กลุ่มชาติพันธุ์ : อูรักลาโวยจ

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : อูรักลาโวยจ
  • ชื่อเรียกตนเอง : อูรักลาโวยจ, ลาโวยจ
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ชาวเล, ชาวไทยใหม่, ชาวน้ำ, โอรังลาโวท, โอรังบาไร
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ไม่มีภาษาเขียน ใช้ภาษาอูรักลาโวยจเป็นภาษาพูด อยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน กลุ่มภาษามาลาโย-โพลิเนเซียน สาขามาเลย์อิก สาขาย่อยมาลายัน
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

    ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์         

              ชื่อเรียกตนเอง

              อูรักลาโวยจ เป็นคำเรียกที่กลุ่มชาติพันธุ์นี้ใช้เรียกชื่อกลุ่มและภาษาของตนเอง หรือชื่อที่คนทั่วไปรู้จักคือชาวเล ชาวน้ำ หรือชาวไทยใหม่ อาศัยอยู่บริเวณที่เป็นหมู่เกาะทางใต้ของประเทศไทย คำว่า “อูรัก” หมายถึง “คน” “ลาโวยจ” หมายถึง “ทะเล” โดย“อูรักลาโวยจ” มีรากศัพท์มาจากภาษามลายู แปลว่า “ชาวทะเล” หรือที่ภาษาราชการไทยเรียกว่า “ชาวไทยใหม่” มีคำเรียกรวมกับชาวทะเลกลุ่มอื่น ๆ อย่างมอแกน และมอแกลนง่าย ๆ ว่า “ชาวเล” การเรียกชื่อตนเองนั้น ชาวอูรักลาโวยจนั้นจะเรียกตัวเองสั้น ๆ ว่า “ลาโวยจ โดยที่มีตัวสะกด “จ” เพราะถูกต้องที่สุดในการออกเสียงตามภาษาอูรักลาโวยจ (ประภารัตน์ ศุขศรีไพศาล, 2559) 

              ชื่อที่คนอื่นเรียก

              ชาวเล เป็นคำจำกัดความสั้นๆ ที่เรียกคนทั่วไปที่อาศัยอยู่ริมฝั่งทะเล เกาะหรือคนที่ประกอบหาเลี้ยงชีพด้านการประมงเป็นหลัก ไม่ได้เป็นคำเรียกที่มีความหมายเชิงลบในมิติภาษาศาสตร์ เกิดจากการย่นย่อคำให้สั้นลง ทำให้เรียกได้ง่ายขึ้น จึงมักได้ยินคนทั่วไป เรียกคนที่มีวิถีประมงว่าชาวเลอย่างแพร่หลาย ทั้งในฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน แต่คำว่า “ชาวเล” หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่จะได้กล่าวถึงนี้ เป็นการสร้างและให้ความหมายของคำจำกัดความที่แฝงเร้นไปด้วยทัศนะคติเชิงลบ การดูถูก ความด้อยค่า ความโง่เขลาเบาปัญญา ความสกปรก  

              ชาวน้ำ เป็นชื่อเรียกโดยคนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้โดยทั่วไป ในอดีตคนไทยทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จักชาวอูรักลาโวยจมากนัก และคำนี้ยังถูกบัญญัติอยู่ในพจนานุกรมฉบับบัณฑิตราชยสถาน ปี พ.ศ. 2525

              ชาวไทยใหม่ เกิดขึ้นมาจากเมื่อครั้งที่สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนแจกวัตถุปัจจัยที่จำเป็นต่าง ๆ แก่ชาวเล ที่หาดราไวย์และโปรด ให้เรียกชาวเลว่า “ไทยใหม่”

              ยิปซีทะเล (Sea Gypsy) เป็นคำเรียกโดยชาวตะวันตก ในยุคสมัยอาณานิคมเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีวิถีชีวิตคล้ายกับกลุ่มยิปซีในยุโรปที่อพยพโยกย้ายไปตาม สถานที่ต่าง ๆ ปัจจุบันในภาษาอังกฤษมีการปรับเปลี่ยนคำเพื่อให้ไม่ให้เข้าใจผิดระหว่าง “ชาวยิปซี” กับ “ชาวเล” ซึ่งเป็นคนละเผ่าพันธุ์กัน

              นอแมด (Nomad) ที่แปลว่ากลุ่มคนเร่ร่อน พเนจร เคลื่อนย้ายจากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่หนึ่งตลอดตลอดเวลา คำนี้ ถูกนำมาใช้แทนคำว่ายิบซีทะเล อีกทั้งคำนี้ ไม่ได้มีความหมายในแง่ลบดั่งเช่นคำว่า “ยิปซี” ที่คนภายนอกให้ความหมายในทางที่ ไม่ดีดังนั้นหากแปลตามภาษาอังกฤษแล้วจึงเรียก “ชาวเล” ได้อีกชื่อหนึ่งว่า “คนพเนจรทางทะเล” (Sea Nomad)

    ชื่อเรียกในเชิงอคติทางชาติพันธุ์

              ชาวน้ำ เป็นคำเรียกที่รู้จักกันอย่างแพร่หลยในอดีต อย่างไรก็ตามพวกเขาชอบคำว่า ชาวน้ำ เนื่องจากมี ความหมายในเชิงลบ โดยเขาให้เหตุผลว่า คนเราเกิดมาจากน้ำอสุจิ ดังนั้นคำว่า ชาวน้ำ จึงเป็นคำที่ต่ำ นอกจากนี้ยังมีคำที่ทางราชการกำหนดให้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้แทนคำว่า ชาวเล หรือ ชาวน้ำ คือคำว่า “ชาวไทยใหม่” ซึ่งเป็นการลดช่องว่างด้านความรู้สึกที่ไม่ดีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์นี้กับคนทั่วไป

              ชาวเล ที่มีนัยยะถึงกลุ่มชาติพันธุ์สามกลุ่ม คือ อรักลาโวยจ มอแกน และมอแกลนนั้น เป็นการสร้างและให้ความหมายของคำจำกัดความที่แฝงเร้นไปด้วยทัศนะคติเชิงลบ การดูถูก ความด้อยค่า ความโง่เขลาเบาปัญญา ความสกปรก ซึ่งผู้ถูกเรียกไม่เป็นที่ชอบใจนัก อย่างไรก้ตาม ชื่อนี้เสมือนเป็นชื่อสากลไปเสียแล้วในการเอ่ยถึงพวกเขาในพื้นที่สาธณะ หรือสื่อต่าง ๆ เพราะเข้าใจได้ง่ายกว่าชื่อเฉพาะของกลุ่มพวกเขา

     

    ภาษา

              ตระกูลภาษา 

              ภาษาอูรักลาโวยจ จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน กลุ่มภาษามาลาโย-โพลิเนเซียน สาขามาเลย์อิก สาขาย่อยมาลายัน มีรากศัพท์ใกล้เคียงกับภาษามาลายูหรือภาษามาเลเซียหรือภาษามาเลย์มาตรฐานบ้างในด้านเสียง แต่มีความแตกต่างกันบ้างในลักษณะทางไวยกรณ์ โดยลักษณะทางภาษาจัดเป็นภาษาถิ่นหนึ่ง (dialact) ของภาษามาเลย์เช่นเดียวกับภาษาของชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ของไทย

              ภาษาพูด 

              ชาวเลอูรักลาโวยจ ใช้ภาษาอูรักลาโวยจเป็นภาษาพูด ใช้ภาษามาเลย์กลาง (ภาษามาเลย์มาตรฐาน) สำหรับบทสวดในพิธีกรรม และใช้ภาษามาเลย์กลางผสมภาษามาเลย์ถิ่นและภาษาอูรักลาโวยจสำหรับขับเพลงรำมะนา

              ภาษาอูรักลาโวยจเป็นภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์กำกับแต่ละคำ แต่มีการเน้นเสียงหนักเบา (stress) เฉพาะตัวในคำแต่ละคำ และมีการใช้ทำนองเสียง (intronation) เพื่อแสดงความแตกต่างของความหมายและชนิดของประโยค หน่วยเสียงในภาษาอูรักลาโวยจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ หน่วยเสียงพยัญชนะ 19 หน่วยเสียง และหน่วยเสียงสระ 15 หน่วยเสียง เป็นสระเดี่ยว 8 เสียง สระผสม 7 เสียง ทั้งหน่วยเสียงพยัญชนะและหน่วยเสียงสระไม่มีความแตกต่างระหว่างเสียงสั้นและยาว

              คำสรรพนามในภาษาอูรักลาโวยจทุกคำใช้กับเพศหญิงหรือชายก็ได้ ไม่จำกัดว่าคำใดต้องใช้กับเพศใด และการเลือกใช้สรรพนามแต่ละคำไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง หรือไม่มีระดับของสรรพนามว่าคำใดสุภาพหรือไม่สุภาพ เช่น พูดกับพ่อหรือเพื่อนก็ใช้สรรรพนามคำเดียวกัน หากเป็นบุรุษเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีการใช้คำลงท้าย (finalparticle) และคำลักษณะนาม (classifier) เช่นเดียวกับภาษาไทย (อมร ทวีศักดิ์. 2529 : 22)

              จากการใช้กลุ่มคำศัพท์พื้นฐาน 100 คำของ Moris Swadesh พบว่า ภาษาชาวเลอูรักลาโวยจที่เกาะอาดังและภาษามาเลย์มาตรฐานมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันถึง 91% และคำศัพท์ในภาษาชาวเลอูรักลาโวยจ ที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ตกับภาษามาเลย์มาตรฐานมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันถึง 90% (อมร ทวีศักดิ์, 2529 : 4) หากเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาชาวเลกับภาษามลายูที่ใช้ใน 4 จังหวัดภาคใต้และภาษามลายูกลาง บางคำจะแตกต่างกันที่ตัวสะกด

              เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาษาอูรักลาโวยจดั้งเดิมประกอบด้วยหน่วยเสียง 2 พยางค์ จะมีหน่วยคำที่มี 1-3 และ 4 พยางค์ ไม่มากนัก แต่เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับชนต่างกลุ่ม พบว่ามีการสร้างคำใหม่ เพื่อใช้เรียกขานวัตถุสิ่งของเครื่องใช้แปลกใหม่ที่รับเข้ามาจากสังคมภายนอก ด้วยวิธีการนำศัพท์ดั้งเดิม 2-3 คำมารวมกัน เพื่อให้เกิดคำใหม่ในลักษณะคำประสมที่มีหน่วยคำ 4- 5- 6 หรือ 7 พยางค์ บ้าง

    ลักษณะการสร้างคำใหม่ในลักษณะคำผสม คำประสม หรือคำยืมจากภาษาไทยและภาษาจีน เป็นตัวอย่างปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากที่ชาวเลอูรักลาโวยจมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวจีนและชาวไทยบนเกาะลันตา จนกระทั้งมีการรับเอาสิ่งใหม่ที่แพร่กระจายเข้าไปในชุมชน จึงต้องสร้างคำใหม่ ส่วนคำว่า อีเย็น หรือ engine อาจจะเรียกตามช่างเครื่องเรือ ในท้องถิ่น หรือเป็นคำศัพท์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อาศัยเร่ร่อนอยู่ในเขตประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 21)

              ทั้งนี้แม้มีความแตกต่างกันในเรื่องระบบเสียง แต่โครงสร้างของประโยคมีลักษณะคล้ายคลึงกับโครงสร้างของภาษาต่าง ๆ ในแถบเอเชียอาคเนย์ส่วนใหญ่ คือลำดับของคำต่าง ๆ ในประโยคทั่วไป จะเป็น ประธาน - กริยา – กรรม เช่น ku makat nasi (ฉัน กิน ข้าว) (อมร ทวีศักดิ์. 2529 : 45)

             สำหรับคำเรียกญาติ และเรียกผู้อาวุโสที่นับถือในกลุ่มชาวเล บนเกาะลันตาจะใกล้เคียงกับภาษามลายู ในกลุ่มชาวมุสลิม เช่น คำว่า ป๊ะ (พ่อ) มะ (แม่) โต๊ะ (ปู่ ย่า ตา ยาย) โต๊ะแหนะ (ทวด) จ๊ะ (พี่สาว) บัง (พี่ชาย) สู (ลุง) ฯลฯ นอกจากนั้น คำว่าโต๊ะยังใช้เรียกผู้อาวุโสที่เป็นผู้นำ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่า เป็นตัวแทนบรรพบุรุษด้วย เช่น โต๊ะกามั้ย (ภาษามลายู เรียกว่า โต๊ะกาหมาด) โต๊ะบุร๊ก (ภาษามลายู เรียกว่า โต๊ะบุหรง) โต๊ะบิดัด (ภาษามลายู เรียกว่า โต๊ะบิดัน) คำว่าโต๊ะบอมอ (ผู้นำกลุ่มของชาวเล) ปัจจุบัน เรียกว่า โต๊ะหมอ โดยใช้คำว่า หมอในภาษาไทย ผสมกับคำว่า โต๊ะ (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 202)

              ปัจจุบันชาวเลสูงอายุในกลุ่มสังกาอู้ยังคงพูดภาษาอูรักลาโวยจกับญาติพี่น้องและลูกหลาน แต่พูดภาษาไทยกับเพื่อนบ้านต่างกลุ่ม เด็กชาวเลรุ่นใหม่ เช่น กลุ่มบ้านหัวแหลมกลาง เกาะลันตา จะพูดภาษาไทยเนื่องจากเรียนร่วมกับเด็กไทย จีนและมุสลิม รุ่นอายุประมาณ 30-40 ปี ฟังภาษาไทยได้ และพูดภาษาไทยมากกว่ารุ่นอายุประมาณ 40-50 ปี ส่วนอายุประมาณ 50-60 ปีขึ้นไป ยังฟังและพูดภาษาอูรักลาโวยจกับชาวเลบ้านหัวแหลม บ้านสังกาอู้ และชาวเลอูรักลาโวยจจากต่างถิ่น เช่น เกาะพีพี เกาะจำ เกาะสิเหร่ ราไวย์ และเกาะหลีเป๊ะ (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 201) ส่วนชาวเลกลุ่มอื่น ๆ ก็เช่นกัน ผู้สูงอายุจะพูดภาษาอูรักลาโวยจกับญาติพี่น้องและลูกหลานในกลุ่ม และพูดภาษาไทยกับคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่เด็กอูรักลาโวยจรุ่นใหม่จะนิยมพูดภาษาไทยท้องถิ่น (ปักษ์ใต้) ผสมคำภาษาชาวเล สำเนียงการพูดภาษาไทยของชาวเลอูรักลาโวยจแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกันตามถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น กลุ่มที่อาศัยอยู่ที่ภูเก็ตจะพูดสำเนียงภูเก็ต กลุ่มที่อาศัยบนเกาะอาดัง หลีเป๊ะ และเกาะบูโหลน จะพูดสำเนียงสตูลผสมศัพท์ภาษาอูรักลาโวยจและภาษายาวี เป็นต้น

              ตัวอักษรที่ใช้เขียน 

              ชาวเลอูรักลาโวยจไม่มีภาษาเขียน ชาวเลอูรักลาโวยจรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจะเขียนภาษาไทยได้        

     

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย ผศ.อาภรณ์ อุกฤษณ์ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตกระบี่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

    เอกสารอ้างอิง

    • จรัส ง๊ะสมัน. (2534). การศึกษานิทานชาวเลจังหวัดสตูล. ปริญญานิพนธ์หลักสูตรปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สงขลา
    • เจน จรจัด. (นามแฝง) (2525). “อูรักลาโว้ย ; วิญญาณอิสระแห่งท้องทะเล” อนุสาร อสท. ปีที่ 22 ฉบับที่ 8 (มีนาคม 2525) หน้า 47-53.
    • ราชบัณฑิตยสถาน. (2513). สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตสถาน เล่ม 10. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งธรรม.
    • ดี.จี.ฮอลล์. (2549). ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. (แปลโดยท่านผู้หญิงวรุณยุพาและคณะ) พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
    • สมิธ, เอช. วาริงตัน. (2539). “บันทึกการเดินทางไปยังบางจังหวัดทางภาคตะวันตกเฉียงใต้,”  ในรวมเรื่องแปล หนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ 1. (แปลโดย ธนัญญา ทองซ้อนกลีบ) หน้า 139-208.  กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร  
    • ประทีป ชุมพล. “ชาวเล ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับสังคม ชีวิต การศึกษา”. แลใต้, ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2524)
    • ประพนธ์ เรืองณรงค์. (2517). “ชาวน้ำเกาะอาดัง”. วิทยาสาร, 25 (เมษายน 2517)  หน้า 25-27
    • พิมพิไล ตั้งเมธากุล. (2529). การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม. ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนชาวเลเกาะสิเหร่ ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต สารนิพนธ์ ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
    • สแตนตัน, แมรี่ บัลค์ลีย์. (2550).  สยาม คือบ้านของเรา. (แปลโดย เด็กวัฒฯ รุ่น 100). กรุงเทพมหานคร : คณะบุคคลวัฒนา รุ่น 100
    • สิริพงษ์ มุกดา. (2009). “ตำนานโต๊ะแซะ”. นิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน. VOL.7 No.82 March 2009  สืบค้นเมื่อ 1/9/ 2016 จาก www.phuketbulletin.co.th
    • สุพัฒน์  ธัญญวิบูลย์.  (2539).   เมืองท่ามะละกาในคริสต์ศตวรรษที่15.  สารนิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต           กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศิลปากร.
    • สุวัฒน์ คงแป้น. (2558). รวมญาติชาวเล เพื่อศักดิ์ศรีที่ทัดเทียม. สืบค้น เมื่อ 29/8/2016 chumchonthai.or.th>node
    • อมร ทวีศักดิ์. (2529). ภาษาชาวเล. กรุงเทพฯ : ปิ่นเกล้าการพิมพ์,
    • อาณัติ อนันตภาค. (2554).  ตำนานโจรสลัด. กรุงเทพมหานคร : ยิปซี.
    • อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2531). “ตำนานชาวเล”. เมืองโบราณ. ปีที่ 14 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2531) หน้า 70-75.
    • อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2532). พิธีลอยเรือ : ภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมของชาวเล กรณี ศึกษาชุมชนบ้านหัวแหลม เกาะลันตา กระบี่. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต สาขา
    • มานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ทุนสนับสนุนการวิจัยจากมูลนิธิจิมทอมสัน
    • อาภรณ์  อุกฤษณ์. (2545 - 2547).  ชาวเล : แหล่งอาศัยและวิถีชีวิต.  การวิจัยเพื่อเขียนคำโครงการแผนที่ภูมินิทัศน์ภาคใต้. สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ. สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา.
    • อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2554). พลวัตการปฏิสัมพันธ์และชาติพันธุ์ธำรงของชาวเลเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2554
    • อุทัย หิรัญโต. (2516). “เรื่องของชาวน้ำ” วารสารกระบี่ 1. (ฉบับปฐมฤกษ์). (มกราคม 2516) หน้า  47-50
    • Bernazik,  H.A. (1958). The Spirits of the Yellow Leaves.  London : Robert Hale Ltd.
    • Court, Chistopher. (1971). “A Fleeting Encounter with the Moken (The Sea gypsies in
    • southern Thailand). Some Linguistic and General note,” The Journal of the Siam Societhy. 5,1 (January 1971).
    • Hogen, David, W. (1972). “Man of the Sea : Coastal Tribs of South Thailand’s West Coast,” The Journal of  The Siam  Society. 60, 1 (January 1972), pp.205-235.
    • Kemp, Peter. ( 2002). The History of  Ships. (Reprinted 4th edition). New York : Barnes&Noble
    • Levi-Struss, Claude. (1963). Structural Antroprology. New York : Basic Books.
    • Levi-Struss, Claude. (1969). “The Raw and The Cooked,” Introduction to a Science of Mythology. New York : Harper & Row.
    • Sorat Makboon, (1981). A Survey of Sea People’s Along The West Coat of Thailand. Unpublised M.A. Mahidol Universit

    สัมภาษณ์

    • กานดา ประโมงกิจ. 44/3 หมู่ ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2559)
    • กิมสี้ กิจค้า. บ้านแต้เหล็ง ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่.  (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18   เมษายน พ.ศ. 2516. ปัจจุบันถึงแก่กรรม)
    • เกม ช้างน้ำ.หมู่ 1 ตำบลศาลาด่าน ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อ 2530)        
    • ชนะ หาดทรายทอง. 50/16 ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2559)
    • ชัยรัตน์ ทะเลลึก. หมู่ 7 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559)
    • ซาเย้ ทะเลลึก. หมู่ 7 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อ 2530)
    • เดียว ทะเลลึก. 85 หมู่ 1 ตำบลศาลาด่าน ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่.  (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559)
    • ธานี สิงขโรทัย. 37 หมู่ 3 บ้านเกาะบูโหลน ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559)
    • นพรัตน์ กาญจนวโรดม. 143 หมู่ 1 ตำบลไสไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2553)
    • นิกร ไหวพริบ. ตลาดศรีรายา ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 เมษายน  พ.ศ. 2530. ปัจจุบันถึงแก่กรรม).
    • บูเด็น คบคน. 42 หมู่ 1 ตำบลศาลาด่าน ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่.  (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550)
    • ประชา  ทะเลลึก. หมู่ 7 บ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน  2550)
    • ประสม  กิจค้า. 49 หมู่ 2 ตลาดศรีรายา ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. (สัมภาษณ์เมื่อ  วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2550. ปัจจุบันเสียชีวิต).
    • พยนต์ ทิมเจริญ. พยนต์ ทิมเจริญ. 4/1127 หมู่บ้านสหกรณ์เคหสถาน 4  แขวงคลองกลุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ.  (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน  2546)
    • พรสุดา ประโมงกิจ. 24 หมู่ 8 บ้านแหลมตง เกาะพีพี อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28   กรกฎาคม พ.ศ.2559)
    • มะสี  ทะเลลึก. หมู่ 7 บ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19ตุลาคม 2551)
    • ลู่ดน ทะลึก หมู่ 7 บ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2530ปัจจุบันถึงแก่กรรม)
    • สิทธิ์ ประโมงกิจ.  42/2 หมู่ 3 บ้านสปำ ตำบลเกาะแก้ว อ.เมือง จ. ภูเก็ต  (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559)
    • สิริพงษ์ มุกดา. (2009). “นิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน”. VOL.7 No.82 March 2009 สืบค้นเมื่อ 1/9/ 2016 จาก www.phuketbulletin.co.th
    • แสงโสม หาญทะเล. 316 หมู่ 7 เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559)
    • หีม ดำรงเกษตร. 112 หมู่ 2 ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต (สัมภาษณ์เมื่อวันที่  พ.ศ. 2559)
    • อูลิน ช้างน้ำ. 164 หมู่ 3 บ้านมู่ตู ตำบลศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559)
    • อัมรี สิเดะ (Amri Sidik) ไกด์ชาวอินโดนีเซีย (สัมภาษณ์เมื่อ March 30, 2008)

     

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
ภูเก็ต หมู่เกาะลันตา สตูล (และชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของภาคใต้ของประเทศไทย)3000
ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              อูรักลาโวยจ เป็นชื่อเรียกตัวเองของของชาวอูรักลาโวย ขณะที่บุคคลภายนอกเรียกอูรักลาโว้ยว่า “ชาวเล”“ชาวไทยใหม่”“ชาวน้ำ” และด้วยวิถีชีวิตที่เร่ร่อนทางทะเลจึงได้สมญาว่า ยิปซีทะเล แต่ชื่อที่เขาไม่ชอบให้เรียกคือ“ชาวน้ำ” โดยให้เหตุผลว่า ทุกคนต่างเกิดจากน้ำอสุจิเหมือนกันทำไมต้องเจาะจงเรียกเฉพาะพวกเขาชาวเลมอเก็นหรือมอแกน เรียกชาวเลอูรักลาโว้ยที่อาศัยแถบเกาะลันตาว่า “โอรังลอนตา” สมัยที่อังกฤษเข้ามาค้าขายและแสวงหาอาณานิคมในดินแดนแถบเอเซียอาคเนย์นี้ เห็นชาวเลอพยพเร่ร่อนอยู่ในทะเลอาศัยอยู่ตามเกาะจึงเรียกว่า “Sea Gypsy”หรือยิบซีทะเล (โอรัง-คน,ละอุต-ทะเล) เชื่อว่าชาวเลเข้าไปอาศัยอยู่พร้อม ๆ กับชนอีกพวกหนึ่งคือโอรัง บูกิต (Orang-Bukit) แปลว่าคนภูเขา (โอรัง-คน, บูกิต-ภูเขา) ชาวพม่าเรียกชาวเลว่า “ฉลาง” ไทยเพี้ยนมาเป็นถลาง ชาวอังกฤษเรียกชาวเลว่า Sea Gypsy แปลว่า ยิปซีทะเล สันนิษฐานว่า บางที่ก็เรียกทับศัพท์ว่า “Chaonam” (ชาวน้ำ ซึ่งพวกเขาไม่ชอบให้เรียก)

              มีผู้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของอูรักลาโวยจ มอแกน และมอแกลน ในนามของชาวเล ไว้สองแนวทางคือ หนึ่ง เชื่อว่าชาวเลเป็นเผ่าพันธุ์ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่แถบหมู่เกาะทะเลใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก หรือหมู่เกาะ เมลานีเซีย ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานกระจายไปหมู่เกาะทะเล ใช้ชีวิตเดินทางเลอพยพจากทะเล จากดินแดนหมู่เกาะทางใต้ขึ้นมายังฝั่งอันดามันทางใต้ของไทย ชาวเลเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม อพยพเข้ามาอยู่ในแหลมมลายูสมัยดึกดำบรรพ์ ก่อนที่ชาวมลายูจะเข้ามาอาศัยอยู่ ชาวมลายูเรียกว่า “โอรังละอุต” คนทะเล อีกแนวทางหนึ่งเชื่อว่า อพยพจากเหนือลงใต้ โดยมีความเห็นว่าเดิมชาวเลอาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงในประเทศจีน แล้วได้อพยพหนีภัยเร่ร่อนลงมาทางใต้เป็นพวก ๆ โดยอาศัยลำแม่โขง ล่องเรือตามยถากรรมเรื่อยลงมาตลอดแหลมอินโดจีน เมื่อออกทะเลก็อาศัยเรือเร่ร่อนอยู่ไปตามเกาะต่าง ๆ ตลอดลงไปถึงพม่าและมลายู อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของชาวเลในแถบอันดามันนั้น ยุคโบราณมีร่องรอยคนพื้นเมือง “ชาวเลโอรังลอนตา” ชนเผ่าเร่ร่อนทางทะเลแถบชายฝั่งอันดามัน เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาพักพิงในหมู่เกาะลันตาและเกาะจำมานานแล้ว ต่อมา ประมาณ 600-500 ปีที่ผ่านมา “ชาวเล โอรังลาอุ๊ต” อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่แถบมะละกาได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณหมู่เกาะลันตา จากตำนานและคำบอกเล่าของชาวเลบนเกาะลันตา และชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์ กล่าวถึงเส้นทางการอพยพที่ใกล้เคียงกันว่าหนีภัยโรสลัดจนแตกแยกกันไปคนละทิศละทาง จนปัจจุบัน ชาวเลทั้งสามกลุ่มกระจายอยู่ในหลายเกาะและพื้นที่ชายฝั่งอันดามันในหลายจังวัด ในส่วนของชาวอูรักลาโวยจนั้น อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูล กระบี่ และภูเก็ต

              ชาวเลอูรักลาโวยจดั้งเดิมจะอาศัยเรือเร่ร่อนอยู่ในทะเล วิถีชีวิตจึงผูกพันและสัมพันธ์กับทะเล ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของชาวเลก็เก็บเกี่ยวจากสภาพแวดล้อมธรรมชาติในทะเลและริมฝั่งทะเลทั้งสิ้น ปัจจุบันบางกลุ่มเริ่มขึ้นมาตั้งหลักแหล่งบนฝั่ง เพราะแหล่งที่เคยเร่ร่อนพักอาศัยถูกยึดครองโดยกลุ่มชนอื่นแล้ว ก็เริ่มเรียนรู้การทำเกษตรและเพาะปลูก มีพิธีกรรมสำคัญคือพิธีลอยเรือปลาจั๊ก เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ และส่งวิญญานบรรพบุรุษกลับไป “ฆูนุงฌึรัย” ซึ่งเชื่อว่าเป็นบ้านเมืองเดิมของบรรพบุรุษ และส่งสัตว์ที่ฆ่ากินเป็นอาหารกลับไปให้เจ้าของเดิมเพื่อไถ่บาป อันเป็นปนะเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จัดขึ้นปีละ 2 ครั้งเรื่องเรื่มเข้าสู่ฤดู “ลมพลัด” และฤดู “ลมออก”

     

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    ประวัติศาสตร์

              ราชบัณฑิตสถาน (2513 : 6225-6226 ; อ้างถึงใน จรัส ง๊ะสมัน. 2534 : 11) โชติ สุวัตถิ อธิบายไว้ในสารานุกรมราชบัณฑิตสถานว่า ชาวเลเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งของมลายูที่ยังเหลืออยู่โดยยังไม่ได้กลายเป็นพวกมลายูไป ชนพวกนี้อพยพเข้ามาอยู่ในแหลมมลายูสมัยดึกดำบรรพ์ ก่อนที่ชาวมลายูจะเข้ามาอาศัยอยู่ ชาวมลายูเรียกว่า “โอรังละอุต” (Orang- Laut) แปลว่าคนทะเล (โอรัง-คน,ละอุต-ทะเล) เชื่อว่าชาวเลเข้าไปอาศัยอยู่พร้อม ๆ กับชนอีกพวกหนึ่งคือโอรัง บูกิต (Orang-Bukit) แปลว่าคนภูเขา (โอรัง-คน, บูกิต-ภูเขา) ชาวพม่าเรียกชาวเลว่า “ฉลาง” ไทยเพี้ยนมาเป็นถลาง ชาวอังกฤษเรียกชาวเลว่า Sea Gypsy แปลว่า ยิปซีทะเล สันนิษฐานว่า สมัยที่อังกฤษเข้ามาค้าขายและแสวงหาอาณานิคมในดินแดนแถบเอเซียอาคเนย์นี้ เห็นชาวเลอพยพเร่ร่อนอยู่ในทะเลอาศัยอยู่ตามเกาะจึงเรียกว่า “Sea Gypsy” บางที่ก็เรียกทับศัพท์ว่า “Chaonam” (ชาวน้ำ ซึ่งพวกเขาไม่ชอบให้เรียก)

              มีผู้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของชาวเลไว้ 2 แนวทาง แนวทางหนึ่ง เชื่อว่าชาวเลอพยพจากทะเล ทางใต้ขึ้นมายังฝั่งอันดามันทางใต้ของไทย เช่น ประทีป ชุมพล (2524 : 25-27 ; อ้างถึงใน พิมพิไล ตั้งเมธากุล. 2529 : 18) มีความเห็นว่า ชาวเลเป็นเผ่าพันธุ์ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่แถบหมู่เกาะทะเลใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก หรือหมู่เกาะ เมลานีเซีย (เกาะของคนผิวดำ) ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานกระจายไปหมู่เกาะทะเลใต้ พวกนี้มีรูปร่างลักษณะตัวค่อนข้างเล็ก ผิวดำ ตาดำ ผมหยิกหยอยเป็นกระจุก มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แต่ปัจจุบันมักจะถูกกลืนจากประเทศที่ตนอยู่อาศัย เจน จรจัด (2530 : 136) กล่าวถึงบรรพบุรุษของชาวเลว่า เป็นพวกอินโดนีเซี่ยน พวกหนึ่ง อพยพจากแผ่นดินสู่ทะเลแถบเกาะบอเนียว นับเป็นการอพยพจากแผ่นดินไปสู่ทะเลและเริ่มต้นวิถีชีวิตแบบชาวเกาะที่นี่ เกิดเผ่าพันธ์ดยัค (Dyak) ดยัค พวกหนึ่งปักหลักบนฝั่งจนกลายเป็นบรรพบุรุษของคนพื้นเมืองของแห่งเกาะบอเนียว แต่ดยัคอีกพวกหนึ่งกลับชอบใช้ชีวิตเร่ร่อนทำมาหากินอยู่ในท้องทะเล เรียกกันว่า “ดยัคทะเล” (Sea Dyak) อพยพเคลื่อนย้ายตามแนวหมู่เกาะเรื่อยมาจนถึงแหลมมลายู บางพวกขึ้นฝั่งที่แหลมมลายูกลายเป็นบรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวมลายู แต่ยังมีบางพวกที่ไม่ได้หยุดยั้งการเดินทางแสวงหา พวกเขาแล่นเรือร่อนเร่มาทางช่องแคบมะละกาออกสู่บริเวณทะเลอันดามันท่องมาตามแนวหมู่เกาะฝั่งตะวันตกของไทย และขึ้นไปทางหมู่เกาะตอนใต้ของสหภาพพม่า ชนเผ่าผู้ท่องทะเลเหล่านี้ได้แบ่งออกเป็นหมู่พวกย่อย ๆ และยังคงสืบทอดการดำรงชีวิตแบบเคลื่อนย้ายอพยพเร่ร่อนพักพิงอยู่ท่ามกลางหมู่เกาะชายฝั่งทะเลอันดามัน ต่อมาจึงได้ฉายานามใหม่ว่า “ยิปซีทะเล” (Sea Gypsy) ซึ่งช่วงเวลายาวนานหลังจากนั้นพวกเขาจึงยอมเปลี่ยนวิถีชีวิต พาหมู่พวกเข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นที่เป็นทาง พวกอูรักลาโวยจ (Urak Lawoi) เข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณหมู่เกาะลันตา พวกมอเกล็น (Moklen) อยู่ถัดสูงขึ้นไปแถวเกาะภูเก็ต พวกมอเก็น (Moken) เข้าสู่บริเวณหมู่เกาะอันกว้างใหญ่ทางตอนใต้ของประเทศสหภาพพม่าแล้วก็กลายเป็นพลเมืองชาวเกาะพวกแรกบนหมู่เกาะภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย

              อีกแนวทางหนึ่งอพยพจากเหนือลงใต้ เช่น อุทัย หิรัญโต (2526: 47-50 ; อ้างถึงใน พิมพิไล ตั้งเมธากุล. 2529 : 16) เชื่อว่า เดิมชาวเลอาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงในประเทศจีน แล้วได้อพยพหนีภัยเร่ร่อนลงมาทางใต้เป็นพวก ๆ โดยอาศัยลำแม่โขง ล่องเรือตามยถากรรมเรื่อยลงมาตลอดแหลมอินโดจีน เมื่อออกทะเลก็อาศัยเรือเร่ร่อนอยู่ไปตามเกาะต่าง ๆ ตลอดลงไปถึงพม่าและมลายู

              อย่างไรก็ตาม จากบทเพลงพิธีกรรมซึ่งใช้ในพิธีลอยเรือ ส่วนหนึ่งจะมีเนื้อร้องที่สัมพันธ์กับตำนานความเชื่อและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ดังเช่น เพลงปูกุยฆึนัง (เป่าขลุ่ย) กล่าวถึงการเดินเรือไปยังปริส เพลง ติมา ติมา (วิดน้ำเรือ) กล่าวถึงการเดินทางไปยังรัฐกลันตัน บ่งบอกว่าในอดีตพวกเขามีความสัมพันธ์กับรัฐทั้งสอง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในสหพันธรัฐมาเลเซียทางตอนใต้ของไทยและมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐไทรบุรี (เคดาห์) อันเป็นที่ตั้งของเทือกเขาฆูนุงฌึรัย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นถิ่นฐานเดิมของพวกเขา ก่อนอพยพเข้าสู่น่านน้ำไทยและเป็นจุดหมายปลายทางที่เรือปลาจั๊ก (ลาจัง) จะต้องนำวิญญาณบรรพบุรุษ โรคภัยไข้เจ็บและวิญญาณสัตว์ที่เคยฆ่ากินเป็นอาหาร บรรทุกเรือกลับไปยังถิ่นฐานเดิม ดังที่ระบุไว้ในบทเพลงลาจัง ที่ว่า

    “ลาจัง มวด บารัง นะปี ฆูนุงฌึรัย (ลาจังบรรทุกของจะไปภูเขาฆูนุงฌึรัย)

    ปริฆี บาวา ซาเก็ต ดีรัม บาวา ปี (ให้พาความเจ็บความไข้ไปด้วย)

    มีตะ ซึมาอัส บาด ดูลู (ขอโทษความผิดที่ทำไป)

    มีตะดูโด๊ะ ซินัง ซินัง (ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข)

    ลาติ ปราฮู กะลูวัก ปาฆี (เมื่อเรือลอยออกไป)

    จูจู อานะ ดูโด๊ะ ซินัง (ขอให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข)”

              ในเนื้อเพลงบางสำนวนยังกล่าวถึงเส้นทางการเดินทาง ตั้งแต่ลันตาจนถึงฆูนุงฌึรัย (อาภรณ์ อุกฤษณ์ : 2532) อย่างน้อยที่สุด บทเพลงลาจัง สามารถบ่งบอกว่า ในอดีตอย่างน้อยประมาณ 500 ปีที่ผ่านมาชาวเลอูรักลาโวยจน่าจะเคยมีถิ่นฐานเร่ร่อนอยู่บริเวณน่านน้ำแถบเทือกเขาฆูนุงฌึรัย ตามคำบอกเล่าของพวกเขา

             

              มิติทางประวัติศาสตร์

              ยุคโบราณมีร่องรอยคนพื้นเมือง “ชาวเลโอรังลอนตา” ชนเผ่าเร่ร่อนทางทะเลแถบชายฝั่งอันดามัน เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาพักพิงในหมู่เกาะลันตาและเกาะจำมานานแล้ว ต่อมา ประมาณ 600-500 ปีที่ผ่านมา “ชาวเล โอรังลาอุ๊ต” อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่แถบมะละกาได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณหมู่เกาะลันตา จากตำนานและคำบอกเล่าของชาวเลบนเกาะลันตา และชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์ กล่าวถึงเส้นทางการอพยพที่ใกล้เคียงกันว่า เดิมเป็นพวกเดียวกันแต่หนีโจรสลัดจนแตกแยกกันไป เนื่องจากสมัยหนึ่งดินแดนทางภาคใต้แถบประเทศมาเลเซีย มีการสร้างเมืองใหม่ต้องการกำลังคน จึงให้โจรสลัดดักจับคนที่หากินในทะเลไปขายเจ้าเมือง ผู้ชายจะถูกจับไปเป็นทหาร ผู้หญิงถูกจับไปผลิตลูก เพราะต้องการขยายพันธุ์ให้มีพลเมืองมาก เรื่องเล่าเหล่านี้ แม้จะเป็นตำนานแต่พอจะมีประเด็นให้คิดว่า บรรพบุรุษของพวกเขาได้เล่าเกี่ยวกับภัยที่เกิดจากโจรสลัดทำให้ต้องอพยพหนีขึ้นมาในน่านน้ำไทย

              คำบอกเล่าดังกล่าวตรงกับที่ เบอร์นาซิค (Bernazik. 1958 : 42 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 10) บันทึกจากคำบอกเล่าของชาวเลมอแกนที่มะริดว่าชาวเลกลุ่มหนึ่งถูกชาวมาเลย์จับตัวไปและแต่งงานกับ ชาวมาเลย์ ชาวจีนและนิกริโต กลายเป็นโอรังลาอุ๊ต (อูรักลาโวยจ) หรือโอรังลอนตา ซึ่งเป็นชื่อที่มอแกนเรียกชาวเล อูรักลาโวยจเกาะลันตา และใกล้เคียงกับคำบอกเล่าของชาวเกาะลันตาท่านหนึ่งว่า “ตอนเด็ก ๆ เคยเห็นชาวเล ที่เร่ร่อนบริเวณเกาะลันตาเป็นชาวเลสิงห์ (มอแกน) มาจากพม่าอาศัยเรือง่าม (ก่าบาง) แบบชาวเลเกาะสุรินทร์ และ มีลูกมีหลานทิ้งไว้ ต่อมามีการแต่งงานผสมผสานกับชาวมลายูที่เรียกว่า แขกชวา ซึ่งเป็นลูกเรือชาวจีนที่เข้ามาค้าขาย กลายเป็นอูรักลาโวยจ” (ประสม กิจค้า. สัมภาษณ์ : 15 เมษายน 2550 ; อ้างถึงในอาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 76) ประพนธ์ เรืองณรงค์ ก็กล่าวถึงชาวเลที่อาศัยในแถบสตูล กระบี่ พังงาและภูเก็ตในปัจจุบันว่าเป็นชาวเลผสมเกือบทั้งสิ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างพวกมะละกาและพวกลิงคาและผสมกับพวกมาซิงบ้าง บางส่วนได้แต่งงานกับคนพื้นเมือง บ้างก็หันมานับถือศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม และในปัจจุบันมีศาสนาคริสต์เข้าไปเผยแพร่ในกลุ่มพวกนี้อยู่บ้างเช่นกัน แนวคิดนี้ขัดแย้งกับทัศนะของโฮเก็น (Hogen. 1972 : 208 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 76) ที่ว่าแม้จะมีการแต่งงานข้ามกลุ่มกันบ้างแต่ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ชาวเลทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะมีบรรพบุรุษร่วมกัน เนื่องจากภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างกันมาก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวทำให้ทราบว่าในอดีตชาวเลมอแกนเคยเร่ร่อนหากินบริเวณหมู่เกาะลันตาด้วย (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 76)

              ในงานวิจัยของ สุพัฒน์ ธัญญวิบูลย์ (2539 : 92-97 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 76 ) กล่าวพาดพิงถึงชาวเลว่า กษัตริย์ปรเมศวร ได้สร้างเมืองมะละกาให้รุ่งเรืองทางการค้าและพัฒนาให้เป็นเมืองท่าที่ปลอดภัยจากโจรสลัดด้วยการดึงชนพื้นเมืองที่มีพฤติกรรมเป็นโจรสลัด คือพวกชาวทะเลหรือชาวเล (Orang Laut) ซึ่งเป็นประชาชนส่วนหนึ่งของภูมิภาคนี้เข้ามาสวามิภักดิ์กลายเป็นกองกำลังในเรือและเป็นแรงงานในการหาของทะเลเป็นสินค้า ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้เมืองท่ามะละกะมากขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจ คือการระบุว่าชาวเล (Orang Laut) เป็นโจรสลัด ผู้เขียนมีความเห็นสอดคล้องกับโฮเก็น (Hogen. 1972 : 207-208 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 78) ว่าลักษณะนิสัยของชาวเลในปัจจุบันขัดแย้งกับพฤติกรรมของโจรสลัด ที่กล่าวถึงในประวัติศาสตร์ มะละกา ซึ่งหากเป็นโจรสลัดจริงก็คงถูกบังคับให้เป็นจึงอพยพหนีเข้ามาในเขตประเทศไทย เมื่อตรวจสอบจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของ ฮอลล์ (Hall. 2549 : 212 ; อ้างถึงในอาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 76) มีการบันทึกว่าประมาณปีพ.ศ. 1941-1943 หรือประมาณ 589-587 ปีมาแล้ว กษัตริย์ปรเมศวรได้รับความช่วยเหลือจากโจรสลัดและชาวมลายูจากปาเล็มบังในการสร้างเมืองมะละกาจนเป็นนิคมขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว เริ่มต้นด้วยการเป็นตลาดสินค้าหายาก และเป็นศูนย์กลางของโจรสลัด อีกช่วงหนึ่ง ประมาณ ปีพ.ศ. 2367-2386 เป็นช่วงที่มีการปราบปรามโจรสลัด โดยความร่วมมือระหว่างอังกฤษกับฮอลันดา โดยใช้เรือรบขนาดใหญ่ออกตระเวนจับกุมชาวบ้าน ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโจรสลัดในน่านน้ำตั้งแต่ช่องแคบมะละกาลงไป จากเหตุการณ์นี้ผลักดันให้ผู้ที่ทำมาหากินบริเวณนั้น ซึ่งอาจจะมีชาวเลปะปนอยู่ด้วย ต้องอพยพหนี (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 11)

              จากข้อมูลดังกล่าวเป็นไปได้ว่าโจรสลัดเหล่านี้อาจจะมีชาวเล (Orang Laut) ปะปนอยู่บ้างแต่ไม่ใช่กลุ่ม ชาติพันธุ์เดียว มีชาวมลายูจากปาเล็มบังด้วย งานเขียนของ อาณัติ อนันตภาค (2554 : 150 -152 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 74) ก็ยืนยันว่าบรรดาโจรสลัดอันดามันนั้น นอกจากส่วนหนึ่งมาจากบรรดาชาวพื้นเมืองจาก หมู่เกาะอินโดนีเซีย ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับไทยทางด้านใต้ รวมไปถึงบรรดาชาวเลต่าง ๆ ที่ในอดีตทำตัวเป็นโจรสลัดไปในตัวพร้อมกับการทำมาหากินทางทะเลแล้วยังมีโจรสลัดชาวโปรตุเกสคอยปล้นชิงสินค้าด้วย โต๊ะหยีเป็ง (โต๊ะหยีเพ็ง) ที่อาณัติกล่าวถึงในตำนานโจรสลัดอันดามันที่เข้ามายึดครองเกาะปอเป็นกลุ่มแรกก็เป็นโจรสลัดมาเลย์ที่เป็นญาติสนิทของเจ้าเมืองแห่งลังกาวีของมาเลเซีย อีกทั้งคำบอกเล่าของมุสลิมชาวกระบี่ (นพรัตน์ กาญจนวโรดม. สัมภาษณ์ : 5 เมษายน 2553) ก็ระบุว่าบรรพบุรุษชาวมุสลิมเคยเป็นโจรสลัดหนีการจับกุมกระจายกันอยู่หลายแห่งในจังหวัดกระบี่รวมทั้งเกาะลันตาด้วย ข้อมูลเหล่านี้แม้บางส่วนจะเป็นตำนานเรื่องเล่าแต่ทำให้ทราบว่า บรรพบุรุษของชาวเลอพยพเคลื่อนย้ายผ่านเข้ามาทางช่องแคบมะละกา (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 74) เรื่องราวในนิทานบางเรื่องของชาวเลอูรักลาโวยจจังหวัดสตูล ซึ่งอยู่ใกล้กับช่องแคบมะกาก็กล่าวถึงโจรสลัด เช่นเรื่อง หาดทรายสีดำ กล่าวถึงโจรสลัดปล้นเรือสำเภา ขนเอาข้าวสารมาขึ้นฝั่งที่เกาะลังกาวี แต่ได้ถูก “วะลี” (คนศักดิ์สิทธิ์) สาปข้าวสารนั้นให้เป็นเม็ดทรายสีดำ อยู่บนหาดของเกาะแห่งนี้ เรียกว่า “หาดทรายดำ” (จรัส ง๊ะสมัน. 2534 : 62) และบนเรือ “ปลาจั๊ก” ซึ่งชาวเลอูรักลาโวยจเกาะลันตา ใช้ในพิธีลอยเรือเพื่อส่งวิญญาณบรรพบุรุษ และส่งวิญญาณสัตว์ที่เคยฆ่ากินเป็นอาหารกลับไป ฆูนุงฌึรัย เทือกเขาในประเทศมาเลเซียซึ่งเชื่อว่าเป็นถิ่นฐานเดิมก่อนเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ก็มีตุ๊กตาไม้แกะสลักเป็นรูปคนถือปืนเอ็ม 16 เพื่อต่อสู้กับโจรสลัดระหว่างที่เดินทางผ่านช่องแคบมะละกา เรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ได้แสดงถึงการเป็นพวกเดียวกับโจรสลัด

              ทั้งนี้จากการสืบย้อนอดีตพบหลักฐานที่บ่งบอกว่าดินแดนที่เรียกว่า “เกาะลันตา” มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ดังปรากฏในแผนที่และบันทึกการเดินเรือของนักเดินเรือชาวอาหรับ (Wheatley. 1966 : 241) ที่ทำไว้เมื่อประมาณ 600 ปีก่อนได้ระบุชื่อ “เกาะลันตา” (pulau lanta) ไว้ 3 แห่ง แห่งแรก คือ เกาะลันตาในตำแหน่งที่ตั้งเกาะมะลิวัลย์หรือเกาะย่านเชือก แห่งที่สอง คือ เกาะลันตาในตำแหน่งที่ตั้งเกาะสุรินทร์ และแห่งที่สาม คือ เกาะลันตาจานับหรือเกาะลันตาใต้ ในตำแหน่งที่ตั้งเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ปัจจุบัน ที่น่าสังเกต เกาะเหล่านี้เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเลกลุ่มอูรักลาโวยจและมอแกนทั้งสิ้น และปัจจุบันชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์ยังคงเรียกชาวเลอูรักลาโวยจที่เกาะลันตาว่า “โอรังลอนตา”

              ร่องรอยหลักฐานที่บ่งบอกว่า ชาวเลกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “อูรักลาโวยจ” อพยพเข้ามาอาศัยตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในแถบทะเลอันดามัน และเข้ามาผสมกับชาวเลกลุ่มดั้งเดิมบริเวณหมู่เกาะลันตา หรือ“ปูเลาลอนตา” เช่น สุสานชาวเลที่บ้านแต้เหล็งและบริเวณชายฝั่งทะเลบ้านคลองดาว ตลอดจนคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชน การคำนวณอายุของบรรพบุรุษที่เข้ามาพักพิง ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่ สิ่งเหนือธรรมชาติ และชื่อสถานที่ต่าง ๆ บริเวณหมู่เกาะลันตาที่เป็นภาษาอูรักลาโวยจ ก็บ่งบอกว่าชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แรก ๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่เกาะลันตา แต่ด้วยวัฒนธรรมเร่ร่อนหากินทางทะเลที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่มีวัฒนธรรมในการจับจองพื้นที่เพื่อตั้งถิ่นฐานถาวรอาศัยพักพิงชั่วคราวตามชายฝั่งทะเลเฉพาะช่วงฤดูมรสุม ในระยะหลังเมื่อหวนกลับมายังแหล่งเดิม มักจะพบว่าชนกลุ่มอื่นเข้ามายึดครองแล้วจึงต้องหาแหล่งพักพิงใหม่ ขยับไปเรื่อย ๆ เริ่มจากบริเวณ บ้านทุ่งหยีเพ็ง บ้านทุ่งโต๊ะเขียว บ้านเจ๊ะหลี บ้านบ่อแหน (ที่ตั้งศาล “โต๊ะบาหลิว” ดั้งเดิม) บ้านในไร่ แหลมคอกวาง และคลองดาว ด้านหน้าเกาะเดิมอาศัยบริเวณตลาดศรีรายา ขยับไปหัวแหลมแค่ (หัวแหลมใกล้) ปัจจุบันขยับมาอาศัยบริเวณบ้านหัวแหลมกลาง และบ้านสังกาอู้ (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 77-78)

              สันนิษฐานกันว่าชาวเลบนเกาะลันตาเริ่มตั้งถิ่นฐานบนฝั่งอย่างน้อยประมาณ 300-200 ปีมาแล้ว แต่ยังเคลื่อนย้ายทำมาหากินตามฤดูกาล เมื่อย้อนกลับมาพบว่าพื้นที่ที่เคยพักพิงมีผู้อื่นเข้าครอบครอง ก็ขยับไปใช้พื้นที่ว่างถัดไป จนผลที่สุดต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตขึ้นมาตั้งถิ่นฐานถาวรบนฝั่ง ตามคำบอกเล่าของชาวเลในอดีตเกาะลันตาบริเวณบ้านหัวแหลมกลางเป็นศูนย์รวมของชาวเลอูรักลาโวยจ และเป็นที่แห่งแรกที่ชาวเลอูรักลาโวยจตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย นับได้ว่าเกาะลันตาเป็นเมืองหลวงของชาวเลอูรักลาโวยจ (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 78) นอกจากนั้นชาวเลอูรักลาโวยจยังกระจายตัวอาศัยตามชายฝั่งทะเลในเขตจังหวัดกระบี่ บริเวณเกาะจำและเกาะพีพี สำหรับชาวเเกาะพีพี จะมีการแต่งงานข้ามกลุ่มระหว่างชาวเลมอแกนกับชาวเลอูรักลาโวยจ

              จากคำบอกเล่าของชาวเกาะลันตา ประมาณปีพ.ศ. 2452 (รัชกาลที่ 5) โต๊ะฆีรี ชาวมุสลิมจากสตูล (ภรรยาเป็นชาวเล) ได้มาชักชวนให้ชาวเลจากเกาะลันตาและเกาะสิเหร่ไปตั้งถิ่นฐานที่เกาะอาดัง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของไทยในการปักปันเขตแดนระหว่าง ไทย-มาเลเซีย (กิมสี้ กิจค้า. สัมภาษณ์ : 18 เมษายน 2516 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์ 2554 : 78) จรัส ง๊ะสมัน (2534 : 27) ก็ได้กล่าวถึงความเป็นมาของชาวเลกลุ่มอูรักลาโวยจที่เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดังว่า ผู้ที่มาอาศัยอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะคนแรก คือโต๊ะมาหมาด หลังจากนั้นอีก 1 ปี โต๊ะฆีรีได้เข้ามาอยู่อีกพร้อมกับโต๊ะสะนู และได้ชักชวนชาวเลคนอื่น ๆ มาอยู่ด้วย เนื่องจาก ในปีพ.ศ. 2452 อังกฤษต้องการดินแดนฝั่งตะวันตกของไทย โดยเฉพาะเกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง พระยาภูมินารถภักดี เจ้าเมืองสตูลขณะนั้น จึงได้นำชาวเลจากเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต และจากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มาอยู่ที่เกาะทั้งสองนี้ เพื่อเป็นหลักฐานว่าเกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดังเป็นส่วนหนึ่งของไทย จึงไม่ต้องเสียเกาะทั้งสองนี้ให้กับอังกฤษ ชาวเลเหล่านี้ได้เป็นต้นตระกูลของชาวเลเกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดังในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่นามสกุล หาญทะเล และทะเลลึก สำหรับโต๊ะฆีรี เป็นคนมีความรู้ เชี่ยวชาญคาถาอาคม จึงได้รับยกย่องให้เป็นผู้นำ ชาวเลทุกคนให้ความเคารพนับถือโต๊ะฆีรีมาก เมื่อโต๊ะฆีรีเสียชีวิตแล้วก็มีการบวงสรวงวิญญาณโต๊ะฆีรีในพิธีลอยเรือ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีจนถึงทุกวันนี้

              ในประเด็นนี้ พยนต์ ทิมเจริญ (สัมภาษณ์ : 25 พฤศจิกายน 2546 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 78) ท้วงติงว่า การปักปันเขตแดนครั้งแรก ในปีพ.ศ. 2452 ทำไปไม่ถึงเกาะอาดังและหลีเป๊ะหยุดแค่จุดกึ่งกลางระหว่างเกาะตะรุเตาของไทยและเกาะลังกาวี ของมาเลเซีย ต่อมาในปีพ.ศ. 2514 ไทย-มาเลเซีย ได้แบ่งเขตไหล่ทวีปในทะเลอันดามันอีกครั้ง ตามสนธิสัญญาเจนีวาปีพ.ศ. 2501 โดยลากเส้นลงในแผนที่เดินเรืออังกฤษต่อจากจุดที่ทำค้างไว้ ผ่านเส้นแบ่งที่กำหนดให้เกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ และเกาะราวี เป็นของไทยซึ่งการกำหนดเขตทั้ง 2 ครั้ง ไม่มีการสำรวจภูมิประเทศและสำรวจทางทะเล จึงไม่มีใครรู้ว่าบนเกาะหลีเป๊ะมีชาวเลที่พูดภาษาไทยได้ กรณีนี้สันนิษฐานว่าอาจจะมีการเตรียมการของทางราชการจังหวัดสตูลจริงตามคำบอกเล่าของชาวเกาะลันตา แต่เมื่อมีการกำหนดเขตแดนจริงคณะกรรมการร่วมไทย-มาเลเซีย ไม่ได้ใช้เหตุผลดังกล่าวเป็นตัวตัดสิน (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 78)

              อูรักลาโวยจคนแรกที่ขึ้นไปอาศัยอยู่บนเกาะบูโหลนเล คือ โต๊ะลอยัง ต่อมาชาวเลจากเกาะลันตาเข้ามาอยู่อีก 2-3 ครอบครัว หลังจากนั้นก็ย้ายไปอยู่เกาะบูโหลนดอน โดยมีโต๊ะสินตาลูกชายของโต๊ะลอยังเป็นผู้นำ แล้วมีชาวเลบางคนกลับไปอยู่เกาะบูโหลนเลอีก แต่อยู่ได้ไม่นานเพราะไม่มีผู้นำในการประกอบพิธีลอยเรือบูชาเจ้าเกาะ ทำให้เจ็บไข้บ่อย ๆ ชาวเลเหล่านี้บางส่วนกลับมาอยู่ที่เกาะบูโหลนดอน บางส่วนไปอยู่ที่เกาะอาดัง เกาะบูโหลนเลจึงเป็นเกาะร้าง ชาวเลอาศัยอยู่ที่เกาะบูโหลน ดอน มีการตั้งโรงเรียน ขึ้นในปีพ.ศ. 2515 เพื่อให้เด็กชาวเลได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นเห็นว่า เกาะบูโหลนดอนมีขนาดเล็กไม่มีพื้นที่สำหรับทำเกษตร ชาวเลทำประมงเพียงอย่างเดียงไม่พอกิน ทรัพยากรในทะเลก็น้อยลง จึงได้ชักชวนให้ย้ายไปอาศัยบนเกาะบูโหลนเล พร้อมกับเสนอต่อทางราชการให้ย้ายโรงเรียนไปไว้ที่เกาะบูโหลนเล แต่ชาวเลส่วนใหญ่ ไม่ยอมย้ายไป ผู้ใหญ่บ้านจึงชักชวนให้ชาวเลเกาะอาดังส่วนหนึ่งมาอยู่ที่บูโหลนเล (หลี องศาราม 2532 : สัมภาษณ์ ; อ้างถึงใน จรัส ง๊ะสมัน. 2534 : 27-28)

              ส่วนจุดแรกที่ชาวเลอูรักลาโวยจเกาะสิเหร่ขึ้นมาอาศัยคือบริเวณแหลมกลาง (อยู่ใกล้แหลมตุ๊กแก) ต่อมาบริษัทเหมืองแร่มาซื้อที่ดินจากผู้ที่อ้างสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน เพื่อทำเป็นสำนักงาน มีการฟ้องร้องกัน ศาลตัดสินให้บริษัทชนะบริษัทจึงฟ้องผู้นำชาวเล 4 คน เพื่อเรียกร้องกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2502 พวกเขาจึงต้องย้ายมาอยู่ที่แหลมตุ๊กแกซึ่งมีเจ้าของอยู่แล้ว โดยชาวเลไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่มีเงื่อนไขว่าห้ามตั้งร้านค้าแข่งกับเจ้าของที่ดิน และจะต้องขายปลาที่หาได้แก่เจ้าของที่ดินเท่านั้น ชาวเลอูรักลาโวยจกลุ่มนี้จึงปักหลักอยู่ที่นี้ โดยผูกขาดการซื้อสินค้าแพงจากร้านเจ้าของที่ดินและขายของทะเลในราคาถูกให้กับเจ้าของที่ดินเพื่อแลกกับที่อยู่อาศัย (พิมพิไล ตั้งเมธากุล. 2529 : 21-22)

              บรรพบุรุษของชาวเลอูรักลาโวยจที่สปำ ในอดีตเคยอาศัยอยู่ร่วมกับกลุ่มชาวเลอูรักลาโวยจที่แหลมตุ๊กแก ต่อมาบางครอบครัวได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่สปำจนถึงทุกวันนี้ (สิทธิ์ ประโมงกิจ. สัมภาษณ์ : 2559)

     

    การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของประชากร

              ชาวเลอูรักลาโวยจอาศัยเร่ร่อนตามหมู่เกาะแถบทะเลอันดามันตั้งแต่ช่องแคบมะละกาขึ้นมาบริเวณ เกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะบูโหลนดอน และเกาะบูโหลนเล จังหวัดสตูล เกาะพีพี (แหลมตง) เกาะจำ (ชุมชนโต๊ะบุหรง ชุมชนท่าเรือมูตู ชุมชนกลาโหม ชุมชนบ้านกลาง) เกาะลันตา (บ้านคลองดาว บ้านในไร่ บ้านโต๊ะบาหลิว บ้านหัวแหลมกลาง และบ้านสังกาอู้) จังหวัดกระบี่ เกาะสิเหร่ (แหลมตุ๊กแก) บ้านราไวย์ และบ้านสะปำ จังหวัดภูเก็ต  

     

    ชื่อสถานที่/หมู่บ้าน ที่ตั้ง จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
    บ้านเกาะอาดัง ม.7 ต.เกาะตะรุเตา อ.เมือง จ.สตูล 33 24
    ชุมชนเกาะหลีเป๊ะ ม.7 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล 221 981
    ชุมชนเกาะบูโหลนดอน บ้านเกาะบูโหลน ม.3 ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล 80 280
    ชุมชนเกาะบูโหลนเล บ้านเกาะบูโหลน ม.3 ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล 66 220
    บ้านแหลมตง เกาะพีพี ม.8 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ 32 155
    ชุมชนโต๊ะบุหรง บ้านเกาะจำ ม.3 ต.ศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่    44 191
    ชุมชนท่าเรือมูตู บ้านเกาะจำ ม.3 ต.ศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ 21 87
    ชุมชนกลาโหม บ้านเกาะจำ ม.3 ต.ศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ 15 46
    ชุมชนบ้านกลาง บ้านเกาะจำ ม.3 ต.ศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ 18 63
    บ้านสังกาอู้  ม.7 ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ 131 433
    บ้านหัวแหลมกลาง ม.1 ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ 28 118
    บ้านโต๊ะบาหลิว ม.1 ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ 34 122
    บ้านในไร่ ม.1 ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ 82 387
    บ้านคลองดาว ม.3 ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ 55 266
    บ้านราไวย์ ม.2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต 253 2,063
    บ้านแหลมตุ๊กแก (เกาะสิเหร่) ม.4 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต 350 2,626
    บ้านสะปำ ม.3 ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต 44 240

     

     

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    วิถีชีวิต

              ชาวเลอูรักลาโวยจดั้งเดิมจะอาศัยเรือเร่ร่อนอยู่ในทะเล วิถีชีวิตจึงผูกพันและสัมพันธ์กับทะเล ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของชาวเลก็เก็บเกี่ยวจากสภาพแวดล้อมธรรมชาติในทะเลและริมฝั่งทะเลทั้งสิ้น การทำมาหากินแบบดั้งเดิม คือการตกเบ็ด ดำน้ำแทงปลา หาหอย และล่าสัตว์ทะเลเป็นอาหาร ในช่วงมรสุมออกทะเลไม่ได้ต้องหลบลมหลบฝนตามชายฝั่ง หรือขึ้นฝั่งมาหาน้ำจืดก็จะหุงหาอาหารโดยเก็บมะพร้าว เก็บยอดผัก ล่าสัตว์เล็ก หรือหาหอย ปู ปลา ปลิงทะเล เพรียงทะเล ตามชายฝั่งสำหรับปรุงอาหาร หลังจากที่อูรักลาโวยจ บางกลุ่มเริ่มขึ้นมาตั้งหลักแหล่งบนฝั่ง เพราะแหล่งที่เคยเร่ร่อนพักอาศัยถูกยึดครองโดยกลุ่มชนอื่นแล้ว ก็เริ่มเรียนรู้การทำไร่ปลูกข้าว ปลูกผัก ผลไม้ ทำสวนยางพารา ฯลฯ แต่บางกลุ่มที่อาศัยในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติไม่สามารถปลูกพืชได้ก็ยังยึดทะเลเป็นแหล่งเสบียงอาหาร

              ต่อมามีการติดต่อกับผู้คนต่างวัฒนธรรม โดยนำของทะเลที่เป็นส่วนเกินไปแลกเปลี่ยนของใช้จำเป็น บางกลุ่มรับจ้างแรงงานกับชาวจีน ได้ค่าตอบแทนเป็นเสื้อผ้าเก่า ข้าวสาร อาหารแห้ง และเหล้าขาว บางกลุ่มนายทุนให้ยาเสพติดเป็นค่าแรงเพื่อผูกมัดให้ทำงานกับตน ในช่วงหลังอูรักลาโวยจบางกลุ่มตกอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพา ด้วยการเช่าซื้ออวน เรือหางยาวพร้อมเครื่องเรือจากนายทุน โดยมีเงือนไขว่าจะต้องจับกุ้ง หรือปลาส่งขายให้กับนายทุนเท่านั้นเพื่อหักหนี้สิน ค่าเรือ ค่าอวน และค่าข้าวสาร อาหารแห้งที่เบิกล่วงหน้าในช่วงที่มีพายุออกทะเลไม่ได้ จึงเป็นหนี้สินผูกพันตลอดไป จนกระทั้ง หลังเหตุการณ์ สึนามิ จึงได้รับเรือและเครื่องมือหากินเป็นของตนเอง ประกอบกับธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น อูรักลาโวยจที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว สามารถปรับตัวให้สามารถอยู่รอดในสังคมได้ด้วยการออกทะเลหาปลาไปขายร้านอาหารบ้าง รับจ้างแรงงานบ้าง เป็นพนักงานเสิร์ฟในสถานประกอบการตามแหล่งท่องเที่ยวบ้าง ทำงานบริษัทบ้าง ปัจจุบันอูรักลาโวยจบนเกาะลันตา และบ้านราไวย์ จังหวัดภูเก็ตบางครอบครัว มีฐานะดีเปิดร้านขายของชำในหมู่บ้านบ้าง ทำธุรกิจเพาะเลี้ยงลูกกุ้งขายบ้าง เป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อสัตว์ทะเลส่งขายต่อบ้าง (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 71-72) ส่วนอูรักลาโวยจบนเกาะบูโหลน นอกจากประกอบอาชีพทางทะเลแล้วทางราชการได้ส่งเสริมให้เพาะปลูกและเลี้ยงแพะด้วย

              ในการดำรงชีพทางทะเลมีความเชื่อที่สัมพันธ์กับความปลอดภัยในชีวิตและการทำมาหากิน เช่น การไหว้หัวเรือทุกครั้งก่อนออกเรือไปทำมาหากิน โดยใช้เครื่องเซ่นเช่นเดียวกับพิธีกรรมทั่วไป และขณะทำพิธีจะระลึกถึงผีบรรพบุรุษ ที่ตนนับถือและผีที่อยู่ตามธรรมชาติทั่วไป เช่น ผีเจ้าทะเล เจ้าเกาะ เจ้าเขา ฯลฯ พร้อมทั้งอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวช่วยคุ้มครองให้มีชีวิตรอดปลอดภัยและทำมาหากินได้คล่อง การทำยันต์ลงในผ้าขาว ฉีกม้วนเป็นเส้นผูกที่ต้นแขนทั้งสองข้าง ทำให้ผีกลัว เวลาดำน้ำผีไม่กล้าเข้าใกล้ เป็นต้น (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 94, จรัส ง๊ะสมัน. 2534 : 43)

     

    วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

     

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    โครงสร้างครอบครัว และเครือญาติ

              ผู้ชายชาวเลอูรักลาโวยจพร้อมที่จะมีครอบครัวได้ เมื่อสามารถออกทะเลเพื่อทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้ โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 19-20 ปี ส่วนผู้หญิงสามารถหุงหาอาหารเลี้ยงดูทารกได้ โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 14-18 ปี แต่ปัจจุบันเมื่อหนุ่มสาวตกลงปลงใจกันฝ่ายชายจะรอจนกว่าผู้หญิงอายุครบ 15 ปี และทำบัตรประชาชนก่อนจึงได้รับอนุญาตให้แต่งงานได้

              รูปแบบการแต่งงานตามอุดมคติและในชีวิตจริงของชาวเลอูรักลาโวยจเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) มีทั้งเลือกคู่แต่งงานในกลุ่มเดียวกัน (endogamy) และแต่งกับคนนอกกลุ่ม (exogamy) ทั้งกับชาวเลมอเก็น และกับคนต่างชาติพันธุ์ เช่น คนไทยจากภาคกลาง ภาคอีสาน คนไทยเชื้อสายจีน และฝรั่ง แต่ส่วนใหญ่จะแต่งภายในกลุ่มชาวเลอูรักลาโวยจด้วยกันเอง

              แม้การแต่งงานในกลุ่มอูรักลาโวยจ เป็นการแต่งงานในกลุ่มเครือญาติ เพราะต่างมีบรรพบุรุษร่วมกัน และใช้นามสกุลพระราชทานร่วมกัน แต่มีข้อห้ามในการแต่งงานระหว่างพี่น้องท้องเดียวกัน พ่อแม่กับลูก และลูกพี่ลูกน้องแบบคู่ขนาน (paralell cousin) หรือลูกพี่ลูกน้อง ที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นเพศเดียวกัน คือลูกของพี่สาวกับน้องสาว หรือลูกของพี่ชายกับน้องชาย เพราะถือว่าเกิดจากสายเลือดของปู่หรือตาคนเดียวกัน

              การแต่งงานในทัศนะของชาวเลอูรักลาโวยจ นอกจากจะแต่งด้วยความรักแบบหนุ่มสาวแล้วพ่อหม้าย แม่หม้าย แม้จะแก่เฒ่าแล้วยังคงจับคู่แต่งงานกันเพื่อหาเพื่อน และผู้คอยปรนนิบัติยามเจ็บไข้

              ลักษณะครอบครัวเป็นแบบครอบครัวเดี่ยว โดยเริ่มจากฝ่ายชายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงก่อน จนกระทั่งมีลูกคนแรกหรือพร้อมจะสร้างบ้านใหม่จึงแยกไปตั้งครอบครัวเดี่ยว แต่หากฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายเป็นลูกคนสุดท้องจำเป็นต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ก็จะต้องอยู่กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชาย จนกระทั่งพ่อแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่อาศัยอยู่ด้วยเสียชีวิต ก็จะกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีพ่อหม้ายหรือแม่หม้ายอาศัยอยู่ด้วย

              ในอดีตชาวเลอูรักลาโวยจไม่มีการสืบทอดมรดกทางทรัพย์สิน เพราะไม่มีทรัพย์สินส่วนเกินนอกจากเรือ และเครื่องมือจับปลาประเภท เบ็ด แห ฉมวก และสามง่ามเท่านั้น แต่ปัจจุบันที่ดินและเรือนพักอาศัยจะให้ลูกสาวหรือลูกชายคนสุดท้องที่เลี้ยงดูพ่อแม่ การตั้งถิ่นฐานของชาวเลอูรักลาโวยจหลังจากแยกไปตั้งครอบครัวเดี่ยวแล้วจะสร้างที่พักอาศัยบริเวณเดียวกับครัวเรือนเดิมของพ่อแม่ฝ่ายหญิง ฉะนั้นกลุ่มครัวเรือนในชุมชนชาวเลอูรักลาโวยจจะกระจายเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามสายตระกูลฝ่ายชายและฝ่ายหญิงโดยมีครัวเรือนเดิมเป็นศูนย์กลางมีความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ มีการแบ่งปันอาหารกัน การแบ่งแรงงาน และช่วยกันอบรมเลี้ยงดูเด็กในกลุ่ม

              “กลุ่มสายตระกูล” จะรวมกันเป็น “กลุ่มเครือญาติ” ซึ่งปัจจุบันชาวเลอูรักลาโวยจกลุ่มเครือญาติที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน จะใช้นามสกุลพระราชทานเหมือนกันหมด เช่น ชาวเลอูรักลาโวยจที่อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ กลุ่มบ้านหัวแหลมกลาง และสังกาอู้ ใช้นามสกุล “ทะเลลึก” กลุ่มบ้านไร่ คลองดาว และโต๊ะบาหลิว ใช้นามสกุล “ช้างน้ำ” ที่จังหวัดภูเก็ต กลุ่มเกาะสิเหร่ และราไวย์ ใช้นามสกุล “ประมงกิจ” และที่จังหวัดสตูล กลุ่มเกาะหลีเป๊ะ อาดัง และเกาะบูโหลนใช้นามสกุล “หาญทะเล” เป็นต้น ซึ่งชาวเลอูรักลาโวยจกลุ่ม เครือญาติทุกกลุ่มจะมีความสัมพันธ์กันในฐานะ “กลุ่มชาติพันธุ์” เดียวกัน

              แม้ชาวเลอูรักลาโวยจจะยึดระบบการตั้งถิ่นฐานโดยฝ่ายชายไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายหญิง (matrilocal) และมีการสืบทอดอำนาจทางฝ่ายแม่ แต่จะมีการนับญาติทั้งสองฝ่าย (bilateral kinship) คือแต่ละคนจะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้สังเกตได้จากคำเรียกญาติทั้งสองฝ่ายที่มีสถานภาพเดียวกัน ด้วยคำเรียกญาติคำเดียวกัน อาจจะเป็นเพราะชุมชนชาวเลอูรักลาโวยจ เป็นชุมชนเล็ก ๆ แม้จะแต่งงานแยกบ้านไปแล้วยังไปมาหาสู่กันได้สะดวก จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันทั้งสองฝ่าย สังคมชาวเล อูรักลาโวยจมีศัพท์ที่ซับซ้อน แสดงถึงความเป็นสังคมเครือญาติ คือทุกคนในชุมชนเดียวกันจะเป็นญาติกันหมด มีทั้งญาติที่สืบทอดทางสายโลหิต ญาติทางการแต่งงาน และยังมีการสร้างความสัมพันธ์โดยการสมมุติ เช่น ศัพท์คำว่า “อะนะพีโด๊ะ” แปลว่า ลูกบุญธรรม และ “ซาบั๊ย” แปลว่า เกลอ เป็นการผูกญาติผูกมิตรเพื่อขยายวงญาติให้กว้างขวางขึ้น โดย “ลูกบุญธรรม” และ “เกลอ” อาจจะเป็นกลุ่มอูรักลาโวยจด้วยกัน หรือระหว่างอูรักลาโวยจกับชาวไทยมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน หรือชาวไทยพุทธก็ได้

              ผู้หญิงในสังคมชาวเลอูรักลาโวยจจะได้รับการยอมรับว่ามีสถานภาพและบทบาทสูงกว่าผู้ชาย การเก็บรักษาเงินที่สามีหามาได้ และอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ จะเป็นหน้าที่ของภรรยา ลูกผู้ชายที่ยังโสดจะเป็นหน้าที่ของแม่ ทั้งนี้สันนิษฐานว่าน่าจะสืบทอดมาจากการใช้ชีวิตดั้งเดิมที่อาศัยเรือเร่ร่อนในทะเลซึ่งผู้ชายจะทำหน้าที่พายเรือ คัดท้ายเรือ ส่วนผู้หญิงนั่งบนหัวเรือ คอยบอกทิศทางและตัดสินใจว่าจะไปทางไหน ต่อมาฝ่ายหญิงทำหน้าที่นำของทะเลขึ้นไปติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของ หรือไปซื้อขายสินค้ากับบุคคลภายนอก ขณะที่ฝ่ายชายนั่งรออยู่ในเรือ

              อย่างไรก็ตามสังคมชาวเลอูรักลาโวยจที่อยู่ในสายตระกูลเดียวกัน (ใช้นามสกุลเดียวกัน) และอาศัย ในชุมชนเดียวกันจะมีโต๊ะกาหมาด (โต๊ะมาจากคำว่าดาโต๊ะ แปลว่า ปู่ หรือ ตา) สถานที่เคารพที่เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจร่วมกัน และมี “โต๊ะหมอ” ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่สืบทอดอำนาจจากบรรพบุรุษ เป็นผู้นำกลุ่มทั้งทางโลกและทางธรรม เนื่องจากโต๊ะหมอเป็นทั้งผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา หมอรักษาโรค เป็นทั้งญาติผู้ใหญ่ที่คอยดูแลทุกข์สุขและตัดสินคดีความต่าง ๆ ในชุมชน โต๊ะหมอบางกลุ่มทำหน้าที่เป็น “โต๊ะบิดัด” หรือหมอตำแยด้วย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของภรรยาโต๊ะหมอ หรือโต๊ะบิดัดประจำกลุ่ม (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 46-47 , อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2545-2547 : 7-9) 

     

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    เสื้อผ้าและการแต่งกาย          

              จากการที่ชาวเลเป็นกลุ่มชนอิสระที่มีวิถีชีวิตเร่ร่อนกลางทะเลไม่มีการสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายที่เป็น อัตลักษณ์ประจำกลุ่ม เมื่อมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะลันตาด้วยอากาศร้อนชื้นและมีวิถีชีวิตสัมพันธ์กับทะเลพร้อมที่จะเปียกน้ำได้ทุกเวลา รวมทั้งข้อจำกัดด้านการเงินและแหล่งจำหน่าย จึงไม่นิยมสวมเสื้อผ้ามากชิ้น ส่วนใหญ่จะนุ่งผ้าผืนเดียว ผู้ชายนุ่งผ้าขาวม้าแบบชาวไทยพุทธ หรือนุ่งกางเกงแบบชาวจีน (กางเกงเล) ผ้าขาวม้าคาดเอว เปลือยท่อนบน ผู้หญิงนุ่งผ้าปาเต๊ะกระโจมอก ต่อมา เมื่อติดต่อสัมพันธ์และทำงานกับชาวจีน จะได้รับเสื้อผ้าตอบแทนเป็นสินน้ำใจบ้าง ซื้อจากร้านค้าในตลาดศรีรายาบ้าง หากต้องเข้ามาในตลาดศรีรายา หรือออกนอกชุมชนผู้หญิงนิยมสวมเสื้อและนุ่งผ้าปาเต๊ะแบบชาวจีนและชาวไทย ชอบสีสด ๆ แต่ไม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อผ้าและความกลมกลืนของสี ผู้ชายยังคงนิยมนุ่งกางเกงจีนหรือกางเกงเลผ้าขาวม้าคาดเอว สวมเสื้อบ้างบางโอกาสแต่ไม่นิยมติดกระดุมเสื้อ (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 203)

              ปัจจุบัน แม้การแต่งกายในชีวิตประจำวันของชาวเลอูรักลาโวยจกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชนจะไม่เปลี่ยนไปมากนัก แต่เมื่อออกไปติดต่อสัมพันธ์กับภายนอกจะพิถีพิถันขึ้น ส่วนเด็กรุ่นใหม่โดยเฉพาะสมาชิกกลุ่มวัยรุ่นจะรับวัฒนธรรมการแต่งกายที่ทันสมัยจากสังคมภายนอกได้อย่างรวดเร็ว ผู้ชายนิยมนุ่งกางเกงยีนส์ เสื้อเชิร์ต เสื้อฮาวาย หรือเสื้อยืดตามสมัยนิยม ส่วนผู้หญิงจะนุ่งกระโปรงหรือกางเกงหลากสี และสวมเสื้อตามสมัยนิยมที่ได้เห็นแบบอย่างจากดาราหรือผู้คนที่พบเห็นในโทรทัศน์

     

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    ที่อยู่อาศัย 

              ในกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เรือเป็นยานพาหนะสำหรับเดินทาง และเครื่องมือทำมาหากิน แต่สำหรับวิถีชีวิตชาวเลในอดีต เรือเป็นทั้งยานพาหนะสำหรับเดินทาง เป็นเครื่องมือทำมาหากิน เป็นบ้านพักเรือนนอน และเป็นศูนย์รวมเครือญาติ เนื่องจากขบวนเรือของกลุ่มเดียวกันจะเคลื่อนย้ายไปพร้อม ๆ กัน ไปไหนไปด้วยกัน จะแวะขึ้นฝั่งในช่วงฤดูฝน หรือมีพายุคลื่นลมแรง หรือต้องการน้ำจืดเท่านั้น เรือจึงเปรียบเสมือนเรือนตายด้วย

              เรือแบบดั้งเดิมของชาวเลมี 2 แบบ แบบแรก เป็นเรือไม้ระกำ จากบันทึกของ บรูเนอร์ สแตนตัน. (2550 : 314-316; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 203) เมื่อประมาณปี พ.ศ.2490-2493 (72-69 ปีที่แล้ว) ได้เล่าถึงเรือของชาวเลเกาะลันตาว่า “เห็นเรือหน้าตาแปลก ๆ ที่ทำด้วยไม้คอร์ก (ไม้ระกำ) ลำยาว ๆ ลำหนึ่งมาจอดเกยตรงหน้าหาด เรือลำนั้นหนักเพียบเสียจนกระทั่งมองออกไปแล้วดูเหมือน พวกยิปซีน้ำและหัวหน้าของเขากำลังนั่งอยู่ในทะเลอย่างไรอย่างนั้น” เรือไม้ระกำดังกล่าวใช้ไม้ตีนเป็ดซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนทำกระดูกงู และใช้ไม้ระกำตากแห้งทำกราบเรือทั้งสองข้าง แล่นด้วยใบหรือกรรเชียง ส่วนเรืออีกแบบ เป็นเรือขุดด้วยไม้ตีนเป็ดทั้งต้นขนาดเล็กใช้กรรเชียงเช่นกัน ต่อมาเปลี่ยนไปใช้เรือปูเลา (ปลาฮู ปูเลา) หรือเรือเหลา ทำด้วยไม้กระดาน และแจวคู่ ปัจจุบันเรือขุดเลิกใช้ไปแล้ว ส่วนเรือไม้ระกำ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชาวเล ยังคงพบเห็นเฉพาะเรือลาจัง (ปลาจั๊ก) เรือจำลองที่ใช้ในพิธีลอยเรือเท่านั้น แต่รูปลักษณ์ของเรือต่างกัน เรือที่ใช้ในชีวิตประจำวันปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เรือปูเลา ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบเป็นเรือหัวโทงและใช้เครื่องเรือหางยาวแทนกรรเชียงและแจวคู่

              เมื่อชาวเลขึ้นมาสร้างเพิงพักชั่วคราวริมทะเล จะสร้างเป็นกลุ่มใกล้ ๆ กัน ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ เช่นวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ผูกพันเป็นญาติพี่น้องกันหมด เคยล่องเรือไปด้วยกันเป็นขบวน พื้นที่ริมทะเลค่อนข้างจำกัดและความจำเป็นในการต้องพึ่งพาอาศัยกันในชีวิตประจำวัน เช่น การพึ่งพาในการดูแลเรือ เข็นเรือ วิดน้ำเรือ หรือยามเจ็บไข้ไม่สบาย ต่อมาเมื่อเปลี่ยนไปสร้างบ้านค่อนข้างถาวร เลียนแบบบ้านของชาวมุสลิม เป็นบ้านชั้นเดียวยกพื้นเตี้ย ๆ หลังเล็ก ๆ ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น โครงสร้างของบ้านทำด้วยไม้กลม ฝาบ้านทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ หลังคามุงจาก มีทางขึ้นลงทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีบานประตูสำหรับเปิดปิด เนื่องจากไม่มีการสะสมทรัพย์สิน ต่อมา เมื่อไฟฟ้าและถนนเข้าถึงชุมชน เตาแก๊ส หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ตู้เย็นโทรทัศน์เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน บ้านที่อยู่บนเนินเปลี่ยนไปก่ออิฐถือปูน หลังคามุงสังกะสี หรือกระเบื้อง มีบานประตูหน้าบ้านและหลังบ้านเพื่อป้องกันขโมย แต่ยังคงเป็นบ้านชั้นเดียว ส่วนบ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ริมฝั่งทะเล ยังคงใช้ไม้หรือแผ่นกระเบื้องเรียบทำฝาบ้าน เสาบ้านยื่นลงไปในทะเลบริเวณที่น้ำท่วมถึง พื้นบ้านยกสูงเหนือน้ำระดับเดียวกับถนนหน้าบ้านเหมาะแก่การจอดเรือและเฝ้าเรือ

              หลังภัยพิบัติสึนามิ เมื่อองค์กรเอกชน เข้ามาสร้างบ้านให้ใหม่บนเนินสูง ลึกขึ้นไปจากชายฝั่งทะเล และใช้รูปแบบบ้านที่ถูกกำหนดมาจากภายนอก ทำให้อัตลักษณ์ของรูปแบบบ้านและพื้นที่ตั้งบ้านเรือนเปลี่ยนไป ไม่สัมพันธ์กับประโยชน์ใช้สอย (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 204)

              การเลือกทำเลสร้างที่พักในกลุ่มชาวเลอูรักลาโวยจเดิม คำนึงถึงความสะดวกในการดำรงชีวิตและความเหมาะสมของพื้นที่มากกว่าความเชื่อเรื่องทิศทาง และสิ่งเหนือธรรมชาติต่าง ๆ แต่หลังจากมีการสร้างบ้านพักถาวร จะรับวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างที่พักอาศัยจากกลุ่มชาวมุสลิม ชาวจีน และชาวไทยพุทธที่อยู่ใกล้เคียง เช่น การสร้างบ้านมีการวางเสาเอกตามพิธีทางศาสนาอิสลาม โดยผูกผ้าแดง รวงข้าว ดอกไม้ และลูกมะพร้าว 1 ลูกไว้บนปลายเสาและไม่ว่าบ้านจะวางในทิศทางใด แต่การวางตำแหน่งหัวนอนจะต้องไม่หันไปทางทิศตะวันตก เพราะเชื่อว่าเป็นทิศที่ฝังศพคนตาย ตามหลักศาสนาอิสลาม ภายในบ้านส่วนหน้าจะมีการวางกระถางธูปและรูปถ่ายของบรรพบุรุษ หรือญาติที่เสียชีวิตแบบชาวจีน และมีถ้วยกำยานแบบชาวมุสลิม บางบ้านจะมีศาลพระภูมิเจ้าที่ไว้หน้าบ้านด้วย (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 42)

     

  • อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    อาหาร 

              อาหารหลักของชาวเล คือ อาหารทะเล ประเภทกุ้ง กั้ง หอย ปู ปลา เพรียงทะเล และปลาหมึก ฯลฯ ไม่มีข้อห้ามใด ๆ ในเรื่องอาหารการกิน และปรุงอาหารด้วยวิธีง่าย ๆ เมื่อได้อาหารทะเลมาก็จะต้ม ย่าง หรือเผา หอยบางชนิด จะกินสด ๆ ก็ได้ ปรุงให้สุกก็ได้ เช่น หอยตีเตบ (หอยติบหรือหอยนางรมเล็ก) นอกจากอาหารทะเลแล้วข้าวได้กลายเป็นอาหารหลักของชาวอูลักลาโว้ยมาช้านานหลังจากที่ติดต่อกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อูรักลาโวยจบนเกาะลันตา เคยเรียนรู้วิธีการปลูกข้าวไร่และทำนา มาหลายชั่วอายุคน แต่ปัจจุบันเลิกไปแล้วมีเพียงหลักฐานยุ้งข้าวและที่นาแต่ยังคงบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักควบคู่กับอาหารทะเลและสัตว์ทุกชนิดที่หาได้และรู้จักปรุงอาหารประเภทแกง ผัด และทอด อาหารประเภทผัก จะเก็บยอดผักที่หาได้ในชุมชน ส่วนผักอื่น ๆ ซื้อจากร้านค้าที่นำเข้ามาขาย ในอดีตไม่มีการแบ่งมื้ออาหารจะหุงข้าวทิ้งไว้หิวเมื่อไหร่ก็กินเมื่อนั้น พวกเขาสามารถอดอาหารได้ทั้งวัน หรือกินอาหารได้ตลอดทั้งวัน เพราะออกทะเลเวลาไม่แน่นอน

              มะพร้าว เป็นพืชหลักที่สำคัญในชีวิตประจำวันอีกอย่างหนึ่ง อูรักลาโวยจจะใช้มะพร้าวเป็นส่วนประกอบหลักในการปรุงอาหารคาวหวาน ตลอดจนใช้ประโยชน์สารพัดจากส่วนต่าง ๆ ของต้นมะพร้าว และมะพร้าวยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีฝังศพ และขึ้นบ้านใหม่ ซึ่งน่าจะรับวัฒนธรรมมาจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่เป็นเพื่อนบ้าน บรรพบุรุษของพวกเขาเล่ากันมาว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดโรคระบาดล้มตายไปจำนวนมาก ต้องอพยพหนีไปอยู่ตามเกาะขาดแคลนอาหาร ที่รอดชีวิตมาได้เพราะกินมะพร้าว ในอดีตเมื่อมีประเพณีลอยเรือ การแก้บน หรืองานแต่งงานจะทำขนมที่มีส่วนผสมประเภทแป้ง น้ำตาลและมะพร้าวหรือกะทิเพื่อใช้ในพิธีด้วยปัจจุบันส่วนใหญ่จะซื้อสำเร็จรูปแต่ก็มีบางแห่งที่ยังทำอยู่

              เหล้าขาวเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันอีกอย่างหนึ่ง ในงานฉลอง และพิธีกรรมทางความเชื่อหลังจากปฏิสัมพันธ์กับชาวจีน ด้วยเหตุผลที่ว่าจะได้มีแรงทำงาน หรือเมื่อกลับจากทำงานรู้สึกปวดเมื่อยตัวเมื่อดื่มเหล้าขาวจะสบายตัว (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 71-72)

     

  • ประเพณีและเทศกาลสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม 

              ประเพณีแต่งเปรว (เปอตัดเยลัย) ชาวเลอูรักลาโวยจบนเกาะลันตาจะมีประเพณีตกแต่งหลุมฝังศพและเซ่นไหว้บรรพบุรุษซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเพณี “เช็งเม้ง” ของชาวจีน พิธีแต่งเปรวหรือหลุมฝังศพหินทรายจะทำในเดือน 4 ส่วนเปรวบ้านเก่าจะทำในเดือน 5 ของทุกปี ปัจจุบันชาวเลได้ย้ายเปรวบ้านเก่ามาไว้ใกล้ศาลโต๊ะ อาโฆ๊ฮฺเบอราตัย ทางทิศเหนือของชุมชนในวันพิธีช่วงเช้าผู้ชายจะดายหญ้าตกแต่งหลุมฝังศพ ผู้หญิงเตรียมทำขนมไปเซ่นไหว้ ไปร่วมพิธีในตอนบ่าย สำหรับเปรวบ้านเก่า ในช่วงบ่ายมีการร้องรำทำเพลงและเลี้ยงข้าวปลาอาหาร ดื่มเหล้ากันด้วย (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 194)

              ประเพณีลอยเรือปลาจั๊ก (เปอ-ลาจั๊ก หรือลาจัง) เป็นประเพณีความเชื่อที่ชาวเลอูรักลาโวยจให้ความสำคัญมากที่สุด และถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือวันขึ้น 13 ค่ำ-แรม 1 ค่ำ เดือน 6 เมื่อเริ่มมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือ “ลมพลัด” และวันขึ้น 13 ค่ำ-แรม 1 ค่ำ เดือน 11 เมื่อเริ่มมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “ลมออก” โดยมีจุดประสงค์ที่จะสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับไป “ฆูนุงฌึรัย” ซึ่งเชื่อว่าเป็นบ้านเมืองเดิมของบรรพบุรุษ และส่งสัตว์ที่ฆ่ากินเป็นอาหารกลับไปให้เจ้าของเดิมเพื่อไถ่บาป

              “ฆูนุงฌึรัย” หรือภูเขาต้นไทร หมายถึงเทือกเขาที่อยู่ในเมืองไทรบุรี ซึ่งเดิมเป็นของไทย ปัจจุบัน คือรัฐเกดะห์ ขึ้นอยู่กับประเทศสาธารณรัฐมาเลเซีย (อ่วม รัตนประทุม. สัมภาษณ์ : 20 สิงหาคม 2549 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 194). คนไทยในไทรบุรีเล่าว่า “ที่ไทรบุรีเมื่อก่อน มีชาวเลโอรังลาอุ๊ต (อูรักลาโวยจ) อาศัยอยู่มาก ทุกวันนี้ เป็นมุสลิมไปหมดแล้ว เพราะมี “ธรรมทูต” ชาวมุสลิมชักชวนให้นับถือศาสนาอิสลาม มีสมาคมให้ทุนการศึกษา สร้างบ้านให้อยู่ และอบรมให้ความรู้เรื่องศาสนาจนกลมกลืนเข้าด้วยกัน”

              ในช่วงที่มีพิธีลอยเรือชาวเลอูรักลาโวยจทุกคนจะต้องมาร่วมงาน ดังเช่น ในพิธีลอยเรือของชาวเลอูรักลาโวยจบ้านหัวแหลมกลางและบ้านสังกาอู้ บนเกาะลันตา จัดขึ้นที่บ้านหัวแหลมกลาง อูรักลาโวยจทุกครอบครัวจากทั้งสองชุมชนจะต้องหยุดงานมาร่วมฉลอง มีการดื่มเหล้า ร้องรำทำเพลงตลอด 3 วัน 3 คืน ในอดีตช่วงเวลาดังกล่าวคลื่นลมแรงเรือเล็กไม่สามารถออกทะเลได้จำเป็นต้องหยุดงานอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันใช้เรือหางยาวลำใหญ่ ใครที่ต้องการออกทะเลวางอวน อนุโลมให้บริจาคเป็นเงินหรือเหล้าแทนการเข้าร่วมได้ พิธีลอยเรือของแต่ละแห่งจะจัดไม่พร้อมกันเพื่อให้ญาติพี่น้องจากชุมชนอื่นบนเกาะลันตา และเกาะอื่น ๆ เช่น เกาะจำ เกาะพีพี เกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะและเกาะภูเก็ต มาร่วมงานด้วย

              ในพิธีลอยเรือปลาจั๊กที่บ้านหัวแหลมกลาง เกาะลันตานี้ มีกิจกรรมและพิธีกรรมซับซ้อนหลายขั้นตอน เริ่มจากสมาชิกที่มาร่วมงานช่วยกันการสร้างและซ่อมแซมที่พักชั่วคราว (ซาเราะ) การเตรียมสถานที่ อุปกรณ์และทำขนมเครื่องเซ่น หลังจากนั้นทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ “โต๊ะกรามั้ย” พิธีตัดไม้ (ไม้ระกำและไม้ตีนเป็ด) นำกลับมาแห่รอบศาลบรรพบุรุษ (โต๊ะอาโฆฮฺเบอราตัย) พิธีต่อเรือปลาจั๊ก พิธีฉลองเรือ พิธีสาดน้ำ (เลฮฺบาเลฮฺ) พิธีลอยเรือ พิธีตัดไม้ทำไม้กันผี (ไม้ตีนเป็ด)  พิธีปักไม้กันผี (กายูพาฮาดั๊ก) พิธีฉลองไม้กันผีและพิธีทำน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์และทำขวัญ ความซับซ้อนของพิธีกรรมแต่ละขั้นตอนดังกล่าวบ่งบอกถึงการให้ความสำคัญและความตั้งใจของเจ้าของวัฒนธรรมในการประกอบพิธีกรรม

              ปราฮู ปลาจั๊ก หรือปราฮู ลาจัง เรือที่ชาวเลใช้ในพิธีลอยเรือเป็นเรือต่อด้วยไม้ระกำเป็นรูปย่อส่วนของเรือสำเภาขนาดใหญ่ หัวแหลม ท้ายยกสูงโค้งมน แล่นใบ ติดแจวข้าง 7 คู่หรือ 12 คู่ เป็นเรือที่งดงามมาก จากการศึกษาพบว่ามีลักษณะคล้ายเรือใบขนาดใหญ่ของอินโดนีเซียที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์) ซึ่งมีหัวเรือแหลมยาวยื่นไปข้างหน้า เรียกว่า Perahu Pinisi หรือ Kapal Pinisi แต่ อัมรี (Amri Sidik. Interviewee : March 30, 2008 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 195). ไกด์ชาวอินโดนีเซียและเพื่อน ๆ ชาวเรือ มีความเห็นว่า “ปราฮู ลาจัง” น่าจะมาจาก คำว่า Perahu Layar ในภาษาอินโดนีเซีย หมายถึง เรือใบขนาดเล็ก ซึ่งใช้กันในแถบทะเลอินโดนีเซียในอดีต แต่จากภาพเขียนและเรือใบจำลอง ที่เป็นสัญลักษณ์ของอินโดนีเซีย ซึ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เมืองมากัสซ่าไม่ปรากฏว่ามีกรรเชียง 7 คู่ หรือ12 คู่ บริเวณแคมเรือทั้งสอง ทำนองเดียวกันในภาษามลายู คำว่า “ลาจัง” หมายถึง “เรือใบ” แต่รายละเอียดของรูปแบบเรือแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามพบว่ารูปแบบเรือ “ปลาฮูปลาจั๊ก ของชาวเลอูรักลาโวยจเกาะลันตา จะใกล้เคียงกับเรือใบเสาเดียวของชวา (Javanese fusta) ซึ่งเป็นเรือโบราณที่ใช้ทั้งใบทั้งพายเหมือนเรือที่ใช้ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่เรือปลาจั๊กมี 2 เสา (Kemp. 2002 : 68-69 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 195)

              ในบทเพลงที่ชาวเลเกาะลันตาร้องขับในพิธีลอยเรือ กล่าวถึง “อาเจ” หรือ “เรือแห่งอาเจ (อาเจ๊ะ)” นอกจากนั้นบันทึกของ สมิธ (ธนัญญา ทองซ้อนกลีบ.(ผู้แปล) 2539 : 185-187; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 195) มีภาพลายเส้นรูปเรือของโอรัง เล้าท์ หรือ โอรังลาอุ๊ต (Urang Laut) มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาฮูลาจัง หรือปลาจั๊กของชาวเลอูรักลาโวยจ

              รูปแบบของเรือลาจัง หรือปลาจั๊กซึ่งไม่เคยมีใช้ในน่านน้ำไทย จึงมีข้อสรุปได้ว่าเป็นเรือแบบอุดมคติที่ชาวเลสร้างขึ้น โดยอาจจะประสมประสานรูปแบบของเรือใบท้องถิ่นเข้ากับรูปแบบของเรือยุโรปยุคล่าอาณานิคมนั่นเอง

              ประเพณีลอยเรือ จึงน่าจะมีมาก่อนที่อูรักลาโวยจจะอพยพเข้ามาในเขตประเทศไทยและอาจจะมีการประดิษฐ์เรือลาจัง หรือปลาจั๊ก เลียนแบบเรือที่ใช้ทำสงครามในมะละกา ในช่วงที่เร่ร่อนบริเวณเทือกเขา “ฆูนุงฌึรัย” แต่หากพิจารณาถึงความซับซ้อนของพิธีกรรมในประเพณีลอยเรือ ความงดงามของลวดลาย และความประณีตของงานศิลปะการต่อเรือ ตลอดจนสัญลักษณ์และการให้ความหมาย ของวัตถุที่บรรจุในเรือแต่ละชิ้น ลักษณะเฉพาะของดนตรี บทเพลงรำมะนา และท่ารำบ่งบอกว่า งานศิลปะเหล่านี้มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ แต่ได้ผ่านขบวนการสร้างสรรค์ สืบทอด ปรับเปลี่ยน และสั่งสมมาเป็นเวลายาวนานจนกระทั่งกลมกลืนกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของกลุ่ม ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาน่าจะเคยเร่ร่อนแถบน่านน้ำอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเมืองที่มีความเจริญมาก่อน และชื่อเรือน่าจะมาจากคำว่า “Perahu Layar” ตามภาษาอินโดนีเซีย หรือ “Prahu Lacang”ในภาษามลายู 

              ส่วนวัตถุประดิษฐ์ในพิธีลอยเรือ แสดงถึงร่องรอยหลักฐานของอัตลักษณ์ทางวัตถุที่สูญหายไปจากวิถีชีวิตของอูรักลาโวยจ เช่น ไม้ระกำที่ใช้ประดิษฐ์เรือปลาจั๊กเคยใช้เป็นวัสดุสำหรับต่อเรือที่ใช้ในชีวิตประจำวันในอดีต ชิ้นส่วนวัตถุประดิษฐ์ด้วยไม้ระกำที่บรรจุในเรือลาจังบางชิ้น เช่น ซัมปัง (ฉมวก) เป็นเครื่องมือแทงปลาเพื่อยังชีพ ปัจจุบันเปลี่ยนไปจับสัตว์น้ำด้วยบูบู หรือไซดักปลา ประดิษฐ์กรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ เช่น แห อวน ระเบิด ฯลฯ ที่เรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเพื่อนำส่วนเกินไปจำหน่าย ฆ้องเครื่องมือสื่อสารประจำเรือ สำหรับส่งสัญญาณตามรหัสลับที่ตกลงกันไว้ เพื่อบอกกล่าวให้รับรู้ว่า “เป็นพวกเดียวกันเข้ามาได้” หรือ “มีภัยอันตรายให้รีบหนี” หรือ “ขอความช่วยเหลือ” ปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้วหลังจากที่เปลี่ยนวิถีชีวิตขึ้นมาตั้งถิ่นฐานบนบก (เหง็ม ทะเลลึก. สัมภาษณ์ : 6 พฤษภาคม 2549 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 196).

              ในบางขั้นตอนของพิธีกรรมลอยเรือมีร่องรอยที่บ่งบอกว่าในกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจมีความเชื่อเรื่องคู่ตรงข้ามที่ใกล้เคียงกับทฤษฎีคู่ตรงข้ามของ เลวี่ เสตร๊าส์ (Levi-Struss : 1963,1969 ; อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 196) เช่น เครื่องเซ่นที่มีไก่ดิบ-ไก่สุก แป้งดิบ 7 สี-ข้าวสุก 7 สี โดยให้เหตุผลว่าผีบรรพบุรุษมีทั้งที่ชอบกินของดิบและของสุก (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 171,197) และยังใกล้เคียงกับความเชื่อเรื่องคู่ตรงข้าม หรือหยิน-หยางของชาวจีน ที่ปรากฏในธรรมชาติและสัมพันธ์กับอาหารการกินในชีวิตประจำวันและการรักษาผู้ป่วย 

              นอกจากนั้น ในกลุ่มอูรักลาโวยจยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ หมายเลข 7 ที่อาจสืบเนื่องจากความเชื่อเรื่อง บุตร 7 คน ของโต๊ะอาดั๊บและโต๊ะสิตีฮาวา เช่น ในพิธีลอยเรือ ตัวเรือปลาจั๊ก หรือลาจัง ยาว 7 ศอก มีกรรเชียง 7 คู่ ไม้กันผี 7 ต้น ยาวต้นละ 7 ศอก บทเพลงรำมะนาที่ใช้ในพิธีลอยเรือและพิธีแก้บนเริ่มด้วยเพลงบรรพบุรุษ 7 เพลง ในบทเพลงกล่าวถึงการไว้เกลื้อน 7 ดอก และมีพิธีแก้บนด้วยการสร้างบ้าน 7 ชั้น เป็นต้น (อาภรณ์  อุกฤษณ์. 2532 : 211)

              ปัจจุบันรูปแบบและรายละเอียดของพิธีลอยเรือของอูรักลาโวยจแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป บางกลุ่มไม่จัดพิธีลอยเรือแล้ว เช่นที่เกาะบูโหลนเล และเกาะบูโหลนดอน (ธานี สิงขโรทัย.สัมภาษณ์ : 2559) ที่บ้านราไวย์ไม่มีพิธีลอยเรือแต่มีพิธีทำน้ำมนต์ (ชนะ หาดทรายทอง. สัมภาษณ์ : 2559) บ้านเกาะจำในอดีตไม่มีพิธีลอยเรือ มีแต่พิธีเซ่นไหว้โต๊ะบุหรง ปัจจุบันเปลี่ยนมาทำพิธีลอยเรือและเซ่นไหว้โต๊ะบุหรงพร้อมกัน (อูลิน ช้างน้ำ.สัมภาษณ์ : 2559) ที่แหลมตง เกาะพีพี เลิกทำพิธีลอยเรือมานานแล้วหลังจากที่โต๊ะหมอแต่งงานไปอยู่เกาะอื่น แต่ปัจจุบันได้กลับมาทำพิธีลอยเรืออีกโดยเชิญโต๊ะหมอจากเกาะลันตาไปประกอบพิธีให้ (พรสุดา ประโมงกิจ. สัมภาษณ์ : 2559)

              ประเพณีแลกเปลี่ยนสิ่งของและชิงเปรต อูรักลาโวยจดั้งเดิมบนเกาะลันตา จะนำของทะเลไปแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า อาหาร ของใช้ที่ต้องการกับชาวจีนในตลาดศรีรายา ในงานประเพณีวันสารทไทย หรือสารทเดือน10 ของชาวไทยพุทธ ก็เช่นกัน พวกเขาจะเดินทางขึ้นบกไปยังตัวเมืองกระบี่และอำเภอใกล้เคียง ล่วงหน้า 2-3 วัน เพื่อนำผลผลิตที่ได้จากทะเล เช่น ปลาเค็ม ปลาย่าง ปะการัง กัลปังหา เปลือกหอย ไข่มุก และกำไลกระ ฯลฯ ไปแลกกับเสื้อผ้า อาหารของใช้จำเป็นกับคนเมือง และไปร่วมพิธีชิงเปรต เพื่อเก็บขนมพอง ขนมลา ข้าวปลาอาหาร และเงินที่ชาวไทยพุทธนำไปตั้งไหว้เปรต ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน10 ในช่วงนี้คนเมืองจะเตรียมเสื้อผ้าอาหารมาบริจาคด้วย ในทัศนะของอูรักลาโวยจไม่ใช่เรื่องที่น่าอายเพราะเป็นน้ำใจที่คนรวยจะแบ่งปันช่วยเหลือ คนยากจน และเป็นความเชื่อว่าต้องไปรับบุญไม่เช่นนั้นวิญญาณบรรพบุรุษจะอดอยาก ไม่ได้กินบุญ แม้ชาวเลอูรักลาโวยจที่มีฐานะร่ำรวยก็ต้องมาร่วมในประเพณีนี้ ปัจจุบันอูรักลาโวยจผู้สูงอายุและเด็ก ๆ ยังคงปฏิบัติอยู่ แต่หนุ่มสาวรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่ไปร่วมแล้ว (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 197)นอกจากชาวเลอูรักลาโวยจบนเกาะลันตาแล้วกลุ่มอื่น ๆ ทั้งในจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และสตูล ก็เข้าร่วมพิธีประเพณีแลกเปลี่ยนสิ่งของและชิงเปรตตามวัดในตัวอำเภอ และตัวจังหวัดที่อาศัยอยู่ หรือเดินทางไปต่างจังหวัดก็มี แต่ปัจจุบันเดินทางไปเข้าร่วมน้อยลง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุและเด็ก ๆ เท่านั้น

      

  • ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

              ประเพณีแต่งเปรว (เปอตัดเยลัย) ชาวเลอูรักลาโวยจบนเกาะลันตาจะมีประเพณีตกแต่งหลุมฝังศพและเซ่นไหว้บรรพบุรุษซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเพณี “เช็งเม้ง” ของชาวจีน พิธีแต่งเปรวหรือหลุมฝังศพหินทรายจะทำในเดือน 4 ส่วนเปรวบ้านเก่าจะทำในเดือน 5 ของทุกปี ปัจจุบันชาวเลได้ย้ายเปรวบ้านเก่ามาไว้ใกล้ศาลโต๊ะ อาโฆ๊ฮฺเบอราตัย ทางทิศเหนือของชุมชนในวันพิธีช่วงเช้าผู้ชายจะดายหญ้าตกแต่งหลุมฝังศพ ผู้หญิงเตรียมทำขนมไปเซ่นไหว้ ไปร่วมพิธีในตอนบ่าย สำหรับเปรวบ้านเก่า ในช่วงบ่ายมีการร้องรำทำเพลงและเลี้ยงข้าวปลาอาหาร ดื่มเหล้ากันด้วย (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 194)

             ประเพณีลอยเรือปลาจั๊ก (เปอ-ลาจั๊ก หรือลาจัง) เป็นประเพณีความเชื่อที่ชาวเลอูรักลาโวยจให้ความสำคัญมากที่สุด และถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือวันขึ้น 13 ค่ำ-แรม 1 ค่ำ เดือน 6 เมื่อเริ่มมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือ“ลมพลัด”และวันขึ้น 13 ค่ำ-แรม 1 ค่ำ เดือน 11 เมื่อเริ่มมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “ลมออก” โดยมีจุดประสงค์ที่จะสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับไป “ฆูนุงฌึรัย” ซึ่งเชื่อว่าเป็นบ้านเมืองเดิมของบรรพบุรุษ และส่งสัตว์ที่ฆ่ากินเป็นอาหารกลับไปให้เจ้าของเดิมเพื่อไถ่บาป 

     

  • การเกิดของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

              เมื่อสาวชาวอูรักลาโวยจตั้งครรภ์ถึงกำหนดจะคลอด “โต๊ะบิดัด” หรือหมอตำแยจะทำคลอดให้โดยใช้ไม้ไผ่เหลาบางตัดสายสะดือ และอาบน้ำเย็นก่อนอาบน้ำอุ่นให้เด็กดื่มน้ำผึ้งจนกระทั่งครบ 3 วัน เพื่อให้เด็กถ่ายของเสียออก แล้วให้ดื่มนมแม่จนกระทั่งหย่านมหลังคลอดได้ 3 วัน จะทำพิธีเซ่นไหว้ตายายและเลี้ยงฉลอง หรือ “ทำนู้หรี” โต๊ะบิดัดจะช่วยดูแลแม่และลูกในช่วงที่แม่อยู่ไฟ 7-9 หรือ 15 วัน ในช่วงนี้ผู้เป็นแม่จะต้องปฏิบัติตัวตามกฎข้อห้ามอีกหลายประการ เมื่อครบ 44 วัน พ่อแม่จะทำพิธีเซ่นไหว้ตายายอีกครั้ง

     

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    การแต่งงาน การหย่าร้าง

              ประเพณีการแต่งงานของอูรักลาโวยจผู้ชายจะเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อนำแรงงานเข้าบ้านเช่นเดียวกับสังคมเกษตรกรรมทั่วไป หนุ่มสาวชาวอูรักลาโวยจจะแต่งงานประมาณอายุ 14-18 ปี บางคู่จะมีการสู่ขอหมั้นและแต่งงานตามประเพณี แต่บางคู่อยู่กินกันก่อนจึงจัดพิธีแต่งงาน หรือพาหนีแล้วค่อยกลับมาขอขมา ก่อนพิธีหมั้น ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะไปขอถึง 3 ครั้ง หากได้รับการตอบรับจะไปขอหมั้น หรือ “ปากัยตูนัง” และนัดแนะวันแต่งงาน ก่อนแต่งงาน 3 วัน ฝ่ายชายจะต้องมาอาสางานบ้านผู้หญิง เช่น หาบน้ำ ผ่าฟืน ฯลฯ ในวันแต่งขบวนแห่จะให้เจ้าบ่าวขี่คอเดินวนซ้ายรอบบ้านเจ้าสาว 3 รอบ ก่อนย่างเข้าประตูผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะถามว่า “มีเรือไหม มีแหไหม มีซัมปัง (ฉมวก) ไหม”  หากเจ้าบ่าวตอบว่า “มี” ก็อนุญาตให้เข้าบ้านได้ ก่อนเข้าบ้านจะมีคนล้างเท้าให้ก่อนข้ามธรณีประตู เพื่อนเจ้าบ่าวจะนำเสื่อและหมอนไปวางในห้องเจ้าสาว เจ้าภาพจะปะแป้งให้แขกเหรื่อที่มาร่วมงานเลี้ยง บางแห่งจะมีการแจกบุหรี่คนละตัวเป็นของชำร่วยแก่แขกที่ให้เงินช่วยงาน

              เช้าวันรุ่งขึ้นแขกที่เหลือและพ่อแม่ญาติพี่น้องจะส่งตัวเจ้าบ่าวและเจ้าสาวลงเรือไปผจญภัยตามหมู่เกาะต่าง ๆ กลางทะเล พร้อมกับข้าวสาร น้ำจืดและเครื่องมือจับปลา เพื่อให้ฝ่ายชายพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถทำมาหาเลี้ยงภรรยาได้ ขาไปผู้ชายเป็นฝ่ายกรรเชียงเรือให้ผู้หญิงนั่งหัวเรือ ตอนขากลับหากผู้หญิงกรรเชียงเรือให้ผู้ชายเป็นฝ่ายนั่งหัวเรือ เป็นที่เข้าใจกันว่าทั้งคู่ได้เสียกันแล้ว หากตรงกันข้ามแสดงว่าผู้หญิงยังบริสุทธิ์ ระยะแรกที่แต่งงานกันสามีภรรยาจะนอนหมอนใบเดียวกัน หากนอนคนละใบแสดงว่าผู้หญิงไม่รักฝ่ายชาย (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 100)  

              พิธีแต่งงานของชาวเลอูรักลาโวยจแต่ละแห่ง ปัจจุบันปรับเปลี่ยนแตกต่างกันไปตามสังคมภายนอกที่ติดต่อสัมพันธ์ด้วย เจ้าบ่าวจะสวมสูท และเจ้าสาวสวมชุดเจ้าสาวแบบสากล และแต่งหน้าเช่นเดียวกับชาวไทยและ ชาวจีน มีการจัดงานเลี้ยงแขกเหรื่อที่ไปร่วมงาน บางกลุ่มมีการรดน้ำสังข์ด้วย ไม่มีการถามคำถามที่ว่า “มีเรือไหม มีแหไหม มีซัมปัง (ฉมวก) ไหม” และไม่มีการส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวลงเรือไปผจญภัยตามหมู่เกาะต่าง ๆ กลางทะเล เพื่อให้ฝ่ายชายพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถทำมาหาเลี้ยงภรรยาได้เหมือนในอดีต

    ประเพณีการหย่าร้าง

              สามีภรรยาชาวเลคู่ใดอยู่กินกันแล้วมีความขัดแย้งจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อีกต่อไปสามารถหย่าร้างกันได้ด้วยวิธีตกลงด้วยวาจา โดยนั่งหันหน้าเข้าหากัน แล้วผลัดกันพูดว่า “เกาตีดะสูกา กูตีดะสูกา กีตาเบอตางัน” หมายถึง เธอไม่รักฉันแล้ว ฉันไม่รักเธอแล้ว เราเลิกกันดีกว่า หลังจากนั้นหากไม่กลับมาคืนดีกันต่างฝ่ายมีสิทธิแต่งงานใหม่ได้ แม้ค่านิยมของชาวเล จะเข้มงวดในเรื่องการแตะเนื้อต้องตัว หรือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานแต่ทัศนะเกี่ยวกับแม่หม้าย จะน่าเห็นใจและน่าสงสาร มากกว่าเป็นเรื่องเสียหายหรือน่ารังเกียจ (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 101)

     

  • การตายและการทำศพของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    ความตาย และการทำศพ

              ชาวเลอูรักลาโวยจที่เกาะลันตา หากบ้านใดมีสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตจะก่อกองไฟไว้หน้าบ้าน และนำข้าวปลาอาหารวางไว้หน้ากองไฟตลอด 3 วัน 3 คืน หากเสียชีวิตในช่วงเช้าจะทำพิธีฝังศพตอนเย็น หากเสียชีวิตหลังเที่ยงวัน จะทำพิธีฝังในวันรุ่งขึ้นเช่นเดียวกับมุสลิม ในช่วงที่รอเวลา เจ้าภาพจะเลี้ยงข้าวปลาอาหารและเหล้าแก่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่นำข้าวสารน้ำตาลและสิ่งของจำเป็นมาช่วยงานและให้กำลังใจ ผู้ชายจะช่วยกันทำโลงศพ ซึ่งเดิมใช้ไม้ไผ่สานเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปัจจุบันใช้ไม้กระดานแบบโลงศพทั่วไป พิธีอาบน้ำศพ วางศพพาดลงบนตักลูก ๆ ที่นั่งเหยียดเท้าเรียงกันตามลำดับจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือ ศีรษะอยู่บนตักของลูกคนโตที่นั่งทางทิศใต้ ลำตัวอยู่บนตักลูกคนกลาง เท้าวางบนตักลูกคนเล็กทางทิศเหนือ หากไม่มีลูกจะเป็นหน้าที่ของญาติสนิท โต๊ะหมอจะทำพิธีอาบน้ำศพเป็นคนแรก ต่อด้วยญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เมื่อเสร็จพิธีลูก ๆ หรือญาติที่ประคองศพจะต้องล้างตัวด้วยน้ำมะนาวผสมใบสะบ้า เพื่อไม่ให้วิญญาณผู้ตายติดตัว ศพจะถูกทาแป้งแต่งตัวและทาน้ำมันหอมก่อนบรรจุในโลงศพที่ปูด้วยเสื่อ และใช้ผ้าขาวยาว 9 ศอกคลุมบนศพ นำข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตายบรรจุลงไปในโลงด้วย สำหรับเด็ก ๆ ที่เป็นลูกหลานจะใช้ผ้าขาวยาว 1 ศอก ที่เหลือฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผูกคอขณะยกโลงศพไปป่าช้าให้ลอดโลงศพคนละ 3 รอบ ขบวนแห่ศพไปฝังที่ชายทะเล เมื่อหย่อนโลงศพลงในหลุม ผ่ามะพร้าวที่เตรียมไว้ เป็น 2 ซีก ราดน้ำมะพร้าว ลงบนศพมะพร้าวซีกที่มีตา คว่ำลงบนตำแหน่งสะดือของศพ อีกซีกให้ลูกหลานไปกินที่บ้าน เมื่อโต๊ะหมอทำพิธีและญาติพี่น้องช่วยกันกลบหลุมแล้ว จะปลูกมะพร้าวอีกลูกที่มีหน่อไว้ปลายเท้าศพและให้ผู้ที่หามศพ จับคู่กันทีละ 2 คน ยืนหันหลังให้กันคนละฟากของปากหลุม ทำพิธีเวียนผ้าขาวม้า เป็นอันเสร็จพิธี ระหว่างทางกลับบ้านล้างมือล้างเท้า ด้วยน้ำผสมมะนาวและใบสะบ้าที่วางไว้ริมทางตอนขาไป และเด็ดใบไม้หรือดอกไม้ทัดหู เพื่อไม่ให้วิญญาณผู้ตายจำได้และติดตามกลับไปบ้าน หลังจากนั้นอีก 3 วัน จะเลี้ยงอาหาร ดับ  กองไฟ และทำบุญผู้ตายอีกครั้งในพิธีแต่งเปรวในเดือน 4 หรือเดือน 5 ปัจจุบันมีการวางรูปถ่ายหน้าโลงศพ และหลังจากดับกองไฟแล้ว นำรูปถ่ายไปวางบนหิ้งในบ้านพร้อมกับกระถางธูป ตามแบบอย่างของชาวจีน (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 107) 

              พิธีฝังศพของอูรักลาโวยจแต่ละชุมชนจะแตกต่างกันไปบ้าง เช่นที่แหลมตุ๊กแก จังหวัดภูเก็ต ญาติผู้ตายจะต้องนำของ 3 อย่างไป คือ หน่อมะพร้าว 1 หน่อ มะพร้าวปอกเปลือกแล้ว 3 ลูก และน้ำ 1 กะละมัง (สมัยก่อนจะผสมเปือกต้นสะบ้าลงในน้ำด้วย) เพื่อใช้สำหรับล้างมือล้างหน้าก่อนกลับบ้านหลังเสร็จพิธีฝังศพ  และผู้ไปร่วมพิธีฝังศพจะต้องพกของมีคมติดตัวไปคนละชิ้น เมื่อวางศพลงหลุม โต๊ะหมอผู้ประกอบพิธีจะผ่ามะพร้าว 2 ผล เทน้ำมะพร้าวบนโลงศพและคว่ำกะลามะพร้าวบนโลงศพ ตัวแทนผู้หามศพ 2 คน จะยืนตรงกันสองฝั่งปากหลุมโดยหันหลังให้กันแล้วทำพิธีเวียนผ้าชุบ (ผ้าขาวม้า) โดยส่งผ่านจากขาวมือของคนหนึ่งไปให้อีกคนหนึ่งด้วยมือซ้าย ซึ่งอีกคนจะรับด้วยมือขวาเช่นกัน แล้วส่งกลับมาให้คนแรกด้วยมือซ้าย จนครบ 3 รอบเพื่อให้ดวงวิญญาณของผู้ตายลืมเหตุการณ์สมัยยังมีชีวิตอยู่ จะได้ไม่มาหลอกหลอนลูกหลานหลังจากนั้นผู้หามทุกคนนั่งรอบปากหลุม โต๊ะหมอกำดินทั้งสองมือวางบนบ่าของผู้หาม ว่าคาถาแล้วซัดดินในมือลงในหลุมคนละ 3 ครั้ง จนครบทุกคน แล้วผู้มาร่วมพิธีช่วยกันหยิบดินโรยบนโลงศพเพื่อกลบดินให้สูงขึ้น พร้อมกับปลูกมะพร้าว 1 ต้น หลังจากนั้น 3 วัน หรือ 7 วัน ญาติพี่น้องก็มานำข้าวปลาอาหารมาทำบุญให้ผู้ตาย (พิมพิไล ตั้งเมธากุล. 2529 : 50,55 )

              ปัจจุบันชาวเลอูรักลาโวยจที่นับถือศาสนาพุทธจะนิมนต์พระไปสวดในงานศพด้วย ส่วนกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น ชาวเลเกาะปอ และเกาะบูโหลนจะปฎิบัติศาสนกิจและทำพิธีฝังศพตามหลักศาสนาอิสลามและกลุ่มที่นับถือคริสต์ก็จะทำพิธีตามหลักศาสนาคริสต์

     

     

  • ประเพณีเลี้ยงผีของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

              ประเพณีแลกเปลี่ยนสิ่งของและชิงเปรต  อูรักลาโวยจดั้งเดิมบนเกาะลันตา พวกเขาจะเดินทางขึ้นบกไปยังตัวเมืองกระบี่และอำเภอใกล้เคียง ล่วงหน้า 2-3 วัน เพื่อนำผลผลิตที่ได้จากทะเล เช่น ปลาเค็ม ปลาย่าง กัลปังหา ไข่มุก และกำไลกระ ฯลฯ ไปแลกกับเสื้อผ้า อาหารของใช้จำเป็นกับคนเมือง และไปร่วมพิธีชิงเปรต เพื่อเก็บขนมพอง ขนมลา ข้าวปลาอาหาร และเงินที่ชาวไทยพุทธนำไปตั้งไหว้เปรต ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ในช่วงนี้คนเมืองจะเตรียมเสื้อผ้าอาหารมาบริจาคด้วย ในทัศนะของอูรักลาโวยจไม่ใช่เรื่องที่น่าอายเพราะเป็นน้ำใจที่คนรวยจะแบ่งปันช่วยเหลือ คนยากจน และเป็นความเชื่อว่าต้องไปรับบุญไม่เช่นนั้นวิญญาณบรรพบุรุษจะอดอยาก ไม่ได้กินบุญ แม้ชาวเลอูรักลาโวยจที่มีฐานะร่ำรวยก็ต้องมาร่วมในประเพณีนี้ ปัจจุบันอูรักลาโวยจผู้สูงอายุและเด็ก ๆ ยังคงปฏิบัติอยู่ แต่หนุ่มสาวรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่ไปร่วมแล้ว (อาภรณ์  อุกฤษณ์. 2554 : 197)  

     

  • ประเพณีเซ่นไหว้บรรพชนของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

              เดิมอูรักลาโวยจอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันทำพิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษร่วมกัน เช่น ชาวเลบ้านหัวแหลมเกาะลันตา แยกย้ายกันอยู่ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้านหัวแหลมกลาง  กลุ่มอ่าวสังกาอู้  กลุ่มอ่าวบาเระ และกลุ่มอ่าวคลองปอ (ปัจจุบันย้ายกลับมารวมกับกลุ่มสังกาอู้) แต่ละกลุ่มจะมีวิญญาณบรรพบุรุษประจำชุมชนของตนเอง ต่างกลุ่มต่างทำพิธีเซ่นไหว้ปีละครั้ง (อาภรณ์  อุกฤษณ์. 2532 : 108) นอกจากนั้น ในอดีตเคยมีพิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษที่สิงสถิตอยู่ตามธรรมชาติ เช่น เจ้าทะเล เจ้าถ้ำ เจ้าเกาะ เจ้าแหลม ฯลฯ ก่อนหรือหลังพิธีลอยเรือในเดือน 6 และเดือน11 เพื่อร้องขอว่าเมื่อลมพลัด (ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้) หรือลมออก (ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ) พัดมาขอให้ลูกหลานหาปลาได้มาก ๆ อย่าเจ็บ อย่าไข้ และขอให้ปลอดภัยในการออกทะเล แต่ปัจจุบันพิธีนี้เลิกไปแล้ว (อาภรณ์  อุกฤษณ์. 2532 : 108) ชาวเลอูรักลาโวยจกลุ่มอื่น ๆ ก็ต่างมีบรรพบุรุษประจำกลุ่มเช่นกัน แต่เมื่อมีพิธีสำคัญ เช่น พิธีลอยเรือนอกจาก แต่ละกลุ่มจะเชิญบรรพบุรุษประจำกลุ่มของตัวเองมาร่วมในพิธีแล้ว ยังเชิญบรรพบุรุษของกลุ่มอื่นมาร่วมพิธีด้วย

     

     

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    ศาสนาและความเชื่อ

             จากความเชื่อดั้งเดิมของอูรักลาโวยจเป็นความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติและวิญญาณบรรพบุรุษที่ตายไป เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมทั่วไป เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับชาวไทย และชาวมุสลิม อูรักลาโวยจบางกลุ่มรับนับถือศาสนาอิสลามเรียกกันว่า “ชาวเลแขก” เช่น อูรักลาโวยจบนเกาะปอ และเกาะบูโหลน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อูรักลาโวยจ ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับศาสนาพุทธมากกว่าด้วยวิถีชีวิตที่อิสระทำให้ปฏิบัติตามหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามได้ยากอูรักลาโวยจส่วนใหญ่จึงไปวัดพุทธและหากมีใครถาม ก็จะบอกว่านับถือศาสนาพุทธ แม้จะไม่เคยมีกรณีอูรักลาโวยจบวชพระเหมือนชาวมุสลิมบนเกาะลันตา ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดด้านการอ่าน การท่องบทสวด และวัตรปฏิบัติ แต่ก็ไปทำบุญที่วัด ไหว้พระฟังธรรม และร่วมฟังพระสวดอภิธรรมในพิธีศพของชาวจีน ขณะเดียวกันสามารถอยู่ร่วมกับชาวมุสลิมได้โดยไม่มีความขัดแย้ง

              ส่วนศาสนาคริสต์ที่สัมพันธ์กับความเชื่อของชาวเลอูรักลาโวยจ เข้าใจว่าเป็นการแพร่กระจายผ่านศาสนาอิสลามซึ่งเชื่อว่ามีต้นกำเนิดจากแหล่งเดียวกันมาก่อน แล้วรับจากศาสนาคริสต์โดยตรงภายหลัง ดังเช่นปรากฏในตำนานที่สอดคล้องกันว่า พระเจ้าให้กำเนิดมนุษย์โลกคู่หนึ่ง คือโต๊ะอาดั๊บ (อาดัม) กับโต๊ะซิตีฮาวา (อีวา) แล้วทั้งคู่ให้กำเนิดมนุษย์หลายชาติหลายภาษา ต่อมามนุษย์เหล่านั้นได้ประพฤติผิดทำนองคลองธรรม จนกระทั้งพระเจ้าดลบันดาลให้น้ำท่วมโลก เหลือแต่นบีโน๊ะ (โนอาห์) และครอบครัวซึ่งต่อเรือขึ้นตามคำเตือนของพระเจ้า เมื่อน้ำแห้งแล้วลูกของนบีโน๊ะได้กลายเป็นผู้นำเผ่าพันธุ์มนุษย์ และมีลูกหลานสืบมา มีบุคคลสำคัญ 7 คน ที่เชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าองค์เดียวกันทั้งสิ้น แม้ว่าชื่อของบุตรทั้ง 7 คนของชาวคริสต์ และชาวมุสลิมแต่ละถิ่นแตกต่างกันไปบ้าง (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 93) และความเชื่อนี้ก็ได้ปรากฏในพิธีปักไม้กันผี 7 ต้น (คล้ายไม้กางเขน) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งในพิธีลอยเรือของชาวเลอูรักลาโวยจ และความเชื่อเกี่ยวกับหมายเลข 7 ในชีวิตประจำวันของชาวเลอูรักลาโวยจ (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2545-2547 : 27) ต่อมาจะมีกลุ่มบุคคลเข้าไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์โดยตรงในชุมชนชาวเลหลายแห่ง โดยเฉพาะในช่วงหลังจากประสบภัยสึนามิ ชาวเลหันไปนับถือศาสนาคริสต์โดยตรงมากขึ้น เนื่องจากไปร่วมกิจกรรมร้องเพลงและรับของแจกจากกลุ่มที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาแล้วได้รับการชักชวนให้เปลี่ยนศาสนา

              ความเชื่อดั้งเดิม ของชาวเลอูรักลาโวยจ จะผูกพันกับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและสิ่งเหนือธรรมชาติ ทั้งปวง นอกจากอูรักลาโวยจแต่ละกลุ่มจะมีผีบรรพบุรุษประจำกลุ่มที่ยึดถือร่วมกันแล้ว ยังมีผีบรรพบุรุษประจำชุมชนแต่ละชุมชนด้วย ซึ่งพวกเขาเชื่อกันว่า วิญญาณบรรพบุรุษเหล่านั้นจะสิงสู่อยู่ในตัวสัตว์ สถานที่ หรือสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ อย่างไรก็ตามแม้ชาวเลแต่ละกลุ่มจะมีผีบรรพบุรุษประจำกลุ่มแต่เมื่อทำพิธีต่าง ๆ เช่น พิธีลอยเรือ พิธีแก้บน ฯลฯ ก็จะเชิญผีบรรพบุรุษของแต่ละชุมชนและผีบรรพบุรุษประจำกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวมาร่วมในพิธีกรรมด้วย

              การเรียกชื่อวิญญาณบรรพบุรุษจะมีคำนำหน้าว่า “ดาโต๊ะ”หรือ “โต๊ะ” ซึ่งเป็นคำนับญาติที่ชาวเลและมุสลิมภาคใต้ใช้เรียก ปู่ ย่า ตา ยาย หรือผู้สูงอายุทั่วไป แล้วตามด้วยชื่อบรรพบุรุษ หรือ “กามัย” หรือ “กาหมาด” ซึ่งแปลว่า ศักดิ์สิทธิ์ ผีบรรพบุรุษประจำกลุ่มแต่ละกลุ่มจะมีตำนานความเป็นมาและความสามารถพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ดังรายละเอียดที่กล่าวไว้ในหัวข้อเกี่ยวกับตำนาน

              นอกจากนั้นยังมีความเชื่อในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีทั้งความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลังที่สัมพันธ์กับการทำมาหากิน ชีวิตประจำวัน และการรักษาพยาบาล ความเชื่อเหล่านี้บางส่วนเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ บางส่วนได้รับอิทธิพลความเชื่อของชาวจีน ชาวมุสลิมและชาวไทยที่ตั้งถิ่นฐานใกล้เคียงกันมาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม ดังเช่น

              ความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง ในกลุ่มชาวอูรักลาโวยจจะมีความเชื่อเกี่ยวกับวัตถุที่เป็นเครื่องรางของขลังซึ่งมีไว้ประจำบ้าน ประจำตัว หรือเป็นเครื่องเซ่นในพิธีกรรม เพื่อเป็นศิริมงคล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมภายนอกที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง เช่น การใช้หอยหนามแขวนไว้บนขอบประตูด้านบนหน้าบ้านและหลังบ้าน หรือใช้แผ่นทองเหลืองเล็ก ๆ ตอกไว้บนธรณีประตูทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน เพื่อให้หนามที่มีอยู่รอบตัวหอยหนาม หรือแผ่นทองเหลืองเป็นตัวสกัดกั้นไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้าบ้าน และมีการลงเสาเอกก่อนสร้างบ้านโดยใช้ลูกมะพร้าวผูกไว้ที่ปลายเสาลูกหนึ่งพร้อมผูกผ้าแดง รวงข้าว และดอกไม้ เป็นวัฒนธรรมที่รับมาจากชาวมุสลิม ชาวไทยพุทธ และชาวจีนที่อาศัยบนเกาะลันตา (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 95)

              ความเชื่อเรื่องการทำยาเสน่ห์ วิธีหนึ่งที่ปรากฏในกลุ่มชาวเลอูรักลาโวยจและชาวมุสลิมที่อาศัยในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยใช้น้ำตาปลาดุหยง หรือปลาพยูน ผสมกับส่วนผสมอื่น ๆ นำไปแตะบนร่างกายของเพศตรงข้าม เพื่อให้ผู้นั้นหลงรักและคิดถึงตน เชื่อว่าหากผู้ใดโดนเสน่ห์น้ำตาปลาดุหยงจะหลงใหลใฝ่ฝันถึงฝ่ายตรงข้ามจนไม่เป็นอันจะกินจะนอน ถึงกับต้องไปให้เห็นหน้า แม้ต้องว่ายน้ำข้ามทะเลไปก็ยอม ดังบทเพลงรองแง็งที่ร้องขับกันในกลุ่มชาวบ้านบนเกาะลันตาและหมู่เกาะใกล้เคียง ที่ว่า

    “หลบบ้านไม่รอดแล้วเด

    มาถูกเสน่ห์น้ำตาปลาดุหยง

    คดข้าวสักหวัก

    นึกถึงยอดรักกินข้าวไม่ลง

    มาถูกเสน่ห์น้ำตาปลาดุหยง

    กินข้าวไม่ลงสักคำเดียว” (อาภรณ์ อุกฤษณ์.2531 : 97)

     

              อีกวิธีหนึ่งเป็นการทำเสน่ห์โดยการใช้น้ำล้างหน้าตอนเช้าของผู้ที่ต้องการทำเสน่ห์มาเสกและประพรมบนร่างกายเพื่อปลูกเกลื้อน ผู้มีประสบการณ์เล่าว่าเกลื้อนเสน่ห์นี้หากเพศตรงข้ามที่ตนรักเห็นเข้าจะหลงใหลคลั่งไคลจนทุรนทุรายไม่แพ้เสน่ห์น้ำตาปลาดุหยง (ลู่ดน ทะลึก. สัมภาษณ์ : 2530 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 94)

     

     

              

    สุสานชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านหัวแหลมกลาง ปัจจุบันทำศาลาครอบหลุมฝังศพ  

    บางครอบครัวนำกระดูกผู้ตายบรรจุในบัวเหมือนชาวไทยพุทธ

     

  • ข้อห้าม ข้อปฏิบัติของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    ข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามทางวัฒนธรรม   

              ข้อห้ามสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ เมื่อสาวชาวเลอูรักลาโวยจตั้งครรภ์จะต้องปฏิบัติตนตามความเชื่อและข้อห้ามที่สืบทอดกันมา เช่น ห้ามอาบน้ำกลางคืน ห้ามลงไปเดินเล่นนอกบ้านหลังพระอาทิตย์ตกดินเพราะผีตายายจะติดตามตัวมา ระหว่างที่ตั้งครรภ์ 3-7 เดือน ห้ามฆ่าหรือทุบตีสัตว์ทุกชนิด ห้ามนั่งบนธรณีประตู ห้ามข้ามเชือกผูกหัวเรือ จะทำให้คลอดยาก ฯลฯ

              ข้อห้ามสำหรับเด็ก เด็กห้ามกินไข่จนกว่าจะคลานได้ และห้ามกินปลาจนกว่าจะพูดคำว่าปลา หรือ “อีกัด” ได้

              ข้อห้ามขณะสามีออกทะเล ภรรยาที่อยู่ที่บ้านห้ามขยับที่นอนสามี ห้ามเย็บผ้า ห้ามสระผม ห้ามนอนกลางวัน และห้ามกวาดขยะใต้ถุนบ้าน เพราะเชื่อว่าสามีจะประสบอุบัติเหตุ เมื่อลงจากบ้านไปทะเล หากมีคนนั่งขวางบันได เชื่อว่าเป็นการขวางลาภ จับปลาไม่ได้ (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 42)

              ข้อห้ามอื่นๆ เช่น ห้ามนั่งบนหินถ่วงไซ หรือหินลับมีด เพราะเชื่อว่า ก้นจะหนักหรือขี้เกียจทำงาน ห้ามออกจากครัวขณะหุงข้าวเพราะผีตายโหงจะลงโทษ ห้ามเด็ก ๆ เล่นริมหาดโดยเฉพาะ วันขึ้น 11-12 ค่ำ เพราะผีตายายจะติดตัวกลับมาบ้าน ห้ามทักหรือชี้เมื่อเห็นผีพุ่งไต้ หรือดาวตก จะทำให้เกิดอันตรายกับตัวเอง เป็นต้น (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 94-95, จรัส ง๊ะสมัน. 2534 : 43)

     

  • ผู้นำพิธี/ผู้ประกอบพิธีของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม

              ในระดับผู้นำกลุ่ม นอกจากจะมีผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากทางราชการแล้ว ชาวเลอูรักลาโวยจจะมี “โต๊ะหมอ” ซึ่งผู้นำกลุ่มที่ผ่านการเรียนวิชาทางด้านไสยศาสตร์ จนสามารถเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมได้และเป็นที่ยอมรับของสมาชิกในกลุ่ม

              โต๊ะหมอ เป็นผู้นำกลุ่มที่ได้รับเลือกจากสมาชิกในกลุ่มให้สืบทอดตำแหน่งและหน้าที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อมีกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับพิธีกรรมความเชื่อ สมาชิกในกลุ่มจะเชิญโต๊ะหมอไปเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม เช่น พิธีแก้บน พิธีศพ พิธีเกี่ยวกับการให้กำเนิดทารก พิธีลอยเรือ พิธีรักษาผู้ป่วย เป็นต้น นอกจากนั้นโต๊ะหมอยังมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลทุกข์สุข และแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนด้วย จึงนับว่า โต๊ะหมอเป็นผู้นำกลุ่มที่มีบทบาทหน้าที่ทั้งทางโลกและทางธรรม

              การปฏิบัติหน้าที่ของโต๊ะหมอจะมีผู้ช่วยที่มีความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน เช่น ผู้ช่วยฝ่ายจัดยาสมุนไพรตามคำสั่งของโต๊ะหมอ หมอตำแยซึ่งทำหน้าที่ทำคลอดให้สมาชิกในกลุ่ม ผู้ช่วยฝ่ายพิธีกรรมซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนโต๊ะหมอได้ (เฉพาะที่โต๊ะหมออนุญาตให้เป็นตัวแทน) และผู้ช่วยฝ่ายประสานงาน

              ทั้งนี้ ผู้ช่วยฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกในชุมชนจะให้ความเคารพและนับถือโต๊ะหมอทั้งในฐานะที่เป็นผู้อาวุโสที่มีความรู้ความสามารถและเป็นญาติผู้ใหญ่ด้วย เนื่องจากในชุมชนอูรักลาโวยจต่างก็มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกัน 

     

  • พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

              ศาลบรรพบุรุษประจำชุมชนจะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนชาวเลอูรักลาโวยจแต่ละแห่ง เช่น “ศาลโต๊ะ ฆีรี” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนอูรักลาโวยจ บ้านเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ และเกาะบูโหลน จังหวัดสตูล “ศาลโต๊ะบุหรง”เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนชาวเลอูรักลาโวยจบ้านเกาะจำ “ศาลโต๊ะอาโฆ๊ะบาตรัย” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนชาวเลอูรักลาโวยจบ้านสังกาอู้และบ้านหัวแหลมกลาง เกาะลันตา“ศาลโต๊ะบาหลิว”เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำชุนชนชาวเลอูรักลาโวยจบ้านโต๊ะบาหลิว บ้านในไร่ และบ้านศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ “ศาลโต๊ะตามี่” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนชาวเลอูรักลาโวยจบ้านแหลมตุ๊กแก  “ศาลโต๊ะบาลัย”เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนชาวเลอูรักลาโวยจบ้านราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เป็นต้น ส่วน “ศาลโต๊ะแซะ” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวภูเก็ต แต่ชาวเลอูรักลาโวยจบางกลุ่มนับถือและเชิญมาร่วมในพิธี ลอยเรือเพื่อปกป้องลูกหลานชาวเลด้วย เมื่อมีพิธีกรรมต่าง ๆ สมาชิกจะไปรวมตัวกันทำพิธีที่ศาลประจำกลุ่มของตนเพื่อบอกกล่าวและเชิญชวนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกลุ่มของตนและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนอูรักลาโวยจกลุ่มอื่น ๆ มาร่วมพิธี

     

    ศาลโต๊ะอาโฆ๊ะเบอราตัย สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประจำกลุ่มชาวเล

    บ้านหัวแหลมกลางและบ้านสังกาอู้  มีภาพลักษณ์เป็นงู

     

  • การทำนาย โหราศาสตร์/ไสยศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    การทำนายและโหราศาสตร์ 

              ในสังคมชาวเลอูรักลาโวยจ ซึ่งผูกพันกับความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ นอกจากโต๊ะหมอจะเป็นผู้นำทางความเชื่อและเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่นพิธีลอยเรือ พิธีแก้บน พิธีรักษาโรค ดูฤกษ์ยามในการสร้างบ้าน ฯลฯ ซึ่งในพิธีกรรมเหล่านี้โต๊ะหมอจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการติดต่อกับวิญญาณบรรพบุรุษ และวิญญาณที่เชื่อว่าสิงอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งมีผลต่อวิถีชีวิตของสมาชิกในกลุ่ม เพื่อสอบถามว่าต้องการอะไร จะให้ แก้บนด้วยอะไร  โต๊ะหมอจะมีความสามารถในการทำนายโชคชะตาของสมาชิกด้วย เช่น ในพิธีลอยเรือ ในช่วงที่ทำน้ำมนต์ แต่ละครอบครัวจะนำตุ่มใส่น้ำมาวางเรียงกันไว้ โต๊ะหมอจะจุดเทียน แล้วหยดลงไปตุ่มทีละตุ่มและทำนายว่าหลังจากผ่านพิธีลอยเรือแล้วครอบครัวของเจ้าของตุ่มจะมีวิถีชีวิตอย่างไร ซึ่งหากหยดเทียนไม่สวยก็จะหยดใหม่ 2-3 ครั้ง ก่อนจะทำนาย

     

  • การรักษาของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

              ประเพณีรักษาพยาบาลและการแก้บน ความเชื่อในกลุ่มชาวเล การเจ็บป่วย หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เช่น เกิดภัยพิบัติทางทะเล เกิดมรสุมไม่ตรงตามฤดูกาล ทำมาหากินฝืดเคือง หรือสมาชิกในชุมชนประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บ เชื่อกันว่าเป็นการลงโทษจากสิ่งเหนือธรรมชาติหรือผีบรรพบุรุษ ดังเช่น ที่แหลมตุ๊กแก เดิมอูรักลาโวยจเชื่อว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นสาเหตุมาจาก “ผีกิน” การรักษาพยาบาลจึงเป็นหน้าที่ของหมอผีประจำบ้าน ที่จะต้องปัดรังควานขับไล่ หรือทำพิธีเชิญให้ผีออกไป วิธีบำบัดรักษาส่วนมากใช้วิธีร่ายเวทย์มนต์คาถา เป่ามนต์บนศีรษะผู้ป่วย แล้วทำน้ำมนต์ให้ดื่มระยะเวลาในการรักษาใช้เวลา 3 วัน หยุด 1 วัน หากอาการมาทุเลาก็รักษาต่ออีก 3 วัน หยุด 1 วัน เป็นระยะ ๆ ไปเรื่อยจนกว่าอาการไข้จะหาย หรืออาจใช้วิธีเสกหมากเสกพลูให้กินหรือทา บางครั้งก็ใช้รากไม้ฝนกับน้ำแล้วทาตามร่างกาย หรือรักษาหลายวิธีผสมกันไป หากอาการไข้ไม่หายจึงนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัย (พิมพิไล ตั้งเมธากุล. 2529 : 37-38) ที่ชุมชนชาวเล เกาะลันตาก็เช่นกัน หากเด็กเจ็บไข้เล็กน้อย ปวดท้อง เป็นชันตุจะรักษากันเองด้วยการ เคี้ยวหมากพลูหรือใบไม้ พอกลงไปตรงที่เจ็บ และร้องขอต่อผีบรรพบุรุษไม่ให้ลงโทษเด็ก หากอาการป่วย หรือประสบเคราะห์ร้ายที่รักษาเองไม่ได้ก็ให้โต๊ะหมอรักษา โดยหยดเทียนเพื่อสื่อสารกับบรรพบุรุษ และทำน้ำมนต์ ให้ดื่มหรืออาบไล่ผีร้ายออกจากตัว หากเจอคนไข้หรือประสบภัยพิบัติที่ค่อนข้างหนัก โต๊ะหมอจะดูหยดเทียนว่าผีบรรพบุรุษคนใดต้องการอะไร และ บนว่าหากช่วยได้สำเร็จจะแก้บนด้วยการเล่นเพลงรำมะนาของบรรพบุรุษ 7 เพลง หรือเล่นรองแง็ง หรือโนรากาบงให้ดู หรือหากเด็กหายป่วยจะยกเป็นลูกบุญธรรมให้ใคร ฯลฯ และหากอาการป่วยหนักจนอาจถึงชีวิตหรือประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง เช่น โดนมรสุมกลางทะเลยังไม่กลับเข้าฝั่ง หรือเกิดโรคระบาด เกิดเหตุอาเพศในชุมชน ก็จะบนด้วยการทำ “รูมะปลีเมา” หรือสร้างบ้านจำลอง 7 ชั้น โดยใช้ไม้พังแหลลักษณะกลมและยาวทั้งต้น วางซ้อนขึ้นไปทีละคู่ สลับกันเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้เหลื่อมเล็กลงเรื่อย ๆ จนถึงชั้นที่ 7 จะเป็นที่นั่งสำหรับผู้ที่จะเข้าพิธีแก้บน ผู้ชายทำหน้าที่สร้างบ้าน ส่วนผู้หญิงจะทำขนมต้ม (ข้าวต้มลูกโยน) ผูกโยงไว้บนบ้านจำลองทั้ง 7 ชั้น ในงานพิธีจะมีการเลี้ยงฉลอง ร้องรำทำเพลงตลอดเวลา 1 วัน 1 คืน ก่อนเสร็จพิธี สมาชิกที่เข้าร่วมพิธีทุกคนจะตักน้ำมนต์ในตุ่มใหญ่ที่โต๊ะหมอเสกไว้ สาดไปที่ตัวผู้นั่งแก้บนบนบ้าน 7 ชั้น จนน้ำมนต์หมดตุ่ม พิธีนี้ปัจจุบันเลิกทำไปแล้ว มีการทำครั้งสุดท้ายประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว โดยนายเหง็ม ทะเลลึก เป็นผู้บนหลังจากมีการสร้างโรงพยาบาลรัฐขึ้นใกล้บ้านหัวแหลมกลาง โรคบางโรคที่โต๊ะหมอรักษาไม่หายก็จะแนะนำให้ไปหาหมอที่โรงพยาบาล (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 101-104)

     

  • ดนตรีและศิลปะการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

              ท่ารำประกอบบทเพลงรำมะนา คล้ายท่าทางของปูเหล็กไฟหรือปูหิน ดังปรากฏในตำนานท่ารำปูเหล็กไฟ ที่เล่ากันในกลุ่มอูรักลาโวยจเกาะลันตาว่า ชาติก่อนชาวเลอูรักลาโวยจเป็นนางรำของพระพุทธเจ้าบนสวรรค์ แต่เมื่อถึงเวลารำไม่ออกมารำตามเวลา มัวแต่เห็นแก่กิน จึงถูกสาปให้ลงมาเป็นอูรักลาโวยจ ก้มหน้าแทงปลาอยู่ในทะเล จนกระทั่งเห็นท่ายกก้ามของปูเหล็กไฟ (ปูหิน) จึงจำได้ว่าเป็นท่ารำในอดีต “โต๊ะลาแกกึตัมบาตู” ซึ่งมีอัตลักษณ์เป็นปูเหล็กไฟจึงเป็นต้นแบบท่ารำรำมะนาในพิธีลอยเรือตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และเชื่อกันว่าโต๊ะ ลาแกกึตัมบาตูเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาลอยเรือให้โต๊ะหมอด้วย (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 91)

              รองแง็ง เป็นวัฒนธรรมที่รับมาจากชาวมุสลิม และด้วยมีลักษณะการร้องรำทำเพลงคล้ายคลึงกับการเล่นรำมะนา จึงสามารถนำมาพัฒนา จนกระทั้งผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิต และมีคณะรองแง็งที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาวเลอูรักลาโวยจเอง บทเพลงรองแง็งของอูรักลาโวยจจะขับเป็นภาษามลายูกลาง เรียกว่า “ขับแขก” ศิลปินอูรักลาโวยจบ้านสังกาอู้ ที่มีชื่อเสียงในการขับเพลงรองแง็ง ในอดีต ชื่อ บุญเติม ทะเลลึก (สุวรรณกุล) ต่อมาย้ายไปอยู่เกาะหลีเป๊ะ แต่งงานกับคนไทย ส่วนนางรำ ชื่อแลอ๊ะ ทะเลลึก (หาญกล้า) ต่อมาแต่งงานกับชาวมุสลิม คณะรองแง็งของชา  เกาะลันตา ซึ่ง มีนักดนตรีและนางรำ จากสมาชิกชาวเกาะลันตาทุกกลุ่มชาติพันธุ์รวมทั้งชาวเลอูรักลาโวยจด้วย เคยได้รับความนิยมมาก ก่อนที่รำวงแพร่กระจายเข้าไปบนเกาะลันตา (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 204-205) ปัจจุบันโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเกาะลันตาหลังภัยพิบัติสึนามิ  ได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์การแสดงพื้นบ้านของอูรักลาโวยจด้วยการสร้างบ้านรองแง็งเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ และเป็นพื้นที่สำหรับ สืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้กับศิลปินรุ่นใหม่ และจัดหาเครื่องดนตรีให้ แต่ยังขาดผู้นำในการบริหารจัดการ จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่มีคณะรองแง็งที่สามารถรับงานแสดงทั้งในและนอกชุมชนได้ (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 205) บนเกาะหลีเป๊ะ และแหลมตุ๊กแกก็ยังมีวงรองแง็ง เล่นในโอกาสต่าง ๆ และเดินทางไปร่วมแสดงในงานรวมญาติของชาวเลที่จัดขึ้นทุก ๆ ปี

              รำวง ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคกลางที่อูรักลาโวยจรับเข้าไปใช้ในการร้องรำทำเพลง เพื่อความบันเทิงในงานแต่งงาน และงานพิธีลอยเรือควบคู่กับการเล่นรำมะนาในช่วงที่ประกอบพิธีกรรม ปัจจุบันยังคงเล่นอยู่ ทั้ง 2 อย่าง แต่เด็กวัยรุ่นนิยมชมชอบรำวงมากกว่า การรำวงจะมีดนตรีและนางรำผู้หญิงที่เปิดโอกาสให้ผู้ชายขึ้นไปโค้งเป็นคู่รำเช่นเดียวกับการรำรองแง็ง แต่บทเพลงรำวงเป็นภาษาไทย

              นอกจากนั้น จากคำบอกเล่า พบว่าในอดีตกลุ่มอูรักลาโวยจนิยมเล่นโนรากาบง มะโย่งและกาหยง หรือสีลัต ซึ่งเป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวมุสลิมด้วย

     

     

  • นิทานของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    นิทาน

              นอกจากตำนานดังกล่าวแล้วนั้น จรัส ง๊ะสมัน (2534 : 1003103, 119-206) ได้ศึกษาและบันทึกข้อมูลนิทานชาวเลอูรักลาโวยจ เกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะบูโหลนใหญ่ (เกาะบูโหลนเล) และเกาะบูโหลน (เกาะบูโหลนดอน) จังหวัดสตูล ไว้ถึง 82 สำนวน แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ นิทานประเภทคติ 14 เรื่อง ประเภทอธิบาย 9 เรื่อง ประเภทมุขตลก 39 เรื่อง ประเภทความเชื่อ 16 เรื่อง และประเภทภูมินามหรือกำเนิดสถานที่ 4 เรื่อง และจากนิทานชาวเล จังหวัดสตูลทั้ง 82 เรื่อง ได้วิเคราะห์ถึงภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมที่ปรากฏในเนื้อหา ดังเช่น

              ความเป็นมาของกลุ่มชน จากเรื่อง ม่วงทองปากกรัง หาดทรายดำ หินเชี่ยน ลักหมากและประไหมสุหรี ครอบครัวประชากร จากเรื่อง ผีทอดแห ไปซาบ กูจะกินมึง วัดรอย อ้ายบอด นางเรือ ได้ของดี ฯลฯการปกครอง จากเรื่อง แม็ดคอซา หวังขี้คร้าน นกยาง จงกับเสือ จับยักษ์ ฯลฯ เศรษฐกิจ จากเรื่อง ผีทอดแห ผีตกเบ็ด ชักเบน เมียเพื่อน คุ้ยบังคุ้ย ขุดไข่เต่า ลูกปูด ฯลฯ การคมนาคม จากเรื่อง หลามใหญ่ คลื่นสามพี่น้อง ปลาใหญ่ บ่าวอินเดีย ฯลฯ การศึกษาและภูมิปัญญา ไม่ได้สะท้อนให้เห็นระบบการศึกษาในโรงเรียนอย่างเด่นชัดแต่นิทานสะท้อนให้เห็นการศึกษาเพื่อเรียนรู้ระเบียบของสังคม การศึกษาคุณธรรมจริยธรรม จากเรื่อง หวังกอดนอ จงกับเสือ นายพราน ได้ของดี ขอทาน เภตรา สามเขย ร้อยเจ็ดปาเหนา ฯลฯ นอกจากนั้น นิทานชาวเล ยังสะท้อน ด้านภาษา การอนามัยและสาธารณสุข ศาสนาความเชื่อ ประเพณี ศิลปะและนันทนาการ 

     

  • ตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

              ตำนานความเชื่อ ที่กล่าวถึงในที่นี้เป็นตัวอย่างตำนานที่เล่ากันในกลุ่มชาวเลอูรักลาโวยจบนเกาะลันตาซึ่งเป็นกลุ่มที่อาศัยบริเวณหมู่เกาะลันตามายาวนานที่สุด และเนื่องจากชาวเลอูรักลาโวยจไม่มีภาษาเขียน การบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์เพื่อสืบทอดไปสู่ลูกหลานจึงผูกเรื่องเป็นตำนานเพื่อให้ง่ายแก่การจดจำและสะดวกในการสืบทอดต่อไป เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมทั่วไป และด้วยวิถีชีวิตที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติมากที่สุด มีความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติและผีบรรพบุรุษ จึงมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่ม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่มีตัวตน สามารถมองเห็นได้ ในรูปลักษณ์ของสัตว์บก สัตว์น้ำ ต้นไม้ ทะเล และสถานที่บนเกาะและหมู่เกาะใกล้เคียงมากที่สุด ดังตัวอย่างตำนานที่บันทึกจากคำบอกเล่าของชาวเล อูรักลาโวยจบนเกาะลันตา และหมู่เกาะใกล้เคียง เช่น 

              ตำนานโต๊ะอาโฆ๊ฮฺเบอราตัย หรือโต๊ะแหลมทอง เดิมเป็นจอมปลวกและมีงูตัวใหญ่เลื้อยมาขดตัวเป็นประจำ เชื่อกันว่าโต๊ะอาโฆ๊ฮฺเบอราตัย สิงสถิตในตัวงู ชาวบ้านหัวแหลมจึงร่วมใจกันสร้างศาลให้เป็นที่อยู่ ในอดีตชาวมุสลิม ที่มีสวน มีนา บริเวณนั้นจะร่วมกันจัดงานฉลองด้วย แต่ปัจจุบันเลิกทำไปแล้ว หลังจากนั้นมีการทำพิธีเชิญวิญญาณมาสิงสถิตร่วมกับศาลโต๊ะซิตีฮาวา เรียกกันว่า ศาลโต๊ะอาโฆ๊ฮฺเบอราตัย  าวเลอูรักลาโวยจยังคงทำพิธีไหว้ศาล และเวียนไม้ระกำก่อนทำพิธีลอยเรือ ในเดือน 6 และเดือน 11 ก่อนจะเกิดคลื่นยักษ์ สึนามิ ไม่นานนัก ชาวเลอูรักลาโวยจต้องย้ายศาลโต๊ะ อาโฆ๊ฮฺเบอราตัยและสุสานมาไว้ทางทิศเหนือของชุมชนบ้านหัวแหลมกลาง (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 87-88)

              ตำนานโต๊ะเมอเต็กฮูดือ เป็นผีบรรพบุรุษที่สิงสถิตอยู่ในแอ่งน้ำจืดในป่า บนเกาะลันตาระหว่างชุมชนบ้านหัวแหลมกลางและหัวแหลมสุด ตามตำนานเล่าว่า มีชายคนหนึ่งขึ้นไปตัดต้นเต่าร้างกินเป็นอาหาร ตอนขากลับขณะแบกต้นเต่าร้างจะไปลงเรือ ได้ผ่านแอ่งน้ำตาผุด (แอ่งที่มีตาน้ำไหล) แห่งหนึ่ง บังเอิญเท้าของชาย ผู้นั้นเหยียบพลาดลงไปในแอ่งน้ำนั้น แล้วปรากฏว่าตัวคนจมหายไปเหลือแต่ต้นเต่าร้างขวางแอ่งน้ำอยู่ จึงเชื่อว่าแอ่งน้ำนั้นเป็นที่สิงสถิตของโต๊ะเมอเต็กฮูดือ (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 87)

              ตำนานโต๊ะเบอแล็บบึรายุค (โต๊ะเบอแล็บโต๊ะฮา) ผีบรรพบุรุษผู้หญิงสิงสถิตอยู่ที่แหลมโตนด ซึ่งอยู่ปลายแหลมสุดของเกาะลันตา มีสัญลักษณ์เป็นแมงมุม นั่งแกว่งชิงช้าไม้ที่ผูกไว้กับยอดเขาสองลูก มีวิชาตัวเบา ไต่เชือกโยนตัวข้ามยอดเขาได้ เชื่อว่าเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาหมอตำแยให้โต๊ะบิดัด (หมอตำแย) ในพิธีลอยเรือ วงรำมะนาผู้หญิงจะเริ่มเล่นก่อนเพื่อเซ่นไหว้บูชาและเชิญวิญญาณของโต๊ะเบอแล็บโต๊ะฮาให้มาช่วยยกเรือข้ามภูเขาไปปล่อยในทะเล (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 88)

              ตำนานโต๊ะบุหรง เล่ากันว่าครั้งหนึ่ง ขณะที่บรรพบุรุษของอูรักลาโวยจเผชิญกับพายุคลื่นลมแรงกลางทะเล มีนกตัวหนึ่งบินมาเกาะเสากระโดงเรือ ทันใดนั้นพายุคลื่นลมก็สงบลงทันทีจึงเชื่อกันว่าโต๊ะบุหรง สิงสถิตใน ตัวนก สามารถห้ามลมห้ามฝนได้ และเป็นที่นับถือของอูรักลาโวยจทุกกลุ่มตามตำนาน ดังนั้นจึงแกะสลักรูปนก ไว้บนหัวเรือปลาจั๊ก หรือ ลาจัง ที่ใช้ในพิธีลอยเรือ และมีศาลโต๊ะบุหรงเป็นศาลบรรพบุรุษประจำกลุ่มอูรักลาโวยจบ้านเกาะจำ ซึ่ง ทั้งชาวเล ชาวจีน และชาวไทย บนเกาะจำนิยมไปกราบไหว้บนบาน เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีนของทุกปีชาวจีนจะนำหัวหมูไปเซ่นไหว้ที่ศาลโต๊ะบุหรงด้วย (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 88)

              ตำนานโต๊ะบิกง มีสัญลักษณ์เป็นปลาฉนาก มีเรื่องเล่าว่าชาวเลอูรักลาโวยจคนหนึ่งออกไปหาปลากลางทะเลลึก บังเอิญโดนมรสุม เรือล่มจมน้ำ ปรากฏว่าโต๊ะบิกงในร่างของปลาฉนากช่วยชีวิตไว้พามาส่งริมฝั่ง โต๊ะบิกงเคยปรากฏตัวให้เห็นในร่างของปลาฉนากตัวกว้างประมาณ 1 วา ยาวเท่าต้นมะพร้าว มีคนขึ้นไปขี่หลัง และให้หมากพลู ใบจากเป็นเครื่องเซ่น สมัยก่อนชาวเลอูรักลาโวยจบ้านบอแหนจะทำพิธีเซ่นไหว้โต๊ะบิกง ในวันขึ้น 11 หรือ 12 13 ค่ำ โดยใช้ หมาก พลู ข้าวสารหว่านลงไปริมแม่น้ำ ในช่วงนั้นหากปลาต่าง ๆ เช่น ปลาฉลาม ปลากระเบน หรือปลาอื่น ๆ เข้ามาในบริเวณนั้น ห้ามทำอันตราย และหากใครกินปลาเหล่านั้นเป็นอาหารจะต้องไถ่บาปในพิธีลอยเรือ ด้วยการส่งวิญญาณปลาเหล่านั้นคืนเจ้าของเดิม (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 90)

              ตำนานโต๊ะบาหลิว เป็นศาลบรรพบุรุษประจำบ้านบ่อแหน ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะลันตา มีสัญลักษณ์เป็นปลวก 3 ยอดติดกัน ต่อมาวิญญาณบรรพบุรุษมาเข้าฝันว่า จอมปลวกทั้ง 3 ยอดนั้น ยอดตรงกลาง คือโต๊ะบาหลิว ยอดทางซ้ายมือเป็นผู้หญิง คือ โต๊ะอาโฆฮฺเบอราตัย ขวามือเป็นผู้ชาย ชื่อ โต๊ะอีตับ ทั้งสองเป็นลูกศิษย์โต๊ะบาหลิวใครทำความผิดโต๊ะบาหลิวจะมอบหมายให้ โต๊ะอีตับลงโทษให้ไม่สบาย ปัจจุบันย้ายไปตั้งที่ศาลาด่าน (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 89)

              บรรพบุรุษเหล่านี้ อูรักลาโวยจบางกลุ่มเชื่อว่า มีความสัมพันธ์กัน เช่น อูรักลาโวยจบ้านบ่อแหนเชื่อว่า โต๊ะบาหลิ่ว เป็นต้นตระกูลของอูรักลาโวยจ โต๊ะแซะเป็นน้องชาย โต๊ะบุหรง โต๊ะอาโฆฮฺบึราตัย และโต๊ะอีตับ เป็นลูกศิษย์ (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 89) ฯลฯ บรรพบุรุษเหล่านี้จะปรากฏชื่อในบทเพลงที่ใช้ในพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และเชื้อเชิญให้มาร่วมพิธีกรรมและดูลูกหลานรำถวายในงานพิธีลอยเรือ

              ตำนานความเชื่อที่สัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น หรือรับอิทธิพลจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาวเลอูรักลาโวยจที่รับฟังจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น หรือจากการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมที่เหนียวแน่นกว่าส่งผลให้อูรักลาโวยจรับวัฒนธรรมความเชื่อจากต่างกลุ่มมาผสมผสานกับวัฒนธรรมความเชื่อของตนเอง เช่น

              ตำนานกำเนิดมนุษย์ของชาวเลมอเก็น มีตำนานเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกำเนิดมนุษย์ ซึ่ง Bernatzik (1958 : 40-41; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 8-9) บันทึกจากคำบอกเล่าของชาวเลมอเก็นที่อาศัยบริเวณหมู่เกาะมะริดว่า นานมาแล้วได้เกิดไฟล้างโลก เหลือไว้แต่ผู้หญิงคนหนึ่ง เมื่อผู้หญิงคนนั้นหันตะโพกไปทางทิศตะวันออกได้ให้กำเนิดคนผิวขาว หันตะโพกไปทางทิศเหนือให้กำเนิดพม่า หันตะโพกไปทางทิศตะวันตกให้กำเนิดชาวอินเดีย หันตะโพกไปทางทิศใต้ให้กำเนิดชาวจีน หันตะโพกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือให้กำเนิดชาวมาเลย์ หันตะโพกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือให้กำเนิดพวกกาลา (Indian Coolies) หันตะโพกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ให้กำเนิดออรัง ลอนตา หรือออรังลาอุต (อูรักลาโวยจ) และเมื่อหันตะโพกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ก็ให้กำเนิดมอเก็น (Moken) ต่อมาผู้หญิงผู้นี้ได้ขอร้องให้ยักษ์ใจดีตนหนึ่ง สร้างเกาะและสร้างโลกใหม่ให้มนุษย์โลกอาศัยอยู่จนทุกวันนี้ ตำนานนี้แม้ทิศทางสับสนแต่แฝงความเชื่อที่ว่า เดิมชาวเลมอเก็น และ อูรักลาโวยจ รวมทั้งมนุษย์เผ่าพันธุ์ต่าง ๆ มีบรรพบุรุษเดียวกัน แต่แตกแยกเผ่าพันธุ์ทิศทางที่อยู่อาศัยกันอย่างชัดเจนมานานแล้ว ที่สำคัญคือทัศนะของชาวเลมอเก็นที่ปรากฏในตำนาน ได้แยกกลุ่มชาวเลลอนตา หรือชาวเลอูรักลาโวยจเป็นอีกพวกหนึ่ง เป็นชาติพันธุ์ อื่นไม่ปะปนกับตน

              ตำนานกำเนิดอูรักลาโวยจ เล่ากันว่าบรรพบุรุษของอูรักลาโวยจเกิดจากลูกคนโต ในบรรดาลูก 7 คน ของโต๊ะอาดั๊บและโต๊ะสิตีฮาวา แต่มีนิสัยดื้อ เกเร ขี้เกียจเรียนหนังสือ จึงถูกไล่ให้ออกไปหากินกับทะเล ตำนานนี้ใกล้เคียงกับตำนานของชาวมุสลิมที่เชื่อว่า สืบเชื้อสายมาจากลูกคนโตของโต๊ะอาดัมและโต๊ะสิตีฮาวา และยังใกล้เคียงกับความเชื่อในศาสนาคริสต์ที่ว่า มนุษย์คู่แรกกำเนิด มาจากอาดัมและอีฟ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะรับอิทธิพลความเชื่อมาจากสายรากเดียวกัน หรืออูรักลาโวยจได้รับการครอบงำจากกลุ่มที่มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งกว่า (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 90)

              ตำนานอูรักลาโวยจเข้าแขก เล่าถึงประวัติอูรักลาโวยจที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามคือประมาณ 200-100 ปีที่ผ่านมา มีชาวมาเลเซียกลุ่มหนึ่งเข้ามาชักชวนให้อูรักลาโวยจนับถือศาสนาอิสลาม และสาปแช่งไว้ว่าหาก อูรักลาโวยจเปลี่ยนใจกลับไปกินหมูเหมือนเดิม ขออย่าให้รวมตัวกันได้ หากมีการก่อฝูงหรือรวมตัวกันขอให้มีอันเป็นไป จึงเชื่อว่าที่อูรักลาโวยจต้องอพยพหนีภัยกระจัดกระจายกันไปบ่อยครั้งในอดีตเพราะถูกสาป อีกสำนวนหนึ่งเล่าว่ามีแขกมาจากลังกาวี ชวนชาวเลเข้าแขก (เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม) แล้วสอนให้ทำไร่ เมื่ออิสลามคนนั้นหนีกลับบ้าน จึงแช่งว่าหากอูรักลาโวยจกลับไปกินหมู ให้ลำบาก 15 ปี ปัจจุบันเชื่อกันว่าพ้นคำสาปแช่งแล้วจึงมีความเป็นอยู่ดีขึ้น (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 91)   

              ตำนานโต๊ะแซะ ศาลศักดิ์สิทธิ์ของชาวภูเก็ต เชื่อว่าเป็นมุสลิมชาวชวา 3 น้อง ที่เดินทางจากมาเลเซียมาบุกเบิกตั้งชุมชนที่เกาะภูเก็ต (สิริพงษ์ มุกดา : ออนไลน์) ที่ศาลโต๊ะแซะมีรูปปั้นเสือหลายตัว ในตำนานของ ชาวภูเก็ตไม่ได้กล่าวถึงเสือ แต่โต๊ะแซะตามตำนานของชาวเลอูรักลาโวยจ (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 89) เล่ากันว่าเป็นน้องของโต๊ะบาหลิ่ว จะปรากฏตัวให้ลูกหลานกราบไหว้ในร่างของเสือ เมื่อมีการเข้าทรงม้าทรงจะแสดงกริยาคลาน 4 เท้าคล้ายเสือ ศาลโต๊ะแซะจะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะลันตา ในพิธีลอยเรือของชาวเลอูรักลาโวยจเกาะลันตา จะเชิญโต๊ะแซะมาร่วมพิธีด้วย เชื่อกันว่าโต๊ะแซะจะทำหน้าที่สำรวจและรายงานต่อผีร้ายว่าชุมชนอูรักลาโวยจกลุ่มไหนได้ทำบุญให้แล้ว และหากชุมชนใดไม่ทำบุญจะถูกลงโทษ หลังจากเสร็จพิธีลอยเรือก็จะนำไม้กันผี 7 ต้น ไปปักในชุมชนอูรักลาโวยจ 7 ทิศ เว้นทิศตะวันตกไว้เพื่อเปิดทางให้โต๊ะแซะเข้ามาดูแลความปลอดภัยให้ลูกหลานชาวเล

              ตำนาน“โต๊ะลาแกกึตัมบาตู” (ตำนานท่ารำปูเหล็กไฟ) เล่ากันว่า ชาติก่อนอูรักลาโวยจเป็นนางรำของพระพุทธเจ้าบนสวรรค์ แต่เมื่อถึงเวลารำไม่ออกมารำตามเวลา มัวแต่เห็นแก่กิน จึงถูกสาปให้ลงมาเป็นชาวเล อูรักลาโวยจ ก้มหน้าแทงปลาอยู่ในทะเล จนกระทั่งเห็นท่ายกก้ามของปูเหล็กไฟ (ปูหิน) จึงจำได้ว่าเป็นท่ารำในอดีต “โต๊ะลาแกกึตัมบาตู” ซึ่งมีอัตลักษณ์เป็นปูเหล็กไฟจึงเป็นต้นแบบท่ารำรำมะนาในพิธีลอยเรือตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และเชื่อกันว่าโต๊ะลาแกกึตัมบาตูเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาลอยเรือให้โต๊ะหมอด้วย (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 91)   

              ตำนานโต๊ะบูมั้ย เล่ากันในหมู่อูรักลาโวยจเกาะลันตาว่า มีเทศขี้หนู (แขกปาทาน) เรือแตกลอยน้ำเข้ามาติดอยู่ที่ป่าพังกา (ป่าโกงกาง) ในคลองบ้านบ่อแหน นกขี้ใส่หัวจนขาวไปหมด ตามตัวมีหอยตีเตบ (หอยนางรมเล็ก) ขึ้นไปเกาะจนตัวแข็ง คอแข็ง พูดไม่ได้ (ได้แต่กระพริบตา) มีคนไปพบแต่เมื่อพาขึ้นบนบกก็ตาย ในกลุ่มอูรักลาโวยจจึงมีเพลงหนึ่งชื่อ เพลงโต๊ะบูมั้ย เนื้อหาเล่าเรื่องโต๊ะบูมั้ย ในพิธีลอยเรือวงรำมะนาผู้หญิงจะเล่นเพลงนี้ด้วย เพื่อส่งโต๊ะบูมั้ยขึ้นบก (บูเด็น คบคน. สัมภาษณ์ : 18 กันยายน 2550 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 191). ที่น่าสังเกตคือโต๊ะบูมั้ยไม่ใช่อูรักลาโวยจแต่เป็นแขกปาทาน (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 191)

              ตำนานโต๊ะแป๊ะ มีเพลงรำมะนาอีกเพลงหนึ่ง ที่ร้องกันในพิธีลอยเรือของอูรักลาโวยจบ้านสังกาอู้ และ บ้านหัวแหลมกลาง เนื้อหาพูดถึงชาวจีนคนหนึ่ง เรียกกันว่า “โต๊ะแป๊ะ” พายเรือรอบเกาะลันตา เนื้อเพลงกล่าวถึงชื่อสถานที่รอบเกาะลันตาที่โต๊ะแป๊ะพายเรือไป ขณะเดินทางเรือจะจมต้องว่ายน้ำไปขึ้นฝั่งอีกสถานที่หนึ่ง แล้วพายต่อไปเรือก็จะจมอีกที่หนึ่ง ต้องว่ายน้ำไปขึ้นฝั่งอีกที่หนึ่ง สลับกันไป แต่ละช่วงที่โต๊ะแป๊ะว่ายน้ำขึ้นฝั่งเนื้อเพลงจะพรรณนาถึงสภาพร่างกายและอาการที่เหนื่อยล้าของโต๊ะแป๊ะ ตามตำนานเล่ากันว่าโต๊ะแป๊ะและลาจังซึ่งเป็นหลานได้เดินทางจาก ฆูนุงฌึรัย มาหากินแถวเกาะลันตา แล้วทำบาปด้วยการแทงปลา ฆ่าเต่า กินเป็นอาหาร จึงถูกสาปแช่งให้พลัดบ้านพลัดเมือง อดอยาก ต้องผจญกับความทุกข์ทรมาน เพราะเรือล่มตลอดระยะเวลาที่เดินทางรอบเกาะ บทเพลงนี้เป็นเพลงไม่รู้จบจะร้องต่อกันไปได้ทั้งวันทั้งคืนหากพ่อเพลงแม่เพลงหรือนักดนตรี ไม่ง่วงหลับไปก่อน (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 192) ดังตัวอย่างบทเพลงบางตอนว่าที่ อาภรณ์ อุกฤษณ์.( 2532 : 283- 284) บันทึกไว้ว่า

    โต๊ะบึรายุค บึรานุย ปาปัน ขอไหว้โต๊ะบึรายุคผู้แกว่งไม้กระดาน   
    ลามาลามา โต๊ะแป๊ะ ซาเกะ ตูโบฮ ดีดาลัม บาดัน      นานมาแล้วโต๊ะแป๊ะเจ็บปวดไปทั้งตัว
    มาตา ฮารี มารีมัง นะซียัง พระอาทิตย์จะขึ้นแล้ว
    มาตา ดาโต๊ะแป๊ะ ซาฮัด ลามา บึงาตุ   ตาโต๊ะแป๊ะกำลังจะหลับ
    โต๊ะแป๊ะ กาลัม ดี ปาไตย กสิ โต๊ะแป๊ะจมที่หาดไม้ไผ่
    บีดึนัง ญาแญะ ปูเลา ยุกลี เฮ ว่ายน้ำขึ้นที่แหลมโตนด
    มาตา ดาโต๊ะแป๊ะ ซาฮัด ลามา บึงาตุ ตาโต๊ะแป๊ะกำลังจะปิดแล้ว
    โต๊ะแป๊ะ บึฌาฆา นัจ บึดึกา โต๊ะแป๊ะร้องเพลงจนสว่างคาตา
    โต๊ะแป๊ะ กาลัม ดี ปูเลา ปูโย๊ะ โต๊ะแป๊ะจมที่เกาะหม้อ
    บึดึนัง ญาแญะ ดี ซูซือ ปาฮา ว่ายน้ำขึ้นฝั่งที่แหลมขาเสือ
    ตูโบฮ ดาโต๊ะแป๊ะ ซาฮัด ปนตูฮา โต๊ะแป๊ะแก่มากแล้ว
    ดาโต๊ะแป๊ะ ตีดอก ยางัน ลามาลาโย โต๊ะแป๊ะนอนคราง
    โต๊ะแป๊ะ กาลัม ดี ซูซือ ปาฮา โต๊ะแป๊ะจมที่แหลมขาเสือ
    บึดึนัง ญาแญะ ดี ซุไงบารู ว่ายน้ำขึ้นที่คลองปอ
    โต๊ะแป๊ะ กาลัม ดี ซุไงบารู โต๊ะแป๊ะจมที่คลองปอ
    บึดึนัง ญาแญะ ดี ตาโละบาเระ ว่ายน้ำขึ้นฝั่งที่อ่าวบาเระ
    ดาโต๊ะแป๊ะ ตีดอก ยางัน ลามาลาโย โต๊ะแป๊ะนอนคราง
    บากิด ตะลาลาด ดูโด๊ะ ตะบูเลฮ นอนก็ไม่ได้นั่งก็ไม่ได้
    โต๊ะแป๊ะ กาลัม ดี ตาโละบาเระ โต๊ะแป๊ะจมที่อ่าวบาเระ
    โต๊ะแป๊ะ กาลัม ดี กะอีสักกะอู ว่ายน้ำขึ้นฝั่งที่สังกาอู้
    มากัด นาซิ ตะมากัด ลาโลด กินข้าวก็กินไม่ลง
    โต๊แป๊ะ บีนียัจ รูมัฮปลีเมา โต๊ะแป๊ะบนบาน “บ้านเจ็ดชั้น”
    อีตู บารู โต๊ะแป๊ะ นะซารามัย โต๊ะแป๊ะจึงสบายตัว
      ฯลฯ

     

              เนื้อหาในบทเพลงนี้ นอกจากทำหน้าที่บันทึกรายชื่อสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่ามีชื่อสถานที่รอบเกาะเป็นภาษาอูรักลาโวยจหรือภาษามาเลย์ ซึ่งมาจากตระกูลภาษาเดียวกันแล้ว ยังกล่าวถึงประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์ของอูรักลาโวยจ ได้แก่ ประเพณีการแก้บนด้วยบ้านเจ็ดชั้น หรือ “รูมัฮปลีเมา” สำหรับผู้ที่ป่วยหนักที่กล่าวถึงในบทเพลงท่อนสุดท้ายเมื่อต้องการจบเพลงว่า เมื่อโต๊ะแป๊ะอาการหนักมากก็จะบนว่าถ้าหายป่วยจะสร้างบ้านจำลองเจ็ดชั้นถวาย หลังจากนั้นโต๊ะแป๊ะก็สบายตัวขึ้น และยังแสดงให้เห็นว่าการขับเพลงของอูรักลาโวยจ จะเริ่มด้วยการไหว้ครู เช่น ในเพลงนี้กล่าวถึง “โต๊ะเบอแลบ บึรายุด” ซึ่งนั่งไกวชิงช้าไม้ (บึรานุย ปาปัน) อยู่ที่แหลมโตนด นอกจากนั้น ยังมีตำนานที่สัมพันธ์กับสถานที่ วัตถุและปรากฏการณ์ทางความเชื่ออื่น ๆ เช่น

              ตำนานโต๊ะอีซักกะอู อีซักกะอูเป็นภาษาชาวเลอูรักลาโวยจ แปลว่า เหงือกปลากะเบนยักษ์หรือปลาราหูเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านสังกาอู้ ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเล ด้านหลังหมู่บ้านมีหินที่วางตัวซ้อน ๆ กัน คล้ายเหงือกปลากระเบน ชาวบ้านเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่สิงสถิตของโต๊ะอีซักกาอู ถัดจากปลายแหลมอีซักกะอู มาทางทิศตะวันตก ประมาณ 7-8 เมตร ไม่ไกลจากที่ตั้งชุมชน มีศาลอยู่หลังหนึ่ง ผู้สร้างศาลเล่าว่า “ครอบครัวตนเป็นครอบครัวแรกที่ย้ายจากบ้านหัวแหลมกลางมาอยู่สังกาอู้ ก่อนที่จะสร้างบ้านโต๊ะอีซักกาอูมาเข้าฝันว่าถ้ามาอยู่ที่นี้ต้องตั้งศาลหลังหนึ่งด้วย ตนและครอบครัวจึงได้ตั้งศาลนี้ขึ้น และในทุก ๆ ปีจะมีการเซ่นไหว้วิญญาณโต๊ะอีซักกาอู้ โดยมีสมาชิกชาวเลอูรักลาโวยจในชุมชนมาร่วมด้วย (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 87)

             ตำนานบ่อคุลี ที่บ้านศาลาด่าน เดิมมีบ่อเล็ก ๆ คล้ายไห อูรักลาโวยจเรียกว่า“บ่อไห” หรือ “ตะลากา ตะปอกุลี” เล่ากันว่า หญิงพุงใหญ่ (ผู้หญิงท้องแก่) ที่ภูเก็ตอยากดื่มน้ำจากบ่อคุลีตามที่พบในฝัน จึงให้คนกรรเชียงเรือมาหา เมื่อผ่านมาเห็นแสงที่ปาตัยซาตัก (เกาะลันตา) จึงจอดเรือขึ้นเดินหาบ่อน้ำ และตักไปดื่มหลายบ่อแต่ไม่ใช่บ่อที่ต้องการ จนกระทั้ง ถึงบ่อคุลีตักให้กินจึงคลอดลูก (บูเด็น คบคน. สัมภาษณ์ : 18 กันยายน 2550 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 190)

              ตำนานต้นปาโว๊ะญาญี (ปาโวฮญาญี) เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง เป็นที่มาของยางอำพันสีเหลืองที่ลอยมาจากทะเล มีลักษณะคล้ายหินฟองน้ำ มีกลิ่นเหม็น เชื่อกันว่า ต้นปาโว๊ะญาญี เป็นที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษตนหนึ่ง ดังนั้นในสมัยก่อนเมื่อถึง วันขึ้น 11 หรือ 12 13 ค่ำ ของทุกเดือน นอกจากชาวเลจะหว่านข้าวตอก และหมากพลู ใบจาก เพื่อเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ในทะเลแล้ว ยังเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ปาโว๊ะญาญีด้วย (เกม ช้างน้ำ และ ซาเย้ ทะเลลึก สัมภาษณ์ : 2530 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 90)

             ตำนานปลาดุยง (ดุหยง) หรือปลาพยูน เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่ชาวเลอูรักลาโวยจนับถือ ตามตำนานเล่าว่า มีผู้หญิงท้องแก่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัว อยากกินสาหร่ายทะเลจึงบอกให้สามีดำน้ำลงไปเอามาให้ ปรากฏว่าสามีของนางจมหายไปใต้ท้องทะเล หญิงผู้นั้นจึงกระโดดน้ำตามลงไปแล้วจมหายลงไปอีก กลายเป็นปลาพยูน ซึ่งมีนม มีมือ และมีเท้าคู่หนึ่งสำหรับว่ายน้ำ ดังนั้นลูกหลานชาวเลจึงนับถือปลาพยูน โดยเฉพาะลูกสาวคนสุดท้องห้ามกินปลาพยูนเด็ดขาด นอกจากนั้นชาวเลยังใช้น้ำตาปลาพยูนทำยาเสน่ห์ได้ด้วย(อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 90)

              ตำนานคลื่นเจ็ดลูก หรือ “รูมัก ตูโยะ” เป็นตำนานหนึ่งที่น่าสนใจ เล่าสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษของ อูรักลาโวยจเกาะลันตาและเกาะปูว่า เมื่อครั้งโบราณมีคลื่นยักษ์เจ็ดลูกซัดขึ้นมาท่วมเกาะต่าง ๆ อูรักลาโวยจวิ่งหนีขึ้นไปบนยอดเขาเกาะปูและรอดชีวิตมาได้ด้วยการยึดเกาะต้นหญ้า จนกระทั่ง “พระพุทธบาท” (พระพุทธเจ้า) มาห้ามทะเล อีกสำนวนเล่าว่าเกาะลันตาถูกคลื่นยักษ์ เจ็ดหน่วย(ลูก) ซัดน้ำท่วมเกาะจมอยู่ใต้น้ำ เหลือแต่เขาเกาะปูเพียงศอกเดียว จนกระทั่งดาโต๊ะดามั้ย (พระพุทธเจ้า) สั่งให้คลื่นหยุด ปรากฏว่ามีคนรอดเพียงคนเดียว คือ คนที่วิ่งขึ้นไปบนยอดเขาเกาะปู และจับหญ้าตีนกาไว้ ปัจจุบันที่ช่องเภาช่วงน้ำลดจะเห็นรอยหยักของคลื่น 7 ลูก (บูเด็น คบคน. สัมภาษณ์ : 18 กันยายน 2550 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 193) หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิตำนานคลื่นยักษ์ที่กำลังจะเลือนหายไปกลับฟื้นคืนกลับมาเล่ากันใหม่ พร้อมกับมีการตั้งข้อกังขาต่อกันอีกว่า คลื่นยักษ์ครั้งนี้เพิ่งจะมาเพียง 3 ลูก เท่านั้น ยังไม่ครบ 7 ลูก

             หลังคลื่นยักษ์สึนามิ ยังมีเรื่องเล่าในกลุ่มอูรักลาโวยจอีกเรื่องหนึ่งว่ามีปลาวาฬตัวหนึ่งมาเข้าฝันโต๊ะหมอฮูเด็นสามคืนติดกันเพื่อขอความช่วยเหลือ วันรุ่งขึ้นคนแห่กันไปดูปลาวาฬที่มาเกยตื้น ที่โหนหน้าเปรว (เนินทรายหน้าสุสาน) โต๊ะดาเอ๊ะอูรักลาโวยจที่แข็งแรงมาก ว่ายน้ำเวียนไปขึ้นหลังปลาวาฬ ปีนขึ้นไปบนหัว ไหว้กาด ทำพิธีปัดรังควาญ เมื่อโต๊ะดาเอ๊ะลงจากหลังปลาวาฬปลาก็ขยับครีบขยับคอถอยหลังลงน้ำไป แต่คนจีนกับมุสลิมบ้านหัวแหลมกลางตามมาจับปลาวาฬตัวนั้น โดยใช้เรือ 2 ลำ ลากปลาวาฬเข้าฝั่งที่บ้านหัวแหลมกลาง แล้วเชือดแล่เนื้อเอาไปขายที่ตรังและนครศรีธรรมราช กระดูกเอาไปฝัง เชื่อกันว่า ปลาวาฬตัวนั้นเป็นตัวการทำให้เกิดสึนามิเพื่อลงโทษ เพราะสึนามิทำลายเฉพาะที่บ้านหัวแหลมกลาง แต่ที่สุสานอูรักลาโวยจไม่ถูกทำลาย (ประชา ทะเลลึก. สัมภาษณ์ : 9 มิถุนายน 2550 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 193)

              จากการที่อูรักลาโวยจดั้งเดิม เป็นสังคมชนเผ่าอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ดังที่พวกเขาเปรียบเปรยกันเองว่า “อูรักลาโวยจเราอยู่กันเหมือนฝูงลิง ไปไหนไปด้วยกัน” (มะสี ทะเลลึก. สัมภาษณ์ : 19 ตุลาคม 2551 ; อ้างถึงใน อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 :193). ชีวิตไม่ยุ่งยากซับซ้อนทำให้มีเวลาว่างที่จะถ่ายทอดและจดจำตำนานเรื่องเล่าสืบต่อกันมา จนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะเรื่องคลื่นยักษ์ แม้จะเป็นตำนานที่มีการต่อเติมเสริมแต่ง แต่อ้างอิงเรื่องราวจากประสบการณ์จริงบางส่วน ซึ่งบรรพบุรุษของพวกเขาเคยประสบมาในอดีต

              ตำนานดังกล่าวยังเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า อูรักลาโวยจเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณพื้นที่แถบนี้มายาวนาน จนกระทั่งสามารถสั่งสมเรื่องราวและสร้างตำนานความเชื่อในลักษณะของชื่อบ้านนามเมืองไว้มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ 

              อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันวิถีชีวิตของอูรักลาโวยจยังคงผูกพันกับตำนานความเชื่อที่สืบทอดอัตลักษณ์ดั้งเดิมไว้มากมาย แต่ขณะเดียวกันก็มีตำนานอีกหลายเรื่องที่บ่งบอกว่าได้ผ่านกระบวนการหยิบยืมและนำศาสนาความเชื่อและเรื่องราวของผู้คนต่างกลุ่มวัฒนธรรมบนเกาะลันตา ที่ปฏิสัมพันธ์ด้วยมาผสมผสานจนกลืนกลายเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มด้วย

  • สถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    สถานการณ์ปัจจุบันและสภาพปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง

              การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

              สถานการณ์ต่าง ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อได้ ดังเช่น เดิมอูรักลาโวยจที่แหลมตุ๊กแกเชื่อว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นสาเหตุมาจาก “ผีกิน” การรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับกลุ่มอื่น ๆ จึงเป็นหน้าที่ของหมอผีประจำบ้าน ที่จะต้องปัดรังควานขับไล่ หรือทำพิธีเชิญให้ผีออกไป หากอาการไข้ไม่หายจึงนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัย แต่ปัจจุบัน หากเจ็บไข้เล็กน้อยจะซื้อยากินเอง  หรือไปสถานีอนามัย หากมีอาการรุนแรงจะไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด หรือไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (พิมพิไล ตั้งเมธากุล. 2529 : 37-38)

              มีเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มอูรักลาโวยจ บ้านสังกาอู้ เกาะลันตา เมื่อภรรยาโต๊ะหมอผู้นำกลุ่มซึ่งทำหน้าที่รักษาโรคให้สมาชิกชาวเลในกลุ่มเป็นโรคมะเร็งไม่สามารถรักษาให้หายได้มีผู้แนะนำให้ไปรักษากับพระจีน จึงได้ยาสมุนไพรมาต้มกิน และติดกระดาษยันต์ (ฮู้) ไว้หน้าประตูบ้านเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าบ้าน ต่อมาเมื่อมีโรงพยาบาลของรัฐไปตั้งบนเกาะลันตาใกล้ชุมชนชาวเลบ้านหัวแหลมกลาง หากผู้ป่วยคนใดโต๊ะหมอรักษาไม่หาย โต๊ะหมอก็จะบอกให้พาไปโรงพยาบาลในชุมชน หรือในจังหวัดกระบี่ บางคนก็ไปรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 95) 

              อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อของอูรักลาโวยจบนเกาะลันตาคือ หลังจากที่ชาวเลอูรักลาโวยจมีปฏิสัมพันธ์กับชาวจีน ก็มีการตั้งหิ้งบูชาบรรพบุรุษหรือสมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้ว และมีกระถางธูปเช่นเดียวกับชาวจีน ต่อมามีพ่อค้ากลุ่มหนึ่งเข้าไปขายรูปปั้นพระสยามเทวาธิราช และบอกกับพวกเขาว่าหากต้องการเป็น “ไทยใหม่” จะต้องมีหิ้งพระสยามเทวาธิราช หลังจากนั้นในชุมชนอูรักลาโวยจบ้าน  สังกาอู้จึงมีหิ้งพระสยามเทวาธิราชเพิ่มขึ้นมาอีกหิ้ง (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2532 : 95-96)

              การปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ด้านศาสนาความเชื่อ

              ความเชื่อดั้งเดิมของอูรักลาโวยจเป็นความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติและวิญญาณบรรพบุรุษที่ตายไป เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมทั่วไป  เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับชาวไทย และชาวมุสลิม อูรักลาโวยจบางกลุ่มรับนับถือศาสนาอิสลามเรียกกันว่า “ชาวเลแขก” เช่น อูรักลาโวยจบนเกาะปอ และเกาะบูโหลน อย่างไรก็ดี อูรักลาโวยจส่วนใหญ่สัมพันธ์กับศาสนาพุทธมากกว่าด้วยวิถีชีวิตที่อิสระทำให้ปฏิบัติตามหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามได้ยาก อูรักลาโวยจส่วนใหญ่จึงไปวัดพุทธและหากมีใครถาม ก็จะบอกว่านับถือศาสนาพุทธ แม้จะไม่เคยมีกรณีอูรักลาโวยจบวชพระเหมือนชาวมุสลิมบนเกาะลันตา ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดด้านการอ่าน การท่องบทสวด และวัตรปฏิบัติ แต่ก็ไปทำบุญที่วัด ไหว้พระฟังธรรม และร่วมฟังพระสวดอภิธรรมในพิธีศพของชาวจีน ขณะเดียวกันสามารถอยู่ร่วมกับชาวมุสลิมได้โดยไม่มีความขัดแย้ง   จรัส ง๊ะสมัน (2529 : 49)  ได้กล่าวถึงชาวเลอูรักลาโวยจที่สตูลว่ามีการยอมรับประเพณีจากกลุ่มชนเข้าไปมาก วันสำคัญทางศาสนาและประเพณีของกลุ่มชนเหล่านั้น จึงถูกรับไปด้วย เช่น วันสงกรานต์ วันตรุษจีน วันเช็งเม้ง ก็จะแต่งตัวสวย ๆ มีการนำขนม  ไก่ต้ม หมูต้ม และข้าวปลาอาหารไปทำบุญที่สุสานและร่วมสนุกสนานรื่นเริงกันด้วย วันรายา หรือวันฮารีรายอ ก็เช่นกันแต่จะทำเฉพาะขนมหลากหลายชนิดไปเยี่ยมสุสานและเยี่ยมญาติพี่น้อง

              การปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ด้านศาสนาความเชื่อหลังภัยพิบัติสึนามิ     

              การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ มีกลุ่มผู้เผยแพร่ศาสนาลัทธิหนึ่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้วยวิธีการแจกเครื่องมือทำมาหากิน เสื้อผ้า อาหาร ชักชวนให้ร่วมร้องรำ ทำเพลง และผลที่สุดได้ชักชวนให้เปลี่ยนศาสนา พวกเขารับของแจกมาแล้วจึงไม่กล้าปฏิเสธ จนกระทั่งเกิดปัญหาขัดแย้งอย่างรุนแรงตามมาระหว่างกลุ่มที่ต้องการอนุรักษ์ความเชื่อดั้งเดิมและกลุ่มที่เปลี่ยนศาสนาซึ่งต้องละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิมบางอย่างที่ขัดกับหลักปฏิบัติของศาสนาใหม่ แม้กระทั้ง สามี ภรรยา ญาติพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน หรือเด็กนักเรียนในโรงเรียนก็ทะเลาะกัน โดยเฉพาะกรณีที่มีการนำศพของอูรักลาโวยจรายหนึ่งที่เสียชีวิตในช่วงนั้นมาฝังในสุสานของชุมชนและนำไม้กางเขนมาปักบนหลุมฝังศพ

              ทีมงานจากศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกระบี่และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ ได้เดินทางไปร่วมประชุมเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาดังกล่าวตามคำเรียกร้อง โดยนัดหมายกันที่บ้านรองแง็ง บ้านสังกาอู้ เมื่อไปถึงพบว่าสมาชิกอูรักลาโวยจกลุ่มดั้งเดิมกับกลุ่มที่เปลี่ยนศาสนา แยกกันนั่งคนละฟาก ทนายความอาสาสมัครคนหนึ่งที่เข้าไปร่วมหาทางออกเริ่มด้วยคำถามว่า “ใครเป็นกลุ่มดั้งเดิมยกมือขึ้น” กลุ่มที่นั่งอยู่ฟากหนึ่งยกมือ เมื่อถามว่า “ใครนับถือศาสนาคริสต์ยกมือขึ้น” อีกฝ่ายยกมือ แต่เมื่อถามว่า “ใครเป็นอูรักลาโวยจยกมือขึ้น”ทุกคนยกมือขึ้นพร้อมกัน โดยไม่ลังเล จึงได้มีการพูดไกล่เกลี่ย และเปิดโอกาสให้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่าจะอยู่กันอย่างไรต่อไป ระหว่างการประชุมหนุ่มอูรักลาโวยจคนหนึ่งรำพึงว่า “เมื่อก่อนอยู่กันได้ไม่มีปัญหา พอสึนามิมาพวกอูรักลาโวยจเราแตกแยกกันไปหมด”  หลังจากทั้งสองฝ่ายพูดคุยเปิดใจกันได้ข้อสรุปว่า ให้พบกันครึ่งทางภายใต้เงื่อนไขของอูรักลาโวยจกลุ่มดั้งเดิมว่า “ห้ามสร้างโบสถ์ในหมู่บ้าน ห้ามนำศพมาทำพิธีและฝังรวมกับบรรพบุรุษ ห้ามพูดจาดูหมิ่นเหยียดหยามกัน สำหรับพิธีลอยเรือหากคิดว่าตัวเองยังเป็นอูรักลาโวยจจะเข้าร่วมด้วยก็ไม่ขัดข้อง”        

              จากพฤติกรรมการยกมือครั้งแรกของกลุ่มที่เปลี่ยนศาสนา บ่งบอกถึงการยอมรับในอัตลักษณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ โดยมีพรมแดนทางศาสนาเป็นตัวชี้วัด  ส่วนการยกมือครั้งที่สองของทั้งสองกลุ่มเป็นการยอมรับในอัตลักษณ์ ความเป็นอูรักลาโวยจโดยมีพรมแดนทางชาติพันธุ์เป็นตัวชี้วัด

     

  • การเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่ประสบอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    ปัญหาที่ประสบ

              ปัญหาความเดือดร้อนของชาวเลส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่มานานแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ปัญหาเรื่องพื้นที่ตั้งสุสานและศาลประจำชุมชนที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม ปัญหาเรื่องที่จอดเรือและที่ทำมาหากินในทะเล ปัญหาเรื่องสุขภาพ  ปัญหาเรื่องการศึกษา ปัญหาการไม่ได้รับการยอมรับในสังคมและอคติทางชาติพันธุ์    

              สำหรับปัญหาที่เกี่ยวกับที่ดินที่อยู่อาศัย และที่ตั้งศาล เกิดขึ้นหลังจากการเข้ามาของธุรกิจท่องเที่ยว และนายทุนต้องการที่ดินริมทะเลซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเลสำหรับสร้างรีสอร์ทรองรับนักท่องเที่ยวจึงร่วมมือกับผู้มีอำนาจในท้องถิ่นเข้าสวมสิทธิ์ครอบครองที่ดิน  ซึ่งเป็นที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมของชาวเลด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ชักชวนให้ขายที่ดิน หรือทำหลักฐานเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดินทับที่อยู่อาศัยของชาวเล มีการบุกรุกไล่ที่ ข่มขู่ให้รื้อถอนบ้านเรือนบ้าง โดยเฉพาะหลังภัยพิบัติสึนามิ บางพื้นที่เมื่อถูกคลื่นยักษ์พัดพาบ้านพังทลายก็ไม่สามารถสร้างใหม่ได้เพราะมีผู้อ้างสิทธิ์ครองครองที่ดินนั้นแล้ว นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ กลายเป็นที่ดินที่ทางราชการกำหนดให้อยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติ มีการจำกัดที่เขตทำมาหากินในทะเลบริเวณน่านน้ำที่อยู่ในเขตอุทยานด้วย ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นกับชุมชนชาวเลแทบทุกที่  ดังเช่น ที่ เกาะหลีเป๊ะ และเกาะอาดัง ก็มีปัญหาเรื่องที่ดิน ที่ทำกิน และที่จอดเรือ ชาวเลถูกชักชวนให้ขายที่ดินจนไม่มีที่อยู่อาศัย ถูกผู้มีอิทธิพลสั่งไม่ให้ซ่อมแซมบ้าน ให้รื้อถอนบ้านเรือน ห้องน้ำ ถูกคุกคาม ข่มขู่ทำร้ายร่างกาย และมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการการท่องเที่ยว มีเอกชนรายหนึ่งสร้างกำแพงและวางสิ่งกีดขวางปิดทางเข้าออกสาธารณะที่เชื่อมต่อกับโรงเรียนและสถานีอนามัยบนเกาะหลีเป๊ะ ส่งผลให้สมาชิกในชุมชนเดือดร้อน และหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น หรือมีผู้ป่วยจะเดินทางไปรักษาลำบาก ทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจึงเดินทางไปในพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของชาวเล เพื่อสรุปปัญหาและข้อร้องเรียน ก่อนจะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมทำความเข้าใจคนในชุมชนและวางแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทต่าง ๆ

              ชาวเลราไวย์ ก็ถูกนายทุนออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนที่ทำกิน ขับไล่ที่ และข่มขู่ จนกระทั่งมีการปะทะ ต่อสู้ทำร้ายร่างกายกัน ตามที่ปรากฏเป็นข่าวหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ปัจจุบันยังเป็นคดีความที่หาข้อยุติไม่ได้ต้องรอฟังคำพิพากษาของศาล

              ที่บ้านแหลมตง เกาะพีพี ก็เช่นกันที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของชุมชนชาวเลที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งระบุว่าห้ามซื้อขายเช่นเดียวกับชุนชนชาวเลบ้านสังกาอู้ ที่เกาะลันตา แต่มีการทำหลักฐานเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนให้เป็นเจ้าของคนเดียวแล้วขายให้กับนายทุนเพื่อสร้างเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ เหลือพื้นที่เล็กน้อย สำหรับให้ชาวเลอยู่อาศัยกันอย่างแออัดโดยไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น และมีปัญหาเรื่องน้ำ เนื่องจากมีคราบน้ำมันไหลจากทางโรงแรมลงไปในบ่อ และยังมีปัญหาเรื่องทางเดินที่ถูกปิดกั้น การสร้างรั้วล้อมสุสาน และมีการสร้างกำแพงกั้นเส้นทางที่เคยทำไว้หนีภัยสึนามิด้วย ปัญหาเหล่านี้ได้นำมาร้องเรียนในที่ประชุมและรอแก้ปัญหาจากคณะกรรมการโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลจังหวัดกระบี่

  • การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายในปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ :

    การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย

              ในอดีตชาวเลอูรักลาโวยจในประเทศไทย ทั้งกลุ่มที่อาศัยอยู่บนเกาะลันตา เกาะจำ เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ แหลมตุ๊กแก และหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต และกลุ่มที่อยู่บนเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะบูโหลน จังหวัดสตูล มีการแต่งงานข้ามกลุ่มกัน หรืออพยพย้ายถิ่นไปมาหาสู่กัน ทุกกลุ่มนับว่าเป็นญาติกันหมด และจะพบปะกันในโอกาสที่มีพิธีลอยเรือ โดยในกลุ่มจะนัดกันว่าปีนี้จะไปร่วมกับกลุ่มไหน หรือหากมีพิธีแก้บน หรือมีพิธีแต่งงานของลูกหลานก็จะบอกกล่าวถึงกัน แต่ระยะหลังกลุ่มที่อยู่ใกล้ ๆ กันจะมาพบปะกันบ่อยขึ้น โดยจะกำหนดวันจัดงานพิธีลอยเรือไม่ให้ตรงกัน และผลัดกันไปร่วมงาน ส่วนกลุ่มที่อยู่ไกล ๆ เดินทางลำบากและต้องทำมาหากินนาน ๆ จะได้เจอญาติพี่น้องกันสักครั้ง แต่หากมีงานแต่งงาน หรืองานศพญาติ ๆ ก็จะเดินทางมาร่วมพิธีด้วย

              จนกระทั่งหลังจากภัยพิบัติสึนามิ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลยุคนั้นได้มีนโยบายเร่งด่วนให้แต่งตั้งคณะกรรมการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน

              ขณะเดียวกันภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) (United Nations Development Programme) และภาคีความร่วมมือของมูลนิธิชุมชนไทย ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ (NGO) ได้ประสานความร่วมมือกับภาคีในท้องถิ่นทั้งองค์กรชุมชน กลุ่มศิลปิน เทศบาล อบต. และนักวิชาการท้องถิ่น เข้าไปให้ความช่วยเหลือชาวเลอูรักลาโวยจที่ประสบภัยตามโครงการ “ฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนและการจัดระบบนิเวศที่ยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนผู้ประสบภัยสึนามิฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ เพื่อฟื้นฟูและบูรณาการองค์ความรู้ดั้งเดิม เกี่ยวกับ วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและสร้างกลไกความร่วมมือแบบ พหุภาคีระหว่างรัฐ เอกชน และชุมชน ในการจัดทำแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนให้สอดคล้องกับนโยบายหรือกรอบคิดที่ก้าวข้ามความช่วยเหลือในลักษณะสงเคราะห์ไปเป็นการช่วยเหลือให้ชุมชนเข้มแข็งสามารถฟื้นฟูตนเองและสามารถค้นหาศักยภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้ ดังเช่น การดำเนินงานโครงการที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลกลุ่มอูรักลาโวยจ ชาวไทยมุสลิม ไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยพุทธ

              ในช่วงแรกมีการคัดเลือกและแต่งตั้งทีมงานฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนจากผู้แทนแต่ละพื้นที่และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการซ่อมแซมบ้าน ซ่อมเรือ ด้วยการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ให้สมาชิกในชุมชนช่วยกันซ่อม จัดหาเครื่องมือเพื่อสร้างอาชีพให้ทำกิน และเยียวยาปัญหาด้านจิตใจ จัดอบรมเพื่อสร้างอาชีพ จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และสวัสดิการสังคมสงเคราะห์มีการก่อตั้ง “เครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา” และจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับเครือข่ายชุมชนต่าง ๆ

              โครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมฯ หลังภัยพิบัติสึนามิมีนโยบายที่มีลักษณะต่างจากงานของรัฐและเอกชน ที่คิดก้าวข้ามจากความช่วยเหลือในลักษณะของการสงเคราะห์ไปสู่การให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง จนกระทั่งสามารถลุกขึ้นมาช่วยกันวางแผนแก้ปัญหาและแสวงหาแนวทางในการฟื้นฟูตนเองได้ โครงการนี้นอกจากจะมีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือให้กำลังใจผู้คนในภาวะที่โกลาหลแล้วยังได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการปลุกจิตสำนึกให้แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ได้ทบทวนว่า “ยังมีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ หรือวัฒนธรรมอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง จะดูแลรักษากันต่อไปอย่างไร” หลังจากนั้นมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกแต่ละกลุ่ม มีการสร้างยุทธวิธีใหม่ในการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมดั้งเดิม และนำไปขยายผลในการทำโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ดังเช่น

              โครงการจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตา” เป็นโครงการหนึ่งที่ได้จากการทำประชาพิจารณ์ โดยชาวตลาดศรีรายาซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ตั้งอาคารที่ว่าการอำเภอเก่า และคณะกรรมการฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการเปิดพื้นที่ให้ชาวเกาะลันตาทุกกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีปฏิสัมพันธ์กันและได้แสดงอัตลักษณ์ของตนเองให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ซึ่งทุกกลุ่มชาติพันธุ์จะต้องรื้อฟื้นเรื่องราวและวัฒนธรรมของตนเองเพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ จึงเป็นโอกาสที่ผู้คนได้ย้อนอดีตกลับไปทบทวนเรื่องราวและอัตลักษณ์ของตัวเอง ได้เห็นความสำคัญของการนำวิถีชีวิตดั้งเดิมมาแสดงให้ปรากฏต่อชุมชนใหม่ และเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมในชุมชนที่มีพื้นที่ทางประวัติศาสตร์มาด้วยกัน รวมทั้งชาวเลอูรักลาโวยจด้วย

              อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ คือการจัดงาน “เปิดเลเขเรือ” ภายใต้โครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมฯ ซึ่งในงานนี้จะมีผู้นำทางศาสนาของทุกกลุ่มชาติพันธุ์มาร่วมทำพิธีให้พรก่อนปล่อยเรือออกไปแวะเยี่ยมสมาชิกชาวเกาะลันตาที่อาศัยอยู่รอบเกาะ ซึ่งแต่ละชุมชนได้จัดเตรียมอาหาร เครื่องดื่มและการแสดงพื้นบ้านแบบดั้งเดิมไว้รอต้อนรับ

              งาน “ลานตา ลันตา” ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ได้รวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทั้งในกลุ่มชาวเลอูรักลาโวยจด้วยกันและกับกลุ่มเพื่อนบ้านต่างชาติพันธุ์ เนื่องจากเป็นงานเทศกาลที่จัดแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวเกาะลันตาทุกกลุ่ม และเปิดกว้างให้ผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติศาสนา ทั้งคนในท้องถิ่น คนต่างถิ่น รวมทั้งนักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กันโดยผ่านการเข้าร่วมงานสาธารณะ ในงานนี้ชาวเลอูรักลาโวยจจากต่างถิ่นก็ได้เดินทางมาร่วมเผยแพร่วัฒนธรรมชาวเลด้วย

              หลังจากปิดโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมฯ ในปีที่ 3 แม้บางชุมชนจะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย หรือซบเซาไปเมื่อพี่เลี้ยงถอยออกไปให้บริหารจัดการกันเอง แต่โครงการนี้ได้ปลุกชาวชุมชนเกาะลันตาให้ตื่นตัว ลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง เช่น ชุมชนบ้านโคกยูงประสบความสำเร็จในการสร้างจิตสำนึกร่วมของชุมชน ให้เลิกลักลอบตัดไม้โกงกางเผาถ่านและช่วยกันดูแลรักษาป่ากันเอง โดยเริ่มจากการรวมกลุ่มช่วยกันซ่อมเรือ ซ่อมกระชังปลา และเครื่องมือประมงอื่น ๆ ที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิ ตามด้วยการหาอาชีพเสริม ฟื้นฟูอาชีพเดิมที่สุจริตให้กับชุมชน จนกลายเป็นกิจกรรมปลุกจิตสำนึกร่วมของชุมชน ในกลุ่มชาวเลอูรักลาโวยจเอง ก็ได้มีกลุ่มผู้นำทางความคิดเกิดขึ้นหลายคน และยังคงเป็นแกนนำสำคัญในการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานและความยุติธรรมต่าง ๆ ที่ชุมชนและชาวเลอูรักลาโวยจควรจะได้รับในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย (อาภรณ์ อุกฤษณ์. 2554 : 178-185)

              ผลสืบเนื่องจากการเข้าไปให้ความช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ที่ประสบภัยสึนามิของสื่อมวลชน องค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งชุมชนชาวเล ส่งผลให้สาธารณชนรู้จักและเข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวเลมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันกลับไปพบปัญหาที่สั่งสมมานาน และกำลังรุนแรงขึ้นหลังจากคลื่นยักษ์สึนามิได้ทำลายที่พักอาศัยของพวกเขา คือปัญหาที่พบว่าผืนดินที่เขาเคยอยู่อาศัย และทำมาหากินรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ ได้มีผู้จับจองเป็นเจ้าของ หรือมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองเข้าไปทำมาหากินไม่ได้ นอกจากนั้นชาวเลบางชุมชนไม่ได้รับความคุ้มครองและการบริการพื้นฐานตามกฎหมายและปัญหาอื่น ๆ อีกมาก ดังนั้นในวันที่ 2 มิถุนายน 2553 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ประกอบด้วยการสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพการประมง การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การแก้ปัญหา รวมทั้งให้งบประมาณส่งเสริมวันนัดพบวัฒนธรรมชาวเลด้วย กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการนี้ขึ้นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสำคัญ ด้านที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ด้านการศึกษา ด้านการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมให้ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง ด้านการส่งเสริมสุขภาพและบริการสาธารณสุข และปัญหาเรื่องการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นในชุมชน ประเด็นที่น่าสนใจ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศที่จะเดินหน้าสร้างเขตวัฒนธรรมพิเศษตามแผนฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลในอันดามัน

              ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาต่างๆ ยังไม่บรรลุ อันเนื่องจากปัญหาเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จึงต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรท้องถิ่น จังหวัด นักวิชาการ และชุมชนชาวเล รัฐบาลปัจจุบันจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกิน และพื้นที่จิตวิญญาณ (สุวัฒน์ คงแป้น. 2558 : ออนไลน์) 

              จากการติดตามผลการดำเนินงานโครงการพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวเลในแต่ละชุมชนแตกต่างกัน ปัญหาบางอย่างได้รับการแก้ไขไปบ้างแล้ว แต่บางปัญหายังไม่ได้ดำเนินการ เช่น ในจังหวัดกระบี่ จากการประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัดพบว่า ชาวเลสังกาอู้ยังมีปัญหาที่ค้างคา คือปัญหาเรื่องที่ดินที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติฯ ไม่สามารถออกโฉนดชุมชนได้ นอกจากนั้นเป็นเรื่องสาธารณูปโภค และการจัดทำหลักสูตรภาษาชาวเลยังไม่ได้ดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ส่วนปัญหาความขัดแย้งเรื่องการเปลี่ยนศาสนาของสมาชิกชาวเลบ้านสังกาอู้ก็ได้รับการแก้ไขไปบ้างแล้วในเบื้องต้น สำหรับชุมชุนชาวเลอื่น ๆ ที่มีปัญหาวิกฤตจะได้รับการแก้ไขทันท่วงทีหรือไม่ขึ้นกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องว่ามีความจริงใจในการปัญหาหรือไม่

              โครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลที่จัดตั้งโดยคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ยังคงดำเนินการต่อเนื่องถึงปัจจุบัน กิจกรรมที่น่าสนใจโครงการหนึ่งที่สืบเนื่องจากโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล คือ โครงการจัดงาน “วันรวมญาติชาวเล” ซึ่งมีสมาชิกชาวเลในประเทศไทย ทั้งชาวเลอูรักลาโวยจ มอแกน (มอแกนเกาะ) และมอแกล็น (มอแกล็นบก) ทุกกลุ่ม เดินทางไปร่วมงาน โดยสถานที่จัดงานหมุนเวียนกันไป ครั้งที่แรก ปีพ.ศ.2553 จัดที่ที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ครั้งที่ 2 ปีพ.ศ. 2554 จัดที่ชุมชนหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 3 ปีพ.ศ.2555 จัดที่สะพานหิน จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 4 ปีพ.ศ. 2556 จัดที่ชุมชนทุ่งหว้า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ครั้งที่ 5 ปีพ.ศ. 2557 จัดที่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 6 ปีพ.ศ. 2558 จัดที่บ้านสังกาอู้ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งแต่ละครั้งที่เข้าร่วมงานนอกจากได้พบปะสังสรรค์เพื่อสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างชาวเลทุกกลุ่มให้กว้างขวางขึ้น อันเป็นการสนับสนุนให้พื้นฐานของความกลุ่มชาติพันธุ์เข้มแข็งขึ้นแล้ว ยังเป็นโอกาสที่แต่ละกลุ่มได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนมาบอกกล่าวเพื่อขอความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากคณะกรรมการโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลด้วย

              ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการร่วมงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลและการเข้าร่วมประชุมโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ที่จัดตั้งโดยคณะรัฐมนตรีและได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องนี่เอง ส่งผลให้ปัจจุบันชาวเลทุกกลุ่มได้พบปะรู้จักกัน ทั้งในระดับตำบล (อบต.) ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับชาติ ซึ่งในแต่ละระดับชาวเลจะส่งตัวแทนเข้าไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง เพื่อพูดคุยปัญหา รับทราบความก้าวหน้าของโครงการ และร่วมดำเนินงานตามโครงการที่ได้รับมอบหมาย โดยในระดับพื้นที่ หรือระดับตำบล (อบต.) และระดับอำเภอ จะส่งตัวแทนชาวเลชุมชนละ 3 คน ระดับจังหวัดจะส่งตัวแทนชุมชนละ 1 คน และระดับชาติจะส่งตัวแทนชาวเลจังหวัดละ 1 คน ตัวแทนที่ส่งไปมีทั้งชาวเลผู้อาวุโสในชุมชน และลูกหลานชาวเลที่ได้รับการศึกษาในระดับมัธยมหรือระดับปริญญาตรี บางคนเป็นครูสอนในโรงเรียนภายในชุมชนของตนเอง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาก่อนที่จะเดินทางไปประชุมในระดับชาติ ชาวเลทุกกลุ่มจะมีการนัดหมายส่งตัวแทนไปประชุมนอกรอบร่วมกัน เพื่อพูดคุยปัญหา ความต้องการ ความจำเป็นเร่งด่วนที่ควรจัดลำดับก่อนหลัง เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันก่อน แต่ระยะหลังเนื่องจากมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางและความก้าวหน้าของการสื่อสาร จึงได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์และการพูดคุยโต้ตอบกันในไลน์กลุ่ม

     

Access Point
No results found.

วิถีชีวิตชาวเลในอดีตใช้เรือเป็นที่อยู่อาศัย ยานพาหนะสำหรับเดินทางเป็นเครื่องมือทำมาหากินและจะย้ายขึ้นฝั่งในช่วงฤดูฝนหรือมีพายุคลื่นลมแรงหรือต้องการน้ำจืด ปัจจุบันชาวอูรักลาโวยจ สร้างบ้านเรือนถาวร และใช้ฐานทรัพยากรเพื่อการดำรงชีพ ทั้งจับหาสัตว์น้ำ เก็บหาพืชอาหารจากป่าชายเลน ป่าสันทราย ชาวอูรักลาโวยจให้ความสำคัญกับพิธีลอยเรือเพื่อที่จะสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับไป “ฆูนุงฌึรัย” ซึ่งเชื่อว่าเป็นบ้านเมืองเดิมของบรรพบุรุษและส่งสัตว์ที่ฆ่ากินเป็นอาหารกลับไปให้เจ้าของเดิมเพื่อไถ่บาป