กลุ่มชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยงแดง

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยงแดง
  • ชื่อเรียกตนเอง : กะแย, กะยา, คะยาห์, บเว
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : กะเหรี่ยง, ยางแดง, เลากัง, กะยินนี่, กะเหรี่ยงแดง,กะเหรี่ยงแบร
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ตระกูลจีน–ทิเบต (Sino-Tibetan)
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              คำว่า "กะเหรี่ยง" เป็นคำที่คนไทยภาคกลางใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือที่เรียกคนกะเหรี่ยงไม่ว่ากลุ่มย่อยใดว่า "ยาง" นัยยะของการเรียกชื่อดังกล่าวเป็นลักษณะเหมารวมไม่จำแนกความแตกต่าง ทั้งนี้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงนั้นมีหลากหลายกลุ่มย่อยและหลากหลายชื่อเรียกด้วยกัน ทั้งการเรียกตัวเอง การเรียกด้วยคนอื่นทั้งกลุ่มชาติพันธุ์อื่นและคนต่างชาติ   

              กะเหรี่ยง ถือเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย ราจาห์ (2008. อ้างใน วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข. 2555) วิเคราะห์จากเรื่องเล่า ตำนานและข้อมูลจากหลายส่วนว่าแต่เดิมนั้นชาวกะเหรี่ยงน่าจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในมองโกเลียเมื่อ 2,617 ปีก่อนคริสตกาล   ต่อมาได้ย้ายมาแถบตะวันออกของเตอร์กิสถาน ราว 2,013 ปีก่อนคริสตกาล และเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ทิเบต ราว 1,864 ปีก่อนคริสตกาล อพยพมายังมณฑลยูนนานของจีนราว 1,385 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนจะเคลื่อนย้ายเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเขตภาคตะวันออกของประเทศพม่า ภาคเหนือและตลอดแนวฝั่งตะวันตกของประเทศไทย โดยเข้ามาหลายระลอกด้วยกัน กลุ่มแรกเดินทางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 1,125 ปีก่อนคริสตกาล มีกลุ่มเดินทางมาสมทบอีกในช่วง 759 ปีก่อนคริสตกาล (วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข. 2555: 1-2)

            ในส่วนของกะเหรี่ยงในประเทศไทยนั้น นักวิชาการสันนิษฐานว่าล้วนแล้วแต่อพยพมาจากประเทศพม่าทั้งสิ้นโดยกลุ่มแรก ๆ ที่อพยพเข้ามาคือ กลุ่มโผล่วหรือโป และปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยงสกอ ส่วนกลุ่มของ ตองสู กะยาห์ กะยันและกะยอ เป็นกลุ่มที่อพยพมาใหม่หลายระลอกด้วยกันนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงที่ราชอาณาจักรไทยและพม่าทำสงครามกัน ในระหว่างช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาถึงช่วงต้นกรุงรัตโกสินทร์ โดยนักวิชาการแยกกะเหรี่ยงออกเป็นสี่กลุ่ม ได้แก่ หนึ่ง กะเหรี่ยงสกอ (Sgaw) สอง กะเหรี่ยงโป (Pwo) สาม กะเหรี่ยงแบร หรือบเว (Bwe) สี่ ตองสูหรือปะโอ (Taungthu/Pa-o) ในประเทศไทยนั้นพบกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกระจายที่เป็นชนพื้นเมืองท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในดินแดนนี้มาหลายร้อยปีซึ่งปัจจุบันตัวตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกนั้นมีสองกลุ่มย่อยคือ กลุ่มกะเหรี่ยงสกอร์และกลุ่มกะเหรี่ยงโป ส่วนกลุ่มย่อยอื่น ๆ นั้นเคลื่อนย้ายเข้ามาในช่วงหลัง (วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข. 2555: 2-4)  

    ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ 

              พรรณรัตน์ จงอมรรัตน์  ชาวกะเหรี่ยงแดง จากบ้านห้วยผึ้ง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อเรียกของตนเองว่า  กะยา เป็นการออกเสียงในภาษาพม่าในยุคก่อน  กะหยิ่นนี เป็นการออกเสียงในภาษาพม่าในยุคหลัง Karenni (คะเรนนี) เป็นการออกเสียงเรียกในภาษาอังกฤษ ยางแดง เป็นการออกเสียงในภาษาไตใหญ่ ไตโยนและล้านนา กะเหรี่ยงแดง เป็นคำออกเสียงในภาษาไทย ส่วนคนในกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ออกเสียงเรียกตัวเองว่า “กะแย หรือ กะแยลี” หมายถึง “คน หรือมนุษย์”

              กะแย กะยา คะยาห์ เป็นชื่อที่ชาวกะยาให้เรียกตัวเอง ชาวกะยาในพื้นที่ห้วยปูแกง จ.แม่ฮ่องสอน มักใช้ชื่อกะแยกับกะยามาควบคู่กัน (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,ออนไลน์) 

              บเว เป็นชื่อที่ชาวกะยาเรียกตัวเองอีกหนึ่งชื่อ บางครั้งก็ออกเสียงเป็น แบร (ฟ้อน เปรมพันธุ์. 2560:3) บวอย บเว่ แบระ หรือปะแยะ (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ 2545: 52) 

              ยางแดง เป็นคำที่ชาวไทในภาคเหนือและชาวไทใหญ่เรียก ชาวกะยา ตามการแต่งกายของหญิงที่แต่งงานแล้ว ซึ่งนิยมใส่เสื้อและนุ่งซิ่นทอแซมด้วยสีแดง (วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข 2555: 38) 

             เลากัง ไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้ 

             กะยินนี ไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้ 

           

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย ศิราพร แป๊ะเส็ง นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

    ปีงบประมาณ 2562, วันที่อัพโหลด ; 29 กันยายน 2562

    เอกสารอ้างอิง

              วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข. (2555). เรื่องเล่าจากชายแดนไทย-พม่า : ประกายไฟทางปัญญาเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร.

              ยศ สันตสมบัติ และคณะ. (2544). การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการจัดการทรัพยากร. นพบุรีการพิมพ์. เชียงใหม่.

              สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน. (2551). วัฒนธรรมประเพณีชนเผ่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน. มปพ.

              กุลธิดา นิวิฐกุลนิภา. (2560). การสร้างพื้นที่อัตลักษณ์ของผู้ลี้ภัยคะเรนนี: กรณีศึกษาของค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอย. ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต  คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

    ออนไลน์

              พรรณรัตน์ จงอมรรัตน์ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.10214041046761225&type=3

              พรรณรัตน์ จงอมรรัตน์ . การแต่งกายชุดกะยา/กะแย ยางแดงหรือกะเหรี่ยงแดง (หญิง)  https://www.facebook.com/groups/774063819357242/posts/2901832833246986

    สัมภาษณ์ 

             ปัญญา พงศ์ธรรมชาติ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  บ้านห้วยโป่งอ่อน  ตำบลหมอกจำแป่  อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

              แปล  ปราสาทดียิ่ง  บ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

              พรรณรัตน์ จงอมรรัตน์  บ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

              สุชาติ งามประพฤติ ผู้ใหญ่บ้าน  บ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน.

             สุวิชาน พัฒนไพรวัลย์  อาจารย์ประจำหลักสูตร ศิลปะศาสตร์บัณฑิต การจัดการภูมิสังคม ศิลปศาสตร์บัณฑิต การจัดการภูมิวัฒนธรรม, รองคณบดีฝ่ายเครือข่ายชุมชน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์การจัดการภูมิวัฒนธรรม  วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

              อำนาจ มีเมืองงาม  ผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยโป่งอ่อน  ตำบลหมอกจำแป่  อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              กะเหรี่ยงแดงหรือกะเหรี่ยงแบร หรือบเว (Bwe) นักวิชาการอนุมานว่าได้เริ่มอพยพเคลื่อนย้ายจากประเทศพม่าเข้ามาสู่ประเทศไทยหลังยุคล่าอาณานิคม และมีความเข้มข้นของการเคลื่อนย้ายเมื่อเกิดสถานการณ์สู้รบในประเทศพม่าหลังการปลอดปล่อยพม่าจากการเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ซึ่งเกิดสงครามกลางเมืองและการต่อรองของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยเพื่อการแยกตัวเป็นอิสระ การปราบปราม และสงครามระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลทหารพม่า สถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศผนวกกับความยากแค้นในการดำรงชีพ ทั้งการขูดรีดผลผลิตและแรงงาน การเกณฑ์ใช้แรงงานและการบังคับเคลื่อนย้ายชุมชนของรัฐบาลทหารพม่า รวมถึงแนวนโยบายด้านการท่องเที่ยงของประเทศไทยที่เป็นแรงดึงดูดให้มีการนำเข้ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มย่อยอื่นตามมา เช่น กลุ่มกะยา ปะโอ  ตองสู กะยัน กะยอ 

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง :

              กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในประเทศพม่านั้นมีรัฐของตนเองสองรัฐคือ รัฐกะเหรี่ยง (Kayin State) ซึ่งส่วนประชากรใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงขาว (ปกาเกอะญอ) และรัฐคะยา (Kayah State) ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง แต่ทั้งสองรัฐนั้นก็มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มอื่นอาศัยอยู่ร่วมกัน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในรัฐเดียวกัน ทั้งสองรัฐต่างถือว่าตนเองเป็นรัฐอิสระมีระบบปกครองตนเองแต่โบราณก่อนยุคอาณานิคม และเมื่อเข้าสู่ช่วงอาณานิคมนั้นอังกฤษใช้แนวนโยบายแบ่งแยกปกครองให้อิสระแก่รัฐชาติพันธุ์พอสมควร ทำให้ทั้งสองรัฐไม่ได้ขึ้นตรงต่อการปกครองกับรัฐบาลทหารพม่า ดังนั้นเมื่อพม่าได้รับอิสรภาพรัฐชาติพันธุ์หลายรัฐจึงเกิดการต่อสู่เพื่อแบ่งแยกการปกครองตนเองโดยใช้ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ผนวกกับสัญญาปางโหลงเพื่อพยายามแบ่งแยกรัฐอิสระ ความขัดแย้งระหว่างรัฐอิสระกับรัฐบาลทหารพม่าจึงทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อรัฐบาลใช้แนวนโยบายตัดสี่เพื่อปราบปรามอำนาจของรัฐชาติพันธุ์ในเขตภูเขา (ดุลยภาค ปรีชาปรัชช.)

              กะเหรี่ยงแบรหรือบเว (Bwe) หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อของกะเหรี่ยงแดงนั้น เป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มกะเหรี่ยง (Karen) หากแต่มีความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรมบางประการกับกลุ่มกะเหรี่ยงสกอ (Sgaw) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย กะเหรี่ยงแดงเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยนับตั้งแต่ช่วงก่อนยุคอาณานิคม โดยเดินทางโยกย้ายหมู่บ้านข้ามไปมาระหว่างรัฐก่อนการกำหนดเขตเส้นแบ่งรัฐชาติ โดยมีเรื่องเล่าจากผู้อาวุโสบ้านห้วยโป่งอ่อนว่า เมืองแม่ฮ่องสอนคือแผ่นดินดั้งเดิมที่บรรพบุรุษชาวคะแยซี (กะเหรี่ยงแดง) ได้บุกเบิกที่ดินทำกินในรูปแบบไร่หมุนเวียนสืบต่อกันมา โดยมี “สะถึเผ่” เป็นต้นตระกูล ก่อนที่พวกไตจะอพยพลงมาและรุกไล่ให้ชนชาวกะเหรี่ยงแดงถอยร่นออกไปบริเวณชายขอบของเมืองแม่ฮ่องสอนและเคลื่อนย้ายเข้าไปในประเทศพม่าที่สุด ส่วนกลุ่มที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นลูกหลานชาวกะเหรี่ยงแดงที่ตกหล่นจากการเคลื่อนย้ายครั้งนั้น (ยศ สันตสมบัติ และคณะ.2544: 45-46) กับอีกตำนานหนึ่งกล่าวถึง สมัยที่จอละฝ่อเป็นผู้ปกครองดินแดนแคว้นคะยาก่อนการเข้ามาของอังกฤษนั้น ได้มีการทำสัตย์สาบานร่วมกับเจ้าอุปราชหอหน้าแห่งเมืองเชียงใหม่ ว่า

                        "ตราบใดแม่น้ำคง (สาละวิน) บ่แห้งหาย          เขาควายบ่ซื่อ (ตรง) ถ้ำหลวงยังบ่ยุบ

                        เมืองนครเชียงใหม่กับเมืองยางแดง               จะต้องเป็นมิตรไมตรีไม่รุกรานกันตราบนั้น"

                                        (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน. 2551: 92-93)

     

              หลักฐานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าชาวกะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานอยู่ในล้านนา ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินอยู่ภายใต้อำนาจของโยนก โดยอยู่อาศัยในดินแดนนี้ด้วยการจ่ายเงินค่าที่ดินรายปีให้กับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ รวมถึงการส่งเครื่องบรรณาการอื่น เช่น ผ้าทอ น้ำผึ้งป่า ผลผลิตทางการเกษตร แสดงถึงสัมพันธภาพอันดีระหว่างเมืองยางแดงกับเมืองเชียงใหม่ (วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข. 2555: 3) นั่นแสดงให้เห็นว่า กลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มที่เคลื่อนย้ายไปมาตามแนวทิวเขาสูงตระหง่านด้านตะวันตกนั้นเป็นคนพื้นเมืองติดแผ่นดิน (indigenous peoples) ในดินแดนนี้มาก่อนการขีดเส้นแบ่งรัฐชาติ ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มย่อย แต่ละกลุ่มย่อยต่างมีวิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป

              เมื่อผู้ศึกษาลงพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงแดงบ้านห้วยผึ้งและบ้านห้วยโป่งอ่อนนั้น ผู้อาวุโส ต่างกล่าวตรงกันว่า บรรพบุรุษของพวกเขาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในพื้นที่นี้มาหลายชั่วอายุคน อาจจะโยกย้ายไปหมู่บ้านใกล้เคียงบ้าง แต่ก็ไม่ได้ห่างไกลจากถิ่นฐานเดิมมากนัก สามารถเดินเท้าติดต่อสื่อสารกันได้ นั่นแสดงให้เห็นว่า พวกเขาเหล่านั้นเป็นคนติดแผ่นดินมาก่อนการแบ่งแยกเขตแดนรัฐชาติ  เมื่อนโยบายผสมกลมกลืนเข้ามากระทำการต่อผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนผ่านรูปแบบของการจัดการศึกษาและบัตรประชาชนเพื่อยืนยันสถานะนั้น พวกเขาได้รับสถานะของคนไทย อีกทั้งรุ่นลูกรุ่นหลานได้เข้าระบบการศึกษาตามนโยบายของรัฐ หากจะมีความแตกต่างหลากหลายอยู่บ้างคือผู้อาวุโสที่ยังใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในการสื่อสารระหว่างกันในชุมชน ส่วนสำนึกของความสัมพันธ์หรือเกี่ยวพันกับรัฐคะเรนนีนั้น พวกเขาไม่ได้มีความรู้สึกนึกคิดมากเท่ากับความสำนึกทางชาติพันธุ์ในฐานะของความเป็นคนกะเหรี่ยงแดงด้วยกัน

                        "เกิดมาก็อยู่ตรงนี้แล้ว  พ่อแม่ ปู่ย่าก็อยู่ตรงนี้ ย้ายไปย้ายมาตามไร่ เราก็อยู่ตรงนี้ เป็นคนไทย เป็นกะแยด้วย" (แปล  ปราสาทดียิ่ง)

              สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ กล่าวไว้ว่า กลุ่มกะเหรี่ยงแบรหรือบเวนั้น ประกอบด้วยหลากหลายกลุ่มย่อยด้วยกัน ทั้งกะเหรี่ยงคอยาวซึ่งมีชื่อเรียกอื่นอีกว่ากะยันหรือกะยั้ง กะเหรี่ยงหูใหญ่ซึ่งมีชื่อเรียกอื่นอีกว่ากะยอ นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยกลุ่มคนไตหรือไทใหญ่ กลุ่มคนปะโอหรือตองสู แต่ละกลุ่มย่อยต่างก็มีภาษาของตนเองที่แตกต่างกันออกไป ในรัฐคะเรนนี ประเทศพม่านั้นไม่ได้แบ่งแยกย่อยเหมือนการจำแนกในประเทศไทย หากแต่ใช้สำนึกความเป็นคนของรัฐคะเรนนี เป็นสำคัญ ดังนั้นในรัฐคะเรนนีจึงเรียกควบรวมกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดที่อาศัยอยู่ร่วมกันว่า "คะเรนนี" หรือกะเหรี่ยงแดงเมื่อแปเป็นคำในภาษาไทย  ขณะเดียวกัน กุลธิดา นิวิฐกุลนิภา ได้ศึกษาเรื่องการสร้างพื้นที่อัตลักษณ์ของผู้ลี้ภัยคะเรนนี: กรณีศึกษาของค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่ในสอย ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งลี้ภัยมาจากรัฐคะเรนนี อาศัยอยู่ร่วมกันได้พยายามสร้างอัตลักษณ์ร่วมของความเป็นคะเรนนีในนามของรัฐชาติ (Nation) มากกว่าในนามของกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Group) งานศึกษาของกุลธิดาอธิบายไว้ว่าในภาวะที่ผู้เคลื่อนย้ายถูกจำกัดทางพื้นที่ทั้งจากประเทศต้นทางและประเทศเจ้าบ้านที่เข้ามาพักพิง แต่พวกเขาพยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนเองผ่านประเพณี พิธีกรรม ทั้งการจัดงานวันชาติคะเรนนี พิธีดีกู่ (ปอยข้าวต้ม) และพิธีเก่โทโบ่ (ปอยต้นที) เพื่อรื้อฟื้น ผลิตซ้ำและตอกย้ำความหมายของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ที่จะเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กับคะเรนนีในพื้นที่อื่น สร้างอัตลักษณ์ร่วม พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และหลอมรวมหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่ลี้ภัยจากรัฐคะเรนนีเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชนของศูนย์พักพิงชั่วคราว (กุลธิดา วินิฐกุลนิภา, 2560) ภายใต้การสร้างความเป็นหนึ่งเดียว การนำเอาพิธีกรรมเพียงบางพิธีกรรมมาเป็นตัวแบบในการหลอมรวมผู้คนที่มาจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์นั้นเป็นความพยายามในการสร้างรัฐชาติคะเรนนี ควบรวมทุกคนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยไว้ในนามของ "คะเรนนี" การสร้างอัตลักษณ์และพื้นที่ดังกล่าวได้ละเลยอัตลักษณ์และพื้นที่ของชาติพันธุ์ย่อยที่รวมอยู่ในกระบวนการสร้างรัฐชาติ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากันทำให้ตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มย่อยถูกละเลย มองข้าม และยัดเยียดอัตลักษณ์ใหม่ให้พวกเขา

    กะเหรี่ยงแดงในแม่ฮ่องสอน

              ในส่วนของชาวกะเหรี่ยงแดงในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น ผู้ศึกษาได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้อาวุโสเพียงสองชุมชน คือ บ้านห้วยโป่งอ่อน ตำบลหมอกจำแป่และบ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายแดนไทย-พม่ามากนัก ทั้งนี้ผู้อาวุโสทั้งสองชุมชนได้เรียกตัวเองว่า "กะแย" ขณะที่คนเมืองหรือคนไทใหญ่ในพื้นที่เรียกว่า "ยางแดง" และเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปทั้งในเอกสารทางราชการ เอกสารทางวิชาการหรือคนไทยท้องถิ่นอื่นในชื่อของ "กะเหรี่ยงแดง" อย่างไรก็ตามผู้ศึกษาเห็นว่าในการเขียนเรื่องราวของพวกเขานั้นจะสลับไปมาทั้งสามชื่อเรียกเนื่องจากมีความต่างในบริบทที่กล่าวถึง

              ผู้อาวุโสในชุมชนเล่าว่า ชุมชนกะเหรี่ยงแดงในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นส่วนใหญ่เริ่มตั้งเป็นชุมชนถาวรได้ไม่นานนัก นับย้อนไปประมาณห้าสิบปีที่ผ่านมานี่เอง หากแต่คนกะเหรี่ยงแดงอยู่อาศัยในแถบนี้มานานนับเท่าที่จำความได้คือสามชั่วอายุคน โดยก่อนหน้านั้นต่างตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหย่อมบ้านเป็นกลุ่มเครือญาติ ตามไหล่เขาห่างไกลชุมชน เนื่องจากวิถีชีวิตทำไร่หมุนเวียนและระบบเกษตรแบบยังชีพ พึ่งพาอาศัยผลผลิตจากป่า จึงโยกย้ายไปมาหลายที่ กระจัดกระจายออกไปตามไหล่เขา ที่ราบในหุบเขา หลายกลุ่มบ้านที่ตั้งบ้านเรือนห่างไกลจากชุมชนหลัก ตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ทำกินในเขตภูเขา การตั้งชุมชนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการโยกย้ายไปมาในหลายชุมชนหลายหมู่บ้าน ทั้งเนื่องจากความเหมาะสมของที่ทำกินประกอบกับความเชื่อ หากอาศัยอยู่ในชุมชนไหนแล้วอยู่ไม่สงบสุข ไม่ดี มีคนในครอบครัวเจ็บป่วย ก็ย้ายไปชุมชนอื่นย้ายที่ตั้งชุมชนใหม่ บางครอบครัวก็ย้ายไปมาหลายชุมชนหลายหมู่บ้านกว่าจะตั้งบ้านเรือนอยู่ได้ ประกอบกับเมื่อหน่วยงานราชการเริ่มมีการสำรวจชุมชนด้วยความห่างไกลกระจัดกระจายและสัญจรลำบากทั้งการเข้าไปสำรวจพบกลุ่มบ้านที่ห่างไกลมาก ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นได้ชักชวนให้ลงมาอยู่ในพื้นที่ใกล้ชุมชนมากขึ้น เพื่อจะได้ดูแลเรื่องสิทธิและการอยู่อาศัย การศึกษาของเด็กการให้ความช่วยเหลือหรือการดูแลเรื่องสุขภาพ หลังจากนั้นไม่นานได้โยกย้ายมาอาศัยในชุมชนที่ราชการรับรองและมีความสะดวกในการเดินทาง บางชุมชนเริ่มต้นจากการเป็นหย่อมบ้านของอีกหมู่บ้านหนึ่ง เมื่อจำนวนประชากรที่ย้ายลงมาสมทบกันมีจำนวนมากพอ มีองค์ประกอบครบถ้วนจึงจัดตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่แยกออกมาจากหมู่บ้านเดิม ในช่วงสิบปีแรกนั้น บางครอบครัวย้ายไปย้ายมาในหลายหมู่บ้าน ตามสายสัมพันธ์ของเครือญาติและปัจจัยด้านที่ทำกิน รวมถึงความสบายใจในการอยู่ในแต่ละชุมชน เนื่องจากคนกะแยนับถือผีเป็นศาสนาหลัก การย้ายถิ่นไปมาจึงพิจารณาจากการเสี่ยงทายเมื่อเกิดเหตุหรือเกิดความไม่สบายใจในครอบครัว

              จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสและเจ้าหน้าที่จากศูนย์ไทใหญ่ศึกษาพบว่า ชุมชนกะเหรี่ยงแดงในแม่ฮ่องสอนนั้นมีสองลักษณะคือ เป็นชุมชนที่มีเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดงและเป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันตั้งแต่สองกลุ่มชาติพันธุ์ โดยในลักษณะแรกนั้นถึงแม้จะกล่าวได้ว่าเป็นชุมชนที่อยู่เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง แต่ในความเป็นจริงแล้วมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเข้ามาอยู่อาศัยร่วมด้วยในลักษณะของการแต่งงานเข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัวเข้ามาเป็นเขย เข้ามาเป็นสะใภ้ ซึ่งจะมีทั้งคนไทใหญ่ คนเมือง คนลีซู ฯลฯ  ถึงแม้ว่าคนจากต่างกลุ่มชาติพันธุ์จะแต่งงานเข้ามาอยู่ในชุมชนกะเหรี่ยงแดง แต่วิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็ยึดรูปแบบของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง โดยมีชุมชนลักษณะนี้จำนวนเจ็ดชุมชน ได้แก่ 1)บ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา 2)บ้านห้วยโป่งอ่อน ตำบลหมอกจำแป่ 3)บ้านทบศอก ตำบลหมอกจำแป่ 4)บ้านไม้สะเป่ ตำบลปางหมู 5)บ้านดอยแสง ตำบลปางหมู 6)บ้านแม่ส่วยอู ตำบลผาบ่อง  7)บ้านห้วยช่างเหล็ก ตำบลผาบ่อง  ทั้งหมดตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนในส่วนของชุมชนที่อยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นอีกจำนวนเจ็ดชุมชน ได้แก่ 

              หนึ่ง บ้านห้วยเสือเฒ่า ตำบลผาบ่อง มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง กะเหรี่ยงคอยาวและกะเหรี่ยงหูใหญ่ 

              สอง บ้านห้วยเดื่อ ตำบลผาบ่อง มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง ไทใหญ่ 

              สาม บ้านห้วยช่างคำ ตำบลห้วยโป่ง มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง กะเหรี่ยงสะกอ 

              สี่ บ้านนาป่าแปก ตำบลหมอกจำแป่ มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง ม้ง ไทใหญ่ ปะโอ กะเหรี่ยงสะกอ  

              ห้า บ้านห้วยมะเขือส้ม ตำบลหมอกจำแป่ มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง ปะโอ ม้ง ไทใหญ่

              หก บ้านสบป่อง ตำบลปางหมู มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง ไทใหญ่   

              เจ็ด บ้านใหม่ในสอย ตำบลปางหมู ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านใหม่ในสอย เป็นศูนย์ดูแลผู้เคลื่อนย้ายจากประเทศพม่าอันเนื่องมาจากหลบหนีภัยสงคราม ซึ่งมีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง ไทใหญ่ กะเหรี่ยงคอยาว กะเหรี่ยงหูใหญ่ บะหม่า ในขณะที่พื้นที่นอกศูนย์พักพิงชั่วคราวจะมีชุมชนชาวไทใหญ่อยู่ร่วมกัน

              ทั้ง 14 ชุมชนในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดงอาศัยอยู่นั้น ทั้งที่เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นและอาศัยอยู่เพียงกลุ่มชาติพันธุ์เดียว หากแต่เนื่องจากชุมชนรายรอบรวมถึงประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ส่งผลให้มีการหยิบยืมและเปลี่ยนผสานความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมหลายอย่างระหว่างกัน เป็นลักษณะของความลื่นไหลทางวัฒนธรรม รวมถึงภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ผู้เฒ่าหลายคนในชุมชนกะเหรี่ยงแดงจึงสามารถพูดสื่อสารภาษาไทใหญ่ได้ ในอดีตภาษาไทใหญ่ถูกใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสารระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีหลากหลายกลุ่มหลากหลายภาษา ส่วนในปัจจุบันมีภาษาไทยกลางเข้ามาร่วมเป็นภาษาหลักในการสื่อสารด้วยอีกภาษาหนึ่ง เนื่องจากระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมศึกษาเน้นให้เด็กนักเรียนอ่านเขียนและสื่อสารภาษาไทยได้ ดังนั้นคนรุ่นใหม่ที่ผ่านระบบโรงเรียนจึงสามารถพูดสื่อสารได้หลายภาษามากกว่าผู้สูงอายุ

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง :

    "...เมื่อก่อนเราอยู่พอมีพอกินนะ ทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวปลูกผักอยู่ตามสันดอย...เดินทางไปมาก็ไม่สะดวกเหมือนทุกวันนี้ จะเข้าในเมืองเราก็ต้องตื่นแต่ดึกเดินออกไปปากทาง แล้วรอรถผ่านถึงจะได้เข้าในเมือง บ้านก็เป็นไม้ไผ่ อาหารการกินก็เก็บหาตามป่าเป็นหลัก เลี้ยงหมูเลี้ยงไก้ไว้ไหว้ผีเป็นหลักมากกว่าไว้กินเหมือนทุกวันนี้....”  (แปล  ปราสาทดียิ่ง ผู้อาวุโส บ้านห้วยผึ้ง 25 มกราคม 2561)

               ชุมชนกะเหรี่ยงแดงในอดีตตั้งอยู่ห่างไกลและโดดเดี่ยวเป็นชุมชนเล็ก ๆ  บางหย่อมบ้านมีไม่กี่หลังคาเรือน เนื่องจากการตั้งบ้านเรือนเลือกตั้งตามพื้นที่การเกษตรเป็นหลัก  ดังนั้นผู้คนจึงมีความรู้เบื้องต้นในการดูแลรักษาโรคภัยใข้เจ็บด้วยความรู้ท้องถิ่น และยาสมุนไพร การเดินทางเข้าตัวเมืองแม่ฮ่องสอนใช้การเดินเท้าเป็นหลัก ทั้งนี้ไม่ค่อยจะมีการเดินทางเข้าตัวเมืองมากนักนอกจากต้องการนำของป่าออกไปขายเพื่อนำเงินไปซื้อหาของจำเป็น อีกทั้งในชุมชนมักมีพ่อค้าม้ง พ่อค้าไทใหญ่หรือพ่อค้าจีนยูนนานเดินทางซื้อขายของป่าอยู่เป็นประจำ ขณะที่การแต่งกายนั้นเป็นชุดเสื้อผ้าที่ทอเองโดยแม่บ้านและเป็นรูปแบบดั้งเดิมของคนกะแย หากแต่เมื่อชุมชนเคลื่อนย้ายออกมาตั้งเป็นชุมชนใหญ่รวมกัน มีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน มีระบบการปกครอง มีการทำบัตรประชาชน การจัดระบบการศึกษา สถานพยาบาลและการเดินทางเข้าเมืองที่สะดวกรวดเร็วขึ้น วิถีชีวิตดั้งเดิมเริ่มปรับเปลี่ยน บางครอบครัวเปลี่ยนจากการทำไร่มาทำนาหรือเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น เช่น รับจ้าง ค้าขาย คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งเริ่มไม่สนใจการทำไร่ และเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับมักเดินทางเข้าไปทำงานในเมืองหรือต่างจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนผู้อาวุโสและวัยกลางคนที่ยังทำไร่ทำนาและอยู่อาศัยในชุมชนเป็นหลัก

              ในชุมชนบ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา  ตั้งอยู่บนเส้นทางที่จะตรงไปยังจุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยผึ้ง ซึ่งสามารถเดินทางข้ามไป บ้านนามน รัฐฉาน ประเทศพม่าได้ ชุมชนบ้านห้วยผึ้งจึงไม่ได้โดดเดี่ยวมากนัก มีผู้คนผ่านไปมา เข้าออกทั้งคนจากพม่า และจากในเมืองแม่ฮ่อยสอนเดินทางข้ามไป เนื่องจากการสัญจรสะดวก  ในชุมชนเป็นชาวกะแยทั้งหมด มีส่วนน้อยที่แต่งงานเข้ามาที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่น แต่เดิม ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียน หากแต่เมื่อรัฐประกาศห้ามทำไร่ การปลูกข้าวจึงจำกัดในพื้นที่เดิม ทำให้ผลผลิตได้น้อยลง จำเป็นต้องใส่ปุยและใช้ยาฆ่าหญ้า นอกจากพื้นที่ไร่แล้วชาวบ้านยังมีการทำนาลุ่ม เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ไกล้แม่น้ำแม่สะงา  ทำให้มีพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาจำนวนไม่มากนักที่สามารถทำนาได้  นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชอายุสั้นตามฤดูกาล เช่น กระเทียม ถั่วเหลือง  ถั่วลายเสือ  คนหนุ่มสาวนิยมออกไปทำงานในเมืองแม่ฮ่องสอน และต่างจังหวัด เช่ยเชียงใหม่ทำให้ในชุมชนเหลือคนวัยกลางคน วัยสูงอายุ และเด็กเล็ก อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันทำพิธีอิลู หนุ่มสาวที่จากบ้านไปก็จะกลับมาบ้านเพื่อร่วมพิธี และทำการเสี่ยงทางโชคชะตาประจำปี 

              ในชุมชนบ้านห้วยโป่งอ่อน ตำบลหมอกจำแป่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ปายฝั่งซ้าย ซึ่งประกาศไว้เมื่อ วันที่ 27 พ.ย. 2506 และมีการเพิกถอนพื้นที่บางส่วนเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ศูนย์โป่งแดง โดยประกาศพื้นที่ใหม่เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2534 (กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ในด้านการดำรงชีพของคนในชุมชนนี้นั้นไม่ต่างจากชุมชนห้วยผึ้งมากนัก ทั้งวิถีชีวิต พิธีกรรม ลักษณะสังคมและวัฒนธรรมเนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทำให้มีข้อกำจัดด้านการทำไร่เนื่องจากไม่สามารถใช้พื้นที่เพิ่มเติมจากการสำรวจของหน่วยงานราชการได้ หลังจากการประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2534 มาตรการและการควบคุมพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชาวบ้านในพื้นที่เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากวิถีของการทำไร่หมุนเวียนนั้น เมื่อใช้พื้นที่ปีที่หนึ่งแล้วจะปล่อยทิ้งไว้ห้าถึงเจ็ดปีเพื่อให้พื้นที่ฟื้นคืนความสมบูรณ์จึงกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง ในมุมมองของหน่วยงานรัฐเห็นว่า พื้นที่เดิมที่เคยใช้ในการเกษตรแล้วปล่อยพักฟื้นให้ต้นไม้โตแล้วถือเป็นพื้นที่ป่าและกันออกไปจากการจัดทำเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ของคนในชุมชน คนในชุมชนไม่มีสิทธิครอบครองพื้นที่ทั้งส่วนของพื้นที่ตั้งบ้านเรือนและพื้นที่ทำกิน หากแต่มีสิทธิในการใช้ประโยชน์และส่งต่อให้ลูกหลานใช้ประโยชน์ต่อเนื่องได้ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้คนในชุมชนมีพื้นที่ทำกินลดลง เกิดการปรับตัวด้วยการเปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนรูปแบบการผลิต เช่น การปลูกพืชไร่ถาวร การปลูกพืชหมุนเวียนในพื้นที่เดิม เป็นการใช้พื้นที่ซ้ำหลายครั้งและจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีในการเพิ่มผลผลิตรวมถึงสารกำจัดวัชพืชร่วมด้วย ถึงแม้ว่าวิถีชีวิตจะปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไขของพื้นที่แต่ในด้านจิตวิญญาณนั้น คนกะแยบ้านห้วยโป่งอ่อนไม่ได้ละเลย ยังคงยึดถือประเพณีพิธีกรรมดั้งเดิมสืบต่อกันมา

    ".....ตอนแรกที่มาอยู่ที่นี่มีแค่สามสิบครอบครัว ย้ายมาจากบ้านกอง บ้านปางตอง ตอนนั้นเราอยู่กระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ ผู้ใหญ่บ้านว่าให้ย้ายลงมาจะตั้งหมู่บ้านให้ จะได้ติดต่อสะดวก....ตอนย้ายมามีครอบครัวอยู่แล้ว.....พอย้ายมา ตอนนั้นอายุแปดปีก็อยู่ที่นี่มาจนถึงตอนนี้อายุสี่สิบปีแล้ว ...ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่าที่ตรงนี้เป็นเขตป่าสงวน คนชวนลงมาก็ไม่รู้....เราก็อยู่แถบนี้กันมานานหลายชั่วอายุคน  ย้ายไปย้ายมา จนมาตั้งหลักที่นี่แหละ...”  (ปัญญา พงศ์ธรรมชาติ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.7 บ้านห้วยโป่งอ่อน สัมภาษณ์ 24 มกราคม 2561)

              บ้านห้วยโป่งอ่อน ตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2530 ก่อนหน้าการจัดตั้งหมู่บ้านนั้น ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2524-2525 ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่สะงาได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชนในพื้นที่สูงและชักชวนให้กลุ่มคนกะแยที่ตั้งบ้านอยู่เป็นหย่อมบ้านกระจัดกระจายลงมาตั้งบ้านเป็นชุมชนถาวรเพื่อจะได้จัดบริการขั้นพื้นฐานให้ได้ รวมถึงการได้บัตรประชาชนและสัญชาติไทย หลังจากนั้นเริ่มมีการโยกย้ายลงมามากขึ้นจนจัดตั้งเป็นเป็นหย่อมบ้านของบ้านแม่สะงามีชื่อว่าบ้านห้วยโป่งแม่สะงา เมื่อมีจำนวนครัวเรือนและประชากรครบตามเกณฑ์แล้วจึงจัดตั้งเป็นหมู่บ้านและเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านห้วยโป่งอ่อน มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายแหมะ ไพรพงศ์พร ปัจจุบันเป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่สองชื่อ นายอำนาจ มีเมืองงาม

              การดำรงอยู่ของกะเหรี่ยงแดงในแม่ฮ่องสอนท่ามกลางวัฒนธรรมไต  ทำให้เกิดการกลืนกลายทางวัฒนธรรม การหยิบยืมภาษา เครื่องแต่งกาย และรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเมื่อมีโครงการธรรมจาริกเข้ามาตั้งในชุมชน เพื่อส่งเสริมการนับถือพระพุทธศาสนาในชนกลุ่มน้อย  การหยิบยืมประเพณีบางอย่างของชาวไทใหญ่ในการปฏิบัติศาสนกิก็เกิดขึ้น  ขณะเดียวกันก็มีชาวไทใหญ่เข้ามาร่วทำบุญในชุมชนอยู่บ่อยครั้ง รวมถึง การสร้างโรงเรียนและส่งบุตรหลานเข้าระบบการเรียนการสอนของรัฐไทย ที่ใช้ภาษาไทยกลางเป็นหลักในการจัดการเรียนการสอน  เด็กกะแยรุ่นใหม่จึงใช้ภาษาได้หลากหลาย ทั้งภาษาไทยกลางที่จำเป็นต้องใ้ในระบบโรงเรียน  ภาษาไทใหญ่ ซึ่งเป็นภาษาหลักของชนกลุ่มใหญ่ในแม่ฮ่องสอน และภาษากะแย ที่ใช้พูดคุยกันในครอบครัวและชุมชน 

    "...อย่างภาษานี่ เราจะติดต่อกับคนไทใหญ่มากกว่า คนเฒ่าส่วนใหญ่ก็จะได้ภาษาไทใหญ่ บางคนนะ พูดภาษาม้งได้ ภาษาลีซูได้ แต่เขาพูดภาษาไทยไม่ได้ก็มีเยอะไป ไม่เหมือนเด็กสมัยนี้ เขาได้หลายภาษา แต่กะแยเราไม่มีภาษาเขียนแล้ว เมื่อก่อนเคยมีนะ แต่เราไม่ได้สืบไม่ได้สอนกัน ยังมีแต่ภาษาพูดนี่แหละ...ชุมชนเราหาคนเขียนภาษากะแยไม่ได้แล้ว  แต่ในค่าย ฯ ยังมีอยู่นะเขาส่งเสริม มีสอนเขียนอ่านกันอยู่ ...”  (แปล ปราสาทดียิ่ง ผู้อาวุโส บ้านห้วยผึ้ง 25 มกราคม 2561)

              เช่นเดียวกันกับความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรม ถึงแม้ว่าคนกะแยจะยังคงรักษาขนบประเพณี โดยเฉพาะการนับถือผีบรรพบุรุษ หากแต่ในการสื่อสารกับคนนอกได้นำเอาภาษาไทยใหญ่มาเรียกชื่อกิจกรรมหรือพิธีกรรมเป็นส่วนมาก ประเพณีหลายอย่างเริ่มเลือนรางเนื่องจากผู้อาวุโสเริ่มตายจากไปและไม่ได้ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง ผนวกกับคนรุ่นหลังมีบัตรประชาชนตั้งแต่แรกเกิด เข้าระบบการศึกษาในโรงเรียนสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ดี ทำให้เริ่มเข้าไปทำงานในตัวเมืองและต่างจังหวัดมากขึ้น พวกเขาเริ่มห่างเหินต่อพิธีกรรมของครอบครัวและชุมชน ภาษาและวัฒนธรรมไทใหญ่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อชุมชนชาติพันธุ์ส่วนน้อยในแม่ฮ่องสอนด้วยเช่นกัน เนื่องจากแม่ฮ่องสอนนั้นมีวัฒนธรรมไทใหญ่เป็นวัฒนธรรมหลัก การผสมผสาน กลืนกลายและบดบังวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ สื่อให้เห็นถึงตำแหน่งแห่งที่ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่    

    "....อย่างพิธีหลายอย่าง เราก็เอาของในค่าย ฯ มาศึกษา เพราะชุมชนเราจริง ๆ มันเลือนหายไปจะหมดแล้ว...อย่างดูกระดูกไก่นะ เดี๋ยวนี้หาคนเฒ่าที่ดูเป็นยากแล้ว... บางครอบครัวก็ไปซื้อหนังสือคำทำนายกระดูกไก่จากในค่าย ฯ มาอ่าน...สมัยก่อนรุ่นปู่รุ่นย่าเราไม่ได้ตั้งชุมชนถาวรเหมือนเดี๋ยวนี้  ย้ายไปตามไร่ ไม่ได้ติดต่อกับใคร เวลาเข้าเมืองราชการเขาถามหาบัตร  สมัยนั้นเราก็ไม่ได้มีบัตรหรอก ยังไม่ได้ทำกัน เขาก็ว่าคนเถื่อน เราเลยไม่ค่อยได้ทำพิธีอะไรให้เอิกเกริก กลัว...อีกอย่างเราอยู่ใกล้ไทใหญ่ด้วย บางอย่างก็เอามาผสมกัน มีแต่งงานเข้ามาแต่งงานออกไปกันก็เยอะ ...คนต่างเผ่าแต่งเข้ามาก็ต้องมานับถือผีตามกะแยเรานะ...."  (แปล ปราสาทดียิ่ง ผู้อาวุโส บ้านห้วยผึ้ง 25 มกราคม 2561)

     

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง :

           กะเหรี่ยงแดงในปัจจุบัน ในชีวิตประจำวันนั้นสวมใส่เสื้อผ้าตามสมัยนิยม ไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้าตามอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์  อย่างไรก็ตาม พื้นที่ของเสื้อผ้าลื่นไหลไปตามจังหวะและเวลา  กะเหรี่ยงแดงสวมใส่เสื้อผ้าได้หลากหลายตามรูปแบบของสังคมและวัฒนธรรมที่ผันแปร  กล่าวคือ เมื่อถึงเทศกาลงานบุญหลักของจังหวัด พวกเขาจะหยิบเครื่องแต่งกายแบบไต ซึ่งเป็นวัฒนธรรมหลักของพื้นที่มาสวมใส่เพื่อร่วมกิจกรรม  เมื่อทางราชการขอความร่วมมือในพิธีของราชการ พวกเขาจะหยิบเอาเสื้อผ้าลายไทยประยุกต์มาสวมใส่ ขณะเดียวกันเมื่อถึงคราวต้องแสดงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ พวกเขาถึงจะหยิบเอาชุดกะเหรี่ยงแดงมาสวมใส่  เมื่ออยู่กับบ้าน  ไปไร่  ไปนา ก็สวมใส่เสื้อผ้าตามสมัยนิยม  พื้นที่ของเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของคนกะเหรี่ยงแดงจึงมิใช่เพียงอาภรณ์  แต่เป็นพื้นที่สื่อถึงความสัมพันธ์และอัตลักษณ์ที่ที่ลื่นไหลได้ตลอดเวลา  ขณะที่ การนำเข้าวัฒนธณณมและการแต่งกายแบบ "กะยา"  รูปแบบใหม่ซึ่งเข้ามาในพื้นที่แม่ฮ่องสอ นผ่านการเข้ามาของผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า ทำให้เกิดการหยิบยืมรูปแบบการแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง 

              ในอดีตนั้นชาวกะเหรี่ยงแดงปลูกฝ้าย ทำเส้นด้ายและทอผ้าใช้เองโดยใช้กี่ทอผ้าแบบกี่เอว  ย้อมสีด้วยวัสดุธรรมชาติ  ปัจจุบันยังมีคนทอผ้าอยู่บ้างแต่ใช้เส้นใยฝ้ายโรงงาน เนื่องจากการปลูกฝ้ายลดน้อยลง ไม่เพียงพอสำหรับใช้ทอผ้า  อีกทั้งการซื้อฝ้ายโรงงานสะดวกและรวดเร็วกว่า ผนวกกับการสวมใส่เสื้อผ้าตามวัฒนธรรมที่เป็นเพียงการแสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เท่านั้น ไม่ได้สวมใส่ในชีวิตประจำวัน กิจกรรมการปลูกฝ้าย ทอผ้า จึงไม่ตื่นตัวมากนัก เช่นเดียวกับการแต่งกายตามอัลักษณ์ชาติพันธุ์ ที่จะปรากฏให้เห็นเพื่อมีพิธีกรรม งานสำคัญ หรือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว  นอกจากนี้ ด้วยเสื้อของผู้หญิงกะเหรี่ยงแดงมีลักษณะสะพายแล่ง ไม่ได้ปกปิดเนื้อตัวร่างกายมิดชิดอย่างกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ทำให้ผู้หญิงไม่นิยมสวมใส่  แต่ปัจจุบันเมื่อกระแสการท่องเที่ยว และการเปิดตัวสู่สังคม  หญิงสาวกะเหรี่ยงแดงบางคนปรับรูปแบบการสวมใส่โดยการสวมเสื้อแขนยาวสีแดง หรือสีดำไว้ด้านใน ก่อนการพันผ้าส่วนตัวเสื้อ  หรือผู้หญิงบางคนสวมเสื้อคลุมแขนยาวทับ หรือการใช้ผ้าคลุมไหล่ไว้   หรือปรับรูปแบบชุดที่สวมใส่ตามผู้เคลื่อนย้ายจากประเทศพม่าซึ่งมีชุดประจำกลุ่มชาติพันธุ์ในยุคสมัยใหม่ที่มิดชิดกว่าแบบดั้งเดิม  ครูแปล ปราสาทดียิ่ง ผู้อาวุโสชุมชนบ้านห้วยผึ้ง อดีตครูศูนย์พัฒนาชาวเขา ปัจจุบันรั้งตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เล่าให้ผู้ศึกษาฟังถึงสังคมคนกะแยว่า

     ".....อย่างเสื้อผ้านะ เห็นได้ชัดเลย เมื่อก่อนตอนครูเด็ก ๆ คนในหมู่บ้านใส่แต่ชุดกะแย เด็ก ๆ ก็จะใส่สีขาว คนวัยสาวก็จะใส่สีแดง คนเฒ่าคนแก่ก็จะใส่สีดำ แต่ให้หลังไปสักสามสิบกว่าปีก่อนที่เริ่มเปลี่ยนมาเป็นชุดคนเมือง จนทุกวันนี้เราไม่ใส่ในชีวิตประจำวันแล้ว จะใส่ก็เฉพาะเวลามีการแสดงหรือเพื่อโชว์เท่านั้นเอง เพราะพวกผู้หญิงเขาว่าชุดผู้หญิงมันโป๊  เขาเลยไม่อยากใส่...แต่ถ้าที่ในค่ายอพยพนะ ยังมีคนเฒ่าบางคนใส่กันอยู่ เวลามีคนมาเยี่ยมมีงานมีการเขาก็จะใส่กัน...”  (แปล ปราสาทดียิ่ง ผู้อาวุโส บ้านห้วยผึ้ง 25 มกราคม 2561)

                          

         

    การแต่งกายของกะเหรี่ยงแดง 

    ซ้าย  การแต่งกายของผู้หญิงและผู้ชายกะเหรี่ยงแดง เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ในงานสมัชชชาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ปี 2561 

    ขวา การแต่งกายของผู้หญิงกะเหรี่ยงแดง บ้านห้วยผึ้ง  อ. เมือง จ. แม่ฮ่องสอน  ถ่ายเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2519  อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดย พรรณรัตน์ จงอมรรัตน์