2023-06-12 22:04:54
ผู้เข้าชม : 3361

กำมุ เดิมตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวถูกจัดอยู่ในกลุ่มลาวเทิง ในสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส มีการสัมปทานป่าไม้ ชาวกำมุจำนวนหนึ่งได้อพยพมาเป็นแรงงานที่ฝั่งไทย และตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่าน กาญจนบุรี และอุทัยธานี  คนกลุ่มนี้ดำรงชีพด้วยการปลูกข้าวไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ค้าขาย และเป็นแรงงานนอกชุมชน ด้านวัฒนธรรมความเชื่อ ยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยพิธีกรรมสู่ขวัญควายและการสู่ขวัญคน

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : กำมุ
ชื่อเรียกตนเอง : กำมุ, ตะมอย
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ขมุ, ข่ามุ
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : กำมุ
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

ชาติพันธุ์กำมุ (Khamu) เป็นชื่อเรียกตนเองตามสำเนียงท้องถิ่นว่า “กำมุ” “กึมมุ” “ข่ามุ” “พรุ่” หรือ“เคอม” ในระยะแรกนักวิชาการเรียกว่า “ข่ามุ” ต่อมาในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยรัชกาลที่ 7 จึงเปลี่ยนมาเรียกว่า ขมุ เช่นเดียวกันกับ ชาวลาว จะเรียกชนกลุ่มกลุ่มนี้ว่า ข่ามุ ข่า หรือ ลาวเทิง สำหรับชื่อที่ใช้ในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เรียกว่า “ขมุ”

กลุ่มชาติพันธุ์กำมุเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาชนลาวและจัดอยู่ในกลุ่ม “ลาวเทิง” เมื่อลาวตกอยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส ราวปี พ.ศ. 2436-2496 พบว่า ชาวขมุจำนวนมากได้ที่กลายเป็นแรงงานในบริษัททำไม้ของฝรั่งเศส ชาวกำมุทำหน้าที่เป็นควาญช้าง เลี้ยงช้าง และแรงงานตัดไม้ ชักลากไม้ออกจากป่าภายหลังจากหมดสัญญาจ้าง มักจะเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง มีเพียงชาวกำมุบางส่วนเท่านั้นที่แต่งงานกับหญิงพื้นเมืองและตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยตามลุ่มน้ำในจังหวัดต่างๆ ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่าน กาญจนบุรีและอุทัยธานี ในส่วนของคนกำมุที่กระจายตัวบริเวณพื้นที่ชายแดนของไทย ในอำเภอเวียงแก่น และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พบหมู่บ้านของคนกำมุ จำนวน 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านท่าวังผาหมู่บ้านห้วยซ่าน หมู่บ้านห้วยเอียน หมู่บ้านห้วยกอกและหมู่บ้านห้วยเย็น นอกนั้นมีการอยู่อาศัยปะปนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นผ่านการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์กับคนม้ง คนจีนฮ่อ เช่น หมู่บ้านห้วยจ๊อ หมู่บ้านทุ่งพัฒนา และหมู่บ้านป่าตึง

ปัจจุบันชาวกำมุมีความสำคัญต่อสังคมไทยในแง่ของการเป็นแรงงานในภาคการเกษตร พวกเขามีวิถีการดำรงชีพอัตลักษณ์ทางด้านประเพณีวัฒนธรรม ระบบความเชื่อที่สะท้อนถึงตัวตนของเขา นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มตนที่มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม ดังเช่นในปัจจุบันที่พวกเขาเข้าร่วมเทศกาลต่างๆ เพื่อสร้างพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมผ่านการสร้างกลุ่มและเครือข่ายที่เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนพื้นราบ ทำให้พวกเขามีสถานะของการเป็นพลเมืองไทยควบคู่กับการแสดงออกทางอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่มีความชัดเจนท่ามกลางความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย

การตั้งถิ่นฐานและการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์กำมุ สามารถจำแนกออกได้ 4 ยุคสมัย ดังนี้

ยุคแรกในงานศึกษาของศรีศักดิ์ วัลลิโภดม (2538) ได้กล่าวถึง การกระจายตัวของกลุ่มชนต่างๆ ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ อ่าข่า ม่าน แม้ว ขมุ ลาเมต โลโล้ ไทยดร และเทิงการสร้างบ้านแปงเมืองของชาวลาวในระยะแรกเกิดขึ้นที่เมืองแถน ดังเนื้อความที่ปรากฏในพงศาวดารล้านช้าง ระบุว่า แต่เดิมเกิดบ้านเมืองขึ้นที่ลุ่ม ผู้คนมีอาชีพทำนาและจับปลา ต่อมาเกิดน้ำท่วม บ้านเมืองจึงจมน้ำ หลังจากน้ำลด ผู้คนจึงตั้งชุมชนในพื้นที่ใหม่ที่เรียกว่า “นาน้อยอ้อยหนู” ผู้คนในบริเวณนี้ประกอบอาชีพทำนา ได้แก่ ข่าแจะ ผู้ไท ลาวพุงขาว ฮ่อและแกว

ตามตำนานพงศาวดารล้านช้างกับพงศาวดารเมืองแถง ในแคว้นสิบสองจุไทย ประกอบด้วยผู้คน 2 ชนชาติ โดยชาวข่าเป็นชนชาติที่เกิดขึ้นก่อน ต่อมา เป็นชนชาติไทซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่า (มานิต วัลลิโภดม, 2521)

งานศึกษาของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2503: 115) ชี้ให้เห็นว่า ชาวข่าตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในเมืองภูคาและแขวงหัวของ (น้ำทา) รวมทั้งหลวงพระบาง (ปากน้ำอูหรือลุ่มแม่น้ำอู) สำหรับแขวงหัวของนั้น เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาปกครองได้ใช้ให้เมืองห้วยทราย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายเป็นที่ตั้งแขวง ต่อมาได้ย้ายไปตั้งเมืองหลวงน้ำทา โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 เมือง ได้แก่ หลวงน้ำทา เมืองสิงห์ เมืองห้วยทราย กับกองเมืองภูคาและกองเมืองเมิง ซึ่งเมืองห้วยทรายปรากฏพบกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ประกอบด้วย ชาวลาว ชาวลื้อ ชาวยวน หรือ คนโยน ชาวเมืองพายัพที่ไปทำการค้าขาย ทำไร่ทำสวน สำหรับชาวไทเขินจะตั้งบ้านเรือนตามริมฝั่งแม่น้ำโขง น้ำงาวระหว่างเส้นทางไปเวียงภูคาเป็นที่อยู่อาศัยของชาวข่าหลายเผ่า มีชื่อเรียกต่างกัน คือ ข่ามุ ข่าเม่ด ข่าฮ่อก ข่าจ่อน ข่าขัด ข่าผู้น้อย ข่าก้อ ข่าเกี่ยว ฯลฯ ข่ามุมีจำนวนมากกว่าชนกลุ่มอื่นๆ รองลงมาเป็นข่าเมด (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2547: 70-71) สะท้อนให้เห็นว่า ชาวข่ามีบ้านมีเมืองเป็นของตนเอง เมื่อครั้งที่คนกลุ่มใหม่ เช่น กลุ่มคนตระกูลไท ขยับขยายลงมา และมีสรรพกำลังที่เหนือกว่า จึงส่งผลให้คนข่าต้องอยู่อย่างกระจัดกระจายตามดอย ตามตำนานก่อนที่ขุนบรมจะส่งขุนลอไปสร้างบ้านแปงเมืองที่ชวามีอาณาจักรของข่าอยู่ก่อนหน้านี่ มีหัวหน้าชื่อ กันฮาง ตั้งมั่นอยู่บริเวณหลวงพระบาง (ธวัช บุณโณทก, 2526)

ในเอกสารการเดินทางสำรวจเบื้องต้นของหัวเมืองภาคเหนือนำโดย ดร.สมิธ ผู้ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสยามให้ดำเนินการ เพื่อตรวจหาแหล่งทรัพยากรประเภทแร่รัตนชาติ ที่มีอยู่มากในพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตามเส้นทางสู่ปากแบ่ง พบชาวข่าแจะอยู่จำนวนมากนอกจากนี้เจมส์ แมคคาร์ธี เจ้ากรมแผนที่คนแรกที่สยามส่งไปสำรวจเส้นทางพร้อมกับเจ้านายฝ่ายสยาม เจ้าเมืองน่านและบรรดาไพร่พลคนข่าเพื่อสำรวจกลุ่มประชากรในอาณาเขตดังกล่าว ยังได้บันทึกถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในเอกสารว่า

“...คนข่าเหล่านี้หลายคนมาจากหลวงพระบางบ้าง น่านบ้าง ข้าราชการฝ่ายน่านพยายามจะสอนพวกข่าที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตฝ่ายของตนเมื่อไม่กี่ปีมาว่าตัวเป็น “ข่าแคว้น” (Ka Kwen) มีฐานะสูงกว่า “ข่าลาว” (Ka Lao)...” (ดร.สมิธ ใน ศศิภา คำก่ำ, 2558: 41)

เช่นเดียวกันกับงานศึกษาของกำพล จำปาพันธ์ (2555) ที่ได้สะท้อนเรื่องราวของชาวขมุไว้ว่า

“... มนุษย์ชาติขมุนั้นเปนชาติเขมรป่าดงฤาข่าอย่างหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง หนอุดรเหนือเมืองหลวงพระบางขึ้นไป ในระหว่างแดนเมืองหลวงพระบางกับเมืองหลวงภูคา รูปพรรณก็คล้ายกับเขมร ถือสาสนาเจื๋องแลถือผีต่างๆ นับถือกลองมโหรทึกเปนของสำคัญในหมู่ที่ถือเจื๋อง...”

การฉายภาพที่เชื่อมโยงของคนข่าในดินแดนล้านช้าง เข้ากับขอม ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจรุ่งเรืองในยุคอาณาจักรขอม ส่งผลให้เกิด “ประดิษฐกรรมทางประวัติศาสตร์” (The invention of history) ที่สร้างความชอบธรรมให้ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์โดยการร้อยเรียง
ความผูกพันของกลุ่มคนข่ามากขึ้น (ศศิภา คำก่ำ, 2558: 41) เช่นเดียวกันกับพงศาวดารลาว ที่ได้กล่าวถึงคนขมุ ที่ถูกมองอย่างเหมารวมเช่นเดียวกับชาวมอญ เม็ง ข่า ขมุ มลายู ว่าเป็นชนชาติขอม ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใน ดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งไก่อนหน้านี้ได้ตั้งถิ่นฐานในประเทศอินโดจีนตอนใต้ก่อนชนชาติอื่นมาหลายพันปี การตั้งอาณาจักรใหญ่ขึ้น 2 อาณาจักร ได้แก่ อาณาจักรทวารวดีหรือ อาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเริ่มตั้งแต่เมืองนครปฐมของไทยไปถึงประเทศมอญและเมียนมา ทางตะวันออกตลอดถึงประเทศมลายูและอาณาจักรโคตรปุระ ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของแขวงเวียงจันทน์ไปถึงประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน

ขณะที่พงศาวดารโยนก ระบุว่า มอญ เขมร และข่าเป็นกลุ่มเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงเรื่องของการสร้างบ้านแปงเมืองของคนข่าหรือขมุที่ภาษาพูดของมีสำเนียงเป็นอันเดียวกัน ระหว่างส่วย ข่า เขมร ดังที่พบในตัวอย่างภาษาที่ใช้ฝึกช้าง คนพวกนี้ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานก่อนพุทธกาล ในข่วงเวลาดังกล่าว ชนชาติขอมมีอำนาจรุ่งเรืองในอินโดจีนและแผ่ขยายอาณาเขตไปถึงอาณาจักรเชียงแสน เชียงราย ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการอพยพชาวลาวลงมาจากจีน และเกิดการปะทะกับขอมระหว่างนี้มีกลุ่มชาวลัวะหรือละว้า ซึ่งถือว่าเป็นชาติลาวเดิมที่เข้ามาตั้งถิ่นอยู่ในประเทศอินโดจีนภาคเหนือก่อนพวกขอม เมื่อขอมแผ่อำนาจมาทางเหนือได้แย่งดินแดนของชาวลัวะ ทำให้ชาวลัวะกลายเป็นพลเมืองของขอม

ในประวัติศาสตร์การสู้รบครั้งที่เจ้าขุนลอ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง ได้ช่วยเจ้าฟ้าร่วน ลาวเมืองตุมวาง รบเพื่อป้องกันเมืองจากขุนเจือง พระองค์ได้ชนช้างกับขุนเจือง กระทั่งขุนเจืองสิ้นชีพกับคอช้าง ทำให้กองทัพขอมแตก เจ้าขุนลอจึงทำการขับไล่ขอมลงมาถึงเมืองชวาหรือเมืองหลวงพระบาง และจัดให้เมืองชวานี้เป็นเมืองหลวงของล้านช้างเป็นครั้งแรก ระหว่าง พ.ศ. 1,300 จากนั้นจึงได้เปลี่ยนนามเมืองใหม่ว่า เมืองเชียงทอง ตั้งแต่นั้นมาชาวลาวจึงได้หลั่งไหลเข้ามาตั้งบ้านเมืองอยู่ในดินแดนล้านช้างและแผ่อำนาจไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ขอมถอยไปยังเมืองน่านและเวียงจันทน์ และมีบางกลุ่มที่เป็นชาวบ้านป่าดอนอพยพขึ้นไปภูดอย เรียกว่า ขมุ ข่า หรือ ลาวเทิง (ทองสืบ ศุภะมาร์ค, 2528: 35-36)

งานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ ได้สนับสนุนข้อเสนอนี้โดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อครั้งที่ลาวเข้ามาบริเวณล้านช้าง หลวงพระบาง ได้มีการสู่รบการเจ้าถิ่นเดิม พวกเขาได้ขับไล่เจ้าของถิ่นไปอยู่ภูเลาภูคาในแขวงน้ำทา ชนกลุ่มนี้ถือว่าเป็น “ข่าเก่า” หรือ ข่ารุ่นแรก ซึ่งเป็นข่าขมุที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงภูคาและถือเป็นชนพื้นเมืองเดิมของลาวเหนือคำว่า “ขมุ” จึงเป็นคำในภาษาข่า แปลว่า คน เพื่อประกาศว่าน พวกเขาเป็นคน ไม่ใช่ขี้ข้า ผีสาง ดังที่ผู้อื่นมักดูถูก ชื่อนี้จึงกลายเป็นชื่อเรียกตนเองมาตั้งแต่โบราณ (จิตร ภูมิศักดิ์, 2547: 93)

ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวขมุมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ โดยมีบทบาททางเศรษฐกิจสำคัญในการเป็นผู้เก็บของป่าและผู้ผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตประจำวันของลาวลุ่ม ชาวบ้านในเขตภูดอยกับชาวบ้านในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง
มีการแลกเปลี่ยนผลผลิตกัน ได้แก่ ของป่ากับเกลือและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเหล็ก ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (โยซิยูกิ มาซูฮารา, 2546: 148) ดังที่ปรากฎในเอกสารรหัสที่ ม. 58/174 เขียนขึ้นโดยพระพรหมสุรินทร์ ข้าหลวงรักษาราชการเมืองน่าน ที่สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอยู่ในเขตขรรค์ของเจ้าเมืองน่าน รวมทั้งการกล่าวถึง “วัฒนธรรมการผลิต” ในรูปแบบของการพึ่งพาแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ในเมืองน่านว่า

“... ราษฏรที่เป็นครัวเชื้อสายเมืองหลวงภูคา ซึ่งอยู่ ณ เมืองเงิน บันดาไม่สมักขึ้นไปอยู่เมืองภูคา...คนในเมืองเงินนี้บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สินมีโดยมาก เปนธรรมดาของคนลื้อ มีความเพียรประกอบการหาผลประโยชน์แลทางผลประโยชน์ที่คนเหล่านี้มีอยู่เปนอยู่นั้นคือ คนผู้ชายไปเที่ยวสืบหาช้างทางลาวพุงขาว มาขายให้แก่ลาวเฉียง แลพม่าเงี้ยวที่ทำการป่าไม้กับรับซื้อเกลือที่เมืองบ่อแลหมากที่เมืองย่างเมืองบัวไปขายให้ลาวพุงขาวและขมุฝ่ายหญิงก็รับซื้อฝ้ายจากขมุมาทอเปนผ้าต่างๆ แลกเปลี่ยนซื้อขายกับเมืองใกล้เคียง เปนการได้ผลประโยชน์ สะดวกดี แต่ที่นี้ได้น้อยกันดาร ราษฏรต้องซื้อข้าวไร่จากขมุ...”(อ้างใน ศศิภา คำก่ำ, 2558: 46)

นอกจากบทบาททางเศรษฐกิจแล้ว ชาวขมุที่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองน่าน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เจ้าผู้ครองนครน่าน (เจ้าหลวงชีวิต) กวาดต้อนมาจากเชียงแสน เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในการร่วมทำศึกกับชาวไทใหญ่ในตัวอำเภอเมืองน่าน เป็นทั้งแรงงานส่งเสบียงให้กับเจ้าหลวงชีวิตสะท้อให้เห็นว่า ชาวขมุมีความเข้มเข็ง และเป็นกำลังสำคัญในช่วงที่ศึกสงคราม (ชูศักดิ์ วิทยาภัค, 2548 อ้างใน ศศิภา คำก่ำ, 2558: 45)

ยุคที่สอง การอพยพเข้ามาเป็นแรงงานในกิจการทำไม้

หลังจากชาวตะวันตกเข้ามาทำธุรกิจป่าไม้ บทบาททางเศรษฐกิจของชาวจีนเพิ่มสูงขึ้นจากการเป็นเจ้าภาษีนายอากร และนายทุนเงินกู้ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลต่อโครงสร้างทางการเมืองและสังคม ในระยะแรก พ.ศ.2383 แรงงานในการทำไม้ ส่วนใหญ่เป็นชาวมอญและชาวพม่า เดินทางเข้ามาทำงานในป่าไม้ของเจ้านายฝ่ายเหนือ และได้รับอนุญาตให้รับเช่าทำป่าไม้ในบริเวณเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ซึ่งมีบริษัทบริติชบอร์เนียวเข้ามาดำเนินการทำป่าไม้เป็นบริษัทแรก ต่อมาเป็นบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า จำกัด โดยมีผู้ที่ทำป่าไม้รายย่อย เช่น ชาวพม่า และชาวไทใหญ่ แต่บริษัทที่มีบทบาทมากที่สุด คือ บอมเบย์เบอร์ม่า ที่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ (สรัสวดี อ๋องสกุล, 2554: 260-263)

อย่างไรก็ตาม การดำเนินกิจการป่าไม้ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมากและต้องทำอย่างเป็นระเบียบแบบแผน ใช้วิชาการเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้คนที่ดำเนินงานในกิจการป่าไม้นั้นประกอบไปด้วยผู้ที่มีคุณวุฒิ มีความชำนาญในการทำป่าไม้ ได้แก่ หัวหน้าชาวพม่า ซึ่งได้รับการฝึกฝนในการสื่อสารกับผู้จัดการในกิจการป่าไม้ได้เป็นอย่างดีอีกทั้งเป็นบุคคลที่สามารถควบคุมงานในกิจการและควบคุมแรงงานได้ ขณะที่แรงงานชาวไทใหญ่ ชาวกะเหรี่ยง และชาวขมุถือเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในกิจการป่าไม้ ส่วนใหญ่ชาวขมุจึงทำหน้าที่เป็นควาญช้างและโค่นต้นไม้ในอุตสาหกรรมป่าไม้แรงงานชาวขมุที่เข้ามาเป็นแรงงานมาจากหลวงพระบาง ซึ่งมาเป็นกลุ่มประมาณ 5-50 คน กลุ่มคนเหล่านี้จะทำงานอยู่ในป่าประมาณ 1-3 ปี สำหรับผู้ที่มีฝีมือจะได้รับค่าจ้างประมาณ 50 รูปีต่อ 1 ปีส่วนผู้ที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญในการทำป่าไม้จะได้รับค่าจ้างประมาณ 60-80 รูปี(วรรณชลีย์ บุญมี, 2520) อย่างไรก็ตาม ในการทำไม้ จะประกอบด้วยขึ้นตอนสำคัญ คือ การโค่นนี้นับว่ามีความสำคัญเนื่องจากวิธีการตัดโค่น ชักลากป่าไม้ทั้งหมดในประเทศสยามได้จัดทำโดยวิธีเลือกตัด (Selection System) ซึ่งเป็นวิธีการสับกานไม้ที่โตเต็มที่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้แรงงานคนที่มีความชำนาญและมีความอดทนสูง การเคลื่อนไหวโยกย้ายแรงงานขมุเพื่อเข้ามาทำป่าไม้นี้เกิดขึ้นตลอดช่วงการสัมปทานป่าไม้ จนกระทั่งมีการก่อตั้งบ้านเรือนของคนกำมุใกล้บริเวณลุ่มน้ำแม่ปิง บริเวณย่านวัดเกตุและลุ่มน้ำหลายแห่งทั่วภาคเหนือในจังหวัดลำปาง แพร่ และน่าน ซึ่งมีบริษัทอิสเอเชียติกของอเมริกาหุ้นส่วนกับฮอลันดาเข้ามาสัมปทาน (ชมัยโฉม สุนทรสวัสดิ์ ,2521: 283-284) ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการสัมปทานป่าไม้ระหว่างเจ้าเมืองล้านนาเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของบริษัททำไม้ ตลอดช่วงศตวรรษที่ 19 เนื่องจากผลประโยชน์ที่เจ้าหลวงได้รับจากการให้สัมปทานป่าไม้สักเกิดขึ้นจำนวนมาก (ทิพย์สุดา จินดาปลูก, 2560)

ยุคที่สามยุคของการปักหลักตั้งถิ่นฐานในดินแดนไทย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
(พ.ศ.
2500-2526)

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในช่วงค.ศ. 1945ตามคำบอกเล่าเบื้องต้นของผู้สูงอายุ ชาวกำมุและลูกหลานรุ่นที่ 2 ได้กล่าวว่า นายฮ้อยคัดหัวหน้าคนกำมุซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ในการเดินทางและเป็นเครือข่ายการทำงานไม้ในประเทศไทย ได้นำพาครัวเรือนและเครือญาติข้ามฝั่งเข้ามายังชายแดนไทยบนเส้นทางเดินเท้าขนาดเล็ก บริเวณแจมป่อง สู่บ้านโล๊ะในเขตตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายโดยนายฮ้อยคัดเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านร่วมกับคนไทลื้อ ขณะเดียวกันก็มีการแลกเปลี่ยนแรงงานภายในหมู่บ้านช่วง พ.ศ. 2480 รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้บริษัทเวอร์จิเนีย เข้ามาลงทุนในการปลูกยาสูบ นับว่ายาสูบนี้เป็นพืชพันธะสัญญา (Contract Farming) ชนิดแรกที่เข้าสู่ไทย โดยบริษัทมีการลงทุนเรื่องกล้าใบยา ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงให้เกษตรกรก่อนทำการรับซื้อผลผลิต (ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง, 2535)ในเชียงของจึงมีการตั้งโรงเตาบ่มสมัยเจ้าน้อยกุศล จิตตางกูร บุตรของเจ้าจิตวงษ์ เจ้าเมืองคนสุดท้ายที่ได้ร่วมทุนกับพญาชาวไทลื้อ บ้านห้วยเม็ง เพื่อสร้างเตาบ่มที่บ้านเมืองกาญจน์เป็นแห่งแรกของเชียงของ ต่อมาจึงสร้างเตาบ่มแห่งที่ 2 ตรงบริเวณแจมป่อง (นิวัฒน์ ร้อยแก้ว, 2547) ชาวกำมุส่วนใหญ่จึงทำงานในไร่ยาสูบ และโรงงานบ่มใบยาสูบ

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2499 เป็นต้นมา เมื่อครัวเรือนของนายฮ้อยได้โยกย้ายลูกหลานเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เวียงแก่น จึงมีการถางพื้นที่ป่าเพื่อจับจองพื้นที่ทำกิน การรวมตัวกันจึงเกิดขึ้นเป็นหมู่บ้านกำมุอย่างเป็นทางการแห่งแรก ชื่อว่า “หมู่บ้านห้วยเอียน”ใน พ.ศ. 2502 เมื่อคณะกรรมการสงเคราะห์ชาวเขาได้ถูกแต่งตั้งขึ้นและนำคำว่า “ชาวเขา” มาใช้เรียกผู้คนที่อยู่บนพื้นที่สูงอย่างเป็นทางการ ทำให้มีการสำรวจและเริ่มใช้คำว่าชาวเขาครอบคลุมกลุ่มต่าง ๆ 9 เผ่า ได้แก่ ม้ง เมี่ยน ลาหู่ ลีซอ อาข่า กะเหรี่ยง ลัวะ ถิ่นและขมุ

หลังจากการประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2512คณะรัฐมนตรีได้มีมติดำเนินการตามแผนระยะสั้น โดยให้เจ้าหน้าที่ไปทำงานใกล้ชิดชาวเขา เพื่อให้พวกเขาเกิดความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ ขณะที่แผนระยะยาว มุ่งเน้นพัฒนาด้านอาชีพ ส่งเสริมการปลูกพืชอื่นแทนการปลูกพืชเสพติด ช่วงเวลาดังกล่าวทางการได้สำรวจครัวเรือนของชาวกำมุเพื่อสร้างฐานทะเบียนที่ต้องรอการดำเนินการเพื่อพิสูจน์สถาะบุคคล ประมาณ พ.ศ. 2516 เมื่อมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ทำกินไม่เพียงพอ ครัวเรือนกำมุบางกลุ่มจึงเดินทางมาบุกเบิกพื้นที่แห่งใหม่บริเวณลำน้ำห้วยกอก ในตำบลเวียง อำเภอเชียงของในปัจจุบัน ต่อมา ประมาณพ.ศ. 2520 ได้มีการเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่เป็นที่ตั้งของคนจีนฮ่อ หลังจากที่รัฐบาลไทยประกาศนโยบายจัดสรรพื้นที่ กลุ่มคนจีนย้ายไปตั้งถิ่นฐานรวมกันที่ดอยเวียงหมอก ทำให้ครัวเรือนมีการขยายตัวมากขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและการอพยพของชาวกำมุจากจากเวียงภูคา แขวงหลวงน้ำทา ที่ถูกเกณฑ์มาเป็นทหารประจำการในศูนย์อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในช่วงเวลาดังกล่าวหมู่บ้านชาวกำมุที่ตั้งอยู่ในอำเภอเชียงของบางส่วนยังอยู่ในสถานะกลุ่มบ้านบริวารของหมู่บ้านชาวไทลื้อ

ยุคที่สี่ “จากสนามรบเป็นสนามการค้า”: การกลายเป็นแรงงานในภาคเกษตรของไทย
(พ.ศ.
2530-2544)

ในช่วง พ.ศ. 2527หลังจากสถานการณ์ความไม่สงบสุขในลาวทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ชาวกำมุฝั่งลาวเผชิญกับการสูญเสียอัตลักษณ์ การถูกกดขี่ข่มเหง ทำให้คนขมุบางส่วนซึ่งอยู่ในแขวงหลวงน้ำทาอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาอาศัยในชายแดนไทย คนกำมุกลุ่มนี้เข้ามาทำงานตามสวนส้ม นับตั้งแต่พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา ทำให้ประชากรชาวกำมุในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากในสมัยนี้รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ได้ประกาศใช้นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เมื่อสงครามยุติลงและรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของลาวได้ปรับเปลี่ยนโยกย้ายให้คนพื้นที่สูงลงมาตั้งถิ่นฐานในที่ลุ่ม ส่งผลให้คนกำมุไม่มีพื้นที่ทำกิน พวกเขาจึงเดินทางเข้ามาอาศัยเครือข่ายชาติพันธุ์และตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านห้วยกอก

ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2535-2539ประเทศได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 และมีการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาที่สูงรวมอยู่ด้วย เพื่อลดปัญหาการปลูกฝิ่นและส่งเสริมให้มีการปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น ข้าวโพด กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ขิง พืชและผลไม้เมืองหนาว พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต ผสมผสานกับการจัดการทรัพยากรในการผลิตผ่านการใช้ระบบภูมิปัญญา และระบบการใช้ที่ดินที่คนกำมุเรียกว่า “เร๊ะตูเร๊ง” (เสถียร ฉันทะ, 2542)แม้คนกำมุที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมในขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ ทว่าพวกเขาก็ได้รับการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยถูกผนวกเข้ามาเป้นแรงงานในภาคเกษตร

ยุคที่ห้า ยุคตัวตนบนแผ่นดินไทย กับหมู่บ้านแห่งการพัฒนา (พ.ศ. 2545-ปัจจุบัน)

ชาวกำมุที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้มีการเก็บออมเงินจากการทำงานเป็นแรงงาน กระทั่งสามารถซื้อที่ดินและสร้างที่พักอาศัย ส่งผลให้คนกำมุในหมู่บ้านห้วยกอกรวมตัวกันจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน ประมาณพ.ศ. 2547 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงการพัฒนาที่เข้าสู่หมู่บ้านมากขึ้น คนกำมุได้ปรับเปลี่ยนจากการเพาะปลูกเพื่อยังชีพหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกยางพาราในช่วง พ.ศ. 2545 สลับกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในระยะหลังได้มีการปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากพื้นที่ทำกินส่วนใหญ่เหมาะสำหรับการปลูกพืชที่ใช้แหล่งน้ำธรรมชาติหรือน้ำฝนพวกเขาปลูกข้าวไร่ไว้สำหรับบริโภคครัวเรือน ในขณะที่วัยรุ่นและวัยกลางคนบางส่วนมักจะออกไปทำงานต่างจังหวัด โดยเฉพาะโรงงานคัดส้มในหลายพื้นที่ของไทย แม้ว่าคนกำมุในประเทศไทย ซึ่งถูกมองว่าเป็นชายขอบของการพัฒนา แต่พวกเขากลับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีศักยภาพในการปรับตัวและการรักษาอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านการแสดงออกทางพิธีกรรมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการจัดงานปีใหม่ ที่ได้ดึงเอากลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม (ธนุพงษ์ ลมอ่อน, 2554)

กลุ่มชาติพันธุ์กำมุกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดของภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง และจังหวัดน่าน โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1) จังหวัดเชียงรายกระจายตัวตั้งถิ่นฐานในอำเภอเชียงของ หมู่บ้านห้วยเย็น หมู่บ้านห้วยกอก อำเภอเวียงแก่น ในหมู่บ้านท่าวังผา บ้านห้วยซ่าน บ้านห้วยเอียน 2) จังหวัดเชียงใหม่ กระจายตัวตั้งถิ่นฐานใน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันชนกลุ่มนี้ได้ถูกกลืนกลายเข้ากับชนกลุ่มใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ 3) จังหวัดลำปาง กระจายตัวในอำเภองาว บ้านพร้าว และบ้านกลางห้วย ตำบลบ้านหวด อำเภอแจ้ห่มบ้านนาไหม้ ตำบลเมืองมาย (สมโชติ อ๋องสกุล, 2549: 94) และ 4) จังหวัดน่าน ตั้งถิ่นฐานกระจายตัวใน 5 อำเภอ ได้แก่ 4.1) อำเภอเมือง บริเวณบ้านวังหมอ ตำบลท่าบ่อบ้านห้วยปุก ตำบลสะเนียนบ้านหาดปลาแห้งตำบลบ่อ 4.2) อำเภอภูเพียงบ้านห้วยไฮ บ้านห้วยคำ ตำบลฝายแก้ว 4.3) อำเภอท่าวังผา ตำบลตาลชุม พบที่บ้านปางสา ตำบลผาทอง บ้านน้ำโขง ตำบลผาตอ บ้านห้วยโป่ง บ้านวังผา 4.4) อำเภอเชียงกลาง ตำบลผาตอย พบที่บ้านวังผาง บ้านปางสา บ้านน้ำโม บ้านวังเสา บ้านน้ำปาน บ้านห้วยม้อย บ้านห้วยเลา บ้านห้วยแกลบ บ้านสบพาง บ้านน้ำหลุ บ้านน้ำหลุใหม่ ตำบลชนแดน 4.5) อำเภอทุ่งช้าง ตำบลและ พบที่บ้านน้ำสอดตำบลงอบ พบที่บ้านห้วย สะแตง บ้านภูคำ บ้านน้ำลาด ตำบลปอน พบที่บ้านไชยธงรัตน์ บ้านสบปางอำเภอเวียงสา พบที่บ้านป่าแพะ

การดำรงชีพ

ในอดีตชาวกำมุมีวิถีการผลิตแบบยังชีพด้วยการปลูกข้าวไร่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทเวดล้อมที่ตั้งถิ่นฐานในช่วงเวลาต่อมาได้มีการปลูกพืชพาณิชย์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการเป็นแรงงานรับจ้างทั้งในชุมชนและนอกชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องหารายได้มาจุนเจือครอบครัวนอกจากนี้ ชาวกำมุบางส่วนยังประกอบอาชีพค้าขายตามตลาดนัด โดยการนำเอาของป่า พืชผัก สัตว์เล็กสัตว์น้อยที่หาได้ตามฤดูกาลไปขาย ภายในหมู่บ้านมีร้านค้าขายของชำเนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่บนเส้นทางการท่องเที่ยว ทำให้พวกเขาต้องปรับตัวด้านการดำรงชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือน จะเห็นว่าชาวกำมุมีการปรับตัวในการดำรงชีพโดยไม่ได้ยึดติดกับอัตลักษณ์เดิม เพื่อสร้างโอกาสในการแสวงหารายได้จากหลากหลายช่องทางซึ่งสะท้อนให้เห็น “ความหลากหลายในการดำรงชีพ” ของกลุ่มชาติพันธุ์นี้

ระบบความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม

ปัจจุบันชาวกำมุ ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีภายในกลุ่มบนพื้นฐานความเชื่อ 2 รูปแบบ ดังนี้

ความเชื่อเกี่ยวกับบรรพบุรุษหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนกำมุ ที่มีความเชื่อเรื่องต่อบรรพบุรุษระดับกลุ่ม ความเชื่อต่อจิตวิญญาณบรรพบุรุษระดับครอบครัว และความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ดังนี้

1. ความเชื่อต่อบรรพบุรุษระดับกลุ่ม ชาวกำมุมีความเชื่อเกี่ยวกับพญาเจือง วีรบุรุษผู้กล้าหาญ จะมีการประกอบพิธีกรรมระลึกถึงพญาเจืองในช่วงเทศกาลปีใหม่

2. ความเชื่อต่อจิตวิญญาณบรรพบุรุษระดับครอบครัว เช่น ผีปู่ ผีย่า ซึ่งชาวกำมุ เชื่อว่าบรรพบุรุษเหล่านี้มีอิทธิพลในการคุ้มครองลูกหลาน สมาชิกในครอบครัว จึงมีการแสดงออกผ่านการเซ่นไหว้ ในช่วงที่สมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วย

3. ความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ขวัญ เจ้าที่ จะมีการประกอบพิธีกรรมการเรียกขวัญ การสู่ขวัญ การเลี้ยงผีต้นน้ำ เป็นต้น

ความเชื่อตามหลักศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ ปัจจุบันนี้ ชาวกำมุจำนวนหนึ่งได้หันมายอมรับนับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์มากขึ้น โดยมีการลดการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อเดิมเช่น ในอดีตหากมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น มักจะมีการซื้อควายมาเลี้ยง ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย จึงมีการผสมผสานความเชื่อรูปแบบอื่นเข้ามาเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตมากขึ้น เช่น พิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่ จะมีพระสงฆ์ ปู่จารย์ หรืออาจารย์มาประกอบพิธีกรรมด้วย พิธีศพ จะทำพิธีฝังศพ โดยมีผู้นำศาสนาคริสต์มาประกอบพิธีกรรมให้ นอกจากนี้ในพิธีกรรมแต่งงาน จะมีการนำเอาผู้อาวุโสในหมู่บ้านมาเป็นผู้ประกอบพิธี

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

เนื่องจากประเพณีและพิธีกรรมของชาวกำมุแต่ละชุมชนมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เนื่องจากบางชุมชนมีการติดต่อสัมพันธ์กับคนท้องถิ่นจึงอาจมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมเกิดขึ้น ในที่นี้ขอนำเสนอประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมของขาวกำมุบ้านห้วยเอียน อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เดือนมกราคม ประเพณีปรักสรางนาง หรือ ปรากสัรนาง เป็นประเพณีที่ชาวกำมุ เชื่อว่า หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว มีการใช้แรงงานคน แรงงานสัตว์ และที่ดินจึงควรจัดประกอบพิธีปรักสรางนางขึ้นประมาณช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เพื่อเป็นการบูชา ขอบคุณแม่ดินที่ให้ผลผลิตพิธีกรรมนี้เป็นพิธีกรรมขนาดเล็กที่จัดขึ้นในหมู่บ้าน ในช่วงการว่างงาน ชาวบ้านจะขุดเผือก ขุดหัวมันมารวมกันที่บ้าน หรือยุ้งข้าว หลังจากนั้นเฒ่าแก่หมู่บ้านซึ่งมีอาคมจะมาประชุมปรึกษาหารือเพื่อหาฤกษ์ยาม กำหนดสถานที่ และเตรียมผลไม้ รวมทั้งการนำเครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วย ข้าวนึ่ง ขนม ต้นหงอนไก่ เผือก มัน ฟัก แตง มาไว้ที่บริเวณ “ใจบ้าน” นอกจากนี้แต่ละครัวเรือนจะนำเอาเหล้าไหครัวเรือนละ 1 ไห หมูตามที่ตกลงกัน หลังจากนั้นจะมีการบอกกล่าวเจ้าฟ้า เจ้าดิน เพื่อเป็นการขอบคุณสำหรับช่วงปีที่ผ่านมา รวมทั้งการขอพรปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงและการเตรียมพื้นที่ทำไร่

เดือนมีนาคม พิธีการเลี้ยงผีต้นน้ำ เดิมชาวกำมุมีพิธีกรรมการเลี้ยงผีต้นน้ำ ซึ่งพวกเขามีความเชื่อว่า หากในอดีตมีการใช้น้ำมาอุปโภคบริโภคจะต้องเลี้ยงเซ่นไหว้ เพื่อให้รักษาแหล่งน้ำ ปัจจุบันมีการเลี้ยงผีต้นน้ำบริเวณห้วยเอียนนานๆ ครั้ง

เดือนเมษายน ประเพณีสงกรานต์ ชาวกำมุจะมีการรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสในชุมชน ในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นวันรวมญาติ ซึ่งลูกหลานที่ออกไปทำงานต่างถิ่นจะกลับถิ่นฐานเพื่อเยี่ยมเยือนครอบครัว

เดือนพฤษภาคม พิธีกรรมในการสักข้าว การสักข้าว หรือ การปลูกข้าวไร่ นับว่ามีความสำคัญต่อชาวกำมุเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากแต่เดิมนั้นจะมีการประกอบพิธีกรรมก่อนการหยอดเมล็ดข้าว ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

1. แม่ข้าว ซึ่งเป็นผู้หญิงที่อยู่ในครัวเรือนที่จะทำการปลูกข้าว โดยการเอาไม้กระทุ้งดิน จำนวน 3 หลุม ก่อนทำการหยอดเมล็ดข้าวลงหลุมจะมีการบอกกล่าวเพื่อเปิดการสักข้าว

2. หลังจากผู้มาช่วยสักข้าว ได้ทำการสักข้าวเสร็จเรียบร้อย ผู้ที่มาช่วยจะยังไม่กลับในทันที จนกว่า “แม่ข้าว” จะทำพิธีก่อน

3. แม่ข้าวจะสะพายตะกร้าไว้ข้างหลัง แล้วนำเอาดอกไม้มาบอกกล่าว เจ้าที่เจ้าทางว่าการปลูกข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้วหลังจากนั้นสมาชิกที่มาช่วยเหลือเอามื้อเอาแรงสามารถกลับบ้านได้

ในการเก็บเกี่ยวข้าว ขั้นตอนแรกแม่ข้าวจะเอาไก่ ข้าวตอก ดอกไม้ ใส่ปุ๋งเปลอะ (ปุ๋งสะพายหลัง) ทำกับข้าว แล้วเอาข้าวจ้ำใส่กระทงเพื่อให้แม่ข้าวกินเป็นอันดับแรกจากนั้นแม่ข้าวจะเป็นผู้ที่ทำการรูดข้าวก่อนแล้วใส่ในถุงสะพาย เอาเลือดหมูมาราดข้าวที่รูดเพื่อให้ผีข้าวเปลือก หลังจากนั้นจะเอาข้าวขึ้นหลองข้าว ก็จะมีการบอกกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

เดือนพฤศจิกายน ประเพณีลอยกระทง หรือ เงาวจึนตรี เป็นประเพณีที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยผู้นำชุมชนจะให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในระดับของอำเภอ เช่น การร่วมเดินขบวน และการส่งรถกระทงเข้าประกวด

เดือนธันวาคม ประเพณีปีใหม่ หรือปรากสรานาง เป็นประเพณีการลาปีเก่า ในพิธีนี้ตามปกติจะมีการทำต้นโจ๊ก เป็นต้นไม้ไผ่ยาวสูงกว่า 10 เมตร มีการสานสัตว์สัญลักษณ์ต่างๆ ที่คนกำมุขับถือ เช่น นก และการสานตะแหลวประดับตกแต่ง ในวันประกอบพิธี ผู้สูงอายุและเด็กหนุ่มในหมู่บ้านจะนำต้นโจ๊กไปตั้งไว้กลางลานพิธีกิจกรรม แขกและผู้อาวุโสที่มาร่วมงานจะถูกเชิญนั่งล้อมวงเพื่อดื่มเหล้าอุ๊ใต้ต้นโจ๊ก และมีการตีกลอง ฆ้อง ฉาบ ก่อนทำการแสดง เพื่อระลึกถึงพญาเจือง วีรบุรุษของตน

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด

ในช่วงที่มีเด็กทารกคลอดได้ 2-3 วัน พ่อแม่จะทำพิธีตั้งชื่อลูก โดยขอให้ผู้อาวุโสมาร่วมพิธีกรรมและจะมีการฆ่าหมู เป็ด ไก่ ในอดีตชาวกำมุจะตั้งชื่อลูกเป็นภาษาของตนเอง ภายหลังมีการตั้งชื่อทั่วไป พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิดของชาวกำมุได้มีข้อห้ามพ่อแม่ไปร่วมงานศพคนในหมู่บ้านในช่วงที่มีเด็กเกิดใหม่

พิธีกรรมเกี่ยวแก่การเจ็บป่วย

ชาวกำมุมีพิธีกรรมสำคัญ ประกอบด้วยพิธีกรรมสู่ขวัญควาย และพิธีกรรมสู่ขวัญคน โดยมีรายละเอียดังนี้

พิธีกรรมสู่ขวัญควาย เกิดขึ้นเมื่อมีสมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วย ซึ่งชาวกำมุเชื่อว่าสาเหตุของการเจ็บป่วยเกิดจากผีตาผียายที่วนเวียนอยู่ในบ้านต้องการบริโภคควาย ผู้นำครอบครัวต้องหาซื้อควายเพื่อมาประกอบพิธีในการเซ่นไหว้ ราคาของควายตัวละสองหมื่นบาท ในวันที่มีการทำพิธีจะนำเนื้อมาประกอบอาหาร ส่วนเขาควายจะนำไปแขวนไว้ในห้องครัว หรือบางครัวเรือนจะมีการตั้งศาลหลังขนาดเล็กไว้

พิธีกรรมสู่ขวัญคน จะมีการต้มไก่มัดมือสมาชิกครอบครัว วัสดุอุปกรณ์ในการประกอบพิธี ได้แก่ เหล้า 1 ไห ด้ายมัดมือ ไก่ ข้าวสาร ข้าวเปลือก ผ้าดำผ้าแดงสำหรับไก่ที่ถูกเชือด จะนำมาต้มสุกเพื่อใช้สู่ขวัญ ส่วนเลือดไก่พ่อหมอจะนำมาจ้ำที่บริเวณหัวเข่าของผู้ที่จะสู่ขวัญ ระหว่างที่มีการฮ้องขวัญ พ่อหมอจะเอาข้าวสาร ข้าวเปลือกมาห่อด้วยผ้าดำผ้าแดงและมัดรวมกัน

กรณีของพ่อเลือน (นามสมมติ) ได้ทำพิธีให้กับหลาน หลังจากที่พาหลานไปเดี่ยวที่แจ่มป่อง พอกลับมาถึงเรือน หลานมีอาการตัวร้อนและร้องไห้ ดังคำกล่าวที่ว่า “หลานก็ฮ้องไฮ้ ตัวร้อน ขวัญหาย” จึงจำเป็นต้องมีการเรียกขวัญ โดยขอให้หมอเรียกขวัญ ซึ่งอยู่บ้านห้วยส้านซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงมาทำพิธี เรียกเรียกว่า “ฮ้องเฮ็ดเพณี”

ความตายและการทำศพ

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในการนับถือศาสนา จากการนับถือผีบรรพบุรุษและความเชื่อเหนือธรรมชาติมานับถือศาสนาคริสต์ เมื่อชาวกำมุเสียชีวิตจึงมักนำไปฝัง โดยมีศิษยาภิบาลทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม ส่วนบางครัวเรือนที่รับถือศาสนาพุทธ จะให้พระสงฆ์มาสวด และจัดพิธีศพโดยมีปู่จารย์ (คำเรียกผู้นำพิธีกรรมแบบคนพื้นราบ) ที่ชาวกำมุรู้จักจากหมู่บ้านใกล้เคียงมาเป็นผู้นำในการประกอบพิธี

จิตร ภูมิศักดิ์. (2547). ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม: อันเนื่องมาจากความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. กรุงเทพฯ: มติชน.

ชนัญ วงษ์วิภาค. (2530). ชาวน่าน : คนหมู่มาก และคนกลุ่มน้อยในเมืองน่าน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

ชมัยโฉม สุนทรสวัสดิ์. (2521). การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกิจการป่าไม้ภาคเหนือของไทย ตั้งแต่พ.ศ. 2439 ถึงพ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชูศักดิ์ วิทยาภัค. (2548). ขมุเฮ็ดไฮ่ ไตเฮ็ดนา: ภูมิอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ภาคเหนือของประเทศ ไทย. ใน การเมืองเรื่องสุขภาพ การเมืองเรื่องชาติพันธุ์, ชูศักดิ์ วิทยาภัค (บรรณาธิการ). วารสาร สังคมศาสตร์. 17(1): 139-172.

ณัฐธิดาจุมปาและคณะ. (2560). การจัดการความรู้ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและแนวทางการพัฒนาของกลุ่มชาติพันธุ์ขมุในหมู่บ้านห้วยเอียนอำเภอเวียงแก่นจังหวัดเชียงราย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

ดำรง ทายานิน. (2548). เกิดเป็นกำมุ ชีวิตและหมู่บ้าน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

ทองสืบ ศุภะมาร์ค. (2528). พงศาวดารลาว. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.

ทิพย์สุดา จินดาปลูก. (2560). ขมุกับการประกอบกิจการป่าไม้สักในล้านนาช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ธนุพงษ์ ลมอ่อน. (2554). การสร้างพื้นที่ทางสังคมของชาวขมุในอำเภอเวียงแก่น ภายใต้บริบทของการเป็นชายขอบ. เชียงใหม่: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ธวัช บุณโณทก. (2526). พื้นเวียง: การศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมอีสาน. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

นิพัทธเวช สืบแสง. (2536). สังคมและวัฒนธรรมชาวขมุกับการพัฒนา. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยชาวเขา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

นิพัทธเวช สืบแสง. (2539). การอพยพแรงงานของชาวขมุ: สถานการณ์และผลกระทบต่อชุมชน. เชียงใหม่: อาวรณ์ มณีวรรณ.

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2503). คนไทยในพม่า. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รามินท์.

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2506). ชาวเขาในไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2547).30 ชาติในเชียงราย. กรุงเทพฯ: ศยาม.

ปนัดดา บุณยสาระนัย. 2544. กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

มานิต วัลลิโภดม. (2521). สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน. กรุงเทพฯ: การเวก.

โยซิยูกิ มาซูฮารา. (2546). ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรลาวล้านช้างสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14-17 จาก “รัฐการค้าภายในภาคพื้นทวีป” ไปสู่ “รัฐกึ่งเมืองท่า”. กรุงเทพฯ: มติชน.

วรรณชลีย์ บุญมี. (2520). ความสัมพันธ์กับอังกฤษในบางลักษณะสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การป่าไม้และการเหมืองแร่. วิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร

ศรีศักร วัลลิโภดม. (2538). แอ่งอารยธรรมอีสาน: แฉหลักฐานโบราณคดีพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์.กรุงเทพฯ: มติชน.

ศศิภา คำก่ำ. (2558). วิถีการดำรงชีพและความแตกต่างทางสังคมของคนขมุในการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณชายแดนไทย-ลาว. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชาติพันธุ์สัมพันธ์และการพัฒนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สรัสวดี อ๋องสกุล. (2554). ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.

เสถียร ฉันทะ. (2542). วิถีขมุ: ภูมิปัญญาพื้นบ้านกับการจัดการทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ. เชียงใหม่: ศูนย์ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

Evrard Olivier. (2011). Labour migrations of Law highlanders in Thailand: historical trends and contemporary issue paper presented during the international conference Ethnic Interactions in the context of Globalization in Southwest China and its relations to Southeast Asia, Kunming University, June 17th-19th 2011.

Prochan, Frank. (1997). ‘We are all Kmhmu, just the same’: ethnonyms, ethnic identities, and ethnic groups, in American Ethnologist, 24(1), 91-113.

Simmee Oupra. (2009). Language Ecology and Language Planning in Chiang Rai Province, Thailand (Doctoral Dissertation). Adelaide: University of Adelaide.

ทนงศักดิ์ มาเท, นาย, หมู่บ้านห้วยเอียน อำภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย, วันที่ 24 ธันวาคม 2559. เกธราดา จันทะมธารี ผู้สัมภาษณ์

ทิม จังจอม, นาย, หมู่บ้านห้วยเอียน อำภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย, วันที่ 28 มกราคม 2560. เกธราดา จันทะมธารี ผู้สัมภาษณ์

เพชร บุญเรือน, นาย, หมู่บ้านห้วยกอก อำภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย, เดือนพฤศจิกายน 2555 ถึงพฤษภาคม 2557. เกธราดา จันทะมธารี ผู้สัมภาษณ์

เพ็ญ บุญยัน, นาง, หมู่บ้านห้วยเอียน อำภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ,วันที่ 28 พฤษภาคม 2560. เกธราดา จันทะมธารี ผู้สัมภาษณ์

ยัด เชอร์แลน, นาง, หมู่บ้านห้วยกอก อำภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย, วันที่ 28 มีนาคม 2562. เกธราดา จันทะมธารี ผู้สัมภาษณ์

สมพร ยอมยา, นาย, หมู่บ้านห้วยเอียน อำภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย, วันที่ 24 ธันวาคม 2559. เกธราดา จันทะมธารี ผู้สัมภาษณ์


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว