ชื่อเรียกตนเอง
"ซะโอจ" หรือ "ชอง" เป็นชื่อที่ผู้พูดเรียกภาษาของตัวเองและเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเขา
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก
"อูด" "ชุอุ้ง" "ซะอูด" โดยปกติชาวซะโอจไม่ชอบเมื่อคนอื่นเรียกพวกเขาว่า "อูด" ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงที่แปลว่า "ฟืน" ในภาษาของพวกเขา อีกทั้งบังเอิญมีความหมายเหมือนกับคำว่าอูฐในภาษาไทย (Isara Choosri ,2007 :27)
เนื้อหาโดย นายคำรณ วังศรี เครือข่ายชาติพันธุ์ชอง จังหวัดจันทบุรี
ปีงบประมาณ 2562, วันที่อัพโหลด 29 กันยายน 2562
เอกสารอ้างอิง
สัมภาษณ์
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
กาญจนบุรี | 50 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
"ซะโอจ" ชนเผ่าโบราณ ซึ่งอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก กลุ่มภาษาเปียริก ที่ไม่มีภาษาเขียน นอกจากนั้นยังรวมถึงภาษาที่รู้จักกันในชื่อ ชอง, กะซอง, ปอร์ และ สำเหร่ ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มคนเหล่านี้มักกระจัดกระจายตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา Banteay Prey ซึ่งตั้งอยู่ที่ตั้งตามชายฝั่งทะเลในจังหวัดสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา (ดำรงพล อินทร์จันทร์,ออนไลน์ :ม.ป.ป) ชาวซะโอจเชื่อว่าบรรพบุรุษของพวกเขาใช้ป้อมแห่งนี้เพื่อต่อต้านการโจมตีของชาวไทย หลังจากพ่ายแพ้แก่ชาวไทยประชากรของพวกเขาลดลงอย่างรวดเร็ว มีหมู่บ้านซะโอจชื่อ Long Leh อยู่ริมทะเลกัมปงโสม พวกเขาอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวจากชาวเขมร ซึ่งพวกเขาสามารถรักษาภาษาของตนได้ในช่วงระบอบการปกครองของเขมรแดงในทศวรรษ 1970 ชาวบ้านซะโอจถูกย้ายออกจากชายฝั่งและบางส่วนถูกสังหารโดยกลุ่มคอมมิวนิสต์ (Isara Choosri,2009: 72)
โดยในช่วงทศวรรษที่ 1830 ชาวซะโอจบางส่วนถูกจับโดยกองทหารสยามในช่วงสงครามระหว่างสยามกับอันนัม (อยู่ในประเทศลาว) (Isara Choosri, 2009: 89-70) สันนิษฐานว่ามีการกวาดต้อนมาทั้งบางบกและทางเรือ ยุคนั้น ชาวสโอจ หรือชอุ้งในกัมพูชาไม่ใคร่จะพอใจรูปแบบการปกครองของเขมรจึงมาขอความคุ้มครองจากกองทัพไทยที่ตั้งอยู่ที่เมืองโจดกในเวียดนามใต้ กระนั้น พวกเขาได้ถูกส่งมายังสยามโดยทางเรือ ขึ้นบกที่ราชบุรี และถูกโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานทางด้านเหนือตามลำน้ำแควใหญ่ ในจังหวัดกาญจนบุรี ในพระราชนิพนธ์เสด็จประภาสไทรโยค ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีข้อความที่กล่าวถึง ข่าสอูด ซึ่งน่าจะหมายถึงกลุ่มชาวอูด เช่นเดียวกับในบทความของ ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี ที่กล่าวถึงชาวอูดที่จังหวัดกาญจนบุรี อย่างไรก็ดี คำเรียกชื่อ ข่าสอูดนั้น มาจากคำว่าสโอจ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศกัมพูชา ซึ่งถูกกวาดต้อนมายังประเทศไทยเมื่อครั้งสงครามไทยและเวียดนาม ในสมัยรัชกาลที่ 3 ( อิสระ ชูศรี .2558.68-70)
ภาษาพูดตระกูลออสโตรเอเชียติค (Austroasiatic) ที่ใช้พูดกันในจังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวน 4 ภาษา ได้แก่ ภาษามอญ ภาษาชอง (เขมรชอง) ภาษาขมุ และภาษาละว้า ภาษาชอง มีผู้พูดภาษาเหล่านี้ประมาณ 60 คน พบเฉพาะบริเวณเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ เท่านั้น จากการสัมภาษณ์ ชาวซะโอจในพื้นที่โดยเฉพาะผู้สูงวัยจะเรียกตัวเองว่าชอง โดยผู้เฒ่าชาวชองที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป บอกว่า ทวดของเขานั้นได้เดินทางมาจากจังหวัดพระตะบอง ของประเทศกัมพูชา เมื่อกว่า 200 ปีที่ผ่านมา และเดินทางผ่านทุ่งลาดหญ้า มาตั้งหลักปักฐาน ณ ที่บ้านทุ่งนา (เก่า) ปัจจุบันเหลือผู้ที่พูดภาษาชองได้น้อยลงเนื่องจากมีภาษาต่าง ๆ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่นี้มาก คนรอบข้างมักจะมองและพูดจาดูถูกคนเหล่านี้และมักจะเรียกเขาว่า "อูด" (เจตน์จรรย์ อาจไธสง และคณะ. 2560 น.64)
การเรียกขานชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ซะโอจนี้ มีชื่อที่เรียกตนเองและคำเรียกขานจากกลุ่มบุคคลภายนอกคำว่า อูด นี้ถูกเรียกจากกลุ่มชาวขมุและละว้ามาก่อน เรียกพวกกลุ่มซะอูดที่ไปหาไม้ฟืนเพื่อนำมาก่อไฟเพื่อหุงหาอาหาร ว่า อูด ๆ ซึ่ง อูด แปลว่าไม้ฟืน กลุ่มซะอูดนี้ เมื่อได้ยินดังนั้นก็ไม่พอใจและโกรธเป็นอันมากก็เลยว่ากลับไปว่า "รู้ไหมว่าฟืนจะเผาหัวพ่อหัวแม่มึง" (ทรง กากี. สัมภาษณ์ 9 พฤษภาคม 2562)
พันตรีอิริค ไซเด็นฟาเด็น นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเดนมาร์ก กล่าวว่า "อยู่ที่จังหวัดจันทบุรีและตราด นอกจากนี้ในระหว่างที่ผมไปจังหวัดกาญจนบุรี ได้พบพวกชาวพื้นเมืองที่นั่นเรียกกันว่า อูด หรือ เขมรดง อยู่ที่แควใหญ่ กิ่งอำเภอศรีสวัสดิ์ ผมได้ลองสอบคำพูดอูดดู ปรากฏว่าคล้ายพวกชอง" เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้พบเรื่องการอพยพของพวกอูดเหล่านี้ ในงานวิจารณ์เรื่องพวกสำเหร่และพวกพอร์ ในจดหมายเหตุสยามสมาคมเล่ม 34 ตอน 1 หน้า 75 กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2376 พวก ซา-ออค (Sa-och) ในเมืองกำปอทได้รับความเดือดร้อนจึงไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตที่เมืองโชดึก เจ้าพระยาบดินทรจึงช่วยส่งพวกเหล่านี้ทางทะเลไปขึ้นที่ราชบุรี พวกนี้ได้ขึ้นไปอาศัยอยู่ตามลำแควใหญ่ในกาญจนบุรีตอนเหนือแถวตำบลหนองบัว, ลาดพร้าว เกาะบุก ต่อมามีผู้เรียกว่าข่าหรือชองอูด ฉะนั้นเท่าที่ทราบในขณะนี้พวกชองอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด (ชิน อยู่ดี. (2506) อ้างจาก อิริค ไซเด็นฟาเด็น 2501)
แต่เดิมชาวซะโอจตั้งถิ่นฐานอยู่ห่างจากลำแม่น้ำแควใหญ่ประมาณ 5 กิโลเมตร ต่อมา ปี พ.ศ. 2523 รัฐบาลไทยมีความพยายามจะสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ส่งผลให้ชุมชนเดิมที่เคยอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำแควใหญ่ถูกน้ำท่วม อันเป็นผลกระทบมาจากการสร้างอ่างเก็บน้ำทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขื่อนศรีนครินทร์ได้ทำการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงได้ทำการอพยพมาตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านหนองหว้า (บ้านทุ่งนาปัจจุบัน) กลุ่มชาติพันธุ์ ในบ้านทุ่งนามี 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มเชื้อสายขมุ กลุ่มเชื้อสายกะเหรี่ยงและกลุ่มเชื้อสายซะโอจ เมื่ออาศัยอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านทำให้วัฒนธรรมประเพณีบางอย่างถูกกลมกลืนเข้าด้วยกัน ทำให้อัตลักษณ์หายไปแม้แต่ภาษา ผู้ที่พูดภาษาซะโอจได้กำลังลดจำนวนลง ส่วนมากเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่ยังคงพูดและสื่อสารกันได้ (อิสระ ชูศรี .2558. 68) โดยในพื้นที่บ้านทุ่งนายังคงเหลือครอบครัวชาวซะโอจอยู่เพียง 10 หลังคาเรือน จำนวนประชากรประมาณ 40-50 คน (องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเป็ด. 2558)
แผนที่ตำบลหนองเป็ด (องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเป็ด. 2558)
ในชุมชนบ้านทุ่งนา ซึ่งเป็นชุมชนเดียวที่ยังคงเหลือชาวซะโอจอยู่นั้น มีความหลากหลายของกลุ่มคนที่มาจากหลายภูมิภาค แบ่งเป็นชาติพันธุ์หลัก ๆ คือ ซะโอจ (ชอง) ขมุ กะเหรี่ยง ละว้าและคนอีสาน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก มีวัดและที่พักสงฆ์ 2 แห่ง คือ วัดเกาะบุกและวัดทุ่งนาวราราม มีการผสมผสานประเพณีวัฒนธรรม ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น ปลูกมัน ปลูกกล้วย ปลูกผัก เป็นต้น อาชีพรองลงมาคือ รับจ้างทั้งในภาคเกษตรและโรงงานอุตสาหกรรมนอกพื้นที่และในสถานท่องเที่ยวบริเวณเขื่อนศรีนครินทร์ ร้านอาหาร การล่องแพ ลากแพ นอกจากนี้แล้วยังมีอาชีพค้าขายและอาชีพรับราชการ (รวมถึงลูกจ้างชั่วคราวในหน่วยงานของรัฐ)
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ป่าไม้และสัตว์น้ำ
- ป่าไม้ ตำบลหนองเป็ดมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ ซึ่งอยู่ในความดูแลของเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาสลักพระ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น ไม้ประดู่ ไม้มะค่าโมง ไม้ตะเคียน ไม้แดง ไม้ชิงชัน ไม้ไผ่ ไม้รวด รวมถึงไม้เบญจพรรณอื่น ๆ
- สัตว์น้ำ เนื่องจากตำบลหนองเป็ด มีพื้นที่ติดกับขอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งมีปลาหลากหลายพันธุ์ เช่น ปลาแรด ปลาชะโด ปลากระสูบ ปลาเวียน ปลาบึก ปลานิลและอีกหลายพันธุ์ (องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเป็ด. 2558)
ชาวซะโอจ บ้านทุ่งนา เดิมตั้งอยู่ห่างจากลำแม่น้ำแควใหญ่ประมาณ 5 กิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำตรงข้ามกับหมู่บ้านเกาะบุก หมู่บ้านห้วยกลาง หมู่บ้านเดื่อเวร หมู่บ้านห้วยตะเคียน และหมู่บ้านหาดแดง รวมเป็นพื้นที่ของหมู่บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด มีผู้ใหญ่บ้านปกครองมาทั้งหมด 3 คน คือ 1.นายเสมา กากี (เสียชีวิตแล้ว) 2.นายเท้ง กากี 3.นางกุหลาบ วันทอง พ.ศ. 2533 - 10 สิงหาคม 2561 คนปัจจุบัน นายสุภาพ บุญสุวรรณ 10 สิงหาคม 2561 - ปัจจุบัน
จากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาของกลุ่มชาติพันธุ์ซะโอจนี้มาจากจังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา โดยมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านทุ่งนา (เก่า) ส่วนใหญ่บริเวณนี้มีคนชองอาศัยอยู่ร่วมกันเฉพาะคนชองประมาณ 10 หลังคาเรือน ประชากร 40-50 คน แล้วย้ายมายังบ้านทุ่งนาในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2519 เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งผลให้เกิดน้ำท่วม จึงมีการอพยพประชาชนจากบ้านท่ากระดาน บ้านเกาะบุก บ้านทุ่งนา โดยให้สัมปทานที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน จำนวนครัวเรือนละ 20 ไร่ การดำรงชีวิตของผู้คนที่นี่มีวิถีชีวิตที่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าเขาที่อยู่รอบ ๆ ตัวจนสามารถดำรงชีวิตมาได้ จนกลายเป็นชุมชนที่กระจายอยู่ริมฟากเขื่อนศรีนครินทร์ที่มีการผสมผสานประสบการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบัน
ในอดีตพื้นที่บ้านทุ่งนา (เก่า) มีสภาพเป็นป่าทึบอยู่ชายขอบของหมู่บ้าน มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น ไม้ประดู่ ไม้มะค่าโมง ไม้ตะเคียน ไม้แดง ไม้ชิงชัน ไม้ไผ่ ไม้รวก รวมถึงไม้เบญจพรรณอื่น ๆ บริเวณบ้านทุ่งนาแห่งนี้ถือเป็นต้นน้ำที่สำคัญของเขื่อนศรีนครินทร์ มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่สำหรับใช้ในการเดินทาง (ทางน้ำ) เป็นหลัก การเดินทางจะเริ่มต้นจากท่าบ้านทุ่งนาผ่านเขื่อนท่าทุ่งนา บ้านลาดหญ้าและบ้านท่าเสา เพื่อติดต่อค้าขายกับบุคคลภายนอก ได้แก่ พ่อค้าชาวจีน หน่วยงานของรัฐฯ การดำรงชีวิตของผู้คนที่นี่จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีวิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าที่อยู่รอบตัวจนสามารถดำรงชีวิตมาได้ ก่อเกิดเป็นชุมชนบ้านป่ากระจายอยู่ริมฟากฝั่งเขื่อนศรีนครินทร์ ที่มีกระบวนการสร้างสรรค์ ผสมผสาน ถ่ายทอดประสบการณ์และมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมตลอดเวลา
ในอดีตชาวซะโอจ ทำไร่ ทำนา เอาไว้รับประทานภายในครัวเรือนไม่ขาย ปลูกพริกขี้นก ปลูกละหุ่งบนเขา เอาไว้ขาย ทำได้ 2 ปี แล้วย้ายไปที่อื่น 2-3 ปี เพื่อให้เป็นไร่ซากแล้ววกกลับมาทำใหม่อีก ปลูกมะเขือพวง แตงเปรี้ยว (ลูกมีลักษณะใหญ่ กลมกว่าแตงธรรมดา รสชาติเปรี้ยว) ตัดไม้รวก ไม้ไผ่ เสร็จจะผลผลิตไปขายโดยเดินทางทางน้ำนำมาล่องแพที่ท่าน้ำแควใหญ่โดยเดินทางประมาณ 5 กิโลเมตร การล่องแพหรือเรือยนต์โดยการเดินทางจะผ่านเขื่อนท่าทุ่งนา ไปขายที่บ้านลาดหญ้าและบ้านท่าเสา ใช้เวลาประมาณ 3 วัน ไปขายให้กับพ่อค้าชาวจีน ส่วนละหุ่งจะกะเทาะเมล็ดนำไปขายได้กิโลละ 5 บาท ทางกลับจะซื้อกะปิ น้ำตาล ขนมแห้ง เกลือ ฯลฯ ในปริมาณที่มาก การใช้จ่ายไม่ค่อยแพง มีการช่วยเหลือกันเอาแรงกันเรียกว่า การลงแขก ร่วมกันไม่แยกกันเพราะมีไม่กี่หลังคาเรือน หลังจากเสร็จงานก็จะเลี้ยงข้าวปลาอาหารกัน
ปัจจุบันมีการขยายตัวของชุมชน มีเส้นทางถนนตัดผ่านหมู่บ้านกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ทำให้การเดินทางไปมาหาสู่กันหรือติดต่อค้าขายมีความสะดวกสบายมากขึ้นหลังจากย้ายที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านทุ่งนาใหม่ เริ่มมีการปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด พริก ผัก มะละกอ ละหุ่ง ข้าว (พันธุ์ข้าวสร้อยและข้าวลายมีลักษณะเม็ดเล็กสีแดงเป็นข้าวเจ้าแข็ง) ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวพื้นบ้าน เมื่อข้าวเริ่มเหลืองหน่อย ๆ ชาวบ้านจะนำมาตำข้าวเม่า) ฯลฯ มีหน่วยงานของรัฐมาส่งเสริมให้ทำหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
ชาวซะโอจ อาศัยในครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) เป็นครอบครัวใหญ่ ซึ่งย้ายมาจากบ้านทุ่งนาเก่าที่ได้รับจัดสรรที่ดินไว้สำหรับยกบ้านครอบครัวละ 2 ไร่ ไว้เป็นสัดส่วนติด ๆ กัน มีพ่อเป็นหัวหน้าครอบครัวและมีระบบการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) เมื่อมีครอบครัวถึงจะแยกสมาชิกออกไป โดยจะยกบ้านในที่ดินที่ได้รับจัดสรรไว้สำหรับครอบครัวนั้นที่ได้รับ 2 ไร่ (หมายถึงให้ปลูกบ้านในพื้นที่ 2 ไร่ อยู่ในเขตรั้วเดียวกัน) ลูก ๆ จะดูแลพ่อแม่เมื่อยามแก่เฒ่า ตามประเพณีดั้งเดิม ซึ่งครัวเรือนของชาวซะอูดมีประมาณ 10 หลังคาเรือน มีประชากรประมาณ 40-50 คน ซึ่งมีนามสกุลหลักอยู่ 6 นามสกุล คือ กากี ประเนติ สายสร้อยทอง หงส์ยนต์ ยอดน้ำและสร้อยทอง (สุภาพ บุญสุวรรณ, สัมภาษณ์)
ผู้หญิง นุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อคอกระเช้า มีผ้าพาดบ่า เมื่อสมัยก่อนบางคนก็นุ่งโจงกระเบน สมัยนี้เขาก็นุ่งใส่ตามยุคตามสมัยกันหมดคล้ายคนไทยเสียส่วนใหญ่ (ใจ วรรณทอง. สัมภาษณ์)
ผู้ชาย นุ่งโสร่งหรือใส่กางเกงแพร เสื้อบางครั้งใส่บ้างไม่ใส่บ้าง เวลาไปทำบุญจะใส่เสื้อแขนยาว เสื้อคอกลม กางเกงขายาว กางเกงขาก๊วย ผ้าขาวม้าคาดเอว ใส่ทุกสีแล้วแต่คนชอบ (มน กากี. สัมภาษณ์)
การแต่งกายของผู้ชายและผู้หญิงชาวซะโอจ
ชาวซะโอจ เรียก "บ้าน" ที่เป็นที่อยู่อาศัยว่า "ตรัง" ซึ่งครอบคลุมลักษณะของเรือนแบบต่าง ๆ ลักษณะบ้านเป็นเรือนเครื่องผูก แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ห้องนอน ห้องครัว ห้องนั่งเล่น มีการลดระดับชั้นของตัวบ้าน หลังคาจะมุงด้วยใบพลวง แฝก หญ้าคา จาก กระเบื้องไม้ไผ่ (นำไม้ไผ่แก่มาผ่าครึ่งครอบซ้อนสลับกัน) พื้นบ้านและฝาบ้านใช้ไม้ไผ่ป่า ซึ่งมีเนื้อหนานำมาสับฟากจะทำให้พื้นมีความแข็งแรงทนทาน ใต้ถุนบ้านสูงจากพื้นดินขึ้นอยู่กับจำนวนขั้นบันได (3 5 7 9 ขั้น) ประมาณ 1-2 เมตร มัดด้วยตอกหวายหรือปอ เสาบ้านทำจากไม้แดง เป็นต้น บางครัวเรือนมีการทำนา ยกยุ้งข้าวไม่ใหญ่โตนักสำหรับการเก็บข้าวในปีหนึ่งเท่านั้น เอาไว้ใกล้บ้านเพื่อใช้รับประทานในครัวเรือน
ปัจจุบันบ้านแบบดั้งเดิมไม่ค่อยจะพบมากนักในทุกวันนี้เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้ส่วนใหญ่ที่พอจะมีฐานะนิยมหันมาปลูกบ้านที่สะดวกสบายและคงทนถาวรกว่า มีการมุงหลังคาด้วยกระเบื้องแทนใบไม้ ก่ออิฐแทนการตีฟากด้วยไม้ไผ่