กลุ่มชาติพันธุ์ : กะซอง

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : กะซอง
  • ชื่อเรียกตนเอง : กะซอง
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ชอง
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ตระกูลออสโตรเอเชียติก ไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง แต่มีภาษากะซองเป็นภาษาพูด
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

    ชื่อเรียกตนเอง    "กะซอง" เป็นชื่อที่ผู้พูดเรียกภาษาของตัวเองและเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเขา ปรากฏจากคำบอกเล่าของชาวกะซองในพื้นที่ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2559) 

    ชื่อที่คนอื่นเรียก    "ชอง" "ชองของตราด" "กะซอง" 

    ชื่อที่ปรากฏในเอกสารราชการ   คำว่า "ชอง"  ปรากฏในเอกสารทางราชการของไทยมีชื่อว่า เอกสารกรมราชเลขาธิการ กระทรวงมหาดไทย รัชกาลที่ 5 (ม.4 เรื่องที่ 2 มณฑลจันทบุรี) รายงานว่า

    พระยาวิชยาธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรี แจ้งว่ามีพวกเงี้ยวพม่า 11 คน มาจากไซ่ง่อน ขึ้นที่บ่อพลอยไพลิน ดังใจความต่อไปนี้ (หน้า3)…สืบได้ความว่ามีพวกเงี้ยวพม่ารวม 11 คน มาจากไซ่ง่อนโดยเรือเมล์โดนัยเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พวกนี้ได้แยกกันอยู่หลายแห่ง วันที่ 29 กรกฎาคม พวกนี้พากันขึ้นไปบ่อพลอยไพลิน 8 คน ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม ได้ขึ้นไปบ่อพลอยไพลินอีก 3 คน ในพวกนี้ พระยาวิชยาธิบดีสืบได้ความว่า คนหนึ่งเป็นคนชาติพม่า ชื่อมองเคล้าปูเดิม อยู่กบมองจะเรปิ้งย่าที่เมืองจันทบุรี แล้วพากันไปหาเจ้าเมงกุนที่ไซ่ง่อน ไม่ได้ความว่าพวกนี้มาเพื่อเหตุใด…

              อีกฉบับรายงานว่า

    พระยาวิชยาธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรี แจ้งว่ามีพวกลาว 10 คน เที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ตามดงยายโต้ ดังใจความต่อไปนี้ (หน้า31)…ได้รับรายงานนานวาศ ปลัดอำเภอทุ่งใหญ่ ลงวันที่ 17 เมษายน ร.ศ.124 ว่ามีพวกลาวประมาณ 10 คน ถืออาวุธครบมือกัน เที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ตามดงยายโต้ ปลายเขตร์แดนแลตำบลท่าโสม อำเภอทุ่งใหญ่…   พระยาตรังค ได้ตรวจเขตร์ท้องที่อำเภอท่าหลวง จนถึงพรหมแดนต่อ (ต่อ) เขตร์กับเมืองพระตะบอง ได้แจ้งถึงกลุ่มชาติพันธุ์ของผู้คนแถบนี้ ดังนี้ (หน้า49)…ตำบลซึ่งต่อเขตร์แดนกับพระตะบองนั้น ราษฎรชาวบ้านเป็นพวกเขมรทั้งสิ้น ตำบลซึ่งต่อกับเมืองปาจิณ เป็นลาวบ้าง ชองบ้าง เขมรบ้าง ตำบลทับไซนั้นเป็นพวกชองทั้งสิ้น

     

              ต่อมานักภาษาศาสตร์เพิ่มระดับการรับรู้ด้วยคำขยายเพิ่มเติมทางภาษาว่า "ชองของตราด" เพื่อจำแนกความแตกต่างระหว่าง "ชองของจันทบุรี"  ซึ่งเป็นกลุ่มที่ในทางภาษาศาสตร์ได้มีกระบวนการในการฟื้นฟูภาษาในภาวะวิกฤตไปก่อนหน้าแล้ว และเมื่อวินิจฉัยด้วยเกณฑ์ทางภาษาศาสตร์แล้ว นักภาษาศาสตร์ได้สร้างชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ "ชองของตราด"  เป็น “กะซอง” (Kasong) และส่งเสริมความรับรู้ของชาวชอง (ของตราด) เดิม ให้เปลี่ยนชื่อเรียกกลุ่มตนเอง เพื่อจำแนกให้เห็นความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ประหนึ่งกำหนดนิยามชื่อเรียกทางชาติพันธุ์ขึ้นมา นำพามาซึ่งการเปลี่ยนแปลงตัวตนทางชาติพันธุ์นับจากนั้นเป็นต้นมา ตลอดจนความตระหนักต่อสถานภาพและความสำคัญของภาวะของภาษาของตนเอง จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า กลไกหนึ่งของการขับเคลื่อนตัวตนทางชาติพันธุ์ของกลุ่มชาวกะซองคือข้อค้นพบทางวิชาการ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและยอมรับนิยามชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่อย่างชัดเจน 

         

  • อื่น ๆ :

              ภาษากะซอง (Kasong) จัดอยู่ในภาษาศาสตร์สาขาเพียริก (Pearic) หมวดภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) กลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic) หากชาวกะซองจำนวนน้อยมากที่พูดภาษากะซอง

              ระบบเสียงของภาษากะซองในหมู่บ้านคลองแสง โดยใช้แทคมีมิก (tagmemix) พบว่า ภาษากะซองมีหน่วยเสียงพยัญชนะ 21 เสียง โดยเสียงสระเดี่ยว 17 หน่วยเสียง โดยเสียงสระประสม 1 หน่วยเสียง ลักษณะน้ำเสียง 4 ลักษณะ พยางค์มี 3 ประเภทคือ พยางค์หลัก พยางค์รองและพยางค์นำ คำ มี 3 ประเภท คือ คำพยางค์เดียว คำสองพยางค์และคำสามพยางค์ ทำนองเสียงมี 1 ประเภทคือทำนองเสียงตก

              คำศัพท์ภาษากะซอง 2,481 คำ จำแนกเป็นหมวดต่าง ๆ อาทิ หมวดอวัยวะร่างกาย, พืช ต้นไม้ ส่วนประกอบต้นไม้, ลักษณะภูมิประเทศ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ, สัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก, ผลไม้, ของใช้, แมลง – แมง, อวัยวะสัตว์, กิริยาอาการ (ของพืช) เป็นต้น

              ในปัจจุบันนี้ภาษากำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาษาที่มีวรรณยุกต์และในอนาคตอันใกล้คาดว่าภาษานี้จะกลายเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ เนื่องจากขณะนี้ไม่พบลักษณะน้ำเสียงก้องมีลมในภาษากะซองรุ่นใหม่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีคำยืมจากภาษาไทยในภาษากะซองถึงร้อยละ 55.38 (Noppawan Thongkham, 2003) ปัจจุบัน (พ.ศ. 2559) ผู้พูดภาษากะซองมีจำนวนน้อยมาก และผู้พูดส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 60 ปี ชาวกะซองส่วนใหญ่พูดภาษาไทย 

              ชาวกะซองไม่มีภาษาเขียนของตนเอง ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาเขียน โดยที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้สร้างระบบตัวเขียนภาษากะซองขึ้นมา ได้แก่ พยัญชนะภาษากะซอง 21 ตัว สระภาษากะซอง 21 ตัว ตัวสะกด 12 ตัว วรรณยุกต์ 4 เสียง 

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย ผศ. ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ

    เอกสารอ้างอิง

    • ดำรงพล  อินทร์จันทร์. (2559). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่อง “พลวัตทางชาติพันธุ์ ณ พรมแดนตะวันออก กรณีศึกษา กลุ่มภาษากะซองและซำเร”. ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
    • สันติ เกตุถึก และคณะ. (2554). รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัย “แนวทางการพลิกฟื้นภาษากะซองเพื่อสืบทอดให้คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน บ้านคลองแสง ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด”. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.
    • Khamnuansin, Sunee. (2002). "Kasong Syntax”. MA thesis (Linguistics), Faculty of Graduate Studies, Mahidol University.
    • Thongkham, Noppawan. (2003). “The Phonology of Kasong at Khlong Saeng Village, Danchumphon Sub-district, Bo Rai District, Trat Province”. MA thesis (Linguistics), Faculty of Graduate Studies, Mahidol University.

    เอกสารอ้างอิงอื่น ๆ

    • จดหมายเหตุแห่งชาติ, สำนัก. เอกสารกรมราชเลขาธิการ กระทรวงมหาดไทย รัชกาลที่ 5 ม.4 เรื่องที่ 2 มณฑลจันทบุรีเรื่องพวกเขมร พม่า กุลา ลาว อพยพเข้ามาอยู่ในแขวงเมืองตราด 19 ก.ย. -12 ก.พ. 121). รหัสไมโครฟิล์ม มร. 5 ม/47,(ร.5ม.42(1-11) (ร.ศ.114-ร.ศ.129) .เลขที่เอกสาร ม.42/7. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 2 กรกฎาคม 2559, เข้าถึงได้จาก http://www.sac.or.th/databases/siamrarebooks/main/index.php/history/2012-04-26-08-52-30/707--19-12-121
    • จดหมายเหตแห่งชาติ, สำนัก. เอกสารกรมราชเลขาธิการ กระทรวงมหาดไทย รัชกาลที่ 5 ม.4 เรื่องที่ 2 มณฑลจันทบุรี เรื่อง เมืองจันทบุรี (ปึก 1) (1 ส.ค. 123 - 11 ส.ค. 127).รหัสไมโครฟิล์ม มร. 5 ม/47,(ร.5ม.42(1-11) (ร.ศ.114-ร.ศ.129) .เลขที่เอกสาร ม.42/10. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 2 กรกฎาคม 2559, เข้าถึงได้จาก http://www.sac.or.th/databases/siamrarebooks/main/index.php/history/2012-04-26-08-52-30/710-1-1-123-11-127

    สัมภาษณ์

    • จันทรา คงทน. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านคลองแสง หมู่ที่ 3 ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด. (กรกฎาคม 2559). สัมภาษณ์
    • บัญชา เอกนิกร. ผู้ใหญ่บ้าน บ้านคลองแสง หมู่ที่ 3 ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด. (กุมภาพันธ์-สิงหาคม 2559). สัมภาษณ์
    • พุ่ม เอกนิกร. บ้านคลองแสง หมู่ที่ 3 ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด. (กุมภาพันธ์-สิงหาคม 2559). สัมภาษณ์
    • รำไพ เอกนิกร. บ้านคลองแสง หมู่ที่ 3 ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด. (มีนาคม-สิงหาคม 2559). สัมภาษณ์
    • สันติ เกตุถึก. บ้านคลองแสง หมู่ที่ 3 ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด. (กรกฎาคม 2559). สัมภาษณ์
    • เสวย เอกนิกร. สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลด่านชุมพล ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด. (กุมภาพันธ์-สิงหาคม 2559). สัมภาษณ์

     

     

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              ไม่ปรากฏประวัติและที่มาของชาวกะซองอย่างชัดเจนนัก มีเพียงคำบอกเล่าว่าตั้งแต่ในอดีตนับเป็นร้อยปีที่ผ่านมาในจังหวัดตราดมีกลุ่มคนชาวกะซองเป็นบางส่วนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายเขตของจังหวัด ชาวกะซองส่วนใหญ่มักชอบอาศัยอยู่ตามป่าเขาหรือที่ที่มีน้ำตลอดทั้งปี ชาวกะซองตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลด่านชุมพล มานานนับร้อยปีแล้ว ผู้อาวุโสในหมู่บ้านเล่าว่ากลุ่มชาวกะซองที่มีอยู่เดิมนั้นเป็นลูกหลานของนักรบหรือผู้ป้องกันประเทศชาติในสมัยพระเจ้าตากสิน ในช่วงนั้นจะมีกลุ่มชนหลายเชื้อชาติที่เข้าออกประเทศจากการสู้รบหรือการค้าขาย กลุ่มคนเหล่านั้นมีทั้งกัมพูชา เวียดนาม กุลา มอญและกะซอง

              โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ตำบลด่านชุมพล ทั้งนี้เหตุที่มีชาวกะซองอยู่ที่พื้นที่นี้จำนวนมากนั้นเพราะว่าชาวกะซองจะต้องคอยระวังดูแลแนวชายแดนของพื้นที่อยู่นานจนมีลูกหลานสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน กลุ่มชาวกะซองมีแต่ภาษาพูด มีวัฒนธรรม ประเพณี มีความเชื่อและเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันชาวกะซองที่มีอยู่และพูดภาษากะซองได้นั้นมีอยู่จำนวนน้อยมาก แต่มีลูกหลานที่สืบทอดวงศ์ตระกูลนั้นมีอยู่มาก สาเหตุที่ทำให้การพูดภาษากะซองลดน้อยลงเป็นเพราะว่าไม่มีการถ่ายทอดคำพูดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นผลให้ประเพณีและวัฒนธรรมเสื่อมตามลงไปตามลำดับ

     

              

    ศาลาประชาคมของหมู่บ้านกะซอง บ้านคลองแสง ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด

    จัดเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง ตามรอยเท้าพ่อ ของจังหวัดตราด

     

              ความเป็นมาของคำว่า "ด่านชุมพล" คือ คนชื่อหลวงพลได้ต่อต้านการสู้รบและเอาชนะได้ หลวงพลเป็นคนที่มีอำนาจและมีรากฐานอยู่ที่หมู่ 1 ของด่านชุมพลและได้เสียชีวิตลงที่แห่งนั้น เลยเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า "ด่านชุมพล" จากคำเล่าขานของชาวบ้าน เช่น คำบอกเล่าของผู้อาวุโสในหมู่บ้าน "บ้านคลองแสง" แต่เดิมเรียกกันว่า “บ้านชุมแสง” ตามชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ชอบขึ้นตามหนองน้ำและพื้นที่ตามลำคลองของหมู่บ้าน คือ ต้นชุมแสง เป็นที่อาศัยของหิ่งห้อย ชอบเกาะในเวลากลางคืน ทำให้เกิดแสงระยิบระยับ สวยงาม ชาวบ้านเรียกคลองนี้ว่า "คลองแสง" จนถึงปัจจุบัน ปรากฏข้อความกล่าวถึงที่มาของหมู่บ้านว่า

    "หมู่บ้านนี้ มีอายุการก่อตั้งหมู่บ้านมาแล้วไม่ต่ำกว่า 150 ปี แรกเริ่มผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่กันประมาณ 3-4 ครัวเรือน คือ นางเย็น นายคุด นางหอ ซึ่งคนกลุ่มนี้สืบเชื้อสายมาจากชาว ฌอง (ชอง) ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งที่อพยพมาจากเขมร แล้วมาตั้งรกรากที่นี้ จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าคนในชุมชนนี้มีการสืบเชื้อสาย มาจาก 4 ครอบครัวนี้” 

     

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

     

              ชาวกะซองส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกนั้นประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่น ปลูกยางพารา เงาะ มังคุด สับปะรด อาชีพเสริม รับจ้าง ชาวกะซองประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ทำสวน รวมทั้งยังมีบางส่วนที่ยังใช้ชีวิตผูกพันกับป่า เก็บของป่า เก็บผัก ผลไม้ เห็ด และสมุนไพร เพื่อค้าขายและบริโภคในครัวเรือนอยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วในปัจจุบันรายได้จากการเก็บของป่าเป็นเพียงรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพหลักอันได้แก่ งานเกษตรกรรมเสียมากกว่า

              การทำนาข้าวของชาวกะซองเป็นอาชีพที่มีมาเป็นระยะเวลานาน โดยขอยกตัวอย่างการทำนาในกรณีของบ้านคลองแสง จะเริ่มปลูกข้าวในช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว โดยข้าวที่ปลูกในช่วงดังกล่าวจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนธันวาคม ข้าวเหล่านี้จะผ่านกระบวนการนวดข้าว ฝัดข้าวและนาข้าวขึ้นยุ้งในเดือนมกราคมเพื่อรอไว้ใช้สำหรับการบริโภคในครัวเรือนและการขายในขั้นตอนต่อไป

              การทำสวนผลไม้เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่อยู่คู่กับชาวกะซองบ้านคลองแสง แต่ก็ไม่ได้เป็นการประกอบเป็นอาชีพหลัก เนื่องมาจากว่าผลไม้หลายชนิดสามารถหาได้ในป่าอยู่แล้วไม่จำเป็นจะต้องปลูกเพิ่ม ซึ่งถ้าจะมีการปลูกสวนผลไม้ขึ้นจริง ๆ แล้วก็จะทำเพียง 2–3 ไร่ แค่เพียงเท่านั้น

              ในส่วนของการหาของป่า ชาวกะซองจะเข้าป่าหาของป่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมซึ่งเป็นฤดูที่ผักและผลไม้ป่ากำลังผลิดอกออกช่อ เช่น สะตอ ระกำ มะปราง มะไฟ ฯลฯ นอกจากการหาผัก–ผลไม้จากในป่าแล้วนั้น การเข้าป่าแต่ละครั้งก็ยังสามารถไปจับสัตว์และหาปลาจากในป่าได้อีกด้วย

              ในปัจจุบันนอกจากการทำนาข้าว การทำสวนผลไม้และการหาของป่าแล้ว ชาวกะซองบ้านคลองแสงก็ได้ประกอบอาชีพการทำสวนยางพาราซึ่งเป็นอาชีพใหม่ในชุมชน โดยการทำสวนยางพารานี้จะสามารถกรีดยางได้แทบตลอดทั้งปี ยกเว้นในช่วงฤดูร้อน เนื่องมาจากว่าเป็นช่วงที่ต้นยางพารากำลังผลัดใบ ชาวสวนยางพาราที่บ้านคลองแสงจะออกกรีดยางในช่วงเย็นจนถึงค่ำและจะเก็บน้ำยางในเช้าวันถัดไป

     

    ในการประชุมหมู่บ้านทุกเดือนจะมีการนำสินค้าจากชุมชนมาจำหน่ายราคาถูก

     

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              ลักษณะครอบครัวของชาวกะซองมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย หากในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ในอดีตจะแต่งงานข้ามสายตระกูลไปมาภายในหมู่บ้าน แม้จะนามสกุลเดียวกันก็สามารถแต่งงานกันได้ หากนับสายเครือญาติห่างกันออกไปไม่นิยมแต่งงานกับคนภายนอก เนื่องจากในอดีตการคมนาคมยากลำบากและใช้การเดินเท้าเป็นหลัก เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายจะนิยมย้ายเข้ามาอาศัยกับฝ่ายหญิง โดยจะตั้งเรือนในพื้นที่ใกล้เคียงกับพ่อและแม่ของฝ่ายหญิง และได้รับส่วนแบ่งมรดกที่ดินในจำนวนที่เท่า ๆ กัน ด้วยเหตุนี้ทำให้กลุ่มคนในหมู่บ้านเป็นญาติกันทั้งหมด เช่น สายตระกูลดั้งเดิมของหมู่บ้านคลองแสงมีทั้งหมด 4 นามสกุล คือ เอกนิกร เกตุถึก คงทน พรหมบาล เป็นต้น

              ชาวกะซองแต่งงานกับชาวซำเรบ้างเช่นกัน สันนิษฐานว่าการผูกสัมพันธ์ทางเครือญาติภายในกลุ่มกันเอง นอกจากความใกล้ชิดของเชื้อสายแล้ว อาจเนื่องมาจากสภาพการตั้งบ้านเรือนของกะซองที่กระจายตัวตามที่ดินทำกินของตนเองซึ่งค่อนข้างไกลจากชุมชนและคนกลุ่มอื่น ๆ และการทำมาหากินของชาวกะซองนั้นอยู่ตามพื้นที่ชายป่าในท้องที่ ซึ่งไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกมากนัก ทุกวันนี้คนกะซองแต่งงานกับคนไทยและคนกลุ่มอื่น ๆ มากขึ้น ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ของหมู่บ้านมักแต่งงานกับคนต่างถิ่นทั้งกับหมู่บ้านใกล้เคียงและต่างจังหวัด เนื่องจากการคมนาคมที่สะดวกสบายเกิดการติดต่อปฏิสัมพันธ์และออกไปทำงานกับกลุ่มคนภายนอกมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพที่หลากหลายมากตามไปด้วย ซึ่งต่างจากเดิมที่มีเพียงการทำนา ทำไร่และใช้คนจากครัวเรือน หรือเครือญาติเป็นแรงงานในภาคการเกษตรเปลี่ยนไปเป็นแรงงานจากการว่าจ้างแทน อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้านก็ยังเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นผ่านระบบเครือญาติและครอบครัว

     

      

     

              ข้อสังเกตประการหนึ่งที่พบคือ คนกะซองแต่งงานมีครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย (อายุไม่ถึง 20 ปี) และมีลูกจำนวนมาก โดยเฉพาะในอดีตพบว่าแต่ละครอบครัวมีลูกไม่ต่ำกว่า 5-6 คน คุณยายพุ่ม เอกนิกร ชาวกะซองหมู่บ้านคลองแสงซึ่งถือเป็นผู้อาวุโสที่สุดมีพี่น้องถึง 6 คน และมีลูกทั้งหมด 9 คน ปัจจุบันมีหลาน เหลน และโหลน (หรืออาจจะมีชั้นเครือญาติต่อจากนั้นไปอีก) รวมกันไม่ต่ำกว่า 10 คน

              สำหรับการจัดการทางสังคมในอดีตมีอยู่ด้วยกันสองลักษณะคือ หนึ่ง ผู้นำตามธรรมชาติ หมายถึง ผู้อาวุโสหรือผู้ที่ได้รับการยอมรับจากคนทั้งหมู่บ้านว่ามีความสามารถ และเป็นที่เคารพนับถือแก่คนหมู่มาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะอิงอยู่กับความสัมพันธ์ทางระบบเครือญาติเป็นหลัก สอง ผู้นำตามหน่วยงานปกครองท้องถิ่นของภาครัฐซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานจะถูกเลือกตามกระบวนการของภาครัฐ มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำภายใต้การดูแลขององค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) ผู้ใหญ่บ้านตามการปกครองของกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบัน (ผู้ใหญ่บัญชา เอกนิกร) ถือเป็นรุ่นที่ 4

              อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้นำจะไม่ใช่ผู้นำตามธรรมชาติดังเช่นอดีตอีกต่อไป แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าผู้นำภายใต้การปกครองของรัฐยังคงมีความสัมพันธ์กับระบบเครือญาติและกลุ่มคนในสายตระกูลดั้งเดิมของชุมชน นอกจากนี้ภายในหมู่บ้านลักษณะความสัมพันธ์ทางระบบเครือญาติไม่เพียงปรากฏในกลุ่มผู้นำการปกครองเท่านั้น ยังพบลักษณะความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้นำและกลุ่มผู้ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่ออีกด้วย

     

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              การแต่งงานเป็นอีกหนึ่งในพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านที่ในอดีตเชื่อว่าผู้ผ่านพิธีกรรมนี้จะกลายเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้นเพราะสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้อย่างเต็มที่

              ปกติชาวกะซองจะไม่กำหนดเดือนที่แต่งงาน แต่จะนิยมแต่งงานในเดือน 4, 6, 12 ซึ่งการแต่งงานจะมี 2 รูปแบบ คือ การแต่งงานแบบรักษาในและการแต่งงานแบบรักษานอก การแต่งงานแบบรักษาใน คือการที่ฝ่ายชายไปทำงานหาบน้ำ หาฟืนบ้านฝ่ายหญิงก่อนที่จะแต่งงานซึ่งจะใช้เวลาทำงานก่อนแต่งงานประมาณ 2 เดือน แล้วจึงจะกำหนดวันแต่งงานภายหลัง ส่วนการแต่งงานแบบรักษานอกก็คือการประกอบพิธีแต่งงานก่อน แล้วค่อยให้ฝ่ายชายเข้าไปทำงานบ้านฝ่ายหญิงหลังจากนั้นจึงอยู่ด้วยกัน

              เมื่อหนุ่มสาวชาวกะซองตัดสินใจที่จะแต่งงานกัน ผู้ชายจะขอให้ผู้ใหญ่ซึ่งไม่ใช่พ่อแม่ของตนเองไปสู่ขอยังพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เรียกว่า “ครูเซ่น” บุคคลนี้ถือว่าเป็นคนสำคัญ ที่จะต้องไปบอกกล่าวต่อผีบรรพบุรุษของผู้หญิงพร้อมด้วยดอกไม้ ธูป เทียน หมาก พลู ก่อนที่จะสู่ขอผู้หญิงจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิงและขอแต่งงานในนามของฝ่ายชาย หลังจากพ่อแม่ของผู้หญิงตอบตกลงแล้วตัวแทนฝ่ายเจ้าบ่าวและครอบครัวของเจ้าสาวจะจัดพิธีแต่งงานพร้อมตกลงสินสอดที่จะให้กับครอบครัวของเจ้าสาว

     

  • การสืบผีและมรดกของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              การสืบทอด "ผีขมุก (สมุก)" ผ่านทางญาติฝ่ายหญิง "กินผีเรือน" (กินผีตามสาย) บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญกับบทบาทของฝ่ายหญิงในการสืบสายเครือญาติมาแต่โบราณ ส่วนการสืบสายสกุล เป็นไปตามฝ่ายชายแบบไทยปัจจุบัน

     

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              ชาวกะซองแต่งกายเช่นคนไทยทั่วไปในท้องถิ่นต่าง ๆ ส่วนมากผู้หญิงสูงวัยจะสวมผ้านุ่ง สวมเสื้อคอกระเช้าและสวมเสื้อแขนสั้นหรือแขนยาว ทรงกระบอกทับอีกชั้นหนึ่ง ส่วนผู้ชายก็แต่งตัวตามสมัยนิยมไม่ต่างจากคนไทยทั่วไป ชาวกะซองไม่มีการปั่นฝ้ายหรือทอผ้าไว้ใช้เอง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหาซื้อได้จากตลาด ปัจจุบันมีเพียงเฉพาะคนสูงอายุที่ยังแต่งกายในแบบพื้นบ้านชนบทของไทย ซึ่งโดยมากมักมีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป ส่วนคนรุ่นหนุ่มสาวเป็นการแต่งกายตามสมัยนิยม

     

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              เดิมลักษณะบ้านเรือนของชาวกะซองเป็นลักษณะเครื่องผูกยกเสาสูงมีชั้นเดียว เรือนไม่ได้มีขนาดใหญ่นัก พื้นและฝาเรือนทำจากฟากไม้ไผ่ เสาบ้านทำจากไม้ยืนต้น สูงจากพื้นดินประมาณ 2-2.5 เมตร ขณะที่บางหลังยกพื้นเพียง 1 เมตร ส่วนหลังคามุงด้วยหลังคาใบจาก ใบระกำ โสม (หวาย) พื้นที่ใช้สอยภายในแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นพื้นที่เปิดโล่งเป็นชานที่พักต่อขึ้นจากบันได ส่วนที่สองเป็นชานเรือนใช้เป็นที่พักผ่อนและรับรองแขก ส่วนที่สามเป็นครัว ส่วนที่สี่เป็นห้องนอนแบ่งออกเป็น 2 ห้อง คือ ห้องนอนของพ่อแม่และห้องนอนของลูก โครงสร้างส่วนใหญ่ทำจากไม้ที่หาได้ในป่าและสร้างเป็นเรือนแบบเปิด มีชานเรือนออกมา ต่อมามีการสร้างบ้านที่เสาทำจากไม้เนื้อแข็งยกพื้น มีใต้ถุนเบื้องล่าง มุงหลังคาด้วยสังกะสี ภายหลังเปลี่ยนแปลงมากขึ้น นิยมสร้างเรือนปูนชั้นเดียว มุงกระเบื้องหรือบางครั้งก็สร้างเป็นเรือนสองชั้นโดยข้างบนเป็นไม้และข้างล่างเป็นปูน เมื่อคนกะซองในหมู่บ้านออกมาทำงานนอกหมู่บ้านจะนิยมกลับมาสร้างบ้านแบบสมัยใหม่มากขึ้น ดั้งเดิมบ้านของชาวชองทำจากไม้ไผ่เป็นหลัก

     

    ภายในเรือนของคนกะซองจะมีเสื่อสานจากต้นคลุ้มปูพื้น

     

  • อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              อาหารการกินของชาวกะซองไม่แตกต่างจากชาวบ้านไทยพื้นบ้านทั่วไป ซึ่งทานข้าวเจ้า ผัก น้ำพริก แกงพื้นถิ่นหรืออาหารที่ได้จากป่า ในอดีตไม่มีกะปิ น้ำปลาหรือเกลือ ชาวกะซองต้องนำของป่าหรือผลผลิตจากป่าไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อหาจากเมืองตราดเพื่อทำเป็นเครื่องปรุงอาหารในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันปรุงอาหารแบบคนไทยทั่วไป

              ในแต่ละรอบปีชาวกะซอง มีอาหารที่น่าสนใจมากมายหลายอย่างในรอบปี ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิต ทรัพยากรทางธรรมชาติในรอบปีและประเพณี–ความเชื่อของชาวกะซอง ซึ่งสามารถแจกแจงได้ดังนี้

              เดือนมกราคม ช่วงเดือนขึ้นปีใหม่นี้ ชาวกะซองมักจะทำอาหารพิเศษเพื่อรับเทศกาลปีใหม่ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ใกล้กับการนวดข้าว ฝัดข้าว และเอาข้าวขึ้นยุ้ง โดยอาหารพิเศษประจำเดือนมกราคมก็คือ แกงกะทิใส่ไก่กับฟักและแฟง ปลากั้งต้มเค็มและข้าวเหนียวมูน

              เดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่ชาวกะซองจะหาผักป่าในลักษณะของพืชดอกมาบริโภคประเภท เช่น ดอกข่า นอกจากนี้ในอดีตชาวกะซองจะขึ้นเขาไปหาปลาตามโคลน ตามซอกหินเพื่อนำมาประกอบอาหารเช่น ปลากั้ง ปลาตะโอน ปลาไหลและเต่าเกียด ซึ่งตัวเต่าเกียดนี้ปัจจุบันหาไม่ได้แล้ว

              เดือนมีนาคม เป็นช่วงฤดูกาลที่ชาวกะซองเข้าไปหาผลไม้ป่าจำพวกสะตอ ระกำ มะไฟ มะปราง แต่ปัจจุบันผลไม้ป่าเหลือไม่มากนักเนื่องจากมีการถางป่าสำหรับการทำการเกษตร

              เดือนกรกฎาคม ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ชาวกะซองนิยมทำขนมข้าวห่อ ข้าวต้ม ขนมเทียน สำหรับการไปทำบุญที่วัด โดยในอดีตจะมีการประกวดประชันรสชาติการทำขนมไปทำบุญด้วยว่าบ้านไหนทำขนมได้รสชาติดีกว่ากัน

              เดือนสิงหาคม เป็นช่วงทำนา ชาวกะซองจะใช้เวลานี้หาปลา หากบเพื่อมาประกอบอาหารตามวิถีชีวิต

              เดือนกันยายน หรือช่วงเดือน 10 ตามจันทรคติ ชาวกะซองจะมีอาหารในช่วงเทศกาลนี้คือข้าวต้มห่อใบกระพ้อและขนมเทียนเพื่อนำไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่วัด และจะนำขนมที่เหลือนั้นมาแบ่งกันบริโภคในครอบครัวและชุมชนอีกด้วย

     

  • ประเพณีและเทศกาลสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

     ประเพณีการเซ่นไหว้ผีเดือน 3 

              ชาวกะซองเรียกว่า "ไหว้ผีแม่มด" หรือ "เล่นผี" แต่ละครอบครัวจะนัดหมายกันประกอบพิธีในช่วงเดือน 3 (ตามปฏิทินจันทรคติของไทย) จะทำในช่วงเวลากลางคืน หลังจากพระอาทิตย์ตกดินแล้ว มีการเตรียมบายศรีปากชาม ตามจำนวนร่างทรงที่จะเชิญให้ผีมาประทับทรง มีเครื่องดนตรีประกอบ รวมทั้งมีการร้องเล่นเต้นรำ เมื่อเชิญผีแม่มดมารับส่วนบุญกุศล นอกจากนั้นแล้วก็ยังเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวสามารถร่วมทำพิธีขอขมาลาโทษหรือเล่นผีที่เคยทำให้ตนเองเจ็บป่วยเป็นการชดเชยอีกด้วย

     

            

     

              งานผีแม่มดในเดือน 3 มีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้

              ขั้นเตรียมงาน  เมื่อครอบครัวได้นัดหมายวันที่จะประกอบพิธีแล้ว จะมีการเตรียมปะรำ, ศาลา หรือเพิงชั่วคราวออกนอกจากพื้นที่ตัวเรือนหรือบ้าน เป็นที่โล่งแจ้งอาจอยู่ติดชายคาบ้าน ตกแต่งเป็นแบบชั่วคราวด้วยทางมะพร้าว ดอกไม้ มีโต๊ะสำหรับวางพานเซ่นไหว้และมีเสื่อปูไว้ให้ผู้ประกอบพิธี จากนั้นผู้จัดงานจะตระเตรียม "บายศรีปากชาม" ขึ้น บายศรีปากชามประกอบด้วย ผ้าขาวม้า เสื้อผ้า (ใหม่) แป้ง เหล้า กระจก หวี สร้อยคอ กำไล กรวยดอกไม้ 3-5 ชั้น รวมทั้ง ข้าวตอก ดอกไม้ หมากพลู จัดวางเรียงในถาด (สังกะสี) ตามจำนวนของร่างทรงตามนัดหมาย ไม่ได้จำกัดจำนวนร่างทรง อาจเป็น 3 คน หรือ 5 คน ตามแต่เจ้าภาพจะดำเนินการ ขณะที่ในส่วนของผู้เข้าร่วมจะได้รับการต้อนรับหรือรับรองจากเจ้าภาพด้วยอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ตามแต่ฐานะของเจ้าภาพแต่ละราย

              เริ่มพิธี  เมื่อพระอาทิตย์ตกดินแล้ว เวลาประมาณ 1 ทุ่มเป็นต้นไป ผู้ร่วมพิธีจุดธูป พร้อมเหล้า บูชาไหว้เจ้าที่เจ้าทางที่บริเวณกลางแจ้ง ขอให้เจ้าที่หรือบรรพบุรุษอำนวยพรให้งานผีแม่มดราบรื่น ให้ผีเข้ามาประทับทรงและกิจกรรมผ่านไปด้วยดี หลังจากนั้นนักดนตรีซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายจะประจำที่นั่งบนเสื่อที่ตั้งอยู่เพิงชั่วคราวกลางแจ้ง ทำพิธีบูชาด้วยการจุดเทียนล้อมวงกัน แล้วเริ่มบรรเลงตีกลอง ตะโพน เป็นจังหวะง่าย ๆ ผู้เป็นร่างทรงสวมชุดพื้นถิ่น เสื้อคอกระเช้า ผ้านุ่งสีพื้น นั่งขัดสมาธินำผ้าขาวม้าผืนขนาดเล็กคลุมศีรษะยาวลงมาจนถึงปลายแขน ในมือจับขันอลูมิเนียมขนาดประมาณ 12 นิ้ว ภายในใส่ข้าวสาร และจุดเทียนไว้

              เซ่น (เล่น) ผีแม่มด  เมื่อผู้เป็นร่างทรงผีแม่มดประจำที่และเข้าสู่ขั้นตอนเชิญผีแม่มดแล้ว ผู้นำร้องเชิญผีแม่มด ในที่นี้คือผู้อาวุโสที่สุดในหมู่บ้านคลองแสงคือคุณยายพุ่ม เอกนิกร เริ่มร้องเชิญผีให้เข้ามาประทับทรง นักดนตรีบรรเลงกลอง ผู้เข้าร่วมปรบมือตามจังหวะ และร้องเชิญชวนให้ผีเข้ามาขณะเดียวกันจะมีญาติพี่น้องซึ่งเป็นฝ่ายหญิงจะเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ใกล้ ๆ ร่าง เพื่อดูอาการที่ผีแต่ละตนจะเข้าร่างทรง และช่วยในการพูดคุยติดต่อสื่อสารกับผี

              เมื่อร่างทรงผีแม่มดมาประทับร่างแล้วอาการของผู้เข้าทรงที่ปรากฏอาจมีความแตกต่างกัน เช่น บางคนสั่นทั้งตัว บางคนมือสั่นเขย่าจนบางครั้งขันข้าวกระเด็น หรือบางร่างเหยียดตรงเกร็งเหมือนจะฟุบไป แล้วร่างก็ลุกขึ้นเหมือนเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เมื่อมีผีประทับร่างแล้วจะแสดงอาการต่างกันไป อาทิเช่น ดูพานบายศรีปากชามที่อยู่ตรงหน้า สวมใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับ ส่องกระจกกลับด้าน หวีผม ผัดแป้ง ดื่มเหล้า ตลอดจนเต้นรำตามจังหวะ บางครั้งเรียกขอเปลี่ยนชุดหรือเครื่องแต่งกายใหม่ไม่เพียงเท่านั้นมีการเรียกชื่อบุคคลที่เข้าร่วมด้วย ชาวบ้านบางคนกล่าวว่า ผู้เป็นร่างทรงอาจจะมีภาวะที่ไม่รู้ตัวหรือทำในสิ่งที่ไม่ได้เคยปฏิบัติในชีวิตประจำวันมาก่อน

     

  • การเกิดของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              ในอดีตชาวกะซองจะมีหมอตำแย (ยายพุ่ม เอกนิกร) ซึ่งเป็นหมอตำแยทำคลอด ซึ่งมีเอกลักษณ์และขั้นตอนพิธีเฉพาะตัวบางอย่าง เช่น ขั้นตอนการคัดท้องเด็กเพื่อบรรเทาอาการปวดท้องของแม่และช่วยให้เด็กกลับหัวคลอดง่ายขึ้น จากนั้นจึงตัดสายสะดือด้วยไม้ไผ่บาง ๆ เพราะถือเป็นส่วนที่สะอาดที่สุดเพื่อที่แม่และเด็กจะไม่ติดเชื้อจากสายสะดือนั้น มีการฝังสะดือเด็กเมื่อคลอดเสร็จ หมอตำแยจะตัดสายสะดือเด็กด้วยไม้ไผ่บาง จากนั้นจึงนำสายสะดือมาฝังเก็บไว้ใต้ดินเพราะเชื่อว่าสายสะดือเป็นสายที่หล่อเลี้ยงชีวิตและรับสารอาหารมาจากแม่ครั้งยังอยู่ในครรภ์ สายสะดือที่ฝังที่ใต้พื้นบ้านจะป้องกันไม่ให้เด็กคนนั้นออกไปจากหมู่บ้านเมื่อเติบโตขึ้น ทุกวันนี้ชาวกะซองนิยมฝากครรภ์และทำคลอดที่โรงพยาบาล

              การรับขวัญเด็ก เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่โบราณ เชื่อกันว่าขวัญจะไม่มีตัวตน แต่มีชีวิตจิตใจเหมือนคน ซึ่งชาวบ้านจะรับขวัญเด็กโดยการนำทารกแรกเกิดไปใส่ไว้ในกระด้งและจะกวักเพื่อเรียกขวัญกำลังใจชีวิตมีความเจริญก้าวหน้า เพื่อความเป็นสิริมงคล ให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

              การอยู่ไฟ เป็นกระบวนการดูแลหญิงหลังคลอดที่คนสมัยก่อนเชื่อว่าจะช่วยทำให้ร่างกายฟื้นจากความเหนื่อยล้าให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว โดยการอยู่ไฟจะนิยมให้คุณแม่หลังคลอดพยุงตัวเองให้นอนอยู่บนไม้กระดานแผ่นเดียวเหนือกองเถ้าถ่านที่ยังคงให้ความร้อนอยู่ ความร้อนจากฟืนจะเข้าช่วยลดอาการปวดเมื่อยตามตัว ทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้นและเลือดลมไหลเวียนดีทั้งยังช่วยปรับสมดุลร่างกายของคุณแม่ให้เข้าที่สู่สภาวะเดิม โดยอยู่ไฟเป็นระยะเวลา 15 วัน ระหว่างอยู่ไฟห้ามทานอาหารอื่น ๆ นอกจากข้าวและเกลือเท่านั้น

     

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

             ก่อนแต่งงาน บางคู่มีการหมั้นหมายตามประเพณีด้วยการผูกข้อมือ ก่อนจัดงานแต่งงาน ผู้ชายจะไปช่วยครอบครัวฝ่ายหญิงในการทำไร่ทำนาหรือทำตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ฝ่ายหญิงถือเป็นการเรียนรู้ลักษณะนิสัยผู้หญิงและครอบครัวของฝ่ายหญิงก่อนการดำเนินชีวิตคู่ แต่ก็ไม่อาจพักอยู่ในบ้านของฝ่ายหญิงได้ จนเมื่อถึงวันแต่งงานเจ้าบ่าวจะไปที่บ้านเจ้าสาวพร้อมของเซ่นไหว้ ซึ่งครอบครัวของเจ้าบ่าวต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ครอบครัวเจ้าสาวต้องการ เรียกว่า "กินผีเรือน" หรือ "ทำผี" หรือ "กินตามสาย" หรือ "หาบตามสาย" ตามประเพณีกะซองจะจัดการแต่งงานตั้งแต่อายุน้อยกว่า 20 ปี แต่ปัจจุบันเริ่มจัดงานในช่วงที่มีอายุมากขึ้น ส่วนใหญ่คนหนุ่มสาวกะซองจะเลือกคู่ครองของตัวเอง ไม่นิยมแต่งงานกับคนในเชื้อสายด้วยกันเองและมีการแต่งงานข้ามกับคนนอกกลุ่มมากขึ้น

     

  • การตายและการทำศพของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              แต่เดิมเมื่อมีชาวกะซองเสียชีวิต ผู้ประกอบพิธีศพจะจุดเทียน พร้อมเหล้าและเงิน 12 บาท อาบน้ำให้ศพ นำศพใส่โลงไม้ มัดตราสังข์ ใส่หัวปลี ดอกไม้ ธูปเทียนและเงินในมือศพ ชาวบ้านนิยมตั้งศพไว้ภายในบ้าน โดยจำนวนวันสวดอภิธรรมศพแล้วแต่ผู้เป็นเจ้าภาพจะกำหนด ในอดีตชาวบ้านใช้พื้นที่ป่าเป็นสถานที่ทำพิธีกรรมแก่ศพ ทั้งเผาศพในกรณีที่ผู้ตายตายดีไม่ผิดธรรมชาติ และฝังในกรณีที่ผู้ตายตายโหงหรือตายไม่ดี สำหรับสาเหตุที่ใช้ป่าช้าเป็นพื้นที่ในการฝังหรือเผาศพ เพราะการเดินทางออกไปนอกหมู่บ้านในอดีตมีความยากลำบากต้องใช้การเดินเท้าเพียงอย่างเดียว ประกอบกับพื้นที่บริเวณหมู่บ้านโดยรอบเป็นป่าจึงเหมาะมากกว่านำศพไปเผาที่วัด ทั้งนี้เมื่อมีคนตายสามารถจัดการได้ทั้งการเผาศพในวัดและการฝังศพในพื้นที่ป่า

     

  • ประเพณีเซ่นไหว้บรรพชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              มีการไหว้ผีขมุกหรือผีบรรพบุรุษ หากเป็นไปตามการบูชาเซ่นไหว้ตามเทศกาลพุทธศาสนา

     

  • ประเพณีอื่น ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              ชาวกะซองมีความเชื่อและการนับถือผี เทพยดาผนวกกับการนับถือศาสนาพุทธ เป็นผลให้ในแต่ละรอบปีมีการประกอบประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อที่ตนเองยึดถืออยู่ตลอดทั้ง 12 เดือน โดยมีรายละเดียดดังนี้ 

              เดือนมกราคม  ชาวนาจะเก็บเกี่ยวข้าว นวดข้าว ฝัดข้าวและนาข้าวขึ้นยุ้ง โดยเฉพาะในช่วงการเอาข้าวขึ้นยุ้ง ชาวกะซองจะประกอบพิธีอัญเชิญแม่โพสพไปยังยุ้งฉางของแต่ละบ้าน โดยใช้ข้าว 1 กำ นำมาเป็นตัวแทนของแม่โพสพ

              เดือนกุมภาพันธ์  ในเดือนนี้มีการประกอบพิธีไหว้ผีแม่มด โดยชาวกะซองจะไหว้ผีแม่มดรวมกันครั้งละหลายครอบครัวหรือบางครั้งก็ทำเป็นรายหมู่บ้าน ในการไหว้ผีแม่มด ครอบครัวที่จะประกอบพิธีกรรม ต้องเตรียมบายศรีและของไหว้อันประกอบไปด้วย ดอกไม้ น้าหวาน เหล้า แป้ง กระจก หวี และยังต้องเตรียมอุปกรณ์ประกอบพิธีได้แก่ ขัน ข้าวสาร ผ้าขาวม้า เพื่อไหว้ผีแม่มดที่จะมาเข้าร่างทรงที่จัดเตรียมเอาไว้ 

              เดือนมีนาคม  ไม่มีการประกอบประเพณีหรือพิธีกรรม

              เดือนเมษายน  เป็นช่วงแห่งเทศกาลสงกรานต์ มีการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน สรงน้ำพระ การเล่นน้ำและการก่อพระทราย รวมทั้งการเล่นกีฬาพื้นบ้าน เช่น การเล่นสะบ้า ลูกช่วง วิ่งเปี้ยว วิ่งผลัด เป็นต้น

              เดือนพฤษภาคม  ไม่มีการประกอบประเพณีหรือพิธีกรรม

              เดือนมิถุนายน  ในอดีตจะเป็นช่วงที่เริ่มทำนา จะมีพิธีเกี่ยวกับการเริ่มทำนาในชุมชนที่ยังทำนา กรณีของชาวนาบ้านคลองแสงในปัจจุบันไม่ค่อยจะมีชาวนาคนไหนที่จะเริ่มทำนาในช่วงเดือนมิถุนายนแล้ว

              เดือนกรกฎาคม  ในเดือนนี้มีเทศกาลเข้าพรรษาซึ่งเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับทางพระพุทธศาสนา ชาวกะซองจะเตรียมอาหารคาวหวานเพื่อไปทำบุญที่วัด พร้อมกับนำเทียนที่หล่อจากขี้ผึ้งในป่าไปถวายเป็นเทียนพรรษาให้กับพระภิกษุสงฆ์ด้วย นอกจากนี้ถ้าครอบครัวไหนที่มีบุตรชายและมีความประสงค์อยากจะให้บุตรชายบวชก็จะบวชในช่วงเข้าพรรษานี้ด้วย

              เดือนสิงหาคม  ไม่มีการประกอบประเพณีหรือพิธีกรรม

              เดือนกันยายน  ข้าวที่ปลูกเอาไว้เริ่มตั้งท้องในเดือนกันยายน ซึ่งเมื่อข้าวเริ่มตั้งท้องแล้วนั้น ชาวนาจะทำพิธีรับขวัญแม่โพสพ โดยใช้ไก่ต้ม ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ส้มโอ มะม่วง ผลไม้รสเปรี้ยว แป้ง หวี และกระจก มาใช้ในการประกอบพิธี นอกจากนี้แล้วก็ยังมีการทำบุญสารทเดือนสิบ เพื่ออุทิศผลบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยลูกหลานจะนำขนมเทียนและข้าวห่อใบกะพ้อไปทำบุญที่วัด

              เดือนตุลาคม  มีการทำพิธีลอยเรือลอยแพ ซึ่งในเรือและแพนี้จะบรรจุอาหารเอาไว้เพื่ออุทิศให้กับวิญญาณไร้ญาติ โดยเมื่อนำอาหารไปบรรจุไว้จนเต็มเรือเต็มแพแล้ว ผู้ร่วมพิธีก็จะนำเรือและแพไปลอย โดยจะลอยบนบกหรือจะลอยในน้ำก็ได้ ในส่วนของวันออกพรรษาซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนนี้เช่นเดียวกัน ชาวกะซองจะร่วมกันตักบาตรเทโว โดยใช้ข้าวสารและอาหารแห้งมาใส่บาตรพระภิกษุที่ออกมาบิณฑบาตในวันออกพรรษา

              เดือนพฤศจิกายน  ชาวกะซองจะร่วมกันลอยกระทงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โดยการลอยกระทงของชาวกะซองนี้จะไม่เหมือนกับการลอยกระทงในพื้นที่อื่น ๆ กล่าวคือ ในคืนวันลอยกระทง ชาวกะซองจะนำกระทงมารวมกันที่วัดเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์สมโภชกระทงในเวลาเที่ยงคืนเสียก่อนจึงจะนำกระทงไปลอยในน้ำได้ โดยชาวกะซองเชื่อว่าถ้าไม่สมโภชกระทงก่อน การลอยกระทงก็จะไม่เกิดผลตามที่ตั้งใจไว้

              เดือนธันวาคม  ข้าวที่ชาวนาได้ปลูกเอาไว้เริ่มออกรวงพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวจะมีพิธีเกี่ยวกับการเริ่มเกี่ยวข้าวและเอาข้าวขึ้นยุ้ง 

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              ชาวกะซองนับถือพุทธศาสนาควบคู่กับไปการนับถือผี หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ อันเป็นความเชื่อพื้นฐานดั้งเดิม แต่อย่างไรก็ตามความเชื่อทั้งสองอย่างมักจะผสมปนเปกันไปในการประกอบพิธีกรรมอย่างไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้อย่างชัดเจน

              ในกรณีของชาวกะชองบ้านคลองแสงจะไปทำพิธีทางพุทธศาสนาที่วัดที่ตัวตำบลด่านชุมพลและที่ปะเดา ต่อมามีสำนักสงฆ์เป็นศูนย์กลางทางความเชื่อพุทธศาสนา ซึ่งก่อตั้งมาประมาณ 5 ปีมาแล้ว โดยใช้พื้นที่ป่าช้าเก่า หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์เดิม ด้วยพระธุดงค์มักจะปักกลดพักแรมที่ป่าช้าเป็นประจำ ชาวกะซองจึงปรับปรุงพื้นที่ดัดแปลงสร้างบ้านแบบดั้งเดิมให้พระธุดงค์ซึ่งมาพักแรมได้ใช้เป็นที่จำวัด จนพัฒนาขึ้นกลายเป็นที่พักสงฆ์ขึ้น มีธรรมเนียมปฏิบัติตามแนวทางของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ในระหว่างช่วงเข้าพรรษาจะมีการหมุนเวียนกันส่งข้าวเพลให้กับพระสงฆ์อย่างเคร่งครัด ครอบครัวละ 2 รอบในระหว่างเข้าพรรษา

     

    ในบ้านเรือนของชาวกะซอง นอกจากมีหิ้งผีแล้วอาจะมีสิ่งของประดับเพื่อป้องกันอันตรายจากผีร้าย

    ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล

     

  • ข้อห้าม ข้อปฏิบัติของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              การหลีกเลี่ยงและข้อห้ามที่ชาวกะซองปฏิบัติ หากฝ่าฝืนจะถือเป็นการ "ผิดผี" เช่น เด็กหนุ่มสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานจะไม่อนุญาตให้เข้าไปอยู่ในห้องนอนตามลำพัง ถือเป็นการทำผิดประเพณี (ผิดผี) อาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วย หากไม่ได้บอกกล่าวจำต้องขอขมาลาโทษ โดยทำพิธีเซ่นไหว้โดยนำของเซ่นไหว้ จุดธูปเทียน นำไก่ (ที่ยังมีชีวิต) มาไหว้ขอขมาเพื่อขอให้ผีขมุกยกโทษให้ จากนั้นยกไก่ให้เจ้าบ้านเลี้ยงต่อไป การฝ่าฝืนประเพณีของชาวกะซองได้เกิดสำนวนคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาของชาวกะซองในทำนองว่า ทำอะไรให้ระวังผิดผี มิฉะนั้นจะต้องไหว้ตูดไก่

     

  • พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              ป่าเขาถ้ำ ในพื้นที่ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด

  • การทำนาย โหราศาสตร์/ไสยศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              ไม่ปรากฏรายละเอียดแน่ชัด

  • การรักษาของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              ผีฝ่ายร้าย หรือที่ชาวกะซองเรียกว่า "ผีแม่มด" เป็นวิญญาณที่ชาวบ้านเชื่อว่าสามารถก่อให้เกิดเภทภัยแก่ผู้คนได้ ซึ่งหากทำอันตรายหรือก่อภัย เชื่อกันว่าผีจะติดตามต้นไม้ ป่า เขา แม่น้ำ ลำคลอง หรือวัตถุต่าง ๆ หากมีคนไปทำให้ผีตนใดไม่พอใจอาจทำให้ผู้นั้นเจ็บไข้ เจ็บป่วย ไม่สบายได้ เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยกะทันหัน มักเชื่อว่าเป็นการกระทำของผีร้ายต่าง ๆ ต้องให้ผู้ที่สื่อสารกับผีหรือแม่มด หรือผู้หมอดูว่า ผีชนิดใดทำให้เจ็บป่วยหรือมีผีตนใดติดตามมากับบุคคลผู้นั้นจนทำให้เจ็บป่วย จากนั้นจึงต้องบนบานขอขมาไถ่โทษให้ผู้เจ็บป่วยด้วยของเซ่นไหว้เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ ไข่ เหล้า ข้าวสาร นอกจากนั้นจะต้องทำพิธีเชิญผีมาร่วมในประเพณีเซ่นไหว้ผีแม่มดในเดือน 3 ของทุกปีอีกด้วย

     

  • เครื่องดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              กลองยาว, ตะโพน ใช้ในงานประเพณีเซ่นไหว้ผีเดือน 3

  • เพลงของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              เพลงร้องที่แต่งขึ้นสด และเพลงพื้นบ้านเดิมและใหม่ เช่น เพลงกล่อมน้อง เพลงลุกขึ้นสู้เพื่อกะซอง เพลงกะนาย (ช้าง)

  • การเต้นรำของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              การร่ายรำในงานประเพณีเซ่นไหว้ผีแม่มดในเดือน 3

  • เรื่องเล่า/ตำนาน/วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              ตำนานข้าวคนกะซอง, ตำนานผีแม่มด

  • นิทานของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              ปลากั้งโดดลงน้ำ, วัวอยากเป็นหมู, หมูรอดตายเพราะช้าง, แม่หมาใจบุญ, คนกะซองรักป่า, คนหาปลา (กะซึ่ม เซว ม่อง ทอดเม้)

  • การเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่ประสบอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              ข้อค้นพบทางวิชาการ ผลการศึกษาทางภาษาศาสตร์ ได้กำหนดนิยามชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ ทั้งยังผลักดันไปสู่โครงการวิจัย "แนวทางการพลิกฟื้นภาษากะซองเพื่อสืบทอดให้คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน บ้านคลองแสง ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด" ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดำเนินงานโดยชาวกะซองในชุมชนคลองแสง ผลของโครงการวิจัยฯ ของชาวกะซองดังกล่าว แสดง ผลเชิงรูปธรรม  ได้แก่ ระบบตัวเขียนภาษากะซอง, การรวบรวมคำศัพท์ภาษากะซอง 25 หมวด 2,481 คำ, สถานการณ์ทางภาษา, แผนที่ชุมชนจากการสำรวจสถานการณ์ทางภาษากะซองในชุมชน, สื่อการเรียนการสอนโรงเรียนบ้านด่านชุมพลและหลักสูตรการเรียนการสอนภาษากะซอง และส่งผลในเชิงนโยบาย ด้วยการสร้างทีมวิจัย ชุมชนและครูในโรงเรียนได้เข้ามาร่วมเตรียมความพร้อม ฝึกกลวิธีการสอนพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษากะซอง จัดทำแผนการสอนภาษากะซองและสื่อการเรียนการสอนภาษากะซอง สำหรับการนำไปใช้สอนจริงกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สุดท้าย ผลเชิงจิตสำนึก ชุมชนได้ตระหนักถึงสถานการณ์ทางภาษากะซองที่อยู่ในภาวะวิกฤตใกล้สูญหาย ผลประการนี้ถือเป็นการกระตุ้นและสร้างสำนึกทางชาติพันธุ์ให้แผ่ขยายวงออกไปยังกลุ่มคนหลากรุ่นหลายวัยทั้งในนอกชุมชนและสาธารณะต่อการตระหนักรู้ และแนวทางการพัฒนาทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่ากระบวนการสร้างสำนึกทางชาติพันธุ์ของชาวกะซองทั้งจากคนนอก (ฝ่ายบุคลากรและสถาบันทางวิชาการและสื่อสาธารณะ) และคนในชุมชนเองนั้นจะเกิดการตอบรับจากหน่วยงานภาครัฐของท้องถิ่นเป็นอย่างดีและดำเนินต่อเนื่องมา ทว่าการฟื้นฟูทางภาษาที่อยู่ในขั้นวิกฤตในกลุ่มเด็ก เยาวชน หรือชาวกะซองในชุมชนไม่อาจทัดทานความเป็นไปของสังคมท่ามกลางกระแสการพัฒนาและผสมกลมกลืนผ่านกระบวนการของภาครัฐและเอกชน ด้วยการสื่อสารผ่านภาษาไทยในชีวิตประจำวันได้ ทุกวันนี้ชาวกะซองคิดและสื่อสารผ่านภาษาไทยจนคล่องปาก ขณะเดียวกันจำนวนผู้รู้ภาษากะซองยังคงมีตัวเลขที่ลดลง 

              ผลงานการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ (ทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จำนวน 3 เรื่อง ของมหาวิทยาลัยมหิดล) นำมาซึ่งการระบุว่า ภาษากะซองเป็น "ภาษาที่อยู่ภาวะวิกฤตขั้นสุดท้าย" (the most serious stage of endangerment)  ต่อมาพัฒนามาสู่โครงการวิจัย "การฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาการศึกษาและกลุ่มชาติพันธุ์" และพัฒนาไปสู่การก่อตั้ง "ศูนย์ศึกษาฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล" อย่างเป็นรูปธรรม ส่วนในแง่ของคนพื้นถิ่นทั้งสองกลุ่มแล้ว นับว่าคำอธิบายทางภาษาสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมของชาวกะซองอย่างเห็นได้ชัด

              นอกจากนั้นแล้ว งานประเพณี (เซ่นไหว้) ผีแม่มด หรือ "งานผีแม่มด" ที่ทำขึ้นในช่วงเดือน 3 (ในกลุ่มซำเรจะทำกันในเดือน 2-3) ถือเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของคนพื้นถิ่นเดียวกันของทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ต่างปฏิบัติมาช้านาน และยังคงประกอบกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคม ก็สามารถเจรจาต่อรองประนีประนอมหรือผ่อนปรนกับ "ผี" ได้ งานผีแม่มดเปิดโอกาสให้คนในสังคมทั้งหญิงชาย เด็กหนุ่มสาว ตลอดจนคนหลากรุ่นหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม และไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มกะซองหรือซำเรเท่านั้น คนต่างกลุ่มก็สามารถเข้ามาร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ได้ และด้วยงานผีแม่มดของชาวกะซองและซำเรของตราดนี้ไม่มีความซับซ้อนทั้งในส่วนของขั้นตอนและรูปแบบ และไม่ปรากฏการกำหนดช่วงชั้นทางอำนาจเช่นพิธีกรรมอันว่าด้วยผีแม่มด หรือการเลี้ยงผีในกลุ่มชาติพันธุ์อื่นท้องที่อื่นแต่ประการใด งานผีแม่มดจึงเป็น งาน "เล่นผี" สำหรับคนพื้นถิ่นไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม พบว่า จำนวนและบทบาทของผู้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งมีความรู้ตามประเพณีเดิม (ร่างทรง) เริ่มลดน้อยลง ดังที่คนในชุมชนซำเรละเว้นการจัดงานผีแม่มดมาหลายปี ด้วยเหตุผลว่า คนที่เป็น (แม่) มดประทับทรงนั้นล้มหายตายจากไปหลายคน ส่วนชุมชนกะซองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่แตกต่างไปกว่ากันนัก ผู้รู้ประเพณีมีจำนวนน้อยและเริ่มอายุมากขึ้น ผู้อาวุโสที่สุด (คุณยายพุ่ม) ซึ่งเป็นตัวแทนของ "ครู" ภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านนี้ ก็ไม่อาจทดแทนด้วยคนรุ่นลูกหลานได้อย่างเต็มที่ กลุ่มทางสังคมในนามของ กลุ่มอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น (กะซอง) เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่รู้ภาษาและวัฒนธรรมอย่างเชี่ยวชาญ

     

  • การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายในปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์กะซอง :

              การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายในปัจจุบันของชาวกะชองนั้นยังไม่มีอย่างเป็นทางการ จะมีเพียงแต่การรวมกลุ่มในระดับหมู่บ้าน ชุมชน เท่านั้น โดยในกรณีของบ้านคลองแสงนั้นพบว่าชาวกะชองมีการรวมตัวกันอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะบทบาททางสังคมการเมืองไทยในท้องถิ่นในระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศต่างยอมรับในศักยภาพของชุมชนผ่านรางวัลการันตี ตั้งแต่หมู่บ้านต้นแบบกองทุนแม่ของแผ่นดิน หมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้านเดินตามรอยเท้าพ่อ รางวัลลูกโลกสีเขียวประเภทชุมชน เป็นต้น

              อีกทั้งยังรวมตัวเป็นกลุ่มกิจกรรมเพื่อดำเนินงานร่วมในโครงการวิจัย "แนวทางการพลิกฟื้นภาษากะซองเพื่อสืบทอดให้คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน บ้านคลองแสง ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด" ภายใต้การสนับสนุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการวิจัยฯสรุปลงท้ายว่า 

    สถานการณ์ความวิกฤตของภาษา และวิกฤตการณ์การขาดแคลนผู้บอกภาษาในชุมชน เป็นสิ่งที่ทีมวิจัยได้ร่วมรับรู้และรับทราบตลอดการทำงานในโครงการ ทีมวิจัยจึงคิดที่จะหาแนวทางที่เหมาะสมในการสืบทอดภาษากะซองให้ยังคงมีผู้พูดอยู่ ด้วยวิธีการเรียนภาษากะซองกับผู้บอกภาษากะซองที่ยังคงเหลืออยู่ในชุมชน ทั้งนี้ความเป็นไปได้ของการทำกิจกรรมเพื่อสืบทอดภาษากะซองในระยะต่อไปนั้นจะเป็นจริงได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้เรียนภาษากะซอง ชุมชน และหน่วยงานสนับสนุนอื่น ๆ ว่าจะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อต่ออายุภาษากะซองเอาไว้ให้คงอยู่ได้ยาวนานเพียงใด ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องรอดูต่อไปในอนาคต (สันติ เกตุถึก และคณะ, มปท: 77)

     

Access Point
No results found.

ชาวกะซอง บ้านคลองแสง ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด ยังคงยึดถือประเพณีดั้งเดิมโดยเฉพาะประเพณีเซ่นไหว้ผีแม่มด ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือน 3 ของทุกปี ชาวกะซองจะตระเตรียมพานบายศรีปากชาม เพื่อเป็นเครื่องประกอบในการเล่นผีตามแต่จำนวนของผู้เข้ามาเป็นร่างทรงผี ของไหว้ประกอบไปด้วย ดอกไม้ น้ำหวาน เหล้า แป้ง กระจก หวีและยังต้องเตรียมอุปกรณ์ประกอบพิธีได้แก่ ขัน ข้าวสาร ผ้าขาวม้า เพื่อไหว้ผีแม่มดที่จะมาเข้าร่างทรงที่จัดเตรียมเอาไว้