กลุ่มชาติพันธุ์ : ปลัง

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ปลัง
  • ชื่อเรียกตนเอง : ปลัง, คาปลัง
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ลัวะ, ปะหล่อง, ไตหลอย, สามเต้า, ปู้หลัง
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ภาษาปลังจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic) กลุ่มเหนือ สาขาย่อยปะหล่องตะวันออก (East-Palaungic) ในกลุ่มว้า (Waic) สาขาย่อยบูหลัง/ปูหลัง (Bulang)
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              ชาวปลังจะเรียกตนเองว่า “ปลัง” แปลว่าหน่อต้นกล้วย บางครั้งชาวปลังจะเรียกตนเองว่า “คาปลัง” (Hka Plang) แปลว่า “ข้างบน” เพราะชาวปลังอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงห่างไกลจากตัวเมือง

              ส่วนคนไทยในเขตเชียงรายมักเรียกชาวปลังว่า “ลัวะ” ทั้งนี้เป็นเพราะคำว่า “ลัวะ” เป็นคำที่มีความหมายกว้าง หมายถึงกลุ่มคนที่เป็นชาวเขา อีกสาเหตุเป็นเพราะภาษาของชาวปลังมีความใกล้เคียงกับชาวลัวะมากพอสมควร  อีกทั้งชาวปลังเองเมื่อแรกอพยพเข้ามาอยู่ที่จังหวัดเชียงรายนั้น เพื่อไม่ให้ถูกจับและเพื่อให้คนอื่นรู้จักตนเองจึงบอกกับคนไทยว่าเป็น “ลัวะ” และได้รับการเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ลัวะ” เมื่อปี พ.ศ.2529 เป็นต้นมา (ฉวีวรรณ ประจบเหมาะ และคณะ, 2555) นอกจากนี้ยังพบว่าทางหน่วยงานราชการและนักวิชาการบางสำนักมักเรียกชาวปลังในที่พบในเขต อ.แม่จันและแม่สาย จ.เชียงรายว่า “ปะหล่อง” ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด (ทีมงานวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ปลังสภาคริสตจักรฯ, มปป.) 

    ชื่อเรียกตนเอง 

              “ปลัง” เป็นชื่อที่เพี้ยนจากชื่อเมืองชื่อ “ปู้หลัง” ในดินแดนสิบสองปันนา (ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ, 2555: 67)  

              การเรียกชื่อว่า “ปลัง” เป็นคำเรียกแทนตนมาตั้งแต่สมัยอยู่ในสิบสองปันนา โดยจะพบว่าคนกลุ่มนี้จะนิยามตนเองในคำว่า “ปลัง” ในสองลักษณะด้วยกัน คือ 1) ใช้คำว่า “ปลัง”นำหน้าหมู่บ้านที่ตนเองอพยพมา เช่น ปลังที่อพยพมาจากดอยกอนตอย จะนิยามตนเองว่าเป็น “ปลังกอนตอย” 2) ใช้คำว่า “ปลัง”ตามด้วยสำเนียงภาษาถิ่นของตนเอง เช่น พบว่ามีจำนวนภาษาถิ่น ถึง 7 สำเนียง ด้วยกัน กลุ่มปลังจึงมีการนิยามตนผ่านสำเนียงภาษาของตนเอง เช่นคำว่า ปลังกอนตอย ปลังจงมอย ปลังสะเตง ปลังแบมยอง ปลังกอนมา ปลังปังโลชิ และปลังกอนกลาง (พลวัฒ ประพัฒน์ทอง, 2559) 

              “ปลัง และ บลัง” ยังไม่มีความหมายที่ชัดเจน แต่ถูกอธิบายว่าหมายถึง ภู”เขา” ในภาษปลัง (G.Diffloth 1989-1990 อ้างใน (ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ, 2555: 73)

              “ลัวะ” เป็นชื่อเรียกตนเองของชาวปลังที่บ้านห้วยน้ำขุ่น ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มักชอบให้กลุ่มชาติพันธ์อื่น ๆ เรียกตนว่า “ลัวะ” ตามชื่อเรียกที่ทางเจ้าหน้าที่รัฐไทยมากกว่า จะให้เรียกในชื่อ “ไตดอย” “กอนตอย” หรือ “คนปลัง” เพราะจะได้สิทธิประโยชน์บางอย่างจากรัฐ (พลวัฒ ประพัฒน์ทอง, 2559) 

    ชื่อคนอื่นเรียก 

              “ไตหลอย หรือ ไตดอย” เป็นชื่อเรียกชาติพันธุ์ปลังของชาวไทใหญ่ (สุวิไล และคณะ, 2547: 18-19) เป็นกลุ่มที่อพยพจาก “ดอยสามเต้า” หรือที่เรียกว่า “ไตหลอย” หมายถึง กลุ่มปลังที่มาจากดอยที่มองไกลแล้วเห็นเป็นสามดอยเรียงกัน ซึ่งดอยดังกล่าวอยู่ใกล้เมืองเชียงตุงในรัฐฉาน ปัจจุบันปลังที่อพยพกลุ่มที่สองนี้อาศัยอยู่ในบริเวณหมู่บ้านห้วยก้างปลา ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

              ลัวะ เป็นคำเรียกของหน่วยงานรัฐที่เข้าสำรวจในพ.ศ. 2529 และนิยามกลุ่มชาติพันธุ์ปลังในพื้นที่บ้านห้วยน้ำขุ่นกลับถูกนิยามชื่อใหม่จากหน่วยงานรัฐว่าเป็น “ลัวะ” การนิยามดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยโครงการพัฒนาดอยตุง (ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ, 2555: 67-73)

              ปะหล่อง เป็นชื่อเรียกจากญาติพี่น้องชาวปลังจากยูนนานจะเรียกกลุ่มปลังว่า “ปะหล่อง” (พลวัฒ ประพัฒน์ทอง. 2559)

              ชาวไตหลอยจะเรียกว่าเป็นลัวะที่นับถือศาสนาพุทธ สร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณเชิงดอยตุง ติดกับพระธาตุดอยตุง อพยพเข้าประเทศไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2515 (จันทบูรณ์ สุทธิ 2539 :27)

              การนิยาม“ปลัง” คือใครนั้น นักวิชาการ ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ ชี้ว่า ให้สังเกตจาก การพูด ภาษา และการนับถือศาสนาพุทธ ดังเช่น ชาติพันธุ์ปลังในประเทศไทย ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จะเห็นได้ว่าในชุมชนจะมีวัดเป็นศูนย์กลาง มีการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น การถวายสังฆทานและก่อกองทราย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญในชีวิตของปลัง ด้วยเหตุนี้ความเป็นพุทธศาสนิกชนก็เป็นอัตลักษณ์สำคัญของการเป็นปลัง (ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ, 2555: 103) 

  • อื่น ๆ :

              ภาษาปลังจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic) กลุ่มเหนือ สาขาย่อยปะหล่องตะวันออก (East-Palaungic)  ในกลุ่มว้า (Waic) สาขาย่อยบูหลัง/ปูหลัง (Bulang) ในสาขาย่อยเดียวกันมีภาษาปลัง บลัง (Blang) และฟัง (Phang) (Suchada, 2004)

              แต่ด้วยการที่ชาวปลังเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างพรมแดนประเทศพม่ากับจีน ทำให้สามารถพูดภาษาได้มากกว่าหนึ่งภาษา โดยชาวปลังบางกลุ่ม  เช่นที่เมืองยางจะใช้ภาษาลาหู่และภาษาไทใหญ่เป็นภาษากลาง แต่ค่อนไปทางใช้ภาษาลาหู่เป็นภาษากลาง แต่ถ้าเป็นทางเมืองเชียงตุงจะใช้ภาษาไทใหญ่เป็นภาษากลาง (สัมภาษณ์ นายแก้ว บุญทอง, 2558) ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ทำให้ชาวปลังสามารถเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองไทยและหัดภาษาไทยได้ไม่ยากนัก

     

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย อาจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    รายการอ้างอิง

              ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ และคณะ. ปริศนาวงศาคณาญาติ “ลัวะ”. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน, 2555.

              ทีมงานวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ปลังสภาคริสตจักรฯ, มปป. จุลสารประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ปลัง. นครปฐม, มปป. (เอกสารอัดสำเนา)

              Suchada Giaphong. Plang Grammar as Spoken in Huay Namkhun Village, Chiang Rai Province. Thesis in the Degree of Master of Arts (Linguistic), Faculty of Graduate Studies, Mahidol University, 2004.

    สัมภาษณ์

          สัมภาษณ์รายบุคคล

              นายแก้ว บุญทอง, อายุ 46 ปี. บ้านเลขที่ 26/13 ม.3 วัดมะเกลือ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 23 ธันวาคม 2558.

              นายคำมุล วงค์มานะ, อายุ 36 ปี. บ้านเลขที่ 26/13 ม.3 วัดมะเกลือ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 23 ธันวาคม 2558.

              นางช้าง บุญทอง, อายุ 48 ปี. บ้านเลขที่ 26/13 ม.3 วัดมะเกลือ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 23 ธันวาคม 2558. (ภรรยานายแก้ว บุญทอง)

              นางอ้อย วงค์มานะ, อายุ 26 ปี. บ้านเลขที่ 26/13 ม.3 วัดมะเกลือ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 23 ธันวาคม 2558. (ภรรยานายคำมุล วงค์มานะ)

              นางอาม จันทร์ทอง, อายุ 54 ปี. บ้านเลขที่ 26/13 ม.3 วัดมะเกลือ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 23 ธันวาคม 2558.

          สัมภาษณ์กลุ่ม

             กลุ่มที่ 1 [ในส่วนของการสัมภาษณ์กลุ่มที่ 1 จะเขียนอ้างอิงว่า นายจัน สีใส และคณะ, 2558]

              นายจัน สีใส, อายุ 86 ปี. ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

              นายเจ๋งตา ตาลตาตาล, อายุ 60 ปี. ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

              นายบุญชัย แสงเพชรวรกุล, อายุ 44 ปี. ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

              นายมูล สีใส, อายุ 55 ปี. ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

              นายเสาว์ ตาแปง, อายุ 51 ปี. ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

              นายหน่อ ตานำคำ, อายุ 53 ปี. ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

              นายอิน ตาเงิน, อายุ 51 ปี. ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

             กลุ่มที่ 2 [ในส่วนของการสัมภาษณ์กลุ่มที่ 1 จะเขียนอ้างอิงว่า นางกอง ชัยแสง และคณะ, 2558]

              นางกอง ชัยแสง, อายุ 38 ปี. ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

             นายเกาะ ดวงจันทร์, อายุ 58 ปี. ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

              นางคม สมดี, อายุ 59 ปี. ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

              นางจันคำ คำแก้ว, อายุ 45 ปี. ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

              นางจาบ รุ้งแก้ว, อายุ 34 ปี. ไม่ทราบบ้านเลขที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม. สัมภาษณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2558.

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              จากการสอบถามชาวปลังพบว่าในเขตประเทศไทย จุดแรกที่ชาวปลังจะอพยพเข้ามาคือ อ.แม่จัน, อ.แม่สาย, บ้านห้วยน้ำขุ่น อ.แม่สรวย, อ.เวียงป่าเป้า, อ.แม่ฟ้าหลวง, อ.เมือง จ.เชียงราย (ปัจจุบันชาวปลังอยู่ในเขต อ.เมือง จำนวนมากขึ้น) ทำให้พบชาวปลังจำนวนมากพอควรในจังหวัดนี้ หลังจากนั้น ชาวปลังจะเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ ที่มีสวนกล้วยไม้ สวนผัก และโรงงาน เพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก และยังต้องการแรงงานราคาถูกอีกด้วย

              จากการสัมภาษณ์ชาวปลังพบว่าชาวปลังอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ เขต อ.คลองโยง,  อ.พุทธมณฑล,  ทวีวัฒนา อ.ศาลายา , ศาลาธรรมปลาง อ.บางเลน จ.นครปฐม, เขตมีนบุรี , วัดหลักสาม เขตหนองแขม จ.กรุงเทพฯ, ต.มหาชัย อ.เมือง และ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร นอกจากนี้ ชาวปลังเล่าว่ามีกระจายตัวไปยังจังหวัดอื่นอีกเช่น สุโขทัย, เชียงใหม่, อ.วังเหนือ จ.ลำปาง แต่มีจำนวนน้อยมาก และไม่ได้มีการติดต่อกัน (สัมภาษณ์ นายแก้ว บุญทอง, 2558)

     

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง :

              ดั้งเดิมแล้ว ชาวปลังอาศัยอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศพม่าและจีน โดยในเขตประเทศจีนอาศัยอยู่กันมากในเขตสิบสองปันนา โดยเฉพาะในเมือง Daluozhen ส่วนในเขตพม่าอาศัยอยู่มากในเขตรัฐฉาน ที่เมืองลา (Mong La) (ซึ่งตั้งอยู่ติดกับเมือง Daluozhen) เมืองยาง (Mong Yang / Yong) และเมืองเชียงตุง ส่วนสาเหตุที่ชาวปลังต้องอพยพมาหางานทำในประเทศไทยมีหลายเหตุผลด้วยกัน แต่เหตุผลหลักคือการหนีทหารและการกดขี่ของชาวไทใหญ่ และอาจมีพม่ารวมอยู่ด้วย (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558)  

     

    แผนที่แสดงตำแหน่งเมืองสำคัญที่ชาวปลังอยู่อาศัยในประเทศพม่าและประเทศจีน

    แผนที่แสดงตำแหน่งเมืองสำคัญที่ชาวปลังอยู่อาศัยในประเทศพม่าและประเทศจีน

     

    แผนที่เส้นทางอพยพของชาวปลังจากสิบสองปันนาสู่ประเทศไทย (Suchada Giaphong, 2004: 5)

    แผนที่เส้นทางอพยพของชาวปลังจากสิบสองปันนาสู่ประเทศไทย (Suchada Giaphong, 2004: 5)

     

              เส้นทางการอพยพของชาวปลังทุกกลุ่มเช่นจากเมืองยาง จากเมืองลา จะต้องเดินทางมายังเมืองเชียงตุงเสียก่อน จากนั้นจะผ่านแม่สายหรือแม่จัน จ.เชียงราย แล้วลงมายังพื้นที่ จ.นครปฐม เลย โดยไม่แวะทำงานที่เชียงใหม่เลย การเดินทางมีทั้งที่เดินทางมาตามลำพังทั้งครอบครัว ลัดเลาะตามป่าเขา หรือบางคนบวชเป็นพระแล้วเดินทางข้ามพรมแดนมาไทยก็ทำการสึก

              ชาวปลังรุ่นแรกเข้ามาเมื่อไหร่นั้น ข้อมูลยังมีความสับสนแตกต่างกันไป บางข้อมูลเล่าว่าชาวปลังอพยพมาอยู่ที่ อ.แม่ฟ้าหลวง เวียงป่าเป้า และพาน จ.เชียงราย เป็นรุ่นแรก ๆ คาดว่ามาอยู่ก่อนหน้าปี ค.ศ.1970 หลังจากนั้นก็จะอพยพเข้ามาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (Suchada, 2004) ในขณะที่บางข้อมูลกล่าวว่ารุ่นแรก ๆ เข้ามาในไทยอย่างน้อยตั้งแต่ ปี พ.ศ.2520 เล่ากันว่าคนแรกที่ออกมาจากหมู่บ้านชื่อว่า นายแก้ว แสงสุรีย์ ระบบการหางานเมื่อเข้ามาอยู่ในไทย จะมีคนติดต่อเป็นคนงานสวนกล้วยไม้ (สัมภาษณ์ นายคำมุล วงค์มานะ, 2558)

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง :

              1) การทำการเกษตร และหาของป่า

              เมื่ออยู่ในประเทศพม่าและจีน ชาวปลังจะประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก ชาวปลังปลูกไร่ข้าว เป็นการปลูกข้าวแบบไร่หมุนเวียน โดยปลูกซ้ำในที่เดิมประมาณ 3-4 ปีขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและผลผลิตที่ได้ โดยทั่วไปแล้วในไร่ จะเริ่มจากการปลูกฝ้ายก่อน ปีที่สองและสาม จึงจะเป็นการปลูกข้าว และปีสุดท้ายจะเป็นการปลูกข้าวโพด สาเหตุที่เริ่มปลูกฝ้ายก่อนเพื่อดินอุดมสมบูรณ์ เพราะใบของต้นฝ้ายจะร่วงลงดิน สำหรับการขยับไร่ (หมุนเวียนไร่) จะต้องประชุมกันในระดับหมู่บ้านหัวหน้าที่ประชุมคือ “ตาแซน” โดยหัวข้อการประชุมคือการกำหนดทิศทางว่าจะขยับกันไปในทิศทางไหน จะได้ที่ดินมากน้อยครอบครัวละเท่าใด การขยับไร่จะทำกัน 4 ปีต่อครั้ง และมีการหมุนเวียนกลับมาที่เดิม ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกราว 10 ปีข้างหน้าจึงจะกลับมาซ้ำในพื้นที่เดิม 

              ในไร่ข้าวจะมีการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ด้วยได้แก่ ข้าวโพด แตง ฟักทอง และน้ำเต้า ทั้งนี้เพื่อเป็นอาหาร และโดยเฉพาะเวลาไปอยู่ในไร่ก็จะได้มีอาหารกินด้วย ในช่วงฤดูแล้ง หรือหลังจากการเก็บเกี่ยว ผู้ชายจะทำการเข้าป่าล่าสัตว์ เช่น กวาง หมี เสือ ไก่ป่า เป้าหมายหลักเพื่อการกิน (สัมภาษณ์ นายแก้ว บุญทอง และนายคำมุล วงค์มานะ, 2558)

              2) การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า

              การแลกเปลี่ยนสินค้าถือเป็นเรื่องปกติของระบบเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ชาวปลังบ้านปางลูเป็นแหล่งไม้ไผ่ ทำให้ชาวบ้านจะสานเครื่องจักสานโดยเฉพาะสานที่ใส่ข้าว และตระกร้าสะพายหลัง เพื่อเอาไปขายให้บ้านกอนกั้ง และบ้านกอนมูด นอกจากนี้บ้านปางลูยังเป็นบ้านที่มีผลผลิตข้าวดี หมู่บ้านอื่นก็จะนำหมูและไก่มาแลกข้าวไป เมื่อได้เงินจากการขายของชาวบ้านปางลูจะเดินทางไปที่ตัวเมืองยาง เพื่อไปจับจ่ายใช้สอย สินค้าที่ซื้อมีพริก ผงชูรส เสื้อผ้า เหล้า น้ำมันก๊าด ถ่าน และเกลือ ในทางตรงกันข้ามบางหมู่บ้านเช่นบ้านกอนแพะ จะไม่ใช้เงินไปซื้อสินค้า แต่จะแบกของไปแลกของต่าง ๆ ที่ประเทศจีน ของสำคัญที่จะซื้อกันคือเกลือ และเสื้อผ้า

              อีกหมู่บ้านหนึ่งคือบ้านกอนกั้งตั้งอยู่ในเขตเมืองยาง สินค้าหลักของหมู่บ้านคือชา ซึ่งจะเอาไปขายเพื่อซื้อสินค้าที่ตัวเมืองยางได้แก่ เหล้า ผงชูรส มาม่า อาหาร นอกจากนี้ชาวบ้านกอนกั้งจะนำฝ้ายไปขายที่เมืองลาอีกด้วย ถ้าชาวบ้านกอนกั้งไม่เอาไปขาย ก็จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ ผลผลิตชาของบ้านกอนกั้งมีทั้งชาแห้ง และชาเปียก (เมี่ยง) (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558) จากที่กล่าวมาจะสังเกตได้ว่าตัวเมืองยางเป็นศูนย์กลางด้านการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในพื้นที่ตอนในของแผ่นดิน แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 50 ปีก่อนนั้น สินค้าที่กล่าวมาข้างต้นชาวบ้านจะต้องไปซื้อที่ประเทศจีน (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558)

  • การนับญาติ การเรียกชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง :

              ในสังคมของชาวปลัง ถือกันว่าผู้ชายเป็นใหญ่อย่างชัดเจน มีคำกล่าวว่า “ถ้าไม่มีบุญจะไม่ได้เกิดเป็นผู้ชาย” สาเหตุที่คิดเช่นนั้นเพราะผู้ชายได้บวชเป็นพระ ส่งผลทำให้ผู้หญิงไม่รู้หนังสือ เพราะไม่ได้ผ่านการบวช นอกจากนี้ยังนับถือญาติทั้งสองฝ่าย ในภาษาของชาวปลังคำว่า ตาและปู่ใช้คำเดียวกันคือคำว่า “ต๊ะ” ส่วนยายและย่าใช้คำว่า “อั้ยหย่า” (สัมภาษณ์ นายแก้ว บุญทอง, 2558) เท่าที่สังเกตคิดว่ากลุ่มปลังน่าจะนับถือญาติข้างพ่อเป็นหลัก

              ในแง่ของโครงสร้างในการปกครองพบว่า ในสังคมของชาวปลังสามารถแบ่งคนออกได้เป็น 2 ชั้นคือ ชนชั้นปกครอง และชนชั้นใต้ปกครอง ชนชั้นปกครองในแต่ละหมู่บ้านจะมีจำนวนและชื่อเรียกแตกต่างกันไป เท่าที่รวบรวมได้มีดังนี้

              บ้านหนองก้อ กลุ่มชนชั้นปกครอง ประกอบด้วย

              - “ตาลำแซน” เป็นหัวหน้าสูงสุด ทำหน้าที่ปกครองและรักษาจารีต (ตำแหน่งนี้ไม่ได้สืบทอดทางสายเลือด แต่พิจารณาคนที่มีจิตใจกว้างและเสียสละ)

              - “ตาลำ” เป็นผู้ช่วยของตาแซม

              - “สี่เส้า” ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลประชากรในหมู่บ้าน คอยจดเรื่องการเสียภาษี

              - “กุมมาติ” ทำหน้าที่ทางด้านศาสนกิจ

              ส่วนชนชั้นใต้ปกครอง “เปือยญาเปือยยุ้ง” แปลว่า “คนบ้านคนหมู่บ้าน” คือ ประชาชนโดยทั่วไป (สัมภาษณ์ นายแก้ว บุญทอง, 2558)

              บ้านกอนกั้งเขตเมืองยาง

              “ตามัง” เปรียบเทียบได้กับขุนหรือหัวหน้า ซึ่งตามังนี้จะมีผู้ช่วยเป็นลำดับชั้นลงมา มีหน้าที่เป็นผู้รับใช้ คือ “ตาลำ” จำนวน 2 คน “ตาหมัน” จำนวน 1 คน “ตาลั่น” จำนวน 1 คน “โพซิป” จำนวน 4 คน

              บ้านปลังโลเขตเมืองยาง

              - “ตามัง” เป็นหัวหน้า (สืบเชื้อสายตามตระกูล) 

              - “ตาจัน”

              - “ตาบักขาว”

              - “สี่เสา” เป็นผู้ช่วยและรับใช้กลุ่มคนข้างต้น

              ส่วนประชาชนทั่วไปเรียกตามสำเนียงของบ้านปลังโลคือ “ปองญะปงย่าง” (“เปือยญาเปือยยุ้ง”) คนที่เกษียณจากตามั่งเรียกว่า “ปู่หมอน”

              ในขณะที่หมู่บ้านยางเงิน ถือเป็นหมู่บ้านใหญ่ ทำหน้าที่ในการปกครองหมู่บ้านปลังโล และบ้านกอนกั้งด้วย ทำให้มีตำแหน่งพิเศษที่ใหญ่กว่าบ้านอื่นคือ “ตาพญา” (คำว่าตาคือ ตาหรือปู่, พญา แปลว่าผู้เป็นใหญ่) ทำหน้าที่ในการปกครอง ตัดสินคดีความระหว่างหมู่บ้าน การลุกล้ำที่ดินทำกิน (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558) 

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง :

              การแต่งกายของผู้ชายและผู้หญิงคล้ายกัน ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่น (ผ้าถุง) ในภาษาปลังเรียกว่า “โรงด้วย” คำว่า “โรง” แปลว่าสีดำ ดังนั้น ผ้าซิ่นที่ผู้หญิงนุ่งจึงมีสีดำ ผ้านุ่งแบ่งออกเป็น 3 ตอนคือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และชายซิ่น ในภาษาปลังหัวซิ่นเรียกว่า “ด้าย เซมลือ” แปลว่า “ผ้าซิ่น ไทลื้อ” สะท้อนว่าได้รับอิทธิพลจากกลุ่มของชาวไทลื้ออย่างมาก (ดังนั้น “เซม” หรือ “แซม” ที่ชาวปลังหมายถึงนั้นส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับกลุ่มคนไท 2 กลุ่มคือ ชาวไทใหญ่ และชาวไทลื้อ) ตัวซิ่นเรียกว่า “ด้าย” ส่วนชายซิ่นเรียกว่า “ด้ายปาย” คำว่า “ปาย” แปลว่าสีขาว มีการคาดเข็มขัดเงินทับผ้าซิ่น 

    ผู้ชายชาวปลังในชุดแต่งกายประจำเผ่า	                 ผู้หญิงชาวปลังในชุดแต่งกายประจำเผ่า

    ผู้ชายชาวปลังในชุดแต่งกายประจำเผ่า         ผู้หญิงชาวปลังในชุดแต่งกายประจำเผ่า 

              ย่ามสะพายข้างชาวปลัง                  หัวผ้าซิ่นเป็นลายแบบไทลื้อ        

                                                                              ย่ามสะพายข้างชาวปลัง                       หัวผ้าซิ่นเป็นลายแบบไทลื้อ

     

      การแต่งกายของผู้หญิงชาวปลังเพื่อใช้เป็นชุดในพิธีสำคัญ  จะสังเกตได้ว่าเครื่องแต่งกายมีความคล้ายคลึงกับชาวไทลื้อในเขตสิบสองปันนาเป็นอย่างมาก

    การแต่งกายของผู้หญิงชาวปลังเพื่อใช้เป็นชุดในพิธีสำคัญ

    มีความคล้ายคลึงกับชาวไทลื้อในเขตสิบสองปันนาเป็นอย่างมาก

     

              สำหรับเสื้อที่สวมจะมีสีดำทั้งตัวเรียกว่า “โคะ” เป็นเสื้อแขนยาว สาบเสื้อทับกัน กลัดกระดุมที่ด้านล่าง มีการประดับลายเป็นด้ายสีเขียว แดง ชมพู ส้ม แล้วแต่ความชอบ บั้งเป็นเส้นที่แขนต่ำกว่าหัวไหล่ของมาเล็กน้อย ลายยาวสีสันสวยงามนี้ในภาษาปลังเรียกว่า “โคะแซ่ว” นอกจากประดับที่หัวไหล่แล้วยังประดับเป็นทางยาวแนวตั้งสองเส้นขนานไปกับสาบเสื้อ บริเวณที่ชายเสื้อมาทบกันจะมีการปักด้ายเป็นเส้นยาวสีสันสวยงามเป็นสีแดง เหลือง ส้ม และฟ้า ขึ้นอยู่กับความชอบ ผู้หญิงมักเกล้าผม และพันผ้ารอบศรีษะเพื่อให้ความอบอุ่น ผ้าที่พันรอบศรีษะนี้เรียกว่า “เหวะจิ”

              สำหรับผู้ชายจะสวมเสื้อกับกางเกงสีดำ กางเกงเป็นกางเกงขายาว ชายขากางเกงทำเป็นแถบผ้าสีขาว ส่วนเสื้อเป็นเสื้อแขนยาว ชายเสื้อ และแขนทำเป็นผ้าแถบสีขาว ส่วนปกเสื้อและสาบเสื้อเป็นสีขาว ติดกระดุม นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือ ย่าม ซึ่งในภาษาปลังเรียกว่า “เซิด” โดยพื้นจะเป็นสีขาว ทำจากผ้าฝ้าย และมีลายปักสีสันสวยงาม

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง :

             รูปแบบบ้านของชาวปลังเมื่ออยู่ที่ประเทศพม่านั้นพบว่ามีอยู่ 2 แบบคือ แบบแรก เป็นบ้านแบบกระท่อมยกพื้นเรือนสูงอยู่กัน 1 ครอบครัว และอีกแบบเรียกว่า “หลาง-หญ๊ะ” (หญ๊ะ แปลว่า บ้าน) เป็นบ้านที่มีรูปแบบเป็นเรือนยาว ภายในแบ่งออกเป็นห้อง หนึ่งห้องสำหรับ 1 ครอบครัว ครอบครัวที่รวมอยู่ด้วยกันใน 1 ห้องนี้เรียกว่า “อัดกับปุ๊” หมายถึงอยู่ด้วยกัน ครอบครัวเดียวกัน (สัมภาษณ์ นายกอง ชัยแสง และคณะ, 2558) 

     

  • ประเพณีและเทศกาลสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง :

              ชาวปลังที่นับถือศาสนาพุทธ จะให้ความสำคัญกับประเพณีเข้าพรรษา ออกพรรษา และสังขารปีใหม่ เป็นพิเศษ สำหรับประเพณีสังขารปีใหม่นั้น จะจัดในช่วงสงกรานต์ ชาวปลังจะทำการตัดต้นไม้ในป่ามาค้ำ “ต้นสลี” (ต้นโพธิ์) เพราะถือกันว่าเป็นต้นสลี เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ที่น่าสนใจด้วยคือ เกือบทุกหมู่บ้านจะมีต้นไม้ใหญ่กลางหมู่บ้าน ถือกันว่าต้นไม้ใหญ่เป็น “ใจ” ของหมู่บ้าน สะท้อนถึงความเชื่อในการนับถือต้นไม้

              นอกจากนี้ ชาวปลังยังมีประเพณี “โซมอุ๊บโซระ” (คำว่าโซม แปลว่า กิน, อุ๊บ แปลว่า ข้าว, โซโระ แปลว่า ปีใหม่) แปลเป็นภาษาไทยว่าการกินข้าวใหม่ โดยจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน (สัมภาษณ์ นายกอง ชัยแสง และคณะ, 2558) ประเพณีกินข้าวใหม่นี้พบได้ในหลายกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในเขตพื้นที่สูงและพื้นที่ราบ

     

  • การตายและการทำศพของกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง :

             ในแง่ของพิธีกรรมเกี่ยวกับศพ ดั้งเดิมชาวปลังจะฝังศพ เริ่มมาเผาศพเมื่อนับถือศาสนาพุทธ สำหรับการฝังศพแบบดั้งเดิมนั้น ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า เมื่อมีคนตายในหมู่บ้าน คนในบ้านที่มีคนตายจะเอาไม้ไปตีที่บันได เสียงดังต๊อก ๆ ๆ  เมื่อคนในหมู่บ้านได้ยินก็จะไปช่วยงานศพกัน จากนั้นให้เชิญพระมาสวด สวดเสร็จก็เอาไปฝังป่าช้าเลย โดยการแบกศพนั้นห้ามเดินลัดหมู่บ้าน ทว่าในแต่ละหมู่บ้านมีพิธีกรรมเกี่ยวกับศพต่างกันไปบ้าง เช่นหมู่บ้านปลังโล จะใช้วิธีการตะโกนแล้วพูดว่า “ไปเก็บขยะ” ไม่พูดว่ามีคนตาย จากนั้นปลังโลจะมีการฆ่าหมูและไก่ ตามแต่ฐานะ ถ้าคนรวยจะฆ่าหมู ถ้าคนจนจะฆ่าไก่ ต้องมีการเล่นกับศพด้วยเอาหมูเอาไก่ให้กิน แล้วบอกว่า “ยังอยู่ก็มากินด้วยกัน ถ้าไปแล้วจะไม่ได้กิน ต้องกินให้หมด” แต่ไม่มีพิธีกรรมการฆ่าควาย หลังจากเซ่นไหว้เสร็จพระก็มาสวด แล้วก็ไปส่ง ก่อนจะฝังพระก็จะให้ศีลในป่าช้าเลย พอเอาศพไปฝังเสร็จแล้วก็กลับมาเข้าวัดก่อนไปอาบน้ำอาบท่าแล้วก็ไปไหว้องค์พระ แล้วค่อยกลับมาที่บ้าน แต่ในพิธีศพนี้ตามังไม่ต้องไปป่าช้า ต้องรอเรียกขวัญชาวบ้านที่ไปส่งศพตอนกลับมา แต่สำหรับหมู่บ้านอื่น คนแก่ไม่ต้องไปป่าช้า เมื่อครบ 7 วันก็ไปทำบุญที่วัด ข้าวของเครื่องใช้ของคนตายต้องเอาไปป่าช้าด้วย แล้วเอากลับไปไว้ที่วัด ถ้าตาพญาตายจะเผาไม่ฝัง หรือถ้าเป็นพระระดับเจ้าอาวาสก็เผาไม่ฝัง ถ้าเป็นพระเวลาฝังจะฝังในท่านั่งสมาธิ คนธรรมดาเวลาฝังต้องห่อด้วยเสื่อ มัดมือ เอาขาไปก่อนหัวไปทีหลัง เวลาฝังศรีษะหันไปทางทิศตะวันตก ส่วนขาหันไปทางทิศตะวันออก พอฝังเสร็จเอาไม้ไผ่สับ ๆ แล้วก็ปิดให้แน่น เอากระดาษมาจำลองเป็นบ้านเล็กๆ เป็นหลังคา คุมยาวตั้งแต่หัวจนเท้าของหลุมศพ เป็นอันเสร็จพิธี (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558) 

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง :

              คาดว่าชาวปลังนับถือศาสนาพุทธมีราว 95 เปอร์เซ็นต์ ศาสนาคริสต์ 2 เปอร์เซ็นต์ และศาสนาผี 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะเดียวกันความเชื่อเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติยังถือได้ว่ามีอิทธิพลต่อชาวปลังอย่างสูง เช่น การนับถือผีบรรพบุรุษ ผีป่าเขา ผีบ้านผีเรือน เป็นต้น

              อย่างไรก็ตาม ถือกันว่าศาสนาดั้งเดิมของชาวปลังคือการนับถือผี ต่อมาเมื่อศาสนาพุทธเผยแผ่เข้าไปจึงได้ทำการนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งไม่ทราบว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด จากการสัมภาษณ์พบว่าวัดในหมู่บ้านชาวปลังในเมืองยางมีวัดชื่อวัดป่าแดง (เป็นไปได้ว่าเป็นนิกายที่แพร่หลายเข้ามาตั้งแต่สมัยล้านนา) แต่พระและเณรชาวปลังก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบสันโดษอยู่กับวัดเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อชาวบ้านปลูกข้าวหรือเก็บเกี่ยวพระและเณรจะไปช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าวด้วย 

     

    ชาวปลังรุ่นอาวุโสแต่งกายในชุดประจำเผ่าเต้นรำในงานวันคริสต์มาสที่คริสตจักรปลังนครปฐม

    ชาวปลังรุ่นอาวุโสแต่งกายในชุดประจำเผ่าเต้นรำในงานวันคริสต์มาสที่คริสตจักรปลังนครปฐม

     

              ต่อมาเมื่อราว 100-110 ปี ได้มีมิชชันนารีชาวอเมริกันเดินทางเอาศาสนาคริสต์ไปเผยแผ่ที่เขตเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ทำให้ชาวปลังบางกลุ่มเริ่มนับถือศาสนาคริสต์กัน แต่ก็นับว่าเป็นส่วนน้อยมาก เงื่อนไขที่ทำให้ชาวปลังนับถือศาสนาคริสต์ก็เพราะไม่มีกำลังมากพอที่จะฆ่าสัตว์เพื่อเลี้ยงผีตามศาสนาดั้งเดิมคือผี (สัมภาษณ์ นายแก้ว บุญทอง และนายคำมุล วงค์มานะ, 2558) อย่างไรก็ตาม พบว่าถึงชาวปลังจะนับถือศาสนาคริสต์แล้วก็ตามแต่ยังมีการบูชาผีอยู่ก็มีจนบางครั้งก็แยกไม่ได้ระหว่างการเป็นชาวคริสต์กับการนับถือศาสนาดั้งเดิม (ทีมงานวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ปลังสภาคริสตจักรฯ, มปป.) 

  • พิธีกรรมสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง :

              ชาวปลังบางหมู่บ้านยังมีการใช้กลองมโหระทึกเรียกว่า “กลองกบ” ซึ่งใช้กันในกลุ่มของปลังโล โดยจะใช้ในตอนเดือน 6-7 (เมษายน-พฤษภาคม) อันเป็นช่วงเวลาที่จะ “ใส่ข้าว” หรือหยอดข้าวในไร่ เพื่อเป็นการขอฝนให้ตกแต่พอเหมาะ

              อีกเรื่องคือชาวปลังมีความเชื่อเรื่องตะเหลว (ตาเหลว) โดยใช้ในหลายโอกาศ ตัวอย่างเช่น การทำพิธีสะเดาะเคราะห์ และป้องกันผี โดยเวลาที่มีคนป่วยจะทำการต้มยาแล้วเอาตะเหลวปักที่หม้อยา เพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดีและทำให้ยาใช้ได้ผลดี นอกจากนี้แล้วยังเอาตะเหลวใส่ลงไปในกะละมังให้คนที่ไม่สบายอาบน้ำ 2 ครั้ง ตอนตะวันขึ้นครั้งหนึ่ง และตอนตะวันตกครั้งหนึ่ง ในช่วงที่มีงานมงคลจะเอาตะเหลวปักที่หน้าประตูบ้าน โดยทำเป็นตะเหลวอันใหญ่ ไม่ใช่อันเล็ก ๆ โดยคนที่มาร่วมงานจะต้องเข้าออกประตูที่มีตะเหลว อีกแบบหนึ่งคือการเอาตะเหลวไปปักที่ไร่นา เพื่อให้คุ้มครอง โดยสรุปแล้ว ตะเหลวมีหน้าที่ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและไม่ดี (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558)

              ชาวปลังมีความเชื่อเรื่องขวัญ โดยเชื่อว่าในร่างกายของคนหนึ่งคนมีจิต 32 จิต หรือขวัญ 32 ขวัญ ทำให้เมื่อเวลาเกิดเหตุไม่ดีจะมีพิธีเช่นพิธีเรียกขวัญ ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็ก ๆ ไม่สบายไม่หายสักทีจะต้องทำพิธีเรียกขวัญ คนแก่ถ้าไม่สบายก็ต้องเรียกเช่นเดียวกัน ด้วยความเชื่อเรื่องขวัญ ทำให้ชาวปลังไม่เชื่อว่า “วิญญาณ” เป็นเรื่องที่มีจริง (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558) 

  • ตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง :

              มีตำนานเล่าต่างกัน 2 สำนวน แต่พิจารณาจากเนื้อหาแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องแรกเล่าว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้วเมื่อชาวปลังและชาวเลอเวือะ/ลัวะ ต่างอพยพกัน ชาวปลังทำกับข้าวช้ากว่าชาวเลอเวือะ/ลัวะ ชาวเลอเวือะ/ลัวะเลยเดินทางไปก่อน กับข้าวที่ว่านั้นก็คือชาวเลอเวือะ/ลัวะต้มปู แต่ชาวปลังต้มปลา เมื่อปูสุกสามารถสังเกตได้ง่ายเพราะตัวจะเปลี่ยนเป็นสีแดง พอเห็นว่าปูสุก ชาวเลอเวือะ/ลัวะเลยเดินทางไปก่อน โดยชาวเลอเวือะ/ลัวะบอกว่าพวกเขาจะตัดต้นกล้วยทิ้งไว้เป็นร่องรอยให้เดินตาม ส่วนชาวปลังก็รอแล้วรอเล่าเพื่อให้แน่ใจว่าปลาสุก พอเดินตามไปปรากฏว่าต้นกล้วยงอกหน่อยาวขึ้นมาหมดแล้ว ทำให้เลยตามไปไม่ถูก ก็เลยกลับมาอยู่ที่เดิมคือบริเวณที่เป็นที่ที่ชาวปลังอาศัยกันอยู่ในปัจจุบันในเขตรอยต่อระหว่างจีนกับพม่า (สัมภาษณ์ นายแก้ว บุญทอง และนายคำมุล วงค์มานะ, 2558)

              สำนวนที่สองต่างจากสำนวนแรกคือเปลี่ยนจากปลาเป็นไข่ โดยเล่าว่า “ผู้ใหญ่เขาเคยเล่าให้ฟังว่าปลังกับลัวะเราก็เป็นอันเดียวกันแหละ แต่ว่าเขาไปก่อนก็ไปตัดต้นกล้วย เพราะว่าตัดต้นไม้กล้วยแล้วมันงอกใหม่ คนลัวะเขาไปก่อนเราไปก็เลยคิดว่าไปก็ตามเขาไม่ทันแล้ว เขาไปก่อน แล้วก็มีเกี่ยวกับการต้นปู-ต้มไข่ ไข่ต้มเท่าไหร่มันก็ขาวไม่สุก แต่ต้มปูเนี้ยต้มแปปเดียวมันก็สุก คนต้มไข่ก็รอกว่ามันจะสุก แต่คนต้มปูพอสุกก็กินเสร็จแล้วก็ไป คนต้มไข่ยังไงมันก็ไม่สุก เพราะเป็นสีขาว คนที่ต้มปูก็เลยไปก่อน” (สัมภาษณ์ นายจัน สีใส และคณะ, 2558)

              ดังนั้น ถ้าเชื่อตามตำนานข้างต้นแสดงว่าเดิมทีแล้วชาวปลังกับชาวเลอเวือะ/ลัวะเคยอาศัยอยู่ร่วมกันมาก่อน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เพราะในแง่ของภาษาแล้วพบว่าทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์มีภาษาที่ใกล้เคียงกันมาก และยังมีระบบโครงสร้างทางสังคมที่คล้ายกันอีกด้วย 

  • การเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่ประสบอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง :

              1.การเปลี่ยนศาสนา

              ศาสนาดั้งเดิมของชาวปลังคือศาสนาผีและพุทธ ต่อมาราว 100 กว่าปีก่อน ชาวปลังได้เริ่มมานับถือศาสนาคริสต์นิกายแบพติสต์ด้วยเหตุผลที่ศาสนาเดิมทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงผีเยอะมาก จนฐานะทางเศรษฐกิจที่มีไม่สามารถรองรับกับระบบความเชื่อได้ จึงนำไปสู่การนับถือศาสนาคริสต์ ปัจจุบันชาวปลังคริสต์มีโบสถ์ของตนเองที่ จ.นครปฐม มีชื่อว่า “คริสตจักรปลังนครปฐม” ตั้งขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ.2008 เดิมมีชื่อว่า “ศาลาธรรมปลาง” คริสตจักรปลังนครปฐมถือเป็นจุดศูนย์รวมทางด้านจิตใจของชาวปลัง แต่ชาวปลังที่นับถือศาสนาคริสต์ก็มีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธ 

     

    ชาวปลังมารวมกลุ่มกันเฉลิมฉลองงานวันคริสต์มาสที่คริสตจักรปลังนครปฐม  ในวันงานคาดว่ามีคนมาราว 500-600 คน

    ชาวปลังมารวมกลุ่มกันเฉลิมฉลองงานวันคริสต์มาสที่คริสตจักรปลังนครปฐม

    ในวันงานคาดว่ามีคนมาราว 500-600 คน

     

              2.ภาษาเดิมที่กำลังสูญหาย

              ชาวปลังที่อพยพมาจากประเทศพม่าและจีนนั้นยังคงสามารถพูดภาษาปลังได้อย่างคล่องแคล่วและชัดเจน ปัญหาประการเดียวคือ ถ้ามาจากหมู่บ้านเดียวกันก็จะสามารถพูดด้วยภาษาปลังได้สะดวก แต่ถ้ามาจากต่างหมู่บ้านกันบางครั้งก็จะใช้ภาษาไทใหญ่ หรือภาษาลาหู่ เป็นภาษากลางในการสื่อสาร ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายของภาษาปลังค่อนข้างสูง ชาวปลังเองสามารถใช้ตัวอักษรโรมัน(อังกฤษ) เขียนภาษาของตนเองและมีการจัดทำหนังสือนิทานที่ใช้สอนหนังสือกันเองด้วย เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาโครงการของทางมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มทำงานในปี พ.ศ.2557 เพื่อพัฒนาระบบตัวเขียนภาษาปลัง

              อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกหลานชาวปลังที่เกิดในประเทศไทย เมื่ออยู่ที่บ้านจะใช้ภาษาปลังร่วมกับภาษาไทย แต่เมื่ออยู่ภายนอกจะใช้ภาษาไทยกลางเป็นหลัก และมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะไม่ใช้ภาษาปลังอีก

     

    พยัญชนะและสระในภาษาปลังที่ทางสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล  ร่วมกันพัฒนากับชาวปลัง  พยัญชนะและสระในภาษาปลังที่ทางสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล  ร่วมกันพัฒนากับชาวปลัง 

    พยัญชนะและสระในภาษาปลังที่ทางสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย

    มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกันพัฒนากับชาวปลัง

     

  • การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายในปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง :

              ในระดับกลุ่มของชาวปลังเองมีการรวมกลุ่มกันได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์จะมีการรวมกลุ่มกันได้อย่างเหนียวแน่น อาจเป็นเพราะเป็นกลุ่มเล็ก และมีสถานที่รวมกลุ่มเป็นของตนเองคือคริสตจักรปลังนครปฐม และชาวปลังคริสต์มักทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาของตนเอง ในขณะที่กลุ่มปลังที่นับถือศาสนาพุทธจะไม่พบว่ามีการทำกิจกรรมดังกล่าวนัก

              ในปี ค.ศ.2010 ชาวปลังได้เข้าร่วมทำงานกับเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย  โดยเน้นในเรื่องของสิทธิมนุษยชน โดยจัดประชุมที่เชียงใหม่ ในเวทีดังกล่าวมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จากทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ชาวปลังเข้าใจสถานการณ์ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยชัดเจนขึ้น (สัมภาษณ์ นายคำมุล วงค์มานะ, 2558) 

     

  • สถานการณ์อื่น ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ปลัง :

              ในแผ่นพับที่ทีมงานวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ปลังสภาคริสตจักรนครปฐมทำนั้นได้สรุปปัญหาของสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของชาวปลังไว้ดังนี้ ปัญหาประการแรกคือ สิทธิในการอยู่ในประเทศไทย เพราะไม่มีบัตรประชาชน ทำให้เด็กที่เกิดมาไม่ได้รับสูติบัตร ประการที่สองคือ การถูกเอารัดเอาเปรียบ การถูกข่มเหง ทั้งในประเทศไทยและประเทศต้นทางคือจีนและพม่า ประการที่สามคือ การศึกษา เนื่องจากความเป็นอยู่ที่ห่างไกลความเจริญ เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็ไม่มีความรู้ ทำให้ต้องทำงานรับจ้างเพียงอย่างเดียว และไม่มีหลักประกันด้านสุขภาพ สวัสดิการ และอนามัยต่าง ๆ ทำให้ชาวปลังเมื่อแก่ตัวจะได้รับความยากลำบากอย่างมาก ประการที่สุดท้ายคือ ไม่มีหน่วยงานใดที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลืออย่างชัดเจน จึงไม่ได้รับสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล 

     

Access Point
No results found.

จุดแรกที่ชาวปลังจะอพยพเข้ามาคือ อ.แม่จัน, อ.แม่สาย, บ้านห้วยน้ำขุ่น อ.แม่สรวย, อ.เวียงป่าเป้า, อ.แม่ฟ้าหลวง, อ.เมือง จ.เชียงราย  หลังจากนั้น ชาวปลังจะเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ ที่มีสวนกล้วยไม้ สวนผักและโรงงาน เพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก และยังต้องการแรงงานราคาถูกอีกด้วย ศาสนาดั้งเดิมของชาวปลังคือศาสนาผีและพุทธ ต่อมาราว 100 กว่าปีก่อน ชาวปลังได้เริ่มมานับถือศาสนาคริสต์นิกายแบพติสต์ ด้วยเหตุผลที่ศาสนาเดิมมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงผีจำนวนมากจนฐานะทางเศรษฐกิจที่มีไม่สามารถรองรับกับระบบความเชื่อได้ จึงนำไปสู่การนับถือศาสนาคริสต์