2023-06-19 09:35:22
ผู้เข้าชม : 1009

ปลัง เดิมอาศัยอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศเมียนมาและจีน ในแคว้นสิบสองปันนา และเมืองลา เมืองยาง เมืองเชียงตุง ในรัฐฉาน  จากนั้นได้อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยบริเวณแม่สาย จังหวัดเชียงราย คนกลุ่มนี้มีการผสมผสานการใช้ภาษาไทใหญ่ ภาษาลาหู่ และภาษาไทย ทำให้แนวโน้มในอนาคตภาษาปลังอาจสูญหายไป ส่วนการดำรงชีพ จะประกอบอาชีพทำการเกษตร ปลูกข้าวแบบไร่หมุนเวียน หาของป่า และค้าขาย ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงอาชีพเป็นแรงงานทำสวนกล้วยไม้ในจังหวัดนครปฐม  ชาวปลังมีความเชื่อเรื่องผีหลายประเภท มีความเชื่อเรื่องตะเหลวในการสะเดาะเคราะห์ การป้องกันผี ควบคู่กับความเชื่อเรื่องขวัญ นอกจากนี้ ยังมีชาวปลังบางกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงไปนับถือศาสนาคริสต์

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ปลัง
ชื่อเรียกตนเอง : ปลัง คาปลัง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ลัวะ ปะหล่อง ไตหลอย สามเต้า ปู้หลัง
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : ปะหล่องตะวันออก
ภาษาพูด : ปลัง
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

“ปลัง” เป็นคำที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง แปลว่า หน่อต้นกล้วย จากตำนานเล่าว่า ในระหว่างการอพยพของชาวปลังและชาวลัวะ ชาวปลังทำกับข้าวล่าช้ากว่าชาวลัวะ เมื่อชาวลัวะต้มปูที่สุกง่ายเสร็จแล้วจึงเดินทางล่วงหน้าไปก่อน ขณะที่ชาวปลังต้มปลา หรืออีกตำนานระบุว่า ต้มไข่ ซึ่งเป็นอาหารที่ใช้เวลาสุกค่อนข้างช้า ชาวปลังจึงเดินทางตามไปได้ล่าช้า จนทำให้ต้นกล้วยงอกหน่อขึ้นมาทั้งหมด และตามชาวลัวะไม่ทัน ชาวปลังจึงกลับมาอยู่ที่เดิม ซึ่งเป็นที่ตั้งถิ่นฐานในปัจจุบันบริเวณพื้นที่รอยต่อระหว่างจีนกับพม่า บางครั้งชาวปลังจะเรียกตนเองว่า “คาปลัง (Hka Plang)” แปลว่า ข้างบน เพราะชาวปลังอาศัยบนพื้นที่สูง ความหมายข้างต้นสอดคล้องกับคำว่า ชาวเขา สำหรับคนอื่นจะเรียกชาวปลังแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ เช่น “ปู้หลาง/ปู้หลั่ง” (Bulang/Bulong) “ปางชุง” (Pang Chung) “ขาเปะ” หรือ “คนดอย” ส่วนชื่อทางการมักเรียกว่า “ลัวะ” แปลว่า ชาวเขา ประกอบกับภาษาของชาวปลังใกล้เคียงกับชาวลัวะ อีกทั้งชาวปลังมักแนะนำตัวกับบุคคลภายนอกว่าตนเองเป็นชาวลัวะ นอกจากนี้ นักวิชาการบางพื้นที่เรียกชาวปลังในจังหวัดเชียงรายว่า “ปะหล่อง” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ทั้งนี้ ชาวปลังมีความพึงพอใจที่จะให้เรียกว่า “ปลัง” หรือ “ปลาง” มากกว่าชื่ออื่น

ชาวปลังเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมาอย่างยาวนาน เดิมอาศัยอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศเมียนมาและจีน ตั้งแต่ประมาณ 206-220 ปีก่อนคริสตกาล ชาวปลังในประเทศจีน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตสิบสองปันนา ส่วนชาวปลังในประเทศเมียนมาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ที่เมืองลา เมืองยาง และเมืองเชียงตุง เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ชาวปลังต้องอพยพมาหางานทำในประเทศไทยมีหลายเหตุผล เหตุผลหลัก เป็นการหลบหนีทหารและการถูกกดขี่ของชาวไทใหญ่และเมียนมา ประกอบกับความต้องการในการแสวงหาอาชีพเพื่อให้มีชีวิตที่ดีกว่า จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชนกลุ่มนี้มีการอพยพเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน สำหรับเส้นทางการอพยพของชาวปลัง ทั้งเมืองยางหรือเมืองลา ส่วนใหญ่จะต้องเดินทางมายังเมืองเชียงตุง จากนั้นจะเข้ามาบริเวณแม่สายหรือแม่จัน จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันพบชาวปลังอาศัยในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ชาวปลังบางส่วนยังมีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณจังหวัดปริมณฑลเพื่อประกอบอาชีพเป็นแรงงาน เช่น จังหวัดนครปฐม ทั้งนี้ ในส่วนของข้อมูลการอพยพของชาวปลังมายังประเทศไทยยังไม่ปรากฎหลักฐานที่ชัดเจน แต่มีการคาดประมาณว่า ชาวปลังเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2513-2520 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 1,200 คน

ด้านอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชาวปลัง เป็นกลุ่มที่มีอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่โดดเด่น มีภาษาปลังเป็นของตนเอง ปัจจุบันมีการใช้ภาษาไทใหญ่ ภาษาลาหู่ และภาษาไทยร่วมด้วย ภาษาปลังจึงมีความเสี่ยงต่อการสูญหายในอนาคต ด้านเศรษฐกิจเดิมชาวปลังประกอบอาชีพทำการเกษตร เก็บหาของป่า และทำการค้าขายด้วยตนเองเป็นหลัก ปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเข้ามาเป็นแรงงาน ส่วนการนับถือศาสนา ชาวปลังในจังหวัดนครปฐมส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาเป็นศาสนาคริสต์ และบางส่วนยังมีความเชื่อเรื่องผี อย่างไรก็ตามแม้ชาวปลังส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่ไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้มากนัก แตกต่างจากชาวปลังที่นับถือศาสนาคริสต์ซึ่งมีโบสถ์ของตนเอง คือ “คริสตจักรปลังนครปฐม” ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2008 คริสจักรเป็นศูนย์รวมจิตใจและทำให้ชาวปลังได้ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น เช่น การวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาของตนเอง

ประวัติความเป็นมาของชาวปลัง สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก ประวัติความเป็นมาเมื่อตั้งถิ่นฐานในประเทศเมียนมา และ ระยะที่สอง ประวัติการอพยพเข้ามาในไทย มีรายละเอียดดังนี้

ระยะแรก ประวัติความเป็นมาเมื่อตั้งถิ่นฐานในประเทศเมียนมา

จากข้อมูลของทีมงานวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ปลังสภาคริสตจักรปลังนครปฐม ระบุว่า ชาวปลังเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเก่าแก่ที่อาศัยอยู่ในมณฑลยูนานของจีน มีกำเนิดย้อนไปถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นเมื่อประมาณ 206-220 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามเทือกเขา เขตการปกครองอิสระเม็งไห ในแคว้นสิบสองปันนา โดยเฉพาะเขตภูเขาปูลังซาน ซึ่งมีชื่อสอดคล้องกับนามของชนเผ่าปลัง (ทีมงานวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ปลังสภาคริสตจักรฯ, มปป.) ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่บอกเล่าสืบต่อกันมาปรากฏผ่านเรื่องเล่า “ต๊ะกัง” (ต๊ะ แปลว่า ปู่) เป็นผู้นำคนแรกของชาวปลัง ในสมัยหนึ่งชาวปลังแตกแยกกัน เพราะบางหมู่บ้านทำการเข้าแย่งชิงพื้นที่ บางหมู่บ้านมีการแย่งชิงประชากร ทำให้ต๊ะกังทนไม่ได้กับสภาวะแบบนั้นจึงทำสงครามต่อสู้กับชาวปลังเพื่อรวบรวมผู้คน ในช่วงเช้าต๊ะกังจะไปออกรบ พอตกบ่ายก็จะกลับมาแล้วต้มน้ำอุ่นล้างมือที่เปื้อนเลือด ปัจจุบันยังมีเครื่องหมายของการสู้รบในสมัยของต๊ะกังให้เห็นอยู่ (สัมภาษณ์ นายแก้ว บุญทอง, 2558)

นอกจากเรื่องเล่าต๊ะกังแล้ว ชาวปลังยังมีตำนานเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ตามคำบอกเล่าของนายคม สมดี ชาวปลังอายุ 59 ปี เล่าว่า มีตำนานที่ผู้ใหญ่ในบ้านนัมเหย๊ะเล่าต่อๆ กันมาว่า “พญามังราย ตีพวกเราเมื่อก่อน เมื่อก่อนพวกผมก็เป็นคนแถวนี้แหละ (ล้านนา) แต่โดนตีก็ต้องย้ายไป” (สัมภาษณ์ นายคม สมดี, 2558) เรื่องที่พญามังรายทำสงครามไล่กลุ่มปลังนี้มีความคล้ายกับตำนานของชาวลัวะหรือเลอเวือะในหลายพื้นที่

ในด้านข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวปลังนครปฐม ได้เล่าว่า ชาวปลังที่ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดนครปฐมส่วนใหญ่มาจากบ้านหนองก้อ หมู่บ้านเก่าแก่ อายุประมาณ 100 ปี หรือมากกว่านั้น ในอดีตจะมีการเคลื่อนย้ายหมู่บ้านทุก 20-30 ปี โดยทำการโยกย้ายมาแล้ว 3 ครั้ง หมู่บ้านแห่งแรกมีชื่อว่า “ยุ้งเกิ้มผาปู่” แปลว่า หมู่บ้านต้นโพธิ์ ต่อมาหมู่บ้านแห่งที่สองเรียกว่า “ยุ้งนางล็อก” แปลว่า หมู่บ้านห้วยน้ำ และสุดท้าย คือ บ้านหนองก้อในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า “ยุ้งนางกะเลิง” แปลว่า หมู่บ้านบนพื้นที่ราบ (สัมภาษณ์ นายแก้ว บุญทอง, 2558) สำหรับการติดต่อกับคนกลุ่มอื่นๆ ชาวบ้านหนองก้อเล่าว่า ชาวปลังบ้านหนองก้อ จะทำการติดต่อกับชาวไทใหญ่ ลาหู่ และว้า เป็นหลัก การติดต่อกับชาวไทใหญ่นั้นจะมีทั้งในแง่ของการเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหาย การละเล่นสงกรานต์และปีใหม่การทำการค้ากันโดยเฉพาะการขายข้าวโพด ฝ้าย และของป่า ของที่ซื้อกลับมาจะเป็นพริก เกลือ กับข้าว และเสื้อผ้าต่างๆ ส่วนการติดต่อกับลาหู่ เป็นการติดต่อกันในเรื่องของศาสนาคริสต์เป็นหลัก เนื่องจากชาวลาหู่นับถือศาสนาคริสต์ก่อนชาวปลัง ชาวปลังนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนต์ คณะแบพติสต์ (Baptist) และใช้ภาษาลาหู่เป็นภาษากลางในการสื่อสารกับชาวลาหู่และบางครั้งใช้สื่อสารกับชาวปลัง นอกจากนี้คัมภีร์ไบเบิ้ลที่ใช้กันของชาวปลังจะเป็นภาษาลาหู่ ทำให้เรียนรู้ภาษาลาหู่จากไบเบิ้ล ส่วนเรื่องค้าขายกันมีจำนวนน้อย การติดต่อกับว้า ส่วนใหญ่เป็นการไปมาหาสู่กันฉันพี่น้อง บางครั้งชาวว้าจะมาช่วยทำไร่ทำนาชาวว้ากับชาวปลังมีความแตกต่างกันในเรื่องของคำพูด การแต่งกาย และวัฒนธรรมประเพณี แต่มีไม่มากนัก (สัมภาษณ์ นายแก้ว บุญทอง, 2558)

การแยกหมู่บ้านออกไปมีหลายเหตุผล แต่เหตุผลหนึ่งที่สำคัญ ในด้านประชากรที่มีจำนวนมากเกินไป ทำให้ไม่มีที่ดินเพียงพอต่อประชากร ดังเห็นได้จากกรณีของการตั้งหมู่บ้านที่มีชื่อว่า “ยุ้งบ้านห้วย” ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบ้านหนองก้อไปทางทิศเหนือ 3 กิโลเมตร หมู่บ้านนี้ตั้งโดยพ่อตาของนางอาม จันทร์ทอง เป็นหมู่บ้านที่มีอายุประมาณ 60 ปีมาแล้ว (สัมภาษณ์ นางอาม จันทร์ทอง, 2558) บางหมู่บ้านก่อตั้งขึ้นจากเหตุสงคราม ตัเช่น “ยุ้งโหมกจุง” หรือหมู่บ้านโหมกจุง ตั้งอยู่ห่างจากบ้านหนองก่อลงมาทางใต้ประมาณ 70 กิโลเมตร ในเขตเชียงตุง เป็น 1 ใน 11 หมู่บ้านของชาวปลังในเมืองเชียงตุง ซึ่งประกอบด้วยหมู่บ้านโหมกจุง คะนาน เจียะพิว จิ๊นถาด จงกะมาทาน เวียงใหม่ น้ำเค็ก จีนก๊า วานห้วย ปะมาน และปางล้อ หมู่บ้านทั้งหมดโหกจุงเก่าที่สุด มีอายุประมาณ 60 ปี ก่อตั้งโดยรัฐบาลเมียนมา เพราะมีการสู้รบกันระหว่างไทใหญ่กับเมียนมา (สัมภาษณ์ นายคำมุล วงค์มานะ, 2558)

2) ประวัติการอพยพเข้ามาในไทย

เดิมชาวปลังอาศัยอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศเมียนมาและจีน ในเขตประเทศจีนอาศัยอยู่กันมากในเขตสิบสองปันนา โดยเฉพาะในเมือง Daluozhen ส่วนในเขตเมียนมาอาศัยอยู่มากในเขตรัฐฉาน ที่เมืองลา (Mong La) (ซึ่งตั้งอยู่ติดกับเมือง Daluozhen) เมืองยาง (Mong Yang / Yong) และเมืองเชียงตุง สังเกตได้ว่าชื่อเมืองที่ชาวปลังอยู่เป็นชื่อในภาษาตระกูลไท สำหรับเมืองยาง คำว่า “ยาง” แปลว่า “ยั้ง” หรือ “หยุด” เป็นเมืองที่คนเดินทางแล้วมาหยุดอยู่ที่เมืองนี้ ส่วนเมืองลาไม่ทราบความหมาย สาเหตุที่ชาวปลังต้องอพยพมาหางานทำในประเทศไทยมีหลายเหตุผล โดยเหตุผลหลักเกี่ยวข้องการการหลบหนีทหารและการกดขี่ของชาวไทใหญ่ และอาจมีเมียนมารวมอยู่ด้วย จากการสัมภาษณ์ชาวปลังเล่าว่า “เราอยู่ที่นู้น เขาก็บังคับเราให้เป็นทหารของไทใหญ่ คนเขาไม่อยากจะอยู่ก็เพราะอย่างนั้น ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีกินไม่มีใช้ เราไม่มีกินไม่มีใช้เราก็อยู่ได้ แต่ว่าคนเขามาบังคับเราเป็นทหาร คนเขาไม่อยากจะไป ตัวเราก็ไม่อยากจะไป พ่อแม่เราก็เอาตังให้ จนเราไม่มีตังจะให้ เราก็หนีเลยจากทหารนี่แหละ” (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558)

ในขณะที่ชาวปลังในเขตเมืองลา กลับถูกทหารว้าแดงเข้ามารบกวนทำให้เกิดความไม่สงบ เพราะเข้ามาเกณฑ์ผู้ชายไปเป็นทหาร (นาย กอง ชัยแสง และคณะ, 2558) สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของชาวปลังในแต่ละเมืองมีความแตกต่างกัน เส้นทางการอพยพของชาวปลังทั้งจากเมืองยางและเมืองลา จะต้องเดินทางมายังเมืองเชียงตุง จากนั้นจะผ่านแม่สายหรือแม่จัน จ.เชียงราย แล้วลงมายังพื้นที่ จังหวัดนครปฐม การเดินทางมีทั้งการเดินทางมาตามลำพังทั้งครอบครัว ลัดเลาะตามป่าเขา หรือบางคนบวชเป็นพระแล้วเดินทางข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย จากนั้นจะทำการสึก ชาวปลังอธิบายว่า “ถ้าเป็นพระจะเข้ามาได้ง่ายเนื่องจากในอดีตทหาร ไม่เคร่งครัด พระไม่ต้องเสียค่าข้ามมา แต่ตอนนี้ถ้าไม่มีสมุด (พาสสปอร์ต) ข้ามไม่ได้ ถ้าไม่มีบัตรประจำตัวข้ามไม่ได้” (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558)

นายแก้ว บุญทอง เล่าว่า ในช่วงที่อาศัยอยู่ที่เมืองยาง ประเทศเมียนมา จะมีการสู้รบกันอย่างต่อเนื่องระหว่างทหารเมียนมากับทหารไทใหญ่ หรือระหว่างเมียนมากับว้า ทำให้การดำรงชีพเป็นไปอย่างยากลำบาก เป็นการสู้รบที่ยาวนานหลายสิบปี ในสมัยนั้นช่วงที่เป็นวัยรุ่นต้องส่งปืนให้กับทหารไทใหญ่ ในช่วงเวลาดังกล่าวนายแก้วจึงตัดสินใจเข้ามาในประเทศไทย เพราะมีญาติชาวปลังที่ไปทำงานในไทยมาเยี่ยมเยียนที่ประเทศเมียนมา จึงตัดสินใจหลบหนี โดยมีเงินประมาณ 10 เหรียญ นายแก้วได้ชวนภรรยามาด้วย ขณะนั้นเป็นช่วงฤดูฝน การเดินทางลัดเลาะตามป่าเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งสองคนตัดสินใจเดินไปทางหนองก้อ จากนั้นข้ามแม่น้ำหลวย ซึ่งน้ำมีระดับลึกถึงคอ นับว่าอันตรายมาก เมื่อข้ามแม่น้ำแล้วจึงเดินทางไปยังเมืองคั๊ก แล้วเข้าไปยังเมืองเชียงตุง และตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ชาวปลังรุ่นแรกที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง เวียงป่าเป้า และพาน จังหวัดเชียงราย คาดการณ์ว่า มีการตั้งถิ่นฐานก่อนหน้า ค.ศ.1970 หลังจากนั้นจึงมีการะอพยพเข้ามาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (Suchada, 2004) ในขณะที่บางข้อมูล ระบุว่า ชาวปลังรุ่นแรกที่อพยพเข้ามาในไทยอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2520 ระบุว่า คนแรกที่ออกมาจากหมู่บ้านชื่อว่า นายแก้ว แสงสุรีย์ ระบบการหางานเมื่อเข้ามาอยู่ในไทย จะมีคนติดต่อเป็นคนงานสวนกล้วยไม้ (สัมภาษณ์ นายคำมุล วงค์มานะ, 2558)

นายคม สมดี เล่าว่า การเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2530 ใช้การเดินเท้าจากหมู่บ้านนัมเหย๊ะมาที่เมืองลา เดินทางต่อมาที่เมืองเชียงตุง เข้ามาที่แม่สาย โดยเดินทางมากับเพื่อนบ้านชาวปลัง เป้าหมายหลักของการเดินทาง คือ ออกจากหมู่บ้านเพื่อมาหางานทำ โดยคาดหวังว่าจะทำงานสักระยะเพื่อเก็บเงินแล้วจึงเดินทางกลับบ้าน ไม่ได้นึกถึงการตั้งถิ่นฐานถาวร (สัมภาษณ์ นายกอง ชัยแสง และคณะ, 2558) ส่วนการอพยพระลอกหลัง จากคำบอกเล่าของนายคำมุล วงค์มานะ อายุ 43 ปี ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเมื่ออายุ 17 ปี โดยการติดตามญาติเข้ามาเพื่อหางานทำ การเดินทางด้วยรถกระบะ จากหมู่บ้านโมกจุก เมืองยางมายังแม่สายใช้เวลาสองวัน หลังจากข้ามแดนที่แม่สายแล้ว จึงนั่งรถทัวร์มายังนครปฐมและเข้าไปทำงานยังสวนกล้วยไม้ (สัมภาษณ์ นายคำมุล วงค์มานะ, 2558)

จากข้อมูลการสัมภาษณ์ชาวปลัง ระบุว่า เส้นทางการอพยพของชาวปลังในประเทศไทย พื้นที่แรกที่ชาวปลังได้อพยพเข้ามา คือ อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย บ้านห้วยน้ำขุ่น อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า
อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันชาวปลังได้มีการเปลี่ยนแปลงการตั้งถิ่นฐานโดยการอพยพเข้ามาในอำเภอเมืองจำนวนมากขึ้น จากนั้นชาวปลังจะเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ ที่มีสวนกล้วยไม้ หรือในพื้นที่ที่มีชาวปลังอยู่อาศัยมาก่อนเพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือกัน

ชาวปลังที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล กระจายตัวตั้งถิ่นฐานบริเวณอำเภอคลองโยง ทวีวัฒนา อำเภอพุทธมณฑล ศาลายา อำเภอพุทธมณฑล ศาลาธรรมปลาง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ วัดหลักสาม เขตหนองแขม กรุงเทพฯ ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง และตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร นอกจากนี้ชาวปลังยังกระจายตัวตั้งถิ่นฐานในจังหวัดอื่น เช่น สุโขทัย เชียงใหม่ ลำปาง ซึ่งมีจำนวนน้อยและไม่ได้มีการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ชาวปลังส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามบ้านเช่า บางคนสามารถเข้าถึงสถานะบุคคล มีบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงสถานะบุคคล ทำให้สมัยแรกที่เข้ามาอยู่ในไทยไม่กล้าออกไปพบปะกับผู้คนภายนอก มักหลบอยู่ในสวนหรือโรงงาน (สัมภาษณ์ นายแก้ว บุญทอง, 2558) พื้นที่ที่ชาวปลังอาศัยอยู่นั้นจะเป็นพื้นที่สวนกล้วยไม้ สวนผัก และโรงงานที่อยู่รอบกรุงเทพฯ เพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก และต้องการแรงงานราคาถูก

จากข้อมูลการสำรวจประชากรชาวปลังเมื่อ ค.ศ. 2000 มีชาวปลังในประเทศจีน 91,822 คน และจากการสำรวจของ Joshua Project พบว่า มีชาวปลังในเขตรัฐฉานของประเทศพม่าราว 13,000 คน (งานวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ปลังสภาคริสจักรฯ, มปป.) ส่วนในประเทศไทย ยังไม่มีการสำรวจจำนวนประชากรที่แน่นอน แต่คาดว่ามีจำนวนประชากรประมาณ 1,200 คน ในอดีตชาวปลังจะไม่กล้าแสดงตน แต่ปัจจุบันชาวปลังส่วนหนึ่งมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะมีรายการโทรทัศน์มาทำสารคดีเรื่องราวของพวกเขา อีกทั้งจังหวัดนครปฐมได้ทำการเชิญชาวปลังไปทำการแสดงในงานสำคัญของจังหวัด

การดำรงชีพ

วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวปลังส่วนใหญ่ทำการเกษตร หาของป่า และซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) การทำการเกษตร และหาของป่า

ในอดีตที่มีการตั้งถิ่นฐานในประเทศเมียนมาและจีน ชาวปลังจะประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการทำไร่ข้าวเป็นการปลูกข้าวแบบไร่หมุนเวียน โดยปลูกซ้ำในที่เดิมประมาณ 3-4 ปีขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและผลผลิตที่ได้ โดยทั่วไปแล้วในไร่จะเริ่มจากการปลูกฝ้าย จากนั้นใน ปีที่สองและสาม จึงจะเป็นการปลูกข้าว และปีสุดท้ายจะเป็นการปลูกข้าวโพด สาเหตุที่เริ่มปลูกฝ้ายก่อนเพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะใบของต้นฝ้ายจะร่วงลงดิน สำหรับการขยับไร่ (หมุนเวียนไร่) จะต้องประชุมกันในระดับหมู่บ้าน หัวหน้าที่ประชุมคือ “ตาแซน” โดยหัวข้อการประชุมคือการกำหนดทิศทางในการหมุนเวียนไร่ รวมทั้งจำนวนพื้นที่ที่แต่ละครอบครัวจักต้องใช้ในการเพาะปลูกเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภค การขยับไร่จะทำกัน 4 ปีต่อครั้ง และมีการหมุนเวียนกลับมาที่เดิม ซึ่งจะเกิดขึ้นอีก 10 ปีข้างหน้าจึงจะกลับมาซ้ำในพื้นที่เดิม

สำหรับชาวปลังบ้านยางเงิน ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวปลังที่นับถือศาสนาพุทธและผี ในอดีตก่อนที่จะทำการปลูกข้าวจะต้องประกอบพิธี ด้วยการต้มไข่ 1 ฟอง มีข้าว 1 ถ้วย น้ำ 1 ถ้วย เหล้า 1 ขวด ยาเส้น ชา ปูน (กินหมาก) และพวงมาลัยไปวางไว้ที่กลางนา จากนั้นเจ้าของนาจะทำการท่องมนต์ขอเจ้าที่เจ้าทางให้ช่วยปกปักรักษาข้าว ก่อนหน้าเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงฤดูฝน ชาวปลังจะทำการถางไร่ หรือ “เพี่ยวไร่” หลังจากนั้น การปลูกข้าวจะเริ่มต้นในปลายเดือนพฤษภาคม จะเป็นเดือนที่หยอดเม็ดข้าว ตามัง และตาหมันจะทำการนัดวันที่ชาวบ้านจะเริ่มทำการหยอดข้าว โดยจะมีการกำหนดว่า ควรจะหยอดข้าวกันไร่ละประมาณกี่วัน อาจใช้เวลา 3-4 วัน ซึ่งต้องทำให้เสร็จ ส่วนใหญ่วันดีสำหรับการหยอดข้าว คือ วันเกิดของเจ้าของไร่ ผู้ชายมีหน้าที่แทงดินด้วยไม้ให้เป็นหลุม ผู้หญิงมีหน้าที่หยอดเม็ดข้าว หลายครอบครัวมาช่วยกันหยอดข้าวในไร่เดียวกันเพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น หลังจากหยอดข้าวแล้วจะปล่อยให้ข้าวโตจากน้ำฝน และหมั่นดูแลเรื่องวัชพืช หลังจากนั้นประมาณเดือนธันวาคม - เดือนมกราคม เป็นช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวข้าว ก่อนจะทำการเก็บเกี่ยวจะต้องมีการทำขวัญข้าว ตาหมันจะทำหน้าที่ดูวันดี ตาหมันจะไปเกี่ยวข้าวมาสัก 1 กำมือ ถือเป็น “ข้าวใหม่” แล้วนำข้าวใหม่ไปหุงโดยวางอยู่บนๆ ของข้าวเก่า หลังจากข้าวสุกจะทำการตักข้าวใหม่ด้านบนให้พระเพื่อความเป็นศิริมงคล จากนั้นจะทำการเกี่ยวข้าวจนแล้วเสร็จ ในไร่ข้าวจะมีการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ได้แก่ ข้าวโพด แตง ฟักทอง และน้ำเต้า เพื่อเป็นอาหาร โดยเฉพาะการอยู่อาศัยในไร่จะได้มีอาหารสำหรับรับประทาน ในช่วงฤดูแล้ง หรือหลังจากการเก็บเกี่ยว ผู้ชายจะทำการเข้าป่าล่าสัตว์ เช่น กวาง หมี เสือ ไก่ป่า เพื่อนำมาบริโภคภายในครัวเรือน (สัมภาษณ์ นายแก้ว บุญทอง และนายคำมุล วงค์มานะ, 2558)

เมื่อเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทย ชาวปลังประสบกับข้อจำกัดด้านพื้นที่ทำกิน มีเพียงพื้นที่สำหรับสร้างที่อยู่อาศัย และปลูกพืชผักเล็กน้อยบริเวญบ้านเท่านั้น ผู้คนส่วนใหญ่จึงทำงานรับจ้างในภาคเกษตร คนหนุ่มสาวมักออกจากหมู่บ้านไปทำงานในเมืองใหญ่ โดยมีพื้นที่ทำงานหลัก คือ พื้นที่สวนกล้วยไม้แถบปริมณฑล เนื่องจากชาวปลังแต่เดิมอาศัยอยู่บนภูเขา มีความเชี่ยวชาญเรื่องการดูแลพืชจากป่า เมื่อเข้ามาทำงานในสวนกล้วยไม้ ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง จึงมีการชักชวนเพื่อนบ้าน เครือญาติ เข้ามาทำงาน เป็นสายสัมพันธ์และเครือข่ายการทำงานของคนปลังในพื้นที่ต่างบ้านต่างเมือง (รพีภัทร แก้วสาย, 2564)

2) การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า

การแลกเปลี่ยนสินค้าถือเป็นเรื่องปกติของระบบเศรษฐกิจ ดังเช่นกรณีชาวปลังบ้านปางลูเป็นแหล่งไม้ไผ่ทำให้ชาวบ้านจะสานเครื่องจักสาน โดยเฉพาะสานที่ใส่ข้าว และตระกร้าสะพายหลัง เพื่อเอาไปขายให้บ้านกอนกั้ง และบ้านกอนมูด นอกจากนี้บ้านปางลูยังเป็นบ้านที่มีผลผลิตข้าวดี หมู่บ้านอื่นมักจะนำหมูและไก่มาแลกข้าวไป เมื่อได้เงินจากการขายของชาวบ้านปางลูจะเดินทางไปที่ตัวเมืองยาง เพื่อไปจับจ่ายใช้สอย สินค้าที่ซื้อมีพริก ผงชูรส เสื้อผ้า เหล้า น้ำมันก๊าด ถ่าน และเกลือ ในทางตรงกันข้ามบางหมู่บ้าน เช่น บ้านกอนแพะ จะไม่ใช้เงินไปซื้อสินค้า แต่จะแบกของไปแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ ที่ประเทศจีน เช่น เกลือ และเสื้อผ้า ส่วนบ้านกอนกั้ง ที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองยาง มีสินค้าหลักของหมู่บ้าน คือ ชา ซึ่งจะเอาไปขายเพื่อซื้อสินค้าที่ตัวเมืองยาง ได้แก่ เหล้า ผงชูรส มาม่า อาหาร นอกจากนี้ ชาวบ้านกอนกั้งจะนำฝ้ายไปขายที่เมืองลา หากชาวบ้านกอนกั้งไม่ได้นำชาไปขาย จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ ผลผลิตชาของบ้านกอนกั้งมีทั้งชาแห้ง และชาเปียก (เมี่ยง) (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558) จากที่กล่าวมาจะสังเกตได้ว่า ตัวเมืองยางเป็นศูนย์กลางด้านการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่ตอนในของแผ่นดิน สินค้าที่กล่าวมาข้างต้นชาวบ้านจะต้องไปซื้อที่ประเทศจีน (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558) จากสินค้าทั้งหมดจะเห็นได้ว่า เกลือ และเสื้อผ้า เป็นสินค้าสำคัญที่มีความจำเป็นในการดำรงชีพของชาวปลัง โดยชาวปลังจะขายสินค้าทางการเกษตรให้กับคนในพื้นที่ราบ คือ ชาวไทใหญ่ ที่เมืองยางและเมืองลา และชาวจีน

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวปลังส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประมาณร้อยละ 95 รองลงมานับถือผี ร้อยละ 3 และนับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 2 ในขณะเดียวกันความเชื่อเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติยังมีอิทธิพลต่อชาวปลังเป็นอย่างมาก เช่น การนับถือผีบรรพบุรุษ ผีป่าเขา ผีบ้านผีเรือน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ศาสนาดั้งเดิมของชาวปลัง คือ การนับถือผี ต่อมาเมื่อศาสนาพุทธเผยแผ่เข้าไปจึงได้ทำการนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งไม่ทราบช่วงปีที่แน่ชัดในการเปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนา ในหมู่บ้านของชาวปลังในเมืองยางมีวัดชื่อ วัดป่าแดง อาจเป็นนิกายที่แพร่หลายตั้งแต่สมัยล้านนา แต่ทว่า พระและเณรชาวปลังก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบสันโดษอยู่กับวัดเพียงอย่างเดียว เมื่อชาวบ้านปลูกข้าวหรือเก็บเกี่ยวข้าว พระและเณรจะไปช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าว

ชาวปลังที่นับถือศาสนาพุทธ จะให้ความสำคัญกับประเพณีเข้าพรรษา ออกพรรษา และสังขารปีใหม่ สำหรับประเพณีสังขารปีใหม่นั้น จะจัดในช่วงสงกรานต์ ชาวปลังจะทำการตัดต้นไม้ในป่ามาค้ำ “ต้นสลี” (ต้นโพธิ์) ซึ่งถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เกือบทุกหมู่บ้านของชาวปลังจะมีต้นไม้ใหญ่กลางหมู่บ้าน ถือกันว่าต้นไม้ใหญ่เป็น “ใจ” ของหมู่บ้าน สะท้อนถึงความเชื่อในการนับถือต้นไม้ ต่อมาเมื่อราว 100-110 ปี ได้มีมิชชันนารีชาวอเมริกันเดินทางเผยแผ่ศาสนาคริสต์ไปเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ทำให้ชาวปลังบางกลุ่มเริ่มหันมานับถือศาสนาคริสต์ซึ่งมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นจะเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา ระบุว่า ลุงต้าว เป็นชาวปลัง และลุงชิบันลัง เป็นชาวลาหู่ เป็นผู้นำศาสนาคริสต์แบบอเมริกันแบพติสต์ (American Baptist) เข้ามาเป็นคนแรก จากนั้นก็แพร่เข้ามายังเมืองยาง ทำให้ชาวปลังเริ่มนับถือศาสนาคริสต์ เงื่อนไขที่ทำให้ชาวปลังนับถือศาสนาคริสต์ เนื่องจากการนับถือศาสนาผี ซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิม เมื่อมีคนป่วยไข้หรือเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นต้องมีการเซ่นไหว้ด้วยสัตว์ เช่น ไก่ หมู และควาย เมื่อชาวปลังไม่สามารถมีกำลังมากพอที่จะฆ่าสัตว์เพื่อเลี้ยงผี จึงเลือกนับถือศาสนาคริสต์ ในฐานะที่เป็นศาสนาทางเลือก การนับถือศาสนาคริสต์จะไม่มีการประกอบพิธีกรรมที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องผีและพุทธ ทำให้กลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์มักจะไม่สามารถจดจำศาสนาและประเพณีดั้งเดิมต่ได้ (สัมภาษณ์ นายแก้ว บุญทอง และนายคำมุล วงค์มานะ, 2558) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวปลังจะหันมานับถือศาสนาคริสต์ แต่ยังมีการบูชาผีผสมผสานจนไม่สามารถแยกระหว่างการเป็นชาวคริสต์กับการนับถือศาสนาดั้งเดิม (ทีมงานวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ปลังสภาคริสตจักรฯ, มปป.)

ความเชื่ออื่นๆ

ตะเหลว

ชาวปลังมีความเชื่อเรื่องตะเหลว (ตาเหลว) ที่ถูกใช้ในหลายโอกาส เช่น การทำพิธีสะเดาะเคราะห์ และป้องกันผี เมื่อมีผู้คนเจ็บป่วยจะทำการต้มยาแล้วเอาตะเหลวปักที่หม้อยา เพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดีและทำให้ยาใช้ได้ผลดี นอกจากนี้ยังเอาตะเหลวใส่ลงไปในกะละมังให้คนที่ไม่สบายอาบน้ำ 2 ครั้ง ในช่วงพระอาทิตย์หนึ่งครั้ง และพระอาทิตย์หนึ่งครั้ง ในช่วงที่มีงานมงคลจะเอาตะเหลวปักที่หน้าประตูบ้าน โดยทำเป็นตะเหลวอันใหญ่ผู้คนที่มาร่วมงานจะต้องเข้าออกประตูที่มีตะเหลว นอกจากนี้ยังมีการนำตะเหลวไปปักที่ไร่นา เพื่อให้คุ้มครองพืชผลทางการเกษตร โดยสรุป จะเห็นว่า ตะเหลว มีหน้าที่ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและไม่ดี (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558)

ขวัญ

ชาวปลังมีความเชื่อเรื่องขวัญ โดยเชื่อว่า ในร่างกายของคนหนึ่งคนมีจิต 32 จิต หรือขวัญ 32 ขวัญ ในช่วงที่เกิดเหตุไม่ดีจะมีพิธี เช่น พิธีเรียกขวัญ เช่น กรณีเด็กหรือผู้สูงอายุที่ไม่สบาย ไม่สามารถรักษาให้หายได้จะต้องทำพิธีเรียกขวัญ ด้วยความเชื่อเรื่องขวัญ ทำให้ชาวปลังไม่เชื่อว่า “วิญญาณ” เป็นเรื่องที่มีจริง (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558)

ผี

ชาวปลังมีความเชื่อเรื่องผีปรากฏอยู่อย่างชัดเจนในตำราทำนายกระดูกไก่ของชาวปลังบ้านห้วยน้ำขุ่น โดยปรากฏผีจำนวน 34 ตน แบ่งออกป็นหกกลุ่ม (พลวัฒ ประพัฒน์ทอง, 2555) ได้แก่

กลุ่มที่หนึ่ง ผีบรรพบุรุษ ได้แก่ ผีลุงตา ผีปู่ย่าตายาย ผีลุงปู่ ผีปูตาย่ายาย ผีฝ่ายแม่

กลุ่มที่สอง ผีป่า/สัตว์ป่า ได้แก่ ผีรุ้งท้ายน้ำ ผีจอมปลวก ผีไม้

กลุ่มที่สาม ผีที่ทำกิน ได้แก่ ผีร่องน้ำ ผีที่ดอน ผีเหมืองฝาย ผีขวัญข้าว

กลุ่มที่สี่ ผีเรือน ได้แก่ ผีหัวบันได ผีใต้ถุนเรือน ผีตีนบันได ผีเตาไฟ ผีเสี่ยวเรือน ผีเรือน

กลุ่มที่ห้า ผีเมือง ได้แก่ ผีเสี่ยวเมือง ผีที่สูง ผีหลักเมือง ผีป่าช้า ผีเมือง ผีหนเหนือ ผีสะพาน ผีทางหลวงหรือแม่น้ำ ผีอารักษ์ ผีท้าวพญา

กลุ่มที่หก ผีอื่น ๆ ได้แก่ ผีปัดที่หนึ่ง ผีปีศาจ ผีร้าย ผีที่เลี้ยง

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ชาวปลังมีประเพณีพิธีกรรมหลายพิธี ภายหลังจากการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทย ทำให้หลายประเพณีไม่ได้ถือปฏิบัติ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจากบ้านเดิมที่ พ่อเก้ว นามเมิน ชาวปลังบ้านสันก้างปลา ได้บอกเล่าเรื่องประเพณีพิธีกรรมที่เคยถือปฏิบัติ ดังนี้

เดือนหนึ่ง (ตุลาคม) รับผ้ากฐิน หากมีเจ้าภาพมาก็จะเป็นงานรับกฐิน แต่หากไม่มีเจ้าภาพ ก็จะเป็นการถวายผ้าธรรมดา

เดือนสอง (พฤศจิกายน) ในอดีตมีประเพณีหนึ่ง เรียกว่า “ต๊กคดึ๊ก” (ต๊ก หมายถึง เผา ส่วนคำว่า คดึ๊ก หมายถึง กลางคืน) พิธีกรรมนี้จึงเป็นการจุดไฟเผาในเวลากลางคืน เป็นการเลียนแบบการเผาพระพุทธเจ้า โดยชาวบ้านจะไปตัดไม้ไผ่มาจากป่า มาก่อเป็นกองไฟ บางชุมชนจะก่อเป็นแปดเหลี่ยม บางชุมชนสี่เหลี่ยม ส่วนใหญ่ทำพิธีที่ลานวัดในหมู่บ้าน พิธีสำคัญจะอยู่ในช่วงกลางคืน มีคนแต่งตัวเป็นผีออกมาละเล่นบริเวณลานพิธีอย่างสนุกสนาน เป็นเวลาเจ็ดวันก่อนที่จะจุดไฟเผากองไม้ไผ่พิธีนี้ เคยทำสองครั้งในช่วงแรกตั้งแต่ตั้งหมู่บ้าน ในงานของ พิธีกรรมดังกล่าวเป็นความเชื่อตามตำนานพระเจ้าเลียบโลก ที่พระพุทธเจ้าได้เจอชาวปลัง และได้มอบเส้นพระเกศาไว้ให้กับชาวปลัง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานธ์ ชาวปลังได้ทำหน้าที่เฝ้าพระศพของพระพุทธเจ้าในช่วงเวลากลางคืน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกลักขโมย อีกทั้งยังใส่หน้ากากทำให้ดูน่ากลัวเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีเข้ามาในพื้นที่ พิธีนี้ในหมู่บ้านชาวปลังบ้านห้วยน้ำขุ่นนั้น เรียกว่า พิธีอายก (พลวัตร ประพัฒน์ทอง, 2563) เป็นพิธีกรรมสำคัญของชาวปลัง บ้านห้วยน้ำขุ่น จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนที่มีหลากหลายชาติพันธุ์ อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นหย่อมบ้าน ชาวปลังในหมู่บ้านนี้มีพิธีสำคัญ คือ พิธีอายก ซึ่งจัดต่อเนื่องกันมาราวสามสิบปี ในประเพณีนี้มีพิธีกรรมทางศาสนา พิธีกรรมขึ้นเสาตั้งโหม การตั้งปะรำพิธีเป็นจักรวาล การเต้นผี การจุดไฟไล่สิ่งชั่วร้าย และการจุด “บ่อกไฟ”ขับไล่ คำว่า อายก หมายถึง ความน่ากลัว ในที่นี้ความน่ากลัวนั้นทำให้ปรากฏในรูปลักษณ์ของสัตว์ป่า

พิธีอายกนี้นำมาประกอบเรื่องเล่าทางศาสนาเป็นภาระกิจที่ต้องทำเมื่อครั้งพุทธกาลในการเฝ้าอารักขาพระศพของพระพุทธเจ้าในวันปรินิพพาน จนถึงวันที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า พิธีกรรม ในวันแรกจะเป็นพิธีทางศาสนา และจัดตกแต่งสถานที่ รวมถึงทำพิธีตั้งโกม เพื่อเป็นการกำหนดปริมณฑลของพิธี เสาตั้งโกมทำมาจากไม่ไผ่ขนาดใหญ่ ตัวเสาประดับตกแต่งด้วยกระดาษเงินกระดาษทอง กระดาษสี ปลายเสาตกแต่งเป็นรูปปราสาท และติดธงไว้ เมื่อตกแต่งแล้วเสร็จจะยกเสาขึ้นมีการตีกลองและเครื่องดนตรีประกอบ ช่วงกลางคืน เมื่อมีการจัดไม้เกี๊ยะหลวงเพื่อเป็นสัญญานในพิธี พระสงฆ์จะเป็นผู้จุดหลัวไฟหลวง หลังจากนั้นจะมีขบววนอายกเดินเข้ามาโดยมีดนตรีนำ ขบวนอายกนี้จะออกมาเต้นโดยเริ่มจากไม้เกี๊ยะหลวง หรือหลัวไฟหลวง เพื่อเป็นการเริ่มต้นขับไล่ยักษ์หรือคนไม่ดีที่จะมาลักพระศพ และเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อเต้นตามจังหวะดนตรี เต้นต่อหน้าปะรำพิธี เต้นวนรอบปะรำพิธี จากนั้นจุด “บ่อกไฟ” ไฟ เป็นอันเสร็จพิธี (พลวัฒ ประพัฒน์ทอง 2563 , 42-45)

เดือนสาม (ธันวาคม) เดือนนี้ไม่มีพิธีกรรมสำคัญ

เดือนสี่ (มกราคม) มีพิธีทานอุปคุต

เดือนห้า (กุมภาพันธ์) มีพิธีทานดอกไม้ พิธีนี้จะทำในวัน 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ เนื่องจากช่วงนี้ดอกไม้ในป่ากำลังออกดอก ช่วงกลางวันชาวบ้านจะไปเก็บดอกไม้เพื่อมาถวายพระเจ้าในช่วงค่ำ

เดือนหก (มีนาคม) ปีใหม่ ชาวปลังจะทำบุญปีใหม่ หรือสงกรานต์ มีการขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย ตัดไม้อ้อค้ำแขนพระเจ้า มีพิธีสรงน้ำพระ รดน้ำขอขมาผู้หลักผู้ใหญ่ ในเดือนนี้จะมีการบวชเณร

เดือนเจ็ด (เมษายน) สมัยที่ยังอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดิมนั้นมีไร่ ในเดือนนี้ชาวปลังจะเริ่มออกไปทำไร่ ทำพิธี ไหว้ผีน้ำ ผีฟ้า ก่อนเริ่มทำไร่ เพื่อขอให้ได้ผลดี ในการไหว้ผีฟ้า ใช้ไก่ขาวหนึ่งคู่ ส่วนการไหว้ผีน้ำจะใช้ไก่แดงหนึ่งคู่ ปัจจุบันเมื่อย้ายมาอยู่ประเทศไทย พิธีกรรมดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปเนื่องจากชาวปลังไม่มีไร่เป็นของตัวเอง

เดือนแปด (พฤษภาคม) เดือนนี้มักเป็นเดือนที่ชาวบ้านจะทำพิธีกรรมที่เป็นมงคล

เดือนเก้า (มิถุนายน) เข้าพรรษา ชาวบ้านจะเข้าวัดทำบุญเข้าพรรษา ทำอาหารถวายพระสงฆ์ และสวดมนต์ที่วัดเป็นประจำทุกวันในช่วงเข้าพรรษา

เดือนสิบ (กรกฏาคม) สวดมังคละบ้าน หรือพิธีทำบุญหมู่บ้าน โดยมีพิธีทำบุญ และสวดบทสวดมังคละเพื่อเป็นมงคลให้กับหมู่บ้านทำบุญอุทิศให้คนตาย

เดือนสิบเอ็ด (สิงหาคม) ทานเวศมหาสันตระ หรือเทศมหาชาติ ในชุมชนชาวปลัง เมื่อครั้งยังอยู่หมู่บ้านเดิมจะมีการสร้างหอช้างเผือก สำหรับพระสงฆ์ขึ้นไปนั่งเทศนาธรรมเพื่อถวายแก่พระเจ้า เมื่อย้ายมาในประเทศไทยไม่ได้มีการปฏิบัติเนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง ต้องมีเจ้าภาพหลัก

เดือนสิบสอง (กันยายน) ออกพรรษา จะมีการอาบน้ำพระเจ้า โดยการนำพระพุทธรูปออกมาจากอุโบสถและสรงน้ำพระ

ชาวปลังยังมีประเพณี “โซมอุ๊บโซระ” (คำว่า โซม แปลว่า กิน, อุ๊บ แปลว่า ข้าว, โซโระ แปลว่า ปีใหม่) แปลเป็นภาษาไทยว่าการกินข้าวใหม่ จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน (สัมภาษณ์ นายกอง ชัยแสง และคณะ, 2558) ประเพณีกินข้าวใหม่พบได้ในหลายกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในพื้นที่สูงและพื้นที่ราบ

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

ความตายและการทำศพ

ในแง่ของพิธีกรรมเกี่ยวกับศพ ในอดีตชาวปลังจะฝังศพ ภายหลังจากการหันมานับถือศาสนาพุทธจึงเริ่มมีการเผาศพ สำหรับการฝังศพแบบดั้งเดิม เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน ดังเช่น ชุมชนชาวปลังบ้านหนองก้อ คนในบ้านที่มีคนตายจะเอาไม้ไปตี ที่บันได เสียงดังต๊อกๆๆ เมื่อคนในหมู่บ้านได้ยินก็จะไปช่วยงานศพ จากนั้นให้เชิญพระมาสวด หลังจากสวดเสร็จจะเอาศพไปฝังที่ป่าช้าการแบกศพนั้นห้ามเดินลัดหมู่บ้าน ทว่าในแต่ละหมู่บ้านมีพิธีกรรมเกี่ยวกับศพแตกต่างกันออกไปดังเช่น หมู่บ้านปลังโล จะใช้วิธีการตะโกนแล้วพูดว่า “ไปเก็บขยะ” แทนการพูดว่ามีคนตาย จากนั้นปลังโลจะมีการฆ่าหมูและไก่ ตามแต่ฐานะ ถ้าคนรวยจะฆ่าหมู ถ้าคนจนจะฆ่าไก่ ต้องมีการเล่นกับศพด้วยการเอาหมูเอาไก่ให้กิน แล้วบอกว่า “ยังอยู่ก็มากินด้วยกัน ถ้าไปแล้วจะไม่ได้กิน ต้องกินให้หมด” แต่ไม่มีพิธีกรรมการฆ่าควาย หลังจากเซ่นไหว้เสร็จ พระจะมาสวด แล้วก็ไปส่ง ก่อนทำการฝังศพ พระจะให้ศีลในป่าช้า หลังจากเอาศพไปฝัง ก็กลับมาเข้าวัดก่อนจะทำการอาบน้ำและไหว้องค์พระ จากนั้นจึงกลับมาที่บ้าน

ในพิธีศพนี้ตามังไม่ต้องไปป่าช้า ต้องรอเรียกขวัญชาวบ้านที่ไปส่งศพแต่สำหรับหมู่บ้านอื่น คนแก่ไม่ต้องไปป่าช้า เมื่อครบ 7 วันก็ไปทำบุญที่วัด ข้าวของเครื่องใช้ของคนตายต้องเอาไปป่าช้า แล้วเอากลับไปไว้ที่วัด ถ้าตาพญาตายจะใช้การเผาแทนการฝัง เช่นเดียวกันกับพระระดับเจ้าอาวาสก็เผาไม่ฝัง ในกรณีที่พระสงฆ์มรณภาพ ในการฝังจะฝังในท่านั่งสมาธิ ส่วนคนธรรมดาที่เสียชีวิต การฝังจะต้องห่อด้วยเสื่อ มัดมือ เอาขาไปก่อนส่วนศีรษะจะเอาลงภายหลัง การฝังจะหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก ส่วนขาหันไปทางทิศตะวันออก หลังจากฝังเสร็จจะเอาไม้ไผ่สับแล้วปิดให้แน่น เอากระดาษมาจำลองเป็นบ้านเล็กเป็นหลังคา คลุมยาวตั้งแต่หัวจนเท้าของหลุมศพ เป็นอันเสร็จพิธี (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558)

ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ และคณะ. ปริศนาวงศาคณาญาติ “ลัวะ”. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน, 2555.

ทีมงานวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ปลังสภาคริสตจักรฯ, มปป. จุลสารประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ปลัง. นครปฐม, มปป. (เอกสารอัดสำเนา)

พลวัฒ ประพัฒน์ทอง. (2556). การทำนายชีวิตด้วยกระดูกไก่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงราย. ใน วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง. ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มิ.ย.) 2556 หน้า 1-24

พลวัฒ ประพัฒน์ทอง เชิดชาย หิรัญญโร และพวงผกา ธรรมิ. (2564). “อายก” พื้นที่พุทธศาสนาของกลุ่มคนปลัง (ไตหลอย-ลัวะ) ใน วารสารไทยศึกษา .ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 กรกฏาคม-ธันวาคม 2564. หน้า 1-24

พลวัฒ ประพัฒน์ทอง เชิดชาย หิรัญญโร และพวงผกา ธรรมิ. (2563). ชาติพันธุ์สัมพันธ์ในพื้นที่ของพุทธศาสนาของกลุ่มปลัง(ไตดอย-ลัวะ). กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

Suchada Giaphong. Plang Grammar as Spoken in Huay Namkhun Village, Chiang Rai Province. Thesis in the Degree of Master of Arts (Linguistic), Faculty of Graduate Studies, Mahidol University, 2004.

สัมภาษณ์รายบุคคล

แก้ว นามเมิน. นาย. วัดจันทราราม. บ้านสันก้างปลา ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย.19 ธันวาคม 2564. ศิราพร ทิพย์รัตน์ ผู้สัมภาษณ์

แก้ว บุญทอง, นาย, บ้านเลขที่ 26/13 ม.3 วัดมะเกลือ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 23 ธันวาคม 2558. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

คำมุล วงค์มานะ, นาย, บ้านเลขที่ 26/13 ม.3 วัดมะเกลือ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 23 ธันวาคม 2558. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

จ๋อม คำทิพย์. นาย.สวนไม้งามริมกก ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย. 20 ธันวาคม 2564.ศิราพร ทิพย์รัตน์ ผู้สัมภาษณ์

ช้าง บุญทอง, นาง, บ้านเลขที่ 26/13 ม.3 วัดมะเกลือ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 23 ธันวาคม 2558. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

รพีภัทร แก้วสาย. นาย. วัดจันทาราม . ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย.18ธันวาคม 2564. ศิราพร ทิพย์รัตน์ ผู้สัมภาษณ์

สามออน. นาย. บ้านสันเจริญ. ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย. 18ธันวาคม 2564. ศิราพร ทิพย์รัตน์ ผู้สัมภาษณ์

ใสจาม. นาย. บ้านสันเจริญ ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย. 19ธันวาคม 2564.ศิราพร ทิพย์รัตน์ ผู้สัมภาษณ์

อ้อย วงค์มานะ, นาง, บ้านเลขที่ 26/13 ม.3 วัดมะเกลือ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 23 ธันวาคม 2558. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

อาม จันทร์ทอง, นาง, บ้านเลขที่ 26/13 ม.3 วัดมะเกลือ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 23 ธันวาคม 2558. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ผู้สัมภาษณ์

สัมภาษณ์กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 [ในส่วนของการสัมภาษณ์กลุ่มที่ 1 จะเขียนอ้างอิงว่า นายจัน สีใส และคณะ, 2558

จัน สีใส, นาย, ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

เจ๋งตา ตาลตาตาล, นาย, ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

บุญชัย แสงเพชรวรกุล, นาย, ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

มูล สีใส, นาย, ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

เสาว์ ตาแปง, นาย, ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

หน่อ ตานำคำ, นาย, ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

อิน ตาเงิน, นาย, ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

กลุ่มที่ 2 [ในส่วนของการสัมภาษณ์กลุ่มที่ 2 จะเขียนอ้างอิงว่า นางกอง ชัยแสง และคณะ, 2558]

กอง ชัยแสง, นาง, ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

เกาะ ดวงจันทร์, นาย, ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

คม สมดี, นาง, ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

จันคำ คำแก้ว, นาง, ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

จาบ รุ้งแก้ว, นาง, ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม, วันที่ 6 มิถุนายน 2558.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว