2023-06-19 09:57:33
ผู้เข้าชม : 1231

กะซอง เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ชายแดนไทย - กัมพูชา จังหวัดตราด ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกยางพารา สับปะรด สวนผลไม้ และทำนาเพื่อบริโภคในครัวเรือน คนกลุ่มนี้มีความเชื่อเกี่ยวกับผีดี และผีร้าย โดยผีดี หรือ “ผีขมุก” เป็นผีบรรพบุรุษ จะมีการเซ่นไหว้เมื่อมีพิธีกรรมสำคัญ เช่น พิธีแต่งงานของลูกสาวหรือหลานสาวในบ้าน หากกระทำผิดผีต้องมีการเซ่นไหว้เพื่อขอขมาลาโทษ ส่วนผีร้าย หรือ "ผีแม่มด" จะมีประเพณีการเซ่นไหว้ผีแม่มด ในช่วงเดือน 3 ของทุกปี

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : กะซอง
ชื่อเรียกตนเอง : กะซอง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ชอง, ชองของตราด
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : กะซอง
ภาษาเขียน : อักษรไทย

เดิมกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง (Kasong) มีชื่อเรียกตนเองและชื่อที่คนอื่นเรียกว่า “ชอง” (Chong) ต่อมานักภาษาศาสตร์จึงมีการเพิ่มระดับการรับรู้ด้วยคำขยายเพิ่มเติมทางภาษาว่า “ชองของตราด” เพื่อจำแนกความแตกต่างระหว่าง “ชองของจันทบุรี” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ในทางภาษาศาสตร์ได้มีกระบวนการในการฟื้นฟูภาษาในภาวะวิกฤตไปก่อนหน้าแล้ว ด้วยความคล้ายคลึงของชื่อและความใกล้เคียงของภาษา ทำให้หลายคนมักเข้าใจว่าเป็นภาษาเดียวกัน ชาวกะซองบางคนได้เรียกตัวเองว่า “คนชอง” พูดภาษาชองเช่นเดียวกันกับชองจันทบุรี นักภาษาศาสตร์ได้สร้างชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ “ชองของตราด” เป็น “กะซอง” (Kasong) ที่แปลว่า “คน” และส่งเสริมความรับรู้ของชาวชอง (ของตราด) เดิมให้เปลี่ยนชื่อเรียกกลุ่มตนเอง เพื่อจำแนกให้เห็นความแตกต่างทางชาติพันธุ์ รวมทั้งสร้างความเข้าใจต่อกลุ่มชาติพันธุ์ หน่วยงานภาครัฐและสาธารณะในการทำความเข้าใจชื่อเรียกนี้

กะซอง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดตราด ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนไทย – กัมพูชา มายาวนานนับร้อยปี พระยาตรังคภูมิภิบาล ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าราชการเมืองตราด ได้ทำการสำรวจชุมชนและระบุไว้ในหนังสือรายงานการตรวจเมืองระยองเมืองตราด เมื่อ พ.ศ. 2452 ว่า ประชากรส่วนใหญ่ประกอบด้วย ชาวชอง ชาวเขมร ชาวลาว มีการทำมาหากินด้วยการทำนาปะปนกับกับการเข้าป่าหาไม้หอมและลูกกระวานเป็นหลัก ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2475 พระบริหารเทพธานี อดีตผู้ว่าราชการเมืองตราด ได้กล่าวถึง กลุ่มชาติพันธุ์ชองในเมืองตราด ว่าชาวชองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่อยู่มาแต่เดิมโดยไม่ได้มีการอพยพมาจากพื้นที่อื่น ผู้อาวุโสในหมู่บ้านเล่าว่า ชาวกะซองที่มีอยู่เดิมนั้นเป็นลูกหลานของนักรบหรือผู้ป้องกันประเทศชาติในสมัยพระเจ้าตากสิน ในช่วงนั้นจะมีกลุ่มชนหลายเชื้อชาติที่เข้าออกประเทศจากการสู้รบหรือการค้าขาย กลุ่มคนเหล่านั้นมีทั้งกัมพูชา เวียดนาม กุลา มอญ และกะซองปัจจุบันชาวกะซองตั้งถิ่นฐานอยู่ในอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม บางส่วนยังใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับป่า เช่น เก็บหาของป่ามากินหรือขายเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

ชาวกะซองมีวัฒนธรรมและภาษาพูดเป็นของตนเอง แต่ทว่าสถานการณ์ทางภาษาของชาวกะซองนั้นอยู่ในภาวะวิกฤติขั้นสุดท้ายที่เสี่ยงต่อการสูญหาย เนื่องจากผู้ที่สามารถใช้ภาษากะซองมีจำนวนน้อยและมักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ในด้านประเพณีพิธีกรรม ชาวกะซอง โดยเฉพาะในหมู่บ้านคลองแสง ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ยังมีความเชื่อเรื่องผีอย่างเคร่งครัด ในการนับถือผีขมุก ซึ่งเป็นผีเรือน และยังคงสืบทอดประเพณีการเซ่นไหว้ผีแม่มดในเดือน 3 ของทุกปี

ชอง หรือ กระซองที่เรียกกันในปัจจุบันนั้น ปรากฏชื่อและถิ่นที่อยู่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในรายงานจากมณฑลจันทบุรีเกี่ยวกับผู้คนในดินแดนนี้ ในเอกสารกรมราชเลขาธิการ กระทรวงมหาดไทย รัชกาลที่ 5 (ม.4 เรื่องที่ 2 มณฑลจันทบุรี) รายงานว่า

“…พระยาวิชยาธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรี แจ้งว่ามีพวกลาว 10 คน เที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ตามดงยายโต้ ดังใจความต่อไปนี้(หน้า31)…ได้รับรายงานนานวาศ ปลัดอำเภอทุ่งใหญ่ ลงวันที่ 17 เมษายน ร.ศ.124 ว่ามีพวกลาวประมาณ 10 คน ถืออาวุธครบมือกัน เที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ตามดงยายโต้ ปลายเขตร์แดนแลตำบลท่าโสม อำเภอทุ่งใหญ่… พระยาตรังค ได้ตรวจเขตร์ท้องที่อำเภอท่าหลวง จนถึงพรหมแดนต่อ(ต่อ)เขตร์กับเมืองพระตะบอง ได้แจ้งถึงกลุ่มชาติพันธุ์ของผู้คนแถบนี้ ดังนี้(หน้า49)…ตำบลซึ่งต่อเขตร์แดนกับพระตะบองนั้น ราษฎรชาวบ้านเป็นพวกเขมรทั้งสิ้น ตำบลซึ่งต่อกับเมืองปาจิณ เป็นลาวบ้าง ชองบ้าง เขมรบ้าง ตำบลทับไซนั้นเป็นพวกชองทั้งสิ้น…”

ในอดีตนับร้อยปีที่ผ่านมาจังหวัดตราด มีชาว “กะซอง” บางส่วนที่อาศัยตามแนวชายแดนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาบ้านเมืองและสิ่งแวดล้อม คนกะซองส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ตามป่าเขาหรือพื้นที่ที่มีน้ำตลอดทั้งปี ชาวกะซองส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด มานานนับร้อยปี ผู้อาวุโสในหมู่บ้านเล่าว่ากลุ่มชาวกะซองที่มีอยู่เดิมนั้นเป็นลูกหลานของนักรบหรือผู้ป้องกันประเทศชาติในสมัยพระเจ้าตากสิน จะมีกลุ่มชนหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวกัมพูชา เวียดนาม กุลา มอญและกะซอง เคลื่อนย้ายเข้าออกประเทศจากการสู้รบหรือการค้าขาย ชาวกะซองที่ตั้งถิ่นฐานในตำบลด่านชุมพลมากเป็นลูกหลานของคนกลุ่มดั้งเดิมที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังชายแดน ปัจจุบันกลุ่มชาวกะซองมีภาษาพูด วัฒนธรรมประเพณีมีความเชื่อและเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลงเหลืออยู่ หากแต่คนที่พูดภาษากะซองได้นั้นมีอยู่จำนวนน้อยมากเพราะไม่มีการถ่ายทอดทางภาษาให้ลูกหลานที่สืบทอดวงศ์ตระกูล (สันติ เกตุถึก, 2552: 5-6) ชาวกะซองอยู่อาศัยในพื้นที่ตำบลด่านชุมพลจังหวัดตราด ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนไทย – กัมพูชา มาตั้งแต่สมัยยังไม่มีการแบ่งเขตแดนรัฐชาติ ชาวกะซองมีการแต่งงานกับคนนอกกลุ่มจึงเกิดการผสมผสานระหว่างเชื้อสายและวัฒนธรรมตามแบบไทย ส่งผลให้ประเพณีดั้งเดิมส่วนใหญ่สูญหายไป

ในด้านประวัติความเป็นมาของคำว่า “ด่านชุมพล” เป็นชื่อหลวงพลที่ได้ต่อต้านการสู้รบและสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ หลวงพลจึงเป็นคนที่มีอำนาจและมีรากฐานอยู่ที่หมู่ 1 ของด่านชุมพลและได้เสียชีวิตในพื้นที่แห่งนั้น จึงเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า “ด่านชุมพล” ส่วนชื่อเรียกหมู่บ้านคลองเสง จากคำเล่าขานของผู้อาวุโสในหมู่บ้าน เล่าว่า แต่เดิมเรียกกันว่า “บ้านชุมแสง” ตามชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นตามหนองน้ำและลำคลองของหมู่บ้าน ต้นชุมแสง เป็นที่อาศัยของหิ่งห้อย ในช่วงเวลากลางคืนจะเกิดแสงระยิบระยับ สวยงาม ชาวบ้านเรียกคลองนี้ว่า “คลองแสง” จนถึงปัจจุบัน หมู่บ้านนี้มีอายุการก่อตั้งหมู่บ้านมาแล้วไม่ต่ำกว่า 150 ปี แรกเริ่มผู้คนตั้งบ้านเรือนประมาณ 3-4 ครัวเรือน คือ นางเย็น นายคุด นางหอ ซึ่งคนกลุ่มนี้สืบเชื้อสายมาจากชาวฌอง (ชอง) ที่อพยพมาจากกัมพูชา แล้วมาตั้งรกรากในบริเวณดังกล่าว จึงสันนิษฐานได้ว่า คนในชุมชนนี้มีการสืบเชื้อสาย มาจาก 4 ครอบครัวนี้

ชาวกะซองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านคลองแสง บ้านด่านชุมพล มีเพียงจำนวนเล็กน้อยที่ตั้งถิ่นฐานที่บ้านปะเดา และบ้านทางกลาง ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด พวกเขาอยู่กระจัดกระจายกันและปะปนกับคนไทยและคนกลุ่มอื่น ๆ เช่น ลาวอีสาน จีน เขมร ที่เข้ามาตั้งรกรากภายหลังหลัง บริเวณถิ่นที่อยู่เป็นที่ราบเชิงเขาและเนินเตี้ย (สุวิไล เปรมศรีรัตน์, สุนี คำนวลศิลป์ และณัฐมน โรจนกุล, 2559 :4-6) การที่ชาวกะซองตั้งถิ่นฐานในตำบลด่านชุมพลจำนวนมาก เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขในการทำหน้าที่ในการระวังตรวจตราพื้นที่ชายแดนมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน

การดำรงชีพ

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกยางพารา สับปะรด สวนผลไม้ และมีการทำนาเพื่อบริโภคในครัวเรือน หากเหลือจะแบ่งไว้ขาย ส่วนอาชีพเสริม ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้าง และการเก็บของป่าในช่วงฤดูแล้งเพื่อขายและบริโภคในครัวเรือน โดยมีรายะละเอียดดังนี้

1) การทำนา เป็นอาชีพที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน ชาวกะซองบ้านคลองแสงจะเริ่มปลูกข้าวในช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว จากนั้นในเดือนธันวาคมจะเป็นช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวข้าวข้าวเหล่านี้จะผ่านกระบวนการนวดข้าว ฝัดข้าว และนาข้าวขึ้นยุ้งในเดือนมกราคมเพื่อบริโภคในครัวเรือนและการขาย

2) การทำสวนผลไม้ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่อยู่คู่กับชาวกะซองบ้านคลองแสง แม้ไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากผลไม้หลายชนิดสามารถหาได้ในป่า จึง ไม่จำเป็นจะต้องปลูกเพิ่ม การทำสวนผลไม้ จึงใช้พื้นที่ 2 – 3 ไร่ เท่านั้น

3) การหาของป่า ชาวกะซองจะหาของป่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมซึ่งเป็นฤดูกาลที่ผักและผลไม้ป่าให้ผลผลิต เช่น สะตอ ระกำ มะปราง มะไฟ ฯลฯ นอกจากการหาผัก – ผลไม้จากในป่าแล้วนั้น การเข้าป่าแต่ละครั้งยังสามารถไปจับสัตว์และหาปลาจากในป่าได้อีกด้วย

ปัจจุบัน นอกจากการทำนาข้าว การทำสวนผลไม้ และการหาของป่าแล้ว ชาวกะซองบ้านคลองแสง ได้ทำสวนยางพารา ซึ่งอาชีพใหม่ในชุมชน การทำสวนยางพารานี้จะสามารถกรีดยางได้ตลอดทั้งปี ยกเว้นในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้นยางพารากำลังผลัดใบ ชาวสวนยางพาราที่บ้านคลองแสงจะออกกรีดยางในช่วงเย็นจนถึงค่ำ และจะเก็บน้ำยางในเช้าวันถัดไป

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ชาวกะซองบ้านคลองแสง นับถือพุทธศาสนาควบคู่กับการนับถือผี หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของหมู่บ้าน อย่างไรก็ตามความเชื่อทั้งสองรูปแบบมักผสมผสานกันในการประกอบพิธีกรรมอย่างไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ชัดเจนนัก

เดิมชาวกะซองบ้านคลองแสงจะไปทำพิธีทางพุทธศาสนาที่วัดในตำบลด่านชุมพล และบ้านปะเดา ต่อมาได้มีพระธุดงค์มักจะปักกลดพักแรมที่ป่าช้าเป็นประจำ จึงมีการก่อตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางทางความเชื่อพุทธศาสนา เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ชาวกะซองจึงปรับปรุงพื้นที่ดัดแปลงสร้างบ้านแบบดั้งเดิมให้พระธุดงค์ซึ่งมาพักแรมได้ใช้เป็นที่จำวัด จนพัฒนาขึ้นกลายเป็นที่พักสงฆ์ขึ้น มีธรรมเนียมปฏิบัติตามแนวทางของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ในระหว่างช่วงเข้าพรรษาจะมีการหมุนเวียนกันส่งข้าวเพลให้กับพระสงฆ์อย่างเคร่งครัด ครอบครัวละ 2 รอบในระหว่างเข้าพรรษา

ความเชื่อเรื่องผี

ความเชื่อเกี่ยวกับผี หรืออำนาจเหนือธรรมชาติจำพวกภูตผีที่สิงสถิตอยู่ในธรรมชาติเป็นความเชื่อดั้งเดิมของหมู่บ้านคลองแสง ตามความเชื่อของชาวกะซองนั้น ผีมีความหมายค่อนข้างกว้างครอบคลุมผู้ที่ตายแล้ว พลังอำนาจลึกลับที่อยู่ในธรรมชาติผีมีทั้งประเภทที่ให้คุณและโทษแก่มนุษย์ มนุษย์จึงต้องเกรงกลัวผีที่อาจทำให้เกิดภัยอันตรายแก่ชีวิตและความเป็นอยู่ของสังคม

ส่วนใหญ่ผีที่ชาวกะซองเชื่อถือ จะเป็นผีที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ตามป่าเขาหรือพื้นที่ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่สถิตของภูตผีวิญญาณ จากการดำรงชีพด้วยการทำเกษตรต้องมีการพึ่งพาดิน ฟ้า อากาศ เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ทว่ามนุย์ไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้ จึงเกิดการอ้อนวอนหรือร้องขอต่อธรรมชาติเพื่อตอบสนองด้านจิตใจในการต่อรองกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่มีความแน่นอน

ชาวกะซอง เชื่อว่า “ผีดี” หรือวิญญาณที่ให้คุณแก่ชาวบ้าน เป็นผีที่มีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง ดูแลสถานที่ที่สิงสถิตอยู่ และดลบันดาลให้เกิดความอุดมบูรณ์ นำความสงบสุขมาสู่ชุมชน หรือผู้ที่ปฏิบัติตนดีงามในสังคม

ผีบรรพบุรุษ หรือ ผีเรือน ที่ชาวกะซองเรียกว่า “ผีสมุก” หรือ “ผีขมุก” ในแต่ละบ้านเรือนของชาวกะซองจะมี “ผีขมุก” ประจำอยู่ที่ห้องนอนของผู้เป็นเจ้าบ้าน ผีขมุกเป็นผีที่ประจำอยู่กับผู้หญิงและจะสืบทอดทางฝ่ายผู้หญิงจากรุ่นแม่สู่รุ่นลูก มีภาชนะหรือตะกร้าสานที่ทำจากหวายผสมกับไม้คลุ้ม ซึ่งเป็นพืชจากป่า ภายในบรรจุลูกปัด แหวน อัญมณี ข้าวเปลือก เก็บภาชนะนี้ไว้ที่หัวนอนของผู้เป็นแม่หรือยาย ซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่สุดฝ่ายหญิงของบ้าน โดยจะบอกกล่าวให้ผีคุ้มครองเจ้าเรือนให้อยู่เย็นเป็นสุข และจะเชิญผีเรือนลงมาเมื่อทำพิธีสำคัญ ได้แก่ พิธีกินผีเรือนหรือพิธีแต่งงานของลูกสาวหรือหลานสาวในบ้าน นอกจากนี้ผีขมุกยังถือเป็นผีตามประเพณี ที่ชาวกะซองต้องปฏิบัติ หากฝ่าฝืนจะถือเป็นการ “ผิดผี”

ส่วนผีฝ่ายร้าย หรือชาวกะซองเรียกว่า “ผีแม่มด” เป็นวิญญาณที่ชาวบ้านเชื่อว่าสามารถก่อให้เกิดเภทภัยแก่ผู้คนได้ หากทำอันตรายหรือก่อภัย เชื่อกันว่าผีจะติดตามต้นไม้ ป่า เขา แม่น้ำ ลำคลอง หรือวัตถุต่าง ๆ หากมีคนไปทำให้ผีตนใดไม่พอใจอาจทำให้ผู้นั้นเจ็บไข้ เจ็บป่วย เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยกะทันหัน มักเชื่อว่า เป็นการกระทำของผีร้าย ต้องให้ผู้ที่สื่อสารกับผี ที่เรียกว่า แม่มด หรือผู้หมอดูว่า ผีชนิดใดทำให้เจ็บป่วย หรือมีผีตนใดติดตามมากับบุคคลผู้นั้นจนทำให้เจ็บป่วย จากนั้นจึงต้องบนบานขอขมาไถ่โทษให้ผู้เจ็บป่วยด้วยของเซ่นไหว้ เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ ไข่ เหล้า ข้าวสาร นอกจากนั้นจะต้องทำพิธีเชิญผีมาร่วมในประเพณีเซ่นไหว้ผีแม่มดในเดือน 3 ของทุกปี

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ชาวกะซองบ้านคลองแสง มีการนับถือผีเทพยดา ผสมผสานกับการนับถือพระพุทธศาสนา เป็นผลให้ในแต่ละรอบปี จะต้องมีการประกอบประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อตลอดทั้ง 12 เดือน โดยพิธีกรรมสำคัญของชาวกะซอง คือ พิธีไหว้ผีแม่มด ในช่วงเดือน 3 รายละเอียดของพิธีกรรม มีดังนี้

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ประเพณีการเซ่นไหว้ผีแม่มด

ชาวกะซองเรียกว่า “ไหว้ผีแม่มด” หรือ “เล่นผี” แต่ละครอบครัวจะนัดหมายกันประกอบพิธีในช่วงเดือน 3 (ตามปฏิทินจันทรคติของไทย) จะทำในช่วงเวลากลางคืน หลังจากพระอาทิตย์ตกดินแล้ว มีการเตรียมบายศรีปากชาม ตามจำนวนร่างทรงที่จะเชิญให้ผีมาประทับทรง มีเครื่องดนตรีประกอบ รวมทั้งมีการร้องเล่นเต้นรำ เมื่อเชิญผีแม่มดมารับส่วนบุญกุศล นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวสามารถร่วมทำพิธีขอขมาลาโทษหรือเล่นผีที่เคยทำให้ตนเองเจ็บป่วยเป็นการชดเชย

งานผีแม่มดในเดือน 3 มีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้

ขั้นเตรียมงาน เมื่อครอบครัวได้นัดหมายวันที่จะประกอบพิธี จะมีการเตรียมปะรำ ศาลา หรือเพิงชั่วคราวออกนอกจากพื้นที่ตัวเรือนหรือบ้าน เป็นที่โล่งแจ้ง อาจอยู่ติดชายคาบ้าน ตกแต่งเป็นแบบชั่วคราวด้วยทางมะพร้าว ดอกไม้ มีโต๊ะสำหรับวางพานเซ่นไหว้ และมีเสื่อปูไว้ให้ผู้ประกอบพิธี จากนั้นผู้จัดงานจะตระเตรียม “บายศรีปากชาม” ขึ้น บายศรีปากชามประกอบด้วย ผ้าขาวม้า เสื้อผ้า (ใหม่) แป้ง เหล้า กระจก หวี สร้อยคอ กำไล กรวยดอกไม้ 3-5 ชั้น ข้าวตอก ดอกไม้ หมากพลู จัดวางเรียงในถาด(สังกะสี) ตามจำนวนของร่างทรงตามนัดหมาย ไม่ได้จำกัดจำนวนร่างทรง อาจเป็น 3 คน หรือ 5 คนตามแต่เจ้าภาพจะดำเนินการ ขณะที่ในส่วนของผู้เข้าร่วมจะได้รับการต้อนรับหรือรับรองจากเจ้าภาพด้วยอาหาร ขนมเครื่องดื่ม ตามแต่ฐานะของเจ้าภาพแต่ละราย

ขั้นการดำเนินพิธี เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ประมาณ 1 ทุ่มเป็นต้นไป หลังจากที่ชาวกะซองมาพร้อมกันแล้ว ผู้ร่วมพิธีจะจุดธูป พร้อมเหล้า บูชาไหว้เจ้าที่เจ้าทางบริเวณกลางแจ้ง ขอให้เจ้าที่หรือบรรพบุรุษอำนวยพรให้งานผีแม่มดราบรื่น ให้ผีเข้ามาประทับทรง และกิจกรรมผ่านไปด้วยดี จากนั้นนักดนตรีส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ชายจากประจำที่นั่งบนเสื่อที่ตั้งอยู่เพิงชั่วคราวกลางแจ้ง ทำพิธีบูชาด้วยการจุดเทียนล้อมวงกัน แล้วเริ่มบรรเลงตีกลอง ตะโพน เป็นจังหวะง่าย ๆ ผู้เป็นร่างทรงสวมชุดพื้นถิ่น เสื้อคอกระเช้า ผ้านุ่งสีพื้น นั่งขัดสมาธินำผ้าขาวม้าผืนขนาดเล็กคลุมศีรษะยาวลงมาจนถึงปลายแขน ในมือจับขันอลูมิเนียมขนาดประมาณ 12 นิ้ว ภายในใส่ข้าวสาร และจุดเทียนไว้ เมื่อผู้เป็นร่างทรงผีแม่มดประจำที่และเข้าสู่ขั้นตอนเชิญผีแม่มดแล้ว ผู้นำร้องเชิญผีแม่มด ในที่นี้คือผู้อาวุโสที่สุดในหมู่บ้านคลองแสง คือ คุณยายพุ่ม เอกนิกร เริ่มร้องเชิญผีให้เข้ามาประทับทรง นักดนตรีบรรเลงกลอง ผู้เข้าร่วมปรบมือตามจังหวะ และร้องเชิญชวนให้ผีเข้ามาขณะเดียวกันจะมีญาติพี่น้องซึ่งเป็นฝ่ายหญิงจะเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ใกล้ร่างทรง เพื่อดูอาการผีแต่ละตนจะเข้าร่างทรง และช่วยในการพูดคุยติดต่อสื่อสารพูดคุยกับผี

เมื่อร่างทรงผีแม่มดประทับร่างแล้วอาการของผู้เข้าทรงที่ปรากฎอาจมีความแตกต่างกัน เช่น บางคนสั่นทั้งตัว บางคนมือสั่นเขย่าจนบางครั้งขันข้าวกระเด็น หรือบางคนเหยียดตรงเกร็งเหมือนจะหมดสติ แล้วร่างก็ลุกขึ้นเหมือนเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เมื่อมีผีประทับร่างแล้วจะแสดงอาการต่างกันไป เช่น ดูพานบายศรีปากชามที่อยู่ตรงหน้า สวมใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับ ส่องกระจกกลับด้าน หวีผม ผัดแป้ง ดื่มเหล้า ตลอดจนเต้นรำตามจังหวะ บางครั้งเรียกขอเปลี่ยนชุดหรือเครื่องแต่งกายใหม่ไม่เพียงเท่านั้นมีการเรียกชื่อบุคคลที่เข้าร่วมด้วย ชาวบ้านบางคน กล่าวว่า ผู้เป็นร่างทรงอาจจะมีภาวะที่ไม่รู้ตัวหรือทำในสิ่งที่ไม่ได้เคยปฏิบัติในชีวิตประจำวันมาก่อน

ส่วนประเพณี 12 เดือนของชาวกะซอง มีรายละเอียดดังนี้

เดือนมกราคม เป็นช่วงเดือนแห่งเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ บ้านคลองแสงจะมีการจัดงานวันขึ้นปีใหม่ และการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน เช่น สะบ้า วิ่งเปี้ยว วิ่งผลัด วิ่งกระสอบ เพื่อความเพลิดเพลินและเสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน ด้านวิถีชีวิต เดือนมกราคมเป็นเดือนที่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าว ในช่วงของการเอาข้าวขึ้นยุ้ง ชาวกะซองจะประกอบพิธีเชิญแม่โพสพไปยังยุ้งฉางของแต่ละบ้าน โดยใช้ข้าว 1 กำ นำมาเป็นตัวแทนของแม่โพสพ

เดือนกุมภาพันธ์ ในเดือนนี้มีการประกอบพิธีไหว้ผีแม่มด โดยชาวกะซองจะไหว้ผีแม่มดรวมกันครั้งละหลายครอบครัว หรือบางครั้งจะทำเป็นรายหมู่บ้าน ในการไหว้ผีแม่มด ครอบครัวที่ประกอบพิธีกรรม จะต้องเตรียมบายศรี และของไหว้ ประกอบด้วย ดอกไม้ น้ำหวาน เหล้า แป้ง กระจก หวี และต้องเตรียมอุปกรณ์ประกอบพิธี ได้แก่ ขัน ข้าวสาร ผ้าขาวม้า เพื่อไหว้ผีแม่มดที่จะมาเข้าร่างทรงที่จัดเตรียมเอาไว้

เดือนเมษายน เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสในชุมชนสรงน้ำพระ การเล่นน้ำ และการก่อพระทราย

เดือนกรกฎาคม มีเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ชาวกะซองจะเตรียมอาหารคาวหวานเพื่อไปทำบุญที่วัด พร้อมกับนำเทียนที่หล่อจากขี้ผึ้งในป่าไปถวายเป็นเทียนพรรษาให้กับพระภิกษุสงฆ์ นอกจากนี้ ครอบครัวที่มีบุตรชายและมีความประสงค์อยากจะให้บุตรชายบวช สามารถบวชในช่วงเข้าพรรษานี้ได้

เดือนกันยายน เป็นช่วงที่ข้าวเริ่มตั้งท้อง ชาวนาจะทำพิธีรับขวัญแม่โพสพ โดยใช้ไก่ต้ม ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ส้มโอ มะม่วง ผลไม้รสเปรี้ยว แป้ง หวี และกระจก มาใช้ในการประกอบพิธี นอกจากนี้แล้วยังมีการทำบุญสารทเดือน 10 เพื่ออุทิศผลบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยลูกหลานจะนำขนมเทียนและข้าวห่อใบกะพ้อไปทำบุญที่วัด

เดือนตุลาคม มีการทำพิธีลอยเรือลอยแพ ซึ่งในเรือและแพนี้จะบรรจุอาหารเอาไว้เพื่ออุทิศให้กับวิญญาณไร้ญาติ เมื่อนำอาหารไปบรรจุไว้เต็มเรือเต็มแพแล้ว ผู้ร่วมพิธีจะนำเรือและแพไปลอย โดยจะลอยบนบกหรือจะลอยในน้ำก็ได้ ในส่วนวันออกพรรษาซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนนี้ ชาวกะซองจะร่วมกันตักบาตรเทโว โดยใช้ข้าวสารและอาหารแห้งมาใส่บาตรพระภิกษุที่ออกมาบิณฑบาตในวันออกพรรษา

เดือนพฤศจิกายน ชาวกะซองจะร่วมกันลอยกระทงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยการลอยกระทงของชาวกะซองนี้จะแตกต่างจากการลอยกระทงในพื้นที่อื่น ในคืนวันลอยกระทง ชาวกะซองจะนำกระทงมารวมกันที่วัดเพื่อที่จะให้พระภิกษุสงฆ์สมโภชกระทงในเวลาเที่ยงคืนเสียก่อนจึงจะนำกระทงไปลอยในน้ำได้ ชาวกะซอง เชื่อว่า ถ้าไม่สมโภชกระทงก่อน การลอยกระทงจะไม่เกิดผลตามที่ตั้งใจไว้

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

ชาวกะซองจะมีหมอตำแย เช่น ยายพุ่ม เอกนิกร ที่สามารถทำคลอดได้ หมอตำแยจะมีทักษะและขั้นตอนพิธีเฉพาะตัวบางอย่าง เช่น ขั้นตอนการคัดท้องหญิงตั้งครรภ์ที่ท้องแก่เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องของแม่ และช่วยให้เด็กกลับหัวคลอดง่ายขึ้น ในอดีตหมอตำแยทำหน้าที่ดูแลหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่ท้องแก่จวบจนหลังคลอด ในช่วงท้องแก่นั้น จะทำการคัดท้องให้คลอดง่าย เมื่อคลอดจะเป็นผู้ทำคลอดและดูแลเด็กทารกและแม่ หลังคลอดจะทำหน้าที่ดูแลเรื่องการอยู่ไฟ เมื่อทำคลอดแล้วหมอตำแยจะตัดสายสะดือเด็กด้วยไม้ไผ่บาง จากนั้นจะนำสายสะดือมาฝังเก็บไว้ใต้ดิน เพราะเชื่อว่าสายสะดือเป็นสายที่หล่อเลี้ยงชีวิตและรับสารอาหารมาจากแม่เมื่อครั้งยังอยู่ในครรภ์ สายสะดือที่ฝังที่ใต้พื้นบ้านจะป้องกันไม่ให้เด็กคนนั้นออกไปจากหมู่บ้านเมื่อเติบโตขึ้น ปัจจุบันชาวกะซองนิยมฝากครรภ์และทำคลอดที่โรงพยาบาล

หลังคลอดจะมีการรับขวัญเด็ก เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่โบราณ เชื่อกันว่าขวัญจะไม่มีตัวตน แต่มีชีวิตจิตใจเหมือนคน ชาวบ้านจะรับขวัญเด็กโดยการนำทารกแรกเกิดไปใส่ไว้ในกระด้งและจะกวักเพื่อเรียกขวัญกำลังใจ ให้ชีวิตมีความเจริญก้าวหน้า เพื่อความเป็นสิริมงคล ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

ส่วนแม่นั้นหลังคลอด จะทำการอยู่ไฟ เป็นกระบวนการดูแลหญิงหลังคลอดที่คนสมัยก่อนเชื่อว่าจะช่วยทำให้ร่างกายฟื้นจากความเหนื่อยล้าให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว โดยการอยู่ไฟจะนิยมให้คุณแม่หลังคลอดพยุงตัวเองให้นอนอยู่บนไม้กระดานแผ่นเดียวเหนือกองเถ้าผ่านที่ยังคงให้ความร้อนอยู่ ความร้อนจากฟืนจะเข้าช่วยลดอาการปวดเมื่อยตามตัว ทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้นและเลือดลมไหลเวียนดีทั้งยังช่วยปรับสมดุลร่างกายของคุณแม่ให้เข้าที่สู่สภาวะเดิม การอยู่ไฟจะใช้ระยะเวลา 15 วัน ระหว่างอยู่ไฟจะห้ามทานอาหารอื่นนอกจากข้าวและเกลือเท่านั้น

การแต่งงาน

การแต่งงานเป็นอีกหนึ่งในพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่าน ในอดีต ชาวกะซอง เชื่อว่า ผู้ผ่านพิธีกรรมนี้จะกลายเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้นเพราะสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้อย่างเต็มที่ โดยปกติชาวกะซองจะไม่กำหนดเดือนที่แต่งงาน แต่จะนิยมแต่งงานในเดือน 4 6 และ 12 ซึ่งการแต่งงานจะมี 2 รูปแบบ คือ การแต่งงานแบบรักษาใน และการแต่งงานแบบรักษานอก การแต่งงานแบบรักษาใน เป็นอการที่ฝ่ายชายไปทำงานหาบน้ำ หาฟืนบ้านฝ่ายหญิงก่อนที่จะแต่งงาน ซึ่งจะใช้เวลาทำงานก่อนแต่งงานประมาณ 2 เดือน แล้วจึงจะกำหนดวันแต่งงานภายหลัง ส่วนการแต่งงานแบบรักษานอก เป็นการประกอบพิธีแต่งงานก่อน จึงให้ฝ่ายชายเข้าไปทำงานบ้านฝ่ายหญิง จากนั้นจึงสามารถอยู่ด้วยกัน

เมื่อหนุ่มสาวชาวกะซองตัดสินใจที่จะแต่งงานกัน เมื่อทั้งคู่ตกลงใจกันแล้ว ผู้ชายจะขอให้ผู้ใหญ่ซึ่งไม่ใช่พ่อแม่ของตนเองไปสู่ขอจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เรียกว่า “ครูเซ่น” บุคคลนี้ถือว่าเป็นคนสำคัญ ที่จะต้องไปบอกกล่าวต่อผีบรรพบุรุษของผู้หญิงพร้อมด้วยดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู ก่อนที่จะสู่ขอผู้หญิงจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิง และขอแต่งงานในนามของฝ่ายชาย หลังจากพ่อแม่ของผู้หญิงตอบตกลงแล้ว ตัวแทนฝ่ายเจ้าบ่าวและครอบครัวของเจ้าสาวจะจัดพิธีแต่งงานพร้อมตกลงสินสอดที่จะให้กับครอบครัวของเจ้าสาว

ก่อนการแต่งงาน บางคู่จะมีการหมั้นหมายตามประเพณีด้วยการผูกข้อมือ ก่อนจัดงานแต่งงาน ผู้ชายจะไปช่วยครอบครัวฝ่ายหญิงในการทำมาหากินในไร่นา หรือทำตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ฝ่ายหญิงถือเป็นการเรียนรู้ลักษณะนิสัยของผู้หญิงและครอบครัวของฝ่ายหญิงก่อนการดำเนินชีวิตคู่ แต่ก็ไม่อาจพักอยู่ในบ้านของฝ่ายหญิงได้ จนกระทั่งถึงวันแต่งงาน เจ้าบ่าวจะไปที่บ้านเจ้าสาวพร้อมของเซ่นไหว้ซึ่งครอบครัวของเจ้าบ่าวจะต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ครอบครัวเจ้าสาวต้องการ ประเพณีนี้ ชาวกะซองเรียกว่า “กินผีเรือน” หรือ “ทำผี” หรือ “กินตามสาย” หรือ “หาบตามสาย”

ในประเพณีกินผีเรือนนั้น ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเตรียมผ้าไหว้ผี ประกอบด้วยสิ่งของ ดังต่อไปนี้

1) ผ้าถุง และผ้าขาวอย่างละ 1 ผืน

2) ผ้าไหว้ 5 คู่ (คู่ละ 2 ผืน เป็นผ้าสีพื้นหรือมีสีสันก็ได้)

3) ขัน 2 ใบ ภายในขันมีแหวน และกำไลและลูกปัด อย่างละ 12 วง

4) ขนมเปียก (คล้ายกะละแม) ขนมกวน (ข้าวเหนียวแดง) อย่างละ 2 ถาด

5) หมู 1 ตัว

6) ไหเหล้ากระทะ ซึ่งเป็นเหล้าที่ต้มแล้วใส่ในไห โดยจะเชิญให้คู่สามีภรรยาที่ครองคู่กันแบบผัวเดียวเมียเดียวมาช่วยกรอกใส่ไห จำนวน 12 ไห ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้เหล้าลัง จำนวน 24 ขวด

7) ชามข้าว 12 ใบ สำหรับให้ผู้ใหญ่ฝ่ายชาย หรือที่เรียกว่า ครูเช่น นำมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษตามสายของฝ่ายหญิง

จากนั้นนำสิ่งของที่กล่าวมาข้างต้นจัดใส่กระบุง ที่ประกอบด้วย ธูป 2 ดอก เทียน 2 เล่ม เหล้า 1 ขวด ด้าย 1 ใจ ด้ายข้าวสาร 1 ใจ ไก่ 1 ตัว เงิน 12 บาท ชุดภายในกระบุงนี้เรียกว่า “จื้อจ๊อ” โดยนำเอาผ้าขาวกลุ่มศีรษะ เรียกสิ่งของที่ฝ่ายชายต้องเตรียมนี้ว่า “ครูโจ๊ต” (ครูโจฺ้จ) “จอกโบ๊ย”(จอกโมฺ้ญ) จากนั้นส่งต่อให้ครอบครัวฝ่ายหญิง ถือเป็นการกินตามสาย ฝ่ายหญิงจะเรียกให้ฝ่ายชายเตรียมสิ่งของมาให้ครบ หากไม่ปฏิบัติตามประเพณีเซ่นไหว้นี้ หรือเตรียมสิ่งของไม่ครบถ้วน หรือทำลายเครื่องเซ่นไหว้จะส่งผลต่อชีวิตได้

การแห่ขันหมากเป็นขบวนเพื่อมาสู่ขอฝ่ายหญิงจะมีขั้นตอนเช่นเดียวกันกับประเพณีไทยทั่วไป แต่จะมีความแตกต่างกันหลังจากขบวนขันหมากมาถึงบ้านฝ่ายหญิง ในช่วงแรกจะมีการเซ่นเจ้าที่ที่สถิตอยู่ด้านล่างของบ้าน เรียกว่าพิธี “จอกโมฺ้ญ” โดยมี“ครูโจฺ้จ” เป็นผู้ประกอบพิธี เมื่อเซ่นไหว้เจ้าที่ด้านล่างของบ้านแล้ว ครูโจฺ้จจะเริ่มประกอบพิธีแต่งงาน โดยใช้กระบุงใส่ข้าว ไหเปล่าใส่หลอด ไก่ต้ม ผ้าขาว ยอดอ่อนใบกระพ้อมาประดิษฐ์เป็นพุ่มดอกไม้ จากนั้นครูโจฺ้จก็จะประกอบพิธีเซ่นไหว้ เอาข้าวกับเหล้าให้ทั้ง 2 ฝ่ายรับประทาน ตามความเชื่อว่าข้าวกับเหล้าจะทำให้คู่แต่งงานอยู่เย็นเป็นสุข มีความสุขความเจริญ จากนั้นครูโจฺ้จก็จะเอาผ้าขาวมาคลุมหัวบ่าว – สาว เอาศีรษะทั้ง 2 โขกกันแล้วพูดเป็นภาษากะซองว่า “โมย ปฺ้ เพ้ โพ้น เคนซะแลง ร่ายกะดอง เคนซาลอง ร่ายกะนูล” แปลว่า “หนึ่ง สอง สาม สี่ มีลูกสาวสิบหกคน มีลูกชายสิบเจ็ดคน” เสร็จจากนั้นแล้ว ผู้ที่เข้าร่วมพิธีก็จะเข้ามาผูกมือคู่แต่งงานเป็นการอวยพร และดูดไหเปล่าที่เตรียมไว้ โดยถือว่าเป็นการดูดแรงจากบ่าวสาวเชื่อกันว่าเมื่อมีการแต่งงานเกิดขึ้น ญาติผู้ใหญ่จะดีใจและมีเรี่ยวแรงในการดำเนินชีวิตมากขึ้น จึงได้อวยพรคู่บ่าวสาวและทำการดูดไห

ในวันประกอบพิธีจะสร้างเรือนชั่วคราวนอกตัวบ้าน เรียกว่า “โรงตะนิ้น” (เรือนหอ) ทำจากไม้ปอกเปลือก ใช้เชือก (ปอชงโค) มัด แล้วจัดวางเครื่องเซ่นไหว้ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นขันหมากที่ฝ่ายหญิงเรียกร้อง เช่น จะให้จัดมา 50 ถาด หรือ 100 ถาด ฝ่ายชายจะต้องตระเตรียมสินสอดมาตามจำนวนนั้น เมื่อประกอบพิธีแล้ว จะนำยอดใบตองมาหักใส่บ่าถือเป็นการ “หาบตามสาย” หลังแต่งงานหากแยกเรือนต่างหาก จะมีผีขมุกต่างหาก บ่าวสาวจะพักกันที่บ้านเจ้าสาวเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะทำการตกลงกันว่าจะอยู่บ้านของฝ่ายไหน หรือจะตั้งถิ่นฐานใหม่

ฝ่ายเจ้าสาวจะดูสินสอดที่ฝ่ายเจ้าบ่าวให้ เมื่อครบจะเริ่มพิธี หลังจากนั้นเจ้าสาวจะออกไปอยู่ห้องที่จัดเตรียมไว้สำหรับเจ้าสาว ต่อมาเจ้าบ่าวจะต้องเตรียมป้อนข้าว 3 ครั้ง ไก่และเหล้าให้กับเจ้าสาวแล้วเจ้าสาวก็ต้องทำเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นคู่บ่าวสาวจะคลุมศีรษะด้วยผ้าและจะต้องถูกตีเบาเบาจากครูเซ่น จากนั้นจะผูกข้อมือและพ่อแม่จะมอบเงินให้ลูกเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว ครอบครัวและญาติจะดื่มเหล้า ต่อมา “ครูเซ่น” ซึ่งเป็นบุคคลซึ่งมีความสำคัญจะนำคู่บ่าวสาวไปที่ห้องที่เตรียมขึ้นใหม่ โดยเอาเครื่องเซ่นไหว้ไปบูชาผีและขอให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวอยู่ที่ห้องนั้น จนกระทั่งสิ้นสุดพิธีแต่งงาน คู่บ่าวสาวจึงออกมาเปิดเผยตัวต่อแขก และเริ่มงานเลี้ยง ตามประเพณีกะซองจะจัดการแต่งงานตั้งแต่อายุน้อยกว่า 20 ปี ปัจจุบันการแต่งงานของชาวกะซองมีการขยายช่วงอายุที่มากขึ้น ส่วนใหญ่คนหนุ่มสาวจะเลือกคู่ครองของตัวเอง และไม่แต่งงานกับคนในเชื้อสายเดียวกันแต่จะมีการแต่งงานข้ามกับคนนอกกลุ่มมากขึ้น

ความตาย และการทำศพ

เดิมเมื่อมีชาวกะซองเสียชีวิต ผู้ประกอบพิธีศพจะจุดเทียน พร้อมเหล้า และเงินจำนวน 12 บาท อาบน้ำให้ศพ นำศพใส่โลงไม้ มัดตราสังข์ และใส่หัวปลี ดอกไม้ ธูปเทียน และเงินในมือศพ ชาวบ้านนิยมตั้งศพไว้ภายในบ้าน จำนวนวันสวดอภิธรรมศพขึ้นอยู่กับผู้เป็นเจ้าภาพจะกำหนด ในอดีตชาวบ้านใช้พื้นที่ป่า เป็นสถานที่ทำพิธีกรรม ทั้งเผาศพในกรณีที่มีการเสียชีวิตแบบปกติ และฝังในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตแบบผิดปกติ หรือตายโหง สำหรับสาเหตุที่ใช้ป่าช้าเป็นพื้นที่ในการฝังหรือเผาศพ เนื่องจาก ในอดีตการเดินทางออกนอกหมู่บ้านมีความยากลำบาก ต้องใช้การเดินเท้าเท่านั้นว ประกอบกับพื้นที่โดยรอบหมู่บ้านเป็นพื้นที่ป่าจึงเหมาะสมมากกว่านำศพไปเผาที่วัด การทำศพ เมื่อมีคนตายจะสามารถจัดการได้ทั้งการเผาศพและการฝังศพ

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

ผีบรรพบุรุษ หรือ ผีเรือน ที่ชาวกะซองเรียกว่า “ผีสมุก” หรือ “ผีขมุก” การเซ่นไหว้ผีขมุกจะทำเมื่อมีพิธีกรรมสำคัญเช่นพิธีแต่งงานของลูกสาวหลานสาวในบ้าน หากกระทำผิดผีต้องมีการเซ่นไหว้เพื่อขอขมาลาโทษ

การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

ผีฝ่ายร้าย ที่ชาวกะซองเรียกว่า “ผีแม่มด” เป็นวิญญาณที่ชาวบ้านเชื่อว่า สามารถก่อให้เกิดเภทภัยแก่ผู้คนได้เชื่อกันว่าผีจะติดตามต้นไม้ ป่า เขา แม่น้ำ ลำคลอง หรือวัตถุต่างๆ หากบุคคลใดทำให้ผีตนใดไม่พอใจ อาจทำให้ผู้นั้นเจ็บป่วยเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยกะทันหัน มักเชื่อว่า เป็นการกระทำของผีร้ายต้องให้ผู้ที่สื่อสารกับผี หรือแม่มด หรือผู้หมอดูว่า ผีชนิดใดทำให้เจ็บป่วย หรือมีผีตนใดติดตามมากับบุคคลผู้นั้นจนทำให้เจ็บป่วย จากนั้นจึงต้องบนบานขอขมาไถ่โทษให้ผู้เจ็บป่วยด้วยของเซ่นไหว้ เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ ไข่ เหล้า ข้าวสาร นอกจากนั้นจะต้องทำพิธีเชิญผีมาร่วมในประเพณีเซ่นไหว้ผีแม่มดในเดือน 3 ของทุกปี

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สำนักกิจการชาติพันธุ์, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ. (ม.ป.ท). กลุ่มชาติพันธุ์ในภาษาออสโตรเอเชียติก. สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2563, จาก http://thailandethnic.m-society.go.th/Austro-Asiatic.html

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (2558). แผนแม่บทการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย พ.ศ. 2558-2560. กรุงเทพฯ: กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.

จดหมายเหตแห่งชาติ, สำนัก. เอกสารกรมราชเลขาธิการ กระทรวงมหาดไทย รัชกาลที่ 5 ม.4 เรื่องที่ 2 มณฑลจันทบุรี เรื่อง เมืองจันทบุรี (ปึก 1) (1 ส.ค. 123 - 11 ส.ค. 127).รหัสไมโครฟิล์ม มร. 5 ม/47,(ร.5ม.42(1-11) (ร.ศ.114-ร.ศ.129)) .เลขที่เอกสาร ม.42/10. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 2 กรกฎาคม 2559, เข้าถึงได้จากhttp://www.sac.or.th/databases/siamrarebooks/main/...

จดหมายเหตุแห่งชาติ, สำนัก. เอกสารกรมราชเลขาธิการ กระทรวงมหาดไทย รัชกาลที่ 5 ม.4 เรื่องที่ 2 มณฑลจันทบุรีเรื่องพวกเขมร พม่า กุลา ลาว อพยพเข้ามาอยู่ในแขวงเมืองตราด 19 ก.ย. -12 ก.พ. 121). รหัสไมโครฟิล์ม มร. 5 ม/47,(ร.5ม.42(1-11) (ร.ศ.114-ร.ศ.129)) .เลขที่เอกสาร ม.42/7 [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 2 กรกฎาคม 2559, เข้าถึงได้จากhttp://www.sac.or.th/databases/siamrarebooks/main/...

ณัฐมน โรจนกุล, และ รณกร รักษ์วงศ์. (2554). ภาษากะซอง: เสียงของคนกลุ่มสุดท้ายแห่งดินแดนตะวันออก. วารสารวัฒนธรรม, 66-73.

ดำรงพลอินทร์จันทร์. (2559). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่อง “พลวัตทางชาติพันธุ์ ณ พรมแดนตะวันออก กรณีศึกษา กลุ่มภาษากะซองและซำเร” ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

มหาวิทยาลัยมหิดล, (ม.ป.ท). โครงการพลิกฟื้นภาษากะซองเพื่อสืบทอดให้คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน บ้านคลองแสง ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด. สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2563, จาก http://www.langrevival.mahidol.ac.th/Research/website/ks.html

ราชกิจจานุเบกษา. (2556). ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2556. เล่มที่ 130 ตอนพิเศษ 87ง ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2556.

สันติ เกตุถึก (หัวหน้าโครงการ). (2552). แนวทางการพลิกฟื้นภาษากะซองเพื่อสืบทอดให้คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน บ้านคลองแสง ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด. สบับสนุนทุนการวิจัยโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเซีย มหาวิทยาลัยมหิดล, กรุงเทพ.

สันติ เกตุถึก และคณะ. (2554). รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัย “แนวทางการพลิกฟื้นภาษากะซองเพื่อสืบทอดให้คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน บ้านคลองแสง ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์, สุนี คำนวนศิลป์, และ ณัฐมน โรจนกุล. (2559). ภาษากะซอง :มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ. กรุงเทพ: สำนักกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์.

อริยะ เพ็ชร์สาคร. (2552). กลุ่มคนในอำเภอคลองใหญ่จังหวัดตราด: ที่ตั้งขึ้นเพื่อตัวของเขาเอง. สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2563, จาก https://www.gotoknow.org/posts/287983

Kamnuansin, Sunee. (2003). “Syntactic characteristics of Kasong: an endangered language of Thailand.” Mon-Khmer Studies.

Khamnuansin, Sunee. (2002). “Kasong Syntax” MA thesis (Linguistics), Faculty of Graduate Studies, Mahidol University.

Schliesinger, Joachim (2011). Ethnic Groups of Cambodia Volume 1 Introduction and Overview.Bangkok: White Lotus Press.

Schliesinger, Joachim (2011). Ethnic Groups of Cambodia Volume 2 Profile of Austro-Asiatic-Speaking Peoples. Bangkok: White Lotus Press.

Thongkham, Noppawan. (2003). “The Phonology of Kasong at Khlong Saeng Village, Danchumphon Sub-district, Bo Rai District, Trat Province” MA thesis (Linguistics), Faculty of Graduate Studies, Mahidol University

จันทรา คงทน. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านคลองแสง หมู่ที่ 3 ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด. สัมภาษณ์. กรกฎาคม 2559

บัญชา เอกนิกร. ผู้ใหญ่บ้าน บ้านคลองแสง หมู่ที่ 3 ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด. สัมภาษณ์. กุมภาพันธ์ – สิงหาคม 2559

พุ่ม เอกนิกร. บ้านคลองแสง หมู่ที่ 3 ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด. สัมภาษณ์. กุมภาพันธ์ – สิงหาคม 2559

รำไพ เอกนิกร. บ้านคลองแสง หมู่ที่ 3 ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด.สัมภาษณ์. มีนาคม – สิงหาคม 2559

สันติ เกตุถึก. บ้านคลองแสง หมู่ที่ 3 ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด.สัมภาษณ์. กรกฎาคม. 2559

เสวย เอกนิกร. สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลด่านชุมพล ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด. สัมภาษณ์. กุมภาพันธ์ –สิงหาคม 2559


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

  • สถานะองค์ความรู้
close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว