2023-06-13 18:21:19
ผู้เข้าชม : 2848

บรู เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานในหลายประเทศ ทั้งเวียดนาม ลาว และเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยในยุคอาณานิคมฝรั่งเศสเข้ามาปกครองลาว ในอดีต ชาวบรูมีการดำรงชีพด้วยการทำไร่ข้าวหรือไร่หมุนเวียน ควบคู่กับการปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ และการล่าสัตว์ เก็บของป่า อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญด้านหัตถกรรมและจักสาน หลังจากอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย มีการปรับตัวในการดำรงชีพในสอดคล้องกับระบบนิเวศด้วยการทำประมงหาปลาในแม่น้ำโขง การปลูกผักริมชายฝั่ง และนำผลผลิตจากป่าไปแลกเปลี่ยนกับชาวลาว ในด้านความเชื่อ ชาวบรูยังคงมีการนับถือผีอย่างเข้มข้นทั้งผีระดับครัวเรือน ระดับตระกูล และระดับชุมชน 

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : บรู
ชื่อเรียกตนเอง : บรู
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ข่า, โซ่, โส้, กะตาง, ตะโอย, มอย, ส่วย
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : ลาว, บรู, อีสาน, ไทย
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

บรู เป็นชื่อเรียกที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง คำว่า บรู หมายถึงคน หรือมนุษย์ หรืออีกความหมายหนึ่ง หมายถึง คนแห่งภูเขา ชื่อเรียก “บรู” เป็นที่รู้จักกันมาไม่นานนัก เนื่องจากคนส่วนใหญ่รู้จักพวกเขาในชื่ออื่น ได้แก่ “ข่า” “ส่วย” “ข่าโส้” “โซ่” โดยเฉพาะชื่อเรียกข่านั้น เป็นชื่อเรียกคนในตระกูลไท-ลาว ที่อาศัยในประเทศลาว หมายถึง ข้าทาส ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่ไม่เป็นที่พึงพอใจของชาวบรูมากนัก ส่วนบรูในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง มีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ เช่น บรูตรี บรูมะกอง ส่วนอีกหลายกลุ่มในลาวใต้แถบจำปาสักเรียกตัวเองว่า “บรู”

ชาวบรูอาศัยอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างมามากกว่าหนึ่งพันปี เป็นกลุ่มอิสระ อาศัยอยู่ตามภูเขาหรือบนที่สูง มีการทำไร่แบบเคลื่อนย้ายซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำไร่หมุนเวียนบนที่สูง การเคลื่อนย้ายจึงเป็นวิถีการดำรงชีพที่มีการปรับตัวภายใต้เงื่อนไขของการแสวงหาที่ทำกินใหม่ การเกิดโรคระบาด และการถูกรบกวนจากคนนอก เดิมชนกลุ่มนี้ตั้งรกรากบนพื้นที่สูงในเขตภูเขาและป่าไม้หนาทึบที่เรียกว่า เชโปน จากนั้นได้อพยพโยกย้ายหลายครั้ง บางครั้งมีการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ราบ พื้นที่สูงสลับกันไปจากนั้นได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต แขวงสาละวัน และแขวงอัตตะปือ และจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในช่วงก่อน พ.ศ. 2436 บริเวณนี้อยู่ภายใต้อาณาเขตของประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาพวกเขาได้มีการอพยพเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทย ในช่วงที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองประเทศลาว ปัจจุบัน มีชาวบรูอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยสี่จังหวัด ได้แก่ หนองคาย มุกดาหาร สกลนคร และอุบลราชธานี

ชาวบรูมีความเชื่อเรื่องวิญญาณนิยม (ผี) หลายระดับ และมีการยึดถือระบบเครือญาติ มี โครงสร้างสังคมวัฒนธรรม และระบบความเชื่อที่ส่งผลต่อการจัดองค์กรทางสังคมการปกครองตั้งแต่ระดับกลุ่มตระกูลจนถึงระดับชุมชน ในการอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มจะมีข้อควรระวังในเรื่องการผิดรีต (ฮีตคอง) ผู้หญิงถูกห้ามออกไปค้างแรมนอกหมู่บ้านบุตรเขยจะต้องขึ้นลงบันใดคนละทางกับพ่อเฒ่าแม่เฒ่าในตระกูลคนนอกที่ไม่ใช่สมาชิกจะถูกควบคุมในการเข้ามาปฏิสัมพันธ์หรือขึ้นเรือนตระกูลได้อย่างจำกัด เพราะอาจทำให้ผิดรีต ผิดผีตระกูลปัจจุบัน จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ชาวบรูมีการซึมซับรับเอาวัฒนธรรมไทยอีสานหรือลาวมากขึ้น ประกอบกับจารีตแบบเดิมนั้นไม่เอื้ออำนวยกับการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ ผู้คนจึงมีการปรับเปลี่ยนจารีตหรือออกจากจารีตเดิมปรับผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้อัตลักษณ์ดั้งเดิมได้ถูกลดทอนความสำคัญลง และถูกแทนที่ด้วยความเป็นบรูและความเป็นไทยอีสานหรือลาว จากบริบทชุมชนชาติพันธุ์บรูที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ชายแดน ประกอบกับการปฏิสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่น บรูได้รับเอาวัฒนธรรมลาว ควบคู่กับวัฒนธรรมไทยภายใต้สถานะพลเมืองของรัฐชาติ ชาวบรูจึงก่อร่างสร้างอัตลักษณ์และปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ได้หลายแบบทั้งไทย ลาว และบรู ปรากฎการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ชาวบรูมีความลื่นไหลของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย

นักภาษาศาสตร์ได้จัดกลุ่มชาติพันธุ์บรูอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic) สาขาภาษามอญ-เขมร สาขาย่อยกะตูอิค (Katuic) (สุวิไล เปรมศรีรัตน์, 2542, น. 236-238; Dang, 1993; Schliesinger, 2003) ชาวบรูเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามภูเขา ทำไร่แบบเคลื่อนย้าย เรียกตนเองว่า “บรู” หมายถึง “คนที่อาศัยอยู่ตามภูเขา” (ธีระพันธ์ เหลือทองคำ, 2523, ชนาธิป บุญยเกตุ, 2541, สมใจ ศรีหล้า, 2550)นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับบรู สันนิษฐานว่า ชาวบรูมีต้นกำเนิดที่จังหวัดกว่าง จิ (Qaung Tri) และกว่าง บิ่งห์ (Quang Binh)(Dang, 1993, pp.69-71; Schliesinger, 2003, pp. 114-119) ขณะที่รัฐบาล สปป.ลาว จัดคนบรูอยู่ในกลุ่มชื่อเรียกชาติพันธุ์ “กะตาง” (กรมชนเผ่าลาว, 2008, น.58) ประเด็นดังกล่าวยังเป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดแต่สันนิษฐานได้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์บรูเป็นชนพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณลาวใต้และเวียดนามกลางมายาวนาน (เกียรติศักดิ์ บังเพลิง, 2558)

ในประเทศไทยชาวบรูส่วนใหญ่อพยพเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนแม่น้ำโขงจากฝั่งประเทศลาวมายังฝั่งประเทศไทย ในจังหวัดชายแดนแม่น้ำโขง ประมาณหนึ่งศตวรรษ ด้วยเงื่อนไขด้านการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองในลาวโดยเฉพาะเมื่ออาณานิคมฝรั่งเศสเข้าปกครองลาวได้ใช้ระบบการปกครองกดขี่ ขูดรีดแรงงานและส่วย ทำให้ชาวบรูในลาวใต้ได้รับความเดือดร้อนจึงเคลื่อนย้ายอพยพเข้ามาฝั่งไทย

ชาวบรูกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ลาวใต้และภาคกลางเวียดนามมายาวนานตลอดระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชาวบรูถูกเรียกว่า ข่า ถูกรวมอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรต่าง ๆ ได้แก่ กัมพูชา(ขอม) ล้านช้าง สยาม และฝรั่งเศส ที่ขยายอำนาจมาปกครองพื้นที่ดังกล่าว ในสมัยโบราณ ปรากฏการณ์การเคลื่อนย้ายผู้คนไปมาทั้งสองฝากแม่น้ำโขงเกิดขึ้นเป็นหลายระลอกด้วยเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาที่ทำกินและการตั้งถิ่นฐาน การถูกกวาดต้อนในฐานะเชลยศึก ท่ามกลางการแย่งชิงหัวเมือง สันนิษฐานว่าการเคลื่อนย้ายของชาวบรูอาจเกิดขึ้นร่วมกับปรากฏการณ์การเคลื่อนย้ายของผู้คนที่เป็นผลสืบเนื่องจากการกวาดต้อนมาในฐานะเชลยสมัยสยามขยายอำนาจเพื่อปกครองล้านช้าง (เกียรติศักดิ์ บังเพลิง, 2559)

บรูในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เคลื่อนย้ายมาจากบ้านลาดเสือ เมืองสมบูรณ์ แขวงจำปาสัก ประเทศลาว เรื่องราวการอพยพของชาวบรูเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2436 – 2457 ที่ประเทศตะวันตกเข้ามาล่าอาณานิคมและแผ่ขยายอิทธิพลเข้าปกครองอินโดจีน ซึ่งประเทศลาวเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของการล่าอาณานิคมและถูกประเทศฝรั่งเศสเข้ายึดอำนาจในการปกครอง เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาปกครองลาวได้มีการเกณฑ์เอาประชาชนของลาวรวมทั้งชาวบรูไปเป็นแรงงาน เดิมชาวบรูเคยอาศัยอยู่บนที่สูงที่เรียกว่า “ภูกางเฮือน”เมื่อถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานก็ต้องอพยพเคลื่อนย้ายมาอยู่ในที่ลุ่ม ช่วงเวลานั้นชาวฝรั่งเศสได้มีการกดขี่ใช้แรงงานจนกระทั่งชาวบรูตัดสินใจอพยพเข้ามาประเทศไทย ใน พ.ศ. 2457 ดังที่ สมชาย (2545) กล่าวว่า

“...กลุ่มชาติพันธุ์บรูที่ อพยพเข้ามาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเข้ามาในช่วงที่ประเทศลาวตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เนื่องจากทนการกดขี่ข่มเหงบังคับใช้แรงงาน นโยบายฝรั่งในลาว นโยบายด้านเศรษฐกิจฝรั่งได้ก่อตั้ง บริษัทต่าง ๆ เพื่อแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติของลาว มีการพัฒนาขนส่งทางน้ำเพื่อขนส่งสินค้า นอกจากนั้นยังมี การพัฒนาเส้นทางคมนาคมเลขที่ 13 ที่ผ่าจากไซง่อนไปยังหลวงพระบาง เส้นทางหมายเลข 8 และหมายเลข 9 ออก สู่เส้นทะเลเวียดนาม ชายฉกรรจ์ลาวเกือบทุกคนได้ถูกเกณฑ์ไปสร้างทางอย่างน้อย 60 วันต่อปี โดยไม่นับวันไปและกลับ โดยไม่มีค่าจ้างและแต่ละคนต้องเอาข้าวไปกินเอง มีบางคนครึ่งปีจึงได้กลับบ้าน นอกจากนั้นยังได้ไปทำงานรับใช้ครอบครัวศักดินา 40 วันและอีก 14 วันต้องไปรับใช้เจ้านายในท้องถิ่น นอกจากนั้นยังต้องแล้วแต่ผู้ใหญ่บ้านหรือตาแสงจะเรียกไปใช้งาน นอกจากนี้ฝรั่งยังได้กำหนดอัตราเสียส่วย โดยชาวลาวต้องเสียส่วยค่าหัว ในปี ค.ศ. 1902 ชาวลาวอายุ 14-60 ปี จะต้องเสียค่าหัวคนละ 2 กีบต่อปี ทำให้ชาวลาวประสบกับความยากลำบากแสนสาหัส...”

เส้นทางการอพยพเคลื่อนย้ายของชาวบรูมายังประเทศไทย สามารถจำแนกออกเป็น 2 เส้นทาง ตามถิ่นฐานเดิมของชาวบรู

เส้นทางแรก ชาวบรูที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว เป็นกลุ่มที่อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาขึ้นฝั่งที่จังหวัดนครพนม ซึ่งทั้งสองพื้นที่นั้นอยู่ไม่ไกลกันมากนัก ชาวบรูกลุ่มนี้จึงเคลื่อนย้ายเข้าสู่หมู่บ้านดงหลวง ต่อมาเป็นพื้นที่หนึ่งในอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เมื่อประชากรในบ้านดงหลวงมีมากขึ้น ชาวบรูส่วนหนึ่งจึงอพยพโยกย้ายเพื่อหาที่อยู่ใหม่ ในอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย บริเวณบ้านโพธิ์ จนกระทั่งปัจจุบัน

เส้นทางที่สอง ชาวบรูที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเมืองจำปาสักในประเทศลาว ได้มีการลักลอบออกมาตามแนวแม่น้ำโขงจนเข้าสู่หมู่บ้านเวินบึกและบ้านท่าล้ง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่งเกิดเป็นถิ่นฐานที่มีชาวบรูอาศัยอยู่

ชาวบรูในประเทศเวียดนามมีประชากรโดยประมาณ 40,000 คน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ Bru-Van-Kieu กระจายตัวอยู่แถบเวียดนามกลาง จังหวัดกว่าง จิ (Qaung Tri) และกว่าง บิ่งห์ (Quang Binh) (Dang, 1993, pp.69-71;Schliesinger, 2003, pp. 114-119)

ในส่วนของประเทศลาว มีประชากรโดยประมาณ 92,321 คนกระจายตัวตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ลาวใต้ คือ แขวงคำม่วน แขวงสะหวันนะเขต แขวงสาละวัน และแขวงเซกอง ในบริบทสังคมลาว การจัดกลุ่มชนเผ่าบรูและการนับจำนวนประชากรโดยนักภาษาศาสตร์ยังถือว่ามีความสับสนและมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกัน(Schliesinger, 2003, pp.114-119) เนื่องจากบางครั้งชาวบรูก็ถูกนับจำแนกรวมเข้ากับกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มมากอง (Makong)นอกจากนี้ รัฐบาลบาล ก็ได้จัด พวกเขาอยู่ในกลุ่ม “กระตาง” ในขณะที่พวกเขาเรียกตนเองว่า “บรู” (เกียรติศักดิ์ บังเพลิง, 2558)

ในประเทศไทยชาวบรูส่วนใหญ่อพยพข้ามพรมแดนแม่น้ำโขงจาก สปป.ลาวมาตามแนวชายแดนตั้งแต่จังหวัดหนองคายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี จากข้อมูลการสำรวจประชากร พบประชากรชาวบรูประมาณ 8,000-12,000 กระจายอยู่ในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่มีเส้นเขตแดนติดกับประเทศลาว ดังนี้

1) จังหวัดหนองคาย ได้แก่ บ้านโพธิ์ ตำบลศรีชมภู อำเภอโซ่พิสัย (สมใจ ศรีหล้า, 2550) ปัจจุบันอำเภอโซ่พิสัย แยกออกไปอำเภอเป็นจังหวัดบึงกาฬ

2) จังหวัดมุกดาหาร ได้แก่ บ้านติ้ว บ้านนาหลัก บ้านหนองคอง บ้านพังแดง ตำบลดงหลวง บ้านหนองหมู อำเภอดงหลวง (ธันวา ใจเที่ยง, 2554) บ้านเหล่าหมี บ้านโคกสว่าง และบ้านป่าพยอม อำเภอดอนตาล

3) จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ บ้านท่าล้งและบ้านเวินบึก อำเภอโขงเจียม (เกียรติศักดิ์ บังเพลิง, 2558)


การดำรงชีพ

ในอดีต ชาวบรูมีการทำไร่ข้าวหรือไร่หมุนเวียน ควบคู่กับการปลูกผัก ผลไม้การล่าสัตว์เก็บของป่า และเลี้ยงสัตว์ เช่น ควาย หมู ไก่มีการแบ่งงานกันทำระหว่างหญิง-ชายทั้งงานในบ้านและงานนอกบ้าน เด็กจะถูกสอนให้มีความรับผิดชอบและจะกลายเป็นแรงงานในการผลิตของสังคมบรู (Miller, 1971, pp.61-71)นอกจากการทำเกษตรและปศุศัตว์แล้ว ชาวบรูยังมีความชำนาญด้านหัตถกรรมหรือการจักสาน (กรมชนเผ่าลาว, 2008, น.58)

เมื่อเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานใกล้แม่น้ำโขง ชาวบรูจึงมีการการปรับตัวในการดำรงชีพให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ มีการหาปลาในแม่น้ำโขง การปลูกผักตามริมชายฝั่ง บางครั้งนำผลผลิตของป่าและพืชผักที่ปลูกไปแลกเปลี่ยน เช่น การน้ำพริก มะเขือ ไปแลกข้าว เกลือ หรือของใช้อื่นๆ โดยแบกหามใส่ตะกร้าเดินข้ามภูเขาเพื่อนำสิ่งของไปแลกเปลี่ยนกับชาวลาว ในหมู่บ้านกระติน คุมทอง สว่าง หนองไฮ คันยางและคันหว้า (ปัจจุบันเป็นเขตเมืองโพนทอง แขวงจำปาสัก) แม้ว่า ในปัจจุบันชาวบรูจะสร้างบ้านเรือนเป็นหมู่บ้านตามริมแม่น้ำโขงแล้ว ในฤดูกาลการเพาะปลูก วัยแรงงานจะละทิ้งบ้านเรือนเพื่อไปอยู่อาศัยในกระท่อมบนภูเขาในที่ไร่เป็นครอบครัวหรือกลุ่มเครือญาติ ที่มีอาณาบริเวณกำหนดเฉพาะและเป็นที่รับรู้กันว่าพื้นที่นั้นเป็นของกลุ่มตระกูล (จุมรีต) ใด (กิ คำบุญเรือง, 2558: สัมภาษณ์)

การทำไร่หมุนเวียน มีรายละเอียดดังนี้

เดือน 3 เริ่มถางหญ้า เผาป่า เตรียมแปลงดินสำหรับการเพาะปลูก

เดือน 6 การเพาะปลูกข้าวไร่ และพืชผัก ในแต่ละฤดูกาลในการทำเกษตร จะมีการเลี้ยงผีเพื่อบอกกล่าวขออนุญาต ขอให้มีความอุดมสมบูรณ์ ร่วมถึงทำนายเรื่องฝนฟ้าอากาศ เช่น เลี้ยงผีเดือนสามก่อนเตรียมแปลงดิน เรียกว่า “เลาะอัยยะกะไซไปร”ส่วนการเลี้ยงผีในเดือนหกก่อนการเพาะปลูกเรียกว่า “เลาะอัยยะกะไซตะปัด”

เดือน 12 ก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวหรือผลผลิต ชาวบรูจะเลี้ยงผี ทำพิธีกินข้าวใหม่ เรียกว่า “จาโดยตะไม” เพื่อให้ผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวมีความสมบูรณ์ ไม่แตกหัก

กล่าวได้ว่า ระบบการเกษตรชาวบรูมีความสัมพันธ์กับความเชื่อผีที่พวกเขายึดถือ นอกจากการทำเกษตรดังกล่าวแล้ว

นอกจากวิถีชีวิตที่ยังชีพด้วยการทำเกษตรแล้ว ในอดีตชาวบรูยังมีการเก็บของป่าล่าสัตว์เพื่อยังชีพ และการจักสาน ในด้านการล่าสัตว์ในอดีตตามธรรมเนียมมักจะใช้หลาว และหน้าไม้โดยเฉพาะลูกธนูอาบยาพิษ พวกเขาจะเก็บเปลือกไม้สมุนไพร ใบเครื่องหอม และน้ำผึ้ง สำหรับไว้ใช้และแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่น พวกเขาตกปลาด้วยแร้ว ตาข่าย หลาว และบางครั้งจะใช้หน้าไม้และธนู

ประมาณทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา รัฐได้ประกาศขึ้นพื้นที่อนุรักษ์ ทั้งเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้รวมเอาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบรูด้วยชาวบรูส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจึงมีการปรับเปลี่ยนอาชีพมาเป็นแรงงานนอกหมู่บ้าน ทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงและในพื้นที่ห่างไกลออกไปเช่น กรุงเทพฯ

ส่วนภูมิปัญญาเรื่องจักสานโดยนำไม้เฮี้ย (ไม้ไผ่) ในป่าบนภูเขามาสานเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ โดยเฉพาะหวด และกระติบข้าว ในบางครั้งผลผลิตที่ได้จากการจักสาน เช่น หวด หรือกระดิบข้าว ที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนกับข้าว ในช่วงเวลาที่ข้าวขาดแคลนหรือผลผลิตข้าวมีจำนวนน้อย ภูมิปัญญาในการจักสานได้รับการสืบทอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน แต่อาจลดจำนวนลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษามักออกนอกชุมชนเพื่อเป็นแรงงาน หรือรับราชการ

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ปัจจุบันชาวบรูในประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับคนท้องถิ่น เมื่อมีการปฏิสัมพันธ์กับชาวอีสาน และการกำหนดความเป็นพลเมืองไทยที่ผูกโยงกับการนับถือศาสนาพุทธ การเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐและความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ทำให้ชาวบรูได้ปรับตัวและต่อรองโดยมีการปรับเปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิม หันมารับพุทธศาสนาและวัฒนธรรมลาว การปรับเปลี่ยนดังกล่าวนั้นชาวบรูใช้กลยุทธ์การคืนฮีต หรือ “ล่ะละรีต” เป็นการยกเลิกกฎเกณฑ์ รูปแบบหรือฮีต ที่เคยยึดถือปฏิบัติมาในตระกูล การคืนฮีตจะขอออกจากความเชื่อผีตระกูล เพราะผีเชื่อมโยงกับฮีต เมื่อออกจากผีแล้วถือว่าเป็นอันยกเลิกกฎเกณฑ์หรือฮีต การคืนมักจะทำเป็นครอบครัว และมีกฎว่าจะต้องย้ายออกไปให้ห่างจากอาณาบริเวณกลุ่มตระกูล (จุมรีต)

การคืนฮีตเป็นการออกจากการนับถือผีตระกูล แต่ “ผีสูงสุด” (จำนัก) พวกเขายังเคารพและนับถืออยู่ ผีจำนักยังถูกเคารพเป็นหลักบ้านเหมือนเดิม ซึ่งควบคู่กันไปกับนับถือพุทธศาสนาการที่ผียังถูกรักษาไว้ได้อย่างสอดประสาน เนื่องจากพุทธศาสนาแบบท้องถิ่น (ประเพณีลาว) มีพื้นที่บางส่วนมีสามารถผสมผสานเข้ากับความเชื่อเรื่องผี ทำให้ความเชื่อเรื่อง “ผี” ของชาวบรูยังสามารถธำรงอยู่ ด้วยกลวิธีการปรับผีสูงสุดให้ธำรงอยู่เสมือน “ผีปู่ตา” หรือ “ผีหลักบ้าน” เช่นเดียวกับความเชื่อของชาวลาว

ความเชื่อเรื่องผี

ความเชื่อเรื่องผีของชาวบรูในระดับต่างๆ มีผลในการควบคุม กำกับ และดูแลวิถีชีวิตปรากฎออกมาเป็นกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งชาวบรูเรียกว่า “รีต”[1] ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับ “ฮีตคอง” หรือจารีตประเพณีของชาวอีสานและชาวลาว ชาวบรูจึงมีการนับถือผี ยึดถือกฏเกณฑ์ที่สัมพันธ์กับผีในการดำเนินชีวิต การทำผิดรีตจะส่งผลต่อความเจ็บป่วยหรือการตายโดยไม่จำกัดเฉพาะต่อผู้กระทำผิด แต่ญาติพี่น้องหรือสมาชิกตระกูลอื่นอาจถูกลงโทษแทน ด้วยเหตุนี้ ชาวบรูจึงเกรงกลัวผี เคารพ รักษาและปฏิบัติตามฮีตคองอย่างเคร่งครัด (Miller, 1971) เพื่อไม่ให้ผิดผีและถูกผีลงโทษ จะเห็นว่าสมาชิกแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบคนอื่น เครือญาติและชุมชน ด้วยลักษณะนี้ สังคมของชาวบรูจึงให้ความสำคัญกับความเป็นกลุ่มมากกว่าความเป็นปัจเจกบุคคล

ในตระกูล รีต หรือฮีตคองที่มาจากอำนาจของผีบรรพบุรุษยังกำกับ ควบคุมและดูแลสมาชิกตระกูลทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตามรีตเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดผีหรือถูกผีลงโทษ ในตระกูลจะมีผู้อาวุโสระดับต่างๆ ตามความสัมพันธ์ธ์เชิงอำนาจที่ใกล้ชิดกับผีบรรพบุรุษ เช่น เจ้าละโบ เจ้าฮีต ปู่ย่า พ่อแม่ เป็นต้น ซึ่งสมาชิกต้องเคารพ เรือนจะมีบันไดขึ้นลงแยกกันระหว่างเขยและพ่อเฒ่าแม่เฒ่า เขยจะต้องให้ความเคารพพ่อเฒ่าแม่เฒ่าและผู้อาวุโสโดยเฉพาะมารยาท เช่น เขยจะดื่มเหล้า จะเล่นสนุกสนานจะต้องขออนุญาตก่อน เขยไปหากินกลับมาต้องให้ลับพร้าเสียงดัง

ผีและรีตตามความเชื่อของชาวบรูจึงมีความสัมพันธ์กัน ส่งผลต่อลำดับชั้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจตั้งแต่ตระกูลไปจนถึงชุมชน ทำให้เกิดการจัดองค์กรทางสังคมวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของชาวบรู

กาบอร์ วาชิยาส(Vargyas, 1996, น.117-119) ชาวฝรั่งเศสได้ศึกษาชาวบรูในช่วงปลาย ค.ศ. ที่ 18 ในพื้นที่รอยต่อของเวียดนามและลาว จากด้านเหนือแขวงสะหวันเขต (ลาว) ถึงดองหา (Dong Ha)จังหวัดกวางบิงห์ และกวางตริ ประเทศเวียดนาม โดยประชากรมีอยู่มากในเมืองHuyen Huong Hoa (Khe Sanh) พบว่า เยียง(Yiang) เป็นผีที่ชาวบรูนับถือ แบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ เยียง ขนีค (Yiang Kaneaq) และ เยียง ซู (Yiang Su)เยียงขนีคเป็นผีของวิญญาณเครือญาติที่ตายไปแล้วกลับมาเป็นผีบรรพบุรุษ ทำหน้าที่คุ้มครองและดูแลชาวบรูในเรือนตระกูลวิถีชีวิตประจำวันของสมาชิกในเรือนตระกูลอยู่ภายใต้การสอดส่องดูแลของเยียง ขนีคผีบรรพบุรุษจะต้องได้รับรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมทุกอย่างในเรือนตระกูลอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่เช่นนั้น จะส่งผลให้เกิดความเจ็บไข้ และโชคร้าย เยียง ขนีค จะสืบทอดทางฝ่ายพ่อ

ส่วนเยียง ซู เป็นผีใหญ่ที่มีอำนาจอยู่ตามป่าเขาทำหน้าที่ควบคุมผืนดิน ป่าไม้ หรือธรรมชาติ
คำว่า ซู หมายถึง ผืนดินและธรรมชาติ เยียง ซู จะสอดส่องดูแลและจัดการทั้งกับมนุษย์และสรรพสิ่งต่างในพื้นที่โดยรอบ Vargyas อธิบายว่า เยียง ซู เป็นเสมือนพระเจ้าแห่งธรรมชาติ เป็นพระเจ้าของทุกสรรพสิ่งที่มีอยู่บนโลก เช่น ภูเขา แม่น้ำ สัตว์และพืชซึ่งจะมีชื่อเรียกเฉพาะไปตามสถานที่อยู่อาศัย (Vargyas, 1996, pp.120-121) โอบล้อมอยู่โดยรอบทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทุกพิธีกรรมจะต้องเชื้อเชิญให้ผีเยียง ซู มารับเครื่องเซ่นไหว้ตั้งแต่ในวงจรการทำเกษตรไปจนถึงการความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในการจัดการเกี่ยวกับพื้นที่หรือที่ดินหัวหน้าของชุมชนจะต้องทำพิธีกรรมเซ่นไหว้เยียง ซู และกล่าวชื่อเรียกท่าน การทำเกษตรจะดำเนินไปไม่ได้หากไม่ได้มีการทำพิธีเซ่นไหว้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้น

ระบบความเชื่อเกี่ยวกับผีทั้งสองนี้ทำให้สังคมบรูมีการจัดตั้งองค์กรทั้งทางพื้นที่และสังคมวัฒนธรรม ซึ่ง Vargyas(1996, p.126)ตีความว่า เป็นศาสนาผีของชาวบรูมีระดับความแตกต่างสัมพันธ์กัน ผีบรรพบุรุษเป็นเทพเจ้ามีอำนาจสูงสุดในบ้าน ขณะที่ผีซูนั้นรวมเอาผีต่างๆ ทั้งในภูเขาและแม่น้ำ ปกครองควบคุมพื้นที่ภายนอก ผืนป่าและธรรมชาติรวมถึงชุมชนหมู่บ้าน ลักษณะเช่นนี้ เขาจึงตีความว่า ผีของชาวบรูคล้ายกันกับพระเจ้าที่มีอำนาจ รับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง มองเห็นทุกสิ่งที่เกิดขึ้น และปกป้องสิ่งมีชีวิตทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย มีบทบาทสำคัญแบ่งการจัดการดูแลตระกูลหรือชุมชน

ระบบความเชื่อผีดังที่กล่าวมาข้างต้นมีลักษณะสอดคล้องกับชาวบรูที่บ้านเวินบึก ของไทย ชาวบรูบ้านเวินบึกจะเรียกผีสูงสุดของตนเองว่า อัยยะจำนัก ส่วนบ้านท่าล้งเรียกผีสูงสุดว่า อัยยะขะนาว แต่ระดับความสัมพันธ์เชิงอำนาจไม่ความคล้ายคลึงกัน โดยการแบ่งเป็นผีบรรพบุรุษมีอำนาจเป็นใหญ่ในตระกูล และผีสูงสุดมีอำนาจเป็นใหญ่ในชุมชน ผืนป่า ภูเขาและธรรมชาติ

สำหรับบ้านเวินบึกผีสูงสุดจะอยู่บนภูห้วยเหลา ด้านตะวันออกของหมู่บ้าน ประจำอยู่ที่ตูบน้อยใต้ตนเหมือดแอ บนยอดเขา การเลี้ยงบ้านทุกครั้งชาวบรู เฉพาะกลุ่มผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะช่วยเพียงเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ในเรือน จะแบกหามเครื่องพิธีต่างๆ ขึ้นภูเขาเพื่อประกอบพิธีที่ตูบผีใต้ต้นเหมือดแอส่วนผีบรรพบุรุษ จะอยู่ที่ตูบน้อยใกล้เรือนตระกูล พิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษจะถูกประกอบขึ้นที่ตูบนี้



[1] รี๊ต[ ri’:t]ตามสำเนียงภาษาบรูจะออกเสียงสูง ซึ่งไม่สามารถใช้เขียนตามหลักภาษาไทยได้ตรงตัว จึงแสดงในภาษาไทยเพียง “รีต”

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ชาวบรูนิยมบวงสรวงผีเทพาอารักษ์และวิญญาณบรรพบุรุษในช่วงเดือน 3 จะมีพิธีพิธีเลี้ยงผีซึ่งอาจเป็นงานปีใหม่ (จางะ) (Amonier, 2000) เรียกว่า เลาะอัยยะกะไซไปร เป็นการเลี้ยงผีก่อนเตรียมแปลงดิน เกี่ยวหญ้าคา ถางหญ้าช่วงเดือน 6 จะมีพิธีเลี้ยงผีเรียกว่า เลาะอัยยะกะไซตะปัด เป็นการเลี้ยงผีก่อนทำนา หรือเพาะปลูกผลผลิตประมาณเดือน 12 จะมีพิธีเลี้ยงผีเรียกว่า จาโดยตะไม เป็นการเลี้ยงผีก่อนการเกี่ยวข้าวหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตในแต่ละช่วงเวลาชาวบรูจะต้องจัดพิธีก่อน ถ้าไม่ปฏิบัตตามจะถือว่าผิดผี ต้องได้รับการลงโทษให้รับการเจ็บป่วย ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ขาดความอุดมสมบูรณ์ รวมเกิดเหตุร้ายขึ้น

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

พิธีกรรมเกี่ยวกับช่วงเวลาของชีวิตล้วนมีความเกี่ยวข้องกับผี ชาวบรูมักจะทำพิธีมีการคอบบอก หรือขออนุญาตผีที่นับถือ เช่น การขึ้นบ้านใหม่ การผูกขวัญเรือเครื่องเซ่นไหว้ มักจะเป็นเหล้าหนึ่งขวดและไก่หนึ่งตัว ชาวบ้านเรียกว่า “เหล้าไหไก่ตัว” เมื่อขึ้นภูเก็บของป่าล่าสัตว์ ชาวบรูจะบอกกล่าว ขออนุญาตผี มีกฎข้อห้ามต่าง ๆ ในการเดินป่าที่จะไม่ทำให้ละเมิดผี นอกจากนี้ ยังมีพิธีกรรมที่เซ่นไหว้ผีในการบนบานทั่วไปสำหรับเรื่องจำเป็นหรือกิจสำคัญ เช่น การค้าขาย การสอบเข้าราชการ การแก้บนหากไม่จัดแยกต่างหากจะถูกรวมนำนพพิธีเลี้ยงบ้าน ที่จัดขึ้นในช่วงเดือน 3 หรือเดือน 6 เครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วย เหล้า ไก่ หรือหมู จะถูกรวมแบกหามขึ้นไปบนภูเขาเพื่อทำพิธี ถือเป็นการจัดร่วมกันไปในคราวเดียวทั้งการเลี้ยงบ้านและการแก้บน

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

Amonier (2000)ได้ทำการสำรวจดินแดนและผู้คนในลาว พร้อมการบันทึกพิธีกรรมเกี่ยวกับการคลอดของชาวบรูว่า พวกเขาไม่ก่อกองไฟใกล้คนที่คลอดลูกถ้าคลอดครั้งแรกมักจะหยุด 3 วัน ดื่มน้ำต้มว่านชนิดหนึ่ง หากคลอดครั้งต่อไปจะหยุดพักผ่อนเพียงวันเดียว และดื่มน้ำต้มว่านที่หามาเอง ส่วนใหญ่จะคลอดลูกในป่า โดยมีแม่ พี่สาว และน้องสาว หรือแม่ของสามีเป็นผู้คอยดูแลช่วยเหลือ หลังจากคลอดลูกได้ 3 วันจึงกลับมาเรือนเพื่ออยู่กรรม ในพิธีกรรมนี้ ผู้ชายจะถูกห้ามเข้ามาเกี่ยวข้อง (กรมชนเผ่าลาว, 2008, น. 57)

สำหรับชาวบรูบ้านเวินบึก มีพิธีกรรมการคลอดบุตรโดยจะสร้างหรือกั้นห้องสี่เหลี่ยมไว้สำหรับใช้คลอด ใช้ปูนเขียนใบไม้ หรือสิ่งอื่นที่คล้ายกัน เป็นรูปคนติดที่ผนังโดยรอบ เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายเข้ามาทำอันตราย เปิดช่องประตูของห้องที่กันไว้นั้นออกไปทางหน้าบ้านชาวบรูถือว่าช่วงคลอดเป็นช่วงอันตราย คนบรูที่มีคาถาอาคมจะเสกด้ายดำ-แดง-ขาว ผูกข้อมือผู้เป็นแม่เพื่อป้องกันผีร้าย ขณะคลอดจะบอกกล่าวผีที่นับถือให้ช่วยปกปักรักษาคุ้มครอง เมื่อคลอดแล้วใช้ไผ่รวกหรือไม้เฮี้ยตัดสายสะดือแล้วนำไปฝังที่โพนหรือบริเวณที่ปลวกทำรัง เมื่อออกจากการอยู่ไฟแล้วจะมีการตัดผมจุก เจ้าละโบจะทำพิธีคอบเข้าฮีตคอง นำเส้นผมของแม่มาพันร่วมกับฝ้ายที่แขนเด็กหลังจากนั้นจะมีการฆ่าไก่ดำเพื่อทำการขอขมาหรือสมมาผู้ทำคลอดใช้ขนของไก่ชุบเลือดไก่มาทาเท้าของหมอตำแย โดยเชื่อว่า สามารถแก้ตาฟาง ไม่ให้มีกลิ่นสาบกลิ่นคาว หลังจากนั้นเจ้าฮีตจะทำพิธีคอบเข้าผีตระกูล ใช้เครื่องในพิธีได้แก่ ดอกไม้หนึ่งคู่ ข้าวสารหนึ่งกำ เทียนเล็ก 1 เล่มและไก่หนึ่งตัวไก่จะถูกฆ่าแล้วตัดหัวมาจ้ำทาที่พื้นตูบผีบรรพบุรุษ พร้อมบอกกล่าวให้ผีบรรพบุรุษรับรู้ ให้ปกปักรักษาเด็กให้แข็งแรง เป็นเรียวเป็นแรงของครอบครัว (ยุพา อุทามนตรี, 2539)

การแต่งงาน การหย่าร้าง

ข้อมูลเกี่ยวกับการแต่งงาน และการหย่าร้างจากการสำรวจในประเทศลาว พบว่า กฎของชาวบรูเรื่องการแต่งงานมีข้อกำหนดสองประการ (Miller,1971) คือ 1) ผู้ชายไม่สามารถแต่งงานกับสมาชิกของตระกูลตนเองได้ 2) ผู้ชายไม่สามารถแต่งงานกับสมาชิกใดของวงศ์ตระกูลที่มีความสัมพันธ์แบบเขย (khoi) กับตระกูลตนเอง การเล่นชู้สู่ชายเป็นสิ่งที่เคร่งครัดที่สุด สามีสามารถฆ่าชายชู้และขายครอบครัวของชายชู้ที่ทำผิดได้ สำหรับหญิงสาวหากเกิดตั้งท้องในกรณีเป็นชู้ ชายชู้จะถูกฟ้องจ่ายค่าปรับไหมเป็นควาย 1 ตัว(Amonier,2000) เมื่อผู้ชายอายุโดยเฉลี่ย 15 ปี มีความรักใคร่ชอบพอต่อหญิงสาว (กรมชนเผ่าลาว, 2008; Schliesinger, 2003)เขาจะไปเกี้ยวพาราสีที่เรือน ผู้ชายที่พบหญิงสาวในยามราตรีจะใช้เท้าเตะฝากั้นห้องหญิงสาวและพ่อแม่ 3 ครั้ง เพื่อเตือนให้รู้ว่าไม่ใช่ขโมย เพื่อป้องกันการถูกทำร้ายที่อาจถึงแก่ชีวิต เมื่อฝ่ายพ่อแม่รับรู้แล้วจะนอนหลับต่อโดยคิดว่าหนุ่มสาวต้องผ่านการเกี้ยวพาราสีกันแบบนี้เช่นเดียวกับที่สมัยตนเองเป็นหนุ่มสาว นอกจากนี้ คู่รักอาจจะออกมาพบกันในสถานที่ทำงานภายนอก บางครั้งก็มาพบกันที่ศาลาหมู่บ้านหรือกระท่อมเล็กนอกหมู่บ้าน หลังจากนั้นเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความมั่นใจในความสัมพันธ์แล้ว ผู้ชายจะให้พ่อแม่และผู้อาวุโสตระกูลไปสู่ขอและนัดหมายวันที่จะแต่งงาน (กรมชนเผ่าลาว, 2008, น. 57) พ่อแม่และลุงของฝ่ายหญิงมีอำนาจเด็ดขาดในการตกลงในการแต่งงาน ฝ่ายชายจะต้องจัดพิธีแต่งงานตามที่ตกลงไว้อย่างเข้มงวด ซึ่งสินสอดจะต้องส่งมอบแก่พ่อแม่หรือลุงของฝ่ายหญิง (Schliesinger, 2003)

การแต่งงาน จะถูกจัดขึ้น 2 ครั้ง คือครั้งที่ 1 เรียกว่า แต่งงานน้อยและครั้งที่ 2 เรียกว่า แต่งงานใหญ่ การแต่งงานน้อยจะต้องเชิญญาติพี่น้องชั้นต้นมาร่วมและต้องมอบค่าสินสอดให้พ่อแม่เจ้าสาว สินสอดหรือค่าดอง ประกอบด้วยควาย เงิน2 รางหม้อถุ่มหม้อทองอย่างละ 1 ใบ หมู/ไก่อย่างละ 3-5 ตัว เหล้าไห 4-5 ไห (กรมชนเผ่าลาว, 2008, น. 57) ครอบครัวและเครือญาติทั้งสองฝ่ายจะทำการเฉลิมฉลองการแต่งงานด้วยการทานอาหาร ชิ้นหมู ดื่มเหล้า พูดคุยกัน 1 วัน 1 คืน ฝ่ายหญิงจะเข้ามาเป็นสมาชิกของวงศ์ตระกูลของฝ่ายชายด้วยการประกอบพิธีคอบเข้าผีวงศ์ตระกูล (กรมชนเผ่าลาว, 2008, น. 57)

หลังจากนั้นช่วงระหว่าง 5-10 ปี จะมีการทำพิธีแต่งงานใหญ่ เชื้อเชิญญาติพี่น้องมาร่วมงาน มีการกินเลี้ยงเฉลิมฉลองอีกครั้ง คู่แต่งงานจะแบกหามสะพายข้าวต้ม ถ้วย ซ้อน เกลือมาให้พ่อเฒ่าแม่เฒ่าที่เรือน การจัดงานแต่งครั้งที่สองนี้จะฆ่าควาย 1 ตัวไปจนถึงสูงสุด 3-4 ตัว การฉลองจะดำเนินไป 1 คืน ช่วงเช้าจะฆ่าควายจ้ำให้ผี เจ้าภาพและเครือญาติพี่น้องที่มาร่วมงานจะดื่มเฉลิมฉลองร่วมกัน เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว หากฝ่ายชายส่งสินสอดหรือค่าดองครบ ก็สามารถพาภรรยาไปอยู่เรือน ในกรณีที่ฝ่ายชายใช้ค่าสินสอดไม่ครบตามจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้ ก็ต้องเป็นเขยสู่ (อยู่ในตระกูลภรรยา) 3 ปี ตามจารีตประเพณีบรู มีการยินยอมให้ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคนเท่าที่เขาสามารถเลี้ยงดูแลได้ แต่ส่วนใหญ่จะมีเพียงคนเดียว หญิงที่เป็นหม้ายสามารถตัดสินใจที่จะอยู่กลับตระกูลของสามีต่อไปหรือย้ายออกก็ได้ ถ้าผู้หญิงเลือกที่จะแต่งงานใหม่เขาสามารถที่จะเป็นภรรยาของสมาชิกอีกคนในตระกูลได้ ในกรณีที่หญิงสาวกลับมาเรือนของพ่อแม่หรือเลือกที่จะแต่งงานกับคนนอกวงศ์ตระกูลของสามี บุคคลนั้นจะสูญเสียสิทธิ์ในวงศ์ตระกูลของสามีไป การหย่าร้างอาจยินยอมได้ภายใต้สถานการณ์ที่ชัดเจนแน่นอน แต่ค่อนข้างยาก หัวหน้าหมู่บ้านจะมีอำนาจให้การยินยอมหย่าร้างและตัดสินเรียกค่าเสียหายต่อผู้กระทำผิด ส่วนลูกของพวกเขาอาจจะอยู่กับพ่อหรือแม่ก็ได้

ความตาย และการทำศพ

ในอดีต กรณีชาวบรูเสียชีวิตจะเอาผ้าขาวหรือผ้าดำห่อศพแล้วใส่โลงศพ แล้วหามศพไปฝัง จ้ำขวัญคนตายให้เป็นผีเรือน แล้วใส่ฝากะแตะหามไปฝังอยู่ป่าช้าในตอนเช้า ในกรณีตระเตรียมทันก็ทำลาเปิปในวันที่ 2 (ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเครือญาติ) ส่วนการเสียชีวิตผิดปกติหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ตายโหง หากตายอยู่ที่ใดต้องฝังอยู่ที่นั้น ไม่สามารถนำเข้ามาบ้านได้ สิ่งของจะมอบให้คนตายนั้น บางครั้งจะฝังร่วมกับศพ บางครั้งจะวางไว้ด้านนอก (กรมชนเผ่าลาว, 2008)

ปัจจุบัน ชาวบรูบ้านเวินบึก ยังมีการจัดพิธีกรรมเกี่ยวศพผ่านความเชื่อดังกล่าวอยู่ กล่าวคือ หากตายนอกหมู่บ้าน ไม่ว่าจะตายตามปกติ เช่น ตายที่โรงพยาบาล หรือตายแบบไม่ปกติ จะห้ามมิให้นำศพรวมถึงกระดูกคนตายเข้ามาในหมู่บ้าน () จะต้องฝังไว้ที่ป่าช้าอีกแห่งหนึ่ง กรณีเช่นนี้ หมู่บ้านยังมีข้อห้ามอีกหลายประการที่ห้ามมิให้เข้ามาในหมู่บ้าน เช่น เรือภายนอกชุมชนศพคนนอกชุมชน อัฐิของคนนอกชุมชน ซึ่งแสดงความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนผ่านความเชื่อ

ส่วนผู้ที่ตายตามปกติในหมู่บ้านจะได้รับการทำพิธีศพด้วยการเผาในหมู่บ้านได้ ทั้งสองกรณีนั้นเมื่อนำศพไปเผาหรือฝังจะมีการใช้ไข่เสี่ยงทาย หาบริเวณที่เผา/ฝังศพนำเอาไข่ดิบ มาโยนลงพื้น โยนไปเรื่อยๆเมื่อตกแล้วแตกจุดใดถือว่าผีหรือคนตายเลือกจุดนั้น ก็จะก่อเชิงตะกอนสำหรับเผาศพหรือขุดหลุมฝัง ลักษณะเช่นนี้ทำให้หมู่บ้านมีป่าช้าแยกกันสำหรับประกอบพิธี เช่น ป่าช้าดอนทะนี สำหรับจัดพิธีกรรมศพที่ตายผิดปกติที่ห้ามเข้าหมู่บ้าน และป่าช้าดอนจิก สำหรับจัดพิธีศพในหมู่บ้านทั่วไป

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

ประเพณีลาเปิป

พิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวบรู คือ พิธีลาเปิป เป็นการบูชาผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เป็นพิธีใหญ่ที่ มีการ ฆ่าควายเพื่อใช้ในการประกอบพิธี มีการกินเลี้ยงแจกจ่ายในหมู่เครือญาติพี่น้องพิธีจะถูกจัดตามแต่ละกลุ่มตระกูล ซึ่งจะต้องมีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย เจ้าโคตรหรือเจ้ากกเจ้าเหล่า และเครือญาติทางสายเลือด และเขยของตระกูล เพราะเขยมีบทบาทสำคัญในการจัดงานและการฟ้อนรำบูชาผีความศักดิ์สิทธิ์และความยิ่งใหญ่ของพิธีนี้ปรากฏผ่านการจัดงาน เครื่องเซ่นต่างขนาดของควาย และการเลี้ยงแจกจ่ายแก่แขกที่มาร่วม การจัดงานที่ยิ่งใหญ่และการแจกจ่ายจำนวนมากสะท้อนถึงสถานะทางสังคมของเจ้าภาพ (เกียรติศักดิ์ บังเพลิง, 2558)

ควายเป็นเครื่องเซ่นที่จำเป็นในการประกอบพิธีกรรม ขนาดของควายจะตัวใหญ่หรือเล็กนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนเขยของตระกูลสำหรับเครือญาติพี่น้องที่มาร่วมงานหากมีจำนวนมากนอกจากจะฆ่าควายแล้ว อาจมีการฆ่าวัว หมู ไก่ เพิ่มเพื่อเลี้ยงแจกจ่าย โดยได้รับการเลี้ยงแจกจ่ายสิ่งของทุกอย่างในพิธี ตั้งแต่ของกิน เครื่องดื่ม เครื่องเซ่น ไปจนถึงถ่านก่อไฟ หากแขกต้องการสิ่งนี้ถือเป็นภาระหน้าที่ในการทาน/ให้ซึ่งจะช่วยกลับมาตอกย้ำความสำคัญความศักดิ์สิทธิ์ หรือ สถานะทางสังคมของตระกูลเจ้าภาพ (วินัย, 2559: สัมภาษณ์)

ข้อระวังสำหรับชาวบรูในพิธีลาเปิป จะมีการทดลองวิชาอาคมระหว่างชาวบรูต่างกลุ่ม/ต่างบ้าน เพื่อพิสูจน์ความคงกระพันหรือวิชาอาคมในการแก้ว่าน แก้ยา และคาถาอาคม หากลูกหลานไม่มีวิชาอาคม บางครั้ง ผู้เฒ่าหรือพ่อแม่จะห้ามลูกหลานไม่ให้สบตา พูดอวด หรือแสดงการท้าทาย อันจะเป็นเหตุให้ถูกลองวิชาอาคมจากคนอื่น

การจัดพิธีนี้มิได้ถูกกำหนดเวลาไว้อย่างตายตัว ส่วนใหญ่จะจัดในเดือน 4 ที่เรือนตระกูล (วินัย, 2559: สัมภาษณ์) บางครั้งอาจอยู่ในช่วงระยะเวลาหลังจากที่ผู้ตายได้ถูกทำฌาปนกิจแล้วเสร็จบางครั้งก็ทิ้งไปหลายปี ตามความตกลงของกลุ่มเครือญาติพี่น้องในตระกูล การประกอบพิธีกรรมนี้จึงขึ้นอยู่กับความความพร้อมด้านเศรษฐกิจของกลุ่มเครือญาติบางกลุ่มเครือญาติไม่มีเงินอาจจะต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

เมื่อเครือญาติมีความพร้อมที่จัดงาน การเชื้อเชิญญาติพี่น้องชาวบรู ทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่ห่างไกลจะเริ่มขึ้นอย่างน้อยไม่ต่ำ 1-2 เดือนหรือเป็นแรมปีในวันจัดงาน จะมีการก่อผามหรือปะรำพิธีไว้ตรงกลางสถานที่จัดงาน นำกระดูกคนตายมากองรวมกัน ในอดีตเครือญาติตระกูลจะไปขุดนำกระดูกจากหลุมฝังศพในป่า ส่วนด้านนอกผามหรือปะรำโดยรอบ จะมีการสร้างห้องหรือเพิงเพื่อไว้ต้อนรับญาติพี่น้องที่จะมาร่วมงาน (อินทร์, 2558: สัมภาษณ์,)

การจัดงานจะถูกจัดเป็นระยะเวลา 3 วัน 3 คืน ในพิธีจะมีการสวดเชิญวิญญาณผีบรรพบุรุษ โดยหมอสวดที่เรียกว่า “หมออัลลอย”ผ่านการร่ำเรียนวิชาอาคม รู้คาถาหรือบทสวดในการเชื้อเชิญผี รวมถึงปราบผีได้ หมออัลลอยมีน้อยและจำกัด เพราะความยุ่งยากในการเรียนและสืบทอดวิชาอาคม รวมถึงต้องรักษาปฏิบัติข้อห้าม (ขะลำ) ต่างๆ ที่กำหนดไว้(อินทร์, 2558: สัมภาษณ์) ในพิธีมีการฟ้อนรำและกินเลี้ยง มีเครื่องดนตรีประโคม ตระกูลจะต้องออกมาต้อนรับและรำรอบปะรำพิธีตลอดจนจบงานเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ และแสดงให้เห็นความสนุกสนาน ในพิธีนี้ เขยจะถูกละเว้นจากฮีตคองที่ควบคุมในวิถีชีวิตตามปกติในชีวิตประจำวัน ฮีตจะถูกกลับหัวกลับหางในพิธี สามารถละเมิดฮีตที่ทำไม่ได้ยามปกติ เช่น สามารถหยอกล้อพ่อเฒ่าแม่เฒ่าหรือผู้อาวุโสได้ เล่นทะลึ่ง จับเนื้อต้องตัวหญิงสาวในตระกูลได้ พร้อมกันนั้น พวกเขาจะได้รับการดูแลจากเครือญาติ ผู้อาวุโส หรือหญิงสาวตระกูลเป็นอย่างดี เช่น มวนบุหรี่ให้สูบ รินเหล้าให้ดื่มละเล่นฟ้อนรำร่วมไปกับแขกอย่างสนุกสนาน กลางคืนจะมีการอบรมกินน้ำสาบานร่วมกันระหว่างเขย เจ้ากกเจ้าเหล่า และเครือญาติกลุ่มตระกูลเพื่อบอกเตือนให้รักษาฮีตคอง รักษากฎระเบียบ ถือเป็นการอบรมสั่งสอนกันระหว่างสมาชิก เขย สะใภ้ให้มีความเคารพเจ้าฮีต พ่อเฒ่าแม่เฒ่า และผู้อาวุโสในตระกูลคนอื่นๆนอกจากนี้เจ้าโคตรและผู้อาวุโสจะบอกเตือนให้เขยและสมาชิกตระกูลไม่ให้มีปัญหา เล่นของ ว่านยาใส่กันในระหว่างพิธี (วินัย, 2559สัมภาษณ์: พฤษภาคม,)

ปัจจุบัน ในหมู่บ้านบรูฝั่งไทยไม่ไม่ได้มีการจัดประเพณีลาเปิปมาแล้วประมาณ 2-3 รุ่นวัย เนื่องจากขาดแคลนหมออัลลอยที่รู้วิชาอาคมและบทสวดในการทำพิธี ประกอบการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การรับวัฒนธรรมไทยและลาวข้างเคียง การเปลี่ยนเปลงมานับถือศาสนาพุทธ และการมีค่าใช้จ่ายสูงในการประกอบพิธี จากเงื่อนไขข้างต้นจึงส่งผลให้การประกอบพิธีกรรมดังกล่าวได้ลบเลือนหายไปจากวัฒธรรมของทั้งชาวบรูใประเทศไทยและประเทศลาว

ในช่วง 3-4 ทศวรรษ ชาวบรูได้ปรับเปลี่ยนจารีตประเพณีเข้ากับวัฒนธรรมไทยอีสานหรือลาวมากขึ้น พิธีบุญแจกข้าวแบบชาวลาวถูกจัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ซึ่งชาวบรูอธิบายว่ามีลักษณะคล้ายกับการทำพิธีลาเปิปให้กับผีบรรพบุรุษ (เกียรติศักดิ์ บังเพลิง, 2558)

การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

ชาวบรูนิยมเรียนวิชาอาคม เรียนเป็นหมอดู หมอเยาหรือหมอผี ทั้งเพื่อให้เป็นคนมีวิชาอาคม เป็นที่เคารพนับถือและเพื่อคนอยู่เรือนเกิดมีการเจ็บป่วย ต้องมีการรักษาตามแบบพื้นเมือง เช่น หมอดู หมอเหยา รักษาด้วยหว่าน ยาพื้นเมือง และการใช้เวทมนต์คาถา

กรมชนเผ่า. (2008). บรรดาชนเผ่าใน สปป. ลาว. เวียงจันทน์: กรมชนเผ่า.

กอบชัย รัฐอุบลและมานิตย์ โศกค้อ. (2560). เรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับการสร้างพลังชุมชนของชาวบรูบ้านท่าล้งและบ้านเวินบึก อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี. ใน วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ปีที่ 8 ฉบับพิเศษ (ธันวาคม 2560).

กุลธิดา บุญนูน. (2549). การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรณีศึกษา: ชนเผ่าบรู หมู่บ้านเวินบึก อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

เกนี่ เจอร์รี่. (2528). การศึกษาระบบเสียงภาษากูย บรู และโซ่ในเชิงภาษาศาสตร์เปรียบเทียบ. (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.

เกียรติศักดิ์ บังเพลิง. (2558). ชุมชนชาติพันธุ์ “บรู” ร่วมสมัยบนพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว : วิถีชีวิตและการปรับตัวทางวัฒนธรรม. ดุษฎีนิพนธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เกียรติศักดิ์ บังเพลิง. (2558ก). วิถีชีวิตและการปรับตัวทางวัฒนธรรมของชาวบรูบนพื้นที่ไทย-ลาวในยุคร่วมสมัย. ใน รัตนะ ปัญญาภา (บรรณาธิการ.), การประชุมวิชาการระดับชาติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ครั้งที่ ๓ (น. 257-272). อุบลราชธานี: ทองพูลทรัพย์การพิมพ์.

เกียรติศักดิ์ บังเพลิง. (2559). ชาวบรู: การปรับตัวต่อรองและภาวการณ์กลายเป็นทางชาติพันธุ์ในยุคร่วมสมัย. ใน ชยันต์ วรรธนะภูติ และคณะ (บรรณาธิการ.), รวมบทความการประชุมระดับชาติ วิถีชาติพันธุ์ในอีสาน:“ภาวการณ์กลายเป็น”ในกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่เสรีนิยมใหม่ 7-8 เมษายน 2559 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (น. 542-569). เชียงใหม่: ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เกียรติศักดิ์ บังเพลิง. (2559). พุทธศาสนาในบริบทการธำรงชาติพันธุ์และการสร้างสำนึกรัฐชาติ: กรณีศึกษาชุมชนชาติพันธุ์บรูบนพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว. ใน สุชาดา พงศ์กิตติวิบูลย์ และคณะกรรมการฯ (บรรณาธิการ.), การประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 10/2559 การประชุมมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ "เอกภาพและความหลากหลายในมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์". ชลบุรี: คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

แก้ว อุดมศิริชาคร. (2552). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์พฤษศาสตร์พื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์บรูและกุลาในจังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

ข่าวสด. (2551). ทำพจนานุกรม ‘ภาษาบรู’ อนุรักเผ่าโบราณ ‘โขงเจียม’. ข่าวสด, 5 ม.ค. 2551 .หน้า 24.

จิตร ภูมิศกดิ์. (2540). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เคล็ดไทย.

จิตรกร โพธิ์งาม. (2536). โลกทัศน์ของชาวบรู บ้านเวินบึก อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี. (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต), มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาสารคาม.

ชนาธิป บุณยเกตุ. (2541). การเรียนรู้และการขัดเกลาชนชาติพันธุ์บรู: มุมมองทางสังคม-วัฒนธรรมและบทบาทหญิงชาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.).

ชุติมา นุ่นมัน. (2551). เรื่องเล่าชาวบรู. มติชน, 24 ส.ค. 2551, หน้า 8.

เดลินิวส์. (2534). 'บรู' ชนกลุ่มน้อยแห่งบ้านเวินวึก. เดลินิวส์, 19 เมษายน 2534, หน้า 2.

ทิดหมู มักม่วน (2564).ชนเผ่าข่า (บรู). ประตูสู่อีสาน https://www.isangate.com/new/isan-ethnos/26-isan-land/ethnos/145-paothai-kha.html (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565

ธันวา ใจเที่ยง. (2554). ชนชาติพื้นเมืองและขบานการปฏิวัติประชาชนของชนชาติบรูแห่งเทือกเขาภูพาน ใน วารสารสมาคมนักวิจัย. ปีที่ 16 ฉบับที่ 3 กันยายน - ธันวาคม 2554. หน้า-39

ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ และ สี พึ่งป่า. (2523). พจนานุกรมบรู-ไทย-อังกฤษ (A Bruu-Thai-English dictionary). กรุงเทพฯ: โครงการวิจัยภาษาไทยและ ภาษาพื้นเมืองถิ่นต่าง ๆ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พนัส ดอกบัว และคณะ. (2552). รูปแบบการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาบรูโดยกลุ่มชาติพันธุ์ บรูบ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

พนัส ดอกบัว. (2553). เครือญาติข้ามพรมแดนรัฐชาติของกลุ่มชาติพันธุ์บรู บ้านท่าล้ง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี. (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต), มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, อุบลราชธานี.

พิสิฏฐ บุญไชย (2544). ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับใช้สมุนไพรพื้นบ้านของชาวบรู จังหวัดมุกดาหาร. สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

พิสิฏฐ์ บุญไชย. (2545). ชาวบรูจังหวัดมุกดาหาร. สารรักษ์ศิลป์, 2,2 (ม.ค.-มี.ค. 2545), หน้า 5-17.

ภัททิยา ยิมเรวัต. (2525). ระเปิ๊บ: งานบุญของชาวบรู. ภาษาและวัฒนธรรม, 2,2 (ก.ค.-ธ.ค.2525), หน้า 85-93.

ยุพา อุทามนตรี. (2539). ประเพณี พิธีกรรมของชาวบรูบ้านเวินบึก ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี. (ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต), มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.

รมิดา โภคสวัสดิ์ และศิริวรรณ อาษาศรี. (2559). ข่า ชนเผ่า (ลาว) อีสาน : กับการปรับตัวทางวัฒนธรรมในยุคปัจจุบัน . นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2559.

สมใจ ศรีหล้า. (2550). กลุ่มชาติพันธุ์ข่า-บรู : การสร้างและการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์. วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง, ปีที่ 3, ฉบับที่มกราคม-เมษายน 2550. หน้า 73-113; ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สุธิดา ตันเลิศ ไกสอน. (2541). พรหมวิหานกับพัฒนาการสังคมนิยมลาว ระหว่าง ค.ศ. 1975-1986. (วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์. (2542). ประมวลองค์ความรู้ชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกในประเทศไทย: รายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

เอกวิทย์ จิโนวัฒน์. (2526). การศึกษาเปรียบเทียบการสร้างคำในภาษากุย บรู และโซ่. (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต), จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.

Dang, N. V. (1993). Ethnic minorities in Vietnam. Hanoi: The Gioi Publishers.

Miller, J. D. (1971). Bru kinship. Journal of Southeast Asia, vol. 2, no.1, pp.62-70.

Vargyas, G. (1996). Ancestors and the forest among the Brou of Vietnam. Diogenes, 44(174), 117.

กิ คำบุญเรือง, นาย, อายุ 80 กว่าปี, ชาวบรูบ้านเวินบึก อ.โขงเจียม ประเทศไทย, มีนาคม 2558. เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ผู้สัมภาษณ์

คำหล้า, ท้าว, อายุ 80 กว่าปี, ชาวบรูบ้านลาดเสือ เมืองชนะสมบูรณ์ สปป.ลาว, ม.ค.2558. เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ผู้สัมภาษณ์

ทุม แก้วใส, นาง, อายุ 70 ปี, ชาวบรูบ้านท่าล้ง อ.โขงเจียม ประเทศไทย, มี.ค.2558. เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ผู้สัมภาษณ์

ธีระเกียรติ แก้วใส, นาย, อายุ 39 ปี, ชาวบรูบ้านท่าล้ง อ.โขงเจียม ประเทศไทย, มี.ค. 2558. เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ผู้สัมภาษณ์

แพง แก้วใส, นาย, อายุ 60 กว่าปี, ชาวบรูบ้านท่าล้ง อ.โขงเจียม ประเทศไทย, มี.ค.2558. เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ผู้สัมภาษณ์

แพง, นาง, อายุ 80 กว่าปี, ชาวบรูบ้านเวินบึก อ.โขงเจียม ประเทศไทย, พ.ค. 2558. เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ผู้สัมภาษณ์

วร, นาย, อายุ 90 ปี, ชาวบรูบ้านท่าล้ง อ.โขงเจียม ประเทศไทย, พ.ค. 2558. เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ผู้สัมภาษณ์

วินัย, ท้าว, อายุ 40 ปี, ชาวบรูบ้านโนนพระเจ้า เมืองโพนทอง สปป.ลาว, พ.ค.2559. เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ผู้สัมภาษณ์

สมใจ, นาย, อายุ 40 กว่าปี, ชาวบรูบ้านเวินบึก อ.โขงเจียม ประเทศไทย, พ.ค. 2558. เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ผู้สัมภาษณ์

อินทร์,ท้าว, อายุ 80 ปี, ชาวบรูบ้านลาดเสือ เมืองชนะสมบูรณ์ สปป.ลาว, ก.พ. 2558. เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ผู้สัมภาษณ์


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว