กลุ่มชาติพันธุ์ : มอแกน

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : มอแกน
  • ชื่อเรียกตนเอง : มอแกน, บะซิง, มาซิง
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ชาวเล, ชาวน้ำ, ชาวไทใหม่, บะซิง, มาซิง, มอแกนปูเลา, มอแกนปอลาว, ชาวเกาะ, มอแกนเล, มอแกนเกาะ, สิง
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ภาษาพูดใช้ ภาษามอแกน อยู่ตระกูลภาษาออสโตรนีเชียน ไม่มีภาษาเขียน
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

    ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์

              ชื่อเรียกตนเอง

              มอแกน, บะซิง, มาซิง สันนิษฐานกันว่าชื่อ “มอแกน” เป็นชื่อที่สืบสาวไปถึงตำนานเก่าแก่ ชาวมอแกนมีตำนานหรือนิทานที่เล่าสืบกันมาถึงต้นกำเนิดของคำว่ามอแกน ว่ามาจากคำว่า ละมอ (ในภาษามอแกน แปลว่า จมน้ำ) และ แกน ซึ่งเป็นชื่อของน้องสาวของราชินีซิเปียนผู้ครองแว่นแคว้นหนึ่งริมฝั่งทะเล ตำนานเรื่องนี้กล่าวถึง กามัน กะลาสีเรือผู้มาจากดินแดนอันห่างไกล ผู้นำข้าวสารและไฟมาสู่วิถีชีวิตของมอแกน ต่อมาราชินีซิเปียนและกามันรักกันจึงตัดสินใจแต่งงาน แต่ทว่าน้องสาวของราชินีที่ชื่อ แกน กลับมาแย่ง กามัน คนรักของพี่สาวไป ราชินีซิเปียนจึงร่ายคำสาปให้คนทั้งสองและพรรคพวกมอแกนต้องมีชีวิตเร่ร่อนอยู่ในทะเลตลอดไป จึงเป็นที่มาของชื่อ (ละ) มอแกน (นฤมล อรุโณทัย และคณะ , 2557 : 37)    

              ชื่อที่คนอื่นเรียก

              ชาวน้ำ เดิมมีคำที่ใช้เรียกชื่อผู้คนกลุ่มนี้ว่า “ชาวน้ำ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี พ.ศ.2542 ให้คำนิยาม “ชาวน้ำ” ว่าเป็น “ชื่อชนชาติเดิมพวกหนึ่งอยู่ทางทะเลด้านตะวันตกของแหลมมลายู ฉลางหรือชาวเลก็เรียก” ถือว่าคำว่าชาวน้ำเป็นคำดูถูกดูแคลน  ทำให้รู้สึกแปลกแยกจากกลุ่มอื่น คำนี้จึงไม่นิยมใช้ในปัจจุบัน

              ชาวเล ก็เป็นคำที่แสดงถึงทัศนะคติเชิงลบในหลายพื้นที่  ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลรู้สึกถึงความเป็นตัวตนที่ด้อยกว่าจนบางคนไม่อยากให้ใครรับรู้ว่าตนเองคือชาวเล

              ไทยใหม่ หมายถึงว่าชาวเลได้รับการยอมรับและยกระดับเป็นคนไทย ได้รับสัญชาติไทย พูดสื่อสารด้วยภาษาไทยและได้รับการศึกษาในระบบของไทย นอกจากนี้คำว่า “ไทยใหม่” ยังทำให้เกิดความสับสนเพราะเป็นคำรวมที่ใช้เรียกกลุ่มมอแกน มอแกลน หรือ อูรักลาโว้ย จึงไม่สามารถจะระบุให้ชัดเจนได้ว่าเป็นชาวเลกลุ่มใด

              ซลัง เซลัง หรือซาเลา เป็นชื่อที่ชาวพม่าเรียกชาวมอแกน สันนิษฐานว่า มาจากคำว่า ฉลาง หรือ ถลาง ซึ่งเป็นชื่อโบราณของภูเก็ต คือ จัง ซีลอน ซึ่งเป็นบริเวณที่ชาวเลมาชุมนุมในสมัยก่อนอยู่ทะเล (นฤมล อรุโณทัย และคณะ, 2557: 49)

              มอแกนปูเลาหรือมอแกนปอลาว ชาวเกาะ มอแกนเล เป็นชื่อเรียกชาวมอแกนโดยชาวมอแกลน

              มอแกน มอแกนเกาะ สิง เป็นชื่อเรียกชาวมอแกนโดยชาวอูรักลาโว้ย

     

    ชื่อเรียกในเชิงอคติทางชาติพันธุ์

              คำว่า “ชาวเล” เป็นคำจำกัดความสั้น ๆ ที่เรียกคนทั่วไปที่อาศัยอยู่ริมฝั่งทะเล เกาะหรือคนที่ประกอบหาเลี้ยงชีพด้านการประมงเป็นหลัก ไม่ได้เป็นคำเรียกที่มีความหมายเชิงลบในมิติภาษาศาสตร์ เกิดจากการย่นย่อคำให้สั้นลง ทำให้เรียกได้ง่ายขึ้น จึงมักได้ยินคนทั่วไป เรียกคนที่มีวิถีประมงว่าชาวเลอย่างแพร่หลาย ทั้งในฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน  แต่คำว่า “ชาวเล” หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่จะได้กล่าวถึงนี้ เป็นการสร้างและให้ความหมายของคำจำกัดความที่แฝงเร้นไปด้วยทัศนะคติเชิงลบ การดูถูก ความด้อยค่า ความโง่เขลาเบาปัญญา ความสกปรก  

              ในปัจจุบัน เราเรียกชื่อชาวเลตามที่กลุ่มเรียกตนเอง คือ มอแกน ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา คำว่า “มอแกน” มาจากคำว่า “ละมอ” (ในภาษามอแกน แปลว่า จมน้ำ) และ “แกน” ซึ่งมาจากชื่อของน้องสาวของราชินีซิเปียนที่ถูกราชินีสาบให้มีชีวิตเร่ร่อนอยู่ในทะเล (Ivanoff 2001:229-230) ชีวิตของชาวมอแกนเดินทางไปตามเกาะต่าง ๆ จึงถูกกล่าวขานว่ามีชีวิตคล้ายกลุ่มยิปซีที่พักอาศัยอยู่ไม่เป็นหลักแหล่งแน่นอนและเรียกกันว่า “Sea gypsy” หรือ “ยิปซีทะเล”

              ชาวน้ำ เดิมมีคำที่ใช้เรียกชื่อผู้คนกลุ่มนี้ว่า “ชาวน้ำ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี พ.ศ.2542 ให้คำนิยาม “ชาวน้ำ” ว่าเป็น “ชื่อชนชาติเดิมพวกหนึ่งอยู่ทางทะเลด้านตะวันตกของแหลมมลายู ฉลางหรือชาวเลก็เรียก” ชาวเลหลายถือว่าคำว่าชาวน้ำเป็นคำดูถูกดูแคลน  ทำให้รู้สึกแปลกแยกจากกลุ่มอื่น คำนี้จึงไม่นิยมใช้ในปัจจุบัน

              นอกจากทัศนะคติเชิงลบหรือการละเลยคุณค่าของภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมแล้ว คำเรียกเหล่านี้ยังมีความหมายครอบคลุมถึง การแสดงออกและการปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ทั้งในมิติชีวิต สังคมและวัฒนธรรม ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลรู้สึกถึงความเป็นตัวตนที่ด้อยกว่า จนบางคนไม่อยากให้ใครรับรู้ว่าตนเองคือชาวเล หรือมีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เพราะทนต่อแรงเสียดทานและการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนทั่วไปไม่ไหว รู้สึกถูกทำให้กลายเป็นกลุ่มชายขอบหรือกลุ่มคนที่เสมือนไร้ตัวตนและไร้สิทธิเสียงใด ๆ ในสังคม ไม่ได้รับการยอมรับเฉกเช่นคนไทยทั่วไป

     

    ภาษา

              1.) ตระกูลภาษา  ตระกูลภาษาออสโตรนีเชียน

              2.) ภาษาพูด ภาษามอแกน

              3.) ตัวอักษรที่ใช้เขียน ไม่มีภาษาเขียน

     

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิจัย-อาจารย์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    เอกสารอ้างอิง

    • โครงการนำร่องอันดามันและหน่วยวิจัยชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2556). เอกสารหมายเลข 2: โครงการต้อยติ่ง แนวทางการแก้ไขปัญหาความมั่นคงของมนุษย์และชุมชน---พื้นที่นำร่องของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล. พิมพ์ครั้งที่ 3. กันยายน 2556.
    • โครงการนำร่องอันดามัน. (2546). คนพื้นเมืองกับพื้นที่อนุรักษ์. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2549). 
    • โครงการนำร่องอันดามัน. (2549). ชีวิตพวกเราชาวมอแกน...หมู่เกาะสุรินทร์ พังงา. กรุงเทพมหานคร:จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์ จำกัด.
    • โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2549). แผนที่แสดงนามสถานภาษามอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์  จังหวัดพังงา [โปสเตอร์]. พิมพ์ครั้งที่ 1. ตุลาคม.
    • โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2549). ชีวิตพวกเราชาวมอแกน...หมู่เกาะสุรินทร์ พังงา. กรุงเทพมหานคร: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์ จำกัด.
    • โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2552). เอกสารสรุปงานนิทรรศการภาพถ่าย “ยิปซีทะเล: วิถีคนกล้าอันดามัน” วันที่ 15 - 27 ธันวาคม 2552  ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park.
    • โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2556). รายงานการดำเนินงานโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชาวมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ภายใต้โครงการการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลอันดามัน (SAMPAN). 146 หน้า.
    • โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2557). เอกสารประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “บูรณาการแก้ปัญหาชาวเลสู่การปฎิรูปประเทศ” ในวาระงาน “รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล” ครั้งที่ 5 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2557. กรุงเทพมหานคร.
    • นฤมล อรุโณทัย. (2559). "ไทยใหม่หรือใครใหม่? การทำความเข้าใจสัญชาติและความเป็นไทยจากหลากหลายมุมมอง” ใน  ไทยต่างด้าวท้าวต่างแดน:สังคมวิทยาของชีวิตข้ามพรมแดน.  คณะบรรณาธิการ: พัทยา เรือนแก้ว, สุภางค์ จันทวานิช, ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
    • นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2549). นามสถานของมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ พังงา. กรุงเทพฯ: จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์ จำกัด.
    • นฤมล อรุโณทัยและคณะ.  (2549). วิถีชีวิตมอแกน. กรุงเทพฯ:  โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
    • นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2557). ทักษะวัฒนธรรมชาวเล. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: หจก.ภาพพิมพ์.
    • นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2559). มารู้จักเรา-เด็กเล. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: บริษัท จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์ จำกัด.
    • นฤมล อรุโณทัย, สุพิณ วงษ์บุษราคัม และดิเรก อีไลอัส. (2549). ชุมชนมอแกนและชุมชนอูรักลาโว้ยกับพื้นที่คุ้มครอง การเชื่อมโยงข้อมูลด้านเศรษฐกิจสังคมของชุมชนกับการจัดการวางแผนการจัดการพื้นที่คุ้มครอง: กรณีชุมชนมอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ และชุมชนอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา. กรุงเทพฯ: หจก.ภาพพิมพ์.
    • พลาเดช ณ ป้อมเพชร. (2546). โลกของชาวมอแกน : มองจากความรู้พื้นบ้านเกี่ยวกับทะเลและพื้นที่ชายฝั่ง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
    • เรวดี อึ้งโพธิ์. (2558). ดนตรีพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลฝั่งอันดามันแถบภาคใต้ตอนบน. รายงานวิจัยสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
    • สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2558). การจัดทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมชุมชนและการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานชุมชนในพื้นที่พิบัติภัยสึนามิ. รายงานเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 
    • หน่วยวิจัยปฏิบัติการชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนาโครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2554).  การวิจัยเรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของสตรีชาวเลมอแกนและมอแกลนในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

     

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นต้น1000
ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              มอแกน ถูกเรียกเหมารวมว่าชาวเล รวมกับกลุ่มมอแกลน และอูรักลาโว้ย ขณะที่เจ้าของวัฒนธรรมเรียกตัวเองว่า “มอแกน บะซิง และมาซิง”อันมีที่มาจากตำนานเก่าแก่ที่เล่าสืบต่อกันมา แต่เป็นที่รู้จักและเรียกขานกันในชื่อมอแกนมากกว่า ในขณะที่ชื่อเรียกอื่น ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นมาใหม่ในชื่อ“ไทใหม่” หรือ ชื่อดั้งเดิมที่ถูกเรียกขานมานานอย่างชาวเลนั้นไม่สามารถระบุชัดได้ว่าเป็นกลุ่มใด อีทั้งชื่อเรียกชาวเลนั้นยังมีมิติของการดุถูกเหยียดหยามทให้รู้สึกด้อนค่า เพื่อให้คุณค่าและสร้างตัวตนที่ชัดเจนจึงควรเรียกชื่อที่เจ้าของวัฒนธรรมภาคภูมิใจ คือชื่อ มอแกน

              ชาวมอแกน เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ชาวเล”ซึ่งประกอบด้วย มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย มีชีวิตที่สัมพันธ์กับท้องทะเลมาเนิ่นนาน ชาวมอแกนอยู่อาศัยบริเวณเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะมะริด (Mergui Archipelago) ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ไล่เรียงลงมาถึงเกาะในทะเลอันดามันเหนือในประเทศไทย ประมาณการว่ามีชาวมอแกนอยู่ทั้งหมด 3,000 คน  แต่เดิมชาวมอแกนมีวิถีชีวิตที่เร่ร่อน ทำมาหากินเกี่ยวกับทะเล อยู่อาศัยในเรือในช่วงฤดูแล้งและอยู่ติดที่มากขึ้นในฤดูฝน แต่ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทำให้ชาวมอแกนทั้งหมดตั้งหลักปักฐานเป็นชุมชน ในประเทศไทย มีกลุ่มชาวเลมอแกน ประมาณ 1,000 คน กระจายตัวอาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนอง บริเวณเกาะเหลา เกาะพยาม เกาะช้าง และเกาะสินไห  ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา บางส่วนขึ้นมาตั้งรกรากอยู่บนฝั่ง ใช้ชีวิตดังเช่นคนไทยทั่วไป ประกอบอาชีพรับจ้างหรือเป็นแรงงานทั่วไปแทนการทำอาชีพประมง

              ชาวมอแกนมีเรือเป็นเสมือนบ้านและพาหนะในการเดินทาง  หาสัตว์ทะเลเพื่อยังชีพและแลกเปลี่ยนซื้อขายกับคนบนฝั่ง เรือของมอแกน เรียกว่า “ก่าบาง” เป็นเรือขุด กราบเรือทำจากไม้ระกำที่มีลักษณะเบา ตัวเรือมีลักษณะเป็นง่ามหรือรอยหยักเว้าที่หัวและท้ายเรือ มีความสำคัญต่อคนในครอบครัวมาก เพราะเป็นทั้งที่พักอาศัยและพาหนะในการเดินทางออกไปหากิน ปัจจุบันเมื่อตั้งถิ่นฐานบนฝั่ง เรือก่าบางจึงลดความสำคัญลง

     

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน :

    ประวัติศาสตร์

              ชาวมอแกนอยู่อาศัยบริเวณเกาะต่างๆ ในหมู่เกาะมะริด (Mergui Archipelago) ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ไล่เรียงลงมาถึงเกาะในทะเลอันดามันเหนือในประเทศไทย ประมาณการว่ามีชาวมอแกนอยู่ทั้งหมด 3,000 คน  แต่เดิมชาวมอแกนมีวิถีชีวิตที่เร่ร่อน ทำมาหากินเกี่ยวกับทะเล อยู่อาศัยในเรือในช่วงฤดูแล้งและอยู่ติดที่มากขึ้นในฤดูฝน แต่ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้ชาวมอแกนทั้งหมดตั้งหลักปักฐานเป็นชุมชน

              ประวัติย่อของชุมชน

              ชุมชนมอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

              หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เป็นสถานที่ที่มอแกนอยู่อาศัยและทำมาหากินมานับร้อยกว่าปี มอแกนเรียกเกาะสุรินทร์ว่า “ปอลาว หล่าต๊ะ” หมู่เกาะสุรินทร์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้

              การตั้งถิ่นฐานของมอแกนในประเทศไทย

              ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่ามอแกนอยู่อาศัยที่หมู่เกาะสุรินทร์ตั้งแต่เมื่อใด หรือลงหลักปักฐานถาวรที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งบนเกาะ เพราะมอแกนเดินทางเคลื่อนย้ายบ่อย ในหน้าแล้งก็เดินทางไปตามเกาะต่างๆ เมื่อหน้าฝนก็ขึ้นมาตั้งชุมชนที่อ่าวเพื่อหลบคลื่นลม สถานที่บนหมู่เกาะสุรินทร์ อย่างน้อยสิบเอ็ดแห่งที่มอแกนเคยตั้งชุมชนหรือตั้งบ้านเรือน คือ 1.จีมัด (อ่าวจาก) 2. บิลุ (อ่าวไทรเอน) 3. ป่านาด ปะอ้อก หล่าวี (หาดมะม่วงหล่าวี ) 4. ป่านาด หยู่หุ้น (หาดหยู่หุ้น) 5. ดายะ เอบูม (อ่าวแม่ยาย) 6. บู่ฮูน เอบูม บุงะ (เนินทรายแม่เฒ่าบุงะ หรือบริเวณที่ตั้งของสำนักงานอุทยานฯ ปัจจุบัน) 7. ป่านาด ตะนาว (อ่าวกระทิง) 8. หย่ากัน จะง่าน (หาดไม้งาม) 9. บู่ฮูน แอบ๊าบ แป่นาง (เนินทรายพ่อเฒ่าแป่นาง) 10. แนอ๊ะ เน็ก (อ่าวบอนเล็ก) 11. แนอ๊ะ อ่าด๊ะ (อ่าวบอนใหญ่) (โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549)

              จะเห็นได้ว่า สถานที่ต่างๆ ที่มอแกนเคยตั้งชุมชนหรือบ้านเรือนนั้น มีชื่อเรียกเป็นภาษามอแกน ซึ่งทำให้ทราบถึงประวัติความเป็นมา ความหมายที่สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศ พืชพันธุ์ บุคคล สัตว์ทะเล ที่มอแกนคุ้นเคยเป็นอย่างดีทั้งสิ้น ไม่เฉพาะพื้นที่เหล่านี้เท่านั้นที่มีชื่อเรียกเป็นภาษามอแกน แต่บริเวณโดยรอบของหมู่เกาะสุรินทร์ล้วนมีชื่อเรียกเป็นภาษามอแกนมากถึง 139 ชื่อ เช่น ช่อก มาด๊ะห์ (อ่าวมาด๊ะห์) ช่อก บุไน (อ่าวไข่เต่า) ปอลาว จาโละ โคม (เกาะไฟแว็บ) ป่านาด ยานัด (หาดสับปะรด) ช่อก กะอ๊ด (อ่าวหัวกลอย)

              นามสถานของมอแกน 139 ชื่อ แสดงให้เห็นถึงความผูกพันของมอแกนกับสถานที่ต่างๆ บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะนี้ไม่ได้เป็นเพียงที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองกลุ่มนี้เท่านั้น แต่เป็นที่ทำมาหากิน เป็นที่เกิดที่ตาย เป็นสุสานที่วิญญาณบรรพบุรุษได้พักอย่างสงบ เป็นที่สิงสถิตย์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นที่เหตุการณ์ต่างๆ ได้เกิดขึ้นและถูกบันทึกในความทรงจำผ่านชื่อต่างๆ (นฤมล อรุโณทัย, 2549)

              ที่อยู่ดั้งเดิม

              เดิมทีในอดีตมอแกนไม่ได้อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง หรือจำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเกาะใด เกาะหนึ่ง อุปนิสัยที่รักความเป็นอิสระ ความสันโดษ ทำให้มอแกนเดินทางรอนแรมไปตามเกาะต่างๆ มากมาย เกาะทุกเกาะบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ ไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง ต่างเป็นพื้นที่ทำมาหากิน ที่จอดเรือหลบลม ที่ประกอบพิธีกรรมและที่พักอาศัยของมอแกนแทบทั้งสิ้น เป็นจุดเริ่มต้นตั้งแต่การเริ่มของชีวิตใหม่กระทั่งเป็นที่ฝังร่างและวิญญาณเมื่อเสียชีวิต

              ก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิ มอแกนอยู่อาศัยที่หมู่เกาะสุรินทร์ 2 ชุมชน คือ ที่อ่าวบอนเล็กบนเกาะสุรินทร์ใต้ และที่อ่าวไทรเอนบนเกาะสุรินทร์เหนือ จำนวนประชากรมอแกนมีการเปลี่ยนแปลงตามรอบฤดูกาลและรอบปี บางครอบครัวยังคงเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างหมู่เกาะสุรินทร์และเกาะอื่นๆ ในน่านน้ำพม่า หรือระหว่างเกาะสุรินทร์และเกาะพระทองหรือชายฝั่งในประเทศไทย หรือบางทีก็ย้ายไปมาระหว่าง 2 ชุมชนในหมู่เกาะสุรินทร์ (นฤมล อรุโณทัย, สุพิณ วงษ์บุษราคัม และดิเรก อีไลอัส, 2549)

              การย้ายถิ่น

              การย้ายถิ่นของมอแกนมีการเคลื่อนย้ายอยู่บ่อยครั้งตามรอบฤลูกาลหรือรอบปีดังกล่าวไปแล้ว ในช่วงลมว่าวหรือลมตะวันออก (ธันวาคม-มกราคม) มอแกนบางครัวเรือนจะย้ายไปอยู่ที่ช่องขาดบนเกาะสุรินทร์ใต้ นอกจากจะเป็นการหลบลม ยังสะดวกต่อการเดินทางมารับจ้างทำงานในอุทยานฯ ต่อมาภายหลังอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้มอแกนมาตั้งกระท่อมหรือพักที่ช่องขาด เพราะต้องการรักษาสภาพธรรมชาติบริเวณนั้น (นฤมล อรุโณทัย, สุพิณ วงษ์บุษราคัม และดิเรก อีไลอัส, 2549)

              ภายหลังเหตุการณ์สึนามิ มอแกนเกาะสุรินทร์อพยพย้ายไปพักชั่วคราวที่วัดสามัคคีธรรมในอำเภอคุระบุรีเพราะบ้านเรือนของมอแกนทั้ง 2 ชุมชนพังเสียหายจนหมด บริเวณช่องขาดเองก็ไม่เหมาะสำหรับการตั้งชุมชนหรือที่พัก เนื่องจากผลกระทบจากคลื่นทำให้ลักษณะของโนนทรายแคบลง จึงทำได้เพียงการจอดเรือเท่านั้น ภายหลังจากนั้นกลุ่มอาสาสมัครจากอำเภอนำวัสดุที่มีผู้บริจาคเข้ามาช่วยสร้างบ้านพักให้มอแกนที่อ่าวบอนใหญ่ ที่แห่งนี้จึงเป็นพื้นที่ที่รวมมอแกน 2 ชุมชนไว้ด้วยกัน อาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่      

              การกระจุกตัวกันของบ้านจำนวนมาก ทำให้มอแกนมีแนวโน้มเกิดความขัดแย้งบ่อยครั้ง เพราะถูกจำกัดการโยกย้ายซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขและบรรเทาปัญหา ขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะมูลฝอยและการกำจัดสิ่งปฏิกูล น้ำอุปโภคบริโภคก็ส่งผลต่อความเป็นอยู่ โดยเฉพาะหน้าแล้งและหน้าฤดูกาลท่องเที่ยว เพราะทรัพยากรเหล่านี้ต้องเผื่อแผ่ไปสู่นักท่องเที่ยวที่เข้ามายังชุมชนมอแกนด้วย       

              ชุมชนมอแกนเกาะเหลา เกาะช้าง และเกาะพยาม จังหวัดระนอง

              ส่วนใหญ่มอแกนเกาะเหลาจะอยู่อาศัยในเรือ และนำหอย ปลาที่หาได้มาแลกกับกะปิ พริก ที่หมู่บ้านคนไทยที่คุ้นเคยอีกฝั่งหนึ่งของเกาะเหลา เคยมีการตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนใหญ่เป็นครั้งคราว แต่เมื่อเกิดโรคระบาด มีผู้คนล้มตาย หรือเมื่อการทำมาหากินลำบาก ก็จะอพยพโยกย้ายไปที่อื่น การตั้งถิ่นฐานถาวรบนเกาะเหลาเริ่มมาประมาณ 30-40 ปีมาแล้ว โดยการชักชวนของ ส.ต.ต.ทวี รอดไพฑูรย์ (อดีตตํารวจน้ำ) ให้ชาวมอแกนกลุ่มหนึ่งเข้ามาอาศัยบริเวณนี้ กลุ่มแรกที่เข้ามาอาศัยที่เกาะเหลามีไม่เกิน 10 ครัวเรือน หลังจากนั้นมาชาวมอแกนกลุ่มนี้จึงไม่ได้อพยพย้ายถิ่นฐานเหมือนในอดีต แต่ได้มีการสร้างบ้านเรือนโดยใช้วัสดุธรรมชาติอยู่อาศัยอย่างเป็นหลักแหล่งบริเวณชายหาดกรวดใกล้ป่าชายเลน ต่อมาก็เข้ามาตั้งหลักแหล่งมากขึ้น มีการขยายชุมชนออกไปเรื่อยๆ ในปี พ.ศ. 2543 มีชาวมอแกนประมาณ 200 คนบนเกาะเหลา (โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม, 2546) ในปัจจุบัน มีประชากรมอแกนกว่า 400 คน ซึ่งรวมประชากรที่เกาะพยามและเกาะช้างด้วย

              ที่อยู่ดั้งเดิมและการอพยพ

              สมัยก่อนเกาะเหลาเป็นเพียงที่ตั้งของเพิงพักชั่วคราวของมอแกนเพื่อจอดเรือและหลบคลื่นลม และเป็นสถานที่ที่นำสัตว์ทะเลที่เก็บหาได้มาแลกเปลี่ยนกับคนไทยฝั่งเกาะเหลาใน หรือนำไปขายให้กับเถ้าแก่บนฝั่ง เนื่องจากที่ตั้งของเกาะเหลาอยู่ไม่ไกลจากเมืองระนอง มอแกนเกาะเหลาส่วนใหญ่เดินทางอพยพไปมาระหว่างเกาะเหลา เกาะช้าง และเกาะพยาม โดยเฉพาะอพยพจากเกาะช้างมาอยู่ที่เกาะเหลา แต่เมื่อมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันในกลุ่มก็จะแยกย้ายกลับไปอยู่ที่เกาะช้าง เพราะเป็นที่เงียบสงบกว่า มอแกนเพิ่งตั้งที่อยู่เป็นหลักแหล่งถาวรบนเกาะเหลาเมื่อราว 40 ปีมาแล้ว และหลังเหตุการณ์สึนามิ จำนวนมอแกนระหว่าง 3 เกาะนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด รวมถึงมีการชักชวนญาติพี่น้องมอแกนจากฝั่งพม่าเข้ามาพักอาศัยบ้างเป็นครั้งคราว

     

    การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของประชากร

              ในประเทศไทยนั้น มีกลุ่มชาวเลมอแกน ประมาณ 1,000 คน กระจายตัวอาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ ในฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนอง บริเวณเกาะเหลา เกาะพยาม เกาะช้าง และเกาะสินไห ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา บางส่วนขึ้นมาตั้งรกรากอยู่บนฝั่ง ใช้ชีวิตดังเช่นคนไทยทั่วไป ประกอบอาชีพรับจ้างหรือเป็นแรงงานทั่วไปแทนการทำอาชีพประมง เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่บนฝั่งนั้นห่างไกลจากทะเล จึงไม่ค่อยมีทางเลือกในการทำงานมากเท่าที่ควร โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์พิบัติภัยสึนามิ เมื่อปลายปี พ.ศ.2547 ชาวมอแกนหลายหมู่บ้านขึ้นมาอาศัยบนฝั่งรวมกับคนท้องถิ่น เพราะบ้านเรือนพังเสียหาย เช่น ที่บ้านบางแบก บ้านบางสัก จังหวัดพังงา อาศัยร่วมกับกลุ่มคนไทยในชุมชนบ้านน้ำเค็ม เช่น ชาวมอแกนที่ซอยสุพรรณ ซอยโกผัด ซอยองค์การหรืออาศัยอยู่ร่วมกับกลุ่มชาวเลอูรักลาโว้ย เช่นที่ชุมชนราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ดังแสดงในข้อมูลแผนที่การกระจายตัวของชาวเลกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทย

     

    แผนที่การกระจายตัวของชาวเลกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทย

    ที่มา : นฤมล อรุโณทัย และคณะ, 2559

     

    ตารางแสดงจำนวนครัวเรือนและประชากรชาวเลในแต่ละชุมชน 

    ชุมชน จำนวนครัวเรือน (หลัง) จำนวนประชากร (คน)
    มอแกนเกาะสุรินทร์ 65 240
    มอแกนเกาะเหลา 55 259
    มอแกนเกาะช้าง 35 150
    มอแกนและมอแกลนบ้านน้ำเค็ม 60 383

     

    ที่มา : หน่วยวิจัยปฏิบัติการชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนาโครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554.

    หมายเหตุ จำนวนครัวเรือนและจำนวนประชากรนี้ ได้จากการสำรวจในงานวิจัยและข้อมูลจากสถานีอนามัย มีเฉพาะชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแต่ละงานวิจัยเท่านั้น ไม่ได้ทำการสำรวจทุกชุมชน

     

     

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน :

    การดำรงชีพ

              ชีวิตของชาวเล เป็นชีวิตที่ต้องเดินทางไปตามเกาะต่างๆ เร่ร่อนไปทุกที่จากเกาะหนึ่งไปยังเกาะหนึ่ง จึงถูกกล่าวขานว่ามีชีวิตคล้ายกลุ่มยิปซีที่พักอาศัยอยู่ไม่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ชาวเลจึงถูกขนานนามว่า “Sea gypsy หรือยิปซีทะเล” โดยมีวิถีชีวิตอยู่กับท้องน้ำ มีเรือเป็นเสมือนบ้านและพาหนะในการเดินทาง หาสัตว์ทะเลเพื่อยังชีพและแลกเปลี่ยนซื้อขายกับคนบนฝั่ง เรือของมอแกน เรียกว่า “ก่าบาง” หรือ “ก่าบาง กอมัน” เป็นเรือขุด กราบเรือทำจากไม้ระกำที่มีลักษณะเบา ตัวเรือมีลักษณะเป็นง่ามหรือรอยหยักเว้าที่หัวและท้ายเรือ มีความสำคัญต่อคนในครอบครัวมาก เพราะเป็นทั้งที่พักอาศัยและพาหนะในการเดินทางออกไปหากิน เรือ 1 ลำ ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูก อาศัยรวมกัน บางครั้งมีญาติพี่น้องอาศัยรวมอยู่ด้วย (โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549)

              แม้ว่ามอแกนจะเดินทางโยกย้ายไปเรื่อยๆ แต่การเดินทางโยกย้ายไปมาของชาวเล ไม่ใช่วิถีเร่ร่อนที่ไร้จุดหมาย ชาวมอแกนมีเกาะ “แม่” ที่เป็นฐานและเป็นหลักอ้างอิงของอัตลักษณ์

              ในปัจจุบัน ชาวเลมอแกนเริ่มลงหลักปักฐานสร้างที่อยู่อาศัยถาวร เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทาง ชาวเลมอแกนบางคนไม่ได้รับสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน หรือการกำหนดพื้นที่ทางทะเลเป็นเขตอนุรักษ์ ป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ ทำให้ชาวเลต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยความยากลำบาก ความรู้ดั้งเดิมเกี่ยวกับการสร้างเรือของชาวมอแกนก็เริ่มเลือนหายเพราะไม่มีผู้สืบทอด คนเฒ่าคนแก่ที่มีความรู้ในการสร้างเรือก็เริ่มล้มหายตายจากไป อีกทั้งข้อกำหนดในด้านการอนุรักษ์ ไม่ให้มีการตัดไม้ในเขตป่าอุทยานแห่งชาติ ยิ่งทำให้มอแกนห่างหายจากความรู้ในการสร้างเรือมากขึ้น

              หลังจากที่มอแกนหันมาใช้เรือไม้กระดานแทนก่าบางที่เสริมกาบด้วยไม้ระกำ ความหมายและความผูกพันที่มีต่อเรือมอแกนก็ลดลงไปด้วย วิถีชีวิตดั้งเดิมที่เปลี่ยนแปลงไปมีผลต่อการประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก เพราะมอแกนไม่ได้ใช้ทักษะและความชำนาญเกี่ยวกับทางทะเลอีก เช่น การเป็นแรงงานรับจ้าง

              การออกมาเผชิญกับสังคมภายนอกของชาวเลมอแกน ทำให้ชาวเลไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวในสังคม ประวัติศาสตร์สังคมที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้ทราบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนหลากหลายกลุ่ม เช่น พม่า ไทย จีน มาเลเซีย ฯลฯ หรือคนในกลุ่มภาษาออสโตรนีเชียน มีทั้งความสัมพันธ์ในแนวราบและแนวดิ่ง การค้าขาย การจ้างงาน ฯลฯ เมื่อต้องใช้ชีวิตผูกพันกับคนกลุ่มอื่นในสังคม จึงเกิดการรับเอาวัฒนธรรมที่แตกต่างเข้ามาอย่างง่ายดาย เช่น ความสะดวกสบายจากการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การสื่อสารต่างภาษา วัฒนธรรมบริโภคนิยม การศึกษา เทคโนโลยี ความเชื่อและค่านิยมสมัยใหม่ ฯลฯ ทำให้วัฒนธรรม ภูมิปัญญาและความรู้พื้นบ้านที่สั่งสมและถ่ายทอดกันมาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและการพัฒนาที่เข้ามาแทนที่ในแต่ละชุมชน บ้างก็สูญหายไปจากชุมชนชาวเลก็มี ลูกหลานชาวเลหลายคนที่ยังคงเห็นความสำคัญของต้นทุนในสังคมชาวเล พยายามและหาหนทางในการรื้อฟื้นและสืบสานมรดกล้ำค่าต่อจากผู้อาวุโสและคนเก่าแก่ในชุมชน หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์ชาวเล มีความพยายามในการสร้างกรอบทางวัมนธรรม โดยกำหนดพื้นที่เขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษชาวเล เพื่อให้ชาวเลมีพื้นที่เฉกเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นในสังคม และได้รับการคุ้มครองทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อให้สามารถดำรงวิถีชีวิต สร้างเอกลักษณ์ และความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนเอง

     

    เรือฉ่าพัน  

     

              อาชีพ  

              การตกปลา เก็บหอยและสัตว์ทะเลเลี้ยงชีพ เป็นอาชีพประมงพื้นบ้านแบบยังชีพของชาวเลมอแกนที่ทำกันมาช้านาน สมัยก่อนนำสิ่งต่างๆ ที่หาได้จากท้องทะเล ไปแลกข้าวสาร อาหารแห้ง ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ กับคนบนฝั่งหรือเถ้าแก่ ชาวเลมอแกนเกาะสุรินทร์หาเลี้ยงชีพด้วยการทำมาหากินพึ่งพาระบบนิเวศตามชายฝั่ง โดยการแจวเรือขนาดเล็ก ที่เรียกว่า “ฉ่าพัน” ตกปลา งมหอย จับปูและสัตว์ทะเลต่างๆ ด้วยเครื่องมือง่ายๆ ที่ทำขึ้นมาเอง มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างหญิงชายในครัวเรือน ขณะที่ผู้ชายแจวเรือฉ่าพันออกไปตกปลา หญิงมอแกนจะชักชวนกันไปหากับข้าวยามที่น้ำทะเลลดลง เดินลัดเลาะไปตามโขดหินเพื่อหาหอยติบ ขุดเพรียงทราย ฯลฯ มาทำเป็นอาหารสำหรับคนในครอบครัว ในช่วงฤดูฝน อาหาร พืชพรรณจากป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ชาวมอแกนก็ได้ใช้ประโยชน์จากป่า ขุดหัวเผือก หัวมัน หัวกลอย ผลไม้ป่า หน่อไม้ และพืชผักต่างๆ ได้อย่างมากมาย เป็นระบบที่พึ่งพากันระหว่างมอแกนกับธรรมชาติ ระบบที่คนช่วยดูและรักษาป่าและธรรมชาติ ป่าก็ให้ประโยชน์ในด้านอาหาร สมุนไพรกับมอแกนและใช้สอยอื่นๆ เช่น ทำเครื่องมือเครื่องใช้ในบ้าน ไม้ฟืนหุงหาอาหาร ฯลฯ

              สมัยที่ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มอแกนเกาะเหลา เกาะช้าง เกาะพยาม ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านแบบยังชีพไม่แตกต่างจากมอแกนเกาะสุรินทร์ และพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติรอบชุมชน ป่าโกงกาง ป่าบก ทรัพยากรสัตว์น้ำต่างๆ หาหอยติบ ทำให้ไม่ต้องออกไปทำมาหากินนอกชุมชนหรือเดินทางออกไปหางานทำในที่ห่างไกล วิถีที่พึ่งพาธรรมชาติและรู้คุณค่าทรัพยากร ทำให้มอแกนเป็นผู้ดูแลและรักษา หวงแหนและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ตาม “วิถีคนพึ่งป่า ป่าพึ่งคน” และผืนป่า ทรัพยากรทางทะเลมีความอุสมบูรณ์

              แต่เมื่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลง ทรัพยากรธรรมชาติลดลง จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ปัญหาประมงพาณิชย์ ทำให้มอแกนหลายคนต้องละถิ่นฐานออกไปพึ่งพารายได้จากภายนอก โดยเฉพาะมอแกนที่อยู่อาศัยใกล้เมืองอย่างเกาะเหลา บางส่วนหาอาชีพใหม่ทดแทน เช่น การออกไปรับจ้างภายนอกชุมชน ไปทำงานบนฝั่ง มอแกนเกาะสุรินทร์และมอแกนเกาะพยามทำงานรับจ้างอุทยานฯ เป็นคนทำครัว ล้างจาน เก็บขยะ ขับเรือ มอแกนบางคนต้องการเงินมาจุนเจือครอบครัวมากขึ้น ทำให้ต้องหันไปพึ่งพาเถ้าแก่ นำพาชีวิตไปสู่อาชีพที่เสี่ยงอันตรายและผิดกฎหมาย เช่น การดำน้ำลึกเพื่อจับปลิงทะเลด้วยเครื่องอัดลมในน่านน้ำประเทศอื่น การระเบิดปลา อาชีพเหล่านี้เป็นสิ่งที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตมอแกนเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงกลางวันจึงพบเห็นแต่เด็กเล็กและคนชราในชุมชน เพราะชายหญิงวัยแรงงานออกไปทำงานนอกชุมชนกันหมด

              อาชีพใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเป็นแรงงานรับจ้าง การพึ่งพาภายนอก รวมถึงการจับจองพื้นที่ของเอกชนและการประกาศพื้นที่คุ้มครองต่างๆ ฯลฯ ทำให้มอแกนสูญเสียความรู้และภูมิปัญหาดั้งเดิมหลายอย่าง เช่น ความรู้และภูมิปัญญาในการสร้างบ้านและก่าบาง เพราะไม่สามารถตัดไม้ในป่าหรือเขตอุทยานฯ มาสร้างบ้านและเรือได้ ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือและการเก็บหาสัตว์ทะเล เพราะมีเครื่องมือที่ทันสมัย ทุ่นแรง รวดเร็วและสามารถกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมากในเวลาอันสั้น ซึ่งล้วนทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ทำให้การนำความรู้ความเชี่ยวชาญและลักษณะพิเศษเฉพาะของมอแกนมาใช้ในการเก็บหาสัตว์ทะเลเพื่อยังชีพลดลง และเน้นการหาในเชิงพาณิชย์เพื่อผลตอบแทนที่มากขึ้น ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรในการรักษาโรคถูกละเลย ผู้เฒ่าผู้อาวุโสที่มีความรู้เรื่องสมุนไพรล้มหายตายจาก ขาดผู้สืบทอดวิชาความรู้ด้านแพทย์แผนโบราณ หันไปพึ่งพายาจากต่างประเทศและยาสมัยใหม่มากขึ้น เสียค่าใช้จ่ายจากการดูแลรักษาสุขภาพที่เกิดจากโรคที่เสี่ยงอันตราย เช่น โรคน้ำหนีบ ความพิการ เป็นต้น

     

    เด็กมอแกนเรียนรู้การหาเพรียงทราย

     

    ผลิตภัณฑ์จากเตยหนาม เช่น เสื่อ กระปุก

    ที่มา: กิ่งแก้ว บัวเพชร, 2551

     

    ขายผลิตภัณฑ์ให้กับนักท่องเที่ยวในหมู่บ้านมอแกน

    ที่มา: โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2552

     

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน :

    โครงสร้างสังคม

              โครงสร้างครอบครัว และเครือญาติ

              ชาวเลมอแกนมีสายสัมพันธ์แห่งความเป็นเครือญาติอย่างแยกไม่ออก เนื่องจากสืบเชื้อสายโดยตรงมาจากการแต่งงาน จึงไม่สามารถมองจากนามสกุลได้เพียงอย่างเดียว คำเรียกญาติในลำดับชั้นต่างๆ ของมอแกนมีลักษณะคล้ายคนไทย คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง ซึ่งทำให้เห็นระบบความสัมพันธ์ที่มีความเคารพและสนิทสนมกันเป็นอย่างดี ไม่ทำให้รู้สึกห่างเหิน

              สายตระกูล

              ต้นตระกูลของชาวมอแกนอาจสืบได้จากตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนที่ชาวมอแกนใช้ และจากการสืบสาวเรื่องราวเกี่ยวกับชนเผ่าที่เดินทางทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดกันว่ามอแกนสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มโปโตรมาเลย์ (Proto Malay) ซึ่งเป็นคนพวกแรกๆ ที่อพยพมาอยู่ในบริเวณแหลมมลายู ต่อมาคนกลุ่มนี้หันมาใช้ชีวิตทางทะเล เดินทางร่อนเร่ทำมาหากินตามหมู่เกาะและชายฝั่ง ครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่หมู่เกาะมะริดในเมียนมาร์หรือพม่า ต่อเนื่องไปทางใต้และตะวันออกจนถึงหมู่เกาะในทะเลซูลู ประเทศฟิลิปปินส์รวมทั้งเกาะและชายฝั่งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันการเดินทางจำกัดลงมาก และคนกลุ่มเหล่านี้ก็แยกย้ายกระจัดกระจาย พัฒนาการของสังคมและภาษาก็ต่างกันออกไปจนแยกเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม   (นฤมล อรุโณทัย และคณะ, 2557)

              นามสกุลเป็นสิ่งที่แสดงถึงที่มาของบุคคล และสายตระกูลได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความหมายที่มีลักษณะจำเพาะเจาะจงสำหรับชาวเล คือ บ่งบอกถึงถิ่นที่อยู่อาศัย เอกลักษณะ ความถนัดเชี่ยวชาญและความผูกพันกับทะเล ความถนัดในการทำมาหากินทางทะเล

    • กล้าทะเล เป็น นามสกุลของชาวมอแกน  โดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์และเกาะพระทอง จ.พังงา นามสกุลนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถ และความกล้าหาญในเรื่องเกี่ยวกับทะเล
    • หาญทะเล เป็นนามสกุลที่ใช้กันในชาวเลทั้ง 3 กลุ่ม ทั้งในอำเภอคุระบุรีและอำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา ในเกาะอาดังและเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล นามสกุลนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญและความกล้าหาญในเรื่องเกี่ยวกับทะเลเช่นกัน
    •  

    ภาพผังเครือญาติชาวมอแกน

    ที่มา: นฤมล อรุโณทัย และคณะ, 2559

     

  • การนับญาติ การเรียกชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน :

     

     

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน :

    เสื้อผ้าและการแต่งกาย

              การไม่ยึดติดกับเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ทำให้มอแกนไม่มีเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายหรือชุดประจำเผ่าที่เป็นเอกลักษณ์เช่นชนพื้นเมืองทางภาคเหนือของประเทศไทย เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของมอแกนเป็นแบบเรียบง่าย มีเพียงเสื้อ กางเกง หรือผ้านุ่ง ผ้าขาวม้าแบบคนในท้องถิ่นภาคใต้ หนุ่มสาวมอแกนสมัยนี้แต่งตัวทันสมัยตามแฟชั่นเช่นคนเมืองมากขึ้น เช่น สวมกางเกงยีนส์เพราะได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ ละคร แต่โดยทั่วไปหากอยู่ในชุมชน ชายมอแกนจะนิยมสวมกางเกงผ้าขายาว กางเกงขาสั้น ผ้าขาวม้าเพียงตัวเดียวกับเสื้อยืดหรือเชิ้ต เพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการทำงาน รวมถึงความเหมาะสมกับสภาพอากาศ ขณะที่หญิงมอแกนจะสวมผ้านุ่งกับเสื้อ หรือผ้านุ่งเพียงอย่างเดียวแบบกระโจมอก หรือบางคนสวมผ้านุ่งและเปลือยท่อนบนหรือสวมเพียงเสื้อชั้นในสำหรับหญิงที่แต่งงานแล้ว ส่วนเด็กเล็กๆ ก็จะสวมเสื้อผ้าทั่วไป ขณะที่บางคนก็ไม่สวมใส่เสื้อผ้าเลย เพราะสนุกกับการวิ่งเล่น และเล่นน้ำทะเล เช่น มอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์

     

      

    การแต่งกายของหญิงชายมอแกนด้วยชุดที่สะดวกสบายต่อการสวมใส่และเหมาะกับสภาพอากาศ

    ที่มา: โครงการนำร่องอันดามัน, 2557

     

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน :

    ที่อยู่อาศัย 

              รูปแบบการตั้งชุมชนของชาวเลมอแกน

              ในสมัยก่อนชาวเลมอแกนไม่ได้ตั้งถิ่นฐานถาวรเช่นในปัจจุบัน เพราะจำนวนประชากรชาวเลยังมีไม่มากและการเดินทางไม่ได้ถูกจำกัดด้วยพรมแดนรัฐชาติ ชาวเลอาศัยอยู่ในเรือ เดินทางโยกย้ายไปมา ล่องเรือไปตามเกาะน้อยใหญ่ต่างๆ ได้อย่างอิสระและมีการไปมาหาสู่กันระหว่างมอแกนในประเทศพม่า เช่น หมู่เกาะมะริด เกาะสอง ไปงมปลิง ดำหอยที่เกาะนิโคบาร์ในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศอินเดีย ชาวเลมอแกนอาศัยหลับนอนอยู่บนเรือเป็นหลัก และจะร่อนเรือมาหลบลมหรือสร้างเพิงพักบนเกาะในช่วงมรสุม เมื่อสภาพอากาศเป็นปกติจึงร่อนเรือต่อ ชีวิตของมอแกนจึงเชื่อมโยงติดกับฤดูกาลและคลื่นลมในทะเลเป็นส่วนใหญ่

              ช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ฤดูแล้ง) คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน เมื่อทะเลเรียบ ชาวมอแกนจะใช้เรือก่าบางเดินทางไปตามเกาะต่างๆ เพื่อทำมาหากิน เก็บหาเปลือกหอย ปลิงทะเล รังนก ฯลฯ นำมาแลกกับอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันกับเถ้าแก่บนฝั่ง ส่วนในฤดูฝน ช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือในช่วงเดือนพฤษภาคมไปถึงเดือนพฤศจิกายน เมื่อทะเลมีคลื่นลมจัด การเดินทางไปไกลๆ เป็นเรื่องที่ทำได้ยากลำบาก มอแกนจะหยุดเดินทางเคลื่อนย้ายแล้วชักชวนกันอพยพขึ้นมาสร้างบ้านเรือนในบริเวณอ่าวที่เป็นจุดหลบลม (โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549)

              การเลือกสถานที่พักพิงหรือการสร้างกระท่อมชั่วคราวในช่วงฤดูฝน สะท้อนให้เห็นถึงความรู้และประสบการณ์ของมอแกนที่สืบทอดกันมาด้านความปลอดภัย โดยจะพิจารณาพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นชายหาดในอ่าวที่สามารถหลบคลื่นลมได้ อ่าวส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะ เป็นบริเวณที่มีแหล่งน้ำจืด เป็นธารน้ำจากป่า น้ำซับ น้ำซึมหรือน้ำผุดบริเวณไม่ไกลจากชายหาด และเป็นบริเวณที่มีความลาดชันพอเหมาะ สามารถจอดเรือและแล่นเรือเข้า-ออกได้สะดวก (นฤมล อรุโณทัย, สุพิณ วงษ์บุษราคัม และดิเรก อีไลอัส, 2549)

              รูปแบบบ้านของชาวเล -บ้านของมอแกน

              สมัยก่อนมอแกนอาศัยอยู่ในก่าบาง หลังคาทำด้วยใบเตยหนาม ใช้ไม้แจว 4-6 เล่มต่อลำ หากมีลมจะกางใบเรือที่ทำจากใบเตยหนาม แล่นไปด้วยความเร็วลม เรือก่าบางเป็นเรือที่เสริมกาบด้วยไม้ระกำ ซึ่งมีน้ำหนักเบา ทำให้เรือไม่จม เมื่อน้ำเข้าเรือเพียงแต่วิดน้ำออกเท่านั้น ปัจจุบันก่าบางที่เสริมกาบด้วยไม้ระกำหาไม่ได้อีกแล้ว มีเพียงเรือที่เสริมกราบเรือด้วยไม้กระดาน เพราะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า และต้องติดเครื่องยนตร์เพื่อให้เรือสามารถแล่นได้ ก่าบางของมอแกนในประเทศไทยเหลือเพียงลำเดียว อยู่ที่หมู่บ้านมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เป็นก่าบางลำสุดท้ายในประเทศไทย ข้อจำกัดในเรื่องการตัดไม้มาทำเรือเป็นอุปสรรคใหญ่ ที่ทำให้ชุมชนไม่สามารถรื้อฟื้นภูมิปัญญาในการทำเรือแบบดั้งเดิมได้อีก ความรู้ในการสร้างเรือเหล่านี้จึงสูยหายไปหากไร้การสืบทอดการเข้าใจ และการยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

              ก่าบาง คือ บ้านที่รวบรวมทุกสิ่งอย่างอยู่ในเรือ มีครัว เตาไฟ เดิมเป็นเตาสามเส้า ใช้ฟืน ปัจจุบันเป็นเตาถ่าน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เสื้อผ้า อาหาร น้ำ ข้าวสาร ฯลฯ สิ่งของเครื่องใช้ถูกเก็บอยู่ในกล่องหรือกระปุกที่สานด้วยเตยหนาม มีเสื่อใบเตยหนามปูรองนั่งและรองนอน (โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549)

              มอแกนใช้ชีวิตอยู่ใน “ก่าบาง ก่อมัน” ดำน้ำ หาปลา งมหอย เพื่อยังชีพและนำไปแลกเปลี่ยนกับอาหาร สิ่งของ เครื่องใช้ที่จำเป็นกับคนบนฝั่ง ชีวิตที่เรียบง่ายเป็นอิสระ ทำให้ไม่เคยคิดเรื่องการลงหลักปักฐานด้านที่อยู่อาศัย หรือเป็นเจ้าของที่ดิน ชีวิตในแต่ละวันเดินทางไปตามที่ต่างๆ และแวะพักตามเกาะเมื่อมีลมมรสุม สร้างบ้านหรือเพิงพักเล็กๆ เป็นที่กำบังจนกว่าคลื่นลมสงบจึงออกเดินทางต่อ

              โดยทั่วไป บ้านของมอแกนมักตั้งหลักแหล่งอยู่ริมน้ำ ป่าชายเลนหรือตามเกาะที่มีน้ำจืดเป็นหลัก เพราะสะดวกต่อการทำมาหากิน การเก็บหาสัตว์ทะเล การจอดเรือ โดยจะสร้างบ้านในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เดียวกันในหมู่เครือญาติ  บ้านของมอแกนจะสร้างจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายบนเกาะ เช่น ไม้ไผ่ ใบค้อ ใบเตยหนาม ตัวบ้านและพื้นบ้านทำจากไม้และไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยใบค้อหรือใบเตยหนามที่นำมาเย็บติดกัน แม้จะมีบางบ้านที่ใช้ทั้งไม้ไผ่และไม้อัดเป็นพื้น แต่ก็ไม่ได้มีการพึ่งพาวัสดุจากภายนอก เมื่อบ้านทรุดโทรมหรือผ่านช่วงมรสุมก็จะทำการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เก่าเสียหายหรือสร้างใหม่ บ้านของมอแกนไม่มีห้องน้ำ ใช้บริเวณป่าและชายหาดเป็นที่ขับถ่าย

              บ้านหรือเพิงพักแบบดั้งเดิมของมอแกนสมัยก่อนเป็นเสาสูง สร้างอยู่ริมชายหาดที่น้ำทะเลท่วมถึง ลดหลั่นกันไปตามลักษณะชายหาด เหตุที่ต้องปลูกเสาสูงเนื่องจากชายหาดมีความลาดชัน เช่น ที่อ่าวบอนเล็ก แต่ที่ช่องขาดกับอ่าวไทรเอนหาดตื้น จึงไม่ต้องปลูกบ้านเสาสูง แต่การปลูกบ้านลักษณะเสาสูงนี้ทำให้อากาศมีการถ่ายเท ลมพัดเย็นสบาย สามารถสังเกตเห็นเรือเข้า-ออก สังเกตคลื่นลม หาอาหารได้ง่าย การสร้างบ้านแบบนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจในลักษณะภูมิประเทศ ภูมิปัญญาที่สั่งสมและถ่ายทอดกันมา สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ

              แต่หลังเหตุการณ์สึนามิ บ้านแบบเสาสูงที่อ่าวบอนเล็กพังเสียหายหมด ต้องมาอยู่อาศัยรวมในพื้นที่เดียวกัน มอแกนไม่สามารถสร้างบ้านแบบดั้งเดิมได้อีก ด้วยข้อกำหนดของอุทยานแห่งชาติด้านความเป็นระเบียบและสะดวกต่อการจัดการพื้นที่ บ้านในรูปแบบนี้จึงไม่มีให้เห็นในปัจจุบัน

              จะเห็นได้ว่า บ้านของมอแกนในสมัยก่อนกับสมัยปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างกัน บ้านสมัยก่อนเป็นเพียงเพิงหรือกระท่อมพักพิงชั่วคราว ขณะที่บ้านสมัยใหม่ถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระเบียบ มีลักษณะเป็นบ้านถาวรมากขึ้น มั่นคงขึ้น แต่ยังคงอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของอุทยานฯ เช่น เรื่องการตัดไม้ การพึ่งพาวัสดุจากภายนอก ข้อจำกัดของพื้นที่ก่อสร้างบนชายหาด ฯลฯ หลังจากเหตุการณ์สึนามิ มอแกนได้รับความช่วยเหลือในการสร้างบ้านจากวัสดุที่ได้รับการบริจาคมาจากภายนอกชุมชน มีเสาปูน ไม้กระดาน ตะปู ตัวบ้านมีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่นอน พื้นที่ทำครัวชัดเจน บ้านบางหลังต่อเติมพื้นที่เป็นชานหรือระเบียง สำหรับเป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนของคนในครอบครัว เป็นที่นั่งพูดคุยกันระหว่างญาติหรือเพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือซ่อมแซมอุปกรณ์เรือ นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือเกี่ยวกับการสร้างห้องน้ำห้องส้วม เพื่อสุขอนามัยที่ดีขึ้นของมอแกน

              ส่วนบ้านของชาวเลมอแกนเกาะเหลา เกาะช้าง และเกาะพยามจังหวัดระนอง บ้านดั้งเดิมเป็นเพิงพักหรือกระท่อมหลังเล็กๆ สร้างจากวัสดุธรรมชาติที่หาง่ายในท้องถิ่น ปลูกสร้างตามป่าชายเลนหรือชายหาด ตัวบ้านยกใต้ถุนสูง บ้านมอแกนเกาะเหลาตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดเล็กของชายหาดด้านตะวันตกของเกาะ ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึง 200 กว่าคน บนพื้นที่ขนาดเล็กเพียง 7 ไร่ ทำให้บ้านเรือนปลูกอย่างแออัดและสกปรก ไม่มีห้องน้ำห้องส้วม ไฟฟ้าและน้ำประปา คนในชุมชนจึงมีปัญหาเรื่องสุขอนามัย เช่น ท้องร่วง โรคผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น

              บ้านของมอแกนได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์สึนามิ บางส่วนพังและทรุดโทรม ภายหลังบ้านของมอแกนทั้ง 3 เกาะจึงได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนในการปรับปรุง ซ่อมแซม และปลูกสร้างใหม่ให้มีความมั่นคงแข็งแรง พื้นบ้านและฝาบ้านปูด้วยไม้กระดาน ไม้อัด ตัวบ้านยกเสาสูงและเสริมความมั่นคงด้วยเสาปูน หลังคามุงกระเบื้อง มีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ในบ้าน สร้างห้องน้ำห้องส้วม ทำให้สุขอนามัยและสุขภาพของมอแกนดีขึ้นกว่าแต่ก่อน บ้านที่เกาะเหลาได้รับความช่วยเหลือสร้างใหม่ จำนวน 50 หลัง มอแกนช่วยสมทบพื้นและฝาไม้กระดานเอง ขณะที่บ้านมอแกนเกาะช้าง ได้รับการสนับสนุนความช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศและคริสตจักร

              บ้านของมอแกนเกาะพยาม อยู่ทางตอนกลางทางทิศตะวันตกของเกาะพยาม ติดกับปลายอ่าวเขาควาย ชาวมอแกนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เก็บหาสัตว์ทะเลตามป่าชายเลนหรือ ทำสวนปลูกต้นกาหยู แต่ปัจจุบันชาวมอแกนไปรับจ้างตามรีสอร์ท ร้านอาหารเป็นส่วนใหญ่ ชุมชนมอแกนเกาะพยามเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบคลองเลียบป่าชายเลน การเดินทางเข้าสู่เขตหมู่บ้านต้องผ่านป่าชุมชนมอแกน รอบๆ บริเวณบ้านมีต้นไม้น้อยใหญ่มากมาย บ้านของมอแกนมีลักษณะเป็นกระท่อมยกเสาสูงด้วยปูน ฝาบ้านสานด้วยไม้ไผ่ขัดแปะ หลังคามุงด้วยกระเบื้อง เป็นบ้านที่สร้างและมีรูปแบบแตกต่างจากเดิม

              เดิมบ้านมอแกนจะเป็นฝาไม้ไผ่ ยกพื้นด้วยเสาไม้ ปลูกติดทะเล แต่ปัจจุบันบ้านมอแกนจะไปปลูกติดภูเขา ตัวบ้านยกพื้นด้วยเสาปูน ผนังบ้านทำจากไม้ฝาสำเร็จรูป มีหน้าต่างกระจก หลังคากระเบื้องคล้ายแบบบ้านคนในท้องถิ่น 

     

    ภาพ  ก่าบางแบบดั้งเดิมของมอแกน

    ที่มา: พลาเดช ณ ป้อมเพชร, 2549

     

    ภาพบ้านเสาสูงในสมัยก่อนที่หาดอ่าวบอน หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา

    ถ่ายภาพในช่วงเวลาน้ำขึ้น (ซ้าย) และน้ำลง (ขวา)

    ที่มา: พลาเดช ณ ป้อมเพชร, 2549

             

  • ประเพณีและเทศกาลสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน :

              พิธีกรรมสำคัญประจำปีของมอแกน คือ พิธีฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ หรือเรียกว่า “เหน่เอนหล่อโบง” จัดขึ้นในช่วงเดือนห้าหรือประมาณเดือนเมษายนของทุกปี เป็นพิธีกรรมที่สร้างเงื่อนไขในการรวมญาติมอแกนพิธีหนึ่ง มอแกนจากเกาะต่างๆ ทยอยเดินทางมาร่วมงาน พูดคุย พบปะและสังสรรค์กัน

     

    ภาพ  เสาหล่อโบงและศาลบรรพบุรุษ

    ภาพโดย: กิ่งแก้ว บัวเพชร, 2553

     

              พิธีกรรมนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ อยู่ในระบบคิดและความเชื่อของมอแกนมาช้านาน สามารถชี้เป็นชี้ตายให้กับชีวิตได้ พิธีฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษนี้จัดขึ้น 3 วัน 3 คืน เป็นเวลาแห่งการรวมญาติพี่น้อง ทุกคนในหมู่บ้านมีส่วนร่วมกับพิธีนี้ โดยกลุ่มผู้ชายมอแกนจะไปตัดไม้จากในป่า การเลือกไม้ศักดิ์สิทธิ์ทำพิธี ต้องอาศัยผู้นำที่เป็นคนทรงทำพิธีสื่อสารกับวิญญาณนำทางไปและกำหนดว่าไม้ต้นไหนที่สามารถตัดมาทำเสาวิญญาณบรรพบุรุษได้ ตัดไม้ 3 ต้น เมื่อได้ไม้ 3 ต้นสำหรับเสาหล่อโบงแล้วก็จะตัดและช่วยกันแบกกลับมาที่หมู่บ้าน ขณะที่ผู้ชายช่วยกันทำการแกะสลักไม้แต่ละต้น ซึ่งเป็นตัวแทนปู่หรือตา ย่าหรือยาย และลูกหลาน ระบายสี ผูกผ้าตกแต่งเสาจนสวยงาม ผู้หญิงมอแกนและเด็กๆ จะช่วยกันทำศาลบรรพบุรุษที่มีลักษณะคล้ายบ้านขนาดเล็กรอที่ลานพิธี  เตรียมขนม 9 อย่าง และของเซ่นไหว้ในพิธีกรรมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เดิมของเซ่นไหว้จะมีเต่ารวมอยู่ด้วย แต่ปัจจุบันใช้ไก่แทน เพราะต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์และการอนุรักษ์ บริเวณลานพิธีเต็มไปด้วยชาวมอแกนทั้งหมู่บ้าน เด็ก ผู้เฒ่าผู้อาวุโสที่ยึดมั่นในวัฒนธรรมประเพณี มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน

              “โต๊ะหมอ หรือ ออลางปูตี” คือ ผู้ที่ติดต่อกับวิญญาณบรรพบุรุษ จะเริ่มเข้าทรง กินของเซ่นไหว้ และทำพิธีสื่อสารกับวิญญาณบรรพบุรุษและวิญญาณในธรรมชาติ ระหว่างนั้นจะมีการบรรเลงรำมะนา และการร้องรำตลอดทั้งวัน วันรุ่งขึ้นจะมีการนำเรือไปลอยเคราะห์  เรียกว่า “ก่าบางแหม่ลอย” คือ เรือลอยเคราะห์ขนาดเล็กที่ชาวมอแกนช่วยกันทำขึ้นมา และจะนั่งเรือนำเรือลอยเคราะห์ไปลอยกลางทะเล เพื่อปัดเป่าทุกข์โศกและสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากครอบครัวมอแกนและชุมชน ปัจจุบันพิธีฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษนี้เหลือเพียงที่ชุมชนมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน :

    ศาสนาและความเชื่อ

              ความเชื่อ คือ สิ่งที่หลอมรวมและยึดโยงชาวมอแกนในชุมชนไว้ด้วยกัน เนื่องจากมอแกนไม่มีศาสนา นับถือวิญญาณและบรรพบุรุษ “แอบูม แอบ๊าบ” เป็นที่พึ่งทางใจ ศาสนาดั้งเดิมหรือวิญญาณบรรพบุรุษจึงเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยทำให้คลายความกังวล ทุกข์โศกเมื่อเจอปัญหา

              สำหรับมอแกนเกาะเหลา เกาะช้าง ภายหลังเหตุการณ์สึนามิได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชนและกลุ่มต่างๆ มากมาย รวมถึงคริสตจักรทำให้มอแกนหลายคนเปลี่ยนการนับถือศาสนาดั้งเดิมหรือวิญญาณบรรพบุรุษมานับถือศาสนาคริสต์แทน จึงมีความเชื่อและความศรัทธาเลื่อมใสต่อศาสนาดั้งเดิมลดลง เหตุผลสำคัญที่ทำให้มอแกนหันหลังให้กับศาสนาดั้งเดิม คือ เกรงจะไม่ได้รับความช่วยเหลือเพราะมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก อีกทั้งคริสตจักรได้เข้ามาส่งเสริมเรื่องการศึกษาของเด็กเล็ก โดยจัดตั้งเป็นศูนย์เมอร์ซี่ เพื่อรองรับและดูแลบุตรหลานชาวมอแกน การสนับสนุนด้านอาชีพ และเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ทำให้ความเป็นอยู่ของมอแกนดีขึ้นในช่วงระยะหนึ่ง

              ไม่เพียงความเชื่อที่เกี่ยวกับวิญญาณบรรพบุรุษ ที่มีผลต่อความเป็นอยู่และสภาพจิตใจของมอแกน ความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างบ้านและเรือก็ส่งผลต่อความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของมอแกน ทำให้บ้านพักอาศัยอยู่ในที่ปลอดภัย คนในบ้านไม่เจ็บป่วย และอยู่ในบ้านอย่างมีความสุข ในการเลือกไม้สร้างบ้านหรือเรือนั้น ชาวมอแกนมีความเชื่อที่ต้องทำพิธีขอไม้จากรุกขเทวดาหรือวิญญาณในธรรมชาติก่อน เพราะไม้ทุกต้นมีเทวดาหรือวิญญาณสิงสถิตย์อยู่ ความเชื่อนี้เป็นเสมือนกุศโลบายที่ทำให้มอแกนอ่อนน้อมและเคารพต่อธรรมชาติ แฝงไปด้วยข้อปฏิบัติที่ยึดถือสืบเนื่องต่อๆ กันมา

              มอแกนเกาะสุรินทร์มีความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างบ้าน เช่น ก่อนจะยกบ้านต้องมีการสำรวจบริเวณที่จะปลูกบ้านเป็นอย่างดี ห้ามตั้งบ้านเรือนในบริเวณที่มีทางน้ำไหลหรือมีตาน้ำผุดขึ้นมา พื้นที่ต้องไม่เป็นหลุมเป็นบ่อเวลาฝนตก หรือเป็นที่น้ำไหลมารวมกันเป็นแอ่งน้ำขัง เพราะชาวมอแกนเชื่อว่าสิ่งอัปมงคลจะไหลเข้ามาอยู่ใต้บ้าน

              ชาวมอแกนไม่นิยมหันหน้าบ้านทางทิศใต้ เพราะทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นทิศที่นำฝนและลมพายุรุนแรงเข้าสู่บ้าน ส่วนบันไดบ้านก็ต้องเป็นจำนวนเลขคี่เท่านั้น ถ้าใครยกบ้านมีบันไดเป็นเลขคู่ จะเรียกว่า บ้านผี และจะทำให้คนในบ้านไม่สบาย หาหอยหาปลาไม่ได้

              ความเชื่อเช่นนี้คล้ายคลึงกับคนไทย และมีผู้ตีความว่าบันไดเลขคี่ จะทำให้คนก้าวขึ้นด้วยเท้าข้างที่ถนัด และจบที่เท้าข้างเดียวกันนั้น ทำให้ก้าวเดินได้ครบจังหวะและมีความมั่นคงมากกว่า นอกจากนั้นชาวมอแกนยังมีความเชื่อว่าต้องเว้นระยะห่างระหว่างบ้าน “พอให้ผีเดินผ่านได้ ถ้าผีเดินผ่านไม่ได้ ผีจะเข้าไปในบ้าน ทำให้เด็กๆ ในบ้านเป็นไข้” ความเชื่อเช่นนี้ทำให้บ้านแต่ละหลังมีพื้นที่โปร่งโล่งรอบบริเวณบ้าน ทำให้หมู่บ้านไม่แออัดและหลังคาไม่เกยกัน (นฤมล อรุโณทัย และคณะ, 2557 )

  • เครื่องดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน :

              เครื่องดนตรีพื้นบ้านที่สำคัญของมอแกน  เรียกว่า “กาติ๊ง” เป็นเครื่องสายที่ทำขึ้นจากไม้แกะสลัก ขึ้นรูปลักษณะคล้ายกับไวโอลีน มอแกนใช้กาติ๊งบรรเลงเพลงในโอกาสต่างๆ เช่น งานรื่นเริง งานแต่งงานในชุมชน เพลงส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์ สิ่งมีชีวิต ธรรมชาติ วิถีชีวิต การทำมาหากิน การเดินทาง เช่น “เพลงล่องทะเล หรือ ลูยู่”  “เพลงบัก ปะญุ่ย หรือ ล่าเต่า”  “เพลง ดูยุ่ง”  เกี่ยวกับการค้นหาพะยูน  แต่หาชมได้ยากแล้ว เนื่องจากมีเพียงคนเก่าแก่ไม่กี่คนในหมู่บ้านเท่านั้นที่เล่นเครื่องดนตรีและขับร้องเพลงนี้ได้

              นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดนตรีอีกหลายชิ้น เช่น รำมะนา  ฉิ่ง และฆ้อง ที่มอแกนใช้ตีกำกับจังหวะของเพลง ประกอบการร่ายรำต่างๆ

     

    ผู้อาวุโสตีรำมะนาประกอบการร้องเพลง

    ภาพโดย : กิ่งแก้ว บัวเพชร, 2550

     

    ผู้อาวุโสมอแกนสาธิตการเล่นเครื่องดนตรี “ก่าติ๊ง”

    ที่มา : นฤมล อรุโณทัย

     

  • ตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน :

              ตำนานคลื่นเจ็ดชั้น “ละบูน” หรือคลื่นเจ็ดชั้น เป็นความรู้ของมอแกนสมัยก่อนที่ถูกถ่ายทอดมาจนกลายเป็นตำนาน ที่ช่วยชีวิตมอแกนให้รอดพ้นจากการถูกกลืนกินของคลื่นยักษ์สึนามิ เป็นสิ่งเตือนใจเกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต เมื่อมอแกนอาวุโสในชุมชนเห็นการลดลงของระดับน้ำทะเลผิดปกติ และเห็นคลื่นขนาดใหญ่กำลังมา จึงเตือนให้ลูกหลานและคนในชุมชนปีนขึ้นไปหลบบนพื้นที่สูง สัญชาตญาณของคนที่อยู่ในทะเลก็รีบบังคับเรือให้ห่างจากฝั่งเพื่อลดการกระแทกของคลื่น คลื่นยักษ์ที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ชุมชนได้รับความเสียหาย บ้านเรือนพัง ข้าวของเสียหาย  ฯลฯ แต่ไม่มีมอแกนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ กลับเป็นผู้ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวและคนอื่นๆ รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นและหาที่หลบภัยได้ทัน

     

  • สถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน :

    สถานการณ์สำคัญและการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน   

              สภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ชุมชนชนพื้นเมืองอย่างชาวเล ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจากชุมชนอื่น แต่การปรับตัวของชาวเลยังไม่เท่าทันต่อสิ่งที่รุกคืบชุมชน ไม่ว่าจะเป็นวิถีวัฒนธรรมแบบใหม่ ภาษา เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ผลกระทบจากนโยบายการพัฒนา ฯลฯ ความแตกต่างของระบบคิด ค่านิยม ความเชื่อดั้งเดิมทำให้มอแกนหลายคนรู้สึกถึงความแปลกแยก จึงยอมรับและกลืนกลายวัฒนธรรม วิถีดั้งเดิมของตนเองให้เหมือนคนเมือง และอยู่ภายใต้การครอบงำทางความคิด ถูกจำกัดสิทธิ ได้รับความไม่เท่าเทียมและเป็นชุมชนปลายทางของการพัฒนาที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจและความมั่งคั่งเป็นหลัก การยอมรับวัฒนธรรมอื่น ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ทำให้วิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมของมอแกนเกิดการสั่นคลอน

              รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กระทบและส่งผลทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนในชุมชนมอแกน คือ เหตุการณ์พิบัติภัยสึนามิ ชุมชนมอแกนและชาวเลมอแกนเป็นที่รู้จักของสังคมมากขึ้น ใน “ฐานะผู้รอดชีวิตและเป็นผู้ทำให้คนอื่นมีชีวิตรอดจากคลื่นยักษ์”

              “ละบูน” หรือคลื่นเจ็ดชั้น เป็นความรู้ของมอแกนสมัยก่อนที่ถูกถ่ายทอดมาจนกลายเป็นตำนาน ที่ช่วยชีวิตมอแกนให้รอดพ้นจากการถูกกลืนกินของคลื่นยักษ์สึนามิ เป็นสิ่งเตือนใจเกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต เมื่อมอแกนอาวุโสในชุมชนเห็นการลดลงของระดับน้ำทะเลผิดปกติ และเห็นคลื่นขนาดใหญ่กำลังมา จึงเตือนให้ลูกหลานและคนในชุมชนปีนขึ้นไปหลบบนพื้นที่สูง สัญชาตญาณของคนที่อยู่ในทะเลก็รีบบังคับเรือให้ห่างจากฝั่งเพื่อลดการกระแทกของคลื่น คลื่นยักษ์ที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ชุมชนได้รับความเสียหาย บ้านเรือนพัง ข้าวของเสียหาย ฯลฯ แต่ไม่มีมอแกนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ กลับเป็นผู้ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวและคนอื่นๆ รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นและหาที่หลบภัยได้ทัน กระทั่งหลังเหตุการณ์สึนามิสงบลง ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นคลื่นตามมายังชุมชน ยังมีอีกมากมายมิรู้จบ เหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาในชุมชนชาวเล คือ

              1. การเปลี่ยนศาสนา ชุมชนมอแกนหลายชุมชน มีการเปลี่ยนแปลงของระบบความเชื่อ ทำให้ละทิ้งความเชื่อดั้งเดิมในเรื่องธรรมชาติ วิญญาณนิยม และหันไปนับถือศาสนาอื่นภายหลังจากการได้รับความช่วยเหลือเรื่องบ้าน เรือ อาชีพ การศึกษาฯ มอแกนเกาะเหลา มอแกนเกาะช้าง เพราะกลัวไม่ได้รับความช่วยเหลือในช่วงที่ยากลำบาก

    การเปลี่ยนศาสนา ไม่เพียงทำให้มอแกนละทิ้งความเชื่อดั้งเดิม แต่รูปแบบการเข้าถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่เคยเกี่ยวข้องในชีวิตก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนศาสนาด้วย เช่น การเข้าโบสถ์ในวันอาทิตย์ การไม่สามารถจัดพิธีฉลองวิญญาณบรรพบุรุษเช่นมอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ การฝังศพของมอแกนที่เสียชีวิตถูกแทนที่ด้วยการจัดงานศพแบบคนท้องถิ่น ฯลฯ เป็นต้น เมื่อไม่สามารถมีกิจกรรมร่วมที่เชื่อมต่อความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ก็ทำให้ระบบความสัมพันธ์ของมอแกนสั่นคลอน ไม่ใกล้ชิดดังเช่นแต่ก่อน เด็กและเยาวชนมอแกนรุ่นใหม่ ไม่รู้จักพิธีกรรมดั้งเดิม เกิดช่องว่างระหว่างคนยุคเก่าที่นับถือวิญญาณนิยมกับคนในยุคใหม่ ขาดความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตที่อิงธรรมชาติ

              2.ภาษาเดิมที่กำลังสูญหาย

              มอแกนมีภาษามอแกนที่เป็นเอกลักษณ์ แต่มีเพียงภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน จึงไม่มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษรเช่นภาษาอื่น ทำให้การถ่ายทอดหรือส่งผ่านความรู้ ภูมิปัญญาต่างๆ ของมอแกนกระทำผ่านคำพูด ผ่านคำบอกเล่า นิทาน ตำนาน และการจดจำ ดังนั้นจึงอาจมีข้อมูลบางส่วนที่ตกหล่นและสูญหายไประหว่างทางมากมาย การช่วยรื้อฟื้นวัฒนธรรมด้านภาษาและภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของมอแกนผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดอบรมกิจกรรมยุวมัคคุเทศก์ กิจกรรมสาธิตมอแกนพาเที่ยว จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยดำรงรักษาภาษามอแกนและเรื่องราว วิถีชีวิต ภาษา ภูมิปัญญา เหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีตได้ เช่น ตำนานคลื่นเจ็ดชั้น  ซึ่งนอกจากจะทำให้มอแกนเข้าใจและเชื่อมั่นในวิถีชีวิต ตัวตน ภูมิปัญญาภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง รักษาเอกลักษณ์ทางด้านภาษาแล้ว ผลพลอยได้จากกิจกรรมเหล่านี้ยังช่วยต่อยอดให้เกิดการพึ่งพาตนเองในด้านอาชีพอีกด้วย

              การศึกษาภาษาไทย ที่มีการใช้ภาษากลางหรือภาษาราชการในการสื่อสารทั่วไป ทำให้มอแกนหลายคนที่มีโอกาสได้รับการศึกษาสามารถอ่านออก พูด และเขียนภาษาไทยได้  หรือการได้ติดต่อค้าขายกับคนไทยบนฝั่งก็ทำให้มอแกนรุ่นใหม่หลายคนพูดภาษาไทยได้ มอแกนรุ่นอาวุโสในชุมชนมอแกนส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ เช่น มอแกนที่เกาะเหลา มอแกนเกาะช้าง จ.ระนอง แต่มอแกนอาวุโสหลายคนในชุมชนมอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ แม้ไม่เคยได้เรียนหนังสือในระบบการศึกษาไทยก็ตาม แต่มอแกนส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้ภาษามอแกนในการสื่อสารระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเอง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ประเด็นนี้จึงไม่ค่อยน่าวิตกกังวลว่าภาษามอแกนดั้งเดิมจะสูญหาย

              ในบางพื้นที่ด้วยที่ตั้งของชุมชน ความเจริญและการเติบโตของการท่องเที่ยวที่เข้ามาสู่ชุมชน การได้รับการศึกษาทำให้มอแกนเด็กๆ รุ่นใหม่สื่อสารภาษาไทยได้ดีขึ้น จนบางครั้งไม่อยากพูดภาษามอแกนหรือไม่อยากให้ใครรู้ว่าเป็นมอแกน เช่น มอแกนที่บ้านน้ำเค็ม จ.พังงา สื่อสารภาษาไทยท้องถิ่น ภาษาปักษ์ใต้ จนผสมกลมกลืนกับคนในท้องถิ่น ซึ่งอาจทำให้ไม่นิยมพูดภาษามอแกนจนเป็นสาเหตุให้ภาษาดั้งเดิมสูญหายไปได้

              ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวเร่งให้ภาษามอแกนสูญหาย คือ การเปลี่ยนชื่อมอแกนเป็นภาษาอื่น ไม่ว่าจะเป็นชื่อคน สถานที่ หรือชื่อเรียกอื่นๆ  ด้วยความไม่เข้าใจในรากเหง้า ที่มาของภาษา ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยราชการ หน่วยงานต่างๆ ครูหรือบุคคล เปลี่ยนการเรียกชื่อในภาษามอแกนเป็นภาษาอื่น ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ภาษามอแกนดั้งเดิมค่อยๆ สูญหายไป หรือในการติดต่อกับทางราชการ มอแกนบางคนไม่เข้าใจภาษาไทยและไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ทำให้เกิดความผิดพลาดในการสะกดชื่อ นามสกุล ที่เป็นภาษามอแกน ซึ่งมีผลเชื่อมโยงเกี่ยวกับเรื่องเอกสารการเดินทาง การรักษาพยาบาล เป็นต้น

              ชื่อของมอแกนนั้นมีความหมายและความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ชาวมอแกนนิยมนำชื่อธรรมชาติที่คุ้นเคยมาตั้งเป็นชื่อลูก ไม่ว่าจะเป็นชื่อปลา หอย หรือสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ บ้างก็ตั้งตามชื่อต้นไม้ ดอกไม้ ผลไม้ บ้างก็หวังว่าลูกจะมีบุคลิกหรือความสามารถตามชื่อนั้นๆ (นฤมล อรุโณทัย และคณะ, 2557) ชื่อของลูกหลานมอแกนสมัยใหม่เริ่มถูกแทนที่ด้วยชื่อภาษาไทยหรือชื่อภาษาต่างประเทศมากขึ้นตามยุคสมัย โดยได้รับอิทธิพลจากสื่อโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เพลง และนักท่องที่ยวหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมากขึ้น

              3.การอพยพเข้ามาทำงานในเมือง

              สภาพเศรษฐกิจถดถอย เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่ทำให้มอแกนหลายคนต้องอพยพย้ายถิ่นไปทำงานในเมืองมากขึ้น  ความยากลำบากในการเก็บหาทรัพยากร ปัญหาเรือประมงพาณิชย์ที่ตักตวงทรัพยากรไปมากมาย ทำให้ประชากรสัตว์น้ำบริเวณชุมชนที่มอแกนอาศัยอยู่นั้นมีจำนวนลดลง   และเนื่องจากปัจจุบันการเดินทาง คมนาคมระหว่างชุมชนมอแกนกับเมือง ไม่ได้ยุ่งยากหรือใช้เวลานานเช่นก่อน  โดยเฉพาะชุมชนมอแกนเกาะเหลา ที่มีที่ตั้งชุมชนไม่ห่างไกลตัวเมืองมากนัก แม้จะต้องเดินทางด้วยเรือก็ตาม ก้ยังคงมีมอแกนออกไปทำงานนอกชุมชนมากขึ้น

              ช่วงหน้ามรสุมที่ไม่สามารถทำงานหรือออกทะเลได้ มอแกนเกาะสุรินทร์บางส่วนก็อพยพเข้าไปหางานทำในเมือง หรือไปอยู่กับญาติๆ ชาวเลที่บ้านบางสัก บ้านน้ำเค็ม เขาหลัก จ.พังงา ประกอบอาชีพ เช่น อาชีพรับจ้าง ก่อสร้าง ลูกจ้างร้านอาหาร ฯลฯ หรืออพยพไปจังหวัดใกล้เคียง เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว

              การอพยพของคนวัยแรงงานในชุมชนมอแกนหลายชุมชน ทำให้เหลือเพียงผู้สูงอายุกับเด็กที่อาศัยอยู่ที่บ้าน ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวลดลง ผู้สูงอายุว้าเหว่ ขาดกำลังใจและความมั่นใจในคุณค่าของตนเอง เด็กๆ ขาดการดูแลเอาใจใส่ ขาดความรักความอบอุ่น จนหลายครอบครัวมีปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น เด็กติดยาเสพติด ติดเกมส์ ไม่สนใจเรียน เป็นต้น

              การสร้างทางเลือกและความรู้เกี่ยวกับอาชีพที่ทำให้มอแกนสามารถพัฒนาศักยภาพตนเอง และหารายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้อีกช่องทาง คือ การส่งเสริมให้มอแกนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ภูมิใจในความรู้ ภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิม จะทำให้มอแกนสามารถพัฒนาตนเองและอยู่ได้ในชุมชน โดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอกและมีภูมิคุ้มกันกระแสการพัฒนาที่ไม่สอดรับกับคนในพื้นที่

     

  • การเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่ประสบอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน :

    ปัญหาที่ประสบในปัจจุบัน

              1. ความมั่นคงด้านที่ดิน ที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวเลมอแกน โดยเฉพาะชาวเลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่คุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ แม้ผืนน้ำ ผืนป่าและเกาะต่าง ๆ บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์จะเป็นที่อยู่อาศัย ที่หากินทางทะเลของชาวเลมอแกนมาอย่างช้านานหลายชั่วอายุคน ชาวเลมอแกนสามารถออกทะเลเก็บหาทรัพยากร เดินทางไปมาตามเกาะต่างๆ ได้อย่างอิสระ แต่เมื่อหมู่เกาะสุรินทร์กลายเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติและสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงของประเทศ อีกทั้งภายหลังเหตุการณ์สึนามิ มอแกนต้องมาอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันที่อ่าวบอนใหญ่ จึงทำให้เกิดปัญหาความแออัดในการอยู่อาศัยรวมกันของคนจำนวนมาก เกิดการจำกัดสิทธิในการใช้และเข้าถึงทรัพยากรตามกฎระเบียบข้อบังคับของอุทยานฯ

              แม้ว่าทางโครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตัวแทนชาวเลมอแกนได้มีความพยายามเสนอกรอบและร่างแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนมอแกน โดยหลักการมีส่วนร่วมและบูรณาการทำงานกับหน่วยงานหลายฝ่าย แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร

              2. ปัญหาไร้สัญชาติ สิทธิขั้นพื้นฐาน การถูกจำกัดสิทธิในการเดินทางด้วยเส้นแบ่งเขตแดนทางภูมิศาสตร์ระหว่างรัฐไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มอแกนไม่สามารถเดินทางได้อย่างอิสระได้เช่นอดีต ชาวเลมอแกนหลายคนยังไม่ได้รับสัญชาติไทย เพราะปัญหาด้านการสื่อสาร การตกสำรวจ เช่น มอแกนเกาะเหลาและมอแกนเกาะสุรินทร์ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการบริการขั้นพื้นฐานของภาครัฐเช่น การรับการรักษาตามสิทธิที่โรงพยาบาล การศึกษาขั้นพื้นฐาน การสมัครงาน ฯลฯ

              3. กระแสวัฒนธรรมบริโภคนิยม-วัตถุนิยม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “วัฒนธรรมบริโภคนิยม-วัตถุนิยม” ได้เข้ามาแทนที่และฝังรากในวิถีชีวิตของมอแกน เช่น การกิน การแต่งกาย ภาษา เทคโนโลยี เครื่องใช้ สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ

              การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการเดินทางอพยพโยกย้ายบ่อยครั้ง และจากการทำมาหากินทางทะเลและหาของป่ามาเป็นวิถีที่ตั้งหลักแหล่งอย่างกึ่งถาวรหรือถาวร วิถีการทำงานรับจ้างรายวัน วิถีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ทำให้การดำรงชีวิตของชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์เปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงมีบทบาทน้อยลงในการทำมาหากินและมีเวลาว่างมากขึ้น จึงมีการจับกลุ่มเล่นไพ่ พูดคุยนินทา ส่วนผู้ชายเมื่อมีรายได้ก็นำมาซื้อเหล้า หลายรายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง และหลายรายเมื่อเมาแล้วเกิดการทะเลาะวิวาท ส่งเสียงเอะอะรบกวน เมื่อวิถีการบริโภคเปลี่ยนไป มีความต้องการด้านวัตถุมากขึ้น ก็ทำให้ผู้ชายต้องทำงานหนักมากขึ้น ต้องใช้ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ดังนั้น ผู้ชายมอแกนจึงมีปัญหาสุขภาพเนื่องจากดื่มเหล้า การใช้ยาผิดขนาด ฯลฯ ส่วนกลุ่มแม่บ้านมอแกนก็มีพฤติกรรมเล่นไพ่ จับกลุ่มพูดคุย บางรายติดไพ่ตลอดทั้งวันจนไม่ทำอาหารให้สามีและลูกรับประทาน ส่งกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวและต่อภาวะโภชนาการของลูก ๆ (โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556)

     

  • การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายในปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน :

    ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายชาติพันธุ์ทั้งในประเทศและข้ามพรมแดนรัฐ

              โดยภาพรวม ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล ทั้งนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว การประกาศเขตอุทยานทางทะเลและเขตอื่น ๆ ของรัฐ ส่งผลให้เบียดขับวิถีชีวิตวัฒนธรรมคนกลุ่มนี้ ทั้งความต้องการในการใช้ที่ดินเพื่อการท่องเที่ยวทำให้ชาวเลถูกขับออกจากพื้นที่ด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งการใช้พื้นที่ทางทะเลสำหรับบริการนักท่องเที่ยวหรือการประกาศเขตหวงห้ามของรัฐที่มีภายหลัง ทำให้ชาวเลไม่มีสิทธิเข้าไปหากินในที่ทำกินดั้งเดิมที่เคยหากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิตามจารีตประเพณีดั้งเดิม แต่มีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตชาวเลตกต่ำ ประกอบกับชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักสงบ มีวิถีหาอยู่หากินกับธรรมชาติ ไม่สะสม ขาดความรู้เรื่องกฎหมายมักถูกหลอกถูกเอาเปรียบ จึงเป็นกลุ่มเปราะบางที่สังคมควรปกป้องเพื่อรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสิทธิมนุษยชน

              ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามแนวทางจัดทำพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเล และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมงหาทรัพยากรตามเกาะต่าง ๆ ได้ โดยผ่อนปรนพิเศษในการที่ใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมของกลุ่มชาวเล การช่วยเหลือด้านสาธารณสุขเพื่อฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการดำน้ำที่ทำให้เกิดโรคน้ำหนีบ และการให้ความรู้เพื่อการป้องกันโรคน้ำหนีบ การแก้ปัญหาสัญชาติในกลุ่มชาวเลที่ไม่มีบัตรประชาชน การส่งเสริมด้านการศึกษาแก่เด็กและสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับจัดตั้งการศึกษาพิเศษ/หลักสูตรท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนชาวเล การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเล การส่งเสริมชุมชนและเครือข่ายชาวเลให้เข้มแข็ง รวมทั้งให้มีงบประมาณส่งเสริมการจัดวันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล แต่การแก้ปัญหาต่าง ๆ ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก อันเนื่องจากปัญหาชาวเลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน การแก้ปัญหาจึงต้องใช้ความร่วมมือสานพลังจากหลายฝ่าย ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนและกลุ่มชาวเล จึงจะบรรลุผล (โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557)

              เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนที่จะปกปักรักษาผู้คน สังคม และวัฒนธรรมของตนจากผลกระทบด้านลบของการพัฒนา ทำให้ชุมชนสามารถจะเลือกเฟ้นแนวทางการพัฒนาที่จะทำให้สังคมวัฒนธรรมพิเศษเหล่านี้สามารถจะดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี (สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558)

              พื้นที่ที่มีการเสนอให้เป็นพื้นที่นำร่องเขตวัฒนธรรมพิเศษเดิมมี 4 ชุมชน คือ ชุมชนมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ชุมชนมอแกลนบ้านทับตะวัน จ.พังงา ชุมชนอูรักลาโว้ยบ้านสะปำ จ.ภูเก็ต และชุมชนอูรักลาโว้ยบ้านราไวย์ จ.ภูเก็ต ต่อมาได้มีการเสนอพื้นที่นำร่องเขตวัฒนธรรมพิเศษเป็น 9 ชุมชน ดังนี้

    1. ชุมชนมอแกนเกาะเหลา จังหวัดระนอง

    2. ชุมชนมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา

    3. ชุมชนมอแกลนบ้านทับตะวัน จังหวัดพังงา

    4. ชุมชนบ้านลำแก่น ท้ายเหมือง จังหวัดพังงา

    5. ชุมชนบ้านเหนือ(หินลูกเดียว) จังหวัดภูเก็ต

    6. ชุมชนอูรักลาโว้ยบ้านสะปำ จังหวัดภูเก็ต

    7. ชุมชนอูรักลาโว้ยและมอแกนหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต

    8. ชุมชนมอแกนอูรักลาโว้ยโต๊ะบาหลิว เกาะลันตา จังหวัดกระบี่

    9. ชุมชนอูรักลาโว้ยบ้านสังกาอู้ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่

              กรณีหมู่เกาะสุรินทร์ ในจังหวัดพังงา ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติฯ ได้กันพื้นที่เฉพาะให้กับชุมชนแล้ว แต่เรื่องการอพยพโยกย้ายและการสร้างบ้านแบบดั้งเดิม หรือการกำหนดกฎกติการ่วมกันจะต้องมีการปรึกษาหารือกันต่อไป โดยเฉพาะการนำไม้มาสร้างเรือแบบดั้งเดิม เพราะหากไม่มีการรื้อฟื้นภูมิปัญญาในการสร้างเรือมอแกน ในที่สุดก็คงสูญหายไป ส่วนการทำงานในอนาคตของหมู่เกาะสุรินทร์ ทุกวันนี้มีกรรมการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ที่มีนายอำเภอเป็นประธาน จัดประชุมปีละ 2 ครั้ง (โครงการนำร่องอันดามันและหน่วยวิจัยชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556) 

              นอกจากนี้ยังมี “คณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล” ซึ่งมีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน และ “คณะอนุกรรมการสิทธิ สถานะ และกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง” ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ซึ่งมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ เป็นประธานที่ทำงานขับเคลื่อนแนวนโยบายและลงสู่การปฏิบัติ เพื่อให้พี่น้องชาติพันธุ์ชาวเลได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนในสังคมและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข รวมถึงการผสานพลังกับเครือข่ายชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนานโยบายที่สำคัญสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์และชนพื้นเมืองระดับประเทศ

     

Access Point
No results found.

ชาวมอแกน ใช้ชีวิตสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับท้องทะเล อดีตใช้เรือก่าบาง เรือฉ่าพัน สัญจรไปมาและเป็นที่พักอาศัยก่อนการลงหลักปักฐานสร้างชุมชนริมทะเล เกาะแก่งที่กระจายอยู่ในทะเลฝั่งอันดามัน  ชุมชนชาวมอแกนในประเทศไทยมี 5 แห่ง และมีมอแกนกระจายตัวไปอยู่ตามชุมชนชาวเลอื่นๆ แต่ไม่ได้อยู่เป็นกลุ่มใหญ่เหมือน 5 ชุมชนที่เกาะเหลา เกาะพยามและเกาะช้าง จังหวัดระนอง หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงาและหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ชาวมอแกนอาศัยท้องทะเลเป็นแหล่งอาหาร จับหาสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือประมงขั้นพื้นฐาน ใช้ทรัพยากรรรมชาติในการดำรงชีพ