2023-06-17 10:33:55
ผู้เข้าชม : 6576

มานิ เป็นคนดั้งเดิมในแหลมมลายู กระจายตัวตั้งถิ่นฐานในเทือกนครศรีธรรมราช พื้นที่ชายแดนไทย - มาเลเซีย ไปจนถึงประเทศมาเลเซีย ในอดีตเป็นกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตแบบเคลื่อนย้าย การหาของป่าล่าสัตว์ โดยใช้ "บอเลา" หรือ ลูกดอกอาบยาพิษ ปัจจุบัน ชาวมานิเผชิญกับข้อจำกัดด้านความมั่นคงและการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ชาวมานิแต่ละกลุ่มมีวิถีการดำรงชีพที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งกลุ่มที่ดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมในการอาศัยอยู่ในป่าลึก กลุ่มที่มีการตั้งถิ่นฐานกึ่งถาวร และกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวร

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : มานิ
ชื่อเรียกตนเอง : มานิ, มานิค
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ซาไก, เซมัง, เงาะป่า, โอรัง อัสลี, นิกริโต, ชอง, มอส, ตอนกา
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : มานิ
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

“มานิ” หรือ “มานิค” เป็นคำที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง แปลว่า คน (จิตร ภูมิศักดิ์, 2524) ชาวมานิจะเรียกตัวเองว่า “มานิ” หรือ “มันนิ” และพึงพอใจให้คนอื่นเรียกตนเองเช่นนั้น ชื่อเรียกนี้มักพบในเทือกเขาบรรทัดในพื้นที่จังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา และสตูล ขณะที่ชื่อเรียกว่า “โอรังอัสลี” หรือ “อัสลี” และ “จาไฮ” แปลว่า คนดั้งเดิม เจ้าของถิ่นเดิม เป็นชื่อที่ใช้เรียกตัวเองในแถบจังหวัดยะลาและนราธิวาส ชื่อเรียกดังกล่าวเป็นชื่อเรียกที่ชาวมานิต้องการให้คนอื่นเรียกพวกเขาเช่นเดียวกันกับที่พวกเขาเรียกตนเอง เพื่อแสดงถึงการให้เกียรติ อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มักเรียกเหมารวมมานิด้วยคำว่า “เงาะ” “เงาะป่า” “ซาไก” “เงาะป่าซาไก” ซึ่งเป็นอิทธิพลจากวรรณคดีเรื่องเงาะป่า เป็นคำเรียกที่พวกเขาไม่ชื่นชอบมากนัก “เงาะ” ในภาษาพื้นเมืองภาคใต้ หมายถึง ผลไม้ชนิดหนึ่ง ขณะที่ชื่อเรียก “ซาไก” เป็นภาษามาลายู ไม่มีความหมายสำหรับกลุ่มมานิในแถบเทือกเขาบรรทัดที่สัมพันธ์กับภาษาท้องถิ่นภาคใต้

กลุ่มชาติพันธุ์มานิ (the Maniq people) เป็นชื่อเรียกผู้คนกลุ่มนิกริโต (the Negritos) ซึ่งถูกจำแนกทางชาติพันธุ์ว่าเป็นกลุ่มย่อยของนิกรอยด์ (Negroid) อาศัยกระจายอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายูในภาคใต้ของประเทศไทย มีหลายข้อสันนิษฐานถึงการมีอยู่ของพวกเขาในดินแดนนี้ โดยหลักฐานทางโบราณคดีค้นพบความเชื่อมโยงของถิ่นที่อยู่ในยุคซุนดาแลนที่ผืนแผ่นดินภาคใต้และหมู่เกาะยังเชื่อมต่อกันก่อนถูกตัดขาดกลายเป็นเกาะแก่งในปัจจุบัน หลักฐานทางโบราณคดี และโครงกระดูกในถ้ำบริเวณเหนือคลองตง

อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ประเมินอายุได้ประมาณ 12,000 ปี ชี้ชัดว่ามีลักษณะตรงกับชาวมานิที่อาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ของไทย มีข้อสันนิษฐานว่าพวกเขาอยู่ในแถบนี้มาเนิ่นนานก่อนที่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์จะแยกพื้นที่ออกจากกันทำให้คนกลุ่มนี้กระจายออกไปทั้งในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่นักวิชาการบางสายสันนิษฐานว่าพวกเขาได้เข้ามาในแหลมมาลายูโดยการอพยพมาจากถิ่นมีอื่น ในสองเส้นทาง คือ เส้นทางแรก อพยพมาจากประเทศอินโดนีเซียผ่านมาเลเซียมายังภาคใต้ของไทย ส่วนเส้นทางที่สอง อพยพมาจากประเทศจีน อินเดีย และศรีลังกา ก่อนเข้าสู่ภาคใต้ของไทย ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบว่า มีสองกลุ่มใหญ่ คือ มานิและโอรังอัสลี (กันซิวและจาไฮ) โดยมีการกระจายตัวของกลุ่มมานิบริเวณเทือกเขาบรรทัดในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ พัทลุง ตรัง สงขลา และสตูล จำนวน 13 กลุ่ม กลุ่มมานิ (โอรังอัสลี) พบกระจายตัวในจังหวัดยะลาและจังหวัดนราธิวาส จำนวน 15 กลุ่ม

มานิ ในเทือกเขาบรรทัด และโอรังอัสลี ในเทือกเขาสันกาลาคีรี มีการดำรงชีพแบบหาของป่าล่าสัตว์ เคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหาร ผสมผสานกับการตั้งถิ่นฐานถาวรในบางกลุ่ม การดำรงอยู่ของพวกเขาสัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีวิถีปฏิบัติที่เคารพธรรมชาติ เรียบง่าย ขณะที่สังคมโดยรวมยังคงมองชาวมานิ-โอรังอัสรี ในเชิงอคติและติดกับดักตามพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่าอยู่เสมอ

ชาติพันธุ์มานิถือเป็นกลุ่มชนเผ่าที่ยังดำรงชีพแบบสังคมหาของป่าล่าสัตว์ (hunting and gathering society) กลุ่มสุดท้ายของไทย แม้ในปัจจุบันยังมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของมนุษย์ก่อนพัฒนาเข้าสู่สังคมเกษตรกรรมและสังคมเมือง (เกศริน มณีนูน และพวงเพ็ญ ศิริรักษ์, 2546) ชาวมานิตั้งถิ่นฐานบริเวณเทือกเขาบรรทัดหรือเทือกเขานครศรีธรรมราช เป็นเทือกเขาที่แบ่งภาคใต้ฝั่งตะวันตกและตะวันออก ทอดตามแนวยาวเหนือใต้ตั้งแต่จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล และสงขลา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 805,000 ไร่ ทั้งนี้ เทือกเขาบรรทัดมีพิกัดตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรและได้รับอิทธิพลลมมรสุมเกือบตลอดทั้งปี ทำให้เทือกเขาบรรทัดมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง นักโบราณคดีเชื่อว่าความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพเหล่านี้ ทำให้มนุษย์ได้เดินทางเข้ามาอาศัยในดินแดนแถบนี้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย

Negritos เป็นกลุ่มชนที่มีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกัน พบกระจายอยู่ตามหมู่เกาะอันดามัน ในประเทศมาเลเซียมีหลักฐานทางโบราณคดีที่แหล่งขุดค้นในเมือง Bukit Jawa รัฐกลันตัน ติดกับจังหวัดนราธิวาส นักโบราณคดีกำหนดอายุไว้ที่ 50,000 ปี ในยุคน้ำแข็งที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีลักษณะเป็น เป็นผืนแผ่นดินที่เชื่อมต่อกันทั้งภาคพื้นทวีปตั้งแต่ภาคใต้ของไทยเชื่อมต่ออินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียว ฟิลิปปินส์ เป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน (Sundaland) ในยุคน้ำแข็ง Negritos จึงอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินนี้และอพยพเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ กระทั่งเมื่อ 20,000 ปีก่อนที่น้ำแข็งละลาย ภาคพื้นทวีปก็ถูกตัดขาดออกจากกันกลายเป็นกลุ่มชนที่อยู่ตามเกาะแก่งต่างๆ

การศึกษาบริบททางสังคม – วัฒนธรรม ในมิติประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์มานิเฉพาะในพื้นที่ประเทศไทยสัมพันธ์อยู่กับ “การทำให้เป็นไทย” เพราะการทำให้เป็นไทยเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิถีชาวมานิ และทำให้สังคมได้รับรู้เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์มานิมากขึ้นตามลำดับ หากจะกล่าวถึงโครงสร้างทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์มานิที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงกับกระบวนการทำให้เป็นไทย พบว่าในแต่ละพื้นที่ (เทือกเขาสันกาลาคีรีและเทือกเขาบรรทัด) มีความแตกต่างกัน ในส่วนนี้จะนำเสนอโครงสร้างประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์มานิในพื้นที่เทือกเขาบรรทัด ออกเป็น 4 ยุค เพื่อจะได้เป็นประเด็นที่จะนำไปสู่การถกเถียงในแวดวงวิชาการต่อไป ดังนี้

ยุคแรก มานิในช่วงก่อนรัฐไทย(ทศวรรษ 2430) เป็นช่วงก่อนการปฏิรูปประเทศ ช่วงเวลานี้มานิมีวิถีการดำรงชีพอยู่ในพื้นที่ป่า ยังคงนุ่งใบไม้ ตะไคร่น้ำ ล่าสัตว์และหาเผือกมันเป็นอาหาร ไม่มีการติดต่อสัมพันธ์กับคนภายนอก ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงอาจไม่มีผู้คนภายนอกรับรู้ถึงความมีตัวตนของพวกเขามากนัก

ยุคที่สอง มานิในช่วงการรับรู้ของรัฐไทย (ทศวรรษ 2430 – 2500) ในทศวรรษ 2430 เป็นช่วงเริ่มต้นของการปฏิรูปประเทศ รัฐมีนโยบายสำคัญประการในการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารประเทศโดยการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ให้มีการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม ช่วงเวลานี้การรับรู้เรื่องชาติพันธุ์มานิในบริเวณเทือกเขาบรรทัดรับรู้ไปถึงพระเนตรพระกัณฑ์ ตามที่ทราบกันว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับเลี้ยงเด็กชายคนังซึ่งเป็นชาวมานิ จึงเป็นครั้งแรกที่มานิได้เป็นที่รู้จักของสังคม

ยุคที่สามมานิในยุคการพัฒนาของรัฐไทย (ทศวรรษ 2510 – 2530) นโยบายการพัฒนาของรัฐไทยในช่วงนี้ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตชาวมานิมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาที่ส่งผลต่อทรัพยากรป่าไม้ ทำให้เกิดการสัมปทานป่าไม้ นายทุนและชาวบ้านเข้าไปตัดไม้ รวมทั้งการจับจองพื้นที่ทำกิน ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ ในบริเวณเทือกเขาบรรทัด มีการเคลื่อนย้ายของครอบครัวคนพื้นราบเข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่า รวมทั้งการเกิดขึ้นของขบวนการคอมมิวนิสต์บริเวณพื้นที่เทือกเขาบรรทัด ทำให้มานิเรียนรู้วิถีชีวิตแบบคนพื้นราบจากสหาย ช่วงเวลานี้พื้นที่ทำมาหากินที่ชาวมานิเคยใช้ในการดำรงชีวิตจึงถูกรุกล้ำจากคนภายนอก พวกเขาจึงเลือกที่จะเคลื่อนย้ายเข้าไปหากินในป่าลึกเผื่อหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนพื้นราบ

ยุคที่สี่ มานิในช่วงรอยต่อของความเปลี่ยนแปลง (ทศวรรษ 2540 – ปัจจุบัน) ช่วงเวลานี้มีมานิบางกลุ่ม เช่น กลุ่มคลองตง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ได้เริ่มตั้งถิ่นฐานถาวร เริ่มต้นการใช้ชีวิตแบบคนพื้นราบเนื่องจากมีสมาชิกในกลุ่มแต่งงานกับคนพื้นราบ ทำให้ทั้งกลุ่มได้รับเรียนรู้และเลือกที่จะปรับตัวใช้ชีวิตแบบคนพื้นราบ ต่อมามานิกลุ่มอื่น ๆ ได้เริ่มมีการติดต่อสัมพันธ์กับคนพื้นราบมากขึ้น การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มยังคงมีการเคลื่อนย้ายภายในพื้นที่ที่สามารถติดต่อกับคนพื้นราบได้ ในขณะที่มานิบางกลุ่ม ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้มีการปรับตัวในการติดต่อสัมพันธ์กับคนพื้นราบในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เด็กชาวมานิบางคนได้เริ่มต้นเรียนหนังสือในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ในช่วงเวลานี้ คนพื้นราบได้ให้ความสนใจที่จะเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตจากชาวมานิซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงธำรงอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้อย่างมั่นคง ช่วงเวลานี้จึงมีหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และคนพื้นราบให้ความสนใจในการศึกษาเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวมานิมากยิ่งขึ้น การมีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อรูปแบบดำรงชีพของชาวมานิ รวมทั้งเป็นประเด็นข้อสังเกตสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการพัฒนาของภาครัฐต่อชาวมานิในมิติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ทั่วถึงและสอดคล้องกับวิถีการดำรงชีพและความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์

ในด้านการศึกษาชาวมานินั้นมีงานศึกษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ปรากฏผ่านงานศึกษาของ Warrington Smyth (1867-1943) นักสำรวจชาวตะวันตกในยุคแรก ที่เข้ามาศึกษามานิในประเทศไทย รายงานว่ามีเนกริโต 400 คนอาศัยอยู่ใกล้เมืองไชยา จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกลุ่มที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และพบเพิงที่อยู่อาศัยร้างบริเวณใกล้ทะเลสาบสงขลา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา จ.พัทลุง และ จ. สตูล (John H. Brandt, 1962)

ในขณะที่งานศึกษาของ Paul Joachim Schebesta (1887-1968) นักมานุษยวิทยาและมิชชันนารีชาวออสเตรียแห่งศูนย์ศึกษามานุษยวิทยาชาติพันธุ์แห่งเวียนนา (Vienna School of Ethnology) ได้ทำการสำรวจกลุ่มชาติพันธุ์ในเทือกเขาบรรทัดบริเวณเขาพับผ้า เขตรอยต่อระหว่างที่ จ.ตรังและ จ.พัทลุง โดยเรียกชนกลุ่มนี้ว่าเนกริโตในบริเวณเทือกเขาบรรทัดว่า พวก Chong, Mos, Tonga ต่อมาชื่อที่ใช้เรียกเหล่านี้ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลายในงานวิชาการของนักวิชาการมานุษยวิทยาในยุโรป

ต่อมาในปี พ.ศ.2468 Ivor Evan นักโบราณคดีชาติพันธุ์ชาวอังกฤษ ได้เดินทางไปศึกษาชาวเนกริโต ที่บ้านนาวง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ต.บ้านนา อ.เมืองจ.พัทลุง พบว่า ชาวเนกริโตกลุ่มนาวง เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกมากนัก เขาจึงเลือกที่จะไปศึกษากลุ่มน้ำตกกะช่อง ต. ช่อง อ. นาโยง ฝั่งตะวันตกของเทือกเขาบรรทัดในเขต จ.ตรังแทน (Ivor H. N. Evans, 1927)

ในส่วนงานสำรวจศึกษาวิชาการเกี่ยวกับเนกริโตในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ.2468 เป็นต้นมา ได้หยุดชะงักเป็นเวลากว่า 30 ปี เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก กระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาวะตึงเครียดทางอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรีนิยมกับโลกสังคมนิยม ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ พื้นที่ป่าเทือกเขาบรรทัดเขตรอยต่อของ จ.ตรัง พัทลุง และสตูล กลายเป็นฐานที่มั่นหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในภาคใต้งานศึกษาในช่วงเวลาต่อมา ได้ระบุว่า ชาติพันธุ์มานิ-นิกริโต ได้อาศัยอยู่ในดินแดนคาบสมุทรมลายูตั้งแต่ยุคหินกลาง (Middle Stone Age) หรือเมื่อประมาณ 1,500-10,000 ปีมาแล้ว (ชิน อยู่ดี, 2512) นักวิชาการบางส่วนได้ตั้งข้อสังเกตว่าชาติพันธุ์กลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับโฮโมเซเปียนส์เมื่อประมาณ 50,000 ปีมาแล้วหรือไม่อย่างไร คณะสำรวจของ Hill et al., (2006) ได้ศึกษาลักษณะทางพันธุ์ศาสตร์เพื่อดูความเชื่อมโยงดังกล่าว จากกลุ่มตัวอย่างชาวโอรังอัสลีหรือในขณะนั้นเรียกกันว่า เซมัง ในมาเลเซีย ผลการศึกษาพบว่า ชาติพันธุ์มานิ-นิกริโตบริเวณคาบสมุทรมลายูอาจเป็นชาติพันธุ์เดียวที่หลงเหลืออยู่และสามารถรักษาลักษณะทางพันธุกรรมดั้งเดิมของโฮโมเซเปียนส์ที่อพยพเข้ามาบริเวณคาบสมุทรแถบนี้ในครั้งแรกไว้ได้

ส่วนการศึกษาของนักวิชาการเกี่ยวกับความเป็นมาของการตั้งถิ่นฐานของชาวมานิให้ความเห็นไว้หลากหลาย และยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ประเด็นแรก คือ เส้นทางอพยพเข้าสู่แหลมมลายูของชาวมานิ สันนิษฐานว่ามี 2 เส้นทาง คือ เส้นทางแรก อพยพมาจากประเทศอินโดนีเซียผ่านมาเลเซียมายังภาคใต้ของไทย เส้นทางที่สอง อพยพมาจากประเทศจีน อินเดีย และศรีลังกา ก่อนเข้าสู่ภาคใต้ของไทย ในขณะที่นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่าชาวมานิเป็นกลุ่มชนเผ่าที่ตั้งถิ่นฐานก่อนชนชาติอื่นทั้งหมดในพื้นที่ภาคใต้ของไทยและพื้นที่บางส่วนของมาเลเซียและอินโดนีเซีย (วิสา เสกธีระ, 2557)

ในปี พ.ศ. 2534 งานศึกษาของสุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ (2534) ได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี และโครงกระดูกในถ้ำบริเวณเหนือคลองตง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง บริเวณที่ชาวมานิอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ผลการวิเคราะห์กะโหลกศีรษะและกรุ๊ปเลือดของโครงกระดูกสรุปได้ว่า มีความสอดคล้องกับลักษณะชาวมานิที่อาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ของไทย โดยหลักฐานทางโบราณคดีประเมินอายุได้ประมาณ 12,000 ปี (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2536) อย่างไรก็ตามในแหล่งโบราณคดีดังกล่าวพบร่องรอยการเข้ามาอาศัยของกลุ่มชนเชื้อสายมองโกลอยด์ก่อนการเข้ามาของชาวมานิ (วิสา เสกธีระ, 2557)

นอกจากนี้ มีงานศึกษาของกุลนภา ฟู่เจริญ (2540) ที่ศึกษาความเป็นมาของชาวมานิด้านพันธุศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของชนพื้นเมืองในประเทศไทย โดยศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมในระดับ DNA ของชาวไทยภูเขา ผู้ไท ชอง ลาวโซ่ง และชาวมานิ ผลการศึกษาระบุว่า ชาวมานิมีความสัมพันธ์กับชนกลุ่มอื่นน้อยมาก แต่สารพันธุกรรมกลับคล้ายคลึงกับกลุ่มคนในออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี แอฟริกัน และชาวยุโรป

ชาติพันธุ์มานิจัดอยู่ในเชื้อสายนิกริโต (Negrito) กลุ่มย่อยของนิกรอยด์ (Negroid) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่กระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ ในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา แบ่งกลุ่มนิกริโตออกเป็น 2 พวกคือ 1) พวกอัฟริกันนิกรอยด์ (African Negroid) เป็นนิกริโตที่อาศัยอยู่ในแถบทวีป แอฟริกา และ 2) พวกโอเชียนิคนิกรอยด์ (Oceanic Negroid) เป็นนิกริโตลูกผสมระหว่างพวกมองโกลอยด์ (Mongoloid) ออสตราลอยด์ (Australoid) และนิกรอยด์ (Negroid) ซึ่งมานิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดว่าเป็นกลุ่มโอเชียนิคนิกรอยด์ ได้อาศัยกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะต่าง ๆ ได้แก่ บริเวณภาคใต้ของไทยในเขตจังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ยะลา นราธิวาส ภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย และหมู่เกาะในประเทศฟิลิปปินส์ ลักษณะการตั้งถิ่นฐานทำให้เกิดการผสมผสานกับกลุ่มมองโกลอยด์ (Mongoloid) และออสเตรลอยด์ (Australoid) (Brandt, 1961 และวันเฉลิม จันทรากุล, 2544) กลุ่มชาติพันธุ์มานิในงานเขียนครั้งนี้จึงเป็นตัวแทนของกลุ่มนิกริโตที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในประเทศไทย 2 กลุ่มใหญ่ คือ มานิและโอรังอัสลี (กันซิวและจาไฮ) คาบสมุทรมลายูตอนบนของประเทศมาเลเซีย 6 กลุ่ม ได้แก่ กันซิว (Kensiw) คินตัค (Kintaq) จาไฮ (Jahai) เมนริก (Menriq) บาตั๊ก (Batek) และลาโนฮ์ (Lanoh) รวมถึงหมู่เกาะในประเทศฟิลิปปินส์ 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ อายตา (Aeta) อติ (Ati) บาตัก (Batak) และมาแมนวะ (Mamanwa)

การสำรวจประชากรกลุ่มชาติพันธุ์มานิในประเทศไทยมีการสำรวจในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนให้ชาวมานิสามารถเข้าถึงสถานะบุคคล อย่างไรก็ตามจากข้อมูล ปี พ.ศ. 2563 การดำเนินการสำรวจยังไม่เเล้วเสร็จ เนื่องจากมีชาวมานิบางส่วนมีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างกลุ่มและการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนไทยและมาเลเซีย เงื่อนไขข้างต้นจึงเป็นข้อจำกัดในการสำรวจจำนวนประชากรชาวมานิ

สถานการณ์ด้านประชากรของชาติพันธุ์มานิในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มมานิบริเวณเทือกเขาบรรทัด เนื่องจากยังใช้วิถีชีวิตดั้งเดิมและไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ยังไม่มีการวางแผนคุมกำเนิดรวมถึงการวางแผนครอบครัว ทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้น และอัตราการตายลดลงเมื่อเทียบกับอดีต เนื่องจากปัจจุบันชาวมานิส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐได้มากขึ้น ในด้านการแต่งงาน ชาวมานิมีโอกาสค่อนข้างจำกัดในการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรกลุ่มชาติพันธุ์มานิในประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มานิสูงกว่าในประเทศไทย

จากการสำรวจและจับพิกัด (GPS) การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์มานิบริเวณเทือกเขาบรรทัดระหว่างปี พ.ศ. 2561-2563 และข้อมูลการตั้งถิ่นฐานของชาติพันธุ์มานิ-โอรังอัสลีในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาสได้ข้อมูลกลุ่มและการตั้งถิ่นฐาน (บัณฑิต ไกรวิจิตรและคณะ,2562) โดยมีรายละเอียดดังตาราง

การดำรงชีพ

สภาพแวดล้อมและปัจจัยต่าง ๆ ล้วนส่งผลต่อการตั้งถิ่นฐานของชาวมานิทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย ปัจจุบันส่วนใหญ่จะอาศัยในเขตป่าและรอยต่อระหว่างป่ากับพื้นที่การเกษตร ดังเช่น ชาวมานิบริเวณเทือกเขาบรรทัด ตั้งทับบริเวณแนวชายป่าที่มีพื้นที่ติดกันระหว่างพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านกับพื้นที่ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ด้วยเหตุผลของความสะดวกในการติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือกับชาวบ้าน ประกอบกับการลดลงของแหล่งอาหารจากระบบนิเวศป่าเทือกเขาบรรทัด จึงเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ชาวมานิจำเป็นต้องมีการติดต่อและสัมพันธ์กับชาวบ้านเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของและอาหาร ในอดีตการเคลื่อนย้ายทับจะให้ความสำคัญกับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร เมื่อแหล่งอาหารที่อยู่ในพื้นที่นั้นเริ่มหมดลงก็จะมีการย้ายทับไปสู่แหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารใหม่ และมีโอกาสกลับมาตรงจุดเดิมในฤดูกาลใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่า แหล่งอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นจะมีการฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพเดิมนั้นหมายถึงการพึ่งพาระบบธรรมชาติแบบไม่ทำลายด้วยวิธีการหาอาหารแบบเข้าใจหลักของธรรมชาติ ในการย้ายถิ่นฐานนั้นยังมีสาเหตุอื่นที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ การเสียชีวิตของคนในกลุ่ม และการเกิดโรคติดต่อหรือโรคระบาด ดังนั้น เหตุผลสำคัญของการตั้งถิ่นฐานนอกเหนือจากแหล่งอาหารแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต ทั้งการเลือกที่อยู่ให้พ้นจากภัยของโรคระบาด ภัยจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และภัยอันตรายจากสัตว์ร้าย

ด้วยการดำรงชีวิตแบบเร่ร่อน ทำให้ชาวมานิไม่นิยมสะสมข้าวของเครื่องใช้เกินความจำเป็น ข้าวของเครื่องใช้ทุกชิ้นจำเป็นต้องมีน้ำหนักเบา และเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตเท่านั้น เช่น ตะกร้าใส่ข้าวของจำเป็น เสื้อผ้า อุปกรณ์ล่าสัตว์ เป็นต้น อุปกรณ์ในการดำรงชีพที่ชาวมานินิยมใช้ คือ ตะกร้ารูปแบบต่าง ๆ ที่สานขึ้นจากใบเตยป่า ส่วนใหญ่จะมีหูหิ้วหรือมีสายสะพายได้ มีขนาดแตกต่างกันไป เช่น สะเดี๊ยบ หยาด สอบมุก จ๋อง เป็นต้น ตะกร้าที่ใส่ข้าวของเหล่านี้สามารถนำไปแขวนไว้ในทับได้ ภาชนะเหล่านี้ใช้ใส่ข้าวของจำพวกเสื้อผ้า อุปกรณ์ในการดำรงชีพ กระบอกอาหาร กระบอกน้ำ และของใช้ส่วนตัว (จิราวดี อ่อนวงศ์, 2534) ดังนั้น การสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวมานิเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง เช่น การสร้าง “จ๋อง” รูปร่างคล้ายกระบุงทำจากใบเตยป่าไว้ใส่ของและหัวมัน การใช้ “ไม้อะนึง” สำหรับเป็นที่รองย่างไฟ การใช้หวายเป็นที่คีบถ่าน เรียกว่า “ฮะเต็บ” การทำเครื่องบ่งหนามจากกระดูกค่าง การใช้ใบไม้และเถาวัลย์มาห่อและมัดผลผลิตจากป่า ได้แก่ หัวมัน พืชสมุนไพร และผลไม้ เป็นต้น

อุปกรณ์ที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวมานิคือ อาวุธสำหรับล่าสัตว์ อาวุธที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ที่สุด ได้แก่ บอเลาหรือไม้ซาง ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “กระบอกตุด” เป็นเครื่องมือที่ทำด้วยไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าไม้ไผ่หลอดหรือไม้ไผ่ซาง บอเลาประกอบด้วย 2 ส่วน คือ บอเลาชั้นนอกกับบอเลาชั้นใน บอเลาชั้นนอกเป็นกระบอกไม้ไผ่ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางวงในประมาณ 2.5 เซนติเมตร ที่ต่อเข้ากันจำนวน 2-3 ท่อน ตามความยาวของไม้ที่นำมาใช้จนได้ความยาวประมาณ 2.5 เมตร การต่อไม้ไผ่ให้ยาวขึ้นนี้เพื่อช่วยเพิ่มแรงส่งให้ลูกดอกไปได้ไกลยิ่งขึ้น ระหว่างข้อต่อของไม้ไผ่แต่ละท่อนนั้นจะใช้ยางจากต้นจันหานมาเชื่อมต่อไม้ไผ่โดยใช้ไฟลนให้ติดกันจึงจะได้บอเลายาวตามที่ต้องการ ส่วนบอเลาชั้นใน ทำจากไม้ไผ่ประเภทเดียวกันแต่ใช้ขนาดเล็กกว่า ความยาวจะต้องเท่ากับบอเลาชั้นนอก การใช้งานจะต้องเอาบอเลาชั้นในนี้สอดเข้าไปไว้ในบอเลาชั้นนอก และเมื่อสอดบอเลาเข้าไปแล้วบริเวณปลายสุดของด้านที่จะใช้เป่านั้นต้องใช้ไม้ไผ่ที่ขัดเกลาให้เรียบสวมทับอีกชั้นแล้วเชื่อมให้ติดกันเพื่อให้ริมฝีปากแนบกันสนิทในขณะที่เป่า เมื่อนำไปใช้งานและได้สัตว์ที่มีขนกลับมา เช่น หมี ลิง ค่าง เป็นต้น ชาวมานิจะนำขนสัตว์เหล่านั้นมาถูกับบอเลาเพื่อให้มีกลิ่นสาบของสัตว์ ทำให้สัตว์ไม่ตื่นตกใจในขณะใช้งานและตุดสัตว์ได้ง่ายขึ้น

ส่วนบิลาหรือลูกดอกนั้นเป็นอุปกรณ์ที่ใช้คู่กับบอเลา ซึ่งทำจากหมากเจหรือไผ่ซางและทางระกำ บิลามีขนาดยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 – 2 มิลลิเมตร เสี้ยมปลายให้แหลม วัดจากส่วนปลายสุดเข้ามาประมาณ 3 เซนติเมตร จะต้องเหลาปลายให้คอดกิ่ว เมื่อเป่าถูกสัตว์จะได้หักติดอยู่ในตัวสัตว์ทันที และปลายอีกข้างหนึ่งของบิลานี้ก็เสี้ยมให้แหลมเช่นกันเพื่อนำไม้ระกำที่แต่งเป็นรูปกรวยติดไว้ สำหรับปลายแหลมของบิลาจะต้องชุบปลายลูกดอกนั้นด้วยยาพิษเรียกว่า “อิโป๊ะ” ทำมาจากยางของต้นไม้บางชนิด โดยเฉพาะยางน่อง (ด็อก) เป็นส่วนผสมสำคัญ มาเคี่ยวรวมกันจนมีลักษณะเหนียวข้นสีดำ เมื่อชุบปลายบิลากับอิโป๊ะเรียบร้อยแล้วจะนำมาใส่ไว้ใน “ฮอลลี่” ทำจากหลอดไม้ไผ่ขนาดเล็ก นำฮอลลี่แต่ละอันมาผูกด้วยหวายและม้วนเก็บใส่ไว้ในกระบอกสำหรับใส่ลูกดอก เรียกว่า “มะนึก” ทำจากไม้ไผ่ป่า โดยจะนำขุยเต่าร้างใส่ไว้ในมะนึกด้วย ไว้ใช้เวลาเป่าบอเลาจะนำขุยเต่าร้างยัดในปากกระบอก เพื่อให้ลูกดอกแน่นและสามารถเป่าได้ไกล กระบอกมะนึกจะมัดด้วยหวายเพื่อสะพายไว้กับตัว

นอกจากนี้ยังมีภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการล่าสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น การใช้ใบไม้สดและกิ่งไม้สำหรับจุดไฟให้เกิดควันเพื่อล่าหมูดินและจับผึ้ง เป็นต้น นอกจากนี้ชาวมานิได้ปรับใช้ภูมิปัญญามาผสมผสานกับเครื่องมือของชาวบ้าน เช่น การใช้แร้วดัดหมูป่าแบบมานิ สำหรับภูมิปัญญาในการจุดไฟ กองไฟเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชาวมานิ พวกเขาพึ่งพากองไฟในแทบทุกมิติ ทั้งใช้ในการประกอบอาหาร ต้มน้ำ เผามัน ย่างสัตว์ ทำกระบอกตุดและลูกดอก ให้ความอบอุ่นคลายหนาว ให้แสงสว่าง ไล่แมลงและสัตว์ร้ายต่าง ๆ ให้ความมั่นคงทางด้านจิตใจ เป็นต้น ดังนั้น การจุดไฟจึงต้องอาศัยภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากพืชในป่า ประกอบด้วย ไม้ไผ่ซางผ่าซีกและเจาะรูตรงกลางหรือไม้เล็ก ๆ นำมาผ่าซีกนำเส้นใยจากต้นเต่าร้างซึ่งเป็นเชื้อไฟอัดเข้าไประหว่างรอยผ่าหรือใส่ในกระบอกไม้ไผ่ที่ผ่าซีกและวางบนรูที่เจาะไว้ หลังจากนั้นใช้หวายสอดไปด้านล่างกระบอกไม้ไผ่หรือกิ่งไม้ให้ตรงกับตำแหน่งที่มีเส้นใยเต่าร้างอยู่ ใช้เท้าเหยียบลงบนไม้ไผ่หรือกิ่งไม้ให้แน่นและใช้มือจับปลายหวายทั้งสองด้านถูให้เกิดควัน และเป่าจนกระทั่งติดไฟ

พืชที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวมานิ คือ หัวมันชนิดต่าง ๆ เช่น มันหลา มันปูน มันหมู มันทราย มันอ้น มันโสม มันช้าง มันเทศ บอน กลอย เป็นต้น รวมถึงการหาพืชจำพวกหน่อไม้ ยอดไม้ ผลไม้ และเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่ใช้เป็นอาหารได้ การหาอาหารจากพืช ถือเป็นกิจกรรมหลักที่ทำให้ชาวมานิสามารถอยู่รอดได้ในป่า ผู้หญิงและเด็ก หญิงชาวมานิจะมีหน้าที่ขุดมัน คนกลุ่มนี้จึงมีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่องพืชพันธุ์ต่าง ๆ หัวมันบางชนิดมีพิษ แต่หญิงชาวมานิมีกรรมวิธีในการกำจัดพิษ วิธีการขุดมันชาวมานิจะเหลือหัวมันไว้ส่วนหนึ่งเพื่อให้เติบโตต่อไป ในการขุดหาหัวมันและอาหารของหญิงชาวมานิจะไปกันเป็นกลุ่ม แต่ละคนรับผิดชอบหาอาหารในส่วนของครอบครัวของตนเป็นหลัก และอาจมีการแบ่งปันอาหารให้กับคนแก่และคนป่วยที่ไม่สามารถออกไปหาอาหารได้ หากพบผลไม้บนต้นที่ยังไม่สุกชาวมานิจะทำการปักกำไว้ เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ การปักกำทำโดยนำท่อนไม้ที่มีใบมามัดเป็นจุกตรงปลาย แล้วนำไปปักไว้ตรงโคนต้นที่จับจอง (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2536; เกศริน มณีนูน และพวงเพ็ญ ศิริรักษ์, 2546; วิสา เสกธีระ, 2557 ; ฉัตรวรรณ พลเพชร, 2557)

การล่าสัตว์เป็นหน้าที่ของผู้ชายมักไปกันทั้งครอบครัวหรือทั้งกลุ่ม ส่วนผู้สูงอายุและเด็กซึ่งเดินทางไม่สะดวกจะอยู่ที่ทับ วิธีการล่าสัตว์มีการเป่าบอเลา (ไม้ซาง) ซึ่งบรรจุลูกดอกที่อาบด้วยยางน่อง การเป่าลูกดอกพิษนี้ใช้จับสัตว์ใหญ่ไม่นิยมใช้กับสัตว์เล็ก เพราะส่วนที่โดนยิงจะมีพิษทำให้ไม่สามารถรับประทานได้ พิษจากยางน่องเป็นพิษร้ายแรงไม่มีทางแก้ไข ชาวมานิจึงมีความระมัดระวังมากเวลาใช้พิษชนิดนี้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการจับสัตว์ต่าง ๆ เช่น การเป่าลูกดอกที่ไม่ได้อาบพิษยางน่อง การไล่ต้อนแล้วดักตี การแทงด้วยหอก

การใช้หินขว้าง เป็นต้น และยังมีการใช้เครื่องมือจับสัตว์แบบชาวบ้าน เช่น เบ็ดตกปลา อีมุ้ม แร้ว เป็นต้น สัตว์ที่ชาวมานินิยมจับมาบริโภค เช่น มูสัง ลิง ค่าง เลียงผา หมูดิน หมูป่า กระรอก นก ปลา เต่า ตะพาบน้ำ เป็นต้น หญิงชาวมานิก็สามารถจับสัตว์ขนาดเล็กเพื่อเป็นอาหารได้เช่นกัน

การออกล่าสัตว์มักเป็นช่วงเช้า สมาชิกผู้ชายในกลุ่มจะแบ่งกันเป็นกลุ่มย่อยออกไปล่าสัตว์ในจุดต่าง ๆ จะออกล่าสัตว์เป็นกลุ่มเล็ก เพื่อไม่ให้เกิดเสียงดังจนสัตว์รู้ตัว การออกล่าสัตว์นี้ขึ้นอยู่กับฝีมือส่วนหนึ่งและต้องมีโชคด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะสามารถจับสัตว์ได้ เมื่อจับสัตว์มาได้เนื้อสัตว์นั้นจะถูกแบ่งปันอย่างยุติธรรม ผู้ที่จับสัตว์ได้จะได้ส่วนแบ่งที่ดีที่สุดไป ส่วนที่เหลือก็จะแจกจ่ายให้กับสมาชิกคนอื่น ๆ ในกลุ่ม การจับสัตว์ของชาวมานิจะทำแค่พอกินเท่านั้น วิธีการถนอมอาหารมีแค่เพียงการย่างให้แห้งเพื่อยืดอายุให้รับประทานได้นานขึ้น ดังนั้น การล่าเพื่อให้ได้เนื้อสัตว์มาก ๆ จึงไม่มีความจำเป็น นอกจากนี้ชาวมานิยังมีคติความเชื่อที่ทำให้การล่าสัตว์เป็นไปอย่างไม่เบียดเบียนธรรมชาติ เช่น มีความเชื่อว่าจะไม่ล่าสัตว์ที่ตั้งท้อง และเชื่อว่าสัตว์ต่าง ๆ มีเจ้าที่เจ้าทางเป็นเจ้าของและจะล่าเมื่อจำเป็นเท่านั้น จะเห็นได้ว่าสมาชิกในกลุ่มของชาวมานิทุกคนจะทำหน้าที่ช่วยกันหาอาหารโดยมีหัวหน้ากลุ่มหรือผู้อาวุโสภายในกลุ่มเป็นผู้จัดสรรอาหารให้ทุกคนอย่างยุติธรรม (ไพบูลย์ ดวงจันทร์, 2523; อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2536; สุวัฒน์ ทองหอม, 2544 และวิสา เสกธีระ, 2557)

ชาวมานิบางกลุ่มที่ติดต่อกับชาวบ้านได้เรียนรู้ที่จะเก็บผลผลิตจากป่าตามฤดูกาลร่วมกับการทำการเพาะปลูก เช่น ทำข้าวไร่เพื่อบริโภค สับเปลี่ยนกับการหาของป่าจำพวกสะตอ ลูกเนียง ลูกเหรียง น้ำผึ้ง

ไม้กฤษณา สมุนไพรต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อนำมาขายให้กับชาวบ้านและนำเงินมาซื้อข้าวสาร ปลาเค็ม และเกลือ ปัจจุบันชาวมานิเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไร่มาเป็นการทำสวนยางพารา และการประกอบอาชีพรับจ้างชาวบ้าน เช่น การถางหญ้า กรีดยางเพื่อเป็นการหารายได้ เป็นต้น การเพาะปลูก การหาของป่าและการรับจ้างดังกล่าวสามารถทำให้ชาวมานิมีรายได้ในการซื้อหาอาหาร และสามารถตั้งถิ่นฐานได้ถาวรมากขึ้น (ไพบูลย์ ดวงจันทร์, 2541; พัชสนันท์ ชูสง, 2553 และวิสา เสกธีระ, 2557)

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวมานิบริเวณเทือกเขาบรรทัดไม่มีการนับถือศาสนาที่ชัดเจน ในอดีตชาวมานิแถบนี้ทั้งหมดจะให้ความเคารพต่อธรรมชาติที่อยู่รอบตัวแวดล้อมตัว ชาวมานิมีความผูกพันอย่างลึกซึ้งต่อป่า ลำธาร ต้นไม้ พืช สัตว์ และธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งเกื้อกูลชีวิตในทุกด้าน ป่าจึงเป็นแหล่งที่ให้คุณค่าทางจิตวิญญาณ บ่งบอกถึงที่มาและแผ่นดินที่บรรพบุรุษเคยอาศัยมาอย่างยาวนาน ชาวมานิกลัวอำนาจของวิญญาณและนางไม้ในต้นไม้บางชนิด เชื่อในวิถีปฏิบัติต่อธรรมชาติ แสดงออกโดยมีพิธีกรรมที่เคารพธรรมชาติ และมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ในปัจจุบันชาวมานิส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อและเคารพธรรมชาติอย่างเข้มข้น เมื่อเริ่มมีความสัมพันธ์กับชาวบ้านภายนอกป่า เริ่มเรียนรู้ศาสนาที่ชาวบ้านแถบนั้นนับถือ ดังกรณีชาวมานิบริเวณอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง มีความสัมพันธ์และไว้เนื้อเชื่อใจกับชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลาม เมื่อมานิบางคนเสียชีวิตชาวบ้านแถบนั้นจึงนำศพมาทำพิธีตามหลักศาสนาอิสลาม เช่นผู้หญิงโอรังอัสลีในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาสที่อาศัยอยู่ใกล้กับชุมชนมุสลิมจะนิยมนำผ้าฮิญาบมาคลุมศีรษะเฉกเช่นเดียวกับหญิงมุสลิมในขณะที่ชาวมานิกลุ่มวังสายทอง อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีความใกล้ชิดและสัมพันธ์กับชาวบ้านแถบนั้นซึ่งนับถือศาสนาพุทธ เมื่อมีมานิเสียชีวิตชาวบ้านจึงนำศพมาจัดงานในวัดและเผาศพตามหลักศาสนาพุทธ

ความเชื่ออื่น ๆ

ชาวมานิเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติที่เกิดอยู่ในจิตสำนึกที่เชื่อมโยงและผูกพันกับระบบนิเวศ ได้แก่ พืช สัตว์ สถานที่ และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ความเชื่อหลายประการที่บ่งชี้ได้ชัดว่าพวกเขาเคารพและนอบน้อมต่อธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งรายละเอียดของความเชื่อที่จะนำเสนอได้จากการสำรวจกลุ่มชาวมานิบริเวณป่าเทือกเขาบรรทัด ดังนี้

  • ความเชื่อเกี่ยวกับการล่าสัตว์ พวกเขามีความเชื่อว่าห้ามนำสัตว์ใหญ่มาเป็นอาหาร เช่นช้าง เสือ หมี เนื่องจากสัตว์ใหญ่ที่ดุร้ายมีความเสี่ยงต่อชีวิต ส่วนสัตว์สวยงามบางชนิดอย่างเช่น สมเสร็จ ชาวมานิจะไม่นิยมนำมารับประทานเพราะเป็นสัตว์ที่มีลักษณะพิเศษ หาดูได้ยาก จึงควรเก็บไว้ชื่นชมให้อยู่คู่กับธรรมชาติ ความเชื่อเกี่ยวกับการออกไปล่าสัตว์หากมีการสะดุดล้มเมื่อเริ่มออกเดินทาง พวกเขาจะเปลี่ยนเส้นทางทันที โดยเชื่อว่าถ้ายังเดินไปในทิศทางเดิมจะเป็นอันตรายได้
  • ความเชื่อเกี่ยวกับลางสังหรณ์ เมื่อใดที่ชาวมานิสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่แปลกแตกต่างไปจากเดิมหรือมีลางสังหรณ์ไม่ดี มีอาการขนลุกขนพอง ใจสั่น แสดงว่าพื้นที่บริเวณนั้นมีผีหรือเจ้าที่แรง โดยชาวมานิจะไม่เลือกบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งทับและจะไม่ล่าสัตว์บริเวณนั้นเป็นอันขาด
  • ความเชื่อเกี่ยวกับการเลือกที่ตั้งทับและการย้ายทับ ในการเลือกสถานที่เพื่อตั้งทับใหญ่ทั้งกลุ่ม ชาวมานิจะไม่เลือกสถานที่ที่มีจอมปลวกสีดำ พวกเขาจะไม่เลือกตั้งทับบริเวณดังกล่าว เพราะเชื่อว่าบริเวณเหล่านั้นมีผีดินอาศัยอยู่ ส่วนบริเวณไหนที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะต้นหลุมพอ เชื่อกันว่าจะมีผีอาศัยอยู่ตามโคนต้นไม้ และเมื่อได้ที่ตั้งทับทั้งกลุ่มแล้วก่อนจะเลือกบริเวณที่จะสร้างทับของแต่ละครัวเรือน ผู้ชายจะเดินสำรวจโดยใช้เท้าเหยียบบริเวณที่ต้องการสร้างทับ เมื่อวางเท้าลงบนดินบริเวณนั้นแล้วมีความรู้สึกเย็นจากฝ่าเท้าไปจนถึงศีรษะ ก็จะเลือกบริเวณดังกล่าวเป็นที่สร้างทับ แต่ถ้ามีความรู้สึกร้อนจะไม่เลือกพื้นที่ตรงนั้นเด็ดขาด
  • ความเชื่อในเรื่องของผีในต้นไม้ใหญ่ โดยพวกเขาเชื่อว่าในต้นไม้บางชนิด โดยเฉพาะไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ จะมีสิ่งเร้นลับอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นมานิที่ไม่ใช่มนุษย์ทั่วไปสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ในต้นไม้ดังกล่าวได้ และต้นไม้เหล่านั้นห้ามตัดโดยเด็ดขาด
  • ความเชื่อห้ามตัดต้นไม้บางชนิดที่มีขนาดใหญ่ เชื่อว่า ถ้าใครที่ฟันต้นไม้เหล่านี้จะทำให้ฟ้ามืดดำ ฝนฟ้าจะตกลงมาอย่างหนัก แม้ว่าก่อนตัดฟ้าจะสว่างก็ตาม จึงเป็นข้อห้ามตัดต้นไม้เหล่านี้โดยเด็ดขาด
  • ความเชื่อต่อการลงโทษจากธรรมชาติ ชาวมานิเชื่อว่าหากไม่ทำตามพิธีกรรม เรื่องการเคารพสัตว์ในขณะย่างไฟ หรือขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับการนำสัตว์มากินเป็นอาหาร เชื่อกันว่าจะถูกธรรมชาติลงโทษ เช่น ฝนตกหนัก ลมแรง และต้นไม้หักโค่น ฟ้าแลบฟ้าผ่า ดินและหินถล่ม เป็นต้น

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในความหมายของชาวมานิ คือ พื้นที่ที่ปรากฏตามความเชื่อในสถานที่ที่เชื่อมโยงกับต้นไม้และสัตว์ป่าบางชนิด รวมถึงแหล่งน้ำ เช่น พื้นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่เชื่อมโยงกับความเชื่อห้ามตัดและมีสิ่งเร้นลับอาศัยอยู่ในต้นไม้ใหญ่นั้น จึงเป็นบริเวณที่หวงห้ามเป็นพิเศษ โดยห้ามมิให้ทำลายพื้นที่ หรือใช้ประโยชน์จากต้นไม้ในบริเวณดังกล่าว ส่วนลักษณะของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เชิงจิตวิญญาณของชาติพันธุ์มานิที่เด่นชัดไม่ปรากฏชัดเจน

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ชาวมานิมีพิธีกรรมที่เชื่อมโยงกับความเชื่อและวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ ทั้งการนำพืชและสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาใช้ในการประกอบพิธีกรรม รวมถึงสถานที่ธรรมชาติในการประกอบพิธีกรรม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการได้รับประโยชน์จากป่าแทบทั้งสิ้น ประกอบด้วย

ลักษณะสังคมแบบเดิมของชาวมานิในพื้นที่เทือกเขาบรรทัดไม่พบประเพณีหรือพิธีกรรมสำคัญในรอบปี แต่ต่อในช่วงประมาณ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชาวบ้านพื้นราบ มีความพยายามในการจัดงานวันรวมญาติมีเพื่อเปิดพื้นที่ให้นำชาวมานิกลุ่มต่าง ๆ มาพบปะเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

พิธีกรรมการทำคลอดเด็ก เมื่อเด็กทารกคลอด พ่อจะทำหน้าที่หลักในการทำคลอด และจะมีผู้สูงอายุในทับ ทำหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนและรายละเอียดในการทำคลอดในกรณีที่มีลูกคนแรก ในกรณีที่พ่อไม่สามารถทำคลอดได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการเข้าป่าเพื่อหาอาหาร จะมีบุคคลที่เชี่ยวชาญในกลุ่มทำคลอดแทน ขั้นตอนการทำคลอดเริ่มจากการก่อไฟในทับและต้มน้ำ เมื่อเด็กคลอดออกมาพ่อจะใช้ ละงุ (ไม้ไผ่) เหลาให้บางและใช้ตัดสายสะดือเด็ก รกและสายสะดือจะฝังบริเวณกองไฟในทับ และแม่จะใช้เลือดทาบริเวณหน้าผาก ฝ่ามือ และฝ่าเท้าของเด็ก พร้อมทั้งกล่าวว่า “ขอให้เด็กแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่งอแง” หลังจากนั้นนำเด็กไปล้างทำความสะอาดบริเวณแหล่งน้ำใกล้กับทับ

การแต่งงาน หย่าร้าง

การแต่งงานนั้นของชาวมานิไม่มีขั้นตอนหรือพิธีกรรมซับซ้อนมากนัก เมื่อฝ่ายหญิง – ชาย ชาวมานิ มีความรู้สึกรักใครชอบพอกัน ฝ่ายหญิงจะเข้าไปอยู่กินกับฝ่ายชายในทับของฝ่ายชาย และเมื่อจะเลิกรากันฝ่ายหญิงจะเป็นคนตัดสินใจที่จะเลิก และเลือกที่จะอยู่ร่วมแบบสามีภรรยากับชายชาวมานิคนใหม่ โดยสามีคนเดิมจะไม่โกรธหรือไม่มีความขัดแย้งใด ๆ เคารพในการตัดสินใจเลือกของฝ่ายหญิงชาวมานิ สะท้อนให้เห็นว่า การแต่งงานและการเปลี่ยนคู่ของชาวมานิ ฝ่ายหญิงเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจหลัก

การตาย และการทำศพ

ชาวมานิบริเวณเทือกเขาบรรทัดมีความเชื่อและให้ความเคารพต่อธรรมชาติค่อนข้างสูง มิติของความตาย จึงหมายถึง การคืนกลับสู่ธรรมชาติ ในอดีตเมื่อมีมานิในทับป่วยหนัก เขาจะถูกทิ้งไว้ในทับคนเดียวพร้อมด้วยกองไฟและหัวมัน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความคิดเรื่องชีวิตหลังความตาย หากแต่เป็นการก่อกองไฟและอาหารไว้เผื่อว่ามานิคนนั้นหายป่วยจะได้กินหัวมันที่วางไว้นั้น จากนั้นมานิคนอื่น ๆ จะย้ายทับไปอยู่ที่ใหม่ มานิที่ย้ายทับไปแล้วจะแวะเวียนมาดูว่ามานิป่วยที่ถูกทิ้งไว้นั้นเสียชีวิตแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ หากเสียชีวิตจะไม่กลับมาดูอีก และจะปล่อยให้ผู้เสียชีวิตย่อยสลายไปตามธรรมชาติ ประเด็นดังกล่าวนี้สอดคล้องกับข้อค้นพบของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่ได้ค้นหาโครงกระดูกของคนดั้งเดิมแล้วพบกระดูกของชาวมานิน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม การติดต่อสัมพันธุ์กับคนภายนอกทำให้พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของมานิเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ เมื่อมีชาวมานิเสียชีวิตมักจะมีการฝังตามคำแนะนำของคนภายนอกที่เขาติดต่อสัมพันธ์อยู่ด้วย รวมทั้งการวางอาหารเสื้อผ้าไว้ในหลุมศพ ซึ่งเป็นความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตายตามชาวบ้านพื้นราบ

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

ผู้ศึกษาพบว่า ชาวมานิ – โอรังอัสลี ในจังหวัดชายแดนยะลาและนราธิวาสมีพิธีกรรมเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ “อลึจ” ตามที่กล่าวมาแล้ว การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กระทำได้ด้วยการระลึกถึง เพื่อให้ช่วยเหลือหรือปกปักรักษาสมาชิกภายในกลุ่ม ไม่พบพิธีกรรมที่มีความซับซ้อน

นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมบูชาเทพเจ้าเป็นประจำทุกเดือนในกลุ่มโอรังอัสลีพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อขอพรให้เกิดความสุข ความเจริญ โดยดูปฏิทินตามแบบจันทรคติ คือ ถือพระจันทร์เป็นเกณฑ์ โดยกำหนดให้ภายใน 1 เดือนจะจัดพิธีกรรมบวงสรวงเทพเจ้าในวันขึ้น 6 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ และแรม 4 ค่ำ พิธีกรรมดังกล่าวจะมีการอาบน้ำมนต์ที่คั้นน้ำมาจากต้นอ้อ ระหว่างประกอบพิธีจะมีการบรรเลงดนตรีประกอบด้วย (หฤทัย ฟ้าแสงสรรค์, 2554)

พิธีกรรมเกี่ยวกับการทำมาหากิน

ชาวมานิจะมีพิธีกรรมที่ไม่สลับซับซ้อนมากนัก ล้วนเป็นพิธีกรรมที่เชื่อมโยงกับวิถีธรรมชาติแทบทั้งสิ้น ได้แก่

  • การปักกำ เป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้รู้ว่าบริเวณดังกล่าวห้ามไม่ให้ใครเข้ามารบกวน โดยการนำไม้ขนาด 1 เมตรมาปักไว้หน้าทับ ผ่าปลายยอดไม้และใช้ใบไม้เสียบไว้ การปักกำอีกกรณีหนึ่ง คือ เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของหรือการจับจองต้นไม้ที่มีผลไม้เต็มต้น โดยเฉพาะต้นมะไฟป่า
  • การไล่ฝน เป็นการขอร้องและอ้อนวอนให้ฝนไม่ตกในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงเวลาที่ต้องการ โดยชาวมานิจะนำต้นบิฮาและกะส่าย (ยาหนูต้น) มาเผาไฟ และเอามือโอบควันไฟมาเป่าขึ้นไปบนฟ้าพร้อมกับกล่าวคำอ้อนวอนต่อดินฟ้าเพื่อไม่ให้ฝนตก หลังจากนั้นนำภาชนะมาใส่น้ำและใช้ใบกะพ้อตวัดน้ำขึ้นไปบนฟ้าและเปล่งเสียงออกมา
  • การนำสัตว์มาประกอบอาหาร เป็นการแสดงความเคารพต่อสัตว์บางชนิดที่นำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะลิงและพญากระรอกดำ ด้วยการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ คือ การนำสัตว์มาย่างไฟ จะมีขั้นตอนในการปฏิบัติ โดยสัตว์ชนิดเดียวกันสามารถใช้กองไฟในการย่างร่วมกันได้ แต่ห้ามไม่ให้ใช้ไฟกองเดียวกันในการย่างสัตว์ต่างชนิด ส่วนคนที่ทำหน้าที่นำสัตว์มาย่างไฟจะย่างได้ครั้งละ 1 ชนิด หากต้องการย่างสัตว์ต่างชนิดกันต้องล้างมือให้สะอาดก่อนลงมือทำ

การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสุขภาพ เช่น พิธีกรรมปัดเป่าควบคู่กับการใช้สมุนไพร เรียกพิธีกรรมนี้ว่า “ซาโอซ” โดยจะมีผู้สูงอายุในทับและมีความสามารถในการใช้สมุนไพรรักษา จะนำพืชสมุนไพร เช่น หัวไพล นำมาขยี้ พร้อมกับกล่าวคาถาและทาลงบริเวณที่บาดเจ็บ หรือนำต้นจังรนมาขยี้พร้อมกับกล่าวคาถาและนำมาพันรอบศีรษะบรรเทาอาการปวดหัว

ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม

จากการศึกษาในพื้นที่และการสำรวจข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีกรรมของชาวมานิ จะมีการจัดแบ่งบทบาทของผู้นำในการประกอบพิธีกรรมแต่ละพิธีแตกต่างกัน เช่น พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสุขภาพ ผู้สูงอายุชาวมานิที่มีความรู้ในการรักษาด้วยพืชสมุนไพรจะเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม เช่นเดียวกันกับ พิธีกรรมไล่ฝน ที่เป็นบทบาทของผู้สูงอายุชาวมานิในกลุ่มด้วย อย่างเช่น เฒ่าลอยของกลุ่มรักษ์ป่าบอน จังหวัดพัทลุง จะเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมสำคัญทั้งการซาโอซ รักษาอาการเจ็บป่วย และพิธีกรรมไล่ฝน ส่วนพิธีกรรมปักกำและพิธีกรรมการนำสัตว์มาประกอบอาหาร จะเป็นบทบาทหน้าที่ของชายชาวมานิที่เป็นผู้ใหญ่ สามารถออกล่าสัตว์ได้เองเป็นผู้ทำพิธีกรรมดังกล่าว

กรมศิลปากร, กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. (2513). นางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพมหานคร: ศิลปาบรรณาการ.

กุลนภา ฟู่เจริญ. (2540). บีตาโกลบินยีนแฮพโพลไทป์และดีเอ็นเอโพลิมอร์ฟิส์มของไมโตคอนเดรียในชนกลุ่มน้อยของประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

เกศริน มณีนูน และพวงเพ็ญ ศิริรักษ์. (2546). ซาไก ชนกลุ่มน้อยภาคใต้ของไทย. กรุงเทพฯ:โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮาส์.

เกศริน มณีนูน. (2544). พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชนเผ่าซาไกในจังหวัดตรัง พัทลุง และยะลา. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพฤกษศาสตร์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

จิตร ภูมิศักดิ์. (2535). ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอมและลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ : ฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติมข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศยาม.

จิราวดี อ่อนวงศ์. (2534). การสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของสังคมซาไก ศึกษาเฉพาะกรณี ซาไกกลุ่มเจ้าพะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง. สารนิพนธ์ปริญญาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2561). เงาะป่า. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์.

ฉัตรวรรณ พลเพชร. (2557). การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตด้านปัจจัยพื้นฐานอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ: กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ซาไก อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาประยุกต์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ชาตรี พรหมสมบัติ และคณะ. (2553). ซาไกแห่งเทือกเขาบรรทัดในชุมชนวังสายทอง : การปรับตัวของเจ้าแห่งพงไพรในวิถีทุน. ในโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น. เอกสารอัดสำเนา.

ชิน อยู่ดี. (2512). คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. พระนคร: สำหนักพิมพ์อักษรบัณฑิต.

ชุมพร โพธิสาร และภัทราพันธ์ อุดมศรี. (2560). ภาษามานิ (ซาไก). วารสารวัฒนธรรม. 56(4) ตุลาคม-ธันวาคม 2560. 70-77.

เชิญขวัญ ภุชฌงค์. (2549). การสื่อสารของกลุ่มซาไกที่ย้ายถิ่นฐานมาสู่ชุมชนเมืองในการปรับตัวและการแสดงอัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตรพัฒนาการ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ญิบ พันจันทร์. (2536). ชีวิตดั่งฝันที่เทือกเขาบรรทัด. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศิลปะวรรณกรรม.

ทยา เตชะเสน์. (2553). ดนตรีซาไก กรณีศึกษาตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาดนตรีชาติพันธุ์วิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

บัณฑิต ไกรวิจิตร และคณะ. (2562). ชาวโอรังอัสลี ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 92 ตอนที่ 181 ลงวันที่ 4 กันยายน 2518.

ไพบูลย์ ดวงจันทร์. (2523). ซาไก เจ้าแห่งขุนเขาและสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.

ไพบูลย์ ดวงจันทร์. (2541). คำและประโยคในภาษาซาไก. วารสารมนุษยศาสตร์ปริทรรศน์. ปีที่ 20 (2541) หน้า 47-61.

ไพบูลย์ ดวงจันทร์. (2545). ภาษาซาไก: ภาษาที่กำลังจะสูญหาย. ค้นเมื่อ กันยายน 5, 2560, จาก http://kids-d.swu.ac.th/dspace/bitstream/123456789...

ไพบูลย์ ดวงจันทร์. (2547). “ซาไก” โครงการวิจัยแผนที่ภูมินิทัศน์ภาคใต้: ฐานเศรษฐกิจและทุนวัฒนธรรม. สงขลา: มหาวิทยาลัยทักษิณ.

ไพบูลย์ ดวงจันทร์. (2548). “ซาไก: แหล่งอาศัยและวิถีชีวิต,” ใน โครงการแผนที่ภูมินิทัศน์ภาคใต้: ฐานเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรม. ทุนสนับสนุนโดยสํานักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

มณีรัตน์ โชติกกำธร และพุทธชาด ธ.โปธิบาล. (2537). ความแตกต่างระหว่างภาษาซาไกกับภาษาไทย: ระบบเสียง. วารสารสงขลานครินทร์. 1(1) กันยายน – ธันวาคม 2537.

เยาวลักษณ์ วิลัย. (2538). ลักษณะแฮปโพลไทป์ของยีนบีตาอี-โกลบินในชนเผ่าซาไกและชาวชอง. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

รตพร ปัทมเจริญ. (2554). ผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อกลุ่มชาติพันธุ์: กรณีเปรียบเทียบมอแกนกับซาไก. วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 17(3) พ.ค. - มิ.ย. 2554.

วัชรินทร์ ดำรงกูล และปัตติกาญจน์ บรรดาศักดิ์. (2553). รายงานการวิจัยเรื่องแนวทางการจัดการกลับคืนถิ่นชนเผ่าซาไก : กรณีศึกษา ซาไกตระกูลศรีธารโต. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.

วันเฉลิม จันทรากุล. (2544). งาะป่า-ซาไก นิเชาเมืองไทย ชนป่าที่กำลังสูญสลาย. กรุงเทพมหานคร: ดวงกมลสมัย.

วิสา เสกธีระ. (2557). การตั้งถิ่นฐานและที่อยู่อาศัยของชาวมันนิ. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วีรวัฒน์ สุขวราห์. (2539). พฤติกรรมสุขภาพของชาวซาไก กรณีศึกษาบ้านซาไก ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2558). ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ. (2534). รายงานเบื้องต้นการขุดค้นที่ถ้ำหมอเขียว จ.กระบี่, ถ้ำซาไก จ.ตรัง และการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาทางโบราณคดีชนกลุ่มน้อยซาไก จ.ตรัง. กรุงเทพมหานคร: โครงการวิจัยวัฒนธรรมโหบินเนียนในประเทศไทย.

สุรินทร์ ภู่ขจร และคณะ. (2541). “ผลวิเคราะห์ข้อมูลชาติพันธุ์วิทยา “ซาไก” ทางโบราณคดี” ใน สรุปผลการสัมมนาทางวิชาการระดับชาติเรื่อง เงาะป่า ของกรมศิลปากร. หน้า 95-165 กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

สุวัฒน์ ทองหอม. (2536). เงาะ ชนผู้อยู่ป่า ชาติพันธุ์มนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่ยังเหลืออยู่. ตรัง: ทันเวลา.

สุวัฒน์ ทองหอม. (2544). การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของชนเผ่าซาไกจังหวัดตรัง หลังจากการประกาศใช้นโยบายใต้ร่มเย็น. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา, มหาวิทยาลัยทักษิณ.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และชุมพล โพธิสาร. (2558). มานิ (ซาไก) ชนพื้นเมืองในภาคใต้ของไทย. วารสารดำรงวิชาการ. 33-36.

เสาวนีย์ พากเพียร. (2532). การศึกษาระบบเสียงภาษาซาไกแต็นแอ๊น ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

หฤทัย ฟ้าแสงสรรค์. (2554). ดนตรีชนเผ่าโอรังอัสรี กรณีศึกษาหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 10 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา. ปริญญานิพนธ์ ศป.ม. (มานุษยดุริยางควิทยา) กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

อนงค์ เชาวนะกิจ. (2552). กลุ่มชาติพันธุ์มันนิ (ซาไก) : แนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูสังคมวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมภาคใต้. ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2536). การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศกับสังคมและวัฒนธรรมของซาไก: กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ซาไกกลุ่มเหนือคลองตง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

อิสระ ชูศรี และคณะ. (2555). โครงการวิจัยการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชนหาของป่า-ล่าสัตว์ในประเทศไทย. นครปฐม: ศูนย์ศึกษาและฟื้นหูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

Albrecht, G., Moser, J. (1998). Recent Mani Settlements in Satun Province, Southern Thailand. Journal of the Siam Society, Vol. 86, Parts 1 & 2.

Balilla, Vincent S., Anwar McHenry, Julia, McHenry, Mark P., Parkinson, Riva Marris and Banal, Danilo T. (2013). "Indigenous Aeta Magbukún Self-Identity, Sociopolitical Structures, and Self-Determination at the Local Level in the Philippines". Journal of Anthropology. 2013: 1–6.

Benjamin, G. (2012). The Aslian languages of Malaysia and Thailand: an assessment. In Stuart McGill & Peter K. Austin (eds). Language Documentation and Description, vol 11. London: SOAS. pp. 136-230.

Benjamin, G. (2013). Why Have the Peninsular “Negritos” Remained Distinct? Human Biology, February–June 2013, v. 85, no. 1–3, pp. 445–484.

Blench, Roger and Dendo, Mallam. (2006). Why are Aslain-speakers Austronesian in culture? paper presented at the Preparatory meeting for ICAL-3, EFEO, SIEM REAP, 28-29th June 2006.

Dunn, M., Burenhult, N., Kruspe, N., Tufvesson, S., and Becker, N., Aslian linguistic prehistory A case study in computational phylogenetics. Diachronica 28:3 (2011), 291–323.

Endicott, K. (ed.) (2016). Introduction. In Endicott, K. (ed.), Malaysia’s Original People: Past, Present and Future of the Orang Asli. (pp.1-38). Singapore: NUS Press.

Griffin, P. Bion. (2001). "A Small Exhibit on the Agta and Their Future". American Anthropologist. 103 (2): 515–518.

Headland TN, Headland JD. (1997). Limitation of human rights, land exclusion, and tribal extinction. The Agta Negritos of the Philippines. Human Organization. 56:79–90.

Headland TN, Headland JD. (1998). Early (Mar 1, 1998). Population Dynamics of a Philippine Rain Forest People: The San Ildefonso Agta. University Press of Florida.

Hill, C., Soares, P., Mormina, M., Macaulay V., et al. (2006). Phylogeography and Ethnogenesis in Southeast Asia. Molecular Biology and Evolution, Volume 23, Issue 12, December 2006, Pages 2480–2491

Iskandar Carey. (1976). Orang Asli The Aboriginal Tribes of Peninsular Malaysia (Oxford University press, Kuala Lumpur: 1976) 73-74.

Evans, Ivor H. N. (1927). Papers on the Ethnology & Archaeology of the Malay Peninsula (Cambridge University: 1927)

Lukas. (2002). Can "They" save "Us", the Foragers? Indonesian and Thai Hunter-Gatherer Cultures under Threat from Outside. Paper in: “Asia-Europe Seminar on Ethnic Cultures Promotion”. 18-20 September 2001, Chiang Mai, Thailand.

Maneenoon, K., Sirirugsa, P., Sridith, K. (2008). Ethnobotany of Dioscorea L. (Dioscoreaceae), a Major Food Plant of the Sakai Tribe at Banthad Range, Peninsular Thailand. Ethnobotany Research & Applications. Vol 6 pp.385-394.

Nagata, S. (2006). Subgroup ‘names’ of the Sakai (Thailand) and the Semang (Malaysia): a literature survey. Anthropological Science. Vol. 114, 45–57.

National Statistics Office, (2010). Census of Population and Housing, Report No. 2A– Demographic and Housing Characteristics (Non-Sample Variables), Philippines.

Peterson, M.M. (2010). Notes on Borrowings Found in the Ta’edn (Tonga-Mos) and Kensiw Languages of Thailand. Notes. June, 2010.

Rattanakrajangsri, K., Maneerat, T. Colchester, M. (2013). The Mani people of Thailand on the agricultural frontier. Conflict or Consent? The oil palm sector at a crossroads. Indonesia.

Rai, Navin K. (1989). From forest to field: a study of Philippine Negrito foragers in transition (Thesis). Ann Arbor, Mich.: University Microfilms.

Razak, Tasnim. (2015). Distribution of HLA alleles in the semang and senoi orang asli populations in Peninsular Malaysia. Masters thesis, Universiti Sains Malaysia.

Reid, Lawrence A. (1994). "Possible Non-Austronesian Lexical Elements in Philippine Negrito Languages". Oceanic Linguistics. 33 (1): 37–72.

Schebesta P.R. (1927). The Negritos of the Malay peninsula. subdivisions and names. Man, 27: 89–94.

Wilhelm Dupre, Paul Joachim Schebesta. (1969). History of Religions vol. 8 No 3 (University of Chicago: 1969) 260.

Wnuk, E. (2016). Semantic specificity of perception verbs in Maniq. Semantic specificity in Maniq verbs of perception. Nijmegen: Radboud University dissertation.

Wnuk, E., Burenhult, N. (2014). Contact and isolation in hunter-gatherer language dynamics. Studies in Language 38:4 (2014), 956–981.

Wnuk, E., Majid, A. (2014). Revisiting the limits of language: The odor lexicon of Maniq. Cognition 131 (2014) 125–138.


สื่อประกอบ

โครงการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด. (2020). มานิ กับบ้านหลังใหญ่ (29 สิงหาคม 2020) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube

โครงการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด. (2020). มานิ กับกำแพงภาพจำที่ต้องก้าวข้าม (29 สิงหาคม 2020) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube

ทีวีบูรพา. (2009). คนค้นฅน : “เงาะป่า” คน ในโลกที่กาลเวลาไม่เคลื่อนไหว (1) (15 เมษายน 2009) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube

ทีวีบูรพา. (2009). คนค้นฅน : “เงาะป่า” คน ในโลกที่กาลเวลาไม่เคลื่อนไหว (2) (22 เมษายน 2009) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube

ทีวีบูรพา. (2009). คนค้นฅน : “เงาะป่า” คน ในโลกที่กาลเวลาไม่เคลื่อนไหว (3) (29 เมษายน 2009) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube

ไทยพีบีเอส. (2015). ที่นี่บ้านเรา : "มันนิ" คนธรรมดาแห่งเทือกเขาบรรทัด (5 พฤศจิกายน 2015) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube

ไทยพีบีเอส. (2017). เปิดปม : มานิ (ซาไก) ไร้รัฐ (19 ธันวาคม 2017) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube

ไทยพีบีเอส. (2018). เปิดปม : หลังชนฝา มานิ(ซาไก) (31 มกราคม 2018) สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube

Sippachai Kunnuwong. (2013). สารคดีมานิ 2.0 –ซาไกในวันเปลี่ยนแปลง (13 ตุลาคม 2013). สืบค้นวันที่ 15 กันยายน 2563 จาก Youtube

ไข่ ศรีมะนัง. สัมภาษณ์ 28 ธันวาคม 2562. ทับมานิกลุ่มวังสายทอง ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล.

แช ศรีมะนัง. สัมภาษณ์ 2 มกราคม 2563. มานิกลุ่มถ้ำภูผาเพชร ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล.

ต้อม รักษ์ป่าบอน. สัมภาษณ์ 4 มกราคม 2563. มันนิกลุ่มทุ่งนารี ตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง.

ตุ้ย ศรีมะนัง. สัมภาษณ์ 1 มกราคม 2563. ทับมานิกลุ่มมานิภูผาเพชร ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล.

แป้น ศรีมะนัง สัมภาษณ์ 2 มกราคม 2563 มานิกลุ่มถ้ำภูผาเผชร ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว