2023-06-15 20:08:46
ผู้เข้าชม : 2813

มอแกน มีถิ่นฐานดั้งเดิมในหมู่เกาะมะริด ประเทศเมียนมา รวมทั้งหมู่เกาะในทะเลอันดามัน ประเทศไทย เดิมชนกลุ่มนี้มีวิถีชีวิตแบบเคลื่อนย้ายตามรอบฤดูกาล โดยมีเรือก่าบางที่เปรียบเสมือนบ้านและยานพาหนะในการเดินทาง บนเรื่องก่าบางเป็นที่รวบรวมทุกสิ่งอย่างทั้งครัว เตาไฟ และข้าวของเครื่องใช้  ในช่วงมรสุมจะสร้างเพิงพักบนเกาะ ปัจจุบันได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณชายฝั่งในจังหวัดพังงา ภูเก็ต และระนอง ในอดีตมีการดำรงชีพด้วยการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติรอบชุมชน ป่าโกงกาง ป่าบก  ทรัพยากรสัตว์น้ำต่างๆ ในการหาหอยติบ ทำให้ไม่ต้องออกไปทำมาหากินนอกชุมชนหรือเดินทางออกไปหางานทำในที่ห่างไกล ปัจจุบัน พื้นที่ทำกินในทะเลถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติลดลงจากการประมงเชิงพาณิชย์ ทำให้ชาวมอแกนบางส่วนหันไปเป็นแรงงานในการประมงพาณิชย์และรับจ้างทั่วไปในโรงแรมและรีสอร์ท คนกลุ่มดังกล่าวมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นปรากฎผ่านพิธีกรรมประจำปีที่สำคัญ คือ การฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ หรือ "หน่อเอนหล่อโบง" ที่จัดขึ้นในเดือนห้าทางจันทรคติ

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : มอแกน
ชื่อเรียกตนเอง : มอแกน
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ชาวน้ำ, ชาวเล, ไทยใหม่, ซลัง, เซลัง, ซาเลา, มอแกนปูเลา, มอแกนเกาะ, สิง
ตระกูลภาษา : ออสโตรเนเชียน
ตระกูลภาษาย่อย : มอแกน/มอแกลน
ภาษาพูด : มอแกน
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

มอแกน ถูกเรียกเหมารวมว่าชาวเล รวมกับชาวมอแกลน และอูรักลาโวยจ ขณะที่เจ้าของวัฒนธรรมเรียกตัวเองว่า “มอแกน” ชื่อดังกล่าวมีที่มาจากตำนานเก่าแก่ที่เล่าสืบต่อกันมามอแกน เป็นชื่อเรียกที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ในขณะที่ชื่อเรียกอื่น ๆ รวมถึงชื่อที่มีการประกอบสร้างขึ้นในชื่อ“ไทใหม่” และชื่อที่ถูกเรียกขานมาอย่างยาวนานว่าชาวเล ที่ครอบคลุมทั้งชาวมอแกน มอแกลนและอูรักลาโวยจ นั้นไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มใด ชื่อเรียกชาวเลมีมิติของการดูถูกเหยียดหยามให้รู้สึกด้อยค่าทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้คุณค่าและเสริมสร้างความภาคภูมิในอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์จึงควรเรียกชื่อชนกลุ่มนี้ว่า “มอแกน” ซึ่งเป็นชื่อที่เจ้าของวัฒนธรรมภาคภูมิใจ

ชาวมอแกน เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ มีชีวิตที่สัมพันธ์กับท้องทะเลมายาวนานตามเกาะต่างๆ ในหมู่เกาะมะริด (Mergui Archipelago)ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จนถึงเกาะในทะเลอันดามันเหนือของประเทศไทยชาวมอแกนในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 3,000 คน แต่เดิมชาวมอแกนมีวิถีชีวิตเร่ร่อน ทำมาหากินในทะเล ในฤดูแล้งจะอยู่อาศัยในเรือ ส่วนในฤดูฝนจะอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่งมากขึ้นปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้ชาวมอแกนทั้งหมดมีการตั้งหลักปักฐานเป็นชุมชน กระจายตัวอาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ ในฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนอง บริเวณเกาะเหลาเกาะพยาม เกาะช้างและเกาะสินไห ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา หลังเหตุการณ์สึนามี บางกลุ่มอาศัยร่วมกับชาวอูรักลาโวยจในชุมชนราไวย์ จังหวัดภูเก็ต บางส่วนอพยพมาตั้งรกรากอยู่บนฝั่ง มีวิถีดำรงชีพดังเช่นคนไทยทั่วไป ในการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปแทนการทำอาชีพประมง

ชาวมอแกนมีเรือเป็นเสมือนบ้านและพาหนะในการเดินทาง หาสัตว์ทะเลเพื่อยังชีพและแลกเปลี่ยนซื้อขายกับคนบนฝั่งเรือของมอแกน เรียกว่า “ก่าบาง” เป็นเรือขุดกราบเรือทำจากไม้ระกำที่มีลักษณะเบาตัวเรือมีลักษณะเป็นง่ามหรือรอยหยักเว้าที่หัวและท้ายเรือ มีความสำคัญต่อคนในครอบครัวมาก เพราะเป็นทั้งที่พักอาศัยและพาหนะในการเดินทางออกไปหากิน ปัจจุบันเมื่อตั้งถิ่นฐานบนฝั่ง เรือก่าบางจึงลดความสำคัญลง

ชาวมอแกนอยู่อาศัยบริเวณเกาะต่างๆ ในหมู่เกาะมะริด (Mergui Archipelago) ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จนถึงเกาะในทะเลอันดามันเหนือในประเทศไทย ประมาณการว่ามีชาวมอแกนอยู่ทั้งหมด 3,000 คน แต่เดิมชาวมอแกนมีวิถีชีวิตที่เร่ร่อน ทำมาหากินเกี่ยวกับทะเล อยู่อาศัยในเรือในช่วงฤดูแล้งและอยู่ติดที่มากขึ้นในฤดูฝน แต่ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้ชาวมอแกนทั้งหมดตั้งหลักปักฐานเป็นชุมชน ในด้านข้อมูลประวัติศาสตร์ของชาวมอแกน แบ่งออกเป็นข้อมูลประวัติชาวมอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา และชาวมอแกนเกาะเหลา เกาะช้าง และเกาะพยาม จังหวัดระนองดังรายละเอียดต่อไปนี้

ชาวมอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา หมู่เกาะสุรินทร์เป็นสถานที่ที่มอแกนอยู่อาศัยและทำมาหากินมานับร้อยกว่าปี มอแกนเรียกเกาะสุรินทร์ว่า “ปอลาว หล่าต๊ะ” หมู่เกาะสุรินทร์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้

การตั้งถิ่นฐานของมอแกนในประเทศไทย ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่ามอแกนอยู่อาศัยที่หมู่เกาะสุรินทร์ตั้งแต่เมื่อใด หรือลงหลักปักฐานถาวรที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งบนเกาะ เนื่องจากมอแกนส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการเคลื่อนย้าย ในหน้าแล้งก็เดินทางไปตามเกาะต่างๆ เมื่อหน้าฝนก็ขึ้นมาตั้งชุมชนที่อ่าวเพื่อหลบคลื่นลม สถานที่บนหมู่เกาะสุรินทร์ อย่างน้อยสิบเอ็ดแห่งที่มอแกนเคยตั้งชุมชนหรือตั้งบ้านเรือน คือ 1.จีมัด (อ่าวจาก) 2. บิลุ (อ่าวไทรเอน) 3. ป่านาด ปะอ้อก หล่าวี (หาดมะม่วงหล่าวี ) 4. ป่านาด หยู่หุ้น (หาดหยู่หุ้น) 5. ดายะ เอบูม (อ่าวแม่ยาย) 6. บู่ฮูน เอบูม บุงะ (เนินทรายแม่เฒ่าบุงะ หรือบริเวณที่ตั้งของสำนักงานอุทยานฯ ปัจจุบัน) 7. ป่านาด ตะนาว (อ่าวกระทิง) 8. หย่ากัน จะง่าน (หาดไม้งาม) 9. บู่ฮูน แอบ๊าบ แป่นาง (เนินทรายพ่อเฒ่าแป่นาง) 10. แนอ๊ะ เน็ก (อ่าวบอนเล็ก) 11. แนอ๊ะ อ่าด๊ะ (อ่าวบอนใหญ่) (โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549)

จะเห็นได้ว่า สถานที่ต่างๆ ที่มอแกนเคยตั้งชุมชนหรือบ้านเรือนนั้น มีชื่อเรียกเป็นภาษามอแกน ซึ่งทำให้ทราบถึงประวัติความเป็นมา ความหมายที่สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศ พืชพันธุ์ บุคคล สัตว์ทะเล ที่มอแกนคุ้นเคยเป็นอย่างดีทั้งสิ้น ไม่เฉพาะพื้นที่เหล่านี้เท่านั้นที่มีชื่อเรียกเป็นภาษามอแกน แต่บริเวณโดยรอบของหมู่เกาะสุรินทร์ล้วนมีชื่อเรียกเป็นภาษามอแกนมากถึง 139 ชื่อ เช่น ช่อก มาด๊ะห์ (อ่าวมาด๊ะห์) ช่อก บุไน (อ่าวไข่เต่า) ปอลาว จาโละ โคม (เกาะไฟแว็บ) ป่านาด ยานัด (หาดสับปะรด) ช่อก กะอ๊ด (อ่าวหัวกลอย)

นามสถานของมอแกน 139 ชื่อ แสดงให้เห็นถึงความผูกพันของมอแกนกับสถานที่ต่างๆ บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะนี้ไม่ได้เป็นเพียงที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองกลุ่มนี้เท่านั้น แต่เป็นที่ทำมาหากิน เป็นที่เกิดที่ตาย เป็นสุสานที่วิญญาณบรรพบุรุษได้พักอย่างสงบ เป็นที่สิงสถิตย์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นที่เหตุการณ์ต่างๆ ได้เกิดขึ้นและถูกบันทึกในความทรงจำผ่านชื่อต่างๆ (นฤมล อรุโณทัย, 2549)

ชาวมอแกนเกาะเหลา เกาะช้าง และเกาะพยาม จังหวัดระนอง มอแกนเกาะเหลาส่วนใหญ่จะอยู่อาศัยในเรือ และนำหอย ปลาที่หาได้มาแลกกับกะปิ พริก ที่หมู่บ้านคนไทยที่คุ้นเคยอีกฝั่งหนึ่งของเกาะเหลา ในอดีตมีการตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนใหญ่เป็นครั้งคราว แต่เมื่อเกิดโรคระบาดทำให้ผู้คนล้มตาย การทำมาหากินลำบาก จะอพยพโยกย้ายไปที่อื่น การตั้งถิ่นฐานถาวรบนเกาะเหลาเริ่มประมาณ 30-40 ปีมาแล้ว โดยการชักชวนของ ส.ต.ต.ทวี รอดไพฑูรย์ (อดีตตํารวจน้ำ) ให้ชาวมอแกนกลุ่มหนึ่งเข้ามาอาศัยบริเวณนี้ กลุ่มแรกที่เข้ามาอาศัยที่เกาะเหลามีไม่เกิน 10 ครัวเรือน หลังจากนั้นมาชาวมอแกนกลุ่มนี้จึงไม่ได้อพยพย้ายถิ่นฐานเหมือนในอดีต แต่ได้มีการสร้างบ้านเรือนโดยใช้วัสดุธรรมชาติอยู่อาศัยอย่างเป็นหลักแหล่งบริเวณชายหาดกรวดใกล้ป่าชายเลน ต่อมามีการตั้งหลักแหล่งมากขึ้น มีการขยายชุมชนออกไป ในปี พ.ศ. 2543 มีชาวมอแกนประมาณ 200 คนบนเกาะเหลา (โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม, 2546) ปัจจุบัน มีประชากรมอแกนกว่า 400 คน ซึ่งรวมประชากรที่เกาะพยามและเกาะช้างด้วย

ในอดีตพื้นที่เกาะเหลาเป็นเพียงที่ตั้งของเพิงพักชั่วคราวของมอแกนเพื่อจอดเรือและหลบคลื่นลม และเป็นสถานที่ที่นำสัตว์ทะเลที่เก็บหาได้มาแลกเปลี่ยนกับคนไทยฝั่งเกาะเหลาใน หรือนำไปขายให้กับเถ้าแก่บนฝั่ง เนื่องจากที่ตั้งของเกาะเหลาอยู่ไม่ไกลจากเมืองระนอง มอแกนเกาะเหลาส่วนใหญ่มีการอพยพเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างเกาะเหลา เกาะช้าง และเกาะพยาม โดยเฉพาะอพยพจากเกาะช้างมาอยู่ที่เกาะเหลา เมื่อมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันภายในกลุ่มจึงได้แยกย้ายกลับไปอยู่ที่เกาะช้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเงียบสงบ มอแกนได้ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งถาวรบนเกาะเหลาประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่เกิดภายหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ เป็นต้นมา ประชากรมอแกนในพื้นที่ทั้ง 3 เกาะ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างเกาะ รวมทั้งมีการชักชวนเครือญาติชาวมอแกนจากฝั่งพม่าเข้ามาพักอาศัยในลักษณะชั่วคราวที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์เชิงเครือญาติข้ามพรมแดนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน

ในอดีตมอแกนไม่ได้อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง อุปนิสัยที่รักความเป็นอิสระ ความสันโดษ ทำให้มอแกนเดินทางรอนแรมไปตามเกาะต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง ทั้งเป็นพื้นที่ทำมาหากิน ที่จอดเรือหลบลม ที่ประกอบพิธีกรรมและที่พักอาศัยจนกระทั่งเป็นที่ฝังร่างและวิญญาณเมื่อเสียชีวิต

ในประเทศไทย มีชาวเลมอแกน ประมาณ 1,000 คน กระจายตัวอาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ ในฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนอง บริเวณเกาะเหลา เกาะพยาม เกาะช้าง และเกาะสินไห จังหวัดพังงา บริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ และมีมอแกนบางส่วนที่ตั้งรกรากอยู่บนฝั่ง ใช้ชีวิตดังเช่นคนไทยทั่วไปในการประกอบอาชีพเป็นแรงงานรับจ้างทั่วไปแทนการทำอาชีพประมง เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่บนฝั่งอยู่ไม่ไกลจากทะเล พวกเขาจึงมีทางเลือกในการทำงานค่อนข้างจำกัด

มอแกนมีการเคลื่อนย้ายอยู่บ่อยครั้งตามรอบฤดูกาลหรือรอบปีดังกล่าวไปแล้ว ในช่วงลมว่าวหรือลมตะวันออก (ธันวาคม-มกราคม) มอแกนบางครัวเรือนจะย้ายไปอยู่ที่ช่องขาดบนเกาะสุรินทร์ใต้ นอกจากจะเป็นการหลบลม ยังสะดวกต่อการเดินทางมารับจ้างทำงานในอุทยานฯ ต่อมาภายหลังอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้มอแกนมาตั้งกระท่อมหรือพักที่ช่องขาด เพราะต้องการรักษาสภาพธรรมชาติบริเวณนั้น (นฤมล อรุโณทัย, สุพิณ วงษ์บุษราคัม และดิเรก อีไลอัส, 2549)

ก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิ มอแกนอยู่อาศัยที่หมู่เกาะสุรินทร์ 2 ชุมชน คือ ที่อ่าวบอนเล็กบนเกาะสุรินทร์ใต้ และที่อ่าวไทรเอนบนเกาะสุรินทร์เหนือ จำนวนประชากรมอแกนมีการเปลี่ยนแปลงตามรอบฤดูกาลและรอบปี บางครอบครัวยังคงเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างหมู่เกาะสุรินทร์และเกาะอื่นๆ ในน่านน้ำพม่า หรือระหว่างเกาะสุรินทร์และเกาะพระทองหรือชายฝั่งในประเทศไทย หรือบางทีก็ย้ายไปมาระหว่าง 2 ชุมชนในหมู่เกาะสุรินทร์ (นฤมล อรุโณทัย, สุพิณ วงษ์บุษราคัม และดิเรก อีไลอัส, 2549)

ภายหลังเหตุการณ์สึนามิ มอแกนเกาะสุรินทร์อพยพย้ายไปพักชั่วคราวที่วัดสามัคคีธรรมในอำเภอคุระบุรีเพราะบ้านเรือนของมอแกนทั้ง 2 ชุมชนพังเสียหายจนหมด บริเวณช่องขาดเองก็ไม่เหมาะสำหรับการตั้งชุมชนหรือที่พัก เนื่องจากผลกระทบจากคลื่นทำให้ลักษณะของเนินทรายแคบลง จึงทำได้เพียงการจอดเรือเท่านั้น ภายหลังจากนั้นกลุ่มอาสาสมัครจากอำเภอนำวัสดุที่มีผู้บริจาคเข้ามาช่วยสร้างบ้านพักให้มอแกนที่อ่าวบอนใหญ่ ที่แห่งนี้จึงเป็นพื้นที่ที่รวมมอแกน 2 ชุมชนไว้ด้วยกัน อาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านขนาดให

การกระจุกตัวกันของบ้านจำนวนมาก ทำให้มอแกนมีแนวโน้มเกิดความขัดแย้งบ่อยครั้ง เพราะถูกจำกัดการโยกย้ายซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขและบรรเทาปัญหา ขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะมูลฝอยและการกำจัดสิ่งปฏิกูล น้ำอุปโภคบริโภคก็ส่งผลต่อความเป็นอยู่ โดยเฉพาะหน้าแล้งและหน้าฤดูกาลท่องเที่ยว เพราะทรัพยากรเหล่านี้ต้องเผื่อแผ่ไปสู่นักท่องเที่ยวที่เข้ามายังชุมชนมอแกนด้วย

หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ เมื่อปลายปี พ.ศ.2547 ชาวมอแกนหลายหมู่บ้านได้อพยพมาอาศัยอยู่บนฝั่งรวมกับคนท้องถิ่น เนื่องจากบ้านเรือนดั้งเดิมพังเสียหาย เช่น ชาวมอแกนบ้านบางแบก บ้านบางสัก จังหวัดพังงา อาศัยร่วมกับกลุ่มคนไทยในชุมชนบ้านน้ำเค็ม ชาวมอแกนที่ซอยสุพรรณ ซอยโกผัด ซอยองค์การหรืออาศัยอยู่ร่วมกับชาวเลอูรักลาโวยจ ในชุมชนราไวย์ จังหวัดภูเก็ต

การดำรงชีพ

วิถีชีวิตของมอแกนในอดีต มีการเคลื่อนย้ายไปตามเกาะต่างๆ คล้ายกลุ่มยิปซีที่พักอาศัยไม่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ชาวเลจึงถูกขนานนามว่า “Sea gypsy” หรือ “ยิปซีทะเล” โดยมีวิถีชีวิตอยู่กับท้องน้ำ มีเรือเป็นเสมือนบ้านและพาหนะในการเดินทาง หาสัตว์ทะเลเพื่อยังชีพและแลกเปลี่ยนซื้อขายกับคนบนฝั่ง เรือของมอแกน เรียกว่า “ก่าบาง” หรือ “ก่าบาง กอมัน” เป็นเรือขุด กราบเรือทำจากไม้ระกำที่มีลักษณะเบา ตัวเรือมีลักษณะเป็นง่ามหรือรอยหยักเว้าที่หัวและท้ายเรือ มีความสำคัญต่อคนในครอบครัวมาก เพราะเป็นทั้งที่พักอาศัยและพาหนะในการเดินทางออกไปหากิน เรือ 1 ลำ ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูก อาศัยรวมกัน บางครั้งมีญาติพี่น้องอาศัยรวมอยู่ด้วย (โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549)

แม้ว่ามอแกนจะเดินทางโยกย้ายไปเรื่อยๆ แต่การเดินทางโยกย้ายไปมาของชาวเล ไม่ใช่วิถีเร่ร่อนที่ไร้จุดหมาย ชาวมอแกนมีเกาะ “แม่” ที่เป็นฐานและเป็นหลักอ้างอิงของอัตลักษณ์

ปัจจุบัน มอแกนเริ่มลงหลักปักฐานสร้างที่อยู่อาศัยถาวร เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทาง ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้ไม่มีสถานะบุคคล ประกอบกับการกำหนดพื้นที่ทางทะเลเป็นเขตอนุรักษ์ ป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ ทำให้มอแกนต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยความยากลำบาก ความรู้ดั้งเดิมเกี่ยวกับการสร้างเรือของชาวมอแกนมีความเสี่ยงต่อการสูญหายเนื่องจากไม่มีผู้สืบทอด อีกทั้งข้อกำหนดในด้านการอนุรักษ์ มีข้อห้ามไม่ให้มีการตัดไม้ในเขตป่าอุทยานแห่งชาติ ทำให้มอแกนห่างหายจากความรู้ในการสร้างเรือมากขึ้น

หลังจากที่มอแกนหันมาใช้เรือไม้กระดานแทนเรือก่าบางที่เสริมกาบด้วยไม้ระกำ ความหมายและความผูกพันที่มีต่อเรือมอแกนก็ลดลงไปด้วย วิถีชีวิตดั้งเดิมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มอแกนไม่ได้ใช้ทักษะและความชำนาญเกี่ยวกับทางทะเล ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพจากการทำประมงไปเป็น แรงงานรับจ้างทั่วไป

ในอดีตมอแกนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายกลุ่ม เช่น พม่า ไทย จีน มาเลเซีย ฯลฯ หรือคนในกลุ่มภาษาออสโตรนีเชียน มีทั้งความสัมพันธ์ในแนวราบและแนวดิ่งผ่านการค้าขาย การจ้างงาน ฯลฯ เมื่อต้องใช้ชีวิตติดต่อกับคนกลุ่มอื่นในสังคม จึงเกิดการรับเอาวัฒนธรรมภายนอกมาแทนที่วัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การสื่อสารต่างภาษา วัฒนธรรมบริโภคนิยม การศึกษา เทคโนโลยี ความเชื่อและค่านิยมสมัยใหม่ ฯลฯ ทำให้วัฒนธรรม ภูมิปัญญาและความรู้พื้นบ้านที่สั่งสมและถ่ายทอดกันมามีการ เปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาในแต่ละยุคสมัยที่เข้ามาแทนที่ในแต่ละชุมชน บางชุมชนมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังคงเห็นความสำคัญของต้นทุนทางวัฒนธรรมของชาวมอแกน จึง พยายามและหาหนทางในการรื้อฟื้นและสืบสานมรดกล้ำค่าต่อจากผู้อาวุโสและคนเก่าแก่ในชุมชน ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์ชาวเล ได้มีความพยายามในการสร้างกรอบทางวัฒนธรรม โดยกำหนดพื้นที่เขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษชาวเล เพื่อให้ชาวเลสามารถดำรงวิถีชีวิต สร้างอัตลักษณ์ และความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ รวมทั้งมีการพัฒนางานหัตถกรรมและเรือจำลอง เพื่อสะท้อนการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าของมอแกน โดยนำใบเตยหนาม (จะแค่กะโดง) ซึ่งเป็นพืชในท้องถิ่นมาย้อมสีและสานเป็นเครื่องใช้และทำผลิตภัณฑ์หัตถกรรม เช่น เสื่อ กระปุกใส่ของ กระบุง เครื่องประดับ หรือนำมามุงหลังคาเรือจำลอง เป็นของที่ระลึกขายให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ความเชื่อ เป็นสิ่งที่หลอมรวมและยึดโยงชาวมอแกนในชุมชนไว้ด้วยกัน เนื่องจากมอแกนไม่มีศาสนา นับถือวิญญาณและบรรพบุรุษ “แอบูม แอบ๊าบ” เป็นที่พึ่งทางใจ ศาสนาดั้งเดิมหรือวิญญาณบรรพบุรุษจึงเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยทำให้คลายความกังวล

สำหรับมอแกนเกาะเหลา เกาะช้าง ภายหลังเหตุการณ์สึนามิได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชนและกลุ่มต่างๆ มากมาย รวมถึงคริสตจักรทำให้มอแกนหลายคนเปลี่ยนการนับถือวิญญาณบรรพบุรุษมานับถือศาสนาคริสต์แทน ความเชื่อและความศรัทธาเลื่อมใสต่อศาสนาดั้งเดิมลดลง จากสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้มอแกนมีการเปลี่ยนแปลงในการนับถือศาสนา เพื่อให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือ อีกทั้งคริสตจักรได้เข้ามาส่งเสริมเรื่องการศึกษาของเด็กเล็ก โดยจัดตั้งเป็น

ศูนย์เมอร์ซี่ เพื่อรองรับและดูแลบุตรหลานชาวมอแกน การสนับสนุนด้านอาชีพ และเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ทำให้ความเป็นอยู่ของมอแกนดีขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

พิธีกรรมสำคัญประจำปีของมอแกน คือ พิธีฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ หรือเรียกว่า “เหน่เอนหล่อโบง” จัดขึ้นในช่วงเดือนห้าหรือประมาณเดือนเมษายนของทุกปี เป็นพิธีกรรมที่สร้างเงื่อนไขในการรวมญาติมอแกนจากเกาะต่างๆ ทยอยเดินทางมาร่วมงาน พูดคุย พบปะและสังสรรค์กัน

พิธีกรรมนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ อยู่ภายใต้ระบบคิดและความเชื่อของมอแกนมาช้านาน สามารถชี้เป็นชี้ตายให้กับชีวิตได้ พิธีฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 วัน 3 คืน เป็นเวลาแห่งการรวมญาติพี่น้อง ทุกคนในหมู่บ้านมีส่วนร่วมกับพิธีนี้ โดยกลุ่มผู้ชายมอแกนจะไปตัดไม้จากในป่า การเลือกไม้ศักดิ์สิทธิ์ทำพิธี ต้องอาศัยผู้นำที่เป็นคนทรงทำพิธีสื่อสารกับวิญญาณนำทางไปและกำหนดว่าไม้ต้นไหนที่สามารถตัดมาทำเสาวิญญาณบรรพบุรุษได้ ตัดต้นไม้ 3 ต้น เมื่อได้ไม้ 3 ต้นสำหรับเสาหล่อโบงแล้วก็จะตัดและช่วยกันแบกกลับมาที่หมู่บ้าน ขณะที่ผู้ชายช่วยกันทำการแกะสลักไม้แต่ละต้น ซึ่งเป็นตัวแทนปู่หรือตา ย่าหรือยาย และลูกหลาน ระบายสี ผูกผ้าตกแต่งเสาจนสวยงาม

ผู้หญิงมอแกนและเด็กจะช่วยกันทำศาลบรรพบุรุษที่มีลักษณะคล้ายบ้านขนาดเล็กรอที่ลานพิธี เตรียมขนม 9 อย่าง และของเซ่นไหว้ในพิธีกรรมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เดิมของเซ่นไหว้จะมีเต่ารวมอยู่ด้วย ปัจจุบันใช้ไก่แทน เพราะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และการอนุรักษ์ บริเวณลานพิธีเต็มไปด้วยชาวมอแกนทั้งหมู่บ้าน เด็ก ผู้เฒ่าผู้อาวุโสที่ยึดมั่นในวัฒนธรรมประเพณี มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน

ในพิธีกรรมดังกล่าว จะมีผู้ประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า “โต๊ะหมอ หรือ ออลางปูตี” มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ที่ติดต่อกับวิญญาณบรรพบุรุษ จะเริ่มเข้าทรง กินของเซ่นไหว้ และทำพิธีสื่อสารกับวิญญาณบรรพบุรุษและวิญญาณในธรรมชาติ ระหว่างนั้นจะมีการบรรเลงรำมะนา และการร้องรำตลอดทั้งวัน เช้าวันรุ่งขึ้นจะมีการนำเรือไปลอยเคราะห์ เรียกว่า “ก่าบางแหม่ลอย” คือ เรือลอยเคราะห์ขนาดเล็กที่ชาวมอแกนช่วยกันทำขึ้นมา และจะนั่งเรือนำเรือลอยเคราะห์ไปลอยกลางทะเล เพื่อปัดเป่าทุกข์โศกและสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากครอบครัวมอแกนและชุมชน ปัจจุบันพิธีฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษนี้ยังคงมีอยู่เฉพาะที่ชุมชนมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

กุมารี ลาภอาภรณ์. (มปป.). มอแกน.ศูนย์ศึกษาแลพฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ. สถาบันภาษาแวฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก https://www.langarchive-th.org/th/collection/moken เข้าถึงเมื่อ 19 สิงหาคม 2565

โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2549). แผนที่แสดงนามสถานภาษามอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา [โปสเตอร์]. พิมพ์ครั้งที่ 1. ตุลาคม.

โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2556). รายงานการดำเนินงานโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชาวมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ภายใต้โครงการการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลอันดามัน (SAMPAN). 146 หน้า.

โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2557). เอกสารประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “บูรณาการแก้ปัญหาชาวเลสู่การปฎิรูปประเทศ” ในวาระงาน “รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล” ครั้งที่ 5 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน 2557. กรุงเทพมหานคร.

โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2549). ชีวิตพวกเราชาวมอแกน...หมู่เกาะสุรินทร์ พังงา. กรุงเทพมหานคร: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์ จำกัด.

โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2552). เอกสารสรุปงานนิทรรศการภาพถ่าย “ยิปซีทะเล: วิถีคนกล้าอันดามัน” วันที่ 15 - 27 ธันวาคม 2552 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park.

โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2554). ภาพประกอบจากโครงการวิจัยเรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของสตรีชาวเลมอแกนและมอแกลนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ.

โครงการนำร่องอันดามัน. (2546). คนพื้นเมืองกับพื้นที่อนุรักษ์. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

โครงการนำร่องอันดามันและหน่วยวิจัยชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2556). เอกสารหมายเลข 2: โครงการต้อยติ่ง แนวทางการแก้ไขปัญหาความมั่นคงของมนุษย์และชุมชน---พื้นที่นำร่องของกลุ่มชาติพันธุ์ุ์ชาวเล. พิมพ์ครั้งที่ 3. กันยายน 2556.

นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2549). นามสถานของมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ พังงา. กรุงเทพฯ: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์ จำกัด.

นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2557). ทักษะวัฒนธรรมชาวเล. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: หจก.ภาพพิมพ์.

นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2559). มารู้จักเรา-เด็กเล. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: บริษัท จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์ จำกัด.

นฤมล อรุโณทัย, สุพิณ วงษ์บุษราคัม และดิเรก อีไลอัส. (2549). ชุมชนมอแกนและชุมชนอูรักลาโว้ยกับพื้นที่คุ้มครอง การเชื่อมโยงข้อมูลด้านเศรษฐกิจสังคมของชุมชนกับการจัดการวางแผนการจัดการพื้นที่คุ้มครอง: กรณีชุมชนมอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ และชุมชนอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา. กรุงเทพฯ: หจก.ภาพพิมพ์.

นฤมล อรุโณทัยและคณะ. (2549). วิถีชีวิตมอแกน....กรุงเทพฯ: โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2558). การจัดทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมชุมชนและการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานชุมชนในพื้นที่พิบัติภัยสึนามิ. รายงานเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.

หน่วยวิจัยปฏิบัติการชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนา โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2554). การวิจัยเรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของสตรีชาวเลมอแกนและมอแกลนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.



close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว