2023-07-11 18:01:15
ผู้เข้าชม : 4510

กะยัน เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐคะเรนนี  ปัจจุบันได้มีการเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดแม่ฮ่องสอน คนกลุ่มนี้มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นด้านการแต่งกายที่ผู้หญิงจะสวมใส่ห่วงทองเหลืองขดเรียงกันหลายชั้นบริเวณรอบคอ นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นด้านประเพณีเฉลิมฉลองปีใหม่ หรือ งานปอยต้นที ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวกะยันและชาวกะแย ที่ยังคงปฏิบัติในปัจจุบันและถูกหยิบยกมาเป็นจุดดึงดูดด้านการท่องเที่ยวชุมชน  

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : กะยัน
ชื่อเรียกตนเอง : กะยัน, แลเคอ
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : กะเหรี่ยงคอยาว, ปาดอง, สตรียีราฟ
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : ทิเบต-พม่า
ภาษาพูด : กะยัน
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน

“กะยัน” และ “แลเคอ” เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง คำว่าแลเคอ แปลว่า “ตอนบนของลำธาร” อันหมายถึงถิ่นฐานดั้งเดิมของพวกเขาในรัฐคะเรนนี สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นที่รู้จักในชื่อของ “กะเหรี่ยงคอยาว”สืบเนื่องมาจากการสวมใส่ห่วงคอทองเหลืองนอกจากนี้ยังมีชืออเรียกอื่นว่า “ปาด่อง ปะด่อง หรือปาด่อง” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ปาดอง ในภาษาไทใหญ่ แปลว่า ผู้สวมห่วงทองเหลือง แต่ชาวกะยันยาวส่วนใหญ่ปฏิเสธว่าไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ทั้งนี้เจ้าของวัฒนธรรมพอใจที่จะถูกเรียกว่า กะยัน มากกว่าชื่ออื่น

ชาวกะยันเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยในประเทศพม่า เมื่อเกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงกับรัฐบาลทหารพม่าชาวกะยันที่ได้รับผลกระทบจึงอพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทย นักวิชาการสันนิษฐานว่าแต่เดิมชาวกะยันอาศัยอยู่แถบมองโกเลียต่อมาได้หนีภัยสงครามมาอาศัยในประเทศจีน ก่อนจะอพยพลงมาที่ประเทศพม่าเมื่อ พ.ศ. 1282 โดยอาศัยในเขตดีม่อโซ่ ของรัฐคะเรนนีหรือรัฐคะยาห์โดยหลังจากประเทศพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2491 รัฐคะเรนนีถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่า รัฐบาลต้องการปกครองรัฐคะเรนนีโดยส่งกองกำลังทหารเข้ามาจัดการดูแลรัฐชาติพันธุ์ ขณะที่ชาวคะเรนนีเองนั้นต้องการเป็นรัฐอิสระเช่นเดิมได้จัดตั้งกองกำลังต่อสู้กับรัฐบาลประเทศพม่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 มาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ “พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี” หรือ KNPP (Karenni National Progressive Party) นับเป็นกองกำลังของชาวคะเรนนีที่มีเอกภาพและต่อสู้มายาวนานที่สุด ในบรรดาชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า หลังจากปี พ.ศ.2530 การสู้รบระหว่างกองทำลังของรัฐอิสระ และกองกำลัทหารพม่านั้นเกิดความรุนแรงต่อเนื่องส่งผลให้ประชนอพยพเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่จำนวนมาก ชาวกะยัน เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่อพยพออกมาจากพื้นที่รัฐคะเรนนี ชาวกะยันเริ่มอพยพเข้าประเทศไทยช่วง พ.ศ.2527 เป็นต้นมา โดยเข้ามาบริเวณพรมแดนไทย - ประเทศพม่า ตรงข้ามกับพื้นที่ตำบลผาบ่องและตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชาวกะเหรี่ยงคอยาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยที่ห้วยพูลอง บ้านน้ำเพียงดิน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นที่แรก ปัจจุบันในจังหวัดแม่ฮ่องสอนพบชาวกะยันอาศัยใน 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านห้วยปูแกง (น้ำเพียงดิน) บ้านห้วยเสือเฒ่า และบ้านในสอย ทั้งนี้ยังพบชาวกะเหรี่ยงคอยาวอาศัยกระจายตัวในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และชลบุรี

ชาวกะยันมีการแต่งกายที่โดดเด่น โดยเฉพาะผู้หญิงจะสวมใส่ห่วงทองเหลืองที่ขดม้วนเรียงกันหลายชั้นบริเวณรอบคอเล่นกะโยดุ หรือกีตาร์สี่สาย ติดอยู่ในความทรงจำของคนทั่วไปหรือหญิงสาวชาวกะยันที่สวมห่วงทองเหลืองนั่งทอผ้าสิ่งเหล่านี้เป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นของชาวกะยันที่เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวกะยัน จนเกิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวหลายแห่ง ขณะเดียวกันการส่งเสริมด้านประเพณีวัฒนธรรมในระยะหลังได้ยกชู ประเพณีของชาวกะยัน และกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นจุดขาย เช่น ประเพณีดีกู่ ประเพณีปอยต้นที โดยเป็นไปในลักษณะของการจัดมหกรรมมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการมีการแสดงจากชุมชน เพื่อนำเสนอศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

สำหรับถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงรวมทั้งชาวกะยันนั้น มีนักวิชาการตั้งข้อสันนิษฐานแตกต่างกันไป บางกลุ่มได้อ้างอิง เรื่องเล่าของชาวกะเหรี่ยงที่เล่าถึงการเดินทางของบรรพชนที่ต้องอพยพข้ามผ่าน “กระแสสายธารทราย” สันนิษฐานว่า หมายถึง พื้นที่อันกว้างใหญ่ที่มีแต่ทรายไหลเหมือนกระแสน้ำ ประกอบกับมีผู้เล่าขานนามแดนถิ่นเดิมของพวกเขา (ชาวกะเหรี่ยง) ว่า คือ “ธิบิ-โกวบิ” ทำให้มีผู้ตีความว่า ทิเบตและทะเลทรายโกบี คือ ถิ่นเดิมของชาวกะเหรี่ยง (พอลและอีเลน ลูวิส, 2528: 70) ในขณะที่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง สันนิษฐานว่า ถิ่นฐานเดิมของชาวกะเหรี่ยง น่าจะอยู่แถบมองโกเลีย ต่อมาได้หนีภัยสงครามมาตั้งถิ่นฐานด้านทิศตะวันออกของทิเบตก่อนจะอพยพมาอยู่ที่ ประเทศจีน ชาวจีนเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ชนชาติโจว” (สุริยา รัตนกุล และสมทรง บุรุษพัฒน์, 2538: 1) ส่วนนักวิชาการ ชาวตะวันตกและกลุ่มมิชชันนารีที่ทำงานเกี่ยวกับชาวกะเหรี่ยงได้สันนิษฐานว่า ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงน่าจะอยู่ทางแถบตะวันตกของจีนก่อนที่จะอพยพลงมายังบริเวณประเทศพม่า โดยเชื่อว่ากะเหรี่ยงเดิมอาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำยางซี (Yangtse river) อันหมายถึง “ลุ่มน้ำของชาวยาง” (Rajah A., 2008: 307) โดยคำว่า “ยาง” ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของชาวกะเหรี่ยง คนทางภาคเหนือของประเทศไทยและในรัฐฉานของประเทศพม่านิยมเรียกชาวกะเหรี่ยงว่า “ยาง” (สุนทร สุขสราญจิต, 2547: 11)

ราจาห์ (2008) ได้เสนอแนวคิดการวิเคราะห์ถิ่นฐานดั้งเดิมและเส้นทางการอพยพของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งสอดคล้องสัมพันธ์กันกับนักวิชาการท่านต่างๆ ที่ได้เสนอไว้ข้างต้นว่า ราว 2,617 ปีก่อนคริสตกาล ชาวกะเหรี่ยง น่าจะมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่มองโกเลีย ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานมาทางแถบตะวันออกของเตอร์กิสถาน (Turkistan) ราว 2,013 ปีก่อนคริสตกาล และได้อพยพออกจากเตอร์กิสถานมาตั้งถิ่นฐานที่ทิเบต ราว 1,864 ปีก่อนคริสตกาล อพยพลงมายังมณฑลยูนนานของจีนราว 1,385 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนจะเคลื่อนย้ายมายังดินแดนแถบเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ โดยกลุ่มแรกเดินทางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 1,125 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมาอีกกลุ่มหนึ่ง ได้อพยพลงมาสมทบราว 759 ปีก่อนคริสตกาล (Rajah A., 2008: 309) ดินแดนที่กะเหรี่ยงลงมาตั้งถิ่นฐาน คือ ทางฝั่งตะวันออกของสหภาพประเทศพม่าและทางภาคเหนือไล่ลงมาตลอดแนวฝั่งตะวันตกของประเทศไทย

และจากการพูดคุยกับพ่อหลวงหน่อง ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านห้วยปูแกง ซึ่งได้เล่าว่า พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า ปู่ของปู่ ได้เล่ามาปากต่อปาก ว่าปู่ของปู่ หรือปู่ของปู่ของปู่ของปู่ ไม่รู้กี่รุ่นมาแล้ว ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทรายมา อพยพย้ายถิ่นฐาน ไปโน่นบ้าง ไปนี่บ้าง อพยพมาเรื่อยๆ จนมาถึงพม่า แต่อยู่พม่าก็มีสงคราม ก็ต้องอพยพต่อ จนมาอยู่ที่บ้านห้วยปูแกง

สำหรับชาวกะยัน (Kayan) นั้น เริ่มมาตั้งรกรากที่ประเทศพม่าใน พ.ศ. 1282 โดยเริ่มมาอาศัยในเขตดีม่อโซ่ (Demawso) ของรัฐคะเรนนีหรือรัฐคะยาห์ (Kayah State) แต่ปัจจุบันสามารถพบได้ในรัฐคะเรนนีหรือรัฐคะยาห์ (Kayah) เขตดีม่อโซ่ (Demawso) และ หลอยก่อ (Loikow) ในภาคใต้ของรัฐฉาน และในเมืองยองชเว (Nyaungshwe)รัฐฉานและในเปียงมานา(Pyinmana) มัณฑะเลย์ และเขตตานดองในรัฐกะเหรี่ยง ในท่าขี้เหล็ก(Tachilek) เชียงตุง รัฐฉาน

แผ่นดินคะเรนนี อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีมูลค่ามหาศาล เฉพาะแร่ธาตุมีไม่น้อยกว่า 10 ชนิด อาทิ ทองคำ ทองคำขาว เหล็ก ตะกั่ว พลอย ดีบุก วูลแฟรม และก๊าซธรรมชาติ ส่วนไม้สักโดยเฉพาะไม้สักดำ ซึ่งเป็นไม้สักหายาก ก็มีมูลค่ามหาศาล ด้วยทรัพยากรมากมายดังที่กล่าวมา รัฐบาลประเทศพม่าจึงปรารถนา ที่จะครอบครองแผ่นดินคะเรนนี ที่ผ่านมาเพิ่งครอบครองได้แค่ โรงไฟฟ้าหนึ่งโรง กับเหมืองทังสเตนหนึ่งแห่งเท่านั้น แต่ชาวคะเรนนี ก็ไม่ยอมให้ศัตรู เข้ามายึดแผ่นดินเกิดง่าย ๆ กองทัพคะเรนนีต่อสู้อย่างเข้มแข็ง มาตลอดเวลากว่า 50 ปี และจนถึงวันนี้ รัฐบาลประเทศพม่าก็ยังไม่ได้ครอบครองทรัพยากรบนแผ่นดินผืนนี้อย่างที่ใจต้องการ

ในสงครามระหว่างประเทศพม่ากับอังกฤษ หลังจากที่กองทัพอังกฤษโจมตีประเทศพม่าครั้งที่ 3 ยึดเมืองทางเหนือได้ทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2428 และประกาศให้ประเทศพม่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียในปีถัดมา ซึ่งขณะนั้นคนกะเหรี่ยงจำนวนมากเริ่มเข้ารับราชการภายใต้การปกครองของอังกฤษ กะเหรี่ยงเป็นทหารที่สำคัญในกองทัพ ในสงครามประเทศพม่า-อังกฤษ ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้นำทางให้กองทัพอังกฤษ ฝ่ายประเทศพม่าได้ลงโทษชาวกะเหรี่ยงที่เข้าข้างอังกฤษ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงอพยพไปยังดินแดนที่อังกฤษปกครองและเกิดกลุ่มต่อต้านประเทศพม่า หลังจากอังกฤษได้ปกครองประเทศพม่าทั้งหมด และยึดมัณฑะเลย์ได้ในสงครามประเทศพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3 กะเหรี่ยงได้เป็นผู้ช่วยอังกฤษเมื่อชาวประเทศพม่าก่อกบฏ มิชชันนารีได้เข้ามามีบทบาทในการชักนำชาวกะเหรี่ยงกดดันการก่อกบฏของประเทศพม่า จนอังกฤษปราบปรามได้สำเร็จ

ช่วงปี พ.ศ. 2470 หลังจากที่ประเทศพม่าตกเป็นของอังกฤษอย่างเต็มตัว เซอร์ ซานซีโพ (Sir San C. Po) หนึ่งในคนกะเหรี่ยงทีรับราชการภายใต้การปกครองอังกฤษได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า “ประเทศพม่ากับชาวกะเหรี่ยง (Burma and the Karens)” โดยหนังสือเล่มนี้มีใจความสำคัญตอนหนึ่งเหมือนเป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลอังกฤษว่า “ขอให้มีการประกาศรับรองภาคตะนาวศรีเป็นเขตปกครองพิเศษรัฐกะเหรี่ยง” ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 เซอร์ ซานซีโพ ทำเรื่องร้องขอการประกาศเขตปกครองพิเศษรัฐกะเหรี่ยงอีกครั้งกับรัฐบาลอังกฤษ แต่เรื่องนี้ทางอังกฤษไม่มีการพูดคุย และการดำเนินการอะไรเลย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2480 ประเทศพม่าถูกแยกออกเป็นหนึ่งประเทศ โดยไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียอีกต่อไปแต่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลอังกฤษ ภายหลังการประกาศให้พม่าเป็นหนึ่งประเทศ ช่วงปี พ.ศ. 2482 เกิดประแสความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและประชาชนอังกฤษขึ้นทั่วประเทศพม่า มีการจัดประชุมใหญ่ของหลายฝ่ายเพื่อเรียงร้องให้รัฐบาลอังกฤษคืนเสรีภาพในการปกครองให้กับประเทศ กระทั่งนายกรัฐมนตรี อู ซอ เข้าพบรัฐบาลอังกฤษเพื่อหารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ช่วงปี พ.ศ. 2484 และในวันที่ 8 ธันวาคนของปีนี้เอง สงครามโลกครั้งที่ 2 ขยายวงเข้าสู่ประเทศพม่า โดยทหารพม่ากลุ่ม Burmese Independence Army (BIA) เป็นกลุ่มที่นำทัพทหารญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศเพื่อให้ญี่ปุ่นช่วยรบกับกองทัพอังกฤษ

ในปี พ.ศ. 2485 ทหารพม่ากลุ่ม BIA เคลื่อนทัพเข้าสู่พื้นที่ วิกตอเรีย พอยท์ (Victoria Point) และเมืองย่างกุ้ง ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลอังกฤษต้องหนีขึ้นไปยังเมืองมัณฑะเลย์และหนีต่อไปยังประเทศอินเดีย การถอยทัพของอังกฤษครั้งนี้มีทหารกะเหรี่ยง สังกัดกองทัพอังกฤษ 2,000 นายติดตามเข้าไปยังประเทศอินเดีย

จากเหตุการณ์ที่มีทหารกะเหรี่ยงติดตามกองทัพอังกฤษครั้งนั้นทำให้ทหารพม่ากลุ่ม BIA ประกาศว่าประชาชนกะเหรี่ยงเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอังกฤษ และจะคอยเป็นหูเป็นตาให้กับกองทำอังกฤษ ทหารพม่ากลุ่ม BIA จึงบุกไปยังหมู่บ้านต่างๆ ของกะเหรี่ยงจับตัวผู้นำหลายคนสังหาร และปล้นทำลายหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ถูกโจมตีโดยทหารพม่ากลุ่ม BIA ได้แก่ หมู่บ้านแถบปากน้ำอิระวดีทั้งหมด, เมืองปะเตง, เมืองมยอ มยะ, เมืองฮอ กะติ, เมืองมอ รวมถึงชุมชนฝั่งตะวันออกด้วย ได้แก่ เมืองผาปูน, เมืองส่วยจีน, และเมืองตะโถ่ง ด้วยเหตุนี้พื้นที่ทางปากน้ำอิระวดี มาน รวย ทู จ่า จัดตั้งระดมประชาชนกะเหรี่ยงรบกับทหารพม่ากลุ่ม BIA

หลังจากประเทศพม่าได้รับเอกราช จากอังกฤษใน พ.ศ.2491 รัฐคะเรนนีถูกผนวก เป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่าทันที ก่อนหน้านี้ชาวคะเรนนี ไม่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของใคร แม้ในช่วงที่อังกฤษปกครองประเทศพม่า รัฐคะเรนนีก็ได้ทำข้อตกลงพิเศษ กับรัฐบาลอังกฤษ และรัฐบาลประเทศพม่าใน พ.ศ.2418 ให้ยอมรับอิสรภาพของรัฐคะเรนนี โดยคะเรนนียอมเปิดเส้นทางคมนาคม และเส้นทางการค้าสู่ประเทศจีน เป็นข้อแลกเปลี่ยน ชาวคะเรนนีจึงถือว่า ตนไม่เคยตกอยู่ ภายใต้การปกครองของใคร เมื่อรัฐบาลประเทศพม่า ต้องการปกครองรัฐคะเรนนี โดยส่งกองกำลังทหารเข้ามายึดครอง และเข่นฆ่าชาวคะเรนนี ชาวคะเรนนี จึงลุกขึ้นจับปืนสู้กับรัฐบาลประเทศพม่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 มาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี หรือ KNPP (Karenni National Progressive Party) นับเป็นตัวแทนทางการเมืองของชาวคะเรนนี ที่มีเอกภาพ และต่อสู้มายาวนานที่สุด ในบรรดาชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า

กองทัพประเทศพม่าเริ่มบุกรัฐคะเรนนีตั้งแต่ พ.ศ.2491 จนกระทั่ง พ.ศ.2505 กองทัพประเทศพม่าส่งกองทัพบุกยึดรัฐคะเรนนี จนเกือบครบทุกหัวเมือง ฝ่ายกองกำลัง KNPP จึงใช้วิธีรบแบบกองโจร แอบซุ่มโจมตีในป่า แทนการตั้งฐานทัพในเมือง และเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ ไม่ตั้งฐานทัพอยู่ที่ใดที่หนึ่ง

ชายหนุ่มจากหมู่บ้านทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ของรัฐคะเรนนี เล่าสถานการณ์ในหมู่บ้านของตนว่า"ทหารประเทศพม่าบุกเข้ามาที่หมู่บ้านของผม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 หลังจากรัฐบาลยึดพื้นที่ได้ ก็จัดตั้งกองกำลังทหารในหมู่บ้าน เป็นหน่วยทหารพิเศษ สำหรับปราบปราม กองกำลังทหารกะเหรี่ยง ช่วงแรก ๆ ฐานปฏิบัติการทหารประเทศพม่า ในรัฐคะเรนนีมีเพียงห้าฐานเท่านั้น ทหารคะเรนนีควบคุมพื้นที่ได้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำพอน จนถึงชายแดนไทย แต่หลังจากปี พ.ศ.2530 ทหารประเทศพม่าก็บุกเข้ามามากขึ้น จนทุกวันนี้ มีไม่น้อยกว่า 20 ฐาน"

เรื่องราวการสังหารโหด ปรากฏให้เห็นจนชินตา ในหมู่บ้านชาวคะเรนนี การปล้น ฆ่า ข่มขืนแบบ "ไม่ธรรมดา" เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เด็กหญิงวัย 12 ถูกทหารทั้งกองร้อย ข่มขืนจนตาย ต่อหน้าแม่ของเธอ หรือการฆ่าเด็กสามขวบ ด้วยการจับเด็ก ยัดลงในครกกระเดื่อง ตามด้วยการ "ตำเด็ก" จนเละ เหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของความจริง ที่ปรากฏผ่านสายตาชาวคะเรนนี นับตั้งแต่ทหารประเทศพม่า บุกเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ ชายหนุ่มคะเรนนีจำนวนมาก จึงพากันสมัครเข้าเป็นทหาร ใน KNPP ทำการสู้รบเพื่อปกป้องแผ่นดินตนเอง

นับตั้งแต่ พ.ศ.2505 รัฐบาลประเทศพม่าพยายามกดดันกองทัพ KNPP เช่นเดียวกับกองทัพชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ โดยยุทธวิธีตัดสี่ คือ อาหาร วัสดุ ฝ่ายการข่าว และกองกำลัง ทหารประเทศพม่าเผาเสบียง ในยุ้งฉางของชาวบ้าน ให้เหลือน้อยที่สุด จนมั่นใจว่าไม่เหลือเสบียง ส่งให้ทหารที่ซ่อนตัวในป่าแน่ ๆ รวมทั้งสังหารทุกครอบครัว ที่มีลูกชายเป็นทหาร หรือเป็นสายลับให้ KNPP

หลังจากใช้ยุทธวิธีตัดสี่ไม่สำเร็จ กองกำลัง KNPP ยังคงสู้รบกับทหารประเทศพม่าอย่างเข้มแข็ง และประเทศพม่าไม่สามารถช่วงชิงทรัพยากร บนแผ่นดินคะเรนนีได้ดังหวัง พ.ศ.2519 รัฐบาลประเทศพม่า จึงปฏิบัติการขั้นเด็ดขาด ด้วยการอพยพผู้คน ออกจากหมู่บ้านในชนบท ที่อยู่ใกล้กองกำลังคะเรนนีในป่า เข้าสู่พื้นที่ควบคุมในเมือง (เช่นเดียวกับการอพยพชาวบ้าน ทางตอนกลางของรัฐฉานใน พ.ศ.2539) และทำการอพยพในพื้นที่อื่น เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อทราบว่าพื้นที่นั้น มีกองกองกำลังคะเรนนี แต่จนแล้วจนรอด รัฐบาลประเทศพม่าก็ไม่สามารถปราบ กองกำลังคะเรนนีให้ราบคาบได้ ความหวังเรื่องเหมืองแร่ และสัมปทานป่าไม้บนแผ่นดินผืนนี้ จึงยังคงเป็นหมัน

ในที่สุดรัฐบาลประเทศพม่าจึงหันมาใช้ไม้อ่อนดูบ้าง โดยยื่นข้อเสนอเจรจาหยุดยิงกับ KNPP ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2538 ยอมให้ชาวคะเรนนี ทำมาหากินได้ตามปรกติ รวมทั้งหาผลประโยชน์ จากผืนดินคะเรนนีได้ โดยรัฐบาลประเทศพม่าขอมีส่วนแบ่ง ในทรัพยากรของชาวคะเรนนีบ้าง แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งสองฝ่ายก็มีอันต้องกลับมายิงกันอีกครั้งหลังจากเซ็นสัญญาหยุดยิง แค่เพียง 3 เดือนเท่านั้น

พรพิมล ตรีโชติ กล่าวถึงการกลับมาสู้รบกันใหม่ หลังควันปืนยังไม่จางหายว่า "สาเหตุของการสู้รบอีกครั้ง เป็นเพราะข้อตกลง ในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ ระหว่างผู้นำกองกำลัง KNPP กับรัฐบาลทหารประเทศพม่าไม่ลงตัว ด้วยในเงื่อนไขหนึ่ง ของการเจรจาหยุดยิง คือ รัฐบาลทหารประเทศพม่าอนุญาตให้ KNPP จัดการเรื่องไม้ ในเขตของตนได้ ฝ่าย KNPP จึงได้ขายสัมปทานการตัดไม้ ให้แก่บริษัทของไทย ในขณะที่รัฐบาล ได้ตกลงขายสัมปทาน ให้แก่บริษัทของสิงคโปร์เมื่อตกลงกันไม่ได้ กองทัพประเทศพม่า จึงส่งทหารเข้าประชิดฐานที่มั่นของ KNPP ทันที

หนึ่งปีต่อมา รัฐบาลประเทศพม่าสั่งอพยพหมู่บ้านอีกครั้ง ชาวคะเรนนีไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคนกลายเป็นคนไร้บ้าน หลายคนอดตายอยู่ในค่ายอพยพ เพราะคนส่วนใหญ่ ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากค่ายแม้ว่านักบวชจากโบสถ์ ในเมืองลอยกอว์ เมืองหลวงของรัฐคะเรนนี จะพยายามติดต่อ ขอบริจาคอาหาร และผ้าห่ม แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต จากทหารประเทศพม่า คนแก่ และเด็กจำนวนมาก เสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บ คนที่ทนอยู่ในค่ายไม่ได้ ก็แอบหนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในป่า เพราะอย่างน้อย ก็ยังหาอาหารประทังความหิวได้ โดยจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ประมาณสองสามครอบครัว เคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ เพราะถ้าอยู่ที่ใดนาน ๆ ทหารประเทศพม่าจะเห็น รอยทางเดิน หากถูกจับได้ ทุกคนจะถูกยิงทิ้งทันที

รัฐบาลประเทศพม่าดำเนินนโยบายล้างเผ่าพันธุ์ ชาวคะเรนนีทุกรูปแบบ เมื่อปราบกองกำลังทหารไม่ได้ ก็หันมาปราบประชาชนตาดำ ๆ ด้วย "อภิมหาโครงการฆ่าล้างเผ่า" ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่งโสเภณี ที่ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งถูกขังอยู่ในคุกประเทศพม่า เข้าไปขายบริการ ในรัฐคะเรนนี เพื่อแพร่เชื้อเอดส์ สู่หนุ่มคะเรนนี และให้หนุ่มคะเรนนี ส่งเชื้อโรคร้ายต่อไปยังหญิงสาว (ข้อมูลจากอดีตนายทหาร spdc หรือสลอร์กเดิม ผู้เปลี่ยนใจมาเข้าร่วมกับชาวคะเรนนี) หรือโครงการกลืนกลายชาติพันธุ์ ด้วยการสั่งให้ทหารประเทศพม่า แต่งงานกับหญิงท้องถิ่น ผู้หญิงหลายคน ถูกบังคับให้แต่งงานกับทหารประเทศพม่า ที่เธอเกลียดชังมากที่สุด วิธีนี้ถูกใช้อย่างเป็นระบบ และขยายไปทั่วแผ่นดินคะเรนนี

นับตั้งแต่การละเมิดสัญญาหยุดยิง พ.ศ. 2538 ผู้นำพรรค KNPP พยายามติดต่อเจรจาหยุดยิง กับทหารประเทศพม่าหลายครั้ง แต่การเจรจาก็ไม่เคยสำเร็จ เดวิด ซอวา ผู้นำชาวคะเรนนี ในค่ายผู้อพยพกล่าวถึง ปัญหาในการเจรจายุติสงครามกลางเมืองคะเรนนี ที่มีมากว่า 50 ปีว่า

จากสงครามล้างเผ่าพันธ์ชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลทหารประเทศพม่าในระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้ชาวกะยันต้องอพยพเข้าประเทศไทยประมาณปลาย พ.ศ.2527 ในช่วงที่กองกำลังทหารประเทศพม่าทำการกวาดล้างชนกลุ่มน้อย บริเวณพรมแดนไทย - ประเทศพม่า ตรงข้ามกับพื้นที่ตำบลผาบ่องและตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน การสู้รบทำให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวมทั้งชาวกะยันอพยพเข้ามาในประเทศไทยที่ ห้วยพูลอง บ้านน้ำเพียงดิน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นสถานที่แห่งแรกของประเทศไทยที่ชาวกะยันได้โยกย้ายอพยพครอบครัวเข้ามาตั้งถิ่นฐาน แต่ภายหลังบริเวณดังกล่าวนี้ได้ถูกทหารประเทศพม่ายกกำลังเข้าโจมตีชาวกะยันบางส่วนต้องอพยพไปอยู่รวมกับกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นๆ ที่หมู่บ้านใหม่ในสอย ซึ่งทางประเทศไทยได้ให้การช่วยเหลือและควบคุมให้อยู่ในฐานะผู้อพยพ ในศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยสงคราม บ้านในสอย อ.เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งจากยอดของผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-ประเทศพม่า ที่สำรวจตั้งแต่พ.ศ.2542 มีจำนวนยอดรวมของผู้อพยพทั้งสิ้น 36,379 คน

จากจำนวนของผู้อพยพข้างต้น เป็นชาวกะยันทั้งหญิงและชายจำนวน 321 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดอพยพลี้ภัยจากบริเวณอำเภอเดโมโซ (Demoso District) เมืองลอยก่อ (Loikaw) รัฐคะเรนนี(Karenni State) ประเทศพม่า ซึ่งใน พ.ศ.2494 รัฐดังกล่าวเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐคะยา

ในราว พ.ศ. 2528 ซึ่งบางแหล่งข้อมูลบอกว่า ปี พ.ศ. 2535 ได้มีผู้ประกอบการนำเที่ยวเข้าไปเจรจาตกลงกับรองนายกของกลุ่มกะเหรี่ยงชื่อ “ตูยีมู” เพื่อขอพาชาวกะยันเข้ามาให้นักท่องเที่ยวได้ชมในประเทศไทยโดยจ่ายเงินให้เป็นการตอบแทนแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้นำกลุ่มกะเหรี่ยงจะนำเงินจำนวนนี้บางส่วนไปใช้ซื้ออาวุธเพื่อสู้รบกับรัฐบาลทหารประเทศพม่า ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งไว้ใช้เป็นค่ากินอยู่รวมถึงเป็นเงินตอบแทนประจำเดือนของครอบครัวชาวกะยันที่ตกลงใจย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ภายในอาณาเขตประเทศไทย โดยได้ตั้งหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวไว้บริเวณหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า และจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นประจำทุกเดือน ผู้ใหญ่ เดือนละ 1500 เด็กเดือนละ 750

จากการที่ชาวกะยันอพยพหนีสงครามเข้ามาทำให้มีสถานะเป็นเพียง “ผู้อพยพหนีภัยสงคราม” ซึ่งเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ทางการไทยจึงไม่อนุญาตให้ครอบครองที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จึงทำได้แค่เพียงรอรับอาหารและเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพจากผู้ประกอบการนำเที่ยว และขอความช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชนจากทางการไทย หาของป่าเล็กน้อยๆ ใกล้ๆ กับเขตที่พักอาศัย หรือจำหน่ายผ้าทอรวมถึงของที่ระลึกต่างๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวเท่านั้น ผนวกกับการกระทำของผู้ประกอบการท่องเที่ยวบางแห่ง ทำให้กลุ่มเอ็นจีโอ นักวิชาการ และหลายภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงเกิดความไม่พอใจที่มีการกักขังชาวกะยันไว้ให้คนดูเสมือนสัตว์ ก่อให้เกิดคำว่า “สวนสัตว์มนุษย์” ขึ้นมา โดยเฉพาะที่หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า ที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเก็บเงินนักท่องเที่ยวเป็นค่าเข้าชม รวมทั้งไม่ให้ออกนอกพื้นที่ จึงก่อให้เกิดข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยคืนกะเหรี่ยงคอยาวให้ประเทศพม่า หรือส่งไปยังประเทศที่ 3 ต่อไป

ในปี พ.ศ. 2528 นายคงศักดิ์ ลิ่วมโนมนต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ( ในขณะนั้น ) ได้มีนโยบายให้แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดท่องเที่ยวและมีความเห็นว่ากะเหรี่ยงคอยาวน่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาแม่ฮ่องสอน จึงได้มีการเจรจากับผู้นำชนกลุ่มน้อยเผ่าคะยาเพื่อเปิดหมู่บ้านตามชายแดนและเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ในแรกเริ่มมีชาวกะยันเพียง 8 คน ต่อมามีการอพยพเข้ามาเพิ่มเติม จึงได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านวัฒนธรรมกะเหรี่ยงคอยาวขึ้นที่บ้านใหม่ในสอย ปัจจุบันมีกะเหรี่ยงคอยาวเฉพาะกลุ่มที่ยังใส่ห่วงคอประมาณ 40 คน

และในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 นายดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนขณะนั้น ได้มีแนวความคิดที่จะย้ายหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวบ้านห้วยเสือเฒ่า ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน และหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวบ้านในสอย ต.ปางหมู อ.เมืองฯ มารวมกันอยู่ที่บ้านน้ำเพียงดิน (บ้านห้วยปูแกง) ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน โดยใช้ชื่อว่า หมู่บ้านโครงการอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่าปะต่อง ( กะเหรี่ยงคอยาว ) เพื่อความมั่นคง จ.แม่ฮ่องสอน หมู่บ้านห้วยปูแกง เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มคัดค้าน และมีชาวกะยันไม่กี่ครอบครัวย้ายไปตามแนวความคิดของผู้ว่าราชการจังหวัด

ทั้งนี้ การย้ายหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวให้อยู่ในที่เดียวกัน เกิดขึ้นเนื่องจาก กลุ่มองค์กรเอกชนจากประเทศนิวซีแลนด์เดินทางเข้ามาสัมภาษณ์กะเหรี่ยงคอยาวเพื่อที่จะคัดเลือกกะเหรี่ยงคอยาวที่อยู่ในพื้นที่แม่ฮ่องสอน เข้าไปอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์ โดยอ้างว่าทางจังหวัดให้กะเหรี่ยงคอยาวอยู่เหมือนสวนสัตว์ โดยประเทศนิวซีแลนด์จะสร้างหมู่บ้านถาวรให้อยู่ โดยจะออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ทั้งหมด และกะเหรี่ยงคอยาวอพยพมาจากประเทศพม่า ไม่ไช่เป็นกะเหรี่ยงที่อยู่ในประเทศไทยมาก่อน ไทยจึงไม่มีสิทธิ์เหนี่ยวรั้ง

หากประเทศไทยปล่อยให้ชาวกะยันไปอยู่ประเทศนิวซีแลนด์ จังหวัดแม่ฮ่องสอนก็จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาน้อยลง ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเดินทางเข้ามาเที่ยวชมหมุ่บ้านชาวกะยันที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนตลอดเวลา ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงได้มีหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ยับยั้งการอนุญาตให้กะเหรี่ยงคอยาวเดินทางไปยังนิวซีแลนด์

สำหรับหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวที่ตั้งใหม่ใช้ชื่อว่า "หมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตกะเหรี่ยงคอยาว" ที่บริเวณบ้านน้ำเพียงดิน หรือบ้านห้วยปูแกง ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน โดยย้ายกะเหรี่ยงจาก 2 หมู่บ้านดังกล่าวมารวมอยู่ที่บ้านน้ำเพียงดิน ประมาณ 70 ครอบครัว บนเนื้อที่ดินกว่า 103 ไร่ โดยให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้าไปดำเนินการวางผังหมู่บ้านให้ถูกลักษณะโดยให้กำหนดระยะเวลา 3 เดือนโดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ไปสิ้นสุดเดือนกันยายน พ.ศ. 2549

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ภายในหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวจะมีการแบ่งโซนการแสดงศิลปวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงคอยาวให้นักท่องเที่ยวได้ชม โดยจะมีการเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวชาวไทยคนละ 20 บาท นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคนละ 250 บาท เพื่อนำเงินดังกล่าวเข้าภายในหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวและให้มีการบริหารจัดการแบบกันเอง จังหวัดจะเป็นเพียงแต่กำกับดูแลเท่านั้น

จากนั้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (ทีบีซี) ที่อำเภอแม่แจ๊ะ จังหวัดลอยก่อ ประเทศพม่า โดยพันตรี ส่อไหนอู รักษาการ ผบ.พัน 430 ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ประเทศพม่า (ทีบีซี) ได้ทวงคืนกะเหรี่ยงคอยาว ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนกลับคืนประเทศพม่า โดยที่ประชุมได้ระบุว่า กะเหรี่ยงคอยาวที่อยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ถูก นายอ่องเมี๊ยะ ผู้นำกะเหรี่ยง เค เอ็น พี พี ให้การคุ้มครองและเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยนำเงินที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยว ที่เข้าชมกะเหรี่ยงคอยาวนำไปซื้ออาวุธและเสบียงอาหารไปต่อสู้กับทหารรัฐบาลประเทศพม่า ดังนั้นทางการไทยจะต้องส่งกะเหรี่ยงคอยาวที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนคืนให้แก่รัฐบาลประเทศพม่าโดยเร็ว ทางด้าน พ.อ.นพพร เรือนจันทร์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 จ.แม่ฮ่องสอน ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ที บี ซี ฝ่ายไทย ระบุว่า จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบตามที่ ที บี ซี ฝ่ายประเทศพม่าได้นำเสนอ โดยเฉพาะในเรื่องของความเคลื่อนไหวของนายอ่องเมี๊ยะ ในส่วนของผู้หนีภัยจากการสู้รบที่อยู่ในศูนย์พักพิงในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเรื่องระหว่างประเทศโดยมีองค์กรนานาชาติเข้ามาดูแล อย่างไรก็ตาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 จะไม่ให้กลุ่มบุคคลใดเข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศไทยเป็นเด็ดขาด

และในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2550 จากการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย - เมียนมาร์ - เมียนมาร์ - ไทย ครั้งที่ 13/50 (TBC. - 13) ที่ห้องประชุมโรงแรมฮอลิเดย์ อำเภอเมือง ทาง พ.ต. ส่อไหน่อู รักษาการ ผบ.พัน. 430/ประธาน(TBC.) เมียนมาร์ ได้ร้องขอ กับพ.อ.นพพร เรือนจันทร์ ผบ.ฉก.ร.7 ประธาน (TBC.) ฝ่ายไทย ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าชนกลุ่มน้อยปะต่อง (กะเหรี่ยงคอยาว)ในการดูแลของเมียนมาร์ ได้ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้าย KNPP ซึ่งต่อต้านรัฐบาลประเทศพม่าอยู่เบื้องหลังการจัดแสดงวิถีชีวิตของกะเหรี่ยงคอยาวและเรียกเก็บเงินค่าเข้าชมหมู่บ้านจากนักท่องเที่ยว.....การกระทำดังกล่าวนี้ถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่ให้เกียรติชนกลุ่มน้อย อีกทั้งยังอาจถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ทางการไทยส่งชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวกลับคืนสู่บ้านเกิด

ซึ่งในครั้งนั้นทางการไทยได้ให้เหตุผลโต้แย้งว่า.....ทางการไทยได้สอบถามพูดคุยกับกะเหรี่ยงคอยาวตามเงื่อนไขที่ได้ประชุมคราวที่แล้ว แต่กะเหรี่ยงคอยาวบอกว่าสักวันหนึ่งเมื่อถึงเวลา พวกเขาจะเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดเมืองนอนด้วยตนเอง เนื่องจากขณะนี้เด็กบางคนยังเรียนหนังสืออยู่ ส่วนการจัดแสดงวิถีชีวิตของกะเหรี่ยงคอยาวและเรียกเก็บเงินค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยวนั้นเป็นการตกลงกันเอง ทางการไทยไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยและสัญญาว่าจะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน.....นอกจากนี้กะเหรี่ยงคอยาวยังได้มีโอกาสจำหน่ายของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นการสร้างรายได้เพื่อนำมาจุนเจือครอบครัวและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองอีกทางหนึ่งด้วย ผลสรุปสุดท้ายจากการประชุมคณะกรรมการชายแดนฯ ในครั้งนั้นทำให้กะเหรี่ยงคอยาวซึ่งข้ามชายแดนไทยเข้ามายังคงปักหลักพักอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนดังเดิมต่อไป

นอกจากการพยายามขอให้ทางประเทศไทยส่งกะเหรี่ยงคอยาวกลับประเทศพม่าและทางกลุ่มองค์กรเอกชนจากประเทศนิวซีแลนด์ขอให้ส่งกะเหรี่ยงคอยาวไปยังประเทศนิวซีแลนด์แล้ว ภายในประเทศไทยยังมีกรณีการลักลอบพากะเหรี่ยงคอยาวออกนอกพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อไปทำงานในแหล่งท่องเที่ยวหลาย ๆ แห่งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ซึ่งครั้งหลังสุดได้มีการลักลอบนำกะเหรี่ยงคอยาวจำนวน 11 คน เป็นผู้หญิง 5 คน และผู้ชาย 6 คน จากหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านห้วยปูแกง ให้โชว์ตัวและวิถีชนเผ่าที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 และมีการนำกะเหรี่ยงคอยาวจาก อ.แม่อาย และ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ไปอยู่ยังเขาชีจรรย์ ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

โดยนายโชติ นรามณฑล นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน ในขณะนั้นกล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่า กะเหรี่ยงคอยาวที่อาศัยใน จ.แม่ฮ่องสอน ถูกล่อลวงและลักพาตัวไปอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย และพัทยา แล้วจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของ จ.แม่ฮ่องสอน อย่างมาก เนื่องจากกะเหรี่ยงคอยาวถือเป็นตัวชูโรงด้านการท่องเที่ยว แต่ละปีจะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะจากยุโรป อเมริกา ฯลฯ ที่นิยมเดินทางมาชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกะเหรี่ยงคอยาว ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย โดยผู้ดูแลกะเหรี่ยงคอยาวตามหมู่บ้านต่างๆ จะเก็บค่าเข้าชมหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายดูแลจากนักท่องเที่ยวคนละ 250 บาท โดยจะเก็บเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ละปีคำนวณแล้ว จ.แม่ฮ่องสอน มีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละนับหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งนอกจาก จ.แม่ฮ่องสอน ที่ได้รับประโยชน์ จังหวัดอื่นๆ ยังได้รับประโยชน์ตามไปด้วยเพราะการเดินทางมาต้องผ่านจังหวัดต่างๆ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทำให้ภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์ แต่หากมีการนำกะเหรี่ยงคอยาวออกนอกพื้นที่นอกจากผิดกฎหมายยังสร้างผลกระทบกับจังหวัดเล็ก ๆ ที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวโดย "จุดขายหลักด้านการท่องเที่ยวของ จ.แม่ฮ่องสอน คือเรื่องธรรมชาติ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวตามฤดูกาลและเทศกาล แต่การเที่ยวชมวิถีชีวิตกะเหรี่ยงคอยาวเป็นตัวชูโรงที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาตลอดทั้งปีโดยไม่จำกัดเทศกาล ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี"

ส่วน นายสุพจน์ กลิ่นปราณีต อดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า "การนำกะเหรี่ยงคอยาวออกนอกพื้นที่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหามานานแล้วโดยมีกลุ่มนายทุนและนักธุรกิจ ที่หวังผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง แม้รู้ว่ากะเหรี่ยงคอยาวถูกนำไปอยู่ที่ไหนแต่กลับไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขปัญหาจนส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวของ จ.แม่ฮ่องสอน" และการดูแลกะเหรี่ยงคอยาวที่มีมากกว่า 300 คน แม้จังหวัดจะจัดสรรงบประมาณ แต่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งแต่ละเดือนต้องใช้เงินดูแลคนเหล่านี้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1 แสนบาท ดังนั้นกะเหรี่ยงคอยาวที่อยู่ในความดูแลของเอกชนแต่ละแห่ง อาศัยรายได้หลักจากการเก็บค่าเข้าชมหัวละ 250 บาท เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งแต่ละปีมีการเก็บค่าเข้าชมได้รวมกันไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท แต่เมื่อถึงโลว์ซีซันจะมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าชม ทำให้เกิดขบวนการนำกะเหรี่ยงคอยาวออกนอกพื้นที่ไปขายให้กับนายทุน

ในปัจจุบันชาวกะยันยาวจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กระจายออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ หมู่บ้านชาวเขาเกษตรเชิงนิเวศน์ บ้านโต้งหลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว อ.เชียงดาว เชียงใหม่ หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว บ้านแม่ตะมาน อ.แม่แตง เชียงใหม่ หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว บ้านวังน้ำหยาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ บ้านเมืองงาม ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ บ้านใหม่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่บ้านยะผ่า อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่คุ้มเสือ ต.แม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ บ้านท่าข้าวเปลือก อ.เมือง จ.เชียงราย บ้านกะเหรี่ยงคอยาวข้าวต้มท่าสุดแม่จัน เชียงราย บ้านป่าอ้อ ตำบลนางแล อ.เมือง จ. เชียงราย หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว อ.ท่าตอน จ. เชียงราย หมู่บ้านชาวเขา เขาชีจรรย์ ต.นาจอมเทียน อ.

ชาวกะยันเป็นชนกลุ่มน้อยมีถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศพม่า ในสมัยก่อนเกิดการสู้รบครั้งใหญ่ระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงกับรัฐบาลทหารพม่า ทำให้ชาวกะยันได้รับผลกระทบจึงพากันอพยพหนีภัย สงครามเข้ามาอาศัยตามตะเข็บแนวชายแดน และบางส่วนได้เข้ามาอาศัยในเขตประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชาวกะยันเกือบทั้งหมดอพยพลี้ภัยจากบริเวณอำเภอเดโมโซ (Demoso District) เมืองลอยก่อ (Loikaw) รัฐคะเรนนี (Karenni State) ประเทศพม่า โดยปัจจุบันวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีของชาวกะยันจะเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศพม่า ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ และหาของป่า เมื่อมาอยู่ในประเทศไทยจะไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จึงปรับเปลี่ยนไปเป็นการทอผ้าและขายของที่ระลึก บางหมู่บ้านจะมีการรับเงินเดือนเป็นรายเดือนเพื่อยังชีพจากกลุ่มนายทุน บางหมู่บ้านจะอยู่ในสภานะผู้ลี้ภัยทางสงคราม หมู่บ้านชาวกะยันก็ได้รับความนิยมแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติตลอดมาไม่เปลี่ยนแปลง โดยในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีชาวกะยันอาศัยอยู่ในพื้นที่สำคัญ 3 แห่งด้วยกัน ได้แก่

บ้านห้วยปูแกง (น้ำเพียงดิน) เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่นักท่องเที่ยวสามารถชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ได้ ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดโดยยังคงดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่มาก หมู่บ้านตั้งอยู่ริมน้ำปาย สามารถล่องเรือตามแม่น้ำปายเข้าไปยังหมู่บ้าน หรือจะขับรถไปยังหน้าหมู่บ้านแล้วนั่งเรือข้ามฟากเข้าไปในหมู่บ้านก็ได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมาชมวิถีชีวิต และถ่ายรูปกับชาวกะยันได้ทุกวัน นอกจากนี้ยังมีสินค้าของที่ระลึกจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นการสร้างรายได้ สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นพวกเสื้อผ้าและเครื่องประดับ เล็ก ๆ น้อยราคาไม่แพง

บ้านห้วยเสือเฒ่า เป็นหมู่บ้านชาวกะยันที่อยู่ใกล้เมืองมากที่สุด รถยนต์สามารถเข้าถึง มีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาเที่ยวที่นี่เป็นจำนวนมาก ชาวกะยันจะมีประมาณ 20 หลังคาเรือน นักท่องเที่ยวสามารถมาชมวิถีชีวิต และถ่ายรูปได้ทุกวัน นอกจากนี้ยังมีสินค้าของที่ระลึกจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นการสร้างรายได้ สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นพวกเสื้อผ้าและเครื่องประดับ เล็ก ๆ น้อยราคาไม่แพง

บ้านในสอย เป็นชาวกะยันอพยพมาจากบ้านน้ำเพียงดิน บ้านในสอยเป็นชุมชนขนาดใหญ่พอๆ กับที่บ้านน้ำ เพียงดินมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่คล้ายกัน ตั้งบ้านเรือนอยู่ในหุบเขา มีลำห้วยไหลผ่าน

นอกจากสามหมู่บ้านหลักในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ตั้งชุมชนอย่างเป็นทางการแล้ว ชาวกะยันเข้าสู่ธุรกิจการท่องเที่ยว กระจายตัวไปยังแหล่งท้องเที่ยวต่าง ๆ ที่ต้องการนำเสนอวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมในหลายพื้นที่

การดำรงชีพ

เนื่องจากชาวกะยันอพยพหนีสงครามเข้ามาทำให้มีสถานะเป็นเพียง “ผู้อพยพหนีภัยสงคราม” ซึ่งเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ทางการไทยจึงไม่อนุญาตให้ครอบครองที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ที่ผ่านมาจึงไม่มีที่ดินทำกินผู้ชายส่วนมากจึงรับจ้างทั่วไป ล่าสัตว์และหาของป่ามาขาย และผู้ชายบางคนที่เก่งงานฝีมือก็อาจจะทำการแกะสลักตุ๊กตากะเหรี่ยงคอยาว ตุ๊กตาอื่นๆ หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อจำหน่าย ส่วนผู้หญิงและเด็กก็จะทอผ้าพันคอรวมถึงจำหน่ายของที่ระลึก โดยจะซื้อด้ายมาจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน แล้วนำมาทอเป็นผ้าพันคอ เสื้อ หรือสินค้าอื่นๆ นอกจากนี้บางหมู่บ้านจะได้รับค่าตอบแทนจากการเก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ในบางหมู่บ้านชาวกะยันบางคนเริ่มได้สัญชาติ เริ่มซื้อที่ดิน หรือแผ้วถางป่า ทำให้สามารถซื้อที่ดินเป็นของตนเอง เพื่อสร้างบ้าน หรือเพื่อทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ภายในหมู่บ้านหรือบริเวณใกล้เคียง

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวกะยันในประเทศไทย นับถือศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธและนับถือบรรพบุรุษ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเทพเทวา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

ความเชื่ออื่นๆ

พระเจ้าสร้างโลก

ตามความเชื่อของชาวกะยันเชื่อว่าโลกถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้าผู้สร้างนิรันดร์ phu Kabukathin ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากเทพผู้สร้างสองคน ได้แก่ Pikahao และ Kabukaban และผู้ส่งสารทั้งสี่ของพวกเขา ได้แก่ Mann ผู้สร้างสวรรค์ Ti ผู้สร้างแผ่นดิน La Taon ผู้สร้างต้นไม้และพืชและ La ผู้สร้างมนุษย์และสัตว์ จักรวาล (โลก ดวงดาว และดวงจันทร์) มีการเชื่อมโยงกันโดยเยื่อบางๆ เมื่อแผ่นดินโลกยังขาดความหนาแน่น ดินและน้ำก็เหลว ดังนั้นพระเจ้าจึงทรงตั้งเสาขนาดเล็กไว้ในพื้นดิน

วิญญาณ ความฝัน เวทมนตร์ และ ภูติผีปีศาจ

ชาวกะยันเชื่อในเรื่องวิญญาณ ความฝัน เวทมนตร์ และ เรื่องของภูตผีปีศาจ ผีเร่ร่อนและสิ่งต่างๆ ที่รบกวนจิตใจ โดยจะต้องบรรเทาและหยุดความโชคร้าย อุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่มักจะเกิดจากวิญญาณร้าย หรือ การละเมิดกฎสังคม

ชาวกะยันเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเป็นที่อาศัยของจิตวิญญาณที่สามารถละทิ้งบุคคลและไปหลงเกี่ยวกับโลก จิตวิญญาณที่สองนี้จะเรียกว่า ajola ซึ่งอาจหมายถึง“จิตวิญญาณ”,“เงา” หรือ“ภาพที่เห็นในความฝัน” เมื่อมีคนป่วยก็เป็นสัญญาณว่า ajola จะหายไปหรืออยู่ห่างไกลออกไป โดยร่างกายจะยังมีชีวิตอยู่ แต่อาจจะอยู่ได้อีกไม่นาน หาก ajola ไม่กลับมาผู้นั้นก็จะตายได้ ก็จะมีการเรียกเอาวิญญาณกลับมา โดยจะละเลงเลือดไก่บนหน้าผากของครัวเรือนสมาชิก ก่อนที่หมอจะเอาไก่ออกจากหมู่บ้าน และจัดพิธีเรียกวิญญาณกลับมา มีการฆ่าหมู โดยบางส่วนของหมูก็จะมอบให้ผู้ทำพิธี ส่วนที่เหลือจะถูกนำมารับประทานร่วมกัน และจะมีการผูกด้ายรอบข้อมือเพื่อเป็นการผูกวิญญาณ

การกระทำความผิดจะนำโชคร้ายมาสู่คนในชุมชน

ชาวกะยันเชื่อว่า หากมีผู้ใดผู้หนึ่งกระทำความผิด จะเป็นการนำโชคร้ายมาสู่คนในชุมชนทั้งชุมชนได้ จึงมีระเบียบปฏิบัติว่า หากมีผู้ใดกระทำความผิดจะต้องถูกพิจารณาและถูกลงโทษโดยคนในชุมชน โดยอาจจะใช้การไกล่เกลี่ย หรือลงโทษ หรือชดเชย โดยการฆ่าหมู่ หรือ ไก่ และใช้เหล้า มาชดเชย โดยต้องเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้าน แต่หากเป็นความผิดที่ร้ายแรงก็อาจจะต้องตัดขาดจากคนในหมู่บ้านหรือถูกไล่ออกจากหมู่บ้าน

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้นจะไม่พบการกระทำผิดในชุมชนมากนัก แต่ก็อาจมีบ้างในเรื่องของการเป็นชู้กัน ซึ่งทางชุมชนก็จะถือว่าจะนำโชคร้ายหรือเรื่องร้ายๆ มาสู่ชุมชน และหากมีการปิดบังก็อาจจะมีการพิสูจน์โดยการทำนายจากกระดูกไก่ และการล้างหน้าด้วยพริก หากใครปวดแสบปวดร้อนมากกว่า ก็จะถือว่าพระเจ้าได้กำหนดให้คนนั้นเป็นผู้ผิด หรืออาจจะพิสูจน์ความจริงโดยการดำน้ำ หากใครดำน้ำได้นานกว่าก็จะถือว่าผู้นั้นเป็นฝ่ายถูก

การดูกระดูกไก่ เพื่อทำนาย

ชาวกะยันมีความเชื่อถือเรื่องการทำนายเหตุการณ์ในอนาคตเป็นอย่างมาก การทำนายที่พบมากที่สุดคือ การดูกระดูกไก่ โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้กระดูกไก่ในการทำนาย โดยเริ่มจากนักบวชคาทอลิกในศตวรรษที่ 19ตามตำนานที่เล่าต่อกันมาว่า

"...ถ้าเราปรึกษากระดูกไก่ ก็เนื่องมาจากกระแสรับสั่งของพระเจ้าซึ่งเกิดจากความผิดของเรา คุณควรรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าในตอนแรกให้หนังสือกะเหรี่ยงแก่เราบางเล่ม และถ้าเราไม่โง่เราก็จะรู้จักสิ่งหนึ่งหรือสองอย่างเช่นชาวยุโรปและเราจะไม่ใช้ไก่ทำ เราปฏิเสธหนังสือเหล่านั้นเนื่องจากเขาดูเหมือนสิ่งที่เปราะบางและบาง และเราขอให้สิ่งที่พบเพิ่มเติม พระเจ้าได้ให้หนังสือหนังควายแก่เรา อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ฝนตกหนักผิวควายเหล่านั้นชื้นและเปียกและสุนัขของเราหิวกระหายอยู่เสมอได้กินมันเข้าไป เราไปเล่าเรื่องเศร้าของเราต่อพระเจ้าและเขาบอกให้เราตรวจดูมูลสุนัขเพื่อดูข้อมูล แต่เมื่อกลับมาเราได้พบกับความงุนงงอีกครั้ง เมื่อมันถูกไก่จิกกินจนหมด เราจึงไปถามพระเจ้าอีกครั้งว่าเราควรจะทำอะไร และพระเจ้าบอกกับเราว่า เราควรจะปรึกษา กระดูกไก่ และ เชื่อฟัง เมื่อเราต้องการที่จะรู้อะไร...”

ชาวกะยันทำนายอนาคตและเรื่องต่างๆ จากการดูกระดูกไก่ โดยแปลความหมายของหลุมในกระดูกต้นขา ไม้ไผ่ที่เสียบเข้าไปในรูและคำทำนายเหล่านี้จะทำนายได้ในผู้สูงอายุ บ่อยครั้งที่คำทำนายออกมาไม่ดี ก็จะมีการเลื่อน หรือ ยกเลิก หรืออาจมีการฆ่าไก่เพื่อทำนายเพิ่มอีก อย่างน้อยให้ได้ผลถ้าจำเป็นสำหรับไก่ที่ใช้จะใช้ไก่ได้ทุกขนาดยกเว้นไก่ขาว ก่อนที่จะฆ่าไก่หมอผีจะถือไก่อยู่ในมือซ้าย และมือขวาถือคอหันไปทางทิศตะวันออกและสวดคาถาก่อนเริ่มทำนาย สำหรับคำทำนายนั้นก็จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ฉือเงา ฉือเหลียง ชิจึ๋วยและ ชิตารุ

หากได้คำทำนายอยู่ในกลุ่ม ฉือเงา ส่วนมากจะถือว่าดีมาก ยกเว้นบางคำทำนายที่อาจจะไม่ดี และหากได้คำทำนายอยู่ในกลุ่ม ชิตารุ จะถือว่าไม่ดี หากทำนายก่อนไปล่าสัตว์ ถ้าล่าสัตว์ผ่านไป 1-2 ชั่วโมงแล้วไม่ได้สัตว์อะไรเลยก็จะกลับเพราะถือว่าสูญเปล่าถึงจะล่าสัตว์ต่อทั้งวันทั้งคืนก็จะไม่มีทางได้สัตว์กลับมา แต่ถ้า 1-2 ชั่วโมงเจอสัตว์บ้างก็จะอยู่ล่าสัตว์ต่อแต่ก็อาจจะกลับไวกว่าปกติ เพราะถือว่าคำทำนายออกมาไม่ดี โชคก็จะไม่ดีไปด้วย

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ประเพณีปอยต้นที

สำหรับปอยต้นธี มาจากภาษาไทยใหญ่ คำว่าปอย หมายถึง งาน คำว่าต้นธี หมายถึง ต้นไม้ที่มีการแกะสลัก และมีการประดับตกแต่งให้สวยงามโดยมีลักษณะคล้ายร่ม ( ธี เป็นภาษาไทใหญ่แปลว่าร่ม ) รวมคำแล้ว หมายถึง งานประเพณีปีใหม่ ส่วนปอยต้นธี เป็นงานประเพณี ที่มีต้นกำเนิดมาจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ มีการจัดงานขึ้นครั้งแรก เมื่อปีจุลศักราช 1576 หรือปีพุทธศักราช 2363 ที่เมืองลอยก่อ รัฐคะยา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เป็นประเพณีที่มีมาแต่สมัยโบราณกาล การจัดประเพณีปอยต้นธีของทุก ๆ ปีจะมีการจัดงานขึ้นที่เมืองต้นกำเนิด ก่อนที่เมืองอื่น ๆ จะได้จัดงานประเพณี และกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาว กะเหรี่ยงแดง ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้นำมาจัดขึ้นสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

บางแหล่งกล่าวว่า ปอยต้นธีเป็นความเชื่อดั้งเดิมตั้งแต่พวกเขาย้ายจากประเทศมองโกเลียในช่วงยุคสำริดและเริ่มทำพิธีกรรมนี้ที่แม่น้ำสาละวินในรัฐกะยา ถึงแม้ว่าบางคนจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ก็ยังคงประเพณีไว้ตามความเชื่อและเข้าร่วมในประเพณีปอยต้นธีทุกปี

บางความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีปอยต้นธีก็จะไปผูกโยงกับทางศาสนาคริสต์ โดยกล่าวว่า ประเพณีปอยต้นธีปรากฏตั้งแต่ก่อนคริสตศักราช ถูกสร้างโดยผู้สร้างเต้นรำรอบต้นธีหลังจากที่สร้างโลก ต้นหว้าเป็นพืชชนิดแรกที่พระผู้สร้างปลูกในโลก ต้นธีจึงมักจะทำจากต้นหว้า

ต้นธีจะทำให้ฤดูกาลที่เท่าเทียมกันและจะทำให้เกิดสันติภาพในโลก นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสี่ระดับ ระดับแรกคือดาว ระดับที่สองคือดวงอาทิตย์ ระดับที่สามคือดวงจันทร์ และระดับที่สี่คือบันได บันไดทำด้วยผ้ายาวผ้าฝ้ายสีขาว ประดับอยู่ต้นธี

ประเพณีปอยต้นธีจะจัดปีละครั้งประมาณเดือนเมษายน โดยจะมีการไปตัดต้นธีแล้วเดินไปรอบๆ ต้นธี เมื่อมีการเฉลิมฉลอง จะมีการแข่งขันกีฬาและการแข่งขันเต้นรำ ชาวกะยันจะสวมใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวและกางเกงขายาวสีดำ เต้นภายใต้ต้นธี แต่ผู้หญิงจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการเต้นเพราะไม่สามารถเข้าไปในลานต้นธีได้ นอกจากนี้ชาวกะยันจากหมู่บ้านอื่นๆ ก็จะมาร่วมประเพณีนี้ด้วย

ในงานจะมีการฆ่าหมู ไก่ วัว และแพะเพื่อนำมาเป็นอาหาร นอกจากนี้เรายังมีการแข่งขันในเวลากลางคืน งานปอยต้นธีมีความสำคัญและเป็นการเฉลิมฉลองที่สำคัญที่สุดของชาวกะยัน จะมีการอธิษฐานกับต้นธี นำโดยผู้นำในพิธี เมื่อเสร็จสิ้นการอธิษฐานก็จะพากันไปบ้านแต่ละหลัง ไปรับประทานอาหาร น้ำ เครื่องดื่ม และเหล้า คนที่เชื่อในเรื่องของต้นธีส่วนมากเป็นชาวพุทธและบางคนก็เป็นคาทอลิกและบางคนก็เชื่อแค่ในวัฒนธรรมของชาวชาวกะยัน

ทั้งนี้ การจัดประเพณีปอยต้นธี ถือเป็นการจัดประเพณีปีใหม่ของชาวชาวกะยันและกะแย โดยจะเลือกวันจันทรคติ ตามกะยันพุทธศักราช ซึ่งมีการรดน้ำดำหัว การเต้นรำอวยพรกันตามประเพณี นอกจากนี้ยังมีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติต่อกันมา รวม 3 วัน คือ วันแรกเป็นการตัดต้นธีหรือโกวกะควง (ตัดต้นไม้มาประกอบพิธี) วันที่ 2 เป็นวันประดับตกแต่งต้นธีหรือหม่ากะควงเกลอ และวันที่ 3 เป็นวันปลูกต้นธีหรือเบาถ่างกะควาง ในทุกวันจะมีการเต้นรำอวยพร เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่ มีการจัดเตรียมเครื่องดื่มและอาหารไว้ต้อนรับแขกที่มาเที่ยวงาน มีการจัดแข่งขันกีฬาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้าน การถ่ายทอดองค์ความรู้ การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันร้องเพลงชาติพันธุ์และเต้นรำ โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์กะยัน และกะยอ) จากทั้งหมด 7 หมู่บ้านร่วมจัดงาน ได้แก่ บ้านห้วยปูแกง บ้านห้วยเสือเฒ่า บ้านน้ำเพียงดิน บ้านในสอย บ้านห้วยเดื่อ บ้านห้วยหม้อ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และบ้านแจะตะโก่ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งต้นธีที่นำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรม ทำจากไม้หว้า หรือไม้สะเป่ ( ภาษาไทใหญ่) หรือภาษากะแย เรียกว่า ตะมอเหมาะ และกะยัน เรียกว่า กะเม่มา เพราะมีความเชื่อว่าต้นหว้านั้นเป็นต้นไม้ต้นแรกที่เกิดขึ้นในโลก ถือเป็นไม้มงคลที่นิยมนำยอดของต้นหว้ามาขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและได้สิ่งดีๆ สมดั่งใจหวัง

โดยการประกอบพิธีกรรมในประเพณีปอยต้นธี ในวันแรก ของงานจะเป็นการตัดต้นที เพื่อนำมาประกอบพิธีกรรม ก่อนการตัดต้นธี จะมีเสี่ยงทายกระดูกไก่ เพื่อเลือกต้นธี ที่จะนำมาประกอบพิธีกรรม โดยในพิธีเสี่ยงทายกระดูกไก่ กะความป๋วยจา (อาจารย์ที่เป็นคนในหมู่บ้านที่มีความรู้เรื่องศาสตร์การทำนายที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น) จะนำธูป เทียน ข้าวสารและขนมไปทำพิธีขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และทำพิธีเสี่ยงทาย หลังจากนั้นทำการโปรยข้าวสารเพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดี แล้วจึงทำการตัดตันธี และแห่เข้ามาที่หมู่บ้าน

การแห่ต้นธีเข้าหมู่บ้าน จะแห่ออกมาจากป่า เมื่อถึงทางเข้าหมู่บ้าน จะมีการพรมน้ำส้มป่อยด้วยยอดต้นหว้าก่อนที่จะนำต้นธีเข้าหมู่บ้าน โดยมีการแห่ไปรอบหมู่บ้านแล้วนำไปสู่ลานต้นธี เพื่อเตรียมประกอบพิธี ( คนที่พรมน้ำสัมป่อย ส่วนใหญ่เป็นหญิงที่ไม่มีประจำเดือน ) โดยวางต้นธีพาดไว้บนนั่งร้านที่เตรียมไว้ และจัดให้มีคนนอนเฝ้า เพื่อระวังสุนัขหรือผู้หญิงเดินข้ามต้นธี และห้ามผู้หญิงขึ้นไปบนลานต้นธีโดยเด็ดขาด ในช่วงค่ำคืนผู้ชายในหมู่บ้านก็จะมีการเต้นรำรอบต้นธี กันอย่างสนุกสนาน เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยป้องกันอันตรายที่จะเข้ามาในหมู่บ้าน และให้ประชาชนในหมู่บ้านปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์อยู่ดีมีสุขตลอดไป

ประเพณีปอยข้าวต้ม

ประเพณีปอยข้าวต้ม หรือ ประเพณีดีกู่ เป็นประเพณีของชนเผ่าชาวกะยัน กะยอ และกะแย จัดขึ้นในเดือนกันยายนของทุกปี เป็นการต้อนรับข้าวใหม่ที่กำลังตั้งท้อง อีกทั้งยังเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องและบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการส่งผีไร้ญาติให้ไปผุดไปเกิดหรือกลับไปยังที่ที่ควรอยู่ โดยจะมีการกำหนดวันในการจัดจากการดูกระดูกไก่ของผู้เฒ่าผู้แก่ ประเพณีดีกู่ จัดขึ้นเนื่องจากความเชื่อว่าข้าวต้มมัดเป็นเสบียงที่ทำให้บรรพบุรุษรบชนะสงครามในอดีตจึงจัดเทศกาลรำลึกถึงบุญคุณของดีกู่ซึ่งในช่วงสงครามระหว่างพม่าและชนกลุ่มน้อยนั้น นักรบของชนกลุ่มน้อยหลายๆ ชนเผ่ามีเพียงก้อนข้าวเหนียวที่แห้งแข็งกับน้ำตาลแว่นที่ทำจากอ้อย โดยมือหนึ่งถือก้อนข้าวเหนียวอีกมือหนึ่งถือน้ำตาลแว่น กัดกินสลับกันไปแล้วตามด้วยน้ำจากกระบอกไม้ไผ่

ดีกู่ที่มัดกันสามห่อนั้นเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสามัคคีของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง 3 กลุ่มคือ

(1) กะเหรี่ยงกะยัน (กะเหรี่ยงคอยาว)

(2) กะเหรี่ยงกะแย (กะเหรี่ยงแดง)

(3) กะเหรี่ยงกะยอ (กะเหรี่ยงหูใหญ่)

วันแรกแต่ละครอบครัวต้องพากันไปเก็บใบข้าวต้มมาห่อข้าวสารข้าวเหนียวแล้วนำไปต้ม หลังจากต้มเสร็จแล้วให้นำไปแขวนไว้หน้าบ้านพร้อมกับเหล้าหวาน(คแย) และไม้

วันที่สอง ในช่วงเช้าพ่อแม่หรือบ้านใดไม่มีพ่อแม่ก็จะเป็นญาติที่อาวุโสในบ้านต้องนำข้าวต้มพร้อมขนไก่ไปเรียกขวัญในไร่ ในนา ในโรงเรียน ในวัด เพื่อเรียกขวัญลูกหลานและข้าวใหม่ให้เข้ามาอยู่ในบ้าน พอตกช่วงเย็นประมาณ 6 โมงเย็น พ่อแม่หรือญาติที่อาวุโสในบ้านต้องเอาใบข้าวต้มสดกวาดในบ้านให้ทั่วๆ บ้าน เพื่อขับไล่ผีออกจากบ้าน ซึ่งเชื่อว่าผีจะกลัวใบข้าวต้ม และหากผีไม่ไปใบข้าวต้มก็จะบาดคอผี ซึ่งผีที่กินข้าวต้มและเหล้าหวานอิ่มหนำสำราญแล้ว ทั้งผีบ้านผีเรือน ผีไม่มีญาติ ก็เชิญให้กลับบ้านกลับเมืองไป แล้วหลังจากนั้น ท้ายบ้านก็จะยิงปืนเพื่อไล่ผี ซึ่งสมัยนี้ก็จะเป็นการจุดประทัดแทน นอกจากนี้ในวันที่ 2 นี้ก็จะมีคนในหมู่บ้านรวมทั้งเด็กๆ รวมตัวกันแต่งกายเป็นผีเพื่อไปยังบ้านต่างๆ เพื่อขอข้าวต้มหรือเงินทองเหมือนเป็นตัวแทนผีไปขอส่วนบุญอีกด้วย

วันที่สามก็จะมีการเชิญแขก ญาติพี่น้อง แขกบ้านแขกเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่ ให้มากินข้าวต้มกับเหล้าหวาน และแต่ละครัวเรือนก็จะเตรียมไก่เพื่อเสี่ยงทายกระดูกไก่ ดูว่าปีนั้นจะเป็นอย่างไร

ในงานจะมีการร่ายรำของหนุ่มสาวประกอบดนตรี กลอง ฆ้อง ฉาบ มีการเลี้ยงแขกด้วยดีกู่ และ เทอแย (เหล้าหวานทำจากแป้งข้าวหมัก) ความเชื่อและตำนานประเพณีดีกู่ของชาวชาวกะยันนั้น เกิดจากความสัมพันธ์และอยู่ใกล้ชิดกับชาวกะแย และทำให้ได้รับอิทธิพลมาจากกะแยไปด้วย


ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร

ชาวกะยันมีความเชื่อว่า ผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานอาหารบางชนิด เช่น ค่าง ลิง และเห็ด และเนื้อสัตว์ซึ่งใช้เลี้ยงแขกในงานศพ เมื่อก่อนการคลอดของผู้หญิงนั้นจะต้องคลอดภายในบ้านของตนเองเท่านั้น โดยจะใช้ไม้ไผ่ตัดสายรก แต่ปัจจุบันด้วยวัฒนธรรมและประเพณีที่เปลี่ยนไป หลายๆ คนจึงนิยมหันไปคลอดที่โรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก หลังคลอด แม่จะนั่งบนหม้อน้ำที่ประกอบด้วยหินร้อนแดงๆ ในตอนเช้าและตอนเย็นทุกวันเป็นระยะเวลาสองเดือน ซึ่งเป็นการรักษาอาการปวดและยังป้องกันการเปลี่ยนสีผิว ซึ่งเป็นหน้าที่ของสามีที่จะคอยเติมฟืน แต่ถ้ามีคนอื่นมาทำ แม่ของเด็กจะต้องเสียไก่เพื่อเป็นการล้างมือให้กับคนที่ทำหน้าที่แทนพ่อของเด็ก

นอกจากนี้ฝ่ายสามีจะต้องทำหน้าที่อื่นๆ อีก เช่นจะต้องทำอาหารให้ภรรยา รวมไปถึงคอยซักเสื้อผ้าให้ภรรยาและลูก โดยการซักเสื้อผ้าของภรรยาและลูกห้ามซักในแม่น้ำที่คนอื่นๆ ใช้ น้ำที่ให้ทำอาหารหรือให้ภรรยาและลูกดื่มต้องถูกเก็บไว้ในท่อไม้ไผ่ที่ตัดใหม่ เมื่อสายสะดือหลุดก็จะนำใส่ไม้ไผ่และฝังไว้ใต้บันไดบ้าน

เด็กจะถูกผูกด้วยฝ้ายยันต์ (เป็นการผูกพันคนและจักรวาลเข้าด้วยกัน) ไว้รอบข้อมือหรือคอเพื่อเป็นการต้อนรับทารกหรือเพื่อปกป้องจากอันตราย

ในอดีตเมื่อทารกหย่านมแม่ แม่จะเคี้ยวอาหารให้ละเอียด แล้วป้อนให้ลูกเหมือนกับนก

บางครั้งหลังคลอดเมื่อตังชื่อให้เด็กแล้ว เด็กร้องไห้งอแงก็จะเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ ชื่อของชนกะเหรี่ยงคอยาวนอกจากจะบ่งบอกเพศแล้ว ยังบ่งบอกว่าเป็น ลูกคนแรก คนที่สอง หรือคนที่สามอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ชื่อลูกสาวคนแรกมักจะนำด้วยคำว่า “หมู่”

หลังจากคลอดลูกคนแรกแล้ว ที่พ่อแม่ของเด็กก็จะเป็นที่รู้จักกันจากนั้นในฐานะ“แม่ / พ่อของ ...” และชื่อของแม่หรือพ่อของเด็กก็จะไม่ค่อยมีใครใช้ จะเรียกว่าเป็นแม่ของ… หรือ พ่อของ… แทน

นอกจากนี้หลังจากคลอดแล้ว บ้านหลังนั้นจะไม่ต้อนรับแขก ถ้ามีคนไปเยี่ยมเยือน หรือไปช่วยดูแล หรือไปช่วยงาน ทางผู้คลอดจะต้องเสียไก่ให้กับผู้นั้น จึงทำให้หลังคลอดแล้วจะไม่ค่อยรับแขกที่ไปเยี่ยมเยือน

การแต่งงานและการหย่าร้าง

ในอดีต พ่อแม่ของหนุ่มชาวกะยันจะเป็นผู้เลือกคู่ครองให้กับลูกของตนเอง โดยจะดูจากคนใกล้ชิด ญาติ เพื่อน หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวเดียวกัน แต่ทุกวันนี้บรรดาหนุ่มสาวจะเลือกคู่ครองกันเอง แต่ก็จะต้องได้รับความยินยอมจากพ่อ แม่และญาติผู้ใหญ่ด้วย โดยการแต่งงานในอดีตนั้นจะต้องมีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ว่าการแต่งงานจะต้องเป็นการแต่งงานระหว่างคนรุ่นเดียวกัน ห้ามไม่ให้มีการแต่งงานข้ามรุ่นเป็นอันขาด และควรอยู่ในตระกูลเดียวกัน สามารถแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องได้ จะแต่งงานกับคนในกลุ่มชาติพันธุ์อื่นไม่ได้ นอกจากนี้การแต่งงานกับญาติที่มาจากการแต่งงาน เช่น พี่เขย น้องเขย พี่สะใภ้ น้องสะใภ้ รวมไปถึงการแต่งงานกับตระกูลที่มีสัญญาหรือมีข้อตกลงกันว่าห้ามแต่งงานกัน หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความขัดแย้งกันเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด ซึ่งมีความเชื่อกันว่า หากมีผู้ที่ทำผิดดังกล่าวจะนำโชคร้ายมาสู่ญาติพี่น้องและคนในหมู่บ้าน ส่วนคนที่ทำผิดอาจจะไม่ได้รับผลอะไรจากการกระทำ แต่หากมีผู้กระทำผิดดังกล่าวก็จะถูกไล่ออกจากหมู่บ้าน แต่ในปัจจุบันด้วยความเจริญเข้าไปถึงหมู่บ้าน และมีเรื่องสิทธิเสรีภาพเข้าไปในหมู่บ้าน รวมถึงคนในหมู่บ้านออกมาเรียนหนังสือหรือทำงานภายในเมือง และคนภายในเมืองมีการเดินทางไปมาหาสู่ในชุมชนหลายครั้ง ตลอดจนในบางชุมชน ชาวกะยันมีการอาศัยร่วมกับชนเผ่าอื่นๆ จึงเริ่มมีการแต่งงานข้ามกลุ่มหรือข้ามรุ่น และข้อห้ามต่างๆ เหล่านี้ก็เริ่มลดเลือนจนหายไปในที่สุด

ในการแต่งงานนั้น หากหนุ่มสาวชอบพอกัน และตกลงใจที่จะแต่งงานกัน ฝ่ายชายก็จะพาพ่อแม่ไปพบพ่อแม่ของฝ่ายหญิง พร้อมด้วยของติดไม้ติดมือไปสู่ขอ หากหญิงสาวยอมรับแล้วก็จะมีการหมั้นหมายเอาไว้ก่อน

ในการหมั้นครอบครัวฝ่ายชายต้องให้สินสอดทองหมั้นเหมือนเป็นการให้คำสัญญา และเมื่อแต่งงานแล้วโดยปกติแล้วฝ่ายหญิงจะย้ายไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายชายซึ่งจะมีการเสียสินสอดทองหมั้น มากกว่าการที่ฝ่ายชายย้ายมาอยู่กับครอบครัวของฝ่ายหญิง โดยหลังจากพูดคุยกันแล้วก็จะมีการกินไก่ร่วมกันระหว่างครอบครัวฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยจะต้องเป็นไก่ที่ครอบครัวฝ่ายชายเตรียมมาเพื่อให้ทั้งคู่รักกันและอยู่กินกันตลอดไป

สำหรับสินสอดนั้นจะประกอบไปด้วย

ลาสเคี่ยน หรือ คำสัญญา สมัยก่อนนั้นก่อนไม่มีกระดาษหรือปากกา ก็จะสัญญาโดยการดื่มเหล้าแทน

ทาชู หรือ ค่าเลี้ยงดู ที่จะต้องให้กับพ่อของฝ่ายหญิง เช่น เงิน วัว ควาย

ไมตู หรือ ค่าน้ำนม ที่จะต้องให้กับแม่ของฝ่ายหญิงที่เลี้ยงฝ่ายหญิงมาตั้งแต่เล็ก ซึ่งมักจะเป็นเหรียญเงิน หรือลูกวัว ลูกควาย เพื่อที่แม่ของฝ่ายหญิงจะได้เลี้ยงไว้สำหรับใช้ในงานศพของตัวเอง เพราะถือว่าลูกไม่อยู่แล้วต่อไปต้องหาเลี้ยงตัวเองและต้องหาสิ่งของไว้สำหรับจัดงานศพของตนเอง

ทาลิว หรือ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในครัวเรือน เช่น หม้อ กระทะ ชื้อ ส้อม เสื่อ สำหรับแบ่งให้บรรดาญาติพี่น้องของฝ่ายหญิง

ทิกิ หรือ ของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจเป็นเงินที่ต้องมอบให้กับเจ้าสาวก่อนที่จะแต่งงานกัน

ข้าว หมู เหล้า และอาหารอื่นๆ ที่จะใช้เลี้ยงในวันฉลองวันแต่งงาน

หลังจากที่มีการหมั้นหมายกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว งานแต่งงานก็จะจัดขึ้นภายในระยะเวลาไม่นานจากวันที่หมั้นหมายมากนัก หรืออาจจะจัดในวันถัดไป โดยจะมีการดูกระดูกไก่ เพื่อทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นสำหรับคู่แต่งงาน และหาวันที่เหมาะสม แต่ถ้าการทำนายกระดูกไก่ออกมาไม่ดีอาจจะต้องยกเลิกการจัดงานแต่งงาน

พิธีแต่งงานจะจัดขึ้นแบบเรียบง่าย โดยชาวบ้านทั้งหมู่บ้านจะมารวมกันที่บ้านงาน แล้วเริ่มจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจะผูกข้อมือของทั้งคู่เข้าด้วยกัน ด้วยด้ายสายสิญจน์ และอาจผูกข้อมือด้วยเงินหรือทองเพื่อให้คู่บ่าวสาวได้มีเงินไว้ตั้งต้นครอบครัว

จากนั้นทั้งคู่ก็จะดื่มเหล้าด้วยกัน ถือเป็นการสัญญาว่าจะอยู่ด้วยกันตลอดไป หลังจากนั้นทุกคนในหมู่บ้านและแขกก็จะร่วมกันฉลองให้กับคู่แต่งงาน ก็จะมีอาหารต้อนรับแขกตลอดทั้งงาน ซึ่งมีทั้ง เหล้า หมู ไก่ และข้าว การเตรียมการสำหรับงานเลี้ยงสุดท้ายทั้งคืน

การยกเลิกงานแต่ง หรือการหย่า

หากมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางติดต่อให้ ก็จะเป็นหน้าที่ของคนกลางในการแก้ปัญหาระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ถ้าฝ่ายชายเป็นฝ่ายยกเลิก จะต้องถูกริบสินสอดทองหมั้นและอาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมให้กับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลาง และบางครั้งพ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็อาจจะเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม เป็นค่าชดเชยความอับอายในครั้งนั้น ถ้าฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายยกเลิก ฝ่ายหญิงต้องคืนสินสอดทองหมั้น และจะต้องจ่ายเงินให้กับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางหากมีการกระทำผิดศีลธรรมใด ๆ เกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายจะต้องจ่ายค่าปรับไปยังหมู่บ้าน (มักจะเป็นหมู) ในการชำระบาป โดยจะแจกจ่ายให้กับทุกคนในหมู่บ้าน หากมีการกระทำผิดศีลธรรมและทั้งคู่ปกปิดไว้ จะเป็นการนำความโชคร้ายและความเจ็บป่วยให้กับครอบครัวและคนในหมู่บ้าน

การหย่าร้างภายในชาวกะยันอาจเกิดขึ้นมาบ้าง แต่จะพบได้น้อยมาก หากมีการแต่งงานกันแล้วทั้งคู่จะอยู่ด้วยกันไปจนตาย และหากมีการหย่าร้าง ฝ่ายที่ต้องการหย่าร้างจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการแต่งงานในกรณีของการมีชู้ หากถูกจับได้จะต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นการชำระบาป จะต้องมีการฆ่าหมู และจ่ายเป็นเงินจำนวนมาก เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหานี้เกิดขึ้นภายในหมู่บ้าน

ความตายและการทำศพ

พิธีศพของชาวกะยันมีความสำคัญกับจิตวิญญาณและความรู้สึก พิธีศพที่ไม่ได้ถูกกำหนดพิธีกรรมงานศพที่เหมาะสมและถูกต้องจะทำให้มีปัญหาในครัวเรือน และจะนำโรคภัยและความโชคร้ายมาสู่หมู่บ้าน

ทันทีที่มีคนตายในหมู่บ้าน ชาวกะยันทุกคนจะทิ้งสิ่งที่กำลังทำ เพื่อมาช่วยงานศพซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน พวกเขามักจะถูกเรียกด้วยเสียงของกลอง หรือฆ้อง ทั้งหมู่บ้านจะใช้เวลาส่วนหนึ่งในการทำโลงศพ เตรียมหลุมฝังศพ ฆ่าหมู ไก่ เตรียมอาหารสำหรับงานเลี้ยงแขกในงาน ผู้ตายจะถูกนำมาไว้หน้าห้อง หรือห้องรับแขก สถานที่กว้างพอที่จะต้อนรับแขกได้ โดยมีตะกร้า กล่อง และสิ่งของวางไว้รอบตัวเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ข้ามได้

ก่อนที่จะถูกวางไว้ในโลงศพจะมีการอาบน้ำศพและเอาเหรียญเงินใส่ไว้ในปาก มีการนำไม้ไผ่ใส่น้ำและผ้าฝ้ายมาทำการล้างศพและโลงศพ และนำไปไว้ที่ต้นไม้นอกหมู่บ้าน

ในช่วงเย็นคนหนุ่มสาวเริ่มต้นในการร้องเพลงไว้อาลัยในงานศพที่บ้านของผู้ตายและอาจอยู่จนถึงเช้า โดยจะมีการยืนจับมือเป็นวงกลมและแกว่งไปแกว่างมาซึ่งจะช่วยให้จิตวิญญาณของผู้ตายมีการเดินทางที่ราบรื่นไปยังโลกหน้า และเชื่อกันว่าหากไม่มีการร้องไห้ผู้ตายจะได้ไปสู่สุขคติ

เมื่อนำศพออกจากบ้านจะไม่สามารถนำออกทางประตูบ้านได้จะต้องนำออกทางหน้าต่าง หรือนำออกทางข้างบ้าน เพราะเชื่อว่าประตูเป็นเส้นทางของคนเป็น ของคนปกติ เมื่อตายแล้วจะมาใช้ร่วมกับคนเป็นไม่ได้

ศพจะถูกเก็บไว้เป็นเวลา 2 ถึง 3 วัน แล้วฝังพร้อมกับอาหาร เครื่องมือ เหรียญ เสื้อผ้า บางส่วนของทรัพย์สินของผู้ตาย โดยมีความเชื่อว่าในชีวิตหลังความตายจะได้พบกับบรรพบุรุษของตนและยังคงทำงานและมีเหงื่อและกินข้าวต่อไป ทรัพย์สมบัติที่ฝังจะทำให้ผู้ตายสะดวกสบายมากขึ้นในดินแดนหลังความตาย สิ่งของทั้งหมดที่ใช้ในการขนส่งผู้ตายไปยังบริเวณที่ฝังศพและภาชนะที่ใช้สำหรับรับประทานอาหารในสุสานจะต้องถูกทิ้งไว้ที่นั่น เมื่อกลับไปที่หมู่บ้านผู้ที่ได้เข้าร่วมในพิธีจะต้องล้างมือและใบหน้าด้วยน้ำส้มป่อยก่อนที่จะเข้ามาในบ้าน

สำหรับผู้ที่ตายแบบผิดธรรมชาติ จากอุบัติเหตุ โรคติดต่อหรือหญิงตั้งครรภ์ ถ้ามีคนตายในลักษณะนี้จิตวิญญาณของผู้ตายจะแรง จะต้องมีการเรียกกลับมา โดยจะมีชิ้นส่วนเหล็กแขวนเกี่ยวกับโลงศพและวางเหล็กอีกชิ้นไว้บนโลงศพ เมื่อโลหะกระทบกันและได้ยินเสียงก็จะถือว่าวิญญาณได้กลับมาแล้วและผู้ตายจะไม่สร้างความวุ่นวายในอนาคต

การเลี้ยงผี

ชาวกะยันที่นับถือศาสนาพุทธจะควบคู่ไปกับการเชื่อเรื่องผีและสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ทั้งปวง พวกเขาถือว่าหากทำให้ผีไม่พอใจจะทำให้เกิดภัยอันตรายมาสู่คนในบ้านเรือนและ ชุมชน ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งศาลที่บ้าน ที่ทุ่งนา ริมลำห้วย ในป่า เมื่อจะประกอบพิธีกรรมจะต้องมีการเสี่ยงทายด้วยกระดูกไก่ เพื่อหาฤกษ์ เช่น การปลูกบ้าน ถางไร่ หว่านเมล็ดพันธุ์ การเก็บเกี่ยว การล่าสัตว์ ถ้ามีการเจ็บป่วยเชื่อว่าผีและวิญญาณมาเอาขวัญผู้ป่วยไป ต้องให้หมอผี หรือ ควางป๋วยซา เป็นผู้ติดต่อสอบถามว่าต้องการให้เซ่นด้วยอะไร เช่น หมู ไก่ ข้าว สุรา บางครั้งถ้ามีโรคระบาดป่วยกันเกือบทั้งหมู่บ้านพวกเขาต้องจัดพิธีกรรมบวง สรวงผีและวิญญาณเพื่อชำระล้างหมู่บ้าน

การรักษาโรค

ตาแหลว ป้องกัน และรักษาโรค หากมีคนเจ็บป่วยหรือมีเด็กคลอดใหม่ ในกรณีที่เจ็บป่วยรุนแรง และมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น หรือมีเหตุการณ์ฝันประหลาดที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น ก็จะมีการนำไม้ไผ่มาสานเป็นตาแหลว โดยอาจติดไว้หน้าบ้าน หรืออาจจัดหมาก พลู ยาสูบ และนำมันออกไปจากหมู่บ้าน นำไปวางไว้แถวข้างทางเพื่อส่งวิญญาณชั่วร้ายออกไป รูปแบบของไม้ไผ่จะสานเห็นหลุมหกเหลี่ยม ใช้เพื่อป้องกันโรคในมนุษย์และสัตว์

ตาประ หากมีคนเจ็บป่วย นอนไม่หลับ หรือเป็นอะไรที่ร้ายแรง ก็จะมีการนำไม้ไผ่มาสานคล้ายตาแหลวแต่จะมีหญ้าคาพันรอบๆ ใส่หมาก พลู ยาเส้น เงิน 1 บาท อาจมีข้าวและกับข้าวใส่ลงไปด้วย แล้วให้คนในหมู่บ้านถ่มน้ำลายรด แล้วนำออกไปทิ้งไว้นอกหมู่บ้าน เพื่อเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากบ้านและออกไปจากหมู่บ้าน

ชมลมชมไทย. กะเหรี่ยงคอยาวบ้านน้ำเพียงดิน, http://www.chomthai.com/forum/view.php?qID=1512

ชัยโฟโต้, oknation. กะเหรี่ยงคอยาวกับชีวิตที่ไม่รู้จักอนาคต, http://oknation.nationtv.tv/blog/chaiphoto/2008/02...

เดลินิวส์ออนไลน์. 'แม่ฮ่องสอน' สืบสานวัฒนธรรมชาติพันธุ์ จัดงานประเพณี'ปอยต้นธี', https://www.dailynews.co.th/article/635598

ทริปดีดี. ข้อมูลและรูปภาพ หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว, http://www.tripdeedee.com/traveldata/maehongson/ma...

ท่องเที่ยว.com. กะเหรี่ยงคอยาว บ้านห้วยเสือเฒ่า อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน, http://www.thongteaw.com/Travel_tour_content_แม่ฮ่...

นักรบชายขอบ. การต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยชายแดนไทย-ประเทศพม่า , https://www.sarakadee.com/feature/2000/03/soldiers...

ประชาไทย. สั่งย้ายกะเหรี่ยงคอยาว หวังบูมการท่องเที่ยว ขู่หากดื้อส่งกลับประเทศพม่า-ศูนย์อพยพ, https://prachatai.com/journal/2006/07/8943

ไปด้วยกัน.คอม. หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว, https://www.paiduaykan.com/76_province/north/maeho...

พันธ์ทิพย์. พันธการห่วงรอบคอสตรีกะเหรี่ยงคอยาว, https://pantip.com/topic/33266422

รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์. (2550). "กะเหรี่ยงกะยัน", http://lib.payap.ac.th/webin/ntic/Ka%20yan.htm

วิชาติ บูรณะประเสริฐสุข. เรื่องเล่าจากชายแดนไทย-ประเทศพม่า: ประกายไฟทางปัญญาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน = Stories from the Thai-Burmese Border: Intellectual Sparks for Sustainable Development). กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2555.

ศูนย์ปฎิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา. กะเหรี่ยงคอยาว11คนสูญหาย นายทุนลักพาตัวจากหมู่บ้าน (ค้ามนุษย์) , http://www.notforsale.in.th/autopagev4/show_page.p...

ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดแม่ฮ่องสอน. ปะดอง PADAUNG , http://www.mhsdc.org/interest111.htm

สรินยา คำเมือง. (2541). การศึกษาระบบเสียงภาษาปาดอง (กะเหรี่ยงคอยาว) บ้านในสอย ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพมหานคร : ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย.

สำนักข่าวชายขอบ. ตอนที่ (2) การร้องขอเขตปกครองรัฐกะเหรี่ยง , http://transbordernews.in.th/home/?p=11148 .

สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่. พ่อเมืองแม่ฮ่องสอน ผลักดันประเพณีปอยต้นธีบ้านห้วยปูแกง เพื่อขยายด้านการท่องเที่ยวเมืองรอง , http://region3.prd.go.th/ct/news/viewnews.php?ID=1...

อานานนนนน oknation blog. ต่างอะไรกับสวนสัตว์ : จ้างกะเหรี่ยงคอยาวใส่ห่วงคอให้นักท่องเที่ยวดูวิถีชีวิต , http://oknation.nationtv.tv/blog/Anan/2007/09/12/e...

108 พันเรื่อง. แทบไม่เชื่อสายตา ! เปิดเบื้องหลังชีวิต "สตรีกะเหรี่ยง" และ "สภาพคอ" หลังถอดห่วงออก! , http://www.108panrueng.com/post_150349.html

Bloggang. นายทุนดึง"กะเหรี่ยงคอยาว" โชว์สวนสัตว์มนุษย์ถึงเมืองชล , https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=hit&mont...

Free Burma Rangers. RELIEF MISSION TO KARENNI PEOPLE JUNE/JULY 2004 , http://www.freeburmarangers.org/2004/07/09/relief-...

grim-fascination. X-rays showing the effects of Burmese neck coils on the human skeleton , http://grim-fascination.tumblr.com/post/2834133254...

James George Scott. Tales of Asian Venturers No. 2

Sir George Scott of the Shan States , http://www.inwa-advisers.com/Sir-James-George-Scot...

James George Scott. wikimedia commons ,

Openbase. กะเหรี่ยงคอยาว จ.แม่ฮ่องสอน , http://www.openbase.in.th/node/11030

Openbase. ชาติพันธุ์ล้านนา – ปะด่อง , http://www.openbase.in.th/node/6442

Sanook. ทำไมกะเหรี่ยงคอยาวต้องใส่ห่วงทองเหลือง? , https://guru.sanook.com/13653/

tnew. “กะเหรี่ยงคอยาว” ถอดห่วง , http://www.tnews.co.th/contents/375130

vStudyApp. กะเหรี่ยง "คอ" ยาว , http://vstudyapp.blogspot.com/2013/10/blog-post_3.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว