2023-06-17 10:24:03
ผู้เข้าชม : 2272

มอแกลน ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยมายาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษในบริเวณชายฝั่งทะเล หลายชุมชนมีตำนาน "พ่อตาสามพัน" ซึ่งเป็นวีรบุรุษต้นกำเนิดของขาวมอแกลน ในฐานะของการเป็นเจ้าเมืองของชาวมอแกลนที่มีอาณาจักรบริเวณเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน  ชาวมอแกลนในประเทศไทยตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งทะเลในจังหวัดพังงา และภูเก็ต ด้านวิถีการดำรงชีพ ในอดีตสามารถหากินในทะเลได้อย่างอิสระ แต่ทว่า ปัจจุบัน ชาวมอแกลนเผชิญกับข้อจำกัดด้านการกำหนดให้ทะเลเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ทำให้ชาวมอแกลนถูกจำกัดพื้นที่ทำกิน บางส่วนจึงหันไปเป็นแรงงานรับจ้างในโรงแรมและรีสอร์ทในพื้นที่

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : มอแกลน
ชื่อเรียกตนเอง : มอแกลน
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ชาวเล, ไทยใหม่, มอแกนตามับ, ออลังตามับ, สิงบก, มอแกนบก
ตระกูลภาษา : ออสโตรเนเชียน
ตระกูลภาษาย่อย : มอแกน/มอแกลน
ภาษาพูด : มอแกลน
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

ชาวมอแกลน เรียกตัวเองว่า “มอแกลน” หรือ “ชาวบก” เพราะถือว่าตนเองไม่ได้เป็นชาวเกาะ และไม่ได้เดินทางออกทะเลไกล หรืออยู่อาศัยในเรือในบางช่วงดังเช่นกลุ่มมอแกน ส่วนชื่อเรียกชาวเล เป็นคำเรียกรวมทั้งสามกลุ่ม คือ มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ขณะเดียวกันคำเรียกชาวเลมีนัยยะที่สะท้อนอคติที่ชาวมอแกลนไม่ชื่นชอบที่ถูกเรียกด้วยชื่อนี้

ชายฝั่งทะเลของจังหวัดพังงา รวมถึงพื้นที่เกาะแก่ง ในทะเลอันดามัน แถบอำเภอคุระบุรีนั้นนับได้ว่าเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวมอแกลนที่ตั้งบ้านเรือนมายาวนาน มอแกลน ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยมายาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ หมู่บ้านของชาวมอแกลน หลายชุมชนมีตำนานเรื่องวีรบุรุษที่เป็นต้นกำเนิดของชาวมอแกลน ชื่อว่า “พ่อตาสามพัน” ปัจจุบันเป็นที่เคารพนับถือกัน มีศาลอยู่ที่ชายหาดบางสัก จังหวัดพังงา ในอดีต ชาวมอแกลนอพยพโยกย้ายชุมชนเนื่องจากโรคระบาด มีผู้คนล้มตาย มีสัตว์ร้าย โจรผู้ร้าย รวมทั้งในช่วงสงครามโลก ก็มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายถิ่นฐาน เพื่อหลบหนีจากภัยสงครามและการสู้รบ การรุกคืบของธุรกิจท่องเที่ยวและเหมืองแร่ทำให้การโยกย้ายถิ่นกระจัดกระจายมากขึ้น เหตุการณ์สึนามิ ส่งผลให้ชุมชนมอแกลนชายฝั่งได้รับผลกระทบ สูญเสียบ้านเรือน เครื่องมือทำมาหากิน บางครอบครัวได้รับการจัดสรรพื้นที่ในชุมชนอื่น ถึงแม้ว่าการเคลื่อนย้ายจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ชาวมอแกลนในพื้นที่พังงาและภูเก็ตก็ยังเดินทางไปมาหาสู่กัน มีความรู้สึกถึงความเป็นชุมชนหรือชาติพันธุ์เดียวกัน เมื่อเกิดปัญหาของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง เครือข่ายชาวมอแกลนจะช่วยเป็นกำลังใจให้แก่กัน ชาวมอแกลนเป็นที่รู้จักค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับชาวมอแกนและชาวอูรักลาโว้ย เนื่องจากมีการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมกับคนในท้องถิ่นภาคใต้ ทั้งวิถีชีวิต การทำมาหากิน ภาษา และการแสดงออกทางศิลปวัฒนธรรม ในประเทศไทยมีชาวมอแกลนจำนวน ในจังหวัดพังงาและภูเก็ต มีประชากรประมาณ 4,000 คน

พิธีกรรมสำคัญของชาวมอแกลน คือ การไหว้ศาลพ่อตาสามพัน จัดขึ้นในช่วงเดือนสี่ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม และใช้เต่าบกในการเซ่นไหว้ รวมถึงยังมีวัฒนธรรมข้าวปรากฏในวิถีชีวิต มีความเชื่อเรื่อง “แอนอง โส” หรือ“แอนอง โพชอบ” เป็นชื่อที่ชาวมอแกลนบนฝั่งเรียกแม่โพสพ และชุมชนชาวมอแกลนบนเกาะพระทองเคยมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับขวัญข้าวหรือจิตวิญญาณแห่งข้าว จึงกล่าวได้ว่าชาวมอแกลนมีวิถีเกษตรกรรมร่วมกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล ส่งผลให้วิถีชีวิตปรับตัวคล้ายคลึงกับท้องถิ่นภาคใต้ ยกเว้นมิติภาษาที่ยังมีภาษาของตนและเป็นภาษาที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงสูญหาย เนื่องจากคนรุ่นใหม่ปรับตัวไปใช้ภาษาท้องถิ่นภาคใต้ร่วมกับภาษามอแกนดั้งเดิม

ชาวมอแกลนตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยมายาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ หมู่บ้านของชาวมอแกลนอยู่ชายฝั่งทะเล หลายชุมชนมีตำนานเรื่องวีรบุรุษที่เป็นต้นกำเนิดของชาวมอแกลน ชื่อว่า “พ่อตาสามพัน” ปัจจุบันเป็นที่เคารพของชาวมอแกลนในหลายพื้นที่ มีศาลอยู่ที่ชายหาดบางสัก จังหวัดพังงา เอกสาร “ประวัติชุมชนและเส้นทางเรียนรู้วัฒนธรรมบ้านบางสัก ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา” (โครงการนำร่องอันดามัน 2558) ได้บันทึกตำนานที่มีรายละเอียดที่หลากหลาย แต่เนื้อหาหลักคล้ายคลึงกันว่า

“พ่อตาสามพัน เป็นเจ้าเมืองของชาวมอแกลนมีอาณาจักรบริเวณที่เป็นนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน ต่อมาเกิดการแย่งชิงอำนาจ มีการสถาปนาเจ้าเมืององค์ใหม่ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับน้องสาวของพ่อตาสามพันที่เรียกว่า “แม่ยายเจ้า” เจ้าเมืองใหม่ได้ออกอุบายกำจัดพ่อตาสามพันโดยให้ออกเดินทางเสี่ยงภัยหลายครั้ง แต่ก็รอดกลับมาได้ทุกครั้ง ในครั้งสุดท้ายเดินทางโดยทางเรือไปกับทหาร พบกับพายุใหญ่ เรือแตก ทหารล้มตายไปหมดเหลือพ่อตาสามพันที่กลับมาสู่ฝั่งได้โดยขึ้นมาบริเวณที่เป็นชายหาดบางสักในปัจจุบัน” (โครงการนำร่องอันดามัน, 2558)

ด้านเหนือสุดที่พบชุมชนมอแกลน คือ เกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นเกาะแห่งเดียวที่มีมอแกลนอาศัยอยู่ (ไม่นับรวมเกาะภูเก็ต) ส่วนด้านใต้สุดที่พบชุมชนมอแกลน คือ บ้านเหนือ หรือบ้านหินลูกเดียว จังหวัดภูเก็ต ทั้งสองแห่งเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีมอแกลนอาศัยอยู่มาช้านาน

เกาะพระทองตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ชาวมอแกลนใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนและมีวิถีอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนให้มีความอุดมสมบูรณ์มาอย่างยาวนาน ชาวมอแกลนอาศัยอยู่บนเกาะนี้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีคนจากภายเข้านอกมาทำสวนมะม่วงหิมพานต์ สวนมะพร้าว ทำแร่ ทำประมง และค้าขาย เมื่อมีคนนอกเข้ามา ชุมชนประกอบไปด้วยหลากหลายชาติพันธุ์ที่มีประวัติเชื่อมโยงพึ่งพาอาศัยกัน ทั้งชาวมอแกลน จีน ไทย ต่อมามีแรงงานชาติพันธุ์จากเมียนมาเข้ามาอาศัย ก่อนเหตุการณ์สึนามิมีหมู่บ้านที่ชาวมอแกลนอาศัยอยู่ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านปากจก บ้านท่าแป๊ะโย้ย และบ้านทุ่งดาบ

พื้นที่ปากจกตั้งอยู่บริเวณปากคลองที่ไหลลงทะเล พื้นที่นี้มีอ่าวเล็กๆ ใช้เป็นที่กำบังสำหรับให้ชาวประมงหยุดพักก่อนที่จะออกสู่ทะเล หมู่บ้านปากจกเป็นชุมชนหลายชาติพันธุ์ มีทั้งครอบครัวชาวมอแกน มอแกลน จีน และไทย ในปี พ.ศ. 2547 พิบัติภัยสึนามิทำให้บ้านเรือน โรงเรียน อาคารสิ่งก่อสร้างในชุมชนและมีผู้เสียชีวิต หลังจากนั้น มีการสร้างหมู่บ้านถาวรในบริเวณที่ปลอดภัยจากคลื่นลม ทั้งนี้ เนื่องจากความไม่สะดวกในการจอดเรือ ดูแลเรือ และทำมาหากิน ทำให้ไม่มีคนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านมากนัก

นอกจากที่เกาะพระทองแล้ว ยังมีชุมชนมอแกลนตั้งถิ่นฐานกระจายตัวกันในอำเภอคุระบุรี หลายหมู่บ้านในอำเภอคุระบุรีเป็นหมู่บ้านที่สร้างขึ้นหรือสนับสนุนโดยองค์กรหรือมูลนิธิที่เข้ามาช่วยเหลือหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อหมู่บ้านเดิมเสียหายและถูกทำลายไป หมู่บ้านที่สร้างขึ้นหลังสึนามิมีหมู่บ้านธารคีริน หมู่บ้านเทพประทาน หมู่บ้านชัยพัฒนา-กาชาดไทย (ทุ่งรัก) และหมู่บ้านเทพรัตน์

พื้นที่ริมฝั่งทะเลของจังหวัดพังงามีชุมชนของชาวมอแกลนที่ตั้งถิ่นฐานมาแต่ดั้งเดิม เช่น ที่ริมทะเลบางสัก เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวมอแกลนมายาวนานก่อนที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่จะเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ บรรพบุรุษของชาวมอแกลนเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวมอแกลนน่าจะอพยพมาจากบ้านในหยง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา และเริ่มตั้งถิ่นฐานที่บ้านลำปี บ้านเกาะนก บ้านทับปลา บางส่วนที่มาถึงบริเวณบางสักนี้ จึงได้เริ่มตั้งถิ่นฐานที่ “นากก” บุกเบิกพื้นที่ทำสวน ทำข้าวไร่ พร้อมทั้งทำประมง หาปลา ปู กุ้ง หอย และสัตว์ทะเลอื่นๆ รวมทั้งเก็บผักผลไม้ป่า ต่อมาได้ย้ายมาที่ทุ่งทุ ทุ่งเค็ด นายาว และพื้นที่อื่นๆ ในบริเวณนี้ แม้ว่าจะมีชุมชนมอแกลนกระจายตัวอยู่เพียง 2 จังหวัดคือพังงาและภูเก็ต แต่ก็มีจำนวนชุมชนกว่า 20 แห่ง ซึ่งนับว่ามีจำนวนชุมชนมากที่สุดในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลด้วยกัน

ในอดีต ชาวมอแกลนอพยพโยกย้ายชุมชนเนื่องจากโรคระบาด มีผู้คนล้มตาย มีสัตว์ร้าย โจรผู้ร้าย รวมทั้งในช่วงสงครามโลก ก็มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายถิ่นฐาน เพื่อหลบหนีจากภัยสงครามและการสู้รบ เอกสาร “ประวัติชุมชนและเส้นทางเรียนรู้วัฒนธรรมบ้านบางสัก ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา” (โครงการนำร่องอันดามัน 2558) บันทึกว่า ผู้เฒ่าชาวมอแกลนเผชิญช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเล่าว่ามีทหารญี่ปุ่นเข้ามาพื้นที่ มีการทิ้งระเบิด มีการสู้รบกันกับทหาร “ฝรั่ง” หลังจากนั้นเกิดข้าวยากหมากแพงและโจรผู้ร้ายชุกชุม ชาวมอแกลนต้องเข้าป่าขุดหัวมันรับประทาน บางครอบครัวขายที่ดินไปในราคาถูก เพื่อแลกเปลี่ยนกับเสื้อผ้าและของจำเป็นอื่นๆ

นอกจากนี้ เอกสาร ยังได้ระบุประวัติพัฒนาการของชุมชนบางสักเป็น 5 ยุคที่สะท้อนประสบการณ์ของชาวมอแกลนหลายชุมชนที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการย้ายถิ่นฐานจากแรงกดดันหรือแรงดึงดูดจากภายนอก

1) ยุคทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ในช่วงเวลานี้ชาวมอแกลนสามารถดำรงชีพหากินในท้องทะเลได้อย่างอิสระ แต่ทว่า การดำรงชีพต้องเผชิญกับความเสี่ยงและภัยอันตรายต่างๆ ทั้งนสัตว์ร้าย โจรผู้ร้าย โรคระบาด ฯลฯ การทำข้าวไร่ การทำประมงเพื่อยังชีพ และการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเป็นครั้งคราวถือเป็นวิถีชีวิตหลักของชาวมอแกลนในยุคนี้

2) ยุคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ในช่วงเวลานี้ได้เกิดการโยกย้ายและการกระจายตัวของชุมชน ผู้คนจากภายนอกเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่มากขึ้น นอกจากจะเป็นการบุกเบิกพื้นที่ทำเหมืองแล้ว ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนภายนอกเข้ามาจับจองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ชาวมอแกลนบางส่วนอพยพโยกย้ายเข้าไปอยู่ตามพื้นที่ด้านในแผ่นดินที่เป็นป่าและบนเนินเขามากขึ้น ในขณะเดียวกันมีชาวมอแกลนบางส่วนโยกย้ายไปหางานในเหมืองแร่

3) ยุคการส่งเสริมพืชพาณิชย์และการส่งเสริมการท่องเที่ยว ในช่วงเวลานี้มีร้านค้า ฟาร์มกุ้ง ที่พักหรือโรงแรมท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กและกลางเกิดขึ้น การเกิดขึ้นของสถานประกอบการดังกล่าวถือเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของชาวมอแกลน ในขณะเดียวกันจากการกระแสการพัฒนาในพื้นที่ได้เป็นเงื่อนไขที่ดึงดูดให้คนภายนอกเข้ามาออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินเพิ่มขึ้น ทำให้แหล่งอาศัยและแหล่งทำมาหากินของชาวมอแกลนลดลง ผู้คนในชุมชนจึงมีการปรับเปลี่ยนอาชีพหันไปเป็นแรงงานรับจ้างเพิ่มขึ้น การเป็นแรงงานปีนเก็บมะพร้าว การเป็นแรงงานรับจ้างถางพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ฯลฯ

4) ยุคหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ หลังเหตุการณ์สึนามิใน พ.ศ. 2547 ได้มีหน่วยงาน องค์กร มูลนิธิเข้ามาให้ความช่วยเหลือชาวเลทั้งมอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ทำให้ทั้ง 3 กลุ่มชาติพันธุ์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในช่วงเวลานี้ได้เกิดการรวมกลุ่มกันของชาวมอแกลนในหลายพื้นที่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่เริ่มเป็นประเด็นสาธารณะสำคัญของสังคม

5) ยุคการรุกคืบของธุรกิจการท่องเที่ยว ในช่วงเวลานี้ได้เกิดการขยายตัวของโรงแรม รีสอร์ท และร้านอาหาร เมื่อที่ดินเริ่มมีราคาสูงขึ้นประกอบกับธุรกิจท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ดีขึ้น จึงมีกลุ่มทุนจากภายนอกเข้ามาลงทุนสร้างโรงแรม รีสอร์ท ร้านค้า ร้านอาหาร จนเกิดปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างชาวและนายทุนนอกพื้นที่

จะเห็นได้ว่าในระยะที่พื้นที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ชาวมอแกลนก็โยกย้ายบ้านเรือนและชุมชน ด้วยเหตุผลที่ต่างจากเดิม คือมีคนเข้ามาตั้งหลักแหล่งและจับจองปรับเปลี่ยนพื้นที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งชาวมอแกลนยังโยกย้ายเพื่อโอกาสของการทำงาน โดยเฉพาะในยุคที่กิจการค้า การขนส่ง เหมืองแร่ดีบุกเฟื่องฟูในหลายพื้นที่นับตั้งแต่ระนองถึงภูเก็ต เช่น ชาวมอแกลนบ้านแหลมหลา (ท่าฉัตรไชย) จังหวัดภูเก็ตที่ข้ามฝั่งย้ายไปมาที่ท่านุ่น จังหวัดพังงา เพื่อรับจ้างทำงานขนข้าวสารกับเรือขนส่งสินค้า ชาวมอแกลนบางส่วนที่อาศัยอยู่บนเกาะพระทอง จังหวัดพังงา ย้ายไปอยู่อาศัยและทำงานในแหล่งแร่ที่เกาะชาดเพื่อรับจ้างขุดแร่ ร่อนแร่ เมื่อได้สถานที่ทำงานเป็นหลักแหล่งก็ลงหลักปักฐานสร้างที่อยู่

ชาวมอแกลนบางส่วนโยกย้ายที่อยู่อาศัย จับจองและเป็นเจ้าของพื้นที่สวน ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ ปลูกพืชผักเพื่อจุนเจือครอบครัว กลุ่มที่มีที่ดินจะมีฐานะและโอกาสทางเศรษฐกิจดีกว่ากลุ่มที่อยู่ริมฝั่งทะเล เมื่อที่ดินมีราคาแพงขึ้นและคนนอกเข้ามาจับจองพื้นที่ ชาวมอแกลนหลายครอบครัวที่อาศัยตามริมทะเลจึงค่อยๆ สูญเสียที่ดิน โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์สึนามิ หลายชุมชนไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์หรือเก็บหาทำกินในพื้นที่ที่เคยทำมาหากินมาก่อน

การโยกย้ายอีกระลอกเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์สึนามิ ชาวมอแกลนในหลายชุมชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งทะเลได้รับความเสียหายจากภัยพิบัตินี้ บางส่วนสูญเสียบ้านเรือน เรือ เครื่องมือประมง ทรัพย์สินต่างๆ หรือแม้แต่สูญเสียสมาชิกในครัวเรือน หลายครอบครัวต้องอพยพไปอยู่บ้านพักชั่วคราว และบ้างก็ต้องย้ายไปอยู่ในบ้านถาวรที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น ชาวมอแกลนจากท่าแป๊ะโย้ย ปากจกและทุ่งดาบหลายครอบครัวย้ายไปอยู่ที่บ้านธารคีริน บ้านชัยพัฒนา-กาชาดไทย (บ้านทุ่งรัก) บ้านเทพประทาน และบ้านเทพรัตน์ ส่วนชาวมอแกลนจากปากวีปและแหลมปะการังหลายครอบครัวย้ายไปอยู่ที่บ้านบางขยะ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวมอแกลนจะกระจายตัวอยู่กันคนละพื้นที่ แต่ก็ยังคงมีปฏิสัมพันธ์ ไปมาหาสู่กันและยังมีความรู้สึกถึงความเป็นชุมชนหรือชาติพันธุ์เดียวกัน เมื่อเกิดปัญหาของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง เครือข่ายชาวมอแกลนจะช่วยเป็นกำลังใจให้แก่กัน รวมทั้งเชื่อมโยงกับกลุ่มมอแกนและอูรักลาโว้ยด้วย

ชาวมอแกลน มีประชากรประมาณ 4,000 คน อาศัยอยู่ในหลายหมู่บ้านของจังหวัดพังงาและภูเก็ต ในพื้นที่จังหวัดพังงานั้น ชาวเลมอแกลนอาศัยอยู่ที่บ้านท่าแป๊ะโย้ย บ้านทุ่งดาบ บนเกาะพระทอง และหมู่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่หลังเหตุการณ์สึนามิ คือบ้านธารคีริน บ้านเทพประทาน บ้านชัยพัฒนา-กาชาดไทย (หรือบ้านทุ่งรัก) และบ้านเทพรัตน์ ตำบลแม่นางขาว บ้านกลาง ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี บ้านน้ำเค็ม บ้านทับตะวัน บ้านบนไร่ ตำบลบางม่วง บ้านบางขยะ บ้านทุ่งหว้า ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า บ้านลำแก่น บ้านคลองญวนใต้ บ้านทับปลา ตำบลลำแก่น บ้านเกาะนก บ้านขนิม ตำบลทุ่งมะพร้าว บ้านหินลาด บ้านลำปี ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง บ้านท่าใหญ่ ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง ส่วนที่จังหวัดภูเก็ต มีหมู่บ้านมอแกลนที่บ้านแหลมหลา (ท่าฉัตรไชย) และบ้านเหนือ (หินลูกเดียว) ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง ทั้งนี้จำนวนประชากรโดยประมาณการของชาวมอแกลน สามารถแสดงดังตารางที่ 1

ตัวเลขประชากรด้านล่างเป็นข้อมูลที่เก็บโดยมูลนิธิชุมชนไทในปี พ.ศ. 2553-2554 ยกเว้นที่มีเครื่องหมาย * ซึ่งเป็นข้อมูลคาดประมาณโดยโครงการนำร่องอันดามัน และเครื่องหมาย ** เป็นข้อมูลที่เก็บในปี พ.ศ. 2558 โดยโครงการนำร่องอันดามัน จะเห็นได้ว่าข้อมูลส่วนใหญ่เก็บมาเมื่อหลายปีที่แล้ว จึงประมาณการว่าประชากรคงจะเพิ่มมากกว่าเดิมและน่าจะเป็นตัวเลขประมาณ 4,000 คน ทั้งนี้ ชาวมอแกลนมีการแต่งงานข้ามกลุ่มเพิ่มขึ้น การระบุชาติพันธุ์ก็จะมีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย

การดำรงชีพ

แม้ว่าชาวมอแกลนจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทางทะเล แต่เมื่อเทียบกับชาวมอแกนและชาวอูรักลาโว้ยแล้ว กลับพบว่า ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้มีวิถีการทำมาหากินที่พึ่งพาสิ่งแวดล้อมบนบก ส่วนพื้นที่ชายฝั่งมักจะเป็นเพียงที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินบริเวณน่านน้ำทะเลที่สงบมากกว่าการออกหากินในทะเลลึกเป็นระยะเวลานานดังเช่นชาวมอแกนและชาวอูรักลาโว้ย ชาวมอแกลนส่วนใหญ่ทำประมงหาสัตว์ทะเลตามชายฝั่ง ชายหาดและตามป่าชายเลน ชุมชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งทะเลที่มีหาดทรายและแนวปะการัง มักจะหาปลา กุ้ง หอยชนิดต่างๆ และปลาหมึกสาย (ที่เรียกในภาษาถิ่นใต้ว่า “วุยวาย” หรือ “โวยวาย” และเรียกในภาษามอแกลนว่า “ดาหวาก”) ส่วนชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลนมักจะหาหอย ปู ปลิงทะเล ปลา และสัตว์ทะเลตามดงโกงกางและพืชชายเลนอื่นๆ

หลังจากที่การประมงกลายเป็นการทำมาหากินเพื่อการค้าขายมากขึ้น จำต้องมีการลงทุนเพื่อเรือ เครื่องเรือ และเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เถ้าแก่หรือนายหัวรุ่นแรกมักจะเป็นคนจีนที่ออกทุนให้ชาวมอแกลนออกเรือทำประมง ใช้เบ็ด อวน ลอบหรือไซ เพื่อจับปลา ปลาหมึก ดำปลิง

นอกจากอาชีพประมงแล้ว ชาวมอแกลนยังมีความเป็น “ชาวนาชาวไร่” ที่แตกต่างจากชาวมอแกนและชาวอูรักลาโว้ย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีดินอุดมสมบูรณ์ ส่วนในพื้นที่ดินทรายหรือบริเวณที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก ชาวมอแกลนยังคงเน้นที่การหาปลา ปู กุ้ง หอย ฯลฯ ริมฝั่งทะเล

เอกสาร “ประวัติชุมชนและเส้นทางเรียนรู้วัฒนธรรมบ้านบางสัก ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา” ระบุว่า

“ในสมัยก่อนชาวมอแกลนในหลายชุมชนเคยปลูกข้าวไร่บริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลและบนเขาโดยการพึ่งพาน้ำฝน การปลูกข้าวไร่ใช้แรงคนล้วนๆ ไม่ต้องอาศัยแรงสัตว์แบบปลูกข้าวในนา ชาวมอแกลนเริ่มทำข้าวไร่ในช่วงต้นฤดูฝนคือประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน มีการหยอดเมล็ดข้าวในหลุมที่ทำโดยใช้ไม้ทิ่มลงไปในดิน และรอให้ต้นข้าวเจริญเติบโตออกรวง จึงเก็บเกี่ยวโดยใช้เคียวหรือใช้ “นมัน” หรือแกะเก็บข้าว เมื่อทำไร่ข้าว 1-2 ฤดูกาลแล้วก็เปลี่ยนพื้นที่แต่ก็ไม่ได้เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่เสมอไป บ่อยครั้งที่เวียนกลับมาทำไร่ข้าวในพื้นที่ที่เคยปล่อยรกร้างจนกลับมาเป็นป่ารก ชาวมอแกลนจึงมีความผูกพันกับผืนดินและอยู่อาศัยติดที่ในบางช่วงเวลาเพื่อที่จะดูแลและเก็บเกี่ยวข้าวไร่” (โครงการนำร่องอันดามัน 2558)

บางชุมชนที่มีพื้นที่หนองน้ำหรือมีพื้นที่น้ำขังในช่วงฤดูฝนจะมีการทำนาแปลงขนาดเล็ก ใช้การเหยียบย่ำให้ดินอ่อนและหว่านเมล็ดข้าวลงไป เมื่องอกออกเป็นต้นกล้าแล้วจะถอนมาปักดำบริเวณพื้นที่ที่มีดินอุดมสมบูรณ์ การทำข้าวไร่และข้าวนาทำให้เกิดวัฒนธรรมการช่วยเหลือลงแรงคล้ายกับสังคมเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเก็บเกี่ยว การฟาดข้าวเพื่อแยกเมล็ดข้าวเปลือกออกมาเก็บไว้ในยุ้ง ในสมัยก่อนมีครกและสากไม้เพื่อตำข้าวมากินในแต่ละมื้อ

หลังจากที่เริ่มมีการทำสวนมะพร้าว สวนยางพารา อุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก ชาวมอแกลนได้หันมาทำงานรับจ้างเพื่อแลกกับข้าวและของจำเป็นอื่น ๆ ชุมชนที่อยู่ไม่ไกลจากหาดทรายบางส่วนได้หันมาวิดแร่บริเวณชายหาด ที่สามารถทำได้เฉพาะในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เท่านั้น (ประมาณเดือนมิถุนายนถึงกันยายน) เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวทะเลมีคลื่นลมจัดที่กวาดทรายบริเวณชายหาดกลับลงทะเลไปแต่ในขณะเดียวกันก็จะกวนเอาเศษแร่จากพื้นทะเลขึ้นมาบริเวณชายหาด ต่อจากนั้นก็จะนำเอาทรายที่มีเศษผงแร่มาร่อนด้วยเลียง (โครงการนำร่องอันดามัน 2558)

ในระยะหลัง เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้า และการบริการเติบโตขึ้นอย่างมากในพื้นที่ริมฝั่งทะเลอันดามัน ชาวมอแกลนในชุมชนที่ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่เมืองหรือกึ่งเมืองเข้ามาทำงานรับจ้างมากขึ้น เช่น การเป็นแรงงานรับจ้างทำสวน ล้างจาน เป็นแม่บ้านทำความสะอาด รับจ้างเฝ้าร้านหรือขายของ พนักงานรักษาความปลอดภัย ฯลฯ

นอกจากนี้ ชาวมอแกลนยังมีภูมิปัญยาดั้งเดิมด้านหัตถกรรมจักสานที่จากภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ค่อยๆ เลือนหายไปเช่นเดียวกัน เช่น หัตถกรรม “ชอบ” หรือ “สอบ” เป็นภาชนะใส่ของที่ได้จากการนำวัสดุที่มีในธรรมชาติ คือใบเตยหนามมาจักสาน นอกจากนั้น ชาวมอแกลนยังมีความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองในการรักษาพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ความรู้ชุดนี้ถูกละเลยและจำกัดอยู่เฉพาะคนบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุชาวมอแกลนบางรายที่ยังนิยมใช้ยาสมุนไพรและการรักษากับหมอพื้นบ้านมากกว่าแพทย์สมัยใหม่

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวมอแกลนดั้งเดิมมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็น “วิญญาณบรรพบุรุษ” และ “วิญญาณในธรรมชาติ” ดังนี้

“พ่อตาสามพัน” มีศาลตั้งอยู่บริเวณหน้าชายหาดบางสัก ชาวมอแกลนจะประกอบพิธีกรรมที่หน้าศาลเป็นประจำปีในเดือนสี่ทางจันทรคติ (ประมาณเดือนมีนาคม) มีเสาไม้ไผ่สูงที่มียอดเป็นรูปนกและประดับธงผ้าสีขาวยาวอยู่ด้านหน้าศาล ปัจจุบันถูกคั่นกลางด้วยถนน (นฤมล อรุโณทัยและคณะ, 2558)

“พ่อตาหลวงจักร” ชาวมอแกลนที่ลำปี ให้ความเคารพนับถือสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เชื่อว่าเป็นวิญญาณที่มีอำนาจ สามารถดูแลและปกป้องให้พ้นจากอันตรายต่างๆ โดยวิญญาณพ่อตาหลวงจักรสถิตอยู่ในจอมปลวกตั้งอยู่ที่บ้านลำปี อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ชาวบ้านจะสร้างศาลาไม้คร่อมไว้บนจอมปลวก ถือเป็นสถานที่เคารพนับถือของผู้คนทั้งในและนอกหมู่บ้าน มีการจัดงานประเพณีไหว้พ่อตาหลวงจักรเป็นประจำทุกปีในเดือนห้าทางจันทรคติ (นฤมล อรุโณทัยและคณะ, 2557)

นอกจากนั้นยังมี “วิญญาณพ่อแม่ปู่ย่าตายาย” ที่สิงสถิตอยู่ในชามหรือถ้วยเคลือบใบเล็กซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของครอบครัว เครือญาติ และสายตระกูล และมีวิญญาณที่สิงสถิตตามสถานที่ต่างๆ ในธรรมชาติ เช่น “โต๊ะปากพระ” ทำหน้าที่ปกปักรักษาช่องแคบด้านเหนือของเกาะภูเก็ตแต่มีศาลเคารพอยู่ในบ้านท่าฉัตรไชยหรือแหลมหลา

“พ่อตาหินกอง” ทำหน้าที่ปกปักรักษาบริเวณหินกองในช่องแคบข้างบ้านปากจก จังหวัดพังงา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชุมชนมอแกลนบ้านปากจกและบ้านที่แป๊ะโย้ยเคารพนับถือ โดยจะมีการออกชื่อก่อนออกทะเล

“พ่อหมอ” เป็นตัวแทนติดต่อเชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์และโลกจิตวิญญาณผ่านพิธีกรรม และเป็นที่เคารพนับถือของชาวมอแกลนในชุมชน จะเห็นได้ว่าแต่ละชุมชนมอแกลนนั้นมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพ่อตา เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมในช่วงวันสำคัญ ซึ่งความเชื่อและการแสดงออกถึงความเคารพต่อวิญญาณบรรพบุรุษที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ ชาวมอแกลนส่วนใหญ่ยังคงสืบทอดมาสู่ชนรุ่นหลัง และไม่เพียงแต่ในกลุ่มมอแกลนเท่านั้นที่มีความศรัทธาและความเชื่ออย่างแรงกล้า คนไทยบางส่วนที่อยู่ในชุมชนหรือบริเวณใกล้เคียงก็ให้ความเคารพเช่นกัน เช่น ศาลพ่อตาสามพัน ซึ่งเป็นที่เคารพของผู้คนหลายกลุ่มเพราะเมื่อบนบานเรื่องใดๆ เป็นผลสำเร็จแล้วก็มักมาแก้บนตามที่ได้ให้คำมั่นไว้

ปัจจุบัน ชาวมอแกลนส่วนใหญ่ได้ผสมผสานเอาศาสนาพุทธเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและประเพณี เช่น เมื่อมีงานศพ จะมีการนิมนต์พระมาสวด หลังจากนั้น จะจัดการกับศพโดยการฝังที่สุสานตามขนบประเพณีเดิม ไม่ได้เผาศพตามธรรมเนียมของพุทธศาสนา

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณีและพิธีกรรมของชาวมอแกลนมีส่วนที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชาวมอแกลน และมีส่วนที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมมอแกน ไทย และมลายู พ่อหมอที่เป็นสื่อกลางระหว่างโลกจิตวิญญาณและโลกมนุษย์จะคาดผ้ารอบศีรษะระหว่างประกอบพิธีกรรมในบางพิธี ซึ่งคาดว่าอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมมลายู

ในพิธีสำคัญเช่นการไหว้ศาลพ่อตาสามพัน ชาวมอแกลนใช้เต่าบกในการเซ่นไหว้ คล้ายกับการเซ่นไหว้เสาวิญญาณบรรพบุรุษด้วยเต่าทะเลของมอแกน ซึ่งอาจเป็นได้ว่าเต่าทะเลหายากขึ้นสำหรับคนบนบก ชาวมอแกลนจึงใช้เต่าบกในการทำพิธีกรรมแทนเต่าทะเล (นฤมล อรุโณทัย และคณะ, 2557)

นอกจากนั้น ข้าวสารและข้าวเหนียวเป็นองค์ประกอบในหลายพิธีกรรม ซึ่งอาจจะสะท้อนว่าวัฒนธรรมข้าวก็เป็นสิ่งที่ชาวมอแกลนมีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยที่หลายชุมชนยังทำข้าวไร่ และรับวัฒนธรรมข้าวของไทยมาด้วยเพราะมีความเชื่อเรื่อง “แอนอง โส” (ชื่อที่ชาวมอแกลนเกาะพระทองเรียกแม่โพสพ) หรือ“แอนอง โพชอบ” (ชื่อที่ชาวมอแกลนบนฝั่งเรียกแม่โพสพ) และชุมชนชาวมอแกลนบนเกาะพระทองเคยมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับขวัญข้าวหรือจิตวิญญาณแห่งข้าว (โอลิเวียร์ แฟร์รารี และคณะ, 2549)

ประเพณีและพิธีกรรมที่สำคัญที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวมอแกลน นอกเหนือจากการไหว้ศาลสำคัญของชุมชนแล้ว ยังมีพิธีต่างๆ ดังนี้

พิธีไหว้ “ตายายถ้วย” จัดขึ้นในเดือนสี่ทางจันทรคติ เป็นพิธีประจำปีที่สำคัญกับมอแกลน พิธีในช่วงกลางวันจัดขึ้นในป่าใกล้หมู่บ้าน มีพ่อหมอและผู้เฒ่ามอแกลนเป็นผู้ประกอบพิธี ช่วงเช้าเป็นพิธีกลางที่เกี่ยวกับการตั้งของเซ่นไหว้ตายาย ตั้งเครื่องเซ่นไหว้เจ้าที่และดวงวิญญาณทั่วไป ส่วนพิธีช่วงกลางคืนเป็นพิธีกรรมของแต่ละครอบครัว

พ่อหมอจะประกอบพิธีไปทีละบ้านจนครบทุกบ้าน ชาวมอแกลนแต่ละบ้านมักจะมีถ้วยกระเบื้องเคลือบแขวนไว้ในบ้าน เป็นเสมือนตัวแทนของวิญญาณบรรพบุรุษปู่ย่าตายาย และในช่วงงานบุญสารทเดือนสิบก็จะมีการนำอาหาร ขนมที่ได้จากการรับบุญมาไหว้ถ้วยตายายก่อนที่จะนำไปรับประทานด้วยเพื่อแสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและให้คุ้มครองปกปักรักษาลูกหลานให้ปลอดภัย

พิธีกรรมนี้ลดลงไปเนื่องจากขาดพ่อหมอผู้สืบทอดพิธีกรรมและถ้วยตายายสูญหายและถูกทำลายจากคลื่นสึนามิ ชาวมอแกลนหลายครอบครัวจึงขาดศูนย์รวมจิตใจและลดทอนความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวของพิธีที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันของสมาชิกครอบครัว

พิธีลอยเรือ พิธีลอยเรือเป็นพิธีที่จัดขึ้นเฉพาะที่บ้านแหลมหลาหรือท่าฉัตรไชย ในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 และเดือน 11 เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือช่วยปกป้องคุ้มครองชาวบ้านในชุมชน อีกทั้งเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ลูกหลานหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนในเรือลอยเคราะห์จะมีการตัดเล็บตัดผมใส่ไปในเรือ และเฉลิมฉลองด้วยเพลงและการร่ายรำ ความแตกต่างของพิธีลอยเรือของชาวมอแกลนและชาวอูรักลาโว้ยอยู่ที่ตัวเรือ ซึ่งเรือของชาวมอแกลนแหลมหลาจะสร้างจากหยวกกล้วยนำมาเรียงกันและขึ้นเป็นรูปลำเรือ มีหลังคา และมีใบเรือที่ทำด้วยผ้าขาวม้า ตกแต่งและประดับเรือและบริเวณรอบๆ ด้วยดอกไม้และกระดาษริ้ว

ในส่วนของพิธีกรรม จะมีพ่อหมอเป็นผู้ประกอบพิธีนำเครื่องเซ่นไหว้ มีข้าวและกับข้าวของแต่ละบ้านใส่จานเรียงกันและไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองชาวมอแกลน เมื่อเสร็จพิธีกรรมจะเป็นการเฉลิมฉลอง ร้องเพลง ตีกลองรำมะนา ท่ามกลางบรรยากาศที่สนุกสนานครื้นเครง การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อมีการนำไมโครโฟนและเครื่องเสียงเข้ามาใช้แทนการร้องเพลงสดและเครื่องดนตรี ทำให้เกิดเสียงอึกทึกครึกโครม การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่แสดงออกถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงกันก็น้อยลง เนื่องจากบางคนต้องทำงานนอกชุมชน จึงไม่มีเวลาร่วมพิธี ความสำคัญของพิธีลอยเรือจึงยังคงมีอยู่ในกลุ่มผู้อาวุโสและชาวมอแกลนส่วนหนึ่งที่สะดวกมาร่วมงานเท่านั้น

ประเพณีนอนหาด เป็นงานประเพณีประจำปีของชาวมอแกลนบ้านแหลมหลาหรือบ้านท่าฉัตรไชยและบ้านหินลูกเดียว จังหวัดภูเก็ต จัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 13-15 ค่ำเดือน 3 เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ประเพณีนี้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเพื่อแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ คือ พ่อตาหินลูกเดียว และการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางทะเล มีการแก้บนสะเดาะเคราะห์ด้วย

ชาวมอแกลนบ้านแหลมหลาและบ้านหินลูกเดียวจะมารวมตัวกันที่บริเวณหาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ตเพื่อจัดพิธีนี้ และมีเครือญาติชาวมอแกลนจากหลายพื้นที่ มาร่วมพิธีกรรมสำคัญและมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกันระหว่างเครือญาติชาติพันธุ์

พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว ชาวมอแกลนเคยมีพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว แต่ทั้งพิธีและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องนับวันจะเลือนหายไปจากสังคมชาวมอแกลน เพราะไม่ได้มีการปลูกข้าวเช่นในอดีต ชาวมอแกลนที่เกาะพระทอง จังหวัดพังงา เคยมีเทศกาลข้าวในช่วงหลังการเก็บเกี่ยว มีการนำข้าวเปลือกใหม่ มาตำให้เปลือกกะเทาะออก และนำไปคั่วในกระทะร้อนๆ ที่ตั้งบนหินสามเส้า ข้าวจะปะทุและพองออกกลายเป็น “ข้าวตอก” ที่ใช้ในพิธีกรรมสักการะวิญญาณบรรพบุรุษและนำมาโปรยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพยากรณ์ดวงชะตาของผู้คนและชุมชน พิธีจัดขึ้นบริเวณไร่ข้าวและบ้านที่อยู่อาศัย มีการสร้างแท่นบูชาไม้ขนาดเล็กซึ่งเปรียบเป็นที่พำนักของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ (นฤมล อรุโณทัย และคณะ, 2557)

พิธีกรรมและประเพณีที่เกี่ยวกับข้าวนั้นสูญหายไปตั้งแต่ไม่มีการปลูกข้าวคงเหลือเพียงการใช้ข้าวและกับข้าวเป็นเครื่องเซ่นในพิธีลอยเรือเท่านั้น

ประเพณีรับบุญสารทเดือนสิบ บุญสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทยปักษ์ใต้ เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วหรือบุคคลในครอบครัว จัดขึ้นช่วงวันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ทางจันทรคติ ชาวไทยปักษ์ใต้จะไปทำบุญที่วัดและอุทิศส่วนกุศลส่งดวงวิญญาณให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และจะนำอาหารคาวหวาน ผลไม้ ขนม ใส่สำรับหรือเพื่อนำไปตั้งให้เหล่าวิญญาณที่เชื่อว่าจะกลับขึ้นมาจากยมโลกเพื่อมาเยี่ยมญาติหรือครอบครัว หรือที่เรียกว่า “ตั้งเปรต” หรือ “ชิงเปรต”

ชาวเลทั้ง 3 กลุ่มรวมทั้งชาวมอแกลนเชื่อว่าบรรพบุรุษผู้ล่วงลับของตนเองจะมารับบุญในโอกาสนี้ จึงเดินทางมาขอรับบุญตามวัดต่างๆ และนำกลับบ้าน หลังจากนั้นจะมีการทำพิธีไหว้และส่งต่ออาหารและขนมแก่ “ตายาย” หรือบรรพบุรุษ เนื่องจากความเชื่อว่าหากบรรพบุรุษได้กินอิ่ม ลูกหลานก็จะอยู่อย่างสบาย อาหารและขนมที่เหลือจากการไหว้จะนำกลับมารับประทาน โดยถือว่าผู้รับประทานจะมีโชคลาภ ชาวมอแกลนจะนำ “ชอบ” หรือ “สอบ” ที่สานจากใบเตยหนามมาเตรียมรับขนมต้ม ขนมเทียน ขนมห่อ ขนมลา และของไหว้ต่างๆ รวมทั้งกับข้าวเพื่อนำกลับบ้าน รวมถึงเศษสตางค์ที่คนเตรียมนำมาให้ทาน (นฤมล อรุโณทัย และคณะ, 2557) ในระยะหลัง เมื่อไม่มีการนำใบเตยหนามมาสาน “ชอบ” ชาวมอแกลนจึงหันมาใช้ถังหรือถุงพลาสติกมาใส่อาหารและขนมแทน

นอกจากชาวมอแกลนแล้ว จะเห็นชาวมอแกน และชาวอูรักลาโว้ยมาร่วมรับบุญตามวัดต่างๆ เช่นกัน วัดบางแห่งจึงเนืองแน่นไปด้วยผู้คนในช่วงเช้าที่มีการมาร่วมทำบุญ และคึกคักมากขึ้นในช่วงที่มีการตั้งเปรตและชิงเปรต ชาวมอแกนและมอแกลนบางคนนำเปลือกหอยมาขาย ส่วนชาวอูรักลาโว้ยบางคนนำเครื่องประดับมุกและเปลือกหอยมาขาย และได้รับความสนใจจากคนที่มาร่วมในงานเป็นอย่างดี การขอและรับบุญในประเพณีสารทเดือนสิบถือเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชาวไทยพุทธปักษ์ใต้

ชาวมอแกลน ชาวมอแกน และชาวอูรักลาโว้ยอย่างต่อเนื่องมาอย่างเนิ่นนาน

ผู้อาวุโสชาวมอแกลนจะสั่งสอนให้ลูกหลานไปรับบุญเป็นประจำทุกปี เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ส่วนใหญ่จะเดินทางร่วมกันเป็นกลุ่มหรือชักชวนกันมา และพักค้างคืนที่วัดหรือตามบ้านญาติหรือริมถนนสายใดสายหนึ่งก่อนวันงานประเพณี ปัจจุบัน เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เด็กชาวมอแกลนบางคนไม่กล้าที่จะไปรับบุญตามวัด เพราะเกรงว่าจะถูกเพื่อนล้อเลียนและดูถูก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่เรียนร่วมกับเด็กชาวไทย

นอกจากพิธีที่กล่าวมาแล้ว ชาวมอแกลนยังมีพิธีที่เป็นพิธีกรรมของช่วงชีวิตบุคคล เช่น พิธีแต่งงาน พิธีศพ ฯลฯ ที่มีส่วนผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยพุทธและวัฒนธรรมสมัยใหม่ มีพิธีกรรมร่วมของเครือญาติและสายตระกูล เช่น การทำความสะอาดหลุมศพที่สุสาน ซึ่งเป็นแหล่งรวมทางจิตวิญญาณ ที่ทำเป็นประจำทุกปีในเดือนห้าทางจันทรคติ ลูกหลานชาวมอแกลนจะเตรียมอาหารมาไหว้หลุมศพและจัดเป็นพิธีสำคัญประจำปี ในช่วงเวลากลางวันจะมารวมกันบริเวณสุสาน มีการปัดกวาดทำพื้นที่ให้สะอาดเรียบร้อย นำอาหาร ขนม และน้ำดื่ม มาไหว้เป็นการแสดงความเคารพและกตัญญูต่อบรรพบุรุษ

โครงการนำร่องอันดามันและหน่วยวิจัยชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2556). แนวทางการแก้ไขปัญหาความมั่นคงของมนุษย์และชุมชน---พื้นที่นำร่องของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล. เอกสารหมายเลข 2, โครงการต้อยติ่ง. พิมพ์ครั้งที่ 3. กันยายน 2556.

โครงการนำร่องอันดามันและหน่วยวิจัยชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์-มหาวิทยาลัย. (2558). ประวัติชุมชนและเส้นทางเรียนรู้วัฒนธรรมบ้านบางสัก ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา. งานวิจัยเชิงปฏิบัติการสนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน)

นฤมล อรุโณทัย. (2546). “เพื่อความเข้าใจในมอแกน” ความรู้และมายาคติเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ใน ชาติพันธุ์และมายาคติ. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

นฤมล อรุโณทัยและคณะ. (2558). สรุปการจัดค่ายวัฒนธรรมเด็กเล ภายใต้โครงการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมชาวเล โดยโครงการนำร่องอันดามันและหน่วยปฏิบัติการวิจัยชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. วันที่ 8 มีนาคม 2558 ณ บ้านบางสัก จังหวัดพังงา.

นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2559). มารู้จักเรา-เด็กเล. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: บริษัท จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์ จำกัด.

ปรีดา คงแป้น. (2555). วิกฤต วิถีชาวเล. กรุงเทพฯ: มูลนิธิชุมชนไท.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2557). ทักษะวัฒนธรรมชาวเล. เรียบเรียงโดยนฤมล อรุโณทัยและคณะ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: หจก.ภาพพิมพ์.

โอลิเวียร์ แฟร์รารี และคณะ. (2549). คลื่นแห่งความยุ่งยากบนเกาะพระทอง. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง



close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว