่นไหว้มาเป็นของเซ่นไหว้ที่บริเวณศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน โดยมีตาจ้ำเป็นผู้นำในการทำพิธีกรรมการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ (เที่ยง โยที: สัมภาษณ์) พิธีเลี้ยงศาลปู่ตาจัดขึ้นเพราะเชื่อว่าปู่ตาเป็นผู้ที่มีบุญบารมีสูงกว่าผีทุกประเภท เมื่อกำหนดวันเสร็จเรียบร้อยจะมีการกระจายข่าวให้ชาวบ้านได้ทราบ เมื่อถึงวันงานผู้คนในหมู่บ้านจะมาร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกันพร้อมกับเครื่องเซ่นไหว้ที่บริเวณศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน (เทอดชาย เอี่ยมลำเนา, 2542, น.131)

การเพาะปลูก

กลุ่มชาติพันธุ์เยอมีความเชื่อของการเริ่มการเพาะปลูกผูกโยงกับความเชื่อของส่วนกลางคือ การแรกนา ในอดีตจะเริ่มทำการเพาะปลูกหว่านข้าวภายหลังจากภาครัฐเริ่มทำพิธีแรกนาขวัญแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์เยอที่บ้านปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ เริ่มมีพิธีเซ่นไหว้ผีตาแฮกก่อนการไถหว่านเพื่อเพาะปลูก โดยนำไข่มาเป็นของเซ่นไหว้และเมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวข้าวจะนำตัวไก่มาเป็นของเซ่นไหว้ หากมีผู้ใดไถหว่านก่อนการไหว้ผีตาแฮกจะต้องนำเครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วยข้าว น้ำ และไข่มาขอขมา จึงจะทำให้การเพาะปลูกประสบผลสำเร็จ (สมส่วน โยที: สัมภาษณ์) ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์เยอที่ตำบลเมืองคง อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษจะทำการเซ่นไหว้ผีตาแฮกก่อนการไถหว่าน

พิธีจะเริ่มเวลาเช้าตรู่โดยหัวหน้าครอบครัวจะนำเครื่องเซ่น ประกอบด้วยข้าวสาร ไข่ต้ม ดอกไม้และน้ำไปไหว้ พร้อมทั้งนำควายและไถไปด้วย จากนั้นจึงนำของเซ่นไหว้ไปวางลงบนใบไม้และทำการบอกกล่าวที่ที่นาของตนเอง ขอให้ได้ผลผลิตมากและไม่มีอุปสรรคใดๆ จากนั้นจึงปอกเปลือกไข่เพื่อทำการเสี่ยงทาย หากไข่แดงสมบูรณ์ดีแสดงว่าจะได้ผลผลิตดี (เทอดชาย เอี่ยมลำนำ, 2542, น. 196)

ก่อนการเก็บเกี่ยวจะมีการนำหมากพลูไปไหว้ที่นาก่อนการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน 11 เพื่อเป็นการบอกกล่าวผีตาแฮกถึงช่วงการเก็บเกี่ยวให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด (บุญเรือน โยที: สัมภาษณ์)


ปราโมทย์ นิลกำแหง. (2536). “ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของชาวกวยเยอในจังหวัดศรีสะเกษ.” วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต เอกภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ภูมิจิต เรืองเดช. (2552). การอพยพย้ายถิ่นของชาวกูย. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ฉบับที่ 1.

เทอดชาย เอี่ยมลำนำ. (2542). ความทันสมัยและพิธีกรรมทางศาสนาของกลุ่มชาติพันธุ์เยอ: กรณีศึกษาหมู่บ้านสำโรงโคเฒ่า จังหวัดศรีสะเกษ. วิทยานิพนธ์สาขามานุษยวิทยา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.

ไพฑูรย์ มีกุศล. (2531). บทความทางวิชาการ อีสานศึกษา. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาสารคาม.

สมหมาย ชินนาค. (2561). มรดกร่วมทางวัฒนธรรมภูมิภาคแม่น้ำโขง. อุบลราชธานี : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

สุพรรษา อติประเสริฐกุล. (2522). ความเป็นเยอในบริบทพหุวัฒนธรรม: ศึกษากรณี หมู่บ้านใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ. วิทยานิพนธ์มานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

บัญญัติ สาลี. มปป. กูย : ว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ ภาษา และตำนาน. โครงการสัมมนาวิชาการระดับชาติ “ไท ไทย อีสานในบริบทอาเซียน.

เบญจวรรณ นาราสัจจ์. (2551). เอกสารประกอบการสอน (ปรับปรุงครั้งที่ 2) วิชา 418212 ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาอีสาน. สาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ภัคพล บุญเหลืองและบุญชู ภูศรี. (2560). ตำนานปรัมปรา : ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์เยอ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ (Proceedings) การสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาครั้งที่ 16 ประจำปีการศึกษา 2559 ระหว่างวันที่ 29 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2560. หน้า 371-383.

ศศิธร นวเลิศปรีชา. (2522). ระบบคำเรียกญาติภาษาส่วย (กูย-กวย) ของผู้พูดที่มีอายุต่างกันในจังหวัดศรีสะเกษ. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชานนท์ ไชยทองดี. (2561). ภูมิปัญญา อัตลักษณ์และเรื่องเล่าในวรรณกรรมเมืองศรีสะเกษ. ศรีสะเกษ: โครงการพัฒนาผลงานทางวิชาการเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

เชิดศักดิ์ ฉายถวิล. (2554). สะไนง์ เครื่องดนตรีพื้นบ้านชาวเยอ. ศรีสะเกษ: มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ.

นางสมส่วน โยที, บ้านเลขที่ 4 ม.10 บ้านปราสาทเยอ ตำบลปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ , 23 เมษายน 2562.

นางเที่ยง โยที, บ้านเลขที่ 6 ม.10 บ้านปราสาทเยอ ตำบลปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัด ศรีสะเกษ, 23 เมษายน 2562.

นางขัน พรมชาติ, บ้านเลขที่ 69 ม.1 บ้านปราสาทเยอ ตำบลปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ, 24 เมษายน 2562.

นางบุญเรือน โยที, บ้านเลขที่ 35 ม.1 บ้านปราสาทเยอ ตำบลปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ, 24 เมษายน 2562.

นางสมยง รักชาติ, บ้านเลขที่ 118 ม.5 บ้านโพนค้อ ตำบลโพนค้อ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ, 14 กันยายน 2562.

นางแยง เสนะ, บ้านเลขที่ 98 ม.1 บ้านโพนค้อ ตำบลโพนค้อ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ, 14 กันยายน 2562.

นายประกิจจา สาระใต้, บ้านเลขที่ 98 ม.1 บ้านโพนค้อ ตำบลโพนค้อ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ, 14 กันยายน 2562.

นางอำไพ ไชยอินทร์, บ้านเลขที่ 14 ม.4 บ้านใหญ่ ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ, 15 กันยายน 2562.

นายสงวน กตะศิลา, บ้านเลขที่ 164 ม.4 บ้านใหญ่ ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ, 15 กันยายน 2562.

นางดา กตะศิลา, บ้านเลขที่ 22 ม.5 บ้านโนน ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ, 15 กันยายน 2562.

นางเลิศ ท่าโพธิ์, บ้านเลขที่ 6 ม.6 บ้านหลุบโมก ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ, 16 กันยายน 2562.

นายทองพูน บุญส่ง, บ้านเลขที่ 68 ม.6 บ้านหลุบโมก ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ, 16 กันยายน 2562.

นายแดง กลับสุข, บ้านเลขที่ 45 ม.7 บ้านบากเรือ ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ, 16 กันยายน 2562.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว