กลุ่มชาติพันธุ์ : โซ่ (ทะวืง)

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : โซ่ (ทะวืง)
  • ชื่อเรียกตนเอง : โซ่ (ทะวืง)
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : โซ่, ข่า
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ภาษาโซ่ (ทะวืง) เป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศไทย จัดอยู่ในสาขาเวียดติกในกลุ่มมอญ-เขมร ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              การเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์นี้ มาจากการใช้ภาษาที่ต่างกันกับภาษาโส้ที่ชาวโส้อำเภอกุสุมาลย์และอำเภอดงหลวงใช้พูด จึงได้กำหนดเรียกชื่อใหม่ว่า "โซ่ทะวืง" (Miller, John D. and Miller, Carolyn (1967) อ้างถึงใน ปกกสิณ ชาทิพฮด, 2562) สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ (2547) กล่าวว่า คำว่า "โซ่" ใช้เรียกกลุ่มที่เรียกตนเองว่า "โซ่ และบรู" อยู่ในกลุ่มสาขากะตุ และเวียดติก คนกลุ่มนี้อพยพมาจากประเทศลาว มีชื่อที่รู้จักในประเทศลาวว่า "ทะวืง" ส่วน David Bradley (2007) เรียกคนกลุ่มนี้ว่า "So Thavung" นอกจากนี้ยังพบว่าคนอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์นี้ได้ใช้ชื่อเรียกว่า "ข่า" อันหมายรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มภาษามอญ-เขมร หลายกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศลาวและภาคอีสานของประเทศไทย เช่น ขมุ โซ่ และบรู เป็นต้น ส่วนใหญ่ชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ใช้เรียกตนเองจะมีความหมายว่า คน คนป่า คนภูเขา หรือ คนที่ทำนา เพื่อแยกออกจากภูตผีหรือสัตว์ ส่วนคำว่า "ทะวืง" พบว่าชาวโซ่ ทะวืง กล่าวถึงความหมายไว้สองอย่างคือ "ทะวืง" หมายถึง ยุง มีเรื่องเล่าว่าคนกลุ่มนี้มีความสามารถในการปรับตัวและอาศัยอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าเขาและทนต่อการกัดต่อยของแมลงมีพิษได้หลายชนิด ชาวโซ่จึงได้ชื่อว่าทนต่อยุงกัด หรือโซ่ทะวืง ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือ เขตแดนหรือที่อยู่อาศัย จากลักษณะการอพยพโยกย้ายที่อยู่อาศัยในหลายครั้งตั้งแต่อดีตที่มีการเคลื่อนย้ายจากแขวงคำเกิดคำม่วน จนมาถึงบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนในปัจจุบัน ดังนั้นแล้วคำว่า "ทะวืง" จึงมีความหมายในภาษาโซ่ที่เกิดจากการนิยามตนเองต่างจากความหมายของนักวิชาการ (ปกกสิณ ชาทิพฮด, 2562)

              วิกฤตทางด้านภาษาในกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ ทะวืง ทำให้เกิดความร่วมมือในการฟื้นฟูอัตลักษณ์   ชาวโซ่ ทะวืง ทั้งด้านภาษา วิถีชีวิต วัฒนธรรมความเป็นโซ่ ทะวืงขึ้นมาหลายอย่าง เช่น ชยันต์ วรรธนะภูติ (2554) ได้ศึกษา "โครงการมิติทางสังคม การเมืองของการฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น" โดยได้เลือกศึกษาชุมชนชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) เป็นหนึ่งในเจ็ดชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการสูญหายของภาษาและอัตลักษณ์ กุมารี ลาภอาภรณ์ และศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร (2560) ได้ เผยแพร่บทความเรื่อง "การฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่น: กรณีศึกษาคนสี่กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร" อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง "การฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นในกลุ่มภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต ปี พ.ศ. 2553" บทความนี้ได้กล่าวถึงว่ากระบวนการฟื้นฟูภาษา สามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดีและอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุขทั้งสี่กลุ่มชาติพันธุ์ประกอบด้วย ชาวโซ่ ทะวืง ชาวญ้อ ชาวภูไท และชาวลาวที่อาศัยอยู่ร่วมกัน  ในระยะต่อมามีงานศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ ทะวืงอีกหนึ่งเรื่องคือ งานศึกษาของ สีลา สีดาดิษฐ์ (2555) เรื่อง "แนวทางการสร้างศูนย์การเรียนรู้ภาษา-วัฒนธรรมชุมชน ต.ปทุมวาปี ที่เหมาะสมกับกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) ญ้อ ภูไท และลาว ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร" นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาของ ประมงค์ สุขชิน (2556) เรื่อง "แนวทางการพัฒนาภาษาโซ่ (ทะวืง) จากชุมชนเข้าสู่ระบบโรงเรียน ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร" รวมถึงการปรากฏชื่อเรียกในสื่อสารมวลชน เช่นบทความประจำคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ เรื่อง "ภาษาโซ่ (ทะวืง) อักษรไทย: มองไทยใหม่" เขียนโดย นิตยา กาญจนะวรรณ (2560) ดังนั้น จะเห็นได้ว่างานศึกษาเชิงวิชาการเหล่านี้และสื่ออื่น ๆ ต่างใช้ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า  "โซ่ (ทะวืง)"

     

  • อื่น ๆ :

               สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ (2547) กล่าวว่า จากการศึกษาภาษาของนักภาษาศาสตร์ พบว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมกว่า 70 กลุ่มภาษา สามารถจำแนกได้ 5 ตระกูล ได้แก่ 1) ภาษาตระกูลไท ได้แก่ ไทดำ, ไทใหญ่, ไทลื้อ, ญ้อ, ลาวอีสาน, พวน 2) ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก เช่น กะซอง, ชอง, ซัมเร, โซ่ (ทะวืง), ขมุ, ญัฮกุร, บรู, มลาบรี 3) ภาษาตระกูลออสโตรเนเชียน ได้แก่ มลายูถิ่น, อูรักลาโวยจ, มอแกน 4) ภาษาตระกูลจีน-ธิเบต ได้แก่ อึมปี้, บีซู, ละว้า, อาข่า, ลิซู 5) ภาษาตระกูลม้ง - เมี่ยน ได้แก่ ม้ง/แม้ว, เมี่ยน, เย้า และภาษาโซ่ (ทะวืง) ถูกจัดอยู่ในภาษาตระกูลออสโตรเอเซียติก สาขามอญ-เขมร สาขาย่อยเวียดติก ปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มภาษาที่มีภาวะวิกฤตใกล้สูญ

              สุวิไล เปรมศรีรัตน์ (Suwiali, 1995 อ้างถึงใน ราชบัณฑิตยสภา, 2560: 1) กล่าวว่า ภาษาโซ่ (ทะวืง) เป็นภาษากลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศไทย จัดอยู่ในสาขาเวียดติกในกลุ่มมอญ-เขมร ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก คนทั่วไปรู้จักกันในนามภาษาโซ่ (โส้) หรือ ข่า ชาวโซ่ (ทะวืง) จอห์น มิลเล่อร์ และคาโรลีน มิลเล่อร์ (1996 อ้างถึงใน ราชบัณฑิตยสภา, 2560: 1) ภาษาโซ่ (ทะวืง) ซึ่งเป็นผู้เข้ามาศึกษาภาษาโซ่ อำเภอส่องดาว พบว่า ภาษาโซ่ (ทะวืง) ที่อำเภอส่องดาวมีความแตกต่างกันกับภาษาโซ่ที่ใช้ในอำเภอกุสุมาลย์  ซึ่งจะแสดงแผนผังภาษาของตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร ตามเจราร์ด ดิฟโฟลธ์ (Gerard Diffloth) (1974)

              ภาษาโซ่ (ทะวืง) มีภาษาพูด เช่นเดียวกับภาษาโส้ที่อำเภอกุสุมาลย์หรือภาษาบรู แต่ไม่ปรากฏว่ามีภาษาเขียน ภาษาพูดของชาวโซ่ (ทะวืง) ใช้สำหรับการสื่อสารกันในกลุ่มหรือในหมู่บ้านที่พูดภาษาโซ่ (ทะวืง) เท่านั้น แต่ถ้าหากออกไปนอกพื้นที่หรือสื่อสารกับคนอื่น ๆ จะใช้ภาษาลาว (ไทอีสาน)  ภาษาผู้ไทหรือภาษาญ้อ หรือไม่ก็จะใช้ภาษาไทยมาตรฐาน ผู้ที่พูดภาษาโซ่ (ทะวืง) ได้ส่วนมากมีอายุตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไป แต่มักจะสื่อสารในระดับประโยคได้ไม่คล่อง เพียงแค่รู้จักคำศัพท์ที่ใช้บ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน ส่วนผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป สามารถสื่อสารได้ในระดับประโยคและรู้จักคำศัพท์ต่าง ๆ ได้ค่อนข้างดี แต่เด็ก ๆ มักจะรู้เพียงคำศัพท์ที่เกี่ยวกับคำเรียกเครือญาติ คำเรียกชื่อสัตว์ และสิ่งของเครื่องใช้ทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันพบว่า มีหมู่บ้านที่ใช้ภาษาโซ่ (ทะวืง) ในการสื่อสารกันเพียง 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองแวง บ้านหนองเจริญ บ้านดงสร้างคำ และบ้านหนองม่วง

    ตัวอักษรที่ใช้เขียน

              กุมารี ลาภอาภรณ์ และคณะ (2558 : 54-55) จากการดำเนินงานฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทำให้ได้รูปแบบการฟื้นฟูภาษาเกิดเป็น “มหิดลโมเดล” ซึ่งมีการพัฒนาระบบเขียน เนื่องจากภาษาท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นภาษาที่ไม่มีภาษาเขียนมาก่อน การพัฒนาระบบตัวเขียนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการบันทึกภาษาและองค์ความรู้ของตนเอง โดยใช้กระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนเจ้าของภาษาและนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ร่วมกันสร้างระบบเขียน ทดลองใช้และแก้ไขปรับปรุงจนชุมชนเจ้าของภาษาสามารถบันทึกหรือเขียนเรื่องเล่าด้วยภาษาของตนเองได้อย่างมั่นใจ และทำให้ภาษาโซ่ (ทะวืง) มีภาษาเขียนและรูปแบบการเขียนที่เป็นของตนเอง ดังนี้

              พยัญชนะต้น 18 ตัว (ราชบัณฑิตยสภา, 2560: 5) ได้แก่ ก ค ง จ ซ ด ต ท น บ ป พ ม ย ล ว อ ฮ  

              พยัญชนะสะกด 8 ตัว (ราชบัณฑิตยสภา, 2560: 5) ได้แก่ –ก –ง –ด –น –บ –ม –ย –ว

              สระใช้สระอย่างภาษาไทย (ราชบัณฑิตยสภา, 2560: 7) ได้แก่ อะ อา อั อิ อี อึ อื เอะ เอ็ เอ แอะ แอ็ แอ เอา เออะ เออ เอิ อุ อู อู โอะ โอะ (ลดรูป) โอ เอาะ อ็อ ออ เอียะ เอีย เอือะ เอือ อัวะ อัว

              ภาษาพูดมีคำพยางค์เดียว 2 พยางค์ 3 พยางค์ขึ้นไป แต่ส่วนใหญ่เป็นคำพยางค์เดียว ปัจจุบันมีการยืมคำภาษาไทยกลาง ภาษาลาว (ไทอีสาน) มาใช้ปะปน โดยใช้เสียงที่ต่ำลง เช่น ไฟฟ้า ออกเสียง /ฟัยฟา/ เอี่ยน ออกเสียง /เยียน/ ชาวโซ่ (ทะวืง) พูดภาษาและรู้จักคำในภาษาโซ่ (ทะวืง) น้อยลง ชาวโซ่ (ทะวืง) สามารถสื่อสารและทำความเข้าใจความหมายในภาษาโซ่ (ทะวืง) ได้ราวร้อยละ 40-50 ผู้ที่สามารถใช้และสื่อสารด้วยภาษาโซ่ (ทะวืง) ได้เชี่ยวชาญ คือ นางมุนทา มุกดาพันธ์ อายุ 88 ปี

              ภาษาโซ่ (ทะวืง) ไม่มีตัวอักษรจึงไม่มีภาษาเขียน แต่มีการนำพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ในภาษาไทยกลางมาใช้เขียนแทนเสียงภาษาโซ่ (ทะวืง) พ.ศ.2560 สำนักงานราชบัณฑิตยสถานได้รวบรวมระบบภาษาโซ่ (ทะวืง) และจัดทำคู่มือระบบเขียนภาษาโซ่ (ทะวืง) เผยแพร่เพื่อใช้เป็นแบบเรียนภาษาโซ่ (ทะวืง) ชาวโซ่ (ทะวืง) ในชุมชนยังได้รวบรวมนิทานและนำมาเขียนเป็นนิทานโซ่ (ทะวืง) ด้วยระบบการเขียนภาษาไทย

     

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปกกสิณ ชาทิพฮด  มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร 

    ปีงบประมาณ 2562, วันที่อัพโหลด;  27 กันยายน 2562 

    เอกสารอ้างอิง

    • กุมารี ลาภอาภรณ์และคณะ. (2558). การฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นในรูปแบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น : พี่เลี้ยงทำงานอย่างไร ใน วารสารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 14 (เมษายน - กันยายน 2558) หน้า 54-55.
    • คุรุสภา . (2506). ประชุมพงศาวดารภาค 3 และภาค 4 เล่ม 3. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.
    • สุริยา รัตนกุล. (2531). นานาภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล.
    • สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
    • สุวิไล เปรมศรีรัตน์. 2549. ความหลากหลายของภาษาและชาติพันธุ์ในประเทศไทย. นครปฐม:สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
    • สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2560). คู่มือระบบเขียนภาษาโซ่ (ทะวืง) อักษรไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
    • Eberhard, David M., Gary F.Simons, and Charles D.Fennig (Eds.). (2019).               
    • Miller, John D. and Miller, Carolyn. (1967). An Acoustical Study of Brôu Vowels. Phonetica. oai:sil.org:59599. OLAC resources in and about the Eastern Bru  language เข้าถึงเมื่อ 23 มิถุนายน 2562.

    สัมภาษณ์

    • นางมุนทา มุกดาพันธ์, อายุ 88 ปี. บ้านเลขที่ 61 ม.8 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร. สัมภาษณ์
    • นายศิลา พรหมสะอาด, อายุ 80 ปี. บ้านเลขที่ 31 ม.9 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร. สัมภาษณ์
    • นายกา พรหมสะอาด, อายุ 67 ปี. บ้านเลขที่ 125 ม.3 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร. สัมภาษณ์
    • นายพัง ต้นประทุม, อายุ 86 ปี. บ้านเลขที่ 23 ม.9 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว  จ.สกลนคร. สัมภาษณ์
    • นางทอง ต้นประทุม, อายุ 86 ปี. บ้านเลขที่ 23 ม.9 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร. สัมภาษณ์
    • นายแก้ว ต้นประทุม, อายุ 58 ปี. อยู่บ้านเลขที่ 76 ม.9 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร. สัมภาษณ์
    • นายสมปอง ต้นประทุม, อายุ 60 ปี. อยู่บ้านเลขที่ 94 ม.9 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร. สัมภาษณ์

     

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              ภาษาโซ่ (ทะวืง) เป็นภาษาของชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร จากการศึกษาค้นคว้าของนักภาษาศาสตร์จอห์น มิลเลอร์และคาโรลีน มิลเลอร์ (Miller, John D. and Miller, Carolyn) (1967) กล่าวว่า ชนกลุ่มนี้มีภาษาที่แตกต่างจากภาษาโส้ที่ใช้พูดกันอยู่ในอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนครและอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร จึงได้กำหนดชื่อตามกลุ่มภาษาที่แตกต่างนี้ว่า "โซ่ทะวืง" สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ (2547) กล่าวว่า โซ่ทะวืง คือ ชาวโซ่ที่อพยพมาจากหมู่บ้านทะวืงในแขวงคำเกิดคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จากการศึกษาข้อมูลภาคสนาม (สัมภาษณ์, 22 เมษายน 2562 และ 18 กันยายน 2562) พบว่า คำว่า "ทะวืง" มีความหมายหลายประการ ประการแรกหมายถึง "ยุง" ด้วยมีเรื่องเล่าว่ากลุ่มชนนี้ทนต่อสภาพภูมิศาสตร์รวมถึงการกัดต่อยของแมลงมีพิษทั้งหลาย โดยเฉพาะยุง (ทะวืง) จึงได้ชื่อว่าเป็นชาวโซ่ที่ทนต่อยุงกัดหรือ "โซ่ทะวืง" อีกความหมายหนึ่ง คือ เขตแดนหรือบริเวณที่อยู่อาศัย ในอดีตอพยพมาจากบ้านหนองโด่ นากระแด้ง แขวงคำเกิดคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วโยกย้ายครัวเรือนเรื่อยมากระทั่งมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบเทือกเขาภูพาน แต่พื้นที่ไม่อุดมสมบูรณ์เนื่องจากขาดแหล่งน้ำ จึงหาแหล่งน้ำแล้วย้ายมาตั้งบ้านเรือนริมหนองน้ำ (หนองแวง) ความหมายของทะวืงที่แปลว่า "ยุง" หรือ “เขตแดนหรือบริเวณที่อยู่อาศัย” ล้วนแล้วแต่มีความหมายที่ใช้ในภาษาโซ่และเป็นการนิยามความหมายของชื่อกลุ่มของตนเอง ซึ่งมีข้อแตกต่างจากนักวิชาการที่ได้ศึกษาไว้  

              ด้านวัฒนธรรมและประเพณีของชาวโซ่ (ทะวืง) นั้นได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนามากแล้ว จึงสืบทอดประเพณีปฏิบัติตามแบบอย่างของชาวพุทธโดยทั่วไป แต่ก็ยังคงมีร่องรอยของความเชื่อดั้งเดิมคือมีประพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูชาและนับถือผีย่าปู่ (ผีปู่ตา) ที่เป็นประเพณีพิธีกรรมสำคัญของชุมชน ปัจจุบันประชากรของชาวโซ่ทะวืงลดจำนวนลงค่อนข้างมาก การสืบทอดวัฒนธรรมทางภาษาค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อการสูญหายเพราะคนรุ่นหลังไม่นิยมที่จะใช้ภาษาโซ่ (ทะวืง) ในการสื่อสารมากนัก ประกอบกับการส่งเสริมด้านวัฒนธรรมของกลุ่มชนนี้ยังไม่แพร่หลาย จึงถูกกลืนไปกับประเพณีและพิธีกรรมรวมถึงวัฒนธรรมของกลุ่มชนอื่นที่อยู่รายรอบ อาทิ ผู้ไท ญ้อ และลาว (ไทอีสาน)

     

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              เรื่องราวความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) ไม่ค่อยปรากฏหลักฐานมากนัก หลักฐานที่ได้ส่วนมากมาจากประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่มีข้อมูลค่อนข้างตรงกันว่า อพยพเข้ามาประประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 3 โดยถูกกวาดต้อนหรือการเกลี้ยกล่อมมาพร้อมกับกลุ่มคนอื่น ๆ เช่น ชาวลาว ชาวผู้ไท ชาวญ้อ ในสมัยนั้น แล้วมาตั้งหลักปักฐานบ้านเรือนอยู่ในหลายจังหวัด ได้แก่ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์

              การอพยพเข้ามาของชาวโซ่ (ทะวืง) ในสมัยนั้นคงจะเข้ามาพร้อมกับกลุ่มชนอื่น ๆ ที่ถูกกวาดต้อนหรือเกลี้ยกล่อมมา เช่น เมืองวัง เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองตะโปน เมืองพิน เมืองรม เมืองนอง เมืองผาบัง เมืองมหาชัยกองแก้ว เมืองภูวานากะแด้ง แล้วกระจัดกระจายกันไป และกลุ่มชนชาวโซ่ (ทะวืง) ได้ออกไปกับกลุ่มอื่น ๆ ที่ไปยังบ้านท่าขอนยาง สอดคล้องกับที่พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 4 ได้กล่าวถึงการตั้งเมืองท่าขอนยาง ไว้ว่า

              "ลุจุลศักราช 1207…..โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระคำดวน (ฤาคำกอน) เมืองคำเกิด ซึ่งตั้งอยู่บ้านท่าขอนยาง เป็นพระสุวรรณภักดีเจ้าเมือง ให้อุปฮาดเมืองคำเกิดเป็นอุปฮาด ราชวงษ์เมืองคำเกิดเป็นราชวงษ์ ราชบุตรเมืองคำเกิดเป็นราชบุตร ยกบ้านท่าขอนยางขึ้นเป็นเมืองท่าขอนยาง ผูกส่วยผลเร่วในจำนวนคน 407 คน"

              การอพยพเคลื่อนย้ายของชาวโซ่ (ทะวืง) นี้ผู้เขียนสันนิษฐานว่าน่าจะเข้ามาพร้อมกับกลุ่มชาวญ้อ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีหลงเหลืออยู่ที่เป็นเอกสาร ได้แก่ บันทึกที่อยู่ในวัดคีรีวิหาร บ้านหนองแวง มีอายุมากกว่า 100 ปี และวัดโชติการาม บ้านหนองบัว บริบทด้านประชากรของชาวโซ่ (ทะวืง) แบ่งออกเป็นจำนวนครัวเรือนและจำนวนประชากร ซึ่งสำรวจจากข้อมูลผู้นำหมู่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน มีรายละเอียดดังนี้

              บ้านดงสร้างคำ มีจำนวนครัวเรือน 176 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาวโซ่ (ทะวืง) 10 ครัวเรือน  ประชากรที่เป็นชาวโซ่ (ทะวืง) จำนวน 50 คน

              บ้านหนองเจริญ มีจำนวนครัวเรือน 110 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาวโซ่ (ทะวืง) 100 ครัวเรือน   มีประชากรที่เป็นชาวโซ่ (ทะวืง) จำนวน 200 คน

              บ้านหนองแวง มีจำนวนครัวเรือน 208 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาวโซ่ (ทะวืง) 150 ครัวเรือน  มีประชากรที่เป็นชาวโซ่ (ทะวืง) จำนวน 450 คน

              บ้านหนองม่วง มีจำนวนครัวเรือน 240 ครัวเรือน แบ่งเป็นชาวโซ่ (ทะวืง) 200 ครัวเรือน  มีประชากรที่เป็นชาวโซ่ (ทะวืง) จำนวน 800 คน

      

              ชาวบ้านหนองแวงในอดีตมาตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณนี้เมื่อประมาณ พ.ศ. 2385-2386 สมัยรัชกาลที่ 3 ของไทย และสมัยเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ โดยเป็นชาวโซ่ (ทะวืง) ที่อพยพมาจากแขวงคำเกิด คำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนื่องจากเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างคนที่สนับสนุนหรือเห็นด้วยกับอุดมการณ์ของเจ้าอนุวงศ์และคนที่ต้องการแยกตัวออกมา ทำให้ชาวโซ่ (ทะวืง) เกิดการอพยพครั้งใหญ่ 3 ครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรกอพยพมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไปยังบ้านท่าขอนยาง (ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม) เนื่องจากชาวโซ่ (ทะวืง) ไม่ชอบความวุ่นวาย ชอบอยู่ตามป่าเขา อาศัยอยู่ที่ใดที่หนึ่งได้สักระยะจึงย้าย แล้วเปลี่ยนมาอยู่ที่บ้านดงมูล บ้านดงบัง บ้านหนองไม้ตาย (ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์) แต่อยู่ได้สักพักก็เห็นว่าไม่เหมาะสม สุดท้ายจึงได้อพยพคนมาอยู่ที่บ้านหนองแวง เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยป่า มีความอุดมสมบูรณ์และมีต้นยางจำนวนมาก

              ชาวโซ่ (ทะวืง) เมื่อเข้ามาในดินแดนรกร้างบริเวณนี้ ได้เลือกที่ตั้งบ้านเรือนโดยพิจารณาจากลักษณะภูมิประเทศที่มีต้นยางใหญ่ เนื่องจากน้ำยางจากต้นยางสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการจุดไฟ ชาวบ้านจะนำยางไปแลกเปลี่ยนกับเสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ เป็นที่มาของสำนวนที่ว่า "กะบอง (ขี้ไต้) แลกซ่าง" หมายถึง เอากะบอง (ขี้ไต้) ที่เป็นเชื้อไฟไปแลกกับช้าง กะบองนี้เรียกว่า "กะบองโซ่" สำหรับการแลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ ได้แก่ อาหาร เสื้อผ้า ของป่า ที่นอน หมอน มุ้ง ข้าว ปลาร้า เกลือ ฯลฯ เป็นต้น อีกประการหนึ่งคือเลือกจากการที่มีต้นเตยที่นำมาทำเสื่อ นอกจากนี้ชาวโซ่ (ทะวืง) ยังมีความเชี่ยวชาญในการล่าสัตว์ จึงนำสัตว์ป่าไปแลกสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นอีกทางหนึ่งด้วย

              สมัยก่อนที่จะมีการก่อตั้งบ้านหนองแวง บริเวณนี้เป็นป่าดงดิบ มีช้างป่าและสัตว์น้อยใหญ่จำนวนมาก รวมทั้งยังมีความเชื่อกันว่ามีผีสิงสถิตอยู่มาก ทำให้ไม่มีใครเข้ามาอาศัยในบริเวณนี้ แต่ชาวโซ่ (ทะวืง) ไม่กลัวเรื่องผี กลับเห็นว่าทั้งสัตว์ป่าและผีเป็นเพื่อน ประกอบกับป่าบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีหญ้าแวงอยู่ในหนองน้ำจำนวนมาก ซึ่งหญ้าชนิดนี้สามารถนำมาสานเป็นเสื่อได้ จึงเลือกมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ ชาวบ้านหนองแวงในอดีตเคยอยู่รวมกันแล้วแบ่งเป็น 3 บ้าน ได้แก่ บ้านโพนส่วาง ซึ่งเป็นชาวผู้ไทย และบ้านดงสร้างคำ ซึ่งเป็นชาวญ้อ และบ้านหนองแวง ชาวโซ่ (ทะวืง)  ต่อมาเกิดโรคระบาดขึ้นในปี พ.ศ. 2482 ชาวโซ่จากบ้านหนองแวงหนีตายขึ้นไปอยู่แถบป่ามะม่วง ต่อมากลายเป็นบ้านหนองม่วง และอีกกลุ่มหนึ่งย้ายมาอยู่บริเวณนี้ซึ่งในปัจจุบันคือบ้านหนองเจริญ และกลุ่มสุดท้ายคือที่บ้านหนองแวง

     

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              อดีตชาวโซ่ (ทะวืง) กลุ่มนี้มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้น มีการดำรงชีพและการประกอบอาชีพ 3 ลักษณะ คือ 1. ทำขี้ไต้ เอายางจากต้นยางใหญ่ไปทำขี้ไต้ใช้สำหรับจุดไฟ-ก่อไฟ 2. ทอเสื่อใบเตย เอาต้นเตยมาตากแห้งและนำมาทอเป็นเสื่อ 3. ล่าสัตว์ ชาวโซ่ (ทะวืง) มีการล่าสัตว์ในป่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร ทั้งการทำขี้ไต้ ทอเสื่อและล่าสัตว์มีจุดมุ่งหมายเพื่อเก็บไว้กินและใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้ยังแบ่งส่วนหนึ่งไว้เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนอาหารและเครื่องใช้กับคนในชุนชนอื่น อาหารและสิ่งของที่ชาวโซ่ (ทะวืง) มักไปแลกเปลี่ยนในอดีต อาทิ ที่นอน หมอน มุ้ง ข้าว ปลา ปลาร้า เกลือ เสื้อผ้า หรืออาหารอื่น ๆ

              ชาวโซ่ (ทะวืง) มีการทำนาแบบ "ข้าวไฮ่" หรือ "ข้าวน่ำ" ปลูกข้าวโดยการใช้ไม้หรือปลายด้ามเสียมเป็นตัวนำหยอดเมล็ดข้าวในหลุม หลุมหนึ่งจะหยอดเมล็ดข้าว 3-4 เมล็ด หลุมข้าวห่างกันราว 30 เซนติเมตร นิยมปลูกข้าวห้าวแดง (ข้าวเหนียว) ข้าวหวายเวียงอีเหลืองน้อย (ข้าวดอ) โดยปลูกข้าวปลายเดือนเมษายนและเก็บเกี่ยวเดือนตุลาคม  ต่อมาเริ่มเรียนรู้วิธีการทำนาเป็นแปลง คือ การปลูกข้าวแบบนาดำ เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนเท่านั้น เมื่อมีความต้องการข้าวมากขึ้นจึงเริ่มทำ "นาข้าว" เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการทำสวนปลูกพืชสำหรับบริโภค พัฒนาการการทำไร่ที่ชาวโซ่ (ทะวืง) เกิดรายได้เริ่มมีมาราว พ.ศ.2516 เริ่มปลูกต้นปอ พ.ศ.2518-2519 เริ่มปลูกมัน พ.ศ.2520 เริ่มปลูกอ้อย และ พ.ศ.2540 เริ่มปลูกยางพารา       

              ปัจจุบันชาวโซ่ (ทะวืง) ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคืออาชีพนอกภาคเกษตรกร ได้แก่ รับจ้างทั้งในชุมชนและนอกชุมชน ซึ่งนอกชุมชนมีทั้งในและนอกประเทศ มีบางส่วนที่รับราชการ

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              ในอดีตมีการสร้างครอบครัวโดยการแต่งงานกันในกลุ่ม แต่เมื่อมีการอพยพเข้ามาในประเทศไทยและการย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ร่วมกันคนกลุ่มอื่น ๆ (สัมภาษณ์, 22 เมษายน 2562) เกิดความคุ้นเคยและเข้าใจวิถีชีวิตกันจึงมีการแต่งงานกับคนต่างชาติพันธุ์ เกิดการขยายเครือญาติ มีเครือญาติทั้งชาวญ้อ ชาวไทอีสาน และชาวผู้ไท เป็นระบบสังคมที่ให้ความสำคัญกับผู้อาวุโสและให้ความสำคัญกับญาติทางฝ่ายชายเห็นได้จากเวลานับถือผีจะนับถือตามสายตระกูลของบิดา

              ปัจจุบันการพึ่งพาแรงงานกันในการทำการเกษตรในกลุ่มเครือญาติมีน้อยลง เนื่องจากแต่ละครอบครัวประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน วัยแรงงานในแต่ละครอบครัวอพยพออกไปทำงานนอกชุมชน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับสังคมอีสานทั่วไป ดังนั้นแต่ละครอบครัวจึงแก้ปัญหาโดยการจ้างแรงงานเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร

              ตระกูลสำคัญของชาวโซ่ (ทะวืง) ที่ปรากฏใน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ ตระกูล  จันทะดา, จันทร์โคตรแก้ว, ต้นประทุม, มุกดาพันธ์, ศรคำหาร, แก้วละมุล, ขุนศาลา, พรหมสะอาด, พัดต้นคำ, ตามประสี, ด้วงได้,อินทร์จันดา, แก้วกะฮาด, พรหมชลอก, อุ้ยวง, คำเรืองโคตร, โคตรสละ, โต่งตาล ซึ่งตระกูลเหล่านี้ปรากฏอยู่ในหมู่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองแวง หนองเจริญ หนองม่วงและดงสร้างคำ

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              การแต่งงานของชาวโซ่ (ทะวืง) มีประเพณีแต่งงานที่ผู้หญิงต้องย้ายเข้ามาอยู่บ้านของผู้ชายหลังแต่งงาน หรือที่เรียกว่า แต่งเอาสะใภ้เข้าบ้าน บางครอบครัวอาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกันกับพ่อแม่ บางครอบครัวแยกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ดินของพ่อกับแม่ ผู้นำครอบครัว คือ ฝ่ายชายมีภรรยาเป็นดูแลเรื่องต่าง ๆ ในครอบครัว อยู่กันแบบผัวเดียวเมียเดียว ไม่นิยมให้มีการหย่าร้าง หากจะแต่งงานใหม่ส่วนใหญ่มาจากการเสียชีวิตของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              ผู้หญิงชาวโซ่ (ทะวืง) ในอดีตนุ่งผ้าถุง ใช้ผ้าขาวม้าปกปิดร่างกายส่วนบน ใส่ต่างหู (กระจอนหู) ทำมาจากเงิน ส่วนผู้ชายนิยมนุ่งผ้าขาวม้า ย้อมผ้ามาจากสีธรรมชาติและทอผ้าใช้เอง  ยุคที่มีการตัดเย็บเสื้อผ้าและซื้อขายเสื้อผ้า ผู้หญิงยังคงนุ่งผ้าถุงสีดำและสีเข้ม ชายผ้าถุงเป็นสีขาว และสวมเสื้อผ่าหน้าสีพื้นเข้ม ผู้ชายนุ่งผ้าขาวม้าและกางเกง สวมเสื้อสีพื้นแขนยาว ปัจจุบันทั้งผู้ชายและผู้หญิงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าตามสมัยนิยม ชาวโซ่ (ทะวืง) ไม่นิยมทำเครื่องแต่งกายหรือผ้าพื้นเมืองใส่เองมักซื้อหาเครื่องนุ่งห่มตามตลาดทั่วไป  

         

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              ลักษณะบ้านเรือนในอดีตนิยมสร้างเป็นเรือนไม้ ยกพื้นสูงจากพื้นดินราว 1.5 -2 เมตร ฝาบ้านทำจากไม้ไผ่สานขัดกันให้เป็นโครง แล้วนำใบตองกุงมาสานเป็นฝาบ้าน หลังคาบ้านทำมาจากหญ้าแฝก ชั้นบนเป็นตัวเรือนขนาดกลางไปถึงขนาดใหญ่ ใช้ไม้ขนาดใหญ่ 6 – 10 ต้น มาสร้างเป็นเสาบ้าน ชั้นบนแบ่งสัดส่วนออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ห้องเจ้าของเรือน ส่วนที่ 2 คือ ห้องโล่งขนาดใหญ่ใช้สำหรับเป็นที่นอนและพักผ่อนสำหรับคนในครอบครัว ชั้นล่างยกพื้นสูงเพื่อเป็นคอกวัวหรือควาย  เก็บอุปกรณ์การเกษตร นอกจากนี้ยังใช้วางแคร่เพื่อใช้ในการพักผ่อนและทำกิจกรรมทางครอบครัว บันไดบ้านทำจากแผ่นไม้ขนาดกลาง ห้องน้ำอยู่ด้านล่าง บริเวณหลังบ้านมักสร้างแยกออกมาจากตัวบ้าน แต่เดิมชาวโซ่ (ทะวืง) ไม่มีห้องน้ำเป็นสัดส่วน ห้องครัวอยู่ด้านล่างสร้างแยกออกมาจากตัวบ้าน 

              ปัจจุบันชาวโซ่นิยมสร้างบ้าน 3 ลักษณะ คือ 1. บ้านไม้ทั้งหลัง คล้ายแบบบ้านที่สร้างในอดีตแต่ใช้หลังคาเป็นสังกะสีหรือกระเบื้อง บ้านลักษณะนี้มีอยู่จำนวนน้อย 2. บ้านไม้ครึ่งปูน ชั้นล่างสร้างก่ออิฐฉาบปูน ติดหน้าต่าง หรือมีเสาปูนด้านล่างยกพื้นสูง 3. บ้านปูนชั้นเดียว กำลังได้รับความนิยมในชาวโซ่ (ทะวืง) เพราะวัสดุหาง่าย ราคาไม่แพงและมีความทนทาน

    อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              ชาวโซ่ (ทะวืง) บริโภคอาหารที่หาได้จากธรรมชาติ และได้มาจากการแลกเปลี่ยนอาหารกับชุมชนอื่น เช่น เห็ด หน่อไม้ เขียด อึ่งอ่าง ปลา ไก่ หมู (กินในชีวิตประจำวันและใช้เลี้ยงผีปู่ตา) ไข่มดแดง กระถิน ผักบุ้ง ผักพาย ผักเม็ก ในโอกาสพิเศษก็จะฆ่าควายและวัวมาทำเป็นอาหาร ส่วนใหญ่ทำอาหารด้วยการย่างและต้ม นำมาปรุงรสด้วยเกลือเป็นหลัก

              ปัจจุบันก็ยังคงรับประทานอาหารแบบดั้งเดิม คือ กินข้าวเหนียวกับอาหารพื้นถิ่น เช่น แกงหน่อไม้ แกงอ่อม ป่น แจ่ว เดิมแต่มีรสชาติที่จัดจ้านขึ้น เช่น แกงไก่ใส่หวาย (นับเป็นอาหารชั้นดี ภาษาโซ่เรียกว่า อะโดกาสือกะรูด) แกงไก่ใส่หน่อไม้อ่อน ข้าวต้มมัดคลุกมะพร้าว ขนมแหนบ (ข้าวต้มที่มีไส้เป็นงาดำโขลกผสมน้ำอ้อย) ลอดช่อง (ขนมใหม่ของชาวโซ่ (ทะวืง)

  • ประเพณีและเทศกาลสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมของชาวโส้ (ทะวืง) ยึดถือตามระบบฮีตสิบสองคล้ายกับชาวอีสานโดยทั่วไปแต่มีหลายประเพณีที่ไม่ปรากฏใน 4 หมู่บ้านในปัจจุบัน จากการสัมภาษณ์ปราชญ์ชุมชน (สัมภาษณ์, 22 เมษายน และ 19 กันยายน 2562) พบว่า เดือน 1, 2, และ 7 ไม่มีงานประเพณีที่ทำเป็นประจำแต่มีการทำบุญตักบาตรอย่างสม่ำเสมอ เดือนที่มีความสำคัญในการจัดประเพณีมากที่สุด คือ บุญเดือน 3 พิธีเลี้ยงผีย่าปู่ซึ่งในรอบปีจะต้องจัดพิธีนี้ขึ้นเพื่อขอขมาและไหว้ขอบคุณผีประจำชุมชน นอกจากนี้ยังมีบุญเดือน 4 บุญเดือน 5 บุญเดือน 6 บุญเดือน 8 บุญเดือน 9 บุญเดือน 10 บุญเดือน 11 และบุญเดือน 12

              ประเพณีเกี่ยวกับการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ มีอยู่ในเดือน 3 ซึ่งจะมีการจัดงาน "บุญเดือน 3" เป็นประเพณีการเลี้ยงเจ้าปู่หรือย่าปู่ที่ดอนย่าปู่ ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เพราะชาวโซ่ (ทะวืง) เชื่อกันว่าท่านคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยคุ้มครองปกปักรักษาให้คนในชุมชนอยู่ดีมีสุข หากปีใดไม่จัดงานเลี้ยงท่านจะไม่พอใจและบันดาลภัยพิบัติต่าง ๆ ให้ชาวบ้านเกิดความเดือดร้อน ดังนั้นจึงถือว่าท่านเป็นเทพเจ้าของชาวโซ่ (ทะวืง)

     

  • การเกิดของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              การคลอดบุตร ชาวโซ่ (ทะวืง) มีความเชื่อเรื่องผี หรือ "ญาณ" และผีบ้านผีเมือง และยังเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนมาเกิดเป็นลูกหลาน เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบ ดังนั้นเด็กเกิดมาต้องรับขวัญ เลี้ยงดูให้ดี ส่งเสียให้เรียน และที่สำคัญต้องมีการผูกข้อมือ

     

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

            สำหรับชาวโซ่ (ทะวืง) ไม่มีวัฒนธรรมการคลุมถุงชน สามารถแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ได้ ส่วนประเพณีการแต่งงานของชาวโซ่ (ทะวืง) จะแต่งเข้าหรือแต่งออกก็ได้ แล้วแต่ความพึงพอใจ ลักษณะการจัดงานเป็นแบบโบราณผสมผสานกับแบบสมัยใหม่ กล่าวคือ มีทั้งการพาขวัญแบบโบราณ และจัดงานกินเลี้ยงแบบสมัยใหม่ มีการสูดขวัญหรือสู่ขวัญบ่าวสาว

  • การตายและการทำศพของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

             เมื่อมีคนตายชาวโซ่ (ทะวืง) จะตั้งศพไว้ที่บ้าน มีการสวดเป็นภาษาไทยกลาง นำสวดโดยผู้นำทางพิธีกรรม และใช้วิธีการเผาศพกลางแจ้ง

  • ประเพณีเลี้ยงผีของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              เดือน 3 จัดพิธีเลี้ยงผีย่าปู่ ซึ่งชาวโซ่กลุ่มนี้เรียกว่ามเหสักข์หลักเมือง ดอนฮอ หรือ เจ้าปู่ โดยจัดพิธีกรรมขึ้นยังดอนย่าปู่ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3  ชาวโซ่ (ทะวืง) ใช้สรรพนามเรียกแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า "ท่าน" โดยเชื่อว่าท่านเป็นเสมือนเทพ ที่คอยดูแลรักษาและปกป้องคุ้มครองชาวบ้านให้มีความสุข มีหูทิพย์ตาทิพย์ ดังนั้นท่านถือเป็นเทพเจ้าของชาวโซ่ (ทะวืง) หากปีใดที่ชาวบ้านไม่จัดงานพิธีเพื่อเลี้ยงท่าน ท่านจะแสดงอิทธิฤทธิ์ให้ชาวบ้านได้เห็นทำให้เกิดอาเพศ เช่น บันดาลน้ำให้มีจำนวนมากกว่าปกติ สาเหตุที่ชาวบ้านเกิดความเชื่อถือเป็นเพราะว่าเคยมีคนมาขอพรท่าน เมื่อท่านรู้จึงบันดาลพรนั้นให้แก่ผู้ที่มาขอได้ตามประสงค์ เชื่อกันว่าท่านอยู่บริเวณนี้มาก่อนและบริเวณนี้เป็นเมืองเก่ามีชื่อว่า "เมืองผาพงดงก่อ" (ติดกับบ้านพันนาและอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ในปัจจุบัน) เกิดในยุคบ้านเชียง โดยมีหลักฐานปรากฏอยู่บนภาพเขียนสีที่ผาผักหวาน ตำบลภูตะคาม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

     

    ภาพเขียนสีที่ผาผักหวาน ตำบลภูตะคาม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

     

              สำหรับพิธีกรรมวันนี้เป็นลักษณะการบนและไหว้โดยใช้หมู ไก่ต้ม เหล้าขาว และขัน 5 สำหรับการจัดเตรียมงานชาวบ้านจะรวมเงินกันจาก 3 หมู่บ้านเพื่อมาซื้อหมู จำนวนหมูที่ใช้ในพิธีขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มี มีผู้นำประกอบพิธีกรรมเรียกว่า "ตุ๊จ้ำ" คนปัจจุบันคือ พ่อลุน จันทาดา การสืบทอดผู้นำประกอบพิธีกรรมคนต่อไป ใช้วิธีสืบทอดโดยการที่ชาวบ้านเล็งเห็นว่าคนที่สามารถสื่อสารกับท่านได้และมีอาวุโส ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ ก็จะได้สืบทอดตำแหน่งนี้ต่อไป

              ขั้นตอนตามพิธีกรรมเริ่มจากวันแรม 14 ค่ำ จัดงานสืบสานวัฒนธรรมโซ่ (ทะวืง) (ปี พ.ศ.2562 นับเป็นครั้งที่ 6) ต่อมาในคืนวันขึ้น 2 ค่ำ มีการบวงสรวง เชือดหมูบูชายัญให้ย่าปู่ ต้องเตรียมให้ชาวบ้านมาในงานอย่างพร้อมเพรียงกันและรอเวลาตามความเหมาะสมหรือความพร้อม จึงเริ่มเชือดหมูต่อหน้าย่าปู่ ก่อนเชือดหมูต้องทำให้หมูร้องเสียงดังๆ เพื่อส่งสัญญาณให้รู้ว่ากำลังจะเข้าสู่พิธีกรรม คนที่บนหรือขอพรต่อท่านไว้ก็จะมาในวันนี้ ได้ทั้งช่วงเช้า เที่ยง ไปจนถึงบ่าย หมูที่เชือดแล้วจะทำเลี้ยงกันเองภายในบริเวณที่ประกอบพิธีกรรม เลี้ยงเพื่อให้ท่านอิ่มเอมและเพื่อขอบคุณท่าน ไม่มีการเสี่ยงทายใด ๆ บางปีมีดนตรีประกอบด้วย และบุคคลจากภายนอกชุมชนสามารถเข้าไปร่วมในพิธีกรรมนี้ได้ จากนั้นวันขึ้น 3 ค่ำ จะมีการเลี้ยงพระที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน

              เดือน 6 พิธีเลี้ยงผีถ้ำวังแช่กลอย "ถ้ำวังแช่กลอย" เป็นถ้ำที่ตั้งอยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ผู้อาวุโสของชุมชนเล่าว่า ชาวโซ่ (ทะวืง) ในอดีตที่มาตั้งบ้านและทำมาหากินนั้นได้ขุดหาหัวกลอยและนำไปแช่น้ำไว้บริเวณถ้ำแห่งนี้ ชาวบ้านในสมัยนั้นมักเห็นคนมาเฝ้ากลอยและล้างกลอยให้เสมอ แต่เมื่อเดินมาถึงบริเวณที่แช่กลอยไว้ปรากฏว่าไม่พบผู้ใด ชาวบ้านจึงเชื่อว่ามีผีคอยดูแลรักษาให้ จึงได้ประกอบพิธีกรรมนี้ขึ้นมา โดยจัดขึ้นในเดือน 6 ก่อนที่ชาวโซ่ (ทะวืง) จะเริ่มปลูกข้าว (ก่อนลงนา) เพื่อขอฝนจากผีถ้ำวังกลอยช่วยบันดาลให้ฝนตกและดูแลน้ำในการทำการเกษตรให้มีอย่างอุดมสมบูรณ์ เครื่องประกอบพิธีที่ขาดไม่ได้ คือ หมู เหล้า และขัน 5 (เทียนและดอกไม้ 5 คู่) นอกจากนี้ยังมีอาหารคาวหวานที่ชาวโซ่นำมาร่วมพิธีด้วย โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม รูปแบบพิธีคล้ายกับพิธีเลี้ยงย่าปู่ในเดือน 3 ซึ่งมีการเชือดหมูประกอบพิธีกรรมด้วย       

     

  • ประเพณีเซ่นไหว้บรรพชนของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              เดือน 9 บุญข้าวประดับดิน จัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำเดือน 9 เริ่มขึ้นช่วง ตี 3 หรือตี 4 เป็นต้นไป เพื่ออุทิศบุญส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ ชาวโซ่จะเตรียมห่อข้าวมาจากบ้าน ในห่อข้าวประกอบด้วยข้าว อาหารคาว อาหารหวาน  หมากพลู บุหรี่ แล้วห่อด้วยใบตองกล้วย ใช้เชือกหรือตอกมัดห่อข้าวให้แน่น แล้วนำห่อข้าวนั้นไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ วางไว้โคนต้นไม้หรือวางไว้รอบกำแพงวัด แล้วกล่าวให้วิญญาณของญาติที่ล่วงลับมารับส่วนกุศลที่ทำบุญในครั้งนี้ หลังจากนี้จะมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และมีการกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลด้วย

  • ประเพณีอื่น ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              ประเพณีเกี่ยวกับการบวช มีทั้งการบรรพชาฤดูร้อนและบวชศึกษาธรรม ส่วนใหญ่จะบวชเพื่อทดแทนคุณพ่อแม่

  • เทศกาลสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              เดือน 4 บุญผะเหวด จัดขึ้นในบางปีเท่านั้น ไม่ได้จัดต่อเนื่องเป็นประจำเหมือนกับพิธีเลี้ยงผีย่าปู่ บุญผะเหวดของชาวโซ่ (ทะวืง) จัดด้วยความร่วมมือกันของฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส พิธีนี้จะประชุมกันเพื่อจัดหาวันที่เหมาะในช่วงเดือนนี้ โดยจะมีการทำบุญตักบาตรก่อน แล้วจึงมีขบวนแห่ของพระเวสสันดร นางมัทรี ชูชก กัณหา ชาลี พราน ช้าง ข้าวพันก้อนและเครื่องไทยธรรม หลังจากนั้นจะเป็นการถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์หรือสามเณรที่เทศน์เรื่องพระเวสสันดร พระสงฆ์หรือสามเณรที่ขึ้นเทศน์นั้นมีทั้งภายในและภายนอกชุมชนที่นิมนต์มาร่วมเทศน์จนครบ 13 กัณฑ์ ชาวบ้านที่มาร่วมงานจะถวายปัจจัย ข้าวสาร ผลไม้ น้ำหวาน แด่พระสงฆ์หรือสามเณรก่อนหรือระหว่างเทศน์ หากรูปใดเทศน์ได้ถูกใจหรือมีทำนองที่โดดเด่นจะได้รับปัจจัยพิเศษจากญาติโยมที่เข้าฟังเทศน์     

              เดือน 5 บุญสงกรานต์ จัดขึ้นในบางปีเท่านั้น จัดขึ้นช่วงวันสงกรานต์ โดยมีพิธีแห่พระพุทธรูปจากอุโบสถวัดไปรอบชุมชน ขบวนแห่มีการประดับดอกไม้อย่างสวยงามและมีเครื่องดนตรีเพื่อสร้างความครื้นเครงสนุกสนาน แล้วขบวนแห่จะมาหยุดที่วัดเพื่อให้ชาวบ้านได้กราบไหว้และสรงน้ำพระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคล ความร่มเย็นผาสุกในการดำเนินชีวิต เมื่อพ้นเทศกาลสงกรานต์จึงจะอันเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานยังที่เดิม  

              เดือน 8 บุญเข้าพรรษา มีการทำบุญตักบาตรและถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และสามเณร พระสงฆ์แสดงธรรมเทศนาแก่ชาวบ้าน ชาวบ้านถวายเทียน หลอดไฟ และเครื่องไทยทานแด่พระสงฆ์และสามเณร

              เดือน 10 บุญข้าวสาก หรือ บุญสลากภัตร จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวโซ่จะเตรียมอาหารคาวหวานไปถวายพระ โดยจะเขียนชื่อผู้ถวายและผู้ที่ต้องการอุทิศส่วนกุศลให้มาในสลากด้วย พระสงฆ์จะอ่านชื่อตามที่เขียนไว้แล้วผู้ถวายเข้าไปถวายของ พระสงฆ์จะแสดงธรรมเทศนาเพื่อเป็นการอุทิศให้แก่ผู้ตายด้วย

              เดือน 11 บุญออกพรรษา ชาวโซ่ (ทะวืง) จะทำบุญตักบาตรหลังวันออกพรรษา

              เดือน 12 บุญกฐิน ครอบครัวใดจะถวายกฐินแก่วัดในปีนั้น ๆ จะตั้งกองกฐินที่บ้านอย่างเปิดเผย พร้อมทั้งตั้งเครื่องอัฐบริขารและเครื่องกฐิน  ส่วนญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจะนำเงินหรือสิ่งของไปสมทบที่กองกฐิน  เช่น เสื่อ หมอน ถ้วย จาน  เมื่อถึงวันทอดกฐินจะแห่กฐินไปยังวัดแล้วถวายเครื่องทั้งหมดแด่พระสงฆ์และวัดที่รับกองกฐิน ส่วนงานลอยกระทงเป็นงานที่จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตอนเย็นมีงานลอยกระทง โดยมีการจำหน่ายกระทงทั้งของชาวบ้านและของส่วนกลางจากวัด บางปีมีการจ้างการแสดงต่าง ๆ มาทำการแสดงเพื่อความสนุกสนานครื้นเครงของผู้เข้าร่วมงาน

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              ชาวโซ่ (ทะวืง) นับถือป่าและอำนาจเหนือธรรมชาติ ความเชื่อเรื่องผีหลายประเภท เช่น ผีปู่ผีย่า ผีพ่อผีแม่ ผีไร่ผีนา แม่ธรณี ผีป่า ผีเขา ผีปอบ ผีเป้า ผีโพง  ปัจจุบันชาวโซ่ (ทะวืง) ได้หันมานับถือพุทธศาสนาเป็นหลักผสมผสานกับการนับถือผี  เพราะเชื่อว่าผีช่วยปกปักรักษาชาวบ้าน

              ผีย่าปู่ เป็นผีประจำชุมชนทั้ง 4 ชุมชน ทั้งหนองแวง หนองเจริญ หนองม่วง ดงสร้างคำ มีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น ดอนฮอ มเหสักข์หลักเมือง ผีเจ้าปู่ ผีปู่ตา เชื่อกันว่าย่าปู่มาจากเมืองผาผงดงก่อ (เมืองในนิทานเรื่องผาแดงนางไอ่)  ชาวโซ่ (ทะวืง) จะจัดพิธีเลี้ยงผีย่าปู่ทุกปีในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ (จันทรคติ) ชาวบ้านจะรวมเงินกันซื้อหมูมาเลี้ยงถวายผีย่าปู่ และมีไก่ต้ม ขัน 5 หรือ ขัน 8 เหล้าขาว เป็นเครื่องประกอบพิธี โดยมี "ตุ๊เจ้า" หรือ "เฒ่าจ้ำ" เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ปัจจุบันนายรุณ จันทะดา เป็นตุ๊เจ้าของชุมชน ในวันเลี้ยงผีอีปู่ชาวบ้านจะทำพิธีไหว้และบอกกล่าว แล้วนำหมูมาเชือดที่ดอนย่าปู่ตอนย่ำรุ่งและจะเชือดหมูเสร็จก็จะเป็นเวลารุ่งสางพอดี แล้วมารวมกันกินอาหารเช้ากันที่ศาลากลางบ้าน  

              ผีบรรพบุรุษ หรือ ผีพ่อผีแม่ เป็นผีบรรพบุรุษ ชาวโซ่ (ทะวืง) นับถือผีทางบิดา

              ผีไร่ผีนา มีการไหว้ผีนาด้วยขัน 5 หรือขัน 8 และพาหวาน ข้าวที่ใช้ในพาหวานนิยมใช้ข้าวกล่ำ เพื่อเลี้ยงผีนาให้อิ่มหนำสำราญ และขอให้ผีไร่ผีนาดูแลรักษาผลผลิตในท้องนา หลังจากพิธีนี้เสร็จสิ้นชาวบ้านถึงจะเริ่มทำนา

  • ข้อห้าม ข้อปฏิบัติของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              ข้อห้ามเรื่องงานศพ คือ ไม่เผาศพวันอังคาร ชาวโซ่ (ทะวืง) เรียกว่า "ไม่เอาขอนออกบ้าน ไม่เอาผีออกป่า" นอกจากนี้หากครอบครัวใดมีผู้เสียชีวิตหรือจัดงานศพที่บ้าน วันนั้นจะไม่นำหลัวหรือฟืนที่หามาได้เข้าบ้าน

              ข้อห้ามของผู้ชาย คือ เมื่อผู้ชายไปวัดลาพระสงฆ์เสร็จแล้ว ห้ามผู้ชายลอดราวตากผ้า

              ข้อห้ามในการเข้าป่า/ลงน้ำ คือ ห้ามกล่าวท้าทายหรือโอ้อวดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผีสางในป่าหรือน้ำ 

              ข้อห้ามเปิดเล้าข้าว คือ ห้ามเปิดเล้าข้าวก่อนวันขึ้นเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ (ปัจจุบันไม่ถือข้อห้ามนี้แล้ว)

              ข้อห้ามเขย คือ ห้ามลูกเขยเข้าห้องพระประจำครอบครัวของภรรยา (ปัจจุบันไม่ถือข้อห้ามนี้แล้ว)

     

  • พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              ศาสนสถานในปัจจุบันของชาวโซ่ (ทะวืง)

              บ้านหนองแวง คือ วัดคีรีวิหาร (บ้านหนองแวง) เป็นวัดเก่าแก่อยู่คู่กับชุมชนมายาวนานกว่า 100 ปี เป็นศาสนาสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวโซ่ (ทะวืง) จะมาร่วมกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทุกวันพระและวันสำคัญทางศาสนา เป็นศูนย์รวมคนให้เป็นกลุ่มเดียวกัน 

              "วัดถ้ำพวง" เป็นวัดที่มีการจำลองสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ไว้ให้ประชาชนได้กราบสักการะ 

              "วัดถ้ำเป็ด" ชาวโซ่ (ทะวืง) เชื่อกันว่าวัดทั้งสองแห่งนี้มีองค์เทพสถิตอยู่เพื่อคอยคุ้มครองชาวบ้านอยู่

              พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ ได้แก่ ดอนย่าปู่และบริเวณป่าโดยรอบ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของชุมชน ศาลปู่ตาตั้งอยู่ในดอนปู่ตา เป็นที่พำนักของ "ผีย่าปู่" นับเป็นจุดศูนย์กลางทางจิตวิญญาณ ชาวโซ่กลุ่มนี้ให้ความเคารพและศรัทธาผีย่าปู่มาก

     

  • การรักษาของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              ชาวโซ่ (ทะวืง) เชื่อว่าคนโซ่ (ทะวืง) ครึ่งหนึ่งเป็นคนและมีจิตวิญญาณของผีอยู่ร่วม (จึงมักมีคำพูดว่า ชาวโซ่ (ทะวืง) เป็นผีใหญ่) มีความผูกพันกับธรรมชาติ พึ่งพาป่าและสัตว์ โดยชาวบ้านเชื่อว่าตนเกิดมาจากธรรมชาติ จึงเชื่อในการรักษาด้วยสมุนไพรเพราะเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติ โดยมีการดูแลสุขภาพและรักษาโรคด้วยสมุนไพร เช่น ท้องร่วง ปวดเมื่อยเนื้อตัว ท้องอืด สัตว์พิษกัดต่อย หมอยาพื้นบ้านชาวโซ่ (ทะวืง) ที่ปรากฏทั้ง 4 หมู่บ้าน ได้แก่ นายศิลา พรหมสะอาด, นายบัง จันทร์โคตรแก้ว, นายอัคคี จันทรโคตรแก้ว, นายกา พรหมสะอาด, นายบุญมี คำเรืองโคตร, นายคำอ๋า อุ้ยวงศ์ (หมอเป่า), นายขัน อุ้ยวงศ์ (หมอเป่า), นายสมปอง ต้นประทุม, นายทรัพย์ สำราญพัด, นางมุนทา มุกดาพันธ์, นางสา จันทร์โคตรแก้ว (หมอตำแย)

     

    สมุนไพรรักษาโรค : ภูมิปัญญาของชาวโซ่ (ทะวืง)

  • ดนตรีและศิลปะการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              ชาวโซ่ (ทะวืง) ไม่มีศิลปะการแสดงหรือมหรสพที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ แต่จะเป็นการร้องรำทำเพลงตามเทศกาลหรืองานรื่นเริงต่าง ๆ เท่านั้น 

  • เครื่องดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              เครื่องดนตรีของชาวโซ่ (ทะวืง) ได้แก่ กลอง แคน ฉิ่ง และโต้ง (พิณ) วัตถุประสงค์ในการเล่นดนตรีเหล่านี้ นอกจากความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังใช้เล่นจีบผู้หญิงที่หมายปอง กล่าวคือ ชาวโซ่ (ทะวืง) จะนำโต้งและแคนไปเล่นเป็นสัญญาณบอกว่าจะมาจีบสาว อีกกรณีหนึ่งคือ เล่นเครื่องดนตรีให้มีเสียงดังขณะเดินทางผ่านป่า เพราะทำให้สัตว์รู้ว่ามีคนเดินทางผ่านมา จะได้ไม่มาทำอันตรายได้

  • เพลงของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              บทเพลงของชาวโซ่ทะวืงเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ โดยพ่อสมปอง ต้นประทุม แต่งเป็นภาษาโซ่ (ทะวืง) และมีจุดประสงค์ในการแต่งขึ้นเพื่อใช้สำหรับถ่ายทอดภาษา ดังนั้น ชาวโซ่ (ทะวืง) ในปัจจุบันจึงถ่ายทอดภาษาผ่านการใช้ในชีวิตประจำวันและบทเพลง

  • การเต้นรำของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              การเต้นรำหรือร่ายรำของชาวโซ่ (ทะวืง) ในอดีตเรียกว่าเป็นการเต้นรำโบราณ โดยจะมีท่าทางต่าง ๆ ที่เลียนแบบมาจากพฤติกรรมของสัตว์ที่พบเห็น อาทิ ท่าอีแร้งถ่างขา ท่ากาตากปีก หลีกเมียเขา ท่าเสือออกเหล่า ท่าเต่าลงหนอง เป็นต้น

  • การละเล่นของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              การละเล่นของชาวโซ่ (ทะวืง) ส่วนมากเป็นการละเล่นทั่ว ๆ  ไปตามภูมิภาคที่อาศัยอยู่ ไม่ได้มีการละเล่นที่เป็นของตนเองมาแต่โบราณ อาทิ การละเล่นหมากอี่ หมากลี่ (ซ่อนหา) กะบ้า (สะบ้า) ข่าง โถกเถก เป่าพุ เป็นต้น

  • เรื่องเล่า/ตำนาน/วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

    เรื่องเล่าพื้นถิ่น

              เรื่องถ้ำวังแช่กอย (กลอย)

              วังแช่กอย (กลอย) ที่อยู่ใกล้กับถ้ำพวง เทือกเขาภูพาน เป็นที่เคารพของชาวโซ่ (ทะวืง) เพราะเชื่อว่ามีเทพาอารักษ์และผีศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่ปกปักรักษาถ้ำแห่งนี้เอาไว้ ในอดีตที่มาตั้งบ้านและทำมาหากินนั้นได้ขุดหาหัวกลอยและนำไปแช่น้ำไว้ที่ถ้ำแห่งนี้ ชาวบ้านในสมัยนั้นมักเห็นคนมาเฝ้ากลอยและล้างกลอยให้เสมอ แต่เมื่อเดินมาถึงบริเวณที่แช่กลอยไว้ปรากฏว่าไม่พบผู้ใด ชาวบ้านจึงเชื่อว่ามีผีคอยดูแลรักษาให้ ชาวบ้านจึงต้องทำพิธีเซ่นสรวงบวงพลีทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนฤดูกาลการทำนา ชาวบ้านจะนำหมูขึ้นไปเชือดบูชายัญที่ถ้ำแห่งนี้ และบอกกล่าวต่อเทพเทพาอารักษ์และผีศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้มารับรู้และช่วยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลเพื่อให้ชาวบ้านได้ทำไร่ทำนา พร้อมทั้งนำข้าวปลาอาหารและเหล้ายาปลาปิ้งไปถวายแก่เทพเทพาอารักษ์นั้น เมื่อชาวบ้านประกอบพิธีกรรมเซ่นสรวงบวงพลีเสร็จสิ้นก็จะเกิดความมั่นใจและมีขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

              เรื่องเล่าเกี่ยวกับสมุนไพร

              ชาวบ้านคนหนึ่งอยากลองกินยาสมุนไพรของชาวโซ่ (ทะวืง) ชาวบ้านคนนี้ชื่อว่านายนี หรือ พ่อนี ได้ไปหาหมอยาชาวโซ่ (ทะวืง) หมอยาบอกว่าให้แบ่งยาสลอด 1 เม็ด เป็น 3 ส่วนแล้วกินทีละส่วน ด้วยความอยากลองยาพ่อนีจึงกินหมดรวดเดียว จึงทำให้พ่อนีถ่ายท้องตลอดเวลา หลังจากนั้นมาพ่อนีจึงเชื่อหมอชาวโซ่และเชื่อคำสั่งของหมอมานับแต่นั้น

              การล่าสัตว์ของชาวโซ่ (ทะวืง)

              หมู่บ้านโซ่ (ทะวืง) พ่อลองกับพ่อลุนชวนกันไปหาสัตว์ป่า ขณะกำลังคุยกันอยู่สมปองก็มาเจอเข้า จึงขอให้สมปองไปชวนเพื่อนไปล่าสัตว์ด้วยกัน เมื่อทุกคนไปถึงป่าก็ช่วยกันล่าสัตว์ พวกมีปืนและหน้าไม้ให้ไปอยู่ตามช่องที่สัตว์ออกมา และอีกพวกก็ไล่ตาม เมื่อได้หมูป่าตัวใหญ่ก็ฆ่าแบ่งกัน  เมื่อเดินทางกลับหมู่บ้านคณะที่ไปล่าสัตว์ก็ยิงปืนเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ว่าโชคดีในการล่าสัตว์ คนท้องกับเด็กจึงออกมาดู จึงได้แบ่งเนื้อหมูป่าตัวใหญ่ให้ไปกินด้วย

  • นิทานของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

    นิทานพื้นบ้าน

              ตัวหนังสือของชาวโซ่

              เจ้าเมืองโซ่มีการเรียนการเขียนตัวอักษร โดยคนที่รู้ตัวอักษรคือเจ้าเมือง ต่อมาเจ้าเมืองออกรบจึงไปรบแต่พ่ายแพ้ให้กับข้าศึกจึงเอาตัวหนังสือที่ตนเองรู้ไปเขียนไว้ในหนังวัวหนังควายไว้ แล้วก็มีสุนัขมาคาบหนังที่เขียนตัวอักษรไปกิน ภาษาเขียนของชาวโซ่ (ทะวืง) จึงหายไปตั้งแต่นั้น

              นิทานบักเซียงเหมี่ยง

              เซียงเหมี่ยงเป็นคนหลอกเก่ง แล้วมีตาเฒ่าคนหนึ่งมาหาเซียงเหมี่ยงที่บ้านก็ถามว่า แกนี่หรอที่เป็นคนหลอกคนเก่ง เซียงเหมี่ยงก็บอกว่า ไม่หรอก ไม่ได้หลอกเก่งอะไร เฒ่าคนนั้นก็บอกว่า ถ้าแกหลอกคนเก่งจริงลองหลอกให้ข้าขึ้นต้นมะพร้าวดูซิจะให้ 20 บาท เซียงเหมี่ยงก็บอกว่า ไม่หรอกก็ไม่ได้เก่งขนาดนั้น เว้นแต่ว่าขึ้นต้นมะพร้าวก่อนแล้วหลอกให้ลงมาน่ะได้อยู่ เซียงเหมี่ยงบอก จริงหรอ ตาเฒ่ากล่าว เซียงเหมี่ยงก็บอก จริง! ตาเฒ่าคนนั้นก็เลยปีนขึ้นต้นมะพร้าวไปแล้วบอกเซียงเหมี่ยงว่า เอ้าเซียงเหมี่ยง ข้าขึ้นมาแล้วลองหลอกให้ข้าลงไปซิ เซียงเหมี่ยงก็บอกว่า จะลงก็ลงมา ไม่ลงก็ปล่อยให้มดแดงกัดอยู่นั่นแหละ ข้าหลอกให้ขึ้นได้แล้ว จะลงก็ลงมาเอง เอาเงินมา 20 บาท ข้าหลอกให้ขึ้นไปได้แล้ว ตาเฒ่าคนนั้นก็บอกว่า โอ้ย! หลอกแบบนี้ข้าไม่ให้เงินหรอก เซียงเหมี่ยงก็ถามตาเฒ่าคืนไปว่า ข้าเก่งไหม ตาเฒ่าก็บอกว่า จะว่าเก่งก็เก่งจะว่าไม่เก่งก็ไม่เก่ง เซียงเหมี่ยงเลยบอกว่าวันพรุ่งนี้สามโมงเช้าจะไปหาที่บ้านไปหลอกตาเฒ่าอีกให้ได้ ตาเฒ่าก็ถามว่า จะไปหลอกข้ายังไงล่ะ เซียงเหมี่ยงตอบ มี วันพรุ่งนี้เจอกัน

              ตกเย็นเซียงเหมี่ยงได้ขนุนมากินก็ผ่ากินผลข้างในจนหมด แล้วตากไว้ ปล่อยให้แมลงวันเข้าไปตอมแล้วก็หุบขนุนนั้นไว้ เช้าวันต่อมาก็หอบเอาขนุนลูกนั้นไปหาตาเฒ่าที่บ้านแล้วถามว่า พ่อใหญ่เจ้าว่าข้าหอบอะไรมา ขนุน! ตาเฒ่าตอบ ไม่ใช่! เซียง  เหมี่ยงว่า อันนี้ไม่ใช่ลูกขนุนแต่เป็นรังแมลงวัน เซียงเหมี่ยงกล่าวต่อ ตาเฒ่าก็เถียงว่า อันนี้มันคือลูกขนุนจะเป็นรังแมลงวันไปได้ยังไง เซียงเหมี่ยงก็บอกว่า เอ้า ถ้าไม่เชื่อว่าเป็นรังแมลงวันก็ลองมาผ่าดู ว่าแล้วตาเฒ่าก็เอามีดมาผ่าดู พอผ่าลูกขนุนออกมาก็มีแมลงวันบินออกมาเต็มไปหมด นั่นเห็นไหม ถ้าเป็นลูกขนุนก็มันก็ต้องมีเนื้อขนุนสิ อันนี้มีแต่แมลงวันบินออกมาก็เพราะว่ามันเป็นรังแมลงวัน ไม่ใช่ลูกขนุน เซียงเหมี่ยงบอก ตาเฒ่าไม่ยอมก็บอกเซียงเหมี่ยงว่าพรุ่งนี้จะไปนอนที่ทุ่งนาให้เซียงเหมี่ยงไปหลอกอีก เซียงเหมี่ยงก็ถามว่าจะไปนอนที่ทุ่งนาทำไม ตาเฒ่าก็บอกว่าจะไปนอนเฝ้าวัว วัวจะคลอดลูก

              เช้าวันต่อมาเซียงเหมี่ยงก็คิดหาเรื่องไปหลอกตาเฒ่าอีก พอไปถึงก็เห็นตาเฒ่ากำลังล้างน้องวัวต้มใส่หม้อไว้ เซียงเหมี่ยงก็ตะโกนถามตาเฒ่าว่ากำลังทำอะไรอยู่ ตาเฒ่าเห็นเซียงเหมี่ยงก็ร้องตอบไปว่า วันนี้จะมาหลอกอะไรข้าอีก เซียงเหมี่ยงก็ตอบว่า เอ้อให้เจ้าต้มน้องวัวอยู่นี่ล่ะ หลานตกบันไดบ้านอยู่ไม่รู้จะเป็นจะตายยังไง กลับบ้านสิ จริงหรอเซียงเหมี่ยง ถ้าอย่างนั้นก็เฝ้าน้องวัวให้หน่อยเด้อ ตาเฒ่ากลับไปถึงบ้านก็พบว่าหลานยังสุขสบายดี ก็คิดได้ว่าถูกเซียงเหมี่ยงหลอกอีก ก็รีบกลับไปที่ทุ่งนาแต่ก็ไม่ทันเซียงเหมี่ยงเพราะเซียงเหมี่ยงแอบกินน้องวัวตาเฒ่าไปหมดแล้ว

              คนตาบอดกับคนขาติด

              คนตาบอดกับคนขาติดเป็นเพื่อนกัน วันหนึ่งชวนกันเข้าป่าไปหาของกิน คนตาบอดเห็นว่าเพื่อนเดินไม่ได้จึงเอาคนขาติดแบกขึ้นหลังไป ส่วนคนขาติดก็คอยมองทางบอกคนตาบอด ขณะเดินทางในป่าคนขาติดเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งมีโพรงก็บอกให้คนตาบอดปีนขึ้นไปล้วงหาลูกนกในโพรง แต่ปรากฏว่าคนตาบอดไปจับโดนงูเขียว คนขาติดจึงรีบบอกว่าเป็นงูเขียวไม่ใช่ลูกนก คนตาบอดเลยทิ้งงูเขียวลง งูเขียวตกลงมาถูกคนขาติด คนขาติดเห็นแบบนั้นจึงตกใจมาก จึงรีบวิ่งหนี ขาจึงแยกฉีกออกจากกัน

              โซ่ฆ่าขอม

              เจ้าเมืองกาฬสินธุ์เมืองฟ้าแดดสูงยาง มีลูกสาวสวยชอบออกไปเดินเล่นชมสวน อยู่มาวันหนึ่งเชียงสร้อยซึ่งเป็นชาวโซ่ (ทะวืง) เลี้ยงไก่ไว้แล้วไก่ได้หนีเข้าไปในสวนนั้น จึงได้ไปเจอธิดาเจ้าเมือง ทั้งสองตกหลุมรักกันและลักลอบเป็นสามีภรรยากัน เมื่อเจ้าเมืองรู้เข้าจึงแยกทั้งสองออกจากกัน แล้วนำเชียงสร้อยไปฆ่าทิ้ง ฝ่ายลูกสาวเจ้าเมืองก็ได้ฆ่าตัวตายตามสามีไป ภายหลังพี่ชายเชียงสร้อย คือ เชียงสา เชียงโสม รู้ข่าวจึงยกทัพไปตีเมืองฟ้าแดดสูงยางหรือเมืองขอมนี้จนแตกพ่าย ปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้คือส่วนหนึ่งในอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์

              (ผู้ให้ข้อมูลกล่าวว่าในอดีตชุมชนโซ่ (ทะวืง) ไม่มีการเล่านิทานเรื่องนี้ นิทานเรื่องนี้เริ่มนำมาเล่าในชุมชนหลังจากที่มีศึกษาวิจัยโครงการการฟื้นฟูภาษาฯ)

              ขุนเข็ด ขุนคาน ปู่ลางเซิง

              ขุนเข็ด ขุนคาน ปู่ลางเซิง แต่เดิมเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์แล้วเกิดความเบื่อหน่าย จึงขอพระอินทร์มาเกิดยังโลกมนุษย์ โดยให้ควายลงมาด้วย 1 ตัว แต่เมื่อเลี้ยงควายไปจึงเกิดผลน้ำเต้าโผล่มาจากรูจมูกควาย ทั้ง 3 จึงได้เอาเหล็กปลายแหลมที่ร้อนมาเจาะ (ซี) ที่น้ำเต้าจนเป็นรู ปรากฏว่ามีคนอาศัยอยู่ในนั้น คนที่อยู่ในน้ำเต้าจึงออกมาตามลำดับ คือ ชาวโซ่ ชาวลาว ชาวญ้อ ชาวกะเลิง ชาวผู้ไท ชาวผู้ไทเรียกชาวโซ่ว่า "อ้ายกก" หมายถึงพี่ผู้เกิดเป็นคนแรก ถือเป็นการกำเนิดมนุษย์ขึ้นในโลก ภายหลังกลุ่มนี้แต่งงานและมีลูกหลานสืบต่อมา

              (ผู้ให้ข้อมูลกล่าวว่าในอดีตชุมชนโซ่ไม่มีการเล่านิทานเรื่องนี้ แต่ได้ศึกษานิทานและตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ จึงนำมาผสมผสานกันเข้าเป็นเรื่องของชาวโซ่ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพและความเป็นมาของชาติพันธุ์ของตน)

     

  • การเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่ประสบอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              ชาวโซ่ (ทะวืง) ที่อาศัยอยู่ที่ในจังหวัดสกลนครเคยประสบปัญหาเกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่อยู่ภายใต้การปกครองโดยทหาร เนื่องจากเกิดปัญหาด้านการสื่อสารกับคนภายนอกที่ใช้ภาษาแตกต่างกับตนเอง โดยเฉพาะการสื่อสารกับทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณหมู่บ้าน เมื่อทหารต้องการสิ่งใดจากชาวบ้าน แต่ชาวบ้านกลับสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่นแล้วทำให้เกิดความเข้าใจผิดเพราะเข้าใจความหมายเป็นคนละอย่าง จึงเกิดการฆ่าหรือทำร้ายชาวบ้าน ชาวบ้านจึงไม่กล้าที่จะสื่อสารภาษาท้องถิ่นกับคนภายนอก

              จนกระทั่งเกิดภาวะวิกฤตของภาษาโซ่ (ทะวืง) เนื่องจากเจ้าของภาษาไม่กล้าสื่อสารกับคนนอก ได้หันไปเรียนรู้ภาษามาตรฐานจากระบบการศึกษา เพื่อทำให้ตนเองได้รับการยอมรับจากคนภายนอกมากขึ้น คนที่พูดภาษาโซ่ (ทะวืง) ลดจำนวนลงและมีแนวโน้มว่าจะสูญหาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยศาสตราจารย์ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ จึงได้เข้ามาศึกษาและทำโครงการฟื้นฟูภาษา ภายใต้โครงการฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาการศึกษาและกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมนิทานในท้องถิ่นและการจัดทำคู่มือในการดูแลสุขภาพและสมุนไพร ภายใต้โครงการแนวทางการฟื้นฟูภูมิปัญญาในการรักษาและดูแลสุขภาพของชาวโซ่ (ทะวืง) และเมื่อ พ.ศ.2553-2555 นายสมปอง ต้นประทุม ปราชญ์ชาวโซ่ (ทะวืง) ใช้ข้อมูลด้านภาษาและวัฒนธรรมจากโครงการวิจัยดังกล่าวเข้าไปมีส่วนร่วมในการสอนภาษาและวัฒนธรรมโซ่ (ทะวืง) ให้แก่นักเรียนในโรงเรียนด้วย

              ปัจจุบันชาวโซ่ (ทะวืง) ได้รับการแก้ปัญหาดังกล่าว มีหน่วยงานต่าง ๆ เห็นความสำคัญเข้ามาช่วยฟื้นฟูวัฒนธรรม และหน่วยงานทางด้านการเก็บรวมรวมภาษาและคำศัพท์อย่างราชบัณฑิตยสภา (2560) ได้จัดทำคู่มือระบบการเขียนภาษาโซ่ (ทะวืง) เพื่อให้ลูกหลานชาวโซ่ (ทะวืง) ได้เรียนรู้ภาษาของตนและบุคคลทั่วไปสามารถเรียนรู้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่นจังหวัดสกลนครได้

     

  • การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายในปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) :

              เดิมชาวโซ่ (ทะวืง) บ้านหนองแวงเป็นกลุ่มชนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่รวมกัน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์โรคระบาดขึ้นในปี พ.ศ. 2484 จึงได้แยกย้ายกันไปตามที่ต่าง ๆ  กลุ่มหนึ่งขึ้นไปอยู่แถบป่ามะม่วง ปัจจุบันบันคือบ้านหนองม่วง กลุ่มหนึ่งอยู่บริเวณเดิมในปัจจุบันซึ่งคือบ้านหนองเจริญ อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ที่บ้านหนองแวงและบางส่วนที่บ้านดงสร้างคำ ดังนั้น จึงพบว่าปัจจุบันบ้านหนองแวง บ้านหนองม่วง บ้านหนองเจริญและบ้านดงสร้างคำ เป็นกลุ่มโซ่(ทะวืง) กลุ่มใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในจังหวัดสกลนคร ทั้งสี่หมู่บ้านมีการรวมกลุ่มกันทางวัฒนธรรม เมื่อมีงานประเพณีต่าง ๆ ก็จะมาร่วมกันจัดงาน ทั้งยังรวมกลุ่มกันและประสานงานกับเครือข่ายนอกชุมชนร่วมกันจัดงาน "สืบสานวัฒนธรรมโซ่ (ทะวืง)" ที่แสดงอัตลักษณ์สำคัญของชาวโซ่ (ทะวืง) อย่างต่อเนื่องซึ่งในปี พ.ศ. 2562 นับเป็นงานสืบสานวัฒนธรรมโซ่ (ทะวืง) ครั้งที่ 6 นอกจากนี้ยังมีการติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์โซ่กลุ่มอื่น ๆ อาทิ ชาวโส้ในอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร รวมถึงชาวกะเลิง อำเภอกุดบาก ชาวโย้ย อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เข้าร่วมงานเพื่อสร้างเครือข่ายชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนครและกระตุ้นให้เกิดความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนเอง ทั้งยังเป็นการการร่วมกันสืบสานภาษาและวัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ ไว้ โดยร่วมกันการแลกเปลี่ยนความคิดและวัฒนธรรม ทุก ๆ ปีจะมีการจัดงานโส้รำลึก ชาวโซ่ (ทะวืง) ทั้ง 4 หมู่บ้านได้ไปเข้าร่วมงานเป็นประจำทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์โส้ (โซ่) ขึ้นอีกด้วย

              สำหรับการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นก็ยังคงเป็นไปด้วยดี เนื่องจากในอดีตกลุ่มโซ่ (ทะวืง) เคยอพยพมาพร้อมกับกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ในหมู่บ้านที่ติดกันคือบ้านดงสร้างคำ และกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทที่อยู่บ้านโพนสวางก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อีกกลุ่มที่อยู่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้การอพยพย้ายถิ่นและการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวโซ่ (ทะวืง) ได้ติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ดังนั้นในปัจจุบันบ้านหนองแวงจึงมีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ (ทะวืง) ญ้อ ผู้ไท และไทอีสาน อาศัยอยู่รวมกัน

     

Access Point
No results found.