ชุมชนชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยง (ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก)

  • ชุมชนชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยง (ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก)
  • ชื่อเรียกตนเอง : กะเหรี่ยง
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : พม่า, กะเหรี่ยง
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ภาษาพม่า, กะเหรี่ยง และภาษาอังกฤษ
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              ชุมชน "นะเปียวโอดอ" เป็นหนึ่งในชุมชนที่คนในชุมชนนั้นต้องอพยพเข้ามาเพราะสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศพม่า ซึ่งประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ปัญหานี้เริ่มรุนแรงขึ้นมากตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ. 2490 เพราะพม่าต้องการผนวกเอาดินแดนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติพม่า โดยการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญและสัญญาปางหลวง แต่เมื่อไม่เป็นผลสำเร็จพม่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาพร้อมกันนั้นยังส่งทหารเข้าไปยึดพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติพม่า กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีกำลังน้อย จึงกลายเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศพม่านับจากนั้นเป็นต้นมา และหลังจากพม่ากลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ในประเทศ อำนาจทางการเมืองการปกครองต่างตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่า พม่าได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ พร้อมกับดำเนินนโยบายสร้างรัฐชาติให้เป็นนโยบายที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือนโยบายทำให้เป็นพม่า (Burmarnization) นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อผสมกลมกลืนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้เกิดความรู้สึกเป็นพม่า พร้อมให้ความจงรักภักดีกับประเทศพม่ามากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ของตน โดยประกาศให้ภาษาพม่าเป็นภาษาประจำชาติ เปลี่ยนตำราเรียนเป็นภาษาพม่าและให้ชุดแต่งกายพม่าเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติ ผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลพม่าดังกล่าวทำให้เกิดกระแสการต่อต้านจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างรุนแรงหลายรูปแบบ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีสำนึกในชาติ-พันธุ์ของตนเองสูงได้ต่อต้านนโยบายการทำให้เป็นพม่าอย่างแรงกล้า รัฐบาลพม่าจึงได้เข้าปราบปรามอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการบังคบใช้แรงงานทาสและเกณฑ์เป็นลูกหาบ การยึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน การตัดอาหาร การบังคับให้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน การปล้น เผาหมู่บ้าน นโยบายตัดสี่ (4 cut policy คือตัดอาหาร งบประมาณ การสื่อสารและกำลังพล ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลพม่าที่มุ่งเป้าการโจมตีไปยังประชาชน พลเรือน เพื่อสร้างความอ่อนแอให้กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยในที่สุด) การข่มขืน รวมไปถึงการ กดขี่รูปแบบต่าง ๆ ที่ผลักไสให้คนนับล้านต้องพลัดถิ่นฐาน จึงทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ต้องอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง (อดิศร เกิดมงคล และบุษยรัตน์  กาญจนดิษฐ์.2550 อ้างถึงใน Human Rights Documentation Unit,2000: 181)

     

  • อื่น ๆ :

              ชุมชนกะเหรี่ยงในพม่าตั้งแต่ในสมัยโบราณจนถึงสมัยอาณานิคม ไม่เคยพัฒนารูปแบบการปกครองสูงเกินกว่าระดับหมู่บ้าน ผู้นำของชาวกะเหรี่ยงจึงมีฐานะแค่เพียงผู้นำหมู่บ้านเท่านั้น การเลือกผู้นำชาวบ้านจะเลือกผู้ที่มีลักษณะผู้นำและมีความฉลาด โดยตำแหน่งนี้สามารถส่งต่อไปยังลูกหลานได้ ผู้นำคนอื่นที่ต้องการตั้งตัวเป็นหัวหน้า ต้องแยกออกไปตั้งหมู่บ้านใหม่ รัฐพม่าไม่นับหมู่บ้านกะเหรี่ยงว่าอยู่ในระบบการปกครองของพม่า แต่จะส่งข้าราชการออกไปคอยเก็บภาษีเครื่องบรรณาการและเกณฑ์แรงงานชาวบ้านไปทำงานให้รัฐ จึงทำให้ชาวบ้านที่เป็นชาวกะเหรี่ยงไม่ชอบเจ้าหน้าที่ของรัฐพม่า ดังนั้นจึงมีบางกลุ่มอพยพหนีจากบริเวณที่ราบไปอยู่บนเทือกเขาสูงที่อำนาจของรัฐตามไปไม่ถึง

              ในช่วงก่อนที่พม่าจะได้รับอิสรภาพจากอังกฤษราว ๆ 20 ปี (ค.ศ.1928) ได้มีชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งชื่อ San C.Po เป็นผู้จุดประกายเรียกร้องให้ชาวกะเหรี่ยงตั้งตนเป็นรัฐอิสระ โดยผ่านการเขียนหนังสือเรื่อง "Burma and The Karens" เพื่อเป็นการเสนอข้อเรียกร้องการจัดตั้งรัฐกะเหรี่ยง ให้เป็นรัฐที่พวกเขาจะสามารถพัฒนาเชื้อชาติกะเหรี่ยงให้เจริญก้าวหน้า โดยเขาได้เสนอต่อรัฐบาลพม่าเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองว่า สามารถพัฒนารูปแบบการปกครองเช่นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยรัฐเล็ก ๆ อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเดียวได้ (Martin Smith.1991: 51 อ้างถึงใน พรพิมล ตรีโชติ, 2542: 93) นอกจากจะเสนอความคิดเห็นผ่านหนังสือแล้ว กลุ่มปัญญาชนของกะเหรี่ยงที่ได้รับการศึกษายังได้ตั้งองค์กรชาวกะเหรี่ยงขึ้นมา มีจุดประสงค์เพื่อปลุกจิตสำนึกให้รักเผ่าพันธุ์ เช่น สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union- KNU) องค์กรแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Association) และ KYO (Kern Youth Organization) โดยยิ่งเวลาผ่านไป กระแสความต้องการการตั้งตนเป็นรัฐอิสระของรัฐกะเหรี่ยง ก็เริ่มเป็นรูปร่างชัดเจนมากขึ้นโดยปรากฏชัดภายหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

              ขณะเดียวกันนโยบายการทำให้เป็นพม่า (Burmarnization) ก็ได้สร้างความไม่พึงพอใจให้กับชาวกะเหรี่ยง และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ จึงเกิดการสู้รบกัน อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่เป็นสาเหตุหลักอันหนึ่งที่บีบให้ชาวกะเหรี่ยงต้องอพยพเข้ามาเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยได้แก่ ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ว่านี้ก็เป็นผลที่เกิดขึ้นมาอีกทอดหนึ่งจากการเมืองการปกครองนั่นก็คือนโยบายรัฐและผู้นำทางการเมืองที่ได้สร้างภาวะความไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศพม่าให้กับนักลงทุนต่างชาติ และอีกประการหนึ่งคือข้อขัดแย้งของรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยที่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศพม่า เนื่องจากบริเวณตามสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติส่วนมากตกอยู่ภายใต้การครอบครองของกลุ่มชาติพันธุ์ ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงเรื้อรัง (อุดม เกิดพิบูลย์, 2549)

              ด้วยนโยบายรัฐทางด้านเศรษฐกิจที่นำโดยนายพลเนวิน ในปี พ.ศ. 2505 ได้ทำการปิดประเทศและโอนกิจการทุกอย่างให้มาเป็นของรัฐ ภายใต้ระบอบสังคมนิยมแบบพม่า (The Burmese Way to Socialism) แต่ก็ล้มเหลวในเวลาต่อมา นโยบายการปิดประเทศที่มีมาช้านานได้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รายได้ต่อหัวของประชาชนลดลง ประชาชนมีรายได้ต่ำ ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณูปโภคเป็นอย่างมาก หลังปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมาประเทศพม่าประสบกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอย่างหนัก มีการขับไล่นักธุรกิจออกนอกประเทศเพื่อจะได้เป็นเจ้าของกิจการ และในปี พ.ศ. 2517 ประเทศพม่าก็ถูกกลุ่มประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลพม่าคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่กักขังผู้นำที่มีความเห็นแตกต่างและเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตยจากรัฐบาลทหารในประเทศพม่า

              ในส่วนพื้นที่การควบคุมของประเทศพม่า ประชาชนเริ่มประสบปัญหากับความอดอยากเพราะไม่มีอาหารเนื่องมาจากการใช้นโยบายเกษตรของรัฐบาลที่บังคับให้ปลูกพืชเชิงพาณิชย์และกำหนดภาษีโควต้าผลผลิต รัฐบาลได้บังคับให้ชาวนาส่งข้าวตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้เพื่อเพิ่มตัวเลขส่งออกข้าวของรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวนายากจนลง ชาวนาบางส่วนที่ไม่สามารถทำได้ก็จะอพยพมาเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยแทน (อดิศร เกิดมงคล และบุษยรัตน์ ดาญจนดิษฐ์, 2550)

     

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย ผศ. ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์ และนักศึกษาชั้นปีที่ 3 (ปีการศึกษา 2557) ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ

    เอกสารอ้างอิง

    • ชวลิต ธนาคำ. (2527). “โครงสร้างทางสังคมของชนเผ่ากะเหรี่ยง". บัณฑิตอาสาสมัคร สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • นฤมล นิราทร.(2555). การเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียน: กรณีแรงงานไร้ฝีมือในประเทศไทย นโยบายแรงงานย้ายถิ่นและกลไกคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ. กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • มาลี สันภูวรรณ์. (2555). “การศึกษาถ้วนหน้า :เด็กข้ามชาติในสวนยางพารามีโอกาสหรือไม่?”. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ ‘ประชากรสังคม 2555’ เรื่องความเป็นชายขอบและความเป็นธรรมในสังคม (หน้า 294-318). นครปฐม. มหาวิทยาลัยมหิดล
    • อดิศร เกิดมงคล และบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์. (2550). คนพลัดถิ่น- คนข้ามแดน. เอกสารประกอบการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 6 รัฐ จากมุมมองของชีวิตประจำวัน. กรุงเทพฯ:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
    • อุดม เกิดพิบูลย์. (2549). พม่า ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ. เชียงใหม่: โชตนาพริ้นต์
    • ข้อมูลพื้นฐาน สหภาพพม่า.(ม.ป.ป). ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี
    • คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง.(2550). คู่มือการจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าว. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ
    • ฉลาดชาย รมิตานนท์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ วิระดา สมสวัสดิ์.พิมพ์ครั้งที่ 8. (2526). พม่า: อดีตและปัจจุบัน. กรุงเทพฯ:  เคล็ดไทย
    • กฤตยา อาชวนิจกุล.(2546). สถานะความรู้เรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยและทิศทางการวิจัยที่พึงพิจารณา. นครปฐม : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
    • ขวัญชีวัน บัวแดง.(2546). ศาสนาและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ศึกษาชุมชนกะเหรี่ยงในประเทศไทยและประเทศพม่า. สถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • ขวัญชีวัน บัวแดง.(2551). “สุขภาพของแรงงานข้ามชาติกับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐ". สังคมศาสตร์. ปีที่ 20, ฉบับที่ 1, หน้า 144-172
    • วิทยา สุจริตธนารักษ์.(2537). การค้าชายแดน. สถาบันเอเชียศึกษา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • อนุธีร์ เดชเทวพร. (2555). “ความเป็นไทย” หลายหน้า: การแย่งชิงและแบ่งปันพื้นที่นิยาม”. วารสาร Veridian E-Journal, SU Vol.5 No.3 September-December 2010 (หน้า 87-105). นครปฐม. มหาวิทยาลัยศิลปากร
    • อนุรักษ์ พันธุรัตน์.(2541). แม่สอดหนึ่งร้อยปี. ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอแม่สอด
    • อรอนงค์ ทิพย์พิมล.(2554). เขตแดนสยามประเทศไทย-มาเลเซีย-พม่า-ลาว-กัมพูชา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

    สัมภาษณ์

    • ตานมิโช. ชุมชนนะเปียวโอดอ บ้านหัวฝาย ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก. สัมภาษณ์โดย ณัฐรดา ภุมรากูล. (25 มีนาคม 2557). สัมภาษณ์
    • แต่เหมเดอ่อง. ชุมชนนะเปียวโอดอ บ้านหัวฝาย ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก. สัมภาษณ์โดย พิภัทรา แจ่มรุจี. (25 มีนาคม 2557). สัมภาษณ์
    • มูเนาะ. ชุมชนนะเปียวโอดอ บ้านหัวฝาย ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก.สัมภาษณ์โดย พิภัทรา แจ่มรุจี. (26 มีนาคม 2557). สัมภาษณ์
    • เยเย. ชุมชนนะเปียวโอดอ บ้านหัวฝาย ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก.สัมภาษณ์โดย พิภัทรา แจ่มรุจี. (26 มีนาคม 2557). สัมภาษณ์
    • อูทุยเต. ผู้นำชุมชน.ชุมชนนะเปียวโอดอ บ้านหัวฝาย ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก. สัมภาษณ์โดย พิภัทรา แจ่มรุจี. (26 มีนาคม 2557). สัมภาษณ์
    • อีมมิย. ชุมชนนะเปียวโอดอ บ้านหัวฝาย ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก.สัมภาษณ์โดย ชิดชนก ศิริโชติ. (27 มีนาคม 2557). สัมภาษณ์
    • เขมม่าเอ. ชุมชนนะเปียวโอดอ บ้านหัวฝาย ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก.สัมภาษณ์โดย พิชชา ฉายรุจิกุล. (27 มีนาคม 2557). สัมภาษณ์
    • เอเอโล่ย. ชุมชนนะเปียวโอดอ บ้านหัวฝาย ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก. สัมภาษณ์โดย พิชชา ฉายรุจิกุล. (28 มีนาคม 2557). สัมภาษณ์
    • ยี. ชุมชนนะเปียวโอดอ บ้านหัวฝาย ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก. สัมภาษณ์โดย พิชชา ฉายรุจิกุล. (28 มีนาคม 2557). สัมภาษณ์
    • ศิริกุล ชุ่มเย็น. ชุมชนนะเปียวโอดอ บ้านหัวฝาย ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก. สัมภาษณ์โดย ณัฐรดา ภุมรากูล. (28 มีนาคม 2557). สัมภาษณ์

     

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร ละติจูด ลองติจูด
ตาก แม่สอด พระธาตุผาแดง บ้านซาทูเหล่40  

  • บทนำ :

              ประวัติและที่มาของ ชุมชนชนนะเปียวโอดอนั้นเป็นแรงงานข้ามชาติที่อพยพมาจากประเทศพม่า ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม คือ กะเหรี่ยง พม่า ไทยใหญ่และคะฉิ่น แต่ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นชาวกะเหรี่ยงเกือบทั้งหมด มีชาวพม่าที่อาศัยอยู่เพียง 3 หลังคาเรือน จากในชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัยทั้งหมดกว่า 40 หลังคาเรือน  คำว่า "นะเปียวโอดอ" เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า "ป่ากล้วย" ทั้งนี้ชุมชนนะเปียวโอดอ ยังรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า หมู่บ้านซาทูเหล่ เนื่องจากชุมชนมีอาณาเขตติดต่อกับโรงเรียนซาทูเหล่ จึงทำให้คนไทยหรือคนภายนอกชุมชนรู้จักชุมชนแห่งนี้ในชื่อ หมู่บ้านซาทูเหล่ มากกว่านะเปียวโอดอ

     

  • ประวัติ/ที่มาของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก) :

              ชุมชนนะเปียวโอดอเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติ อย่างชาวกะเหรี่ยงในประเทศพม่าที่อพยพมาทำงานยังประเทศไทย ชุมชนแห่งนี้เพิ่งก่อตั้งหรือมีการรวมตัวกันขึ้นเป็นชุมชนได้ประมาณ 20 กว่าปี จึงยังไม่มีหลักฐานหรือเอกสารทางวิชาการต่าง ๆ ที่บอกเล่าถึงประวัติและความเป็นมาของชุมชน ชาวบ้านในชุมชนถ่ายทอดผ่านเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป

     

    แผนที่หมู่บ้านนะเปียวโอดอ โดย ปิยสุดา รักติประกร

     

              อูทุยเต อายุ 48 ปี 1 ใน 3 ผู้นำของชุมชน เล่าว่า อพยพมาเมื่อ 20 ปีก่อน มาจากกอกอแระ เยปู ประเทศพม่า พร้อมกับภรรยาและลูก โดยตัวเขานั้นเป็นบ้านหลังแรกที่มาอยู่ที่นี่ จากคำแนะนำของครูชาวไทยคนหนึ่งที่รู้จักกันว่าให้มาอยู่ที่บริเวณชุมชนนะเปียวโอดอในปัจจุบัน และสร้างบ้านขึ้นเป็นของตัวเองโดยไม่เสียค่าเช่าที่ดิน บริเวณโดยรอบยังคงเป็นป่ารกร้าง แต่ต่อมาเมื่อเขาสร้างบ้านอยู่แล้วก็มีคนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ 

              เอเอโล่ย อายุ 45 ปี ภรรยาของจามี๊โรว 1 ใน 3 ผู้นำชุมชน ซึ่งเอเอโล่ยนั้นมีการบอกเล่าถึงที่มาของชุมชนที่แตกต่างออกไปจากอูทุยเต คือ ชุมชนนะเปียวโอดอเริ่มต้นมาจากการที่พื้นที่ชุมชนนั้นจะเป็นป่าทั้งหมด โดยเริ่มแรกนั้นไม่ต้องเสียค่าใช้เช่าที่ดิน ซึ่งใครอยากอยู่ตรงส่วนไหนก็สามารถจับจองพื้นที่แล้วสร้างบ้านได้เลย บ้านหลังแรกเป็นบ้านของนายจ้างชาวไทยชื่อว่า นายประเวท (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นนายจ้างและเจ้าของกิจการ ซึ่งสร้างบ้านเป็นบ้านอยู่หนึ่งหลังเดี่ยว ๆ ในชุมชน และบริเวณโดยรอบเป็นป่าทั้งหมด บ้านหลังต่อมาที่มาสร้างเป็นบ้านของ ตานี่เช่ย ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายออกไปประมาณ 2-3 ปีแล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านที่ดินผืนนี้ แต่หลังจากที่ตานี่เช่ยเข้ามาอยู่ที่ชุมชนนี้ คนอื่น ๆ ก็เริ่มทยอยเข้ามาจับจองพื้นที่และสร้างบ้านเช่นกัน บ้านหลังแรกที่เป็นของคนไทยนั้นจะมีลูกจ้างอยู่ด้วยกัน 4 ครอบครัว แต่มีเพียง 3 ครอบครัวที่ยังอยู่มาจนถึงปัจจุบัน คือ ครอบครัวของอูทุยเต อูวีดิ และครอบครัวของเขาเอง (จามี๊โรวและเอเอโล่ย) เมื่อนายจ้างได้ขยายกิจการที่อื่นเขาก็ได้บอกให้ลูกจ้างทั้ง 4 ครอบครัวนั้นย้ายออกจากบ้านเพื่อสร้างบ้านของตนเองแต่ยังสามารถอยู่ในพื้นที่บริเวณที่ดินที่เป็นของนายจ้างได้ แต่ละครอบครัวก็ได้แยกย้ายไปสร้างบ้านหลังใหม่ในบริเวณอื่น แต่ยังคงอยู่ในที่ดินผืนเดียวกัน โดยเมื่อนายจ้างให้พวกเขาย้ายออกมาแล้วนั้น มีครอบครัวหนึ่งได้ย้ายออกไปที่อื่น ครอบครัวจามิ๊โรวนั้น ก็ได้ออกมาสร้างบ้านหลังใหม่ตรงบริเวณด้านหน้าของโรงเรียนซาทูเหล่ในปัจจุบัน ส่วนครอบครัวของอูทุยเต และอูวีดิ ก็ได้กระจายตัวออกมาสร้างบ้านหลังใหม่ยังบริเวณใกล้เคียงนั่นเอง จนกระทั่งเวลาต่อมามีคนมาอาศัยอยู่บริเวณที่เรียกว่า "นะเปียวโอดอ" เพิ่มมากขึ้นจากการชักชวนญาติ เพื่อน คนรู้จักและคนอื่น ๆ ที่อพยพมาจากประเทศพม่า ให้เข้ามาอยู่บริเวณนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

     

  • วิถีชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก) :

              การอพยพเข้ามายังประเทศไทย ทำให้อัตลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชนนะเปียวโอดอต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เนื่องจากพื้นที่ในอำเภอแม่สอดเป็นพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลาย คนในชุมชนต้องปรับตัวให้กับสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกมากขึ้น และรับเอาวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามา เป็นเหตุให้ชุมชนลดทอนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมบางส่วนของตนออกไป และเลือกรับวัฒนธรรมภายนอกที่ตนเห็นว่าเหมาะสมกับสภาพสังคมเข้ามาแทน แต่คนในชุมชนนะเปียวโอดอยังคงมีอัตลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมของตนอยู่ อันได้แก่ ภาษาและความเชื่อ

              คนในชุมชนยังคงใช้ภาษากะเหรี่ยงในชีวิตประจำวัน บางคนยังพูดภาษาไทยไม่ได้ ทำให้ "ความเป็นอื่น" ของคนในชุมชนนะเปียวโอดอยังปรากฏให้เห็นผ่านมุมมองของคนในสังคมไทยที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เนื่องจากคนทั่วไปยังคงมองว่าการที่อยู่ในสังคมไทยต้องใช้ภาษาไทยในการสื่อสารถึงจะได้รับการยอมรับในสังคม ส่งผลให้คนในชุมชนนะเปียวโอดอส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนบ้านหัวฝาย ซึ่งเป็นโรงเรียนของไทย เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ภาษาไทย ปลูกฝังค่านิยมความเป็นไทย อันเป็นสิ่งที่ช่วยลดทอน ‘ความเป็นอื่น’ และการเรียนกับเด็กไทย จะช่วยลดช่องว่างของความแตกต่างระหว่างคนภายนอกกับคนในชุมชนนะเปียวโอดอได้ การที่คนในชุมชนนะเปียวโอดอยังคงธำรงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตนไว้อยู่นั้น เพราะคนในชุมชนมีความหวังอยู่ลึก ๆ ว่าสักวันจะเดินทางกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่ถิ่นกำเนิดของตน แม้ว่าอัตลักษณ์เหล่านั้นจะแสดงถึงความเป็นคนอื่นของคนในชุมชนภายใต้บริบทในสังคมไทยก็ตาม

              ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจนับว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดชุมชนนะเปียวโอดอแห่งนี้ขึ้น เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจในประเทศพม่าไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในสังคมบางส่วนได้ ดังนั้นพวกเขาเหล่านี้จึงต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทย เพื่อหางานทำซึ่งมีรายได้ดีและมากกว่าอยู่ที่ประเทศพม่า การเป็นแรงงานข้ามชาติทำให้คนในชุมชนมีรายได้ที่น้อยและถูกจำกัดสิทธิในหลาย ๆ ด้าน ทำให้พวกเขาไม่สามารถมีตัวตนเพื่อต่อรองกับอำนาจต่าง ๆ ได้ นั่นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนต้องเกิดการปรับตัวในด้านต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ โดยแต่เดิมนั้นคนในชุมชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงที่มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายโดยการเลี้ยงสัตว์ ทำนา แต่เมื่ออพยพมาในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณชุมชนนะเปียวโอดอที่ไม่สามารถประกอบอาชีพเหล่านั้นได้ เนื่องจากจากการสังเกตพื้นที่บริเวณโดยรอบ พบว่าพื้นที่ในชุมชนไม่เอื้อต่อการทำไร่นาหรือสวนต่าง ๆ เพราะคนในชุมชนไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ของตนเองและมีการเช่าที่อยู่อาศัยจึงไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ อย่างไรก็ตามบ้านบางหลังนั้นจะมีการปลูกผักไว้กินเองบ้าง แต่ไม่ได้ปลูกเพื่อการค้า บางบ้านก็มีการเลี้ยงไก่ เช่น บ้านของอาวตู อายุ 30 ปี เจ้าของร้านขายของชำบริเวณด้านหน้าชุมชน พบว่าเลี้ยงไก่ไว้ตีหรือชนไก่แต่ไม่ได้เลี้ยงไว้เพื่อบริโภคแต่อย่างใด ทั้งนี้ในชุมชนเองก็มีร้านขายของชำให้ซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันทั่วไปและผัก บางวันมีรถนำสินค้าเข้ามาขายในชุมชน บางบ้านมีการทำการค้าขาย เช่น คุณวี อายุ 38 ปี ทำอาชีพรับซื้อเศษผ้ามาจากตลาดในอำเภอแม่สอด เพื่อนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าและนำไปขายที่ตลาดนัดบริเวณหมู่บ้านหัวฝายทุกวันอาทิตย์ เนื่องจากเคยทำงานในโรงงานเย็บผ้าในกรุงเทพฯ มาก่อน ส่วนสามีทำงานรับจ้างเป็นพนักงานขับรถเมียวดี-แม่สอด

              นอกจากนี้ในด้านสาธารณูปโภคคนในชุมชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าน้ำ เพราะมีการใช้จากบ่อบาดาลที่ขุดขึ้นเองภายในหมู่บ้านโดยรอบประมาณ 5-6 บ่อ ส่วนค่าไฟจะมีการพ่วงจากบ้านของคนอื่นราคาจึงขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้าน เช่น มูเนาะ อายุ 33 ปี ชาวบ้านในชุมชน ที่ต่อพ่วงไฟฟ้าจากบ้านของคนไทยจะเสียแบบเหมารายเดือน เดือนละ 200 บาท ขณะที่บ้านของเยเยต่อพ่วงไฟฟ้าจากบ้านของคนกะเหรี่ยงจะเสียค่าใช้จ่ายตามที่ใช้โดยเสียประมาณเดือนละ 700-800 บาท ส่วนค่าเช่าที่อยู่อาศัยจะเสียเกือบเท่ากันทุกหลัง คือ ประมาณ 500 บาท ทั้งนี้จากการสอบถามหัวหน้าชุมชน คือ อูทุยเต อายุ 48 ปี จึงทำให้ทราบว่าที่ดินบริเวณนี้นั้นมีหลายแห่งหลายเจ้าของ นั่นจึงทำให้ค่าเช่าที่ดินและค่าไฟของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน (เนื่องจากเป็นข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2557 ปัจจุบันค่าครองชีพดังกล่าวอาจปรับเปลี่ยนไป)

              จะเห็นได้ว่าชุมชนนะเปียวโอดอไม่มีผลผลิตทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน และไม่มีทรัพยากรเป็นของตนเองต้องอาศัยทรัพยากรของบุคคลอื่น ชุมชนนะเปียวโอดอยังมีการติดต่อค้าขายกับคนภายนอก เห็นได้จากการมีร้านขายของชำในหมู่บ้าน ซึ่งต้องนำสินค้าจากภายนอกเข้ามาขายในชุมชน มีรถนำสินค้าภายนอกเข้ามาขายในชุมชนและการทำสินค้าขายเองที่ตลาดนัดของบ้านบางหลัง แต่สินค้าที่นำไปขายนั้นก็ไม่ใช่สินค้าที่แสดงอัตลักษณ์ของชุมชนนะเปียวโอดอ อีกทั้งชุมชนนะเปียวโอดอเป็นชุมชนของแรงงานข้ามชาติ มีอาชีพหาเช้ากินค่ำเป็นส่วนใหญ่และการเป็นแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายทำให้คนในชุมชนโดนกดค่าแรงจากนายจ้าง ซึ่งบางคนไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐ คือ 300 บาทต่อวัน คนส่วนใหญ่ของชุมชนมีอาชีพแรงงานแต่ไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นแรงงานประเภทใด มีการกระจายไปในทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานโรงงานอุตสาหกรรม แรงงานก่อสร้างและแรงงานทางการเกษตร

     

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก) :

              คนในชุมชนนะเปียวโอดอ มีครอบครัวรูปแบบประเภทครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวเป็นไปในลักษณะกลุ่มปฐมภูมิ (Primay Group) ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก คนในชุมชนมีเพียง 2 รุ่น คือ รุ่นพ่อแม่และรุ่นลูก ผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัวมีหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัว การคลอดนั้นต้องทำในชุมชนหรือคลินิกแม่ตาว ไม่สามารถคลอดที่โรงพยาบาลในแม่สอดได้ เนื่องจากเป็นแรงงานข้ามชาติ ไม่มีบัตรประจำตัวและอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง การแต่งงานเป็นการแต่งงานนอกกลุ่ม (Exogamy) ไม่ทราบว่าสืบเชื้อสายทางบิดาหรือทางมารดา มีการเปลี่ยนแปลงมาใช้การแต่งงานแบบไทย และมีพิธีของพม่าเข้าผสม และการเข้าไปอาศัยในครอบครัวของคู่แต่งงานยังเป็นแบบดั้งเดิมอยู่ ยังคงแสดงให้เห็นว่าคนในชุมชนยังยึดหลักประเพณีดั้งเดิมของตนอยู่     

              ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนนะเปียวโอดอมีรูปแบบที่ไม่ได้เป็นเครือญาติกัน ส่วนมากจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่ทำงานด้วยกันและชักชวนกันมาอยู่ในชุมชน และนั่นจึงทำให้คนในชุมชนมีความสนิทสนมกันคล้ายกับเป็นเครือญาติ แต่ทั้งนี้ก็เป็นไปในลักษณะความสัมพันธ์แบบเพื่อนบ้านที่ไม่ใช่เครือญาติโดยสายเลือด แต่คนในชุมชนยังคงมีการติดต่อกับญาติของตนที่ถิ่นฐานเดิมคือ ประเทศพม่า และญาติที่อาศัยอยู่ในชุมชนอื่น ๆ ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน มีการติดต่อกลับไปหาครอบครัวที่ประเทศพม่าอยู่  โดยยังมีการส่งเงินที่ได้จากค่าแรงกลับไปให้พ่อและแม่ที่ประเทศพม่า ชาวบ้านในชุมชนนะเปียวโอดอจะแยกบ้านกันอยู่ตามครอบครัวของตน มีลักษณะครอบครัวอยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยว ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก มักจะมีลูกหลายคนโดยประมาณครอบครัวละ 2 คนขึ้นไป บางครอบครัวอาจจะมีลูกถึง 5 คน ครอบครัวในชุมชนนะเปียวโอดอส่วนมากจะอพยพมาอาศัยอยู่กันเป็นครอบครัวมาก่อนจากประเทศพม่า มีบางครอบครัวเท่านั้นที่มาสร้างครอบครัวและแต่งงานที่ชุมชนนะเปียวโอดอ

     

  • การแต่งกายของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก) :

              แต่งกายด้วยรูปแบบอย่างไทยและพม่าร่วมสมัย   

     

  • บ้านของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก) :

              ชุมชนนะเปียวโอดอ  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของโรงเรียนซาทูเหล่ บ้านหัวฝาย ตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บริเวณโดยรอบพื้นที่ของชุมชนนั้นถูกล้อมรอบไปด้วยโรงงานต่าง ๆ และบ้านของคนไทยอีกหลายหลัง โดยมีทางเข้าและออกเพียงทางเดียว คือบริเวณที่มีอาณาเขตติดกับโรงเรียนซาทูเหล่ มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 40 หลังคาเรือน แต่มีบ้านที่สร้างขึ้นทั้งหมด 50 หลัง โดยบ้านบางหลังไม่มีผู้อยู่อาศัยจึงถูกปล่อยให้รกร้าง

              ส่วนรูปแบบบ้านนั้นถูกสร้างขึ้นในลักษณะเรียบง่าย ส่วนใหญ่ทำจากไม้ พื้นบ้านยกสูงเล็กน้อย มุงหลังคาสังกะสีหรือใบตองตึง มีเพียงบ้านบางหลังเท่านั้นที่ปลูกเป็นสังกะสีทั้งหลัง ไม่มีแบบแผนที่แน่นอน สร้างขึ้นอย่างกระจัดกระจายตามความพอใจของผู้อยู่อาศัย แต่ในปัจจุบันต้องสร้างบ้านโดยรู้ว่าบริเวณนั้นใครเป็นเจ้าของ เพราะพื้นที่ในชุมชนแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 แปลง 5 เจ้าของ ซึ่งที่ดินบางแปลงนั้นต้องเสียค่าเช่าที่ดิน โดยแล้วแต่การตกลงกันของเจ้าของที่ดินและชาวบ้านที่แตกต่างกันในแต่ละแปลงขณะเดียวกันที่ดินบางเจ้าของก็ไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ดินแต่อย่างใด

     

    ลักษณะบ้านที่สร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายด้วยใบตองตึงสลับกับสังกะสี

    ภาพโดย  ชิดชนก ศิริโชติ

     

  • การเกิดของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก) :

              การคลอดลูกจะมีบางครอบครัวที่คลอดที่บ้านเอง โดยอาศัยผู้หญิงในชุมชนที่มีประสบการณ์ในการคลอดลูกมาช่วยในการทำคลอด บางคนจะไปคลอดที่คลินิกแม่ตาว 

     

  • การแต่งงานของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก) :

              รูปแบบการแต่งงานของคนในชุมชนนั้น อีมมิย อายุ 39 ปี ชาวบ้านในชุมชน เล่าว่า รูปแบบการแต่งงานในชุมชนจะมีพิธีกรรมการแต่งงานที่เหมือนกับคนไทย เช่น มีการเชิญพระสงฆ์มาสวดมนต์จากวัดหนองบัวบูรพาและมีการผูกข้อไม้ข้อมือเหมือนที่ประเทศพม่า จากตรงนี้จะเห็นได้ว่าพิธีแต่งงานของคนในชุมชนจะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาที่คนในชุมชนส่วนใหญ่นับถือ โดยทั่วไปคนในชุมชนมักจะแต่งงานเมื่ออายุประมาณ 18 ปี ขึ้นไป ถ้าเป็นคนพม่าเมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงจะย้ายไปอยู่บ้านของฝ่ายชาย แต่ถ้าเป็นคนกะเหรี่ยงเมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะย้ายไปอยู่ที่บ้านของฝ่ายหญิง ซึ่งเหมือนกันกับการแต่งงานแบบครอบครัวดั้งเดิมของคนกะเหรี่ยงที่เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะย้ายไปอยู่ที่บ้านของพ่อแม่ฝ่ายหญิงอย่างน้อยเป็นเวลาหนึ่งปี แล้วจึงแยกครอบครัวไปตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งสาเหตุที่ต้องให้ฝ่ายชายไปอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิงก็เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ของฝ่ายหญิงที่เลี้ยงดูภรรยาของเขามา โดยฝ่ายชายจะไปช่วยเป็นแรงงานในการทำไร่ ส่วนฝ่ายหญิงก็มีความพอใจที่สามีมาอยู่ในบ้านจึงหมดปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับครอบครัวทางฝ่ายสามี โดยเฉพาะแม่สามี ครอบครัวส่วนใหญ่ผู้ชายจะเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นคนที่ทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวและมีบทบาทในการเป็นผู้นำชุมชน ส่วนผู้หญิงถ้ายังไม่ได้แต่งงานก็จะทำงาน เช่น ทำงานบ้าน ทำงานในโรงงาน เป็นต้น แต่ถ้าแต่งงานแล้วก็จะไม่ได้ทำงานจะอยู่บ้านดูแลลูกและทำงานบ้าน 

     

  • การขึ้นปีใหม่ของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก) :

              อีมมิย ชาวบ้านในชุมชนนะเปียวโอดอ ได้เล่าว่า "ในวันสำคัญทางศาสนาพุทธชาวบ้านในชุมชนก็จะเดินทางมาทำบุญตักบาตรที่วัดป่าเก่า ซึ่งของที่ใช้ใส่บาตรนั้นจะเป็นข้าวกับขนมแต่จะไม่มีเนื้อสัตว์ ส่วนประเพณีที่สำคัญของไทยอย่างประเพณีสงกรานต์ก็จะมีการทำบุญครั้งใหญ่ เพราะมีความเชื่อที่ว่าวันสงกรานต์ก็คือวันปีใหม่ นอกจากนั้นแล้วยังมีการจัดประเพณีปีใหม่กะเหรี่ยงภายในวัด ซึ่งประเพณีปีใหม่กะเหรี่ยงนั้นเป็นประเพณีที่เก่าแก่ของคนกะเหรี่ยง ประเพณีนี้พระในวัดจะมาทำพิธีในการให้พรและมีการผูกข้อมือเป็นพิธี ในส่วนของประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธอีกหนึ่งประเพณีคือ ทัมมันเนทู ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นในชุมชนทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ประเพณีนี้เป็นประเพณีที่คนในชุมชนทั้งคนกะเหรี่ยงและคนพม่าจะมาทำอาหารเพื่อถวายพระร่วมกัน อาหารที่จะนำมาถวายพระจะทำโดยการนำเอาข้าวเหนียวมาผสมกับมะพร้าว ถั่ว และน้ำมันมาคลุกรวมกัน การทำประเพณีนี้จะต้องใช้คนช่วยเยอะคนในหมู่บ้านจึงมาช่วยกันทำทั้งหมด"

     

  • ศาสนาและความเชื่อของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก) :

              ศาสนาที่ชาวบ้านในชุมชนนะเปียวโอดอนับถือนั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ แต่ชาวบ้านในชุมชนโดยส่วนใหญ่นั้นจะนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก และชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์นั้นจะมีอยู่เพียงแค่ 2 ครอบครัวเท่านั้น เนื่องมาจากชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นคนกะเหรี่ยงและคนพม่าที่นับถือศาสนาพุทธมาแต่เดิม และยังคงมีความมั่นคงศรัทธาในพุทธศาสนาอยู่เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้วชาวบ้านในชุมชนก็ยังคงมีความเชื่อดั้งเดิมและมีการนับถือผีอยู่ด้วยเช่นกัน ภายในชุมชนแห่งนี้จึงมีการประกอบพิธีกรรมทั้งในรูปแบบของศาสนาและความเชื่อที่ปฏิบัติต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน

     

    รูปภาพหลวงพ่อต่ามันยะที่ติดอยู่ภายในบ้าน 

    ภาพโดย ชิดชนก ศิริโชต

     

              โดยส่วนใหญ่ทั้งคนกะเหรี่ยงและคนพม่าจะนับถือ หลวงพ่อต่ามันยะ ซึ่งเป็นความเชื่อหลักในเรื่องของการปกปักรักษาดูแลลูกหลานของคนในเมืองตองซูที่อยู่ในรัฐกะเหรี่ยง จะเห็นได้จากการที่บ้านทุกหลังที่นับถือศาสนาพุทธจะมีหิ้งพระ ซึ่งการจัดหิ้งพระภายในบ้านนั้นก็จะมีรูปแบบทั่วไปซึ่งอยู่สูงกว่าสิ่งอื่น ๆ ภายในบ้าน นอกจากนั้นแล้วยังมีรูปของหลวงพ่อต่ามันยะอยู่บนหิ้งพระทุกบ้าน บนหิ้งพระภายในบ้านจะมีการถวายน้ำและดอกไม้สด เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่าน้ำและดอกไม้สดจะนำมาซึ่งความสงบสุขร่มเย็นและเจริญรุ่งเรือง

              นอกจากนั้นชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้จะเดินทางไปทำบุญที่วัดบริเวณใกล้เคียงกับชุมชนซึ่งอยู่ห่างประมาณ 5-6 กิโลเมตร นั่นคือ วัดภาวนานิยมารามหรือเป็นที่รู้จักกันว่า วัดป่าเก่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นมาประมาณ 110 ปีมาแล้วและเป็นวัดกะเหรี่ยงที่อยู่ใกล้กับชุมชนมากที่สุดจึงทำให้ทั้งคนกะเหรี่ยงและคนพม่านิยมไปทำบุญหรือเข้าร่วมประเพณีที่สำคัญที่วัดนี้ ภายในวัดจะมีเจ้าอาวาสที่เป็นคนกะเหรี่ยงและพระสงฆ์ที่จำวัดทั้งคนไทยและคนกะเหรี่ยง ซึ่งพระสงฆ์จากวัดนี้จะเดินเท้าออกบิณฑบาตในละแวกชุมชนทุกวันเวลา 08.30 น.

              เขมม่าเอ อายุ 29 ปี เป็นชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ในชุมชนนะเปียวโอดอ กล่าวว่า ในชุมชนมีชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์อยู่ 2 ครอบครัว ศาสนาคริสต์ของคนพม่านั้นจะมีการไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์และมีการทำพิธี โดยมีบาทหลวงเป็นผู้ทำพิธีไม่ต่างไปจากศาสนาคริสต์ของคนไทยเท่าไรนัก การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีแต่งงาน พิธีมิสซา หรือพิธีอื่น ๆ จะจัดขึ้นที่โบสถ์ ศูนย์อบรมพระคริสต์ธรรมแม่สอด ตั้งอยู่บริเวณชุมชนหัวฝายซึ่งอยู่ใกล้กับชุมชนนะเปียวโอดอ แม้ว่าครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์จะมีอยู่แค่ 2 ครอบครัว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกแปลกแยกเพราะเมื่อมีการจัดงานประเพณีที่สำคัญทางศาสนาพุทธ ชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ก็จะเข้าร่วมและให้ความช่วยเหลือด้วยเช่นกัน

              ชาวบ้านในชุมชนนะเปียวโอดอส่วนใหญ่เป็นคนกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากประเทศพม่า จึงทำให้มีความเชื่อดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่บ้านเกิด ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ ความเชื่อแบบอ๊องแฮ ดูเวย์ และบาพ่อง ความเชื่อแบบอ๊องแฮ เป็นการไหว้เทพ ศาลเจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าที่ ซึ่งการเซ่นไหว้จะทำที่ศาลนอกบ้านขนาดเล็กที่สร้างขึ้นสำหรับพิธีไหว้อ๊องแฮโดยเฉพาะและเมื่อทำพิธีไหว้เสร็จแล้วก็จะต้องรื้อศาลทิ้ง อาหารที่ใช้ในการเซ่นไหว้จะเป็นอาหารประเภทปลา ไก่ และอาหารเจ ส่วนความเชื่อแบบดูเวย์ เป็นการไหว้เจดีย์ที่มีความสำคัญต่อประเทศพม่าที่คนส่วนใหญ่เคารพนับถือ ของที่ใช้ในการเซ่นไหว้จะเป็นกล้วย มะพร้าว และธูปเทียน ส่วนความเชื่อแบบบาพ่อง เป็นการไหว้ข้าวสาร เพราะมีความเชื่อที่ว่าข้าวสารนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิต ซึ่งความเชื่อทั้ง 3 ประเภทนั้นจะต้องกลับไปทำพิธีเซ่นไหว้ที่ประเทศพม่าและต้องทำพิธีเป็นประจำทุกปี ความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่ตอนที่รัฐกะเหรี่ยงยังมีกษัตริย์และเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาเรื่อย ๆ

              อีกทั้งยังมีในส่วนของประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อดั้งเดิมของคนในชุมชนก็คือ ประเพณีผูกแขนของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ซึ่งภายในพิธีก็จะมีการนำเอาสายสิญจน์สีขาวและสีแดงมาผูกที่แขน ประเพณีนี้จัดขึ้นเพื่อสมานความสามัคคีของชาวกะเหรี่ยงสกอกับกะเหรี่ยงโป โดยการอธิษฐานขอให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบไม่ขัดแย้งกัน ประเพณีนี้จะจัดขึ้นที่โรงเรียนซาทูเหล่ซึ่งในละแวกชุมชน แม้ว่าประเพณีนี้จะเป็นประเพณีของชาวกะเหรี่ยงแต่คนพม่าที่นี่ก็เข้าร่วมด้วยเช่นกันด้วยความเชื่อที่ว่าการผูกแขนจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและความสุข แต่ประเพณีนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาเนื่องจากเป็นเรื่องของความเชื่อของคนแก่โบราณที่จะเรียกขวัญคนหนุ่มสาวเพียงเท่านั้น

              นอกจากนั้น ความเชื่อดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงยังมีการไหว้เทพที่มีชื่อว่า อาพูบูบูอ่าว เพราะเชื่อที่ว่าเทพองค์นี้จะคอยดูแลเด็ก ๆ เวลาเจ็บป่วย และคอยคุ้มครองในเวลาที่ต้องเดินทาง การเซ่นไหว้เทพองค์นี้จะเป็นข้าวสาร น้ำและน้ำหวาน คนกะเหรี่ยงในชุมชนนั้นก็มีความเชื่อที่ต่างกันออกไปเช่นกันเพราะบางบ้านจะมีการไหว้ผีบรรพบุรุษแต่บางบ้านก็จะเผาทิ้งทุกอย่างทั้งหมดและไม่มีการไหว้บรรพบุรุษหลังจากเสียชีวิต

     

  • สถานการณ์ปัจจุบันของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก) :

             คนในชุมชนนะเปียวโอดอโดยส่วนมากในช่วงของวัยรุ่นพ่อและแม่นั้นจะจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาตอนต้น ประมาณระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จากประเทศพม่า ส่วนรุ่นลูกนั้นจะได้เรียนหนังสือมากกว่าในรุ่นของพ่อและแม่ เพราะพ่อและแม่ส่วนใหญ่ต้องการที่จะส่งให้ลูกได้เรียนสูงที่สุด แต่ระดับการศึกษาของเด็กในชุมชนที่สูงที่สุดอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย นั่นคือในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สถาบันการศึกษาที่คนในชุมชนนะเปียวโอดอเลือกเรียนมีอยู่ 2 สถาบันด้วยกัน คือ โรงเรียนซาทูเหล่ และโรงเรียนบ้านหัวฝาย โดยคนส่วนใหญ่ในชุมชนมักส่งลูกไปเรียน ณ โรงเรียนบ้านหัวฝาย เนื่องจากไม่เสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อีกทั้งเมื่อไปเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ลูก ๆ ของพวกเขาจะสามารถฝึกฝนพูดคุยเป็นภาษาไทยได้อีกด้วย เพราะการเรียนการสอนที่โรงเรียนบ้านหัวฝายจะสอนโดยครูคนไทยและใช้ภาษาไทยในการสอน (มูเนาะ: สัมภาษณ์) ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญเพราะพ่อแม่รวมทั้งเด็ก ๆ อยากที่จะพูดภาษาไทยได้ จึงทำให้คนในชุมชนนะเปียวโอดอไม่นิยมส่งลูกเรียนโรงเรียนซาทูเหล่ที่ตั้งอยู่ใกล้กับตัวชุมชนมากกว่าเพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าบำรุง 1,200 บาท/ปี

              โรงเรียนซาทูเหล่ก่อตั้งมาได้ประมาณ 10 กว่าปีแล้ว โดยถือว่าเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดสำหรับคนกะเหรี่ยงจะเปิดสอนในระดับชั้นเตรียมอนุบาลถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาแต่จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าบำรุง 1,200 บาท/ปี โดยเปิดเรียนเดือนมิถุนายนถึงเดือนมีนาคมนักเรียนที่เรียนมีทั้งคนพม่าและคนกะเหรี่ยง ห้องเรียนมี 2 ห้อง ห้องละประมาณ 34 คน ครูที่สอนส่วนใหญ่เป็นคนพม่าจะใช้ภาษาพม่าในการสอน วิชาหลัก ๆ ที่สอน คือ คอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาพม่าและภาษากะเหรี่ยง (ตานมิโซ : สัมภาษณ์) ที่โรงเรียนซาทูเหล่จะมีสายการเรียน Economic กับ Biology เป็นหลักสูตรแบบไทยและอีกหลักสูตรหนึ่ง คือ หลักสูตรแบบพม่า จะเรียนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเทียบเท่ากับระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของหลักสูตรแบบไทย เมื่อเรียนจบสามารถเรียนต่อที่มหาลัยพม่าได้ โดยจะต้องสอบวิชาพม่า อังกฤษ ชีวะ ฟิสิกส์ เคมี คณิต ถ้าได้คะแนน 450 คะแนนจะสามารถเป็นนักบินได้ แต่ถ้าสอบได้ 500 คะแนนจะสามารถสมัครเป็นหมอได้ ในเรื่องของเครื่องแบบการแต่งกายของนักเรียนทั้ง 2 หลักสูตรจะมีความแตกต่างกัน คือ หลักสูตรแบบพม่านักเรียนชายจะใส่กางเกงขาสั้นหรือโสร่ง ส่วนนักเรียนหญิงจะใส่ผ้าถุง แต่ถ้าเป็นหลักสูตรแบบไทยนักเรียนชายจะใส่กางเกงขายาว ส่วนนักเรียนหญิงจะใส่กระโปรง นอกจากนั้นแล้วในเรื่องของการเดินทางมาเรียนที่โรงเรียนซาทูเหล่นั้นจะมีรถสองแถวที่ไว้สำหรับรับและส่งนักเรียนทั้งขาไปและขากลับ (เหมเดอ่อง : สัมภาษณ์)

              แม้ว่าการเรียนที่โรงเรียนซาทูเหล่จะสอนภาษาที่หลากหลายมากกว่า เนื่องจากมีการสอนภาษาพม่าและภาษากะเหรี่ยงเพิ่ม แต่ทั้งนี้วิชาหลัก ๆ ที่สอนก็จะมีลักษณะที่คล้ายกับโรงเรียนบ้านหัวฝาย เช่น วิชาคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เป็นต้น นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อแม่เลือกที่จะส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนบ้านหัวฝายมากกว่าโรงเรียนบ้านหัวฝาย มีครูทั้งหมด 11 คน แต่มีนักเรียน 330 คน จึงทำให้จำนวนครูไม่ค่อยเพียงพอเท่าไรนัก ทำให้ครูประจำชั้นต้องสอนทุกวิชาจึงไม่ค่อยมีเวลาพัก จะได้พักเมื่อเด็กไปเรียนคอมพิวเตอร์ที่ อบต. ที่โรงเรียนบ้านหัวฝายจะเน้นสอนภาษาไทยเพราะส่วนใหญ่ครูที่สอนจะเป็นคนไทยจึงส่งผลให้ต้องใช้ภาษาไทยในการสอนหนังสือ มีการเคารพธงชาติและมีการปลูกฝังความเป็นไทยให้กับเด็กนักเรียน แม้ว่านักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นพม่า มีเด็กไทยอยู่บ้างแต่เป็นจำนวนน้อยเพราะส่วนใหญ่แล้วจะไปเรียนที่เทศบาลมากกว่า เด็กที่มาเรียนจึงเป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นส่วนมาก และโรงเรียนจะมีการส่งชื่อเด็กที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติที่มาเรียนหนังสือไปยังอำเภอแม่สอดเพื่อทำบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือบัตรเลข 0 ให้แก่นักเรียนที่ไม่มีบัตรประชาชนด้วย (ครูศิริกุล ชุ่มเย็น : สัมภาษณ์)      

     

  • การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายในปัจจุบันของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก) :

              ชุมชนนะเปียวโอดอ เป็นชุมชนที่ได้มีการพัฒนาเป็นระยะเวลาไม่นานมากนัก จากการเป็นที่พักชั่วคราวของแรงงานข้ามชาติจนกลายมาเป็นชุมชนในปัจจุบัน จึงทำให้ภายในชุมชนไม่มีโครงสร้างและรูปแบบของการปกครองที่ตายตัว แต่จะมีผู้นำชุมชนที่ได้รับความนับถือจากคนในชุมชนเนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ในชุมชนมาตั้งแต่แรก ผู้นำชุมชนที่คอยดูแลคนในชุมชนมีจำนวน 3 คน ได้แก่ อูทุยเต อูวีดิ และจามี๊โรว

              อูทุยเต เป็นคนกะเหรี่ยงที่ย้ายมาจากเมืองเมียวดีประเทศพม่าประมาณ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ในชุมชน คอยดูแลชาวบ้านในส่วนของการย้ายเข้า-ย้ายออกและคอยไกล่เกลี่ยเมื่อชาวบ้านมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน นอกจากนั้นแล้วยังเป็นผู้ที่จัดการประชุมชาวบ้านในชุมชน เพื่อสอนชาวบ้านให้รักษากฎตามกฎหมายของไทยเพื่อการดำรงชีวิตอย่างสงบสุข ผู้นำอีกคนหนึ่งคือ อูวีดิ เป็นคนกะเหรี่ยงที่สามารถพูดภาษาไทยได้คล่อง จึงมีหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับทางภาครัฐของไทยเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ยากเกินกว่าที่คนในชุมชนจะทำเองได้

              เมื่อชุมชนเกิดปัญหาที่รุนแรงเกินกว่าที่ผู้นำชุมชนจะแก้ไขได้ก็จะมีการประสานงานกับองค์กรภายนอกเพื่อเข้ามาช่วยเหลือชุมชน โดยองค์กรเหล่านี้เปรียบเสมือนเครือข่ายที่เป็นตัวแทนในการติดต่อระหว่างชุมชนกับองค์กรภายนอกอย่างรัฐไทย ได้แก่ 1) KYO (Karen Youth Organization) เป็นองค์กรที่ช่วยดูแลและช่วยเหลือสังคมของคนกะเหรี่ยงในต่างถิ่นให้มีศักยภาพในการใช้ชีวิตและการทำงาน นอกจากนั้นแล้วยังมีส่วนเข้ามาจัดการปัญหาภายในชุมชนนะเปียวโอดอ เช่น การจัดงานศพ ช่วยเหลือคนป่วย เป็นต้น และ  2) People Volunteers’ Association เป็นองค์กรที่คนพม่าก่อตั้งขึ้น องค์กรนี้จะช่วยประสานงานในส่วนของความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ เพื่อมาแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติของประเทศพม่า         

     

Access Point
No results found.

ชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นกลุ่มผู้เคลื่อนย้ายจากประเทศพม่าเพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ในชุมชนท้องถิ่น อยู่รวมกันเป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงมีผู้นำทำหน้าที่ประสานงานดูแลความเรียบร้อยเสมือนชุมชนคนท้องถิ่น ชุมชนนะเปียวโอดอ ตั้งอยู่และเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหัวฝาย ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก บริเวณโดยรอบพื้นที่ของชุมชนนั้นถูกล้อมรอบไปด้วยโรงงานต่างๆ และบ้านของคนไทยอีกหลายหลัง โดยมีทางเข้าและออกเพียงทางเดียว คือบริเวณที่มีอาณาเขตติดกับโรงเรียนซาทูเหล่ มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 40 หลังคาเรือน แต่มีบ้านที่สร้างขึ้นทั้งหมด 50 หลัง โดยบ้านบางหลังไม่มีผู้อยู่อาศัยจึงถูกปล่อยให้รกร้าง