2023-06-17 11:38:49
ผู้เข้าชม : 560

โอก๋อง จากการสันนิษฐานผ่านภาษาและการบอกเล่าของผู้อาวุโส พบว่า ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวโอก๋อง อยู่ใกล้กับพื้นที่ชายแดนไทย - เมียนมา อพยพเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงสงครามไทยรบพม่า ได้ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดสุพรรณบุรีและอุทัยธานี วิถีวัฒนธรรมของชาวโอก๋องในอดีตประมาณ พ.ศ.2500 ส่วนใหญ่มีการดำรงชีพด้วยการทำการเกษตรแบบยังชีพ  การล่าสัตว์หาของป่า และการทำไร่หมุนเวียน หลังจากปี 2500 - ปัจจุบัน ชาวโอก๋อง มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพเน้นการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด พริก ละหุง ฝ้าย ตามการส่งเสริมจากหน่วยงานรัฐ ด้านประเพณีความเชื่อ ยังคงมีพิธีกรรมการไหว้ผีเจ้าบ้านที่ยังมีการปฏิบัติกันเป็นประจำทุกปี 

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : โอก๋อง
ชื่อเรียกตนเอง : โอก๋อง, อุก๋อง, ก๋อง, ก๊อง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ละว้า, ลัวะ
ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต
ตระกูลภาษาย่อย : ทิเบต-พม่า
ภาษาพูด : โอก๋อง
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

โอก๋อง เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง ในขณะที่ชื่อที่ถูกเรียกโดยหน่วยงานราชการและคนทั่วไปในท้องถิ่นจะเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ละว้า” ชื่อของชาวโอก๋องมีความซับซ้อนในการออกเสียงและการใช้อักษรไทยในการสะกด ชาวโอก๋องจึงมีชื่อเรียกที่หลากหลาย ได้แก่ โอก๋อง อุก๋อง ก๋อง ก๊อง อย่างไรก็ตาม ชื่อเหล่านี้เกิดจากความเข้าใจของนักวิชาการแต่ละคนที่เข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่และแปลความแตกต่างกันออกไป ขณะที่ชื่อเรียก “ละว้า” เป็นชื่อที่หน่วยงานราชการ และบุคคลทั่วไปในท้องถิ่นใช้เรียกพวกเขามายาวนานจนกลายเป็นความเคยชินและยอมรับชื่อดังกล่าวไปโดยปริยายในระยะหลังชื่อละว้าได้ถูกใช้เป็นชื่อในการแนะนำตนเองต่อบุคคลภายนอกที่เข้ามาในพื้นที่มากกว่าชื่อโอก๋อง อย่างไรก็ตาม ชุมชนมีกระบวนการรื้อฟื้นอัตลักษณ์และวัฒนธรรม และพยายามใช้ชื่อเรียกของตนเองมากขึ้น แม้ว่าสังคมท้องถิ่นยังคุ้นชินกับชื่อเรียกละว้า แต่เป็นเรื่องที่ดีหากในแวดวงวิชาการจะหันมาใช้ชื่อเรียกกลุ่ชาติพันธุ์ตามชื่อที่พวกเขาใช้เรียกตนเอง

ในประเทศไทยพบชาวโอก๋องหรือละว้า ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี ในพื้นที่บ้านกกเชียง และบ้านวังควาย จังหวัดอุทัยธานี ในพื้นที่บ้านคอกควาย อำเภอห้วยคต ทั้งสามหมู่บ้านมีระยะทางที่ห่างไกลกัน ทั้งนี้ ตามประวัติศาสตร์ สันนิษฐานได้ว่า เดิมชาวโอก๋องอาจตั้งถิ่นฐานใกล้กับเขตแดนไทย-พม่า และอาจเข้ามาพร้อมกับสงครามไทยกับพม่าช่วงสมัยใดสมัยหนึ่ง ทั้งการกวาดต้อนของกองทัพไทยเพื่อใช้ทรัพยากรคนและเก็บภาษี หรือการอพยพเข้ามาในช่วงสงครามไทยรบกับพม่า ที่โดยสันนิษฐานว่าพวกเขาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ประมาณ 200 ปี ที่พบการสืบสายบรรพบุรุษของชาวบ้านในชุมชนบ้านกกเชียง ที่มีต้นกำเนิดมาจากบ้านหนองปรือ ตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ก่อนที่จะอพยพโยกย้ายขึ้นมาทางด้านเหนือ และตั้งชุมชนในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน

ปัจจุบันวิถีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชาวโอก๋องได้ถูก กลืนกลายกับคนท้องถิ่นทั้งชาวไทยและชาวลาวครั่ง คงเหลือเพียงร่องรอยของอัตลักษณ์ทางภาษาที่ผู้สูงอายุยังคงใช้ในการสื่อสาร รวมถึงพิธีไหว้ผีเจ้าบ้านที่ยังคงถือปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำทุกปี พิธีกรรมดังกล่าวมีความสำคัญในมิติของการรวมเครือญาติที่กระจัดกระจายออกไปต่างถิ่นเพื่อกลับมาพบปะกันในถิ่นฐานดั้งเดิม พิธีกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและหน่วยงานด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมในการรื้อฟื้น อัตลักษณ์ด้านการแต่งกายพื่อนำเสนอต่อสาธารณะชนให้รู้จัก และเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมของชาวโอก๋องมากยิ่งขึ้น

ใน ค.ศ.1927 A.F.G. Kerr เป็นผู้ค้นพบภาษาโอก๋องคนแรก ในขณะนั้นเรียกว่า ละว้า ภาษาละว้ากลุ่มนี้มีความแตกต่างจากภาษาละว้ากลุ่มอื่นๆ ต่อมาใน ค.ศ. 1978 David Bradley นักภาษาศาสตร์ชาวออสเตรเลียได้เดินทางมาศึกษาภาษาโอก๋องที่จังหวัดสุพรรณบุรีและอุทัยธานี

ในด้านประวัติศาสตร์ของชาวโอก๋องบ้านกกเชียงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ยุค คือ ยุคแรก ก่อนการตั้งหมู่บ้านกกเชียง และ ยุคที่สอง หลังการตั้งหมู่บ้านกกเชียง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ยุคแรก ยุคก่อนการตั้งหมู่บ้านกกเชียง

จากเอกสารสารานุกรมชาติพันธุ์ก๊อง (อุก๋อง) สันนิษฐานว่า ชาวโอก๋องมีการอพยพพร้อมกับการกวาดต้อนของกองทัพไทยเพื่อให้สามารถเรียกเก็บภาษีได้สะดวกมากขึ้น หรือเป็นการกวาดต้อนเข้ามาเพื่อต้องการทรัพยากรคน คาดการณ์ว่าชาวโอก๋องเข้ามาตั้งถิ่นฐานประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี เคลื่อนย้ายมาที่สุพรรณบุรีและอุทัยธานี (มยุรี ถาวรพัฒน์, 2539: 5)

ในขณะที่งานศึกษาของสุริยา รัตนกุล สันนิษฐานว่า “ละว้า” กลุ่มนี้อาจอพยพมาพร้อมกับสงครามที่ไทยรบกับพม่าในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ เนื่องจากในพงศาวดารพม่าได้กล่าวว่า ใน พ.ศ. 2156 ละว้าได้ช่วยพระอนุชากษัตริย์พม่าที่เรือล่มบริเวณตอนต้นแม่น้ำแม่กลอง ต่อมา พ.ศ.2157 ชาวละว้าได้ช่วยฝ่ายพม่าชี้ทางให้กองทัพพม่าที่ยกมาจากเมืองมะละแหม่งเข้าตีเมืองเชียงใหม่ (มยุรี ถาวรพัฒน์, 2558: 15)

ในส่วนของงานศึกษาของ David Bradley ให้สันนิษฐานได้ว่า ชาวโอก๋องเดิมอยู่บริเวณแม่น้ำแควใหญ่และแควน้อย ในอำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นจึงเคลื่อนย้ายมาทาง จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอุทัยธานี สอดคล้องกับงานศึกษาของมยุรี ถาวรพัฒน์ (2558: 15) ได้ทำการศึกษาผ่านภาษาและจากการบอกเล่าของผู้อาวุโสชาวโอก๋อง พบว่า ชาวโอก๋องที่บ้านหนองปรือ ตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบรรพบุรุษของชาวโอก๋องที่บ้านวังควาย และบ้านกกเชียง สาเหตุที่มีการอพยพจากบ้านวังควายมาที่บ้านกกเชียง เนื่องจากมีไข้ป่าและโจรผู้ร้ายชุกชุม

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่า เดิมชาวโอก๋องตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้กับพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า และอาจอพยพเข้ามาในช่วงสงครามไทยกับพม่าช่วงสมัยใดสมัยหนึ่ง

ยุคที่สอง ยุคหลังการตั้งหมู่บ้านกกเชียง

หมู่บ้านกกเชียงเป็นที่รับรู้ของทางการสยามมาตั้งแต่ พ.ศ.2453 โดยมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ นายมา แสนเงิน ในส่วนพัฒนาการของหมู่บ้าน แบ่งออกเป็น 4 ช่วง คือ ยุคบุกเบิก ยุคเริ่มพัฒนา ยุคพัฒนา และยุคปัจจุบัน (ฉวีวรรณ ศิริปิมา และคณะ, 2552) โดยมีรายละเอียดดังนี้

ยุคบุกเบิก เดิมชาวโอก๋องบ้านกกเชียงอาศัยอยู่ที่บ้านวังควาย จากนั้นได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านกกเชียง เพราะเกิดโรคระบาด และมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ชาวโอก๋อง 3 ครอบครัว คือ ครอบครัวของนายเป พร้อมด้วยภรรยาและลูก 3 คน และครอบครัวนายแดงและนายกึกกับภรรยาและลูก 2 คน จึงตัดสินใจพาครอบครัวออกจากบ้านวังควายเดินทางไปตามเส้นทางสัญจรของคนสมัยนั้น ผ่านเขาปักหมู จนกระทั่งมาพบกับทำเลที่ดีมีต้นเชียงใหญ่ขนาด 4 คนโอบบริเวณกลางลำห้วย และพื้นที่เหมาะสมกับการทำมาหากิน จึงได้มีการตั้งถิ่นฐานบริเวณดังกล่าว จากนั้นบุคคลอื่นจึงอพยพตามมา จนกลายเป็นหมู่บ้าน ต่อมาหน่วยงานราชการจากอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี (ในอดีตขึ้นกับอำเภอด่านช้าง มีฐานะเป็นตำบลในอำเภอเดิมบางนางบวช) เพื่อสำรวจหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงยกให้นายเปเป็นผู้ใหญ่บ้าน และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ละว้ากกเชียง” ต่อมานายเปซึ่งอยู่ในวัยสูงอายุ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต้มศักยภาพจึงแต่งตั้งให้นายทองลัก ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้านแทน

พลวัตการอพยพการตั้งถิ่นฐานของชาวโอก๋องได้ปรากฎผ่าน งานไหว้ผีหมู่บ้าน โดยในพิธีจะมีการบูชาเจ้าพ่อภูเขา 4 องค์ หนึ่งในนั้นมีอยู่องค์หนึ่ง คือ เขาขมวย เป็นภูเขาที่ตั้งอยู่ที่บ้านวังควาย นอกจากนี้ นายเตย แสนเงิน ยังเล่าว่าในอดีตชาวโอก๋องบ้านกกเชียงจะเดินทางไปเยี่ยมญาติที่หมู่บ้านวังควายเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่ว่างจากการทำงาน ใช้เวลาเดินจากบ้านกกเชียงไป 1 วัน 1 คืน (เตย แสนเงิน, 2558: สัมภาษณ์)

ยุคเริ่มพัฒนา ในช่วงปี 2480-2500เป็นช่วงที่เริ่มมีชาวลาวครั่ง และชาวไทยเข้ามาในชุมชนเพื่อค้าขาย และยังมีการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมทำให้ชาวโอก๋องสามารถพูดภาษาลาวได้ ในช่วงเวลานั้นผู้ใหญ่ทองลักได้จัดให้บ้านของชาวลาวครั่งอยู่บริเวณรอบนอกหมู่บ้าน เรียกว่า บ้านกกเชียงน้อย ซึ่งอยู่บริเวณหน้าฝายกั้นน้ำหน้าโรงเรียนกกเชียงในปัจจุบัน ส่วนบ้านของชาวโอก๋องตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน

ต่อมาประมาณปี 2500-2510 บ้านกกเชียงได้กลายเป็นพื้นที่หลบซ่อนของโจรชาวไทยที่เคยยกพวกไปปล้นบ้านชาวกะเหรี่ยงหลายครั้ง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงไม่พอใจ และยกพวกมาแก้แค้นที่บ้านชาวโอก๋อง ทำให้มีชาวโอก๋องเสียชีวิต ทางกองปราบปรามจึงเข้ามาดูแลความปลอดภัย ทำให้ใน พ.ศ.2511 ทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์มายังพื้นที่บ้านกกเชียงนำผ้าห่ม เสื้อผ้า ข้าวสาร และยารักษาโรคมาแจกจ่ายให้กับผู้คนในชุมชน พร้อมดูแลเรื่องโจรผู้ร้าย และมีการพัฒนาทางเท้าเพื่อออกไปนอกหมู่บ้านจนกลายเป็นทางเกวียนในเวลาต่อมา (ฉวีวรรณ ศิริปิมา, 2552: 6-7)

อย่างไรก็ตาม ในสมัยของผู้ใหญ่ทองลัก ได้เกิดโรคระบาดขึ้น คาดว่าคงเป็นไข้ป่า มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จนมีคำกล่าวที่ว่า “เช้าศพเย็นศพ” ทำให้ผู้ใหญ่บ้านตัดสินใจย้ายหมู่บ้านมาอยู่บนพื้นที่สูงบริเวณทิศเหนือของหมู่บ้านเดิม จากโรคระบาดในครัง้นั้นทำให้ชาวละว้ามีจำนวนประชากรไม่มากนัก” (มนัส ขุนณรงค์ และคณะ, 2549)

ต่อมาอำเภอเดิมบางนางบวชได้เชิญผู้ใหญ่ทองลักเข้าร่วมประชุมการเดินทางไปยังตัวอำเภอในขณะนั้นมีความยากลำบาก ด้วยความชราภาพทำให่ผู้ใหญ่ทองลักจึไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมประชุมได้ จึงได้แต่งตั้งนายอำคา ศิริปิมา ซึ่งเป็นลูกเขยชาวลาวครั้ง เป็นผู้ใหญ่บ้านแทนในปี พ.ศ.2516

ยุคพัฒนา เมื่อ พ.ศ.2524 เป็นช่วงเวลาที่ทางการได้ตัดถนนลูกรังเข้ามาในหมู่บ้าน จากนั้นจึงมีการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นที่อื่นๆ ตามมาในปีถัดมาได้มีการนำไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน ภายใต้การดูแลของศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดอุทัยธานี ในปีต่อมาได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ เมื่อสาธารณูปโภคมีความพร้อมและผู้ใหญ่บ้านอำคา จึงได้มีการก่อตั้งบ้านกกเชียง ในปี 2529 ซึ่งเป็นผลสำเร็จในการดึงเด็กและเยาวชนให้สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาจนสามารถอ่านออกเขียนได้

ในประเทศไทยพบชาวโอก๋องกระจายตัวในพื้นที่ 2 จังหวัดได้แก่ บ้านกกเชียง และบ้านวังควาย ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และบ้านคอกควาย อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี โดยทั่วไปแล้ว หมู่บ้านของชาวโอก๋อง มักจะมีการใส่คำว่า “ละว้า” เข้าไปหลังคำว่า “หมู่บ้าน” ด้วย เช่น บ้านกกเชียง จะเรียกว่า “บ้านละว้ากกเชียง” บ่อยครั้งก็มักเขียนป้ายแค่ “บ้านละว้า” ซึ่งเป็นชื่อที่คนในท้องถิ่นและราชการรับทราบ อย่างไรก็ตามในเอกสารจะใช้ชื่อบ้านกกเชียง บ้านวังควาย และบ้านคอกควาย เป็นหลัก

ในอดีตหมู่บ้านกกเชียงจะมีเฉพาะชาวโอก๋องเป็นหลัก แต่มีการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมกับชาวลาวครั่ง ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน จากการสำรวจประชากรเมื่อประมาณ ปี 2539 มีชาวโอก๋องจำนวนทั้งสิ้น 507 คน ส่วนจำนวนชาวโอก๋องในบ้านกกเชียงมีเพียง 104 คน ต่อมามีการพัฒนาระบบสาธารณสุขที่ดีมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนประชากรชาวโอก๋องเพิ่มมากขึ้น (มยุรี ถาวรพัฒน์, 2539) ดังที่ปรากฎข้อมูลการสำรวจจำนวนประชากรในปี 2558 พบว่า มีจำนวน536 คน แบ่งเป็นชาย 246 คน และหญิง 290 คน มีบ้านอยู่ 153 หลังคาเรือน (แสวง รังสิมากุล, 2558: สัมภาษณ์)

ปัจจุบัน ชาวโอก๋องบ้านกกเชียงมีการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ กับชาวสุพรรณท้องถิ่น ลาวครั่ง ชาวอีสาน มีลักษณะเป็นลูกผสมทางวัฒนธรรม มีเพียงชาวโอก๋องแท้ที่ไม่มีการผสมผสานทางเชื้อสายเพียง 4 ครอบครัว ประมาณ 20 คน (แสวง รังสิมากุล, 2558: สัมภาษณ์) จากการสำรวจประชากรในบ้านกกเชียง พบว่า มีจำนวน 150 ครอบครัว ประชากรทั้งหมด 620 คน (ธีรวัฒน์ รังแก้ว, 2564)

การดำรงชีพ

ในอดีตประมาณ พ.ศ.2500 ชาวโอก๋องมีการดำรงชีพด้วยการทำการเกษตรแบบยังชีพ และการล่าสัตว์หาของป่าเป็นหลัก ในไร่ข้าวจะปลูกพืชอาหารหลายชนิดร่วมด้วยเช่น ฟักทอง โหระพา ตะไคร้ มะเขือ นอกจากนี้ยังมีการปลูกข้าวโพด อ้อย และพริก ปะปนเพื่อเอาไปจำหน่าย (มยุรี ถาวรพัฒน์, 2540) โดยเฉพาะการปลูกพริกถือเป็นสินค้าขายดีอย่างหนึ่ง การขายพริกจะต้องเดินทางไปขายที่ด่านช้างจะต้องนอนค้างระหว่างทาง 2 คืน การเดินทางส่วนใหญ่มักจะเดินทางพร้อมกันหลายคน ส่วนของที่ซื้อกลับมา ได้แก่ หอม กระเทียม ปลาร้า เกลือ

ส่วนการปลูกข้าวของชาวโอก๋อง เป็นการปลูกข้าวไร่ แบบไร่หมุนเวียน เพราะสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับที่ดอนและภูเขา วัฏจักรในการปลูกข้าวจะเริ่มต้นจากเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์จะเป็นการถางไร่ เมื่อถึงเดือนมีนาคมหรือประมารเดือนเมษายน เมื่ออากาศร้อนชาวบ้านจะทำการเผาไร่ จากนั้นในเดือนพฤษภาคมจะทำการเก็บเศษไม้ที่เผาแล้ว เมื่อถึงเดือนมิถุนายนก่อนที่จะทำการหยอดข้าว เพื่อความเป็น
ศิริมงคล ชาวบ้านจะทำพิธีไหว้ผีเจ้าบ้าน เมื่อฝนแรกตกในราวเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ชาวบ้านจะเริ่มทำการหยอดข้าว จะใช้ไม้แทงดิน แล้วหยอดเม็ดข้าว

จากนั้นก็จะดูแลต้นข้าว ทำการถางหญ้าเพื่อไม่ให้มาแย่งอาหาร ระหว่างนี้ชาวบ้านจะหาหน่อไม้เป็นอาหารเสริม เมื่อต้นข้าวเริ่มสูงกว่าต้นหญ้าแล้ว จะไม่ต้องดูแลอีกปล่อยจนข้าวตั้งท้อง เมื่อข้าวเริ่มตั้งท้องจะมีการทำขวัญข้าว ผู้ที่ทำขวัญข้าวจะเป็นชายหรือหญิงก็ได้ จะอธิษฐานว่า “แม่โพสพพ่อโพสพ หิวส้มหิวหวาน กำลังท้องกำลังไส้ให้มากิน” (ในภาษาโอก๋องเรียกพ่อโพสพและแม่โพสพว่า “พุเกะ”) จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ชาวบ้านในแต่ละครอบครัวจะเก็บเกี่ยวข้าวของครอบครัว ไม่มีการร่วมแรงกันทำ (ลงแขก) และเอาข้าวเข้ายุ้ง

สำหรับพันธุ์ข้าวในอดีตมีหลายพันธุ์เป็นข้าวไร่ เป็นข้าวปลูกในพื้นที่แห้ง จากการสัมภาษณ์นางแพ แสนเงิน ได้แบ่งข้าวออกเป็น 2 แบบ คือ ข้าวเลี้ยงพี่ หมายถึง ข้าวที่ให้ผลผลิตเร็ว (ข้าวเบา) ได้แก่ ข้าวเหลียง, ข้าวเตีย, ข้าวอม, และข้าวเตียน้อย ใช้เวลานับจากปลูกจนเก็บเกี่ยวประมาณ 3 เดือนเศษ และข้าวเลี้ยงน้อง หมายถึง ข้าวที่ให้ผลผลิตช้า (ข้าวหนัก) และยังมีข้าวดอ ซึ่งเป็นข้าวที่ให้ผลผลิตมาก แต่ต้องใช้เวลานับจากปลูกถึงเกี่ยวข้าวเป็นเวลา 6 เดือน จะเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม

นอกจากนี้ในอดีตยังเคยมีการปลูกเดือย ซึ่งปกติจะสามารถนำมารับประทานได้ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ปัจจุบันชาวบ้านไม่ได้รับประทานลูกเดือย เนื่องจากเลิกปลูกไปประมาณ 50 ปีก่อน นอกจากนี้ หากครอบครัวใดที่ไม่มีข้าวกิน บางครั้งจะไปรับจ้างแรงงานกันที่บ้านกกตาด ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวลาวครั่งที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 12 กิโลเมตร การไปรับจ้างแรงงานเพื่อเอาแรงงานไปแลกข้าวมาบริโภคในครัวเรือน

วิถีการผลิตของชาวโอก๋องเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลัง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการหน่วยงานรัฐได้เข้ามาส่งเสริมการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเช่น ข้าวโพด พริก ละหุง ฝ้าย จากนั้นในปี พ.ศ. 2530 ชาวบ้านได้หันไปปลูกข้าวโพดกันมากขึ้น มีพ่อค้ามารับซื้อผลผลิตในชุมชน การมีรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจ ชุมชนเริ่มขยายตัวทำให้ผู้คนในชุมชนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่อยู่อาศัยจาก บ้านที่เป็นกระท่อมมาเป็นบ้านที่ใช้ไม้ มุงหลังคาด้วยสังกะสี ต่อมาเริ่มมีการปลูกอ้อยกันมากขึ้น เพราะมีโรงงานน้ำตาลมิตรผลมาตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านเมื่อประมาณปี พ.ศ.2535 ส่งผลทำให้คนในชุมชนที่อพยพไปเป็นเรงงานในกรุงเทพฯ บางส่วนเริ่มทยอยกลับมาทำงานในหมู่บ้านแทน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปลูกอ้อยจะสามารถดึงแรงงานในท้องถิ่นคืนสู่ชุมชนได้ แต่ทว่า การปลูกอ้อยนั้นกลับทำให้สภาพดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับในระยะหลังผู้คนในชุมชนได้เริ่มหันมาปลูกมันสำปะหลัง แทนที่การปลูกข้าว ทำให้วิถีการดำรงชีพในปัจจุบันของผู้คนในชุมชนต้องพึ่งพาตลาดในการซื้อข้าวเพื่อบริโภค (เตย แสนเงิน, 2558: สัมภาษณ์; ถือ ศิริปิมา, 2558: สัมภาษณ์)

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวโอก๋องนับถือทั้งศาสนาพุทธ และการนับถือผี สำหรับการนับถือศาสนาพุทธปฏิบัติกันมายาวนาน โดยจะมีการทำบุญตักบาตร และฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่นิยมบูชาพระพุทธรูปที่บ้าน และไม่นิยมห้อยพระ เมื่อลูกชายอายุครบ 20 ปี พ่อแม่จะให้บวชเป็นพระภิกษุ ปัจจุบันในบ้านกกเชียงมีสำนักสงฆ์อยู่จำนวน 1 แห่ง

สำหรับการนับถือผี ชาวโอก๋องมีประเพณีและความเชื่อที่สัมพันธ์กับผีแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ความเชื่อในระดับชุมชน และความเชื่อเฉพาะบุคคล หากเป็นความเชื่อระดับชุมชน จะมีพิธีไหว้ผีเจ้าบ้าน ประเพณีกู้ดล้อ ประเพณีเวย่าหย่า ปัจจุบันมีเพียงพิธีไหว้ผีเจ้าบ้าน (พี กัง เฮ เคีย) เท่านั้นที่ยังคงปฏิบัติกัน ส่วนประเพณีอื่นๆ ได้เลือนหายไป ส่วนความเชื่อในระดับบุคคลที่ยังมีการปฏิบัติกันเช่น พิธีเรียกขวัญการเล่นผีกระด้ง การเล่นผีไฟแช็ก การเสี่ยงทายด้วยกิ่งไม้ เป็นต้น

การทำนายและโหราศาสตร์

การเล่นผีกระด้ง

เมื่อมีเรื่องเดือดร้อนหรือวิตกกังวล ชาวโอก๋องจะทำการเล่นผีกระด้ง เพื่อเสี่ยงทายว่าอุปสรรคนั้นจะสามารถผ่านไปได้ด้วยดีหรือไม่ วิธีการเล่นผีกระด้งจะเริ่มจากมีผู้เชิญผี และผู้ที่ประสงค์จะเสี่ยงทาย จะนำกระด้งคว่ำลงกับพื้น นำเครื่องประกอบพิธี ได้แก่ ข้าวสารใส่ลงในจาน เงิน และมีด วางบนหลังกระด้ง เพื่อไหว้ครูและบวงสรวงผีให้เข้ามา จากนั้นนำเครื่องประกอบพิธีออกจากกระด้ง

จากนั้น ผู้เชิญผีและผู้เสี่ยงทายจะจับขอบกระด้งคนละข้าง กระด้งจะแกว่งไปมา เมื่อขอบกระด้งแตะลงกับพื้น แสดงว่าผีได้เข้ามาเรียบร้อยแล้ว ผู้เสี่ยงทายจะทำการซักถามเรื่องราวต่างๆ หากขอบกระด้งเคาะกับพื้นเสียงดังแสดงว่าผีตอบว่า ใช่ หากกระด้งเคาะเสียงเบาหลายครั้งแสดงว่าผีตอบปฏิเสธ ในกรณีที่กระด้งแกว่งไปมา แสดงว่าผีออกแล้ว เป็นอันเสร็จพิธี (มยุรี ถาวพัฒน์, 2540)

การเล่นผีกระด้งนี้ไม่ได้ปรากฏเฉพาะชาวโอก๋องเท่านั้น แต่ยังพบในกลุ่มชาวมอญ (รามัญ) และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อยู่ด้วย ในกรณีของชาวมอญนั้นนิยมเล่นกันในช่วงสงกรานต์ ซึ่งต่างจากชาวโอก๋องที่เล่นกันเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ปัจจุบันการเล่นผีกระด้งลดจำนวนลง

ในด้านการเสี่ยงทายด้วยกิ่งไม้นั้นไม่มีข้อมูลมากนัก มีเพียงคำบอกเล่าว่าในอดีตจะมีการใช้กิ่งไม้สำหรับเสี่ยงทาย แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว และไม่สามารถค้นหาผู้อาวุโสที่สามารถอธิบายเกี่ยวกับการเสี่ยงทายดังกล่าวได้ ส่วนการเสี่ยงทายกระดูกไก่ เป็นการเสี่ยงทายและทำนายที่เกี่ยวข้องกับน้ำอุปโภคบริโภคและการผลิตในแต่ละปีซึ่งจะกล่าวถึงในพิธีไหว้ผีเจ้าบ้านต่อไป

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

พิธีไหว้ผีเจ้าบ้าน (พี กัง เฮ เคีย)

พิธีไหว้ผีเจ้าบ้านเป็นพิธีสำคัญที่สุดของชาวโอก๋อง จัดขึ้นในวันอังคาร ข้างขึ้น เดือน 6 ของทุกปีสาเหตุที่เลือกวันอังคารเพราะถือว่าเป็นวันแข็งและวันดี พิธีนี้จะเป็นการเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ผีป่า ผีเขา และผีต่างๆผีที่สำคัญที่สุด คือ ผีเขา การไหว้ผีเจ้าบ้านมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ปกปักคุ้มครองหมู่บ้าน ในวันที่มีการประกอบพิธีกรรมจะห้ามชาวบ้านออกนอกหมู่บ้าน และห้ามคนภายนอกเข้ามาในหมู่บ้าน ในอดีตจะมีการปักตาแหลวบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ไม่ให้คนนอกเข้ามา ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นจะต้องเสียค่าปรับ ประกอบด้วยเหล้า 1 ขวด และไก่ 1 ตัว

ก่อนวันประกอบพิธี ชาวบ้านจะร่วมแรงกันในการทำความสะอาดบริเวณศาล และลานพิธี นอกจากนี้จะช่วยกันเตรียมของใช้ในพิธี เช่น จอกเหล้าสำหรับถวายเจ้าพ่อ ไม้เสียบกระดูกไก่ และจะมีการช่วยกันสร้างศาล 2 ศาล คือ ศาลตะนอตะบึ้ก (ศาลเต่า)และศาลเจ้าที่ ปัจจุบันการสร้างศาลทำจากวัสดุถาวร ในทุกๆ ปี จึงไม่จำเป็นต้องมีการสร้างศาลใหม่ เมื่อหันหลังให้กับศาลผีเจ้าบ้าน ศาลทั้งสองจะตั้งอยู่ทางขวามือ

สำหรับศาลเต่าจะตั้งเยื้องไปทางด้านขวาของศาลผีเจ้าบ้าน ลักษณะเป็นศาลที่มีสองเสา มีหลังคาเป็นรูปสามเหลี่ยม และมีบันไดขนาดเล็กพาด ภายในจะมีการวางเต่า และขวดเหล้าขนาดเล็ก บริเวณปากขวดจะมีการฉีกใบตองเป็นริ้วเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนรวงข้าว สาเหตุที่ชาวโอก๋องบูชาเต่า เพราะเชื่อว่า “ลมมาจากเต่า” หากบูชาเต่าจะช่วยไม่ให้เกิดลมรุนแรงพัดในหมู่บ้าน โดยเต่าที่เลือกใช้จะต้องเป็นเต่าภูเขาหรือชาวบ้านเรียกว่า “เต่าเหลือง” ส่วนศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ใกล้กับศาลเต่า เป็นศาลขนาดเล็ก มี 4 เสา มีพื้นที่สำหรับวางเครื่องเซ่น มีบันไดขนาดเล็กพาด แต่ไม่มีหลังคา

เมื่อถึงวันประกอบพิธี “จาจ้ำ” หรือผู้นำพิธีกรรมจะตื่นแต่เช้ามาเตรียม “ลองบั้ง” หรือถาดเครื่องเซ่น ประกอบด้วย ด้ายขวัญ เกล้าขาว ขนม ชามข้าวสาร ไข่ต้มไม่ปอกเปลือก ธูป เทียน ดอกไม้ และของมีค่าอื่น ๆ เช่น กำไลเงิน สร้อยทอง เพื่อเอามาไว้ที่ศาลผีเจ้าบ้าน จากนั้นชาวบ้านจะทยอยกันนำไก่ที่ยังมีชีวิตครอบครัวละ 1 ตัว และเหล้าขาว 1 ขวด บางคนจะฉีกใบตองเป็นริ้วรอบปากขวด นำมาไว้ที่ศาล ส่วนไก่จะแขวนไว้รอบศาลผี ส่วนในศาลผีเจ้าบ้านจะมีเครื่องเซ่นสำคัญคือ อ้น จำนวน 3 ตัว ปัจจุบันเนื่องจากอ้นเป็นสัตว์ที่หายากจึงเปลี่ยนมาใช้หมูที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้จัดหามาให้ในช่วงนี้ยังถือกันว่าคนที่มาอยู่ใหม่ในหมู่บ้านจะต้องมารายงานตัวกับจาจ้ำ

เมื่อชาวบ้านมาพร้อมเพรียงกัน จาจ้ำจะเริ่มทำพิธีบนศาลผีเจ้าบ้านเป็นอันดับแรก ขั้นตอนการทำพิธีเริ่มต้นจากการขึ้นไปนั่งในศาลผี จุดเทียน 1 เล่ม และธูป 2 ดอก เพื่อเป็นการบอกเจ้าที่ เจ้าป่า เจ้าเขา ให้รับรู้ หลังจากนั้นจาจ้ำจะอัญเชิญเจ้าพ่อ 4 องค์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือเรียงลำดับตามความสำคัญคือ เจ้าพ่อเขาสำเภา (ตะเภา) เจ้าพ่อเขาขมวย เจ้าพ่อเขาแดง และเจ้าพ่อพุระกำ (มยุรี ถาวรพัฒน์, 2540)

จากคำบอกเล่าของนายเตย แสนเงิน จาจ้ำคนปัจจุบัน ได้กล่าวถึงที่มีของชื่อเรียกเจ้าพ่อ ที่เรียกว่าเขาสำเภา เนื่องจาก ในอดีตมีเรือสำเภาล่มที่ภูเขาลูกนั้น ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ตั้งบ้านเรือนก่อนที่จะตั้งที่บ้านกกเชียง ส่วนเขาขมวยเป็นผู้ชายนักเลง เหมาะสำหรับการบนบานส่วนเขาแดง เนื่องจากมีหน้าผาสีแดง ติดกับเขตละว้าวังควาย สุดท้ายที่เรียกว่าเขาพุระกำ เพราะมีต้นระกำขึ้นอยู่ ภูเขาลูกนี้ตั้งอยู่หลังโรงเรียนบ้านกกเชียง (เตย แสนเงิน, 2558: สัมภาษณ์)

ในการทำพิธี จาจ้ำจะทราบว่าเจ้าพ่อมาประทับ จากการเสี่ยงทายด้วยการหยิบเม็ดข้าวสารขึ้นมาวางไว้ในมือ จำนวน 4 กอง ถ้าหยิบได้ 3 เม็ด เท่ากันทั้ง 4 กองจะถือว่าเจ้าพ่อมาแล้ว จากนั้นชาวบ้านจะนำไก่มาถวายเป็นเครื่องเซ่น โดยจะนำไก่มาให้จาจ้ำและผู้ช่วยเป็นผู้ถวายด้วยการจับส่วนปากและตีนของไก่แต่ละตัวมาลนเทียน เพื่อเป็นการบอกให้เจ้าพ่อรู้ เสมือนเป็นการถวายไก่ให้กับเจ้าที่ก่อน เมื่อแล้วเสร็จ ชาวบ้านจะนำไก่ของตนเองไปฆ่าและต้ม แล้วนำมาถวายด้วยการแขวนไว้ที่ศาลผี ระหว่างที่ชาวบ้านนำไก่ไปต้ม จาจ้ำจะลงจากศาลผีไปที่ศาลตะนอตะบึ้ก (ศาลเต่า) เพื่อทำการเชิญเจ้าพ่อบังลมด้วยการเสี่ยงทายจากเม็ดข้าวสาร ถ้าหยิบเม็ดข้าวสารได้เลขคี่แสดงว่าเจ้าพ่อมาแล้ว จากนั้นจะทำการบอกกล่าวร้องขอให้เจ้าพ่อช่วยบังลม ป้องกันไม่ให้พายุเข้าหมู่บ้าน และขอให้ฝนตกในปริมาณที่เหมาะสม เมื่อเซ่นเสร็จแล้วจะนำเต่าไปต้มให้สุก และนำกลับมาถวายที่ศาลตะนอตะบึ้ก หลังจากนั้นจาจ้ำจะแจกเนื้อเต่าพร้อมรินเหล้าให้กับชาวบ้านรับประทานกันทุกคน

ขั้นตอนต่อมา จาจ้ำจะทำพิธีเซ่นไหว้เจ้าที่ ด้วยการใช้ไก่สุก ข้าวสุก และชามข้าวสาร จากนั้นทำการเสี่ยงทายด้วยเม็ดข้าวสาร หากเจ้าที่มาแล้วจะกล่าวถวายเครื่องเซ่น และอธิษฐานขอให้ให้ฟ้าฝนตกตามฤดูกาล พืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์ และมีน้ำใช้ตลอดปี ชาวบ้านเปรียบเทียบว่าเจ้าที่เปรียบเสมือน“แม่ธรณี” ที่ทำหน้าที่ดูแลผืนแผ่นดิน การพิสูจน์คำอธิษฐานจะเป็นจริงหรือไม่นั้นจะเสี่ยงทายด้วยกระดูกปีกไก่ หากเลือดไหลออกมาจากกระดูกทั้งสองข้าง และตำแหน่งรูบนกระดูกขาไก่ รูที่เส้นเลือดเข้า ใกล้เคียงกัน แสดงว่าคำขอจะเป็นจริง จาจ้ำจะริมเหล้าใส่จอกไม้ไผ่ แล้วเทลงพื้นเพื่อถวายเจ้าที่

จากนั้น จาจ้ำจะกลับมาที่ศาลผีเจ้าบ้านอีกครั้ง ชาวบ้านนำไก่สุก หมู หรืออ้นมาด้วย เพื่อให้จาจ้ำนำไปถวายเจ้าพ่อทั้งสี่ ในช่วงนี้เหล้าทุกขวดจะต้องเปิดฝาขวดออก จาจ้ำจะโปรยข้าวสุกลงบนหลังไก่ และหัวหมู(กรณีที่มีการใช้หมู) จุดธูป 2 ดอก ดอกหนึ่งเสียบไว้ที่ตัวไก่ และอีกหนึ่งดอกเสียบไว้ที่หัวหมู จากนั้นจาจ้ำจะทำการเสี่ยงทายด้วยเม็ดข้าวสารเพื่ออัญเชิญเจ้าพ่อทั้งสี่มาอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้มารับเครื่องเซ่นที่สุกแล้ว ถ้าหยิบได้เม็ดข้าวเป็นเลขคี่ครบตามจำนวนจาจ้ำจะเทเหล้าใส่จอกไม้ไผ่และเทลงพื้นเพื่อเป็นการถวาย จากนั้นจาจ้ำและชาวบ้านจะร่วมกันอธิษฐานให้หมู่บ้านมีความสงบร่มเย็น และพืชผลอุดมสมบูรณ์ เสร็จแล้วจึงทำการเสี่ยงทายด้วยการเอาไม้เสียบกระดูกไก่จำนวน 4 คู่ เมื่อได้เวลาพอสมควร จาจ้ำจะทำการเสี่ยงทายด้วยเม็ดข้าวสารอีกครั้งเพื่อดูว่าเจ้าพ่อทั้งสี่มาเสวยเครื่องเซ่นเรียบร้อยหรือยัง หากเรียบร้อยแล้วจะเอาข้าวสุก เนื้อไก่ และหมู จำนวนเล็กน้อยวางบนใบตอง จำนวน 4 กอง แล้วนำไปลนด้วยเทียนเพื่อเป็นการส่งเจ้า แล้วก็ปาทิ้งไป เป็นอันเสร็จพิธีในการถวายเครื่องเซ่นให้กับเจ้าพ่อ

ขั้นตอนสุดท้าย ชาวบ้านจะทำการผูกด้ายขวัญให้กับผู้อาวุโสของหมู่บ้าน เริ่มจากจาจ้ำก่อนแล้วจึงไปผูกให้กับบุคคลอื่นๆ จากนั้นก็ร่วมกันรับประทานอาหารบริเวณศาลผี พร้อมร้องรำทำเพลง มีการเล่นดนตรี ในอดีตจะเล่นกลองยาว ส่วนปัจจุบันจะใช้การเปิดเครื่องเสียงแทน เมื่อรับปรัทานอาหารร่วมกันจนกระทั่งอิ่มหนำสำราญ จาจ้ำจะนำ “ลองบั้ง” ซึ่งเป็นถาดวางเครื่องสังเวยกลับบ้าน เมื่อถึงช่วงเวลาบ่าย จาจ้ำจะถือกระด้ง และใช้ไม้ตีที่หลังกระด้ง เพื่อเป็นสัญญาณว่าพิธีได้สิ้นสุดลงแล้ว (มยุรี ถาวรพัฒน์, 2540; เตย แสนเงิน, 2558: สัมภาษณ์)

จะเห็นว่า พิธีไหว้ผีเจ้าบ้าน ที่จัดขึ้นในเดือน 6 ของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาก่อนการหยอดข้าว ที่ผู้คนในชุมชนว่างจากการทำงานประกอบกับความต้องการหลักประกันด้านความอุดมสมบูรณ์ของดินฟ้าอากาศ จึงทำให้เกิดพิธีไหว้ผีเจ้าบ้าน

ประเพณีเวย่าหย่า

ในอดีตจะมีการประกอบพิธีกรรมในวันแรกของเดือน 3, 4, และ 5 (เดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม) เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลอง ผู้คนจะหยุดงานเพื่อการพักผ่อน จากนั้นในวันรุ่งขึ้นจึงจะทำไร่ ประเพณีเวย่าหย่าได้ถูกล้มเลิกไปประมาณ 20-30 ปี เช่นเดียวกับประเพณีกู้ดล้อ (เตย แสนเงิน, 2558: สัมภาษณ์)

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

ความตาย และการทำศพ

ในอดีตชาวโอก๋องจะทำพิธีการฝังศพ เมื่อมีผู้เสียชีวิตในหมู่บ้าน ชาวบ้านทุกคนที่อยู่ตามไร่หรือ หรือทำงานอื่นๆ จะต้องกลับมาภายใน 2-3 วัน เมื่อทำการไหว้ศพแล้ว ผู้ชายในหมู่บ้านจะไปตัดไม้ไผ่มาทำเป็นฟากห่อศพ ส่วนหัวและท้ายจะเอาเชือกมัดเพื่อใช้สำหรับการแบก จากนั้นจะแบกเข้าไปในป่าช้าที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้าน การแบกศพห้ามพักต้องแบกรวดเดียวจนถึงป่าช้า ห้ามเด็กตามไป ส่วนผู้หญิงสามารถติดตามไปได้ แต่มักไม่นิยมตามไป เพราะถือเป็นงานของผู้ชาย

เมื่อถึงป่าช้าจะทำการขุดหลุมลึกประมาณ 1 เมตร กว้างประมาณ 1 เมตร และความยาวตามขนาดตัวของผู้ตาย ก่อนหน้าที่จะขุดหลุมศพจะต้องทำการเสี่ยงทายด้วยการโยนไข่ 1 ฟองขึ้นไปบนอากาศ (ไม่ต้องสูงมาก) แล้วถามว่า “มึงชอบอยู่ไหม” ถ้าชอบไข่จะแตก ในกรณีที่ไม่มีไข่ไก่สามารถใช้เปลือกไม้ได้ ถ้าโยนไปแล้วเปลือกไม้หงายขึ้นแสดงว่าผู้ตายชอบ

การฝังศพจะฝังแบบหงายหน้า ศีรษะต้องหันไปทางทิศตะวันตก เมื่อนำศพลงไปแล้ว จะนำสิ่งของที่ผู้เสียชีวิตเคยใช้ใส่ลงไปในหลุมเช่น มีด ของใช้ เสื้อผ้า ขันน้ำ จากนั้นจะเอาฟากไม้ไผ่ปูด้านบนตัวของศพ แล้วจึงเอาดินกลบได้ หลังจากกลบดินเสร็จ ต้องเอาไม้แหลมปักไว้รอบเพื่อป้องกันสัตว์มาคุ้ยเขี่ย สำหรับป่าช้าเด็กกับป่าช้าผู้ใหญ่จะแยกออกจากกัน

ในกรณีที่เยชีวิตแบบผิดปกติ เช่น ผู้หญิงตายทั้งกลม เด็กที่อยู่ในท้องแม่ จะต้องมีการสะกดวิญญาณด้วยการใช้ไม้หรือตะปูตอกไปที่หัว หัวใจ และเท้าทั้งสองข้าง เพื่อไม่ให้มาหลอกหลอนใครได้ (เตย แสนเงิน, 2558: สัมภาษณ์)

การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

พิธีเรียกขวัญ

ชาวโอก๋องมีความเชื่อเรื่องขวัญเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ซึ่งเป็นความเชื่อเรื่องชีวิตดั้งเดิมของคนในอุษาคเนย์ก่อนที่จะรับแนวคิดเรื่องวิญญาณมาจากอินเดีย ในภาษาโอก๋องคำว่า “ขวัญ” คือ “เก็ก” พิธีเรียกขวัญจะเรียกว่า “เก็ก เคีย” ชาวโอก๋องเชื่อว่าขวัญมี 9 ขวัญ โดยขวัญจะอยู่ที่หัว หู (นับแค่ 1) ผม ตาสองข้าง มือสองข้าง และเท้าสองข้าง การเรียกขวัญจะทำเมื่อมีคนเจ็บป่วยไม่สบาย เด็กร้องไห้ไม่ทราบสาเหตุ พิธีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน หรือกระทั่งประสบความสำเร็จจากการเรียนหรือการทำงาน ปัจจุบันคนที่ทำพิธีเรียกขวัญ เรียกว่า “หมอทำขวัญ” คือ นางแพ แสนเงิน และคนอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ขาดการสืบทอดความรู้ไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่

สำหรับการเรียกขวัญคนที่เจ็บป่วย จะต้องเลือกวันที่ผู้ป่วยเกิดเป็นวันทำพิธี เพราะถือเป็นวันที่ขวัญเกิดมาพร้อมกับคนป่วย หมอทำขวัญจะเป็นผู้หญิงสูงอายุสิ่งของที่ต้องใช้ในพิธีเรียกขวัญ ได้แก่ ขัน
เครื่องทำขวัญภายในบรรจุข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า หวี กระจก แป้ง เครื่องหอม เงิน 6 บาท ไข่ไก่ต้ม 1 ฟอง ข้าวสุก กล้วยดิบ 2 ลูก และที่สำคัญคือ สวิง และผ้ายาวห่อขันเครื่องทำขวัญ

จากนั้นผู้อาวุโสจำนวนสองคนจะเดินลงมาจากบ้านของผู้ป่วย คนหนึ่งถือสวิง อีกคนนอกจากช่วยถือสวิงช้อนขวัญแล้วต้องแบกเครื่องทำขวัญที่ห่อเอาไว้ จากนั้นจะเริ่มเดินช้อนขวัญ เริ่มจากรอบบ้าน เมื่อช้อนได้ก็จะเทใส่ขันเครื่องทำขวัญในห่อผ้า จากนั้นทำการเสี่ยงทายด้วยการหยิบเม็ดข้าวสาร ถ้านับได้กองละ 3 เม็ดทุกกองแสดงว่าขวัญกลับมาแล้ว จากนั้นผู้เฒ่าคนหนึ่งจะถามคนป่วยว่าขวัญมาแล้วหรือยัง ซึ่งคนป่วยจะขานรับว่ามาแล้ว

เมื่อได้ขวัญมาแล้ว แม่เฒ่าจะนำขวัญไปคืนให้ผู้เป็นเจ้าของ แต่ก่อนที่จะคืนขวัญให้ หมอทำขวัญจะจุดเทียน 1 เล่ม เพื่อส่องทางให้กับขวัญที่กลับมา แล้วก็มอบขวัญที่อยู่ในขันคืนให้กับผู้ป่วย จากนั้นหมอทำขวัญจะปอกไข่และแบ่งไข่ออกพอดีคำพร้อมกับข้าวปั้นหนึ่งลูกวางลงในมือของผู้ป่วย ไข่และข้าวที่เหลืออีกส่วนจะนำมาแตะลงบนบ่าของผู้ที่ถูกเรียกขวัญ หมอทำขวัญจะกล่าวคำอัญเชิญให้ขวัญกลับเข้าร่างของผู้ที่ถูกเรียกขวัญ และผูกด้ายที่ข้อมือ (เคิงเลาะเบเบ่) ทั้งของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว ส่วนขันเครื่องทำขวัญจะนำไปตั้งไว้ที่หัวนอนของผู้ป่วยจำนวน 3 วัน จากนั้นนำไปทิ้งให้ห่างจากบ้าน เป็นอันเสร็จพิธี (มยุรี ถาวรพัฒน์, 2540; แพ แสนเงิน, 2558: สัมภาษณ์)

ขุนช้าง ขุนแผน ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. (2506) พระนคร: คลังวิทยา.

ฉวีวรรณ ศิริปิมา (2552). โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาศูนย์ละว้า (ก๋อง) ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านภาษา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านกกเชียง ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

ธีรวัฒน์ รังแก้ว (2564). เยือนถิ่นละว้าบ้านกกเชียง จ.สุพรรณบุรี ฟื้นฟู ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’ ที่กำลังจะหมดลมหายใจ !!..สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565. เข้าถึงได้จาก https://web.codi.or.th/20211101-28246/

มนัส ขุนณรงค์ และคณะ. (2549). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการการศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมละว้า (ก๋อง) บ้านกกเชียง ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), (เอกสารอัดสำเนา)

มยุรี ถาวรพัฒน์. (2540) สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ก๊อง (อุก๋อง). กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

มยุรี ถาวรพัฒน์. (2558). รายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการโครงการบันทึกรวบรวมเพื่อการสงวนรักษาภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาก๋อง (Gong). กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม,. (เอกสารอัดสำเนา)

ศิลปากร, กรม.(2518) ชีวิตและงานของสุนทรภู่. กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร.

ฉวีวรรณ ศิริปิมา, นาง, อายุ 35 ปี (ชาวโอก๋อง). บ้านเลขที่ 1 ม.10 บ้านกกเชียง ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี, วันที่ 23-24 ตุลาคม, 19 ธันวาคม 2558, พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

เตย แสนเงิน, นาย, อายุ 79 ปี (ชาวโอก๋อง และมีเชื้อสายชาวลาวครั่ง). บ้านเลขที่ 10 ม.10 บ้านกกเชียง ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี, วันที่ 23-24 ตุลาคม, 19 ธันวาคม 2558, พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

ถือ ศิริปิมา, นาย, อายุ 45 ปี (ชาวโอก๋อง). บ้านเลขที่ 1 ม.10 บ้านกกเชียง ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี, วันที่ 19 ธันวาคม 2558, พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

ธิดา เพ็ญศิริ, นาง, อายุ 41 ปี (ชาวโอก๋อง). บ้านเลขที่ 125 ม.10 บ้านกกเชียง ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี, วันที่ 23-24 ตุลาคม, 19 ธันวาคม 2558, พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

แพ แสนเงิน, นาง, อายุ 72 ปี (ชาวโอก๋อง). บ้านเลขที่ 15 ม.10 บ้านกกเชียง ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี, วันที่ 23-24 ตุลาคม 2558,พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

แสวง รังสิมากุล, นาย, อายุ 62 ปี (ชาวลาวครั่ง). บ้านเลขที่ 141 ม.10 บ้านกกเชียง ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี, วันที่ 23 ตุลาคม 2558, พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

หวัง แสนเงิน, นาง, อายุ 58 ปี (ชาวโอก๋อง). บ้านเลขที่ 10 ม.10 บ้านกกเชียง ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี, วันที่ 23 ตุลาคม 2558, พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว