ชาวไทยเชื้อสายเขมร เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในประเทศไทย ที่มีความสัมพันธ์กับชนชาติไทย และประเทศไทยมาตั้งแต่อดีต ได้อาศัยในดินแดนของไทยในหลายพื้นที่ Pol-ngam, 1995 (อ้างในพรรณพฤกษา จะระ, 2559:195) กล่าวว่า "กลุ่มชาติพันธุ์เขมรเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่อีสานตอนใต้มาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังมีอพยพเข้ามาในสมัยพระนคร (ราวพุทธศตวรรษที่ 17) และสมัยต่อมาเรื่อยมา เนื่องจากพื้นที่ไม่มีพรมแดนในอดีต ปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์เขมรจำนวนราว 1,400,000 คน กระจายอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และมีบ้างเล็กน้อยที่จังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี และเพชรบุรี" การอาศัยของชาวเขมรในพื้นที่จังหวัดดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นชาวเขมรโบราณที่ได้อาศัยในพื้นที่ของไทยมาเป็นเวลานานจนถูกเรียกว่าเป็นชาวเขมรถิ่นไทย สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, (2531: 16) ได้อธิบายว่า "ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือที่เรียกว่า อีสานใต้ชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในดินแดนไทยตามแนวพรมแดน ไทย - กัมพูชา ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรืออีสานใต้ ได้แก่ จังหวัดจังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มชาวเขมรที่อยู่ในประเทศไทยกลุ่มนี้ว่าคือ "เขมรสูง" หรือ "เขมรถิ่นไทย" หรือ "ชาวไทยเขมร" ซึ่งชาวชาวเขมรที่อาศัยในบริเวณดังกล่าวมีจำนวนมาก ดังที่ประกอบ ผลงาม 2538 (อ้างในนิโรธ ศรีมันตะ และนัฎฐิกา นวพันธุ์, 2562:36) กล่าวว่า "พื้นที่ตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสานใต้เป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์มอญ-เขมร โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์เขมรถิ่นไทยมีจำนวนมากที่สุดจำนวนราว 1,400,000 คน ของชาวเขมรโบราณมาตั้ง แต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 13 ในสมัยอารยธรรมขอมเรืองอำนาจเมื่อขอมเสื่อมอำนาจพื้นที่แถบนี้จึงถูกทิ้งให้รกร้างและสมัยต่อๆ มาไทยและเขมรมีการทำศึกสงครามกันหลายครั้งทำให้ชนชาวเขมรต้องถอยร่นไปเรื่อย ๆ แต่อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคาดว่าชาวเขมรถิ่นไทยน่าจะอพยพมาในสมัยหลังประมาณ พ.ศ. 2324 - 2325 ครั้งเจ้าเมืองสุรินทร์ยกทัพไปตีเมืองเขมรซึ่งทำ ให้เกิดการอพยพของชาวเขมรมายังจังหวัดสุรินทร์และพื้นที่ข้างเคียงเป็นจำนวนมาก" เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ากลุ่มชาวเขมรหรือขแมร์ลือจึงอาศัยยู่ในพื้นที่ต่างๆ ตอนล่างของภาคอีสานจำนวนมากรวมถึงชาวขแมร์ลือที่อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์เขมร ที่มีภาษาพูดที่จัดเป็นภาษาเขมรถิ่นไทย หรือเขมรสูง (ขแมร์ลือ) โดยในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษมีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขมรอาศัยอยู่หนาแน่นในอำเภอภูสิงห์ นอกจากนั้นยังพบชาวขแมร์ลือในพื้นที่ใกล้เคียงในอำเภอขุขันธ์ อำเภอขุนหาญ อำเภอกันทรลักษ์ รวมทั้งบางส่วนของอำเภอศรีรัตนะ อำเภอไพรบึง อำเภอปรางค์กู่ และอำเภอห้วยทับทัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งจังหวัด สอดคล้องกับการศึกษาของ Alexandra Denes, (2011:169) ที่กล่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชากรเขมรประมาณ 1.4 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ ในทางภูมิศาสตร์จังหวัดเหล่านี้ตั้งอยู่ตามแนวลาดของดงเร็กซึ่งเป็นแนวพรมแดนทางธรรมชาติที่ขรุขระกับกัมพูชาไปทางทิศใต้ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์บนที่ราบสูงที่สูงนี้สามารถมองเห็นกัมพูชาได้แสดงไว้ใน ethnonyms ของภูมิภาค เขมรแห่งประเทศไทยเรียกตนเองว่าเขมรลือ ซึ่งหมายถึงเขมรที่สูงในทางตรงกันข้ามกับเขมรของกัมพูชาที่พวกเขาเรียกเขมรแทมหรือเขมรที่ลุ่ม
ชาวแขมร์ลือที่อำเภอภูสิงห์เดิมเป็นคนในพื้นที่ของอำเภอขุขันธ์ จากข้อมูลประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในหนังสือเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ ได้ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านที่อาศัยในบริเวณนี้เป็นชาวเขมรถิ่นไทย และเรียกตนเองว่า ขแมร์ แต่หากจะบ่งบอกถึงถิ่นของภาษาและชาติพันธุ์ ชาวเขมรถิ่นไทยเรียกภาษาและชาติพันธุ์ของตนเองว่า ขแมร์ลือ ซึ่งแปลว่า เขมรสูง เรียกภาษาเขมรและชาวเขมรในประเทศกัมพูชาว่า ขแมร์-กรอม แปลว่า เขมรต่ำ และเรียกคนไทยหรือคนพูดภาษาไทย เป็นภาษาแม่ว่า ซึม ซึ่งตรงกับว่า สยาม ในภาษาไทย และคำว่า เซียม ในภาษากวย ผู้พูดภาษาเขมรถิ่นไทยมีอยู่จำนวนมากในเขตจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และบางอำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นอกจากนี้บางอำเภอในภาคตะวันออก คือ จังหวัดปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีสถานะเป็นคนไทย สัญชาติไทย ต่อมามีประชากรเข้ามาอาศัยอยู่มากทำให้การปกครองดูแลไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอำเภอภูสิงห์ซึ่งมีบริเวณอยู่ติดแนวชายแดนไทย - กัมพูชา รวมทั้งการสัญจรไปมาไม่สะดวกซึ่งมีระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรทำให้ประชาชนเดินทางมาติดต่อราชการที่อำเภอขุขันธ์ไม่สะดวก กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้มีการจัดตั้ง กิ่งอำเภอภูสิงห์ ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2533 โดยแยกการปกครองออกจากอำเภอขุขันธ์ มี 6 ตำบล และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2534 ประกอบด้วยมีตำบลโคกตาล ตำบลละลม ตำบลตะเคียนราม ตำบลห้วยตามอญ ตำบลดงรัก และตำบลห้วยตึ๊กชู ชาวแขมร์ลือที่ชุมชนโคกตาล อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ มีจำนวน 10 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านโคกตาล หมู่ 2 บ้านลุมพุก หมู่ 3 บ้านคลองแก้ว หมู่ 4 บ้านศาลา หมู่ 5 บ้านคลองคำโคกแต้ หมู่ 6 บ้านโนนสวรรค์ หมู่ 7 บ้านเรือทอง หมู่ 8 บ้านโคกทุ่งล้อม หมู่ 9 บ้านนาศิลา หมู่ 10 บ้านโคกตาลกลาง
เนื้อหาโดย ชานนท์ ไชยทองดี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ปีงบประมาณ 2562, วันที่อัพโหลด ; 27 กันยายน 2562
เอกสารอ้างอิง
สัมภาษณ์
กลุ่มชาติพันธุ์ขแมร์ลือ ในชุมชนโคกตาล อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติของการอพยพมาจากแถวเทือกเขาพนมดงรักด้วยสาเหตุของสงคราม การอพยพมาในครั้งประวัติศาสตร์ได้ก่อให้เกิดการสร้างถิ่นฐานบ้านเรือนที่อยู่อาศัยขึ้นในเขตของอำเภอขุขันธ์ซึ่งต่อมาได้เกิดการแบ่งเขตเป็นอำเภอภูสิงห์ ปัจจุบันมีจำนวน 10 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านโคกตาล หมู่ 2 บ้านลุมพุก หมู่ 3 บ้านคลองแก้ว หมู่ 4 บ้านศาลา หมู่ 5 บ้านคลองคำโคกแต้ หมู่ 6 บ้านโนนสวรรค์ หมู่ 7 บ้านเรือทอง หมู่ 8 บ้านโคกทุ่งล้อม หมู่ 9 บ้านนาศิลา หมู่ 10 บ้านโคกตาลกลาง ในแต่ละหมู่บ้านล้วนเป็นชาวขแมร์ลือทั้งหมด และเมื่อได้เข้ามาอยู่อาศัยแล้วชาวขแมร์ลือก็มีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของพื้นที่ทั้งในเรื่องของการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าว การทำไร่มันสำปะหลัง การทำสวนผลไม้ ตลอดจนการสร้างประเพณี พิธีกรรมและการ เช่น การสร้างประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อสิงห์คู่ขึ้นในชุมชนของตนเอง นอกจากนี้แล้วการดำเนินชีวิตของชาวขแมร์ลือแล้ว คนในชุมชนยังสามารถพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนให้กว้างขวางจนถึงระดับจังหวัดได้ เห็นได้จากพื้นที่ของอำเภอภูสิงห์ได้กลายเป็นพื้นที่ของการเกษตรอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะการปลูกมันสำปะหลังเป็นพื้นที่อันดับต้นๆ ของจังหวัดศรีสะเกษ ขณะเดียวกันการนำประวัติศาสตร์ ตำนานหรือสิ่งมีค่าที่พบในชุมชน ชาวบ้านก็สามารถนำมาถ่ายทอดด้วยการตีแผ่ข้อมูลในโลกโซเชียลจนกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวในปัจจุบัน เช่น วัดรอยพุทธบาทภูสิงห์ วัดโคกตาล วัดไพรพัฒนา
ดังนั้นกลุ่มชาติพันธุ์ขแมร์ลือในชุมชนโคกตาลและชุมชนอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันต่างก็สามารถพัฒนาตนเองทั้งในครอบครัว ชุมชน จนในปัจจุบันเป็นชุมชนที่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน (อดีต-ปัจจุบัน) รวมไปถึง รูปแบบการเคลื่อนย้ายของชาวขแมร์ลือ จากในอดีตและข้อมูลทางประวัติจะเห็นว่ามีการเคลื่อนย้ายด้วยภัยทางสงครามระหว่างไทยและเขมร และสงครามเขมรแดงทำให้ชาวแขมร์ลือต้องอพยพไปในพื้นที่ต่างๆ บ้างก็ถูกกวาดต้อนเป็นเชลย บ้างก็หนีเข้ามาฝั่งไทย ดังที่ลักขณา ชาปู่ (2546: บทคัดย่อ) "กล่าวว่าชาวไทยเขมรที่ถูกกวาดต้อนมาจากราชอาณาจักรกัมพูชาสมัยอดีต จากกองทัพของไทยที่เข้าไปทำสงครามในแผ่นดินเขมรและเมื่อได้รับชัยชนะก็จะกวาดต้อนครอบครัวชาวเขมรเข้ามาอยู่ในดินแดนไทย" พิเชษฐ์ เกลียวเพียร และคณะ (2559: 665) ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลการเคลื่อนย้ายในอดีตว่า "ประมาณปี พ.ศ. 2520 เกิดสงครามเขมรแดงในกัมพูชา ตามแนวตะเข็บชายแดนได้รับผลพวงจากสงครามอย่างเลี่ยงไม่ได้ ประชาชนทั้งในอาณาบริเวณแถบนี้จำต้องอพยพหลีกภัยสงคราม หลังสงครามเบาบางลงมีการแบ่งเขตชายแดนประเทศอย่างชัดเจนขึ้น มีกับระเบิดอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนอยู่ทั่วไป ประชาชนไม่สามารถไปมาหาสู่กันโดยอิสระดังเช่นเก่าก่อน" ดังนั้นจะเห็นว่าผลกระทบจากภัยสงครามที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นทำให้ชาวเขมรต้องอพยพพลัดถิ่นเข้ามาในประเทศไทย บทความของ ศุภวดี มนต์เนามิตร (2551) ได้ชี้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชาวเขมรนั้นตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อสถานการณ์ที่เลวร้ายจากภัยสงครามเขมรแดง ในช่วงปี พ.ศ. 2522 ภัยสงครามดังกล่าวจึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการตัดสินใจของชาวเขมรที่จะเลือกเดินทางอพยพเข้ามาในประเทศไทย สอดคล้องกับ ทัศนะของ ธิบดี บัวคำศรี (2547: 122) ที่ได้แสดงความเป็นเกี่ยวกับภัยสงครามเขมรแดงที่ทำเกิดการอพยพเข้ามาในประเทศไทยว่า “เกิดสงครามและการยึดครองอำนาจของเขมรแดงรวมทั้งภายหลังที่ระบบการปกครองนี้สิ้นสุดลงหรือเรียกเหตุการณ์ว่า "เขมรแดงแตก" ในช่วงปี พ.ศ. 2522 นำมาซึ่งปัญหาระดับโลกที่สืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบันนั้นคือการอพยพหนีเอาชีวิตรอดของผู้คนในประเทศเขมรที่มีทั้งคนเขมรและคนต่างชาติไปยังประเทศอื่น ๆ
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ชาวขแมร์ลือในชุมชนโคกตาล ซึ่งเป็นอีกกลุ่มชาติพันธ์หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามเขมรแดงจึงต้องอพยพมาจากเขตชายแดนไทย – เขมร บริเวณอำเภอพนมดงรัก ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ (ศก ศรีสิงห์, 2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "ชาวโคกตาลได้เดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ที่ฝั่งไทยประมาณ 100 คน ตามแนวเทือกพนมดงรักจนมาถึงเขตอำเภอขุขันธ์" นอกจากนี้ มาก ศรีสิงห์ (2561: สัมภาษณ์) ซึ่งเป็นภรรยาก็ได้ให้ข้อมูลในอดีตเกี่ยวกับภัยของสงครามเขมรแดงว่า "เมื่อครั้งชาวบ้านอพยพมาที่บ้านโคกตาล เพราะชาวบ้านหนีภัยสงครามเขมรแดงจึงต้องนำพาครอบครัวและผู้คนที่ต้องการมีชีวิตอยู่เดินทางในจำนวน 100 คน และต้องพากันขุดหลุมเพื่อป้องกันลูกระเบิดจากสงคราม และทำให้การดำเนินชีวิตเต็มไปด้วยความหวาดกลัวต้องอาศัยอยู่ในหลุมหลบภัยที่ตนเองขุดนั้นเป็นเวลาหลายเดือนกว่าสงครามจะยุติลง และยังบอกอีกว่า ตอนที่อพยพมานั้น มีชาวเขมรอีกจำนวนมากที่แตกแยกไปคนละทิศละทางเพื่อเอาตัวรอดจากภัยสงคราม เมื่อสงครามสงบลงบางคนก็กลับไปบ้านเกิด โดยทางการไทยได้ส่งตัวกลับไป บางคนก็อาศัยอยู่ที่บ้านโคกตาล"
ดังนั้นจะเห็นว่ารูปแบบการตั้งถิ่นฐานจากอดีตจนปัจจุบันหรือรูปแบบการเคลื่อนย้ายของชาวขแมร์ลือที่ชุมชมโคกตาลนั้นมีเงื่อนไขมาจากภัยของสงครามเขมรแดง การเคลื่อนย้ายดังกล่าว เป็นการอพยพมาลงมา
จากเทือกเขาพนมดงรัก เมื่อสงครามยุติพื้นที่ของการเข้ามาหลบภัยสงครามจึงกลายเป็นแหล่งทำมาหากิน และสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ซึ่งในตอนนั้น นายศก ศรีสิงห์ ชาวขแมร์ลือที่ได้รับความนับถือจากเพื่อน ๆ ที่ลี้ภัยมาด้วยกันได้พิจารณาแล้วว่า สมควรที่จะตั้งถิ่นฐานบริเวณดังกล่าว โดยไม่ต้องกลับไปที่บ้านเกิด ในขณะนั้นเริ่มสร้างบ้านเรือนได้ ประมาณ 10 หลังคาเรือนที่บ้านลุมพุกคลองแก้ว ต่อมาก็ขยายมากขึ้นเป็นบ้านโคกตาล บ้านโคกตาลกลาง บ้านโคกทุ่งล้อม บ้านลุมพุกคลองแก้ว บ้านโคกทราย บ้านศาลา บ้านนาศิลา ชุมชุนเหล่านี้เป็นชาวขแมร์ลือที่กลุ่มเดียวกันที่ลี้ภัยสงครามเขมรแดงมากจากเทือกเขาพนมดงรัก
พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลโคกตาล เป็นพื้นที่ราบสูง บริเวณด้านทิศใต้ของตำบลเป็นเนินเขาภูสิงห์ สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย และหินกรวด มีพื้นที่ 33,542 ไร่ มีคลองส่งน้ำชลประทาน ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ และที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงสลับด้วยป่าไม้เบญจพรรณมีเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย กับกัมพูชา ในบริเวณที่เป็นภูเขาสูงและมีป่าทึบ ลักษณะภูมิประเทศดังกล่าวจึงเป็นต้นของลำธาร และห้วยที่สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ เช่น ห้วยศาลา ห้วยสำราญ ห้วยตึ๊กชู เป็นต้น
ชาวขแมร์ลือที่ชุมชนโคกตาลได้ใช้พื้นที่ในการสร้างเศรษฐกิจของตน ทั้งในระดับครอบครัวและระดับชุมชนด้วยการทำเกษตรเชิงรุกโดยอาศัยน้ำจากเขื่อนห้วยศาลาซึ่งเป็นเขื่อนที่มีอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกสำปะหลัง ยางพารา ข้าว และพืชผลอื่น นอกจากนี้ในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ บ้านโคกตาลกลาง บ้านโคกทุ่งล้อม บ้านลุมพุกคลองแก้ว บ้านโคกทราย บ้านศาลา บ้านนาศิลาซึ่งเป็นกลุ่มชาวขแมร์ลือได้อาศัยน้ำจากเขื่อนห้วยศาลาเพื่อการเกษตรกรรม ปัจจุบันเขื่อนห้วยศาลายังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีธรรมชาติสวยงามมาก เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ความยาวของเขื่อนประมาณ 10 กม. ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่ล้อมรอบไปด้วยเทือกเขาพนมดงรัก ปัจจุบันได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและสัตว์ป่า เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีทิวทัศน์ที่สวยงาม ที่น่าสนใจคือทางจังหวัดศรีสะเกษได้กำหนดจะเข้าทำการพัฒนาเพื่อรองรับการเปิดจุดผ่านแดนเพื่อการค้ากับประเทศกัมพูชา ซึ่งเมื่อเปิดจุดผ่านแดนบริเวณนี้แล้ว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากใช้เป็นเส้นทางเดินทางไปชมปราสาทนครวัดนครธมของประเทศกัมพูชาซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 135 กิโลเมตร และเป็นเส้นทางเดินที่สะดวกที่สุดจึงสมควรดำเนินการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสู่ระดับสากลเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในอนาคตเพื่อเป็นสถานที่สำหรับรองรับการค้าขาย แลกเปลี่ยนระหว่างระหว่างชายแดนไทยกัมพูชา และเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่าง ๆ อาทิ สถานีขนส่งผู้โดยสาร ด่านศุลกากรช่องสะงำ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อีกทั้งยังได้มีการประกาศจัดตั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารเมืองใหม่ช่องสะงำแล้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2553
ดังนั้นภาพรวมชาวขแมร์ลือที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนโคกตาล อำเภอภูสิงห์จึงเป็นกลุ่มชาวเขมรที่ได้ย้ายถิ่นฐานมาจากชายแดนไทยกัมพูชาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งได้กระจายตัวในพื้นที่ใกล้เคียงหลายอำเภออาทิ อำเภอขุขันธ์ อำเภอไพรบึง อำเภอปรางค์กู่ ถูกเรียกว่า "เขมรสูง" หรือ "เขมรถิ่นไทย" ปัจจุบันพื้นที่อาศัยชาวขแมร์ลือได้รับการพัฒนาทั้งในด้านการเกษตร การท่องเที่ยว การฝึกอาชีพในชุมชนจนได้ทำให้เป็นพื้นที่สำคัญในภาคเศรษฐกิจของจังหวัดศรีสะเกษ
ข้อมูลจากคณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ (2542) ได้ชี้ให้เห็นว่า การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวเขมรในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มีมาแต่โบราณกาลแล้ว และประชากรชาวเขมรในสมัยนั้นได้สืบเชื้อสายต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยจะอยู่ในเขตท้องที่อำเภอกันทรลักษ์ ด้านที่ติดกับเขาพนมดงเร็ก แถบบ้านทุ่งใหญ่ บ้านประทาย บ้านบึงมะลู บ้านโดนเอาว์ บ้านรุง บ้านทุ่งยาว เป็นต้น และบริเวณบ้านบักดอง บ้านพราน บ้านทุ่งเลน บ้านสำโรงเกียรติ บ้านไพร บ้านกระมัล บ้านกราม บ้านกันทรอม อำเภอขุนหาญ บ้านไพรบึง บ้านพราน บ้านสำโรงพลัน บ้านไทร อำเภอไพรบึง บ้านสำโรงระวี บ้านศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ ชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนบริเวณโดยรอบของปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งอาศัยอยู่แถบห้วยขะยุง และห้วยทาที่เป็นสาขาหนึ่งของห้วยขะยุง ส่วนอีกบริเวณหนึ่งที่พบว่ามีชาวเขมรอาศัยอยู่จำนวนมาก คือ บริเวณแถบที่ราบลุ่มห้วยสำราญ แถบอำเภอขุขันธ์ ปรางค์กู่ บริเวณนี้มีชาวเขมรถิ่นไทยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ในเขตท้องที่ตำบลกันทรารมย์ หัวเสือ ใจดี โคกเพชร สะเดาใหญ่ อำเภอขุขันธ์ ตำบลละลม อำเภอภูสิงห์ ตำบลตูม สำโรงปราสาท อำเภอปรางค์กู่ จนศรีสะเกษได้ชื่อว่าเมืองเขมรป่าดง ขณะที่มิติทางประวัติศาสตร์ชาวขแมร์ลือชุมชนโคกตาล เป็นชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในดินแดนไทยตามแนวพรมแดนไทย – กัมพูชาในบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ชาวเขมรพื้นบ้านฝั่งสุรินทร์ เรียกว่า "พนมดองเรียก หรือพนมดองแร็ก" เป็นเทือกเขาที่ทอดตัวยาวตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานีไปจนถึงจังหวัดบุรีรัมย์ และเป็นแนวเทือกเขาที่มีความสำคัญในด้านยุทธศาสตร์ทางการทหาร กล่าวคือเป็นแนวเขาที่มีป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแนวกันชนแบ่งเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย คือประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา (ขแมร์กรอม) บริเวณดังกล่าวเป็นที่ของการพุ่งรบทำสงครามกันในประเทศ โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา จึงทำให้ชาวเขมรต้องเอาชีวิตรอดด้วยการเดินทางเข้ามาฝั่งไทย
ชุมชนโคกตาลอยู่ในเขตท้องที่อำเภอภูสิงห์ ที่มีประวัติศาสตร์ของการอพยพมามาจากเขาพนมดงเร็ก ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ โดยเชื่อว่ามี "ตากะสี" เป็นผู้นำในการสร้างชุมชนที่มาของชื่อชุมชน กล่าวคือ ในอดีตมีต้นตาลอยู่ในหมู่บ้านจำนวนมาก เดิมเรียกว่า ตะโน้ด (เป็นภาษาเขมร) แปลว่า ต้นตาล มีชื่อเรียกเต็มว่า "สรกตะโน้ด" (เป็นภาษาเขมร) แปลว่า บ้านโคกตาล บริเวณดังกล่าวเป็นเนินเขาไม่มีต้นไม้ใหญ่เท่าใดนัก ลักษณะเป็นป่าโปร่ง เป็นพื้นที่ราบสูง บริเวณด้านทิศใต้ของตำบลเป็นเนินเขาภูสิงห์ สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย และหินกรวด ชาวบ้านปักถิ่นฐานอาศัยเป็นต้นมา มีพื้นที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ทำนาปลูกพืช โดยเห็นว่าพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก เช่น ปลูกข้าวหอมมะลิ เป็นต้น ชาวบ้านปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพหลัก
บริเวณดังกล่าวเป็นเนินเขาไม่มีต้นไม้ใหญ่เท่าใดนัก ลักษณะเป็นป่าโปร่ง เป็นพื้นที่ราบสูง บริเวณด้านทิศใต้ของตำบลเป็นเนินเขาภูสิงห์ สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย และหินกรวด ชาวบ้านปักถิ่นฐานอาศัยเป็นต้นมา มีพื้นที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ทำนาปลูกพืช โดยเห็นว่าพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก เช่น ปลูกข้าวหอมมะลิ ดังนั้นชาวบ้านปลูกข้าวและมันสำปะหลังเป็นอาชีพหลัก
ศก ศรีสิงห์ (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "ชาวโคกตาลได้เดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ที่ฝั่งไทยประมาณ 100 คน ตามแนวเทือกพนมดงรักจนมาถึงเขตอำเภอขุขันธ์" นอกจากนี้ มาก ศรีสิงห์ (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "เมื่อครั้งชาวบ้านอพยพมาอยู่ฝั่งประเทศไทย ชีวิตมีความยากลำบากพอสมควรการอพยพเข้ามาของชาวเขมรทำให้อัตลักษณ์ดั้งเดิมของตนเองต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมของไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ชาติพันธุ์เดิมของตนเอาไว้" ฉะนั้นจะเห็นว่าเหตุที่อัตลักษณ์เปลี่ยนไปนั้นเนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์เขมรที่เข้ามาในประเทศไทยมีหลากหลายกลุ่ม เมื่อมาอาศัยในพื้นที่เดียวกันจึงถูกหลอมรวมหรือสร้างประเพณีวัฒนธรรมของตนเองใหม่เพื่อให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น อัตลักษณ์ด้านภาษาที่ยังคงใช้ภาษาดั้งเดิมของตนเอง แม้จะได้รับการศึกษาของไทยแต่คนในชุมชนก็ยังใช้ภาษาถิ่นของตนเองจนปัจจุบันซึ่งบางคนพูดภาษาไทยไม่ชัด ส่วนอัตลักษณ์ทางความเชื่อประเพณีวัฒนธรรมคนในชุมชนก็บูรณาการภูมิปัญญาเดิมให้เข้ากับพื้นที่ที่เข้ามาอาศัย เช่น การนำเอาสิ่งที่คนในชุมชนเชื่อว่า เป็นสมบัติล้ำค่าที่ตกทอดมาจากอดีต แล้วนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์บ่บอกความเป็นชาวภูสิงห์
ตรี รัตนพันธ์ (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "ตั้งแต่อพยพมาอาศัยที่ชุมชนโคกตาลใหม่ ๆ ประเพณีวัฒนธรรมของคนชุมชนยังไม่มีความเด่นชัด พอคนในชุมชนได้ขยายครอบครัวมากขึ้นก็เริ่มสร้างประเพณีเป็นของตนเอง เช่น ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อสิงห์คู่ซึ่งเป็นวัตถุโบราณที่ค้นพบในชุมชนจึงได้มีการร่วมกันสร้างประเพณีบวงสรวงขึ้นในวันที่ 12 เมษายนของทุกปี และประเพณีที่สร้างขึ้นก็คือตัวแทนของคนในชุมชนลุมพุก โคกตาลด้วย รวมถึงชาวภูสิงห์ด้วย"
ดังนั้นจะเห็นอัตลักษณ์ของชาวโคกตาลได้มีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมไทยด้วยการสร้างประเพณีตามแบบฉบับของตนเองขั้นเพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เดิมของตนเพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกัน แม้ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปตามกระแสโลกาภิวัตน์และความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีได้กระจายเข้าสู่ทุกพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ แต่อัตลักษณ์ของคนชุมชนโคกตาลนั้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะแนวคิดในการการผสมผสานประเพณี วัฒนธรรมที่หลากหลายอัตลักษณ์ทั้งเป็นของดั้งเดิมคือ ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อที่เป็นเขมรผนวกเข้ากับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อของไทยอย่างลงตัว ขณะเดียวกันความเป็นอยู่ประเพณีและความเชื่อต่าง ๆ ของคนในชุมชนก็ยังแสดงให้เห็นว่า มีความคล้ายคลึงกับชาวเขมรที่ประเทศกัมพูชา เช่น อาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ข้าวเจ้า ปลาเฮาะเขมร (ปลาร้าเขมร) ปลาจ่อม ปลาแห้ง ปลาย่าง ปลาต้ม น้ำพริกจิ้มผัก เนื้อสัตว์ ผัก ขนมกันเตรียม ขนมโชค ขนมเนียล ขนมกันตางราง ขนมกระมอล ขนมมุก ขนมเนียงเล็ด เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแสดงถึงวัฒนธรรมในด้านอาหารของคนในเขมรที่ชาวลุมพุกและชาวโคกตาลได้สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
ในด้านของภาษา สิน รัตนพันธ์ (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "ชาวโคกตาลยังคงใช้ภาษาเขมรในการดำเนินชีวิตประจำวัน บางคนก็ยังไม่สามารถพูดภาษาไทยได้คล่อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่มีอายุ 70 – 80 ปี ปัจจุบันคนในชุมชนเรียนรู้ภาษาไทยมากขึ้น โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ภาษาหลักที่ใช้สื่อสารคือภาษาถิ่นเขมรผู้คนในชุมชนยังมีความเรื่องผี เช่น ผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีป่า ผีเจ้าทีเจ้าทาง ผีครูบาอาจารย์ เป็นต้น ในบางบ้านได้สร้างศาลขนาดเล็กไว้บูชาผีที่ตนเองนับถือ บางคนบูชาผีครูบาอาจารย์ เช่น หมอยาและหมอไสยศาสตร์ที่ได้ตายไปตั้งแต่ตนเองนั้นยังไม่ได้อพยพมา ก็นำมาบูชาไว้ที่แท่นบูชาในบ้าน"
ชาวขแมร์ลือ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในประเทศไทย ที่มีความสัมพันธ์กับชนชาติไทย มาอย่างยาวนาน พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ (2557: 4) กล่าวว่า ชาวเขมรในไทยเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่พรมแดนไทย-กัมพูชามาช้านานมากกว่า 150 ปีชาวเขมรในพื้นที่พรมแดนเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทการค้าข้ามพรมแดนนับตั้งแต่สมัยโบราณโดยมีเกลือ ของป่า เนื้อสัตว์ และปลาร้าเหนียว เป็นสินค้าหลัก แต่ภายหลังทศวรรษ 2500 เมื่อพรมแดนข้ามได้ยากขึ้นจากกรณีคดีใน พ.ศ. 2505 ทำให้การค้าข้ามพรมแดนค่อย ๆ หมดบทบาทไปประกอบกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจภายในอำเภอกันทรลักษ์และประเทศไทยได้ผลักดันให้ชาวเขมรไม่มีเวลามากพอที่จะทำการค้าข้ามพรมแดนอีกกิจกรรมการค้านี้จึงได้เลิกไปและชาวบ้านได้ปรับตัวด้วยการทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ทดแทน ส่วนประกอบ ผลงาม (2538 อ้างในนิโรธ ศรีมันตและคณะ, 2562: 40) กล่าวว่า "ชาวเขมรถิ่นไทยในพื้นที่อีสานใต้มีลักษณะการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบพึ่งพาฤดูกาลเป็นส่วนใหญ่ทั้งทำนา ทำสวน ปลูกพืชไร่ หอมแดง กระเทียม เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขมรถิ่นไทยว่ามีลักษณะคล้ายกับชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยในชนบททั่ว ไป คือ ชาวเขมรถิ่นไทยประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อว่างจากฤดูกาลเกษตรก็จะเดินทางไปรับจ้างในตัวเมืองหรือในเมืองหลวงและจะเดินทางกลับเพื่อประกอบอาชีพหลักตามเดิม ลักษณะบางประการที่คล้ายกับชาวเขมรในประเทศกัมพูชามาก"
ขณะที่คนในชุมชนโคกตาลส่วนใหญ่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งในพื้นที่เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีการปลูกข้าว และทำนา พืชที่เหมาะแก่สภาพดินมาปลูกและทำเป็นเกษตรหลักของชุมชน คือ มันสำปะหลัง บางคนปลูกเงาะ ส้มโอ กล้วย ซึ่งถือว่าการดำรงอาชีพนั้นมีความผูกพันกับการเกษตรตามวิถีของชาวบ้าน ดังที่ พิเชษฐ์ เกลียวเพียร และคณะ (2559: 661) กล่าวว่า "ความเป็นอยู่ วัฒนธรรมประเพณี ของชาวเขมรสูงส่วนมากอยู่ในชนบท มีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่ หนุ่มสาวที่ว่างจากการทำนา ทำไร่ จะเดินทางไปรับจ้างในตัวเมือง หรือเมืองหลวง และเมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อประกอบอาชีพหลักของตน" ปัจจุบันในภาคการเกษตรกรรมนั้น มีชาวบ้านบางคนนำทุเรียนไปทดลองปลูกที่ไร่ แต่โดยหลักแล้วชาวบ้านก็ยังเพาะปลูกข้าว มันสำปะหลัง และยางพาราเป็นหลัก โดยเฉพาะคนในชุมชนได้มีการนำข้าวสายพันธุ์หอมมะลิ 105 มาปลูกที่นาของตนเองทุกหลังคาเรือน
คนในชุมชนจะเลือกปลูกข้าวในช่วงเดือนฤดูทำนา คือในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยจะมีการหว่านข้าว ซึ่งหลักจากหว่านเสร็จแล้วก็จะเป็นช่วงที่ฝนตกพอดี พื้นที่ยังเหมาะปลูกมันสำปะหลัง คนในชุมชนก็ได้คัดเลือกสายพันธุ์มันสำปะหลังสายพันธ์ต่าง ๆ เช่น เดิมทีตอนปลูกใหม่ ๆ ใช้พันธุ์ระยอง 89 ปัจจุบันได้เลือกสายพันธุ์ระยอง 81 เพราะเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตหัวใหญ่และให้น้ำหนักมาก สามารถแตกหัวได้มาก เช่น อายุมัน เพียง 4 เดือนครึ่ง แตกหัวออกถึง 15 หัว
บัวทอง ศรีสิงห์ (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "ตั้งแต่มาอพยพมาอยู่ใหม่ ๆ ก็ได้เริ่มประกอบอาชีพเกษตร โดยได้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ดูแลการใช้จ่ายของครอบครัว นอกจากนี้ยังได้เลี้ยงวัวเพื่อนำไปขาย ต่อมาเมื่อชุมชนได้พัฒนาในด้านต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การค้าขาย การทำเกษตร การหารายได้จากการประกำอบอาชีพต่าง ๆ ก็สามารถหาได้ง่ายมากกว่าในอดีต"
สุวรรณี ศรีสิงห์ (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "ตั้งแต่ชุมชนโคกตาลยังไม่เจริญ คนภายในชุมชนมีความลำบาก เพราะระบบการบริหารของรัฐยังเข้ามาไม่ถึง การประกอบอาชีพก็ไม่สะดวก เช่น การเดินทางเอามันสำปะหลังไปขายในอำเภอ ซึ่งตอนนั้นถนนยังไม่ได้ลาดยางชาวบ้านต้องเดินทางด้วยความยากลำบากเพราะสภาพถนนที่เป็นทางลูกรัง พอสังคมเจริญขึ้นก็ทำให้การประกอบอาชีพด้านเกษตรมีความคล่องตัวมากขึ้น ปัจจุบันได้มีการสร้างพื้นที่รับซื้อมันสำปะหลังภายในชุมชนจึงทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเดินทางไปในตัวอำเภอ"
สภาพของชุมชนในปัจจุบันชุมชนทั้งสองได้พัฒนาด้านเกษตรอย่างต่อเนื่องจนเป็นเขตพื้นที่ทางการเกษตรที่มีการปลูกมันสำปะหลังและยางพาราเป็นอันดับต้น ๆ ของพื้นที่ในจังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบันได้มีการสร้างศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ขึ้น เพื่อรองรับผลผลิตและการให้ความรู้ภาคเกษตรให้กับคนภายในอำเภอ
ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ตั้งอยู่ที่บ้านตะแบงใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลห้วยตึ๊กชู อำเภอภูสิงห์ ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษไปทางทิศใต้เป็นระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร และห่างจากจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนที่สามารถเดินทางไปปราสาทนครวัดในเมืองเสียมเรียบได้สะดวกที่สุด ประมาณ 35 กิโลเมตร โดยมีพื้นที่ดำเนินงานภายในที่ตั้งศูนย์จำนวน 540 ไร่ เป็นศูนย์ที่ให้ความรู้ด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปลูกข้าว ยางพารา มะนาว มะละกอ และอื่น ๆ ตามแนวทางพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือราษฎรซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมทั้งให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ เพื่อทดลองทำโครงการโดยส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าโดยไม่ทำลายป่า ซึ่งชาวบ้านได้รับความรู้จากการอบรมการเพาะปลูกให้กับคนในพื้นที่ และปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง ครบวงจร เช่น ความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวหอมมะลิ ตั้งอยู่ที่บ้านตะแบงใต้ หมู่ที่ 9 ตำบลห้วยตึ๊กชู อำเภอภูสิงห์ ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษไปทางทิศใต้เป็นระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร และห่างจากจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนที่สามารถเดินทางไปปราสาทนครวัดในจังหวัดเสียมเรียบได้สะดวกที่สุด ประมาณ 35 กิโลเมตร โดยมีพื้นที่ดำเนินงานภายในที่ตั้งศูนย์จำนวน 540 ไร่
กลุ่มชาวขแมร์ลือที่อาศัยในชุมชนโคกตาลซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของอำเภอภูสิงห์ไม่ประสบปัญหาในเรื่องที่อยู่อาศัย จากการลงพื้นที่สำรวจและสอบถามชาวบ้านพบว่า คนในพื้นไม่ต้องการย้ายไปอาศัยหรือทำมาหากินที่อื่นเพราะพื้นที่ในอำเภอภูสิงห์ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ และชาวบ้านสามารถทำการเกษตรได้หลากหลายทั้งการปลูกยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง และพืชอื่นได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งมีการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ คือมีการบริหารน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตึ๊กชูและอ่างเก็บน้ำห้วยศาลาได้ตลอดปี มีพื้นที่กักเก็บน้ำรวม 4,200 ไร่ และมีปริมาณน้ำ รวม 57 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะสามารถจัดทำระบบชลประทานหล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรใต้อ่างเก็บน้ำได้ไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่ จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงไม่ไม่มีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่ประสบอยู่
จะเห็นว่าวิถีชีวิตและรูปแบบการดำรงชีพชาวขแมร์ลือในอดีตจะเกี่ยวข้องกับการค้าขายและระหว่างชายแดน แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงการดำรงชีพด้วยการทำเกษตรก็เข้ามาทดแทนทำให้พื้นที่ของอำเภอภูสิงห์มีชาวบ้านที่ทำการเกษตรเป็นส่วนมาก และได้รับการพัฒนามาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากคนในชุมชนได้ยกระดับจากผู้ปลูกในชุมชนกลายเป็นผู้รับซื้อมันสำปันหลังในชุมชนเอง และพ่อค้านายทุนที่ย้ายเข้ามาทำกิจกรรมรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในชุมชนก็เป็นจำนวนมาก ทำให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนเจริญขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การบ้านเรือน การใช้จ่ายก็สะดวกมากขึ้น สอดคล้องกับทัศนะของณรงค์ฤทธิ์ สุขสวัสดิ์ (2557: 54-55) ที่ได้กล่าวว่าระบบเศรษฐกิจในระยะเริ่มต้นของชุมชนชาวไทยเขมรเป็นระบบเพื่อการเลี้ยงชีพ ประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก คือ ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพดไว้บริโภคในครอบครัว ยุคต่อมาได้มีพ่อค้าสัญชาติจีนที่อพยพเข้ามาในชุมชน และเข้ามาชักจูงให้กลุ่มชนเข้าสู่ระบบการเกษตรแบบแลกเปลี่ยนเป็นเงิน เงินจึงเริ่มมีความสำคัญกับกลุ่มชนที่มีไว้สำหรับซื้อหาเครื่องอุปโภคบริโภค ที่จะต้องพึ่งพาจากพ่อค้ามากขึ้น
Pol-ngam (1995 อ้างในพรรณพฤกษา จะระ, 2559: 200) กล่าวถึงโครงสร้างครอบครัวและระบบเครือญาติของชาวขแมร์ลือว่า ลักษณะสังคม มีโครงสร้างโดยทั่วไปเหมือนกับครอบครัวชาวไทย คือ เพศชายเป็นหัวหน้าครอบครัว เพศชายเป็นผู้ทำงานเพื่อหาเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว ส่วนเพศหญิงจะเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยของกิจกรรมต่าง ๆ ภายในเรือนกลุ่ม ชาติพันธุเขมรจะให้ความสำคัญหรือให้เกียรติแก่เพศชายในการดำเนินกิจกรรม หรือตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้นแต่ในอดีตเป็นครอบครัวใหญ่อยู่ร่วมกันหลายครอบครัว การแต่งงานเพศชายจะต้องอยู่บ้านของฝ่ายหญิงเพราะเชื่อว่าเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ สอดคล้องกับคำอธิบายของณรงค์ฤทธิ์ สุขสวัสดิ์ (2557: 89) ว่า "สภาพสังคมในระดับครัวเรือน โดยส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกับสภาพสังคมของชาวไทยพื้นเมืองโดยทั่ว ๆ ไป คือจะเป็นระบบสังคมที่จะให้พ่อเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวและทำหน้าที่หาเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว แม่จะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลกิจกรรมภายในบ้าน เช่น หุงหาอาหาร เป็นต้น รวมยังเป็นระบบสังคมที่ให้เกียรติเพศชายในการดำเนินกิจกรรมหรือตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญของครอบครัว จะไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างเพศในเรื่องของการทำงานผู้หญิงมีความรู้สึกโดยสัญชาติว่างานหนัก งานสำคัญจะเป็นหน้าที่ของเพศชาย ฝ่ายชายก็จะให้เกียรติผู้หญิงในเรื่องการจัดแจงสิ่งต่าง ๆ ภายในครอบครัว และฝ่ายชายจะยอมรับนับถือฝ่ายหญิงในเรื่องของความกตัญญูต่อบรรพบุรุษซึ่งฝ่ายหญิงจะเป็นผู้รับหน้าที่ดูแลบรรพบุรุษเมื่อชราภาพตัวลง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานของชาวไทยเขมร เด็กที่เป็นเพศชายจะได้รับการฝึกฝนให้ทำงานนอกบ้าน เช่น การปลูกข้าว การปลูกถั่วลิสง เป็นต้น ส่วนเด็กเพศหญิงจะถูกอบรมเลี้ยงดูให้ทำงานภายในบ้าน เช่น หุงหาอาหาร เย็บปักเสื้อผ้า เป็นต้น" ขณะที่โครงสร้างครอบครัวและระบบเครือญาติ (System of kinship terminology) ในชุมชนโคกตาลมีระบบครอบครัวเดี่ยว ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องวางแผนในการสร้างครอบครัวตั้งแต่การหารายได้ การวางแผนการเพาะปลูก การติดต่อซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่ในการจัดการค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว ส่วนการคลอดบุตรนั้นในอดีตคนในชุมชนทำคลอดกับหมอตำแย เมื่อมีโรงพยาบาลภูสิงห์ ชาวบ้านจึงสามารถเดินทางไปทำคลอดในตัวอำเภอ ส่วนเรื่องการแต่งงาน ในอดีตคนในชุมชนมักจะแต่งงานกันเอง แต่พอสังคมเจริญขึ้นมีการสื่อสารที่เจริญก้าวหน้า คนในชุมชนก็ได้แต่งงานกับคนนอกพื้นที่ ขณะที่รูปแบบการแต่งงานนั้น มีลักษณะผสมผสานทางวัฒนธรรมความเชื่อเข้าด้วยกันคือรูปแบบของเขมรและอีสานเข้าด้วยกัน
จันทร์ที รัตนพันธ์ (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เป็นความสัมพันธ์ที่มาจากรากฐานเดียวกัน คือกลุ่มชาติพันธุ์เขมรที่อพยพมาอยู่ที่ภูสิงห์ทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ในกันในชุมชนขึ้นตั้งแต่การสร้างครอบครัวที่โดยมีลูกตั้งแต่ 2-3 คนขึ้นไป ปัจจุบันชุมชนโคกตาลกลายเป็นชุมชนชนขนาดใหญ่ คนในครอบครัวได้รับการศึกษามากขึ้น บางครอบครัวลูกได้เข้ารับราชการในองค์กรต่าง ๆ " จันทร์ที รัตนพันธ์ ยังได้ให้ข้อมูลต่อไปว่า "ปัจจุบันคนหนุ่มสาวในแต่ละครอบครัวได้รับการศึกษาสูงขึ้นคือเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ส่วนอาชีพของบุตรหลานในชุมชนพบว่ามีหลากหลายอาชีพ เช่น ข้าราชการครู บัญชี กฎหมาย ทนายความ พยาบาล ช่าง ส่วนคนที่ไม่ได้เรียนต่อในระดับปริญญาบางคนก็เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ บางคนก็ประกอบอาชีพค้าขายในชุมชนเพราะภายในชุมชนมีการสร้างตลาดขายอาหารเย็น"
ดังนั้นครอบครัวและระบบเครือญาติของชาวขแมร์ลือที่ชุมชนโคกตาลจึงเหมือนกับระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธ์อื่น ๆ ทั่วไป คือ การทำหน้าที่วางแผนในการสร้างครอบครัว การหารายได้ การวางแผนการเพาะปลูก การติดต่อซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร การสร้างบ้านเรือนล้วนเป็นหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัว ส่วนในเรื่องการจัดทรัพยากรค่าใช้จ่ายคอยสนับสนุนรวมต่างๆ งานบ้านงานเรือน การทำกับข้าว กระทั่งการคอยให้คำปรึกษาแก่หัวหน้าครอบครัว ล้วนเป็นหน้าที่ของผู้หญิง
คนในชุมชนยังคงมีความเชื่อที่สืบทอดมามาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงมีการทำหิ้งไว้ในบ้านเพื่อบูชาบรรพบุรุษของตนเอง บางบ้านก็สร้างแท่นบูชาขนาดใหญ่ไว้ในบ้าน ทุก ๆ วันสำคัญจะมีการนำของมาเซ่นไหว้เพื่อระลึกถึง เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และยังเชื่อว่าการทำเช่นนี้ บรรพบุรุษของตนเองจะช่วยดูแลปกป้องรักษาภัยต่าง ๆ ซึ่งสิ่งของที่บูชานั้นประกอบด้วย พานดอกไม้ซึ่งจะเอาจานใส่ เทียน ธูป การบูชานั้นก็จะทำการบูชาในวันพระและวันสำคัญต่าง ๆ หรือถ้าวันปกติหากคนในครอบมีปัญหา เช่น ไม่สบายหรือเกิดเจ็บป่วยไม่หายก็จะทำการเซ่นไหว้เพื่อบอกให้บรรพบุรุษช่วยเหลือคุ้มครอง และจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลนั้น พบว่าการสืบผีและสายสกุล ชาวขแมร์ลือมีความเชื่ออย่างฝังรากลึกเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษของตนเอง ซึ่งจะเห็นได้ในหลายกรณีที่มีการบูชาไม่ว่าปัญหาในครอบครัวเช่น คนในบ้านไม่สบาย บุตรหลานจะสมัครสอบทำงานในที่ต่าง ๆ การเดินทางไกลของคนในครอบครัว ชาวขแมร์ลือจะมีการจุดธูปบอกกล่าวผีบุรุษของตนเองเสมอ
ศก ศรีสิงห์ (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "ตนเองได้ทำหน้าที่สืบต่อความเชื่อเกี่ยวกับบรรพบุรุษโดยการเป็นหมอเป่า ไม่ว่าคนจะเป็นโรคอะไรมาก็สามารถเป่าให้หายขาดได้ โดยได้ทำแทนบูชาผีบรรพบุรุษไว้ในบ้านในทางทิศเหนือของบ้าน"
ส่วนสุเทียน รัตนพันธ์ (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "ที่บ้านได้สืบผีบรรพบุรุษเอาไว้ เพราะเป็นการบูชาและระลึกถึงคุณของบรรพบุรุษของตนเอง รุ่นทวด รุ่นปู่ รุ่นย่าก็ทำการสืบผีมาโดยตลอด" นอกจากนั้นยังมีการสร้างศาลเจ้าที่ไว้ที่หน้าบ้านเพราะมีความเชื่อว่า เป็นเจ้าที่เจ้าทางที่คอยรักษาบ้านและคนในครอบครัว ส่วนในการสร้างศาลพระเจ้าที่ไว้หน้าบ้านนั้น ส่วนใหญ่คนภายในชุมชนจะทำศาลเจ้าที่ขึ้นมาเองจากวัสดุเหลือใช้ เช่นไม้เก่า ๆ แต่ถ้าครอบครัวไหนมีเงินมากก็จะซื้อศาลพระเจ้าที่ หรือศาลพระภูมิที่ทำด้วยปูน อนึ่งคนในชุมชนจะมีการบูชาตลอดทั้งปีหากคนในครอบครัวมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต เช่น พ่อ แม่ บุตรหลานไม่สบายก็จะทำพิธีเซ่นไหว้เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือคนในครอบครัว
จากการบูชาผีบรรพบุรุษแล้ว ชาวขแมร์ลือยังสร้างศาลเจ้าที่ไว้ในบริเวณบ้าน เพราะเชื่อว่าบริเวณที่ตนสร้างที่อยู่อาศัยนั้นมีเจ้าที่หรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ ดังนั้นจึงต้องสร้างศาลเจ้าที่เอาไว้ เพื่อให้คนในครอบครัวทำการบูชาและไม่ให้ลบหลู่ ซึ่งจะมีการสืบสวนหรือบอกกล่าวกับคนในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นว่า ศาลเจ้าที่ภายในบริเวณบ้านคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนต้องเคารพบูชาเพราะเป็นอำนาจที่อยู่เหนือธรรมชาติ ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า ส่วนใหญ่แทบทุกหลังคาจะปรากฏศาลเจ้าที่ในบริเวณบ้าน โดยลักษณะศาลเจ้าที่นั้นจะมีลักษณะที่เก่าแก่โบราณ ดังภาพประกอบ
ศาลเจ้าที่ดังกล่าวนี้ แม่ว้าจะดูว่างเปล่าไม่เหมือนกับศาลเจ้าที่อื่นที่ต้องมีรูปสัตว์หรือรูปผู้ชายผู้หญิงที่เชื่อว่าเป็นเจ้าที่ แต่ชาวบ้านก็ยังมีความเชื่อว่า หากทำการบูชาแล้วเจ้าที่ที่สิงสถิตในบริเวณบ้านก็จะรับรู้ ซึ่งจะมีการบูชาในวันสำคัญด้วยอาหารกับข้าวกับแกง และจุดธูปบอกกล่าวเป็นประจำ การบูชาศาลเจ้าที่นั้นก็เป็นประเพณีความเชื่อของชาวขแมร์ลือที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยมีความเชื่อกันว่าการมีศาลเจ้าที่เอาไว้ภายในบ้านถือว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง เจ้าที่จะทำหน้าที่ดูแลไม่ให้วิญญาณชั่วร้ายอื่น ๆ เข้ามาในบ้าน สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายกับคนในบ้าน
เสื้อผ้าและการแต่งกายของชาวขแมร์ลือเชื้อสายเขมรที่อีสานใต้นั้นมีการแต่งกายที่เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยนับแต่สมัยโบราณกระทั่งกว่าร้อยปีหลังถึงปัจจุบัน ประกอบ ผลงาม (2538 อ้างในณรงค์ฤทธิ์ สุขสวัสดิ์, (2557: 55) กล่าวถึงการแต่งการของชาวเขมรในสมัยก่อนว่า "ชาวไทยเขมรในอดีตจะแต่งกายด้วยผ้าผืนเดียวที่เรียกว่า "ซำป็วด" ปกปิดร่ายกายเพียงท่อนล่างและเปลือยร่างกายท่อนบน ซึ่งเป็นการแต่งกายตามแบบอย่างของวัฒนธรรมอินเดีย" ต่อมาก็พัฒนาวัฒนธรรมการแต่งของตนเองเป็นลำดับ คือ ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง เป็นผ้าไหมพื้นเมืองที่มีชื่อเสียง คือ ผ้าโฮล ผ้าอัมปรม ผ้าอัลลุยซีม ผ้าสาคู ส่วนผู้ชายนุ่งโสร่ง สำหรับเสื้อ ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอก ผู้ชายใส่เสื้อคอกลม เครื่องประดับจะเป็นเครื่องเงิน เรียกว่า ประเกือม (ประคำ) นำมาร้อยเป็นสร้อย ต่างหู ซึ่งชาวขแมร์ลือให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการแต่งกายของตนอย่างมาก จะเห็นได้จากความพิถีพิถันในจากการตัดเย็บผ้าด้วยฝีมือล้วน ๆ ดังนี้ (1) ผ้าสมอ คือผ้าซิ่นลายสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็ก ประมาณ 2 มิลลิเมตร มีสีเขียวเข้ม (มีสีดำแทรกอยู่กลาง 2 เส้น) สลับกับลายสีเหลือง การทอผ้าสะมอจะใช้ด้ายสีเหลืองกับด้ายสีเขียวแทรกสีดำสลับกันทั้งด้ายเส้นผืนและด้ายเส้นพุ่ง (2) ผ้าสกูหรือ สาคู เป็นผ้าซิ่นตารางลายหมากรุกหลายสีสลับกัน เป็นตารางสี่เหลี่ยมจตุรัส ถ้าลายตารางขนาดใหญ่ ประมาณ 1เซนติเมตร เรียกว่า สาคูธม (สาคูใหญ่) หากลายตารางขนาดเล็ก เรียกว่า สาคูตูจ (สาคูเล็ก) (3) ผ้าอันปรม คือเป็นผ้ามัดหมี่สองทาง ที่มีการมัดหมี่ทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน เมื่อทอแล้วจะเป็นลายตารางเล็ก ๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสุรินทร์ ส่วนมัดหมี่ลายอื่น ๆ ก็มีทั้งลายหมี่โคม หมี่ลายกนก เช่น พุ่มข้าวบิณฑ์ ลายพระตะบอง ลายพนมเปญ มัดหมี่ลายโบราณ เช่น ลายเวสสันดรชาดก ลายนครวัด-นางรำ (4) ผ้าโฮล คือผ้าที่ย้อมสีด้ายเส้นพุ่ง โดยวิธีมัดหมี่ ให้เป็นลวดลายต่าง ๆ ตามแบบมาตรฐาน ก่อนนำไปทอ เมื่อทอแล้วจะเห็นเป็นลวดลายซับซ้อนแบ่งเป็นตอน ๆ คล้าย "หมี่คั่น" ของชาวไทย-ลาว นั่นคือ มีลวดลายแบ่งตอนเป็นริ้วมัดหมี่ สายโฮล (คล้ายหมี่ใบไผ่) คั่นด้วยริ้วอีกลายหนึ่ง โดยมีเส้นไหมเข้มแบ่งส่วนที่เป็นริ้วชัดเจน (5) ผ้าโสร่ง เป็นผ้านุ่งที่มีลักษณะเป็นสีพื้นมีไหมควบเป็นขอบขาว และทอเป็นตารางเล็กพอประมาณในพื้นที่ทั้งหมด ถ้าเป็นของผู้หญิงเรียกว่า "โสร่งแส็ย" ของผู้ชายเรียกว่า "โสร่งเปราะฮ์" มีลักษณะเป็นตารางใหญ่สีแดงสลับสีเขียว มีริ้วตัดตรงกลางตลอดผืน การทอโสร่งชายจะนำไหมสองสีมาควบกันแล้วนำไปทอ (6) ผ้ากระเนียว หรือกระเนว (หางกระรอก) คือผ้าหางกระรอก เมื่อเป็นผืนผ้าจะเกิดแววเหลือบ จะใช้ด้ายยืนหรือด้ายเครือสีเข้ม ส่วนด้ายพุ่ง จะนำมาควบปั่นเกลียวกับด้ายสีขาว
ปัจจุบันการทอผ้าของชาวขแมร์ลือที่ชุมชนโคกตาลยังสืบสานการทอผ้าโดยเปิดศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวชุมชนและได้กลายเป็นศูนย์ฝึกอบรมอาชีพของคนในชุมชนอีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ ลดการย้ายถิ่น แนะนำแนวทางการประกอบธุรกิจและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นด้วย ซึ่งเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับครอบคัว ศูนย์ฝึกทอผ้าในชุมชนโคกตาลได้รับความช่วยเหลือและพัฒนาจากศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดศรีสะเกษจึงทำให้ภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวขแมร์ลือยังคงได้รับการสืบทอดจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่การแต่งกายของคนในชุมชนในปัจจุบันได้ ผู้หญิงมักจะนุ่งผ้าซิ่นทอด้วยฝ้ายมีเชิงคลุมเลยเข่าไปเล็กน้อย สวมเสื้อแขนสั้น ส่วนผู้ชายไม่ค่อยมีรูปแบบที่แน่นอน แต่มักนุ่งกางเกงมีขาครึ่งน่องหรือกางเกงขายาวและนุ่งโสร่งผ้าไหมเวลาอยู่กับบ้านหรือไปทำบุญที่วัด การแต่งกายแบบสมัยเดิมด้วยผ้าโฮล ผ้าอัมปรม ผ้าอัลลุยซีม ผ้าสาคูนั้นหาได้ยาก เพราะคนในชุมชนเลือกที่จะแต่งการตามธรรมดาด้วยแบบผ้าซิ่นที่ทำขึ้นเองอย่างเรียบง่าย โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ก็ยังแต่งตัวธรรมดาไม่ได้มีความพิถีพิถันอะไรมาก แต่หากจะแต่งแบบโบราณนั้นจะมีการแต่งไปร่วมงานสำคัญของปี เช่น ประเพณีแซนโฎนตา ส่วนวัยหนุ่มสาวจะแต่งกายตามสมัยนิยมเป็นหรือแบบไทยร่วมสมัยอย่างที่พบเห็นในที่อื่น ๆ และผ้าซิ่นสมอ ผ้าซิ่นไหม ผ้าโสร่งเปราะฮ์ ผ้ากระเนียวหรือกระเนว ที่ชาวบ้านในชุมชนได้ร่วมกันทอนั้น จะนำไปขายเป็นสินค้าโอทอปในชุมชนและในเขตอำเภอภูสิงห์ หรือหากมีการจัดงานระดับจังหวัด คนในชุมชนก็จะนำไปขายในงานด้วย เช่น นำสินค้าไปขายงานมหกรรมของดีศรีสะเกษและมหกรรมเศรษฐกิจพอเพียงเชื่อมการค้า การลงทุนเศรษฐกิจชายแดนที่เมืองใหม่ช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ ดังนั้นประเด็นเรื่องการแต่งกายของคนในชุมชนในปัจจุบันได้เลือกที่จะแต่งกายธรรมดามากกว่าที่จะแต่งตัวด้วยผ้าที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่เลือกที่จะนำผ้าที่แบบเขมรดั้งเดิมที่ได้จากการทอในศูนย์ประจำหมู่บ้านไปขายเพื่อหารายได้มาพัฒนาชุมชนและครอบครัว
การสร้างที่อยู่อาศัยนั้น ชาวขแมร์ลือได้สร้างบ้านเรือนธรรมดาเหมือนกับภาคอีสานถิ่นอื่น ๆ คือเป็นบ้านไม้สองชั้นใต้ถุนโล่งเพื่อเลี้ยงสัตว์และเก็บสิ่งของเครื่องใช้ แต่ก็ยังมีความเชื่อดั้งเดิมอยู่นั้นคือการกำหนดทิศทางของตัวเรือน ศรัณยา หล่อมณีนพรัตน์ (2548: 67-68) อธิบายว่า "ลักษณะเรือนเขมรจากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้ว ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา จะเห็นลักษณะบ้านเรือนและชุมชน การใช้วัสดุก่อสร้างใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น แฝก หญ้าคา ไม้ บรรยากาศโดยรอบ เช่น ต้นไม้ การสัตว์เลี้ยง ตัวอาคารที่มีลักษณะโปร่ง เช่น ศาลา ใต้ถุน ซึ่งสอดคล้องกับภูมิอากาศแบบร้อนชื้นเช่นเดียวกับเรือนพื้นถิ่นในภูมิภาคนี้ลักษณะทั่วไปของเรือนเขมรสร้างด้วยไม้ ไม้ไผ่ ใบจากและหญ้าแฝก อาคารยกเสาลอยและมีตอหม้อวางบนดินเพื่อกระจายน้ำหนักลงสู่พื้นดิน การปลูกสร้างบ้านมีผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้แนะนำและทำพิธีกรรม เพื่อกำหนดพื้นที่ในการเลือกที่ตั้งและการจัดวางอาคาร เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย" จะเห็นว่าชาวเขมรมีการสร้างบ้านโดยคำนึงถึงความสอดคล้องระบบธรรมชาติเป็นหลักและลักษณะของตัวบ้านนั้นจะต้องโปร่งเพราะต้องการใช้ประโยชน์แลการอยู่อาศัย ส่วนในแง่ของความเชื่อของการสร้างบ้าน พรรณพฤกษา จะระ (2559: 195) กล่าวว่า "ความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรในประเทศกัมพูชาเชื่อว่าถ้าหน้าเรือนหันทางทิศใต้ บันไดขึ้นลงเรือนไม่ควรหันไปทางทิศตะวันตก ซึ่งสามารถสันนิษฐานขั้นต้นว่า ทิศตะวันตกและทิศตะวันออกถ้าเป็นทางเข้าออกของเรือน อาจทำให้แสงแดดรบกวนสายตา และเมื่อฝนตกน้ำจากชายคาต้องไหลลงด้านนั้นซึ่งระดับชายคาที่เตี้ยจะไม่สะดวกในการเดินผ่าน นอกจากนี้เรือนส่วนใหญ่หันด้านสกัดเป็นด้านหน้าเรือน ซึ่งทั้งสองพื้นที่มีการวางตัวเรือนสอดคล้องกับการวางตามตะวัน การวางในลักษณะนี้จะไม่ทำให้เรือนด้านข้างรับแสงอาทิตย์ตลอดทั้งวัน ทำให้อากาศภายในตัวเรือนร้อน อีกทั้งการระบายอากาศภายในตัวเรือนที่ไม่ดี แต่พบว่ากลุ่มชาติพันธุ์เขมรในประเทศกัมพูชามีความเชื่อมากกว่าในการวางตัวเรือน ซึ่งได้แก่ ห้ามปลูกเรือนตรงบริเวณกึ่งกลางของแปลงที่ดิน ห้ามปลูกเรือนบนเส้นแนวแกนที่ตัดกัน ห้ามปลูกเรือนที่มีถนนชี้ตรงเข้าเรือน ห้ามปลูกเรือนที่วางแนวสันหลังคาขนานกับถนน ห้ามปลูกเรือนหันตรงกับวัด" สำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยของชาวขแมร์ลือชุมชนโคกตาลที่เป็นแบบโบราณตั้งแต่บรรพบุรุษ คือการใช้วัสดุก่อสร้างใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น แฝก หญ้าคา อาคารยกเสาลอยและมีตอหม้อวางบนดินเพื่อกระจายน้ำหนักลงสู่พื้นดินนั้นคงหาได้ยาก เพราะเลือกที่จะสร้างบ้านด้วยไม้เป็นหลัก แต่ยังยึดถือความเชื่อในการสร้างบ้านตามความเชื่อดั้งเดิมนั่นคือ จะสร้างบันไดไว้ทางทิศตะวันออก เพราะเชื่อว่าหากสร้างบันไดไปทางทิศตะวันตกจะไม่เป็นสิริมงคล ดังที่ พระยาอนุมานราชธน (2531: 11, 13) ได้กล่าวว่า "เกี่ยวกับคติเหล่านี้ไว้ว่าคนแต่ก่อนไม่ว่าชาติไรภาษาไร เชื่อกันว่าตะวันตกเป็นทิศไม่ดีเพราะเป็นทางพระอาทิตย์ตกหรือลับดวงไป มีแต่ตกไม่มีขึ้น เท่ากับเป็นทางไปสู่ความตายการหันหน้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไปทางตะวันออก" เป็นคติโบราณ มีอยู่ทั่วไปหลายชาติ เรียกในภาษาอังกฤษว่า Orientation ซึ่งเนื่องมาจากากรถือเคล็ดของคำว่าตะวันออกว่าเป็นทิศที่เป็นสิริมงคล มีแต่จะเจริญรุ่งเรืองอยู่ตลอดไป
โดยลักษณะของบ้านเรือนที่ชุมชนโคกตาล เป็นบ้านไม้สองชั้นใต้ถุนโล่งเพื่อเอาไว้เลี้ยงสัตว์และเก็บสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ส่วนบริเวณรอบบ้านนั้นชาวขแมร์ลือจะปลูกต้นกล้วย ต้นหมาก มะพร้าวเอาไว้จำนวนมาก เพราะเวลามีงานประเพณีในชุมชนคนในครอบครัวจะใช้ผลิตที่ตนปลูกไว้มาทำข้าวต้ม ขนม เพื่อไปร่วมทำบุญโดยไม่ต้องไปหาซื้อที่อื่น สอดคล้องกับคำอธิบายของนิโรธ ศรีมันตะ และนัฎฐิกา นวพันธุ์ (2562:45) ว่า "คติความเชื่อของชาวเขมรถิ่นไทยในบริเวณของเรือนและกลุ่มเรือนพื้นถิ่นในชุมชนนิยมปลูกต้นไม้ที่นอกจากจะใช้ประโยชน์ในชีวิตประจาวันแล้วยังใช้ในพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ การจัดพันธุ์ไม้ในบริเวณบ้านเรือนของชาวเขมรถิ่นไทยที่สำคัญ ได้แก่ การปลูกกล้วย หมาก และมะพร้าว ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่ใช้ประโยชน์ในพิธีแซนโฎนตาซึ่งเป็นพิธีเคารพบูชาผีบรรพบุรุษ เช่น การทำขนมข้าวต้มมัดห่อด้วยใบมะพร้าวหรือห่อด้วยใบข่า จากการสัมภาษณ์ยังพบว่ามีการประกวดแข่งขันการทำข้าวต้มมัดในงานพิธี แซนโฎนตาอีกด้วย หรือมีการใช้หมากในเครื่องเซ่นไหว้ การทำกระทงจากใบกล้วย เป็นต้น พันธุ์ไม้สำคัญเหล่านี้นิยมปลูกไว้ตามแนวรั้วของบ้านหรือสำหรับครอบครัวที่มีขนาดที่ดินกว้างก็จะปลูกเป็นกลุ่มพันธุ์ไม้ในบริเวณหลังบ้านและรอบ ๆ ตัวเรือน ส่งผลให้เป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชนของชาวเขมรถิ่นไทย" เพราะฉะนั้นจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์จะเห็นว่านอกจากการสร้างบ้านเรือนตามคติความเชื่อของคนเขมรแล้ว บริเวณรอบบ้านก็สำคัญเช่นกัน ขณะที่สภาพปัจจุบันแง่ของความเชื่อการสร้างบ้าน โดยเฉพาะการวางผังหรือทิศทางก็ยังเชื่อตามคติดั้งเดิม แต่ลักษณะของตัวบ้านนั้นก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเพราะอิทธิพลของบ้านสมัยใหม่นั้นได้เข้ามาแทนที่ของบ้านสมัยดั้งเดิม โดยเฉพาะเมื่อชาวบ้านมีรายได้มากขึ้นจากทำการเกษตรและรายได้จากการที่บุตรหลานไปทำงานในกรุงเทพฯ ก็ส่งเงินมาให้ทางบ้านจากนั้นก็หันมาทำบ้านปูนแบบชั้นเดียวซึ่งการทำบ้านปูนแบบชั้นเดียวชาวบ้านเล่าได้เป็นบ้านที่เรียบง่ายและราคาก็ไม่แพงเหมือนบ้านไม้ ส่วนบ้านสมัยเก่าก็ยังหลงเหลืออยู่บ้าง
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลพบว่า ชาวขแมร์ลือชุมชนโคกตาลให้ความสนใจในการสร้างบ้านสมัยเป็นจำนวนมาก เพราะมีแนวความคิดว่า บ้านสมัยใหม่ที่เป็นบ้านโมเดิร์นชั้นเดียว มีขนาดเล็ก สวย ที่สำคัญคือไม่แพงเหมือนบ้านที่ทำด้วยไม้ การเข้าอยู่อาศัยก็สะดวกสบายกว่าบ้านไม้สมัยเดิม เช่น คนแก่คนเฒ่าไม่ต้องเดินขึ้นบันไดภายในตัวบ้านเพื่อไปนอนชั้นสองก็จะปลอดภัยมากขึ้น และน่าสนใจคือความนิยมบ้านแบบโมเดิร์นชั้นเดียวของคนในชุมชนโคกตาลกำลังได้รับความนิยมและมีทิศทางของความต้องการที่จะสร้างบ้านรูปแบบนี้มากขึ้น ซึ่งในแต่ละปีชาวบ้านจะนำเงินจากการทำเกษตรและรายได้อื่น ๆ ที่หามาได้มาสร้างบ้านสมัยใหม่แทนหลังเดิมที่เป็นบ้านไม้
ชุมชนโคกตาลมีอาหารพื้นถิ่นแบบเขมรและอาหารไทย การดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้านยึดหลักความพอเพียงเป็นหลัก โดยมีอาชีพทำพืชสวน ไร่นา ใช้ผักที่ปลูกตามบ้านเรือนประกอบอาหาร ประกอบอาชีพตามความเหมาะและตามสภาพที่อยู่อาศัยอาหารของคนในชุมชนก็เป็นอาหารแบบบ้านๆ ที่ชาวบ้านหามาได้แล้วทำกินในครอบครัว ชาวบ้านจะทานข้าวเจ้าเป็นหลัก ส่วนข้าวเหนียวนั้นมีน้อย สำหรับกับข้าวนั้น เช่น แกงขี้เหล็กกะทิ เป็นอาหารที่ชาวบ้านนิยมทำกินแทบทุกครัวเรือน ณรงค์ฤทธิ์ สุขสวัสดิ์ (2557: 101) กล่าวว่า ชาวไทยเขมรจะกินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก มีกินข้าวเหนียวบ้างก็บางโอกาส อาหารที่เป็นกับข้าวของชาวไทยเขมรจะเป็นอาหารที่สามารถหาวัตถุดิบในการปรุงได้จากบริเวณรอบชุมชนที่อยู่อาศัย เช่น ในหนองน้ำหรือป่าเขา วัตถุดิบหลักจึงเป็นผัก เนื้อสัตว์ประเภทปลาและสัตว์ป่า อาหารของชาวไทยเขมรนอกจากปรุงขึ้นเพื่อใช้รับประทานในครอบครัวแล้วยังมีการปรุงอาหารขึ้นเพื่อใช้ในประกอบการเซ่นไหว้ในพิธีกรรมต่างๆ อาหารประเภทน้ำพริก หรือเรียกเป็นภาษาเขมรว่า "ป๊ะโม๊ะ" เป็นอาหารหลักของชาวไทยเขมร ด้วยเหตุที่ว่าชุมชนโดยส่วนมากจะตั้งอยู่ติดกับแหล่งน้ำและป่าเขา จึงสามารถที่หาผักชนิดต่าง ๆ มาเป็นเครื่องเคียงกับน้ำพริกได้โดยง่าย น้ำพริกจึงเป็นกับข้าวที่เป็นที่นิยมของชาวไทยเขมร ตัวอย่างเช่น น้ำพริกมะเขือส้ม (มะเขือเทศราชินี หรือมะเขือเทศเชอรี่) (ป๊ะโม๊ะ มะเป๊าะ) เป็นน้ำพริกที่มีไว้รับประทานกับผักต่าง ๆ เครื่องปรุงประกอบด้วย กะปิ เกลือหรือน้ำปลา ต้นหอมซอย พริกขี้หนูสดหรือพริกแห้ง กระเทียม มะนาว มะเขือส้ม เนื้อ ปลา (ย่างหรือเผา)
วิธีการปรุง เริ่มจากน้ำกระเทียมมาปอกเปลือก ให้มีปริมาณใกล้เคียงกับจำนวนกะปิ (ใช้วิธีคะเนจากปริมาณไม่ใช่น้ำหนัก) น้ำกระเทียมกับกะปิลงโขลกในครก โดยโขลกให้กระเทียมและกะปิเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นยกสากขึ้นมาดมเพื่อสังเกตกลิ่นกระเทียมกับกลิ่นกะปิ (ต้องให้กลิ่นกระเทียมมากกว่ากลิ่นกะปิ) จากนั้นน้ำพริกขี้หนูสดพอประมาณ ลงโขลกในครกพอแหลก ฉีกเนื้อปลาลงใส่ครกและโขลกต่อจนเนื้อปลาละเอียด
นำมะเขือส้มใส่โขลกพอแหลก ปรุงรสด้วยน้ำปลาหรือเกลือ (ชาวไทยเขมรจะไม่นิยมปรุงรสให้มีรสหวาน) คลุกเคล้าให้เข้ากันกับน้ำพริก ตักใส่ภาชนะ น้ำต้นหอมซอยโรยหน้า นอกจากนี้กับข้าวที่ชาวขแมร์ลือชุมชนบ้านโคกตาลให้ความนิยมอย่างมาก และถือได้ว่าเป็นอาหารที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์คือ แกงขี้เหล็กใส่กะทิ ชาวบ้านจะเก็บจากไร่นาหรือตามรั้วในที่ต่างๆ การแกงขี้เหล็กนั้นจะให้อร่อยกว่าภาคอีสานแถบอื่น ๆ ชาวบ้านเล่าว่าต้องแกงใส่ขี้เหล็ก หากไม่ใส่แล้วจะไม่รับประทานเพราะว่ามีรสขม
อาหารของชุมชนโคกตาลยังมีแกงบอนใส่มดแดง น้ำพริกจิ้งหรีด ซึ่งชาวขแมร์ลือบ้านโคกตาลเรียกว่า (โบ๊ะกรึงจังแร๊ด) โดยมีส่วนประกอบ 1.จิ้งหรีด 2.พริก 3.หอมแดง 4.ชูรส 5.เกลือ และชาวขแมร์ลือยังถือว่า (โบ๊ะกรึงจังแร๊ด) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ที่ครัวเรือนต้องทำกินในแต่ละมื้อ ดังนั้นการทำน้ำพริกในครัวเรือนของชาวขแมร์ลือชุมชนโคกตาลสอดคล้องกับข้อมูลจากบทความของ ทวีศักดิ์ แสวงสายและฤดีมาศ แสวงสาย, (2560:1) ที่ได้กล่าวว่า "ภูมิปัญญาอาหารชาติพันธุ์เพื่อสุขภาพของชาวไทยเขมรในเขตอีสานใต้มักจะจัดสำรับอาหารเพียง 1-2 อย่าง มักจะมีน้ำพริกเป็นเมนูประจำเกือบทุกมื้ออาหาร โดยการรับประทานกับผักเครื่องเคียงชนิดต่างๆ ตามฤดูกาล" นอกจากนี้ยังมีอาหารที่ทำขึ้นในงานอวมงคลที่ต้องทำโดยเฉพาะคือ แกงเนื้อหมูใส่ขนุน โดยชาวบ้านจะทำขึ้นในงานศพเท่านั้น อนึ่งเรื่องอาหารของคนในชุมชน ชาวบ้านมีการหาของป่ามาขาย เช่น หน่อไม้ และทำอาหารมาขายที่ตลาดหน้าชุมชน จึงทำให้บรรยากาศของการซื้อขายอาหารช่วงเย็นเป็นไปอย่างคึกคักทั้งคนในชุมชนและผู้คนที่เดินทางผ่าน
สมัยก่อนชาวขแมร์ลือชุมชนโคกตาลมีวิธีการคลอดบุตร โดยใช้หมอตำแยซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านช่วยทำคลอด แต่ปัจจุบันความเจริญด้านการแพทย์เข้าไปถึงชุมชน การคลอดบุตรของชาวขแมร์ลือมีความเชื่อว่า เมื่อเด็กคลอดออกมาจะมีกรูกำเนิด หรือเรียกว่า ครูที่มีมาพร้อมกับการเกิด ซึ่งชาวบ้านในชุมชนได้ทำพิธีกรูกำเนิดมาตั้งแต่บรรพบุรุษของตน ข้อมูลจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อเรื่องการเกิดของชาวเขมรว่า ชาวเขมรเชื่อว่าคนทุกคนที่เกิดมามีเทพเจ้าองค์หนึ่ง ที่เรียกชื่อว่า "ครู" ตามมารักษา ดังนั้นทันทีที่ทารกคลอดออกมา พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายจะทำ จวมกรูกำเนิด ต้อนรับทันที กรูกำเนิดนี้ เวลาที่เขา "โจลมะม๊วด" ครูจะเข้าประทับทรงและจะแสดงอากัปกิริยาผ่านคนทรงนั้นต่างกันไปตามนิสัยของแต่ละคน แม้ว่าคนทรงจะเป็นเพศหญิงแต่เมื่อครูกำเนิดผู้ชายเข้าทรงแล้ว ก็จะหาเสื้อผ้าผู้ชายมาสวมใส่หรือบางคนที่มีนิสัยชอบนุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว คนทรงก็จะเอาผ้าขาวม้ามานุ่ง โดยนุ่งทับเสื้อผ้าเดิมที่คนทรงนุ่งอยู่ และถ้าคนที่เป็นเจ้าของครูกำเนิดนั้น มีนิสัยพูดจาโผงผาง คนทรงก็จะพูดโผงผางเช่นกัน ถ้าชอบสูบบุหรี่ คนทรงก็จะสูบบุหรี่ เช่นเจ้าของกรูกำเนิดชอบทำ และถ้าใจกว้างชอบดื่มสุราเฮฮาก็จะหาสุรามาดื่ม โดยรินแจกญาติมิตรที่มาอยู่ในพิธีนั้น หรือถ้าคนที่เป็นเจ้าของครูกำเนิดเป็นคนเรียบร้อย เวลาเข้าทรงมาแล้ว ก็จะแสดงนิสัยเรียบร้อย และอีกแบบหนึ่งก็มีการร้องไห้ คืนคนทรงจะร้องไห้ บอกว่ามีความทุกข์ใจ เพราะยากจน ทำมาหากินฝืดเคืองในกรณีที่เจ้าของครูกำเนิดนั้นมีความทุกข์ใจ หรือบางรายก็มีการตัดพ้อต่อว่าลูกหลานที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ในกรณีที่มีการทะเลาะเบาะแว้งกันในหมู่ญาติพี่น้อง เหล่านี้เป็นต้น
ครูกำเนิดนี้ เวลาเข้าทรงมาในพิธีโจลมะม๊วดแล้ว ก็จะบอกว่าอยากได้ "จวมมะม๊วด" เพราะตัวเองตอนเกิดมาเป็น กรูสนมสังวาล ปะเจิดระมูล (สะดือรูปบิดเป็นเกลียว) หรืออะไรก็ตาม ซึ่งตัวเจ้าของครูกำเนิด ก็ต้องจัดทำจวมกรูมะม๊วดนั้น สักการบูชาตามแต่กรณี ดังนี้
1. ทารกที่เกิดมาแล้วมีสายรกพันตัว ดุจสวมสังวาลเรียกว่า กรูสังวาล
2. ทารกที่เกิดมามีสายรกครอบศีรษะดังสวมหมวก เรียกว่า กรูสนม
3. ในกรณีทารกบางคนที่มีทั้งแบบสวมหมวกและคล้องสังวาล เรียกว่า กรูสนมสังวาล
4. ทารกที่สายสะดือบิดเป็นเกลียว เรียกว่า กรูปะเจิดระมูล
5. ชาวเขมร-ส่วยเชื่อว่า คนใดที่เกิดมามีทั้งสามอย่างคือ สนม สังวาล และปะเจิดระมูล จะเรียนวิชาอาคมแล้วขลังยิ่งนัก ถ้าปฏิบัติผิดต่อครูจะต้องเป็นบ้า และถ้าเป็นบ้าแล้วรักษาไม่หาย เชื่อกันว่า คนที่เกิดมามีลักษณะดังนั้นเป็นพวกเทพเจ้าที่มีศักดิ์สูง มีบุญฤทธิ์ติดตัวมาพร้อม ส่วนคนที่มีเพียงสองอย่างคือ สนมกับสังวาล ก็เรียนเวทมนตร์ของขลังรองลงมา และคนที่มีเพียงอย่างเดียว เช่น มีสังวาลอย่างเดียว ก็เรียนเวทมนตร์ขลังรองลงมาอีก และคนที่ไม่มีอะไรสักอย่างเรียนเวทมนต์ไม่ขลัง
6. คนที่มีครูสังวาล จะมีจวมมะม๊วด แบบใช้ด้ายพันจวมเท่านั้น
7. คนที่มีครูสนม จะมีจวมที่ต้องทำหมวกสีแดงครอบบนจวมด้วย
8. คนที่มีครูปะเจิดระมูล ต้องมีเทียนที่บิดเป็นเกลียวไว้ในจวมด้วย ในจวมมะม๊วดนี้ จะต้องมีเทียนใส่ด้วยเสมอ และเทียนนั้นมีแบบแตกต่างกันออกไปดังนี้
1. ตีนสแนบ (เทียนง่า) คือใช้เทียนสองเล่มบิดพันกันเป็นรูปสามง่าม อันเป็นอาวุธของเทพแบบหนึ่ง
2. ตีนกำเพลิง (เทียนกลม) คือเป็นเทียนทรงกลม แต่มีด้ามยื่นออกมา มีไส้เทียนเช่นกัน คล้ายอาวุธคทาของเทพแบบหนึ่ง
3. ตีนระมูล (เทียนบิด) คือบิดขี้ผึ้งให้เป็นเกลียว คล้ายอาวุธกระบองยักษ์
4. ตีนลิ่ว (เทียนไขธรรมดา) สำหรับคนที่ไม่ใช่กรูสนมสังวาล
ความเชื่อในกรูกำเนิดนี้ ทำให้คนเขมรถือว่าศีรษะเป็นสิ่งสูงเท้าเป็นสิ่งต่ำ เนื่องจากครูจะสถิตรักษาอยู่ที่ศีรษะดังนั้นห้ามเอามือจับศีรษะ ห้ามเอาเท้าถูกศีรษะ เพราะครูจะโกรธที่เรียกว่า ผิดครู ซึ่งถ้าผิดครูแล้ว จะเกิดอาการปวดศีรษะ ปวดตา ซึมเศร้า บางคนที่ครูฤทธิ์แรง ถึงกับเป็นบ้าไปก็มี และในที่นอนของเขา หมอนของเขาก็ใช้หนุนเฉพาะศีรษะเท่านั้น จะเอาหมอนของเขาหนุนเท้าไม่ได้ หรือถ้าเป็นหมอนของคนอื่นที่ไปใช้รองนั่ง หรือหนุนเท้าแล้ว เอามาหนุนศีรษะนอนก็ไม่ได้ ผิดครู และบรรดาผ้าถุง ผ้านุ่งต่าง ๆ ก็ห้ามไปแขวนไว้บนหัวนอน
ครูกำเนิดนี้ ทำหน้าที่ประดุจทหาร คอยให้ความคุ้มครองป้องกันตัวเจ้าของ ไม่ให้ภูตผีปิศาจต่าง ๆ มาทำร้ายแต่ว่าถ้าเจ้าของละเลยไม่ปฏิบัติให้เป็นที่พอใจของครูกำเนิดแล้วจะถูกครูกำเนิดทำร้าย คือครูทำเอง หรือไม่ก็เปิดโอกาสให้ภูตผีอื่นมาทำร้ายได้ อย่างไรก็ตามแม้ปฏิบัติไม่ผิดเลย แต่เมื่อภูตผีปิศาจที่จะมาทำร้ายนั้นมีฤทธิ์แรงกว่า ครูกำเนิดก็แพ้เขาเขาก็มาทำร้ายได้เช่นกัน
พิธีการแต่งงานหรือชาวเขมรเรียกว่า "แซนการ์" จะจัดขึ้น ตั้งแต่เดือนแคปะกุลถึงเดือนแคเจต (เดือนกุมภาพันธ์ - เดือนเมษายน) การเตรียมงานในสมัยเมื่อ 20 - 30 กว่าปีก่อน ถือเป็นงานพิธีที่ยุ่งยากและพิถีพิถันอย่างมากเตรียมงานกันข้ามปีกว่าจะได้แต่งงานแม้ปัจจุบันขั้นตอนบางอย่างอาจจะหายไปบ้างแต่รูปแบบทางวัฒนธรรม การแต่งงานของคนไทยเขมรก็ยังดำเนินไปตามขนบธรรมเนียมที่ยังคงมีอยู่ให้ควบคู่กับวิถีชนบทแห่งวัฒนธรรมชาวไทยเขมรเรื่อย ๆ ต่อไป สุวรรณี ศรีสิงห์ (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "ตนเองแต่งงานเมื่ออายุ 25 ปี การแต่งงานมีการจัดงาน 2-3 วัน โดยแบ่งเป็นวันรวมญาติพี่น้อง หรือวันสุกดิบ วันแต่ง และวันส่งตัว เป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของทุกคนเพราะเป็นวันแห่งการสร้างสถาบันครอบครัวในอดีต" จากการสอบถามชาวบ้านการเลือกคู่ในอดีตพ่อกับแม่มีอำนาจในการเลือกคู่ให้กับบุตรของตนเอง แต่ปัจจุบันหนุ่มสาวมีอิสระในการเลือกคู่ เมื่อตกลงกันแล้วพ่อแม่ฝ่ายชายก็จะมาเยี่ยมเยียน และมาขอหมั้น (ซูร์) โดยมีเถ้าแก่เป็นคนกลาง เริ่มด้วยการทาบทาม ด้วยเหล้า 1 ขวด หมากพลู 1 พาน เทียน 1 คู่ ฝ่ายหญิงจะเรียกค่าสินสอดตามแต่จะพอใจ ถ้าตกลงก็จะนัดวันแต่งงานซึ่งจะรูปแบบการแต่งงานของชาวเขมรดังเดิมมีดังนี้
1. บายศรี หรือ บายแสร็ย พร้อมเครื่องบริวาร
2. ปะรำพิธี มีเสากลางตกแต่งด้วยต้นกล้วย สำหรับเซ่นสรวงเทพ
3. บอนเจาะกราบ (ฟูกนั่งสำหรับบ่าวสาว) บนฟูกวางหมอนหันไปทาง "ปะต็วล" วางเครื่องบริวารที่เตรียมไว้โดยรอบ เช่น พาน ผ้าไหม เงิน หมากพลู กรวย ดอกไม้ ขันข้าวขวัญ
4. การแห่ขันหมาก มีมโหรีนำหน้าขบวน แห่พานบายศรี เครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษพร้อมบริวาร
5. การเข้าสู่ปะรำพิธี ฝ่ายหญิงจะมารับ นำเข้าสู่ปะรำพิธี
6. เบิกตัวเจ้าสาว เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เจ้าสาวจะออกมามอบหมากพลูให้เจ้าบ่าว
7. จากนั้นเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะมอบ "เฮ็บ" และ "ท็อง" คือ พานหมากพลู พ่อแม่เจ้าสาวก็จะแก้ห่อผ้าออกหยิบกิน เป็นการยอมรับ
8. เจาะกราบ บ่าวสาวลงนั่งบนฟูก กราบอาจารย์ แล้ววางมือคว่ำลงบนเต้าปูนเหนือหมอน เจ้าบ่าววางทับบนหลังมือเจ้าสาว
9. การเซ่นผี อาจารย์เป็นผู้ทำพิธีจุดเทียน เชิญผีบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่น ผู้เฒ่าจะมารินน้ำรินเหล้าใส่เครื่องเซ่นแล้วยกออกไป
10. การเรียกขวัญ อาจารย์จะสวดให้พร แล้วหยิบด้ายมงคลมาปั่นบนหลังมือแล้วปัดรังควานออกจากตัว โยนด้ายทิ้ง หลังจากนั้นอาจารย์จะบอกให้บ่าวสาวหงายมือขึ้น ครั้งนี้มือเจ้าบ่าวจะอยู่ล่าง ญาติพี่น้องจะเข้ามาใช้มือรองรับศอกเจ้าบ่าวไว้ อาจารย์จะใช้ด้ายมงคลปั่นข้อมือบ่าวสาว โดยหันเข้าหาตัว 19 ครั้ง ผู้ร่วมงานจะร้องแซ่ซ้องพร้อมกันว่า "โม เยอ" พอเสร็จอาจารย์จะยืนขึ้นเซ่นสรวงเทวดาบนปะต็วล ทุกคนจะร้องรับ "เจ ยอง เจ เป็ง ยอง เป็ง" อาจารย์จะหยิบอาหาร เครื่องเซ่นมาป้อนบ่าวสาวคนละคำ จากนั้นแขกเหรื่อก็เข้ามาผูกข้อมือ อวยชัยให้พร ให้เงินของขวัญ แล้วจึงกินเลี้ยงกัน
11. ส่งตัวเจ้าสาว เจ้าสาวหาบน้ำ เจ้าบ่าวแบกฟืน หางขบวนช่วยกันแบกฟูก หมอนและผ้าไหว้ พาแห่ไปบ้านเจ้าบ่าว มอบหมากพลูขอทางผ่าน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะรับน้ำและฟืนไป เจ้าบ่าวเกี่ยวก้อยเจ้าสาวขึ้นเรือน
12. การขึ้นเรือน ญาติฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นมาล้างเท้าให้คู่บ่าวสาวก่อน แล้วให้เหยียบบนกระเชอใส่ข้าวเปลือก เหล้า ผ้าขาว และขวาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองเป็นสุข พอขึ้นเรือนแล้ว ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นและหม้อข้าวเก่ามาให้เจ้าสาวล้างก้นหม้อ แสดงความยินยอมพร้อมใจจะเป็นแม่ศรีเรือน แล้วมอบฟูกหมอนให้พ่อแม่เจ้าบ่าว
13. การอาบน้ำให้พ่อแม่ฝ่ายชาย ต้องจุดเทียนกราบพ่อแม่ก่อน แล้วนำน้ำที่เจ้าสาวหาบมาจากบ้านมาอาบให้พ่อแม่ แล้วมอบผ้าสมมาให้ผลัดเปลี่ยนนุ่งห่มใหม่
14. ไหว้และมอบผ้าสมมาให้ญาติเจ้าบ่าว ซึ่งจะได้รับเงินของขวัญตอบแทนจนคุ้มราคา
15. ไหว้เจ้าบ่าว (พละกันเลาะ) เจ้าสาวไหว้ด้วยโสร่ง เสื้อขาวคอกลม พร้อมสไบสองผืน เจ้าบ่าวจะมอบของขวัญให้เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ เจ้าสาวจัดขนม ผลไม้ น้ำ เหล้าให้กิน
หลังจากนั้นการเสี่ยงทาย มีสำรับอาหารตั้งไว้ให้บ่าวสาวตักป้อนกันและกัน ใครตักข้าวก่อนตักกับข้าว แสดงว่ารู้จักอดออม ประหยัด ใครตักกับก่อนแสดงว่าฟุ่มเฟือย ญาติจะเตือนฝ่ายหญิงให้รู้จักอดออมให้มาก
จะเห็นว่ารูปแบบการแต่งของคนในชุมชนสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการแต่งงานจะต้องมีการบวงสรวงเทพ ผีบรรพบุรุษซึ่งเป็นความเชื่อที่ถูกสั่งสมมาอย่างยาวนาน แต่รูปแบบการแต่งงานของคนในชุมชนได้เปลี่ยนไปจากเดิมอยู่บ้าง เพราะได้รับเอารูปแบบการแต่งงานแบบภาคอีสาน คือการนำเอาศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ถ้าคนที่มีฐานะก็จะมีการนิมนต์พระไปเจริญพุทธมนต์ในตอนเช้าเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ถ้าคนที่มีฐานะยากจนก็จะไม่นิมนต์พระมาสวดให้ แต่สิ่งที่ยังทำกันมาตลอด คือ เมื่อเข้าพิธีแต่งงานจะมีการสู่ขวัญแบบชนเผ่าเขมร และการเสี่ยงทายไข่ไก่ คางไก่นึ่ง สวมมงคลคู่ ผู้แขนเพื่อเรียกรับขวัญเจ้าบ่าว เจ้าสาว และเจ้าสาวมอบผ้าซิ่นให้กับเจ้าบ่าว การแต่งงานของคนเขมรในปัจจุบันเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม
สุวรรณี ศรีสิงห์ (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "รูปแบบ การแต่งงานของคนในชุมชนก็ถือเอาตามประเพณีเขมรซึ่งการเตรียมงานในอดีต พ่อกับแม่ของตนเล่าให้ฟังว่า เป็นพิธีที่ยุ่งยากเต็มไปด้วยพิธีต่าง ๆ แต่ปัจจุบันขั้นตอนบางอย่างลงลดเนื่องจากถือเอาการแต่งงานแบบตามประเพณีของวัฒนธรรมอีสานซึ่งไม่มีมีความยุ่งยาก และหลังจากที่แต่งงานแล้วได้เข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ ได้ 3 ปี ก็พาสามีเดินทางกลับมาที่บ้านและเปิดร้านขายอาหารที่บ้าน" ปัจจุบันสุวรรณี ศรีสิงห์ สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวโดยไม่ต้องเข้าไปรับจ้างหางานทำในกรุงเทพฯ อีก
ดังนั้นจะเห็นว่ารูปแบบ การแต่งงานของคนในชุมชนได้ปรับเปลี่ยนตามบริบทของสังคมแต่ก็ยังคงรักษารูปแบบบางอย่างเอาไว้ตามประเพณีการแต่งงานดั้งเดิมของตนเองที่เคยปฏิบัติมา เมื่อแต่งงานแล้วเจ้าบ่าวมาอยู่บ้านฝ่ายหญิง
ประเพณีที่เกี่ยวกับการตายและการทำศพคนในชุมชนมีความเชื่อว่า จะไม่เผาอังคาร และจะไม่เผาศพในวันศุกร์ ตามความเชื่อของคนในชุมชนที่ว่า "ทุกข์คนตายแต่สุขคนเป็น" โดยมีการให้หมายความว่า วันอื่น ๆ สามารถเผาได้หมด แต่ไม่สามารถเผาศพในวันอังคารและวันศุกร์ได้รวมถึงวันพระ ตามคติความเชื่อที่สืบทอดกันมาเพราะถือว่าวันเหล่านี้เป็นวันดีหรือเป็นวันมงคล และการตายและการทำศพจะทำตามรูปแบบของศาสนาพุทธ
ชุมชนโคกตาลมีประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หรือประเพณีแซนโฎนตา ซึ่งจัดขึ้นในวัน ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุก ๆ ปี ชุมชนชาวขแมร์ลือจะประกอบพิธีกรรมการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยมีการทำเครื่องเซ่นไหว้ ข้าวต้มแบบโบราณ ที่นำใบมะพร้าวมาห่อข้าวเหนียว คลุกเคล้าด้วย น้ำตาล เกลือเล็กน้อย กล้วยน้ำว้าสุก เมล็ดถั่วดำ เมล็ดถั่วแดง งา นำห่อด้วยใบมะพร้าว นำมาต้มให้สุก แล้วนำเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
สิน รัตนพันธ์ (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "ประเพณีแซนโฎนตาเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จะต้องทำพิธีขึ้นเพื่อบูชาบรรพบุรุษของตนเอง ปัจจุบันมีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ที่อำเภอขุขันธ์ หลังจากจัดงานแล้วทางครอบครัวก็จะมาทำพิธีต่อที่บ้านของตนเองอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ เอาไว้ เมื่อถึงตอนเช้าทุกคนในครอบครัวก็จะมาพร้อมหน้ากันทำพิธีเรียกบรรพบุรุษของตนเองลงกินของที่เตรียมเอาไว้"
ข้อมูลจากงานวิจัยของสารภี ขาวดี (2559:133) พบว่า "ชาวไทยเชื้อสายเขมร เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการนับถือ "ผีบรรพบุรุษ" หรือ "โฎน ตา” หมายถึง ผีปู่ย่าตายาย และบุพการีที่เสียชีวิตไปแล้วอย่างเหนียวแน่น และถือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันยังคงมีการเซ่นไหว้เพื่อบอกกล่าวผีบรรพบุรุษเมื่อมีเด็กเกิดใหม่งานบวช งานแต่งงาน หรือ เวลาประสบโชคดีในชีวิต เพื่อให้ดวงวิญญาณได้ร่วมรับรู้และแสดงความยินดี แต่ถ้าหากมีสมาชิกในครอบครัวประสบเคราะห์กรรม ป่วยไข้ไร้สาเหตุ ก็ต้องมีพิธีเซ่นไหว้ขอขมา หรือขอพรให้ดวงวิญญาณช่วยปกป้องคุ้มครอง เชื่อว่าเรื่องร้ายจะกลายเป็นดีได้"
ประเพณีแซนโฎนตา จึงเป็นประเพณีที่คนในชุมชนให้ความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นการบูชาและแทนคุณของบรรพบุรุษของตนเองที่ล่วงลับไปแล้ว และสถานที่ทำพิธีแซนโฎนตาจะจัดทำบุญที่วัด (ทำบุญถวายจังหันพระสงฆ์) และนำอาหารเครื่องเซ่นมาเซ่นวิญญาณบรรพบุรุษที่ในเรือนบ้านของเจ้าพิธีที่จัดไว้หรือที่ศาลโดนตา คือศาลผีปู่ตา ซึ่งเป็นศาลที่อยู่ของวิญญาณบรรพบุรุษ
การจัดเตรียมการเซ่นไหว้ดังนี้ 1.ข้าวต้ม ข้าวสุก กล้วย อ้อย เหล้า อาหารคาว และพวกแกงต่าง ๆ 2.ขนมหวานต่าง ๆ เช่น ขนมชั้น ขนมกง ทองหยิบ ฝอยทอง เป็นต้น 3.หมากพลู ยาสูบ หรือบุหรี่ 4.กระเชอ 1 สำรับ หรือภาชนะอย่างอื่น 5.ธูป 1 ดอก เทียน 1 เล่ม 6.บายเบ็น บายข้าว บายเบ็นทำจากข้าวเหนียวที่สุกแล้วผสมกับงาคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วปั้นเป็นก้อน ๆ วางบนถาด หรือจาน 7.เงิน 8.ใบตอง 9.จาน หรือถาด 10.เรือ หรือกระทงที่ทำจากกาบกล้วยหรือกาบหมากก็ได้ 11.อาจมีกระดูกของผู้ล่วงลับไปแล้วใส่โกศมาวางร่วม 12.อื่น ๆ แล้วแต่บางหมู่บ้านอาจมีสิ่งของใช้ต่าง ๆ กันไป
คนในชุมชนนอกจากจะจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ในที่ชุมชนของตนแล้ว ยังได้จัดเตรียมเครื่องไหว้ไปในงานประเพณีแซนโฎนตาที่จัดขึ้นในอำเภอขุขันธ์อย่างยิ่งใหญ่ตลอดทั้งวัน ซึ่งจะเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ขแมร์ลือได้ถือโอกาสตอบแทนและแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของตนเองด้วยการนำของคาวหวานมาเซ่นไหว้
การไปร่วมงานประเพณีแซนโฎนที่อำเภอขุขันธ์นั้น ชาวบ้านจะไปร่วมงานตั้งแต่เช้าเพราะมีการจัดงานทั้งวัน ในตอนเช้านั้นจะมีขบวนแห่ของหมู่บ้านต่าง ๆ พอในตอนค่ำก็จะจัดพิธีบูชาบรรพบุรุษของตนเองร่วมกัน ดังนั้นประเพณีแซนโฎนตา จึงเป็นประเพณีที่คนในชุมชนให้ความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นการบูชาและแทนคุณของบรรพบุรุษของตนเองที่ล่วงลับไปแล้ว
ประเพณีรำบวงสรวงเจ้าพ่อสิงห์คู่ที่วัดโคกตาล สืบเนื่องมากจากการที่ชาวบ้านได้เข้าไปทำไร่ที่เนินเขา แล้วเข้าไปพบรูปปั้นสิงห์คู่โบราณจึงนำมาไว้ที่วัดโคกตาล จากนั้นต่างก็เชื่อว่ามีอำนาจปกปักรักษาวัดวาอารามและผู้คนภายในชุมชน ชาวบ้านจึงร่วมกันจัดพิธีกรรมรำบวงสรวงขึ้น พระครูสิทธิธรรมญาน (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "รูปปั้นสิงห์คู่วัดโคกตาลเป็นสัญลักษณ์เดียวที่เป็นของล้ำค่าและตกทอดมาจากบรรพบุรุษของตนเองอีกทั้งยังเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ให้ความเคารพยำเกรง ดังนั้นชาวบ้านจึงได้ร่วมกันจัดประเพณีแห่รูปปั้นและรำบวงสรวงเจ้าพ่อสิงห์คู่ประจำปีขึ้นเพื่อแสดงให้สังคมได้รับรู้ร่วมกัน รูปปั้นสิงห์คู่เป็นเอกลักษณ์ทางวัตถุที่มีความสำคัญต่อผู้คนในชุมชนในฐานะของศักดิ์สิทธิ์และล้ำค่าของชุมชน"
พิธีกรรมรำบวงสรวงเจ้าพ่อสิงห์ทางเจ้าอาวาสวัดโคกตาลเล่าว่าเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 จากการร่วมมือร่วมใจกันประกอบพิธีขึ้นของคนในชุมชนที่ต้องการให้เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง โดยมีคนหนุ่มสาวที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรม ทั้งนางรำทั้งผู้ชายและผู้หญิงเพื่อร่วมกันสร้างประเพณีพิธีกรรมในท้องถิ่นของตนเอง
หากมองในแง่ของปัจจัยที่ทำให้เกิดการรำบวงสรวงขึ้นนั้น อาจเกิดจากการที่ชาวบ้านที่ไปบนบานขอพรได้ประสบความสำเร็จ เช่น การขอให้บุตรของตนเองสอบเข้ารับราชการได้ ซึ่งผู้คนที่บนบานและขอพรนั้น เจ้าอาวาสได้ให้รายละเอียดว่า "เป็นคนในอำเภอภูสิงห์และที่มาจากพื้นที่ต่างๆ ความสำเร็จดังกล่าวได้เกิดการเล่าลือถึงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ จนทางวัดและชาวบ้านได้ร่วมกันจัดพิธีบวงสรวงขึ้นเพื่อเป็นเป็นการบูชาและตอบแทนคุณของเจ้าพ่อสิงห์คู่ฎ
ประเพณีสงกรานต์ ถือว่าเป็นประเพณีปีใหม่ของคนในชุมชน ทุกคนจะไปร่วมทำบุญที่วัดบ้านโคกตาลที่สำคัญคือประเพณีสงกรานต์ของหมู่บ้านได้กลายเป็นประเพณีที่ผสมผสานทางความเชื่อ คือนอกจากจะมีแห่พระพุทธรูปภายในวัดรอบหมู่บ้านแล้ว ชาวบ้านยังนำเอารูปปั้นสิงห์คู่มาแห่ร่วมกันในวันสงกรานต์ด้วยเพราะเชื่อว่ารูปปั้นสิงห์เป็นของศักดิ์สิทธิ์ประจาชุมชนของตนเองและเป็นสิ่งตกทอดมาจากอดีต ในวันสงกรานต์ชาวคนในชุมชนก็จะมีการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ นั่นคือ รูปปั้นสิงห์คู่ภายในวัดนำมาแก่รอบหมู่บ้านหลังจากนั้นวันต่อมาก็จะทำพิธีบวงสรวง พระครูสิทธิธรรมญาน (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลว่า "ในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี ชาวบ้านก็จะร่วมกันทำพิธีบวงสร้างเจ้าพ่อสิงห์ตู่วัดโคกตาล ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีที่สร้างขึ้นมาใหม่ในชุมชนของตนเอง ได้มีการจัดพิธีขึ้นเพื่อบูชาเพราะแรงศรัทธาของคนในพื้นที่ต่อเจ้าพ่อสิงห์คู่ใน 12 เมษายนของทุกปี ก็จะมีประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่เข้าไปร่วมทำพิธีกรรมด้วย"
ประเพณีดังกล่าวนี้จะจัดขึ้นปีละครั้ง ซึ่งเป็นประเพณีที่คนในชุมชนได้ร่วมมือกันสร้างขึ้นในชุมชนของตนเองเพื่อให้เป็นประเพณีประจำท้องถิ่นเพื่อให้คนรุ่นหลังได้นำเอาปฏิบัติสืบต่อกันไป สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ คนในชุมชนรู้จักใช้ทรัพยากรทางประวัติศาสตร์เท่าที่มีอยู่มาสร้างเป็นประเพณีของตนเองขึ้นอันแสดงถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านของคนในชุมชน นอกจากการร่วมพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อสิงห์คู่แล้ว หรือเสร็จพิธีแล้วคนในชุมชนก็จะมีการจัดงานร่วมกันฉลองปีใหม่กันในชุมชน ทั้งการทำอาหาร คาวหวาน ข้าวต้มมัดที่ใช้ใบมะพร้าวห่อเพื่อรับประทานร่วมกันและแจกจ่ายแลกเปลี่ยนจากนั้นก็จะมีคนเฒ่าคนแก่จะผูกข้อมือให้กับคนในครอบครัว ลูกหลานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิตและอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ลูกหลาน
ดังนั้น การนำจะนำรูปปั้นสิงห์เข้าไปในวัดเพื่อทำพิธีบวงสรวงประจำปี การนำรูปปั้นสิงห์คู่มาแห่ร่วมกับประเพณีสงกรานต์นั้น เป็นลักษณะของการผสมผสานประเพณีสงกรานต์ที่ผนวกเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นกฎหรือพิธีการ นำไปสู่การยอมรับและปฏิบัติอย่างเป็นทางการ จึงสะท้อนให้เห็นความเชื่อ และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต จารีต ประเพณี บนฐานของความต้องการที่จะให้ชุมชนของตนเองได้รับผลประโยชน์ อันจะนำไปสู่พื้นที่ที่มีการดำรงอยู่ของประเพณีเดิมและสิ่งที่นำเข้ามาใหม่ในแบบผสมผสานหรือประดิษฐ์ขึ้นให้ทันต่อโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีลักษณะผสมผสานผ่านการสั่งความความรู้ของตนเองมาอย่างยาวนาน บวกกับการนำสิ่งที่มีเชื่อว่ามีค่าในพื้นที่ในชุมชนของตนเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์
ระบบความเชื่อของคนเขมรยังมีความเชื่อดั้งเดิมที่สืบทอดจนถึงปัจจุบันคือความเชื่อเรื่องอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผีและวิญญาณ โดยความสำคัญกับผีบรรพบุรุษและมีความเคารพในธรรมชาติ นรเศรษฐ์ พิสิฐพันพร, (2557 อ้างในดวงกมล การไทย, 2559: 1) กล่าวว่า "ความเชื่อดั้งเดิมของชาวกัมพูชามีความผูกพันอยู่กับบรรพบุรุษและมีความเคารพในบุพการีสูงมาก โดยพิจารณาจากความศรัทธาใน "เมบา" และ "เนียะตา" ซึ่งเป็นคำเรียกที่มีความเกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษทั้งสิ้น โดยคำว่า เมบาคือผีบรรพบุรุษที่ชาวกัมพูชาให้ความเคารพนับถือ ซึ่งมีประวัติสืบเนื่องจากความเชื่อในสมัยนครพนมของกัมพูชา ที่ว่าดินแดนแห่งนี้มีกษัตริย์เป็นผู้หญิงนามว่า โสมา ได้แต่งงานกับพราหมณ์ชื่อโกญฑัญญะจึงเชื่อว่ากัมพูชามีรากฐานทางวัฒนธรรมแบบผู้หญิงเป็นใหญ่ ซึ่งเชื่อมโยงกับคำว่า เม อันหมายถึง แม่ หรือบรรพบุรุษผู้หญิงและ บา อันหมายถึง พ่อ หรือ บรรพบุรุษผู้ชาย ชาวกัมพูชาเชื่อว่าไม่ว่าจะประกอบกิจการงานสิ่งใดต้องบอกกล่าวให้เมบารู้และหากกระทำการสิ่งใดผิดต้องทำพิธีเซ่นไหว้เพื่อขอขมาเมบา" ต่อมาเมื่อพราหมณ์และศาสนาพุทธเข้ามามีอิทธิพล ระบบความเชื่อคนเขมรจึงผนวกทั้งสองศาสนาเข้ามาอยู่ในความเชื่อของตนในสมัยฟูนัน นอกจากความเชื่อเรื่องอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผีและวิญญาณ โดยความสำคัญกับผีบรรพบุรุษและมีความเคารพในธรรมชาติ ความเชื่อดั้งเดิมกอย่างที่ถือว่าคนเขมรให้ความสำคัญคือความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในชุมชนโคกตาลที่เป็นชาวขแมร์ลือก็ปรากฏความเชื่อหรือการบูชาสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน Chenda (2013 อ้างในชาญชัย คงเพียรธรรม, 2559: 119) กล่าวว่า "คนเขมรเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนนั้นสืบเชื้อสายมาจากพญานาค ดังปรากฏหลักฐาน คือ ตำนานเรื่อง "พระ ทองนางนาค" ที่เล่าว่า พระทอง ผู้สืบเชื้อสายจากกษัตริย์มอญ พร้อมด้วยข้าราชบริพารกว่า 100 คน ล่องเรือหนีราชภัยจนมาถึงเกาะแห่งหนึ่ง และได้พบกับนางนาคนาม "โสมา" ทั้งสองพระองค์ได้ผูกสมัครรักใคร่กัน ซึ่งกษัตริย์ภุชงคนาค ผู้เป็นพระบิดาของนางนาคก็ทรงเห็นดีเห็นงามด้วย นอกจากจะยกพระธิดาของตนให้แต่งงานกับพระทองแล้ว ยังรับสั่งให้เหล่านาคเสนาช่วยกันสูบน้ำทะเลออกจนเหือดแห้ง กลายเป็นผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งต่อมาก็คือดินแดนเขมรในปัจจุบัน ส่วนลูกหลานของพระทองกับนางนาคนั้นก็สืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์กลายมาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เขมรดังที่เห็นในทุกวันนี้" ดังนั้นข้อมูลดังกล่าวจึงสะท้อนระบบความเชื่อของคนเขมรโบราณมาจนถึงกลุ่มชาติพันธุ์เขมรในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพราะชาวขแมร์ลือที่ชุมชนโคกตาลนอกจากจะนับถือศาสนาพุทธแล้ว ความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ก็ยังปรากฏให้เห็นทั้งความเชื่อเรื่องพญานาคหรือรูปปั้นสิงห์คู่ ชาวบ้านก็มีการบูชาขอพรจนทุกวันนี้ ดังนั้นในประเด็นความเชื่อจึงมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ดังต่อไปนี้
ทั้ง 3 ข้อ ผู้ปกครองพยายามสอนบุตรหลานตนเองเสมอและข้อห้ามนี้ก็ถูกปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน
วัดโคกตาล เป็นวัดที่อยู่ในพื้นที่ของอำเภอภูสิงห์จังหวัดศรีสะเกษมีพื้นที่ติดกับภูเขาหรือที่เรียกในปัจจุบันว่า "ภูสิงห์" วัดโคกตาลที่ปรากฏรูปปั้นสิงห์คู่นั้น จากคำบอกเล่าของชาวบ้านไม่สามารถกำหนดได้แน่ชัดว่า สร้างขึ้นเมื่อไหร่ เนื่องจากชาวบ้านให้ข้อมูลว่าไม่มีการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของวัดเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แต่เล่าสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่า เดิมทีวัดโคกตาล ชาวบ้านเรียกว่าวัดตาลอตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนบ้านโตกตาล เป็นวัดร้างมานานแล้ว ก่อนที่จะโรงเรียนบ้านโคกตาลทางด้านทิศตะวันออกของวัดมีสระน้ำซึ่งเรียกต่อกันมาว่า "สิม" ปราชญ์ชาวบ้านอธิบายถึงสาเหตุที่วัดร้างมาก่อนว่า สมัยนั้นมีพระชื่อแยง มากจากบ้านแดง พระตวล (อ่อน) มากจากบ้านแขว และพระตวนมาจากบ้านแดง เป็นพระรุ่นสุดท้ายที่อยู่ในวัดแห่งนี้ หลังจากนั้นเดินทางไปจำพรรษาที่วัดอื่น เพราะพื้นที่ดังกล่าวเกิดความแห้งแล้ง ความอดอยาก และเกิดโรคระบาดอย่างรุนแรง ปัญหาดังกล่าวได้สร้างความทุกข์ยากและความกลัวต่อพระที่อยู่ในวัด จึงทำให้วัดโคกตาลกลายเป็นวัดร้างไม่มีพระจำล่วงเลยผ่านไปหลายปี
ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2511 ทหารช่าง ก.ร.ป. กลางได้นำรถแทรกเตอร์ปรับพื้นที่สนามโรงเรียนบ้านโคกตาล พบก้อนอิฐและวัตถุที่เป็นเครื่องใช้สมัยโบราณจำนวนมาก ชาวบ้านจึงมีความเชื่อว่าวัดโคกตาลเดิมน่าจะตั้งอยู่ที่สนามฟุตบอลของโรงเรียนบ้านโคกตาลในปัจจุบัน ซึ่งคนเก่าคนแก่บางคนให้เหตุผลว่าบริเวณนั้นดังกล่าวเป็นพื้นที่ราบไม่เหมาะสมที่จะตั้งเป็นวัดเพราะตามความเชื่อโบราณของชาวบ้านสมัยเก่าเชื่อว่าจะทำให้เกิดอาเพศผู้คนล้มป่วย วัดบ้านโคกตาลในสมัยนั้นจึงเกิดเป็นวัดร้างไม่มีพระมาอยู่จำพรรษาหลายปี พอถึงสมัยปัจจุบันพระตวนซึ่งมีชื่อเหมือนกับชื่อพระที่เคยอยู่ตั้งแต่สมัยเกิดโรคระบาด ท่านได้มาบูรณะสร้างขึ้นใหม่เริ่มจากการสร้างศาลาสถานที่ต่าง ๆ ขึ้นภายในวัดเพื่อใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา จนปัจจุบันวัดโคกตาลก็เจริญรุ่งเรืองมีผู้คนทั้งในและนอกหมู่บ้านมาปฏิบัติธรรมและบูชารูปปั้นสิงห์คู่จนถึงปัจจุบัน
วัดรอยพระพุทธบาทภูสิงห์
วัดรอยพระพุทธบาทภูสิงห์ เป็นตั้งอยู่ที่ยอดเขาภูสิงห์ภายในวัดพระพุทธบาทภูสิงห์ บ้านศาลา ตำบลโคกตาล อำเภอภูสิงห์ ที่วัดแห่งนี้มีรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนมากมายหลั่งไหลมากราบไหว้ เป็นรอยเท้าด้านซ้ายลักษณะเรียบ ปลายเท้าชี้ไปทางทิศตะวันออก ในขณะที่พบปรากฏรอยกงจักรอยู่กลางรอยพระพุทธบาทอย่างชัดเจน ต่อมาภายหลังประชาชนมานมัสการรอยพระพุทธบาทจำนวนมาก ได้ตักเอาน้ำมนต์และสิ่งมงคลอื่นตามความเชื่อทำให้รอยกงจักรที่ปรากฏ อยู่กลางรอยพระพุทธบาทลบเลือนจางหายไป สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด คือรอยพระพุทธบาท เป็นรอยพระบาทข้างขวาขนาดใหญ่ที่สลักลงในเนื้อหินทรายลึก 5 ซม. ยาว 1.47 ม. กว้าง 57 ซม. ที่กลางพระบาทเป็นรูปตราธรรมจักร อยู่ในช่วงสมัยทวารวดี บรรยากาศโดยรอบเงียบสงบ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติป่าไม้เบญจพรรณ เป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ สถานที่ดังกล่าวได้มีเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรนครราชสีมาได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทนี้ พบว่ามีอายุประมาณ 1,500 - 1,700 ปีมาแล้ว
บ่อน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์
พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในชุมชนยังพบบ่อน้ำทิพย์ มีการสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พร้อมกับรอยพระพุทธบาทภูสิงห์ ในอดีตหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่เคยมาบริกรรมปลุกเสกบ่อน้ำทิพย์เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ต่อมาชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เรียกว่า บ่อน้ำทิพย์พระโพธิสัตว์ บ่อน้ำทิพย์แห่งนี้อยู่ในบริเวณป่าห่างจากรอยพระพุทธบาทประมาณ 300 เมตร แต่เดิมได้เคยเหือดแห้งเป็นเวลานานแล้ว กลับมาผุดขึ้นมาจากดินอีกครั้งเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ก่อนที่คณะของอาจารย์ยุทธนันท์ ประวงษ์จะมาทำบุญที่วัดนี้เล็กน้อย ลักษณะของน้ำผุด เป็นน้ำพุที่ผุดขึ้นจากพื้นดินสูงประมาณ 0.5 – 1 นิ้ว มีน้ำนองทั่วในบริเวณนั้น น้ำมีลักษณะใสสะอาด ในปี พ.ศ. 2551 ปรากฏว่ามีชาวบ้านเข้าไปไสอบถามเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันเกี่ยวกับน้ำทิพย์ผุด ปรากฏว่าเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน จึงเป็นที่น่าแปลกใจว่า น้ำผุดทิพย์แห่งนี้คงกลับมาเหือดแห้งอีก บ่อน้ำทิพย์ ดังนั้นชาวบ้านต่างเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเวลาทางวัดจัดพิธีกรรมทางศาสนาขึ้นก็จะใช้น้ำจากบ่อน้ำทิพย์ในการทำน้ำมนต์
วัดถ้ำสิงห์คู่
วัดถ้ำสิงห์คู่อยู่ บริเวณวัดจะมีถ้ำตื้นถ้ำหนึ่งเป็นชงอนหินสำหรับพระธุดงค์ และผู้ปรารถนาความหลุดพ้น ที่ได้เดินทางมากราบรอยพระพุทธบาทและอาศัยถ้ำชงอนหินนั้นเป็นที่บำเพ็ญบารมีญาณ ในอดีตกาลบริเวณหน้าถ้ำนั้นจะมีรูปสลัก เป็นรูปสิงห์ 2 ตัวยืนเฝ้าอยู่หน้าถ้ำ ขนาดไม่ใหญ่นัก ปัจจุบันได้มีการเคลื่อนย้ายจนไม่ทราบแล้วว่าตอนนี้ไปอยู่ที่ไหน และเนื่องด้วยวัดถ้ำสิงห์คู่เป็นวัดที่ชาวบ้านเล่าว่าสมัยก่อนได้เข้าไปพบกับวัตถุโบราณในป่าแห่งหนึ่ง ปัจจุบันสร้างเป็นวัดป่าถ้ำสิงห์คู่อยู่บนเนินเขาท้ายหมู่บ้านลุมพุกคลองแก้ว ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกันกับบ้านโคกตาล บริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าไม้หนาทึบ และบางส่วนของพื้นที่พบมีบ่อน้ำ ซึ่งจากคำบอกเล่าน่าจะเป็นวัดในสมัยก่อนหรือสถานที่ที่คนสมัยก่อนใช้เป็นสถานที่ในการสร้างรูปปั้นสิงห์คู่เพื่อจะนำรูปปั้นสิงห์ไปไว้บริเวณที่มีการพบรอยพระพุทธบาทและอาจจะสร้างเป็นวัดซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลมากนัก
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลพบว่า วัดนี้เป็นสถานที่ที่ชาวบ้านได้เข้าไปพบรูปปั้นสิงห์คู่ ซึ่งปัจจุบันได้สร้างศาลปู่ตาขึ้นแทนที่เพราะรูปปั้นสิงห์คู่ได้ย้ายไปอยู่วัดโคกตาล การสร้างวัดไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อไร แต่ก็มีการสันนิษฐานจากคนในพื้นที่รวมถึงปราชญ์ชาวบ้านว่าอาจสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ซึ่งอาจเป็นไปได้เพราะในสมัยอยุธยานั้นปรากฏการสร้างสิงห์ล้อมรอบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไว้ เช่น เจดีย์หรือสถานที่ทางศาสนาเอาไว้เป็นอันมาก หรือไม่ก็อาจสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ก็เป็นได้ ส่วนการสร้างรูปปั้นสิงห์คู่ของช่างสมัยนั้นอาจต้องการที่จะสร้างสิงห์คู่ตามอิทธิพลความเชื่อที่ได้รับมาจากอาณาจักรขอม โดยเฉพาะการสร้างรูปปั้นสิงห์คู่ไว้ที่หน้าประตูทางเข้าวัดหรือล้อมรอบเจดีย์และสถานที่สำคัญทางศาสนาต่าง ๆ เมื่อชาวบ้านได้ไปพบจึงเกิดความกลัวว่า รูปปั้นสิงห์คู่นั้นอาจถูกขโมยจึงได้ร่วมมือกันย้ายรูปปั้นสิงห์คู่มาอยู่ที่วัดโคกตาล ต่อมาได้กลายมาเป็นวัตถุโบราณที่มีศักดิ์สิทธิ์และความสำคัญต่อชาวบ้านอย่างมาก เพราะเนื่องจากชาวบ้านได้ให้ความเคารพ ศรัทธา ต่อรูปปั้นสิงห์คู่ ที่สำคัญคือเป็นวัตถุโบราณที่ตกทอดมาอย่างยาวนาน กลายเป็นวัตถุที่มีความศักดิ์สิทธิ์และล้ำค่าที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างกราบไว้บูชา ดังนั้นทั้ง 3 วัดนี้ต่างเป็นพื้นที่ศักดิ์เพราะมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา เช่น มีการพบรอยพุทธบาทที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นรอบพุทธบาทของผู้บุญบารมีสูงส่ง
วัดไพรพัฒนา
คนในชุมชนมีความเชื่อในศาสนาพุทธเป็นหลัก เพราะพื้นที่ที่อาศัยถือว่าได้ว่าเป็นพื้นที่ของพระอริยสงฆ์และพระเกจิชื่อดังของประเทศที่มีบารมีมาก แม้ว่าชาวบ้านจะยังคงมีความเชื่อและการบูชาผีอยู่ในชุมชน หรือความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ทั้งเทวดา เจ้าที่ เจ้าทาง ผีบ้าน ผีเรือน กระทั่งความเชื่อเรื่องรูปปั้นสิงห์ ชาวบ้านก็เชื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ในเรื่องศาสนา ชาวบ้านก็ได้รับความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาพุทธมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพราะอิทธิพลของศาสนาพุทธได้เข้ามามีบทบทบาทสำคัญในการฝังรากฐานทางความเชื่อให้กับชาวบ้าน จึงทำชาวบ้านในเขตพื้นที่อำเภอภูสิงห์เป็นประชากรที่นับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก และถูกคนทั่วไปในสังคมกล่าวว่า เป็นพื้นที่ของพระอริยะบุคคล โดยเฉพาะเรื่องราวของหลวงปู่สรวงที่ชาวบ้านในอำเภอภูสิงห์เคารพนับถือ นอกจากจะเป็นพระเกจิชื่อดังของประเทศที่มีบารมีมาก ชาวบ้านเชื่อว่าหลวงปู่เป็นพระอริยสงฆ์ จนประชาชนทั่วไปขนานนามว่านักบุญแห่งดินแดนอีสานใต้ พระผู้บำเพ็ญเพียรตามแนวเขตชายแดนไทย - กัมพูชา อันมีเมตตาบารมีช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากจนเป็นที่รักและศรัทธาของผู้คนทั่วไป จนเป็นที่เรียกขานกันว่า "เทวดาเดินดิน" ภายหลังจากที่หลวงปู่ละสังขารเมื่อปี 2542 สรีระสังขารของหลวงปู่ไม่เน่าเปื่อย ลูกศิษย์ได้นำไปบรรจุไว้ในโลงแก้ว เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้กราบไหว้ขอพร และลอดใต้โลงแก้วเพื่อความเป็นสิริมงคล
หลวงปู่สรวง ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพระอริยะสงฆ์ โดยชาวบ้านได้ล่ำลือว่าหลวงปู่สรวงเป็นชาวเขมรเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมัน มีศักดิ์มีฐานันดรเป็นลูกชายคนโตครองตำแหน่งอุปราชผู้จะขึ้นครองราชย์สมบัติแห่งเมืองขอมคนต่อไปท่านเป็นพี่ชายของพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 และแน่นอนว่าถ้าท่านอยู่ตามทางโลกท่านย่อมเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 แต่หลวงปู่สรวงมีจิตใจใฝ่ในทางเนกขัมมะคือออกบวชมาแต่เยาว์วัยด้วยวาสนา ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติ และไม่ปรารถนาจะอยู่ตามทางโลกอีกต่อไปทั้งเล็งเห็นว่าการมีชีวิตอยู่ตามทาง โลกโดยเฉพาะการขึ้นครองราชย์สมบัตินั้นเป็นสิ่งที่มีภาระมากต้องตัดสินลงอาญา ต้องก่อกรรมทำบาปโดยใช่เหตุ ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจออกบวช การออกบวชครั้งแรกของหลวงปู่สรวงนั้นท่านออกบวชเป็นฤๅษี ท่านท่องเที่ยวไปตามป่าเขาลำเนาไพรจนไปพบเจออาจารย์ที่เป็นมหาฤๅษีผู้สำเร็จ อภิญญาสมบัติ มีอายุยืนยาวนับพันปี มีญาณสมาบัติกล้าแข็งมีฤทธิ์อภิญญาสามารถเหาะเหินเดินฟ้า เดินไต่น้ำ ดำดิน เดินทะลุภูผากอไผ่หินผาศิลาแลงที่ทึบทั้งแท่งก็เดินทะลุได้ มีตาทิพย์หูทิพย์ ล่วงรู้ในสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์
ชาวบ้านมีความเชื่อว่า หลวงปู่สรวงร่ำเรียนวิชากับองค์มหาฤๅษีผู้ทรงฤทธิ์จนสำเร็จวิชาต่าง ๆ ครบถ้วน ทรงอภิญญามีอายุยืนยาวนานไม่จำกัดกาลเวลาได้ ที่สำคัญคือองค์หลวงปู่สรวงมีอภิญญาแก่กล้าทางด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ หลวงปู่สรวงเมื่อสำเร็จเป็นมหาโยคีผู้มีฤทธิ์อำนาจทางจิตอย่างสมบูรณ์แล้ว ท่านก็เที่ยวโปรดชาวบ้านที่ตกทุกข์ได้ยากจากการเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ หลวงปู่สรวงเมื่อบวชเข้ามาในบวรพระพุทธศาสนาแล้วก็เจริญกรรมฐานตามแนวทางของพระพุทธองค์จนบรรลุธรรมสูงสุด เป็น "จตุปฏิสัมภิทาญาณ" แก่กล้าในอิทธิฤทธิ์ในเดชสูงสุด ดำเนินตนตามแนวทางพระโพธิสัตว์ คือ แม้บรรลุหลุดพ้นแล้วก็ยังไม่เข้านิพพานจะยังโปรดสรรพสัตว์ผู้ยากทั้งหลาย ดูแลพระพุทธศาสนาต่อไปก่อน หลวงปู่สรวงชำนาญในการเข้านิโรธ เข้าสมบัติ 8 ถอดจิตชำนาญในมโนมยิทธิการแสดงฤทธิ์ทางใจ ชำนาญในกสิณอภิญญา ควบคุมบังคับธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้อย่างเด็ดขาด สามารถเนรมิตวัตถุ สามารถเรียกของจากอีกที่หนึ่งมายังอีกที่หนึ่งได้ สามารถชนะแรงโน้มถ่วงของโลก ชนะกาลเวลา มีความเป็นอิสระจากพันธนาการทุกชนิด ชนะกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ทางโลกวัตถุทุกประการ นี่คืออภิญญาส่วนหนึ่งอันยกตัวอย่างมาน้อยนิดในองค์พระหลวงปู่สรวงมหามุนี ดาบสผู้ทรงอิทธิฤทธิ์บุญฤทธิ์เหนือโลกเหนือวิลัยแห่งปุถุชนคนธรรมดา
รำแม่มด
ชุมชนบ้านโคกตาลจะมีการละเล่นรำแม่มด ซึ่งคนเขมรใช้คำว่า មេមុត (เมมด) การรำชนิดนี้นิยมในชุมชนชาวเขมร เป็นความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากการนับถือผีในสมัยโบราณ การละเล่นชนิดนี้เทียบได้กับการรำเเถน ของชุมชนชาวลาว โดยมีความเชื่อว่ามีผีผู้ทรงฤทธิ์ สามารถบันดาลให้คนครอบครัวที่นับถือเมมดนี้ป่วยไข้ ไม่สบาย หรืออาจถึงแก่ความตายได้ เมื่อใดที่ผีเมมดหรือผีแถนถูกเลยทอดทิ้งไม่ได้กราบไหว้นับถือ ก็จะทำให้การเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อใดที่ได้จัดพิธีเข้าทรงเพื่อให้ผีเมมดเข้ามาผ่านร่างทรงแล้วได้ฟ้อนรำสนุกสนาน ถ้าผีเมมดพอใจอาการป่วยก็จะหาย แต่ถ้าไม่พอใจก็จะไม่ยอมมาเข้าร่างทรงเลย อาการป่วยที่คิดว่าเป็นการกระทำของผีเมมดนี้ จะแสดงอาการเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ รักษาด้วยวิธีใดๆ ก็ยาก เช่นในบางรายไปหาหมอ หมอตรวจก็ไม่เจอโรค แต่เมื่อไปหาหมอดูทำนายทายทัก เขาบอกว่าผีเมมดหรือผีแถน อยากเล่นฟ้อนรำ ก็จัดพิธีเล่นเมมด เสร็จแล้วไปหาหมอตามนัด ก็สามารถตรวจเจอโรคได้ง่ายดาย
คนในสมัยโบราณ เชื่อว่าผีเมมด เป็นเทวดา เวลาเข้าร่างทรงมาแล้วจะมีผู้ทำหน้าที่เป็นทูตเจรจา ซึ่งต้องใช้ภาษาราชาศัพท์ ถ้าใช้ภาษาไม่ถูกผีเมมดอาจจะโกรธเคืองแทนที่จะหายจากโรคก็อาจจะทำให้อาการหนักขึ้น แต่ผู้รู้อาคมบางท่านบอกว่าวิญญาณที่มาเข้าทรงนั้นคือพวกเปรต ที่มาแอบอ้างเป็นผู้วิเศษ เขาจะมีคาถาหรือเวทมนต์บางอย่างที่สามารถทำให้มองเห็นได้ บางตัวมีรูปเหมือนลิงกระโดดเกาะที่เอวบ้าง ที่คอบ้าง จึงทำให้ร่างทรงรู้สึกจักกะจี้บ้าง หนักศีรษะบ้าง จึงพยายามดิ้นสะบัดให้หลุด คนดูจึงเห็นเป็นยักเอวบ้าง ยักไหล่บ้าง สะบัดหัวบ้าง
อย่างไรก็ตาม ตามความเชื่อเรื่องผีเมมดนี้ ถ้านับถือดีไม่ลบหลู่ดูถูกก็จะให้คุณคุ้มครองคนในครอบครัว ถ้าปล่อยปละละเลยก็จะให้โทษเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ผีเมมด สามารถสืบต่อกันได้ด้วยญาติทางสายเลือดในตระกูลเดียวกัน ถ้าต้องการจะไปอยู่กับลูกหลานคนไหนก็จะสื่อสารผ่านร่างทรง แล้วย้ายร่างไปสิงอยู่กับคนใหม่การรำเมมด เป็นการร่ายรำตามความรู้สึกของวิญญาณที่เข้าสิงร่าง เพื่อรักอาการป่วยของคนไข้นั่นเอง เรื่องเหล่านี้เป็นความเชื่อเฉพาะกลุ่มชนบางกลุ่มเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการชมหรือการเชื่อ
ชาวขแมร์ลือชุมชนโคกตาลยังมีประเพณีการรักษาโรคแบบโบราณ คือประเพณีการรักษาโรคโดยใช้การเป่า เช่น โรคฝี (Abscess) โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) จากหมอเป่าพื้นบ้านซึ่งคนที่ไปรักษาต่างมีความเชื่อเกี่ยวกับหมอเป่าพื้นบ้านที่เป็นหมอเป่าสมัยเก่าที่สืบทอดมาจากเขมร โดยใช้ยาแผนโบราณและพิธีทางไสยศาสตร์รักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้ โดยหมอจะได้รับค่ารักษาตามศรัทธาของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยบางเป็นโรคฝี เมื่อมาให้หมอพื้นบ้านเป่าจนหายก็ให้ค่ารักษาประมาณ 200-300 บาท
นอกจากหมอเป่าพื้นบ้านจะมีความรู้แบบโบราณในการรักษาโรคแล้วยังมีความรู้ในเรื่องของการทำนายต่าง ๆ โดยใช้ตำราพรหมชาติ เป็นหนังสือเก่าที่สืบทอดมาจากศาสตร์โบราณ มีบทบาทสำคัญต่อชุมชนอย่างมากเพราะชาวบ้านหากจะประกอบพิธีกรรมใด ๆ ก็จะอาศัยตำรานี้โดยเดินไปขอคำปรึกษาจากหมอไสยศาสตร์พื้นบ้านที่ชาวบ้านนับถือ ซึ่งตำราพรหมชาติ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพยากรณ์ชีวิตหรือโชคชะตาราศีของผู้เกิดในวัน เดือน ปี ต่าง ๆ หรือปี 12 นักษัตร มีสาระสำคัญตั้งแต่การพยากรณ์ชีวิต การดูนิสัยเพื่อเลือกคู่ครองและการคบมิตร การหาฤกษ์ยามเพื่อประกอบพิธีกรรม การทำพิธีสะเดาะเคราะห์ การตั้งชื่อ ดูลัคนา ฤกษ์มงคล หลักเกณฑ์การสร้างที่อยู่อาศัย ตำราตรวจดวงชะตาตลอดปีทุกปีเกิด
ปัจจุบันหมอเป่าพื้นบ้านยังมีแนวคิดว่า อยากสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านของตนเองเอาไว้ ซึ่งได้กล่าวบุตรหลานได้ร่ำเรียนวิชาเอาไว้ เพราะหากตนเองล้มตายหายจากไปแล้วก็จะไม่มีใครสืบทอด ที่สำคัญคือภูมิปัญญาหมอเป่านี้เป็นศาสตร์ของเขมรโบราณ ผู้ร่ำเรียนจะต้องอยู่ในกฎและข้อห้ามที่สืบทอดกันมาจึงจะสามารถรักษาผู้ป่วยได้ดีและเป็นที่เคารพของคนในชุมชน นอกจากจะอยู่ในกฎและข้อห้ามแล้วจะต้องท่องมนต์คาถาเป็นภาษาเขมรโบราณให้จำได้อย่างแม่นยำ เพราะในการรักษานั้น เช่น การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคฝี หรือเท้าบวม ข้อบวม หมอเป่าจะต้องร่ายมนต์คาถาแล้วเป่าบริเวณดังกล่าว
นอกจากนี้หมอไสยศาสตร์พื้นบ้านได้เล่าให้ฟังว่า หากเป็นตำราโบราณที่ใช้รักษาโรคที่เป็นภาษาเขมรนั้นปัจจุบันได้หายไปจากชุมชนแล้ว ซึ่งหมอเป่าพื้นบ้านได้เล่าว่าตำราเขมรโบราณนั้นเป็นของล้ำค่าและเป็นที่ต้องการของคนที่ต้องการเรียนคาถาอาคมแบบเขมร ที่สำคัญคือถือว่าเป็นของเก่าหายากเป็นที่ต้องการของนักสะสมของเก่าทั้งหลายและกลุ่มพวกคนที่ชอบไสยศาสตร์แบบเขมร ซึ่งในเนื้อหาตำรานั้นมีการอธิบายถึงการทำพิธีกรรมต่าง ๆ แบบเขมรเอาไว้มากมาย เช่น การทำพิธีกรรมแบบเขมรให้กับผู้หญิงที่อยาก ให้สามารถมีบุตรได้ เป็นต้น ปัจจุบันหมอเป่าพื้นบ้านก็ยังทำหน้าที่ในด้านการรักษาโรคต่าง ๆ เป็นประจำ โดยจะมีคนในพื้นที่และนอกพื้นที่มาทำการรักษา หรือบางครั้งมีคนต่าง ๆ จังหวัดที่ได้ทราบข่าวก็มาให้หมอเป่าพื้นบ้านรักษาให้ ดังนั้นด้านการรักษาของคนในชุมชนนอกจากจะอาศัยโรงพยาบาลเป็นหลักแล้ว ก็ยังอาศัยภูมิปัญญาจากหมอเป่าพื้นบ้านอีกด้วย เพราะชาวขแมร์เชื่อว่าหมอเป่าพื้นบ้านเป็นผู้มีวิชาอาคม เป็นผู้ที่ได้รับการสืบทอดวิชามาจากบรรพบุรุษ โดยเฉพาะอาจารย์หรือครูเขมรที่มีวิชาอาคม
การรำตร๊ด
ชุมชนโคกตาล อำเภอภูสิงห์ จะมีศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นของตนเองคือ การรำที่เรียกว่า "การรำตร๊ด" บางท้องถิ่นเรียกว่า "เรือมตรด" คือ "รำตรุษสงกรานต์" เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวอีสานใต้และชุมชนโคกตาลซึ่งเป็นแขมร์ลือมาตั้งแต่โบราณ มีความเชื่อเป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนานในวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยสมัยก่อนที่ใช้เดือนเมษายนของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายเขมร ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาตระกูลมอญ – เขมรที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 กล่าวคือ ในยุคที่อาณาจักรขอมหรืออาณาจักรเขมรโบราณเรืองอำนาจจะเห็นได้จากมีเทวาลัยหรือปราสาทสร้างกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปไม่เฉพาะจังหวัดศรีสะเกษเท่านั้น แต่มีในจังหวัดใกล้เคียงอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้รำตร๊ด มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยมีพุทธตำนานเล่าว่าสมัยที่พระพุทธเจ้าเมื่อยังคงเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงออกผนวช แต่มีมารแปลงกายเป็นกวางทองมาขัดขวางทางเสด็จพระองค์ เพื่อไม่ให้เดินทางออกบวช พระโพธิสัตว์ทรงอธิษฐานขึ้น ทำให้สวรรค์ชั้นเทวโลกบังเกิดความร้อน เทวดาทั้งหลายจึงพากันแปลงกายเป็นนายพรานลงมาฆ่ากวางได้แล้วร่วมขบวนแห่พระโพธิสัตว์ไปทรงออกผนวชได้สำเร็จตามความประสงค์ จึงทำให้จัดแสดงรำตร๊ดเป็นมรดกสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
องค์ประกอบของการรำตร๊ดในอดีต ประกอบด้วย 1.คณะรำตร๊ดไม่จำกัดจำนวน ไม่จำกัดเพศและวัย 2.เครื่องดนตรีหลัก ประกอบด้วย ซอพื้นเมือง (ซออู้) 1 คัน กลอง (โทนพื้นบ้าน) จำนวน 1-2 ใบ 3.เครื่องดนตรีประกอบ ประกอบด้วย กันแซร และฉาบกรอ 1 คู่ 4.มียตรด (แม่เพลงตรุษ) 1-2 คน สำหรับผลัดเปลี่ยนกัน เป็นชายหรือหญิงก็ได้ 5.ตังเคา (เฒ่าแก่) 1 คน 6.เจ้าบัญชี (เหรัญญิก) 1 คน 7.ผู้ติดตามสำหรับช่วยถือสิ่งของที่ขอได้ 2-3 คน 8.พานหรือขัน 1 ใบ สำหรับใส่กรวยดอกไม้ 5 ดอก เทียน 1 คู่ หมากพลู 5 คำ 9.คันเบ็ด (ซันตูจ) พร้อมถุงผ้าเล็ก ๆ ไว้ที่ปลายเบ็ดเพื่อรับบริจาคเงินหรือสิ่งของที่มีขนาดเล็ก
การรำตร๊ด ชาวบ้านจะเล่นเป็นกิจกรรมการฟ้อนรำในเทศกาลสงกรานต์และเป็นการละเล่นที่สนุกสนานแล้วยังมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจึงมีความพิถีพิถันและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ หรือวัดจัดงานสำคัญจะพบเห็นการรำตร๊ดเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีเสมอ
ศก ศรีสิงห์ (2561: สัมภาษณ์) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตำนานรูปปั้นสิงห์คู่ ว่า "ในอดีตชาวบ้านได้เข้าไปพบกับวัตถุโบราณในป่าแห่งหนึ่งบนเนินเขาท้ายหมู่บ้านลุมพุกคลองแก้ว ปัจจุบันคือวัดป่าถ้ำสิงห์คู่ บริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าไม้หนาทึบ และบางส่วนของพื้นที่พบบ่อน้ำ เมื่อชาวบ้านได้ไปพบจึงกลัวว่า รูปปั้นสิงห์คู่นั้นอาจถูกขโมย จึงได้ร่วมมือกันย้ายรูปปั้นสิงห์คู่มาอยู่ที่วัดโคกตาล" ต่อมาได้กลายมาเป็นวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญต่อชาวบ้านอย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านได้ให้ความเคารพ ศรัทธา ต่อรูปปั้นสิงห์คู่ ที่สำคัญคือเป็นวัตถุเก่าแก่ที่ตกทอดมาอย่างยาวนานซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าสร้างขึ้นในช่วงไหน แต่กลายเป็นวัตถุที่มีความศักดิ์สิทธิ์และล้ำค่าที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างกราบไว้บูชา ปัจจุบันชาวบ้านได้ให้ความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นวัตถุเก่าแก่ที่พบพื้นที่ของตนเองจนมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเก็บรักษารูปปั้นสิงห์คู่ไว้ให้คนบูชาและเป็นสมบัติส่วนรวมของคนในชุมชนบ้านโคกตาลและชาวภูสิงห์
ในปี พ.ศ. 2517 ได้มีโจรไป ขโมยรูปปั้นสิงห์คู่ ชาวบ้านเล่าว่า กลุ่มโจรได้ใช้เชือกและยางรถจักรยานมัดเพื่อที่จะหามออกไปส่งรถหกล้อที่จอดรอยู่นอกวัด ขณะนั้นเกิดปาฏิหาริย์บางอย่าง กลุ่มโจรที่มาขโมยต่างพากันวิ่งหนีไปชาวบ้านเชื่อว่าเป็นอำนาจของรูปปั้นสิงห์คู่โบราณ ส่วนตำนานรอยพุทธบาทผู้พบเห็นรอยพระพุทธบาทภูสิงห์เป็นคนแรก คือ หลวงพ่ออ้วน กับหลวงพ่อทน ซึ่งเป็นคนในละแวกบ้านศาลาโดยกำเนิด ทั้งคู่ได้ออกจาริกไปปฏิบัติพระกรรมฐานตามสถานที่ต่างๆ พร้อมกับผู้ทรงศีล
ตามประวัติมีการเล่าสืบต่อกันมาว่า อุบาสิกาที่มีชื่อว่า แม่ชีมาก รัตนพันธ์ แม่ชีผึ สมประสิทธิ์ และแม่ชีอ่อน รัตนพันธ์ ในคืนหนึ่งขณะที่หลวงพ่ออ้วนได้นั่งสมาธิภาวนาอยู่เชิงเขาอย่างที่เคยปฏิบัติ ปรากฏว่ามีชีผ้าขาวคนหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่เข้ามาสู่นิมิตพร้อมกับกล่าวว่า "เหตุใดท่าน ไม่ไปนมัสการและบูรณะรักษารอยพระพุทธบาทที่บนพลาญหินที่ปรากฏอยู่" หลวงพ่ออ้วนคิดว่าเป็นเพียงความฝันหรืออุปทานของตนเองจึงวางเฉยเมื่อถึงเดือน 3 ปีพุทธศักราช 2525 ซึ่งนับเป็นวันที่พบรอยพระพุทธบาท แม่ชีมาก แม่ชีผึ และแม่ชีอ่อน ได้ไปถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ ณ เขาน้ำพุ ซึ่งเป็นสำนักสงฆ์โดยอาศัยถ้ำเป็นที่พำนัก โดยมีหลวงพ่ออ้วนเป็นหัวหน้าสงฆ์ หลวงพ่ออ้วนได้เล่าเหตุการณ์ความฝันให้แม่ชีทั้งสามฟัง แม่ชีทั้งสามเกิดความสนใจเป็นอันมากจึงตกลงกันขึ้นไปค้นหารอยพระพุทธบาทตามที่หลวงพ่ออ้วนเล่า ในการค้นหาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากบริเวณพลาญหินบนเขาน้ำพุมีและยังเป็นป่ารกปกคลุมไปด้วยต้นไม้และหญ้านานาชนิด แม่ชีมากได้มองเห็นรอยที่มีลักษณะเป็นหลุม 4-5 หลุม ดูผิดปกติซึ่งเรียงกันอยู่จึงได้เอาไม้เขี่ยดู ปรากฏว่าเป็นรอยฝ่าเท้าขนาดใหญ่จึงช่วยกันทำความสะอาดบริเวณดังกล่าว และนำหินมาเรียงเป็นแนวกั้นรอยพระพุทธบาทเอาไว้ และจุดธูปเทียนบูชา
ความหลากหลายทางภาษา
จากอดีตสู่ปัจจุบันชาวขแมร์ลือชุมชนโคกตาลและชุมชนใกล้เคียงมีการปรับตัวทั้งในด้านภาษา ประเพณี และวัฒนธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง มีการแลกเปลี่ยนหรือมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในพื้นที่ใกล้เคียงจนมีเกิดการกลมกลืนผสมผสานและยอมรับวัฒนธรรมร่วมกัน เช่น การผสมผสานทางความเชื่อทางพิธีกรรมในบวงสรวงซึ่งมีความเชื่อที่หลากหลายไม่ว่าความเชื่อทางศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ หรือความทางไสยศาสตร์บวกกับความเชื่อพื้นบ้านก่อตัวขึ้นเป็นพิธีกรรมใหม่ในชุมขน โดยได้รับการยอมรับจากสมาชิกในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ดังที่มีการสร้างพิธีกรมบวงสรวงรูปปั้นสิงห์คู่ขึ้นเพื่อใช้เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์บ่งบอกถึงกลุ่มชาติพันธุ์ของตน และเพื่อให้พิธีกรรมของตนได้ถูกตีแผ่ไปสู่สังคม บัญญัติ สาลี (2560) แสดงทัศนะว่า กลุ่มชาติพันธุ์เขมรมีการติดต่อแลกเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์กันระหว่างชาติพันธุ์ด้านวัฒนธรรม จึงเกิดมีการผสมผสาน กลมกลืน และยอมรับวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน Sister Callista Roy (1976 อ้างในศิริพร เชิดดอก และคณะ, 2558: 1509) กล่าวว่าการปรับตัวของมนุษย์เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อดำรงความสัมพันธ์กับถิ่นที่อยู่ ฉะนั้นวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์และมนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากวัฒนธรรมมนุษย์ได้สร้าง ใช้และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมและนำไปสู่การต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมด้วย เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับบริบทที่อาศัยอยู่ การปรับตัวทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นชาวขแมร์ลือชุมชนโคกตาลจะสามารถพูดได้หลากหลายภาษา โดยมีภาษาถิ่นพื้นบ้าน ภาษาไทยกลาง ภาษาถิ่นอีสาน แต่มีสำเนียงและคำศัพท์หลายคำแตกต่างไปจากภาษาพูดของชาวเขมรในเขตประเทศกัมพูชาซึ่งจัดเป็นชาวเขมรลุ่มหรือเขมรต่ำ (ขแมร์กรอม) ในปี พ.ศ.2537 มีประชากรชาวไทยเชื้อสายเขมรที่พูดภาษาเขมร อยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ อยู่ประมาณ 258,500 คน ปัจจุบันมีคนในชุมชนโคกตาลสามารถพูดได้หลากหลายภาษา ซึ่งในอดีตนั้นจะพูดได้เฉพาะภาษาถิ่นเขมรเท่านั้น แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านต่างๆ ทำให้คนในชุมชนสามารถพัฒนาความสามารถทางภาษาได้หลากหลายยิ่งขึ้น
การกลมกลืนในระบบความเชื่อ
ความเชื่อ ของชาวขแมร์ลือชุมชนโคกตาลมีรูปแบบความเชื่อที่มีการผสมผสานทางลัทธิศาสนาหลายอย่างเข้าด้วยกัน เพราะมีความเชื่อเรื่องการนับถือผี ความเชื่อทางพราหมณ์และศรัทธาในพุทธศาสนา ทั้ง 3 ความเชื่อถูกโยงเข้าหากันผ่านการปฏิบัติที่แตกต่างกันในส่วนพิธีกรรม แต่ทั้ง 3 ความเชื่อก็อยู่ในระบบของความสัมพันธ์หรือดำรงอยู่โดยมีการผสมผสานและกลมกลืนกัน หรือในลักษณะที่ส่งเสริมความเชื่อทั้ง 3 รูปแบบไปด้วยกันในการดำเนินชีวิต กล่าวคือการนำเอาความเชื่อดั้งเดิมผนวกเข้ากับศาสนาได้อย่างกลมกลืนโดยไม่ขัดแย้งกัน เกิดกระบวนการผสมผสานกลมกลืนแล้วในระบบความเชื่อ สิ่งที่ปรากฏก็จะถูกกลมกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนในชุมน ธวัช ปุณโณทก (2525: 175) กล่าวว่า "ในอีสานก็สามารถปรับปรุงหลักธรรมให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ของตนมีการผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจและปรัชญาทางพระพุทธศาสนาอย่างกลมกลืนกล่าวคือพิธีกรรมที่เนื่องด้วยความเชื่อทางวิญญาณพระสงฆ์และชาวบ้านได้ผนวกเป็นพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาได้อย่างแนบเนียน" ดังนั้นการกลมกลืนในระบบความเชื่อของชาวขแมร์ลือชุมชนโคกตาลจึงมีลักษณะเป็นการเสริมความเชื่อเข้าหากัน มีการจัดความสำคัญและหน้าที่ของคนในการปฏิบัติ มีหมอขวัญทำ พิธีทางพราหมณ์ มีหมอเป่า ผีฟ้า พระสงฆ์ทำ งานบุญประเพณีต่างๆ แสดงให้เห็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อทั้งสามและกลายเป็นการกลืมกลืนทางความเชื่อของคนในชุมชน
การปรับเปลี่ยนเรื่องอาชีพ เครือข่ายและการรวมกลุ่ม โอทอป)
คนในชุมชนมีการร่วมมือกันเครือข่ายเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตนเองด้วยการทางภาคเกษตรโดยเฉพาะการรวมกลุ่มภายในชุมชนเพื่อต่อรองราคามันสำปะหลังและยางพารา อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มภายในชุมชนเพื่อสร้างสินค้าโอทอปตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2543 โดยการรวมตัวกันของบุคคลที่ต้องการพัฒนาในเรื่องการแปรรูปผลิตผลที่มีอยู่เพื่อจำหน่ายเองคือ ข้าวกล้องจากข้าวหอมมะลิ โดยได้แบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม คือ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต, กลุ่มสตรี, กลุ่มไร่นาสวนผสม, กลุ่มเลี้ยงสุกร, กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ, กลุ่มเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง, กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร การรวมกลุ่มดังกล่าว แต่ละกลุ่มมีการรวมตัวกันอย่างมั่นคง มีการทำกิจกรรมของกลุ่มร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ มีการประชุมกลุ่มเป็นประจำมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการดำเนินการร่วมกัน
นอกจากนี้คนในชุมชนยังสร้างเครือข่ายในเรื่องของตลาดขายอาหารซึ่งติดกับถนนหลวงหน้าชุมชนทำให้เกิดการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นพ่อค่าแม่ค้าจึงพยายามให้ลูกหลานที่ไม่ได้เรียนต่อหรือไม่ได้ไปทำงานที่อื่นกลับมาสร้างอาชีพให้กับตนเองและครอบครัว โดยหาของมาขายที่ตลาด จนในปัจจุบันทำให้เป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถสร้างเศรษฐกิจภายในชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง
Access Point |
---|
No results found. |