กลุ่มชาติพันธุ์ : บรู

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : บรู
  • ชื่อเรียกตนเอง : บรู
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ข่า, ส่วย, โซ่, กะโซ่, โส้, ข่าโซ่, ข่าพร้าว
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ภาษาบรู (Bru) จัดอยู่ในภาษาศาสตร์สาขากระตูอิค (Katuic) หมวดภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) กลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติก (Astro-Asiatic)
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              บรู เป็นชนพื้นเมืองที่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตนิเวศต่าง ๆ ในดินแดนสองฟากฝั่งลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ชื่อเรียกหรือคำว่า “บรู” นั้นหมายถึง คนหรือมนุษย์ คนที่อาศัยอยู่บนภูเขาเป็นคนที่รักอิสระ วัฒนธรรมดั้งเดิมเท่าที่มีการบันทึกไว้ กล่าวว่า ชาวบรูเป็นกลุ่มอิสระ อาศัยอยู่ตามภูเขาหรือบนที่สูง ทำไร่ย้ายที่ การอพยพโยกย้ายหรือเคลื่อนย้ายเป็นลักษณะทั่วไปของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำไร่หมุนเวียนบนที่สูงด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ เช่น หาที่ทำกินใหม่ เกิดโรคระบาด หรือถูกรบกวนจากคนนอก พวกเขาก็จะเคลื่อนย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ โดยตามระบบการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้กำหนดชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวว่า “กะตาง” นักวิชาการแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เชื่อว่าชนกลุ่มบรู นี้ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงมากกว่าห้าพันปี ชนในตระกูลนี้ ในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง มีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ เช่น บรูตรี บรูมะกอง และหลายชนเผ่าในลาวใต้แถบจำปาสัก ก็เรียกตัวเองว่า “บรู” เช่น ชาวละแว ชาวกะตู อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ชนเผ่าอื่นจะเรียกพวกเขาว่า “กะต่าง” แต่ชื่อที่พวกเขาชื่นชอบและชื่อที่ใช้ทางการในปัจจุบันคือ ชนเผ่ากะตาง ซึ่งกรมชนเผ่าของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวก็ได้บันทึกข้อมูลชาวบรูในชื่อเรียก ชาติพันธุ์ “กะตาง” ไว้ดังนี้

    “ชนเผ่านี้เรียกตนเองว่า บรูกะตาง ชนเผ่าอื่นเรียกพวกเขาว่า “กะต่าง” แต่ชื่อที่พวกเขาชื่นชอบและชื่อที่ใช้ทางการในปัจจุบันคือชนเผ่ากะตาง” และได้บรรยายถึงถิ่นฐานและการเคลื่อนย้ายของตนเองว่า “ชนเผ่ากะตางเป็นชนเผ่าหนึ่งที่รวมอยู่ในวงศาคณาญาติแห่งชาติลาว ก่อนพุทธศักราชสมัยพระเจ้าอาหลวย ชนเผ่ากะตางพร้อมกับบรรดาชนเผ่าในหมวดภาษามอญ-ขะแมร์ สาขามอญโบราญ ได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ภาคเหนือ และได้เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่เขตเมืองนอง เมืองเซโปน โดยผ่านแคว้นหงสาวดีแห่งอาณาจักรมอญประเทศเมียนม่าและแคว้นลพบุรีแห่งอาณาจักรสยาม จากนั้นแล้วจึงมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเคลื่อนย้ายมาตั้งเรือนชานอยู่บ้านตั้งหวายและก็เคลื่อนย้ายลงไปทั่วทุกเมืองของแขวงสะหวันนะเขตในปัจจุบัน พร้อมกันนั้นได้มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยเคลื่อนย้ายลงมาอยู่เขตเมืองตูมลาน สาละวันแขวงสาละวัน และก็ขยายลงไปอยู่บางเมืองของแขวงจำปาสักจนถึงปัจจุบัน” (กรมชนเผ่า, 2008)

    “บรู” ยังมีคำเรียกขานอื่นที่ถูกคนในตระกูลไท-ลาว ในประเทศลาว เรียกรวม ๆ ว่าชนชาติ “ข่า” เฉกเช่นชาวอีสานในประเทศไทยเรียกขานพวก “บรู” ด้วยคำว่า ข่า เช่นกัน ซึ่งคำว่า ข่า นี้อาจมาจากคำว่าข้าทาส ซึ่งชาวอีสานชอบเรียกพวกข้าทาสว่า ข้า หรือ ข้อย แต่ชอบออกเสียงไม้โทเป็นไม้เอก เช่นคำว่า ข้าเป็นข่า เพราะว่าในอดีตชาวไทยแถบลุ่มแม่น้ำโขงชอบไปจับเอาพวกข่า (บรู) ตามป่าดงมาเป็นข้าทาส จนในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านจึงประกาศไม่ให้ไปจับพวกข่ามาเป็นทาสอีก การเรียกขานชาวบรูว่า ข่า นี้ปรากฏในงานศึกษาของ รมิดา โภคสวัสดิ์และศิริวรรณ อาษาศรี ที่กล่าวถึงที่มาของคำว่า “ข่า” ว่า

    “…ชาวข่าไม่ได้เรียกตัวเองว่า ‘ข่า’ แต่เรียกตัวเองว่า ‘บรู’ แปลว่า ภูเขา หรือคนที่อยู่ในป่าใกล้เขา ตามลักษณะของชนชาติตนที่เกี่ยวกับระบบนิเวศ คือ รักสงบ มีวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามป่าเขา ซึ่งคำว่า ข่า ที่คนไทยเรียกนั้น หมายถึง ข้า ขี้ข้า หรือ ทาส จิตร ภูมิศักดิ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ว่า ‘ต้นกำเนิดเดิมของชื่อ ข่า เป็นภาษาลาว ไทยเรายืมชื่อนี้มาจากลาวใต้อีกทอดหนึ่ง มิใช่ชื่อที่ไทยคิดขึ้นเอง เพราะชนชาติข่าเป็นชนชาติของลาว ชื่อที่พวกลาวกลาง ลาวใต้ เรียกว่า ข่า นั้น พวกลาวเหนือ เรียกว่า ค้า ถ้าเทียบตามสำเนียงการเพี้ยนเสียงวรรณยุกต์แล้วก็ตรงกับคำภาษาไทยสำเนียงภาคกลางว่า ข้า แต่เนื่องจากชนเผ่าข่าอยู่ในลาว ไทยรู้จักชนพวกนี้โดยผ่านลาวกลางและลาวใต้ ไทยจึงเรียกเลียนเสียงลาวว่า ข่า เพราะเมื่อรับคำนี้มานั้นมิได้คิดเทียบเสียงกลับและมิได้ตรวจสอบหาความหมายที่แท้จริงก่อน ดังนั้น คำว่า ข่า ในภาษาไทย ลาวกลาง ลาวใต้ จึงออกเสียงตรงกันหมดว่าข่า แต่ความหมายและคำที่ถูกคือ ข้า  สุวิทย์ ธีรศาศวัต ได้กล่าวถึงเรื่อง ข่า ข้า ไว้ว่า ข่า ข้า-ข้าทาส หรือ ส่า มิใช่ชื่อชนชาติแต่มาจากคำในตระกูลไท-กะได ที่สรรค์สร้างขึ้นเมื่อพวกชนกลุ่มตระกูลไทเคลื่อนย้ายลงมาดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงและลุ่มแม่น้ำแดงทางเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้โจมตีและยึดดินแดนของชนพื้นเมืองกลุ่มออสโตรเอเชียติก (มอญ-เขมร) และจับชนพื้นเมืองผู้แพ้สงครามระหว่างชนเผ่ามาเป็นทาส หรือเป็นข่า…”  (รมิดา โภคสวัสดิ์ และศิริวรรณ อาษาศรี, 2559)

              นักวิชาการทางด้านภาษาศาสตร์ยังสันนิษฐานว่ากลุ่มชาวบรูอาจอยู่ในชื่อเรียกอีกอย่างว่า “โซ่” ซึ่งมาจากการศึกษาคำศัพท์พื้นฐานของทั้งสองกลุ่มว่ามีความใกล้เคียงกัน มีคำศัพท์ร่วมตระกูลเดียวกันถึงร้อยละ 70-99 แต่ก็ยังมีความสับสนในชื่อเรียกบรูบางแห่ง เช่น ที่อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เรียกตนเองว่า “บรู” แต่คนทั่วไปเรียกพวกเขาว่า “โซ่” เนื่องจากเห็นจากความคล้ายคลึงกับกลุ่มที่อำเภอกุสุมาลย์ที่เรียกว่า โซ่ นอกเหนือจากนั้นกลุ่มบรู (Brou) นี้ยังอยู่ในชื่อเรียกของลาวคือ ตะโอย (Ta-oi) อีกด้วย  (สุวิไล เปรมศรีรัตน์, 2542 )

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย อาจารย์เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

    เอกสารอ้างอิง

              กุลธิดา บุญนูน. (2549). การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กรณีศึกษา: ชนเผ่าบรู หมู่บ้านเวินบึก อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

              เกนี่ เจอร์รี่. (2528). การศึกษาระบบเสียงภาษากูย บรู และโซ่ในเชิงภาษาศาสตร์เปรียบเทียบ. (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.  

              เกียรติศักดิ์ บังเพลิง. (2558). ชุมชนชาติพันธุ์ "บรู" ร่วมสมัยบนพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว: วิถีชีวิตและการปรับตัวทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ดุษฎีนิพนธ์ สาขามานุษยวิทยา).

              เกียรติศักดิ์ บังเพลิง. (2558). วิถีชีวิตและการปรับตัวทางวัฒนธรรมของชาวบรูบนพื้นที่ไทย-ลาวในยุคร่วมสมัย. ใน รัตนะ ปัญญาภา (บรรณาธิการ.), การประชุมวิชาการระดับชาติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ครั้งที่ ๓ (น. 257-272). อุบลราชธานี: ทองพูลทรัพย์การพิมพ์.

              เกียรติศักดิ์ บังเพลิง. (2559). ชาวบรู: การปรับตัวต่อรองและภาวการณ์กลายเป็นทางชาติพันธุ์ในยุคร่วมสมัย. ใน ชยันต์ วรรธนะภูติ และคณะ (บรรณาธิการ.), รวมบทความการประชุมระดับชาติ วิถีชาติพันธุ์ในอีสาน:“ภาวการณ์กลายเป็น”ในกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่เสรีนิยมใหม่ 7-8 เมษายน 2559 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (น. 542-569). เชียงใหม่: ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

              เกียรติศักดิ์ บังเพลิง. (2559). พุทธศาสนาในบริบทการธำรงชาติพันธุ์และการสร้างสำนึกรัฐชาติ: กรณีศึกษาชุมชนชาติพันธุ์บรูบนพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว. ใน สุชาดา พงศ์กิตติวิบูลย์ และคณะกรรการฯ (บรรณาธิการ.), การประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 10/2559 การประชุมมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ "เอกภาพและความหลากหลายในมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์". ชลบุรี: คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.

              แก้ว อุดมศิริชาคร. (2552). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์พฤษศาสตร์พื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์บรูและกุลาในจังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

              ข่าวสด. (2551). ทำพจนานุกรม ‘ภาษาบรู’ อนุรักเผ่าโบราณ ‘โขงเจียม’. ข่าวสด, 5 ม.ค. 2551 .หน้า 24.

              จิตรกร โพธิ์งาม. (2536). โลกทัศน์ของชาวบรู บ้านเวินบึก อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี. (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต), มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาสารคาม.  

              ชนาธิป บุณยเกตุ. (2541). การเรียนรู้และการขัดเกลาชนชาติพันธุ์บรู: มุมมองทางสังคม-วัฒนธรรมและบทบาทหญิงชาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.).

              ชุติมา นุ่นมัน. (2551). เรื่องเล่าชาวบรู. มติชน, 24 ส.ค. 2551, หน้า 8.

              เดลินิวส์. (2534). 'บรู' ชนกลุ่มน้อยแห่งบ้านเวินวึก. เดลินิวส์, 19 เมษายน 2534, หน้า 2.

              ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ และ สี พึ่งป่า. (2523). พจนานุกรมบรู-ไทย-อังกฤษ (A Bruu-Thai-English dictionary). กรุงเทพฯ: โครงการวิจัยภาษาไทยและ ภาษาพื้นเมืองถิ่นต่าง ๆ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

              พนัส ดอกบัว. (2553). เครือญาติข้ามพรมแดนรัฐชาติของกลุ่มชาติพันธุ์บรู บ้านท่าล้ง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี. (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต), มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, อุบลราชธานี.  

              พิสิฏฐ์ บุญไชย. (2545). ชาวบรูจังหวัดมุกดาหาร. สารรักษ์ศิลป์, 2,2 (ม.ค.-มี.ค. 2545), หน้า 5-17.

              ภัททิยา ยิมเรวัต. (2525). ระเปิ๊บ: งานบุญของชาวบรู. ภาษาและวัฒนธรรม, 2,2 (ก.ค.-ธ.ค.2525), หน้า 85-93.

              ยุพา อุทามนตรี. (2539). ประเพณี พิธีกรรมของชาวบรูบ้านเวินบึก ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี. (ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต), มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.  

              สมใจ ศรีหล้า. (2550). กลุ่มชาติพันธุ์ข่า-บรู : การสร้างและการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์. วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง, ปีที่ 3, ฉบับที่ 1  (ม.ค.), หน้า 73-113.

              เอกวิทย์ จิโนวัฒน์. (2526). การศึกษาเปรียบเทียบการสร้างคำในภาษากุย บรู และโซ่. (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต), จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.  

    ภาษาลาว

              กรมชนเผ่าลาว. (2008). บรรดาชนเผ่าใน สปป.ลาว. เวียงจันทน์: กรมชนเผ่า.

    ภาษาอังกฤษ

              Dang, N. V. (1993). Ethnic minorities in Vietnam. Hanoi: The Gioi Publishers.

              Miller, J. D. (1971). Bru kinship. Journal of Southeast Asia, vol. 2, no.1, pp.62-70.

              Vargyas, G. (1996). Ancestors and the forest among the Brou of Vietnam. Diogenes, 44(174), 117. 

    สัมภาษณ์

              นายกิ คำบุญเรือง, อายุ 80 กว่าปี, ชาวบรูบ้านเวินบึก อ.โขงเจียม ประเทศไทย, สัมภาษณ์ มีนาคม 2558.

              นางทุม แก้วใส, อายุ 70 ปี, ชาวบรูบ้านท่าล้ง อ.โขงเจียม ประเทศไทย, สัมภาษณ์ มี.ค.2558.

              นายธีระเกียรติ แก้วใส, อายุ 39 ปี, ชาวบรูบ้านท่าล้ง อ.โขงเจียม ประเทศไทย, สัมภาษณ์ มี.ค. 2558.

              นายแพง แก้วใส, อายุ 60 กว่าปี, ชาวบรูบ้านท่าล้ง อ.โขงเจียม ประเทศไทย, สัมภาษณ์ มี.ค.2558.

              นางแพง, อายุ 80 กว่าปี, ชาวบรูบ้านเวินบึก อ.โขงเจียม ประเทศไทย, สัมภาษณ์ พ.ค. 2558.

              นายสมใจ, อายุ 40 กว่าปี, ชาวบรูบ้านเวินบึก อ.โขงเจียม ประเทศไทย, สัมภาษณ์ พ.ค. 2558

              นายวร, อายุ 90 ปี, ชาวบรูบ้านท่าล้ง อ.โขงเจียม ประเทศไทย, สัมภาษณ์ พ.ค. 2558.

              ท้าวอินทร์,  อายุ 80 ปี, ชาวบรูบ้านลาดเสือ เมืองชนะสมบูรณ์ สปป.ลาว, สัมภาษณ์ ก.พ. 2558.

              ท้าวคำหล้า, อายุ 80 กว่าปี, ชาวบรูบ้านลาดเสือ เมืองชนะสมบูรณ์ สปป.ลาว, สัมภาษณ์ ม.ค.2558.

              ท้าววินัย, อายุ 40 ปี, ชาวบรูบ้านโนนพระเจ้า เมืองโพนทอง สปป.ลาว, สัมภาษณ์, พ.ค.2559

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร
อุบลราชธานี มุกดาหาร500
ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับบรูสันนิษฐานว่าชาวบรูมีต้นกำเนิดที่จังหวัดกว่าง จิ (Qaung Tri) และกว่าง บิ่งห์ (Quang Binh) (Dang, 1993, pp.69-71;  Schliesinger, 2003, pp. 114-119) ขณะที่รัฐบาล สปป.ลาว จัดคนบรูอยู่ในกลุ่มชื่อเรียกชาติพันธุ์ “กะตาง” ( กรมชนเผ่าลาว, 2008, น.58) ในเรื่องนี้ ยังไม่มีข้อพิสูจน์หลักฐานที่ชัดเจนถึงถิ่นกำเนิด แต่สันนิษฐานได้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์บรูเป็นชนพื้นเมืองมีแพร่หลายในบริเวณลาวใต้และเวียดนามกลางมาช้านาน (เกียรติศักดิ์ บังเพลิง,2558) ในประเทศไทย ชาวบรูส่วนใหญ่อพยพเข้ามาจาก สปป.ลาวข้ามแม่น้ำโขงมาตามจุดต่าง ๆ ตลอดชายแดนลาว-ไทยตั้งแต่หนองคายมาจนถึงอุบลราชธานี คิดเป็นช่วงระยะเวลาได้ประมานหนึ่งศตวรรษ ด้วยสาเหตุหลักทางด้านการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองในลาว โดยเฉพาะเมื่ออาณานิคมฝรั่งเศส เข้าปกครองลาวได้ใช้ระบบการปกครองกดขี่ ขูดรีดแรงงานและส่วย ทำให้ชาวบรูซึ่งกระจายตัวอยู่ในลาวใต้ได้รับความเดือดร้อน เคลื่อนย้ายอพยพเข้ามาฝั่งไทย อย่างไรก็ตาม ชาวบรูมักถูกเรียกคนอื่นด้วยชื่อว่า ข่า หรือส่วย ซึ่งมีนัยในเชิงกดทับทางสถานะทางสังคม แต่พวกเขาจะเรียกตัวเองว่า “บรู” ชอบอยู่เป็นอิสระตามพื้นที่สูง ทำไร่ย้ายที่ (ไร่หมุนเวียน) ไปตามภูเขา คนบรูมักบอกว่า คนบรูชอบอยู่กับธรรมชาติ ไม่ชอบการถูกรบกวนจากคนอื่น(Schliesinger, 2003)  

         ชาวบรูน่าจะเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่กระจายอยู่ในพื้นที่ลาวใต้และภาคกลางเวียดนามมาช้านาน ถูกเรียกว่า ข่า และถูกรวมอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรต่างๆ ได้แก่ กัมพูชา/ขอม ล้านช้าง สยาม และฝรั่งเศส ที่ขยายอำนาจมาปกครองพื้นที่ดังกล่าว ในรัฐสมัยโบราณนั้น ปรากฏการณ์การเคลื่อนย้ายผู้คนไปมาทั้งสองฝากแม่น้ำโขงเกิดขึ้นเป็นระยะด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่นการแสวงหาที่ทำกินและการตั้งถิ่นฐาน หรือการถูกกวาดต้อนในฐานะเชลยท่ามกลางการแย่งชิงหัวเมืองขึ้นต่างๆ (เกียรติศักดิ์ บังเพลิง, 2559)

              “บรู” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาในตระกูลภาษามอญ-เขมร (สุวิไล เปรมศรีรัตน์, 2542) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มล้ำโขง แต่เดิมตั้งรกรากบนพื้นที่สูงในเขตที่เป็นภูเขาและป่าไม้หนาทึบที่เรียกว่าเชโปน จากนั้นก็ได้อพยพโยกย้ายหลายครั้งคราวบางครั้งอยู่บนที่ราบ บางครั้งอยู่บนที่สูง และจากนั้นก็อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต แขวงสาละวัน และแขวงอัดตะปือ และจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งในช่วงก่อน พ.ศ. 2436 บริเวณนี้ยังอยู่ในอาณาเขตของประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบัน มีชาวบรูอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยสี่จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย มุกดาหาร สกลนคร และอุบลราชธานี

              อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณ คริสต์ศตวรรษที่ 18 อาณานิคมฝรั่งเศสขยายอำนาจเข้าปกครองอินโดจีน การปกครองแบบของอาณานิคม แบ่งประชากรตามภูมิศาสตร์เป็น ลาวสูง ลาวเทิง และลาวลุ่ม คนบรูถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มลาวเทิง ถูกย้ายให้ลงมาอยู่ในพื้นที่ลุ่ม ถูกเรียกเก็บส่วยและใช้แรงงาน (ท้าวคำหล้า,สัมภาษณ์,2558) ชาวบรูจึงรู้สึกว่าตนไม่มีอิสระ ถูกกดขี่ พวกเขาได้พากันอพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่ภาคะตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ตั้งบ้านเรือนแทรกตัวอยู่อาศัยท่ามกลางคนลาว/อีสาน ตามจัดหวัดต่างๆ ที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำโขง (เกียรติศักดิ์ บังเพลิง, 2558) ต่อมารัฐไทยก็เริ่มสร้างความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ คนบรูจึงถูกหล่อหลอมเข้าสู่วัฒนธรรมและจิตสำนึกของความเป็นไทยในฐานะพลเมือง 

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีพื้นที่ติดลำน้ำโขงติดกับประเทศลาว ในช่วงฝรั่งเศสปกครองลาว คนบรูได้อพยพข้ามมาในช่วงทศวรรษ 2450 ตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณชายแดน (เกียรติศักดิ์ บังเพลิง, 2559) ปัจจุบันเป็นเขตอำเภอโขงเจียม มี 2 หมู่บ้านคือ บ้านเวินบึก และบ้านท่าล้ง

              “บ้านเวินบึก” อยู่ติดริมแม่น้ำโขง  เป็นหมู่บ้านที่มีเส้นเขตแดนเป็นทั้งแม่น้ำและทางบก ทางบกเป็นเส้นแบ่งเขตแดนคือเทือกเขาบรรทัด บ้านเวินบึกอยู่ห่างจากอำเภอโขงเจียมประมาณ 10 กิโลเมตร ติดกับบ้านท่าแพรและบ้านห้วยหมากใต้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวอีสาน ข้ามเทือกเขาไปเป็นหมู่บ้านชาวลาว เขตอำเภอโพนทอง  แขวงจำปาสัก   ฟากแม่น้ำโขง (ตรงข้ามหมู่บ้านชาวบรู) เป็นเมืองชนะสมบูรณ์ แขวงจำปาสัก  หมู่บ้านเดิม (มาตุภูมิ) ที่พวกเขาเคยอยู่อาศัยก่อนที่อพยพข้ามมาคือ บ้านห้วยเบ็นและบ้านลาดเสือ   

              "หมู่บ้านท่าล้ง" ชาวบรูบ้านท่าล้งอพยพมาจากบ้านลาดเสือในเวลาใกล้เคียงกับชาวบรูบ้านเวินบึก (ประมาณทศวรรษ 2450) ช่วงแรกที่อพยพข้ามมา ชาวบรูมาขึ้นฝั่งที่ถ้ำทรายบริเวณบ้านตามุยแล้วเข้าอาศัยอยู่ทำกินในที่ราบบนภูเรียกว่า “สนม” ภายหลังด้วยนโยบายรัฐ ได้ถูกให้ย้ายมาตั้งเป็นหมู่บ้านที่ริมน้ำแม่น้ำโขง ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ท่าล้ง”  (ชาวบรูบ้านท่าล้ง เวลาไปเยี่ยมญาติทางฝั่งลาวมักจะข้ามแม่น้ำที่ท่าแม่น้ำหมู่บ้าน แล้วไปขึ้นฝั่งเดินทางข้ามภูเขาไปยังบ้านลาดเสือ ต่างจากชาวบรูในหมู่บ้านเวินบึกจะนั่งเรือไป เพราะหมู่บ้านอยู่ใกล้และสะดวก)

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              ชาวบรูมีชื่อเรียกตนเองเฉพาะกลุ่ม มีภาษาพูดของตัวเอง มีความเชื่อเรื่องวิญญาณนิยม (ผี) หลายระดับ ยึดถือระบบเครือญาติเป็นลักษณะสำคัญ ระบบความเชื่อยังส่งผลต่อการจัดองค์กรทางสังคมการปกครองตั้งแต่ระดับกลุ่มตระกูลไปจนถึงชุมชน อยู่กันเป็นกลุ่ม ระวังในเรื่องการผิดรี๊ต (ฮีตคอง) คนนอกที่ไม่ใช่สมาชิกจะถูกควบคุมในการเข้ามาปฏิสัมพันธ์หรือขึ้นเรือนตระกูลได้อย่างจำกัด เพราะอาจทำให้ผิดรี๊ต ผิดผีตระกูล ชาวบรูดำรงชีวิตบนภูในป่า ทำไร่หมุนเวียน เก็บของป่าล่าสัตว์ บางครั้งนำผลผลิตออกไปแลกข้าว เกลือ หรือของใช้อื่นๆ โดยแบกหามใส่ตะกร้าเดินข้ามภูเขาไปแลกกับชาวลาวอีกฟาก เช่น หมู่บ้านกระติน คุมทอง สว่าง หนองไฮ คันยางและคันหว้า (ปัจจุบันเป็นเขตเมืองโพนทอง จำปาสัก) แม้ชาวบรูจะสร้างบ้านเรือนเป็นหมู่บ้านตามริมแม่น้ำ แต่ก็ขึ้นภูเขาไปทำไร่ในช่วงฤดูเพาะปลูก มีอาณาบริเวณกำหนดเฉพาะรับรู้กันว่าเป็นของกลุ่มตระกูล (จุมรี๊ต) นอกจากการทำเกษตรแล้ว ชาวบรูบ้านเวินบึกยังเก็บของป่าล่าสัตว์เพื่อยังชีพ มีภูมิปัญญาเรื่องจักสานโดยนำไม้เฮี้ย (ไม้ไผ่) ในป่าบนภูมาสานเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้โดยเฉพาะหวดและกระติบข้าว ต่อมาประมาณทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา รัฐได้ประกาศขึ้นพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ พื้นที่อุทยานได้รวมเอาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบรูด้วย ชาวบรูส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ จึงเปลี่ยนอาชีพมาเป็นแรงงานนอกหมู่บ้าน รับจ้างเป็นแรงงานทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงและไกลออกไป 

     

    การสานตระกร้าของชาวบรู

     

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              วงศ์ตระกูล (clan) มีความสำคัญมากสำหรับคนบรู มีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกทุกคน อาจต้องเสียสละช่วยเหลือกันในยามจำเป็น เช่น การช่วยเหลือสมาชิกเพื่อรวบรวมค่าสินสอดสำหรับการแต่งงานของคู่บ่าวสาว แม้อำนาจกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จะตกไปอยู่กับหัวหน้าหมู่บ้าน (Village chief) แต่วงศ์ตระกูลยังคงมีอำนาจบางอย่างและสามารถลงโทษกับสมาชิกได้เมื่อเห็นว่าจำเป็น โดยเฉพาะเรื่องผิดกฎระเบียบหรือฮีตหรือผีเรือน ซึ่งจะมีผลให้ถูกผีลงโทษหรือต้องเสียค่าปรับไหมขอขมา สิ่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกวงศ์ตระกูล

              ชาวบรูที่อพยพเข้ามาในไทยนั้น ลักษณะครอบครัว ตระกูล และเครือญาติยังมีความสำคัญ คือ ตระกูลจะดูแลสมาชิกที่อยู่ในกลุ่ม มีผู้อาวุโส เช่น เจ้าฮีต พ่อเฒ่าแม่เฒ่า ที่รับผิดชอบดูแลแนะนำตักเตือนสมาชิกไม่ให้มีการผิดฮีตผิดผี เขยหรือสะใภ้ต้องเคารพในฮีตคองที่มีผีเป็นศูนย์กลาง ในส่วนของการสืบเชื้อสาย กล่าวเฉพาะบรูเขตอำเภอโขงเจียม บ้านท่าล้งและบ้านเวินบึก นั้นปรากฏว่ามีการสืบเชื้อสายผีทางฝ่ายมารดา ผู้ชายเมื่อแต่งงานแล้วมักจะเข้ามาเป็นเขยไปอยู่เรือนตระกูลของฝ่ายหญิง (เกียรติศักดิ์ บังเพลิง, 2558) ซึ่งมีความแตกต่างจากชาวบรูในลาวและเวียดนามที่จะสืบเชื้อสายทางฝ่ายพ่อ (partilineal) โดยสมาชิกทั้งหมดถูกเชื่อมสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นพ่อผ่านบรรพบุรุษที่เป็นผู้ชาย (Zmiller, 1971, pp. 62-71) สันนิษฐานได้ว่าอาจจะเป็นเพราะมีการปรับรับผสมผสานกับวัฒนธรรมลาวที่พวกเขาปฏิสัมพันธ์ด้วย ในช่วง 4-5 ทศวรรษหลังมานี้

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              ชาวบรูในลาวในครั้งอดีตนั้นผู้ชายจะนุ่งกระเตี่ยว ปล่อยผมยาว เกล้าผม เจาะหู ใส่ตุ้มหูคล้ายผู้หญิงทำด้วยเงินและตะกั่ว สักขาลาย ที่แสดงถึงความเป็นคนกล้า มีฤทธิ์เดช ตัดฟัน และเอาหนังควายทำรองเท้า สำหรับผู้หญิงต้องนุ่งผ้าถุง ห่มเสื้อ เกล้าผม เจาะหู ใส่ตุ้มหู ที่ทำด้วยเงินและตะกั่ว ใส่ปลอกแขน ย้อมฟันด้วยสีไม้เหมือด เดินเท้าเปล่าไม่ใส่รองเท้า หรือบางครั้งก็ตัดหนังควายทำรองเท้า ภายหลังรู้จักวิธีทอผ้า จึงเริ่มทอผ้าไหมสำหรับทำเครื่องนุ่งห่ม  ไม่ว่าหญิงหรือชายจะสวมผ้าย้อมสีดำ สำหรับเด็ก ๆ ส่วนมากเปลือยกาย ไม่ใส่เสื้อผ้า  (กรมชนเผ่าลาว, 2008, น. 56) 

     

    ชุดแต่งกายประจำเผ่า บ้านเวินบึก

     

              ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ชาวบรูได้เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น เช่น คนลาวในท้องถิ่น มากขึ้น ชาวบรูได้มีการปรับเปลี่ยนและรับวัฒนธรรมจากกลุ่มคนเหล่านั้นที่พวกเขาปฏิสัมพันธ์ด้วย การสวมใส่กางเกงขาสั้นได้เข้ามาแทนที่ผ้าเตี่ยว ผู้หญิงชาวบรูชอบที่จะสวมใส่เครื่องแต่งกายแบบชาวลาวซึ่งหาซื้อได้ในตลาด พวกเธอจะนุ่งผ้าถุงและเสื้อคอกระเช้า (Schliesinger, 2003) บรูในไทยได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนการแต่งกายคล้ายกับคนลาวหรืออีสานในท้องถิ่น หมู่บ้านเวินบึกห่างจากเมืองเพียง 10  กม. มีการตัดถนนเข้าถึงหมู่บ้าน รวมถึงการวางโครงสร้างพื้นฐาน ชาวบรูสามารถเข้ามาในอำเภอได้สะวก ซื้อหาสิ่งของเครื่องใช้และเสื้อผ้า และมีวิถีชีวิตคล้ายกับคนอีสานมากขึ้น

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              เนื่องจากชาวบรูแต่เดิมเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่บนภูพื้นที่ป่า ลักษณะบ้านเรือนจึงสร้างด้วยไม้ไผ่ มุงหญ้า ทำเป็นกระท่อมกั้นด้วยฝาไม้ไผ่ (Amonier, 2000) การจัดแบ่งห้องภายในเรือนขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกในครัวเรือน (กรมชนเผ่าลาว,2008,น. 56) ห้องแรกมักเป็นห้องใหญ่มีไว้สำหรับรับแขกซึ่งจะมีหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษที่ฝาผนังด้านซ้ายประตูทางเข้า ห้องถัดมาจะเป็นห้องนอน แต่ละบ้านจะมีพื้นเตาบนพื้นดิน ภายในบ้านจะมีจารีต (ฮีตคอง) และข้อห้ามต่าง ๆ เช่น ห้ามวางสำรับข้าวตรงกับขื่อบ้านในเรือน สมาชิกต้องเคารพกันตามลำดับชั้นตั้งแต่พ่อเฒ่าแม่เฒ่ามาจนถึงเขย  ผีบรรพบุรุษมีอำนาจสูงสุดในการลงโทษสมาชิกหากมีการทำผิด สมาชิกผีเดียวกันจะอยู่ร่วมตระกูลเป็นกลุ่ม ๆ  หลายกลุ่มรวมกันเป็นหมู่บ้านเรียกว่า วิล (vil)  (Dang, 1993, p. 69)  กลางหมู่บ้านจะใช้เป็นพื้นที่ฆ่าควายเพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้ผีที่พวกเขานับถือ (Schliesinger, 2003)

              ปัจจุบัน บ้านเรือนของชาวบรูได้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมของชาวลาวที่อยู่แวดล้อมและที่พวกเขาปฏิสัมพันธ์ด้วย มีการสร้างบ้านไม้ยกพื้นสูง มีใต้ถุนข้างล่าง มุงหลังคาด้วยสังกะสี ภายหลังเมื่อรับความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ก็เริ่มมีความนิยมสร้างเรือนปูนชั้นเดียว มุงกระเบื้อง หรือบางครั้งก็สร้างเป็นเรือนสองชั้นโดยข้างบนเป็นไม้ และข้างล่างเป็นปูน ลูกหลานของพวกเขาออกมาทำงานนอกหมู่บ้านหรือต่างประเทศจะส่งเงินมาให้ครอบครัวสร้างเรือนแบบสมัยใหม่ ในไทยหมู่บ้านของพวกเขาเป็นคล้ายดังคนลาว/อีสาน แต่ถึงกระนั้นภายในหมู่บ้าน ยังคงร่องรอยการอยู่กันเป็นกลุ่มผีตระกูลของสมาชิก หากต้องการความสะดวกในการดำเนินชีวิตแบบใหม่ พวกเขาจะทำพิธีขอออกจากผี ย้ายเรือนออกมาสร้างใหม่  คนกลุ่มนี้จะยิ่งมีคล้ายคลึงคนลาวทั้งวิถีชีวิตและบ้านเรือน (โปรดดู เกียรติศักดิ์ บังเพลิง, 2558)

  • อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

               ชาวบรูมักบริโภคข้าวเหนียว ใช้ไม้ไผ่หุงข้าวแทนหม้อ โดยใส่ข้าวแช่น้ำและเผาไฟ ไม่ใช้หม้อหุงข้าวแต่ใช้กระบอกไม้ไผ่นำข้าวมาใส่เทน้ำลงแล้วนำไปเผาไฟหุงแทน (Amonier, 2000, p.55) นอกจากนี้ยังมีอาหารประเภทแกง ปิ้ง จี่ ลาบดิบ ก้อย ที่มีรสชาติเผ็ดและเค็ม การปรุงแต่งอาหารมีตะไคร้ ขิง ผักอิคุ อาหารที่พวกเขาบริโภคส่วนมากมาจากธรรมชาติ เป็นต้น  มีปลา เนื้อสัตว์ป่า ผักป่า และอื่น ๆ พวกเขามีอาวุธเป็นดาบ หอก และธนู ปลายลูกศรอาบด้วยยาพิษทำด้วยก้านต้นจลัก (Chlak) ใช้ในการล่าสัตว์ชาวบรูดั้งเดิมในลาวมีวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับอาหารคือ  สัตว์ที่พวกเขาเลี้ยงไว้จะไม่นำมาทำเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน  แต่สัตว์เหล่านั้นใช้เฉพาะในเวลาทำพิธีฮีตคอง คือ บุญลาเปิป  อีกทั้งมีข้อห้ามลูกที่มีผัวหรือเมีย (สะใภ้หรือเขย) ร่วมวงกินข้าวร่วมกับพ่อแม่ ส่วนลูกที่ยังเป็นโสดกินข้าวร่วมกับพ่อแม่ได้ ลูก ๆ ที่มีครอบครัวแล้วจะกินข้าวรวมกันเป็นคู่ ๆ พร้อมด้วยลูกของตน ชนเผ่าบรูมักดื่มเหล้าไห เรียกว่า ซระแอก (Sra Ek) ดื่มน้ำดิบ และมักสูบยาฉุนๆ  (กรมชนเผ่าลาว, 2008, น.56) 

     

  • ประเพณีและเทศกาลสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              ชีวิตของชาวบรูจะถูกหลอมรวมเข้ากับโลกของสิ่งเหนือธรรมชาติหรือผีซึ่งทำหน้าที่คอยควบคุมดูแลชะตากรรมตั้งแต่เกิดจนตาย รวมถึงหลังจากตายไปแล้ว ดังนั้นคนบรูจึงระมัดระวังไม่ทำผิดผี และถ้าหากทำผิดผี ก็จะพยายามหาทางทำให้ผีพอใจด้วยเครื่องเซ่นไหว้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ (Miller, 1971, pp. 62-71) ระบบความเชื่อดังกล่าวก่อให้เกิดพิธีกรรมทั้งในการเปลี่ยนแปลงชีวิตและการทำมาหากิน

     

  • ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

    ลาเปิป

              พิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวบรู คือพิธีลาเปิป การทำพิธีลาเปิปเป็นการบูชาผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นพิธีใหญ่และสำคัญ  ฆ่าควายเพื่อใช้ในการประกอบพิธี มีการกินเลี้ยงแจกจ่ายในหมู่เครือญาติพี่น้อง  พิธีจะถูกจัดตามแต่ละกลุ่มตระกูล ซึ่งจะต้องมีผู้เข้าร่วมคือ เจ้าโคตรหรือเจ้ากกเจ้าเหล่า และเครือญาติทางสายเลือด และโดยเฉพาะเขยของตระกูล เพราะเขยมีบทบาทสำคัญในการจัดงานและการฟ้อนรำบูชาผี  ความศักดิ์สิทธิ์และความยิ่งใหญ่ของพิธีนี้ปรากฏผ่านการจัดงาน เครื่องเซ่นต่าง ๆ ขนาดของควายที่เป็นเครื่องเซ่น และการเลี้ยงแจกจ่ายแก่แขกที่มาร่วม งานที่ยิ่งใหญ่และการแจกจ่ายจำนวนมากยังส่งผลถึงฐานะของเจ้าภาพด้วย (เกียรติศักดิ์ บังเพลิง, 2558)  

              การจัดพิธีนี้มิได้ถูกกำหนดเวลาไว้อย่างตายตัว แต่โดยมากมักจะจัดในเดือน 4 ที่เรือนตระกูล (วินัย, สัมภาษณ์, พ.ค.2559)  บางครั้งอาจอยู่ในช่วงระยะเวลาหลังจากที่ผู้ตายได้ถูกทำฌาปนกิจเสร็จ  บางครั้งก็ทิ้งไปหลายปีแล้วกลุ่มเครือญาติพี่น้องตระกูลตกลงกันจะจัดขึ้น  ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของกลุ่มเครือญาติพี่น้องเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความพร้อมในเรื่องเศรษฐกิจ  บางกลุ่มเครือญาติไม่มีเงินอาจจะต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด  ทั้งนี้ควาย เครื่องเซ่นอื่น ๆ อาหาร หรือเหล้ายา ที่ใช้ในการเลี้ยงแจกจ่ายในการประกอบพิธีกรรมนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาก

              งานจะจัด 3 วัน 3 คืน ในพิธีจะมีการสวดเชิญวิญญาณผีบรรพบุรุษ โดยหมอสวดที่เรียกว่า “หมออัลลอย”  (ผ่านการร่ำเรียนวิชาอาคม รู้คาถาหรือบทสวดในการเชื้อเชิญผี รวมไปถึงปราบผีได้ หมออัลลอยมีน้อย/จำกัดเพราะยุ่งยากในการเรียนและสืบทอดวิชาอาคม รวมถึงต้องรักษาปฏิบัติข้อห้าม (ขะลำ) ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ (เหตุนี้เป็นส่วนหนึ่งทำให้การพิธีลาเปิป ค่อย ๆ หายไปในหมู่ชาวบรู) -อินทร์, สัมภาษณ์, มี.ค.2558) ในพิธีมีการฟ้อนรำและกินเลี้ยง  มีเครื่องดนตรีประโคม  กลางคืนจะมีการอบรม กินน้ำสาบานร่วมกันระหว่างเขย เจ้ากกเจ้าเหล่า และเครือญาติกลุ่มตระกูลเพื่อบอกเตือนกันให้รักษาฮีตคอง รักษากฎระเบียบ ถือเป็นการอบรมสั่งสอนกันระหว่างสมาชิก เขย สะใภ้ให้มีความเคารพเจ้าฮีต พ่อเฒ่าแม่เฒ่า และผู้อาวุโสในตระกูลคนอื่นๆ (วินัย, สัมภาษณ์, พฤษภาคม, 2559)

  • การเกิดของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              สำหรับชาวบรูบ้านเวินบึก มีพิธีกรรมการคลอดบุตรโดยจะสร้าง/กั้นห้องสี่เหลี่ยมไว้สำหรับใช้คลอด ใช้ปูนเขียนใบไม้ (หรือสิ่งอื่นที่คล้ายกัน) เป็นรูปคนติดที่ผนังโดยรอบ (เพื่อกันสิ่งชั่วร้ายเข้ามา) เปิดช่องประตูของห้องที่กันไว้นั้นออกไปทางหน้าบ้าน  ชาวบรูถือว่าช่วงคลอดเป็นช่วงอันตราย คนบรูที่มีคาถาอาคมจะเสกด้ายดำ-แดง-ขาว ผูกข้อมือผู้เป็นแม่เพื่อป้องกันผีร้าย ขณะคลอดจะบอกกล่าวผีที่นับถือให้ช่วยปกปักรักษาคุ้มครอง เมื่อคลอดออกมาแล้วใช้ไผ่รวกหรือไม้เฮี้ยตัดสายสะดือแล้วนำไปฝังที่โพนหรือบริเวณที่ปลวกทำรัง เมื่อออกจากการอยู่ไฟแล้วจะมีการตัดผมจุก เจ้าละโบจะทำพิธีคอบเข้าฮีตคอง  นำเส้นผมของแม่มาพันร่วมกับฝ้ายที่แขนเด็ก  หลังจากนั้นจะมีการฆ่าไก่ดำเพื่อทำการขอขมาหรือสมมาผู้ทำคลอด  ใช้ขนของไก่ชุบเลือดไก่มาทาเท้าของผู้ทำคลอดให้ (หมอตำแย) โดยเชื่อว่าสามารถแก้ตาฟาง ไม่ให้เหม็นกุยเหม็นคาว  หลังจากนั้น เจ้าฮีตจะทำพิธีคอบเข้าผีตระกูล  ใช้เครื่องในพิธีได้แก่ ดอกไม้หนึ่งคู่ ข้าวสารหนึ่งกำ เทียนเล็ก 1 เล่ม  และไก่หนึ่งตัว  ไก่จะถูกฆ่าแล้วตัดหัวมาจ้ำทาที่พื้นตูบผีบรรพบุรุษ พร้อมบอกกล่าวให้ผีบรรพบุรุษรับรู้ ให้ปกปักรักษาเด็กให้แข็งแรง เป็นเรี่ยวเป็นแรงของครอบครัว ( อ้างใน ยุพา อุทามนตรี, 2539)

     

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              เมื่อผู้ชายอายุโดยเฉลี่ย 15 ปี ชอบพอหญิงสาว (กรมชนเผ่าลาว, 2008; Schliesinger, 2003) เขาจะไปเกี้ยวพาราสีที่เรือน ชายที่พบหญิงสาวในยามราตรีจะใช้เท้าเตะฝากั้นห้องหญิงสาวและพ่อแม่ 3 ครั้ง เพื่อเตือนให้รู้ว่าไม่ใช่ขโมย ถ้าไม่เช่นนั้นอาจถูกทำร้ายถึงตายได้โดยไม่มีโทษ ฝ่ายพ่อแม่เมื่อรู้อย่างนั้นแล้วก็จะหลับต่อ โดยคิดว่าหนุ่มสาวต้องผ่านการเกี้ยวพาราสีกันแบบนี้ เช่นเดียวกับที่สมัยตนเองเป็นหนุ่มสาว นอกจากนี้ คู่รักอาจจะออกมาพบกันในสถานที่ทำงานภายนอก บางครั้งก็มาพบกันที่ศาลาหมู่บ้านหรือกระท่อมเล็กนอกหมู่บ้าน หลังจากนั้นเมื่อทั้งสองแน่ใจต่อกันแล้ว ผู้ชายจะให้พ่อแม่และผู้อาวุโสตระกูลไปสู่ขอและนัดหมายวันที่จะแต่งงาน (กรมชนเผ่าลาว, 2008, 57) พ่อแม่และลุงของฝ่ายหญิงมีอำนาจเด็ดขาดในการตกลงในการแต่งงาน ทางฝ่ายชายจะต้องจัดพิธีแต่งงานตามที่ตกลงไว้อย่างเข้มงวด ซึ่งสินสอดจะต้องส่งมอบแก่พ่อแม่หรือลุงของผู้หญิง (Schliessinger, 2003) การแต่งงานจัดขึ้น 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เรียกว่า แต่งงานน้อย ครอบครัวและเครือญาติทั้งสองฝ่ายจะทำการเฉลิมฉลองการแต่งงานด้วยการทานอาหาร ชิ้นหมู ดื่มเหล้า พูดคุยกัน 1 วัน 1 คืน ฝ่ายหญิงจะเข้ามาเป็นสมาชิกของวงศ์ตระกูลของฝ่ายชายด้วยการประกอบพิธีคอบเข้าผีวงศ์ตระกูล และครั้งที่ 2 เรียกว่า แต่งงานใหญ่ ช่วงระหว่าง 5-10 ปี จะมีการทำพิธีแต่งงานใหญ่ เชื้อเชิญญาติพี่น้องมาร่วมงาน เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว หากฝ่ายชายได้ส่งสินสอดหรือค่าดองครบ ก็สามารถพาภรรยาไปอยู่เรือน แต่กรณีใช้ค่าสินสอดไม่ครบตามจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้ ก็ต้องเป็นเขยสู่ (อยู่ในตระกูลภรรยา) 3 ปี (กรมชนเผ่าลาว, 2008 , น.57) ตามจารีตประเพณีบรูมีการยินยอมให้ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคนเท่าที่เขาสามารถเลี้ยงดูได้ แต่ส่วนใหญ่จะมีเพียงคนเดียว  

  • การตายและการทำศพของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              เมื่อเกิดกรณีคนเสียชีวิตจะเอาผ้าขาวหรือผ้าดำห่อศพแล้วใส่โลง แล้วหามศพไปฝัง จ้ำขวัญคนตายให้เป็นผีเรือน แล้วใส่ฝากะแตะหามไปฝังอยู่ป่าช้าในตอนเช้า ในกรณีตระเตรียมทันก็ทำลาเปิปในวันที่ 2 (ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเครือญาติ) ส่วนคนตายผิดปกติหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าตายโหงถ้าหากตายอยู่ที่ใดต้องฝังอยู่ที่นั้น ไม่สามารถนำเข้ามาบ้านได้ ส่วนเครื่องสิ่งของจะมอบให้คนตายนั้นมีบางครั้งก็ฝังร่วมกับศพ บางครั้งก็เอาไว้ข้างนอก (กรมชนเผ่าลาว, 2008)  ปัจจุบันนี้ ชาวบรูบ้านเวินบึก ยังมีการจัดพิธีกรรมเกี่ยวศพผ่านความเชื่อดังกล่าวอยู่ กล่าวคือ หากตายนอกหมู่บ้าน ไม่ว่าจะตายตามปกติ เช่นตายที่โรงพยาบาล หรือตายแบบไม่ปกติ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ตายโหง นั้นจะห้ามมิให้นำศพเข้ามาในหมู่บ้าน (รวมถึงกระดูกคนตายด้วย) จะต้องฝังไว้ที่ป่าช้าอีกแห่งหนึ่งต่างหาก (กรณีเช่นนี้ หมู่บ้านยังมีข้อห้ามอีกหลายอย่างที่ห้ามมิให้เข้ามาในหมู่บ้าน เช่น เรือภายนอกชุมชน  ศพคนนอกชุมชน อัฐิของคนนอกชุมชน ซึ่งแสดงความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนผ่านความเชื่อ) ส่วนผู้ที่ตายตามปกติในหมู่บ้านจะได้รับการทำพิธีศพในหมู่บ้านได้ (ปัจจุบันใช้วิธีเผา แต่ในอดีตใช้วิธีฝัง)  ทั้งสองกรณีนั้นเมื่อนำศพไปเผาหรือฝังจะมีการใช้ไข่เสี่ยงทาย หาบริเวณที่เผา/ฝังศพ  นำเอาไข่ดิบ มาโยนลงพื้น โยนไปเรื่อยๆ  เมื่อตกแล้วแตกจุดใด  ถือว่าผีหรือคนตายเลือกจุดนั้น ก็จะก่อเชิงตะกอนสำหรับเผาศพหรือขุดหลุมฝัง ลักษณะเช่นนี้ทำให้หมู่บ้านมีป่าช้าแยกกันสำหรับประกอบพิธี เช่น ป่าช้าดอนทะนี สำหรับจัดพิธีกรรมศพที่ห้ามเข้าหมู่บ้าน และป่าช้าดอนจิก สำหรับจัดพิธีศพในหมู่บ้านทั่วไป

  • ประเพณีเลี้ยงผีของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              คนบรูชอบบวงสรวงผีเทพาอารักษ์และวิญญาณบรรพบุรุษ  ช่วงเดือน 3 จะมีพิธีพิธีเลี้ยงผีซึ่งอาจเป็นงานปีใหม่ (จางะ) ของพวกเขา (Amonier, 2000) เรียกว่า เลาะอัยยะกะไซไปร เป็นการเลี้ยงผีก่อนเตรียมแปลงดิน เกี่ยวหญ้าคา ถางหญ้า  ช่วงเดือน 6 จะมีพิธีเลี้ยงผีเรียกว่า เลาะอัยยะกะไซตะปัด เป็นการเลี้ยงผีก่อนทำนา หรือเพาะปลูกผลผลิต  ประมาณเดือน 12 จะมีพิธีเลี้ยงผีเรียกว่า จาโดยตะไม เป็นการเลี้ยงผีก่อนการเกี่ยวข้าวหรือเก็บเกี่ยวผลผลิต  ในแต่ละช่วงตามที่กล่าวมา ชาวบรูถือว่าจะต้องจัดพิธีก่อน ถ้าไม่ทำ จะถือว่าผิดผี จะได้รับการลงโทษให้รับการเจ็บป่วย ผลผลิตเสียหาย ไม่อุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงมีอาเพศเหตุร้ายเกิดขึ้น

     

    การเลี้ยงผีเดือน 3

     

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              กาบอร์ วาชิยาส (Vargyas, 1996, p.117-119) ชาวฝรั่งเศสที่ได้ศึกษาชาวบรูในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในพื้นที่รอยต่อของเวียดนามและลาว วาชิยาส พบว่า เยียง (Yiang Su) เป็นผีที่ชาวบรูนับถือ แบ่งออกเป็นสองอย่าง คือ เยียง ขนีค (Yiang Kaneaq) และ เยียง ซู (Yiang Su)  เยียง ขนีค เป็นผีบรรพบุรุษ ทำหน้าที่คุ้มครองและดูแลชาวบรูในเรือนตระกูล  ส่วนเยียง ซู (Yiang Su) เป็นผีใหญ่ที่มีอำนาจอยู่ตามป่าเขาทำหน้าที่ควบคุมผืนดิน ป่า และธรรมชาติ ระบบความเชื่อผีทั้งสองนี้ทำให้สังคมบรูมีการจัดตั้งองค์กรทั้งทางพื้นที่และสังคมวัฒนธรรม ซึ่งวาชิยาส (Vargyas, 1996, p.126) ตีความว่า เป็นศาสนาผีของชาวบรู มีระดับความแตกต่างสัมพันธ์กัน 

              ระบบความเชื่อผีที่วาชิยาสกล่าวไว้นี้ มีลักษณะสอดคล้องกับชาวบรูที่ผู้วิจัยศึกษา เพียงแต่ผีที่มีอำนาจใหญ่สุดของชุมชนจะมีชื่อเรียกต่างกันไป แต่ละหมู่บ้านมีชื่อเรียกผีของตนเองซึ่งสัมพันธ์กับสถานที่ที่เชื้อเชิญมาเช่น บ้านเวินบึกเรียกผีสูงสุดของตนเองว่า อัยยะจำนัก ส่วนบ้านท่าล้งเรียกผีสูงสุดว่า อัยยะขะนาว  แต่ระดับความสัมพันธ์เชิงอำนาจไม่แตกต่างกันคือแบ่งเป็นผีบรรพบุรุษมีอำนาจเป็นใหญ่ในตระกูล และผีสูงสุดมีอำนาจเป็นใหญ่ในชุมชน ผืนป่า ภูเขาและธรรมชาติ

             สำหรับบ้านเวินบึก  ผีสูงสุดจะอยู่บนภูห้วยเหลา ด้านตะวันออกของหมู่บ้าน ประจำอยู่ที่ตูบน้อยใต้ตนเหมือดแอ บนยอดเขา การเลี้ยงบ้านทุกครั้งชาวบรู (จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะช่วยเพียงเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ในเรือน) จะแบกหามเครื่องพิธีต่างๆ ขึ้นภูมาประกอบพิธีที่ตูบผีใต้ต้นเหมือดแอ  ส่วนผีบรรพบุรุษ จะอยู่ที่ตูบน้อยใกล้เรือนตระกูล พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษจะถูกประกอบขึ้นที่ตูบนี้

  • ข้อห้าม ข้อปฏิบัติของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              ความเชื่อผีของชาวบรูในระดับต่าง ๆ มีผลในการควบคุม กำกับและดูแลวิถีชีวิต ปรากฎออกมาเป็นกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งชาวบรูเรียกว่า “รี๊ต” (ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับ “ฮีตคอง” หรือจารีตประเพณีของชาวอีสาน/ลาว)  การทำผิดรี๊ตจะส่งผลต่อความเจ็บป่วยหรือการตายโดยไม่จำกัดเฉพาะต่อผู้ทำผิด แต่ญาติพี่น้องหรือสมาชิกตระกูลคนอื่นอาจถูกลงโทษแทน ด้วยเหตุนี้ ชาวบรูจึงเกรงกลัวผี เคารพ รักษา และปฏิบัติตามฮีตครองอย่างเคร่งครัด (Miller, 1971) เพื่อไม่ใช้ผิดผีและถูกผีลงโทษ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง สมาชิกแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบคนอื่น เครือญาติและชุมชน ด้วยลักษณะนี้ สังคมของชาวบรูจึงให้ความสำคัญกับความเป็นกลุ่มมากกว่าความเป็นปัจเจก

     

  • ดนตรีและศิลปะการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              ชาวบรูมีกฎข้อห้าม การตีฆ้องร้องป่าวแม้แต่การเล่นบันเทิง ดื่มกินโดยทั่วไป ในหมู่บ้านไม่เคยมีหมอลำหรือการตีกลองละเล่นเลย จนกระทั่งสมัยหลัง ที่รับเอาวัฒนธรรมลาวเข้ามาซึ่งชาวบรูได้ทำพิธีขอ และต่อรองผีมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันนี้ มีการละเล่น หมอลำ และการแสดงวัฒนธรรม

              ในช่วงหลัง ทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา การพัฒนาการท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐมีความเข้มข้นในพื้นที่อำเภอโขงเจียมที่มีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรมมากมาย การแสดงวัฒนธรรมของบรูได้รับการประดิษฐ์สร้างร่วมกันกับคนนอกหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อนำเสนออัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชนเผ่าบรูเช่น การรำ ชุดแต่งกายประจำกลุ่ม เพลงทั้งเนื้อร้องและทำนอง เป็นที่สังเกตว่า ผลจากการประดิษฐ์สร้าง ทำให้รายละเอียดทางวัฒนธรรมเกิดการตีความหรือนิยาม และประกอบสร้างแตกต่างกัน เช่น ชุดแต่งกายชาวบรูสองหมู่บ้านของท่าล้งและบ้านเวินบึก มีลักษณะแตกต่างกัน แต่ก็ถูกนำออกแสดงเพื่อบ่งบอกอัตลักษณ์ความเป็นบรู

     

     

     

  • เครื่องดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              เครื่องดนตรีสมัยก่อนของชาวบรูมีเพียงปะเนาะหรือกะบั้ง (ลำไม้ไผ่เจาะรู) ที่มีไว้เคาะเมื่อทำพิธีเลี้ยงผี เคาะเดินวนรอบหอผีในพิธี พร้อมตีปะเนาะเคาะกระบั้งไปด้วย  เจ้าละโบ (อะจวยละโบ) หรือเจ้าฮีต (อะจวยรี๊ต) จะเชิญผีมารับเครื่องเซ่นคือควาย เดินวนครบสามรอบแล้วจึงฆ่าควาย  ด้วยเหตุนี้การเคาะหรือตีกระบั้งจะมีส่วนสัมพันธ์กับผี  โดยทั่วไปจึงห้ามมิให้มีการตีเคาะเล่นนอกพิธี ถ้าตีถือว่าเรียกผี ถ้าผีมาแล้วไม่ได้กินควายจะโกรธและอาจลงโทษได้ (สมใจ,สัมภาษณ์,2558)

     

  • เรื่องเล่า/ตำนาน/วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              ท้าวคำหล้า (สัมภาษณ์,2558) ผู้อาวุโส ชาวบรูบ้านลาดเสือ (มาตุภูมิของบรูฝั่งไทย) ได้เล่าตำนานเกี่ยวกับกำเนิดของบรูว่า บรูหรือข่านั้นถือเป็นต้นกกหรือคนพวกแรก เป็นพี่คนโตสุดเกิดมาจากหินหรือป่าเขา คนลาวนั้นเกิดมาจากน้ำเต้าปุ้ง ตอนออกมาได้ยื้อแย่งกันออกมาทำให้จกตากันบอด  บางพวกก็ปากหงิกปากง่อย   คนที่ออกมาก่อนเป็นพี่ คนหลังเป็นน้อง แต่แย่งกันออกมาจึงไม่สมบูรณ์ทำให้พิกลพิการต่างๆ เหมือนในทุกวันนี้ 

              สมใจ ศรีหล้า ได้ศึกษาชาวบรูแถบจังหวัดหนองคายพบว่าชาวบรูมีความเชื่อเรื่องตำนานกำเนิดมนุษย์ โดยทั้งชาวบรู ลาว พวน ภูไท เป็นพี่น้องกันออกมาจากน้ำเต้าปุง บรูเป็นอ้ายกก หรือพี่ชายคนโต ลาวเป็นน้องคนที่สอง พวนเป็นคนที่สามและภูไทเป็นน้องคนสุดท้อง (สมใจ ศรีหล้า, 2550, น.93-94)   ภายใต้ความเชื่อเช่นนี้ทำให้เกิดความแตกต่างทางสถานะและทัศนะระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ เช่นกลุ่มภูไทที่อยู่ร่วมกับชาวบรูได้มีทรรศนะในทางลบต่อพวกเขาว่าเป็นข่า เป็นพี่ที่ต้องรับใช้น้อง

              ชาวบรูบ้านเวินบึกเล่าให้ฟังว่า ข่าบรูกับลาวออกไปล่าสัตว์ด้วยกัน วันหนึ่งทั้งสองล่าสัตว์ร่วมกันได้จำนวนมาก  ไม่สามารถแบ่งกันได้ จึงตกลงกันว่า จะยิงธนูแข่งกัน ถ้าคนใดยิงธนูไปปักที่หน้าผาได้ คนนั้นชนะแล้วจะได้ส่วนแบ่งที่มากไป ข่ายิงก่อน ธนูของเขาถูกยิงออกไปกระทบหน้าผาร่วงลงมา ขณะที่ข่ากำลังยิงธนูอยู่นั้น ลาวก็ได้เอายางไม้ติดที่ปลายธนู เมื่อถึงคราวที่ลาวยิง ธนูของเขาก็สามารถปักติดกับหน้าผาได้  ลาวจึงได้ส่วนแบ่งที่มากกว่าไป คนบรูที่เล่าเรื่องนี้พยายามที่จะบอกว่า บรูนั้นเป็นข่า เป็นคนซื่อ ขณะที่ลาวนั้นเป็นคนบ่ซื่อ (กิ, สัมภาษณ์, 2558)

              อย่างไรก็ตาม ตำนานและความเชื่อของชาวบรูถือได้ว่ามีลักษณะร่วมกับตำนานน้ำเต้าปุ้งที่พบแพร่หลายในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แต่การเล่าเรื่องและรายละเอียดอาจจะมีความแตกต่างกันไป โดยโครงเรื่องหลักของตำนานก็คือ มีผลน้ำเต้าปุ้งใบใหญ่ ภายในผลน้ำเต้านั้นมีชนอยู่มากมาย ปู่ลางเชิงเอาเหล็กแดงมาไซ ผู้คนเบียดเสียดกันออกทำให้มีผิวดำ  (จารุวรรณ ธรรมวัตร, 2528)ปู่ลางเชิงเอาสิ่วเจาะรูใหม่ให้ใหญ่ขึ้น คนพวกที่ออกทางรูสิ่วจึงมีผิวขาวกว่า  แต่นั้นปู่ลางเชิงจึงบอกสอนให้ทำไร่ทำนา  ทอผ้าเพื่อเลี้ยงชีวิต แล้วจัดแบ่งให้เป็นครอบครัวผัวเมีย สร้างบ้านเมือง มีลูกหลานสืบต่อ  (จิตร ภูมิศักดิ์, 2544, น. 317)

  • ตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

       

  • สถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

              กลุ่มชาติพันธุ์บรูมีโครงสร้างทางวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แต่เมื่อเข้ามาอยู่ภายใต้รัฐไทย ทำให้ต้องเผชิญกับอำนาจรัฐและเงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ส่งผลต่อโครงสร้าง อัตลักษณ์เดิมของคนบรูถูกปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไขที่สัมพันธ์กัน 3 ประการ 1) อำนาจรัฐที่ได้ครอบทับเข้ามาหรือหลอมรวมให้เป็นพลเมืองของรัฐชาติ 2) โครงสร้างวัฒนธรรมลาวที่ใหญ่กว่าที่พวกเขาปฏิสัมพันธ์ด้วยได้แทรกเข้ามาผสมผสานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบรู 3) ชุมชนหมู่บ้านของชาวบรูถูกพัฒนาตามนโยบายรัฐและการเข้ามาของความเจริญต่าง ๆ ได้ครอบงำวิถีชีวิตของชาวบรูให้รับกับสิ่งใหม่ ๆ เชื่อมต่อสังคมบรูกับภายนอก ความรู้สึกนึกคิดและต่อสู้ดิ้นรนการทำมาหากิน ทำให้ชาวบรูต้องดิ้นรนกับวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่หลากหลายออกมาเป็นแรงงานนอกหมู่บ้าน แต่งงานกับคนต่างถิ่น เดินทางเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่และพรมแดน การปรับตัวตามเงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้ อัตลักษณ์และโครงสร้างทางวัฒนธรรมความเป็นบรูที่มีลักษณะเฉพาะก็ถูกปรับเปลี่ยนพลวัตไปตามเงื่อนไขและสถานการณ์

     

  • การเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่ประสบอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์บรู :

             การเปลี่ยนศาสนา

             การเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐและความเปลี่ยนแปลง ชาวบรูได้ปรับตัวและต่อรองไปตามเงื่อนไข โดยมีการปรับเปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิม หันมารับพุทธศาสนาและวัฒนธรรมลาว คือ การคืนฮีต ตรงกับภาษาบรูว่า "ล่ะละรี๊ต"  เป็นการยกเลิกกฎเกณฑ์ รูปแบบหรือฮีต ที่เคยยึดถือปฏิบัติมาในตระกูล การคืนฮีตจะขอออกจากความเชื่อผีตระกูล เพราะผีเชื่อมโยงกับฮีต เมื่อออกจากผีแล้วก็ถือว่าเป็นอันยกเลิกกฎเกณฑ์หรือฮีตด้วย การคืนมักจะทำเป็นครอบครัว และมีกฎว่าจะต้องย้ายออกไปให้ห่างจากอาณาบริเวณกลุ่มตระกูล (จุมรี๊ต)

              การคืนฮีตเป็นการออกจากการนับถือผีตระกูล แต่ "ผีสูงสุด" (จำนัก) พวกเขายังเคารพและนับถืออยู่ ผีจำนักยังถูกเคารพเป็นหลักบ้านเหมือนเดิม ซึ่งควบคู่ไปกับการนับถือพุทธศาสนา การที่ผียังถูกรักษาไว้ได้ เนื่องจากพุทธศาสนาแบบท้องถิ่น (ประเพณีลาว) มีพื้นที่บางส่วนต่อการธำรงอยู่ของ "ผี" ชาวบรูจึงปรับผีสูงสุดของตนเองให้ธำรงอยู่เสมือน "ผีปู่ตา" หรือ "ผีหลักบ้าน" แบบคนลาว

              ภาษาเดิมที่กำลังสูญหาย

              ภายใต้รัฐไทย ชาวบรูได้รับการศึกษาวัฒนธรรมไทยและภาษาไทย ได้รับการอบรมและขัดเกลาให้มีสำนึกของความเป็นไทย กลไกของรัฐได้ส่งผลกระทบต่อ "ภาษาบรู" นอกเหนือจากนั้น การปฏิสัมพันธ์กับคนไทยอีสานที่อยู่รายล้อมทำให้ชาวบรูปรับรับภาษาท้องถิ่น คือ ภาษาลาว พร้อมกับรับวัฒนธรรมด้วย ในระยะหลังลูกหลานส่วนหนึ่งไม่สามารถพูดภาษาตัวเองได้

              การอพยพเข้ามาทำงานในเมือง

              ในบริบทของกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทาบทับไปทั่วอาณาบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งเมือง ชนบทและพื้นที่ห่างไกลหรือชายขอบ กลายเป็นสภาวะไร้พรมแดน (Deterritorialization) (Appadurai, 2008, p. 50)    ผู้คนมิได้อยู่ติดตำแหน่งแห่งที่ หากแต่สามารถเดินทางเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่าง ๆ  ลูกหลานชาวบรูได้เดินทางออกนอกหมู่บ้านไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อหางานทำ ส่งเงินกลับบ้านเพื่อให้พ่อแม่สร้างเรือนหรือยกสถานะทางเศรษฐกิจ ปรากฏการณ์นี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ   กล่าวเฉพาะชาวบรูในเขตอำเภอโขงเจียม นอกจากกระแสความเปลี่ยนแปลงและแรงปรารถนาดังกล่าวแล้ว ยังถูกบีบด้วยเงื่อนไขของนโยบายรัฐด้วยการประกาศพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติครอบทำพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบรู ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต พวกเขาจึงต้องดิ้นรนออกมาเป็นแรงงานนอกหมู่บ้านมีส่วนทำให้วัฒนธรรมและความเจริญภายนอกเข้ามาส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้าน

     

Access Point
No results found.

วิถีชีวิตของชาวบรูที่บ้านท่าล้งและบ้านเวินบึก สัมพันธ์กับแม่น้ำโขง ดำรงชีวิตร่วมกับวิถีแห่งแม่น้ำทั้งการหาปลา การทำเกษตรริมฝั่ง แม้ชาวบรูจะสร้างบ้านเรือนเป็นหมู่บ้านตามริมแม่น้ำ แต่ก็ขึ้นภูเขาไปทำไร่ในช่วงฤดูเพาะปลูก มีอาณาบริเวณกำหนดเฉพาะรับรู้กันว่าเป็นของกลุ่มตระกูล (จุมรี๊ต) นอกจากการทำเกษตรแล้วชาวบรูบ้านเวินบึกยังเก็บของป่าล่าสัตว์เพื่อยังชีพ